วันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

กลิ่นหอมของบ้านเกิด โดย "นรา"


ชายชราผู้หนึ่ง สูญเสียแทบทุกสิ่งในชีวิต ครอบครัวและหมู่บ้านพังพินาศย่อยยับ ผู้คนที่เคยรู้จักชื่อเสียงเรียงนามของเขา ล้วนล้มหายตายจากไปหมดสิ้น เหลือเพียงตัวแกโดยลำพัง

ผู้เฒ่าหมดสิ้นแรงใจและความกระตือรือล้นที่จะมีชีวิตต่อไป แต่เหตุผลประการเดียวที่ทำให้แกยังคงยืนหยัดอยู่ได้โดยไม่ทรุดล้มลงก็คือ หลานสาวซึ่งเป็นเด็กทารกวัยหกสัปดาห์

เขาบอกกล่าวกับตนเองว่า จะต้องมีชีวิตอยู่ เพื่อปกป้องดูแลและทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ดีที่สุดให้แก่ยายหนูจนกว่าแกจะเติบใหญ่

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ชายชราจึงยินยอมอพยพลี้ภัย ละทิ้งแผ่นดินถิ่นเกิด เดินทางรอนแรมไปกับเรือข้ามน้ำข้ามทะเลสู่โลกใหม่ที่เขาไม่รู้จักโดยสิ้นเชิง พร้อมทั้งกระเป๋าหนังใบเล็กๆ และหลานสาวที่กอดกระชับไว้แนบอกภายในกระเป๋าหนัง มีสมบัติล้ำค่าเท่าที่ยังเหลืออยู่ของท่านผู้เฒ่า เสื้อผ้าเก่าๆ ไม่กี่ตัว, ภาพตัวเขาเมื่อครั้งวัยหนุ่มถ่ายคู่กับภรรยาผู้ล่วงลับไปเนิ่นนาน และถุงผ้าใบเล็กบรรจุดินหนึ่งกำมือ-เป็นดินจากบ้านเกิดที่กำลังจะพรากจากกันตลอดกาล

ทั้งหมดนี้คือ จุดเริ่มต้นของนิยายอันยอดเยี่ยมเรื่อง “ซองดิว หลานสาวเมอร์สิเยอร์หลิ่นห์” (La petite fille de Monsieur Linh) เขียนโดยฟิลิปป์ คลอเดล (สำนวนแปลภาษาไทยโดยวิภาดา กิตติโกวิท)

นี่เป็นนิยายที่เพียงได้อ่านหน้าแรก ผ่านตาข้อความแค่ไม่กี่บรรทัด ผมก็ “ตกหลุมรัก” ไปเรียบร้อยแล้ว มันมีความเศร้าหม่นปะปนกับความงามอันละเมียดละไม รวมทั้งลีลาการเขียน สำนวนภาษา ตลอดจนวิธีเปรียบเปรยลึกซึ้งคมคายในแบบที่ผมชื่นชอบประทับใจนะครับ

เป็นรูปแบบลีลาการเขียนที่ผมอยากจะเรียกว่า ซ่อนบทกวีไว้ในนิยาย

ตัวอย่างเช่น “...เขายืนอยู่ที่ท้ายเรือ มองไปยังบ้านเมืองของตัวเอง บ้านเมืองของบรรพบุรุษและญาติมิตร ซึ่งตายจากไปนั้นค่อยๆ ห่างไกล รางเลือน ขณะที่ทารกในอ้อมแขนหลับสนิท ภาพบ้านเกิดถอยห่าง ห่างออกไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นจุดเล็กๆ เมอร์สิเยอร์หลิ่นห์ยืนมองภาพนั้นที่ค่อยๆ เลือนหายจนลับสายตา ณ แนวขอบฟ้า เขายืนอยู่เช่นนั้นนานนับชั่วโมง แม้ลมจะพัดแรงมากจนทำให้เขาซวดเซโงนเงนราวหุ่นกระบอก”

“...ชายชราเดินไปที่หน้าต่าง สายลมไม่ได้ทำให้ต้นไม้ใหญ่เอนไหวอีกแล้ว ราตรีถูกห้อมล้อมอยู่ในเมืองแห่งแสงไฟนับพันๆ ที่สว่างไสว ว่ากันว่าดวงดาวร่วงลงบนปฐพีและหาทางที่จะหนีกลับขึ้นสู่ฟากฟ้าใหม่ แต่ไม่อาจทำได้ เราไม่เคยสามารถหวนกลับไปหาสิ่งที่สูญเสียไปแล้วนั้นได้อีก เมอร์สิเยอร์หลิ่นห์คิดดังนี้”

“ซองดิว หลานสาวเมอร์สิเยอร์หลิ่นห์” ดำเนินไปในบรรยากาศและอารมณ์ห่อหุ้มเช่นนี้ตลอดทั้งเรื่อง โดยให้ความสำคัญกับการพรรณนาสาธยายถึงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร มากกว่ามุ่งเน้นไปที่พล็อตหรือเค้าโครงเหตุการณ์ (ซึ่งเรียบง่ายเหลือเกิน)

เรื่องราวใจความหลักๆ กล่าวถึง การที่คุณปู่พลัดถิ่น ต้องเผชิญความแปลกแยกในสภาพแวดล้อมใหม่ ผู้คนใช้ภาษาที่แตกต่าง จนกลายเป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารทำความเข้าใจ มิหนำซ้ำในหมู่เหล่าคนอพยพด้วยกัน ก็มองชายชราเหมือนตัวประหลาดที่น่าขบขัน

ควบคู่ไปกับการแปลกแยกไม่ลงรอยต่อดินแดนใหม่ ผู้เฒ่าก็มักจะนำเอาสิ่งที่ปรากฎเบื้องหน้าในปัจจุบัน มาเทียบเคียงกับชีวิตความเป็นอยู่เมื่อครั้งอดีต ด้วยอารมณ์โหยหาถวิลถึง

ความรู้สึกแรกสุดของเมอร์สิเยอร์หลิ่นห์ เมื่อเรือเทียบท่าสู่ที่หมายปลายทางในการอพยพก็คือ “เขาสูดกลิ่นอายของประเทศใหม่ แต่ไม่ได้กลิ่นอะไรเลย มันไม่มีกลิ่น นี่คือบ้านเมืองที่ไม่มีกลิ่น”

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมชอบมากในนิยายเรื่องนี้ก็คือ การเล่าด้วยลักษณะบอกกล่าวน้อยนิดแฝงไว้ด้วยความคลุมเครือ ทว่ากินใจความกว้างไพศาล

ตลอดทั้งเรื่องนั้น คุณฟิลิปป์ คลอเดล ไม่ได้ระบุเจาะจงออกมาชัดๆ ตรงๆ สักครั้งเลยนะครับว่า เมอร์สิเยอร์หลิ่นห์มาจากประเทศอะไร และระหกระเหินมาสู่ประเทศอะไร แต่ผู้อ่านก็สามารถทราบได้ไม่ยาก จากรายละเอียดปลีกย่อยเล็กๆ น้อยๆ ว่าเป็นเวียดนามและฝรั่งเศส (ถึงตรงนี้ผมแอบคิดเรื่อยเปื่อยเฉไฉออกนอกเรื่องเล็กน้อยว่า ดินแดนที่คุณปู่แกรู้สึกว่าไม่มีกลิ่น คือประเทศที่เราๆ ท่านๆ นิยมเรียกกันด้วยสมญาว่า “เมืองน้ำหอม” คิดแล้วก็รู้สึกว่ามันมีนัยยะประชดประชันอยู่ลึกๆ โดยที่คนเขียน อาจไม่มีเจตนาให้เป็นเช่นนั้นก็ได้นะครับ)
มีการบอกเล่าอ้อมๆ ทำนองนี้อยู่แพรวพราวเต็มไปหมด และทำได้น่าทึ่งมาก เพราะถ้าบอกน้อยเกินไป ก็อาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ไม่ถี่ถ้วน กระทั่งอาจกลายเป็นสับสนงุนงง และอ่านยากโดยใช่เหตุ ขณะเดียวกันถ้าเปิดเผยเยอะไป ก็อาจแห้งแล้งแข็งทื่อ ขาดชั้นเชิงความแนบเนียน

ความคลุมเครือในนิยายเรื่องนี้ นำเสนอได้อย่างเหมาะเจาะพอดี ให้ความรู้สึกเหมือนถนนหนทาง ตึกรามบ้านเรือน ปกคลุมด้วยหมอกจางๆ เต็มไปด้วยบรรยากาศกึ่งจริงกึ่งฝัน สอดคล้องกับลีลาละเมียดทางด้านภาษา และอารมณ์สวยเศร้าที่มีอยู่ตั้งแต่ต้นจนจบ

เรารู้ว่าเมอร์สิเยอร์หลิ่นห์เป็นคนเวียดนาม ด้วยคำบอกเล่าผ่าน ๆ แค่ไม่กี่ประโยค เกี่ยวกับแผ่นดินถิ่นเกิดของผู้เฒ่าที่ตกอยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด เพราะพิษภัยสงคราม จนผู้คนต้องอพยพหลบหนีลอยเรือเคว้งคว้างไปตายเอาดาบหน้า
เรารู้ว่าเมอร์สิเยอร์หลิ่นห์เดินทางมาสู่ฝรั่งเศส ด้วยรายละเอียดน้อยนิด ในเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่ง

หลังจากถูกจัดแจงให้อยู่ในหอพักสำหรับผู้ลี้ภัย เวลาหลายวันผ่านไป โดยที่ผู้เฒ่าปักหลักเอาแต่กอดหลานสาวอยู่บนเตียงไม่ยอมไปไหน จนกระทั่งหญิงสาวผู้หนึ่งซึ่งทำหน้าที่เป็นล่าม ต้องอธิบายโน้มน้าวให้ชายชราออกไปเดินเล่นสัมผัสอากาศแดดลมภายนอกเสียบ้าง (เมอร์สิเยอร์หลิ่นห์ยินยอมทำตาม ด้วยเหตุผลว่า “การออกไปเดินเล่นจะดีต่อสุขภาพของหลานสาวตัวน้อย”)

เช้าวันหนึ่ง ผู้เฒ่าจึงสวมเสื้อผ้าแทบทุกชุดที่มีอยู่เพื่อให้ร่างกายอบอุ่น โอบอุ้มหลานสาวออกไปเดินเล่น และด้วยความเกรงว่าจะพลัดหลงกลับที่พักไม่ถูก แกจึงเดินอยู่บนทางเท้าเดิม โดยไม่ยอมข้ามถนน กระทั่งวนผ่านที่พักหลายต่อหลายรอบ ก่อนจะหยุดพักเหนื่อยบนม้านั่งฝั่งตรงข้ามกับสวนสาธารณะ

ที่นั่น เมอร์สิเยอร์หลิ่นห์ได้พบกับชายร่างใหญ่ชื่อเมอร์สิเยอร์บาร์ก ทั้งสองพูดคนละภาษา แต่กลับสามารถสื่อสารทำความเข้าใจกันด้วยรอยยิ้ม, สายตา, และการเอื้อมมือสัมผัส

นับจากนั้นมา ทุกๆ วันบนมานั่งฝั่งตรงข้ามสวนสาธารณะ จะปรากฎภาพที่คุ้นตา ผู้ชายสองคนที่รูปลักษณ์แตกต่างตรงข้ามอย่างยิ่งนั่งเคียงข้างกัน โดยมีเด็กหญิงตัวน้อยๆ อยู่ในอ้อมกอดของชายชรา

มิตรภาพที่งอกงามขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้เฒ่าเริ่มรู้สึกว่าดินแดนใหม่ ไม่โหดร้ายเปล่าเปลี่ยวจนเกินไป ยังมีด้านที่อบอุ่น มีสายใยบางอย่างให้รู้สึกผูกพัน

และกลิ่นบุหรี่ที่เมอร์สิเยอร์บาร์กสูบตลอดเวลาแบบมวนต่อมวน ทำให้คุณปู่ผู้ไกลบ้าน สามารถสัมผัสได้เป็นครั้งแรกว่า “ควันบุหรี่ของชายที่อยู่ที่หอพักนั้นน่ากลัว แต่ของเมอร์สิเยอร์บาร์กคนนี้ต่างออกไป กลิ่นของมันหอม เป็นกลิ่นหอมกลิ่นแรกที่บ้านเมืองใหม่นี้ให้แก่เขา และกลิ่นหอมนี้ทำให้เขาคิดถึงกลิ่นกล้องยาสูบที่ผู้ชายในหมู่บ้านสูบกันยามเย็น”

หลังจากนั้น เมอร์สิเยอร์หลิ่นห์ก็ออกปากขอบุหรี่จากเจ้าหน้าที่วันละหนึ่งซอง เพื่อนำมามอบเป็นของขวัญให้แก่เพื่อนใหม่ รวมทั้งสอบถามจากล่ามว่า “สวัสดี” ในภาษาของประเทศนี้พูดอย่างไร ผู้เฒ่าทบทวนซ้ำๆ หลายเที่ยว หลับตาเพื่อตั้งใจจดจำ

“วันหนึ่งล่วงไป ที่ไกลออกไป ดวงตะวันเหมือนจะตกลงไปอย่างรุนแรงบนท้องฟ้า เขาต้องกลับแล้ว ชายร่างใหญ่ไม่มา เมอร์สิเยอร์หลิ่นห์จากไปพร้อมซองบุหรี่ในกระเป๋าเสื้อ และคำว่าบงชูร์ในปากที่ไม่ได้พูดออกมา”

เรารู้ว่าผู้เฒ่าเดินทางมาสู่ฝรั่งเศส ก็จากรายละเอียดตรงนี้นี่เอง

มิตรภาพระหว่างชายต่างสัญชาติทั้งสอง ยังมีแง่มุมอื่นๆ นอกเหนือจากที่ผมหยิบยกมาเล่าสู่กันฟังอีกมาก และเต็มไปด้วยความซาบซึ้งจับอกจับใจอย่างยิ่ง

ผมเข้าใจเป็นการส่วนตัวนะครับว่า แก่นเรื่องของ “ซองดิว หลานสาวเมอร์สิเยอร์หลิ่นห์” มุ่งสะท้อนให้เห็นถึงอารมณ์ทุกข์สุขที่อยู่เบื้องลึกในใจของคนพลัดถิ่น, มิตรภาพอันสวยงามไร้พรมแดนใดๆ มากีดขวางกางกั้น, ความหวังในการดำรงชีวิต ฯลฯ

แต่ในอีกมุมหนึ่งนิยายเรื่องนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงความโหดร้ายของสงครามแบบอ้อมๆ แทนที่จะแสดงผ่านภาพความเสียหายใหญ่โต กลับขมวดรวมมาเล่าผ่านจุดเล็กๆ คือตัวละครอย่างผู้เฒ่าหลิ่นห์

พูดง่ายๆ คือ เฉพาะแค่โศกนาฏกรรมที่กระทบสู่ชีวิตของชายชรา ยังหมองหม่นรันทดเข้าขั้นชวนให้ใจสลายถึงเพียงนี้ ภาพใหญ่โดยรวมทั้งหมดของผู้คนทั้งประเทศ ก็ยิ่งเป็นความสูญเสียย่อยยับ จนแทบไม่กล้าจินตนาการนึกถึงว่าจะหนักหนาสาหัสเพียงไร

นิยายเรื่องนี้จบลงด้วยอารมณ์ทั้งสวยและเศร้า พร้อมๆ กับมีความลับบางอย่างที่เปิดเผยไม่ได้เด็ดขาด (ขอแนะนำว่า เพื่ออรรถรสที่ถึงพร้อม ไม่ควรอ่านข้อความโปรยตรงปกหลังก่อน)

ผมบอกได้เพียงแค่ว่า ผมอ่านนิยายเรื่องนี้จบลงแล้วไม่ได้ร้องไห้เสียน้ำตา แต่เกิดอาการ “ฝนตกหนักในใจ”

จนถึงขณะที่เขียนอยู่นี้ ฝนก็ยังไม่ยอมหยุดตก

(เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 29 กันยายน 2551)

วันอังคารที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เหตุผลที่ควรเดินช้า โดย "นรา"


ช่วงสัปดาห์กว่า ๆ ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ดูหนังเก่าและใหม่อย่างละหนึ่งเรื่อง คือ Tokyo Tower และ Click

Tokyo Tower เป็นหนังประเภทที่ให้ความสำคัญกับรายละเอียดปลีกย่อยมากกว่าพล็อต มีเค้าโครงเบาบาง เน้นการบอกเล่ารายละเอียดกระจัดกระจาย ไม่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน เรื่องคร่าวร่าว ๆ กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกครอบคลุมช่วงเวลาหลายสิบปี

ใจความหลักของหนังก็คือ การแสดงให้เห็นชีวิตช่วงวัยรุ่นของฝ่ายลูก ซึ่งเกิดเหตุก้าวถลำพลาดพลั้งเพราะสิ่งเย้ายวนต่าง ๆ จนเกือบจะล้มเหลวเรียนไม่จบ แต่ก็รอดพ้นมาได้อย่างฉิวเฉียด ด้วยความรักอันไร้ขีดจำกัดของแม่ และมีโอกาสสร้างเนื้อสร้างตัว ประกอบอาชีพการงานมั่นคง จนกระทั่งสามารถกลับมาเป็นฝ่ายดูแลแม่ผู้แก่เฒ่า (และล้มป่วยด้วยโรคร้าย)

จุดเด่นก็คือ มันเป็นหนังชีวิตที่เรียบง่ายเหลือเกิน แม้จะเต็มไปด้วยเหตุการณ์มากมาย ซึ่งสามารถบีบคั้นฟูมฟายเร้าอารมณ์ได้สบาย ๆ ทว่าคนทำหนังกลับหลีกเลี่ยงเสนอแบบผ่าน ๆ ปล่อยให้เรื่องราวค่อย ๆ บดขยี้สร้างความสะเทือนใจทีละน้อยอย่างใจเย็น (ผมประทับใจกับฉากแม่ลูกเดินจูงมือกันข้ามถนนมากเป็นพิเศษ)
ผลลัพธ์สุดท้ายก็คือ อารมณ์เศร้าชนิด “เอาตาย” แบบ feel good

ดูจบแล้ว ผมแทบไม่ได้คิดถึง Tokyo Tower ในแง่มุมของการวิจารณ์เลย และแยกแยะไม่ถูกหรอกว่า หนังดีหรือไม่ดีอย่างไร รู้เพียงอย่างเดียวเท่านั้นเองว่า อยากนั่งรถทัวร์เดินทางไปเยี่ยมแม่ที่ต่างจังหวัดขึ้นมาฉับพลัน

ส่วนเรื่อง Click นั้นมาในทางตรงกันข้าม หน้าตาภายนอกเป็นหนังตลกเต็มตัว ว่าด้วยสถาปนิกหนุ่ม ซึ่งใฝ่ฝันอยากประสบความสำเร็จสูงสุดในอาชีพการงาน จนกระทั่งยินยอมสละเวลาที่ควรจะมีให้แก่ “ครอบครัว”

วันหนึ่ง คุณพระเอกก็พบกับบุรุษลึกลับ และได้รับมอบรีโมทคอนโทรลสารพัดประโยชน์ ไม่เพียงแต่จะสามารถควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ได้แบบเอนกประสงค์เท่านั้น ทว่าอุปกรณ์ดังกล่าวยังสามารถกำหนดความเป็นไปของชีวิตได้อีกด้วย เช่น ย้อนถอยกับไปดูเหตุการณ์ในอดีต, กดปุ่มปิดเสียงของคู่สนทนา, เร่งสปีดสถานการณ์ที่เชื่องช้าให้กระชับฉับไว, หยุดความเคลื่อนไหวรอบข้างชั่วขณะ ฯลฯ

นับจากนั้นสถาปนิกหนุ่มก็ใช้รีโมทคอนโทรลแบบไม่ยั้งมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปุ่มกลไกเกี่ยวกับการเร่งเหตุการณ์เคลื่อนไปสู่ข้างหน้าอย่างฉับไว (เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์น่าอึดอัดรำคาญใจ เช่น ขณะกำลังทะเลาะเบาะแว้งมีปากเสียงกับภรรยา, ช่วงอาบน้ำแต่งตัวยามเช้าก่อนไปทำงาน, ข้ามเหตุการณ์รถติดเสียเวลาบนท้องถนน ฯลฯ) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เร่งรัดเวลาอันเนิ่นนานยืดยาวในการทำงาน เพื่อผ่านเลยไปสู่ความสำเร็จบั้นปลายในชั่วพริบตา

พูดง่าย ๆ ว่า เขาเร่งสปีดเพื่อหลีกเลี่ยงเว้นข้ามห้วงเหตุการณ์ที่มีปัญหา และใช้ความเร็วมาขจัดลบล้างเรื่องที่ต้องใช้เวลารอคอยล่าช้าไม่ทันใจ

ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นคือ ชายหนุ่มทำรายละเอียดต่าง ๆ ในช่วงเร่งรัดให้เวลาคืบหน้ารวดเร็ว ตกหล่นสูญหายไปเกือบหมด กระทั่งเหมือนกับชีวิตที่เคว้งคว้างว่างโหวง เหลือเพียงเหตุปัจจุบันเฉพาะหน้า ทว่าปราศจากเรื่องราวใด ๆ ในอดีตให้จดจำ

ย่ำแย่ร้ายกาจกว่านั้นก็คือ การกดปุ่มเร่งรัดเวลาบ่อยครั้ง ส่งผลให้เครื่องมือวิเศษสารพัดประโยชน์เกิดอาการรวน เร่งรวบเหตุการณ์ไปข้างหน้าอยู่บ่อยครั้ง จากชายหนุ่มกลายเป็นวัยกลางคน ล่วงเลยสู่ช่วงชราภาพโดยรวดเร็ว เกิดเหตุเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ นานาสารพัด และล้วนแต่หนักไปในทางร้ายติดลบ (เช่น ภรรยาขอหย่าร้างชีวิตครอบครัวล้มเหลว ฯลฯ) ความสำเร็จหนึ่งเดียวที่เหลืออยู่ มีเพียงความก้าวหน้าในอาชีพการงานเท่านั้น (เมื่อตัดพ้อต่อว่าบุรุษลึกลับเจ้าของสิ่งประดิษฐ์ ก็ได้รับคำตอบยืนยันว่า ก่อนจะมีรีโมท สถาปนิกหนุ่มก็ใช้ชีวิตเร่งรัดเช่นนี้อยู่ก่อนแล้ว)

