วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2551

เรือด่วนเจ้าพระยา โดย "นรา"


เดาเอานะครับว่า ชาติใดชาติหนึ่งที่ได้ผ่านพ้นล่วงเลยไปแล้ว ผมอาจจะเคยเกิดเป็นปลาแซลมอนมาก่อน ชาตินี้จึงได้ชอบกินปลาแซลมอน และชอบฟังเพลงของแซลมอน...ขอโทษครับ เขียนผิด...ไซมอนแอนด์การ์ฟังเกล
ยิ่งไปกว่านั้น ผมยังชื่นชอบโปรดปรานและหลงใหลการเดินทางด้วยเรือด่วนเจ้าพระยา จากท่าน้ำราชวงศ์ไปถึงท่าน้ำนนท์ ทั้ง ๆ ที่บ้านอยู่แถวบางจาก ซึ่งไม่ได้มีเส้นทางเฉียดใกล้เลยสักนิด

ประมาณว่า มีโอกาสได้นั่งเรือด่วนขึ้นล่องแม่น้ำเจ้าพระยาทีไร ภายในตัวผม ก็รู้สึกระริกระรี้เหมือนปลาแซลมอนที่แปลงกายเป็นปลากระดี่ได้น้ำอยู่ร่ำไป

เพราะเหตุนี้เอง ผมจึงอดน้อยใจไม่ได้ที่มีบ้านอยู่แถวบางจาก ทำให้สูญเสียโอกาสในการนั่งเรือไปไหนมาไหน

ครั้นจะแก้ปัญหา ด้วยการแกล้ง ๆ ทุ่มทุนสร้าง ขว้างทุนเสี่ยง เหวี่ยงทุนเสนอ ซื้อบ้านหรือคอนโดหรู ๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก็ดูจะฟุ่มเฟือยอวดร่ำอวดรวยโชว์เสี่ยไปหน่อย รวมทั้งเกรงชาวบ้านครหานินทาด้วยความหมั่นไส้

แต่เหตุผลที่น่าเชื่อถือกว่านั้นก็คือ มีปัญญาแต่ไม่มีตังค์จะซื้อนะครับ แค่เสาเข็มสักต้นยังลำบากและเป็นไปได้ยากเลย

เหตุผลดังกล่าว ส่งผลกระทบทำให้แผนสอง-การซื้อเรือเป็นของตนเองสักลำ-ต้องล้มเหลวตามไปด้วย

ผมจึงต้องแก้ปัญหาด้วยแผนสาม นำเอาสิ่งที่มีอยู่เหลือเฟือมาสร้างความได้เปรียบ

สิ่งที่ผมมีเยอะก็คือ “เวลา”

โครงการเดินทางไกลจึงเริ่มต้นขึ้น ช่วงเกือบ ๆ เดือนที่ผ่านมา วันไหนทำงานเสร็จเร็ว ผมมักจะใช้เวลาตอนบ่าย ๆ ไปเดินเถลไถลหาของกินแถว ๆ เยาวราช พร้อมทั้งกักตุนเสบียงอาหารมื้อค่ำ จากนั้นก็ปิ๊กบ้านด้วยการนั่งเรือด่วนเจ้าพระยาไปลงท่าน้ำนนท์ แล้วต่อรถเมล์ป.อ. สาย 545 (ท่าน้ำนนท์-สำโรง)

เส้นทางนี้ ถ้าเป็นการนั่งรถเมล์สายตรงหรือการจราจรทางบกตามปกติ ใช้เวลาราว ๆ ชั่วโมงครึ่ง (ถ้ารถติดหนัก ๆ หน่อยก็สองชั่วโมง) แต่เมื่อเลือกใช้ระบบคมนาคมครึ่งบกครึ่งน้ำ (นั่งเรือแล้วต่อด้วยรถเมล์) ซึ่งฟังดูจระเข้ยังไงก็ไม่รู้ สถิติรวดเร็วและล่าช้าสุดเท่าที่ผมเคยจับเวลาไว้ก็คือ สามชั่วโมงครึ่งถึงสี่ชั่วโมงครึ่ง

ตอนนั่งเรือนั้น เร็วปรื๋อทันใจดีอยู่หรอกนะครับ มาล่าช้าเสียเวลาตรงรถป.อ. สาย 545 นี่แหละ

รถป.อ. สาย 545 นั้น ได้ชื่อว่ามีเส้นทางเลี้ยวลดคดเคี้ยวอ้อมโลกอย่างน่าอัศจรรย์ คล้าย ๆ ตัวอักษร W ผนวกรวมกับตัว M ยึกยักเลื้อยขดไปมา

กล่าวคือ จากท่าน้ำนนท์ รถเมล์จะวิ่งตรงมาเรื่อย ๆ แล้วเลี้ยวซ้ายมาทางแคลาย และเลี้ยวอีกครั้งไปทางงามวงศ์วาน พงษ์เพชร มุ่งตรงสู่แยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เลี้ยวเข้าถนนพหลโยธิน ผ่านซอยเสนานิคม ไปจนถึงเซ็นทรัลลาดพร้าว จากนั้นก็เลี้ยวตรงดิ่งตลอดถนนลาดพร้าวทั้งสาย ถึงบางกะปิ เลี้ยวขวาขึ้นสะพานข้ามคลองแสนแสบมาแยกลำสาลี และเลี้ยวขวาอีกครั้งมุ่งตรงผ่านหัวหมาก มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผ่านแยกคลองตัน มุ่งตรงไปถึงพระโขนง และเลี้ยวซ้ายสู่ถนนสุขุมวิท ผ่านอ่อนนุช บางจาก อุดมสุข บางนา ลาซาล ซอยแบริ่ง ไปหมดระยะที่สำโรง

เมื่อใช้บริการบ่อย ๆ เข้า ผมก็คุ้นจนพอจะจินตนาการได้ว่า ทัศนวิสัยการมองเห็นของงูขณะเคลื่อนไหว ควรจะเป็นเช่นไรบ้าง?

บางครั้งพอลงจากรถเมล์แล้ว อดีตปลาแซลมอนเมื่อหลายชาติภพก่อนอย่างผม ยังเผลอนึกว่าตัวเองเป็นงูไปเลย

จากการสำรวจด้วยสายตาแบบมองกวาดคร่าว ๆ รถป.อ. สาย 545 ไม่ค่อยจะมีใคร “บ้าเลือด” ขึ้นจากต้นทางไปลงเอาเกือบ ๆ ปลายทางเหมือนอย่างผมหรอกนะครับ

มันเป็นเส้นทางที่ออกแบบให้อ้อมเมือง ผ่านย่านชุมชนคับคั่งมากมาย เพื่อให้โดยสารกันในระยะสั้น ๆ (รถเมล์สายนี้ จึงมีคนใช้บริการขึ้น-ลงสับเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลาเป็นจำนวนมาก)

ด้วยเหตุนี้ เวลาผมหยิบเงินมาชำระค่าโดยสาร พร้อมทั้งบอกที่หมายว่าลงแถว ๆ “บางจาก” กระเป๋ารถเมล์มักจะมองผมด้วยสายตา ซึ่งผ่านการถอดรหัสออกมาเป็นถ้อยคำได้ว่า “นายแน่มาก ใจถึงจริง ๆ และเป็นของแปลกโดยแท้”

ตอนนั่งเรือด่วนจากใจกลางเมืองมาถึงท่าน้ำนนท์ ผมใช้เวลาราว ๆ สี่สิบถึงห้าสิบนาทีเท่านั้น (ขึ้นอยู่กับว่าเป็นเรือด่วนหรือเรือด่วนมากหรือเรือด่วนที่สุด ซึ่งมีจำนวนการจอดป้ายเทียบเท่าไม่เท่ากัน) แต่ตอนนั่งรถป.อ. สาย 545 ไปจนถึงบ้าน เวลาโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่สามชั่วโมงยี่สิบนาทีจนถึงสามชั่วโมงสี่สิบนาที (ครั้งที่กินเวลาน้อยสุดคือ สองชั่วโมงสี่สิบนาที วันนั้นสภาพการจราจรค่อนข้างปลอดโปร่ง)

ถึงบ้านแล้ว ผมก็อดคิดเล่น ๆ ไม่ได้ว่า สมทบเติมเข้าไปอีกแค่ยี่สิบนาที ก็จะใช้เวลาเท่ากับนั่งรถทัวร์ไปกลับยังจังหวัดเพชรบุรีได้สบาย ๆ

อย่างไรก็ตาม เวลาผมมีเยอะนะครับ และปราศจากความจำเป็นที่จะต้องเร่งรีบ การนั่งเรือด่วนตบท้ายด้วยรถเมล์สายอ้อมโลก จึงไม่ใช่เรื่องเดือดร้อนยุ่งยากอันใด แต่เป็นความรื่นรมย์อีกแบบหนึ่งซึ่งเมื่อยตูดนิดหน่อย

ที่สำคัญคือ ช่วงฝ่าการจราจรบนท้องถนน ซึ่งมีตั้งแต่ติดขัด ติดหนึบ ติดแน่น ไปจนกระทั่งถึงขั้นตึ๋งหนืดแกะไม่ออก ไม่ยอมเคลื่อนขยับเป็นเวลานาน ๆ ผมถือเป็นโอกาสทองในการคิดเรื่อยเปื่อยเรื่องงาน บางทีก็นั่งอ่านหนังสือหนึ่งเล่มจนจบบนรถเมล์ บางทีก็นั่งพักสายตาบริหารลำคอด้วยการหลับสัปหงก ส่งผลให้ค่าไฟที่บ้านถูกลงไปจมเลย มิหนำซ้ำยังช่วยบรรเทาสภาวะโลกร้อนได้บ้างเล็กน้อย

กระนั้นไฮไลท์ ไคล์แม็กซ์ ทีเด็ด หรือลูกชิ้นที่แท้จริง ในการเดินทางอ้อมโลกกลับบ้าน อยู่ที่ช่วงระหว่างนั่งเรือด่วนนะครับ

จะพูดเป็นเนื้อเพลงว่า “นับเป็นช่วงชีวิตที่ดีที่สุด แม้เป็นแค่เพียงเวลาสั้น ๆ” ก็ได้เหมือนกัน

การนั่งเรือด่วนเจ้าพระยานั้น จะเลือกใช้บริการเวลาไหนก็ล้วนให้ความรื่นรมย์สบายตาสุขใจทั้งสิ้น พูดง่าย ๆ คือ มีความงามแตกต่างหลากหลายไม่เคยซ้ำกันเลย อันเกิดจากองค์ประกอบห้อมล้อมของแดด ลม และเมฆบนฟ้า ที่แปรเปลี่ยนแสงเงาและบรรยากาศอยู่ตลอดทุกชั่วขณะ

ช่วงที่ผมโปรดปรานมากสุด ได้แก่การเริ่มต้นบริเวณจุดสตาร์ทที่ท่าน้ำราชวงศ์ราว ๆ ห้าโมงเย็น ซึ่งเป็นเวลาที่แดดไม่ดุเดือดเกรี้ยวกราดจนเกินไป และพระอาทิตย์ก็มักจะค่อย ๆ คล้อยต่ำควบคู่กับการฝ่าคลื่นเคลื่อนสู่ข้างหน้าของลำเรือ เมื่อถึงท่าน้ำนนท์ก็มักจะเป็นวาระเดียวกับที่ฟ้ากำลังเปลี่ยนสียามใกล้ค่ำ (ผมมักจะถือโอกาสยืนดูแม่น้ำและท้องฟ้าฝั่งตรงข้ามจากบริเวณริมฝั่งอีกประมาณยี่สิบนาที)

ความประทับใจเบื้องต้นในการนั่งเรือด่วนคือ การที่มันเคลื่อนผ่านย่านสำคัญหลายแห่ง ทั้งวัด วัง ตลอดจนอาคารบ้านเรือที่ตั้งแต่สองฝั่งแม่น้ำ

พระปรางค์วัดอรุณนั้น ผมคิดว่ามองจากมุมไหนก็ไม่สวยน่าประทับใจเท่ากับการจับจ้องขณะเรือเคลื่อนผ่านกลางแม่น้ำ

วัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวังนั้น มุมมองจากบนเรือด่วน ให้ภาพที่แปลกใหม่แตกต่างไปจากความเคยชินเดิม ๆ บนบก

ผ่านถิ่นย่านสถานที่เหล่านี้ทีไร ผมก็ตื่นตาตื่นใจไม่แพ้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งมักจะชี้ชวนกันดูและหยิบกล้องถ่ายรูปมาบันทึกภาพเก็บไว้ด้วยความตื่นเต้น

ผมมีความลับอย่างหนึ่งจะเล่าสู่กันฟัง นั่นคือ ทุกครั้งที่เรือผ่านบริเวณท่าเตียน ผมจะร้องเพลงหนึ่งขึ้นมาในใจ

เพลงนั้นชื่อ “แม่ค้าตาคม” แต่งโดยครูไพบูลย์ บุตรขัน ร้องโดยศรคีรี ศรีประจวบ

เนื้อเพลงมีอยู่ว่า

“พี่พบเนื้อนวล เมื่อนั่งเรือด่วนสายบ้านแพน เราต่างรักกันเหมือนแฟน เมื่อเรือด่วนแล่นถึงเมืองปทุม เรือด่วนวิ่งไป เหมือนหัวใจพี่ตกหลุม พี่หลงรักแม่เนื้อนุ่ม แม่ค้าสาวชาวบ้านแพน

ไม่เห็นเนื้อนวล พี่นั่งคร่ำครวญใจหมุนเวียน คอยดักน้องที่ท่าเตียน ทุกเที่ยวเรือเปลี่ยนไม่เห็นหน้าแฟน
เรือด่วนกลับไป เหมือนหัวใจพี่ปวดแสน ไม่พบหน้าแม่เนื้อแน่น แม่ค้าบ้านแพนสาวนัยน์ตาคม

เฝ้ามอง มองหาแม่ค้าหน้านวล ทุกเที่ยวเรือด่วน ไม่เห็นนวลน้องพี่หมองตรม
เคยเห็นแม่ค้าตาคม มาซื้อลำใยเงาะส้ม อีกทั้งขนมไปขายเสมอ

