วันอังคารที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2551

เพื่อนสนิท โดย "นรา"


ผมชอบคิดเรื่องงานขณะนั่งรถเมล์ ทำไปทำมาก็เคยชินติดเป็นนิสัย รู้สึกตัวอีกทีก็พบว่า วันใดที่ไม่ได้พึ่งพาอาศัยรถเมล์เป็นออฟฟิศเคลื่อนที่แล้วล่ะก็ ผมมักจะเกิดอาการสมองลีบตีบตื้อทื่อตัน ความคิดไม่ไหล ไอเดียไม่แล่นขึ้นมาดื้อ ๆ

เรื่องต่อไปนี้ก็เช่นกัน มันหล่นใส่หัวผมโครมเบ้อเริ่ม ระหว่างนั่งอยู่บนรถเมล์สาย 117 เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา

บ้านผมอยู่คนละโลเกชั่นกับบริเวณที่รถเมล์สาย 117 แล่นผ่านนะครับ นอกจากเหตุผลเรื่องเส้นทางอ้อมโลก ได้บรรยากาศของการเดินทางไกลแบบไม่ต้องลี้ภัยแล้ว ผมยังติดนิสัยชอบถอดรหัสตัวเลขต่าง ๆ เป็นสำเนียงกวางตุ้ง เช่น 577 เท่ากับ “อึ๋มชัดชัด”, หนึ่งร้อยเก้าสิบหกเท่ากับ “ยัดปากเก๋าสับหลก”, 1585 เท่ากับ “ยัดอึ๋มปัดอึ๋ม” ฯ

ด้วยเหตุนี้ พอรถเมล์สาย “ยัดยัดชัด” มาจอดเทียบที่ป้าย ผมจึงสรุปกับตัวเองว่า ไปคันนี้แหละ

“ยัดยัดชัด” ซึ่งมีผู้โดยสารว่างโล่งโหรงเหรงไม่สมกับสำเนียงกวางตุ้ง นำพาผมฝ่าการจราจรติดขัดและฝนตกพรำ ๆ ตลอดเส้นทาง ผ่านละแวกสุทธิสาร

บ้านเพื่อนผมคนหนึ่งอยู่แถวนั้น ระหว่างทางผมจึงด้อม ๆ มองหา เผื่อจะได้เจอะเจอในระยะห่าง ๆ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ได้เห็นหลังคาบ้านพอให้ชื่นใจ แต่อาจเป็นด้วยเวลาดึกเกินไป ผมจึงหาไม่เจอ เพราะทุกครัวเรือนล้วนปิดประตูดับไฟมืด ดูเหมือน ๆ กันไปหมด จนสังเกตไม่ถนัดแยกแยะไม่ถูก

เพื่อนคนนี้คบหากันมาตั้งแต่สมัยเรียน และเป็นผู้หญิง เพื่อความสะดวกในการเรียกขาน ผมขออนุญาตตั้งชื่อเล่นสมมติให้เธอว่า “ดากานดากานดา” ก็แล้วกันนะครับ
จริง ๆ แล้วก็อยากเรียกสั้น ๆ ว่า ดากานดา แต่เกรงจะก่อให้เกิดความสับสน เนื่องจากพ้องพานตรงกับชื่อตัวละครในหนังเรื่อง “เพื่อนสนิท”

เพื่อนของผมจึงต้องกลายเป็น “ดากานดากานดา” (ซึ่งมีนัยยะว่า “เพื่อนสนิทกว่า” แอบแฝงอยู่ด้วย)

ผ่านละแวกนี้ทีไร ผมก็มักจะนึกถึง “ดากานดากานดา” (เขียนแล้วก็เริ่มเหนื่อยและท้อนะครับ) และเรื่องราวอีก “ซ้ามหลกเก๋า” (369) ประการเกี่ยวกับตัวเธอ
ถ้านับเอาความสัมพันธ์ถึงขั้นสามารถวิ่งไล่เตะกันได้โดยไม่โกรธ (หมายถึงเธอวิ่งไล่เตะผมฝ่ายเดียว แล้วตัวเธอเองไม่โกรธนะครับ) มาเป็นค่ามาตรฐานตัวเปรียบเทียบ ก็ถือได้ว่าผมกับ “ดากานดากานดา” (เฮ้อ! สงสัยผมจะตั้งชื่อผิด) นั้นสนิทกัน

“ดากานดากานดา” (เลิกสงสัยแล้ว) เป็นคนเรียนเก่ง นิสัยดี (ยกเว้นตอนวิ่งไล่เตะผม) คุยสนุก ร่าเริง มีอารมณ์ขัน ปัญญาไว ไหวพริบดี และหน้าตาน่ารัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาหัวเราะ

ผมยังไม่เคยเจอผู้หญิงคนไหนหัวเราะได้อร่อยเหาะแบบทุ่มทั้งใจถวายชีวิต แล้วยังคงความดูดีมีเสน่ห์เอาไว้ได้เทียบเท่ากับ “ดากานดากานดา” เลย (ถึงตรงนี้ผมปลงตกกับชื่อที่ตั้งแล้วครับ)

มีกองเชียร์ (หรืออีกนัยหนึ่ง “บ่างช่างยุ”) พยายามหนุนส่งจับคู่ให้ผมกับเธอเป็นแฟนกัน แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะฝ่ายหนึ่งมุ่งมั่นอยู่กับการวิ่งไล่เตะ อีกฝ่ายหนึ่งก็มัวแต่หนี (ผมเริ่มเข้าใจหัวอกของการเกิดมาเป็นลูกฟุตบอลตอนนั้นเอง)

เหตุผลก็คือ ผมกับเธอรู้สึกตรงกันว่า ระหว่างเราสองคน เคมีมันไม่ได้ ไม่เกิดปฏิกิริยาสายฟ้าฟาด ปราศจากจิตพิศวาสซึ่งกันและกัน จะมองมุมไหนมุมใดก็หาความโรแมนติคไม่เจอโดยสิ้นเชิง

ยิ่งไปกว่านั้น ตลอดเวลาสามปีที่คบหาเป็นเพื่อนกัน ผมก็มัวแต่ไปพลาดรักโดนสาวอื่น ๆ หักอกครั้งแล้วครั้งเล่า จนไม่ทันได้มีเวลามาพินิจพิจารณาคิดจีบเพื่อนใกล้ตัว ทำให้สูญเสียโอกาสได้พูดอะไรเท่ ๆ ประมาณว่า “ดากานดากานดา ชั้นรักแกว่ะ”

เรื่องที่ปรากฎเป็นจริงก็คือ ผมมักจะอกหักระทมซมซานกลับคืนสู่บ้านนา มาให้คุณ “ดากานดากานดา” ของผมเย้ยหยันซ้ำเติมอยู่ร่ำไป พอโดนล้อเลียนหนัก ๆ ผมก็มักจะทำตาแดง ๆ เหมือนจะร้องไห้

ถึงตอนนั้น “ดากานดากานดา” ก็จะเปลี่ยนท่าทีมาเป็นปลอบโยนให้กำลังใจผมว่า “อกหักแค่นี้ไม่เป็นไรหรอก ประเดี๋ยวก็อกหักใหม่ได้อีก”

มีหนุ่ม ๆ มารุมจีบ “ดากานดากานดา” ของผมเยอะเชียว แต่เธอก็ไม่ได้มีใจโน้มเอียงให้ใครเป็นพิเศษ โดนหยอดด้วยคำหวาน ๆ เธอก็หัวเราะ ได้รับคำชวนให้ไปดูหนังด้วยกันเธอก็หัวเราะ มีคนมอบดอกกุหลาบพร้อมการ์ดในวันวาเลนไทน์เธอก็หัวเราะ

วันหนึ่งผมรำคาญหนัก ๆ เข้า เลยถาม “ดากานดากานดา” ตรง ๆ ว่า “ชีวิตเธอมันรันทดนักหรือไงวะ ถึงได้หัวเราะทั้งวัน”

“ดากานดากานดา” ฟังแล้ว ก็นั่งหัวเราะท้องคัดท้องแข็งราวกับเสียสติ

ที่แน่ ๆ กลวิธีใช้เสียงหัวเราะเป็นเกราะป้องกันตัวของ “ดากานดากานดา” ไม่เป็นผล ก็คนมันยิ่งหัวเราะ ยิ่งน่ารักนี่ครับ แฟนคลับของเธอจึงมีแต่เพิ่ม ไม่มีลด

ผมก็เลยต้องรับเป็นบอดี้ การ์ด (หรือ “ก้างขวางคอ”) เพิ่มขึ้นอีกตำแหน่ง เพราะบ้านอยู่แถวห้วยขวาง บ้านเธออยู่สุทธิสาร สามารถใช้เส้นทางกลับบ้านเดียวกัน

ผมนั้นไม่เคยเต็มใจ ไม่เคยนึกยินดี ที่จะต้องกลับบ้านพร้อม “ดากานดากานดา” เลยนะครับ นอกจากทางจะอ้อมเสียเวลา และโดนแฟนคลับของเธอหมั่นไส้ฟรี ๆ แล้ว ภารกิจดังกล่าวยังแย่งชิงเวลาส่วนตัวของผมที่จะไปอกหักครั้งล่าสุดอีกต่างหาก

ผมได้ใช้วิธีอารยะขัดขืนทุกวิถีทาง ตั้งแต่มาตรการเบาะ ๆ แกล้งทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ไปจนถึงขั้นล้อชื่อพ่อชื่อแม่เธอ แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะโดนท่าไม้ตายที่ว่า “ถ้าไม่อยากกลับด้วยกันก็ไม่ต้องฝืน ไม่เป็นไร ชั้นเข้าใจดี ชั้นกลับบ้านเองคนเดียวก็ได้ แต่จำใส่กะโหลกไปจนวันตายเลยนะว่า ไม่ต้องมาเคารพนับถือชั้นเป็นเพื่อนอีก”

ที่แสบกว่านั้น “ดากานดากานดา” ออดอ้อนออเซาะสัญญากับผมในตอนแรกเริ่มว่า “น่า นะ ช่วยเป็นเพื่อนกลับบ้านด้วยกันหน่อย แค่อาทิตย์เดียวเท่านั้นแหละ พอไม่มีใครมาตามตื๊อแล้ว เธอจะไสหัวไปไหนไกล ๆ ก็ไป น่า นะ คนดี๊ คนดี”

ผลลัพธ์หรือครับ จากที่ตกลงไว้ว่าอาทิตย์เดียว ผมต้องกลับบ้านหลังเลิกเรียน พร้อมยัยนี่ 3 ปีเต็ม ๆ แถมยังตกเป็นข่าวลือเสีย ๆ หาย ๆ (ไม่ได้ลือว่าเป็นแฟนกันหรอก แต่ลือว่า ผมลอกการบ้าน “ดากานดากานดา”ทุกวิชา ทั้งที่เรียนคนละแผนก)

ที่อภัยให้แทบจะไม่ได้เลยก็คือ “ดากานดากานดา” มักตำหนิติเตียนหญิงสาวทุกคนที่ผมแอบชอบ คนนี้แต่งตัวแต่งหน้าจัด, คนนั้นท่าทางหยิ่ง ๆ เป็นไฮโซ, คนโน้นเซ็กซี่เกินเหตุ, คนนู้นเพอร์เฟ็คแต่ระบบเสียงอู้อี้ขึ้นจมูก บางคนที่ไม่รู้จะตั้งแง่ติอะไร เธอก็ยังอุตส่าห์หาเรื่องค่อนแคะจนได้ว่า “สวยโอเวอร์”

เจอะเจอเช่นนี้อยู่บ่อยครั้ง วันหนึ่งผมอดรนทนไม่ไหว จึงถาม “ดากานดากานดา” ว่า “ที่รักครับ หึงเหรอจ๊ะ?”

เธอทำสีหน้าวางเฉยไม่ตอบอะไร แค่เอื้อมมือหยิบเครื่องคิดเลข (ของผม) ขว้างใส่โดนกบาลผมเต็ม ๆ อย่างแม่นยำ จากนั้นก็หัวเราะร่วนมีความสุข ตามประสาหญิงน่ารักผู้เหี้ยมโหด

กล่าวได้ว่า ตลอดช่วงเวลาสามปี ผมโดน “ดากานดากานดา” โขกสับทำร้ายร่างกาย เยอะพอ ๆ กับโดนหญิงอื่นทั้งหมดรวมกันหักอก

แต่ก็น่าแปลกนะครับว่า ยิ่งปะทะคารมถกเถียงกันบ่อยเท่าไร ยิ่งผ่านความสัมพันธ์ที่ดูเหมือน “ศัตรูในคราบของเพื่อน”มาโชกโชนเพียงไร เราสองคนก็ยิ่งสนิทสนมแน่นแฟ้นมากขึ้น จนวงการกองเชียร์และไทยมุง ต่างปักใจฟันธงว่า “นี่แหละเหวย เนื้อคู่บวกบุพเพสันนิวาสแถมด้วยพรหมลิขิตรวมกันแล้วคูณด้วยสาม” ทว่าจนแล้วจนรอดผมกับ “ดากานดากานดา” ก็ไม่เคยเป็นอื่นต่อกัน นอกจาก “เพื่อนสนิท”

มีเรื่องที่ชวนให้ผมรู้สึกซึ้งใจอยู่สองสามเหตุการณ์ ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อผมประสบอุบัติเหตุจากการเล่นฟุตบอล เดินเหินไม่ไหว ต้องหยุดเรียนไปหลายวัน “ดากานดากานดา” แวะเวียนมาเยี่ยมถึงบ้าน ซื้อผลไม้และขนมมาฝาก พร้อมทั้งช่วยอยู่ติวเข้มวิชาที่ผมขาดเรียน (ระหว่างนั้นคุณเธอก็กินผลไม้และขนมที่ซื้อมาจนหมด โดยไม่ยอมแบ่งผม)

อีกครั้งหนึ่ง ผมได้ F วิชาบัญชี ต้องลงเรียนใหม่ และทำท่าว่าจะไปไม่รอด จอดไม่ต้องแจวเหมือนเดิม ก็ได้คุณ “ดากานดากานดา” นี่แหละครับ ช่วยสั่งสอนชี้แนะนอกเวลาเรียน กระทั่งท้ายสุดก็สอบผ่านมาได้อย่างหวุดหวิดทุลักทุเล

หลังจากจบหลักสูตรปวช. ผมเรียนต่อ ส่วน “ดากานดากานดา” สอบบรรจุเข้าหน่วยงานที่ร่ำลือกันว่า “ยาก” และ “หิน” สาหัสได้สำเร็จ เส้นทางโคจรระหว่างเธอกับผมจึงค่อย ๆ เคลื่อนห่างจากกัน

“ดากานดากานดา” เป็นเพื่อนคนเดียว ที่ยังคงเขียนจดหมายมาเล่าทุกข์สุขต่าง ๆ โดยไม่ขาดการติดต่อ (ตอนนั้นยังไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่มีอีเมล ไม่มีโทรศัพท์มือถือนะครับ) ก่อนเรียนจบเธอมอบรูปถ่ายให้ผมหนึ่งใบ และเขียนไว้ที่ด้านหลังว่า “ให้เก็บเอาไว้บูชา ห้ามส่งไปลงคอลัมน์-มาลัยเสี่ยงรัก-ของลุงหนวดเด็ดขาด ไม่งั้นตาย!!!”

ในจดหมายทุกฉบับ “ดากานดากานดา” มักจะหาเหตุเอ่ยพาดพิงถึงรูปถ่ายใบนั้นอยู่เสมอ ๆ เช่น “รู้มั้ย ตอนนี้ชั้นสวยกว่าในรูปเยอะเลย”, “เธอตาสว่างเห็นสัจธรรมรึยังว่า ชั้นน่ารักกว่าผู้หญิงทุกคนที่เธอเคยจีบ ไม่เชื่อหยิบรูปที่ชั้นให้ไปขึ้นมาดูเดี๋ยวนี้”, “เห็นนางสาวไทยปีนี้แล้ว ชั้นคิดถึงรูปที่ให้เธอไปจังเลย” ฯลฯ

ผมกับ “ดากานดากานดา” เขียนจดหมายไปมาหาสู่กันได้ราว ๆ ปีเศษ ๆ จากนั้นผมก็ย้ายบ้าน และเกิดความผิดพลาดในระหว่างเก็บข้าวของขนย้าย ผมทำที่อยู่ของเธอในสมุดเฟรนด์ชิพหาย (ฟังดูหยาบเหมือนกันนะครับ) รวมถึงจดหมายฉบับก่อน ๆ ทั้งหมด และรูปถ่ายที่เธอมอบให้

นับตั้งแต่นั้นมา ผมกับเธอก็ขาดการติดต่อ คาดเดาได้ว่าระยะแรก ๆ เธอคงจะเขียนจดหมายถึงผมโดยส่งไปที่บ้านเก่า และปราศจากการตอบกลับ นานวันเข้าเธอก็คงปลงตกกับการ “หายไร้ร่องรอย” ของผม

ผมได้เจอ “ดากานดากานดา” อีกเพียงแค่ครั้งเดียวในหลายปีต่อมา ที่งานแต่งของเพื่อนอีกคน เธอยังคงเป็นหญิงสาวหน้าตาน่ารัก เบิกบาน ยิ้มเก่ง หัวเราะเก่ง และปากร้ายใจดีเหมือนเดิมไม่แปรเปลี่ยน

หลังจากดุด่าอบรมผม โทษฐานที่ย้ายบ้านแล้วขาดการติดต่อเสร็จสรรพ รวมทั้งทักทายไถ่ถามทุกข์สุขต่าง ๆ แล้ว เธอแนะนำให้ผมได้รู้จักกับผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งเป็นแฟนเธอ

จวบจนปัจจุบัน ผมไม่เคยเขียนจดหมายถึงเธออีก ไม่มีโอกาสพบปะเจอะเจอกันอีก และยิ่งไม่รู้ถึงความเป็นไปต่าง ๆ ในชีวิต

ผมได้แต่หวังและวาดภาพขึ้นมาเอาเองว่า เธอคงจะมีความสุขกับครอบครัว หน้าที่การงาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพระเอกของเธอ

เรื่องนี้ผมเป็นแค่เพื่อนนางเอกนะครับ และเขียนขึ้นด้วยอารมณ์คิดถึงเพื่อนล้วน ๆ เลย





(เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2551 และเผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ" ผู้จัดการรายวัน)

วันเสาร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2551

โลกที่สิ้นไร้ความหวัง โดย "นรา"


Children of Men เป็นผลงานกำกับของอัลฟองโซ กัวร็อง สร้างจากนิยายชื่อ The Children of Men ของพี.ดี. เจมส์ (ตามข้อมูลระบุว่า เป็นการดัดแปลงที่มีรายละเอียดแตกต่างจากตัวเรื่องเดิมอยู่ค่อนข้างมาก)

หนังกล่าวถึงเหตุการณ์โลกอนาคตอันใกล้ ในปี 2027 เผ่าพันธุ์มนุษย์ว่างเว้นจากการถือกำเนิด เมื่อผู้หญิงทั้งหมดบนพื้นพิภพ พร้อมใจกันเป็นหมันโดยไม่ทราบสาเหตุ (ในนิยายฝ่ายที่เป็นหมันคือเพศชาย) ต่อเนื่องมาหลายปี

เรื่องเริ่มต้นด้วยข่าวทางโทรทัศน์เกี่ยวกับเด็กหนุ่มชาวอาร์เจนตินาวัยสิบแปดปีเศษ โดนทำร้ายเสียชีวิต ข่าวดังกล่าวสร้างความสะเทือนใจไปทั่ว เนื่องจากผู้ตายได้ชื่อว่าเป็น “คนที่มีอายุน้อยที่สุดในโลก”

ผลกระทบสืบเนื่องติดตามมาจากการไม่มีเด็กเกิดใหม่มาหลายปี ก็คือ สังคมเต็มไปด้วยความเสื่อมโทรม หนังไม่ได้แจกแจงสาเหตุแน่ชัด แต่ก็มีแนวโน้มที่เป็นไปได้มากว่า บรรดาผู้ใหญ่ทั้งหลายต่างรู้สึกว่า สภาพดังกล่าว เหมือนจุดจบของมวลหมู่มนุษย์กำลังใกล้คืบจะมาถึงในเร็ววัน เกิดเหตุจราจลความวุ่นวายเข้าขั้นกลียุคในหลายเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลก

หลงเหลือเพียงอังกฤษเท่านั้นที่ยังพอประคับประคองตนเองฝ่าวิกฤติมาได้ และกลายเป็นฐานที่มั่นอันปลอดภัยแห่งสุดท้าย แต่อังกฤษก็มิได้ปลอดจากปัญหาไปเสียทีเดียว ตรงกันข้าม มีการก่อวินาศกรรมอยู่เนือง ๆ ทั้งโดยฝีมือของกลุ่มผู้ก่อการร้าย และการวางแผนโดยบงการของรัฐบาลเอง เพื่อกำหนดสร้างสถานการณ์บางอย่าง
สภาพเช่นนี้ ส่งผลให้บรรดาผู้อพยพหลากสัญชาติจากทั่วทุกมุมโลก พยายามลักลอบหลบหนีเข้ามาลี้ภัยในอังกฤษ แต่ก็โดนรัฐบาลเจ้าถิ่นไล่ล่าอย่างเข้มงวด ผู้ที่โดนจับได้จะถูกส่งตัวไปอยู่ในเขตกักกัน (ซึ่งมีการปฏิบัติอย่างโหดเหี้ยมรุนแรงไร้มนุษยธรรม จนชวนให้นึกถึงค่ายกักกันชาวยิวในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2)