ถึงตรงนั้นคุณพระเอกของเราก็พบว่าตนเองโดดเดี่ยวไม่มีใคร และมีแต่อดีตไม่พึงปรารถนา (คือ เหตุชวนหงุดหงิดจนทำให้เขาต้องกดรีโมทเร่งสปีด) เต็มไปหมด
ที่สำคัญคือ เขาใช้ชีวิตแบบเร่งรีบ กระทั่งพล่าผลาญเวลาสูญหายสิ้นเปลือง เป็นชีวิตที่กล่าวได้ว่ามีแต่เค้าโครงเรื่องย่อคร่าว ๆ ปราศจากรายละเอียด เป็นชีวิตที่บรรลุผลตามเป้าหมาย แต่ขาดไร้สิ่งที่เรียกกันว่า ทิวทัศน์ “ระหว่างทาง”

Click ใช้เรื่องราวแบบแฟนตาซีและนิทานสอนใจ มาเปรียบเปรยกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ของคนชั้นกลางในสังคมอเมริกัน ซึ่งบ้างานแบบไม่ลืมหูลืมตา กระทั่งทำลายสายใยผูกพันในครอบครัวล่มสลายพังพินาศ

ที่ผมนึกไม่ถึงก็คือ มันเป็นหนังตลกแค่ครึ่งเดียว เฉพาะช่วงสาธิตแสดงให้เห็นถึงลูกเล่นของรีโมทมหัศจรรย์ พ้นจากนั้นแล้วก็กล่าวได้ว่า เป็นหนังชีวิตสะเทือนอารมณ์ ฉายภาพด้านลบของวิถีความเป็นอยู่แบบทุนนิยม/วัตถุนิยมสุดขั้วได้น่าสะพรึงกลัวมาก

ฉากที่ชวนให้ใจสลายเป็นอย่างยิ่งคือ เมื่อคุณพระเอกเพิ่งทราบข่าวว่าพ่อของตนเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว เขาพยายามกดปุ่มย้อนอดีตก็พบเพียงความว่างเปล่า (เนื่องจากตอนที่พ่อเสียชีวิต เขาไม่ได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ด้วย) สิ่งที่ทำได้มากสุด จึงเป็นแค่ย้อนกลับไปยังการพบปะกันครั้งสุดท้าย ซึ่งเขานั่งหมกมุ่นคร่ำเคร่งอยู่กับงานในออฟฟิศ พ่อผู้ชราภาพเข้ามาชักชวนไปหากิจกรรมผ่อนคลายหลังเลิกงาน แต่ฝ่ายลูกกลับตอบปฏิเสธแบบไร้เยื่อใย (และไม่ยอมแม้แต่จะเสียเวลาชั่วครู่ เงยหน้าขึ้นมามองด้วยซ้ำ) ที่เจ็บปวดสุด เขายังพูดจาไม่ยั้งคิดทำร้ายจิตใจผู้เฒ่าอย่างรุนแรงเกินให้อภัย

เมื่อย้อนหลังกลับไปดูอดีตที่ไม่อาจแก้ไข คุณพระเอกของเรา จึงทำได้มากสุดเพียงแค่ “หยุดความเคลื่อนไหว” ขณะที่พ่อกำลังเดินหันจากมาด้วยอาการใจสลาย ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก่อนจะบอกกล่าวสารภาพความในใจว่า “พ่อครับ ผมรักพ่อ” ในวาระที่ทุกสิ่งทุกอย่าง “สายเกินไป”

แม้จะเป็นหนังที่นำเสนอด้วยอารมณ์และบรรยากาศห้อมล้อม ผิดแผกแตกต่างกันอยู่เยอะ แต่จุดร่วมประการหนึ่งที่ Tokyo Tower และ Click มีอยู่ตรงกันก็คือ ประเด็นว่าด้วยความรักความผูกพันระหว่างพ่อแม่ลูก การชี้ชวนให้ผู้ชมหันมาตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของช่วงหนึ่งในชีวิต-ซึ่งไม่ยาวนานนัก-ที่มีอยู่ร่วมกัน (และควรจะใช้สอยมันอย่างคุ้มค่าเปี่ยมความหมาย)

ขอสารภาพว่า ผมดูแล้วน้ำตาร่วงทั้งสองเรื่อง และเมื่อนึกทบทวนความหลังอย่างตรงไปตรงมา ล้วนเคยก่อความผิดพลาดเช่นเดียวกับตัวละครในหนัง ทั้งการทำตัวเหลวไหลให้เป็นภาระหนักอกของพ่อแม่ และการเลือกวิถีชีวิตเร่งรีบ จนละทิ้งใส่ใจต่อสมาชิกในครอบครัวน้อยเกินไป

สมัยวัยรุ่นนั้น พฤติกรรมแบบไร้เดียงสาไม่เข้าใจโลกของผม ทำให้แม่ต้องกลัดกลุ้มเสียน้ำตาอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็พูดได้อีกเช่นกันว่า น้ำตาของแม่เป็นสิ่งเดียวที่เหนี่ยวรั้งให้ผมสามารถรอดพ้นจากการเสียผู้เสียคน กลับมาเกิดสติใช้ชีวิตอยู่บนหนทางที่ถูกที่ควร

คล้อยหลังจากนั้น ในการสนทนาหลายต่อหลายครั้ง แม่มักจะบอกกับผมอยู่เสมอว่า แค่เพียงไม่ต้องหวาดวิตกกังวลเรื่องลูกจะเดินผิดก้าวพลาด มีอาชีพการงานที่สุจริต และสามารถเลี้ยงดูตนเองได้โดยไม่เดือดร้อน นั่นถือได้ว่าเป็นความสุขสูงสุดของแม่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้แม่จะไม่เคยพูดออกมาตรง ๆ แต่ผมเชื่อว่า กระทั่งทุกวันนี้ แม่ก็ยังไม่เคยเลิกหรือหยุดห่วงใยบรรดาลูก ๆ

เวลาอาจจะเคลื่อนผ่านไม่เคยหยุดนิ่ง ทำให้คนเราเกิดการเปลี่ยนสถานะจากวัยหนึ่งสู่อีกวัยหนึ่งอย่างรวดเร็ว แต่ในสายตาและมุมมองของผู้เป็นแม่ ลูกทุกคนยังคงเป็นเสมือนลูกนกหัดบิน ที่ต้องเฝ้ามองสอดส่องด้วยความระมัดระวังใส่ใจอยู่เสมอ

นอกเหนือจากการดูแลแม่ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว ผมคิดว่าสิ่งสำคัญอีกประการที่ลูกทุกคนพึงกระทำก็คือ การเดินช้า ๆ บินช้า ๆ อย่างรอบคอบรัดกุม เพื่อให้แม่วิตกกังวลห่วงใยน้อยสุด

การเดินช้าหรือบินช้าในที่นี้ ผมหมายถึงทัศนคติต่อการทำงานและการใช้ชีวิต

ผมนั้นไม่ใช่คนบ้างาน ปราศจากเป้าหมายไกล ๆ หรือแผนการว่าจะต้องทำโน่นทำนี่ใหญ่โตให้สำเร็จภายในระยะเวลาเท่านั้นเท่านี้

เป้าหมายใกล้ตัวของผมจึงมีอยู่แค่ ทำงานเฉพาะหน้าให้ดีที่สุด และทำอย่างเต็มที่ตามกำลังสติปัญญาจะเอื้ออำนวย แสวงหารายรับพอเหมาะสม ไม่เป็นหนี้ใคร มีเงินพอจับจ่ายใช้สอยเท่าที่จำเป็น เหลือเก็บออมไว้ส่วนหนึ่งสำหรับรับมือกับกรณีฉุกเฉิน

พ้นจากนี้แล้ว สิ่งสำคัญสูงสุดก็คือ การใช้เวลาดูแลทุกข์สุขซึ่งกันและกันกับคนรอบข้างที่รักใคร่ผูกพันเท่านั้นนะครับ

ส่วนความสำเร็จหรือชื่อเสียงลาภยศ ผมคิดว่าไม่จำเป็น ทุกสิ่งทุกอย่างมันจบลงตั้งแต่ผมทำงานเสร็จแล้ว ถ้างานออกมาเป็นที่พึงพอใจ มีประโยชน์ทางหนึ่งทางใดต่อผู้อ่านอยู่บ้าง นั่นนับเป็นความสำเร็จ ในทางตรงข้าม หากออกมาบกพร่อง ผมถือว่าเป็นความล้มเหลวสุดขีดที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงมิให้ผิดพลาดซ้ำสอง

เปรียบการใช้ชีวิตเหมือนการเดินทาง ผมให้น้ำหนักความสำคัญกับ “ระหว่างทาง” มากกว่า “เป้าหมาย” กล่าวคือ ที่สุดแล้วจะไปถึงไหนก็ไม่เป็นไร แต่เส้นทางหรือวิธีการนั้น ควรจะอยู่บนความถูกต้องดีงาม เป็นวิถีที่สามารถก้าวเดินด้วยความสุขสงบ

ผมเชื่อต่อไปอีกนิดว่า เส้นทางมุ่งสู่สรวงสวรรค์ ไม่น่าจะบรรลุถึงด้วยวิธีการเหยียบย่ำผู้อื่น แต่สมควรเป็นการประคับประคองช่วยเหลือหยิบยื่นน้ำใจไมตรีต่อกันและกันมากกว่า

อย่างไรก็ตาม เรื่องความเชื่อส่วนบุคคล แต่ละท่านอาจจะคิดเห็นแตกต่างกันได้ และยิ่งไม่ควรมีการใช้ความเชื่อแบบหนึ่ง ไปตัดสินความเชื่อที่เห็นต่างไม่ตรงกันว่าเป็นสิ่งเลวร้าย

ผมเพียงแต่มั่นใจว่า แม่คงจะมีความสุขขึ้นมาสักเล็กน้อย ถ้ารู้ว่าการเดินช้า, ความเชื่อ และทัศนคติต่าง ๆ ของผมในปัจจุบัน จะทำให้แม่ลดทอนความกังวลห่วงใยต่อผมลงไปได้บ้าง

ผมเคยทำให้แม่เสียใจและร้องไห้มาแล้วบ่อยครั้ง ซึ่งเป็นความผิดพลาดที่ไม่อาจลบล้างไถ่ถอน แต่ข้อดีงามอย่างหนึ่งของชีวิตก็คือ ยังมีโอกาสอีกมากมายในการทำให้แม่เกิดรอยยิ้มอย่างมีความสุข

แม่ผมอ่านหนังสือไม่ออกนะครับ แต่ผมก็อยากจะเขียนถึงเรื่องเหล่านี้ เพื่อแม่และทุก ๆ คนที่เป็นแม่


(เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2551 เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน นำมาลงในบล็อกให้อ่านกันอีกครั้ง เนื่องในวาระวันแม่นะครับ)

คืนนั้นดวงจันทร์ส่องแสงเหมือนหยาดน้ำตา โดย "นรา"







ชื่อบทความชิ้นนี้ อาจชวนให้เข้าใจล่วงหน้าไขว้เขวอยู่สักหน่อยว่า คงจะเกี่ยวข้องกับเรื่องรักหวานขมสะเทือนอารมณ์

ไม่ใช่หรอกนะครับ แท้จริงแล้วผมนำมาจากประโยคหนึ่งที่ปรากฎในตอนท้าย ๆ ของนิยายเรื่อง Animal’s People (ฉบับภาษาไทยใช้ชื่อ “เรียกผมว่า ไ...อ้สัตว์” สำนวนแปลโดยวิภาดา กิตติโกวิท) ซึ่งมีรายละเอียดเนื้อใน ห่างไกลจากเรื่องรักโรแมนติคอยู่เยอะทีเดียว

นิยายยอดเยี่ยมเรื่องนี้ เชื่อมโยงอยู่กับเหตุโศกนาฎกรรมที่เคยเกิดขึ้นจริง ในเมืองโภปัล ประเทศอินเดียเมื่อปี 1984

กลางดึกคืนวันที่ 3 ธันวาคม ปีนั้น เกิดเหตุระเบิดในโรงงานผลิตยาฆ่าแมลงของบริษัทยูเนียนคาร์ไบด์ ส่งผลให้สารเคมีและก้าซพิษรั่วไหลแพร่กระจายไปทั่วเมืองโภปัล คร่าชีวิตชาวบ้านประมาณสองพันคนในทันที และล้มตายอีกราว ๆ สองหมื่นในเวลาต่อมา

กรณีดังกล่าว เรียกขานกันว่า “หายนะที่เมืองโภปัล” เป็นอุบัติเหตุเกี่ยวกับสารพิษที่รุนแรงสาหัสมากสุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก ที่น่าสะเทือนใจยิ่งก็คือ หลังจากค่ำคืนแห่งโศกนาฎกรรมผ่านพ้นไปแล้ว พิษร้ายยังแทรกซึมปนเปื้อนอยู่ในพื้นดินและน้ำดื่ม ส่งผลให้ชาวเมืองนับแสนคน ล้มป่วยและพิการ

เหตุดังกล่าวผ่านพ้นล่วงเลยมา 20 กว่าปีแล้ว ทว่าบริษัท ยูเนียนคาร์ไบด์ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญ ได้หนีจากหายไปโดยไม่เหลียวแลรับผิดชอบ กระทั่งกลายเป็นคดีฟ้องร้องที่ยังคงยืดเยื้อคาราคาซังมาจนถึงปัจจุบัน

เป็นการต่อสู้เพื่อทวงถามเรียกร้องความยุติธรรม ระหว่าง 2 ฝ่ายที่แตกต่างเหลื่อมล้ำกันสุดขั้ว ฝ่ายหนึ่งคือชาวบ้านผู้ยากไร้ขัดสน (แถมยังเจ็บป่วย) มีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่เลวร้ายเสมือนดังพำนักอาศัยใน “นรกบนดิน” กับอีกฝ่ายคือ บริษัทยักษ์ใหญ่ทุนข้ามชาติที่มีพร้อมทั้งกำลังเงิน, อำนาจ, อิทธิพล และเครือข่ายกว้างขวางในการประชาสัมพันธ์สร้างภาพ รวมทั้งว่าจ้างทนายความเก่ง ๆ มาเล่นแง่ทางด้านตัวบทกฎหมาย

ยิ่งไปกว่านั้น ทางบริษัทยักษ์ใหญ่ ยังใช้เงื่อนไขทางด้าน “การลงทุน” ในอินเดีย เป็นกลไกสำคัญในการกดบีบข้าราชการและรัฐบาลอินเดีย กระทั่งเกิดอาการ “เอาหูไปนา เอาตาไปไร่” เพิกเฉยมองข้ามความทุกข์ยากลำบากของชาวบ้าน และไม่ดำเนินไปตามครรลองอันถูกต้องถ่องแท้ของกระบวนการยุติธรรม

ผู้เขียนนิยายเรื่อง Animal’s People คือ อินทรา สิงห์เกิดในอินเดีย เติบโตที่บอมเบย์ เรียนจบปริญญาตรีทางด้านวรรณคดีจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และเคยมีอาชีพเป็นก็อปปีไรเตอร์เขียนข้อความโฆษณาให้แก่เอเยนซีชื่อดังในอังกฤษ

ในปี 1994 เขาได้รับการไหว้วานร้องขอให้ช่วยรณรงค์ เพื่อระดมทุนก่อตั้งคลีนิครักษาฟรีให้แก่ชาวเมืองโภปัล จึงเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน กระทั่งได้รับการสนับสนุนท่วมท้นล้นหลามจากผู้อ่าน และกลายเป็นจุดเริ่มต้นนำพาเขาเข้าไปสัมผัสรับรู้ปัญหาความทุก์ยากเดือดร้อนชนิดหยั่งลงสู่รากลึก

ถัดจากนั้นอินทรา สิงห์ก็ได้เขียนบทความเกี่ยวกับ “หายนะที่เมืองโภปัล” อีกหลายต่อหลายครั้ง และมีบันทึกข้อมูลจำนวนหนึ่ง ซึ่งตระเตรียมใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับเขียนบทหนังเรื่อง Bhopal Express ในปี (เดิมหนังเรื่องนี้ใช้ชื่อว่า Green Song)

นั่นคือ จุดเริ่มต้นสำหรับความคิดที่จะนำบันทึกข้อมูลดังกล่าว มาเขียนดัดแปลงเสียใหม่เป็นนิยายเกี่ยวกับโศกนาฎกรรมที่โภปาล

อินทรา สิงห์เริ่มลงมือเขียนนิยายในช่วงฤดูร้อนปี 2001 แต่ผลลัพธ์ที่ออกมากลับไม่น่าพึงพอใจนัก จนกระทั่งได้พบกับสองบุคคลที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ

มีเพื่อนบางคนมาบอกเล่าให้เขาฟังถึง ชายหนุ่มพิการชื่อสุนิล กุมาร ซึ่งมีกระดูกหลังคดงอ จนต้องเดินสี่เท้า ถัดมาลูกสาวของอินทรา สิงห์เล่าให้ฟังว่า เธอไปพบแม่ชีชราชาวฝรั่งเศส ซึ่งหลงลืมภาษาอื่น ๆ หมดสิ้น จดจำได้เพียงแต่ภาษาฝรั่งเศสที่นางเคยพูดเมื่อครั้งวัยเด็ก

ทั้งสองกลายเป็นที่มาแรงบันดาลให้แก่ตัวละครสำคัญในนิยาย คือ ชานวร (อ่านว่า ชาน-นะ-วอน) และแม่ชีฟรองซี

เมื่อค้นพบตัวละครอย่างชานวร ก็เหมือนกับอินทรา สิงห์เล็งเห็นหนทางสว่างในการเขียนนิยายเรื่องนี้นะครับ คือ รู้ว่าจะบอกเล่าเรียงลำดับเหตุการณ์ เชื่อมโยงร้อยเรียงข้อมูลอันกระจัดกระจายให้เป็นเอกภาพกลมกลืนกันได้อย่างไร

อินทรา สิงห์ใช้เวลาเขียนเรื่อง Animal’s People อยู่ประมาณ 5 ปี จึงเสร็จสิ้นสมบูรณ์

ในนิยายเขาได้สร้างเมืองสมมติขึ้นมาชื่อเขาฟ์ปุระ (khaufpur) และไม่ระบุชื่อบริษัทยักษ์ใหญ่เจ้าของโรงงานต้นเหตุสารพิษรั่ว แต่กล่าวถึงเพียงแค่ในนาม “กัมปานี” เหตุผลก็เพราะเขาไม่ต้องการให้ข้อเท็จจริงตลอดจนข้อมูลต่าง ๆ มาเป็นกรอบจำกัดจินตนาการส่วนตัวในการเล่าเรื่อง

ที่สำคัญ เจตนาในการเขียนนิยายเรื่องนี้ของอินทรา สิงห์ (จากคำให้สัมภาษณ์โดยตัวเขาเอง) ต้องการบอกเล่าถึงชีวิตของผู้คน (ซึ่งมีนัยยะเชื่อมโยงพาดพิงไปถึงชาวเมืองโภปัล) สิ่งที่พวกเขารู้สึกนึกคิด ชะตากรรมทุกข์ยากที่พบเผชิญ สภาพความเป็นอยู่ ฯลฯ มากกว่าจะพูดถึงลำดับความเป็นมาเป็นไปต่าง ๆ ของเหตุการณ์ “หายนะที่เมืองโภปัล” โดยตรง (อันเป็นสิ่งที่ชาวโลกรับทราบกันดีอยู่แล้ว)

“เรียกผมว่า ไ...อ้ สัตว์” เป็นนิยายที่สามารถสะกดตรึงผู้อ่านตั้งแต่เริ่มเรื่อง โดยให้ตัวเอกบอกกล่าวทักทายกับผู้อ่านว่า “ครั้งหนึ่งผมเคยเป็นมนุษย์...”