แม่ค้าหน้านวล เคยนั่งเรือด่วนสายบ้านแพน ใยหลบหน้าตาหนีแฟน เมื่อเรือด่วนแล่นคิดถึงแต่เธอ
เคยฝากจดหมาย น้ายท้ายเรือให้เสมอ พี่หลงคอยคอยน้องเก้อ เฝ้าหลงคอยเธอท่าเตียนทุกวัน”

ทุกวันนี้ เรือด่วนสายบ้านแพนกลายเป็นอดีตที่ไม่หวนกลับไปเรียบร้อยแล้ว ผมเองก็โตไม่ทันได้เห็น แต่เพลง “แม่ค้าตาคม” ก็ได้บันทึกภาพบรรยากาศเหล่านี้ไว้อย่างมีชีวิตชีวา เปี่ยมอารมณ์สุขโศกสะเทือนใจรวมทั้งสะท้อนเล่านิยายรักเศร้า เปี่ยมด้วยอารมณ์สุขโศกสะเทือนใจที่เคยเกิดขึ้น

หนทางอันไกลและกินเวลาค่อนข้างนานในแต่ละเที่ยวขึ้น-ล่อง ทำให้เรือด่วนสายบ้านแพน (รวมทั้งสายอื่น ๆ ในยุคสมัยเดียวกัน) สามารถเป็นจุดเกิดนิยายรักระหว่างการเดินทางทำนองนี้ได้ไม่ยากนะครับ

นั่งเรือผ่านท่าเตียนครั้งใด ผมก็มักจะนึกถึงเพลงนี้เป็นสิ่งแรก ๆ และรำลึกนึกได้ทีไร ผมก็รู้สึกว่ามันโรแมนติคเศร้าจับใจจังเลย

ภาพชีวิตความเคลื่อนไหวของผู้คนบนเรือและริมน้ำทั้งสองฝั่ง ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งซึ่งมีเสน่ห์ดึงดูดให้ผมรู้สึกซาบซึ้งตรึงใจ ฝูงชนบนเรือที่กำลังเดินทางกลับบ้าน, เด็ก ๆ ลอยคอเกาะบันไดที่ท่าน้ำ, เรือหางยาวลำเล็กกระจ้อยแล่นตัดคลื่นเลาะลัดเข้าสู่คลอง, ผู้เฒ่านั่งตกปลาริมฝั่งพร้อมหลาน, หญิงสาวนั่งเล่นอยู่บนม้ายาวที่นอกชาน ฯลฯ

ภาพเหล่านี้ ทำให้ผมซึ่งเป็นเพียงผู้ผ่านทางรู้สึกเสมือนหนึ่งว่า ได้มีโอกาสถอยห่างจากวิถีความเป็นอยู่ของคนเมืองออกมาชั่วครู่ชั่วขณะ และได้รับสัมผัสบรรยากาศกึ่ง ๆ ชนบทบ้าง อย่างน้อยที่สุด มันก็ยังเป็นชีวิตที่แนบชิดอยู่ใกล้กับธรรมชาติอย่างเด่นชัด

มีรายละเอียดสิ่งละอันพันละน้อยเยอะแยะมากมาย ให้ผมใช้สายตาเก็บเกี่ยวขณะเดินทางบนเรือด่วนเจ้าพระยา แต่สิ่งที่ผมประทับใจมากสุดก็คือ เมื่อพ้นจากเขตใจกลางเมืองแล้ว ห้วงยามหนึ่งที่เรืออยู่กลางแม่น้ำอันกว้างใหญ่ หากเหลียวมองไปทางฝั่งขวาของแม่น้ำ (หรือทางทิศตะวันตก) ซึ่งปราศจากตึกสูงมาบดบังกีดขวาง จะเห็นเมฆบนฟ้าโค้งครอบเป็นวงกว้างสุดลูกหูลูกตา

ฟ้าตรงนั้นงามเข้าขั้นอัศจรรย์แบบไม่ซ้ำกันทุกเมื่อเชื่อวัน ความเวิ้งว้างกว้างใหญ่ทำให้ผมรู้สึกเล็กลง-ทั้งทางกายภาพและอัตตาที่อยู่ในใจ-กระทั่งต้องมองดูด้วยความสงบเสงี่ยมเจียมตัว ควบคู่ไปกับนอบน้อมคารวะ

คล้ายกับว่าผมได้ปลดเปลื้องโยนความวุ่นวายต่าง ๆ ในชีวิตทิ้งไป เหลือเพียงอารมณ์ดื่มด่ำกับความงามเรียบง่ายล้ำลึก และรู้สึกสงบนิ่งชั่วขณะ
(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกที่นี่)













วันอาทิตย์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ผมเลวกว่าหมา และไม่ได้มาจากดาวคะนอง โดย "นรา"


เมื่อคืนผมฝันร้าย โม้สะบั้นหั่นแหลกฝอยกระจายโอเวอร์แหลกลาญ ขนาดเอาสองมาหารสักสามสี่ครั้งก็ยังเชื่อไม่ลง

ผมฝันว่า จู่ ๆ ก็กลับกลายเป็นคนดีไปได้เฉยเลย (เชื่อหรือยังครับว่าเป็นความฝันที่โม้และโกหกเหลือเกิน) พอตกใจตื่นขึ้นมาด้วยสภาพเหงื่อท่วมตัว ใจเต้นแรง หน้าซีด ปากคอสั่น ผมก็เกิดอาการสูญเสีย “ความชั่วมั่น” ในตนเอง

พร้อมทั้งมีคำถามข้อสงสัยว่า จริง ๆ แล้วผมเป็นคนดีหรือเปล่า?

ตามปกติการเป็นคนดีควรนำมาซึ่งความสุขสบายใจ เผอิญผมเป็นมนุษย์ไร้สาระวีหนึ่ง ซึ่งไม่ค่อยปกตินัก (ยกเว้นความประพฤติและนิสัยที่ “สกปรกติ”)ได้ตระเตรียมตั้งใจลงมือหย่อนเท้าขยับแขนเหยียดขาวางแผนเอาไว้กับพื้น เพื่อเขียนเรื่อง “ผมเลวกว่าหมา และไม่ได้มาจากดาวคะนอง”

เป็นการตั้งชื่อล่วงหน้าขึ้นมาก่อน แล้วค่อย “หาเรื่อง” (โดยปราศจากการทะเลาะวิวาทต่อยตีกับใคร) ไปสู่รายละเอียดต่าง ๆ ทีหลัง พอฝันว่ากลายเป็นคนดี ผมจึงเกิดความเดือดเนื้อร้อนใจราวกับรัฐบาลเวลาเผชิญม็อบต่อต้านขับไล่ยังไงยังงั้น

เดือดร้อนเพราะถ้าเป็นคนดีจริง ๆ ชื่อเรื่องที่ตั้งเอาไว้ก็จะไม่ตรงกับความจริงนะครับ ข้อเขียนของผมถัดจากนี้ไปจะกลายเป็นเรื่องโกหกตอแหล หลอกลวงตนเองและผู้อ่านทันที อันเป็นสิ่งที่ผมผู้ยึดมั่นเคารพในกติกา (มวยปล้ำ-โดยเฉพาะเมื่อผ่านการพากย์ไทยได้อย่างโหด มัน ฮา ของน้าติง) ยินยอมอ่อนข้อปล่อยให้เกิดขึ้นไม่ได้อย่างเด็ดขาด

ผมจึงต้องลงทุนขุดคุ้ยข้อเสียความเลวต่าง ๆ ของผมออกมาตีแผ่ เพื่อคงดำรงรักษาไว้ซึ่งชื่อเรื่องที่พึงหวงแหนถึงขนาดเอาสเต็คและสะเต๊ะมาแลกก็ไม่ยอม

ยืนยันนะครับว่า “ผมเลวกว่าหมา และไม่ได้มาจากดาวคะนอง” เรื่องเลวนี่ยังคงต้องพิสูจน์กันอีกยืดยาว ทว่าประเด็นไม่ได้มาจาก “ดาวคะนอง” ถือได้ว่าเด่นชัดแหงแก๋ชัวร์แน่ มีหลักฐานปรากฏชัดตั้งแต่ใบเกิด ทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน

ทั้งหมดนี้ระบุเอาไว้แน่นหนาว่า ผมมาจากซอย “สาหร่ายทองคำ” (เป็นธรรมดาของไฮโซอย่างผมนะครับ ไหน ๆ จะหรูหราทั้งทีก็ต้องเริ่มกันที่ชื่อซอยเลยเชียว)

เรื่องความเลวชั่วร้ายของผมนั้นไม่ต้องนึกไปไกล ระดับเบสิคเบื้องต้น อย่างเช่น เตะหมา ด่าแมว (ด่าแมวนะครับ ไม่ใช่ด่าแม้ว) พูดพล่อย ๆ (พูดพล่อย ๆ นะครับ ไม่ใช่ปากห้อย ๆ) ทำหน้าเหี้ยม (หน้าเหี้ยมนะครับไม่ใช่หน้าเหลี่ยม) ท้าเด็กอายุหกขวบชก เพราะมั่นใจว่าสู้ไหว ฯลฯ คุณสมบัติอันเป็นโทษ ปราศจากประโยชน์ต่อร่างกายเหล่านี้ ผมมีอยู่ครบถ้วนเพียบพร้อม

อย่างไรก็ตาม ในวงการเด็กเลว (ท่านผู้อ่านจำนวนมากอาจไม่รู้จักและไม่เคยได้ยินคำนี้มาก่อน ไม่ต้องแปลกใจหรืองุนงงนะครับ แปลได้ง่าย ๆ ว่า ท่านเป็นคนดี) ความประพฤติข้างต้น ถือเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย ยังไม่อาจนับได้ว่า “เลวจริง”

ความชั่วร้ายของผม สามารถสาธยายได้จากรายละเอียดต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ตื่นนอนยันตื่นนอนอีกที

แรกสุดคือ ผมตื่นสาย...เอ้อ...ถ้าจะให้ถูกต้องถ่องแท้ก็ไม่ควรจะใช้คำว่าสายหรอกนะครับ เพราะถ้า “ตื่นสาย” จริง ๆ ผมควรจะต้องตื่นเช้ากว่านี้อีกหลายชั่วโมง

มีสำนวนภาษิตกล่าวไว้ว่า “นกที่ตื่นเช้าย่อมได้หนอนเป็นอาหาร” แต่สำหรับผมแล้ว ยึดถือภาษิตที่ว่า “หนอนที่ตื่นเช้าย่อมกลายเป็นอาหารของนก” เพราะเหตุนี้ผมก็เลยไม่ยอมตื่นเช้า

เรามักจะได้ยินผู้ใหญ่เปรยและปรามเด็ก ๆ ที่ชอบนอนเยอะ ๆ ว่า “นอนกินบ้านกินเมือง” ถ้ามาเจอการหลับระดับ “กลมอุตุ” ของผมเข้าแล้ว อาจจะต้องเปลี่ยนมาใช้คำแรง ๆ อย่างเช่น “โกง”, “สวาปาม” หรือ “แดก” ได้อย่างสบาย ๆ

เท่านั้นยังไม่พอ นอกจากจะนอนแหลกลาญล้างผลาญเวลาแล้ว ผมยังนอนเปิดไฟทิ้งไว้ตลอดทั้งคืน (โปรดอย่าลืมว่าผมตื่นสายมาก) สิ้นเปลืองพลังงานของชาติอีกต่างหาก

ถ้าเวรกรรมมีจริง ชาติหน้าผมคงมีชีวิตจมปลักอยู่ในด้านมืด ด้วยการเกิดเป็นนกฮูกแน่ ๆ เลยครับ

แต่ละวัน พอตื่นนอนแล้ว ผมก็ต้องดูหนังสักเรื่อง จากนั้นก็นำมาเขียนถึงเพื่อหารายได้ คงพอจะเดากันออกนะครับว่า หนังเกือบทุกเรื่องที่ผมดู พึ่งพาอาศัยแผ่นดีวีดีละเมิดลิขสิทธิ์

คำเตือนในโรงหนังที่ผมเคยผ่านตา ระบุเอาไว้ว่า การสนับสนุนสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์เป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่ง ดังนั้นผมจึงสรุปได้ว่า ไม่เพียงแค่เบื้องหลังความสำเร็จเกิดจากอาชญากรรมเท่านั้น เบื้องหลังความล้มเหลวของนักวิจารณ์หนังเฮงซวยอีกคนหนึ่ง ก็เกิดจากอาชญากรรมด้วยเช่นกัน

ตอนลงมือเขียนต้นฉบับ (รวมทั้งเรื่องที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้ด้วย) ผมใช้วิธีเขียนด้วยปากกาลงบนแผ่นกระดาษ ผมเป็นพวกใช้กระดาษเปลืองอย่างยิ่ง เขียนไปได้ไม่กี่บรรทัด ก็แกล้ง ๆ ขยำ ๆ ฉีกทิ้ง แล้วก็เขียนลงกระดาษแผ่นใหม่ด้วยข้อความเดียวกันกับแผ่นที่ฉีกทิ้งเป๊ะ ๆ จากนั้นก็เขียนไปอีกสองสามบรรทัดแล้วก็ฉีกทิ้งอีก
กว่าจะได้ข้อเขียนหนึ่งชิ้น ก็สิ้นเปลืองกระดาษไปหนึ่งปึก

ว่ากันว่า “ตระกร้านั้นสร้างนักเขียน” ส่วนผมใช้วิธีฉีกกระดาษทิ้ง เพื่อสร้างตะกร้าให้มีหน้าที่บทบาทในการบรรจุเศษกระดาษอีกที (ประมาณว่า อยากให้เบสิคแน่นพื้นฐานดีนะครับ) จนกลายเป็นทฤษฎีใหม่ที่ว่า “นักเขียนสร้างตะกร้า” โดยไม่เคยลงมือสานตะกร้า แต่เคยเตะตะกร้อและชอบกินตะโก้ (ส่วนไวอะกร้ายังไม่เคยใช้และไม่มีความจำเป็นต้องใช้)

ผมเขียนหนังสือหากินเลี้ยงชีพมา 16 ปี มีข้อเขียนเฉลี่ยปีละ 150 ชิ้น บวกลบคูณหารแล้วตกประมาณ 2,400 ชิ้น แต่ละชิ้นใช้กระดาษประมาณ 20 แผ่น นั่นแปลได้ว่าผมเผาผลาญเศษกระดาษอย่างฟุ่มเฟือยไปถึง 48,000,000,000 แผ่นเป็นอย่างต่ำ (นอกจากใช้กระดาษฟุ่มเฟือยแล้ว ผมยังสอบตกเรียนห่วยวิชาคณิตศาสตร์ด้วยครับ)

