วันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ควบอาชาโดดเดี่ยวพันลี้ โดย "นรา"


1
ในเรื่อง “สามก๊ก” ช่วงที่สะท้อนบทบาทของท่านกวนอูได้จับใจมากสุด เริ่มต้นจากสามพี่น้องร่วมสาบาน เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย ประสบเหตุพรากจากกัน
กวนอูถูกเงื่อนไขเกี่ยวกับความปลอดภัยของพี่สะใภ้ (ซึ่งเล่าปี่ฝากฝังให้ดูแล) บีบบังคับให้ต้องสวามิภักดิ์ต่อโจโฉ

อย่างไรก็ตาม กวนอูขอคำมั่นสัญญา 3 ข้อให้โจโฉรับปากเสียก่อน จึงจะยินยอมตกลงปลงใจ

ประการแรก กวนอูถือตนเองเป็นข้ารับใช้พระเจ้าเหี้ยนเต้ ไม่ใช่บริวารในสังกัดของโจโฉ

ข้อถัดมา เป็นการยืนยันขอคำมั่นในด้านความปลอดภัยของพี่สะใภ้

สุดท้าย วันใดที่รู้ข่าวว่าเล่าปี่อยู่แห่งหนใด กวนอูสามารถเป็นฝ่ายไปได้ทันที โดยไม่ต้องล่ำลาหรือขอคำอนุญาตจากโจโฉ

ระหว่างนั้น โจโฉก็ทำทุกวิถีทางเพื่อ “ซื้อใจ” ของกวนอู ทั้งการเลี้ยงดูอย่างดี ปูนบำเหน็จลาภยศต่าง ๆ มากมาย ไปจนถึงขั้นวางอุบายให้กวนอูมีโอกาสใกล้ชิดพี่สะใภ้ หวังให้สองฝ่ายประพฤติผิดทางชู้สาว เพื่อเป็นเหตุแตกหักผิดใจกับเล่าปี่

ทั้งหมดนี้กลับไม่ประสบผล เพราะกวนอูแสดงความซื่อสัตย์ภักดีมั่นคง จนไม่มีสิ่งใดสามารถสั่นคลอนให้เปลี่ยนแปลง

ต่อมา กวนอูทราบข่าวเกี่ยวกับเล่าปี่ จึงเข้าพบเพื่ออำลาโจโฉถึง 2 ครั้ง 2 ครา แต่อีกฝ่ายกลับหลบเลี่ยง เพื่อหน่วงเหนี่ยวรั้งตัวไว้

ท้ายที่สุดกวนอูจึงเขียนหนังสือชี้แจงเหตุผล ส่งมอบทรัพย์สินที่โจโฉเคยมอบให้คืนแก่เจ้าของเดิม และพาครอบครัวของเล่าปี่ออกเดินทาง พร้อมทหารอีกเพียง 12 คน เผชิญอุปสรรคอันตรายมากมาย ฝ่าด่าน-ที่มีไพร่พลเยอะกว่าชนิดเทียบกันไม่ได้-อยู่หลายครั้งหลายคราว รวมทั้งเจอการโน้มน้าวชักจูงจิตใจส่งท้ายจากโจโฉ

ยิ่งกว่านั้น เมื่อหลุดพ้นเงื้อมมือฝ่ายตรงข้ามได้แล้ว ยังต้องรอนแรมระหกระเหินบนเส้นทางกันดารยาวไกล รวมถึงโดนเตียวหุยโกรธแค้นเข้าใจผิดอีกต่างหาก

ท่านกวนอูผ่านบททดสอบอันหนักหน่วง ด้วยฝีมือเชิงรบล้ำเลิศและคุณธรรมอันยิ่งใหญ่ จนแม้แต่โจโฉเองยังต้องเอ่ยตัดพ้อว่า “เราเป็นคนบุญน้อย จึงมิได้ท่านไว้สมปรารถนา”

วีรกรรมดังกล่าวของท่านกวนอู ได้รับการเรียกขานสั้น ๆ ว่า “ควบอาชาโดดเดี่ยวพันลี้”

2
ท่ามกลางเรื่องราวสู้รบช่วงชิงอำนาจ เต็มไปด้วยเล่ห์อุบายหักโค่นกันเกือบตลอดเวลา วีรกรรมของท่านกวนอู เป็นหนึ่งใน “แสงสว่าง” ที่สะท้อนถึงคุณธรรมดีงาม ความซื่อสัตย์ภักดี และการเสียสละตนเองอย่างถึงที่สุด

“ควบอาชาโดดเดี่ยวพันลี้” จึงเป็นเรื่องราวตอนหนึ่งใน “สามก๊ก” ที่ได้รับความนิยม และจับใจผู้คน

รวมทั้งเปลี่ยนสถานะท่านกวนอู จาก “นักรบ” มาเป็น “เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์” ที่ชนรุ่นหลังเคารพยกย่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

“ควบอาชาโดดเดี่ยวพันลี้” เป็นเรื่องหนึ่งที่ได้รับความนิยมอันดับต้น ๆ ของศิลปะการแสดงที่เรียกกันว่า นัวซี (Nuo Xi หรือ Nuo Opera) หรือ “งิ้วสวมหน้ากาก” ซึ่งเป็นงิ้วพื้นบ้านที่แพร่หลายในมณฑลยูนนาน ทางแถบตะวันตกเฉียงใต้ของจีน

ความเป็นมาอันเก่าแก่ยาวนานร่วมสามพันปี และยังดำรงคงอยู่มาจนถึงปัจจุบันของงิ้วสวมหน้ากาก ทำให้เกิดฉายาเรียกขานว่า นัวซีเป็น “ซากดึกดำบรรพ์ที่ยังมีชีวิต”

แรกเริ่มนัวซีเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่ง เพื่อขับไล่ภูตผีปีศาจและโรคระบาดให้ไปไกลจากหมู่บ้าน ทว่าโดยการเปลี่ยนผ่านขัดเกลาของกาลเวลา ต่อมาจึงค่อย ๆ คลี่คลายมาเป็นศิลปะการแสดง

หัวใจสำคัญของนัวซีก็คือ การขับร้องด้วยน้ำเสียงท่วงทำนองคาบเกี่ยวก้ำกึ่งกัน ระหว่างบทสวดกับบทเพลง ที่ให้ความรู้สึกลี้ลับ และด้วยเหตุที่ผู้แสดงต้องสวมหน้ากาก การขับร้องจึงเน้นหนักไปยังการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกโศกสุขเศร้าสะเทือนใจ จากความจริงเบื้องลึกภายในของผู้แสดง

กล่าวอีกแบบคือ นัวซี เป็นการแสดงที่เน้น “ความจริงภายใน” มากกว่าความสมจริงของรูปลักษณ์ภายนอก

3

Riding Alone for Thousands of Miles เป็นหนังปี 2005 กำกับโดยจางอี้โหมว

เนื้อเรื่องกล่าวถึง ชายชราชาวญี่ปุ่นชื่อทาคาตะ ซึ่งมีความสัมพันธ์ไม่ลงรอยกับลูกชายชื่อเคนอิจิ ทั้งคู่ทำตัวห่างเหินเย็นชาต่อกันยิ่งกว่าคนแปลกหน้า

จนกระทั่งเคนอิจิป่วยเข้าโรงพยาบาล ริเอะภรรยาของเขา จึงอ้อนวอนพ่อสามีให้เดินทางมาเยี่ยมเยียน แต่เคนอิจิก็ขับไล่ไสส่งไม่ยอมให้พ่อเข้าพบ

ก่อนเดินทางกลับ ริเอะได้ขอร้องให้ทาคาตะช่วยดูวิดีโอม้วนหนึ่ง ด้วยเหตุผลว่า มันอาจช่วยให้ผู้เฒ่าได้รู้จักบุตรชายดีขึ้นกว่าเดิม

วิดีโอที่เคนอิจิถ่ายไว้ บันทึกเหตุการณ์เมื่อครั้งที่เขาเดินทางไปยูนนาน เก็บภาพการแสดงงิ้วสวมหน้ากาก ช่วงท้ายของม้วนเทป นักแสดงชาวจีนชื่อหลี่เจียหมินกล่าวว่า เขาถนัดสันทัดเป็นพิเศษกับการแสดงเรื่อง “ควบอาชาโดดเดี่ยวพันลี้” แต่วันนี้เสียงแหบแพร่ ไม่อาจน้อมสนองได้ หากเคนอิจิเดินทางมาจีนในคราวต่อไป เขารับปากว่าจะขับร้องให้ชมสุดฝีมือ

เคนอิจิไม่สามารถเดินทางไปจีนได้อีก ซ้ำร้ายจากผลการตรวจวินิจฉัย ชายหนุ่มเป็นมะเร็งตับขั้นสุดท้าย

ทาคาตะจึงเกิดความคิดฉับพลันที่จะเดินทางไปจีน เพื่อถ่ายภาพหลี่เจียหมินแสดงงิ้ว “ควบอาชาโดดเดี่ยวพันลี้” สานต่อภารกิจที่ยังค้างคาของบุตรชาย เพราะนั่นอาจเป็นหนทางหนึ่ง ซึ่งเขาสามารถแสดงความรักต่อลูกที่กำลังจะตาย

การเดินทางที่ดูเหมือนจะง่าย กลับพลิกผันบานปลายกลายเป็นยุ่งยาก เมื่อหลี่เจียหมินก่อคดีทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกาย ต้องโทษติดคุก 3 ปี