ขอสารภาพว่า เหตุผลเพียงหนึ่งเดียวที่ทำให้ผมเสี่ยงซื้อนิยายเรื่องนี้ โดยไม่ทราบอะไรมาก่อนเลย ก็เพราะวรรคทองนี้เอง กล่าวคือ ผมเชื่อเป็นการส่วนตัวว่า ถ้าลำพังแค่ประโยคเริ่มต้นยังเฉียบคมถึงเพียงนี้ รายละเอียดอื่น ๆ ถัดมาก็น่าจะดีเยี่ยม (ผลปรากฎว่า ผมเดาถูกนะครับ)

เรื่องทั้งหมดเล่าผ่านมุมมองของชานวร โดยกำหนดให้เขาอัดเสียงคำพูดตนเองลงในเครื่องบันทึกเทป ตามคำขอร้องจากนักข่าวชาวตะวันตก (ซึ่งไม่ได้ปรากฎตัวมีบทบาทเลยตลอดทั้งเรื่อง)

ชานวรเกิดมาได้เพียงแค่ไม่กี่วัน ก็ประสบเหตุ “คืนนั้น” จนทำให้พ่อแม่ของเขาเสียชีวิต ส่วนทารกน้อยรอดตาย ได้รับการเลี้ยงดูและเติบโตมาในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าโดยแม่ชีฟรองซี (ซึ่งเคยพูดได้หลายภาษา แต่หลังจากโดนก้าซพิษเข้าไป ก็ลืมเลือนหมด สามารถสื่อสารได้แค่ภาษาฝรั่งเศส และเชื่อเป็นตุเป็นตะว่า ภาษาอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ไม่ใช่ภาษามนุษย์)

จนกระทั่งเมื่ออายุหกขวบ ชานวรก็เกิดอาการไข้ขึ้น ปวดร้าวไปทั้งตัว หลังจากนั้นโครงกระดูกบริเวณกลางหลังก็คดงอบิดเบี้ยว กระทั่งไม่อาจยืนตัวตรงและเดินสองเท้าได้เหมือนผู้คนอื่น ๆ ต้องใช้มือคืบคลานค้ำยันเหมือนสัตว์สี่เท้า

นั่นเป็นที่มาของชื่อชานวร (แปลว่า “สัตว์” ในต้นฉบับภาษาอังกฤษเรียกชื่อตัวละครว่า Animal) ซึ่งเกิดจากการเรียกขานด้วยน้ำเสียงล้อเลียนของคนรอบข้าง

ปมด้อยและความพิกลพิการดังกล่าว รวมทั้งสภาพจิตใจที่มีอาการวิกลจริตอยู่บ้าง ส่งผลให้ชานวร ขมขื่นคับแค้นและรู้สึกว่าตนเองผิดประหลาดไม่เข้าพวกกับผู้อื่น เขาจึงสร้างเกาะคุ้มกัน ด้วยการเลือกข้างยืนกรานที่จะเป็น “สัตว์” และปฏิเสธความเป็น “มนุษย์” (และมักจะหยิบยกมาเป็นเหตุผลข้ออ้างอย่างดื้อรั้นอยู่บ่อยครั้ง ในการไม่ยอมประพฤติตนตามกติกาของสังคมส่วนรวม)

ความไม่ปกติของชานวรนี่แหละครับ คือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คำบอกเล่าต่าง ๆ ที่ปรากฎในนิยายเรื่องนี้ “พิสดาร” และเต็มไปด้วยรสชาติหลากหลายชวนอ่าน ทั้งตลกขบขัน ช่างเหน็บแนม เย้ยหยัน ละเมียดละเอียดอ่อน ก้าวร้าวหยาบคาย มีลีลางดงามเหมือนบทกวี ดิบเถื่อนสากกร้านชวนพะอืดพะอม ความเข้มข้นสมจริง รวมไปถึงบรรยากาศในเชิงอุปมาอุปมัยจนเหนือจริง (เช่น การที่เขาได้ยินเสียงต่าง ๆ มากมายในหัวพูดคุยกันเอง หรือแม้กระทั่งสามารถคุยกับซากทารกสองหัวที่ดองน้ำยาในขวดโหล)

นิยายเรื่องนี้ ไม่ได้มีพล็อตหรือเค้าโครงหวือหวา แต่ในรายละเอียดที่บอกเล่าอย่างลื่นไหลฉวัดเฉวียน มันเป็นเรื่องว่าด้วยมุมมองของสัตว์ (ชานวร) ซึ่งมีต่อผู้คนหลากหลายชีวิตที่ห้อมล้อมอยู่รอบ ๆ ตัวเขา, ว่าด้วยผู้คนจำนวนหนึ่ง ที่มีเปลือกนอกและสภาพความเป็นอยู่อัปลักษณ์ทุเรศนัยน์ตา แต่เปี่ยมด้วยจิตใจสวยงาม, ว่าด้วยมนุษยธรรมอันซาบซึ้งน่าประทับใจบนชะตากรรมรันทดหดหู่, ว่าด้วยตัวละครที่เป็นสัตว์ทางกายภาพ แต่มีจิตใจเป็นมนุษยที่แท้ไม่ด้อยไปกว่าใคร, ว่าด้วยการต่อสู้ระหว่างความดีกับความเลว, ว่าด้วยศรัทธามุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว บนสภาพความเป็นจริงที่แทบไม่เหลืออะไรให้หวังหรือยึดเหนี่ยว, ว่าด้วยสวรรค์บนดินที่กลายเป็นนรกเพียงชั่วข้ามคืน และนรกอันยาวนานที่มีมุมหนึ่งของสรวงสวรรค์แฝงซ่อนอยู่

เหนือสิ่งอื่นใดคือ การที่ชานวรใช้วิธีเยาะเย้ยตอบโต้ทุกข์ยากโศกนาฎกรรมของตนเอง ด้วยอารมณ์ขันอันชาญฉลาดคมคาย

บางรายละเอียดในนิยายเรื่องนี้ โหดร้ายทารุณและเศร้าสลดหดหู่ทำร้ายจิตใจ เกินกว่าที่ผมจะกล้าใช้คำว่า “สนุก” แต่โดยรวมแล้วผมสรุปได้ว่า Animal’s People เป็นนิยายที่เขียนได้อย่างมีชีวิตชีวา ชนิดหยิบอ่านแล้ววางไม่ลง นี่เป็นโศกนาฏกรรมที่บอกเล่าอย่างรื่นรมย์หรรษา และทำให้อ่านจบลงด้วยรอยยิ้มเปื้อนหยดน้ำตา

โดยเฉพาะช่วงสองสามบทท้าย ๆ (ประมาณ 70 หน้ากระดาษ) อินทรา สิงห์ เขียนได้ประณีตวิจิตรทรงพลังอย่างยิ่ง และเล่นงานจู่โจมกระหน่ำโบยตีอารมณ์ของผู้อ่านหนักหน่วง ทั้งตื่นเต้นระทึกใจ, ทั้งโศกสลดจนกลั้นน้ำตาไม่อยู่, ทั้งสยดสยองน่ากลัวราวกับฝันร้าย

ที่สำคัญมันนำเสนอบทสรุปในแบบไม่เป็นสูตรสำเร็จ ไม่ได้จบอย่างสุขสดชื่นสมหวัง หรือจบแบบโศกนาฎกรรมทำร้ายจิตใจ แต่เป็นการลงเอยที่เปี่ยมความหวัง งดงาม ก่อเกิดศรัทธาต่อการมีชีวิตและความเป็นมนุษย์อย่างแรงกล้า เป็นการจบโดยปล่อยให้เหตุการณ์ต่าง ๆ และตัวละคร ยังคงมีชีวิตโลดแล่นอยู่ในใจของผู้อ่าน

นี่คือ นิยายที่น่าประทับใจมากสุดอีกเรื่องหนึ่งในชีวิตการอ่านของผม






(เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2551 ตีพิมพ์และเผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ในการเพยแพร่คราวนี้ คงไว้ตามเดิมทุกอย่าง ไม่ได้แก้ไขขัดเกลาใด ๆ แต่อยากจะยืนยันอีกครั้งว่า เป็นหนังสือที่ยอดเยี่ยมมาก และขอแนะนำอย่างออกนอกหน้า

พร้อม ๆ กันนี้ ก็ต้องขออภัยสำหรับการหายหัวหายตัวหายหน้าหายตาไปหลายเดือน ช่วงที่ผ่านมา ผมออกไปใช้ชีวิตโลดโผนผจญภัย ทำให้เกิดความอัตคัดขาดแคลนเวลาสำหรับดูแลบล็อก ตอนนี้ราชการบ้านเมืองก็คลี่คลายไปเยอะแล้ว คงจะกลับสู่ภาวะปกติ และเจอะเจอกันบ่อยขึ้นในเร็ววันนี้นะครับ)

วันเสาร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

นิทานข้างผนัง (ตอนจบ):ภาพที่เกินมา โดย "นรา"












ตะวันคล้อยต่ำสาดสีหมากสุก ลมโกรกจากป่าผ่านมาสู่ทุ่ง จำเรียงนั่งเหม่อลอยอยู่หน้ากระท่อม นับแต่พ่อแผ้วผัวรัก รับอาสาพระครูสังเขียนภาพมารประจญในโบสถ์ ล่วงถึงบัดนี้ก็เจ็ดเดือนเข้าให้แล้ว

เห็นหลังคาโบสถ์อยู่ลิบ ๆ สุดตา รู้แน่ว่าเจ้าแผ้วอยู่ ณ ที่นั้น แต่ก็ไม่อาจเยี่ยมสู่พบปะ ที่ใกล้เพียงตาแลเห็น ก็กลายเสมือนดั่งไกลสุดตา เลือนรางประหนึ่งเป็นเพียงเงาจาง ๆ ของความฝันอันคลุมเครือ

คล้อยหลังจากพรากกันเพียงมินาน จำเรียงก็พบว่าตัวเจ้านั้นตั้งท้อง จึงรีบตรงไปทำบุญที่วัด บอกกล่าวให้พระครูขรัวเฒ่ารู้ข่าว หวังว่าท่านจะเล่าต่อให้เจ้าแผ้วที่กักตัวเองเขียนรูปในโบสถ์ได้รู้ แลเมื่อมันรู้ การที่ยังคั่งค้างอยู่ ก็จักเร่งมือให้แล้วเสร็จในเร็ววัน

นับแต่นั้นสืบมา ทุกย่ำค่ำจำเรียงก็จับจ้องมองไปยังทิศที่ตั้งของโบสถ์ ชะเง้อชะแง้แลหาว่าเมื่อไร ผัวรักจึงจะกลับ

จำเรียงมิได้ฉุกใจคิดเลยสักนิดว่า พระครูสังเก็บงำข่าวที่มันตั้งท้องไว้มิดชิด มิได้บอกกล่าวให้แผ้วล่วงรู้

๑๐
เป็นเพลาข้างขึ้น เดือนเด่นจันทร์ลอย ทั่วหมู่บ้านแลคล้ายกำลังหลับ ไร้สุ้มเสียงผู้คน มีเพียงแมลงกลางคืนกรีดร้องระงม แว่วมาจากตรงนั้น ตรงนี้ อื้ออึงสลับกันไป

แต่พระครูสังยังมิอาจข่มตาหลับ ขรัวเฒ่าเฝ้าคิดตรองไม่ตกว่าควรทำกระไรดี จะแจ้งข่าวให้แผ้วรู้ว่าเมียมันท้อง ก็เกรงทำร้ายเจ้าหนุ่มให้สมาธิแตกซ่าน เป็นภัยแก่มันยิ่งนัก ครั้นจะนิ่งเฉยอมพะนำ ก็ผิดบาปทั้งละเมิดศีลมุสาโป้ปด บอกกล่าวความจริงไม่หมด คล้ายดั่งท่านเป็นใจรู้เห็น พรากผัวเมียจากกัน

ครั้นแล้วท่านพระครูก็พอจะคิดอ่านหาหนทางคลี่คลาย จึงมุ่งตรงไปยังโบสถ์กลางวิกาล

“แผ้วเอ๊ย หลับรึยัง?” พระครูสังเคาะประตูเรียกขาน
“ยังขอรับ” เสียงขานรับจากเจ้าแผ้วดังลอดประตูออกมา
“ข้ามีเรื่องจะหารือกับเอ็ง” ขรัวเฒ่ากล่าวช้า ๆ ชัดถ้อยชัดความ
“การอันใดขอรับ หลงพ่อ” เสียงเจ้าหนุ่มเจือความสงสัยอยู่ในที
“เอ็งเลิกเขียนผนังโบสถ์ กลับบ้านกลับช่องเสีย ปล่อยทิ้งไว้หยั่งงั้นแหละ” ท่านพระครูเอ่ยด้วยความห่วงใย
“มีเหตุอันใดรึขอรับ” เสียงนั้นฉงนใจแลร้อนรนจนจับความชัดถนัดหู
“ข้าคิด ๆ ดูแล้ว มันเสี่ยงเกินไป” ขรัวเฒ่าแถลงไขพร้อมทั้งถอนหายใจเฮือกใหญ่
“พระคุณท่าน กระผมหาได้เกรงอันใดไม่ แลพร้อมสละตนเองทุกสิ่ง เพื่อกิจอันเป็นพุทธบูชา” น้ำเสียงเจ้าหนุ่มหนักแน่นดื้อดึง คล้ายปิดกั้นช่องทางมิให้สิ่งใดเล็ดรอดมาโยกคลอนการปลงใจของมัน

พระครูสังเกือบจะหลุดปากบอกข่าวเรื่องจำเรียง แต่ท่านก็หักห้ามตนเองไว้ทัน

“ลูกเอ๋ย เอ็งจะว่ากระไร หากข้าจะขอให้เอ็งเลิกเขียน ด้วยเหตุสำคัญที่มิอาจแพร่งพราย” ขรัวเฒ่าโน้มน้าวอีกครั้ง
“ไฉนหลงพ่อ จึงบอกให้ข้ารู้ไม่ได้” เจ้าแผ้วซักไซร้ไล่เรียง
นิ่งไปอึดใจ พระครูสังก็พูดอย่างปลง ๆ แลจนปัญญา “ก็เพราะข้ารู้ว่า ต่อให้บอกเล่าแล้ว เอ็งก็ไม่มีเปลี่ยนใจ”
“ข้าขอเถิดพระคุณท่าน ขอให้ข้าได้เขียนโบสถ์จนแล้วเสร็จ” เสียงของเจ้าหนุ่มเต็มไปด้วยความปรารถนาร้อนแรง จนใครที่ได้ยินได้ฟังก็หักใจขัดขืนความต้องการของมันไม่ลง

คืนนั้น พระครูสังกลับกุฏิสวดมนต์ภาวนา อาราธนาคุณพระคุณเจ้าคุ้มครองให้เจ้าแผ้วแคล้วคลาดปลอดภัย

ขรัวเฒ่าสวดอยู่จนกระทั่งฟ้าสางสว่างแจ้ง หากใจนั้นสิกลับมิได้สงบลงเลยสักนิด

๑๑
นับแต่แผ้วเข้าโบสถ์เพื่อเขียนรูปมารประจญ พื้นผนังอันขาวโพลน ค่อย ๆ ปรากฎรูปแลเรื่องราวต่าง ๆ ขึ้นมาทีละน้อย

บัดนี้เล่าก็เหลือเพียง ผนังข้างล่างทั้งสองฟาก ด้านขวานั้นกำหนดไว้ว่า จะเขียนกองทัพมารพร้อมอาวุธ เตรียมกลุ้มรุมทำร้ายพระพุทธองค์ ด้านซ้ายเล่าความถึงคราวเมื่อมวลมารทั้งปวงโดนน้ำท่วมจนแตกพ่ายโกลาหล

พระครูสังท่านกล่าวเตือนนักว่า ให้เว้นสองส่วนนี้เหลือไว้วาดท้ายสุด เนื่องด้วยกองทัพมารนั้น กอปรไปด้วยไพร่พลยักษ์สัตว์ร้าย ปะปนอยู่กับรูปคนต่างชาติ ฝรั่ง อังกฤษ วิลันดา โปรจุเกศ ยี่ปุ่น จีน จาม พม่า รามัญ มักกะสัน แขก ชวา ทมิฬ สิงหล

“จำไว้นะแผ้ว วาดคนก่อน ตามด้วยสัตว์ แล้วจึงค่อยวาดยักษ์แลภูติผีไว้รั้งท้าย? ของมันแรง อาถรรพ์มันเยอะ” แผ้วยังคงได้ยินเสียงท่านพระครูแว่วอยู่เต็มหู

๑๒
อุ้มท้องมาได้เก้าเดือน จำเรียงก็เจ็บเร่าทรมานด้วยใกล้คลอด คืนนั้นฟ้าคลุ้มพายุคลั่ง เสียงลมเสียงฝนสาดพัดปนเสียงร้องครวญครางเหมือนใจจะขาด...

พระครูสังให้รู้สึกใจคอมิสู้ดี ผลุดลุกผลุดนั่งกระสับกระส่าย ท้ายสุดก็รวมสติตั้งสมาธิ จุดธูปเทียนบูชาพระในกุฏิ บริกรรมสรรพคาถาอาคมใด ๆ ทั้งปวงที่ล่วงรู้ร่ำเรียนมา...

๑๓
ลมโหมกระหน่ำกระแทกกระทั้นประตูโบสถ์ คล้ายมีมือเขย่าโยกคลอน เม็ดฝนหนาหนักตกต้องหลังคา ราวจะกดทับให้ยุบยวบทลายลง แสงฟ้าแลบแปลบปลาบผ่านช่องเล็ก ๆ ที่แง้มไว้เข้ามาภายใน เป็นเส้นขาวคมเจิดจ้ากรีดตาแลเชือดเฉือนใจให้ผู้พบเห็นรู้สึกไหวสะท้าน

แผ้วเร่งมือสะบัดพู่กัน เหลือรูปยักษ์อีกเพียงไม่กี่ตนเท่านั้น การอันเหนื่อยยากพากเพียรมาเนิ่นนานก็จะแล้วเสร็จ

เจ้าหนุ่มคร่ำเคร่งจดจ่อแต่ผนังเบื้องหน้า ประหนึ่งตัดขาดตนเองจากโลกภายนอก ประจงทุ่มฝีมือวาดหน้ายักษ์ให้ดุร้ายน่าเกรงขาม เส้นลายพู่กันสะบัดเป็นเขี้ยวโง้งโค้งแวววับ เหมือนจะอ้างับโฉบกัดทุกมือที่เอื้อมใกล้

เสียงฟ้าร้องครวญมา วูบหนึ่ง แผ้วรู้สึกเหมือนเสียงนั้นคำรามจากปากยักษ์ เจ้าหนุ่มสะดุ้งตกใจ ฟ้าแลบสว่างเข้ามาในโบสถ์

พลันนั้นเอง พื้นผนังที่สายตาของแผ้วมองเห็น ก็เต้นไหวโลดแล่นได้ หมู่มารฉวยคว้าอาวุธหันจากเดิมที่พุ่งตรงไปยังรูปพระพุทธองค์ มุ่งตรงมายังชายหนุ่ม

แผ้วผงะตกใจกระถดตัวถอยหลัง มารตนหนึ่งเงื้อหอกฟาดแทงเข้าใส่ เจ้าหนุ่มหงายหลังหลบ กระทั่งหัวฟาดกับฐานด้านหลังขององค์พระประธาน

คล้ายดั่งองค์พระแผ่บารมีเข้าช่วยให้แผ้วเรียกสติ ระลึกถึงพระขึ้นมา ใจหนุ่มก็ค่อย ๆ สงบลง หลับตาเพ่งภาวนาสำรวมสมาธิ

เมื่อลืมตาอีกครั้ง พื้นผนังก็กลับกลายสู่สภาพดังเดิม เหมือนเช่นที่แผ้วได้วาดไว้

เจ้าหนุ่มไม่รั้งรอ รีบเร่งมือเขียนผนังเป็นการใหญ่

เหลืออีกเพียงแค่รูปเดียว เป็นหน้ายักษ์เบื้องซ้ายพระราหูตรงกึ่งกลางด้านล่าง

จะด้วยใจอันเร่งร้อน หมายให้เสร็จสิ้นโดยไว กระทั่งนำไปสู่จิตว้าวุ่น ฤาเป็นอาถรรพ์ชั่วร้ายอันเกิดจากฤทธิ์ยักษ์ ก็สุดที่ผู้ใดจะล่วงรู้

มีเสียงฟ้าผ่าเปรี้ยง ทว่าแผ้วกลับได้ยินเป็นเสียงใครบางคนร้องเอ่ยเรียกชื่อมัน

ใครบางคนนั้นคือ จำเรียง

แล้วน้ำท่วมกองทัพมารจนแตกพ่าย ก็แปรเปลี่ยนอีกครา กระแสธารโถมท่วมเข้าใส่ชายหนุ่ม พร้อมทั้งคน ผี ปีศาจที่มีชีวิตหลุดโผนจากผนังจนแออัดกันแน่นไปทั่วโบสถ์...

๑๔
ควบคู่กับเสียงฟ้าผ่าเปรี้ยง จำเรียงตะโกนเรียกสุดเสียง “พี่แผ้ว!!!”

๑๕
เสียงฟ้าผ่าเปรี้ยง ทำให้พระครูสังสะดุ้งเฮือกใหญ่ เทียนเล่มน้อยในกุฎิดับมืดไปนานแล้ว

ขรัวเฒ่าตระนักรู้ในบัดดลว่า บางสิ่งบางอย่างได้ยุติลง

ที่ท่านพระครูยังไม่อาจหยั่งรู้ ก็มีเพียงว่า มันจบลงในทางร้ายหรือทางดี...

๑๖
ประตูโบสถ์เปิดกว้างอยู่ก่อนแล้ว คราวเมื่อพระครูสังฝ่าฝนไปถึง ไม่มีผู้ใดอยู่ในนั้น คบไฟตรงผนังหลังองค์พระประธานยังโชนแสงกระพริบเต้นตามจังหวะของลมฝน

ขรัวเฒ่าเขม้นมองเพ่งไปที่ผนัง เจ้าแผ้วเขียนเสร็จสิ้นแล้วจริง ๆ ดังที่ท่านคาดเดา

“เออหนอ งามนัก สมดังที่ข้าเชื่อฝีมือมัน” พระครูสังรำพึงรำพันอยู่ในใจ พร้อมทั้งไล่สายตาไปตามลำดับ จากบนสู่ล่าง จากขวาไปซ้าย ล้วนงามหมดจดครบถ้วนกระบวนความ พระพุทธองค์ทรงสงบสง่างามเปี่ยมบารมี นางธรณีรึก็โค้งหวานอ่อนช้อย กองทัพมารซีกขวาแลดูดุดันฮึกหาญ ครั้นเมื่อแตกทัพแพ้พ่ายก็วุ่นวายโกลาหลมิเป็นส่ำ

ไล่สายตาไปเรื่อย ๆ พระครูสังก็รู้สึกเหมือนใจจะหยุดเต้น ตามองจ้องเขม็งไปที่ผนัง

ตรงเบื้องหลังของไพร่พลมารตนหนึ่ง ซึ่งแหงนหน้าเอื้อมสองมือเกาะคว้ากระเบนดำ เป็นพื้นที่อันควรจะว่างเปล่าปราศจากรูปใด ๆ กลับเขียนใบหน้าหนึ่งทิ้งไว้เสมือนดังว่าเกินมา

เป็นใบหน้าชายหนุ่มหล่อเหลาคมสัน แววตาเหมือนซ่อนความเศร้าเร้นลึกบางอย่างไว้ท่วมท้น

“แผ้ว!” ขรัวเฒ่าอุทานออกมาเบา ๆ

พระครูสังครุ่นคิด การนี้อาจเป็นได้ว่า เจ้าแผ้วมันเขียนรูปตัวเองทิ้งไว้บนผนัง เมื่อแล้วเสร็จ มันคงดีอกดีใจรีบกลับบ้านไปหาจำเรียง

กระนั้นขรัวเฒ่าก็ปลงใจเชื่อความคิดนี้ไม่ลง คนสุขุมรัดกุมเยี่ยงมัน ย่อมไม่พรวดพราดจากไป ทิ้งประตูโบสถ์เปิดไว้เช่นที่เห็น ฤามันจะถูกอาถรรพ์ชั่วร้ายฉกตัวเข้าไปอยู่ในรูปเขียน

“เหลวไหลพิลึกล่ะ” พระครูสังก่นตำหนิตนเอง กระนั้นท่านก็รู้อยู่เต็มอกว่า ตลอดชีวิตที่เหลือ ย่อมไม่อาจสลัดความคิดนี้ทิ้งไปได้เลย

ขรัวเฒ่าหยิบพู่กันบนพื้น ค่อย ๆ วาดแก้ไขใบหน้านั้นให้ผิดแปลกไปจากเดิม เติมจมูกให้งอนโค้งละม้ายคล้ายพวกแขกฝรั่ง...