ทั้งหมดนี้ต้องใช้ต้นไม้กี่ต้น ผมเองก็ไม่กล้าคิด รู้แต่ว่าปัญหาป่าไม้ร่อยหรอลดลง ปัญหาอุทกภัยน้ำท่วม ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาโลกร้อน ปัญหาสิ่งแวดล้อม และปัญหาหัวใจปัญหาชีวิตรักของใครหลายคน (ซึ่งขาดแคลนกระดาษสำหรับใช้เขียนจดหมายจีบหญิง) ผมมีส่วนเกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบและเป็นต้นตอสาเหตุเต็ม ๆ แต่เพียงผู้เดียว

ที่ย่ำแย่ยิ่งกว่านั้นก็คือ ระหว่างลงมือเขียนต้นฉบับ ผมยังติดบุหรี่งอมแงม และสิ้นเปลืองพอ ๆ กับการใช้กระดาษ ตลอดเวลา 16 ปีแห่งความหลัง ผมทำลายสุขภาพของตนเองและคนรอบข้างไปเยอะ เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีให้แก่เยาวชนของชาติ

เดาเอาว่า น่าจะมีวัยรุ่นจำนวนไม่น้อย รับค่านิยมผิด ๆ จากผม คือมาเจอะเจอพบเห็นผมสูบบุหรี่ตอนเขียนต้นฉบับเข้าแล้วก็รู้สึกว่าทุเรศมาก จึงตัดสินใจไปสูบบุหรี่ยี่ห้ออื่นแทน จากนั้นก็เลยเถิดถลำลึกไปสู่การติดยาบ้า ยาอี ยาไอ้ ยาไอ ยายู ยาฮู้ดอทคอม ทั้งหลายแหล่ กลายเป็นปัญหาระดับชาติที่น่าวิตกห่วงใย

ผมนี่แหละครับที่เป็นตัวการใหญ่ในการก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสังคมทั้งหมด (เขียนถึงตรงนี้ ผมก็อดไม่ได้ที่จะต้องรำพึงรำพันขึ้นมาเบา ๆ กับตัวเองสามครั้งซ้อนว่า “มึงซึ่งหมายถึงกูนี่โคตรเลวเลย” เพื่อสนับสนุนชื่อเรื่องให้มีน้ำหนักเพิ่มยิ่งขึ้น)

ทำตัวให้มีสุขภาพเลวเสร็จสรรพแล้ว ผมยังต่อต้านการมีสุขภาพที่ดี โดยไม่ยอมออกกำลังกาย (กีฬาที่ผมถนัดและเล่นบ่อยสุดคือ ยักคิ้ว ส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าผากของผมขึ้นเป็นลอน ๆ สวยงาม จนมีคนเข้าใจผิดคิดว่าหน้าผากย่น) และไม่ยอมกินผัก

อย่างหลังนี่ผมปกปิดเป็นความลับมาตลอดนะครับ จนกระทั่งมาดูหนังเรื่อง Season Change เห็นว่าพระเอกก็ไม่กินผัก และดูน่ารักดี ผมจึงยินยอมเปิดเผยบ้าง

ผลลัพธ์ก็คือ ไม่มีสาวสวยที่ไหนมาพูดอะไรจี๊ด ๆ กับผมเหมือนอย่างในหนังเลยว่า “ไม่กินผัก ทำไมไม่บอก” เพื่อนฝูงญาติมิตรทั้งหมดเมื่อรู้ความจริง ต่างพากันพูดเป็นเสียงเดียวว่า “ไอ้นี่ลืมกำพืช” ซึ่งฟังดูเลวร้ายคล้าย ๆ “ลืมกำพืด” เหมือนดังแล้วหยิ่งยังไงยังงั้นเชียว

นอกจากไม่กินผักแล้ว ผมยังไม่มี ไม่ยอม ไม่ซื้อ และไม่ใช้โทรศัพท์มือถืออีกต่างหาก อันนี้ไม่ได้เลวร้ายเฉพาะแค่ล้าหลังทางด้านการสื่อสารเท่านั้น แต่ยังมีความผิดอุกฉกรรจ์ในแง่ที่ว่า ไม่ส่งเสริมธุรกิจของมิสสะเตอร์ taxsin (แปลว่า “ผู้มีบาปอันเกิดจากภาษี” นะครับ หมอนี่เป็นใครที่ไหนก็ไม่รู้ ชื่ออ่านออกเสียงได้ใกล้เคียงกับคุณทักษิณเหลือเกิน จนผมเขียนไปแล้วก็เสียวสันหลังขึ้นมาแว๊บ ๆ)

พูดถึงสันหลังแล้ว ผมก็ต้องขอสารภาพเพิ่มเติมว่า ผมเป็นพวกวัวสันหลังหวะ เป็นตุ๊กแกกินปูนร้อนท้อง กล่าวคือ ได้ทำความผิดเอาไว้มากมายก่ายกอง แล้วก็เกิดอาการกระวนกระวายกลัวโดนจับได้

ผมทำผิดกฎ กติกา มารยาทอยู่เป็นประจำ เช่น แซงคิวเวลารอจ่ายเงินในร้านสะดวกซื้อ ล้ำเส้นเหลืองจนยามเป่านกหวีดไล่บนสถานีรถไฟฟ้า (ผมล้ำเส้นเหลือง เพราะเวลาขึ้นรถไฟฟ้าทีไร มักจะเกิดความสงสัยอยู่เสมอ นั่นคือ ผมสงสัยว่า “รถไฟฟ้า” นั้น มีปลั๊กเสียบซ่อนอยู่ตรงไหน จึงพยายามชะโงกมองหาทุกครั้งที่มีโอกาส)

แม้กระทั่งยามเมื่อนั่งมอเตอร์ไซค์เวลาที่รถติดหนัก ๆ ผมก็ยังทำผิดกฎหมาย ด้วยการไม่ใส่หมวกกันน็อค ไม่ใช่เพราะว่าไม่ยอมใส่ หรือถือว่าหัวแข็งมีความแกร่งเป็นพิเศษหรอกนะครับ เป็นการ “บกพร่องโดยสุจริต” ขนานแท้ เนื่องจากวินมอเตอร์ไซค์ส่วนใหญ่ที่ผมใช้บริการ (ซึ่งมีชื่อว่า “วินโด้” และ “วินนีเดอะพูห์” วินแรกหัวหน้าทีมชื่อไอ้โด้ ส่วนวินหลังหัวหน้าวินชอบใส่เสื้อยืดลายตุ๊กตาหมีพูห์) ไม่มีหมวกกันน็อคให้ผมใส่

ภาพที่ปรากฏอยู่เนือง ๆ ตามท้องถนนเวลาผมนั่งมอเตอร์ไซค์ก็คือ ผมต้องยกมือตั้งการ์ดสองข้างขึ้นสูงแบบนักมวย (ซึ่งตรงกับสำนวนที่ใช้ในรายการ “ยอดมวยเอก” ว่า สวมหมวกกันน็อค) อันนี้เวลาเจอะเจอจราจรที่ดูมวยเป็นก็โชคดีไป แต่ถ้าจราจรไม่เข้าใจกีฬามวยเพียงพอ นอกจากจะผิดกฎหมายโดนปรับแล้ว ผมยังโดนมองว่าสติไม่เรียบร้อยอีกหนึ่งกระทง

โชคดีอยู่อย่างที่ทุกวันนี้ผมไม่ต้องรีบเร่งฝ่าการจราจรติดขัด ไม่ค่อยได้ใช้บริการของมอเตอร์ไซค์ในยามเร่งด่วนอีกต่อไป เนื่องจากไม่ได้ทำงานประจำเป็นพนักงานกินเงินเดือนที่ไหนอีกแล้ว เพราะสมัยที่ยังเป็น “มนุษย์เงินเดือน” ผมสร้างวีรกรรมแย่ ๆ เอาไว้เยอะ จนได้รับฉายาว่า “สายหยุด”

แปลง่าย ๆ ได้ว่า ถ้าหากวันไหนผมไม่มาทำงานสาย ผมก็ถือโอกาสหยุดเอาดื้อ ๆ โดยไม่มีการลาป่วย ลากิจ หรือลาก่อนเลยสักอย่าง

สมัยที่ผมทำงานประจำ มีเพื่อนคนหนึ่งเขียนคำขวัญเอาไว้ในสมุดบันทึกของตัวเองว่า “ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน” พอเพื่อนเผลอ ผมก็แอบไปหยิบเปิดอ่าน และลงมือตัดทอนต่อเติมข้อความเสียใหม่จนกลายเป็น “ฆ่าน้อง ฟ้องนาย ขายเพื่อน กลบเกลื่อนความจริง หลีหญิงไปทั่ว”

หลังจากนั้น เมื่อไรก็ตามที่ผมยกประเด็น “ผมเลวกว่าหมา และไม่ได้มาจากดาวคะนอง” ขึ้นมาคุยกับใคร พอเล่าให้ฟังถึงตรงนี้ ทุกคนที่เคยสงสัยข้องใจก็เลิกกังขา และลงความเห็นมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า “มันบัดซบจริง ๆ เลย”

ความชั่วร้ายอีกอย่างของผมคือ ชอบแอบอ้างอะไรต่อมิอะไรเป็นเครดิตของตนเอง สำนวน “มันบัดซบจริง ๆ เลย” นี้ก็เช่นกัน ผมเป็นผู้ให้กำเนิดและเป็นต้นตอที่มาทั้งหมด โดยไม่ได้ลงทุนคิดอะไรเลยนะครับ

เกือบลืม ชื่อหนังสือ “ผู้ชายเลวกว่าหมา และไม่ได้มาจากดาวอังคาร”, “ผู้ชายมาจากดาวอังคาร ผู้หญิงมาจากดาวศุกร์” ชื่อรายการโทรทัศน์ “ถึงลูกถึงคนค้นคน”, “เรื่องเหล้าเช้านี้กับแกล้มคืนนั้น” และอีกหกพันเจ็ดร้อยแปดสิบสี่ชื่อที่นิยมยกย่องกันว่าช่างคิดสร้างสรรค์และตั้งได้ดีเหลือเกิน

ชื่อเหล่านี้บางอันก็เป็นคนอื่นตั้ง บางอันผมก็ไม่ได้เป็นคนคิด แต่สรุปรวมแล้ว ผมยินดีรับความดีความชอบทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียวล้วน ๆ (โดยไม่ยอมแบ่งปันกับใคร และตั้งใจจะไม่จ่ายภาษีด้วย ใครจะทำไม?)

ผมมีความเลวร้ายกว่านี้อีกเยอะที่ยังไม่ได้เล่า ไม่ได้ละอายใจหรือรู้สึกสำนึกผิด เกิดมีจริยธรรมขึ้นมาฉับพลันหรอกนะครับ

แค่ขี้เกียจเท่านั้นเอง หาววววววววววววว (ผม “หาว” นะครับ และไม่ได้หาวครั้งเดียวด้วย ยังมีอีกสอง แต่ขี้เกียจเขียนให้ครบ)




(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "มนุษย์ไร้สาระวีหนึ่ง" เว็บไซต์ โอเพ่น ออนไลน์

วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ทำไมต้อง “ข้าวมันเป็ด” ? โดย "นรา"


“ข้าวมันเป็ด” เป็นชื่อคอลัมน์หนึ่งที่ผมเคยเขียน และสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าแก่ผู้พบเห็นเจอะเจออยู่พอสมควร เพราะฟังดูแล้วก็ไม่รู้ว่ามีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร? บางท่านถึงขั้นเข้าใจว่า คงเป็นคอลัมน์แนะนำอาหารแปลก ๆ

ผมได้ชื่อนี้มาจากการที่วันดีคืนดี นั่งคิดอะไรเล่น ๆ เรื่อยเปื่อยบนรถเมล์ แล้วจู่ ๆ ก็เกิดน้อยเนื้อต่ำใจแทนเป็ดขึ้นมาซะยังงั้น

เทียบฐานะกับสัตว์ปีกชนชั้นใกล้เคียงกันอย่างไก่แล้ว เป็ดค่อนข้างจะอาภัพอยู่สักหน่อย กล่าวคือ บรรดาเมนูอาหารทั้งหลายที่มีเป็ดเป็นองค์ประกอบหลัก เช่น เป็ดย่าง, เป็ดพะโล้, ข้าวหน้าเป็ด, เป็ดตุ๋นมะนาวดอง ฯลฯ ไก่ก็สามารถยืดอกอ้างได้ว่า “มีเหมือนกัน” ครั้นสลับข้ามฟากมาเป็นรายการอาหารบางอย่างเกี่ยวกับไก่ เช่น ข้าวกระเพราไก่ไข่ดาว, ไก่ผัดขิง, ไก่ทอด, ไก่ตะกร้า และข้าวมันไก่ ฯลฯ บรรดาเป็ดกลับเป็นฝ่ายจ๋อยได้แต่มองละห้อยตาปริบ ๆ

นึกถึงตรงนี้ ผมก็เลยเกิดความใฝ่ฝันอยากเห็น “ข้าวมันเป็ด” อุบัติขึ้นมาเป็นอาหารยอดนิยม ว่าแล้วผมก็จัดการฟาดก๋วยเตี๋ยวเป็ดไปหนึ่งชาม เป็นการปลอบประโลมใจ

จนกระทั่งวันหนึ่ง ด้วยอารมณ์เบื่อ ๆ การเขียนวิจารณ์หนัง ซึ่งเป็นงานเลี้ยงชีพที่ทำต่อเนื่องมายาวนานพอสมควร ผมจึงอยากจะลองเขียนเรื่องอื่น ๆ นอกเหนือจากนั้นบ้าง เป็นการสลับฉากเปลี่ยนบรรยากาศ

ผลก็คือ เกิดเป็นคอลัมน์ “ข้าวมันเป็ด” ในนิตยสาร Open

คอลัมน์ดังกล่าว มีอายุสั้นมาก ผมเขียนไปได้แค่ชิ้นเดียว ฉบับเดียว จากนั้นก็ปิดกิจการ เลิกเขียน เพราะความไม่ถนัดสันทัด ขาดการฝึกปรือมาก่อน พอวางกรอบเอาไว้ให้มีอิสระ สามารถแตะต้องเรื่องอะไรก็ได้ กลับกลายเป็นกว้างไป จนจับประเด็นไม่ค่อยถูก