ทาคาตะต้องขยายเวลาอยู่ที่จีนอย่างไม่มีกำหนด ปราศจากไกด์นำทาง มีเพียงหนุ่มท้องถิ่นชื่อชิวหลิน ซึ่งพูดญี่ปุ่นได้น้อยนิด คอยให้ความช่วยเหลือ

ชายต่างวัยต่างเชื้อชาติทั้งสอง เดินเรื่องติดต่อขอเข้าเยี่ยมนักโทษ เพื่อถ่ายวิดีโอหลี่เจียหมินแสดงงิ้ว เผชิญกับความซับซ้อนวุ่นวายของระบบราชการหลายขั้นตอน กว่าจะสามารถโน้มน้าวอธิบายเหตุผล (ท่ามกลางอุปสรรคสำคัญคือ ภาษา) จนได้รับอนุญาตในท้ายที่สุด

ทว่าสถานการณ์ก็หักมุมอีก หลี่เจียหมินคิดถึงลูกชายนอกสมรสของตนเอง กระทั่งทุกข์ตรมเศร้าหมอง ไม่อยู่ในอารมณ์ที่สามารถขับร้องแสดงงิ้ว

ทาคาตะจึงต้องออกเดินทางไปยังหมู่บ้านอันกันดารห่างไกล เพื่อค้นหาและนำตัวลูกชายของหลี่เจียหมินมาพบหน้าพ่อในเรือนจำ

4

มีความเกี่ยวโยงหลายชั้น ระหว่างวีรกรรมท่านกวนอู, การแสดงงิ้วสวมหน้ากาก, และการเดินทางมาจีนของทาคาตะ

เหตุการณ์ในสามก๊กและเรื่องของชายชราชาวญี่ปุ่น ล้วนเป็นการเดินทางไกล ท่ามกลางอุปสรรคปัญหาสารพัด

เหตุต่าง ๆ ที่ผ่านพบตามรายทาง มีส่วนโน้มนำเบื้องลึกภายในให้ปรากฎฉายชัดออกมา ท่านกวนอูต้องตีแผ่เปิดเผยให้เห็นถึงความซื่อสัตย์ภักดี ขณะที่ทาคาตะค่อย ๆ สะท้อนถึงความรักอันลึกซึ้งที่มีต่อบุตรชาย

ที่สำคัญ มันเป็นการเดินทางไกลอย่างโดดเดี่ยวแปลกแยก โดยมีเป้าหมายใกล้เคียงกัน นั่นคือ การกระทำและเสียสละ เพื่อกลับไปหาคนที่ตนเองรัก

ชั้นเชิงถัดมาของหนังเรื่อง Riding Alone for Thousands of Miles ก็คือ ใช้การเดินทางในสภาพแวดล้อมแปลกถิ่นต่างภาษา เพื่อเปรียบเปรยความสัมพันธ์ระหว่างสองพ่อลูก

เมื่อทาคาตะต้องตกอยู่ในสภาพโดดเดี่ยวแปลกแยก ไม่สามารถพูดจาสื่อสารกับคนรอบข้าง สภาพเช่นนี้ทำให้เขาคืบหน้าใกล้ชิดลูกชายยิ่งกว่าเดิม ได้สัมผัสอารมณ์ความรู้สึก ได้รู้จัก และเข้าใจถึงสภาพที่เกิดขึ้นกับเคนอิจิ เมื่อครั้งต้องใช้ชีวิตเปล่าเปลี่ยวตามลำพังในจีน

พร้อม ๆ กันนั้น ตัวนักแสดงงิ้วอย่างหลี่เจียหมิน, ไกด์ท้องถิ่นชื่อชิวหลิน, รวมถึงเด็กชายหยางหยางที่เป็นเป้าหมายของการเดินทางไกล ล้วนเป็นตัวละครที่ส่งผลสะเทือนต่อความเปลี่ยนแปลงของผู้เฒ่าทาคาตะ

หลี่เจียหมินนั้นเป็นด้านตรงกันข้ามของทาคาตะ เขาแสดงอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ที่มีต่อบุตรชายอย่างเด่นชัดไม่ปิดบัง สามารถร่ำไห้โอดครวญ ตีอกชกหัวโดยไม่อับอายใคร ขณะที่ชายชราชาวญี่ปุ่น ซ่อนความรักความปรารถนาดีเอาไว้ในท่าทีสงบนิ่ง จนกลายเป็นความคุ้นชินเย็นชา (นี่ยังไม่นับรวมแง่มุมเปรียบเปรยที่ว่า ทั้งคู่ต่างมีลูกชายและต้องพลัดพรากจากกัน)

หนุ่มท้องถิ่นชื่อชิวหลิน เป็นภาพเปรียบอีกประการ ในแง่การสื่อสารทำความเข้าใจที่ล้มเหลว เนื่องจากอุปสรรคทางด้านภาษา ความจริงข้อนี้ยิ่งน่าเจ็บปวด เมื่อย้อนนึกไปถึงทาคาตะกับลูกชาย ซึ่งพูดภาษาเดียวกัน แต่กลับเพิกเฉยให้แก่การสื่อสารทำความเข้าใจ

ทาคาตะกับชิวหลินนั้น แม้จะพูดคุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาก็คือ ทั้งสองฝ่ายพยายามใช้วิธีต่าง ๆ สื่อสารกัน ทั้งโดยภาษาญี่ปุ่นซึ่งหนุ่มจีนรอบรู้จำกัด การออกท่าทางใช้ภาษาใบ้ การจดบันทึกถ้อยคำสำคัญ เพื่อหาผู้รู้จริงมาแปลให้ภายหลัง ฯลฯ

ส่วนเด็กชายหยางหยาง ช่วงเวลาหนึ่งคืนที่เจ้าหนูกับชายชรา หลงทางด้วยกันในหุบเขาโตรกผา เด็กชายมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟู “ความเป็นพ่อ” ที่ว่างเว้นขาดหายไปนานของทาคาตะ ให้กลับมาเต็มพร้อมสมบูรณ์อีกครั้ง

ด้านความเชื่อมโยงกับงิ้วหน้ากาก ขั้นต้นมันปรากฎผ่านคำสารภาพในจดหมายของเคนอิจิว่า เขาไม่ได้ชื่นชอบเพราะแง่มุมทางศิลปะ แต่ด้วยเหตุผลส่วนตัวคือ เขารู้สึกว่าตนเองก็สวมหน้ากากใบหนึ่งเอาไว้อยู่ตลอดเวลา เพื่อปกปิดอำพรางความรู้สึกแท้จริงบางอย่าง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสวมหน้ากาก ขึ้นมาขวางกั้นความสัมพันธ์กับพ่อ

ลำดับถัดมา ในการมาเยือนจีนของทาคาตะ ชายชราได้รับบทเรียนสำคัญผ่านงิ้ว “ควบอาชาโดดเดี่ยวพันลี้” นั่นคือ แม้ผู้แสดงจะสวมหน้ากาก แต่โดยการขับร้องนั้น ต้องสะท้อนความรู้สึกแท้จริงในใจออกมา

ทาคาตะผ่านวิบากกรรมต่าง ๆ เพื่อบันทึกภาพการแสดงงิ้วหน้ากาก แต่ลึก ๆ แล้วผลพวงสืบเนื่อง กลับเป็นการปลดเปลื้องหน้ากากของตน ทลายกำแพงที่กั้นขวาง กระทั่งสามารถหวนกลับมาเข้าถึงลูกชายได้อีกครั้ง

ในแง่นี้ ทาคาตะได้ “ควบอาชาโดดเดี่ยวพันลี้” พลัดพรากจากบ้านเป็นระยะทางไกลลิบ เพียงเพื่อท้ายที่สุดแล้ว เขาจะได้ “กลับบ้าน” คืนสู่ความเป็นครอบครัวอีกครั้ง


(เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2550 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ “เงาของหนัง” หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน)

หมายเหตุฆาตกรรม โดย "นรา"


เป็นที่ยกย่องและยอมรับกันทั่วไปว่า ผลงานชิ้นเอกของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ได้แก่นิยายเรื่องมหึมาอย่าง “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” (One Hundred Years of Solitude) ซึ่งเป็นงานเขียนที่เต็มไปด้วยรายละเอียดพิลึกพิลั่นมหัศจรรย์มากมาย เช่น ช็อคโกแลตร้อนที่ดื่มแล้วลอยได้ ฝนตกหนักในเมืองแห่งหนึ่งติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี หรือบรรดาชาวบ้านพร้อมเพรียงกันเกิดอาการ “นอนไม่หลับ” คืนแล้วคืนเล่าจนกลายเป็นเหตุการณ์ปกติ ฯลฯ


อาจกล่าวได้ว่า “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” เป็นประสบการณ์การอ่านวรรณกรรมที่โลดโผนตื่นเต้นเร้าใจและน่าทึ่งมาก ๆ อีกเรื่องหนึ่ง เท่าที่ผมเคยเจอะเจอมา แต่ถึงกระนั้นนิยายเรื่องดังกล่าวของมาร์เกซ ก็เข้าข่าย “อ่านสนุก แต่เข้าใจยาก” อยู่มาก เนื่องจากความแตกต่างและไม่คุ้นเคยต่อวัฒนธรรมละตินอเมริกา (อย่างไรก็ตาม ถึงจะไม่ค่อยเข้าใจ แต่ว่ากันเฉพาะ “ความสนุก” และ “ความแปลก” แล้ว นิยายเรื่องนี้ก็ถือได้ว่าน่าลิ้มลองเสาะหามาอ่านมาก ๆ นะครับ) ทำให้โอกาสที่จะรู้สึกร่วมคล้อยตามต่าง ๆ จึงเป็นไปได้ยาก