๑๗
พ้นจากค่ำคืนพายุฝนนั้นแล้ว ผนังโบสถ์วัดเกาะที่เหลือคั่งค้าง บรรดาช่างเขียนก็ระดมกันลงแรงต่อไป กระทั่งสำเร็จลุล่วงครบถ้วน

ทั่วทั้งท่าราบ แลบ้านย่านอื่นใกล้เคียง ไม่มีผู้ใดพบเห็นแผ้วอีกเลย กระทั่งว่าเกณฑ์ผู้คนงมค้นหาในลำน้ำเพชรละแวกนั้น ก็ไม่พบศพหรือร่องรอยใด ๆ

นานวันเข้า เหตุเมื่อเจ้าแผ้วหายตัวลี้ลับ ก็ค่อย ๆ เลือนหายไปจากความรับรู้ของผู้คน

ยกเว้นเพียงจำเรียง

๑๘
จำเรียงคลอดลูกกลางดึกคืนนั้น เมื่ออยู่ไฟจนแข็งแรงเดินเหินได้ดังเดิมแล้ว เจ้าก็อุ้มลูกอ่อนตรงไปที่โบสถ์ แลกลับมาบ้านด้วยอาการร่ำไห้เจียนจะขาดใจ

นับแต่นั้นมา จำเรียงมักจะอุ้มลูกไปดูรูปเขียนฝีมือเจ้าแผ้วที่โบสถ์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ร่ำลือกันทั่วทั้งบางว่า อีจำเรียงมันตัดอาลัยผัวไม่ลง บ้างก็ว่ามันเสียสติกำเริบรักจนเกินเยียวยา

มีเพียงพระครูสังเท่านั้น ที่พอจะระแคะระคายเดาความเป็นไปต่าง ๆ ออก

๑๙
ตรงโบสถ์ วัดเกาะ หลังองค์พระประธาน จำเรียงมองดูรูปที่พระครูสังได้มาเขียนเติมไว้ เป็นใบหน้าที่เจ้าไม่คุ้นเคยมาก่อน

หากแต่เมื่อเห็นคราวใดจำเรียงก็อดกลั้นน้ำตาไว้ไม่ได้

หญิงสาวก่นเฝ้าแต่บอกกล่าวกับตัวเองว่า แววตาพี่แผ้วนั้นเหมือนผู้ชายในรูปมิมีผิดเพี้ยน




(นิทานข้างผนังตอนต้น เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2552 ตอนจบเขียนเมื่อ 18 เมษายน 2552 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ" หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ ภาพวาดทั้งหมดและสถานที่นั้นมีอยู่จริง ส่วนตัวบุคคลและเหตุการณ์เป็นเรื่องแต่ง)











นิทานข้างผนัง (ตอนต้น):ภาพที่หายไป โดย "นรา"








ลุศักราช ๑๐๙๗ ตรงกับพุทธศักราช ๒๒๗๘ ปีเถาะ ปีที่สี่ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สาม (พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) ณ วัดเกาะ ท่าราบ เมืองพริบพรี (เพชรบุรี) เหล่าครูช่างทั้งหลายผ่านการคร่ำเคร่งเขียนภาพผนัง ทิศเบื้องขวามือองค์พระประธาน มานานแรมปี จนกระทั่งแล้วเสร็จ

เหลืออีกสามด้านที่ยังมิได้วาด คือ ผนังสกัดด้านตรงข้าม ด้านหลัง และซ้ายมือขององค์พระประธาน
คล้ายกับว่า ช่างทั้งหลายจะคลายความอั้นใจที่สุมแน่นอยู่เต็มอก ด้วยต่างก็นึกสงสัยมิวายเสมอมาว่า เหตุอันใดเล่า พระครูสัง หัวหน้าครูช่าง จึงมีคำสั่งผิดประหลาด จัดแจงให้เขียนภาพยมกปาฏิหาริย์ แยกแบ่งเป็นสองห้อง ทั้งที่แต่เดิมพื้นผนังก็มีไม่เพียงพอ

ก็แล้วรูปเสด็จโปรดพุทธมารดากับรูปมหาปรินิพพานนั้นเล่า จักแก้ไขเช่นไร เขียนไว้ที่ไหน หรือปล่อยให้ขาดค้างไม่ครบถ้วน

มิใยที่เหล่าช่างจะซักไซร้ไล่ความ พระครูสัง ขรัวเฒ่าหัวหน้าครูช่าง ก็เก็บปากเก็บคำงำนิ่ง ไม่ยอมแย้มความแพร่งพรายให้ใครรู้ ว่าได้ซ่อนทีเด็ดทีขาดอันใดเอาไว้
มากสุดที่ท่านจะกล่าว ก็มีเพียง “เอาไว้ถึงเวลาแล้วก็จะได้เห็นกันเอง”

“ตราบใดที่ยังไม่ล่วงรู้ ข้าย่อมไม่มีวันแล้วใจ” ฉไกรช่างหนุ่ม โพล่งขึ้นเสมือนกล่าวความในใจแทนช่างทั้งปวง
“เอาเถอะ ที่ไม่รู้ก็จะได้รู้กันสักที ผนังแปก็เขียนกันสิ้นถ้วนแล้ว ดูทีรึว่า ด้านหุ้มกลองหน้าโบสถ์ที่ปล่อยว่างอยู่ ขรัวเฒ่าจะให้เขียนรูปอะไร”
“ก็คงไม่แคล้ว รูปมารประจญตามขนบ นั่นแหละ”
“ถ้าง่ายเยี่ยงนั้นก็ดีสิ เอ็งอย่าลืมว่า พระครูสังท่านคิดแผลงไม่เหมือนใคร”
“อ๋าย! จะเป็นอื่นได้ยังไง ถ้าไม่เขียนมารประจญแล้ว ก็นอกลู่ผิดครูเท่านั้นเอง”
“บ๊ะ ก็แล้วที่เอ็ง ข้าและหลวงพี่ทั้งหลาย เขียน ๆ กันมาตามคำสั่งพระครู ไม่ผ่าเหล่าผ่ากอหรอกเรอะ”
“ป่วยการจะเดาสุ่มเถียงกันเอง มิสู้ไปเล่าแจ้งเรียนให้พระคุณท่านทราบ จักได้สอบถามให้รู้ชัด”

ครูช่างทั้งหลายจึงยกขบวนกันไปเฝ้าท่านพระครูที่กุฏิ


“พระคุณท่านขอรับ บัดนี้ผนังทั้งเจ็ดห้องก็ได้เขียนสำเร็จเรียบร้อยแล้ว” ครูช่างคนหนึ่งบอกเล่ารายงาน
“เออดี” ขรัวเฒ่าสดับแล้ว ก็เปรยยิ้ม ๆ ด้วยความพึงพอใจ
“เอ้อ...” ครูช่างคนเดิม มีท่าทีอึกอักและอึดอัด
“เอ้า มีอะไรก็ว่ามา”
“คะ..คือ...คือว่า...”
“บ๊ะ ก็ว่ามาสิ เอ้ออ้าบ้าใบ้อยู่หยั่งงี้ แล้วข้าจะรู้แจ้งในความได้ยังไง” ท่านพระครูแกล้งเอ็ดเบา ๆ ด้วยยังอารมณ์ดีอยู่
“หมดแล้วนะขอรับ หมดแล้ว” ครูช่าง
“อะไรหมดวะ?”
“ผนังนะสิขอรับ เขียนจนหมดเกลี้ยง ไม่มีห้องเหลือ แต่ยังเขียนไม่ครบ” ฉไกรช่างหนุ่ม โพล่งขึ้นด้วยใจคอมุทะลุตามเคย
“อือ ก็ดีแล้วนี่”
“พระคุณท่าน พวกข้าสงสัยว่า รูปเสด็จโปรดพุทธมารดา รูปมหาปรินิพพาน จะให้ทำยังไง”
“ไม่ต้องทำอะไรทั้งนั้น ผนังสกัดด้านหน้าโบสถ์ ข้าจะสำแดงเอง”


รุ่งเช้าถัดมา ช่างทั้งปวงก็ตรงมายังโบสถ์ เพื่อหวังจะยลพระครูสังสำแดงฝีมือเป็นขวัญตา หากแต่เมื่อลุถึงที่หมาย พลันพบว่า ประตูแง้มไว้พอให้ลมถ่ายเท แต่คล้องโซ่จากด้านใน มิให้ใครอื่นล่วงล้ำกล้ำกราย

พระครูสังปิดโบสถ์จุดเทียนเขียนรูปตามลำพัง ตั้งแต่เช้าจรดคร่ำ ไม่ยินยอมอนุญาตให้ผู้ใดล่วงผ่านเข้ามา แลฉันเพลแค่เพียงมื้อเดียว โดยมีเด็กวัดยกถาดสำรับวางไว้หน้าประตูโบสถ์

“ข้าเห็นแต่มือหลงพ่อ เอื้อมมาหยิบถาด แล้วก็ปิดประตู ท่านฉันเสร็จก็เปิดแง้ม ยื่นถาดวางไว้ที่เดิม” เด็กวัดเล่าความตามที่ตัวเห็น เมื่อถูกซักไซร้ไล่เลียงว่า รูปเขียนในโบสถ์มีเค้าลางเช่นไร

จนฝนเหือดฟ้า น้ำทรงทุ่งเดือน ๑๒ ล่วงพ้นเดือนอ้าย เดือนยี่ แล้วก็สิ้นหนาว เข้าสู่ฤดูแล้ง วันแล้ววันเล่า เหล่าสงฆ์และฆราวาส ทั่วทั้งท่าราบแลถิ่นย่านอื่นไกลใกล้เคียง ล้วนร่ำลือกันว่า พระครูสังขรัวเฒ่า ขังตนเองเขียนรูป ไม่ออกสมาคมกับผู้คน กระทั่งพระเณรในวัดก็มิอาจลงโบสถ์ทำวัตรเช้า-เย็น

ตราบดึกนั่นแล้ว พระครูสังจึงกลับสู่กุฏิเพื่อจำวัด ลงดาลลั่นกุญแจด้านนอกเอาไว้มิดชิด มิให้ใครแอบล่วงล้ำเข้าไปข้างในโบสถ์

ครูช่างทั้งหลาย ตลอดจนชาวบ้าน จึงได้แต่คะเนนึกตรึกตรองกันไปต่าง ๆ นานา บ้างใคร่รู้ว่า ขรัวเฒ่าจะเขียนรูปเสด็จกลับจากดาวดึงส์ รูปมหาปรินิพพานไว้ตรงไหน ด้วยคิดไม่ตกว่า รูปมารประจญตามขนบนั้น ดูยังไงก็ไม่เห็นทางที่จะแทรกลงไปได้

บ้างก็ใคร่อยากยลฝีมือของท่านครูว่าจะงามเพียงไร บ้างก็โจษจันกันว่า ท่านคงเขียนรูปศักดิ์สิทธิ์ บริกรรมคาถาอาคมไว้อักโข

กระนั้น พระครูสังก็ยังคงปิดโบสถ์เขียนรูปไม่สุงสิงกับผู้ใด นานวันเข้าก็กลายเป็นความเคยชิน ที่เคยแตกตื่นประหลาดใจ ก็ค่อย ๆ ปลงใจเห็นเป็นปกติ และค่อย ๆ เลือน ๆ กันไป


จะเว้นก็แต่ช่างทั้งเจ็ด ทั้งบรรพชิตและฆราวาส ซึ่งยังพบปะชุมนุมกันอยู่เนือง ๆ ด้วยไม่อาจสลัดข้อสงสัยเกี่ยวกับท่านพระครูสัง จากแลกเปลี่ยนเนื้อความตามที่แต่ละคนนึกคะแน จากที่เถียงทะเลาะเบาะแว้ง ด้วยคิดไม่ลงรอยกัน จากที่เดาสุ่มกันไปต่าง ๆ นานา

นานวันเข้าทั้งเจ็ดก็หมดเรื่องพูด ได้แต่พากันมานั่งจับเจ่าเฝ้าคอย เลียบ ๆ เคียง ๆ อยู่หน้าโบสถ์ ยามเมื่อแต่ละคนมีเวลาว่าง

สิ่งที่ว่างเปล่ากว่านั้นคือ ในใจของแต่ละคน ซึ่งเฝ้าคอยขรัวเฒ่าเขียนผนัง โดยไม่เห็นปลายทางวี่แววว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไร...


“หลงพี่ หลงพี่ เป็นเรื่องแล้ว!!!” ไอ้แกละ เด็กวัด ระล่ำระลักหายใจหอบ ขณะมือก็เคาะประตูกุฏิเป็นระวิง
“อะไรของเอ็งว่ะ ไอ้แกละ เอ็ดตะโรลั่นไปหมด” หลวงพี่ป่านปราม พร้อม ๆ กับเยี่ยมหน้าโผล่พ้นบานประตู
“หลงตา... หลงตาสง...ที่อยู่ในโบสถ์ขอรับ... หลงพี่” เด็กวัดพูดพลางกระหืดกระหอบสะดุดติดขัด
“ขรัวพ่อท่านเป็นอะไร? บรรลัยแล้วสิ” หลวงพี่ป่านกล่าวแล้วก็จัดสบงจีวรทะมัดทะแมง เตรียมโผนลงจากกุฏิ
“ท่านไม่ได้เป็นอะไรหรอก หลงพี่ อย่าเพิ่งตกใจ” ไอ้แกละเริ่มพูดจาเป็นถ้อยเป็นคำ
“อุวะ แล้วทำไมเอ็งถึงรีบร้อนราวกับมีเรื่องคอขาดบาดตาย”หลวงพี่ตัดพ้อ
“ยิ่งกว่านั้นอีกหลงพี่ ท่านให้ข้ามาบอกทุกคนว่า อีกเจ็ดวันจะเขียนผนังเสร็จและเปิดโบสถ์ให้ญาติโยมได้ดู”
“เฮ้ย! จริงรึว่ะ” หลวงพี่ป่านอุทาน แล้วก็พรวดพราดลงจากกุฎิ ด้วยอารามรีบเร่งตื่นเต้นยิ่งกว่าเมื่อตอนที่ไอ้แกละตาลีตาเหลือกขึ้นมาบอกข่าวเสียอีก


นับจากวันที่พระครูสังปิดโบสถ์เขียนผนังเรื่อยมา ครูช่างหนุ่มชื่อแผ้ว เป็นผู้เดียวที่สงบปากสงบคำกว่าใครอื่น แม้ท่านพระครูและช่างอื่น ๆ ทั้งหก จะถกสนทนาทุ่มเทียงและสงสัยกันหนักหนาเพียงไร เจ้าหนุ่มก็ได้แต่ฟังด้วยท่าทีนิ่ง ๆ ไร้ปากไร้เสียง หากมีใครซักถาม ก็มักจะเออออขานรับสั้น ๆ ไปตามเรื่องตามราว ไม่สู้จะนิยมเถียงแย้งกับใคร

แต่คืนนี้มันกลับกระสับกระส่าย นอนไม่หลับ พรุ่งนี้แล้วสินะที่จะสิ้นการรอคอย นึกขึ้นทีไรเจ้าแผ้วก็ใจเต้นแรง ทั้งที่สันดานเดิมมันเป็นคนนิ่งกุมสติได้ดี

เจ้าแผ้วพลิกตัวไปมา จนเมียที่นอนอยู่ข้าง ๆ รู้สึกตัวตื่น

“พี่แผ้ว นอนไม่หลับรึ? ” สาวเจ้าถามด้วยนึกฉงน
“ไม่มีอะไรหรอกจำเรียง ข้าคิดนู่นคิดนี่ไปเรื่อย” แผ้วกระซิบตอบอ่อนโยน
“เรื่องรูปเขียนของพระครูสังใช่มั้ยพี่” เจ้าตอบราวกับนั่งอยู่ในใจชายหนุ่ม
“พรึ่งนี้ก็ได้เห็นแล้ว พี่กระวนกระวายไปก็ป่วยการ” จำเรียงปลอบ

แผ้วพยักหน้ารับ แล้วพยายามข่มตาให้หลับ ชายหนุ่มมิได้อยากรู้ว่าท่านพระครูจะเขียนรูปอะไร? แค่รู้สึกสังหรณ์ใจว่า รูปนี้จะเปลี่ยนชีวิต

อยากเอ่ยบอกกล่าวให้จำเรียงล่วงรู้ แต่ก็ตัดใจไม่พูด ด้วยเกรงเจ้าจะเสียขวัญ

เสียงพึมพำจ้อกแจ้กดังลั่นไปทั่วทั้งโบสถ์ เมื่อทุกคนได้เห็นรูปเขียนบนผนัง

บ้างแปลกใจที่เห็นว่า ไม่ใช่รูปมารประจญ เหมือนดังเช่นที่เป็นขนบยึดถือกันมา แต่กลับเขียนรูปไตรภูมิ อันควรจะอยู่ข้างหลังองค์พระประธาน

บ้างผิดหวังที่เห็นว่า รูปไตรภูมิฝีมือพระครูสัง ผิดประหลาดกว่าที่เคยเห็นกันจนเจนตา ตามสมุดข่อย

บ้างก็ชื่นชมที่เห็นว่า ขรัวเฒ่าซ่อนเรื่องเสด็จโปรดพุทธมารดาและกลับจากดาวดึงส์ เอาไว้ในภาพไตรภูมิ และซ่อนเรื่องมหาปรินิพพานไว้ในรูปเขียนตอนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ทางด้านซ้ายตอนบนของผนัง

บ้างก็เก้อไป เพราะเที่ยวคุยขโมงโฉงเฉงล่วงหน้าว่า สวยหยั่งงั้น สวยหยั่งงี้ แต่ครั้นเมื่อเห็นกับตาตัวเอง กลับตรงกันข้าม จึงต้องทำทีเป็นชมแบบฝืนปาก

ฉไกรช่างหนุ่ม หลุดโพล่งตามวิสัยโผงผางว่า “ไม่เห็นสวยเลยขอรับ พระคุณท่าน”
พระครูสัง อ่านสังเกตแววตาของช่างทั้งเจ็ดทีละราย อย่างถี่ถ้วนเนิ่นนาน แล้วจึงเอ่ยขึ้นช้า ๆ ว่า
“ข้าตรองดูแล้วว่า ผนังด้านหลังองค์พระประธานจะให้ใครเป็นคนเขียน เจ้าแผ้วนั่งอยู่ก่อน ที่เหลือออกไปได้”


“แผ้ว ข้าเลือกเอ็งก็เพราะเอ็งเป็นคนเดียวที่สงบสุด” พระครูสังแจงเหตุผล
“ไฉนเป็นเช่นนั้นล่ะพระคุณท่าน” เจ้าแผ้วถามด้วยความใคร่รู้

พระครูสังหลับตาช้า ๆ
…ข้าอยากจะให้รูปเขียนพวกนี้ คงทนสืบไปชั่วกาลนาน ข้าจึงตั้งจิตอธิษฐานกับองค์พระประธาน คืนนั้นท่านมาเข้าฝัน บอกไว้ให้เขียนผนังต่าง ๆ ยังไงบ้าง มันกลับหัวกลับหางไปหมดนะลูกเอ๋ย
...แต่ความเป็นหนึ่งเดียวไม่เหมือนใคร จะทำให้งานพุทธบูชาเหล่านี้ไม่มีวันเสื่อมสลาย สืบไปภายหน้า ผู้คนก็ยังต้องกล่าวขานถึง
...เดิมนั้น โบราณท่านนิยมเขียนมารประจญไว้ฝั่งตรงข้ามพระประธาน รูปนี้มีภูติยักษ์อมนุษย์เต็มไปหมด ของจึงแรง ต้องให้พระท่านช่วยคุ้มครองและสะกดอาถรรพ์ชั่วร้าย ครั้นเมื่อรูปมารประจญต้องย้ายไปไว้หลังองค์พระ จึงยิ่งหนักหน่วงกว่าเดิม ต้องใช้คนจิตแข็งจริง ๆ

...ใจข้าน่ะอยากจะเขียนเอง แต่ก็หูตาฝ้าฟางเกินฝืน ข้าจึงปิดโบสถ์เขียนรูป เพื่อวัดใจพวกเอ็งว่า ใครจะนิ่งสุด
...แผ้ว ข้าถามเอ็งคำเดียว จะรับหรือไม่รับ?”
“กระผมเต็มใจขอรับ พระคุณท่าน” ชายหนุ่มตอบฉะฉาน
ฉับพลันนั้นเอง ขรัวเฒ่าก็สะท้านเยือกไปทั้งกาย คล้ายในใจถูกพายุฝนกระหน่ำสาดจนเปียกชุ่ม

วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2552

เขียนถึงอาว์'รงค์ วงษ์สวรรค์ โดย "นรา"


ในบรรดาซือแป๋นอกกระดานดำมากมายหลายท่าน ซึ่งผมถือวิสาสะเรียนรู้แบบครูพักลักจำจากงานเขียนของปวงท่านเหล่านั้น

อาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์ ถือได้ว่าเป็นครูที่สำคัญยิ่งสำหรับผม

อย่างไรก็ตาม งานเขียนของผม ปรากฎสำนวนภาษาแบบครูอยู่เพียงน้อยนิด หรือแทบจะไม่มีเลย

นี้ก็ด้วยเหตุผลใหญ่ ๆ สองข้อ คือ ผมไม่สามารถและไม่มีวันทำได้เทียบเท่ากับท่านครู ซึ่งบรรลุถึงขั้น “นายของภาษา” โดยแท้ ผมจึงเลี่ยงไปอีกทาง และเรียนรู้แง่มุมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นความหนักแน่นของข้อมูล, พลังในการบรรยายอันเอกอุยากที่จะหาใครเทียม, ตลอดจนทัศนะคติมุมมองต่อโลกและการมีชีวิต ฯลฯ

ถัดมาคือ งานเขียนของอาว์ ’รงค์ วงษ์สวรรค์นั้น มีเคล็ดวิชาสูงสุดอยู่ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น “ไม่เหมือนใคร”

ผมจึงเจริญรอยตามครู ด้วยการเขียนในแบบลีลาอันตรงกับจริตของผมเอง และก็ได้เรียนรู้แง่มุมเหล่านี้ชนิดไม่รู้จบจากผลงานมากมายมหาศาลของครูผู้ยิ่งใหญ่

ที่วิเศษมากก็คือ ยามใดก็ตามที่ผมรู้สึกเหนื่อยหน่ายหมดสนุกกับการเขียน พลันเมื่อได้อ่านงานของอาว์ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ผมก็กลับมาคึกคักกระตือรือล้นสนุกกับการเขียนหนังสือได้ทุกครั้ง

ความสนุกจากการอ่านสำนวนภาษาของอาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นแรงบันดาลใจถ่ายเทข้ามฟากมาสู่ความรื่นรมย์ในขณะเขียนของผมด้วยนะครับ

ผมไม่เคยมีความคิดอยากเขียนหนังสือให้มีลีลาแพรวพราวเหมือนอาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์ แต่ทุกครั้งที่ลงมือทำงาน ผมรับอิทธิพลมาจากครูเต็ม ๆ ในแง่ของความพยายามที่จะสร้างความบันเทิง และมอบสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่ฝีมือและสติปัญญาจะมีอยู่ให้แก่ผู้อ่าน

เป็นเป้าหมายและความใฝ่ฝันอันดับต้น ๆ ในการทำงานของผมเลยทีเดียว

นอกจากเป็นครูแล้ว งานเขียนของท่านยังชาร์จแบ็ตเติมไฟให้คนขี้เกียจอย่างผมเสมอมา

ผมนั้นไม่เคยพบตัวจริงของอาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์ ใกล้เคียงสุดก็คือ ไปฟังท่านขึ้นเวทีอภิปรายที่หอประชุมเล็ก ธรรมศาสตร์ เมื่อครั้งสมัยเรียน