อีกเหตุปัจจัยก็คือ ช่วงนั้นผมทำงานประจำอยู่ที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และมีคอลัมน์ต้องรับผิดชอบค่อนข้างชุกชุม แค่เขียนต้นฉบับต่าง ๆ ให้ทันส่งตามกำหนด ก็เอาตัวรอดมาได้อย่างร่อแร่เต็มทีเสียแล้ว

ท้ายที่สุดผมจึงต้องยอมรับสภาพตัดสินใจเลิกเขียน “ข้าวมันเป็ด”

ถัดจากนั้นไม่นาน ผมก็มีโอกาสได้ติดตามอ่านคอลัมน์ประเภทไดอารีออนไลน์ ในเว็บไซต์ผู้จัดการยุคบุกเบิก โดยนักข่าวรุ่นน้องสามคนคือ ตุ๊ก, ส้ม และพิม

อ่านแล้วก็เกิดความฮึกเหิม อยากลองเขียนอะไรท่วงทำนองนี้ดูบ้าง จึงเกิดเป็นคอลัมน์ชื่อ “เขียนคาบเส้น” (ซึ่งผมตั้งชื่อ โดยการแปลคำว่า ออนไลน์เป็นภาษาไทยแบบมั่ว ๆ)

แรกเริ่ม “เขียนคาบเส้น” ก็มีรูปแบบเนื้อหาคล้าย ๆ ไดอารี บอกเล่าว่าแต่ละวันผมเจอะเจออะไรมาบ้าง เป็นงานเขียนเน้นความเพลิดเพลิน ไม่ได้มีเนื้อหาแง่คิดหรือประเด็นอันใดมากนัก

เขียนไปเขียนมา ก็ค่อย ๆ คลี่คลาย เปลี่ยนจากบันทึกส่วนตัวมาเป็นบทความเต็มรูปแบบไปโดยปริยาย

ต่อมา หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับเสาร์-อาทิตย์ เกิดเซ็กชันใหม่คือ “อาทิตย์ทอดวง” โดยมีพี่บัญชา อ่อนดีดูแลรับผิดชอบ

พี่บัญชาเอ่ยปากถามไถ่ว่า พอจะมีเวลาเขียนอะไรมาลงบ้างได้ไหม ผมจึงเปิดกิจการคอลัมน์ “หนังกับหนังสือ” พร้อมทั้งเลือกบทความจำนวนหนึ่งจาก “เขียนคาบเส้น” มาเผยแพร่อีกครั้งทางหน้าหนังสือพิมพ์ เป็นอีกหนึ่งคอลัมน์

พอเปลี่ยนสนาม ชื่อคอลัมน์ “เขียนคาบเส้น” ก็เลยจำเป็นต้องเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสม ผมจึงนำเอาชื่อ “ข้าวมันเป็ด” กลับมาใช้อีกครั้ง และเป็นการเพิ่มความสับสนมากยิ่งขึ้น ด้วยบทความชิ้นเดียวแต่มีชื่อคอลัมน์สองชื่อ

ท้ายสุด “ข้าวมันเป็ด” โครงการสองก็ปิดกิจการ เนื่องจากผมเขียนไม่ทัน ด้วยเหตุว่าตอนเป็น “เขียนคาบเส้น” นั้น จัดอยู่ในจำพวก Special Features นะครับคือ เขียนเป็นรายสะดวกสุดแท้แต่ผมจะว่างจากภารกิจประจำ ขณะที่วาระตีพิมพ์ใน “อาทิตย์ทอดวง” สัปดาห์ละครั้งนั้นถี่กว่า

เรื่องที่เขียนตุนเก็บไว้ จึงหมดเกลี้ยงสต็อค

กระนั้น “เขียนคาบเส้น” ยังมีต่อไปอีกนานพอสมควร จนกระทั่งผมลาออกจากงานประจำ เพื่อกลับมาเป็นหุ่นไล่กา ทำมาหากินแบบไร้สังกัด ปราศจากเงินเดือน
พ้นจากนั้น ผมก็ลองขยับมาเขียนบทความประเภท “เขตปลอดบทวิจารณ์หนัง” ต่างกรรมต่างวาระในนิตยสารต่าง ๆ แบบประปรายบ่อยขึ้น (ซึ่งผมได้คัดเลือกส่วนหนึ่งมารวมไว้ในเล่มนี้ด้วย)

ที่พอจะเป็นกลุ่มก้อนจับต้องได้สักหน่อยคือ คอลัมน์ “วารีกระด้างเปลือย” ซึ่งผมเขียนลงในนิตยสาร mars รวมทั้งหมดน่าจะประมาณ 8-9 ฉบับ

แรกเริ่มเดิมที ผมก็ตั้งใจให้เป็นคอลัมน์ประเภทบทความ มีเนื้อหาฟรีสไตล์ แต่พอลงมือเขียนครั้งแรก ผมนึกครึ้มอย่างไรก็ไม่ทราบ จึงปรากฎออกมาเป็นกึ่ง ๆ เรื่องสั้นแนวตลกโรแมนติคชื่อ “ฤดูร้อน” และเสียงตอบรับจากงานชิ้นนี้ ก็กลายเป็นตัวกำหนดทำให้เรื่องต่อ ๆ มา ต้องอยู่ในคอนเซ็ปต์เดียวกันไปโดยปริยาย

ตลอดเวลาที่เขียนคอลัมน์ “วารีกระด้างเปลือย” ผมได้รับคำถามยอดนิยมจากมิตรรักแฟนเพลงอยู่เนือง ๆ ว่า เป็นเรื่องจริงหรือเรื่องแต่งสมมติขึ้น

คำตอบก็คือ เป็นเรื่อง “กึ่งจริงกึ่งผ่าน” ผสมรวมกัน รายละเอียดบางอย่างเกิดขึ้นจริง บางส่วนก็นำมาจากเรื่องของเพื่อนฝูงคนรู้จัก บางส่วนก็จินตนาการขึ้นเอง
ผมหยุดเขียน “วารีกระด้างเปลือย” ก็เพราะความเขินนะครับ เขียนไปแล้วหยิบมาอ่านซ้ำทีไร ก็รู้สึกว่ามันกึ๋ยส์ส์ ๆ เลี่ยน ๆ ชอบกล (มีผู้อ่านท่านหนึ่งชื่นชอบประทับใจคอลัมน์นี้มาก ด้วยเหตุผลว่า “ชอบเพราะสำนวนน้ำเน่าสนิท ไม่มีอ็อกซิเจนเจือปน”)

ที่สำคัญกว่านั้นคือ เขียน ๆ ไปแล้ว ผมก็รู้สึกเกรงใจเจ้าของเหตุการณ์ที่ถูกนำหยิบยกมากล่าวถึง รวมทั้งรู้สึกว่า เริ่มจะเปิดเผยความลับทางด้านการอกหักของผมเองมากไปหน่อย จึงตัดสินใจหยุด

ในหนังสือเล่มนี้ งานจากคอลัมน์ “วารีกระด้างเปลือย” ไม่ได้เรียงลำดับต่อเนื่องกัน แต่แทรกตัวปนอยู่ท่ามกลางข้อเขียนอื่น ๆ เพื่อมิให้ผู้อ่านรู้สึกพะอืดพะอมจนเกินไป (เชื่อว่า อ่านแล้วท่านคงจะพอเดาได้ว่าเป็นชิ้นไหนบ้าง)

ความเป็นมาของ “ข้าวมันเป็ด” และเรื่องอื่น ๆ ที่นำมารวม น่าจะมีอยู่ประมาณนี้นะครับ

อย่างไรก็ตาม ผมควรจะอธิบายเพิ่มเติมไว้บ้างเล็กน้อยว่า ชื่อ “ข้าวมันเป็ด” สะท้อนหรือซ่อนความหมายนัยยะอันใด

เป็นนิสัยเสียของผมเอง ที่นิยมตั้งชื่อคอลัมน์ล่วงหน้า แล้วค่อย ๆ คิดเนื้อหาตามหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหาเหตุผลและความหมายให้กับชื่อคอลัมน์ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเป็นลำดับสุดท้าย และเต็มไปด้วยการแถเอาสีข้างเข้าถู

ชื่อ “วารีกระด้างเปลือย” นั้น ความหมายของมันคือ “น้ำแข็งเปล่า” ซึ่งแปลไทยเป็นไทยได้อีกทีว่า “ปั้นน้ำเป็นตัว” คือ เป็นเรื่องแต่ง พร้อม ๆ กันก็ปราศจากเครื่องดื่มใดมาเจือปน (แปลว่ามีความจริงอยู่บ้าง พูดแล้วก็เจ็บสีข้างจังเลย) และเป็นเรื่องรักจืด ๆ ไม่หวือหวาโลดโผน

ส่วนชื่อ “ข้าวมันเป็ด” นั้น ผมอยากจะเปรียบเทียบอย่างนี้ครับ

งานปกติส่วนใหญ่ของผม มักหนีไม่พ้นบทวิจารณ์หนัง หรือแสดงทัศนะความเห็นต่าง ๆ เกี่ยวกับวงการหนัง อุปมาดังหนึ่งเมนูเดิม ๆ อย่าง ข้าวกระเพราไก่ไข่ดาวหรือข้าวมันไก่

ผมจึงเขียน “ข้าวมันเป็ด” เพื่อให้แตกต่างจากความเคยชินเดิม ๆ ที่ผมทำอยู่เป็นประจำ หรือจะเรียกว่า ถอดเครื่องแบบนักวิจารณ์เก็บเข้าตู้เสื้อผ้าชั่วคราว ก็คงไม่เกินเลยความจริงไปมากนัก

พูดง่าย ๆ ว่า กินข้าวมันไก่มาเยอะแล้ว จึงอยากลอง “ข้าวมันเป็ด” บ้าง

ประการถัดมา ในการเขียนงานประเภทที่ตัวผมเองก็ไม่ถนัดจัดเจนเท่าที่ควร โอกาสที่จะขลุกขลักขรุขระไม่ราบรื่น ย่อมมีความเป็นไปได้อยู่เยอะพอสมควร
เข้าใจว่า ในข้อเขียนต่าง ๆ เหล่านี้ ผมคง “ปล่อยไก่” ทางความคิดอ่านอยู่เยอะทีเดียว

เป็นการ “ปล่อยไก่” ทั้งในความหมายว่า หันมาใช้งานเป็ด เพื่อให้ไก่ (ซึ่งในที่นี้หมายถึงงานประเภทวิจารณ์หนัง) ที่ตรากตรำกรำงานมาเยอะแล้ว ได้มีโอกาสพักผ่อนบ้าง

และเป็นการ “ปล่อยไก่” แบบตรงตามตัวอักษร คือ ผมอาจจะพลั้งเผลอเขียนอะไรไม่เข้าท่า หรือมีความคิดอ่านบางอย่างบกพร่องผิดพลาด จึงหวังว่าท่านผู้อ่านคงจะเมตตาเอ็นดู

งานทั้งหมดที่รวมอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ขณะอ่านซ้ำเพื่อตรวจแก้หลายต่อหลายครั้ง ความรู้สึกของผมแปรเปลี่ยนไปมา ข้อเขียนชิ้นเดียวกันบางทีก็ให้ความพึงพอใจ บางทีก็รู้สึกหน่อมแน้ม บางทีก็ประหลาดใจแบบหลงตัวเองว่าเขียนดีจังเลย (และให้เขียนใหม่ก็ทำแบบนี้ไม่ได้แล้ว) บางทีก็พบว่ามีข้อด้อยรอยโหว่เต็มไปหมด สุดแท้แต่ภาวะอารมณ์ในระหว่างอ่าน ซึ่งไม่เคยตรงกัน

นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มันปรากฎเป็นรูปเล่มล่าช้าเนิ่นนานเกินควรไปหลายปี เพราะความเชื่อมั่นสลับกับไม่เชื่อมั่น เกิดขึ้นวนเวียนเปลี่ยนหน้ากันอยู่ตลอดเวลา

ในบรรดางานต่าง ๆ ทั้งหมดที่ผมเคยเขียนมา สามารถพูดได้เต็มปากว่า ผมรักและรู้สึกผูกพันกับ “ข้าวมันเป็ด” มากที่สุด

ระหว่างเขียนงานเหล่านี้ กำลังใจจากผู้อ่านและคำติชมจำนวนมาก คือเหตุผลสำคัญสุดที่ทำให้มันสามารถยืนระยะต่อเนื่องมาได้

เป็นหนึ่งในน้อยครั้งเลยนะครับ ที่ผมรู้สึกว่า การทำงานเขียนหนังสือ ไม่ได้ดำเนินไปโดยโดดเดี่ยว และเต็มไปด้วยความอบอุ่นประทับใจอย่างยิ่ง

ขอบคุณผู้อ่านทุกท่าน ทั้งท่านที่เคยติดตามอ่านงานเหล่านี้ขณะเพิ่งเขียนเสร็จใหม่ ๆ และท่านที่กำลังจะเปิดอ่านหน้าถัดไป

ขอบคุณครับ

(จากบทความแทนคำนำในหนังสือ "ข้าวมันเป็ด" นำมาใช้แทนคำโฆษณาขายของในนี้)





วันศุกร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2551

บ้าแบบมีกึ๋น โดย "นรา"


อาจเนื่องด้วยผมเป็นคนติงต๊อง (ถ้าเปรียบเป็นเสียงจากเครื่องตอบรับอัตโนมัติทางโทรศัพท์ ข้อความก็น่าจะออกมาทำนองว่า “สันดานต่อไปนี้ ไม่มีสัญญาณประเทืองปัญญาตอบรับ”) รสนิยมความชอบพื้นฐาน จึงโน้มเอียงไปทางสาขาตลกขบขัน จนส่งผลกระทบกับตัวงาน ซึ่งสรุปได้ว่า แลดูเป็นเล่น ไม่น่าเชื่อถือ ไม่ก่อให้เกิดจิตศรัทธาในหมู่สาธุชน

ผมก็เลยชวดอดหมดสิทธิเป็นนักวิชาการดี 1 ประเภท 1 เหมือนอย่างที่เคยใฝ่ฝันมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก (ผู้อยากมีคำนำหน้าว่าดอกเตอร์แทนเด็กชาย) ซ้ำร้ายยังได้รับยศตำแหน่งเป็น “มนุษย์ไร้สาระวีหนึ่ง” อีกต่างหาก

