วันพุธที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2552

ฝึกวิชา โดย "นรา"


ตรงบริเวณใกล้ๆ ปากซอยสุขุมวิท 93 (ซึ่งบ้านผมอยู่ลึกเข้าไปในนั้น) มีสะพานลอยสำหรับคนข้ามถนน เหมือน ๆ กับที่อื่น ๆ ทั่วกรุงเทพฯ ตั้งแต่รูปร่างหน้าตาและประโยชน์ใช้สอย


อาจเป็นเพราะว่าแถบถิ่นละแวกนั้น ศูนย์รวมทางด้านเศรษฐกิจและการค้า ไปกระจุกตัวอยู่ที่บริเวณตลาดบางจาก สะพานลอยคนข้ามดังกล่าว จึงค่อนข้างว่างโล่ง ไม่ค่อยมีแผงลอยมาวางสินค้าบนพื้นให้เป็นที่เกะกะกีดขวางคนเดินผ่านไปมา

เพราะความที่ไม่ค่อยมีใครนิยมมายึดหัวหาดทำการค้ามากนัก เมื่อปรากฎขึ้นสักรายสองรอย ผมก็เลยสามารถสังเกตจดจำได้ถนัด

ส่วนใหญ่ก็มักจะวางขายอุปกรณ์จุกจิกเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือ นาน ๆ ครั้งก็มีแผงขายเสื้อผ้าสุภาพสตรี และวันดีคืนดีก็มีพ่อค้าขายแผ่นวีซีดีผี, เทปคาสเซ็ทท์มือสองเก่าเก็บย้อนยุคแบบเอาไว้ฟังเพื่อระลึกชาติ, ที่น่าทึ่งมากก็คือ บางครั้งก็มีหนังโป๊คลิปฉาวต่าง ๆ วางจำหน่าย ฯลฯ

พ้นจากผู้ประกอบการเหล่านี้แล้ว นาน ๆ ครั้งยิ่งกว่านั้น ก็มีขอทานแวะเวียนมาปักหลักอยู่บ้าง มีวณิพกพเนจรมาดีดพิณขับกล่อมผู้สัญจรผ่านไปมา (ผมเคยหยุดยืนฟังอยู่ประมาณ 15 นาที พบว่าลุงแกบรรเลงอยู่เพลงเดียวซ้ำไปซ้ำมา)

ดู ๆ แล้วก็เป็นเหตุการณ์ปกติธรรมดา ดังเช่นสะพานลอยทั่วไป ไม่มีอะไรหวือหวาโลดโผนเป็นพิเศษนะครับ

จนกระทั่งวันหนึ่ง ผมก็ได้เจอะเจอกับท่านจอมยุทธ์นิรนาม ผู้ไร้ร่องรอยความเป็นมา ซ่อนงำประกายอย่างมิดชิด

เขาเป็นชายหนุ่มอายุอานามน่าจะใกล้ ๆ สามสิบ ผิวขาว หน้าตาสะอาดสะอ้าน ไว้หนวดเรียวยาวเหนือริมฝีปาก แต่งกายเหมือนนักกีฬา สวมรองเท้าผ้าใบแบรนด์เนมยี่ห้อดังและแพง

เป็นรูปลักษณ์ที่ท่านสามารถพบเห็นได้ทั่วไป ตามสวนสาธารณะต่าง ๆ หรือห้างสรรพสินค้าหรูหรา

ผมพบคุณพี่เขาที่สะพานลอยแห่งนี้ ในวันซึ่งมีพ่อค้าแม่ค้ามาใช้เพื่อทำธุรกิจสองสามราย และขอทานแม่ลูกหนึ่งราย

เขานั่งอยู่ถัดจากแผงลอยเจ้าหนึ่งไปไม่ไกลนัก เห็นผ่าน ๆ วูบแรก ทุกคนน่าจะเข้าใจตรงกันว่าเป็นขอทาน เพราะเขานั่งขัดสมาธิ วางมือทั้งสองบนหัวเข่า มีแก้วเปล่าหนึ่งใบ และขวดน้ำอยู่ข้าง ๆ

ในแก้วเปล่านั้น ไม่มีน้ำสักหยด และไม่มีเศษตังค์เลยแม้แต่สลึงเดียว

ถึงตรงนี้ ผมก็แอบเย้ยหยันในใจว่า ควรอยู่หร็อกที่จะไม่มีใครให้ทาน เพราะพี่แกดูภูมิฐานมีชาติตระกูลเกินกว่าจะกระตุ้นต่อมสงสารเมตตาแก่ผู้พบเห็น

อย่างไรก็ตาม เมื่อเหลือบตามองอย่างละเอียดถี่ถ้วน เบื้องหน้าของชายหนุ่มคนนั้น มีแผ่นกระดาษแข็งวางอยู่ และเขียนข้อความสั้น ๆ

ตอนอยู่ในระยะห่างประมาณสามสี่เมตร ผมก็เดาเล่น ๆ ในใจว่า คงเป็นคำบรรยายสรรพคุณตกทุกข์ได้ยาก เพื่อโน้มน้าวให้ผู้มีจิตศรัทธาช่วยทำบุญทำทาน ประมาณว่า มาจากต่างจังหวัด หลงทาง ปราศจากญาติมิตรที่พึ่งในยามยาก จึงขอเศษตังค์เพื่อเดินทางกลับบ้าน หรืออะไรที่อ่านแล้วรันทดสลดเศร้ายิ่งกว่านั้น

พอเห็นข้อความจะแจ้งเด่นชัด ผมก็พบว่าเดาผิดกระจุยกระจาย มิหนำซ้ำยังแทบจะหงายหลังอีกต่างหาก ข้อความนั้นสั้นกระชับรวบรัดแค่ว่า “กำลังฝึกวิชา”

ผมเดินผ่านไป พร้อมกับโดนปริศนามหากาฬติดหัวติดตัว กระทั่งนั่งรถเมล์เลยพ้นมาหลายป้าย ก็ยังขบคิดตีความไม่ออกว่า พี่เขาตั้งใจจะขอทานแนวใหม่ หรือว่ามีวิชาวิทยายุทธอันล้ำลึก ที่ต้องฝึกฝนด้วยกรรมวิธีพิศดารเช่นนี้

ที่สำคัญ ถ้าเป็นการฝึกวิชาจริง ๆ ผมก็อยากรู้ขึ้นมาจับใจว่า เป็นศาสตร์ความรู้แขนงใด

ยิ่งคิดผมก็ยิ่งคาดเดา ตั้งสมมติฐานต่าง ๆ อาจเป็นไปได้ว่า คุณพี่เขาเป็นอภิมหาเศรษฐี ลงทุนมาฝึกสมาธิเคียงข้างผู้ทุกข์ยาก สังเกตชีวิตระดับล่าง ทำตัวติดดิน หรืออีกทฤษฏีที่ค่อนข้างเลว คือ ผมคิดเหมารวมแบบคนใจร้ายว่า สงสัยคุณพี่จะสติไม่ดี

วันต่อมา ขณะเดินข้ามสะพานลอย ผมก็เจอคุณพี่นั่งฝึกวิชาอีกเหมือนเดิม แตกต่างเพียงแค่ว่า เสื้อผ้านั้นเปลี่ยนเป็นชุดใหม่ (แต่ยังเป็นเครื่องแบบนักกีฬา) พิจารณาดูแล้ว เสื้อผ้าของคุณพี่เขาสะอาดสะอ้านดูดีกว่าผมเสียอีก

เขายังคงนั่งอยู่ตรงนั้น ด้วยท่วงทีเคร่งขรึม ไม่พูดไม่จาและไม่สบตากับใคร เจอะเจอเข้าเช่นนี้ ผมเริ่มโน้มเอียงเชื่อไปแล้วว่า คุณพี่เขาไม่ใช่ขอทานแน่นอน

ถ้าเป็นขอทานจริง คุณพี่เขาก็เป็นขอทานที่ดูดีมีระดับมากสุด เท่าที่ผมเคยเจอะเจอมาในชีวิตล่ะครับ

ผมอยากจะยืนสังเกตการณ์ให้นานกว่านี้ แต่เกรงว่าจะเป็นการเสียมารยาท รวมทั้งอาจรบกวนการฝึกวิชาของพี่เขา ประเดี๋ยวเกิดเหตุ “ธาตุไฟแตก” แบบในนิยายจีนกำลังภายในขึ้นมา จะวุ่นวายกันไปใหญ่ และจะทำให้ผมต้องกลายเป็นคนบาปหนักอีกต่างหาก

ผมจึงเดินผ่านไป พร้อม ๆ กับครุ่นคิดคาดเดาจนมึนตึ้บและหัวหงอกไปอีกหลายเส้นผม

ประมาณสามสี่วันถัดมา ผมก็ยังเจอคุณพี่นั่งอยู่ตรงสะพานลอยแห่งนั้นเช่นเดิม (และเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่เอี่ยมทุกวัน

ทุกครั้งที่พบเห็น ผมนั้นร่ำ ๆ ว่าจะเข้าไปนั่งลงตรงเบื้องหน้า และถามไถ่ให้หายติดค้างข้องใจว่า “ประทานโทษครับพี่ น้องใคร่ทราบอย่างยิ่งว่า พี่กำลังฝึกวิชาอะไร?”