ความรุนแรงที่ฝ่ายรัฐกระทำต่อเหล่าผู้ลี้ภัย ส่งผลให้เกิดขบวนการใต้ดินชื่อ Fishes ซึ่งต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้อพยพ

หนังเล่าเรื่องทั้งหมด ผ่านตัวเอกชื่อธีโอ ฟารอน อดีตนักเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งพลิกผันบทบาทฐานะตนเอง กลายมาเป็นข้าราชการในกระทรวงพลังงาน

วันหนึ่งธีโอโดนขบวนการ Fishes จับตัว เรื่องที่คาดไม่ถึงคือ หัวหน้ากลุ่มก่อการต่อต้านรัฐบาลคือ จูเลียน อดีตภรรยาเก่าของเขาที่ไม่ได้เจอะเจอมานานเกือบ ๆ 20 ปี (หลังจากเกิดโรคไข้หวัดระบาดไปทั่วโลกในปี 2008 จนทำให้ลูกชายของทั้งคู่เสียชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างสองสามีภรรยาก็ถึงจุดแตกหักเลิกรากัน)

จูเลียนยื่นข้อเสนอมอบเงินให้ธีโอเป็นจำนวนห้าพันปอนด์ โดยชายหนุ่มจะต้องใช้เส้นสายการเป็นญาติกับผู้มีอำนาจในรัฐบาล ขอหนังสือเดินทางสำหรับผู้อพยพหญิงสาวชาวอัฟริกันชื่อคี เพื่อให้เธอหลบหนีออกนอกประเทศ ไปร่วมสมทบกับ Human Project ซึ่งร่ำลือกันว่าเป็นองค์กร-ช่วยเหลือกอบกู้มนุษยชาติ-ที่ปราศจากคำยืนยันแน่ชัดว่ามีอยู่จริงหรือไม่

หากธีโอตอบปฏิเสธ นั่นหมายถึงการเป็นศัตรูฝ่ายตรงข้ามของขบวนการ Fishes

ธีโอต้องจำยอมปฏิบัติตามอย่างไม่เต็มใจ เพื่อให้หมดสิ้นภาระ แต่แล้วภารกิจกลับไม่ง่ายดาย หนังสือเดินทางที่ขอมาได้ กำหนดให้เดินทางเป็นหมู่คณะ ซึ่งชายหนุ่มจะต้องร่วมปรากฎตัวอยู่ด้วย ซ้ำร้ายก่อนถึงด่านตรวจจุดแรก ขบวนคุ้มกันผู้ลี้ภัยหลบหนี ถูกฝูงชนบ้าคลั่งซุ่มโจมตี จูเลียนโดนยิงเสียชีวิต ส่งผลให้ต้องมีการเลือกผู้นำคนใหม่ของ Fishes (ซึ่งธีโอแอบได้ยินแผนการกลางดึก ว่าการโจมตีที่ผ่านมา เป็นการคบคิดหักหลังกันภายในกลุ่มต่อต้าน ยิ่งไปกว่านั้นธีโอคือ หนึ่งในเป้าหมายที่จะต้องกำจัด)

ความลับถัดมา ซึ่งโยกคลอนสั่นสะเทือนจิตใจธีโอยิ่งกว่าสิ่งใดทั้งหมด ได้แก่การล่วงรู้ความจริงว่า คีกำลังตั้งท้อง ครั้งนี้เขาจึงพาเธอหลบหนีด้วยความเต็มใจ

เรื่องราวถัดจากนั้น คือ การรอนแรมเสี่ยงภัยของตัวเอกทั้งสอง ควบคู่ไปกับการนำพาผู้ชมสัมผัสโลกที่เปรียบเสมือน “ฝันร้าย” ซึ่งแทบจะไม่มีแง่มุมดีงามใด ๆ หลงเหลือ ก่อนจะสรุปลงเอยอย่างน่าประทับใจ

ความโดดเด่นอันดับแรกของ Children of Men คือ ความสนุกชวนติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ มีครบครันเพียบพร้อมทั้งอารมณ์สะเทือนใจ ตื่นเต้น ซาบซึ้ง และน่าสะพรึงกลัว

ถัดมาคือ ในหนังจินตนาการว่าด้วยโลกอนาคตส่วนใหญ่ มักจะสะท้อนให้เห็นถึงความเจริญทางด้านเทคโนโลยีล้ำยุค ความน่าตื่นตาอันเกิดจากงานออกแบบฉาก (ผ่านกรรมวิธีทางด้านเทคนิคพิเศษ) Children of Men กลับมาในทิศทางตรงกันข้าม นอกเหนือจากจอภาพเคลื่อนไหวข้างรถเมล์ในลอนดอนแล้ว รายละเอียดอื่น ๆ ที่เหลือ มุ่งมาทางเน้นความสมจริง และเป็นภาพโลกอนาคตที่ไม่ได้แตกต่างจากปัจจุบันมากนัก

ยิ่งไปกว่านั้น หนังยังหยิบยืมวิธีการแบบหนังข่าวหรือสารคดีมาใช้ในหลายฉากหลายตอน โดยเฉพาะเหตุการณ์ปะทะสู้รบช่วงท้ายสุดของเรื่อง ซึ่งถ่ายทำต่อเนื่องด้วยวิธีแบกกล้องใส่บ่า กินความยาวร่วม ๆ 7 นาที ปราศจากการตัดภาพ (เป็นฉากที่ทำได้จริงจังมาก จนเหมือนผู้ชมหลุดพลัดเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ และเต็มไปด้วยอารมณ์หลายหลาก ตั้งแต่ความวุ่นวายโกลาหล ความโหดเหี้ยมรุนแรง ความเข้มข้นเร้าใจ และความน่าหวาดหวั่นพรั่นพรึง)

อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจสูงสุดในงานชิ้นนี้ คือ ประเด็นทางด้านเนื้อหา Children of Men สะท้อนให้เห็นภาพตรงข้ามกับสังคมในอุดมคติที่เรียกกันว่า distopia (คือ โลกที่เต็มไปด้วยด้านลบและความเลวร้ายต่าง ๆ นานา) ออกมาได้หนักแน่นเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นอำนาจรัฐที่ครอบงำบงการทุกขั้นตอนในชีวิตของผู้คน จนไม่หลงเหลือที่ว่างให้สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล, การกีดกันแบ่งแยกระหว่างพลเมืองทั่วไปกับบรรดาผู้อพยพ, เหตุการณ์ก่อการร้าย ฯลฯ

เหนือสิ่งอื่นใดคือ การตีแผ่ให้เห็นถึงสภาพชีวิตมนุษย์ที่ดำรงอยู่อย่างสิ้นหวัง มองไม่เห็นทางสว่างในอนาคต (อาจกล่าวได้ว่า การที่ผู้หญิงทุกคนบนโลกใบนี้ พร้อมใจกันเป็นหมันอย่างไร้สาเหตุ มีความหมายในเชิงเปรียบเปรยให้เห็นถึง “การสูญเสียความหวังในชีวิต” ก็ได้เหมือนกัน)

ในแง่นี้ การผจญภัยของธีโอ ก็เหมือนกับการฝ่าด่านทดสอบ เผชิญบทเรียนสารพัดอย่าง เพื่อกอบกู้ฟื้นฟูความหวังและศรัทธาต่อการมีชีวิตกลับคืนมาอีกครั้ง (หลังจากที่ความตายของลูกชายเขา ทำให้มันหมดสิ้นสูญหายไป)

นอกจากแง่คิดหลัก ๆ ดังกล่าวแล้ว Children of Men ยังแฝงด้วยประเด็นทางศาสนาอยู่ค่อนข้างเด่นชัด การผจญภัยของธีโอกับคี มีนัยยะและรายละเอียดค่อนข้างใกล้เคียงเรื่องราวของโจเซฟกับแมรีในเหตุการณ์ “กำเนิดพระเยซู” จนอาจกล่าวได้ว่า เป็นการนำมาเล่าใหม่โดยเปลี่ยนฉากหลังให้สอดคล้องกับยุคสมัย (นี่ยังไม่นับรวมรายละเอียดปลีกย่อยอย่างเช่นชื่อ ธีโอ-theo-มีความหมายนัยยะเกี่ยวโยงไปถึง “พระเจ้า”)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากไคลแม็กซ์โกลาหลตอนท้ายเรื่อง ซึ่งทรงพลังถึงขั้นทำให้ผู้ชมรู้สึกว่า หาก “นรก” มีจริง สภาพของมันคงไม่ผิดแผกไปจากที่เราได้เห็นมากนัก
ความน่าทึ่งอย่างยิ่งก็คือ เมื่อเหตุการณ์อันเปรียบเสมือนกลียุค คลี่คลายยุติลงด้วยสิ่งที่ใกล้เคียงกับคำว่าปาฏิหาริย์

ความรู้สึกของตัวละคร (รวมทั้งผู้ชม) ในห้วงขณะนั้น ก็คือ ตระหนักถึงความศักดิ์สิทธิ์สูงส่ง เกิดศรัทธาเชื่อมั่นต่อการมีอยู่จริงของพระเจ้า (หรือความดีงาม) และกอบกู้ฟื้นฟูความหวังที่มืดมอดพังทลายหวนคืนสู่แสงสว่างขึ้นอีกครั้ง

นี่คือ หนังที่ยอดเยี่ยมครบครัน ทั้งความบันเทิง ความตื่นตาตื่นใจ ลีลาทางศิลปะ และเนื้อหาสาระ





(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร Flicks แก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติมอีกหลายย่อหน้ารวมทั้งเปลี่ยนชื่อเรื่องในการเผยแพร่ที่นี่)

วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2551

เมื่อนกเปลี่ยวเหงาสองตัวบินสวนทาง โดย "นรา"


ยามล่วงรู้แน่ชัดว่า ความรักที่มีต่อคุณนายเฉิน (ซูไหล่เจิน) เป็นได้แค่ “ความสัมพันธ์ต้องห้าม” และอาจเผชิญคำครหานินทาจากคนรอบข้าง โจวโม๋หวันจึงตัดสินใจจากฮ่องกงไปสิงคโปร์ ทิ้งทุกสิ่งไว้เป็นความหลัง

กระนั้นเขาก็ยังไม่อาจตัดใจเด็ดขาด ก่อนออกเดินทาง ชายหนุ่มฝากข้อความส่งท้าย

“ผมเอง...ถ้าหากเผอิญมีตั๋วเกินมาหนึ่งใบ คุณจะไปกับผมมั้ย?”

เขาเฝ้ารอคอยเธออยู่ในห้องพักโรงแรมที่นัดหมายประจำ กระทั่งมั่นใจว่าเธอไม่มาแน่แล้ว โจวโม๋หวันปิดไฟทุกดวง ก้าวออกจากห้อง และมุ่งหน้าไปยังสิงคโปร์...

คล้อยหลังจากนั้น ซูไหล่เจินเดินทางมายังห้องพักโรงแรมที่นัดหมายประจำ เธอนั่งสงบนิ่งบนเตียงตามลำพัง น้ำตาค่อย ๆ เอ่อท้นไหลออกมา

“ฉันเอง...ถ้าหากเผอิญมีตั๋วเกินมาหนึ่งใบ คุณจะพาฉันไปด้วยมั้ย?”

เหตุการณ์ข้างต้น เป็นช่วงหนึ่งใน In the Mood for Love หนังปี 2000 จากฝีมือกำกับโดยหว่องก๊าไหว่ เล่าถึงความรัก “ผิดที่ผิดเวลา” จนต้องซ่อนเร้นปกปิดไม่ให้ใครอื่นล่วงรู้ รวมทั้งเผชิญความขัดแย้งในใจต่อสำนึกผิดชอบชั่วดี เนื่องจากตัวเอกทั้งสองต่างมี “คนอื่น” อยู่ก่อนแล้ว ท้ายที่สุดทั้งเขาและเธอก็ไม่อาจครองคู่อยู่ร่วม และแยกพรากจากกันไป

เหลือเพียงความทรงจำถึงอดีตที่เลยลับ “เหมือนปีเดือนเคลื่อนผ่าน ดอกไม้บานแล้วพลันโรยรา” อันเป็นความหมายของชื่อเพลง Hua Yang De Nian Hua ซึ่งใช้ประกอบในหนัง รวมทั้งเป็นชื่อในพากย์ภาษาจีนของหนังเรื่องนี้ด้วย

Hua Yang De Nian Hua เป็นบทเพลงยอดนิยมเมื่อปี 1946 ขับร้องโดยโจวเสวี่ยน นักร้องและดาราสาวชาวเซี่ยงไฮ้ที่โด่งดังสุดขีดในช่วงทศวรรษ 1930-1940

เนื้อหาคำร้องสรุปโดยย่นย่อ กล่าวถึงความทรงจำสวยงามเกี่ยวกับบุคคลและสถานที่ อันเป็นที่รัก ซึ่งผ่านเลยแปรเปลี่ยนผิดจากเดิมไปโดยสิ้นเชิง อารมณ์และความหมายคล้ายกับที่โก้วเล้งเคยเขียนไว้ในนิยายกำลังภายในเรื่องหนึ่งว่า “ขณะที่ดอกไม้เบ่งบานสวยงามสุด มักเป็นเวลาที่มันใกล้โรยรา”

นอกจากจะทำหน้าที่อธิบายอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครแล้ว หว่องก๊าไหว่ยังใช้บทเพลงดังกล่าว เพื่อสะท้อนแง่มุม “ถวิลหาอดีต” ถึงฮ่องกงในช่วงทศวรรษ 1960 ทั้งบรรยากาศความเป็นอยู่ที่อบอุ่นเป็นชุมชนอันชิดใกล้ (กระทั่งส่งผลให้ตัวเอกในหนังของเขา ต้องลักลอบซ่อนเร้นนัดเจอกัน เพื่อให้พ้นจากสายตาของเพื่อนบ้าน) เสน่ห์ของหญิงสาวที่แต่งกายด้วยชุดฉ่งซัม (หรือกี่เพ้าในภาษาจีนกลาง) และที่สำคัญคือ อารมณ์ความรู้สึกแปลกแยกโดดเดี่ยวของคนเซี่ยงไฮ้ที่โยกย้ายมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในฮ่องกง (ใน In the Mood for Love ตัวละครที่เข้าข่ายนี้คือ นางเอกซูไหล่เจิน ส่วนในชีวิตจริงหว่องก๊าไหว่ก็มีประวัติความเป็นมาช่วงวัยเด็กใกล้เคียงกัน)

อย่างไรก็ตาม บรรยากาศของฮ่องกงช่วงทศวรรษ 1960, อารมณ์ถวิลหาอดีตที่มีต่อวันคืนสวยงามเก่าก่อน ตลอดจนภาวะ “แปลกหน้า” ในบ้านแห่งใหม่ของชาวเซี่ยงไฮ้ เหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่ “ฉากหลัง” ห้อมล้อมตัวละคร ขณะที่แก่นเรื่องใจความหลักของ In the Mood for Love ยังคงเป็นแง่มุม “ความสัมพันธ์ที่ติดขัดไม่ลงรอย” ระหว่างตัวละคร เช่นเดียวกับผลงานทั้งหมดของหว่องก๊าไหว่

แง่มุมทางเนื้อหา (รวมถึงเหตุการณ์หลายฉากหลายตอน) ใน In the Mood for Love หว่องก๊าไหว่เปิดเผยไว้ว่า เขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องสั้นชื่อ Duidao ของหลิวอี้ชาง

หลิวอี้ชางเกิดที่เมืองเซี่ยงไฮ้ เมื่อเดือนธันวาคม ปี 1918 สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเซ็นต์จอห์นปี 1941 เริ่มต้นทำงานเป็นนักข่าวในระหว่างสงครามที่เมืองหลวงของมณฑลฉ่งชิง จากนั้นก็อพยพโยกย้ายมายังฮ่องกงในปี 1948 และมุ่งมั่นเอาดีในการทำงานเขียนอย่างจริงจัง

งานเขียนของหลิวอี้ชาง ได้รับการยกย่องมากทางด้านเทคนิควิธีนำเสนออันแปลกใหม่ทันสมัยและสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบรรยายให้เห็นถึง “ความคิด-ความในใจ” ของตัวละครที่เรียกกันว่า “กระแสสำนึก” กล่าวได้ว่าเขาเป็นนักเขียนฮ่องกงที่โดดเด่นสุดในแนวทางนี้

นอกเหนือจากผลงานนิยายและเรื่องสั้นชั้นดีจำนวนมาก หลิวอี้ชางยังมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งและเป็นบรรณาธิการให้แก่นิตยสารวรรณกรรมชื่อ Hong Kong Lietary Monthly

ในปี 1991 หลิวอี้ชางประกาศเกษียณตนเองจากการทำงานเขียน แต่ยังคงคึกคักกระตือรือล้นกับบทบาทบรรณาธิการอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

เรื่องสั้นชื่อ Duidao หรือ Intersection ของหลิวอี้ชาง เขียนขึ้นเมื่อปี 1972 โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากลักษณะพิเศษของแสตมป์ที่เรียกกันว่า Tête-bêche (เป็นภาษาฝรั่งเศส อ่านออกเสียงว่า “เท็ท-เบ็ช”)

ความหมายตรงตัวของ Tête-bêche คือ “จากหัวถึงหาง” คำศัพท์ดังกล่าวใช้สำหรับเรียกขานแสตมป์คู่ 2 ดวงพิมพ์ติดกัน และมีรายละเอียดเหมือนกันทุกประการ ยกเว้นตำแหน่งที่สลับกลับด้านตรงข้ามสวนทางกัน
เรื่องสั้นดังกล่าวเล่าถึง “วันหนึ่งในชีวิต” ของตัวละครสองคน คือ ชายวัยกลางคนชื่อชุนอวี้ไป่ และหญิงสาววัยรุ่นชื่ออาซิง

จุดเด่นสำคัญได้แก่ การเล่า 2 เหตุการณ์ผ่านมุมมองของตัวละครทั้งคู่ ตัดสลับไปมาเทียบเคียงกันตลอดเวลา (เวลาปัจจุบันในเรื่องคือ ต้นทศวรรษ 1970) ฝ่ายชายเป็นชาวเซี่ยงไฮ้ที่ลี้ภัยสงครามมายังฮ่องกงตอนต้นทศวรรษ 1950 ขณะที่ฝ่ายหญิงเป็นชาวฮ่องกงโดยกำเนิด

เหตุการณ์เริ่มจากช่วงกลางวัน ชุนอวี้ไป่ยืนรอคอยรถเมล์ พร้อมกับเหลียวมองรอบ ๆ ตัว ถนนหนทาง อาคารบ้านเรือน และผู้คนที่ผ่านไปมา ทำให้เขาหวนรำลึกถึงฮ่องกงในอดีตเมื่อคราวที่เพิ่งเดินทางมาถึงใหม่ ๆ เปรียบเทียบกันแล้ว มันผิดแปลกเปลี่ยนไปมากจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม

ช่วงเวลาเดียวกันอาซิงลงบันไดมาจากแฟลตที่เธอพำนักอาศัย สภาพของมันทรุดโทรมแออัด กลิ่นเหม็นจากส้วมสาธารณะ โชยมาเข้าจมูก จนทำให้เธอคิดฝันไปว่า เมื่อแต่งงานแล้ว เธอจะหาที่พักใหม่ ทำเลดี

จากนั้น ทั้งชุนอวี้ไป่และอาซิง ต่างก็มุ่งหน้าเคลื่อนย้ายตนเองสู่สถานที่ต่าง ๆ เฉียดสวนแคล้วคลาดกันไปมา เช่น เธอเดินผ่านหน้าร้านขายทองที่เพิ่งโดนปล้น ส่วนเขาก็ได้ยินคนขายล็อตเตอรีเล่าเหตุการณ์เดียวกันอยู่ไม่ไกลจากจุดเกิดเหตุ เธอเห็นหญิงคนหนึ่งโดนรถชน เขามองเห็นภาพนั้นจากอีกฝั่งถนน เธอกลับมาบ้าน เข้าห้องน้ำส่องกระจก เพ่งดูร่างเปลือยเปล่าของตนเอง คิดฝันถึงอนาคต เขายืนหยุดหน้าร้านตัดเย็บเสื้อผ้า มองเห็นภาพสะท้อนตนเองปรากฎบนกระจกเงาในร้าน พลันก็พบว่าสังขารตนเองร่วงโรย จนอดไม่ได้ที่จะนึกย้อนถึงอดีตสมัยวัยหนุ่ม