เมื่อผมทำงานแล้ว ก็มีโอกาส “เกือบ ๆ” จะได้ติดสอยห้อยตามบรรดานักเขียนรุ่นพี่หลายท่าน แวะไปเยี่ยมคารวะครูที่สวนทูนอิน ประมาณสองสามครั้ง แต่ก็เกิดเหตุเฉพาะหน้าหักเห กระทั่งคลาดเคลื่อนมาตลอด

ผมจึงรู้สึกผูกพันกับอาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์ผ่านทางตัวหนังสือ

กระนั้นก็มีเหตุการณ์ซึ่งเป็น “เรื่องประทับใจ” ลำดับต้น ๆ ในชีวิตของผม

ช่วงเวลาน่าจะอยู่ราว ๆ กลางปี 2547 ผมมีคอลัมน์ใน Metro Life ซึ่งเป็นฉบับพิเศษ พ่วงมากับ “ผู้จัดการรายวัน” ฉบับเสาร์-อาทิตย์” เนื้อหาว่าด้วยการแนะนำหนังสือ

ปกติคอลัมน์ของผมใน Metro Life มักกล่าวถึงผลงานใหม่ร่วมสมัย แต่ก็มียกเว้นอยู่บ้างที่ผมหยิบจับงานมาสเตอร์พีซในอดีตของนักเขียนชั้นครูอย่าง อุษณา เพลิงธรรม, อาจินต์ ปัญจพรรค์ มาเล่าสู่ผู้อ่าน

ข้อเขียนของผมเกี่ยวกับ “เสเพลบอยชาวไร่” ของอาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์ ก็เข้าข่ายอย่างหลัง

ผมแนะนำผลงานของนักเขียนรุ่นครูเอาไว้ไม่เยอะนะครับ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรู้สึกว่าตัวเองเป็นเด็ก แม้จะมุ่งเขียนในมุมบอกเล่าความประทับใจส่วนตัว ผมก็ยังไม่ค่อยสบายใจนัก เกรงจะพลาดพลั้งหลุดอะไรในทำนอง “ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง” ออกไป

หลังจากที่ผมเขียนถึง “เสเพลบอยชาวไร่” ไปได้ไม่นาน ผมก็เจอสถานการณ์ “งานเข้า” มีภารกิจเฉพาะหน้าอย่างอื่นเข้ามาแทรก จนจำเป็นต้องยุติคอลัมน์ใน Metro Life

จนกระทั่งล่วงเข้าสู่กลางปี 2550 ผมเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจส่วนตัว จนต้องแก้ไขด้วยการทำงานให้มากขึ้น ท้ายที่สุดจึงตัดสินใจ “กลับไปตายรัง” เขียนคอลัมน์ในผู้จัดการอีกครั้ง ควบคู่ไปกับการรวมเล่ม “ซามูไรตกดิน”

ทั้งสองอย่างเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน ในการรวมเล่ม มีต้นฉบับส่วนหนึ่งตกหล่นสูญหาย เมื่อคราวที่คอมพิวเตอร์ของผมเจ๊ง และไม่สามารถกู้คืนกลับมา ทางสะดวกที่จะค้นหาข้อเขียนเหล่านั้น ก็คือ การกลับไปที่ออฟฟิศหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ซึ่งยังมีงานของผมเก็บไว้

ควบคู่กับการเข้าไปค้นหาต้นฉบับ ผมก็ถือโอกาสเจรจาความเมืองเรื่องกลับมาเขียนคอลัมน์ไปด้วย

ตอนที่เข้าไปยังออฟฟิศผู้จัดการนั้นเอง รุ่นน้องคนหนึ่งก็หอบหิ้วถุงใหญ่ ๆ ภายในมีพ็อคเก็ตบุคจำนวนมาก ซึ่งสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ส่งมาให้ผม (เพื่อจะได้เขียนแนะนำลงในคอลัมน์)

เป็นหนังสือที่ค่อย ๆ ทยอยส่งมาในช่วงสองสามปีที่ผมหยุดเขียนไปนะครับ

ในจำนวนนั้น ผมพบซองกระดาษสีน้ำตาล ฉับพลันที่เห็นลายมือจ่าหน้า ผมก็ขนลุกซู่ด้วยความปลาบปลื้มใจ

เป็นลายมือที่ผมคุ้นตา เห็นแล้วก็จำได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องกวาดสายตาไปยังชื่อผู้ส่ง

เป็นลายมือของอาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์ ส่งหนังสือ “Casino ดอกไม้บาป” มาให้ผม พร้อมกับลายเซ็น ข้อความว่า “นรา ฝากมาให้อ่านด้วยรัก-ขอบใจ” วันเวลาที่ระบุไว้คือ กุมภาพันธ์ 2548

ที่ผมดีใจมากสุดก็คือ เหล่านี้บ่งระบุให้รู้ว่า ครั้งหนึ่งอาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์ เคยอ่านข้อเขียนของผม มิหนำซ้ำแทนที่ผมจะโดนเอ็ดว่า “ทะลึ่ง” ท่านกลับแสดงความเมตตาอย่างเต็มเปี่ยม

ผมเสียอีกนะครับที่เหลวไหลไม่ได้เรื่อง ได้รับหนังสือจากอาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์แล้ว ก็อึกอักทำอะไรไม่ถูก กาลเวลาล่วงผ่านจนทำให้ได้รับหนังสือล่าช้า เป็นเหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้ผมไม่ได้เขียนตอบกลับไป แต่เงื่อนไขแท้จริงยิ่งกว่าสิ่งใดคือ ความไม่เข้าท่าชนิดปราศจากข้อแก้ตัวใด ๆ ทั้งสิ้นของผมเอง

เมื่ออาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์จากไป ผมจึงทำได้มากสุดเพียงแค่ เดินทางสู่เชียงใหม่ เพื่อไหว้เคารพแสดงความอาลัย

ระหว่างเดินทาง รวมถึงช่วงอยู่ในงานที่วัดพระสิงห์ เมื่อญาติมิตรหลายท่านทราบว่า ผมไม่เคยพบปะพูดคุยกับอาว์’รงค์ และไม่เคยเดินทางไปเยี่ยมคารวะท่านที่สวนทูนอินเลย คำถามที่ติดตามมาก็คือ ทำไมจึงเดินทางมาเคารพศพของท่าน

เป็นคำถามที่ไม่เคร่งเครียดจริงจังนะครับ หลายท่านที่มาร่วมงานนี้ และมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนคุยกัน ก็คล้าย ๆ กับผม คือ ไม่เคยมีโอกาสได้พบอาว์’รงค์มาก่อน ทว่าก็เต็มใจขโมยเวลาอันมีอยู่จำกัด เพื่อเดินทางมาแสดงความอำลาอาลัยต่อ “พญาอินทรีแห่งสวนอักษร”

ส่วนใหญ่แล้วผมก็ตอบสั้น ๆ แบบคิดอะไรไม่ทันในสถานการณ์เฉพาะหน้าไปว่า “มาเพราะรู้สึกว่าต้องมาและควรจะมา”

จนเมื่อเวลาผ่านไป มีโอกาสขบคิดใคร่ครวญถี่ถ้วนดีแล้ว ผมก็บอกกับตัวเองว่า ผมเดินทางมาเชียงใหม่ก็เพราะรู้สึกคุ้นเคยผูกพันกับอาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์ จากการอ่าน

ผมอ่านหนังสือของอาว์’รงค์ ทุกเล่มเท่าที่จะเจอวางขายตามร้านหนังสือ ทุกเล่มเท่าที่มีปรากฎอยู่ตามห้องสมุด

สามารถกล่าวได้ว่า นี่คือนักเขียนที่ผมมีโอกาสติดตามผลงานอย่างต่อเนื่องหลากหลายมากยิ่งกว่าท่านอื่นใด

ผมอ่านจนรู้สึกว่า ตนเองสนิทสนมกับอาว์’รงค์ เสมือนท่านเป็นญาติผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด เกิดความผูกพันทางใจมากมายเกินกว่าที่จะรู้ตัว

จนถึงวันนี้ การที่ผมพลาดโอกาสไม่เคยได้พบกับตัวจริงของอาว์’รงค์ อาจนับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายมากประการหนึ่งในชีวิต และเป็นสิ่งที่ไม่มีวันจะย้อนเวลากลับไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขใด ๆ ทั้งสิ้น

แต่ก็นับว่าผมและนักอ่านทุกท่านยังโชคดี ที่อาว์ฝากผลงานเขียนเอาไว้เป็นจำนวนมหาศาลเข้าขั้นน่าอัศจรรย์

ผมบอกกับตัวเองว่า คงเป็นเรื่องน่าเศร้าเสียใจอย่างสุดซึ้ง หากว่าตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผมใช้ชีวิตเป็นนักอ่าน แล้วไม่เคยผ่านตางานเขียนของอาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์เลย...

ครับ คืนนี้และคืนต่อ ๆ ไป ผมก็ยังคงนั่งฟังอาว์’รงค์ พูดคุยทางตัวหนังสือ เล่าอะไรต่อมิอะไรอย่างรื่นรมย์และออกรส

(หมายเหตุท้ายข้อเขียน ผมขออนุญาตเชื้อเชิญมิตรรักแฟนเพลงญาติโยมทุกท่าน ร่วมงาน “ในเงาเวลาของ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ซึ่งคุณ “เป็นหนึ่ง” วรพจน์ พันธุ์พงศ์ กัลยาณมิตรของผม ร่วมกับสมัครพรรคพวกที่รักอีกหลายท่านเกินกว่าจะระบุนามได้หมด ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อแสดงความคารวะและรำลึกถึง “พญาอินทรีแห่งสวนอักษร” ตลอดทั้งเดือนพฤษภาคม

ส่วนหนึ่งของงาน เป็นนิทรรศการภาพถ่ายอันทรงคุณค่า ผ่านเลนส์และสายตาของอาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์ และภาพถ่ายของเต้-ธวัชชัย พัฒนาภรณ์ (คนนี้เป็นน้องรักที่ผมดีใจและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่มีโอกาสรู้จักคบหากัน พูดแล้วอาจจะโดนครหาว่า “อวยกันเอง” แต่ผมสรุปสั้น ๆ ได้ว่า เต้เป็นคนที่น่าทึ่งมาก)

งานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม-6 มิถุนายน 2552 ที่แกลเลอรี people space แพร่งภูธร (หากไปไม่ถูก น่าจะสามารถสอบถามถึงแผนที่และวิธีเดินทางได้จากเว็บไซต์ http://www.onopen.com/ นะครับ)

วันเปิดงานคือ เย็นวันศุกร์ที่ 1 เวลา 18.00 น. เป็นการรวมญาติ และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้พูดคุยเกี่ยวกับอา’รงค์ วงษ์สวรรค์

ส่วนโปรแกรมอื่น ๆ ที่เหลือมีดังนี้

อาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม 2552 เวลา 18.00 น.
-พบนักเขียนรางวัลซีไรต์ บินหลา สันกาลาคีรี ในหัวข้อ จากบินหลาถึงพญาอินทรี
-พบธวัชชัย พัฒนาภรณ์ ในหัวข้อ แสงสุดท้ายที่สวนทูนอิน

อาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม 2552 เวลา 18.00 น.
-พบอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ในหัวข้อ คิดถึง’รงค์ วงษ์สวรรค์ คิดถึงสวรรค์แห่งชีวิต

อาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม 2552 เวลา 18.00 น.
-พบ (อดีต) คณะบรรณาธิการ open ครบคน ปราบดา หยุ่น, วรพจน์ พันธุ์พงศ์ และภิญโญ ไตรสุริยธรรมา กับการเปิดตัวหนังสือ “เสียงพูดสุดท้าย” (รวมบทสัมภาษณ์ของ’รงค์ วงษ์สวรรค์) โดย วรพจน์ พันธุ์พงศ์ (สำนักหนังสือไต้ฝุ่น) และ “ยี่หวาไชนาทาวน์” เรื่องยาวที่ไม่เคยตีพิมพ์รวมเล่มมาก่อนของ’รงค์ วงษ์สวรรค์ (openbooks)

อาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม 2552 เวลา 18.00 น.
-พบโตมร ศุขปรีชา และชาวคณะ GMbooks กับการเปิดตัวหนังสือ “แฝงพวงองุ่น” โดย’รงค์ วงษ์สวรรค์




(เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2552 เผยแพร่ครั้งแรกที่นี่)

วันพุธที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2552

หุ่นไล่กา (ตอนที่หนึ่ง) โดย "นรา"







เมื่อสองวันที่ผ่านมา ผมมีธุระปะปังต้องแวะเวียนไปยังออฟฟิศของเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่งแถว ๆ หลานหลวง ก่อนถึงเวลานัดหมายประมาณสักชั่วโมง ผมจึงแปลงกายเป็น “นักเล่นของเก่า” เดินละเลียดความหลังชมตลาดนางเลิ้ง

ผลก็คือ ไม่ใช่แค่ได้เปิดลิ้นชักความทรงจำหรอกนะครับ แต่เจอเอาโกดังเก็บอดีตขนาดเบ้อเริ่มเทิ่มเลยทีเดียว

ผมมีความหลังฝังใจมากมายและผูกพันกับแถบถิ่นนั้นมาตั้งแต่วัยเด็ก (บ้านหลังแรกในชีวิตของผมอยู่ถนนวิสุทธิ์กษัตริย์) แม้จะย้ายหลักแหล่งไปอยู่ที่อื่นในเวลาต่อมา และมีทำเลที่พักขยับเคลื่อนเลื่อนห่างไกลขึ้นเรื่อย ๆ แต่โชคชะตาก็นำพาให้วกกลับเฉียดใกล้อยู่เนือง ๆ ทั้งโดยการเรียนที่พณิชยการพระนคร และการทำงานในหลายวาระโอกาส

ระหว่างเดินเล่นในตลาดนางเลิ้ง ภาพห้องแถวเก่า ๆ ย้อนยุคไปหลายสิบปี ภาพของชาวบ้าน โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ ทำให้ผมรู้สึกตื้นตันและสุขเศร้าในใจอยู่ลึก ๆ เหมือนได้กลับมาพบเจอญาติผู้ใหญ่ที่ห่างหายไม่เห็นกันเนิ่นนาน

ในรายละเอียดมากมายที่เจอะเจอวันนั้น มีสิ่งหนึ่งซึ่งดูเผิน ๆ ไม่น่าจะส่งผลกระทบอะไร แต่กลับชักนำให้ย้อนคิดไปสู่ความหลังอีกอย่าง

ผมเห็นแม่ค้าหาบขายปลาสลิด และที่น่าตื่นตาตื่นใจมากสำหรับผมก็คือ มีไข่ปลาสลิดเยอะแยะเต็มกระจาด

เห็นไข่ปลาสลิดทีไร ผมมักจะนึกไปถึงเหตุการณ์ตอนหนึ่งในหนังโทรทัศน์ชุด “หุ่นไล่กา”

“หุ่นไล่กา” ถือเป็นหนังโทรทัศน์ในดวงใจของคนรุ่นผมและรุ่นใกล้ ๆ กัน โด่งดังเคียงข้างมาพร้อมกับเรื่อง “ขุนแผนผจญภัย” และ “พิภพมัจจุราช” เมื่อไรก็ตามที่พูดคุยกล่าวถึงเรื่องหนึ่ง ก็มักจะต้องพาดพิงเชื่อมโยงสู่อีกสองเรื่องที่เหลือ จึงจะเข้าชุดครบถ้วน และแยกพรากจากกันโดยลำพังได้ยาก

จนถึงทุกวันนี้ผมยังจำเนื้อร้องของเพลงตอนเครดิตไตเติลของหนังทั้ง 3 เรื่องได้ ไม่ใช่แค่ผมคนเดียวหรอกนะครับ ใครต่อใครที่โตทันดู ส่วนใหญ่มักจะจดจำและร้องเพลงเหล่านี้กันได้ทั้งนั้น

เหตุผลก็เพราะทั้ง 3 เรื่อง ล้วนออกอากาศอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ เป็นเวลาหลายปี โดยเฉพาะ “หุ่นไล่กา” กับ “ขุนแผนผจญภัย” น่าจะมีอายุบนจอทีวีร่วม ๆ สิบปีเป็นอย่างต่ำ และยึดครองสถิติจำนวนตอนสูงสุดตลอดกาล (ประมาณ 500 ตอนขึ้นไปแน่ ๆ ครับ) ชนิดยากที่จะหาหนังหรือละครโทรทัศน์ยุคหลังเรื่องใดมาลบล้างหรือเทียบเคียงเข้าใกล้

“หุ่นไล่กา” ออกอากาศตอนสิบเอ็ดโมงครึ่งวันอาทิตย์ (ต่อมาในช่วงปีหลัง ๆ อาจมีโยกย้ายเปลี่ยนเวลา อันนี้ผมเริ่มจำได้ไม่แน่ชัด) ทางช่องเจ็ดขาวดำหรือททบ. 5 ในปัจจุบัน

“หุ่นไล่กา” เป็นหนังถ่ายทำด้วยฟิล์มขาว-ดำ (และอาจเปลี่ยนเป็นฟิล์มสีในยุคท้าย ๆ) ใครกำกับ ใครเขียนบท ใครแสดงนั้น ยากเกินกว่าผมจะรำลึกนึกถึงได้ รู้และจำได้อย่างเดียวเท่านั้นคือ สร้างโดยรัชฟิล์มทีวี

แนวคิดหลัก ๆ ของหนังโทรทัศน์เรื่อง “หุ่นไล่กา” มักจะเริ่มต้นด้วยบทสนทนาแบบสภากาแฟ ระหว่างตัวเอกทั้งสาม คือ แม่มด (ซึ่งมีผ้าคลุมศีรษะสีดำทึบ จมูกงองุ้ม หลังโกง เอาเป็นว่าถอดแบบมาจากแม่มดในการ์ตูน “สโนไวท์กับคนแคระทั้ง 7” น่าจะให้ภาพได้ใกล้เคียงมากสุด) และบริวารคู่ใจทั้งสอง ไอ้ห้อย ไอ้โหน

ไอ้ห้อย (ขอสารภาพว่าผมลำบากใจเหลือเกิน เมื่อต้องเอ่ยนามตัวละครรายนี้ เพราะเกรงผู้อ่านจะนึกเฉไฉไปถึงนักการเมืองคนหนึ่งคนใดเป็นพิเศษ ยืนยันอีกครั้งว่าไม่มีนัยยะแอบแฝงในทางนั้นเลยนะครับ) และไอ้โหนนี่เป็นกะโหลกศีรษะมนุษย์ และมีเฉพาะส่วนหัว ปราศจากลำตัว

เรื่องราวของ “หุ่นไล่กา” ในแต่ละตอน เริ่มด้วยการพูดคุยกัน จนนำไปสู่การตั้งกระทู้เปิดประเด็น ซึ่งแม่มด ไอ้ห้อย ไอ้โหน มักจะคิดเห็นขัดแย้งไม่ลงรอยกันอยู่เสมอ จึงต้องมีการพิสูจน์ในภาคปฏิบัติ

วิธีพิสูจน์ก็คือ แม่มดใช้เวทมนตร์เสกหุ่นไล่กาให้กลายเป็นคน พร้อมกับมอบของวิเศษประจำตัว (โดยมากมักจะได้แก่พวกเครื่องประดับ เช่น แว่นตา แหวน สร้อยคอ นาฬิกาฯ) จากนั้นก็ส่งไปใช้ชีวิตในเมืองมนุษย์ และเผชิญสถานการณ์สอดคล้องกับหัวข้อที่คุยกันไว้ในตอนต้น

โดยรวมส่วนใหญ่แล้ว บรรดาหุ่นไล่กาทั้งหลาย มักจะบาดเจ็บบอบช้ำเพลี่ยงพล้ำทางใจกลับมา เพราะรู้ไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมมายาของคน และต้องถอดเครื่องประดับคืนของวิเศษให้แก่แม่มด เพื่อขอกลับไปเป็นหุ่นไล่กาตามเดิม

โครงสร้างคร่าว ๆ เช่นนี้ เปิดช่องเอาไว้กว้างมาก ให้เนื้อหาของแต่ละตอนสามารถพลิกแพลงผูกเรื่องไปได้ต่าง ๆ นานา รวมทั้งสามารถสะท้อนปัญหาและวิพากษ์วิจารณ์เสียดสีสังคมได้สารพัดผ่านอารมณ์ขันอันโดดเด่นลึกซึ้ง

เป็นอารมณ์ขันเชิงเหน็บแนมหยอกล้อแบบนิ่ม ๆ ช่างคิดเฉียบแหลมคมคาย และหนักไปทางเรียกรอยยิ้ม มากกว่าจะเชือดเฉือนเป้าหมายอย่างก้าวร้าวเอาเป็นเอาตาย

พูดอีกแบบก็คือ “หุ่นไล่กา” ดูคล้ายนิทานชาดกสอนใจในเชิงเปรียบเปรย ที่เปลี่ยนมาใช้ฉากหลังเป็นปัจจุบัน เพื่อสะท้อนปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยขณะนั้นได้อย่างแยบยล และเข้าขั้นล้ำยุค กระทั่งมานึกทบทวนดูตอนนี้ก็ยังทันสมัย ไม่มีอะไรเก่าเชยเลยสักนิด

แก่นเรื่องหลัก ๆ ของ “หุ่นไล่กา” สามารสรุปความคิดรวบยอด ผ่านเนื้อร้องในเพลงช่วงเครดิตไตเติลเอาไว้ว่า “มองดูโลกสิเจริญไกล มีน้ำมีไฟมีตึกงาม มองดูกายคนเด่นงามดี มองดูใจสิกลับเลวทราม แก่งแย่งชิงดีกัน กล้าถึงกับจะทำ ห้ำหั่นกันวอดวาย ตัวฉันเป็นเพียงหุ่นไล่กา มีหญ้ามีฟางเป็นร่างกาย ไม่มีสมองที่จะคิด ไม่มีชีวิตเช่นใคร ๆ ฉันไปอยู่กับคน ฉันยังทนไม่ไหว อาย อาย อาย อาย ฉันอาย ฉันอาย ฉันอาย ขอกลับไปเป็นหุ่นไล่กา ยืนเฝ้าท้องนาสุขสบาย ไม่เอาแล้วคน ฉันทนไม่ไหว”