แต่เห็นคุณพี่เขากำลังดื่มด่ำซาบซึ้งอยู่กับการนั่งเพ่งทำสมาธิแล้ว ผมก็ต้องล้มเลิกความคิดดังกล่าวไปทุกครั้ง ตลอดชีวิตผมเคยทำอะไรผิดพลาดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์มาเยอะ แต่จะให้ผมเสี่ยงต่อการเป็น “มารผจญ” ก็ออกจะเกินไปหน่อย

ผมก็เลยได้แต่พกพาความสงสัยเก็บไว้อยู่เรื่อยมา และคาดว่าเมื่อคุณพี่เขาฝึกวิชาสำเร็จเมื่อไร ก็อาจจะเผยแสดงให้ชาวโลกได้ประจักษ์รับรู้โดยทั่วกัน

ทว่าหลังจากนั้น คุณพี่เขาก็ไม่มาปรากฎตัวบนสะพานลอยอีกเลย เป็นไปได้ว่า ในที่สุดเขาก็ฝึกสุดยอดวิชาที่หายสาบสูญไปหลายร้อยปีได้สำเร็จ คิดแล้วผมก็แอบอนุโมทนาและดีใจกับคุณพี่เขาอยู่ลึก ๆ

อีกประมาณหนึ่งอาทิตย์ถัดมา ขณะเดินหาของกินในตลาดบางจากละแวกใกล้บ้าน ผมก็เดินสวนกับคุณพี่เขา ซึ่งยังคงท่าทางเงียบขรึมเหมือนเดิม แต่สีหน้าดูอิ่มเอิบมีสง่าราศี ตามประสาคนเพิ่งฝึกยอดวิชามาหมาด ๆ (จะเป็นเพราะอุปาทานหรือเปล่าก็ไม่ทราบ แต่ผมรู้สึกว่าเขาดูดีขึ้นกว่าเดิมเยอะเลย)

ผมตรงดิ่งเข้าไปหาทันที ตั้งใจจะสอบถามให้หายสงสัย แต่พลันที่เดินเข้าใกล้ เขาก็เดินเบี่ยงตัวหลบผ่านผมไปอย่างรวดเร็ว

เป็นอันว่าผมได้ทราบเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยว่า พี่เขามีวิชาตัวเบาเคลื่อนย้ายร่างในชั่วพริบตา

ผมมายืนดักรอตรงที่เก่าเวลาเดิมอีกหลายวัน กะว่าต่อให้ต้องตะครุบตัวล็อคคอก็จะทำ คุ้มครับ ถ้าจะได้พูดคุยกับท่านจอมยุทธ เพื่อสอบถามถึงเคล็ดลับสุดยอดวิชา

แต่วันแล้ววันเล่าก็ผ่านไป โดยผมไม่เคยมีโอกาสได้พบเห็นคุณพี่ท่านนี้อีกเลย จนถึงปัจจุบันเหตุการณ์ก็ผ่านมาหลายเดือนแล้ว ผมจึงปลงตกและทำการสรุปปิดคดีว่า พี่เขาฝึกวิชาจนหายตัวได้นะครับ

อาจมีท่านผู้อ่านสงสัยว่า ผมเขียนมาถึงบรรทัดนี้ ทำไมจึงยังไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเรื่องหนังเลย

ถัดจากนี้ไปจนจบบทความ ก็ไม่มีเรื่องหนังหรอกนะครับ เพราะผมกำลังอยู่ในช่วงฝึกวิชา

ผมเขียนข้อความเลียนแบบคุณพี่ที่ว่า “กำลังฝึกวิชา” ลงในกระดาษแข็งแผ่นเท่านามบัตร พกติดตัวตลอดเวลา เจอะใครมาซักถามว่า หมู่นี้เป็นไง ทำอะไรอยู่เหรอ สบายดีหรือเปล่า ผมก็จะนิ่งขรึมไม่พูดไม่จาอะไร และหยิบแผ่นกระดาษยื่นให้อ่านแทนคำตอบ

การฝึกวิชาทำให้ตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ผมดูหนังน้อยมาก เนื่องจากต้องออกไปใช้ชีวิตโลดโผนผจญภัยนอกบ้านเกือบทุกวัน

พอจะเล่าสู่กันฟังได้ดังนี้ครับ ผมกำลังเป็นโรคเบื่อการดูหนังอย่างรุนแรง และรู้สึกว่าขาดแคลนความรู้ ทำตัวหยุดนิ่งมานาน

จริง ๆ แล้วผมก็ยังเรียนรู้อะไรต่อมิอะไรอยู่ตลอดเวลานะครับ เพียงแต่เป็นความรู้ด้านอื่น ๆ ที่ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับเรื่องหนังสักเท่าไร หนักไปทางติวเข้มฝึกตัวเองเพื่อหัดเขียนบทความทั่ว ๆ ไป, เรื่องสั้น และนิยายเสียมากกว่า

ผมมีคอลัมน์ไม่เกี่ยวกับหนังในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เขียนเป็นประจำสัปดาห์ละครั้ง ด้วยความไม่ชำนาญเพียงพอ ความถี่เช่นนี้จึงทำให้เป็นงานยากสำหรับผมในการนึกหาประเด็น รวมถึงขั้นตอนลงมือเขียน

เท่าที่ผ่านมาได้เกือบหนึ่งปี ผมเอาตัวรอดแบบหวุดหวิดฉิวเฉียดมาทุกสัปดาห์ ในการตอบคำถามตัวเองว่า “อาทิตย์นี้จะเขียนเรื่องอะไร?”

ผมก็เลยคิดว่า ถึงเวลาที่ผมจะต้องออกไปใช้ชีวิตให้ต่างจากเดิมเสียบ้าง ด้วยการหาโอกาสเดินทางเพื่อเปิดหูเปิดตาดูโลกให้เยอะขึ้น

ผลก็คือ ตอนนี้ผมกลายเป็นโรคบ้าดูจิตรกรรมฝาผนังตามวัดวาอารามต่าง ๆ เข้าขั้นขึ้นสมอง จนกระทั่งนำไปสู่เหตุการณ์ “กำลังฝึกวิชา” อย่างหมกมุ่นลุ่มหลง ซึ่งกระทบต่องานเขียนหลัก ๆ อยู่พอสมควร และคงต้องปรับตัวแบ่งเวลากันขนานใหญ่อีกสักพัก กว่าทุกอย่างจะกลับมาเข้ารูปเข้ารอยดังเดิม

ผมไม่รู้หรอกนะครับว่า จะฝึกสำเร็จหรือล้มเหลว จะต้องใช้เวลาเนิ่นนานแค่ไหน ฝึกเสร็จแล้วจะนำมาใช้ประโยชน์กับการงานได้อย่างไร?

ที่แน่ ๆ วิชาที่ผมฝึก ไม่ได้มุ่งจะนำมาใช้กับการเขียนวิจารณ์หนังแต่อย่างไร เป็นการฝึกเพื่อใช้ชีวิตให้คุ้มและใช้ชีวิตให้ดีขึ้นกว่าเดิมเท่านั้นเอง

สถานการณ์ล่าสุดนั้น ยังไม่มีวี่แววว่าจะฝึกสำเร็จหรอกนะครับ มิหนำซ้ำยังบานปลายไปอีกหลายแขนงสาขา จนอาการเตลิดเพลิดเพลินเข้าขั้นน่าเป็นห่วง

อย่างไรก็ตาม ยืนยันได้ว่า ระหว่าง "กำลังฝึกวิชา" อยู่นี้ ผมสนุกและมีความสุขล้นเหลือ เมื่อได้เจอะเจอสิ่งใหม่ ๆ (แต่เป็นเรื่อง "ของเก่า") ที่ผมรักชอบ


แทนส.ค.ส. สำหรับปีใหม่นี้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกท่านคงจะค้นพบ “วิชา” อันเป็นความรักชอบที่จะฝึกโดยทั่วกัน




(เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2551 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ Play Time นิตยสาร Filmmax มีการแทรกเพิ่มเติมข้อความอีกพอสมควรในการเผยแพร่ครั้งนี้)

ขยันแบบขี้เกียจ โดย "นรา"


ภาพที่ผู้อื่นมีต่อตัวผม (เท่าที่ได้ยินและรับรู้มา) มีอยู่ 2 ด้านที่ขัดแย้งตรงข้ามกันอย่างรุนแรง


กล่าวคือ มีทั้งคนที่เห็นว่าผมก้มหน้าก้มตาปั่นต้นฉบับแบบ “เปิดโรงงาน” แถมพกด้วยคำถามทีเล่นทีจริงว่า “จะเร่งรีบร่ำรวยไปถึงไหน?”