นอกจากตัดพ้อกล่าวโทษต่อโชคลาภวาสนา ชะตาลิขิต และ limit อันจำกัดของสติปัญญา (สำหรับชีวิตไม่เกินร้อย และต่ำกว่านั้นเยอะ) พร้อม ๆ กับแอบฉวยโอกาสด่ารัฐบาล (ชุดไหนก็ได้) ฟรี ๆ ทีนึงแล้ว ผมยังถือว่า นิตยสาร Mad ต้องร่วมด้วยช่วยรับผิดชอบ โทษฐานเป็นต้นเหตุให้ผมย่างเท้าก้าวถลำหัวคะมำหกคะเมนเข้าสู่ “ด้านมืด” ในแวดวง “อวิชาการ”

รักแรกพบประสบการณ์หวิว ระหว่างผมกับ Mad เกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน จู่ ๆ ผมดันนึกฮึกเหิมคิดการใหญ่ แอบไปสมัครเรียนภาษาอังกฤษตอนย่างเข้าสู่วัยรุ่นอาวุโส (เพราะอยากสร้างภาพว่าเป็น “คนคงแก่เรียน” แต่ดูเหมือนคำว่า “คง” จะหล่นหายไปไหนตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่รู้)

เพื่อทดสอบวัดผลวิทยายุทธที่เพิ่งผ่านการร่ำเรียนติวเข้มสด ๆ ร้อน ๆ ผมจึงลองซื้อแม็กกาซีนฝรั่งมาลองอ่านดู ว่าจะรู้เรื่องหรือไม่

ผมตัดสินใจเลือก Mad ด้วยเหตุผลขี้โกงนิด ๆ คือ รูปเยอะทั้งภาพถ่ายและการ์ตูน ตัวหนังสือน้อย ปะเหมาะเคราะห์ร้ายอ่านไม่ออก แปลไม่ถูก ก็ยังพออาศัยดูรูปเล่น ๆ แก้เซ็งเป็นการถอนทุน

เหตุการณ์ถัดจากนั้นก็คือ ติดหนึบงอมแงม หมดเงินค่าหนังสือ Mad ฉบับปกติ Mad Classicฉบับพิเศษราย 2 เดือน (ซึ่งเป็นการรวบรวมเรื่องเก่า ๆ ที่เคยตีพิมพ์นานแล้วจากหลายฉบับมารวมใหม่ในลักษณะยำใหญ่) ฉบับพิมพ์สี่สี (ซึ่งเป็นการหากินกับของเก่าเหมือน Mad Classic เพียงแต่บางกว่า แพงกว่า และสีสวยกว่า) และฉบับพิเศษในรูปแบบของพ็อคเก็ตบุค อีกสารพัดสารพัน

รวมจำนวนเงินที่หมดเปลืองไปกับ Mad (หนังสือที่ตั้งราคาขายโคตรแพง แต่พิมพ์ข้อความประมาณ “ราคาถูกเหลือเกิน” เอาไว้บนปกทุกฉบับ) คาดว่าด้วยเงินเหล่านี้ ผมสามารถกลับไปเรียนภาษาอังกฤษได้อีกหลายคอร์ส อาจถึงขั้นเก่งพอจะสอบโทเฟล หรือส่งเสียตัวเองไปเรียนเมืองนอกได้สบาย ๆ เลยทีเดียว

Mad มีอะไรดีเหรอครับ? จึงทำให้ผมหลงใหลคลั่งไคล้ ถึงขนาดแวะเวียนไปตามร้านหนังสือหรู ๆ ตามห้างใหญ่ ๆ แทบทุกสัปดาห์ (เพื่อรอว่าเมื่อไหร่เล่มใหม่จะวางแผงเสียที) ควบคู่ไปกับการเดินตามล่าฉบับย้อนหลัง ตามร้านขายหนังสือเก่าแถว ๆ ตลาดนัดสวนจตุจักรและเซ็นทรัลลาดพร้าว

ผมไปบ่อยถึงขนาดที่ว่า คุณลุงอาแปะเจ้าของร้าน (คนเดียวนะครับ แต่แกล้ง ๆ เขียนให้ซ้ำซ้อน เพื่อจะได้อาวุโสมาก ๆ) เห็นหน้าผมก็ไม่พูดจาอะไร เดินดุ่มไปรื้อ ๆ ค้น ๆ กองหนังสือ หยิบ Mad ตั้งเบ้อเริ่มมาให้ผมเลือกทันที)

ประโยชน์อันดับแรกที่ได้รับจาก Mad ก็คือ ผมกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญสันทัดกรณี ในการคลุกฝุ่นตามร้านขายหนังสือเก่าทั่วราชอาณาจักร (ยกเว้นจังหวัดต่าง ๆ ที่อยู่นอกเหนือจากกรุงเทพฯ) ดังเช่นในย่อหน้าที่แล้ว

ถัดมาคือ Mad เป็นหนังสือที่ตลกและสนุกมาก มีอารมณ์ขันปรากฏอยู่ทั่วไปหมด ตั้งแต่ปกหน้า เนื้อใน และปกหลัง ขนาดคอลัมน์ตอบจดหมายของผู้อ่าน ยังฮากระจายเลยครับ

ตลกของ Mad โดยลักษณะคร่าว ๆ เป็นอารมณ์ขันในเชิงล้อเลียน หัวข้อที่เขานำมาอำ มีตั้งแต่เพลง วรรณกรรม บทกวี ตัวบุคคลผู้มีชื่อเสียง การเมือง โฆษณาสินค้า ตำรา How-to สารพัดหัวข้อ เหตุการณ์ทั่วไปในชีวิตประจำวัน หนังดังระดับบ็อกซ์ออฟฟิศ (จีน ซิสเคล และ โรเจอร์ อีเบิร์ต 2 นักวิจารณ์หนังชื่อดัง เคยเปิดเผยว่า การ์ตูนล้อเลียนหนังใน Mad ซึ่งเก่งในการจับผิดหรือมองเห็นข้อบกพร่องจากหนังได้อย่างเฉียบคม คือ แบบฝึกหัดบทแรก ๆ ในการเป็นนักวิจารณ์หนังของพวกเขา) ฯลฯ

กล่าวได้ว่า เป็นการล้อเลียนตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ ที่ร้ายกาจคือ Mad ล้อเลียนจิกกัดไม่เว้นแม้กระทั่งการอำย่ำยีตัวเอง

ว่ากันว่า อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในสังคมสหรัฐอเมริกา ถ้าหากยังไม่โดน Mad นำมาล้อ สิ่งนั้นถือได้ว่า “ยังไม่ดังจริง” (ในแง่นี้ การล้อเลียนตัวเองของ Mad ก็คือ บทพิสูจน์ให้เห็นว่าหนังสือเล่มนี้ดังจริงได้เหมือนกัน)

ลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง สิ่งต่าง ๆ ที่ Mad นำมาล้อเลียนตลอด 50 กว่าปี (ฉบับแรกสุดวางแผงเมื่อปี 1952) แท้จริงแล้วก็คือ การสะท้อนภาพวัฒนธรรมร่วมสมัยในด้านต่าง ๆ ของชาวอเมริกันอย่างละเอียดลออ เป็นบันทึกประวัติศาสตร์และสังคมอันทรงคุณค่า เพียงแต่นำมาปรุงแต่งบิดให้เฉไฉออกมาเป็นอารมณ์ขัน

บางครั้งการล้อเลียนเหล่านั้น ก็แฝงนัยยะในเชิงวิพากษ์วิจารณ์อันเจ็บแสบ เช่น เมื่อครั้งที่เกิดกรณีเพศสัมพันธ์อันอื้อฉาวระหว่างประธานาธิบดีบิล คลินตันกับโมนิกา ลูวินสกี Mad จัดแจงเปลี่ยนวาทะอมตะของจอห์น เอฟ เคนเนดีที่ว่า “อย่าถามว่าประเทศชาติจะทำอะไรให้กับท่าน แต่จงถามตัวท่านเองว่าจะทำอะไรให้กับประเทศชาติ” กลายมาเป็น “อย่าถามว่าประธานาธิบดีจะทำอะไรให้กับท่าน แต่จงถามตัวท่านเองว่าจะทำอะไรให้กับประธานาธิบดี”

พร้อม ๆ กับที่มุ่งเน้นตลกโปกฮา Mad ก็ทำหน้าที่สำคัญนำเสนอสาระหลายอย่างต่อสังคมโดยทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการปกป้องคุ้มครองผู้บริโภค จากการโดนเอารัดเอาเปรียบของกระแสหว่านล้อมโฆษณาชวนเชื่อของสินค้าต่าง ๆ ทักท้วงเตือนสติกับค่านิยมบางอย่างที่เป็นอันตราย (เช่น ต่อต้านกฎหมายอนุญาตให้พกอาวุธปืนโดยเสรี)

ท่ามกลางความเหลวไหลไร้สาระที่เคลือบคลุมเปลือกนอก Mad ซ่อนความฉลาดเป็นกรดเอาไว้ข้างในได้อย่างแนบเนียน แม้จะไม่เคยโดนนับจัดอันดับให้เข้าข่าย “ตลกปัญญาชน” แต่ตลกแบบ “ปัญญาซน” ยี่ห้อนี้ก็เป็นกระบี่มือหนึ่ง ซึ่งหาหนังสือเล่มไหนในโลกมาเทียบได้ยาก (มีผู้ยกย่องว่า Mad เป็นประดุจมาร์ค ทเวนส์ของยุคปัจจุบัน)

นอกจากจะเป็นแหล่งอารมณ์ขันชั้นดี เป็นหนังสือที่รายงานความเคลื่อนไหวและกระแสสังคมอย่างฉับไวเฉียบคมแล้ว Mad ยังเป็นอภิมหาคัมภีร์ว่าด้วย “ความคิดสร้างสรรค์” ซึ่งผู้อ่านสามารถเรียนรู้ตักตวงและนำไปปรับใช้ “คิดใหม่ ทำใหม่” ได้ไม่รู้จักจบสิ้น

ตัวอย่างเช่น Mad เสนอความคิดแผลง ๆ เกี่ยวกับบทวิจารณ์หนังในแม็กกาซีนเฉพาะทางหลายยี่ห้อ (โดยหยิบเอาการ์ตูนอมตะเรื่อง “สโนไวท์กับคนแคระทั้ง 7” ของวอลท์ ดิสนีย์ มาเป็นกรณีศึกษา มีการเขียนวิจารณ์จนกลายเป็นหนังเลวร้ายย่ำแย่ในนิตยสารแนว “ปลุกใจเสือป่า” เช่น “เป็นหนังที่จืดชืดน่าเบื่อไม่ดึงดูด ทั้ง ๆ ที่มีสาวสวยใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังกับชายหื่นเจ็ดคน ในกระท่อมน้อยกลางป่าเปลี่ยว ฉากเลิฟซีนอีโรติคแทบไม่มีให้เห็นกันเลย ห่วยแตกจริง ๆ”), เปลี่ยนบทกวีของเชคสเปียร์ให้เป็นลีลาแบบเพลงแร็พร่วมสมัย, นำเอาตัวละครจากเกมฮิต ๆ มาเขียนถึงในคอลัมน์ “ข่าวมรณกรรม” (เช่น นายแพ็คแมน บุรุษร่างกลมตัวเหลือง ได้ถึงแก่ความตายอย่างกระทันหัน ด้วยสาเหตุกินจุไม่บันยะบันยัง และติดประมาทคิดว่าตนเองตายได้สามครั้ง) ฯลฯ

มีตลกฉลาด ๆ ทำนองนี้อีกเยอะใน Mad ซึ่งแจกแจงกันได้ไม่หมดหรอกครับ ลำพังแค่ผลงานการคิดและวาดภาพของอัล เจฟฟี 1 ในชุมนุมมังกรซ่อนพยัคฆ์ของ Mad (ซึ่งมีชื่อเรียกรวม ๆ ว่า The Usual Gang of Idiots) ก็เหลือรับประทานแล้วครับ หมอนี่ขี้เล่น มองโลกในแง่ดี ร่ำรวยไอเดียซน ๆ ระดับอัจฉริยะเรียกพี่เลยทีเดียว)

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมได้อ่านข่าวแวดวงหนังสือจากเว็บไซต์ faylicity.com มีการจัดอันดับ 51 นิตยสารภาษาอังกฤษที่ดีที่สุดตลอดกาล Mad ติดอันดับกับเขาด้วย มิหนำซ้ำยังหล่อมากตรงที่อยู่สูงถึงอันดับ 6 (อันดับหนึ่ง Esquire ช่วงปี 1961-1973, อันดับสอง The New Yorker, อันดับสาม Life ช่วงปี 1936-1972, อันดับสี่ Playboy, อันดับห้า The New York Time Magazine ส่วน Mad ติดอันดับหก ในช่วงปี 1955-1992)

ผมอาจจะหมดเปลืองเงินทองกับการซื้อ Mad มาอ่าน จนอดไปเที่ยวหรือไปเรียนต่อเมืองนอก ปราศจากโอกาสในการเรียนภาษาอังกฤษให้รู้ซึ้งแตกฉาน และพลาดอะไรต่อมิอะไรดี ๆ ไปอีกเยอะในชีวิต

แต่ถ้าย้อนเวลากลับไปเริ่มต้นใหม่ได้ สิ่งเดียวที่ผมจะเปลี่ยนแปลงมันก็คือ ผมจะซื้อ Mad มาอ่านให้เร็วกว่านี้
(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร happening)

ซ่อนมีดไว้ข้างความในใจ โดย "นรา"


หลังจากประสบความสำเร็จท่วมท้นล้นหลามกับ The Twilight Samurai (2002) อีกสองปีถัดมาโยจิ ยามาดะก็ทำหนังเรื่อง The Hidden Blade ซึ่งมีเนื้อหา ฉากหลัง ยุคสมัยใกล้เคียงกัน รวมทั้งมีแหล่งที่มาเดียวกัน คือดัดแปลงจากเรื่องสั้นชุด The Bamboo Sword and Other Samurai Tales ของชูเฮอิ ฟูจิซาวะ นักเขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่โดดเด่นมากสุดคนหนึ่งของแวดวงวรรณกรรมญี่ปุ่น