มีงานเขียนอีกเล่มของมาร์เกซที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยนานแล้ว (ออกตีพิมพ์ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับ “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” ฉบับพิมพ์ครั้งแรก) และมีขนาดความหนากระทัดรัดเพียงร้อยกว่าหน้า เค้าโครงเรื่องเรียบง่ายกว่าเยอะ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเริ่มต้นทำความรู้จัก (โดยไม่โดนความยิ่งใหญ่ในงานเขียนของมาร์เกซข่มขวัญจนรู้สึกฝ่อไปเสียก่อน) นั่นก็คือ “หมายเหตุฆาตกรรม” (Chronicle of a Death Foretold)


“หมายเหตุฆาตกรรม” เป็นนิยายขนาดสั้นของมาร์เกซ ซึ่งผมหยิบมาอ่านซ้ำบ่อยที่สุดในบรรดาผลงานทั้งหมดของเขา นอกเหนือจากขนาดรูปเล่มที่อำนวยความสะดวกแก่คนขี้เกียจอย่างผมแล้ว ความยอดเยี่ยมตลอดจนคุณภาพการเขียนระดับ “เซียนเหยียบเมฆหลายชั้น” ของมาร์เกซก็เป็นเหตุผลใหญ่สุด ที่ทำให้อ่านซ้ำได้ไม่รู้เบื่อ (และยังคงเกิดความรู้สึกทึ่งราวกับเพิ่งอ่านเป็นครั้งแรกได้ทุกเมื่อ)


โดยเค้าโครงแล้ว “หมายเหตุฆาตกรรม” เป็นบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการฆ่าล้างแค้นที่สะเทือนขวัญคนทั้งเมือง รายละเอียดความพิศดารนั้นอยู่ที่ว่า ฝ่ายฆาตกรป่าวประกาศเจตนาของตนเองล่วงหน้าอย่างโจ่งแจ้ง (ด้วยเหตุผลที่แท้จริงคือ “ใจไม่ถึง” จึงอยากจะให้มีคนมายับยั้งขัดขวาง) จนชาวบ้านต่างรู้กันทั่ว กระทั่งนำไปสู่ความไม่เชื่อและคิดว่าเป็น “เรื่องล้อเล่น” ท้ายสุดเหตุการณ์อันน่าเศร้าสลดก็เกิดขึ้น เมื่อมีการฆาตกรรมกันจริง ๆ


เนื้อเรื่องคร่าว ๆ ดังกล่าว จะว่าไปก็ปกติธรรมดา ไม่มีอะไรโลดโผนเป็นพิเศษ แต่ทีเด็ดนั้นอยู่ที่ว่ามาร์เกซไม่ได้บอกเล่าถ่ายทอดเหตุการณ์เรียงลำดับแบบหนึ่ง สอง สาม แต่เริ่มต้นด้วยการบอกกันตรง ๆ ถึงจุดจบลงเอยของเรื่อง จากนั้นก็เล่าย้อนสลับไปมาอย่างแพรวพราว โดยใช้มุมมองของตัวละครเยอะแยะมากมายหลายฝ่าย ในลักษณะของการสอบถามให้ปากคำในฐานะพยานผู้รู้เห็น มาเชื่อมโยงปะติดปะต่อจนได้ภาพทั้งหมดครบถ้วน (และเก่งมากในการเล่าเรื่องไม่เรียงตามลำดับให้คนอ่านไม่งง)


ที่เหนือชั้นกว่านั้นก็คือ การเล่นกับความบังเอิญ เพื่อชี้ให้เห็นว่า ทำไมคำประกาศว่าจะฆ่าล้างแค้นที่ใครต่อใครทั่วทั้งเมืองต่างรู้ล่วงหน้ากันดีอยู่แล้ว แต่ตัวละครที่ตกเป็นเหยื่อการฆาตกรรมกลับไม่ระแคะระคายได้อย่างน่าประหลาด (และสมควรตาย)


โดยทั่วไปแล้ว การผูกเงื่อนปมดำเนินเรื่องให้มีความบังเอิญ ถือเป็นข้อห้ามที่นักเขียน (รวมถึงการเขียนบทหนังด้วยนะครับ) ต่างพากันหลีกเลี่ยง เพราะมีโอกาสสูงยิ่งที่จะทำให้เรื่องราว “ขาดความน่าเชื่อถือ” และดูจะเป็นการหาทางออกที่ “ตื้นเขิน” และ “มักง่าย” แต่มาร์เกซก็พิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่มีอะไรเป็นกฎหรือข้อห้ามที่แท้จริงในการสร้างสรรค์งานศิลปะ ถ้าหากฝีมือถึงขั้นจริง ๆ สิ่งที่เป็นข้อห้ามหรือจุดอ่อนจุดด้อย ก็สามารถหยิบมาพลิกผันให้กลายเป็นจุดแข็งจุดเด่นได้เหมือนกัน


“หมายเหตุฆาตกรรม” เต็มไปด้วยการเล่นกับความบังเอิญอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งกลายเป็นการถักทอเรื่องราวลวดลายที่มหัศจรรย์และน่าทึ่งมาก มิหนำซ้ำยังยิ่งก่อให้เกิดความสะเทือนอารมณ์เหลือเกิน เมื่อผู้อ่านรับทราบความเป็นไปต่าง ๆ พร้อมกับตัวละครอื่น ๆ แต่ท้ายที่สุดอาชญากรรมเหตุร้ายก็ยังคงเกิดขึ้น (ทั้ง ๆ ที่โดยความน่าจะเป็นและโอกาสนั้นมีน้อยนิด แต่มาร์เกซก็ร้ายกาจมากในการนำพาเรื่องราวที่มี “ความน่าจะเป็น” เกือบเท่ากับศูนย์ ให้อุบัติขึ้นได้อย่างเหลือเชื่อ ทว่าก็เต็มไปด้วยความน่าเชื่อถือหนักแน่นสมจริงอย่างยิ่ง)


ตรงนี้ล่ะครับที่ผมว่าน่าอัศจรรย์มาก เพราะปกติแล้วความบังเอิญมักทำให้ดูไม่น่าเชื่อ แต่วิธีการเขียนของมาร์เกซ (ซึ่งหยิบยืมรูปแบบในท่วงทำนองของรายงานข่าวมาใช้อยู่หลายบทหลายตอน) ก็กลับทำให้เรื่องที่เต็มไปด้วยความบังเอิญอย่าง “หมายเหตุฆาตกรรม” มีน้ำหนักสมจริง กระทั่งสมมติว่าถ้ามีใครมาบอกผมว่า นี่คือเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นจริง ผมก็พร้อมจะเชื่ออย่างสนิทใจทันที


ความเหนือชั้นของมาร์เกซใน “หมายเหตุฆาตกรรม” นั้น ผมรู้สึกของผมเองนะครับว่า เขาเนรมิตดลบันดาลสิ่งต่าง ๆ ได้ดั่งใจราวกับเป็นพระเจ้า คอยกำหนดควบคุมความเป็นไปทั้งหมดบนโลก


อ่านแล้วก็ต้องกราบกันงาม ๆ ด้วยความคารวะในฝีมือระดับ “เหนือมนุษย์” กันเลยทีเดียว


(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ “เขียนคาบเส้น” –ยุคแนะนำหนังสือ-ในการเผยแพร่ครั้งนี้ มีการแก้ไขขัดเกลาบ้างเล็กน้อย)

ลูกสาวกาลิเลโอ โดย "นรา"


พูดแบบย่นย่อรวบรัดที่สุด หนังสือเรื่อง Galileo’s Daughter (ฉบับแปลภาษาไทยใช้ชื่อว่า “ธิดากาลิเลโอ”) มีเนื้อหาว่าด้วยการบอกเล่าชีวประวัติของกาลิเลโอ ได้อย่างละเอียดถี่ถ้วนจนใกล้เคียงกับคำว่าสมบูรณ์แบบ


หนังสือเล่มนี้เขียนโดยเดวา โซเบิล (ผมสะกดตามหนังสือฉบับแปลภาษาไทยนะครับ เพราะถ้าผมเจอะเจอแล้วสะกดเองตามลำพัง ก็คงออกมาเป็น “ดาวา โซเบล” เนื่องจากชื่อภาษาอังกฤษของเธอคือ Dawa Sobel) อาชีพหลักของเธอก็คือ การเขียนบทความทางวิทยาศาสตร์ให้แก่นิตยสารชั้นนำหลาย ๆ ฉบับ และประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับ ด้วยการได้รางวัลต่าง ๆ มากมาย


โซเบิลสนใจหลงใหลเรื่องราวของกาลิเลโอมาตั้งแต่วัยเด็ก และบรรลุเป้าหมายความใฝ่ฝันด้วยงานเขียนชิ้นสำคัญอย่าง Galileo’s Daughter ซึ่งเกิดจากการค้นคว้ารวบรวมข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจดหมายจำนวน 124 ฉบับ ที่แม่ชี มาเรีย เซเลสต์ ลูกสาวคนโตของกาลิเลโอ เขียนถึงพ่อของเธอ