เงื่อนปมสำคัญในเรื่อง คือ การแจกแจงให้เห็นว่า เหตุการณ์ในปัจจุบันที่เกิดขึ้นกับชุนอวี้ไป่และอาซิง ละม้ายใกล้เคียงกันมาก ไม่ว่าจะเป็นเวลา สถานที่ หรือผู้คนรอบข้างที่ปรากฎผ่านสายตาของทั้งคู่ (เช่น พ่อลูกคู่หนึ่งทะเลาะกันในภัตตาคาร ข้าง ๆ โต๊ะที่ชุนอวี้ไป่กำลังกินมื้อกลางวัน ถัดจากนั้นพ่อลูกคู่เดิมก็ทะเลาะกันในแถวผู้คนที่เข้าคิวซื้อตั๋วหนัง และอยู่ข้างหน้าของอาซิง)

สิ่งที่ผิดแผกก็คือ ความคิดคำนึงของตัวละครทั้งคู่ ชุนอวี้ไป่มักนึกย้อนไปถึงวันคืนในอดีต ทั้งสมัยที่รุ่งเรืองเฟื่องฟูอยู่ในเซี่ยงไฮ้ และช่วงระยะแรกที่เพิ่งเดินทางมาถึงฮ่องกงอันสงบเงียบ ด้วยความหวังว่าจะได้พบกับชีวิตที่ดีกว่า ทว่าเมื่อล่วงเลยถึงปัจจุบัน ทุกอย่างกลับตรงกันข้าม เขากลายเป็นชายวัยกลางคนที่อยู่ตามลำพัง ฐานะยากจนลง อาศัยท่ามกลางสภาพห้อมล้อมแออัดวุ่นวายและวิถีชีวิตเร่งรีบ มิหนำซ้ำยังแปลกแยกเปลี่ยวเหงา

อาซิงกลับตรงกันข้าม วัยอ่อนเยาว์ทำให้เธอมีอดีตและความทรงจำไม่มากนัก และปัจจุบันอันน่าเบื่อหน่าย เต็มไปด้วยความรู้สึกโดดเดี่ยว ก็ทำให้เธอหลีกหนีสู่ความใฝ่ฝันถึงอนาคต อยากมีคนรักรูปร่างหน้าตาหล่อเหลาเหมือนพระเอกหนังชื่อดัง เธอวาดภาพสมมติตนเองเป็นดาราและนักร้องชื่อดัง ได้รับการห้อมล้อมสนใจจากผู้คน และมีชีวิตสวยหรูราวกับเจ้าหญิงในเทพนิยาย

ช่วงเวลาเพียงครั้งเดียวที่ชุนอวี้ไป่กับอาซิงได้พบกัน คือ ทั้งคู่นั่งดูหนังเรื่องเดียวกัน โรงเดียวกัน และที่นั่งติดกัน

เมื่อเหลียวมองสบตากัน ชุนอวี้ไป่รำพึงรำพันในใจว่า ผู้หญิงคนนี้หน้าตาสวยไม่ใช่เล่น คล้ายอดีตคนรักเก่ารายหนึ่ง สมัยเมื่อครั้งที่เขายังหนุ่ม

ส่วนอาซิงกลับรู้สึกผิดหวัง เมื่อเห็นชายวัยกลางคนท่าทางน่าเบื่อหน่าย และอดคิดไม่ได้ว่า หากคนที่นั่งอยู่ด้านข้าง เป็นชายหนุ่มหน้าตาหล่อเหลาเหมือนพระเอกหนัง เธอคงมีความสุขมากกว่านี้

เมื่อหนังเลิก อาซิงเดินตามฝูงชนเนืองแน่นออกจากโรง ถัดจากกลุ่มผู้ชมอันคับคั่ง ชุนอวี้ไป่ก้าวเดินอยู่ข้างหลังอาซิง ครั้นออกมายังเบื้องนอก อาซิงมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ ชุนอวี้ไป่หันเดินสู่ทิศเหนือ

ค่ำคืนนั้น ชุนอวี้ไป่กับอาซิงดูหนังทางโทรทัศน์เรื่องเดียวกัน ก่อนทั้งคู่จะง่วงหลับและฝัน

ในฝันของชุนอวี้ไป่ เขานั่งอยู่ท่ามกลางเงาไม้ร่มรื่นออกดอกผลิบาน เคียงข้างด้วยสาวสวยอย่างอาซิง เช่นเดียวกับเมื่อตอนนั่งชิดติดกันในโรงหนัง ได้กลิ่นหอมโชยมาจากเรือนกายของเธอ

หลังจากหนังที่ฉายทางโทรทัศน์จบลง อาซิงเข้านอน ฝันว่าตนเองอยู่บนเตียง ปราศจากกำแพงห้อมล้อมทั้งสี่ด้าน มีเพียงเครื่องเรือนหรูหราราคาแพง เหมือนอย่างที่เคยคิดวาดหวังปรารถนาอยากได้ เคียงข้างเธอคือ ชายหนุ่มหน้าตาหล่อเหลาเหมือนพระเอกหนังชื่อดัง ทั้งคู่ร่างเปลือยเปล่า และจูบกันอย่างดูดดื่มหวานซึ้ง...

ในฝันของชุนอวี้ไป่ หญิงสาวปลดเปลื้องเสื้อผ้ากระทั่งเหลือเพียงร่างเปลือย ขณะที่ตัวเขาเองกลับกลายเป็นเด็กหนุ่มรูปงามราวกับพระเอกหนังชื่อดัง และเริ่มต้นสัมผัสเรือนกายของเธอ...

เมื่อชุนอวี้ไป่ตื่นนอนในเช้าวันถัดมา เขาเดินไปยืนสูดอากาศที่ริมหน้าต่าง เห็นนกกระจอกตัวหนึ่งบินมาเกาะอยู่เบื้องหน้า เพียงชั่วครู่นกกระจอกอีกตัวก็บินมาเกาะใกล้ ๆ นกทั้งสองต่างเหลียวมองกันและกัน

พลันนกตัวหนึ่งก็โผบินสู่ทิศตะวันออก ขณะที่นกอีกตัวมุ่งไปยังทิศตะวันตก...
(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "เงาของหนัง" หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน แก้ไขเพิ่มเติมอีกสี่ห้าคำในการเผยแพร่ครั้งนี้)

วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551

ความหลังของลูกหมู โดย "นรา"



แม้ว่า My Life as McDull จะเคยเป็นหนังสือการ์ตูนเล่มที่ได้รับความนิยมสูงลิ่วในฮ่องกงช่วงทศวรรษ 1990 แต่ก็แทบจะไม่มีใครคาดหวังล่วงหน้าว่า "ฉบับหนังโรง" จะประสบความสำเร็จในระดับทัดเทียมกัน สาเหตุแรกสุดก็คือ งานประเภทการ์ตูนหรืออนิเมชั่น ได้ชื่อว่าเป็น 'ของแสลง' สำหรับวงการหนังฮ่องกง เท่าที่เคยมีการสร้างกันออกมา (ในจำนวนไม่มาก) ส่วนใหญ่มักลงเอยด้วยความล้มเหลว มีเพียง A Chinese Ghost Stosy (โปเยโปโลเยฉบับหนังการ์ตูน) ของฉีเคอะ แต่ก็ไม่แรงพอที่จะสร้างกระแสความคึกคักให้แก่งานทำนองนี้


ถัดมาก็คือ โดยตัวหนังเรื่อง My Life as McDull เองก็เต็มไปด้วยข้อจำกัดสารพัดอย่าง เริ่มจากทุนสร้างอันน้อยนิด (หนังเรื่องนี้ใช้ทีมงานในการสร้างและวาดภาพทั้งหมดเพียงแค่ 12 คน ซ้ำร้ายส่วนใหญ่ยังเป็นมือใหม่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำหนังการ์ตูนมาก่อนเลย) ใช้เทคนิคการวาด (และคอมพิวเตอร์กราฟิคง่ายๆ) จนผลรวมที่ออกมาแตกต่างตรงข้ามกับงานของวอลท์ ดิสนีย์หรือสตูดิโอ Ghibli (ของฮายาโอะ มิยาซากิ) ซึ่งเต็มไปด้วยความประณีตและ 'อลังการงานสร้าง' น่าตื่นตาตื่นใจ ชนิดเทียบเคียงกันไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง


ที่สำคัญคือ รายละเอียดหลายๆ อย่างใน My Life as McDull มี 'ความเป็นฮ่องกง' อยู่หนาแน่น ตั้งแต่รายละเอียดที่แสดงให้เห็นถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ ธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ การอ้างอิงถึงบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริง (มีการอ้างพาดพิงถึงคุณเฟย์ หว่อง “หวานใจ” ของผมด้วยเล็กน้อย) มุขตลกที่เป็นการเล่นคำทางภาษา และบทสนทนาที่เต็มไปด้วยศัพท์สแลงในภาษากวางตุ้ง จนผู้สันทัดกรณีบางคน เชื่อมั่นฟันธงว่า โอกาสที่งานชิ้นนี้จะประสบความสำเร็จในตลาดต่างประเทศมีน้อยมาก


อย่างไรก็ตาม เมื่อหนังออกฉายจริงๆ ในปี 2001 My Life as McDull ก็ประสบความสำเร็จงดงามเกินคาด ด้วยการทำรายได้ติดอันดับต้นๆ ในกลุ่มหนังทำเงิน ได้รับคำชมจากนักวิจารณ์อย่างท่วมท้น สามารถคว้ารางวัล FREPRESQI จากเทศกาลหนังนานาชาติที่ฮ่องกง รวมทั้งสร้างความประทับใจในหมู่ผู้ชมวงกว้าง (แน่นอนครับว่า ผมก็เป็นหนึ่งในคนที่ตกหลุมรักหนังเรื่องนี้เข้าให้อย่างแรง)


เนื้อเรื่องของ My Life as McDull ไม่มีเค้าโครงที่เด่นชัดให้จับต้องมากนัก ส่วนใหญ่จะบอกเล่าเหตุการณ์เป็นช่วง ๆ ผ่านตัวละครที่เป็นศูนย์กลางคือ เจ้าลูกหมูตัวเล็กๆ ชื่อ 'หมักเต๊า' (หรือ McDull ในภาษาอังกฤษ) ตั้งแต่เริ่มต้นถือกำเนิดและจบลงเมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่


ความน่าสนใจอย่างแรกก็คือ การที่หนังผูกเรื่องให้ตัวละครอย่างลูกหมูและสัตว์อื่นๆ เช่น นก วัว ใช้ชีวิตอยู่ร่วมปะปนเหมือนผู้คนปกติ พร้อมกันนั้นอารมณ์บรรยากาศโดยรวมของหนังก็ยังเน้นไปที่ความสมจริง และตอกย้ำให้เด่นชัดยิ่งขึ้น ผ่านรายละเอียดในส่วนของแบ็คกราวนด์ฉากหลัง ซึ่งเต็มไปด้วยภาพตึกสูงแออัดทรุดโทรม ขยะสกปรก สีสันทึบทึมหม่นมัว ขัดแย้งกับสีสันสดใสอ่อนหวานของตัวการ์ตูน


ความแตกต่างขัดแย้งระหว่างตัวการ์ตูนกับฉากหลัง ถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญทางด้านเนื้อหาสาระของหนังเรื่องนี้เลยทีเดียว กล่าวคือ ในเรื่องเล่าเหตุการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับลูกหมู 'หมักเต๊า' ตั้งแต่ช่วงที่แม่ของเขาตั้งท้องและภาวนาขอให้ลูกเกิดมาเป็นเด็กฉลาด หน้าตาดี มีความสามารถ (ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับ ความเป็นจริงในชีวิตของ 'หมูน้อย' โดยสิ้นเชิง) ชีวิตในโรงเรียน การรบเร้าให้แม่พาไปเที่ยวมัลดีฟส์ (ปลอม) ซึ่งกลายเป็นวันที่น่าจดจำมากสุดในชีวิตวัยเด็ก ความใฝ่ฝันอยากเป็นนักกีฬาวินด์เซิร์ฟที่ประสบความสำเร็จในกีฬาโอลิมปิก แต่แล้วเอาเข้าจริงกลับได้ฝึกแย่งชิงซาลาเปาในเทศกาลที่โดนยกเลิกไปนาน ความใฝ่ฝันอยากลิ้มรสชิมไก่งวงในวันคริสต์มาส แต่เมื่อมีโอกาสได้กิน มันกลับกลายเป็นฝันร้ายทุลักทุเลฯลฯ

ทั้งหมดนี้นำเสนอด้วยแง่มุมรื่นรมย์ น่ารัก และขบขัน แต่ขณะเดียวกันก็เจือไว้ด้วยอารณ์เศร้าหม่นสะเทือนใจชนิดบาดลึกอยู่ตลอดเวลา (โดยเฉพาะช่วงที่แม่พา 'หมักเต๊า' ไปเที่ยวสวนสนุกชื่อ The Peak และหลอกว่าเป็นมัลดีฟส์ ถือเป็นหนึ่งในฉากน่ารักระคนเจ็บเศร้าร้าวลึกที่จับใจเหลือเกิน)


พูดง่ายๆ ก็คือ หนังแสดงให้เห็นถึงโลกรอบ ๆ ข้างของ 'หมักเต๊า' ที่โหดร้าย แต่เจ้าหมูน้อย (ในวัยเด็ก) ก็มองทุกสิ่งทุกอย่างให้กลับกลายเป็นสวยงาม (เช่น บทพูดที่เขาบอกกับผู้ชมตอนต้นเรื่องว่า ใครๆ อาจจะมองว่าโรงเรียนของผมโกโรโกโสเก่าโทรม แต่สำหรับผมแล้วที่นี่เป็นสรวงสวรรค์อันสวยงาม)
หมักเต๊านั้นเป็นตัวละครในแบบพวก loser หรือขี้แพ้ที่จะ “ขโมย” หัวใจของผู้ชมนะครับ นอกจากรูปร่างหน้าตาพุงป่องบ้องแบ๊วน่ารักน่าเอ็นดูแล้ว มันยังเป็นลูกหมูหัวทึบจอมล้มเหลว (แม้กระทั่งในเรื่องง่าย ๆ อย่างการสั่งบะหมี่สักชาม) มองโลกด้วยความซื่อใสแบบเด็ก ๆ พอจะเข้าใจบางสิ่งอยู่บ้าง และมีสารพัดเรื่องราวที่ยากเกินกว่าลูกหมูตัวเล็ก ๆ อย่างมันจะสามารถทำความเข้าใจ

บุคลิกยืนพื้นเช่นนี้ สามารถนับเนื่องเป็นญาติสนิทกับเด็กชายชาลี บราวน์ในการ์ตูนพีนัทได้สบาย ๆ และทั้งคู่ก็เป็นตัวเอก “ติดดิน” ที่เหมือนเงาสะท้อนถึงบางแง่มุมของผู้ชม (ครับ มีตัวเราปรากฏอยู่ในความเป็นชาลี บราวน์และลูกหมู “หมักเต๊า”)

แง่มุมถัดมาของหนังก็คือ การพูดถึงความใฝ่ฝันซึ่งสรุปลงเอยด้วยความผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ตัวละครก็ยังคงมุ่งหน้าดำรงชีวิตต่อไป มุมมอง ทัศนะที่มีต่อโลกรอบตัวของ 'หมักเต๊า' ดูขานรับกับบรรยากาศความเป็นการ์ตูน ขณะเดียวกันมันก็ไม่ได้สวยหรูดูเลิศไปเสียทั้งหมด ตรงข้ามกลับเต็มไปด้วย 'เรื่องเลวร้าย' (ซึ่งขยายย้ำให้เห็นตลอดผ่านทางฉากหลัง)


การ์ตูนเรื่องนี้ใช้เทคนิควิธีการหลายๆ อย่างในแบบ 'ยำใหญ่' เช่น ช่วงที่ 'หมักเต๊า' เล่าถึงอาชีพการงานของแม่ ภาพที่ปรากฏใช้เทคนิคแบบเดียวกับวิดีโอเกม เห็นแม่ต่อสู้ฟาดฟันกับสัตว์ประหลาด บนท้องถนนและซูเปอร์มาร์เก็ต ฯลฯ แต่ในฉากจบที่เป็นบทสรุปของเรื่อง ภาพสุดท้ายของหนังถ่ายด้วยฟิล์ม 'หมักเต๊า' ในวัยหนุ่ม ไม่ใช่ลูกหมูที่เติบใหญ่ แต่กลายเป็นชายหนุ่มคนหนึ่งยืนหันหลังอยู่ที่ชายหาด พร้อมทั้งบทสรุปที่ให้แง่คิดเกี่ยวกับการใช้ชีวิตว่า วิธีการทำเป็ดย่างให้อร่อยก็คือ หาเป็ดมา จากนั้นก็ลงมือย่าง แต่เคล็ดสำคัญอยู่ที่ว่า ต้องย่างให้ดี


ฉากจบของเรื่องบวกรวมกับรายละเอียดหลายเหตุการณ์ พอจะสรุปเชื่อมโยงได้ว่า สาระสำคัญของ My Life as McDull ก็คือ จุดจบของความไร้เดียงสาในวัยเยาว์ มีข้อสังเกตว่า เสียงบรรยายของ 'หมักเต๊า' ในหนัง มีทั้งเสียงที่เป็นผู้ใหญ่เล่าย้อนหลังรำลึกอดีต และเสียงความในใจของ 'หมูน้อย' ในวัยเด็ก ซึ่งแสดงความคิดอ่านต่อสิ่งต่างๆ อย่างซื่อใสไร้เดียงสา


ผมพอจะจำแนกได้ว่า เสียงเด็กบรรยายมักจะเรียกรอยยิ้มน่ารักน่าเอ็นดู ขณะที่เสียงผู้ใหญ่มักจะสรุปเหตุการณ์อย่างเฉียบคม จนทำให้ผู้ชมต้องอึ้งและซึมอย่างหนักหน่วงรุนแรง


โดยรูปร่างภายนอกของหนังเรื่อง My Life as McDull เหมือนการ์ตูนน่ารัก ๆ สำหรับเด็ก แต่เมื่อดูกันจริง ๆ ความลึกซึ้ง แง่มุมทางด้านเนื้อหาที่หม่นเศร้า สะท้อนถึงความเป็นไปต่าง ๆ เกี่ยวกับชีวิต (และทำให้ผู้ชมต้องเก็บนำกลับไปครุ่นคิดต่อ) ซึ่งเต็มไปด้วยความผิดหวังสูญเสียและสะเทือนอารมณ์ ฯ ทั้งหมดนี้ทำให้มันกลายเป็นการ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่มากกว่า


ผมคิดว่าความยอดเยี่ยมสูงสุดของหนังอยู่ที่ว่า ตลอดทั้งเรื่องไม่มีเหตุการณ์หนักๆ แรงๆ ให้เห็นกันเลย ไม่มีตัวละครเสียชีวิต บาดเจ็บ หรือประสบชะตากรรมน่าเศร้าสลด แต่เหตุการณ์เรียบๆ ธรรมดาสามัญอย่างเช่น เด็กป่วยไปหาหมอ การกินไก่งวง ความยากจนซึ่งทำให้ไม่สามารถเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศตามที่ใฝ่ฝันปรารถนา ฯ แต่เมื่อมันบอกเล่าอย่างเรียบง่ายและเปี่ยมด้วยชั้นเชิง และเป็นสิ่งที่ผู้ชมอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ล้วนเคยมีประสบการณ์ทำนองนี้กันมา มีความรู้สึกร่วมเป็นพวกพ้องเดียวกันกับตัวละครที่มีลักษณะของคนขี้แพ้อย่างเจ้าลูกหมูหมักเต๊า เรื่องเศร้าเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ดูผิวเผินธรรมดาสามัญเหลือเกิน จึงสามารถสร้างผลกระทบที่เกิดขึ้นในใจผู้ชมได้อย่างลึกซึ้งและหนักหน่วง


My Life as McDull เป็นหนังการ์ตูนที่มีความยาวเพียงแค่ประมาณ 70 นาที แต่ผมเชื่อว่าคงมีผู้ชมหลายท่านดูแล้ว อาจถึงขั้นต้อง 'จดจำ' ไปอีกนาน




(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ภาพยนตร์ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ประมาณปี 2544 แก้ไขขัดเกลาใหม่ในการเผยแพร่ที่นี่)

วันอาทิตย์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2551

นักล่าฝันแห่งเซียร์รา มาเดร โดย "นรา"


เมื่อครั้งแรกเริ่มออกฉายในปี 1948 หนังฟอร์มยักษ์ลงทุนสูง (และถือเป็นงานกลุ่มแรก ๆ ของฮอลลีวูด ที่ยกกองออกไปถ่ายทำในสถานที่จริง แทนการสร้างฉากในโรงถ่าย) เรื่อง The Treasure of the Sierra Madre ผลงานกำกับของจอห์น ฮุสตัน ได้รับการยกย่องจากนักวิจารณ์อย่างท่วมท้น แต่ก็เจ๊งกระจายในด้านรายได้

เหตุผลสั้น ๆ น่าจะเป็นเพราะว่า ตัวหนังนั้นสะท้อนเนื้อหาจริงจัง และไม่ได้มีเรื่องราวลงเอยแบบชื่นมื่นสุขสม (ซึ่งเป็นลักษณะโดยรวมของหนังยุคนั้นที่ผู้ชมคุ้นชินและนิยม) เหนือสิ่งอื่นใดคือ นี่เป็นการพลิกบทบาทครั้งสำคัญของฮัมฟรีย์ โบการ์ท พระเอกอันดับหนึ่งตลอดกาลแห่งโลกภาพยนตร์