The Hidden Blade จับความเหตุการณ์ในช่วงทศวรรษ 1860 ซึ่งเป็นยุคท้าย ๆ ที่ซามูไรมีบทบาทโดดเด่นและเป็นที่ยอมรับในสังคมถือศักดินา และกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากการปฏิรูปบ้านเมืองในสมัยจักรพรรดิเมอิจิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระแสความเจริญ ทันสมัย และอารยธรรมตะวันตก ที่ไหลบ่าเข้ามาอย่างรวดเร็วและรุนแรง

หนังบอกเล่า 3 เหตุการณ์เหลื่อมซ้อนคาบเกี่ยวกัน ส่วนที่เป็นแกนหลักก็คือ ความรักระหว่างซามูไรหนุ่มชื่อมุเนโซ คาตากิริกับหญิงสาวที่เป็นคนรับใช้ผู้ต่ำต้อยชื่อคิเอะ ซึ่งต่างฝ่ายต่างต้องปกปิดเก็บงำความในใจเอาไว้มาตลอดระยะเวลาหลายปี โดยไม่ยินยอมแสดงออก เนื่องจากมีอุปสรรคสำคัญคือ ฐานะชนชั้นอันแตกต่างห่างกันของทั้งสอง ซึ่งทำให้คู่หนุ่มสาวไม่สามารถแต่งงานกัน ขณะเดียวกันความผูกพันใกล้ชิดสนิทสนมของเขาและเธอ ก็ส่งผลให้ต้องตกเป็นเป้าซุบซิบนินทาของชาวบ้าน

ถัดมาคือ รายละเอียดเกี่ยวกับการฝึกฝนยุทธวิธีสู้รบแบบตะวันตก ทั้งการฝึกแถว จัดระเบียบแบบชาวอังกฤษ, การเปลี่ยนมาใช้อาวุธปืนแทนดาบ, และกระบวนวิธีสู้รบสมัยใหม่ (ท่ามกลางความคิดต่อต้านไม่เห็นด้วยจากบรรดาซามูไรผู้เฒ่า ซึ่งเห็นว่าวิธีสู้รบแบบชาวตะวันตก เป็นเรื่องป่าเถื่อนไร้อารยธรรม และทำลายเกียรติยศศักดิ์ศรีของซามูไร) ทั้งหมดนี้แทรกสลับอยู่ในหนังเป็นระยะ ไม่เกี่ยวข้องกับการเดินเรื่องโดยตรง แต่ค่อย ๆ บอกกล่าวแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทีละน้อย เริ่มจากสภาพทุลักทุเลในตอนต้น การต่อต้านขัดขืนและความขัดแย้งระหว่างเหล่าซามูไรกับครูฝึก ไปจนถึงสุดท้ายบั้นปลาย ซึ่งเหล่าซามูไรทั้งหลายได้เปลี่ยนแปลงตนเองไปสู่การสู้รบแบบชาวตะวันตกเต็มตัว

เหตุการณ์สุดท้ายคือ รายละเอียดว่าด้วยเพื่อนร่วมสำนักดาบของพระเอก ที่เดินทางไปแสวงหาหนทางก้าวหน้าในเอโดะ แต่แล้วก็กลับไปวางแผนก่อการกบฎ จนโดนส่งตัวมาคุมขังเป็นนักโทษที่บ้านเกิด (ส่งผลให้พระเอกโดนผู้มีอำนาจเรียกไปสอบปากคำ เพื่อค้นหาผู้สมรู้ร่วมคิด)

เรื่องราวในส่วนนี้จบลงด้วยการที่นักโทษแหกคุกหลบหนีสำเร็จ จับชาวบ้านเป็นตัวประกัน มุเนโซได้รับคำสั่งให้ไปจัดการปราบโจร ต้องดวลเพลงดาบประลองฝีมือกับเพื่อนเก่าของตนเอง

หนังมีจังหวะลีลาการเล่าเรื่องและอารมณ์ใกล้เคียงกับ The Twilight Samurai ข้อแตกต่างเด่นชัดสุดคือ ประเด็นทางเนื้อหา ซึ่งเป็นแง่มุมคล้ายกัน แต่นำเสนอสลับขั้ว

แก่นเรื่องของ The Twilight Samurai นั้นอยู่ที่ว่า เซเบะซึ่งเป็นตัวเอก ตัดใจหันหลังละทิ้งทุกอย่างโดยเฉพาะความก้าวหน้าบนวิถีทางของซามูไร เขาเลือกที่ใช้ชีวิตธรรมดาสามัญ เพื่อจะได้มีเวลาดูแลลูกสาวสองคนและแม่ผู้แก่ชรา หลังจากที่ภรรยาเสียชีวิต ส่งผลให้โดนผู้คนเย้ยหยันหมิ่นแคลน สูญเสียเกียรติยศศักดิ์ศรี ทว่าสิ่งที่หนังสรุปแก่ผู้ชมก็คือ วิถีสมถะเรียบง่าย ปราศจากเปลือกห่อหุ้ม มีเพียงรักห้อมล้อมอันอบอุ่น อาจเป็นความสุขที่จริงแท้จีรังยั่งยืนยิ่งกว่า เหนือสิ่งอื่นใด การทำหน้าที่ของพ่อที่ดี ก็เป็นวีรกรรมยิ่งใหญ่มีเกียรติ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการแสวงหาชัยชนะจากการต่อสู้ในฐานะนักรบ

The Hidden Blade เสนอประเด็นคล้ายกันผ่านอีกมุมมองคือ กล่าวถึงบทบาทของซามูไรที่พยายามยืนหยัดถือคุณธรรม ท่ามกลางสภาพรอบข้างที่กำลังแปรเปลี่ยนและสั่นคลอนจารีตดั้งเดิมอย่างหนักหน่วง (สิ่งที่สะท้อนออกมาในหนังก็คือ ฐานะความเป็นอยู่ที่ถดถอยลง ผู้ที่จะดำเนินชีวิตด้วยความก้าวหน้ามั่นคง จำเป็นต้องคล้อยตามสถานการณ์ หรือ “เล่นการเมือง” ดังเช่นหัวหน้าซามูไร หรือไม่ก็หักโค่นด้วยกำลังเช่นเพื่อนซามูไรที่กลายเป็นกบฎ) ขณะเดียวกันก็มีบางสิ่งที่ยังไม่คล้อยตามความเปลี่ยนผันของโลกภายนอก นั่นคือ การถือมั่นแบ่งระดับชนชั้นอย่างเคร่งครัด และไม่ยินยอมอนุญาตให้ตัวบุคคลก้าวล่วงข้ามเส้นแบ่งไปคบหามีความสัมพันธ์กับคนในชนชั้นอื่นที่แตกต่าง

จุดใหญ่ใจความก็คือ มุเนโซ คาตากิริต้องเผชิญบททดสอบอันหนักหน่วง ด้านหนึ่งเพื่อธำรงศักดิ์ศรีของซามูไร อีกด้านหนึ่งก็ต้องรักษาระยะอันเหมาะสมต่อความรักต้องห้ามของตนเอง

ความสะเทือนใจนั้นอยู่ที่ว่า การเป็นซามูไรที่ดีตามอุดมคติ (ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยให้ทำเช่นนั้นได้โดยสะดวก) กับการซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกเบื้องลึกภายในและความรัก เป็นสองสิ่งที่ขัดแย้งตรงข้ามอยู่คนละขั้ว และเป้าหมายของตัวละครก็คือ ต้องทำหน้าที่ทั้งสองด้านให้บรรลุสำเร็จ

พูดอีกแบบคือ The Hidden Blade เป็นเรื่องของคนตัวเล็ก ๆ ที่พยายามแสวงหาหนทางไปสู่อุดมคติความดีงาม ในโลกซึ่งหลงเหลือที่ให้ยืนจำกัดเพียงน้อยนิด

ความเฉียบแหลมคมคายอีกประการหนึ่งก็คือ ชื่อเรื่องซึ่งหมายถึงอาวุธลับที่ซ่อนเร้นปกปิด และเป็นสิ่งที่มุโนโซ หลีกเลี่ยงไม่ยอมใช้มาโดยตลอด (เช่นเดียวกับที่เขาได้กล่าวไว้ว่า จะชักดาบออกมาเพียงเพื่อทำความสะอาดเท่านั้น วิถีแห่งการใช้ดาบฟาดฟันเอาชีวิตคู่ต่อสู้ เป็นสิ่งที่ซามูไรควรหลีกเลี่ยง และเป็นความกลัวอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เพราะจิตใจขี้ขลาด แต่เนื่องด้วยซามูไรที่แท้นั้น แสวงหาสันติ ไม่นิยมความรุนแรง) พร้อม ๆ กันนั้นก็มีนัยยะโยงใยไปถึงความรักที่จำเป็นต้องหลบซ่อน ไม่อาจแสดงออกด้วยเช่นกัน

The Hidden Blade อาจเสียเปรียบอยู่บ้างตรงที่สร้างขึ้นทีหลัง และมีเนื้อเรื่องซาบซึ้งกินใจน้อยกว่า The Twilight Samurai

พ้นจากนี้แล้วก็ไม่มีคุณภาพในส่วนไหนเป็นรองด้อยกว่าเลย นี่คือหนังอีกเรื่องที่เรียบง่าย สวยงาม และลุ่มลึก
(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร Flicks)

วันอังคารที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ซามูไร ไส้หวาน โดย "นรา"


ชื่อบทความชิ้นนี้ ผมตั้งขึ้นขณะนึกหิวอยากกินซาลาเปาพอดี ผลลัพธ์จึงออกมาค่อนข้างตะกละอย่างที่เห็นกันอยู่ แต่ความหมายแท้จริงก็คือ เจตนาจะกล่าวถึงหนังซามูไรเรื่อง Love and Honor ผลงานกำกับของลุงโยจิ ยามาดะ

Love and Honor เป็นงานต่อเนื่องลำดับที่สาม จัดเข้าชุดอยู่ในหมวดหมู่เดียวกันกับ The Twilight Samurai (หนังปี 2002) และ The Hidden Blade (2004) ทั้งหมดมีเนื้อเรื่องเหตุการณ์แยกขาดไม่เกี่ยวข้องกัน แต่จุดร่วมเชื่อมโยงก็คือ ต่างล้วนดัดแปลงจากรวมเรื่องสั้นชื่อชุด The Bamboo Sword and Other Samurai Tales ของชูเฮอิ ฟูจิซาวะ นักเขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่โดดเด่นมากสุดท่านหนึ่งของแวดวงวรรณกรรมญี่ปุ่น

เนื้อเรื่องคร่าว ๆ ของ Love and Honor กล่าวถึงซามูไรหนุ่มชื่อชินโนโจ มิมุระ ซึ่งมีตำแหน่งเป็น “หน่วยกล้าชิม” คือคอยทำหน้าที่ตรวจสอบอาหารว่ามีการลักลอบวางยาพิษหรือไม่ ก่อนจะนำไปให้ขุนนางชั้นสูงรับประทาน

มิมุระเบื่อหน่ายภารกิจดังกล่าว อันเป็นงานระดับล่าง ปราศจากหนทางก้าวหน้า และแทบจะกล่าวได้ว่าไร้เกียรติยศใด ๆ เขาจึงตระเตรียมวางแผนลาออก เพื่อตั้งโรงเรียนสอนวิชาดาบ ทว่าโชคร้ายคราวเคราะห์ก็เกิดขึ้นเสียก่อนที่จะได้ทันทำตามความตั้งใจ

ระหว่างตรวจสอบอาหารมื้อหนึ่ง มิมุระเจอ “อาหารเป็นพิษ” เข้าไปเต็ม ๆ เนื่องจากพ่อครัวปรุงหอยทะเลชนิดหนึ่งอย่างไม่ถูกต้องตามหลักวิธีการ จนกลายเป็นอันตรายต่อคนกิน ซามูไรหนุ่มได้รับการช่วยชีวิตไว้ทันท่วงที แต่ก็ต้องพิการตาบอด

เหตุการณ์ส่วนใหญ่ที่เหลือของหนัง กล่าวถึง สภาพชีวิตความเป็นอยู่อันยากลำบากหลังจากตาบอด ไม่เพียงแต่จะต้องสูญเสียหน้าที่การงาน ปราศจากรายได้เท่านั้น ทว่าเรื่องหนักหนาสาหัสสุดคือ การที่จู่ ๆ ต้องกลายเป็นคนพิการ มีชีวิตอย่างเคว้งคว้างไร้คุณค่า ความรู้สึกดังกล่าวสั่งสมทวีมากขึ้น จนนำไปสู่สภาพท้อแท้ทอดอาลัย และปรารถนาจะฆ่าตัวตาย

ความเป็นหนังรักโรแมนติคของ Love and Honor เริ่มต้นทำงานอย่างมีประสิทธิภาพตรงนี้นี่เอง เมื่อตัวละครสำคัญอีกคนคือ คาโยะภรรยาของซามูไรหนุ่ม ต้องแบกรับภาระดูแลครอบครัว รวมทั้งประคับประคองให้กำลังใจดูแลความรู้สึกของมิมุระ

ฉากที่เธออ้อนวอนสามีให้ล้มเลิกความตั้งใจที่จะฆ่าตัวตาย เป็นหนึ่งในฉากจี๊ดมากของหนัง(และทำให้ผมนึกถึงประโยคเด็ดในละคร’ถาปัดเรื่อง เดชไอ้ด้วน ที่ว่า “ชีวิตเจ้ามีค่า ชีวิตข้ามีเจ้า” ความหมายและอารมณ์ตรงกันเป๊ะเลยครับ)

เรื่องราวมาหักมุมพลิกผันอีกครั้ง เมื่อคาโยะต้องบากหน้าไปขอความช่วยเหลือจากผู้มีอำนาจคนหนึ่ง เพื่อความอยู่รอดทางด้านปากท้องของครอบครัว ทว่าผลลัพธ์กลับลงเอยเลวร้ายถึงขั้นทำให้เธอต้องประพฤตินอกใจสามี (ในแบบกึ่ง ๆ ยินยอมกึ่ง ๆ โดนบังคับขู่เข็ญ)

ประเด็นขัดแย้งต่าง ๆ จึงเกิดขึ้น อันดับแรกคือความร้าวฉานระหว่างคู่สามีภรรยา มิมุระโกรธแค้นคาโยะถึงขั้นตัดขาดความสัมพันธ์ ขับไล่เธอออกจากบ้าน ถัดมาซามูไรหนุ่มตัดสินใจจับดาบอีกครั้ง เพื่อท้าดวลกับศัตรูที่ทำให้ครอบครัวแตกแยก และกอบกู้เกียรติยศศักดิ์ศรีกลับคืนมา