ดังที่บอกเล่ากล่าวไว้แต่ต้นว่า “หุ่นไล่กา” สร้างและฉายยาวนาน มีจำนวนตอนมากมายมหาศาล จึงเป็นเรื่องเหลือที่จะจดจำรายละเอียดได้หมดครบถ้วน มิหนำซ้ำในยุคนั้น บ้านผมยังไม่มีปัญญาซื้อโทรทัศน์ไว้ประจำครัวเรือน ต้องอาศัยดูจากเพื่อนบ้าน ผมก็เลยติดตามอย่างแหว่งวิ่นขาดเป็นห้วง ๆ ยิ่งในยุคท้าย ๆ ผมก็ยิ่งพลัดห่างร้างไกลจากหนังโทรทัศน์ชุดนี้หนักกว่าเดิม เพราะต้องย้ายบ้าน ไม่มีทีวี และไม่รู้จักคุ้นเคยกับใครพอที่จะไปขอติดตามดูได้อีก

ทั้งหมดทั้งปวงของ “หุ่นไล่กา” ผมจึงจำรายละเอียดได้เพียงแค่ 3 ตอน

ตอนแรกที่ยังจดจำได้ก็คือ เรื่องราวว่าด้วยไข่ปลาสลิด แม่มดเสกหุ่นไล่กา ไปใช้ชีวิตเป็นมหาเศรษฐี โดยที่ของวิเศษประจำตัว ได้แก่ เงินจำนวนมหาศาล (เงื่อนไขก็คือว่า หากเงินหมดเมื่อไร จะต้องกลับมาเป็นหุ่นไล่กาตามเดิม)

เมื่อแปลงร่างเป็นมนุษย์ คุณเศรษฐีก็ซื้อบ้าน ซื้อรถ และมีข้าใช้สอยบริวารให้สมฐานะ ดำรงชีวิตอย่างสุขสบายโดยมิได้ประกอบอาชีพการงานใด

เรื่องมาขับเคลื่อนเมื่อวันหนึ่งบ่าวคนสนิท ทำกับข้าวที่ปรุงโดยมีไข่ปลาสลิดเป็นวัตถุดิบ ท่านเศรษฐีหุ่นไล่กาได้ลิ้มรสอันโอชะเข้า ก็เกิดติดอกติดใจขนาดหนัก ถึงขั้นออกคำสั่งระบุว่า ทุกมื้อถัดจากนี้ไป ขอเลือกจำเพาะเจาะจงกินแต่ไข่ปลาสลิดที่นำมาต้มยำทำแกงพลิกแพลงเป็นอาหารสารพัดอย่างเท่านั้น

แรกเริ่ม เจ้าคนใช้ก็ชี้แจงว่า ปลาสลิดนั้นใช่ว่าจะมีไข่ทุกตัว และตัวที่มีก็ใช่ว่าจะประกอบไปด้วยไข่ในปริมาณมากมาย ท่านเศรษฐีจึงออกคำสั่งตัดรำคาญว่า ให้ซื้อปลาสลิดแบบเหมากว้านตามตลาด และเลือกเฟ้นไข่ให้มีพอนำมาจัดสำรับกับข้าวทุกมื้อ

เหตุการณ์ก็เป็นเช่นนี้เรื่อยมา ท่านเศรษฐีกินไข่ปลาสลิดต่อเนื่องติดพันทุกมื้อโดยไม่รู้เบื่อ นานวันเข้ารายจ่ายแบบ “ใช้เยอะเพื่อสิ่งเล็กน้อย” ก็กลายเป็นการล้างผลาญ จนทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ค่อย ๆ วอดวายหายหดทีละน้อย วันหนึ่ง “ต้นทุน” ที่แม่มดให้มาก็หมดเกลี้ยง

ผมจำตอนจบไม่ได้ว่า ท้ายสุดแล้วท่านเศรษฐี ต้องระทมซมซานกลับมาเป็นหุ่นไล่กาหรือเปล่า แต่ที่แน่ ๆ มีการหักมุมพลิกผันในบั้นปลาย

วันที่เศรษฐีตกเป็นฝ่ายสิ้นเนื้อประดาตัว ความจริงอีกอย่างก็ปรากฎคือ เจ้าคนใช้ผู้นำเสนอเมนูไข่ปลาสลิด กลายเป็นคนมั่งคั่งร่ำรวย

เปล่าทรยศคดโกงหรอกนะครับ คุณพี่เขาแค่นำเอาปลาสลิดที่เป็นส่วนเกินทิ้งขว้าง ย้อนคืนกลับไปขายให้พ่อค้าแม่ค้าตามตลาด จากนั้นก็เก็บเล็กผสมน้อยหยอดออมสินมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีฐานะความเป็นอยู่สวนทางตรงข้ามกับเจ้านาย

ท้ายสุดคนใช้นำเงินของตนมามอบให้เศรษฐี จากนั้นฝ่ายนายจ้างจะรับเงินไว้แล้วใช้ชิวิตต่อตามเดิม หรือปฏิเสธเพราะรู้สึกละอายใจ จึงกลับมาเป็นหุ่นไล่กา ผมก็ออกจะจำได้เลอะเลือนเต็มที อาจเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือจำผิดหมดเลยก็ได้นะครับ

“หุ่นไล่กา” ตอนดังกล่าว จะมีแง่คิดอันใดต่อผู้ชมนั้น ในวัยเด็กผมคงเข้าใจไม่แจ่มแจ้งนักหรอก เป็นเรื่องที่ผมมาตรองไตร่ใคร่ครวญคิดได้ก็ต่อเมื่อเติบโตแล้ว

ช่วงที่เพิ่งผ่านตา รวมทั้งตลอดระยะเวลาอีกนานทีเดียว ความทรงจำฝังใจของผมเกี่ยวกับ “หุ่นไล่กา” ตอนนี้มีเพียงแค่ว่าไข่ปลาสลิดเป็นอาหารวิเศษที่ผมอยากกินเหลือเกิน และพยายามจะจินตนาการนึกหน้าตาว่ามันเป็นอย่างไร? มีรสชาติเช่นไร?

ความคิดเช่นนี้ ทำให้ผมดื่มด่ำซาบซึ้งเป็นพิเศษทุกครั้งที่กินปลาสลิด และพยายามควานคว้าค้นหาดูว่า จะมีไข่หลงหูหลงตาซุกซ่อนอยู่ตรงไหนบ้างหรือเปล่า? เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมชื่นชอบโปรดปรานการกินปลาสลิดจนถึงทุกวันนี้ นอกจากรสชาติอันเอร็ดอร่อยแล้ว ก็น่าจะเป็นด้วยอิทธิพลอันล้นเหลือจาก “หุ่นไล่กา” ตอนดังกล่าวนี่แหละ

จนถึงปัจจุบัน ผมยังไม่เคยมีโอกาสลองลิ้มชิมรสไข่ปลาสลิดเลย แรกเริ่มเป็นเพราะรู้สึกว่าราคาคงจะแพงเกินฐานะ ทำให้ครอบครัวที่ขัดสนอยู่แล้วยิ่งย่ำแย่ทรุดหนักลงอีก ต่อมาความคิดดังกล่าวก็ค่อย ๆ คลี่คลายหายไป และเกิดเหตุผลใหม่ให้ผมไม่นึกอยากขึ้นมาทดแทน

กล่าวคือ หลายปีที่ผ่านมา ผมจินตนาการถึงไข่ปลาสลิดอยู่เนือง ๆ จนมาถึงตอนนี้ รสชาติของมันคงจะเลยเถิดไปไกลอร่อยเกินความเป็นจริงอยู่เยอะ ผมจึงไม่อยากทำอะไรที่หักหาญกระทบรบกวนความฝันแบบเด็ก ๆ ของตนเอง

เป็นความฝันแบบเด็ก ๆ ที่ผมนึกถึงทีไรก็มีทั้งความสุขใจและหม่นเศร้า ด้านหนึ่งมันเชื่อมโยงผมไปถึงหนังโทรทัศน์ที่ผูกพันสนิทแนบแน่นประทับใจ และมีส่วนปลูกฝังจิตสำนึกดีงามหลายอย่างทั้งทางตรงทางอ้อม อีกด้านหนึ่งก็เตือนให้ผมไม่ลืมเลือนความยากเข็ญของครอบครัวครั้งวัยเยาว์

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อนึกคิดต่อเนื่องไปถึงความเหน็ดเหนื่อยตรากตรำของเตี่ยและแม่ในครั้งนั้น



(เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2551 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ")

วันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2552

บทเรียนจากไร่อ้อย โดย "นรา"


1

ผมตั้งสัตย์ปฏิญาณตนเอาไว้ว่า จะตัดใจเด็ดเดี่ยวไม่เที่ยวแวะไปเยี่ยมชมงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งล่าสุด ด้วยเหตุผลรวบรัดสองสามประการ

อันดับแรก ลำพังแค่จำนวนหนังสือทั้งหมดที่บุกรุกยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในบ้านตอนนี้ ต่อให้ผมอ่านแบบโหมกระหน่ำเอาเป็นเอาตายวันละหนึ่งเล่ม อย่างเร็วสุดก็ต้องใช้เวลาประมาณ 15-20 ปี จึงจะผ่านตาครบถ้วน (เขียนถึงตรงนี้ผมก็ท้อและปลงตกขึ้นมาฉับพลัน)

ถัดมาคือ ระยะหลัง ๆ เวลาเดินตรวจราชการตามร้านขายหนังสือทั่วไป ไม่ค่อยจะมีงานดี ๆ เผยแพร่วางจำหน่ายมากนัก หรือถ้าหากจะมี ส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่งานในแบบที่เฉียดใกล้ตรงกับความสนใจของผมเลยสักนิด ความตื่นเต้นที่มีต่องานสัปดาห์หนังสือหนนี้จึงจืดจางลดทอนลงไปเยอะ

อย่างไรก็ตาม เหตุผลสำคัญสุดคือ ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ซึ่งผมมักจะเกิดอาการเลือดเข้าตา ซื้อหนังสือแบบไม่ยั้งมือและไม่ยั้งคิด คราวละหนึ่งกระเป๋าเดินทางใบเบ้อเริ่มเทิ่ม

แย่กว่านั้น งานสัปดาห์หนังสือทุกครั้ง ผมไม่ได้แวะไปแค่วันเดียว แต่ไปทุกวันที่ว่างและมีโอกาส

จบงานแต่ละครั้ง จึงซื้อหนังสือรวมแล้ว สามารถบรรจุกระเป๋าเดินทางใบเขื่องได้ 5-6 ใบ

ปีนี้ผมจึงพยายามหักห้ามใจ ว่าจะงดเว้นสักครั้ง เพื่อดำรงตนเป็นคนประหยัด

แต่เมื่อถึงเวลาที่งานสัปดาห์หนังสือเริ่มต้นขึ้นจริง ๆ ผมก็เกิดอาการครั่นเนื้อครั่นตัวกระวนกระวายกระสับกระส่ายอยู่ไม่เป็นสุข หงุดหงิดงุ่นง่านอยู่หลายชั่วโมง (เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยหัวใจว้าวุ่น) จนท้ายที่สุดก็ตบะแตก “ต้องเสียสัตย์เพื่องานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ”

ผมเคยลองคำนวณราคาหนังสือทั้งหมดที่มีอยู่ในครอบครองเล่น ๆ โดยคิดราคาตามหน้าปก ไม่บวกมูลค่าในความเป็นหนังสือเก่าหรือหายาก (ซึ่งหลายเล่มซื้อมาแพงกว่าราคาตามหน้าปก) สรุปได้ว่า น่าจะหมดเงินไปราว ๆ 2-3 ล้านบาทเป็นอย่างต่ำ

เรื่องการซื้อหนังสือแบบบ้าระห่ำไม่ลืมหูลืมตาของผม สามารถมองได้สองมุม ด้านหนึ่งคือความจำเป็นในการเติมอาหารสมอง เป็นการตระเตรียมความพร้อมล่วงหน้าสำหรับทำงานเขียน ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็อาจนับเข้าข่ายใช้เงินสุรุ่ยสุร่ายเหลวแหลกฟุ่มเฟือยได้เหมือนกัน

2

ผมนั้นไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจสตางคะการเลยสักนิด ตลอดหลายปีที่ผ่านมาก็ดำรงชีพโดยยึดหลักง่าย ๆ แค่ว่า ใช้เงินอย่างไรก็ได้ ขอเพียงแค่ให้ไม่เกินเลยรายรับ มีเหลือเก็บออมบ้างเล็กน้อย และระมัดระวังไม่ให้เป็นหนี้ใคร

พูดอย่างถึงที่สุด ถือได้ว่า ผมยังคงใช้สอยอย่างติดประมาทอยู่นะครับ แค่วาสนาดีอยู่บ้างที่รายจ่ายมีจำกัด

จนเมื่อประมาณสองปีที่แล้ว ผมจึงได้รู้ซึ้งในรสพระธรรม เมื่อจู่ ๆ รายรับนั้นเกิดติดขัดไม่ลื่นไหลเท่าที่ควร หนังสือที่ผมเขียนให้ ฉบับหนึ่งติดค้างค่าเรื่องอย่างต่อเนื่องยาวนาน (คิดเป็นจำนวนเงินแล้วก็เยอะจนน่าตกใจ) อีกฉบับหนึ่งทยอยจ่ายเงินล่าช้าร่วม ๆ ครึ่งปี

เท่านั้นยังไม่พอ เกิดรายจ่ายฉับพลันกระทันหัน คือ แม่ผมป่วยไข้ตามประสาผู้สูงอายุ จนต้องเข้าโรงพยาบาลติดกันสองสามครั้งในช่วงไม่กี่เดือน บวกรวมกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น

ผลก็คือ จากที่เคยมีเงินเก็บออมก้อนหนึ่ง ผมกลับกลายเป็นมีหนี้สินจำนวนตัวเลขเท่า ๆ กับที่เคยมีเงินฝากธนาคาร

ผมนั้นมึนตึ้บไประยะหนึ่งเลยทีเดียว พยายามทบทวนดูว่า วางแผนใช้ชีวิตผิดพลาดตรงไหน ก็พบว่า ทุกอย่างดำเนินไปถูกต้องเป็นปกติพอตามอัตภาพ หากจะมีรูรั่วรอยโหว่อยู่บ้างก็คือ ผมลืมนึกถึงปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของตนเอง

พูดง่ายๆ ผมนั้นใช้ชีวิตแบบมีการวางแผน แต่ที่ผิดพลาดคือ ปราศจากแผนสำรอง แผนสอง แผนสาม ตระเตรียมไว้สำหรับรับมือกรณีฉุกเฉิน

ถึงที่สุด ผมผ่านพ้นวิกฤติดังกล่าวมาเรียบร้อยแล้วนะครับ โดยใช้เวลาราว ๆ ครึ่งปี ในการสะสางหนี้สินต่าง ๆ จนหมด และเริ่มต้นเก็บออมได้อีกครั้ง

บทเรียนที่ผมได้รับก็คือ ไม่ว่าอะไรรอบข้างจำย่ำแย่เลวร้ายแค่ไหน อันดับแรกสุด ห้ามใจเสียและท้อแท้สิ้นหวังเด็ดขาด

ขมขื่นเจ็บปวดนั้นเป็นสิ่งที่รู้สึกกันได้นะครับ และสามารถระบายความอัดอั้นด้วยการปรับทุกข์กับเพื่อนฝูง แต่ไม่ควรจมดิ่งอยู่ในอารมณ์หดหู่หมดหวัง กระทั่งสูญเสียกำลังใจโดยสิ้นเชิง

ที่กล่าวกันว่า ปัญหาทุกอย่างแก้ไขได้นั้น เป็นจริงทุกประการ (ไอแซ็ค อาชิมอฟนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ ยังตอกย้ำอีกว่า “อะไรที่เกินเลยสติปัญญามนุษย์จะสามารถแก้ไขได้ เราไม่เรียกสิ่งนั้นว่าปัญหา”)

เรื่องที่น่ากลัวก็คือ เวลาเจออะไรร้าย ๆ เรามักจะนึกจินตนาการเลยเถิดไปเสียใหญ่โต และนึกเปรียบเทียบ (กับสิ่งที่ดีกว่า/เหนือกว่า) จนถลำลึกสู่ภาวะเสียขวัญขั้นรุนแรง

สเต็ปของการแก้ปัญหาใด ๆ ก็ตาม ผมคิดว่ามันควรเริ่มต้นที่การมีความหวังเสียก่อน จากนั้นก็ค่อย ๆ ตั้งสติ ทำใจนิ่ง ๆ ไม่ตื่นตระหนก ค่อย ๆ นึกย้อนทบทวนหาสาเหตุต่าง ๆ แล้วจึงลงมือจัดการแก้ไขคลี่คลาย

กรณีของผม จุดใหญ่ใจความแห่งปัญหา มีเพียงแค่ว่า จู่ ๆ รายจ่ายเพิ่มพูนมากขึ้นสวนทางกับรายรับที่ถดถอยน้อยลง

วิธีแก้จึงต้องใช้เงินให้น้อยลง หาเงินให้มากขึ้น

ทำได้ยังไงหรือครับ? ก็แค่ประหยัดและทำงานหนักกว่าเดิมเท่านั้นเอง

เมื่อตอนที่นำพาตนเองเข้าสู่มาตรการมัธยัสถ์ ผมได้พบว่า ที่แล้ว ๆ มาผมใช้ตังค์เหลวไหลอีลุ่ยฉุยแฉกโดยไม่รู้ตัวอยู่เยอะ เช่น กินข้าวมื้อละแพง ๆ หลายร้อยบาท ซึ่งในช่วงรัดเข็มขัดเทียบเท่ากับค่าใช้จ่ายทุกอย่างต่อหนึ่งวันเลยทีเดียว นี่ยังไม่นับรวมรายจ่ายเบ็ดเตล็ดอีกเป็นเงินจำนวนมาก

ผมประหยัดด้วยการค่อย ๆ ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปทีละอย่างสองอย่าง กินอยู่ให้สอดคล้องกับฐานะการเงิน และควบคุมดูแลระมัดระวังค่าใช้จ่ายให้ลงตัวกับเงินค่าเรื่องที่ได้มา

ทำเช่นนี้อยู่ไม่กี่เดือน รายรับที่ลดน้อยลงก็เพียงพอครอบคลุมต่อค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ส่วนเรื่องทำงานหนักนั้น มีหลักง่าย ๆ แค่ว่า เพิ่มจำนวนชิ้นงานเยอะกว่าเดิม (เล็กน้อย) เพื่อให้เกิดรายได้มากขึ้น และให้เวลาความใส่ใจกับการทำงานทุกครั้งอย่างถี่ถ้วนกว่าเดิมอีกเท่าตัว

พูดง่าย ๆ คือ ไม่ได้เขียนต้นฉบับแค่ให้พอมีส่งตามกำหนด แต่ควรจะเป็น “งานปั้น” ที่ทุ่มเทจนสุดฝีมือ และหลีกเลี่ยง “งานเผา” เอาตัวรอด

เรื่องทำงานหนัก ผมไม่แน่ใจหรอกนะครับว่าหากประกอบอาชีพอื่น ๆ ผมจะต้องทำอย่างไรบ้าง? เนื่องจากอ่อนหัดขาดประสบการณ์ แต่สำหรับงานเขียนที่ผมคลุกคลีมานานพอสมควร ผมรู้ว่าสิ่งที่สามารถและอยู่ในวิสัยพึงกระทำได้คือ เขียนให้เยอะขึ้น และเขียนให้เนี้ยบขึ้น

ข้อดีของอาชีพนักเขียน อาจอยู่ตรงนี้เอง คือ สามารถผลิตงานนอกเหนือ “การว่าจ้าง” ได้ตลอดเวลา

ช่วงที่เผชิญวิกฤติย่ำแย่ นอกจากผมจะหาสนามให้ตนเองมีงานเขียนเพิ่มขึ้น เพื่อประคับประคองรายรับรายจ่ายให้พอเหมาะแล้ว ผมยังสามารถหยิบงานเก่ามาขัดเกลาแก้ไขสำหรับรวมเล่ม (ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง) ควบคู่ไปกับการเขียนงานจำนวนหนึ่งเก็บไว้สำหรับอนาคต

ผลสืบเนื่องอีกอย่างที่เกี่ยวโยงโดยอัตโนมัติก็คือ ยิ่งทำงานเขียนหนังสือต่อเนื่องถี่ขึ้นมากเท่าไร โอกาสและเวลาที่จะออกไปเสียเงินนอกบ้านก็ลดน้อยลง ในสัดส่วนสวนทางกันมากเท่านั้นตลอดเวลา

กล่าวโดยสรุป แม้ว่าผมจะมีอายุล่วงเลยวัยเด็กไปเยอะแล้ว แต่คำขวัญวันเด็กประเภท “ขยัน ประหยัด มีวินัย ใฝ่คุณธรรม” ยังคงเป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์ที่ได้ผลเสมอ

ที่สำคัญคือ โปรดอย่าลืมคำว่า “ความหวัง” นะครับ ผมนั้นถึงขั้นเชื่อโดยเคร่งครัดว่า มนุษย์เราสูญเสียอะไรก็ได้ แต่ไม่ควรทำความหวังหล่นหายไปจากใจโดยเด็ดขาด

ผมนั้นชอบบทพูดคมคายจากตอนหนึ่งในหนังญี่ปุ่นเรื่อง Breath In, Breath Out เหลือเกิน กล่าวคือ หลังเกิดเหตุวิกฤติจนทำให้ตัวละครทั้งหมด “ล้มทั้งยืน” และตกอยู่ในห้วงยามพ่ายแพ้ บาดเจ็บทางใจเข้าขั้นสาหัส ผู้เฒ่าตายายเจ้าของไร่อ้อย ก็ค่อย ๆ ปลอบโยนทุกคนอย่างมีเมตตาและเข้าใจชีวิตว่า

“เสียหายแค่นี้ไม่เป็นไรหรอก เพราะที่นี่เราสามารถเริ่มต้นลงมือสร้างทุกสิ่งขึ้นมาใหม่ได้เสมอ”

3

งานสัปดาห์หนังสือครั้งล่าสุด ผมสงบเสงี่ยมเจียมตัวและจับจ่ายใช้สอยอย่างสุขุมขึ้นเยอะ ไม่ได้พกพาอารมณ์เสี่ยสั่งลุย ซื้อล้างผลาญราวกับจะไปเปิดร้านหนังสือ เหมือนอย่างที่เคยประพฤติปฏิบัติประจำ

ซื้อแค่พอระงับดับความพลุ่งพล่านในใจไปหนึ่งกระเป๋าเดินทางใบใหญ่เท่านั้นเอง และแวะเวียนไปเพียงแค่วันเดียว จากนั้นก็วิ่งไล่เตะตัวเองให้นั่งลงหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อทำงาน (ทุกครั้งที่ครั่นเนื้อครั่นตัวอยากไปอีก)

ถึงผมจะผ่านพ้นห้วงยามวิกฤติไปแล้วก็ตาม แต่ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องที่ต้องจำ ห้ามลืมเลือน และพึงใช้ชีวิตถัดจากนั้นด้วยความระมัดระวังไม่ประมาท

ที่สำคัญ ระหว่างเดินในงานสัปดาห์หนังสือ จู่ ๆ ผมก็โดน “ผีนักวิชาการ” ผู้สันทัดจัดเจนทางเศรษฐศาสตร์และโหราศาสตร์เข้าสิง จนเกิดความรู้สึกว่า ภาวะทางเศรษฐกิจบ้านเราในปีนี้ มีแนวโน้มส่อสัญญาณแสดงอาการที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้ช่วงฟองสบู่แตกเมื่อปี 2540

กลับมาถึงบ้าน ผมจึงรีบลงมือเขียนเรื่องนี้ เพื่อบอกกล่าวต่อมิตรรักแฟนเพลงทุกท่านว่า ได้เวลาที่จะต้องมีวินัย, ประหยัดและทำงานหนัก (ด้วยอารมณ์สนุกครึกครื้นและรักชอบในสิ่งที่ทำ) กันอีกแล้วล่ะครับ



(เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2551 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ" หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ จนถึงวันนี้ ถือว่าไม่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ผมเดาแม่น
เศรษฐกิจย่ำแย่จริงตามคาด
อย่างไรก็ตาม ในงานสัปดาห์หนังสือปีนี้ ผมไปหลายวัน และสิ้นเนื้อประดาตัวหมดเงินไปเยอะทีเดียว ด้วยเหตุผลต่างจากปีอื่น ๆ คือ มีหนังสือเก่าจำนวนมากที่ต้องเสาะหาสำหรับงานเมกะโปรเจกต์ แต่ละเล่มราคาค่อนข้างแพงไปตามระดับ "ความหายาก" ผมจึงมีแผลเหวอะหวะจากการโดนพ่อค้าหนังสือเก่า "ฟัน" บวกกำไรเพิ่มเติมเกินราคาหน้าปกไปไกล อยู่หลายสิบแผล)




















ใครหนอจะกินน้ำก่อนใคร โดย "นรา"


มีคนถามผมบ่อย ๆ ว่า ดูและเขียนถึงหนังมาเยอะแล้ว เคยคิดอยากจะกำกับหนังเองบ้างไหม?