ในทางตรงข้ามก็มีคนจำนวนไม่น้อย อิจฉาชีวิตความเป็นอยู่สบาย ๆ เหมือนไม่ต้องทำงานทำการอะไรของผม

พูดอีกแบบ ผมน่าจะเป็นคนขี้เกียจที่ทำงานเยอะอยู่พอสมควร มีภาระต้องเขียนต้นฉบับเกือบทุกวัน พร้อม ๆ กันนั้นก็มีคนเห็นผมเดินโต๋เต๋ลอยชายไปมา โดยที่ไม่ได้ทำกิจกรรมใด ๆ เป็นชิ้นเป็นอันตลอดเวลา ส่งผลให้เกิดการขนานนามผมว่าเป็น “มนุษย์ไร้สาระวีหนึ่ง”

ไม่ว่าจะมองในด้านไหน ล้วน “ถูกต้องนะคร้าบ” ผมเป็นทั้งคนที่เขียนหนังสือเยอะราวกับออกไข่ และผู้สันทัดกรณีด้านการเกียจคร้านในร่างเดียวกัน

จะมีที่ไม่จริงอยู่เพียงอย่างเดียวก็คือ โอกาสคืบหน้าเข้าใกล้ความร่ำรวย ในแง่นี้ พูดได้เต็มปากว่า ผมเป็นผู้ล้มเหลวเละตุ้มเป๊ะด้านการเงิน

งานส่วนหนึ่งของผม เป็นกิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ แต่ทำเพราะความผูกพันต่อเพื่อนพ้องน้องพี่ ซึ่งเคยช่วยเหลือเกื้อกูลดูแลกันมา งานอีกส่วนเป็นผลผลิตค่าตอบแทนต่ำ (ผมเป็นนักเขียนที่ได้รับค่าเรื่องถูกมาก และอ่อนด้อยในด้านการตกลงต่อรองราคา) งานอีกส่วนเป็นข้อเขียนล่วงหน้า ค่าเรื่องตามมาทีหลังอย่างล่าช้า (แถมยังมีหนี้สูญโดนเบี้ยวแบบซึ่ง ๆ หน้า)

เพื่อที่จะยังชีพอยู่ได้ด้วยการทำงานสุจริต ไม่ถอดใจหลบหนีไปค้ายาบ้า, เล่นการพนัน หรือหาทางดิ้นรนเข้าร่วมรัฐบาลในประเทศสมมติ-เพราะกลัวโดนฟ้อง-ที่นิยมคอร์รัปชันเสียก่อน ผมจึงจำเป็นต้องทำงานเยอะเกินอัตราพอเหมาะตามปกติอยู่บ้าง จึงจะสามารถหล่อเลี้ยงประคับประคองรายรับให้หมุนเวียนเพียงพอกับรายจ่าย ตลอดจนรับมืออัตราค่าครองชีพที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่บอบช้ำบุบสลาย

ฟังเผิน ๆ ดูเหมือนโอดครวญ แต่แท้จริงแล้ว ผมก็ไม่ได้ทุกข์ร้อนกับสภาพที่เป็นอยู่ ตรงกันข้ามกลับได้รับความสุขสบายพอสมควรแก่อัตภาพ

แม้ว่าจะไม่ได้นิยมในทัศนคติ “สู้แล้วรวย” แต่ผมก็เชื่อมั่นอย่างยิ่งเรื่องการทำงานหนัก ด้วยความรักชอบและทุ่มเท

จุดใหญ่ใจความคล้ายกันอยู่พอสมควร แตกต่างเล็กน้อยในรายละเอียด ตรงที่เป้าหมายปลายทางนั้น เปลี่ยนจากการบรรลุสู่ความ “ร่ำรวย” มาเป็นคุณภาพของตัวงานในขีดขั้นที่ผมพึงพอใจ

เวลาเขียนต้นฉบับชิ้นใดได้ต่ำกว่ามาตรฐานปกติ ผมจะเป็นทุกข์และได้รับผลกรรมฉับพลันทันที โดยไม่ต้องรอให้ใครมาตำหนิติเตียน เช่นเดียวกับงานบางชิ้นที่เขียนเสร็จแล้ว ก็นำมาซึ่งความสุขอิ่มอกอิ่มใจ ชนิดไม่ต้องพึ่งพาคำสรรเสริญเยินยอใด ๆ

คนทำงานทุกคน ถ้าไม่ประเมินอย่างลำเอียงเข้าข้างตัวเองจนเกินไป ย่อมรู้ดีอยู่แก่ใจนะครับว่า งานแต่ละชิ้นนั้นมีคุณภาพสูงส่งต่ำต้อยประมาณไหน?
ประการถัดมา ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่เห็นว่า ผมดูเหมือนไม่ค่อยทำงาน สามารถอธิบายได้ดังนี้ครับ งานของผมมีกระบวนการผลิตค่อนข้างเป็นส่วนตัว (คือ นั่งเขียนหนังสือตามลำพังอยู่ที่บ้าน) นั่นหมายความว่า ช่วงที่ผมทำงาน ย่อมไม่มีใครพบเห็นล่วงรู้ และช่วงที่ใครต่อใครเจอะเจอผม ถือเป็นวาระนอกเวลาราชการ

นี่ยังไม่นับรวมขั้นตอนการทำงานที่มีสภาพเหมือนคนเตะฝุ่นว่างงาน อย่างเช่น นั่งคิดหาประเด็นบนรถเมล์หรือตามร้านกาแฟ (ผมเรียกขั้นตอนนี้ว่า การเขียนหนังสือในหัว ก่อนลงมือจริงหน้าจอคอมพิวเตอร์), การขโมยเวลาตัวเองเพื่ออ่านหนังสือโดยเฉลี่ยวันละประมาณ 5 ชั่วโมง, การดูหนังสัปดาห์ละ 3-5 เรื่อง ฯลฯ

อีกปัจจัยเงื่อนไขหนึ่งก็คือ ผมทำงานด้วยความรู้สึกเหมือนเป็นกิจกรรมเพื่อความบันเทิง ไม่ได้คิดว่ามันเป็นภารกิจหนักหน่วงเหนื่อยล้าสาหัส หรือจำเป็น ต้องกัดฟัน “ฝืนทน” ทำให้สำเร็จลุล่วง

ความรู้สึกจึงเหมือนผมโดนสะกดจิตอยู่ตลอดเวลาว่า ไม่ได้ทำงาน จนบ่อยครั้งก็เผลอนึกสงสารตัวเองที่ตกงาน ก่อนจะนึกได้ว่าทำงานหนักอ้วกแตก และเปลี่ยนมาสงสารตัวเองในทางตรงข้าม ที่ต้องทำงานตลอดทั้งปี โดยไม่เคยมีวันหยุดเลย

ไม่มีเคล็ดลับล้ำลึกอะไรหรอกนะครับ มีแค่หลักการพื้นฐานคร่าว ๆ ง่าย ๆ ว่า “ทำงานที่ชอบ และชอบงานที่ทำ” เท่านั้นเอง ส่วนรายละเอียดปลีกย่อย เป็นเทคนิคเฉพาะตัวของแต่ละท่านที่จะต้องค้นหาวิธีอันเหมาะสมตรงจริตให้เจอ

ตัวอย่างเท่าที่พอจะนึกออกก็คือ ในช่วงเพิ่งลาออกจากการเป็นพนักงานประจำที่ “ผู้จัดการ” เพื่อพักร้อนระยะยาวไม่มีกำหนด ผมตัดสินใจทุบกระปุกออมสินถอยคอมพิวเตอร์มาหนึ่งเครื่อง สำหรับใช้เล่นเกมล้วน ๆ ไม่มีการทำงานหรือประโยชน์ใช้สอยอื่นใดเข้ามาเจือปน