ทั้งหมดนี้คือเนื้อเรื่องเหตุการณ์คร่าว ๆ ของ Love and Honor ซึ่งถือได้ว่าเป็นพล็อตที่ปกติธรรมดามาก แต่ความน่าประทับใจนั้นอยู่ที่การแจกแจงรายละเอียดต่าง ๆ อย่างสมจริง ดำเนินเรื่องเนิบช้าค่อยเป็นค่อยไป และเน้นความหนักแน่นสมจริง ขณะเดียวกันก็มีเสน่ห์เล็ก ๆ น้อย ๆ บางอย่างสอดแทรกไว้ตลอดเวลา จนทำให้เรื่องราวเรียบง่ายนั้น มีชีวิตชีวาชวนติดตามเป็นอย่างยิ่ง

คุณลุงโยจิ ยามาดะเป็นผู้กำกับที่ไม่ได้โดดเด่นในด้านสไตล์การนำเสนอ ไม่ได้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอะไรที่แปลกใหม่ให้เป็นที่ยกย่องจดจำเมื่อเทียบกับคนทำหนังชั้นครูหลายท่านในยุคใกล้เคียงกัน

พูดอีกแบบก็คือ หนังของเขาเต็มไปด้วยลีลาเก่า ๆ โบร่ำโบราณ แต่ในด้านการโน้มน้าวผู้ชมให้รู้สึกร่วมคล้อยตาม ความโดดเด่นในการผสมรวมอารมณ์ต่าง ๆ อันหลากหลาย ตั้งแต่ครื้นเครงเฮฮา โรแมนติค (ขอย้ำว่าหวานมาก) และซาบซึ้งสะเทือนใจเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนและแม่นยำ รวมทั้งแง่คิดมุมมองแบบคนเข้าใจโลกเข้าใจชีวิต กล่าวได้ว่าเหล่านี้ลุงโยจิ ยามาดะยอดเยี่ยมไม่เป็นสองรองใคร

ที่น่าทึ่งก็คือ ฉากต่อสู้ดวลดาบ (ซึ่งมีให้เห็นกันเพียงเล็กน้อย) ในไคลแม็กซ์บทสรุปของหนัง เต็มไปด้วยความตื่นเต้นเร้าใจ สง่างาม และขลังเหลือเกิน

ความน่านับถืออีกประการหนึ่งของลุงโยจิ ยามาดะก็คือ การทำหนังโดยยึดมั่นในรูปแบบที่ตนเองถนัดอย่างเหนียวแน่น ไม่เคยหันเหคล้อยตามเปลี่ยนแปลงแนวทางเพื่อให้เข้ากับกระแสหรือยุคสมัย และประสบการณ์ทำงานอันต่อเนื่องยาวนานก็ส่งผลให้คุณลุงกลายเป็นผู้กำกับที่เก๋าสุด ๆ สามารถทำให้ลีลาล้าสมัยซึ่งควรจะแลดูเชยหลงยุค กลับกลายเป็นงานเท่เฉียบขาดทันสมัยขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมประทับใจมากสุดใน Love and Honor ก็คือ บทสรุปทิ้งท้ายว่าด้วยการที่ตัวเอกซามูไรหนุ่มได้เรียนรู้ว่า แก่นแท้สูงสุดของความรัก ได้แก่การรู้จักให้อภัย และการค้นพบความจริงว่า ผู้หญิงที่ตนรัก เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ขาดไม่ได้ เนื่องจากต่างฝ่ายต่างเป็นเหตุผลแรกตลอดจนเหตุผลหลัก ในการดำรงอยู่เคียงข้างเพื่อกันและกัน (ลุงโยจิ ยามาดะแสดงชั้นเชิงอันแยบยลได้งดงามราวกับบทกวี โดยการเทียบเคียงแง่มุมเหล่านี้ ผ่านรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเช่น นกคู่หนึ่งที่เลี้ยงอยู่ในกรง เมื่อคู่ของมันตายจาก นกตัวที่เหลือก็เหมือนปราศจากจิตวิญญาณในการมีชีวิตต่อไป)

ที่สำคัญ ฉากการปรับความเข้าใจระหว่างพระเอกกับนางเอกในตอนจบของหนังเรื่องนี้ น่ารักและหวานสุด ๆ รวมทั้งทำเอาน้ำตาซึมไปเลย (พูดอีกแบบคือ ถ้าแสดงออกมากไปหน่อย น้อยไปนิด ก็อาจมีสิทธิเลี่ยนหรือกร่อยได้ง่ายมากนะครับ) เป็นฉากที่ไต่เลาะอยู่ระหว่างการขาดพร่องจนเข้าข่าย “ทำไม่ถึง” หรืออาจมากล้นเกินไปกระทั่ง “ฟูมฟาย” แต่ลุงโยจิ ยามาดะก็ควบคุมให้ออกมาตรงจุดกึ่งกลาง ซึ่งแปลไทยเป็นไทยได้ว่า “น่าประทับใจ” เหลือเกิน

Love and Honor บอกกล่าวกับเรา ๆ ท่าน ๆ ว่า ความรักทำให้คนตาบอด...ได้เห็นแสงสว่าง
(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ Romantic Comedy นิตยสาร HAMBURGER



สายตาสั้น สายตายาว โดย "นรา"


แม้จะได้ชื่อว่าเป็น “เด็กหน้าแก่” มาตั้งแต่อายุหกขวบ ทว่าก็เพิ่งจะสองสามปีที่ผ่านนี้เอง ที่ผมพบว่าได้ ล่วงผ่านเข้าสู่ “วัยชราภาพ” จริง ๆ

เรื่องสังขารนั้นร่วงและโรยไปจนน่าใจหาย อะไรหลายหลากที่ผมเคยรู้สึกว่า เคยเป็นสิ่ง “ไกลตัว” เมื่อครั้งยังหนุ่ม และนึกไม่ออกเลยว่าจะเกิดขึ้นกับผมได้อย่างไร?
บัดนี้ได้สัมผัสครบถ้วน รู้ซึ้งในรสพระธรรมจนหมดสิ้น

จากคนเคยผอมแห้งแรงน้อย น้ำหนักตัวชั่งเมื่อวานนี้ของหลายปีก่อนได้ 48 กิโลกรัม และพยายามกินในแบบที่ควรจะเรียกว่า “ยัด” มากกว่า เพื่อเพิ่มสมทบเนื้อหนังมังสาให้แก่เรือนร่างสะโอดสะอง ชนิดลมพัดเบา ๆ ก็ปลิวได้

ตลอดวัยเด็กและวัยหนุ่ม แม้ผมจะสวาปามเยอะเพียงไร ก็ปราศจากวี่แววบึกบึก แต่แล้วจู่ ๆ วันหนึ่ง มนุษย์ประเภท “อ้วนยาก ผอมง่าย” อย่างผมก็เริ่มเข้าสู่วงการ “นักลงพุง” เมื่อไขมันน้อยกลอยใจมาชุมนุมรวมตัวกันบริเวณหน้าท้อง

ตอนนั้นผมดีใจสุดขีด ร้องตะโกนไชโยโห่ฮิ้ว รู้สึกเสมือนดังประสบความสำเร็จอันใหญ่หลวงราวกับถูกหวยรางวัลที่ 1 ติดต่อกันสามสิบหกงวดซ้อน

ในที่สุดค่าข้าวค่าก๋วยเตี๋ยวที่ทุ่มทุนสร้างไปเยอะ ก็บังเกิดดอกผลตอบสนองเสียที สมดังภาษิตที่ว่า If you build it, he will come.

ทว่าพ้นจากนั้นแล้ว ผมก็ย้ายสโมสรมาสังกัดฝ่ายตรงข้าม คือ “อ้วนง่าย ผอมยาก” และตกอยู่ในสภาพ “รั้งไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ กู่ไม่กลับ” กลายเป็นคนจนหุ่นอาเสี่ยแบบถาวร

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโภชนาการ ผู้สันทัดกรณีทางด้านสุขภาพ และผู้รู้เกี่ยวกับสัตว์บกสัตว์น้ำ (ซึ่งเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “รู้งู ๆ ปลา ๆ”) ต่างลงความเห็นพ้องต้องตรงกันหมดว่า เป็นไปตามวัย ร่างกายมีอายุมากขึ้น ระบบเผาผลาญอาหารในร่างกาย ก็เริ่มย่อหย่อนประสิทธิภาพ สวนทางกลับการใช้แรงงานออกกำลังกายที่น้อยลง

อาการถัดมาคือ “สายตายาว”

ผมนั้นได้ชื่อว่า “เป็นเด็กหน้าแก่ สายตาดี” มาตั้งแต่อายุหกขวบ (เมื่อมานึกทบทวนย้อนหลัง ตอนเด็ก ใคร ๆ น่าจะเรียกผมว่า “น้องโฟกัส” มากกว่าไอ้ตี๋นะครับ) ไม่เคยประสบปัญหาต้องสวมแว่น ใส่คอนแท็กเลนส์ หรือพึ่งพาบริการความช่วยเหลือจากจักษุแพทย์เลยสักนิด

เข้าใจว่าชาติที่แล้ว ผมคงทำตักบาตรถวายวิตามินเอให้พระค่อนข้างเยอะ บุญกุศลจึงปรากฎเห็น ๆ (ชัดกระจ่าง) ในชาตินี้

เรื่องสายตาหรือสมรรถภาพทางด้านการมองเห็นของผมนั้น นับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจเล็กน้อยที่สามารถโอ้อวดใคร ๆ ได้เต็มปาก

อย่างไรก็ตาม ตอนเด็ก ๆ ผมนึกอิจฉาเพื่อนตระกูลแว่นทุกคน ถึงขั้นน้อยใจในโชคชะตา และแอบตัดพ้ออยู่เสมอ ๆ ว่า “ไอ้เรามันเด็กอาภัพ ไร้วาสนา ชาตินี้มีกรรม เกิดมาสายตาดี ไม่มีแว่นใส่”

ผมไม่รู้หรอกว่า เพื่อนที่มีปัญหาทางด้านสายตา ต้องประสบความขลุกขลักทุกข์ร้อนอย่างไรบ้าง จึงคิดและเข้าใจแบบไร้เดียงสาว่า แว่นตาเป็นเฟอร์นิเจอร์เครื่องประดับชิ้นหนึ่งบนใบหน้า เพื่อความโก้เก๋

จนกระทั่งโตพอรู้ความนั่นแหละ ผมถึงได้เข้าใจ เกิดความรู้สึกผิด ต้องรีบขออโหสิต่อเพื่อน ๆ ทุกคนย้อนหลัง ทั้ง ๆ ที่ปราศจากกิจลาบวช

เวรกรรมมีจริงนะครับ จู่ ๆ วันหนึ่ง ผมก็เริ่มมีปัญหาสายตาสั้น แต่ก็เป็นเรื่องพอที่จะเข้าใจได้ เพราะผมชอบอ่านหนังสือบนรถเมล์ และกระทำต่อเนื่องยาวนานมาหลายปี การใช้งานหักโหมเช่นนี้ ย่อมส่งผลกระทบเป็นธรรมดา

ด้วยตนทุนดั้งเดิมอันดีท่วมท้น ปัญหาสายตาสั้นของผมจึงมีอาการหยุมหยิมจุ๋มจิ๋มเล็กน้อยมาก จนสามารถปล่อยไปตามธรรมชาติ ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยความช่วยเหลือจากคุณท็อปเจริญหรือมิสเตอร์เรย์แบนด์

ชีวิตการทำงานของผมนั้น แวดล้อมไปด้วยนักเขียนรุ่นพี่ที่เคารพนับถือหลายท่าน ซึ่งมักจะมาแนว ๆ เดียวกันหมด คือ เวลาอ่านหนังสือต้องสวมแว่นสายตายาว หรือไม่ก็ถือหนังสือเหยียดแขนออกไปจนไกลสุด เพื่อจะอ่านได้เห็นชัดถนัดถนี่

ต่อมความเป็นเด็กเปรต (อ้วน ๆ) ของผมทำงานอีกครั้ง เมื่อเห็นกิริยาท่าทีของบรรดารุ่นพี่ที่เคารพ ประสบปัญหาสายตายาวทีไร ผมมักจะแอบนินทาอยู่ในใจว่า “พี่เค้าแอคท์ติ้งรึเปล่าว่ะ ประมาณว่า ใส่แว่นหรือถือหนังสือในระยะลองช็อตแล้ว ช่วยให้ทรงภูมิดูดีขึ้น”

เวรกรรมมีจริงอีกแล้วครับท่าน จู่ ๆ วันหนึ่ง ผมก็เริ่มมีปัญหาสายตายาว เมื่ออ่านตัวหนังสือขนาดเล็ก ๆ ไม่ค่อยออก เริ่มแรกผมต้องหยิบจับหนังสือในระยะห่างออกไปนิด ๆ จึงจะพอมองเห็นเป็นปกติ

จากนิด ๆ ก็ค่อย ๆ กลายเป็นอีกหน่อย ๆ แล้วก็ค่อย ๆ ขยาย ยืดระยะไปเรื่อย ๆ รู้ตัวอีกทีก็โน่นแหละครับ สุดมือเอื้อมเทียบเท่าหนึ่งการเดินทางไกลข้ามตำบลของมดเลยเชียว

ผมก็อ่านหนังสือแบบรักษาระยะ (โดยมีข้ออ้างว่า เป็นลีลาการอ่านเพื่อศึกษาภาพรวม) มาเนิ่นนาน กระทั่งวันหนึ่งซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ เมื่อไม่นานนี้เอง การอ่านแบบ “ยิงไกลนอกกรอบเขตโทษ” ของผมก็เอาไม่อยู่

เป็นครั้งแรกในชีวิตนะครับ ที่ผมต้องสวมแว่นสายตายาวอ่านหนังสือ

เรื่องนี้เล่าสู่กันฟังเล่นเพลิน ๆ ไม่มีคติธรรมอะไรแทรกแฝงเจือปน นอกจากความหวั่นใจอยู่ลึก ๆ ว่า เหลือเพียงหัวล้านอีกอย่างเดียวเท่านั้น ที่เด็กเปรต (อ้วน ๆ) อย่างผมยังไม่บรรลุ