โบการ์ทถือได้ว่าเป็นนักแสดงคนแรก ๆ ที่สวมบทบาทพระเอก “แอนตี้ฮีโร” อย่างต่อเนื่อง และมีภาพพจน์ติดตาผู้ชมเป็นหนุ่มใหญ่ มาดเข้ม สะอาดสะอ้าน เท่ เฉลียวฉลาด เหลี่ยมคมชั้นเชิงแพรวพราว แต่บทตัวเอกใน The Treasure of the Sierra Madre กลับตรงกันข้าม เหมือนคนธรรมดาสามัญทั่วไป ซื่อ สกปรกซอมซ่อ หยาบกร้าน ไม่ได้เก่งกาจหรือมีความสามารถพิเศษ มิหนำซ้ำยังมีข้อด้อยด้านลบอยู่ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นความขลาด เห็นแก่ตัว หรือความอ่อนแอ กระทั่งตกเป็นเหยื่อต่อสิ่งเย้ายวน

การเปลี่ยนรูปโฉมบุคลิกเป็นตรงกันข้าม (ด้วยฝีมือการแสดงที่ดีเยี่ยม) ของโบการ์ท ส่งผลให้บรรดามิตรรักแฟนเพลงส่วนใหญ่ในขณะนั้น ซึ่งยังคงผูกพันฝังใจกับภาพเดิม ๆ พากันเกิดอาการ “รับไม่ได้” และกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ-ควบคู่กับเนื้อหาหดหู่มืดหม่นของหนัง-จนทำให้ The Treasure of the Sierra Madre เข้าข่ายงานที่ “มาก่อนกาล” เผชิญกับผลลัพธ์ล้มเหลวน่าผิดหวัง

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันเวลาผ่านไป The Treasure of the Sierra Madre ค่อย ๆ แปรเปลี่ยนเป็นที่รักของผู้ชมมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวันนี้มันกลายเป็นสมบัติล้ำค่าที่คนอเมริกันชื่นชมและภาคภูมิใจ

The Treasure of the Sierra Madre สร้างและดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกันของบี. ทราเวน (นักเขียนผู้ใช้ชีวิตลึกลับ และทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นปริศนาไร้คำตอบว่า ตัวจริงของเขาคือใคร?) เรื่องคร่าว ๆ กล่าวถึง เหตุการณ์ในเม็กซิโก ช่วงทศวรรษ 1920 ซึ่งมีคนอเมริกันหลั่งไหลเข้าไปเสี่ยงโชคหวังร่ำรวยเป็นจำนวนมาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว หลายคนกลับเผชิญพบสภาพยากไร้แร้นแค้นยิ่งกว่าการใช้ชีวิต ณ แผ่นดินถิ่นเกิดของตนเองเสียอีก

ด็อบบ์สและเคอร์ทินเป็นสองคนในบรรดาผู้อกหักจากการเสี่ยงโชคจำนวนมาก มิหนำซ้ำสภาพผู้พลัดถิ่น ก็กลายเป็นอุปสรรคกีดกัน กระทั่งไม่สามารถรับงานต้อยต่ำ (เนื่องจากจะกลายเป็นที่รังเกียจ จนหมดโอกาสได้ทำงานกับคนอเมริกัน) ทั้งคู่ต้องกินอยู่เยี่ยงคนจรจัด อาศัยการขอเศษเงินจากเพื่อนร่วมชาติที่มีฐานะดีกว่า ประทังชีวิตไปวัน ๆ ซ้ำร้ายเมื่อได้รับการว่าจ้างให้ทำงานก่อสร้าง ชายหนุ่มทั้งสองก็โดนโกงค่าแรงเสียอีก

จุดเปลี่ยนสำคัญคือ ด็อบบ์สและเคอร์ทินได้พบกับชายชราชื่อฮาวเวิร์ด ซึ่งบอกเล่าถึงการขุดพบทองคำบนภูเขาจำนวนมหาศาล ทั้งหมดจึงตัดสินใจร่วมมือกันเดินทางไปเสี่ยงโชค

เหตุการณ์ถัดจากนั้น เป็นเรื่องของการผจญภัยต่าง ๆ นานา เริ่มจากเจอะเจอความยากลำบากในแถบถิ่นแห้งแล้งกันดาร, ดินฟ้าอากาศแปรปรวน, การเสาะแสวงหาแหล่งที่มีขุมทองซ่อนฝังอยู่ใต้ผืนแผ่นดิน, การคุกคามจากนักเสี่ยงโชคอื่น ๆ ผู้ติดตามมาฉกฉวยโอกาสขอแบ่งปันผลประโยชน์ในเชิงขู่กรรโชก ตลอดจนการรังควานรบกวนของกลุ่มโจร

สองหนุ่ม หนึ่งชรา ฝ่าฟันอุปสรรคคับขันภายนอกครั้งแล้วครั้งเล่ามาได้อย่างหวุดหวิดจวนเจียน แต่ปัญหาใหญ่กว่านั้นก็คือ ขวากหนามภายในระหว่างกันและกัน ทองคำมูลค่ามหาศาลทำให้พวกเขาค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปโดยไม่รู้ตัว ต่างฝ่ายต่างเริ่มระแวง ก่อเกิดเป็นความกินแหนงแคลงใจอยู่ลึก ๆ ทีละน้อย ยิ่งนานวันความรู้สึกดังกล่าวก็ทวีเพิ่มมากขึ้นเท่า ๆ กับจำนวนทองที่ขุดค้นพบ

ท้ายสุดเรื่องทั้งหมดก็คลี่คลายลงเอยด้วยโศกนาฎกรรมการสูญเสีย และเต็มไปด้วยโชคชะตาเล่นตลกกลั่นแกล้งอย่างเย้ยหยันเจ็บปวด

ความน่าทึ่งของ The Treasure of the Sierra Madre ก็คือ ฝีมือในการนำเสนอเรื่องราวแบบนิทานสอนใจเชิงเปรียบเปรย ได้อย่างหนักแน่นน่าเชื่อถือ ควบคู่ไปกับการแทรกสลับช่วงจังหวะตื่นเต้นเร้าใจผ่านอุปสรรคต่าง ๆ อย่างราบรื่นกลมกลืน

พูดง่าย ๆ คือ ขณะที่เหล่าตัวละครในหนังมุ่งหน้าตั้งตาขุดทอง จอห์น ฮุสตันก็อาศัยเหตุการณ์เหล่านี้ ค่อย ๆ เจาะลึกเปลื้องเปลือยให้เห็นถึงธาตุแท้นิสัยใจคอของมนุษย์ ออกมาตีแผ่วางเผยให้เห็นได้อย่างหมดจดและสมจริง เป็นการนำเสนอประเด็นคติธรรมหนักหน่วง แนบคู่กับความบันเทิงได้อย่างเท่าเทียมสมดุลย์

ความเหนือชั้นของจอห์น ฮุสตันก็คือ เขาไม่ได้เสนอภาพตัวละครและสร้างสถานการณ์ให้เป็นไปตามแบบแผนเหมือนหนังส่วนใหญ่ ไม่มีตัวแทนคนเลวหรือฝ่ายดีจะแจ้งชัดเจน ไม่มีการทรยศหักหลังฆ่าปิดปากกันเองเพื่อฮุบสมบัติเป็นของตนตามลำพังทันทีที่เจอทอง

เมื่อเนื้อเรื่องเปิดช่องยื่นโอกาสให้ทำเช่นนั้น หนังกลับให้รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ แสดงถึงภาวะสั่นคลอนทางจิตใจของตัวละคร ซึ่งเกิดความคิดเลวร้ายชั่ววูบขึ้นมา จากนั้นก็พยายามกลบเกลื่อนลบลืมมันไป และค่อย ๆ หวนกลับมารบกวนอยู่ครั้งแล้วครั้งเล่า ท้ายสุดก็ถึงจุดที่ไม่อาจทนต้านทานได้อีก

อาจกล่าวได้ว่า ตัวละครทั้งหมดในหนัง ต่างล้วนเป็นปุถุชนคนปกติ แต่สถานการณ์พิเศษอย่างการเจอทองต่างหาก ที่เป็นชนวนสำคัญดึงเอาอีกด้านที่ทุกคนพยายามแฝงซ่อนเก็บงำไว้มิดชิด (หรืออาจเป็นได้ว่า พวกเขาไม่เคยรู้มาก่อนว่าตนเองมีนิสัยเสียเหล่านี้อยู่ในตัว) ให้ค่อย ๆ ปรากฎออกมา

สำหรับผู้ชื่นชมนิยมในการค้นหา “เอกลักษณ์” ของคนทำหนังตามทฤษฎี auteur หรือแนวคิดที่ว่า “ผู้กำกับเป็นใหญ่” มีบทบาทสำคัญสูงสุดในหนัง และถือได้ว่าเป็น “เจ้าของและผู้สร้างสรรค์ผลงาน” อย่างแท้จริง จนก่อให้เกิดลักษณะร่วมเฉพาะตัวที่สามารถพบเห็นเชื่อมโยงได้เสมอในผลงานอื่น ๆ ทั้งหมด The Treasure of the Sierra Madre คือตัวอย่างชั้นเยี่ยมในการสะท้อนให้เห็นถึง ประเด็นหลักอย่างหนึ่ง ที่มักจะปรากฎในหนังส่วนใหญ่ของจอห์น ฮุสตัน (เช่น Moby Dick, Maltese Falcon, The Man Who Would Be King)

นั่นคือ แง่มุมเกี่ยวกับมนุษย์ที่พลั้งเผลอแสดงพฤติกรรมท้าทายพระเจ้าโดยไม่รู้ตัว, การต่อสู้ขับเคี่ยวผจญกับสิ่งที่ยิ่งใหญ่เกินตัว ตลอดจนบทสรุปลงเอยที่แสดงให้เห็นถึงชะตากรรมที่เต็มไปด้วยความเย้ยหยันเล่นตลก เมื่อภารกิจยากแค้นแสนเข็ญคืบหน้าล่วงใกล้บรรลุถึงเป้าหมาย แต่แล้วก็กลับล้มเหลวย้อนสู่สภาพดังเช่นช่วงเริ่มต้น ด้วยเหตุผลพื้นฐานที่ว่า สืบเนื่องจากความบกพร่องไม่สมบูรณ์ (หรือนิสัยด้านลบ) อันเป็นธรรมชาติในตัวของมนุษย์นั้นเอง

จอห์น ฮุสตันสร้างผลงานเอาไว้มากมาย ในจำนวนนี้มีทั้งงานอมตะที่ได้รับการยกย่องหลายต่อหลายเรื่อง และมีหนังอีกเยอะแยะที่ล้มเหลวคว่ำไม่เป็นท่า จนแทบไม่น่าเชื่อว่าเกิดจากฝีมือของผู้กำกับคนเดียวกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาได้รับการยกย่องชื่นชม และเป็นหนึ่งในตำนานของฮอลลีวูดก็คือ ฮุสตันแทบไม่เคยทำหนังซ้ำแนวย่ำตามรอยความสำเร็จเดิม ๆ เลยสักนิด

ที่สำคัญ หนังของจอห์น ฮุสตัน ไม่ได้มีลีลาแบบแผนเฉพาะตัวหรือสไตล์อันใดโดดเด่นเป็นพิเศษ ความสามารถของเขาก็คือ เป็น “นักเล่าเรื่อง” ผู้เก่งกาจ ถ่ายทอดเหตุการณ์ได้กระชับ ฉับไว ชวนติดตาม และเสนอประเด็นเนื้อหาสาระที่ต้องการบอกกล่าว ได้กระจ่างแจ่มชัด แหลมคม และมีชั้นเชิงอันแยบยลอยู่เพียบพร้อม

ทุกวันนี้ นักดูหนังรุ่นหลังอาจไม่ตื่นตาตื่นใจกับงานสร้างใน The Treasure of the Sierra Madre อีกต่อไป เนื่องจากมีหนังยุคใหม่ที่แลดู “อลังการ” และทันสมัยยิ่งกว่า ทว่าในด้านของฝีมือการเล่าเรื่องด้วยภาพ (โดยเฉพาะฉากในตลาดช่วงท้าย ซึ่งได้รับการยกย่องมาก ฮุสตันเล่าเหตุการณ์เกือบทั้งหมดผ่านภาษาเม็กซิกัน แต่ผู้ชมก็สามารถเข้าใจและติดตามสถานการณ์ได้ตลอดอย่างน่าทึ่งมาก) กล่าวได้ว่า งานชิ้นนี้เป็นแบบฉบับชั้นดีอยู่เหนือกาลเวลา

เหนือสิ่งอื่นใด ประเด็นแง่คิดของ The Treasure of the Sierra Madre ไม่เคยเก่าเชยพ้นสมัย ตรงกันข้ามกลับยิ่งลุ่มลึกคมคายมากขึ้นทุกขณะ

จอห์น ฮุสตันได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสุดยอดนักใช้ชีวิตได้อย่างโลดโผนเข้มข้นมีสีสันจัดจ้าน งานของเขาเองก็เช่นกัน เป็นผลพวงแห่งการตกผลึกทางความคิดอันเฉียบคม และเป็นภาพสะท้อนที่ทรงพลัง

ในฐานะหลานชายนอกสายเลือดของลุงฮุสตัน ผมถือว่าการดูหนังอย่าง The Treasure of the Sierra Madre เป็นหนึ่งในวิถีทางการใช้ชีวิตที่โคตรคุ้ม...และเข้าข้างข้อเขียนของตนเองชิบเป๋งเลยครับ
(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ Play Time นิตยสาร Filmmax ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2550 แก้ไขเพิ่มเติมเล็กน้อยในการเผยแพร่ลงบล็อก)

วันศุกร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2551

บ้าน ความรัก ที่พักใจ และการเวนคืน โดย "นรา"


ผมนั้นเป็นพวก "ใหญ่ ๆ ไม่มีปัญญาทำ จำใจต้องเล็ก ๆ" มาแต่ไหนแต่ไร จึงมีใจโอนเอียงไปทางหนังเล็ก ๆ แม้กระทั่งเวลาเชียร์ฟุตบอลก็ยังเป็นแฟนทีมวิมเบิลดัน ซึ่งจัดว่าอยู่ในระดับต่ำต้อยด้อยทุนทรัพย์และอัตคัดความสำเร็จอย่างยิ่ง


ก่อนลงมือเขียนต้นฉบับชิ้นนี้ ผมมีหนังให้เลือกอยู่ 2 เรื่อง คือ งาน "ฟอร์มอภิมหาพญายักษ์" อย่าง The Perfect Strom กับงาน "ฟอร์มลูกมดตัวสุดท้อง" เป็นหนังเล็ก ๆ ไม่โด่งดัง จากประเทศออสเตรเลีย เรื่อง The Castle


ไม่ต้องทาย ไม่ต้องเดา ก็คงจะทราบชัดว่า ผมต้องเลือก The Castle แน่นอน


ผมเจอะเจอ The Castle (ชื่อไทยตั้งได้ดีมากว่า "วิมานนี้…ไม่มีวันลอย) โดยบังเอิญในร้านเช่าวิดีโอเจ้าประจำ เกือบ ๆ จะมองข้ามไม่สนใจอยู่แล้วเชียว ทั้งชื่อชั้นผู้กำกับ ทีมงาน และนักแสดงไม่เป็นที่รู้จักเลย แต่ก็มาสะดุดตรงประโยคที่ว่าหนังเรื่องนี้ "เปรียบได้กับ The Full Monty"


คนที่พูดก็ไม่ใช่ใครที่ไหนอื่นไกล นายโรเจอร์ อีเบิร์ท นักวิจารณ์ชื่อดังที่ผมติดตามเป็นแฟนห่าง ๆ ในระยะทางประมาณกรุงเทพฯ-ชิคาโก้ ผมก็เลยลองเช่าวิดีโอมาดูเป็นการพิสูจน์


ดูจบแล้วก็พบว่าสมราคาคำเอ่ยอ้างทุกประการ ท้ายสุดก็เบียดหนังประเภททุ่มทุนสร้างขว้างทุนเสี่ยงเหวี่ยงทุนเสนออย่าง The Perfect Strom หลุดวงโคจรไปจากคอลัมน์ของผมทันที


The Castle เล่าเรื่องของครอบครัวอารมณ์ดีตระกูลเคอริแกน พวกเขาปลูกบ้านใกล้สนามบินชนิดเวลาเครื่องขึ้นลงเฉียดเฉี่ยวหลังคาบ้านไปอย่างหวุดหวิด ค่อย ๆ แต่งเติมเสริมต่อทีละส่วน มีทั้งบ้านสำหรับหมาเกรย์ฮาวน์ด สวนหย่อม จนกระทั่งรูปร่างหน้าตาของบ้านจวนเจียนจะเข้าข่ายพิลึกพิลั่น แต่ความเป็นอยู่กลับอบอุ่นเป็นสุข พ่อชอบแสดงความชื่นชมและสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ฝีมือทำอาหารของแม่ พี่ชายคนรองเป็นนักประดิษฐ์ที่เก่งกาจในการคิดค้นเครื่องมือซึ่งทำหน้าที่ได้ 2 อย่างพร้อม ๆ กัน (และทำหน้าที่ได้แย่โดยเท่าเทียม) น้องสาวคนถัดมาเป็นคนเดียวในครอบครัวที่เรียนจบวิทยาลัย ลูกชายคนสุดท้องเป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวทั้งหมด


มีเพียงเวย์นพี่ชายคนโตเท่านั้นที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในบ้าน เขาติดคุกข้อหาปล้นปั๊มน้ำมัน เพราะหลงเชื่อคำชักจูงของเพื่อนนิสัยแย่ ๆ กระนั้นความสัมพันธ์ระหว่างเขากับครอบครัวก็ยังผูกพันแน่นแฟ้นไม่เสื่อมคลาย


ครอบครัวเคอริแกนพำนักอยู่ที่บ้านหลังนั้นมาเป็นเวลานาน 15 ปี และขนานนามบ้านรูปทรงพิลึก ๆ ว่า "ปราสาท" แต่แล้ววันหนึ่งเหตุการณ์ก็พลิกผันตรงข้าม


รัฐบาลมีคำสั่งเวนคืนที่ดิน เพื่อทำการขยายสนามบิน เพื่อนบ้านรายรอบมีทีท่ายอมรับเงินชดเชยและตระเตรียมอพยพโยกย้าย แต่พ่อเป็นคนเดียวที่ปักหลักยืนกรานไม่ยอมไปไหน ทั้งต่อรองโต้แย้งทุกวิถีทาง จนเรื่องบานปลายถึงขั้นต่อสู้ในชั้นศาล โดยที่พ่อไม่รู้แง่มุมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายเลยแม้แต่น้อย มิหนำซ้ำทนายความที่เลือกมาก็อ่อนหัด จนยากจะจำแนกว่าใคร "โหลยโท่ย" กว่ากัน ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามเพียบพร้อมด้วยมือดีและเงินทุน รวมทั้งแต้มต่อตามบทบัญญัติทางตัวกฎหมาย


ผลก็คือ ครอบครัวเคอริแกนและเพื่อนบ้าน (ซึ่งไม่รู้อิโหน่อิเหน่หนักข้อยิ่งกว่า) ตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้อย่างหมดรูป พวกเขาเก็บข้าวของเตรียมย้ายบ้านด้วยความปวดร้าว ไปสู่อพาร์ทเมนท์คับแคบซึ่งมีราคาพอซื้อหาได้จากจำนวนเงินชดเชยที่รัฐจ่ายให้ (พ่อถึงกับคร่ำครวญว่า รัฐยึดบ้านเพื่อเสือกไสไล่ส่งพวกเราไปอยู่รังหนู เมื่อแม่พยายามชี้แนะทางออกว่า ถ้าไม่ชอบที่คับแคบก็อาจไปเช่าบ้านที่คล้ายคลึงกับหลังเดิม พ่อถึงกับร้องลั่นว่า ยึดบ้านเรา เพื่อให้เราไปจ่ายเงินหาบ้านอยู่อีกยังงั้นหรือ?)