ผมก็ตอบไปบ่อยเท่า ๆ กันว่า ไม่คิด เพราะทำไม่เป็น และปราศจากความรู้โดยสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม มีบางวาระโอกาสอยู่เหมือนกัน ที่ผมแอบนึกเพ้อฝันเล่น ๆ ในใจว่า ถ้าได้ทำหนัง ผมอยากจะทำเรื่องอะไร?

มีอยู่ 2-3 เรื่องที่ผมอยากทำ หรืออยากเห็นใครก็ได้สร้างออกมาให้ดู (อย่างหลังนี่น่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่านะครับ)

สองเรื่องแรก คือ การดัดแปลงงานเขียน “บ้านเกิดและเพื่อนเก่า” ของคุณวาณิช จรุงกิจอนันต์ และ “ดวงจันทร์ที่จากไป” ของคุณบินหลา สันกาลาคีรี ซึ่งเป็นหนังสือที่ผมประทับใจ

ส่วนลำดับสุดท้ายเป็นเรื่องราวประวัติบุคคลที่มีตัวตนจริง นั่นคือ ชีวิตของยายทองอยู่ รักษาพล แม่เพลงพื้นบ้าน

ผมรู้จักเรื่องราวของยายทองอยู่เป็นครั้งแรก เมื่อราว ๆ ปี 2530 ซึ่งเป็นช่วงที่ยายเสียชีวิตไปแล้วสองปี จึงไม่ทันมีโอกาสได้ดูการแสดง อันเป็นที่ลือลั่นเล่าขานกันว่า “สนุกถึงอกถึงใจ” เหลือเกิน

นี่เป็นเรื่องหนึ่งในชีวิตที่ผมรู้สึกเสียดาย และคิดว่าวาสนาของผมน้อยไปหน่อย

ผมรู้จักยายทองอยู่ จากการอ่านหนังสือ “สารานุกรมเพลงพื้นบ้านภาคกลาง” ของคุณเอนก นาวิกมูล ซึ่งตีพิมพ์ขึ้นเป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพของยายทองอยู่

เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้แบ่งเป็นสองภาค ส่วนแรกคือ การอธิบายคำศัพท์เกี่ยวกับเพลงพื้นบ้าน ส่วนหลังเป็นรวมบทความของนักเขียนหลาย ๆ ท่าน บอกเล่าถึงประวัติ, เหตุการณ์ และความประทับใจที่ได้รับจากการมีโอกาสรู้จักคลุกคลีกับยายทองอยู่

ความรู้เกี่ยวกับยายทองอยู่ของผมจึงมีน้อยนิดแค่เพียงเศษเสี้ยว แต่ก็เยอะเกินพอที่จะทำให้ผมตกหลุมรักและรู้สึกจับอกจับใจต่อชีวิตอันน่าทึ่งของ “แม่เพลงห้าแผ่นดิน” ท่านนี้

ชีวิตของยายทองอยู่นั้น โลดโผนเปี่ยมสีสัน มีอารมณ์สุข โศก ทุกข์ยาก ครบถ้วนทุกรสชาติ และเต็มไปด้วยเรื่องราวเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอันน่าทึ่งมากมาย

ยายเกิดเมื่อวันอาทิตย์ แรม 11 ค่ำ เดือน 11 ปีมะเส็ง ซึ่งเมื่อเทียบกับปฏิทินแบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันแล้ว ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436
ก่อนหน้าที่ยายจะเกิด โรคฝีดาษระบาดครั้งใหญ่ที่นครนายกอยู่นาน ผู้คนเจ็บป่วยล้มตายกันไปมากมาย จนในที่สุดเหตุการณ์ก็กลับเป็นปกติ หลังจากนั้นยายก็เกิด และได้รับการตั้งชื่อว่า “ทองอยู่” เพื่อเป็นเคล็ด

วีรกรรมโลดโผนครั้งแรกของยายก็คือ การตัดสินใจหนีออกจากบ้านเมื่อตอนอายุเก้าขวบ เพื่อจะไปหัดเพลง ด้วยใจรักอย่างแรงกล้าและมุ่งมั่น

ยายออกจากบ้านแต่เช้า เอาไข่ต้มห่อพกมาด้วย ไม่ใช่เพื่อกินประทังหิวระหว่างเดินทาง แต่เพื่อบนบานศาลกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอให้ไปถึงบ้านหลวงโสภา ตัวเมืองนครนายก (ซึ่งที่นั่นมีการว่าจ้างครูมาหัดเพลงให้แก่เด็ก ๆ อย่างเป็นจริงเป็นจัง) โดยอย่าให้ใครมาตามตัวตัวกลับบ้านได้

เมื่อไปถึงที่หมายได้สักครู่ พ่อของยายก็ตามมาทันและจะพากลับบ้าน แต่หลวงโสภากับครูเพลงได้หว่านล้อมโน้มน้าว ขอให้ยายทองอยู่ได้มีโอกาสฝึกหัดเรียนรู้ตามที่ปรารถนา โดยตกลงกันว่า เมื่อเติบโตเป็นสาวแล้วค่อยเลิก พ่อจึงยินยอมปล่อยตัว

ผลก็คือ นับตั้งแต่นั้นมา ยายทองอยู่ได้คลุกคลีอุทิศตนเป็นแม่เพลง โดยไม่เคยเลิกร้างห่างหาย ไม่ว่าจะเผชิญอุปสรรคกีดขวาง หรือได้รับความทุกข์ยากลำบากในการยังชีพหนักหนาสาหัสเพียงไรก็ตาม

อาจกล่าวได้ว่า ตลอดทุกลมหายใจเข้าออกเนิ่นนานถึง 83 ปี (ยายทองอยู่เสียชีวิตเมื่ออายุ 92) เป็นชีวิตที่ดำรงอยู่ด้วยเจตนารมณ์เพียงหนึ่งเดียว นั่นคือ เพื่อเป็นแม่เพลง

เรื่องราวในชีวิตของยายทองอยู่ เข้มข้นยิ่งกว่านิยาย มีทั้งผิดหวัง สมหวังในด้านความรัก ถูกผู้ชายฉุดเอาทำเมีย ลูกเต้าล้มหายตายจากตั้งแต่อายุยังเยาว์ เคยไปเล่นเพลงให้ไอ้เสือดุ เข้ามาเสี่ยงโชคในกรุง อดมื้อกินมื้อ หมดเนื้อหมดตัวเพราะถูกโกง และลุกขึ้นสู้ใหม่ได้อีก ฯลฯ จนมีคนนิยามว่ายายทองอยู่เป็น “นายของชีวิต”

ผมคิดว่า แก่นสารสำคัญในชีวิตของยายทองอยู่ นอกจากหัวใจอันเด็ดเดี่ยวในการมุ่งตามความใฝ่ฝันของตนเองให้ถึงที่สุดแล้ว เคียงข้างกับเรื่องราวของยาย ยังสะท้อนภาพความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในช่วงเวลาอันยาวนาน จากอดีตถึงปัจจุบัน รวมทั้งทัศนคติและวิธีคิดของยายทองอยู่ ซึ่งเต็มไปด้วยจิตวิญญาณและภูมิปัญญาแบบไทยแท้ ซึ่งนับวันจะยิ่งพบเห็นได้ยาก

เท่าที่ผมอ่านบทความหลาย ๆ ชิ้น พอจะสรุปภาพคร่าว ๆ ของยายทองอยู่ได้ว่า เป็นคนร่ำรวยอารมณ์ขัน ใจนักเลง ฉลาด ตัดสินใจเฉียบขาด ไหวพริบดี ความจำยอดเยี่ยมเป็นเลิศ และเป็นตัวของตัวเอง ไม่เคยหวั่นไหวไปกับกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกรอบข้าง

ประวัติชีวิตส่วนใหญ่ของยายทองอยู่ในวัยสาวและวัยกลางคน อาจจะกระท่อนกระแท่นปะติดปะต่อได้ยาก แต่เรื่องราวช่วงบั้นปลายชีวิต ซึ่งชื่อเสียงเกียรติคุณของยายเริ่มได้รับการเผยแพร่ จนกระทั่งเป็นที่รู้จักของสาธารณชนในวงกว้าง เหตุการณ์ระยะนี้ได้รับการบันทึกเอาไว้ค่อนข้างเด่นชัด

มีเกร็ดเล่าลือสองสามเรื่องเกี่ยวกับยายที่ผมประทับใจมากเป็นพิเศษ

เรื่องแรกก็คือ ยายเก็บหมาตัวหนึ่งมาเลี้ยง เป็นหมาตัวเมีย หน้าตาตลกน่าสงสาร ร่างอ้วนเตี้ย ขาคอก ซึ่งมีคนนำมาทิ้งไว้ตั้งแต่ยังเป็นลูกหมา ยายตั้งชื่อมันว่า บุญทิ้ง และมักจะเรียกว่า อีทิ้ง

ยายรักและผูกพันกับอีทิ้งมากถึงขนาด กิน นอน ดูแลกันและกันอย่างใกล้ชิด ถึงขนาดเวลามันป่วย ยายก็เจียดรายได้ที่มีอยู่ไม่มากนัก จับอีทิ้งยัดใส่กระเป๋าเดินทาง หอบหิ้วกระเตงไปหาหมอ

จนเมื่อมันตาย ยายก็จัดการฝังศพมันเป็นอย่างดี ถึงขั้นจะไปนิมนต์พระมาสวดศพให้ แต่พระท่านทราบเสียก่อนจึงไม่ยอมรับนิมนต์ จึงได้เพียงแต่ทำบุญอุทิศส่วนกุศล และอธิษฐานขอให้อีทิ้งมาเกิดเป็นลูกยายในชาติหน้า

เรื่องถัดมาคือ วีรกรรมแบบ “ขาลุย” ของยายทองอยู่ ซึ่งมองเผิน ๆ ก็อาจเหมือนเหตุการณ์แบบ “บ้านนอกเข้ากรุง” ทำเปิ่น ไม่ทันโลก แต่แท้จริงแล้ว ผมกลับคิดว่า ยายทองอยู่เป็นคนทันสมัย (ยายอ่านหนังสือไม่ออก ตามประสาคนชนบทยุคเก่าก่อนที่ไม่ได้ร่ำเรียน ทว่ายายติดตามข่าวสารบ้านเมือง ความเคลื่อนไหวของโลก ผ่านการฟังวิทยุ) การไม่รู้จักเทคโนโลยีหรือความเจริญบางอย่างในเมืองหลวง ไม่ใช่เพราะความล้าหลัง แต่เป็นเพราะแกไม่สนใจและไม่เห็นเป็นสิ่งสำคัญ

ตัวอย่างเช่น ยายมักจะเดินทางไปไหนมาไหนด้วยรถเมล์สาย 39 แต่ไม่เคยรู้ตัวเลขเบอร์ที่หน้ารถ ไม่เคยจำสีสันรูปทรงลักษณะของตัวรถ

ยายขึ้นรถเมล์ทุกคันที่มาถึง แล้วถามคนขับว่าสาย 39 ใช่ไหม ถ้าใช่ก็โดยสารต่อไปเรื่อย ๆ ถ้าขึ้นผิดก็ลงเดิน (เพื่อจะขึ้นรถคันใหม่ จนกว่าจะถูกต้อง)

ด้วยกรรมวิธีเช่นนี้ ยายสามารถเดินทางไปไหนมาไหน ทั้งใกล้และไกลอย่างโชกโชนโดยไม่เคยหลงทาง

ครั้งหนึ่งยายทองอยู่เดินทางไปแสดงที่ศูนย์สังคีตศิลป์ ยายเข้าไปในลิฟต์ และเมื่อประตูปิด ยายก็อยู่ในนั้นโดยไม่ขยับไปไหน และสงบนิ่ง ไม่ตื่นตระหนกตกใจ จนกระทั่งมีพนักงานส่งของเข้ามา จึงกดปุ่มส่งยายจนถึงที่หมาย

ผมเดาเอาว่า ขณะติดอยู่ในลิฟต์ ยายน่าจะมั่นใจมากว่า ประเดี๋ยว คงมีคนมาให้บริการอำนวยความสะดวก

เล่ากันว่า เมื่อมีคนพายายทองอยู่ไปเที่ยววัดพระแก้ว ยายเจอะเจอนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ พลันก็ตรงรี่เข้าทักทายแสดงน้ำใจในฐานะเจ้าของบ้านที่มีต่อแขกผู้มาเยือนว่า “มอย ยู คัม” เสร็จแล้วก็เดินจากไป ปล่อยให้ฝรั่งรวมทั้งคนที่เผอิญผ่านมาได้ยินได้ฟัง ยืนงงสงสัยว่ายายพูดอะไร (จริง ๆ แล้วยายตั้งใจจะกล่าว “เวลคัม)
มีภาพประวัติศาสตร์ที่น่าประทับใจเกี่ยวกับยายทองอยู่ (ซึ่งผมเสียดายมาก ที่ไม่สามารถนำมาลงประกอบบทความชิ้นนี้ ด้วยข้อขัดข้องทางเทคนิค) ยายได้รับการคัดเลือกให้เป็นศิลปินอาวุโสดีเด่น สาขาเพลงพื้นบ้าน และรับโล่เกียรติยศจากพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี

จู่ ๆ ยายก็ทำในสิ่งที่ทุกคนคาดไม่ถึง และฮือฮาไปตาม ๆ กัน ด้วยการดึงพระหัตถ์สมเด็จพระเทพฯ มาจูบซ้ายจูบขวาอยู่หลายฟอด สมเด็จพระเทพฯ ถึงกับทรงแย้มพระสรวล และได้ตรัสรับสั่งกับยายหลายคำ (ซึ่งยายสารภาพในเวลาต่อมาว่า จำอะไรไม่ได้เลย เนื่องจากมัวแต่ตื่นเต้นปิติยินดี)

ในหนังสือ “สารานุกรมเพลงพื้นบ้านภาคกลาง” มีลงล้อมกรอบคำให้สัมภาษณ์ บทเพลงที่ยายเคยร้อง มีเพลงหนึ่งซึ่งผมอ่านแล้วก็รักมาก และขออนุญาตนำมาลงซ้ำในที่นี้ เนื้อร้องมีอยู่ว่า

“เอย... ฉันจะเสี่ยงสัตย์อธิษฐาน ฉันจะไหว้เทวัญ ขวาซ้าย
วันนี้เราจะสมัคร เราจะมาผูกรัก กับพี่ชาย
ถ้าแม้นว่าใครนี้พี่จ๋า หากว่าไม่รักข้า เต็มใจ
ให้ชีวิตก็มันวายตายเป็นผี ให้มันตายเดี๋ยวนี้ ลงไป
มากินเกลือกันเสียคนละชาม ใครหนอจะกินน้ำก่อนใคร (เอ่ชา)
“ใครหนอจะกินน้ำ ก่อนใคร เรามาลองชั่งความรัก
เถอะของใครจะหนัก กว่าใคร
เราไปซื้อนุ่นสักสองชั่งจีน เราไปซื้อหิน ชั่งไทย
มาชั่ง ความรัก ว่าของใครจะหนักกว่าใคร
นุ่นจม หินลอย พ่อชื่นใจฉันจะคอยดูใจ (เอ่ชา)”

ใครจะรู้สึกเช่นไรไม่ทราบ แต่ผมอ่านแล้วก็รู้สึก “จี๊ด” อย่างแรง นี่เป็นเพลงรักที่โรแมนติกเจืออารมณ์นักเลงโบราณแบบไทย ๆ เรียบง่าย คมคาย และลึกซึ้ง

ยายทองอยู่เริ่มล้มป่วยเมื่อเดือนสิงหาคม 2527 แรกเริ่มแกนอนซมกินอะไรไม่ได้อยู่ที่บ้านนานนับเดือน กว่าจะมีผู้พบเห็นนำส่งโรงพยาบาล หลังจากนั้นก็วนเวียนรักษาตามที่ต่าง ๆ กระทั่งถึงแก่กรรมอย่างสงบเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 พฤษภาคม 2528

ในช่วงท้าย ๆ สองสามเดือนก่อนที่ยายจะเสียชีวิต ยายทองหล่อ ทำเลทอง แม่เพลงอีกท่านที่เป็นเพื่อนสนิทและเป็นคู่หูในการแสดงมาช้านาน ได้แวะมาเยี่ยมที่โรงพยาบาล ช่วงหนึ่งยายทองหล่อร้องเพลงฉ่อยให้ฟัง ยายทองอยู่ค่อย ๆ จับมือเพื่อน น้ำตาไหล มุมปากสั่นระริก พลันยายทองหล่อก็ร้องไม่ออก..และร่ำไห้

ในหนังที่ผมจินตนาการไว้เล่น ๆ เรื่องราวของยายทองอยู่จะจบลงตรงนี้ เป็นภาพนิ่งขณะนอนป่วยกุมมือยายทองหล่อ พร้อม ๆ กับดนตรีบรรเลงท่วงทำนองหวานเศร้า จากนั้นก็จะแทรกด้วยเสียงร้องเพลงพื้นบ้านเมื่อครั้งอดีตของยายทองอยู่ในท่วงทำนองเนื้อร้องร่าเริงมีชีวิตชีวาเข้ามาทดแทน และทิ้งท้ายด้วยบทสนทนา ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีคนถามยายว่า “ยายจ๋า...ในชีวิตนี้ ยายรักอะไรมากที่สุด”

คำตอบของยายนั้นสั้นกระชับแค่ว่า “ข้ารักเพลง”



(เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2551 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ" หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ)




เรื่องผีในคืนวันฮัลโลวีน โดย "นรา"


เมื่อคืนวันฮัลโลวีนที่เพิ่งผ่านพ้น แถวบ้านผมฝนตกกระหน่ำหนักและนานต่อเนื่องราวกับฟ้ารั่ว แถมยังมีฟ้าแลบ ฟ้าร้อง รวมทั้งฟ้าผ่ามาเป็นระยะ ๆ คอยเสริมสร้างบรรยากาศในซอยเปลี่ยวให้ใกล้เคียงกับหนังสยองขวัญยิ่งขึ้นไปอีก

ผมเหลียวมองออกทางนอกหน้าต่าง ก็พบว่ามืดสนิทและวังเวง เสาไฟฟ้าที่อยู่เยื้องถัดไปเล็กน้อย ดับลงเหมือนเช่นทุกครั้งที่เจอลมฝนเล่นงาน มิหนำซ้ำไฟฟ้าในบ้านก็ออกอาการวูบวาบ มีไฟตกส่อสัญญาณไม่สู้จะดีนัก ก่อนจะดับให้ใจเสียประมาณหนึ่งวินาที แล้วติดขึ้นใหม่

ราว ๆ สี่ทุ่มครึ่ง กริ่งโทรศัพท์ก็กรีดร้องดังขึ้นอย่างกะทันหัน ทำเอาผมสะดุ้งตกใจ เมื่อรับสายก็ได้ยินเสียงพูดช้า ๆ เนิบ ๆ แผ่ว ๆ และแหบ ๆ ฟังดูเย็นยะเยือกของผู้ชายคนหนึ่ง “พี่...นา..รา...อยู่...มั้ย...คร้าบ...นี่...ผม...เอง...น้า...” (ขออภัยด้วยครับ ที่ถอดสำเนียงออกมาเป็นตัวหนังสือแล้วไม่น่าสะพรึงกลัวเท่าของจริง โปรดใช้ความสามารถเฉพาะตัวในการอ่าน เพื่ออรรถรสที่แซ่บซึ้งยิ่งขึ้น)

ขณะกำลังนึกทบทวนว่า ผู้โทรศัพท์มาหาผมเป็นใคร เสียงดังกล่าวก็พูดต่อไปอีก “ไม่...ได้...เจอ...กัน...นาน...เหงา...มั้ย...อั๊ย...อั๊ย...อั๊ย...” ท้ายคำพูดมีเสียงก้องสะท้อนด้วย ผมคงไม่ได้หูแว่วไปเองหรอก

“ประทานโทษ ผมไม่อยู่ ไม่ทราบว่ามีธุระอะไรจะฝากไว้” ผมพูดตัดบทไม่ให้การสนทนายืดเยื้อ เพราะฟังจากน้ำเสียงแล้ว มีแนวโน้มสูงยิ่งว่า ถ้าไม่เจอผีหลอกสด ๆ ร้อน ๆ ทางโทรศัพท์ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า กำลังเผชิญเสียงแบบไม่เห็นหน้ากับพวกโรคจิต

“พี่...อย่า...มา...ทำ...เป็น...ตลก...ฝืด...นี่...ผม...เอง...ตึ๋ง...เอง...คร้าบ...พี่...” ฆาตกรโรคจิตเปิดเผยชื่อเสียงเรียงนามของมัน ตึ๋งเป็นเพื่อนรุ่นน้องที่ไม่ได้เจอกันประมาณเกือบ ๆ ปีแล้ว

“ไอ้ตึ๋ง มึงเล่นบ้า ๆ อะไรหยั่งงี้วะ โทรมาดึกดื่นแล้วยังแกล้งดัดเสียงอีก” ผมโวยวายเพื่อกลบเกลื่อนความกลัว

“เปล่า...ดัด...น้า...พี่...จริง...จริง...น้า...ผม...เป็น...หวัด...เจ็บ...คอ...แค่ก...แค่ก...” ตึ๋งสารภาพถึงเหตุผลที่มาของสำเนียงเสียงพูดแปลก ๆ พร้อมทั้งส่งเสียงไอเป็นหลักฐาน

“เอ็งสบายดีหรือเปล่า เออ เอ็งไม่ต้องตอบหรอก เอ็งเป็นหวัด ไม่ค่อยสบาย ขอเปลี่ยนคำถาม ที่โทรมานี่มีธุระอะไร?”