เล่นจนเก่งเป็นเซียนในหลาย ๆ เกม ก็ประจวบเหมาะกับที่เริ่มมีงานใหม่ ๆ เข้ามา ด้วยอารมณ์สนุกสนานติดพัน แรงจูงใจในการทำงานย่อมมีน้อยเป็นธรรมดา ผมจึงเขียนข้อความแปะไว้ที่หน้าจอว่า “คอมพิวเตอร์เครื่องนี้ใช้สำหรับเล่นเกมเท่านั้น ห้ามแอบทำงาน”

ผมทำไปทำไมหรือครับ? ก็เพื่อล่อหลอกตัวเอง ซึ่งมีพฤติกรรมเข้าข่าย “ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ” (และขี้ประชด)

ทันทีที่ติดข้อความดังกล่าว ผมก็ค่อย ๆ แอบย่องลักลอบใช้คอมพิวเตอร์ (สำหรับเล่นเกม) เพื่อทำงานเขียน แต่ละครั้งก่อให้เกิดความสุขปิติเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ได้ฝ่าฝืนละเมิดข้อห้ามบ้า ๆ ของผมเอง

ผมทำต่อเนื่องจนรู้สึกว่า การใช้อุปกรณ์ดังกล่าวเพื่อการทำงานสนุกกว่าเล่นเกมเป็นไหน ๆ ถัดจากนั้นก็ค่อย ๆ ฉวยโอกาสขจัดเกมต่าง ๆ ที่มีอยู่ในเครื่องทิ้งไปทีละนิด จนกระทั่งหมดจดเกลี้ยงเกลาไม่หลงเหลืออยู่เลย

เทคนิคล่อหลอกถัดมาในการทำงานให้สนุกก็คือ การสร้างและมีวินัยอย่างเคร่งครัด ฟังดูแล้วแปลกแปร่งอยู่สักหน่อย แต่เชื่อเถอะครับว่า เกี่ยวข้องกันจริง
การเป็นคอลัมนิสต์อิสระไร้สังกัด ถ้าปราศจากการมีวินัยเข้มงวดกับตัวเองเสียเพียงอย่างเดียวแล้วล่ะก็ ผมฟันธงได้เลยว่า เจ๊งกระจายไปไม่รอดแน่ ๆ

วินัยของนักเขียนแต่ละคน ก็มีรายละเอียดผิดแผกไม่เหมือนกัน สำหรับผมมันเป็นไปดังนี้ครับ คือ ทันทีที่ตื่นนอน (ไม่ว่าจะเช้าหรือสาย) ผมจะจิกหัวตัวเอง เดินงัวเงีย ลงมาต้มน้ำชงกาแฟ เปิดคอมพิวเตอร์ เข้าอินเตอร์เน็ตค้นข้อมูล จนกระทั่งตื่นสนิท จึงล้างหน้าแปรงฟัน ดื่มกาแฟ อ่านอะไรต่อมิอะไรในเว็บต่าง ๆ ประมาณครึ่งชั่วโมง จนเกิดแรงฮึดอยากเขียน จากนั้นก็เริ่มต้นลงมือทำงานที่ถึงกำหนดต้องส่ง (ส่วนวันที่ไม่มีต้นฉบับต้องส่ง ผมจะเขียนอะไรก็ได้อย่างน้อยหนึ่งชิ้น เป็นการฝึกซ้อมเรียกความฟิต)

โดยเฉลี่ยแล้ว ผมใช้เวลาเขียนงานแต่ละชิ้นไม่แน่นอน ราว ๆ 2-3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับสมาธิหรือความชัดเจนในประเด็นที่ต้องเขียน (สถิติสูงสุด เกิดขึ้นตอนเขียนคอลัมน์ “เงาของหนัง” เรื่อง “หยวนหลิงอวี้” ผมใช้เวลาเขียนต่อเนื่องรวดเดียว 15 ชั่วโมง อันนี้เป็นเพราะว่าข้อมูลเยอะและมีประเด็นปลีกย่อยกระจัดกระจาย ต้องค่อย ๆ เรียบเรียง ค่อย ๆ แก้ไขตัดทอนอย่างช้า ๆ) หากทำงานเสร็จเร็ว ผมก็จะนั่งแก้ไขขัดเกลาไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งครบ 4 ชั่วโมง อันเป็นระยะเวลาทำงานขั้นต่ำที่ผมกำหนดเอาไว้ ส่วนกรณีเขียนช้าใช้เวลานานนั้นไม่มีปัญหา ผมก็ทำงานไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเสร็จ

ถ้าไม่มีนัดหมายหรืองานเฉพาะกิจอื่นใด ผมทำเช่นนี้ต่อเนื่องทุกวันนะครับ ขั้นตอนที่ยากสุดมีอยู่ 2 ช่วง คือ การลุกจากที่นอนในภาวะที่ยังฝันไม่อิ่ม และช่วงแรก ๆ ที่นั่งบื้ออยู่หน้าคอมพิวเตอร์ ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นลงมือเขียนอย่างไร?

อย่างแรกนั้นแก้ได้ด้วยการพึ่งพาอาศัยไม้แข็ง ใช้กำลังบีบบังคับให้ตื่นและลงมาทำงาน ส่วนปัญหาต่อมา สามารถคลี่คลายด้วยการค่อย ๆ นั่งคิดรวบรวมสมาธิอย่างใจเย็น อย่าเพิ่งรีบด่วนตื่นตระหนก สักพักก็จะเห็นช่องทาง (นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผมลบเกมทั้งหมดออกจากคอมพิวเตอร์ เพราะโดยสถิติส่วนใหญ่ทั้งที่เจอเองและเกิดกับคนหมู่มาก เวลาตื้อ ๆ นึกอะไรไม่ออก มักจะแก้ปัญหาด้วยการเปิดเกมเล่น เพื่อฆ่าเวลาคลายเครียด สุดท้ายก็กลายเป็นจดจ่อกับเกม ไม่ได้ใช้ความคิดอย่างจริงจัง จนเสียเวลาและไม่ได้งาน แถมยังเพิ่มพูนความเครียดอีกหลายถอนหายใจ)

ความลับอีกอย่างก็คือ คอมพิวเตอร์ของผมไม่มีเกมใด ๆ หลงเหลืออยู่เลย แต่ยามว่างปลอดโปร่ง ผมจะแวะเข้าไปที่โรงหนัง house ช่วงตอนเย็น ๆ เพื่อแอบเล่นเกมด้วยคอมพิวเตอร์ที่นั่น (ซึ่งติดป้ายไว้ว่า “ใช้สำหรับทำงานเท่านั้น ห้ามแอบเล่นเกม”) แปลว่า ถึงแม้จะมีการคุมเข้มไม่เล่นเกมระหว่างทำงานโดยเคร่งครัด แต่

ผมก็ไม่ได้ตัดขาดเลิกเล่นเกม ยังรักสนุกและนิยมความบันเทิงอยู่ครบถ้วน เพียงแต่เลือกกาละเทศะที่เหมาะสม

ผมเชื่อของผมว่า การมีวินัยส่งผลทางอ้อมช่วยให้ทำงานสนุก เนื่องจากพอผ่านการติวเข้มอย่างต่อเนื่องไประยะหนึ่งแล้ว มันก่อให้เกิดความเคยชิน เป็นกิจวัตรที่ต้องทำ เป็นอีกหนึ่งความรื่นรมย์ หากละเว้นงดไป วันนั้นก็เหมือนชีวิตเกิดภาวะ “ขาดหาย” ผิดปกติ รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวไม่สบายใจ (คล้าย ๆ ออกจากบ้านโดยไม่ได้อาบน้ำ)

เคล็ดลับสุดท้าย ผมเชื่อในคติ “เรียนเป็นเรียน เล่นเป็นเล่น” เวลาทำงานเขียน ผมจึงตัดขาดจากสิ่งรบกวนต่าง ๆ ไม่เปิดเพลง, ไม่เปิดโทรทัศน์, ยกหูโทรศัพท์ออก,ไม่ออนไลน์แช็ตกับใคร ทั้งหมดกระทำอย่างเงียบ ๆ และเอาจริงเอาจัง จนกล่าวได้ว่าเคร่งเครียด ขณะเดียวกัน ถึงคราวต้องเล่น ผมก็สามารถจะเหลวไหลไร้สาระได้ถึงขีดสุด

อาจมีคนสงสัยว่า เช่นนั้นแล้ว ระหว่างทำงานผมสนุกกับมันได้อย่างไร?