ร่ำ ๆ ว่าจะไร้ทางออก ครอบครัวเคอริแกนก็ได้พบกับอัศวินชราขี่ม้าขาวมาช่วย อดีตยอดทนายความที่ปลดเกษียณไปแล้ว รู้สึกถูกชะตากับอัธยาศัยของพ่อ และรับรู้เรื่องราวในคดีความที่เกิดขึ้น จึงขันอาสามารื้อฟื้นคดีอีกครั้ง


ไคลแม็กซ์ท้ายสุดของหนังคือ ฉากสู้คดีครั้งยิ่งใหญ่ (แต่ก็ดูเล็กกระทัดรัดน่าเอ็นดูมากเมื่อเทียบกับหนังประเภทขึ้นโรงขึ้นศาลของฮอลลีวู้ด) สถานการณ์ขับเคี่ยวเป็นไปอย่างสูสีคู่คี่โดยที่ครอบครัวเคอริแกนตกเป็นรองอยู่หลายช่วงตัว


ไม่ต้องกดหนึ่งเพื่อทายว่าครอบครัวเคอริแกนชนะ ไม่ต้องกดสองเพื่อทายว่ารัฐเป็นฝ่ายชนะ และไม่ต้องกดสามเพื่อทายว่าเสมอกัน ไม่ต้องทำอะไรทั้งนั้น เพราะผมกำลังจะเล่าบทสรุปที่เหลือ


ในระหว่างพักการพิจารณาคดี พ่อตกอยู่ในสภาพจิตใจย่ำแย่ จากสถานการณ์ที่กำลังเพลี่ยงพล้ำ และเจ็บร้าวปวดลึกกับถ้อยคำของทนายฝ่ายตรงข้าม ซึ่งพูดจาดูแคลนว่าบ้านของครอบครัวเคอริแกนมีสภาพ "น่าทุเรศ" จนต้องตัดพ้อระบายความในใจกับเพื่อนทนายวัยชรา


"ผมอยากพูดจาได้สละสลวยเหมือนคุณจังเลย พวกมันกล้าดียังไงนะ ถึงบังอาจมาด่าว่าบ้านเราทุเรศ มันแสดงให้เห็นเลยว่าพวกนั้นไม่เข้าใจ พวกเขาตัดสินบ้านจากรูปร่างภายหน้า ถ้ามันไม่มีสระว่ายน้ำ หน้าบ้านหรูหรา สวนใหญ่ ๆ และประตูดี ๆ ถ้าไม่มีของพวกนั้น บ้านก็ไม่มีค่าหรือไง? มันไม่ใช่แค่ที่พักกาย แต่มันเป็นที่พักใจ มันมีทุกสิ่งทุกอย่าง มีคนที่รักกันและกัน ห่วงใยกันและกัน มีความทรงจำ ความทรงจำที่ดีเยี่ยม มันเป็นที่ ๆ คนในครอบครัวจะหันหน้าไปหา กลับไปหา แต่ในสายตาของพวกคุณ ทั้งหมดนี้มันไม่มีค่าเท่าหน้าบ้านที่หรูหราใหญ่โต"


เมื่อถึงเวลาสรุปปิดคดี ถ้อยคำทั้งหมดของพ่อก็ถูกนำมาถ่ายทอดอีกครั้งโดยฝีมือของยอดทนายความ (ซึ่งแน่นอนว่าพูดข้อความเดียวกันได้ดีกว่าต้นตำรับมากมายหลายเท่า) และดึงแง่มุมเหล่านี้เข้าเชื่อมโยงกับตัวบทกฎหมายได้อย่างเฉียบคม ซาบซึ้งน่าประทับใจ และโน้มน้าวศาลให้เห็นพ้องคล้อยตาม (รวมทั้งผู้ชมที่รู้สึกเหมือนโดนของแข็งกระแทกใจจนปลื้มปิติ)


ครอบครัวเคอริแกนเป็นฝ่ายชนะในท้ายที่สุด

เนื้อเรื่องและสาระสำคัญของ The Castle นั้นเรียบง่ายตรงไปตรงมามาก แต่ฝีมือการเขียนบทก็ทำให้ดูสนุก ลึกซึ้ง และคมคายตลอดเวลา

จุดเด่นของหนังอยู่ที่การใช้เสียงบรรยายของลูกชายคนสุดท้อง ทำหน้าที่เล่าเรื่อง เป็นคำบรรยายบอกเล่าซื่อ ๆ แต่มีการรับ-ส่งกันอย่างเหมาะเจาะ ระหว่างถ้อยคำที่คนดูได้ยิน กับภาพในหนังที่เราได้เห็น ซึ่งสอดคล้องตรงกันเท่า ๆ กับที่ขัดแย้งตรงข้าม และกลายเป็นมุขตลกหน้าตาย ซึ่งอาจไม่ถึงขั้น "ขำกลิ้ง" แต่เรียกรอยยิ้มที่มุมปากได้เด็ดขาดนัก (ตรงนี้อธิบายยังไงก็นึกตามไปด้วยยาก นอกจากจะหาวิดีโอมาดูกันเอาเอง)

จุดเด่นถัดมาคือ การสร้างบุคลิกของตัวละครได้อย่างมีชีวิตชีวา แค่ไม่กี่นาทีของหนัง คนดูก็โดนโน้มน้าวให้หลงรักครอบครัวเคอริแกนจนหมดใจ พวกเขามีเสน่ห์ล้นเหลือบนพื้นฐานของความเรียบง่าย ซื่อ ใส จริงใจ และมองโลกในแง่ดี

พูดตามตรง The Castle เป็นแค่หนังในระดับดี ไม่ได้เลอเลิศสุดยอด แต่ในแง่ของการให้ความรู้สึกที่ดีแก่ผู้ชม นี่คืองานที่กล่าวได้ว่า ไม่เป็นรอง "หนังในดวงใจ" ของใครหลาย ๆ คนอย่าง Local Hero, The Englighmen Who Went Up a Hill but Came Down a Mountain

ผมรักหนังเล็ก ๆ ไร้อันดับเรื่องนี้เหลือเกิน ขอแนะนำให้รีบหามาดูเลยครับ รับประกันความพึงพอใจ (อันนี้ติดมาจากโฆษณาขายของทางโทรทัศน์) ถ้าไม่ดีจริง ยินดีให้ตัดพ้อต่อว่านายโรเจอร์ อีเบิร์ท ได้ตามใจชอบ

ถ้าดูแล้วถูกอกถูกใจ ผมยินดีรับความดีความชอบแต่เพียงผู้เดียว





(บทความชิ้นนี้ เป็นงานเก่าที่เขียนลงคอลัมน์ภาพยนตร์ ในผู้จัดการรายวัน เมื่อประมาณ 7-8 ปีที่แล้ว และเป็นหนึ่งในต้นฉบับจำนวนไม่มากนัก ที่กู้ไฟล์กลับมาได้ เมื่อครั้งคอมพิวเตอร์เครื่องเก่าของผมเจ๊ง)

วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2551

ผู้ดีตกสวรรค์ โดย "นรา"


ในบรรดาผลงานทั้งหมดของสแตนลีย์ คิวบริค ผมชื่นชอบประทับใจเรื่อง Barry Lyndon มากสุด ด้วยเหตุผลง่าย ๆ คือ เป็นหนังพีเรียดย้อนยุคที่สวยประณีตน่าตื่นตาราวกับภาพเขียนโบราณ รวมทั้งเค้าโครงที่ดูสนุกครบถ้วนทุกรส

Barry Lyndon ดัดแปลงจากนิยายอมตะเรื่อง The Luck of Barry Lyndon (ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 1844) ผลงานของวิลเลียม เมคพีซ แท็คเคอเรย์ นักเขียนคนสำคัญในแวดวงวรรณกรรมอังกฤษช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งถนัดสันทัดในการเสียดสีความเหลวไหล, ฟุ้งเฟ้อ, จอมปลอมของสังคมชนชนชั้นสูงได้อย่างเฉียบแหลมคมคายและครื้นเครง (นิยายชิ้นเอกอีกเรื่องของแท็คเคอเรย์ที่ได้รับการยกย่องมากคือ Vanity Fair ซึ่งก็มีการนำมาสร้างเป็นหนังเหมือนกัน)

Barry Lyndon เป็นตัวอย่างชั้นดีของวรรณกรรมในแบบที่เรียกกันว่า Picaresque Novel ซึ่งหมายถึง นิยายที่เสนอเรื่องราวการผจญภัยในชีวิตของตัวเอกจำพวกขี้ฉ้อ คดโกง กะล่อน ฉลาดในการเอาตัวรอด มีข้อบกพร่องหลายอย่าง (แต่ไม่ใช่คนเลวร้ายถึงรากลึก ยังมีด้านดีงามบางอย่างตลอดจนเสน่ห์ในตัวที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกเอาใจช่วย) และใช้คุณสมบัติด้านลบต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นเครื่องมือในการเลื่อนฐานะตนเองจนมีหน้ามีตาในสังคม (เช่น แต่งงานกับลูกสาวเศรษฐี หรือได้รับมรดกโดยไม่คาดหมาย)

จุดใหญ่ใจความของ Picaresque Novel ก็คือ การพรรณนารายละเอียดที่สมจริงเกี่ยวกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของตัวละคร, เหตุการณ์โลดโผนสารพัดที่หนุนส่งให้ตัวเอก ไต่เต้าจากระดับล่างสู่เบื้องบน และจากจุดสูงสุดเสื่อมถอยสู่ความตกต่ำ, การสอดแทรกทัศนะ สำนวนโวหารในเชิงเปรียบเปรยประชดประชันของผู้เขียน เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ชี้ให้เห็นความผิดเพี้ยนบกพร่องในสังคม รวมทั้งองค์ประกอบสำคัญที่ขาดเสียไม่ได้อย่างอารมณ์ขัน

Picaresque Novel ถือกำเนิดขึ้นในสเปน และได้รับความนิยมแพร่หลายทั่วยุโรปราว ๆ ช่วงศตวรรษที่ 17 และ 18 รวมทั้งมีอิทธิพลสืบเนื่องมาถึงวรรณกรรมร่วมสมัยในปัจจุบันอีกเป็นจำนวนมาก

เรื่องราวโดยรวบรัดของ Barry Lyndon กล่าวถึงชีวิตระหกระเหินของเด็กหนุ่มชาวไอริชฐานะยากจนชื่อเรดมอนด์ แบร์รี ซึ่งต้องหลบหนีจากบ้านเกิด เพราะเหตุทะเลาะวิวาทกับนายทหารชาวอังกฤษ ด้วยสาเหตุหึงหวงชอบผู้หญิงคนเดียวกัน จากนั้นระหว่างเดินทางเด็กหนุ่มก็โดนปล้นจนหมดเนื้อหมดตัว ต้องจำยอมสมัครเป็นทหารเข้าร่วมรบ “สงคราม 7 ปี” ในยุโรป (เกิดขึ้นเมื่อปี 1756-1763 เป็นความขัดแย้งระหว่างปรัสเซีย ซึ่งมีอังกฤษสนับสนุน กับอีกฝ่ายคือ ฝรั่งเศส ออสเตรีย และรัสเซีย เพื่อช่วงชิงความเป็นใหญ่เหนือดินแดนแถบทวีปอเมริกาเหนือและอินเดีย ผลสุดท้ายปรัสเซียและอังกฤษเป็นฝ่ายชนะ)

ระหว่างสงคราม แบร์รีตัดสินใจเป็นทหารหนีทัพ แต่แล้วก็โดนจับตัวได้ และเผชิญกับสภาพยากลำบากยิ่งกว่าเดิมในกองทัพปรัสเซีย เมื่อศึกสงบลง วีรกรรมที่เคยช่วยผู้บังคับบัญชาระหว่างการสู้รบ ทำให้เขาถูกส่งตัวไปเป็นคนรับใช้ของผู้ดีเชื้อสายไอริชชื่อเชวาลิเยร์ เดอ บาลิบารี เพื่อปฏิบัติการสอดแนมล้วงความลับ ทว่าแบร์รีกลับเปิดเผยความจริง จนกลายเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจจากเจ้านายคนใหม่ ทั้งคู่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จนกระทั่งรอดพ้นเงื้อมมือคู่อริ จากนั้นก็รอนแรมผจญภัยไปทั่ว ด้วยการเดินสายเล่นพนันเอาชนะบรรดาขุนนางและชนชั้นสูง

แบร์รีแปรเปลี่ยนตนเองจากเด็กหนุ่มอ่อนโลก กลายเป็นนักพนันผู้เจนจัดเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว และก้าวไปถึงฝั่งฝันเมื่อสามารถเอาชนะใจภรรยาสาวของเซอร์ชาร์ลส์ ลินดอน กระทั่งส่งผลให้ขุนนางชราที่ป่วยอยู่ก่อนด้วยสารพัดโรคเบียดเบียนรุมเร้า คลั่งแค้นจนหัวใจวายเสียชีวิต

ท้ายที่สุดเรดมอนด์ แบร์รีเข้าพิธีแต่งงานกับเลดี ลินดอน และเปลี่ยนคำเรียกขานตนเองมาเป็นแบร์รี ลินดอน

เหตุการณ์ในครึ่งถัดมา แสดงให้เห็นถึงภาพตรงกันข้าม นั่นคือ ความตกต่ำเสื่อมถอยจนต้องหวนกลับไปสู่จุดเดิมที่ยากไร้ หลังการแต่งงาน แบร์รีปฏิบัติตัวอย่างเลวร้ายกับภรรยา ถือเสมือนว่าเธอเป็นเพียงวัตถุทางเพศ ทั้งทำตัวเจ้าชู้เหลวแหลกนอกใจ ใช้จ่ายหรูหราฟุ้งเฟ้อ พยายามวิ่งเต้นติดสินบนเพื่อให้ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นขุนนางชั้นสูง แต่ที่หนักหนาสาหัสสุดได้แก่ การกดขี่ข่มเหงลูกเลี้ยงอย่างโหดร้าย

ในท่ามกลางนิสัยเลวร้ายสารพัด แบร์รี ลินดอนมีคุณงามความดีเพียงประการเดียวคือ เขาทำตัวเป็นพ่อที่ดี นุ่มนวลอ่อนโยน และรักลูกชายชื่อไบรอันที่เกิดกับเลดี ลินดอนอย่างจริงใจ

เรื่องราวสรุปลงเอยลงด้วยการที่แบร์รี ลินดอน เผชิญกับสภาพเวรกรรมตามสนอง ไบรอันลูกชายผู้เป็นเสมือนชีวิตจิตใจ ประสบอุบัติเหตุตกม้า (ซึ่งแบร์รีซื้อให้เป็นของขวัญวันเกิด) กระทั่งจากไปก่อนวัยอันควร, ความโหดร้ายที่เขากระทำต่อลูกเลี้ยง ส่งผลให้แวดวงผู้ดีคนที่เคยคบหา พากันรังเกียจตีตัวออกห่าง, หนี้สินต่าง ๆ ที่ก่อไว้เริ่มย้อนคืนมารุมเร้าเล่นงาน, ลูกเลี้ยงคู่อริเติบโตเป็นหนุ่ม เดินทางกลับมาท้าดวล ผลก็คือ แบร์รีถูกยิงที่ขา จนกลายเป็นคนพิการ

จากเด็กหนุ่มที่ไม่มีอะไร กลายมาเป็นเศรษฐีร่ำรวยเหลือกินเหลือใช้ ในบั้นปลายชีวิตแบร์รี ลินดอนก็ร่วงหล่นตกสวรรค์กลับมาเป็นเรดมอนด์ แบร์รีผู้ไร้ทรัพย์คนเดิม และต้องอพยพโยกย้ายออกจากสังคมชั้นสูงในอังกฤษ คืนสู่ชนบทในหมู่บ้านแบร์รีวิลด้วยสภาพตกอับเหมือนเมื่อคราวแรกเริ่ม

มีข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่างหนังกับนิยาย ในเรื่องเดิมนั้นเหตุการณ์ทั้งหมดเล่าผ่านมุมมองของแบร์รี และมีอารมณ์โดยรวมขบขันหรรษามากกว่า (โดยเฉพาะรายละเอียดในช่วงที่แบร์รี พยายามเรียนรู้ธรรมเนียมปฏิบัติต่าง ๆ ในการเข้าสู่สังคมผู้ดี ด้วยวิธีใช้เงินหว่านโปรยอย่างหน้ามืดตามัว เพื่อยกระดับตนเอง) ขณะที่หนังโดยฝีมือการเขียนบทและกำกับของสแตนลีย์ คิวบริค เล่าผ่านมุมมองของเสียงบรรยาย (ซึ่งผู้ชมไม่รู้ว่าเป็นใคร) น้ำหนักการเสียดสีต่าง ๆ ไม่ได้สะท้านผ่านภาพหรือเหตุการณ์ที่แบร์รีนำพาผู้ชมไปสัมผัสโดยตรง-ดังที่ปรากฎในตัวเรื่องเดิม-แต่บอกเล่าผ่านเสียงบรรยายที่จงใจยั่วล้อและขัดแย้งกับภาพที่เห็น

ประการสำคัญคือ แม้จะยังคงรักษาท่วงทีเสียดสีวิพากษ์วิจารณ์เอาไว้ ทว่าอารมณ์โดยรวมของหนังก็โน้มเอียงไปทางโศกนาฎกรรมที่เศร้าสะเทือนใจมากกว่า

ความสนุกของหนังเรื่อง Barry Lyndon อยู่ที่วิธีการเล่าเรื่องด้วยจังหวะลีลาค่อยเป็นค่อยไป แต่ละฉากแต่ละตอนดำเนินอย่างเนิบช้า ทว่าความคืบหน้าของเหตุการณ์กลับรวดเร็ว (อธิบายง่าย ๆ ก็คือ เมื่อคิวบริคเล่าแต่ละฉาก เขาจำแนกแจกแจงทุกสิ่งโดยถี่ถ้วน ทั้งบรรยากาศและรายละเอียดต่าง ๆ จากนั้นก็ตัดสู่อีกฉากที่เวลาผ่านพ้นไปแล้วนานพอสมควร) บวกรวมกับการเชื่อมร้อยรวบรัดด้วยเสียงบรรยายแทรกมาเป็นระยะ ๆ ซึ่งไม่เพียงแต่จะคอยสรุปเล่าเรื่อง, อธิบายขยายความเพื่อให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจอันกระจ่างเท่านั้น ทว่าเสียงบรรยายยังเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความบันเทิง (โดยเฉพาะการทำหน้าที่ในด้านอารมณ์ขัน)

ผนวกรวมกับเหตุการณ์โลดโผนยอกย้อนพลิกผันไปมาอยู่ตลอดเวลา เรื่องราวของแบร์รี ลินดอนที่เล่าอย่างเนิบนิ่ง ก็กลายเป็นการผจญภัยที่สะกดตรึงผู้ชมได้ชวนติดตามอย่างยิ่ง

องค์ประกอบสำคัญที่ยอดเยี่ยมไม่แพ้เนื้อเรื่องและวิธีบอกเล่าก็คือ ความประณีตพิถีพิถันของงานสร้างทั้งหมด เช่น เสื้อผ้า, ฉากหลัง, การแต่งหน้า-ทำผม, ดนตรีประกอบสำเนียงไอริชจากการบรรเลงของวงเดอะ ชิฟเทนที่ไพเราะหวานเศร้า, โลเคชันที่ใช้ในการถ่ายทำ โดยเฉพาะฝีมือการกำกับภาพของจอห์น วัลคอตต์ที่เข้าขั้น “สวยจับใจ” ทุกฉากทุกตอน

ความวิเศษพิศดารของ Barry Lyndon อยู่ตรงนี้ล่ะครับ คือ มันเป็นหนังพีเรียดย้อนยุคที่ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่ากำลังดูหนัง “อลังการงานสร้าง” แต่สามารถโน้มน้าวให้ผู้ชมเกิดความเชื่อและยอมรับว่า สิ่งต่าง ๆ ที่เห็นนั้น เป็นภาพในอดีตที่เหมือนและเต็มไปด้วยความสมจริง

พูดให้ล้นเกินสักหน่อย อาจกล่าวได้ว่า สแตนลีย์ คิวบริคทำให้หนังมีบรรยากาศย้อนยุค จนแทบสัมผัสได้ถึงกลิ่นต่าง ๆ ความอ่อนนุ่มเรียบลื่นของผืนผ้าอาภรณ์ที่ตัวละครสวมใส่ รวมถึงร่องรอยขรุขระหยาบแข็งของสารพัดวัตถุ รวมถึงความหนาวชื้นของดินฟ้าอากาศ ฯลฯ

เขียนไปแล้วก็เหมือนโม้และเพ้อเจ้อนะครับ แต่ผมรู้สึกเช่นนี้จริง ๆ ในระหว่างดู
(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ Playtime นิตยสาร Filmmax และแก้ไขขัดเกลาเพิ่มเติม 11 กันยายน 2551)

วันพุธที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2551

เที่ยวเมืองนอกโดยไม่ต้องออกจากประเทศ โดย "นรา"


เมื่อเร็ว ๆ นี้ผมเกิดอาการ “ชีพจรลงเท้า” ทั้ง 2 ข้าง เป็นเม็ดตุ่มเล็ก ๆ สีแดงขึ้นเต็มไปหมด และมีอาการคันอย่างยิ่ง จนทำให้ผมตัดสินใจได้ว่า ถึงเวลาจะต้องออกเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศสักที (ข้อพิสูจน์อีกอย่างคือ ผมส่องกระจกดูหน้าตัวเองแล้วก็พบว่า มันซีดเซียวเหี่ยวเฉา ใกล้เคียงกับรูปถ่ายในบัตรประชาชนเข้าไปทุกที)

พรรคพวกเพื่อนฝูงหลายคนเข้ามาด้อม ๆ มอง ๆ ดูบริเวณ “ที่เกิดเหตุ” ของผม แล้วก็สรุปวินิจฉัยว่า ไม่ใช่ “ชีพจรลงเท้า” หรอก แต่เป็นเชื้อรา วิธีบำบัดรักษาก็คือ “มึงไปซื้อยามาทาซะ แล้วก็อย่าฟุ้งซ่านให้มากนัก”

ด้วยความรักเพื่อน ผมก็เลยทำตัวเป็นเด็กอยู่ในโอวาท เชื่อฟังทุกอย่าง ยอมถอยสองก้าวเข้าร้านขายยา และบำบัดรักษาจนกระทั่งอาการคันที่เท้ากับเม็ดตุ่มเล็ก ๆ สีแดงเหล่านั้นหายสนิทเด็ดขาด แต่อาการคันอยากเที่ยวก็ดูเหมือนจะไม่มีวี่แววทุเลาเบาบางลง

ในหัวของผมคล้ายเหมือนมีเสียงฝูงชนมาคอยตะโกนเรียกชื่อ จากนั้นก็สลับด้วยเสียงอื้ออึงหนักแน่นว่า “ออกไป!”