เดวา โซเบิลเรียบเรียงเรื่องราวของกาลิเลโอออกมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ และแสดงให้เห็นถึงความขยันขันแข็งในการค้นคว้า รวมทั้งความเก่งกาจในการ “เล่นกับข้อมูล” ไม่เพียงแต่จะบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของกาลิเลโอเอาไว้ค่อนข้างครอบคลุมทุกแง่ทุกมุมเท่านั้น ทว่ายังสามารถอธิบายให้เห็นถึงขั้นตอนต่าง ๆ เกี่ยวกับแนวความคิดและการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องราวในเชิงวิชาการที่ซับซ้อน ให้กลายเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ผู้อ่านสามารถติดตามได้อย่างเข้าอกเข้าใจ


นี่ยังไม่นับรวมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยข้อมูลหลักฐาน ซึ่งทำให้หลายเรื่องที่เรา ๆ ท่าน ๆ เคยคิดว่า “รู้” กลายเป็นเรื่องแปลกใหม่ราวกับเพิ่งเคยผ่านตาเป็นครั้งแรก รวมทั้งหลายอย่างที่เชื่อฝังใจไขว้เขว ก็ได้รับการปรับแก้เสียใหม่ให้ถูกต้องยิ่งขึ้น ด้วยรายละเอียดของหลักฐานอันน่าเชื่อถือ (ยิ่งกว่า)


ที่น่าทึ่งก็คือ ลีลาการเขียนที่กระชับฉับไวและมีชีวิตชีวา นอกจากจะทำให้ประวัติชีวิตอันดูเหมือนจะเต็มไปด้วยความหนักอึ้งตึงเครียดของกาลิเลโอ กลายเป็นเรื่องชวนอ่านชวนติดตามอย่างยิ่งแล้ว โซเบลยังเก่งกาจในการค่อย ๆ โน้มน้าวดึงอารมณ์ของผู้อ่าน ให้เกิดความรู้สึกร่วมคล้อยตามเรื่องราวเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด จนมีคำวิจารณ์เมืองนอกบางชิ้นยกย่องว่า โซเบิลเขียนได้ดีมากกระทั่งผู้อ่านแทบจะได้ยินน้ำเสียงสำเนียงของกาลิเลโอเลยทีเดียว


ใครที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว คงจะทราบดีว่าไม่ใช่คำสรรเสริญเยินยอที่เกินจริง เพราะโซเบิลเลือกใช้ถ้อยความในจดหมายของมาเรีย เซเลสต์, กาลิเลโอ รวมถึงบุคคลต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องห้อมล้อมได้อย่างชาญฉลาดและเนียนมาก จนหลายบทหลายตอนให้ความรู้สึกใกล้เคียงกับการสนทนาโต้ตอบพูดคุยกันในนิยายหรือเรื่องแต่ง


ความยอดเยี่ยมประการถัดมาก็คือ นอกจากจะแจกแจงเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของกาลิเลโอได้อย่างถึงพร้อมแล้ว งานเขียนชิ้นนี้ยังไปได้กว้าง ไกล และลึกซึ้งกว่านั้น โดยสาธยายให้เห็นถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ทางสังคมทั้งในกรุงโรม ฟลอเรนซ์ ละแวกแถบถิ่นชนบท รวมถึงชีวิตปิดล้อมในสำนักนางชี


นี่ยังไม่นับรวมรายละเอียดเบื้องลึกทางการเมืองในอิตาลีและประเทศใกล้เคียง ความเป็นไปสารพัดเหตุการณ์ในแวดวงศาสนา การเกิดโรคระบาดร้ายแรงที่คร่าชีวิตผู้คนไปหลายสิบล้าน ตลอดจนบรรยากาศทางวิชาการในหมู่เหล่าปัญญาชนสมัยนั้น


พูดง่าย ๆ ก็คือ อ่านแล้วก็สามารถจินตนาการเห็นภาพ บรรยากาศ ตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของ “ยุคกลาง” ในยุโรปได้อย่างแจ่มชัด ราวกับเดินทางย้อนเวลาไปด้วยตนเอง


ที่สำคัญคือ ประเด็นว่าด้วยความเชื่อ ศรัทธา และความรัก ซึ่งนำเสนอออกมาได้อย่างซาบซึ้งตรึงใจและสะเทือนอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ภาพของกาลิเลโอทั้งในฐานะนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ และในฐานะมนุษย์ปุถุชนที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ผ่านร้อนผ่านหนาว เจอะเจอความสำเร็จ พบความล้มเหลว กระทำสิ่งถูกต้องและก่อข้อผิดพลาดเอาไว้ครบถ้วน


เหนือสิ่งอื่นใดคือ ความผูกพันห่วงใยอันล้ำลึกระหว่างกาลิเลโอกับลูกสาว ซึ่งเป็นแง่มุมที่น่าประทับใจมากสุดในงานเขียนชิ้นนี้


ผมได้ยินชื่อเสียงเรื่องราวของกาลิเลโอมาตั้งแต่สมัยเรียนตอนเด็ก ๆ ทว่าหลังจากอ่าน Galileo’s Daughter จบลง ผมคิดว่าเพิ่งเริ่มต้นทำความรู้จักเรื่องราวในชีวิตกาลิเลโออย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก และพบว่าที่ผ่าน ๆ มานั้นเป็นความ “ไม่รู้” ที่ว่างเปล่าเหลือเกิน

หมายเหตุ

หนังสือเรื่อง “ธิดากาลิเลโอ” พิมพ์ออกมาเมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว น่าแปลกอยู่เหมือนกันคือ ผมเจอะเจอในร้านหนังสือแห่งหนึ่งแล้วซื้อมา ถัดจากนั้นก็ไม่เคยพบเห็นวางขายที่ไหนอีกเลย
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขออนุญาตลงที่อยู่ของสำนักพิมพ์ไว้ ณ ที่นี้ สำหรับท่านที่สนใจจะได้สามารถติดตามถามไถ่สั่งซื้อกันนะครับ
สำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์ม 104/5 ถนนเชียงใหม่-ฮอด หมู่ 7 ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 52000 โทรศัพท์ 053-271889 โทรสาร 053-275178 e-mail : silkworm@loxinfo.co.th


(เขียนเมื่อประมาณปี 2547 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ “เขียนคาบเส้น” ยุคหลัง ใน Metro Life ซึ่งเป็นเซ็คชันที่พ่วงมากับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันเสาร์ เดิมผมใช้ชื่อคอลัมน์นี้ เพราะกำหนดเนื้อหาเอาไว้ว่าจะเป็นเช่นเดียวกับ “เขียนคาบเส้น” ยุคแรก แต่ทำไปทำมา ผมเกิดเบื่อขึ้นมาเสียเอง จึงกลายมาเป็นคอลัมน์ประเภทแนะนำหนังสือไปโดยปริยาย ในการเผยแพร่ครั้งนี้ ผมแก้ไขเฉพาะคำที่สะกดผิด ที่เหลือคงไว้ตามเดิม)

วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

พจนานุกลมฉบับเหลี่ยม โดย "นรา"


จู่ ๆ ผมเกิดนึกเบื่อ ๆ การทำตัวไร้สาระเป็นพวก “อวิชาการ” ขึ้นมาฉับพลัน ก็เลยอยากทำอะไรให้ประเทืองปัญญา (โดยไม่เกี่ยวข้องกับคนชื่อ “ประเทือง” และคนชื่อ “ปัญญา”) ดูบ้าง


คิดอยู่หลายอย่าง เริ่มตั้งแต่เดินสายต่างจังหวัดสาธิตนโยบาย “จะใช้เงิน 73, 000 ล้านบาทให้หมดเกลี้ยงอย่างไรภายใน 7 วัน” แต่เนื่องจากไม่มีโทรทัศน์ช่องไหนมาถ่ายทอดสดให้เป็น “เรียลลิตี้โชว์” ตี๋ตัวจริงหรือ “เรียลลิตี๋” อย่างผมจึงเกิดอาการจ๋อยไปแบบไม่ประสงค์จะออกเงิน (จ่ายภาษี แหม พูดแล้วเขินครับ) แต่อยากออกนามและอยากได้หน้า


กิ๊กกะโปรเจคท์ถัดมาคือ เขียนบทความขนาดยืดและยาวและย้วยผสมยื้อเรื่อง “119 หนังที่แนะนำให้นายกรัฐมนตรีดู” แต่อ่านข่าวหนังสือพิมพ์พบว่า หมู่นี้ท่านไม่ค่อยว่าง ต้องเดินทางไปต่างจังหวัดในจังหวัดต่าง ๆ เกรงว่าเขียนไปแล้ว ท่านไม่มีเวลาดู ก็จะเสียเที่ยว เข้าข่าย “ตำแม่น้ำละลายน้ำพริก” ไปเสียเปล่า ๆ


คิดไปคิดมา กระทั่งขี้นกตกหล่นใส่หัว ผมก็เกิดอาการโป๊ะเชะ มีแรงจูงใจที่จะจูงมือตัวเองเขียน “พจนานุกลมฉบับเหลี่ยม” ขึ้นมาอ่านเล่น ๆ ประมาณว่าดีกว่าอยู่เปล่า ๆ สมดังภาษิตจีน “เจียะป้าบ่อสื่อ” (แปลว่า “กินอิ่มแล้วไม่มีอะไรทำ”)


ถ้อยคำทั้งหมดและความหมายที่ให้ไว้ ไม่มีนัยยะแอบแฝง ไม่เกี่ยวกับการเมือง ไม่ได้เจาะจงจะระบุพาดพิงถึงใครคนหนึ่งคนใดทั้งสิ้น ผมมั่วผมถั่วผมแถไถลไปเรื่อยเปื่อย ไม่ได้เรียงลำดับตามตัวอักษร รวมทั้งยังปราศจากหลักเกณฑ์ทางด้านไวยากรณ์ แกรมม่า และแกรมมี่มารองรับ