ความรื่นรมย์ของผมสามารถเกิดขึ้นได้ใน 2 ขั้นตอน ครั้งแรกปรากฎอยู่ระหว่างการเขียน (ซึ่งมีทั้งพบเจอคำที่ถูกใจ, การขบคิดแก้โจทย์บางประการสำเร็จ และอีกสารพัดมากมายที่เป็นเสน่ห์ของการเขียนหนังสือ) ถัดมาคือ เมื่อทำงานเสร็จและรู้สึกว่ามีคุณภาพอยู่ในขั้นน่าพึงพอใจ

ประการหลังนี่ตื่นเต้นเร้าใจมาก เพราะผมไม่ได้เขียนหนังสือดีทุกชิ้น (บางวันที่เขียนแย่ การล้างแค้นด้วยงานชิ้นถัดไป ก็เป็นความบันเทิงระคนกดดันอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน)




(เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2551 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ")

เรื่องของอีเย็น โดย "นรา"


เมื่อราว ๆ สามเดือนก่อน จู่ ๆ “คุณเย็นฤดี” หรือ “อีเย็น” ตู้เย็นคู่ทุกข์คู่ยากที่บ้านผม ก็แอบตัดช่องน้อยแต่พอตัว โอนสัญชาติเป็นเตาอบไมโครเวฟอย่างฉับพลันกระทันหัน โดยไม่ยอมบอกกล่าวร่ำลา


เข้าใจว่า มันคงรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ที่ผมไม่ค่อยมีอะไรนำมาแช่ นอกจากน้ำเปล่า...และน้ำเปล่า ประมาณ 3-4 ขวด นาน ๆ จึงจะมีอาหารและขนม (เอาไว้ให้ผมย่องลงมาเปิดและแอบกินตอนดึก ๆ) สักครั้ง

ผมแกล้ง ๆ ปลอมตัวเป็นช่าง วินิจฉัยดูอาการอย่างปลง ๆ แล้วก็ลงความเห็นว่า “อีเย็น” สิ้นชีพ เนื่องจากโรคชราภาพและได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน

ความรู้สึกเบื้องต้นที่เกิดขึ้นก็คือ เสียดาย อาลัยอาวรณ์ และเกิดความวิตกกังวลว่า นับจากนี้ ผมจะใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างไร โดยปราศจากน้ำเย็นให้ดื่ม

ยิ่งพอนึกล่วงหน้าไปยังไฮซีซั่น หรือฤดูร้อนอย่างเป็นทางการที่กำลังใกล้จะมาถึง ผมก็รู้สึกหนาวแบบมีเหงื่อแตกเจือปนขึ้นมาทันที

ทางแก้ปัญหานั้นมีอยู่ว่า ตามช่างมาซ่อม หรือไม่ก็ซื้อเครื่องใหม่ ท้ายที่สุดผมก็เลือกวิธี “ปล่อยวาง” คือ ปล่อยและวางทิ้งไว้เฉย ๆ

ตอนนี้ “อีเย็น” ของผมกลายเป็นชั้นวางหนังสือชั่วคราวไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนโครงการในอนาคต ตั้งใจไว้ว่าจะดัดแปลงให้เป็นที่พำนักอาศัยของบรรดาตุ๊กตาหมีสิบกว่าชีวิต ลองนึกภาพดูสิครับ เวลาแขกไปใครมา เปิดตู้เย็นแล้วไม่มีน้ำให้ดื่ม เจอแต่หน้าบ้องแบ๊วของเดอะ แก๊งเรียงราวกันสลอนอยู่ใน “ตู้ซ่อนหมี”

รู้ตัวนะครับว่า ไร้สาระ แต่มันอดคิดไม่ได้

เหตุผลที่ผมตัดสินใจไม่ซื้อเครื่องใหม่ ก็เพราะเกิดนึกพิเรนทร์อยากทดลองดำรงชีวิตแบบปราศจากตู้เย็นดูสักพัก ถ้าไปไม่รอด เดือดร้อนสาหัสจริง ๆ ค่อยคิดอ่านแก้ไขกันอีกที

ผลก็คือ ขลุกขลักเดือดร้อนอยู่พอสมควรในช่วงแรกเริ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนดึก ๆ เมื่อผมแอบย่องลงมาหาอะไรกิน พอเปิดตู้เย็นกลับพบแต่หนังสือประเภทแนะนำร้านอาหารอร่อยเรียงรายเต็มไปหมด นับเป็นความปวดร้าวทรมานจิตใจสุดขีดในยามหิวโหยเลยนะครับ

คำกล่าวที่ว่า “เวลาช่วยเยียวยารักษาแผลใจ” ยังคงเป็นความจริง ผ่านพ้นเดือนแรกไปแล้ว “อีเย็น” ของผมก็กลับกลายเป็นปกติ ไม่ได้ใช้งานดีดังเดิมหรอกนะครับ แต่เสียเป็นปกติ จนผมค่อย ๆ คุ้นเคยและเริ่มปรับตัวให้ชินต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่มีน้ำเย็นให้ดื่ม จนกระทั่งล่าสุดเหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งทางฝ่ายผมและฝ่าย “อีเย็น” ก็เรียบร้อยเป็นปกติ

รู้สึกเหมือนได้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้งเลยครับ คือเป็นเด็กในครอบครัวยากจน ซึ่งที่บ้านไม่มีปัญญาจะซื้อตู้เย็นมาใช้สอย

พอผมปรับตัวเข้ากับชีวิตเมืองใหญ่ประเทศใกล้เส้นศูนย์สูตรได้สำเร็จ สักพักฤดูร้อนเดือดก็มาเยี่ยมเยือน คราวนี้ผมเกิดอาการกระหายและคิดถึงน้ำเย็นขึ้นมาอย่างรุนแรง กระทั่งทุรนทุรายนอนไม่หลับ แม้จะพยายามนอนหลับตานับตู้เย็นวิ่งกระโดดข้ามรั้ว ก็ยังไม่สำเร็จ มิหนำซ้ำกลับทุกข์ทรมานกว่าเดิมอีกต่างหาก

จนกระทั่งถึงวันที่ตลอดทั้งบ่ายแดดจัด ดึกสงัดร้อนอบอ้าว (คืนนั้นผมหลับแล้วฝันเห็นตัวเองรูปร่างหน้าตาเปลี่ยนไปเป็นอูฐกลางทะเลทราย) ภาวะสุดจะทนก็ทำให้ผมเล็งเห็นแสงสว่างแห่งปัญญาอ่อน ๆ (หมายถึงแสงอ่อน ๆ นะครับ ไม่ใช่ปัญญาอ่อน ๆ)

ตื่นนอนแล้ว ผมก็จัดแจงซื้อกระติกมาหนึ่งใบ จากนั้นก็ซื้อน้ำแข็งหนึ่งถุง เพียงเท่านี้เองวิกฤติขาดแคลนสิ่งเย็นเจี๊ยบล่วงล้ำลำคอก็หายไปเป็นปลิดทิ้ง

จนถึงบัดนี้ “อีเย็น” เจ๊งมาแล้วสามเดือน ส่งผลให้บิลค่าไฟถัดจากนั้น แสดงจำนวนหน่วยการใช้พลังงานลดลง จากเดิมประมาณ 120-150 หน่วยต่อเดือน เหลือเพียง 50 กว่าหน่วยเท่านั้นเอง

“อีเย็น” อาจจะไม่ได้ตั้งใจ และไม่เคยรู้เรื่องจิตสำนึกห่วงใยสิ่งแวดล้อม แต่มันก็ช่วยชาติประหยัดและลดทอนปัญหาโลกร้อนทางอ้อมโดยไม่รู้ตัว
เรื่องที่เกิดขึ้นกับ “อีเย็น” อาจเป็นเหตุการณ์หยุมหยิมส่วนตัวสักหน่อย แต่ผมก็ได้แง่คิดเพิ่มเติมบางประการ มาเล่าสู่กันฟังดังต่อไปนี้

“อีเย็น” ทำให้ผมต้องกลับไปย้อนทบทวนอะไรต่อมิอะไรรอบ ๆ ตัว จนพบความจริงที่น่าตกใจว่า ในชีวิตประจำวันทุกวันนี้ เรา ๆ ท่าน ๆ พึ่งพาอาศัยสิ่งประดิษฐ์เทคโนโลยี เพื่ออำนวยความสะดวกสบายด้านต่าง ๆ มากมายเหลือเกิน

เยอะจนเมื่อนำเทียบกับสมัยเด็ก ๆ ก็เกือบจะเรียกได้ว่า มีชีวิตอยู่บนโลกคนละใบ คนละยุคสมัยกันเลยทีเดียว

ตอนเด็ก ๆ นั้น ที่บ้านผมไม่มีโทรศัพท์, ไม่มีโทรทัศน์, ไม่มีตู้เย็น, ไม่มีหม้อหุงข้าวไฟฟ้า, ไม่มีที่ต้มน้ำชนิดเสียบปลั๊ก, ไม่มีเตาแก๊ส, ไม่มีคอมพิวเตอร์ และเจ๋งมาก-แบบที่ภาษาวัยรุ่นเรียกว่าคูล (cool)-ถึงขนาดเข้านอนโดยไม่มีพัดลม (ครอบครัวผมใช้พัดโบกด้วยมือเป็นอุปกรณ์คลายร้อน ซึ่งช่วยให้นอนหลับเพราะความอ่อนเพลียที่เริ่มต้นจากการเมื่อยมือ)