เสียงตะโกนดังกล่าว รบกวนความรู้สึกของผมเป็นอย่างยิ่ง จนไม่อาจทนนิ่งดูดายเพิกเฉย ต้องลงมือเดินเท้าไปท่องเที่ยวให้ได้ แม้ว่า “ชีพจร” หรือ “เชื้อรา” จะไม่ลงเท้าแล้วก็ตาม (ถึงตรงนี้ ผมรู้สึกว่าต่อมจริยธรรมในตัวมีปริมาณเพิ่มขึ้นเล็กน้อย)

ผมนั่งนับเงินทั้งหมดที่มีอยู่ในกระเป๋าตังค์ รวมจำนวนได้ทั้งสิ้น 280 บาท แต่ความอยากที่จะเดินทางท่องเที่ยว กลับสวนทางกันในอัตราแลกเปลี่ยน 1 ต่อ 1000 คือ อยากไปไกล ๆ หรู ๆ ประมาณเที่ยวยุโรป 10 วัน 3 ประเทศ รวมอาหารที่พักและช็อปปิ้งเสร็จสรรพ

ผมจึงวางแผนคิดหาวิธีต่าง ๆ นานา การไปเที่ยวเมืองนอกในสภาพยากจนอย่างง่ายสุด เท่าที่ผมนึกออกก็คือ ไปแบบมีเจ้าภาพเชื้อเชิญเสร็จสรรพรับภาระเลี้ยงดูตลอดรายการ

ว่าแล้วผมก็จัดกระเป๋าเก็บเสื้อผ้าข้าวของ อาบน้ำประแป้งแต่งตัวรอ แต่แผนดังกล่าวก็ล้มเหลว เวลาผ่านไปอีกหลายปี (นับจากเมื่อสักครู่ อันนี้ผมนับเผื่อรวมอนาคตข้างหน้าไว้ด้วย ผมเป็นพวกเชื่อและโน้มเอียงไปทางอ้างเหตุผลในปริมาณตัวเลขเยอะ ๆ นะครับ) โดยไม่มีใครมาเชิญชวนทาบทามหรือแม้แต่ทักทาย (ยกเว้นพนักงานในร้านสะดวกซื้อ) ทำให้ผมได้รับแง่คิดบทเรียนเพิ่มเติมว่า การจะได้รับเชิญไปต่างประเทศนั้น ควรมีเหตุปัจจัยอื่น ๆ ที่ต้องลงทุนลงแรงมากกว่าแค่รอให้ “ส้มหล่น” หรือ “หมูหก” เฉย ๆ

ผมจึงต้องงัดแผนสองมาใช้ คือ ไปสมัครทำงานเป็นสจ๊วร์ตสายการบิน แต่เมื่อทบทวนดูคุณสมบัติต่าง ๆ แล้ว ผมสอบตกตอบผิดหมดทุกข้อไม่ควอลิฟาย (แถมยังรู้สึกว่าตัวเองควาย ๆ ยังไงก็ไม่รู้) ตั้งแต่ส่วนสูง ความรู้ทางด้านภาษาอังกฤษ เรื่อยไปจนถึงทัศนคติทางด้านงานบริการ (ซึ่งผมนั้นยึดคติว่า “ลูกค้าเป็นฝ่ายผิดเสมอ”) และเชื่อว่าความคิดแบบผม “ใคร ๆ เขาก็ทำกัน” แต่คนเราไม่ควรจะท้อแท้สิ้นหวังโดยง่าย และควรจะมีความใฝ่ฝันอันแรงกล้าใช่มั้ยครับ?

ผมเองก็แอบฝันเล็ก ๆ (แต่ละโมบโลภมาก) อยู่ว่า อยากแต่งงานกับแอร์โฮสเตส เพื่อจะได้ขึ้นเครื่องบินฟรีโดยไม่โดนถีบตกลงมา

จนแล้วจนรอดถึงบัดนี้ อย่าว่าแต่จะมีแฟนเป็นแอร์เลยครับ แค่รู้จักสักคนก็ยังควานหาไม่เจอ ที่เคยพบอยู่บ้างก็มีแต่ “กระเป๋ารถแอร์”

ร่ำ ๆ ว่าจะถอดใจยอมแพ้ ล้มเลิกความใฝ่ฝัน ลาออกจากตำแหน่งนายก ฯ โดยไม่ต้องรอให้มีม็อบมาไล่อยู่แล้วเชียว แต่มาติดขัดตรงที่เพิ่งนึกขึ้นได้ว่า “กูยังไม่ได้เป็นนายก ฯ เลยครับ” ที่สำคัญ ผมไม่อยากทำให้เสียงสนับสนุน 19 ล้านเสียงผิดหวัง (ซึ่งก็คือตัวผมเองนั่นแหละ นับซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ ประเดี๋ยวก็ครบเอง) ผมจึงต้องประคับประคองความอยากของตัวเองต่อไป

แผนถัดมาคือ ส่งไปรษณียบัตรลุ้นชิงโชค แต่วิธีนี้ก็เสี่ยงอีก มีโอกาสน้อยมาก (ซึ่งผมชักเริ่มจะไม่แน่ใจว่า จริง ๆ แล้ว มัน “น้อย” หรือ “มาก” กันแน่) เนื่องจากมีคู่แข่งจำนวนมหาศาล มิหนำซ้ำดวงทางด้านนี้ของผมยังเข้าขั้น “อาภัพเพียบ” คือ นอกจากจะแย่จะเฉาเข้าขั้นอุดมสมบูรณ์แล้ว ยังแย่แบบสุภาพเรียบร้อยเปี่ยมด้วยคุณสมบัติผู้ดีมีกิริยามารยาทอันงามอีกต่างหาก แล้วจะไปหือไปเบียดไปแข่งไปแย่งไปยื้อกับใครไหว?

อะไรไม่ร้ายเท่า ไปรษณีย์บัตรทายผลชิงโชคที่ผมเคยลองส่ง ๆ ไปบ้าง มักจะไม่ถึงปลายทาง แต่ดันหลบเลี้ยวเฉไฉสู่ตู้ป.ณ. 888 ทำเนียบรัฐบาล กรณีนี้เสียของทั้งขึ้นทั้งล่อง อดชิงโชคและอดเชียร์นายก ฯ ไปในคราวเดียวกันแบบครึ่งควบลูก (แย่ ครับ แย่)

ผมนั่งกลุ้มกุมหัวด้วยความระทมขมองอยู่นาน ในที่สุดก็บรรลุหลักการสำคัญของการท่องเที่ยวจนได้ กล่าวคือ เมื่อสภาพความพร้อมทั้งหมดไม่เอื้ออำนวยให้เที่ยวเมืองนอกแบบตรงไปตรงมาได้เลย ก็ต้องแก้ลำด้วยการปลอมตัวเป็นชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวเมืองไทยซะเลย

สารรูปของผมนั้นทำได้ไม่ยากครับ ถึงแม้จะร่ำลือกันเยอะเหลือเกิน ว่าหน้าตาของผมเหมือนคุณชูวิทย์ แต่บ่อยครั้งเวลาไปไหนมาไหน มักจะมีคนไทยด้วยกันทักทายพูดคุยกับผมเป็นภาษาอังกฤษ เพราะความเข้าใจผิด เนื่องจากใบหน้าผมถือพาสปอร์ตหลายสัญชาติ เป็นได้ทั้งไทย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และฮ่องกง

ปัญหายุ่งยากน่าหนักใจอยู่ที่ว่า ผมควรจะเลือกปลอมเป็นคนชาติใด บอกตรง ๆ ว่าผมรักพี่เสียดายน้อย รักคนสุดท้อง เสียดายคนกลางและคนโต ทั้งจีน เกาหลี ญี่ปุ่น และฮ่องกง ผมชอบหมดเลย

หมายถึงนางเอกในหนังจากประเทศเหล่านี้นะครับ น่ารักทุกคน ขอยืนยันในระยะเวลาอันยืนยาว

เรื่องนี้จึงต้องตัดสินกันด้วยรูปถ่าย (ของนางเอกทั้งหลาย) ผมเลือกปลอมเป็นคนฮ่องกง เพราะพอจะรู้ศัพท์ภาษากวางตุ้งอยู่บ้าง ไม่เยอะนัก แค่ “สิว ๆ” (แปลว่าเล็กน้อย)

ผมชอบภาษากวางตุ้งนะครับ มีหลาย ๆ คำออกเสียงตรงกับภาษาไทย (แต่ความหมายแตกต่าง) และกลายเป็นตลกปนทะลึ่งไปได้อย่างน่าทึ่ง เช่น “ไต่หอย” แปลว่า มหาสมุทร “สับยัด” แปลว่า สิบเอ็ด “โจ๋วสั่น” แปลว่า อรุณสวัสดิ์ “อึ๋มชัด ๆ” หมายถึงตัวเลขห้าเจ็ดเจ็ด “ติ๋มไก๋” แปลว่า ทำไม “เส็กฝ่าน” แปลว่า กินข้าว “โหวเส็ก” แปลว่าอร่อย (ดังนั้น “เทมาเส็ก” จึงอาจแปลได้ว่า “เทมาแดก”) ฯลฯ

มันตรงกับนิสัย ถูกจริต จนเป็นเหตุปัจจัยให้สามารถเรียนรู้ได้ง่ายและดีกว่าภาษาอื่น รวมความแล้วผมก็พอจะแกล้งปลอมตัวพูดสำเนียงกวางตุ้งแบบมั่ว ๆ ได้แนบเนียนจนตัวผมเองเชื่อสนิท

แผนขั้นถัดไปจากนั้นก็คือ คว้ากระเป๋าก้าวออกจากบ้านตรงไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อให้รู้ว่ายังไม่เปิดใช้บริการ (อันนี้ผมสมมติตัวเป็นชาวต่างชาติที่ไม่ค่อยรู้เรื่องข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเมืองไทย ละเอียดรอบคอบดีมั้ยครับ?) แล้วค่อยย้อนกลับมาดอนเมือง

ถึงดอนเมืองปุ๊บ ผมก็แกล้ง ๆ ไปมั่วนิ่มปนเปกับผู้โดยสารขาเข้าชาวต่างชาติที่เพิ่งเดินมาถึง เดินตีหน้างง ๆ เหรอหราให้สมกับเป็นนักท่องเที่ยวอ่อนหัด ขาดประสบการณ์ และพร้อมจะโดนโขกราคาได้ทุกเมื่อ (หมายเหตุ ควรจะมีแผนที่เป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก ถ้ามีกล้องถ่ายรูปสะพายคล้องคอได้ด้วยยิ่งเจ๋ง)

ผมแกล้งทำเป็นพูดอังกฤษไม่ได้ และคุยกับแท็กซี่ไม่รู้เรื่อง จากนั้นก็คอยชำเลืองมองดูว่าป้ายจอดรถ Air Bus ราคาประหยัดที่จะผ่านแถว ๆ ถนนข้าวสารอยู่ตรงไหน เมื่อเจอแล้วก็รีบโบกไม้โบกมือปฏิเสธ พร้อมกับพูดเป็นสำเนียงกวางตุ้งว่า “โหมวอา” (เทคนิคในการออกเสียงให้ฟังดูคล้ายคนฮ่องกงก็คือ ไม่ว่าคุณจะพูดอะไรก็ตาม พยายามลงท้ายด้วยคำว่า “อาาาาา” ลากเสียงยาว ๆ ไว้ก่อน จะดูดีไปเองงงงง ขอโทษครับ ติดพันไปหน่อย)

จากนั้นผมก็นั่ง Air Bus เข้าเมือง ต้องเลือกที่นั่งให้ติดหน้าต่าง เพื่อดูวิวสองข้างทาง พร้อม ๆ กับทำหน้าตื่นเต้นด้วยความรู้สึกเหมือนเจอประสบการณ์แปลกใหม่ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนไม่เคยพบเห็นมาก่อน อันนี้ทำได้ง่ายมาก ไม่ต้องใช้จินตนาการสมมติอะไรให้ลึกซึ้ง เพราะกรุงเทพฯ เป็นคล้าย ๆ เมืองที่สร้างไม่เสร็จ มีการต่อเติมสร้างตึก ขุดถนน ตัดถนน เปลี่ยนช่องทางการจราจร รื้อโน่น ทุบนี่ อยู่ตลอดเวลา ทุกครั้งเมื่อออกนอกเส้นทางที่ใช้อยู่เป็นประจำ ผมก็มักจะรู้สึกเหมือนเพิ่งเคยมาแถวนี้เป็นครั้งแรก และจดจำสภาพดั้งเดิมก่อนหน้าไม่ได้เลย

ถึงถนนข้าวสาร ผมก็เดินโต๋เต๋นั่งร้านกาแฟ กินก๋วยเตี๋ยวผัดไทยจากรถเข็นข้างทาง เสร็จแล้วก็ไปวัดพระแก้ว ตอนซื้อบัตรผ่านประตู ต้องไม่เผลอตัวจ่ายราคาคนไทยนะครับ ข้อควรระมัดระวังอีกอย่างคือ เนื่องจากนักท่องเที่ยวเยอะ หลากหลายเชื้อชาติ ผมจึงไม่ควรเดินเฉียดเข้าใกล้ชาวฮ่องกง เพราะอาจมีพิรุธโดนจับได้ ต้องพยายามอยู่ใกล้ ๆ ฝรั่งเข้าไว้ ปลอดภัยกว่า เพราะเท่าที่นึกออก นอกจากคุณพี่คริสโตเฟอร์ ดอยล์แล้ว ผมก็ยังไม่เคยเจอฝรั่งคนไหนพูดกวางตุ้งได้คล่องอีกเลย

จริง ๆ แล้วถ้าจะให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น ผมควรจะไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์แห่งชาติมากกว่า เนื่องจากมีคนไทยมาเที่ยวกันน้อย โอกาสที่ผมจะเจอะเจอคนรู้จัก หรือมีคนไทยด้วยกันมาทำให้ผมเผลอตัวหลุดพูดไทย ย่อมจะเป็นไปได้ยาก ชาวต่างชาติก็เหมือนกัน ส่วนใหญ่จะเป็นพวกที่สนใจทางด้านศิลปวัฒนธรรม มากกว่ายกโขยงมาเป็นกรุ๊ปทัวร์หมู่คณะ ความเป็นไปได้ที่ผมจะเจอชาวฮ่องกงจึงมีไม่มาก

อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้แวะไปที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ เนื่องจากครั้งหลังสุดที่เคยไปเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ผมรู้สึกเหงาอ้างว้างเคว้งคว้างเปล่าเปลี่ยวอย่างบอกไม่ถูก มีคนมาเยี่ยมชมกันโหรงเหรง ของสำคัญของมีค่าและงานศิลปะชั้นเยี่ยม จัดแสดงแบบเสียไม่ค่อยสมราคาสมฐานะความสำคัญ ปราศจากความมีชีวิตชีวา ไม่มีข้อมูลที่ทำให้เกิดความซาบซึ้งเข้าอกเข้าใจมากยิ่งขึ้น แต่ละห้องมีเจ้าหน้าที่แต่งชุดข้าราชการ นั่งเฝ้าอย่างสงบนิ่งเนิบเนือย (จนผมรู้สึกว่าบรรดาเจ้าหน้าที่ดูกลมกลืนกับสิ่งที่จัดแสดงเหลือเกิน)

ในฐานะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ผมอยากเจอะเจอความมีชีวิตชีวา ความคึกคัก ความเบิกบานสำราญใจมากกว่า ยังไม่พร้อมนะครับที่จะเผชิญกับสิ่งที่ชวนให้หดหู่ท้อถอยสิ้นหวังวังเวงโหวงเหวงในหัวอก เพราะถ้าต้องการอะไรทำนองนี้ แค่ผมนอนเล่นอยู่บ้านเปิดโทรทัศน์ก็สามารถได้รับความรู้สึกเดียวกันฉับพลันทันที โดยไม่ต้องเหนื่อยยากลำบากกาย และไม่ต้องลงทุนลงแรงอันใดทั้งสิ้น

ยิ่งพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ หอศิลปเจ้าฟ้า ยิ่งไม่ต้องพูดถึง คนที่มาเยี่ยมชมรวม ๆ แล้วอาจน้อยกว่าจำนวนเจ้าหน้าที่เสียด้วยซ้ำ บวกรวมกับบรรยากาศเก่า ๆ วังเวง เงียบเชียบ แสงทึม ๆ สลัว ๆ คนขวัญอ่อนอย่างผมอาจเกิดอาการอกสั่นขวัญหายตกใจกลัวเอาได้ง่าย ๆ ไม่ไหวครับ เป็นการท่องเที่ยวที่ตื่นเต้นเร้าใจผจญภัยเยอะเกินไป

เที่ยววัดพระแก้วเสร็จ ผมก็เลยตัดสินใจไปห้างสรรพสินค้าเปิดใหม่ที่ยิ่งใหญ่สุดในแถบประเทศแถวนี้ (แห่งเดียวกับที่เมื่อหลายเดือนก่อน บ่อน้ำตรงชั้นพักบันไดด้านนอกอันหรูหราอลังการ สาดกระเซ็นใส่เท้าผม จน “ชีพจร” หรือ “เชื้อรา” ลงเท้า) สิ่งที่ทำให้ผมชอบมากและคิดว่าที่นี่เหมาะกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอย่างผมก็คือ อากาศ

เมืองไทยนี่ร้อนไปหน่อย ดังนั้นเมื่อเดินเข้าไปในห้างสรรพสินค้าอันโอ่อ่ากว้างใหญ่ ใหญ่จนเพื่อนบ้านสมมติของผมที่จิมซาจุ่ย ซึ่งเคยเตือนผมไว้แล้วว่า “เวลาเอ็งไปเที่ยวที่นั่น อย่าลืมพกเสบียงอาหารน้ำดื่มติดตัวไปด้วย เผื่อหลงทางและติดอยู่ในนั้นจะได้ไม่อดตาย” (ไอ้เพื่อนคนนั้นที่ผมสมมติขึ้น มันเองก็ไม่เคยมาเที่ยวที่นี่หรอกนะครับ ถึงได้เซ่อจนไม่รู้ว่า มีร้านอาหารเยอะแยะไปหมดจนสามารถเลี้ยงปากท้องประชากรให้อิ่มหนำได้นับหมื่นชีวิต) สิ่งที่สร้างความประทับใจผ่านสัมผัสวูบแรกเลยก็คือ ไอเย็นฉ่ำจากเครื่องปรับอากาศ ในระดับอุณหภูมิที่ปรับไว้อย่างเหมาะสมสำหรับคนเมืองหนาว ยอดเยี่ยมจริง ๆ เลยจอร์จและซาราห์บวกอาก๊ำ (ต้องอุทานเป็นสำเนียงกวางตุ้งว่า “โหวอาาา” ด้วยครับ)

ความใหญ่โตมโหฬารของสถานที่ บวกกับแอร์เย็นระดับเกินหนาวไปหลายองศา ยังไม่เท่าไหร่นะครับ ที่น่าทึ่งกว่านั้นก็คือ มันเป็นการติดตั้งเครื่องปรับอากาศให้แก่พื้นที่ว่างมากมาย (ตรรกะง่าย ๆ ครับ คือ ห้างใหญ่มากจนมีบางบริเวณที่นักท่องเที่ยวและลูกค้ายังสำรวจมาไม่ถึง) ที่ชวนให้ตื่นเต้นเร้าใจเหมือนได้เยี่ยมชมที่ราบกว้างขวางเวิ้งว้างสุดลูกหูลูกตาในทวีปยุโรป (ซึ่งผมไม่เคยไปหรอกครับ เคยเห็นแต่ในหนัง)

สิ่งมหัศจรรย์ต่อมาคือ ผมไม่เคยรู้มาก่อนเลย (เฉพาะตอนที่ปลอมตัวเป็นชาวฮ่องกงเท่านั้น) ว่า คนกรุงเทพฯ นั้น จะมีฐานะชีวิตความเป็นอยู่เลิศหรูอลังการดาวล้านดวงถึงเพียงนี้ ทีแรกผมนึกว่าเป็นแสงวูบวาบจากดิสโกเธค แต่ที่ไหนได้นั่นเป็นประกายแสงระยิบระยับจากเพชรพลอยอัญมณี ซึ่งบรรดาแขกผู้มีเกียรติสวมประดับมาร่วมงานเลี้ยงเปิดตัวร้านค้าแบรนด์เนมหรูหราในห้างนะครับ

ดูอยู่นานจนตาเกือบบอดเชียว และเพลินอยู่นานจนดึกดื่นมืดค่ำ ผมก็ได้เวลาต้องกลับบ้านโดยไม่ต้องออกนอกประเทศ แปลงกายกลับมาเป็นมนุษย์ไร้สาระวีหนึ่งตามปกติ แต่ผมตั้งใจไว้แล้วว่า พรุ่งนี้จะปลอมตัวเป็นนักท่องเที่ยวอีก

บนสถานีรถไฟฟ้า ผมเจอเพื่อนซี้คนหนึ่ง (โชคดีที่ตอนนี้ผมไม่ได้ปลอมตัวแล้ว) มันทักทายถามไถ่ว่า “มึงไปไหนมา กูโทรไปที่บ้านตั้งแต่เช้าก็ไม่เจอตัว”

“กูไปเที่ยวเมืองนอกมา” ผมสารภาพเพราะขี้เกียจปิดบัง จากนั้นก็เล่ารายละเอียดทั้งหมดที่เกิดขึ้น

“มึงนี่เป็นเอามาก” มันพูดพร้อม ๆ กับมองผมด้วยสายตาสมเพทเวทนา “ไม่สบายรึเปล่าว่ะ?”