เรื่องทั้งหมดก็เป็นหยั่งงี้แหละครับท่านสารวัตร

พจนานุกลมฉบับเหลี่ยม


กุ๊ย – พวกที่ชอบมาบอกให้เราไม่สบายใจ รำคาญใจว่า “กิ๊ว ๆ หน้าไม่อาย”

ลูกโอ๊ค - เกิดจากต้นโอ๊ค เป็นที่มาของสำนวน “ลูกโอ๊คหล่นไม่ไกลต้น”

จิ๊บจ๊อย - จำนวนค่าปรับอันน้อยนิด ถ้าท่านเป็น “ลูกโอ๊คหล่นไม่ไกลต้น”

ยุบสภา - คำแปลภาษาไทยของชื่อเพลง I Started a Joke (ร้องโดยวงบีจีส์)

บริติช เวอร์จิ้น - เกาะที่ร่ำลือกันว่าเป็นแหล่งฟอกเงิน

การเลือกตั้ง – กระบวนการที่ร่ำลือกันว่าเป็นวิธีฟอกตัว (ไม่เกี่ยวกับการเมืองนะครับ เป็นเรื่องของสุขอนามัยล้วน ๆ เลย)

ถอยสองก้าว - ความเคลื่อนไหวก่อนเตะลูกจุดโทษ ซึ่งฝ่ายตรงข้ามเสียเปรียบทุกวิถีทาง มิหนำซ้ำลูกจุดโทษที่ได้ กรรมการยังเป่าเข้าข้างจนน่าเกลียด

ระบบผูกขาดอำนาจ - กับดักที่คนวางกลายเป็นฝ่ายติดกับเสียเอง

เด็กนาย - ผู้ใหญ่ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ไม่เป็นตัวของตัวเอง ต้องอิงแอบพึ่งพาผู้อุปถัมภ์ค้ำจุน จึงต้องมีคำว่า “เด็ก” นำหน้า “นาย” อีกที สามารถใช้ได้กับบุคคลทั้ง 2 เพศ


Get Out!!! - คำที่คนชอบพูดไทยปนอังกฤษบางคนฟังแล้วไม่ get

ขาประจำ - ขาข้างที่อาภัพ มักจะโชคร้ายดวงซวยเหยียบขี้หมาอยู่เป็นประจำ

ทำเนียบรัฐบาล - สถานที่ต้องห้ามสำหรับคนใจไม่ถึง

19 ล้านเสียง - จำนวนตัวเลขที่ในทางคณิตศาสตร์ สามารถคำนวณไปคำนวณมาแล้วได้ผลลัพธ์เท่ากับ “หนึ่งเสียงที่ก้าวร้าว”

ไอทีวี (ITV) - โทรทัศน์ที่ป่วยเป็นหวัด มีอาการไอและเจ็บคอเรื้อรัง จนกระทั่งพูดความจริงได้ไม่ค่อยเต็มปากเต็มคำ

เฮียเครียด - เดิมทีเป็นฉายาของโชเซ่ มูริญโญ่ ผู้จัดการทีมฟุตบอลเชลซี บุคลิกก้าวร้าว ปากร้าย ยะโสโอหัง ไม่ค่อยมีน้ำใจนักกีฬา ถนัดในการพูดจาทิ่มแทงสร้างศัตรูไปทั่วทุกสารทิศ ปัจจุบันเป็นฉายาของเฮียเครียดอีกคน (ซึ่งเป็น “คนที่คุณก็รู้ว่าใคร”)

คนที่คุณก็รู้ว่าใคร - ฉายาของตัวละครในนิยายเรื่อง Harry Potter (ซึ่ง “ใครก็รู้ว่าคุณ” เป็นคนเขียนคำนิยม) เป็นจอมมารชั่วร้าย น่าสะพรึงกลัว น่ารังเกียจ ส่วนในชีวิตจริงจะหมายถึงใครนั้น กรุณาเดากันเอาเอง

ทรท. - แปลว่า “เท่งรักเท่ง” (หรือ “ทื่อรักทื่อ” ก็ได้) นะครับ อันนี้เป็นชื่อไทยที่ผมคิดเล่น ๆ ให้กับหนังเรื่อง Brokeback Moutain ไม่เกี่ยวกับการเมืองเลยจริง ๆ

ลาออก - ลาเป็นสัตว์สี่เท้าชนิดหนึ่ง รูปร่างคล้ายม้าแต่ตัวเล็กกว่า ในนิทานอีสป มันซื่อบื้อถึงขนาดกินแต่น้ำค้าง จนอดตาย เพราะอยากมีเสียงไพเราะเหมือนจิ้งหรีด ส่วนในนิทานอีแสบ (ผมยืมชื่อนี้มาใช้จากคุณวินทร์ เลียววาริณ โดยไม่ได้รับอนุญาตและละเมิดลิขสิทธิ์เต็ม ๆ เลย) หมายถึงคนฉลาดที่ไม่กินน้ำค้าง แต่กินทุกอย่างที่ขวางหน้าแบบมูมมาม โดยผ่านวิธีการยอกย้อนซับซ้อนมาก จนท้ายที่สุดก็ดูไม่ค่อยฉลาด ส่งผลให้โหงวเฮ้งของ “ลา” ค่อย ๆ ปรากฏ “ออก” สู่สายตาประชาชน ต่อมาความหมายเพี้ยนเป็น “ลายออก” หรือ “ออกลาย” เรียกแบบลูกทุ่ง ๆ เป็นไทย ๆ ได้อีกอย่างว่า “ควายเข้าฉาก”

ปากพล่อย – อาการ ”หลุด” หรือ “ลาออก” หรือ “ออกลาย” ทางวาจา หลุดทีไรเสียฟอร์มและเสียสุนัขทุกที

ชาติหน้าตอนสาย ๆ - ศัพท์ใหม่ในวงการธรรมะ และวงการไอที แปลว่า “เวรกรรมตามทันแบบออนไลน์ไฮสปีด”

ง่าว - แปลแบบเอาสีข้างเข้าถูคือ กุ๊ยที่ไม่ยอมปฏิบัติตนเป็นกองเชียร์ แต่แปลแบบจริง ๆ หมายถึง คนที่ยิ่งกว่าโง่ และมีคุณสมบัติเหมาะจะเป็นพระเอกมิวสิควิดีโอเพลง “ช่างไม่รู้อะไรบ้างเลย” เวอร์ชั่นใหม่ได้อย่างสบาย ๆ

เสียสละ - แปลตรงตัวตามถ้อยคำทุกประการ ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่คนบางคน (โปรดดูคำแปลความหมายที่ 2 ของคำว่า “ง่าว”) ดันไม่ค่อยเข้าใจ และคิดไปว่าเป็นคำย่อของใจความเต็ม ๆ ที่ว่า “ต้องเสียต้องจ่ายเท่าไหร่ล่ะ ถึงจะได้อยู่ในตำแหน่งต่อไปนาน ๆ”

สภาโจ๊ก - 1. ชื่ออย่างเป็นทางการของวงการตลก 2. ศูนย์อาหารที่ขายเฉพาะโจ๊ก 3. เละตุ้มเป๊ะ

ภาษีเงินได้ - สิ่งของที่ไม่เสีย ไม่ต้องระบุวันหมดอายุ และไม่ต้องจ่ายถ้าซื้อขายกันในตลาด (อะไรผมเองก็ไม่ทราบ) แต่ที่น่าแปลกคือ ถ้าซื้อขายกันในตลาดสด กลับกลายเป็นว่า “เสีย” แฮะ

กลต. - คำย่อของเนื้อเพลงฮิตในอดีตท่อนหนึ่งที่ว่า “เก้าล้านความระกำ ช้ำชอกใจที่เธอทำไว้นั่น ฉันเค้นมันกลั่นออกเป็นน้ำตา”

ยึดทรัพย์ - ผลข้างเคียงของการ “ยัด” แบบไม่บันยะบันยัง ซึ่งภาษาวัยรุ่นเรียกว่า “ซึบ” (เพี้ยนเสียงมาจากคำว่า “ซุก” อีกที เพื่อให้สามารถผวนได้)

อัครดีล - แปลว่า “อัคร-ยำ” และมีนัยยะพาดพิงไปถึง “ไอ้คนระยำ” แต่เนื่องจากเป็นภาษาที่ไม่ค่อยสุภาพ จึงนิยมใช้ “อัคร-ยำ” มากกว่า

ผลประโยชน์ทับซ้อน -“ทับ” นี่น่าจะหมายถึงกด “ซ้อน” นี่เดาว่าน่าจะกดหลายที (หรืออาจจะกดโดยหลายคนเป็นหมู่คณะ) จึงสันนิษฐานว่าอาจเป็นที่มาของคำว่า “กฎหมู่” ส่วนผลประโยชน์นี่น่าจะหมายถึง สิ่งที่ทำแล้วมีความสุข รวม ๆ กันแล้ว เอ๊ะ นี่มันแปลว่า “ข่มขืน” นี่หว่า

กฎหมู่ - ดูคำว่า “ผลประโยชน์ทับซ้อน”

กติกา - แปลว่า กติกู

กติกู - กฎ กติกา มารยาทที่พวกกุ๊ย “กะติกู” ตั้งแง่หาเรื่องจับผิดไปหมด คนเราจะไม่มีอะไรดีบ้างเลยหรือไง หือ?

เนวิน - นามสกุลของกัปตันทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งแฟน ๆ ลิเวอร์พูลในเมืองไทยเรียกว่า “ยี้ห้อย” บ้าง “ลูกกะเป๋ง” บ้าง โอ๊ะ ขอโทษอีกทีครับ คำสะกดที่ถูกต้องควรจะเป็น “เนวิลล์” แต่ไหน ๆ ก็ผิดไปแล้ว เลยตามเลยก็แล้วกัน ส่วนชื่อหน้าของเขาคือ แกร์รี (ซึ่งแฟนหงส์นินทาว่า มาจาก “scary” ที่แปลว่า “น่าเกลียด น่ากลัว”) ได้ชื่อว่าเป็นนักฟุตบอลที่ขี้เหร่ที่สุดในอังกฤษและที่บุรีแรม (อันนี้อยู่ตรงไหนผมก็ไม่รู้เหมือนกัน)

กุนซือ - เดิมทีแปลว่า “ที่ปรึกษา” ล่าสุดมี 2 ความหมายเพิ่มเติมคือ “ตุ๊กตาเสียกะบาล” และ “ผีหัวขาด”

จริยธรรม - คำที่กุ๊ยถามถึง แต่คนง่าว (ในความหมายที่ 2) ดันไม่รู้จัก และไม่เคยมีอยู่ในตัว

กร่อย - รสชาติของโจ๊กสำเร็จรูปยี่ห้อใหม่ ซึ่งจะวางจำหน่ายทั่วประเทศในวันที่ 2 เมษายน

ปากกล้า ขาสั่น - อาการปกติของคนที่กินแบบไม่สำรวม (คือ กินไป กระดิกเท้าเขย่าขาไปเรื่อย)

บันได - สิ่งที่คนง่าว (ในความหมายที่ 2) ใช้ไม่เป็น

ม็อบ - ถ้าเชียร์เราเรียกว่าผู้สนับสนุน ถ้าไล่เราเรียกว่าผู้ก่อความวุ่นวาย

ประชานิยม - ของแท้ได้แก่ละครเกาหลีเรื่อง “แดจังกึม” ส่วนของปลอมนั้นหาดูได้ทั่วราชอาณาจักร

เว้นวรรค - การเว้นที่ว่างหรือช่องไฟระหว่างประโยคเวลาเขียนหนังสือ แต่สำหรับบางคนอาจมีค่าเท่ากับเครื่องหมายในภาษาอังกฤษที่เรียกว่า จุดฟุลสต๊อป

เหลี่ยมจัด - รูปทรงเรขาคณิตแบบหนึ่ง ที่ได้รับการออกแบบมาเป็นอย่างดี ใครที่คาดเดาเข้าใจว่าจะหมายถึง เทคนิคในการซื้อขายหุ้นให้ได้กำไร ไม่ต้องจ่ายภาษี หรือทำนายว่าจะพาดพิงถึงรูปลักษณ์หน้าตาของคนโน้นคนนี้ เสียใจด้วยครับ เดาผิดทั้งเพ การให้ความหมายไม่อยู่กับร่องกับรอยเช่นนี้ วงการฟุตบอลเรียกว่า “สับขาหลอก” ซึ่งแปลว่า “เหลี่ยมจัด” ได้อีกเหมือนกัน

นายหญิง - หลังบ้าน

หลังบ้าน - นายหญิง

นายหญิง - บ๊ะ! ก็แปลไปแล้ว ยังสงสัยกันอยู่ได้ รู้ ๆ กันอยู่คนเราก็ต้องกลัวเมียกันบ้าง ใครจะไปกล้าแปล ปัดธ่อ!

ซุกหุ้น - กิจกรรมที่ทำแล้วเกิดผลปนเป “ทั้งซุกทั้งถุก” ว้า!!! เขียนผิด “ทั้งทุกข์ทั้งสุข” วงการมะพร้าว วงการมวย วงการหมวย วงการตี๋ วงการเข้าคิวซื้อโรตีบอย และวงการพระเครื่องให้นิยามไว้ว่า “กรรมอันเป็นบ่อเกิดแห่งทุกขลาภ”

ท้ากกกกกก...ษิณ- คำยอดฮิตมาแรงทั้งแซงทั้งซิ่งวิ่งฉิวไปทั่วทุกหัวระแหง แปลง่าย ๆ ว่า “ออก…ไป”

ท้ากกกกกก...ษิณ - คำที่วงการนักเลงโวแข็บ (vocab) ทั่วโลก คาดว่าจะได้รับความนิยมตามคอนเสิร์ตแทนคำว่า “Encore” นั่นคือ ลึก ๆ แล้วมันกระตุ้นเร้าให้ผู้ได้ยินนึกโดยพร้อมเพรียงว่า “เอาอีก” ว่าแล้วก็ “ท้ากกก…ษิณ….ออก…ไป”

ท้ากกกกก...ษิณ - สภาวะซ้ำ ๆ ที่เกิดขึ้นได้ไม่รู้จบ เช่น “ท้ากกกก…ษิณ…ออก…ไป…ท้าก…ษิณ…ออก…ไป…ท้าก…ษิณ…ออก…ไป” ฯลฯ




(เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2549 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "มนุษย์ไร้สาระวีหนึ่ง" เว็บไซต์โอเพนออนไลน์ ในการเผยแพร่คราวนี้ ผมปล่อยทุกอย่างคงไว้ตามเดิม โดยไม่ได้แก้ไข หลาย ๆ คำจึงอาจจะพ้นยุคไปบ้าง)






วันเสาร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ซีรีส์ฝรั่ง โดย "นรา"


ช่วงนี้ผมกำลังติดซีรีส์หนังฝรั่งงอมแงมเหนียวหนึบ

จริง ๆ แล้วก็เคยรับรู้และได้ยินกิตติศัพท์คำร่ำลือว่าสนุกเจ๋งเป้งมาเนิ่นนาน แต่ผมนั้นเป็นเด็ก “เรียนเลว ฐานะยากจน” ไม่มีปัญญาสมัครเป็นสมาชิกเคเบิลทีวี จึงเชยแหลกล่าช้าอดดูมาร่วมสิบปี เวลาพรรคพวกเพื่อนฝูงคุยกันถึงซีรีส์ใหม่ ๆ ผมก็รู้จักอยู่แค่เรื่องเดียวคือ Friends ( มิหนำซ้ำยังรู้จักเฉพาะ seasons แรกอีกต่างหาก)

นี่เป็นปมด้อยรอยด่างทางด้านรสนิยมในการเสพงานบันเทิง ถึงขั้นทำให้ผมโตขึ้นมาเป็น “เด็กมีปัญหา” เป็นภาระแก่สังคมและประเทศชาติ
ปัญหาที่ว่านี่คือ ปัญหาเป็นเด็กหน้าแก่ แต่รสนิยมไม่อัพเดตนะครับ

พอได้ดูพวกซีรีส์ของฝรั่งเข้าจริง ๆ ผมก็มีคำแนะนำ 2-3 อย่าง สำหรับท่านที่ยังไม่เคยดู ถือเป็นข้อพึงระมัดระวัง หรือคำเตือน (ประเทศเรานี่มีคำเตือนเยอะนะครับ ตั้งแต่สลากยา เครื่องดื่มบำรุงกำลัง บุหรี่ สุรา ดีวีดี วีซีดี และรายการทีวี ฯลฯ)

คำเตือนอันดับแรกก็คือ ซีรีส์ของฝรั่งนั้น สนุกจริง ดีจริง แต่ก็อาจส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียง คล้าย ๆ เชื้อโรคดื้อยา คือ ทำให้ดูละครโทรทัศน์ของไทยไม่สนุก ทำให้ดูหนังฮอลลีวูดที่ฉายตามโรงไม่สนุก

เหตุผลนั้นง่าย ๆ ครับ คือ ตามกฎของป๋าดัน (ซึ่งสามารถมั่วนิ่มเรียกได้อีกอย่างว่า “ความกดดัน”) อะไรก็ตามที่มีรสชาติคล้ายใกล้เคียงกัน อันที่เข้มข้นจัดจ้านกว่า จะส่งผลให้อีกอันจืดกว่าไปโดยปริยาย เช่น กินทองหยอดฝอยทองก่อนซดกาแฟ จะส่งผลให้กาแฟ (ซึ่งเติมน้ำตาลประมาณสองช้อน) ปราศจากรสหวานไปทันที

แม้จะเป็นงานที่สร้างออกฉายทางทีวี (และล่าสุดขยายกิจการทำเป็นแผ่นดีวีดีด้วย) แต่ซีรีส์ฝรั่งก็มีมาตรฐานสูง ทั้งงานด้านการเขียนบท (ซึ่งรวบรวมมือเขียนบทชั้นดีจำนวนมาก) และงานสร้าง (ล่าสุดผมดูเบื้องหลังของซีรีส์เรื่อง Lost กล้องที่เขาใช้ถ่ายคือ กล้อง Panavision ซึ่งกระทั่งหนังไทยเรายังไม่มีปัญญาเช่ามาใช้เลยนะครับ)

คำเตือนถัดมาคือ การดูซีรีส์นั้นอาจส่งผลให้เกิดอาการเสพติด แย่งชิงเวลาในชีวิตไปเยอะ จะทยอยดูแบบเก็บเล็กผสมน้อยวันละนิดก็ทำได้ยาก เนื่องจากเริ่มต้นดูไปสักตอนสองตอน ก็หลุดเข้าสู่ภาวะ “หยุดไม่ได้” ต่อมอยากรู้อยากเห็นแผ่ซ่าน ต้องตะลุยดูรวดเดียวไปจนจบ กลายเป็น “หมีแพนด้ามีปัญหา” (หน้าแก่ แถมยังขอบตาดำคล้ำ)