หมายเหตุเพิ่มเติม: เมื่อเช้าผมลองแอบ ๆ ส่องกระจกเงาดู ผลการสำรวจครั้งล่าสุดมีรายงานว่า ตอนนี้พื้นที่ทับซ้อนบริเวณหน้าผากของผม น่าจะมีจำนวนความกว้างคูณยาวคูณสูงรวมนับได้หลายแสนแล้ว ระทึกทรวงเร้าใจเหลือเกินครับ
(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกที่นี่)

วันศุกร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ดอกไม้และก้อนอิฐ โดย "นรา"

เพราะความที่ผมเขียนแต่บทวิจารณ์หนังเสียเป็นส่วนใหญ่ และเขียนต่อเนื่องมาเกินสิบปี อาการเบื่อหน่ายย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

ช่วงราว ๆ 4-5 ปีที่ผ่านมา ผมจึงหนีความจำเจ เลี่ยงไปเขียนบทความลักษณะอื่น ๆ ตั้งแต่แนะนำหนังสือ, บอกเล่าประสบการณ์ส่วนตัว, ทดลองเขียนงานในท่วงทำนองของเรื่องแต่ง ฯลฯ

ส่วนใหญ่ของข้อเขียนจำพวก “ไม่เอาหนัง” ของผม ตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ผู้จัดการ ซึ่งผมเขียน ๆ หยุด ๆ สลับเวียนไปมาอยู่หลายครั้ง
นี่เป็นปัญหาในเรื่องของการ “ยืนระยะ” และ “ความต่อเนื่อง” นะครับ

พ้นจากการเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องหนังแล้ว งานอื่น ๆ ของผม มักจะไปไม่ค่อยรอด เนื่องจากขาดความชำนาญ ไม่ได้ผ่านการฝึกปรือมาทางด้านนี้โดยตรง

ประการถัดมาคือ พอมีเนื้อหาเปิดกว้างเป็นอิสระ กรอบที่กำหนดไว้กว้าง ๆ ว่าเขียนถึงอะไรก็ได้ กลับกลายมาเป็นอุปสรรค เพราะต้องนึกคิดสร้างประเด็นขึ้นมาท่ามกลางแง่มุมเยอะแยะมากมาย ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ผมสันทัดจัดเจนสักเท่าไร

เวลาเขียนวิจารณ์หนัง ผมคิดว่าไม่ยาก นอกจากความคุ้นมือทำต่อเนื่องมาพอสมควรแล้ว ลักษณะของการทำงานยังง่ายกว่านะครับ คือ มีหนัง (เรื่องที่จะเขียนถึง) มาเป็นตัวกำหนด การไตร่ตรองค้นหาประเด็นสำหรับนำมาเขียน ก็คิดคำนึงผ่านตัวหนัง ซึ่งเป็นเป้าที่ขมวดแคบชัดเจนกว่า

มิหนำซ้ำ ในการเขียนวิจารณ์หนังนั้น เวลาคิดอ่านเล็งเห็นประเด็นไม่ค่อยชัดเท่าที่ควร ยังสามารถใช้ “ตัวช่วย” นั่นคือ การทำการบ้านค้นข้อมูลมาประกอบการเขียน (หรือสร้างความกระจ่างให้กับตัวผมเองสำหรับลงมือเขียน)

บทความที่มีเนื้อหาเบ็ดเตล็ดกระจัดกระจาย ก็คงใช้วิธีทำการบ้านเข้ามาประคับประคองได้เหมือนกัน แต่อย่างว่าล่ะครับ ปัญหามันอยู่ที่ผมยังไม่เก๋าพอมากกว่า จึงกลายเป็นความกดดันลึก ๆ อยู่ตลอดเวลา

ถัดมาคือ คุณภาพที่ไม่สม่ำเสมอของตัวงาน ในข้อเขียนประเภทบทวิจารณ์หนังนั้น ผมคิดว่าได้ผ่านขั้นตอนลองผิดลองถูก และรู้ทางหนีทีไล่มาพอสมควร จนกระทั่งมั่นใจว่าสามารถ “เอาอยู่”

เปรียบแล้วก็เหมือนทำกับข้าวนะครับ ผมคุ้นกับการเจียวไข่ จนรู้ว่าจะปรุงอย่างไรให้รสถูกปาก ได้มาตรฐาน แต่สำหรับบทความที่ “ไม่ใช่เรื่องหนัง” อาจเปรียบเหมือนการหัดต้มยำทำแกง ทดลองพลิกแพลงเปลี่ยนเมนูไปเรื่อย ๆ งานแต่ละชิ้นจึงต้องใช้เวลาเขียนมากกว่าปกติ และพึ่งพาอาศัยการขัดเกลาแก้ไขอย่างหนักหน่วง (เหมือนลองทำอาหารจานเดิมซ้ำหลาย ๆ ครั้ง ปรับเปลี่ยนเครื่องปรุงส่วนผสม พร้อมกับชิมไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะค้นพบรสชาติที่เหมาะสม)

ข้อจำกัดทางด้านเวลาในการเขียนและส่งต้นฉบับ คงเป็นสาเหตุหนึ่ง ซึ่งทำให้บางครั้งผมมีโอกาสแก้ไขทบทวนได้ไม่ถี่ถ้วน และจำต้องส่งตามกำหนด ทั้งที่คุณภาพของงานยังไม่เข้าที่ลงตัว

งานเขียนในช่วง “ฝึกหัด” ทำนองนี้ของผมที่ปรากฎในผู้จัดการ จึงมีทั้งชิ้นที่เกิดเสียงตอบรับดีเกินเหตุและติดลบ สลับไปมาอยู่ตลอดเวลา เป็นมาตรฐานที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่ค่อยสม่ำเสมอ

บ่อยครั้งบางชิ้นที่เขียนออกมาน่าพึงพอใจ ก็กลายเป็นความกดดันสำหรับชิ้นที่จะเขียนติดตามมาได้เหมือนกัน ในทางตรงข้าม ชิ้นที่โดนตำหนิติเตียนจากผู้อ่าน ก็สร้างความกดดันอีกแบบ คือ ทำให้ผมสูญเสียความเชื่อมั่น และกำลังใจถดถอย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นความกดดันสูงสุด คือ ปัญหาทางด้านเวลาการทำงาน ซึ่งผมต้องเขียนส่งสัปดาห์ละครั้ง

เรื่องของเรื่องคงไม่สู้หนักหนากระไรนัก หากผมมีภาระต้องสะสางจัดการเพียงเท่านี้ ทว่าในความเป็นจริง ระหว่างสัปดาห์ผมมีงานเขียนปกติอีกสองถึงสามชิ้น และมีเวลาสำหรับลงมือเขียนบทความที่ไม่เกี่ยวกับหนังเพียงแค่วันเดียว

สภาพที่เกิดขึ้นจึงเหมือนหนังเรื่องเดิมฉายซ้ำ คือ ผมใช้เวลาช่วงเย็นระหว่างจันทร์ถึงศุกร์ (หลังจากเสร็จงานเขียนอื่น ๆ ตามปกติแล้ว) เพื่อคิดประเด็นต่าง ๆ ล่วงหน้า พร้อม ๆ กับคำถามชวนสติแตกว่า “อาทิตย์นี้จะเขียนอะไรดีหว่า”

บางสัปดาห์โชคดี ก็นึกเรื่องนึกประเด็นออกได้เร็วหน่อย มีเวลาสำหรับทดลองคิดทดลองเขียนในหัว ลำดับวางเค้าโครงต่าง ๆ ในใจ แต่โชคไม่ดีเช่นนั้นเสมอไปหรอกครับ ส่วนใหญ่บ่อยครั้งผมมักจะควานหาเรื่องที่จะเขียนเจอในวันเสาร์ ซึ่งเป็นวันที่ผมจะต้องเขียนให้เสร็จและส่งงานตามกำหนด

อีกปัญหาหนึ่งก็คือ ข้อเขียนแต่ละชิ้นของผม มักขึ้นต้นด้วยความรู้สึกหวั่น ๆ ว่า มีเรื่องจะเขียนได้สั้นเกินไป แต่พอลงมือได้สักพักจนสำเร็จลุล่วง ความคิดและรายละเอียดปลีกย่อยที่เกิดขึ้นระหว่างทาง มักจะทำให้มันเสร็จสิ้นลงโดยมีความยาวมากเกินเนื้อที่ไปเยอะ จนกระทั่งต้องตัดทอนให้พอเหมาะ

และผมพบว่า บ่อยครั้งการตัดทอนรายละเอียดบางประการออกไป ทำให้การอธิบายของผมไม่กระจ่างเพียงพอ สิ่งที่ต้องการสื่อสารกับผู้อ่าน จึงเกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน กระทั่งนำไปสู่ความเห็นในเชิงลบ ชนิดที่ผมเองก็คาดคิดไม่ถึง

คอลัมน์ “เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ” ของผมในผู้จัดการนั้น ได้รับทั้งดอกไม้และก้อนอิฐสลับกัน แต่ที่แน่ ๆ มันเป็นหนึ่งในงานหนักสาหัส ตื่นเต้นเร้าใจ และกดดันมากสุดเท่าที่ผมเคยเจอมา มีทั้งทุกข์และสุขแรง ๆ ปะปนจนไม่อาจแยกแยะออกจากกัน

นี่ยังไม่นับรวมความกดดันจากการแสดงความคิดเห็นของผู้อ่านทางเว็บไซต์ ที่แตกต่างสุดขั้วเป็นสองทาง มีทั้งผู้อ่านที่เป็นมิตรเปี่ยมด้วยทัศนคติอัธยาศัย ชนิดกล่าวคำขอบคุณซาบซึ้งใจอย่างไรก็ไม่เพียงพอ และมีทั้งผู้อ่านสาขาบู๊โลดโผน ซึ่งแสดงความคิดเห็นชนิดที่ผมอ่านแล้ว ก็อยากย้อนเวลาถอยหลังกลับไปเลือกใหม่ เพื่อที่จะ “ไม่รับรู้” ใด ๆ ทั้งสิ้น

ผมนั้นเป็นโรคขี้น้อยใจติดอันดับโลกนะครับ หากเป็นสมัยเพิ่งทำงานใหม่ ๆ โดนตำหนิติเตียนแรง ๆ ผมก็คงปล่อยหมัดบวกสวนกลับทันทีทันควันเหมือนกัน

แต่ผมก็ไม่เคยเข้าไปชี้แจง แก้ตัว โต้เถียง ตอบกลับ หรืออธิบายผ่านบทความชิ้นถัด ๆ มา เหตุผลก็เพราะ งานของผมควรจะอยู่ในตำแหน่งที่ตั้ง ซึ่งผู้อ่านสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ และผมก็ควรจะน้อมรับฟังทั้งคำชมคำด่าทุกระดับความดุเดือด

ที่สำคัญคือ งานชิ้นใดก็ตามที่ก่อให้เกิดความเห็นในทางลบ มันอาจมีปัญหาบางอย่างที่ผมมองไม่เห็น นึกไม่ถึง ปรากฎซ่อนอยู่ในนั้น หน้าที่ของผมจึงอยู่ที่ต้องควานหาต้นตอสาเหตุให้เจอ เพื่อแก้ไขปรับปรุงมิให้ผิดพลาดซ้ำอีก

ยิ่งไปกว่านั้น การถกเถียงกับผู้อ่าน ไม่ว่าจะในแง่มุมใดก็ตาม ผมคิดว่ามันจะนำไปสู่ภาวะ “เรื่องที่ยืดเยื้อและไม่จบ”

ที่ผ่าน ๆ มา เจอะเจอการด่าทอหนัก ๆ รุนแรงคราวใด ผมก็จะอ่านทวนงานของตนเอง บางครั้งก็พบว่าเป็นความบกพร่องของผม บางครั้งก็เป็นทัศนคติต่อโลกและชีวิต ระหว่างผมกับผู้อ่านที่ขัดแย้งไม่ตรงกัน

กรณีที่ผมทบทวนถี่ถ้วนจนเชื่อและมั่นใจว่า งานชิ้นที่โดนด่าเละเทะของผมถูกต้องดีงามแล้ว ผมก็ได้แต่ท่องคาถาปลอบใจตนเองว่า ถึงที่สุด ผมก็เป็นเพียงชีวิตเล็ก ๆ ที่ไม่ได้สลักสำคัญอันใด เมื่อเทียบกับโลกและจักรวาลทั้งหมด

เมื่อคิดและมองให้ตัวตนของผมนั้นมีขนาดเล็กลง คำด่าที่แสดงอารมณ์ ขาดความเป็นเหตุและผล ก็ยิ่งลดทอนกลายเป็นธุลีที่มองไม่เห็น

ผมเชื่อเสมอมานะครับว่า การเขียนหนังสือคือหนทางหนึ่งในการขัดเกลาตนเองไปสู่หนทางแห่งการเป็นคนดี ดอกไม้และก้อนอิฐจากผู้อ่าน ก็เป็นขั้นตอนบทเรียนไปสู่การฝึกฝนความหนักแน่นในจิตใจ ไม่ให้เผลอไผลหลงปลื้มไปกับคำชื่นชม และไม่หวั่นไหวสั่นสะเทือนจนเกินควรกับคำตำหนิ

ความรู้สึกดีใจเสียใจอันเกิดจากเสียงตอบรับที่มีต่องานเขียน เกิดขึ้นได้เสมอนะครับ สิ่งที่ผมพยายามจะเรียนรู้ก็คือ วิธีรับมือเพื่อให้อยู่ตรงจุดกึ่งกลาง ใช้เสียงชื่นชมเป็นกำลังใจสำหรับเขียนงานให้ดีขึ้น โดยไม่หลงระเริงลืมตัว พร้อม ๆ กันนั้นก็ใช้เสียงติเตียนเป็นกระจกส่องหาข้อบกพร่องเพื่อแก้ไขปรับปรุง โดยไม่สูญเสียความเชื่อมั่น หรือตกอยู่ในอารมณ์หม่นหมองท้อแท้

ผมยังทำได้ไม่สำเร็จบรรลุเต็มร้อยหรอกนะครับ แต่ก็กล่าวได้ว่า ทุกวันนี้ผมมีภูมิต้านทานแข็งแรงดีขึ้นและ “นิ่ง” กว่าเดิมเยอะเลย


(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกที่นี่)