“เปล่า กูปกติดี” ผมตอบเสียงอ่อย ๆ

“แล้วทำไมถึงได้ฟุ้งซ่านอยากเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ มึงอย่ามาอ้างเรื่องชีพจรหรือเชื้อราลงเท้าเลย กูรู้ว่ามึงโกหก บอกเหตุผลที่แท้จริงมาซะดี ๆ” เพื่อนถามด้วยความสงสัยและสอดรู้สอดเห็นจนออกนอกหน้า พร้อมทั้งส่งสายตาขู่ว่า ห้ามตอบเฉไฉ

“รู้แล้วอย่าไปบอกใครนะ?” ถึงตรงนี้ผมก็น้ำตาไหลพรากโดยไม่อาจสะกดกลั้น

“เออ กูจะไม่บอกใคร” เพื่อนผมมันให้สัญญาอย่างหนักแน่น

“กูฟังนายกทักษิณพูดและให้สัมภาษณ์แล้ว จู่ ๆ ก็เกิดความรู้สึกอยากเว้นวรรคจากการเป็นคนไทยชั่วคราว” พูดจบผมก็ปล่อยโฮดังลั่น

เพื่อนผมทำตาปริบ ๆ ก่อนจะตอบเสียงสั่นเครือ “ไม่เป็นไร ๆ อย่าร้องไห้ ประเดี๋ยวพรุ่งนี้กูปลอมตัวไปเที่ยวกับมึงด้วย”

ว่าแล้วทั้งเพื่อนและผมก็กอดคอประสานเสียงร้องไห้ดังลั่นไปทั่วบริเวณสถานีรถไฟฟ้า

(หมายเหตุ : เขียนถึงตรงนี้ ผมก็พลันนึกได้ว่า อีกวิธีหนึ่งในการได้ไปเที่ยวเมืองนอกก็คือ เริ่มต้นด้วยการเป็นนายก ฯ และบริหารประเทศให้โหลยโท่ยสักหน่อย ประเดี๋ยวก็ได้ไปเที่ยวเมืองนอกเอง มิหนำซ้ำวิธีนี้ยังได้ “ไปนาน ๆ” เสียด้วยสิ)
(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "มนุษย์ไร้สาระวีหนึ่ง" เว็บไซต์โอเพนออนไลน์)

วันอังคารที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2551

ความทรงจำอันรางเลือน โดย "นรา"


หลายวันมานี้ ผมใช้ชีวิตในแบบ “ย้อนยุค” เริ่มตั้งแต่การแวะกลับไปเยี่ยมเยียนทบทวนความหลังยังบ้านเก่าหลาย ๆ แห่ง (ตามประสาคนย้ายบ้านบ่อย) รวมถึงการอ่านหนังสือและดูหนัง อันประกอบไปด้วย “สี่แผ่นดิน”, “บ้านเกิดและเพื่อนเก่า” และหนังเรื่อง Avalon ของแบร์รี เลวินสัน ทั้งหมดนี้เป็นการอ่านซ้ำดูซ้ำ ที่บังเอิญมาพ้องพานกันโดยไม่ได้ตระเตรียมวางแผน และยังละม้ายคล้ายคลึงกันอีก ในแง่ของประเด็นและบรรยากาศ “ถวิลหาอดีต”

ใครจะว่าผม “เล่นกับความหลัง” ก็เห็นจะต้องยอมรับล่ะครับ

ผมนั้นแพ้ทางประเด็นว่าด้วย “ความทรงจำ กาลเวลา และความเปลี่ยนแปลง” มาแต่ไหนแต่ไร เจอะเจอเข้าคราวใด ไม่ว่าจะผ่านทาง การดูหนัง ฟังเพลง หรือหนังสือ เป็นต้องโดนน็อคจนอยู่หมัดทุกที

งานท่วงทำนองนี้ มักฉายภาพวันคืนเก่า ๆ อันเปี่ยมสุข ซึ่งในท้ายที่สุดก็ถูกกาลเวลากลืนกิน กระทั่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เป็นหนึ่งใน “เรื่องเศร้าสากล” ที่สร้างความสะเทือนใจได้ไม่แพ้กรณีอกหักจากความรัก และเป็นสถานการณ์ที่ทุกคนล้วนมีโอกาสเกิดประสบการณ์ร่วมโดยเท่าเทียมกัน (เรื่องอกหักเสียอีกนะครับ ที่มีรายละเอียดความเจ็บปวดผิดหวังเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกัน)

เพราะเหตุนี้เอง ถึงแม้ฉากหลังของ Avalon จะเกิดขึ้นที่บัลติมอร์ ในช่วงทศวรรษ 1950 แต่ผู้ชมวงนอกอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ก็ยังสามารถ “จี๊ด” คล้อยตามไปได้ไม่ยาก

Avalon บอกเล่าเรื่องราวของครอบครัวชาวยิวตระกูลคริชชินสกี ซึ่งอพยพจากโปแลนด์มาตั้งรกรากในอเมริกา นอกจากจะสร้างเนื้อสร้างตัวจนฐานะความเป็นอยู่มั่นคงแล้ว พวกเขายังเกาะกลุ่มกันรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น มีการพบปะชุมนุมสังสรรค์เป็นประจำ ช่วยเหลือเกื้อกูลดูแลทุกข์สุขกัน

ตัวละครสำคัญที่เป็นศูนย์กลางของเรื่องคือ แซม คริชชินสกีในวัยชรา เขามักจะเล่าเหตุการณ์วันแรกที่มาสู่โลกใหม่ให้ลูกหลานฟังซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยความภาคภูมิใจ วันนั้นตรงกับวันชาติอเมริกา ตามท้องถนนมีการเฉลิมฉลองอย่างคึกคัก ผู้คนร่าเริง ท้องฟ้าสว่างไสวไปด้วยแสงสีเจิดจ้าจากการจุดพลุ

แซมเข้าใจผิดคิดว่า บรรยากาศห้อมล้อมทั้งหมด คือการต้อนรับที่อเมริกามีต่อคนแปลกหน้าอย่างเขา แม้ในภายหลังเขาจะล่วงรู้ความจริงว่าอะไรเป็นอะไร กระนั้นแซมก็ยังถือเอาเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นนิมิตหมายที่ดีในการเดินทางมายังอเมริกา

ครอบครัวคริชชินสกี้ ให้กำเนิดทายาทต่อมาอีกสองชั่วคน สำหรับคนรุ่นลูกรุ่นหลาน บทสนทนาในงานเลี้ยงของคนรุ่นปู่ กลายเป็นเรื่องซ้ำซาก น่ารำคาญ เต็มไปด้วยการถกเถียงในหัวข้อไร้สาระอย่างเคร่งเครียดเอาเป็นเอาตาย เกือบถึงขั้นทะเลาะวิวาท เพียงแค่ว่าญาติคนหนึ่งเดินทางมาถึงอเมริกาในปีอะไรกันแน่

เมื่อโดนเหล่าลูก ๆ ขัดคอว่า ประเด็นที่พูดคุยกันหยุมหยิมเล็กน้อยเกินกว่าจะถกเถียง แซมบอกกล่าวกับลูกชาย ผ่านน้ำเสียงจริงจังเป็นงานเป็นการว่า “ถ้าแกคิดว่า เรื่องพวกนี้ไม่สำคัญ นั่นหมายความว่าแกไม่พยายามจะจดจำ และถ้าแกไม่ใส่ใจที่จะจำ สักวันหนึ่งแกก็จะเป็นฝ่ายหลงลืมทุกสิ่งทุกอย่าง”

ในเวลาถัดมา ความเปลี่ยนแปลงก็เริ่มเล่นงานครอบครัวคริชชินสกี การมีสมาชิกเพิ่มขึ้น รวมถึงฐานะความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิม ความเจริญเติบโตของเมือง ส่งผลให้พวกเขาแต่ละครัวเรือน ต้องโยกย้ายไปยังบ้านใหม่ละแวกชานเมือง (หนังใช้การกำเนิดของสื่อโทรทัศน์ เป็นเครื่องหมายสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงทั้งหมด) จากที่เคยอยู่ใกล้ชิด พวกเขาเริ่มเหินห่าง การพบปะชุมนุมกันด้วยความสะดวก เริ่มเจอะเจออุปสรรค มีการเกี่ยงงอนด้านสถานที่ ท้ายสุดพี่กับน้องก็ต้องร้าวฉานตัดขาดเลิกคบหากัน

หนังจบลงอย่างเศร้าสร้อย เมื่อกาลเวลาผ่านไป ครอบครัวคริชชินสกี กระจัดกระจายใช้ชีวิตแยกอยู่ตามลำพัง บางคนก็ล้มหายตายจาก แซมในบั้นปลายชีวิต อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชรา มีอาการหลง ๆ ลืม ๆ

ก่อนหน้านั้น ในค่ำคืนหนึ่งของฤดูร้อน แซมเล่านิทานเรื่องเก่าให้หลาน ๆ ฟัง ด้วยอาการดื่มด่ำกับอดีต เมื่อรู้ตัวอีกทีก็พบว่าเหมือนกำลังนั่งคุยกับตนเอง ผู้ฟังวัยเยาว์พากันหลับใหล

ในบทรำพึงรำพันของแซม เขากล่าวถึงการกลับไปเยี่ยมละแวกบ้านเช่าแห่งแรกในอเมริกา ตึกที่เขาเคยพำนักอาศัยหายไป กลายเป็นย่านการค้าที่คึกคักรุ่งเรือง เพื่อนบ้านเปลี่ยนโฉมเป็นผู้คนชุดใหม่ที่ไม่รู้จักกันมาก่อน ถนนหนทางจอแจไปด้วยยวดยานคับคั่ง ราวกับเป็นคนละโลก แทบจะไม่มีสิ่งใดบ่งชี้ว่านี่คือถิ่นที่เขาเคยใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขเมื่อครั้งอดีต และยังคงนึกถึงมันอยู่เสมอในความทรงจำ

“ทันใดนั้น ปู่ก็พบกับบาร์เหล้าแห่งนั้น ขอบคุณพระเจ้า มันยังอยู่ที่นั่น เหมือนเดิมทุกอย่าง ยกเว้นเพียงแค่ความเก่าโทรม เมื่อเจอะเจอบาร์ ปู่ดีใจเหลือเกิน มันเป็นสิ่งเดียวที่พิสูจน์ให้รู้ว่า ความหลังของเรายังมีตัวตน”

ผมประทับใจเป็นพิเศษกับฉากนี้นะครับ เพราะในการไปเยือนบ้านเก่าหลายแห่ง (ผมไม่ได้แวะเฉียดไปยังสถานที่เหล่านี้มาร่วม ๆ 20 ปี) เหตุการณ์และรายละเอียดที่เจอะเจอกล่าวได้ว่าเหมือนกันทุกประการ ความทรงจำต่าง ๆ ถูกทาบซ้อนด้วยฉากหลังที่แปรเปลี่ยนแปลกตา ความรู้สึกเศร้าหม่นลึก ๆ เมื่อพบว่าแทบไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป กาลเวลามีอานุภาพในการกลืนกินสรรพสิ่ง รวดเร็ว รุนแรง กว่าที่คาดหมายเอาไว้เยอะ

ที่สำคัญคือ ผมกลายเป็นคนแปลกหน้าสำหรับบ้านเกิดของตนเอง

ด้วยความรู้สึกเช่นนี้ เมื่อเจอะเจอบ้านบางหลัง ผู้คนบางคนที่ผมจดจำได้ ผมจึงตื่นเต้นดีใจจนน้ำตาซึม ความหลังของผมยังมีสายใยบางอย่างเชื่อมโยงไม่โดนตัดขาดเสียทั้งหมด

ในห้วงเวลานั้น บ้านบางหลัง ผู้คนบางคน ก่อให้เกิดความอบอุ่นใจอย่างยิ่ง แม้ว่าในความเป็นจริง ตลอดทั้งชีวิตผมไม่เคยแวะเข้าไปในบ้านหลังนั้น ไม่เคยพูดจาทักทายกับผู้คนเหล่านั้น

แต่ในอดีตของผม บ้านบางหลัง ผู้คนบางคน ก็เป็นเหมือนเพื่อนเก่าที่สนิทสนมกันมาเนิ่นนาน



(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ Romantic Comedy นิตยสาร Hamburger เดือนพฤษภาคม 2550)

วันพุธที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2551

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการล้มเหลว โดย "นรา"


ระหว่างแกล้ง ๆ นั่งเล่นรอให้ลูกแอ๊ปเปิ้ลตกหล่นใส่หัว อย่างยืดเยื้อยาวนานหลายเดือนพอ ๆ กับการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร ฯ จู่ ๆ ผมก็พลันคิดอะไรขึ้นมาได้สองสามเรื่อง

อันดับแรกก็คือ สมมติว่ามีแอ๊ปเปิ้ลตกใส่หัวจริง ๆ สิ่งที่ผมนึกออก กลับไม่ยักใช่ทฤษฎีแรงโน้มถ่วงเหมือนกับที่เซอร์ไอแซค นิวตันเคยค้นพบแฮะ แต่เป็นสำนวนภาษิตที่เคยได้ยินมาว่า “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น”

ถัดมา คงจะเป็นชาติหน้าตอนบ่าย ๆ next life in the afternoon นู่นแหละครับ กว่าลูกแอ๊ปเปิ้ลจะมาหล่นใส่ ในเมื่อผมนั่งเล่นอยู่ที่ร้านกาแฟ ซึ่งอย่าว่าแต่จะมีแอ๊ปเปิ้ลเลย แค่ต้นไม้อะไรก็ได้ ก็ดูจะหายากอย่างยิ่ง ที่มีเยอะแยะชุกชุมคือ “ขาใหญ่” ของจริง อย่างช้างตัวโต ๆ และทีมงานที่ยืนให้บริการพี่น้องประชาชนที่เดินผ่านไปมา

โอกาสที่ผมจะพลั้งเผลอเดินเหยียบอึช้าง จึงง่ายและมีความเป็นไปได้มากกว่า รอคอยให้โดนแอ๊ปเปิ้ลตกใส่หัวเยอะทีเดียว

สิ่งสุดท้ายที่ผมนึกได้ หลังจากนำเอาสองเรื่องแรกมาประกอบรวมกันก็คือ ข้อสรุปว่า ผมเป็นบุคคลผู้ประสบความล้มเหลวหลาย ๆ อย่างในชีวิต

หากจะมีอะไรประสบความสำเร็จอยู่บ้างเล็กน้อย ก็น่าจะเป็นความเชี่ยวชาญ, สันทัดจัดเจน เป็นเกจิแห่งความล้มเหลวล้วน ๆ เลย

จะลองไล่เรียงดูนะครับว่า มีสิ่งใดบ้างที่ปรากฎอยู่ในประวัติศาสตร์ความล้มเหลวส่วนตัวของผม

เริ่มกันด้วยหน้าที่การงานก่อนดีกว่า นับจากเรียนจบจนถึงปัจจุบัน ตลอดเวลายี่สิบกว่าปี ผมไม่เคยประสบความสำเร็จในการทำงานประจำ มีสังกัด กินเงินเดือน แม้จะไม่ย่ำแย่ถึงขั้น “เข้าแก๊งไหน หัวหน้าตายหมด” แต่ลูกกระจ๊อกอย่างผมก็เละตลอด ไม่เคยปักหลักทำงานที่ไหนได้นานเกินหนึ่งปี เป็นต้องสิ้นสุดลงเอยด้วยการลาออก หรือมิฉะนั้นก็ได้รับการบอกกล่าวอ้อม ๆ จากเจ้านายอย่างสุภาพว่า “ออกเหอะ”

นามบัตรของผมที่ทางบริษัทต่าง ๆ ทำให้ จึงมีเก็บไว้เป็นกองกะตั๊กหลากรุ่นหลายดีไซน์สารพัดหน่วยงาน โดยแทบไม่เคยได้ใช้จ่ายแจกให้แก่ผู้ใด และสะสมเอาไว้เยอะพอที่จะชั่งกิโลขายได้สบาย ๆ

เรื่องนี้มาได้รับการยืนยันอีกครั้ง เมื่อคุณพี่ขุนทอง อสุนี ฯ หมอดูไพ่ยิปซีและนักวิจารณ์เพลงรุ่นพี่ ได้ทำนายทายทักชะตาของผม หลังจากเปิดไพ่สองใบแรก คุณพี่เขาก็ฟันธงทันทีว่า “ดวงมึงเป็นดวงฟรีแลนซ์ ทำงานประจำที่ไหนไม่รุ่งหรอก”

พี่ขุนพยากรณ์ให้ผมได้เพียงเท่านี้ ลูกค้าที่นัดหมายไว้ก็ปรากฎตัว การทำนายโชคชะตาของผมจึงต้องยุติลงกลางคัน “เอาไว้ดูต่อวันหลัง”

เวลาผ่านไปจากเหตุการณ์ครั้งนั้นร่วม ๆ สิบปี พี่หมอขุนทองก็ไม่เคยดูดวงฟรี ๆ ให้ผมอีกเลย

คิดดูก็แล้วกันนะครับ ขนาดเรื่องดูดวงผมยังล้มเหลวเละตุ้มเป๊ะเลย

ยังสงสัยอยู่ไม่หายนะครับว่า นอกจากจะทำงานประทำที่ไหนไม่เจริญรุ่งเรืองแล้ว ดวงฟรีแลนซ์ของผมนั้นเป็นอย่างไร? มีความเป็นไปได้อีกเช่นกันว่า คำพยากรณ์เต็ม ๆ อาจจะเป็นดังนี้คือ “ดวงมึงเป็นดวงฟรีแลนซ์ ทำงานประจำที่ไหนไม่รุ่งหรอก เป็นฟรีแลนซ์ต่อไปเถอะ ถึงจะไม่รุ่งเอาดีไม่ได้เหมือนกัน แต่มันก็สร้างความเดือดร้อนเสียหายให้แก่สาธารณชนน้อยกว่า”

อย่างไรก็ตาม คำทำนายทายทักของพี่ขุน ก็ทำให้ผมค้นพบความล้มเหลวลำดับต่อมา นั่นคือ ความไม่สามารถในการเข้าสังคมใช้ชีวิตปะปนกับคนหมู่มาก

ผมเป็นมนุษย์ที่มีความขัดแย้งในตัวข้อหนึ่งสูงมาก คือ สามารถอยู่บ้านเฉย ๆ โดยไม่ต้องพบปะใคร และปิดปากเงียบสนิทปราศจากการพูดคุยได้ต่อเนื่องหลาย ๆ วันอย่างปกติสุข แต่...แต่..อย่าให้ออกนอกบ้านมาเจอคนรู้จักนะครับ เหตุการณ์จะเปลี่ยนไปในทางตรงข้าม กลายเป็นคนช่างพูดช่างจำนรรจาทันที

เพราะเหตุนี้ เวลาเจอพี่น้องผองเพื่อนตามงานฉายหนังรอบสื่อมวลชนทีไร กลับถึงบ้านแล้วผมก็มักจะเกิดอาการเจ็บคอ เนื่องจากใช้พลังงานในการพูดคุยไปเยอะ

ที่สำคัญคือ เรื่องราวประเด็นเยอะแยะสารพัดใด ๆ ก็ตามที่อยู่ในหัว และครุ่นคิดตระเตรียมไว้สำหรับจะเขียน ผมก็ได้ “ปล่อยของ”ออกไปหมดสิ้นในวงสนทนา กระทั่งไม่หลงเหลือความอยากและแรงจูงใจที่จะเล่าเรื่องเดิมอีกครั้งในรูปแบบของการเขียนหนังสือ รวมทั้งสมาธิกระเจิงแตกซ่าน

เวลา “ปรากฎตัว” ออกงานคราวใด ชีวิตราชการดวงชะตาฟรีแลนซ์ของผม มักจะโดนกระทบแรง ๆ จนปั่นป่วนรวนเรเขียนหนังสือไม่ได้ไปอีกหลายวัน ท้ายที่สุดผมก็ต้องยึดนโยบาย “อยู่กับเหย้า เฝ้ากับเรือน” ใช้ชีวิตนิ่ง ๆ เก็บเนื้อเก็บตัว ประหยัดถ้อยคำเหลือเท่าที่จำเป็นแก่การยังชีพเท่านั้น