ผมเจออาการติดงอมแงม รั้งไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ กู่ไม่กลับ และหลับไม่ลง จากการดูซีรีส์อย่าง Desperate House Wife, Lost และ Grey’s Anatomy พรรคพวกผมหลายคนดูแล้วเกิดอาการสนุกเร้าใจมาก ถึงขนาด “มือสั่น” ขณะเปลี่ยนแผ่นเพื่อติดตามตอนต่อไป (อีกเรื่องที่ร่ำลือกันว่าสนุกสาหัส จนเพื่อนแนะนำว่า ก่อนดูให้ซื้อผ้าอ้อมมาใส่ เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลาแวะเข้าห้องน้ำก็คือ 24)

ผลข้างเคียงประการสุดท้ายก็คือ บรรดาซีรีส์ทั้งหลายเมื่อติดเข้าให้แล้ว จะก่อให้เกิด
อาการทุรนทุรายกระวนกระวายใจ ระหว่างจบซีซั่น (ด้วยอารมณ์ค้างคา) และยังไม่มีซีซั่นใหม่ ๆ ออกมาให้ดู หรือไม่มีซีรีส์ดี ๆ ชุดอื่นให้ติดตาม

อีตอนนี้แหละครับ ชีวิตจะเคว้งคว้างว่างโหวงไร้จุดหมายถึงขีดสุด ยิ่งกว่าเลิกกับแฟนสามคนรวมกันเสียอีก (โวหารพาไปนะครับ ในชีวิตจริงผมน่าจะใช้เวลาเกิดใหม่สามชาติ เพื่อจะเลิกกับแฟนรวมแล้วให้ได้หนึ่งคน) จะเดินหน้าลุยต่อก็ไม่มีอะไรให้ดู (ยกเว้นว่า หันไปติดตามซีรีส์หนังเกาหลี ซึ่งผมยังไม่ได้ลงมือทำการทดลองว่าจะได้ผลอย่างไร) จะถอยหลังหันมาดูละครโทรทัศน์หลังข่าว ก็หันกลับไม่ค่อยถูกและไม่สนุกเหมือนที่เคยเป็น

ผมนั้นมีปัญหาส่วนตัวเพิ่มเติมในการดูซีรีส์อีกอย่างหนึ่ง (นอกเหนือจากปัญหาหน้าแก่) นั่นคือ ความจำสั้น จะให้ดูแบบคนอเมริกันที่ติดตามทีละตอนทีละสัปดาห์ก็ไม่ได้ เพราะจะลืมหมด จนต่อไม่ติด ต้องดูกันทีละซีซั่นเป็นอย่างต่ำ กระนั้นก็ยังเอาไม่อยู่ พอเว้นช่วงกลับมาดูซีซั่นถัดมา ผมก็ต้องหยิบเอาที่เคยดูมารื้อฟื้นใหม่จนหมด

ยกตัวอย่างเช่น (คำเตือน:ย่อหน้าต่อไปนี้อาจจะอ่านแล้วงง ผู้ปกครองโปรดพิจารณาและให้คำแนะนำแก่บุตรหลานด้วย) ผมดู Friends ปี 1 จบ พอจะเริ่มปี 2 ผมก็ต้องกลับไปดูปี 1 อีกครั้ง (งงหรือยังครับ) พอจะเริ่มปี 3 ผมก็ต้องย้อนดูปี 1 และปี 2 ทำอย่างนี้เรื่อยไปจนกระทั่งถึงปีที่ 10 ซึ่งทำให้ผมต้องวกกลับไปดูปีที่ 1 ถึง 10 เที่ยว (เอาล่ะ อ่านถึงตรงนี้ก็ควรจะงงได้แล้วนะครับ)

ที่แย่กว่านั้นก็คือ ผมเริ่มติดซีรีส์ (เพิ่งนึกได้ว่าลืมแปล “ซีรีส์” นี่เรียกกันง่าย ๆ ว่า “หนังชุด” นะครับ) พร้อม ๆ กันทีเดียวประมาณ 4-5 เรื่อง เมื่อดูจบแล้ว ก็เกิดอาการค็อกเทล คือนำเอาอันโน้นมาผสมกับอันนี้มั่วไปหมด

เวรกรรมมีจริงครับ ทุกอย่างเป็นไปตามที่แม่ค้าส้มตำผู้มีจิตใจธัมมะธัมโมแถวบ้านผมว่าไว้ (ส้มตำเจ้านี้มีสโลแกนประจำร้านว่า “ตำดีได้ดี ตำซั่วได้ซั่ว”) ผมดูซีรีส์แบบมั่ว ๆ เหตุการณ์จึงปนเปกันอีรุงตุงนัง กลายเป็นจับฉ่ายอีกเรื่องหนึ่ง ว่าด้วยกลุ่มแม่บ้านหมอฝึกหัดเครื่องบินตกไปติดอยู่บนเกาะร้างพิลึกพิลั่นที่อะไรก็สามารถเกิดขึ้นและเป็นไปได้หมด

อย่างไรก็ตาม ข้อดีของการดูซีรีส์ฝรั่งก็มีอยู่ ผมคิดว่างานกลุ่มนี้ เป็นแบบอย่างตำราชั้นดีในการฝึกฝนเกี่ยวกับ “วิธีการเล่าเรื่อง” ชนิด “ซัดคนดูอยู่หมัด” (ใครที่ใฝ่ฝันอยากทำงานเป็นคนเขียนบท ผมขอแนะนำให้ดูซีรีส์พวกนี้เยอะ ๆ)

จริง ๆ แล้วซีรีส์ฝรั่งนี่ก็น้ำเน่านะครับ เต็มไปด้วยฉากคุ้นเคยที่เห็นกันมานักต่อนักนับครั้งไม่ถ้วน พูดตรง ๆ ก็คือ ไม่ใช่งานสร้างสรรค์แปลกใหม่บริสุทธิ์ แต่ทีเด็ดทีขาดก็คือ การเล่นกับเรื่องเก่า ๆ ได้อย่างแม่นยำ รวมทั้งมีวิธีบิดวิธีพลิกผันฉีกออกไปจนเหนือความคาดหมาย (ตรงตามหลักการของหลวงพ่อวิลเลียมส์ โกลด์แมน มือเขียนบทชั้นครู ซึ่งกล่าวถึงเคล็ดลับในการสร้างตอนจบชั้นดีเอาไว้ว่า “ควรจบในแบบที่ผู้ชมอยากเห็น แต่ด้วยวิธีการที่พวกเขานึกไม่ถึง”) ซีรีส์ดัง ๆ ของฝรั่ง ล้วนเต็มไปด้วยอะไรทำนองนี้อยู่ตลอดเวลา

จะเป็นข้อดีหรือข้อเสียก็ไม่รู้นะครับ ระหว่างดูซีรีส์เหล่านี้ นอกเหนือจากดูเพื่อความบันเทิงและทรมานสังขารตนเองแล้ว ถ้ามีโอกาสสิ่งหนึ่งซึ่งผมพยายามทำอยู่เสมอก็คือ ทำใจเป็นคนเขียนบท สมมติล่วงหน้าว่าตรงนี้ควรจะคลี่คลายอย่างไรต่อไป พูดง่าย ๆ คือ เล่มเกมทายใจคนเขียนบท

เกมนี้ ผมเดาถูกเป๊ะ ๆ ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ คาดเดาได้คร่าว ๆ ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ว่าประเดี๋ยวเรื่องจะต้องมาถึงแนว ๆ นี้ ส่วนอีก 50 เปอร์เซ็นต์ผิดกระจุยกระจาย

พูดแบบให้ตัวเองดูดี ผมคิดว่านี่เป็นการดูเพื่อให้รู้เท่าทัน แต่พูดแบบให้ฟังดูเลว จะเรียกว่ามันเป็นอาการฟุ้งซ่านของคนที่กินอิ่มแล้วไม่มีอะไรทำก็ได้เช่นกัน

รายงานเชิง “อวิชาการ” เรื่องเอาซีรีส์มาขายสวน สอนจระเข้ให้ไปเที่ยวฟาร์มจระเข้ (เพื่อหาเงินค่าเรื่องสำหรับดูซีรีส์อื่น ๆ) ก็จบลงเพียงเท่านี้ ผมได้ยินมาแว่ว ๆ ว่าซีรีส์เรื่อง nip/tuck และ Veronica Mars ก็น่าดูไม่หยอก ต้องรีบไปหามาดูซะหน่อย





(เขียนเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2550 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ Romantic Comedy นิตยสาร Hamburger)

วันพุธที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

เรียงความในใจเรื่อง "ดินสอแท่งนั้น" โดย "นรา"



หลายปีมาแล้ว ผมเคยได้รับของขวัญชิ้นหนึ่ง


สำหรับผม นั่นคือของขวัญที่น่าประทับใจมาก ๆ


มันเป็นดินสอไม้ธรรมดา ไม่มีอะไรหรูหราพิศดาร ราคาค่างวดนั้น ถ้าพิจารณาจากรูปร่างหน้าตาภายนอก ก็พอจะคาดเดาได้ทันทีว่า ไม่น่าจะเกินสิบบาท