ผมเติบโตมาในสภาพดังกล่าว โดยไม่รู้สึกเดือดร้อนหรือคิดว่าตนเองขัดสน และสามารถกล่าวยืนยันได้ว่า นั่นเป็นวัยเด็กที่มีความสุข

ต่างจากปัจจุบันเยอะเลย คืนไหนไฟดับสักสิบยี่สิบนาที ถือเป็นความปั่นป่วนโกลาหล, คอมพิวเตอร์เจ๊งขึ้นมาทีไร ภารกิจงานการทั้งหลายก็รวนเสียขบวนไปหมด, เวลาจะเดินทาง ไม่ได้ขึ้นรถเมล์ปรับอากาศ กลับกลายเป็นทุกข์ทรมานอย่างยิ่งยวด (พอถึงทุกวันนี้ก็พัฒนากลายเป็นติดรถไฟฟ้า/รถไฟใต้ดิน จนผมเริ่มนิสัยเสียขึ้นรถเมล์ไม่ค่อยจะเป็นซะแล้ว)

ง่าย ๆ กระทั่งรีโมทคอนโทรลโทรทัศน์วางหลงหูหลงตา ก็แทบจะง่อยทำอะไรไม่ถูกขึ้นมาทันที

นี่ยังไม่นับแง่มุมจุกจิกอย่างเช่น ชอบขึ้นลิฟต์และบันไดเลื่อน แทนการขึ้นกระไดด้วยเท้า, ชอบเดินห้างหรู ๆ และซูเปอร์มาเก็ต แทนการท่องตระเวณตลาดนัดตลาดสด หรือการใช้ชีวิตแบบที่บางวันแทบไม่ได้สัมผัสกับแสงแดด

พูดง่าย ๆ คือ เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกหลากหลายประดามี ทำให้ผมกลายเป็นคน “หน่อมแน้ม” ผิดจากเดิมอย่างไม่น่าเชื่อ จนถ้าหากสามารถทะลุมิติเวลากลับไปสู่ยุคสมัยเมื่อครั้งยังเด็ก ผมก็คงไม่เหลือภูมิต้านทานความแข็งแรงพอที่จะใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมเก่าได้อีก

ไปไม่รอดและอยู่ไม่ได้ชัวร์ ๆ

ด้วยเหตุนี้ พอเกิดกรณี “อีเย็น” มีอันเป็นไปขึ้น ผมก็เลยต้องปรับเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตขนานใหญ่ เลือกพึ่งพาเทคโนโลยีเฉพาะที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ
ไม่ได้ตั้งใจจะชวนให้หวนคืนสู่ยุคไฮถึกดึกดำบรรพ์หรอกนะครับ โลกมีความเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา จะฝืนต้านคงเป็นเรื่องลำบาก และปฏิเสธไม่ได้ว่า เรายังมีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ มากพอสมควร

ประเด็นของผมก็คือ เลือกใช้เทคโนโลยีเท่าที่จำเป็น (ซึ่งแต่ละคนมีมุมมองต่อ “ความจำเป็น” ไม่เท่ากัน อันนี้ก็แล้วแต่จิตศรัทธาของญาติโยมแต่ละท่าน)
ผมนั้นไม่ขับรถยนต์ ไม่ซื้อรถยนต์ และมีความรู้เกี่ยวกับรถยนต์ในระดับสมองหดลีบเล็กลงเหลือเพียงแค่เท่าเม็ดถั่วเขียว เช่นเดียวกับไม่ใช้โทรศัพท์มือถือ (ซึ่งผมโง่มากถึงขนาดที่ยังไม่รู้แม้วิธีโทรออกหรือกดรับสาย) ไม่ใช้เครื่องซักผ้า ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ฯลฯ

ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ สำหรับผมแล้วเห็นว่า “ไม่จำเป็น” ขณะเดียวกันก็มีหลายสิ่งซึ่งเป็นกิเลสที่ผมยังตัดไม่ขาด เช่น เครื่องเล่นดีวีดี (อันนี้เป็นเครื่องมือทำมาหากินด้วยนะครับ), ซาวเบาท์แก่ ๆ ที่เอาไว้สำหรับฟังเพลง ฯลฯ

ผมคิดอย่างนี้นะครับว่า เราแต่ละคนอาจมองเทคโนโลยีต่าง ๆ ว่า “จำเป็น” หรือ “ฟุ่มเฟือย” ไม่ตรงกันนัก ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา ทว่าไม่ควรจะมีใครคิดเห็นสุดขั้วว่า เทคโนโลยีทุกชนิดจำเป็นต่อชีวิตไปเสียทั้งหมด (และผูกขาดใช้มันครบถ้วนอย่างไม่บันยะบันยัง) เช่นเดียวกับไม่ควรจะมีใครต่อต้านปฏิเสธเทคโนโลยีโดยมองว่าเป็นสิ่งเลวร้ายล้วน ๆ

ประการถัดมา ในบรรดาสิ่ง “จำเป็น” ขาดไม่ได้หลาย ๆ อย่างเกี่ยวกับเทคโนโลยี ผมคิดว่า เราต้องระมัดระวังว่าจะ “ใช้” มันอย่างไรให้เป็นและคุ้ม อย่าปล่อยให้เทคโนโลยีอุปกรณ์ไม่มีชีวิตเป็นฝ่ายบงการ “ใช้” เรา (พูดก็พูดเถิดนะครับ เห็นแบบอย่างการใช้โทรศัพท์มือถือในชีวิตจริงหลาย ๆ ครั้งแล้ว ผมอยากจะบอกว่า มีคนถูกมือถือ “ใช้สอยควบคุม” เยอะเลย)

ที่สำคัญคือ ควรมีมาตรการ “กันเหนียว” หาวิธีรับมือกรณีฉุกเฉินที่เทคโนโลยีเดี้ยงกระทันหัน สำหรับผมแล้วเรื่องการใช้งานคอมพิวเตอร์เป็นโจทย์ข้อใหญ่ บางทีคุณพี่เขาก็งอแงทำให้ปวดเศียรเวียนเกล้า เข้าอีเมล์ส่งงานไม่ได้ บางทีสายโมเด็มก็ทำให้ต่ออินเตอร์เน็ตแล้วเกิดอาการหลุดบ่อย ๆ บางทีเว็บต่าง ๆ ก็ error ด้วยสาเหตุพิลึกจนชวนให้เชื่อว่าเป็นเรื่องไสยศาสตร์สาขาไอที บางทีก็เจอเว็บล่ม (เด็กชายพี่หมี ตุ๊กตาหมีกุมารทองคู่ใจผม เรียกอาการเหล่านี้รวม ๆ ว่า “เน็ตเหนื่อย”)


อะไรพวกนี้นี่ต้อง เตรียมแผนสอง แผนสามไว้คอยรับมืออยู่ตลอดนะครับ แม้กระทั่งเรื่องเบสิคพื้นฐานอย่างเช่น การเตือนตัวเองให้พิมพ์งานไป กดเซฟทุก ๆ ย่อหน้า (ผมเคยมีบทเรียนซาบซึ้งในรสพระธรรมมาแล้ว จากการเขียนบทความยาวเหยียดหลายหน้า เหลืออีกแค่บรรทัดเดียวก็จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์หมดจด แต่ทันใดก็เกิดไฟดับ โดยที่ผมไม่ได้เซฟไว้เลย จนต้องมานั่งปาดน้ำตาเขียนใหม่ทั้งหมดจากความจำ ซึ่งผลลัพธ์ก็ไม่ดีเท่าเดิมด้วย)

นี่ยังไม่นับรวมกรณีคอมพิวเตอร์โดนไวรัส จนไฟล์ต้นฉบับงานต่าง ๆ มีอันต้องตกหล่นสูญหาย

ผมมีแผนรับมือคอมพิวเตอร์ทำพิษฉุกเฉินเยอะแยะมากมาย รวมทั้งท่าไม้ตายคือ กลับมาซ้อมเขียนต้นฉบับด้วยลายมืออีกครั้ง เผื่อเหลือเผื่อขาด

ผมไม่ได้คิดอะไรแบบมุ่งคาดคะเนในแง่ร้ายนะครับ แต่เห็นว่าเป็นการดีถ้าหากจะตระเตรียมความพร้อม และตั้งสติดำรงตนอยู่โดยความไม่ประมาท