พออยู่บ้านนาน ๆ จนเคยชิน ถึงคราวต้องออกงานไฟต์บังคับที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ผมก็ค่อย ๆ โน้มเอียงเปลี่ยนไปโดยไม่รู้ตัว กลายเป็นพวก “ใบ้แหลก” ขาดความสันทัดในการพูดคุยเจรจากับผู้คน จะเอื้อนเอ่ยอันใดก็เงอะงะติดขัดเรียงลำดับสับสนไม่ได้ใจความ จนกระทั่งได้ชื่อว่าเป็นผู้ล้มเหลวทางด้านการสนทนาเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งสาขา

ยิ่งเรื่องจำหน้าผู้คนจำชื่อใครต่อใครที่เคยรู้จักไม่ได้ ความล้มเหลวในด้านขี้ลืมนี้ถือได้ว่า ผมเป็นหนึ่งในตองอู ไม่ยอมเป็นสองรองจากผู้ใดทั่วทั้งแผ่นดิน

ผมนั้นเคยมีเกียรติประวัติน่าเกลียด เป็นมนุษย์ความจำดี (สาขาย่อยใฝ่ต่ำไม่รักดี) นะครับ คือ ช่างจดช่างบันทึกระลึกถึงอะไรต่อมิอะไรได้เยอะแยะยั้วเยี้ยยุ่บยั่บ เสียแต่ว่าเข้าข่าย “เรื่องที่ควรดันไม่จำ และเรื่องที่จำดันไม่ควร”

ดังนั้นผมจึงสอบตกได้คะแนนศูนย์จากการสอบท่องอาขยานสมัยเรียน และโดนครูตีเพราะไปเขียนกวีนิพนธ์พิลึก ๆ ที่เคยอ่านเจอแล้วเก็บมาจำจนขึ้นใจ อย่างเช่น “บนท้องฟ้ามีดวงดาว ประเทศลาวมีข้าวเหนียว ในกะทะมีไข่เจียว ใจฉันดวงเดียวมีแต่เธอ” หรือ “หวานสุดหวานวูบไหวเมื่อได้เห็น หัวใจเต้นเริ่มต้นดนตรีหวาน แสยะยิ้มหวานหยดรดวิญญาณ โรงน้ำตาลตั้งที่หน้าสองตานาง” ไว้บนกระดานดำหน้าห้อง

ล่าสุดผมพัฒนาก้าวไกลไปอีกหนึ่งสเต็ป ด้วยการจำสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นผ่านพ้นหมาด ๆ ไม่ได้เลย

ที่ปรากฎบ่อย ๆ เนือง ๆ คือ การส่งงานเขียนทางอีเมล์ ซึ่งผมทำทุกอย่างถูกต้องตามระเบียบครบถ้วนหมด แต่มักจะลืมแนบไฟล์ต้นฉบับให้แก่ผู้รับ

ประเภทเพิ่งดูหนังและเพิ่งเขียนถึงไม่ทันไร จู่ ๆ ก็จำไม่ได้ ต้องเสียเวลาอยู่ครึ่งค่อนวันมานึกชื่อเรื่อง อันนี้เป็นเหตุการณ์ปกติสิว ๆ เล็กจิ๋วมาก

เชื่อว่าหากไล่เรียงโดยละเอียด แต่ละวันผมลืมนั่นลืมนี่ เกินสิบอย่างแน่นอน

ความจำอันล้มเหลวของผม ส่งผลกระทบก่อให้เกิดปัญหาใหญ่อีกประการ นั่นคือ แต่ละวันเมื่อออกจากบ้าน ผมจะใช้เวลาว่างคิดประเด็นต่าง ๆ สำหรับงานเขียนในวันรุ่งขึ้น ซึ่งผมเรียกของผมว่า เขียนหนังสือในหัว

ผมเขียนหนังสือในหัวทุกวัน (วันละหลายชิ้นหลายประเด็นด้วย) บางเรื่องก็คิดจนเสร็จสรรพ บางเรื่องก็ทิ้งค้างไว้ บางเรื่องก็เขียน (ในหัว) ซ้ำแล้วซ้ำอีก

การณ์จึงกลายเป็นว่า บ่อยครั้งเรื่องที่ผมคิด ๆ ไว้ ก็ไม่เคยเขียนออกมาจริง ๆ บนหน้ากระดาษ เพราะเขียนในหัวอยู่บ่อย ๆ จนคุ้น กระทั่งเผลอนึกว่าได้เขียนไปแล้ว
แย่กว่านั้นก็คือ บางเรื่องเขียนเสร็จ จึงค่อยมาพบสัจธรรมว่า เป็นประเด็นซ้ำกับที่เคยเขียนถึงไปแล้วไม่ต่ำกว่าสามครั้ง แต่ผมดันจำไม่ได้ นึกว่าแค่คิดบ่มไว้ในใจเรื่อย ๆ จนสุกงอม จึงลงมือเขียนออกมา กลายเป็นสำเนางานเก่าผลิตซ้ำโดยไม่รู้ตัว

มีตลกสังขารที่ได้ยินได้ฟังกันมาบ่อย ๆ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาขี้หลงขี้ลืม นั่นคือ การจดบันทึกกันลืม เพื่อที่จะจำไม่ได้ในเวลาต่อมาว่า จดเอาไว้ตรงไหน และหาสมุดบันทึกไม่เจอ

สำหรับผมแล้ว นี่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นบ่อยมาก และขำไม่ออก

ทุกวันนี้ผมก็เลยมีสมุดบันทึกวางเกะกะซุกซ่อนอยู่เต็มห้องนอนประมาณ 50 เล่ม (ซึ่งเนื้อความในนั้นน่าจะสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้แก่นักโบราณคดีที่มาพบเข้าในอนาคตข้างหน้า)

ผมเคยพยายามที่จะเขียนไดอารี บันทึกสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นกิจลักษณะ แต่แน่นอนว่า ลงท้ายแล้วก็ล้มเหลวกระจายเหมือนเดิม

ไม่รู้เหมือนกันนะครับว่าทำไม? ผมเขียนหนังสือเป็นอาชีพ การบันทึกไดอารี น่าจะสอดคล้องกับความถนัดสันทัด แต่พอเปิดสมุดหยิบปากกาขึ้นมา ในหัวของผมกลับเคว้งคว้างว่างโหวง เหมือนโดนขโมยสมองไปหมดเกลี้ยง เขียนอะไรไม่ออก เกิดอาการทื่อตื้อตีบตันอย่างฉับพลัน

ประมาณว่า ให้ผมกัดฟันกลั้นใจฝึกหัดเขียนเรื่องสั้น นิยาย แต่งกลอน หรือเขียนตำรับตำราผลิตงานวิชาการ น่าจะง่ายกว่าเอาดีทางด้านการบันทึกไดอารีเยอะเลย

ปัญหาของคนส่วนใหญ่ที่ล้มเหลวในการเขียนไดอารีนั้น โดยมากเกิดจากการขาดวินัย ไร้ความสม่ำเสมอ แต่สำหรับผม-ซึ่งมีวินัยกับการเขียนหนังสืออยู่พอสมควร-เดาเอานะครับว่า น่าจะเป็นเรื่องของความไม่เชื่อมั่น และรู้สึกตะขิดตะขวงใจจนเขียนไม่ออกมากกว่า

ผมเขียนหนังสือมานานเกือบ ๆ 20 ปี มีมิตรรักแฟนเพลงติดตามจำนวนหนึ่ง มีเสียงตอบรับในทางบวกอยู่พอสมควร แต่ขอสารภาพว่า ผมนั้นมีอาการวิตกจริตและความกลัวอยู่เต็มปรี่ท่วมท้น

ความกลัวอย่างหนึ่งซึ่งหยั่งรากฝังลึกในใจผมก็คือ กลัวว่าผมจะคิดอะไรไม่ออก กลัวว่าจะเขียนหนังสือไม่ได้

นับตั้งแต่วันแรกที่เพิ่งเตาะแตะหัดเขียนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน พูดให้หวือหวาหน่อยก็คือ ทุก ๆ วันผมใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่กับความกลัวเช่นนี้ จนกระทั่งกลายเป็นเพื่อนสนิท เป็นเงาที่สองคอยเกาะติดตามตัวตลอดเวลา

ผมรับมือกับความกลัวดังกล่าว ด้วยการพยายามตื่นแต่เช้า เพื่อลงมือเขียนหนังสือทุกวัน หากสามารถทำงานจนเสร็จและรู้สึกพึงพอใจ วันนั้นผมจะเป็นฝ่ายพิชิตความกลัวลงได้ และมีความกลัวระลอกใหม่สำหรับวันรุ่งขึ้นเข้ามาแทนที่

เขียน ๆ ไปแล้ว ผมก็รู้สึกว่าตัวผมเองโรคจิตเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน

เรื่องสติปัญญาติงต๊องนั้น ผมทำใจปลงตกมานานแล้ว หลังจากล้มเหลวสาหัสกับการพยายามพิสูจน์ให้ใครต่อใครยอมรับว่าเป็นคนปกติ

ยังมีด้านที่ผมล้มเหลวจนชำนิชำนาญอีก 9,541,327 อย่าง สาธยายให้ครบถ้วนทั้งหมดไม่ไหวหรอกนะครับ เพราะผมนั้นล้มเหลวสุดขีดในด้านความขยัน

ที่สำคัญ ได้เวลาฤกษ์งามยามเจ๋งเหมาะเหม็งกับการไปนั่งรอให้ลูกแอ๊ปเปิ้ลตกใส่หัวผมอีกแล้วล่ะครับ


(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกที่นี่)














วันจันทร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2551

The Big Sleep:สืบลากไส้ โดย "นรา"


เป็นที่ร่ำลือกันว่า หนังเรื่อง The Big Sleep กำกับโดยฮาวเวิร์ด ฮอว์คส์ (ดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกันของเรย์มอนด์ แชนด์เลอร์) เต็มไปด้วยเค้าโครงยอกย้อนซ่อนเงื่อน สถานการณ์พลิกผันหักมุมไปมาตลอดเวลา จนยากจะสรุปแบบถ่องแท้แน่ชัดว่า แท้จริงแล้วเกิดอะไรขึ้น?

ตำนานเรื่องเล่าที่ได้รับการกล่าวขานถึงมากสุด ก็คือ ระหว่างการถ่ายทำ ทั้งผู้กำกับและคนเขียนบท อันประกอบไปด้วยวิลเลียม ฟอล์คเนอร์, ลีห์ แบร็คเก็ทท์ และจูลส์ เฟิร์ทแมน พบว่ามีความคลุมเครือเกี่ยวกับตัวละครคนขับรถชื่อโอเวน เทย์เลอร์ ซึ่งไม่ชัดเจนนักว่าถูกลอบสังหาร (โดยฝีมือของใคร) หรือฆ่าตัวตาย? จึงส่งโทรเลขไปสอบถามแชนด์เลอร์เจ้าของเรื่อง คำตอบที่ได้รับก็คือ “ชิบหายแล้ว...ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่ะ ว่าใครเป็นฆาตกร”

เพราะสดับรับรู้มาเช่นนี้นะครับ ผมจึงมีหนัง The Big Sleep ไว้ในครอบครอง เสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงส่งประจำครัวเรือน โดยไม่กล้าแตะต้องหยิบมาดู เนื่องจากกลัวจะค้นพบว่า “โง่กว่าปกติอีกหลายระดับไอคิว”

อย่างไรก็ตาม เมื่ออยู่ในสภาพ “ไม่มีอะไรต้องสูญเสีย” หรืออีกนัยหนึ่ง หลังจากหลงคารมอยู่ในโอวาทเชื่อฟังรัฐบาลมาหลายต่อหลายชุด จนกระทั่ง “ไม่อาจโง่มากยิ่งกว่านี้ไปอีกแล้ว” บวกรวมกับความอยากรู้อยากเห็นอันแรงกล้า ผมจึงหยิบวิดีโอเทปหนังเรื่องนี้ลงมาจากหิ้ง เพื่อลงมือกระทำการพิสูจน์ให้หายสงสัย (ว่าตัวหนังเป็นอย่างไร? ส่วนเรื่องโง่นั้น ไม่มีอะไรต้องสงสัยครับ แน่นอนและชัวร์เหลือเกิน)

ร่ำลือกันอีกว่าหนังเรื่อง The Big Sleep นั้น ใครดูแล้วสามารถเล่าเรื่องย่อได้นับว่าเก่ง

ประเด็นนี้ หลังจากการพิสูจน์เสร็จสิ้นลง ผมยืนยันได้ว่าเป็นความจริง ทว่าไม่ใช่เพราะเรื่องอุดมไปด้วยความสับสนจนยากจะบอกเล่าหรอกนะครับ ปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่า เหตุการณ์รายละเอียดในหนังมีเยอะ บอกเล่าอย่างรวดเร็วกระชับฉับไว ที่สำคัญคือ แต่ละฉากแต่ละตอนเชื่อมต่อกันเนียนสนิท จนรวบรัดละเว้นข้ามไปไม่ได้เลย ครั้นจะเล่าโดยถี่ถ้วน ก็อาจเปิดเผยเฉลยในสิ่งที่ไม่ควร เนื่องจากทุกฉากทุกตอนเป็นความลับทางภาพยนตร์ทั้งสิ้น

ผมคิดว่า ผมสามารถเล่าเรื่องคร่าว ๆ ของ The Big Sleep ได้นะครับ แต่ควรจะต้องมีพื้นที่อย่างต่ำ ราว ๆ สัก 20 หน้ากระดาษ

ดังนั้นเรื่องย่นของเรื่องย่ออีกที จึงสรุปหยาบ ๆ กว้าง ๆ ได้ว่า กล่าวถึงนักสืบเอกชนชื่อฟิลิป มาร์โลว์ ซึ่งได้รับมอบหมายว่าจ้างจากนายพลผู้เฒ่าคนหนึ่ง ให้สืบคดีเกี่ยวกับการขู่กรรโชกตบทรัพย์ที่มีลูกสาวท่านนายพลเข้ามาพัวพัน ทันทีที่ออกปฏิบัติงาน เงื่อนปมความซับซ้อนต่าง ๆ ก็ทวีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เกิดการตายครั้งแล้วครั้งเล่า มิหนำซ้ำบรรดาผู้คนที่ห้อมล้อมเกี่ยวข้อง ล้วนข้ามฟากสลับสถานะไปมา จากน่าไว้วางใจแต่แรกเริ่มกลายเป็นชวนหวาดระแวง จากที่ดูน่าสงสัยเคลือบแคลง กลับกลายแปรเปลี่ยนเป็นตรงกันข้าม รวมทั้งมีปริศนาข้อสงสัยใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา

จริง ๆ แล้วทุกสิ่งล้วนดำเนินตามมาตรฐานท่าบังคับของเรื่องสืบสวนสอบสวนทั่วไปนะครับ แต่ข้อแตกต่างของ The Big Sleep นั้นอยู่ที่ว่า ดำเนินเรื่องรวดเร็วมาก เหตุการณ์คืบหน้าเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา อาศัยบทพูดบทสนทนาเป็นหลัก (มิหนำซ้ำตัวละครและผู้แสดงยังพูดกันเร็วปรื๋ออีกต่างหาก)

ประเด็นสำคัญสุดคือ ในหนังหรือนิยายนักสืบส่วนใหญ่ เมื่อเรื่องราวคืบเคลื่อนไปถึงจุดหนึ่ง คุณนักสืบจะเป็นผู้สรุปสถานการณ์ให้คำอธิบายแก่ผู้ชมหรือผู้อ่านอย่างถี่ถ้วน จนเกิดความกระจ่าง แต่ฟิลิป มาร์โลว์กลับทำหน้าที่เพียงครึ่งเดียว คือ เปิดเผยเฉลยให้ทราบว่าความจริงคืออะไร? โดยไม่มีคำอธิบายเพิ่มเติมว่า เขารู้ได้อย่างไร? ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

ประการถัดมา หนังหยิบยื่นข้อมูลรายละเอียดให้แก่ผู้ชมแบบไม่เปิดโอกาสให้เว้นวรรคพักหายใจ หรือมีเวลานึกทบทวนเรื่องที่ผ่านพ้นไป และมีเหตุการณ์ใหม่ ๆ ระดมเข้ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นจนจบ

อย่างไรก็ตาม ผมควรจะระบุไว้ด้วยเหมือนกันว่า ถึงแม้เรื่องราวจะซับซ้อนย้อนยอก แต่ The Big Sleep ก็ไม่ใช่หนังดูยากหรือดูไม่รู้เรื่อง ตรงกันข้ามมันกลับเป็นงานที่ดูสนุก เร้าใจ ชวนติดตาม บทพูดเฉียบคมแทบทุกประโยค และเข้าข่ายหนังที่ฉลาดเจ้าเล่ห์อย่างร้ายเหลือ

อัตราความเร็วในการเดินเรื่อง และฝีมือในการดึงดูดให้ผู้ชมจดจ่อสนใจกับเหตุการณ์เฉพาะหน้า ทำให้เรา ๆ ท่าน ๆ แทบไม่มีเวลามาสังเกตหารอยโหว่รูรั่วในหนัง (ซึ่งมีอยู่พอสมควร) เพราะจะทำให้สมาธิหลุดจากเนื้อหาถัดไปทันที (จะว่าไปแล้ว การเล่าอย่างรวดเร็ว ก็สามารถนับเข้าข่ายว่า เป็นฝีมือในการกลบเกลื่อนอำพรางปิดซ่อน “รูโหว่” ได้เหมือนกัน ที่เหนือชั้นกว่านั้นก็คือ ทำไปทำมา ความคลุมเครือบางจุดที่ไม่ได้รับการคลี่คลาย กลับกลายเป็นเสน่ห์ชวนจดจำเลยทีเดียว บรรดาหนังคลาสสิคมักจะมีแต้มต่อเช่นนี้ล่ะครับ อะไร ๆ ก็สามารถเปลี่ยนจากร้ายกลายเป็นดีได้เสมอ)

ข้อสงสัยคลางแคลงใจนั้น มาเกิดขึ้นหลังจากดูจบแล้วทั้งสิ้น แต่จะเป็นไรไปล่ะครับ ในเมื่อหนังได้นำพาผู้ชมผ่านประสบการณ์ผจญภัยอันสนุกโลดโผนเร้าใจ และสุดแสนจะคลาสสิคไปเรียบร้อย

น่าทึ่งนะครับ สำหรับหนังที่มีพล็อตพิศดารราวกับเขาวงกต เล่าเรื่องเร็วเหมือนรถด่วน ทิ้งรอยโหว่ข้อสงสัยเยอะแยะไปหมด แต่ยังคงเป็นงานที่มีเสน่ห์ดึงดูดและความบันเทิงอยู่เต็มเปี่ยม (นี่ยังไม่นับรวม บรรยากาศแบบหนังฟิล์มนัวร์, บุคลิกที่เฉียบคมแพรวพราวของฟิลิป มาร์โลว์ โดยฝีมือการแสดงและพลังดาราอย่างฮัมฟรีย์ โบการ์ท รวมถึงมนต์ขลังเฉพาะตัวของนิยายนักสืบฝ่ายบู๊ราคาถูกในแบบที่เรียกกันว่า Hard Boiled)

มีจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งซึ่งผมชอบมาก นั่นคือ จังหวะฆ่าปิดปากและฉากแอ็คชันต่าง ๆ ที่ปรากฎอยู่ในหนัง ทั้งหมดนี้มีปริมาณไม่มาก ทว่าทุกครั้งที่เกิดขึ้น ล้วนเข้าเป้าเปี่ยมประสิทธิภาพเต็มที่ อย่างแรก (คือจังหวะฆ่าปิดปาก) นั้นทำให้ผมถึงขั้นสะดุ้งตกใจและช็อคนิค ๆ ทุกครั้ง ส่วนฉากแอ็คชันทั้งหมด ดูเหมือนง่าย แต่ก็เท่ เหนือชั้น และโชว์กึ๋นของฟิลิป มาร์โลว์ได้อย่างสง่างาม

เหนือสิ่งอื่นใด หนังอย่าง The Big Sleep นั้น สามารถดูซ้ำได้ไม่รู้เบื่อ ไม่ใช่เฉพาะแค่เพื่อจับรายละเอียดสร้างความเข้าใจให้ถ่องแท้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังสามารถดูซ้ำเพื่อละเลียดรสชาติของบทสนทนาอันคมคาย (และเต็มไปด้วยความหมายนัยยะแอบแฝงแง่มุมต่าง ๆ มากมาย เช่น บทพูดระหว่างฟิลิป มาร์โลว์กับบรรดาสาว ๆ หลายต่อหลายครั้ง ถ้าถอดรหัสออกมาแล้ว มันคือ ฉากรักอีโรติคชั้นดีเชียวล่ะครับ ฯลฯ)

เป็นหนังที่ซับซ้อนก็จริงอยู่นะครับ แต่สนุกและดีชิบเป๋งเลย
(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร Flicks เดือนตุลาคม 2550)