แต่ดินสอแท่งนั้นก็มีผลสะเทือนใหญ่หลวงต่อความคิด และความเชื่อในการทำงานของผมมาจนกระทั่งทุกวันนี้


หรือจะพูดให้ฟังดูขรึมขลังอลังการไปไกลก็ต้องบอกว่า รวมถึงการใช้ชีวิตของผมด้วย


ผมเองก็เชื่อชนิดปักแน่นฝังลึกเสียด้วยสิ ว่ามันเป็นไปได้ถึงเพียงนั้นจริง ๆ


สิ่งที่ทำให้มันแตกต่างจากดินสอทั่วไป มีอยู่เพียงประการเดียว


สิ่งที่ทำให้มันกลายเป็นของขวัญอันล้ำค่า มีอยู่เพียงประการเดียว


สิ่งที่ทำให้ผมจดจำมันได้ไม่รู้ลืม มีอยู่เพียงประการเดียว


สิ่งนั้นคือ ตัวอักษรข้อความสั้น ๆ แปดพยางค์ ที่พิมพ์ประทับไว้ตรงแนวขวางของด้ามดินสอ


เป็นข้อความที่เขียนไว้ว่า "ดินสอแท่งนี้ไม่มียางลบ"


ผมใช้ดินสอแท่งที่ว่าหมดไปนานแล้ว


แต่ละครั้งที่ใช้มันเป็นเครื่องมือในการเขียน ผมอดไม่ได้ที่จะหยิบยกขึ้นมาอ่านดูข้อความดังกล่าวอยู่บ่อย ๆ


พร้อมทั้งถือวิสาสะคิดในใจว่า น่าจะเพิ่มเติมถ้อยคำเข้าไปอีกสักนิดเป็น "อย่าเขียนอะไรผิด ๆ ดินสอแท่งนี้ไม่มียางลบ"


จากนั้นมันก็โน้มน้าวหว่อนล้อมให้ผมลงมือเขียนทีละตัวอักษรอย่างช้า ๆ ด้วยความระมัดระวัง พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะเขียนให้ "ไม่ผิด"


เพราะดินสอแท่งนี้ไม่มียางลบ


ใช้บ่อย ๆ เข้า ความระมัดระวังของผมก็แตกขยายเพิ่มพูน ไม่ได้กวดขันเข้มงวดกับตนเองเฉพาะแค่การเขียนสะกัดตัวอักษรให้ถูกต้องเท่านั้น แต่ยังรวมความครอบคลุมไปสู่การลำดับเนื้อความก่อนหลังให้ชัดเจนไม่สับสน จนถึงประเด็นความคิดทัศนะต่าง ๆ ที่ปรากฎในงานเขียน


พูดให้ชัดก็คือ ไม่ได้ระมัดระวังแค่ความถูกต้องแม่นยำในข้อเขียนหรือคุณภาพของเนื้องานเท่านั้น แต่ยังต้องระมัดระวังมิให้ผิดพลาดฉกาจฉกรรจ์


ความผิดพลาดในที่นี้ผมหมายถึง อะไรก็ตามที่จะส่งผลลบเป็นโทษต่อผู้อ่าน เป็นการทำลายมากกว่าสร้างสรรค์ และนำพาความเดือดร้อนเสียหายสู่ส่วนรวม


ถึงกระนั้น ในการทำงานเขียนทุกชิ้น ผมก็ยังเขียนผิดสะกดผิด เต็มไปด้วยการขีดฆ่าแก้ไขโยงใยไปมามากมาย จนใครผ่านมาพบเห็นเข้าอาจเวียนหัวตาลายไปกับความยุ่งเหยิงไร้ระเบียบได้ไม่ยาก


ขนาดกำชับตักเตือนตนเองให้เขียนด้วยความระมัดระวังแล้ว ผมก็ยังผิดได้มากได้บ่อย สาเหตุอาจจะเพราะอาการใจลอยขาดสมาธิ บางครั้งก็เนื่องมาจากความรู้ยังไม่แตกฉานเท่าที่ควร บางครั้งก็เลินเล่อเพราะเงื่อนไขกระชั้นชิดทางด้านเวลาบีบบังคับให้ต้องรีบเร่ง จนทำให้รัดกุมไม่เพียงพอ


เหนือสิ่งอื่นใดคือ ข้อผิดพลาดที่พบบ่อยสุดเกิดขึ้นเพราะความคิดอ่านความเห็นต่อบางเรื่องยังเข้าใจได้ไม่ตกผลึกถ่องแท้ อาจจะด้วยข้อจำกัดทางด้านสติปัญญา และอาจจะด้วยอารมณ์ผลีผลามใจเร็วรีบด่วนสรุป กระทั่งเผลอไผลพิพากษาความดีงามอัปลักษณ์ของภูเขาทั้งลูก จากการพิจารณาเศษใบไม้บนพื้นใบเดียว


ทุกวันนี้ผมเปลี่ยนมาใช้ปากกาแทนดินสอ บางคราวก็พิมพ์งานด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์


ผมพบว่า ถึงที่สุดแล้วต่อให้ใช้สอยเครื่องมืออุปกรณ์ใด ๆ ก็ตาม ในการทำงานทุกชิ้น ผมยังโดนควบคุมให้ต้องระมัดระวังด้วยคำว่า "ไม่มียางลบ" เช่นเดิมไม่แปรเปลี่ยน


เรื่องน่าเศร้าก็คือ ในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง บางทีต่อให้ "ระมัดระวัง" เพียงไร ก็ยังคงไม่วายต้องก่อความ "ผิดพลาด" ชนิดนึกไม่ถึงขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่า


ถ้าถือคติ "ผิดเป็นครู" วัดเอาจากความผิดพลาดซ้ำซ้อนจำนวนนับครั้งไม่ถ้วน ป่านนี้ผมก็คงเลื่อนขั้นเป็นอธิการบดีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไปเรียบร้อยแล้วละครับ


อาจเป็นเพราะผม "ระมัดระวัง" ไปพร้อม ๆ กับการทำงานเรียนรู้แบบ "ลองผิดลองถูก" ซึ่งบางครั้งก็มีเส้นแบ่งกั้นกลางที่บางมาก


อย่างไรก็ตาม ด้วยความเชื่อในระบบ "ไม่มียางลบ" ทำให้ผมยิ่งยึดมั่นว่า "ไม่มีคำแก้ตัว" อย่างเหนียวแน่น


ดีก็คือดี แย่ก็คือแย่ พลาดก็คือพลาด เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องยินดีน้อมรับ และนำมาทบทวนพิจารณาอย่างถี่ถ้วน


ในกรณีที่ผิดพลาด คำขอขมาของผมมีเพียงวิธีเดียว คือการสร้างงานชิ้นใหม่ลำดับถัดไปขึ้นมากอบกู้ชดเชยทดแทน


ความเชื่อถัดมาของผมก็คือ "คนเราใช้ชีวิตมาอย่างไร ก็สร้างโลกออกมาได้เช่นนั้น" ใช้ชีวิตเหลวไหลเลื่อนลอยก็คงทำได้แค่สร้างโลกที่กลวงเปล่าไร้สาระ ใช้ชีวิตมีแก่นสารย่อมสามารถสร้างโลกที่มั่งคั่งไปด้วยภูมิปัญญา


ผมจึงพยายามใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวังแบบเดียวกับในเวลาลงมือทำงานเขียน และแน่นอนเช่นกันว่า เป็นการใช้ชีวิตแบบเรียนรู้ลองผิดลองถูกตลอดเวลา


ในการใช้ชีวิต มีหลายครั้งที่ผมผิดแล้วยังหลงลืมจนพลาดซ้ำสอง และมีหลายครั้งที่หากผิดขึ้นมาแล้ว ต่อให้พยายามสลัดทิ้งหนักหน่วงสาหัสอย่างไรก็ยังคง "ลืมไม่ลง"


เพียงแต่ในการใช้ชีวิต "บทต่อไป" ที่ดีมีคุณภาพนั้น เขียนขึ้นมาชดเชยความผิดพลาดในอดีตได้ยากกว่า


แล้วความคิดของผมก็วกกลับย้อนคืนไปหาดินสอแท่งนั้น และข้อความที่ฝังใจเหล่านั้น




(เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2545 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ “เขียนคาบเส้น” เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ เผยแพร่ที่นี่โดยคงทุกอย่างไว้ตามเดิม บทความชิ้นนี้ไม่ได้รวมอยู่ใน “ข้าวมันเป็ด” เนื่องจากทำต้นฉบับหายและเพิ่งหาเจอ เรื่องที่ผมอยากจะเล่าเพิ่มเติมก็คือว่า สาเหตุที่มาของเรื่องนี้ สืบเนื่องมาจากงานชิ้นหนึ่งชื่อ- “ชินจัง” ไม่ใช่ “ชินจัง”- ซึ่งเขียนด้วยน้ำเสียงในเชิง “ทีเล่น” ตั้งใจจะให้อ่านกันสนุก ๆ เพลิน ๆ นะครับ แต่กลับปรากฎว่า โดนผู้อ่านเข้ามาแสดงความเห็นในเว็บ ก่นด่าแบบสาดเสียเทเสียอย่างดุเดือดรุนแรง จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดเป็นบทความชิ้นนี้ และเป็นวิธีเดียวที่ผมนึกออกในการสื่อสารปรับความเข้าใจกัน แบบหลีกเลี่ยงท่าทีตอบโต้ชวนทะเลาะ ซึ่งจะทำให้เรื่อง “บานปลาย” และ “ไม่จบ”)