ประโยชน์หรือผลพลอยได้ท้ายสุดจากกรณี “อีเย็น” ก็คือ การฝากผีฝากไข้เทคโนโลยีแต่พอเหมาะพองาม (โดยไม่ต้องกล่าวอ้างถึงแง่มุมใหญ่โตว่า ทำร้ายโลกและส่วนรวมน้อยลง) พูดเฉพาะในมุมเห็นแก่ตัวอย่างถึงที่สุด มันช่วยให้เรา “อึด” และ “แกร่ง” ขึ้น จากการยอมลดทอนความสะดวกสบายบ้างตามอัตภาพ

วันนี้ผมเขียนอะไรฟุ้ง ๆ กระจัดกระจายอยู่สักหน่อย โปรดอย่าถือสาเลยนะครับ อากาศมันร้อน แถมยังสะเทือนใจไม่หาย ทั้งที่ “อีเย็น” มันขาดใจตายไปหลายเดือนแล้ว




(เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2551 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ)

วันพุธที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2552

เรื่องอิ่มใจและเรื่องเจ็บใจ โดย "นรา"


ผมทิ้งท้ายเอาไว้เกี่ยวกับปัญหาหลัก ๆ ในการทำให้เกิดอาการ “หนูไม่รู้” เวลาดูจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งมีตั้งแต่ไม่ทราบว่าเป็นภาพวาดเกี่ยวกับเรื่องอะไร, ความสับสนในการจำแนกแยกแยะว่าหนึ่งภาพประกอบไปด้วยกี่เหตุการณ์ รวมทั้งการเรียงลำดับว่า ควรเริ่มต้นดูจากจุดไหนก่อนหรือหลัง

ตรงนี้ชวนให้มึนงงอยู่พอสมควร เพราะปราศจากหลักเกณฑ์ตายตัว เท่าที่ได้สัมผัสมา ผมพบว่าบางภาพเริ่มดูโดยไล่จากล่างขึ้นบน บางภาพเริ่มจากบนลงล่าง บางภาพเริ่มที่ขวาไปซ้าย บางภาพเริ่มซ้ายมาขวา บางภาพต้องดูเป็นวงกลมตามเข็มหรือทวนเข็มนาฬิกา บางภาพเริ่มจากล่างขวาขึ้นบนแล้วค่อยวกลงซ้าย เหมือนรูปเกือกม้าคว่ำ ฯลฯ

คำถามก็คือ ปัญหาทั้งหมดนี้ จะแก้ไขอย่างไร?

ง่ายนิดเดียวครับ คือ ต้องรู้เรื่องรู้พล็อตของภาพนั้น ๆ ล่วงหน้าก่อนดู

หมายความว่า ในฐานะผู้ชม เรา ๆ ท่าน ๆ ควรจะอ่านหรือผ่านตา “เรื่องเดิม” จากวรรณกรรม ที่ครูช่างทั้งหลายได้นำมาตีความถ่ายทอดใหม่ในรูปแบบของจิตรกรรมฝาผนัง

ข่าวร้ายก็คือ เรื่องที่นิยมนำมาวาดจิตรกรรมฝาผนัง มีอยู่เยอะแยะมากมายหลากหัวข้อหลายประเด็น มิหนำซ้ำชื่อเรื่องยังหนักไปทางศัพท์บาลีแปลกตาไม่เป็นที่ไม่คุ้นเคย และชวนให้นึกหวั่นหวาดขยาดเกรงตั้งแต่แรกพบเห็น เช่น เรื่องอัฎฐมหาสถานและสัตตมหาสถาน, ประวัติพระปัจเจกพุทธเจ้า, ไตรภูมิโลกสัณฐาน ฯลฯ

ส่วนข่าวดีก็คือ แม้จะมีเนื้อหากระจัดกระจาย กินขอบเขตกว้างขวาง ทว่าเรื่องราวที่พบเห็นบ่อย ๆ ในจิตรกรรมฝาผนังส่วนใหญ่ เอาเข้าจริงก็มักจะหนีไม่พ้น พุทธประวัติ, ทศชาติชาดก, ไตรภูมิโลกสัณฐาน และภาพเทพชุมนุม

พูดง่าย ๆ ก็คือ จิตรกรรมฝาผนังที่วาดกันตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายเรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 มักจะยึดถือเนื้อหาเหล่านี้ค่อนข้างเคร่งครัด

พูดให้ใจชื้นขึ้นอีกนิด จิตรกรรมฝาผนังที่ได้รับการยกย่องในวัดสำคัญ ๆ ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด มักวาดขึ้นในช่วงเวลาข้างต้นนี่แหละครับ

ภาพวาดตามวิหารหรือพระอุโบสถ มีเจตนาเป้าหมายเบื้องต้นอยู่ 2 ประการ อันดับแรกเพื่อตกแต่งตัวอาคารสถานที่ให้สวยงาม ถัดมาเป็นการขับเน้นพระพุทธรูป (โดยเฉพาะองค์พระประธาน) ให้โดดเด่น

นี่เป็นเหตุผลหลัก ๆ ทำให้ โทนสีในจิตรกรรมไทย มุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการใช้สีแดงเป็นหลัก และมีสีพื้นอื่น ๆ ที่ค่อนข้างมืดทึบ

สาเหตุก็เพราะ สีแดงในท่ามกลางบรรยากาศมืดครึ้มนั้น ช่วยหนุนเสริมให้สีทองขององค์พระพุทธรูปแลดูสุกปลั่งมลังเมลืองงามจับตามากยิ่งขึ้น

ภาพที่ผมเห็นเป็นอย่างนี้ครับ เมื่อมองตรงเข้าไป องค์พระประธานดูราวกับจะลอยเด่นอยู่กลางอากาศ หลุดพ้นออกมาจากฉากหลังทั้งหมด

ด้วยแนวคิดที่ยึดถือองค์พระประธานเป็นจุดศูนย์กลางสำคัญสุด การกำหนดตำแหน่งว่าพื้นที่ตรงไหนจะวาดภาพอะไร จึงผ่านการออกแบบให้มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ กระทั่งคลี่คลายกลายเป็นขนบที่ยึดถือสืบต่อกันมา

พื้นที่ในโบสถ์นั้น ผมแบ่งของผมเองให้เข้าใจง่าย ๆ ออกเป็นตอนล่างกับตอนบน

ตอนล่างก็คือ รอบ ๆ ผนังทั้งสี่ด้าน นับจากพื้นถึงขอบบนของประตูและหน้าต่าง ที่เหลือถัดจากนั้นจนถึงเพดาน คือ ตอนบน

บริเวณ “ตอนล่าง” ซึ่งมีประตูและหน้าต่างคั่นไว้ เรียกกันว่า “หนึ่งห้อง” เหมือนภาพหนึ่งเฟรม ขนาดไม่ใหญ่นัก จึงนิยมวาดภาพจากชาดกหรือพุทธประวัติ เป็นการเกริ่นนำให้ผู้ชมทราบความเป็นมาในชาติภพต่าง ๆ ซึ่งพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีสั่งสมเอาไว้ จนประสูติเป็นพระพุทธเจ้าในชาติสุดท้าย และสืบเนื่องมาถึงเรื่องราวในพุทธประวัติ

องค์พระประธานนั้น โดยมากมักจะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย (แปลง่าย ๆ ก็คือ “พิชิตมาร”) กระทั่งนำไปสู่เหตุการณ์สำคัญ คือ การตรัสรู้

ภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัด จึงสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อมุ่งขับเน้นการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าให้โดดเด่นมีความหมายมากเป็นพิเศษ ฝาผนังตอนบนทั้งสี่ด้าน ซึ่งมีเนื้อที่กว้างขวางใหญ่โต นิยมวาดเหตุการณ์ตอนสำคัญ และมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงสอดคล้องรับส่งกันหมด

กล่าวคือ ด้านหลังองค์พระประธาน เป็นภาพไตรภูมิหรือจักรวาล ผมยังไม่ได้ศึกษารายละเอียดเรื่องนี้อย่างจริงจังนะครับ เอาไว้ผมอ่านตำรับตำราเรื่องนี้จบลงเมื่อไหร่ คงได้นำมาเล่าใหม่สังคายนาให้แจ่มแจ้งครบถ้วนในโอกาสต่อ ๆ ไป

ผนังด้านข้างซ้ายขวาขององค์พระประธาน เป็นภาพเทพชุมนุม ซึ่งก็หมายถึงเทวดาทุกระดับชั้นตั้งแต่พระพรหม, พระอินทร์ ตลอดจนยักษ์ ครุฑ นาค ฯลฯ จากหมื่นจักรวาลมาชุมนุมรวมกัน เพื่อร่วมแสดงความยินดีและเป็นประจักษ์พยานต่อการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