“วัน...นี้...วัน...ฮาล...โล...วีน...ผม...ก็...เลย...นึก...ถึง...พี่...อยาก...คุย...ด้วย...”

“นึกถึงทำไมวะ” ผมถามพร้อมทั้งแอบเดาในใจว่า สงสัยมันจะชวนออกไปท่องตะลุยราตรี

“เพราะ...หน้า...ตา...พี่...จะ...ไป...เที่ยว...ไหน...ก็...ไป...ได้...เลย...ไม่...ต้อง...ใส่...หน้า...กาก...ปลอม...ตัว...เหอะ....เหอะ...แค่ก...แค่ก...” ตึ๋งอธิบายเสร็จก็ถือโอกาสหัวเราะชอบใจ และไอส่งท้ายเป็นของแถมทางรูหู

“หยุดเลย เอ็งไม่ต้องอธิบายเหตุผลละเอียดนักก็ได้ ขอตัดเข้าประเด็นเลยก็แล้วกัน เอ็งโทรมาทำไม?”

“คือ...ว้า...ผม...สง...สัย...เลย...อยาก...ถาม...พี่...ว้า...พี่...เชื่อ...ว้า...ผี...มี...จริง...รื้อ...เปล่า...?” ตึ๋งเฉลยข้อข้องใจด้วยคำถามที่ทำเอาผมแทบหงายหลัง

“ไม่...ต้อง...ตอบ...ตอน...นี้...ก็...ได้...คิด...ซัก...หน่อย...ฮาล...โล...วีน...ปี...หน้า...ผม...ค่อย...โทร...มา...ถาม...ใหม่...” ว่าแล้วคุณตึ๋งก็วางหูโทรศัพท์จบการสนทนาลงดื้อ ๆ ห้วน ๆ เช่นเดียวกับตอนที่มันโทรมา (ผมเกิดจินตนาการเพิ่มเติม เห็นภาพไอ้ตึ๋งวางหูโทรศัพท์ เอามือปิดปากหัวเราะ หันมาทำหน้าเจ้าเล่ห์ยิ้มให้กับกล้อง)

หลังจากสงบสติอารมณ์จนหายตกใจกลัวแล้ว ผมก็ตัดสินใจเขียนถึงเรื่องนี้ จะเรียกว่าเป็นบทความ “ผีประทาน” ก็ได้เหมือนกัน หากเราจะนับอนุโลมว่าไอ้ตึ๋งเป็นผี

ผมเก็บเอาคำถามของคุณพี่ตึ๋งมานั่งคิดต่อ (ควบคู่กับวางแผนว่า จะต้องหาโอกาสโทรศัพท์ไปแกล้งมันบ้างเป็นการล้างแค้น) ตอบไม่ได้หรอกนะครับว่า เชื่อหรือไม่ในเรื่องภูติผีปีศาจ แต่มั่นใจเต็มร้อยว่า ผมเป็นคนกลัวผี และยินดีมากจากใจจริง ถ้าต่างฝ่ายต่างไม่ต้องเจอะเจอกันเลยตลอดชีวิต

ตัวผมเองนั้นไม่เคยมีประสบการณ์พบพานเรื่องผีลี้ลับใด ๆ ทั้งสิ้น (เหตุการณ์ที่พอจะนับได้ว่า ใกล้เคียงกับการโดนผีหลอกมากสุดก็คือ ได้เจอและรู้จักกับไอ้ตึ๋งนี่แหละครับ) ประมาณว่า คลื่นสัญญาณอยู่คนละขั้ว ไม่สามารถติดต่อสื่อสารกันได้

อย่างไรก็ตาม ผมรู้จักเพื่อนรุ่นพี่ รุ่นเดียวกัน และรุ่นน้องหลายราย ต่างบอกเล่าและยืนยันว่า เคยเจอสิ่งไม่มีชีวิต แต่มีวิญญาณที่เรียกว่า “ผี”

มีทั้งประเภทเจอไม่กี่ครั้ง เจอแบบก้ำกึ่งคลุมเครือ (และสามารถวินิจฉัยได้ทั้งในทางวิทยาศาสตร์หรือไสยศาสตร์) เจอแบบถี่และบ่อย เจอจะแจ้งรุนแรงชนิดที่เป็นผมก็คงจะจับไข้หัวโกร๋น

ในบรรดาคำบอกเล่าทั้งหมด เพื่อนรุ่นพี่ของผมรายหนึ่งได้ถ้วยชนะเลิศ เพราะพบเห็นเป็นประจำทุกค่ำคืนและชัดแจ๋ว

เพื่อนรุ่นพี่ท่านนี้ เป็นเด็กต่างจังหวัด ทุกคืนหลังจากปิดไฟเข้านอน แล้วมองออกไปนอกหน้าต่าง พี่เขาจะเห็นต้นมะม่วงสูงใหญ่แผ่กิ่งก้านตะคุ่ม ๆ อยู่ท่ามกลางความมืด ห่างออกไปประมาณ 10 กว่าเมตร

ของแถมก็คือ แต่ละคืนบนต้นมะม่วงจะมีโครงกระดูกร่างคนมานั่งเข้าเวรอยู่เป็นประจำ ที่เด็ดกว่านั้น ท่านผียังจ้องมองมาตรงที่พี่เขานอนอยู่ซะด้วย

ครั้งแรกสุดที่เห็น พี่เขากลัวจนไม่กล้าพูดอะไรออกมา ได้แต่นอนจ้องไปเรื่อย ๆ กระทั่งเคลิ้มหลับ

คืนต่อมาและต่อมาเป็นเวลาอีกหลายปี พี่เขาก็ยังคงพบเห็นภาพเดิม ๆ บนต้นมะม่วง ในที่สุดก็คุ้นและชิน จากที่กลัวสุดขีดก็คลี่คลายเป็นเฉย ๆ (ผมฟังเรื่องนี้แล้ว ก็สรุปได้อย่างเดียวว่า ถ้ามันเกิดขึ้นกับตัวผม ก็คงจะย้ายบ้านหนีทันที)

รุ่นพี่คนนี้สังกัดอยู่ในบุคคลจำพวก คลื่นแรงชัดสัญญาณฉับไวกับเรื่องผีลี้ลับนะครับ เท่าที่ผมทราบ จนถึงปัจจุบันพี่เขาก็ยังพบเผชิญกับประสบการณ์หวิวสยิวทรวงอยู่เนือง ๆ จนนับเป็นเหตุการณ์ปกติอย่างหนึ่งในชีวิต

อย่างไรก็ตาม คำบอกเล่าเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ผมฟังมาอีกที ไม่อาจพิสูจน์ทราบได้แน่ชัดว่าเท็จจริงเป็นยังไง

พูดง่าย ๆ ว่า ถ้าวัดประเมินเอาจากตัวผมเป็นเกณฑ์ ผีก็ไม่มีอยู่จริง แต่พอฟังจากคนรอบข้าง ผีก็คงมีจริงและมีเยอะซะด้วย

ผมจึงไม่สามารถฟันธงว่า ผีมีจริงหรือไม่ และพูดได้แค่ว่า เป็นเรื่องที่ผมไม่รู้ ตลอดจนไม่เคยมุ่งหวังจะค้นหาคำตอบ

ที่แน่ ๆ ผมเชื่อว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปตามวัดวาอารามต่าง ๆ, อนุสาวรีย์ของบุคคลสำคัญหลาย ๆ ท่านในประวัติศาสตร์, พระพรหม, พระพิฆเณศ, ศาลเจ้า หรือแม้กระทั่งพระภูมิเจ้าที่ ฯลฯ

ผมไม่ทราบหรอกครับว่า ท่านเหล่านี้จะมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ใด ๆ บ้างหรือไม่ แต่ในใจก็ได้นับถืออย่างเต็มเปี่ยมว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธ์ ในฐานะสัญลักษณ์ของความดีงามหรือคุณค่าบางประการ การเคารพนับถือกราบไหว้ จึงทำเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเอง มากกว่าจะมีปัจจัยอื่น ๆ ติดพ่วงตามมา

ผมเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีอยู่จริง ก็เพราะเมื่อไรก็ตามที่ได้ไหว้เคารพพระพุทธรูปต่าง ๆ ผมจะรู้สึกว่าจิตใจสงบนิ่งขึ้น เกิดสำนึกไปในทางใฝ่ดี รู้ตระหนักว่า อะไรควรทำ อะไรพึงหลีกเลี่ยง ไม่ได้มุ่งบูชาเพื่อจะบนบานศาลกล่าวหวังโชคลาภในทางลัด

ผมได้รับการสั่งสอนตลอดมา ให้เชื่อในเรื่อง พึ่งพาตนเอง อยากได้อะไรก็ให้มุมานะค่อย ๆ สร้างด้วยน้ำพักน้ำแรง สิ่งใดก็ตามที่เคารพนบไหว้ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งต้องสมควรนอบน้อม ไม่ไปรบกวนพึ่งพาให้ท่านคอยช่วยเหลือ

พูดเช่นนี้ ไม่ได้แปลว่า ตลอดทั้งชีวิตผมจะไม่เคยพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในยามทุกข์เลยนะครับ เคยอยู่เหมือนกัน ตอนที่แม่ผมล้มป่วยนั้น นอกจากจะดูแลรักษาพยาบาลกันตามวิถีทางการแพทย์แล้ว ผมก็ไปไหว้อนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรฯ ที่พณิชยการพระนคร สถานศึกษาเก่าของผม

ไหว้เสร็จผมก็โล่งอกสบายใจ เกิดกำลังใจขึ้นมาฉับพลัน และคิดว่าเพียงเท่านี้ เสด็จเตี่ยก็แสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ออกมาให้เป็นที่ประจักษ์แล้ว (หลังจากนั้นอีกสักพัก อาการป่วยของแม่ผมก็ทุเลา และค่อย ๆ มีสุขภาพแข็งแรงดีขึ้นตามลำดับ)

ผมขอความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่บ้าง ในยามชีวิตประสบเหตุเดือดร้อน เสมือนเป็นอีกที่พึ่งหนึ่งทางใจ และพยายามจะให้อยู่ในขอบเขตเท่าที่จำเป็นเพียงเแค่นี้

นอกจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว ผมยังเชื่ออีกด้วยว่า “เวรกรรมมีจริง” และ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”

เป็นความเชื่อที่สามารถตัดรายละเอียดเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ หรืออำนาจพิเศษนอกเหนือธรรมชาติออกไปก็ได้เหมือนกัน

พูดให้ฟังดูเป็นวิทยาศาสตร์สักหน่อยก็คือ มันเป็นเรื่องของ action และ retion มีการกระทำใด ๆ เกิดขึ้น ก็ต้องมีปฏิกิริยาตอบสนองติดตามมา

เรามักจะประเมินผลลัพธ์ของการทำดีทำชั่วคลาดเคลื่อน โดยมองเฉพาะแค่ฐานะมั่งคั่งร่ำรวยล้นฟ้า แต่ข้ามรายละเอียดทางด้านทุกข์สุขในใจ กระทั่งคิดไขว้เขวไปว่า “ทำชั่วแล้วกลับได้ดี”

เชื่อผมเถอะครับว่า เงินซื้อได้เต็มที่ก็แค่ความสะดวกสบายทางด้านวัตถุเท่านั้นเอง และบ่อยครั้งความสะดวกสบายกับความสุข ก็เป็นคนละเรื่องที่แตกต่างห่างกันอยู่ไกล แค่พอมีกินมีใช้โดยไม่เดือดร้อน มีวิธีคิดทัศนคติที่ดี ก็สามารถมีความสุขตามอัตภาพได้แล้วล่ะ

ทุกข์สุขของชีวิตเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในใจ แค่คิดดีหรือคิดชั่วขึ้นมาเพียงแวบเดียว ผลลัพธ์ก็สามารถเกิดขึ้นกับตัวได้อย่างฉับไว ตรงนี้ล่ะครับที่ทำให้ผมเชื่อว่า “เวรกรรมมีจริง” และ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”

วันนี้อาตมา...ขอโทษทีครับ...เพลินไปหน่อย ผมขึ้นต้นด้วยเรื่องไอ้ตึ๋ง แต่แล้วก็มาจบลงด้วยการขึ้นธรรมาสน์เทศน์ได้ยังไงก็ไม่รู้




(เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2551 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ")










วันพุธที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2552

คุยคุ้ยเขี่ย โดย "นรา"


วันนี้ขออนุญาต “ขายของ” กันอีกครั้ง

ผมเพิ่งมีพ็อคเก็ตบุครวมเล่มล่าสุดออกมาสด ๆ ร้อน ๆ ปนชื้น ตามสภาพอากาศประเทศแถบใกล้เส้นศูนย์สูตร ชื่อ “คุยคุ้ยเขี่ย” และกำลังวางขายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ

งานชิ้นนี้ถ้าเปรียบเป็นเพลง ก็อาจกล่าวได้ว่า ไม่ใช่อัลบั้มเดี่ยว แต่เข้าข่ายจับคู่รวมกันเฉพาะกิจ เขียนร่วมกับคุณน้องเผ่าจ้าว กำลังใจดี เพื่อนผู้มีรสนิยมในการดูหนังฟังเพลงอ่านหนังสือ และมีทัศนคติอุปนิสัยกวนตีนคล้าย ๆ ผม

ชะรอยว่าชาติที่แล้ว คุณเผ่าจ้าวกับผม คงเคยทำบุญร่วมชาติ ตักบาตรร่วมขัน และอธิษฐานผิดพลาดทางเทคนิคอย่างใดอย่างหนึ่ง ชาตินี้เราทั้งสองจึงดันเกิดมาเป็นผู้ชาย และมีรสนิยมรักเพศตรงข้าม ก็เลยอดเป็นเนื้อคู่ตุนาหงัน (ว่าแต่ว่า ถ้าชาติหน้ามีจริง ก็ขอให้เป็นเหมือนชาตินี้ คือ ต่างคนต่างเร่ร่อนค้นหานางเอกในชีวิตจริงตามยถากรรม มันดีอยู่แล้วนะครับ อย่าไปเปลี่ยนอะไรให้สยองขวัญกว่านี้เลย)

ด้วยเหตุผลทางไสยศาสตร์ตามนี้ ผมกับคุณเผ่าจ้าวจึงคบหาสนิทสนมเรื่อยมา โดยต่างฝ่ายต่างงง ๆ กันอยู่ว่า ความสัมพันธ์ทางการทูตแน่นแฟ้นย่ำปึ้กตั้งแต่ตอนไหน

โชคดีอยู่อย่างที่คุณเผ่าจ้าวกับผมนั้น นาน ๆ ถึงได้เจอะเจอกันสักครั้ง ส่วนใหญ่จะสื่อสารกันแบบโฟนอินทางโทรศัพท์ โอกาสที่จะเกิดข่าวลือและโดนปาปารัซซีแอบถ่ายภาพสวีตหวิวสยิวทรวงมาเผยแพร่ จึงเป็นอันรอดไปได้อย่างหวุดหวิดฉิวเฉียด

“คุยคุ้ยเขี่ย” เกิดขึ้น เมื่อวันดีคืนดี ผมนึกครึ้มอีท่าไหนก็ไม่รู้ จึงออนไลน์ทาง msn ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นานทีปีหน ผมจึงจะทำสักครั้ง (เปรียบเป็นสถานที่ msn ของผม ก็หญ้ารกรุงรัง ฝุ่นเขรอะ ว่างโล่งวังเวงเหมือนบ้านร้างนะครับ)

เหตุประจวบเหมาะก็คือ วันนั้น อีตาคุณน้องเผ่าจ้าวก็ดันออนไลน์มาชนกันโครมเบ้อเริ่ม เลยได้แลกเปลี่ยนสนทนาคุยกัน

คุยไปคุยมา ทั้งคุณเผ่าจ้าวและผมต่างรู้สึกว่า “สนุกดี” และน่าจะคุยกันให้เป็นกิจลักษณะมากกว่านี้ เรื่องจึงคลี่คลายมาเป็นว่า นับแต่นั้นเราทั้งสองก็ช่วยกันทำมาหากิน กลายเป็นข้อเขียนในคอลัมน์ “คุยคุ้ยเขี่ย” ในนิตยสาร DDT จนได้บทความจำนวนมากพอที่จะรวมเล่ม พร้อม ๆ กับที่หนังสือ DDT ปิดตัวลงพอดิบพอดี (ไม่คุณเผ่าจ้าวก็คงเป็นผมนี่แหละ ที่เข้าข่าย “อีแร้ง” หรือตัวนำโชคร้าย)

ลักษณะของคอลัมน์ก็ไม่มีอะไรแตกต่างจาก “ความน่าจะเป็นบนเส้นขนาน” รวมบทความโต้ตอบแลกเปลี่ยนเขียนจดหมายคุยกันระหว่างสองนักเขียนซีไรท์ คือ คุณปราบดา หยุ่นและคุณวินทร์ เลียววาริณ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจเบื้องต้นให้แก่ผมและคุณเผ่าจ้าว

หลังจาก “คุยคุ้ยเขี่ย” ได้ตีพิมพ์ลงใน DDT ไปสักพัก ผมกับคุณเผ่าจ้าวได้มีโอกาสคุยกัน เราต่างรู้สึกตรงกันว่า เขียนด้วยความผ่อนคลาย ไม่ค่อยรู้สึกว่า “เป็นงาน” เหมือนดังข้อเขียนอื่น ๆ ตามปกติ

เรื่องต่าง ๆ ที่คุณเผ่าจ้าวกับผมคุยกัน จึงค่อนข้าง “สด” คือ นึกอะไรขึ้นมาได้และเป็นหัวข้อที่อยากคุย ก็ว่ากันไปตามนั้น ตามความเข้าใจของแต่ละคน หรือสถานการณ์ห้อมล้อมทางสังคมขณะลงมือเขียน

ด้วยเหตุนี้ จึงมีหลายบทหลายตอน เราคุยกันในประเด็นล่อแหลมเฉียดคุกใกล้ตะรางอยู่สักหน่อย (คุณเผ่าจ้าวชอบกินอาหารมังสวิรัติ ส่วนผมชอบซัดข้าวต้มกุ๊ย อันนี้ระบุไว้เผื่อพลาดพลั้งดวงซวยขึ้นมา ญาติโยมจะได้ซื้อไปเยี่ยมได้ถูกต้องตรงตามรสนิยม)

ตอนที่คุณเผ่าจ้าวบอกผมว่า “เอาละนะ” จะรวมเล่ม “คุยคุ้ยเขี่ย” แล้วล่ะ สารภาพตามตรงว่า ผมเองก็ไม่ค่อยมั่นใจในคุณภาพมากนัก เพราะจุดเริ่มต้นและกรรมวิธีการเขียน ผิดแผกไปจากงานรวมเล่มอื่น ๆ ของผมที่เคยมีมา

มันเป็นงานที่เขียนขึ้นเพื่อสร้างความรู้สึกผ่อนคลายให้แก่ตัวผมเอง หลีกหนีความจำเจหลาย ๆ อย่างจากราชการประจำ ไม่ใช่บทความที่เขียนขึ้นด้วยจุดมุ่งหมาย “ตั้งใจปั้น” อย่างประณีตบรรจง

เปรียบเป็นการวาดรูป ก็เหมือนงานสเก็ตช์ลายเส้นฉับไว เห็นเป็นแค่เค้าโครงคร่าว ๆ ไม่ได้แรเงา ระบายสี แต่งเติมรายละเอียดจนสวยงามเหมือนจริง

ผมก็เลยหวั่น ๆ อยู่พอสมควร เนื่องจากบทความแต่ละชิ้นนั้น เมื่อเขียนเสร็จและส่งไปแล้ว ก็แทบไม่เคยนำมาอ่านทบทวนซ้ำเลย แต่คุณเผ่าจ้าวซึ่งได้อ่านทั้งหมดอย่างถี่ถ้วน ก็ยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะว่า พออ่านรวม ๆ แล้ว “โอเคนะพี่”

จนกระทั่งผมได้มีโอกาสอ่านต้นฉบับทั้งหมดเพื่อตรวจปรู้ฟก่อนส่งโรงพิมพ์ ผมก็โล่งอก เพราะเห็นว่า คุณภาพโดยรวมอยู่ในขั้นน่าพึงพอใจ และดีกว่าที่ผมรู้สึกวิตกจริตล่วงหน้าไว้ก่อนเยอะทีเดียว

ฟาร์มวัวยังไม่ทันหาย ฟาร์มอายก็เข้ามาแทรก พอพ้นจากปัญหาประสาทรับประทานเรื่องคุณภาพของตัวงานไปแล้ว ก็มีเรื่องระทึกเร้าใจอันใหม่เกิดขึ้น นั่นคือ คุณน้องเผ่าจ้าวชวนผมไปงานสัปดาห์หนังสือ

ไม่ได้ชวนกันไปเดินเล่นละลายทรัพย์หรอกนะครับ แต่ชวนไปประจำการที่บูธ w 27 ของสำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัด (ซึ่ง “คุยคุ้ยเขี่ย” นำไปฝากขายที่นี่) เพื่อพบปะมิตรรักแฟนเพลง

คุณเผ่าจ้าวบอกกับผมว่า ไม่กล้าใช้คำว่า ไปแจกลายเซ็น ซึ่งผมก็เห็นพ้องทุกประการ จึงตกลงกันว่า เราจะเจอกันเองตามประสานักเขียนสติไม่ค่อยเรียบร้อย (ซึ่งอยากเจอคนอ่านเหลือเกิน) ในวันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน 2552 เวลาบ่ายสองโมง

เรื่องเกี่ยวกับการ “ขายของ” ก็มีเท่านี้แหละครับ พี่น้องเอ๊ย!!!



(เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2552 เผยแพร่ครั้งแรกที่นี่)