นอกจากจะสร้างความหมายไปยังการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า (องค์พระประธาน) แล้ว ภาพเทพชุมนุมยังทำหน้าที่ในการหนุนเสริมบรรยากาศสงบศักดิ์สิทธิ์ให้แก่ผู้คนที่เข้าไปในโบสถ์ (รวมทั้งเป็นเสมือนสื่อนำสายตาของเราไปยังองค์พระประธาน)

ผนังตอนบนฝั่งตรงข้ามพระประธาน (หรือตอนบนเหนือประตูทางเข้าด้านหน้า) ถือเป็นตำแหน่งสำคัญและโดดเด่นสุด เมื่อเทียบกับบริเวณอื่น ๆ ในโบสถ์ เนื่องจากไม่มีองค์พระมาบดบังรายละเอียด จึงสามารถมองเห็นภาพทั้งหมดได้อย่างจะแจ้งเด่นชัด พื้นที่ตรงนี้นิยมวาดภาพ “มารผจญ” หรือ “ผจญมาร” หรือ “มารพ่าย” หรือ “มารวิชัย” (วิธีสังเกตว่า รูปไหนคือ พุทธประวัติตอนมารผจญ มีหลักง่าย ๆ ครับ ตรงด้านล่างของพระพุทธเจ้า จะมีพระแม่ธรณีบีบมวยผมอยู่ด้วยเสมอ)

ผมเข้าใจว่า เป็นการสร้างความเชื่อมโยงของเหตุการณ์ “ก่อนและหลังการตรัสรู้” ซึ่งอยู่คนละฟากของพระอุโบสถ และดูสอดคล้องกันดีกับการที่ชาวบ้าน (ที่ยังใช้ชีวิตทางโลก เปี่ยมด้วยกิเลสตัณหาบาปบุญคุณโทษต่าง ๆ) เข้าโบสถ์ หลุดพ้นจากการข้องแวะของมาร (ในรูปแบบต่าง ๆ ชั่วขณะ) และได้สัมผัสกับพระธรรม การตรัสรู้ ได้ไหว้พระทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว ครั้นเมื่อเดินออก (ทางด้านหน้า) ก็จะต้องผ่านภาพ “ผจญมาร” เป็นการเตือนสติส่งท้าย ก่อนกลับสู่โลกภายนอกอันยุ่งเหยิงวุ่นวาย (พอ ๆ กับรายละเอียดในภาพเขียน)

จริงเท็จอย่างไรไม่ยืนยันนะครับ แต่เข้าวัดดูภาพจิตรกรรมบ่อย ๆ ผมก็เริ่มรู้สึก เริ่มคิด และเริ่มเชื่อตามนี้

การทราบตำแหน่งที่ตั้งและธรรมเนียมการวาดภาพไตรภูมิโลกสัณฐาน, เทพชุมนุม, และมารผจญ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้การดูจิตรกรรมฝาผนัง รู้ว่า “อะไรเป็นอะไร” มากขึ้นกว่าเดิมได้เยอะทีเดียว

อย่างไรก็ตาม การบ้านสำคัญสุดยังคงอยู่ที่การย้อนกลับไปอ่านพุทธประวัติและชาดกต่าง ๆ

เรื่องพุทธประวัตินั้น ระยะแรกเริ่มผมพออาศัยความรู้เก่า ๆ สมัยเรียนวิชาศีลธรรมมาเป็นตัวช่วยได้บ้าง ทว่าก็พอรู้เลา ๆ แค่ช่วงตอนสำคัญ ๆ เท่านั้น ในงานจิตรกรรมไทยนิยมวาดแตกรายละเอียดประมาณ 28 ตอน และคู่มืออันล้ำเลิศสุดที่เหมาะจะอ่านให้เกิดความเข้าใจแตกฉานลึกซึ้งก็คือ พระปฐมสมโพธิกถา ของกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส (ผมกำลังตระเวนหาหนังสือเล่มนี้อยู่นะครับ)

ส่วนเรื่องชาดก มีตัวช่วยที่ง่ายหน่อย คือ หนังสือชุด “ท่องทศชาติผ่านจิตรกรรม” ของอู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย มี 2 เล่มจบ เขียนในท่วงทีลีลาเหมือนจดหมายถึงเพื่อน ย่อยเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย สอดแทรกความคิดเห็น (และการตีความอธิบายของผู้คน) อ่านสนุกเพลิดเพลิน ฉบับปกแข็งราคาค่อนข้างสูงอยู่สักหน่อย (ตอนซื้อผมใช้วิธีทุบกระปุก และยอมแลกเปลี่ยนกับการทำตัวประหยัดราว ๆ สองอาทิตย์) มีฉบับปกอ่อนด้วยเหมือนกัน แต่ขอแนะนำให้ซื้อปกแข็งมากกว่า เพราะการจัดรูปเล่มและภาพประกอบสวยเหลือเกิน (แค่ดูรูปอย่างเดียวก็คุ้มแล้วครับ)

หนังสืออีกชุดได้แก่ “ทศชาติชาดกกับจิตรกรรมฝาผนัง” มี 2 เล่มจบเหมือนกัน เขียนโดยนิดดา หงษ์วิวัฒน์ รูปแบบและเนื้อหาคล้าย ๆ กัน แต่เล่าเป็นนิยาย เน้นรายละเอียดถี่ถ้วน มีภาพประกอบเทียบเคียงให้ดูจุใจ

ทั้งสองชุดนี้ นอกจากจะช่วยให้ดูภาพจิตรกรรมฝาผนังได้สะดวกง่ายดายขึ้นมากแล้ว ยังช่วยเตรียมตัวฝึกสายตาก่อนที่ผมจะเดินทางไปดูของจริงอีกต่างหาก

กล่าวคือ ในเหตุการณ์ตอนเดียวกัน มีภาพจากจิตรกรรมฝาผนังหลาย ๆ แหล่ง ทำให้มีโอกาสสังเกตเปรียบเทียบลีลาของครูช่างในวัดแต่ละแห่ง ผ่านตาบ่อย ๆ รสนิยมส่วนตัวของผม ก็จะค่อย ๆ แยกแยะมองเห็นความเหมือนความต่าง และเริ่มพอจะดูออกว่า ฝีมือวัดไหนเด่นด้อยเหลื่อมล้ำกว่ากัน

หัวใจสำคัญในการดูจิตรกรรมฝาผนังให้ดื่มด่ำได้อรรถรสนั้น มีหลักอยู่ 2-3 ข้อ

แรกสุดคือ ดูบ่อย ๆ ดูเยอะ ๆ และหาโอกาสดูให้หลากหลายมากสุดเท่าที่จะทำได้ ชั่วโมงบินและประสบการณ์ตรงจากการสัมผัสกับของจริง จะช่วยฝึกสายตาพัฒนาฝีมือและแรงงานไปเองโดยปริยาย

เมื่อตอนที่ผม “เข้าสู่วงการ” ดูจิตรกรรมฝาผนัง ผมเริ่มต้น ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ดูเสร็จก็ตกอยู่ในอาการเหมือนคนลิ้นชาไม่รู้รสชาติอาหาร ไม่เกิดความดื่มด่ำซาบซึ้งใด ๆ ทั้งสิ้น

จนกระทั่งมาอ่านบทความชื่อ “คุณค่าของจิตรกรรมฝาผนัง” โดยท่านอาจารย์ศิลป พีระศรี ผมจึงเหมือนได้รับการครอบครู เปลี่ยนโลกไปโดยสิ้นเชิง

เคล็ดลับของอาจารย์ก็คือ ดูช้า ๆ ใจเย็น ๆ แต่ละครั้งใช้เวลาดูทีละภาพสองภาพก็พอ ไม่ต้องกวาดให้หมดเก็บให้เกลี้ยง แต่ดูแบบพินิจพิเคราะห์สังเกตซึมซับรายละเอียดต่าง ๆ ให้ถี่ถ้วน หากไม่หนำใจก็ค่อยย้อนกลับไปดูใหม่ ตามเก็บภาพอื่น ๆ ที่เหลือ

อันนี้ผมยืนยันได้ว่า ภาพเดิมรูปเดียวกันนี่แหละ กลับไปดูซ้ำอีกทีไร จะต้องพบอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนซุกซ่อนอยุ่เสมอ

ยิ่งดู ยิ่งเจอ ว่างั้นเถอะครับ

ผมมีเทคนิคส่วนตัวอีกอย่าง ซึ่งทดลองเดาสุ่มเอาเอง ปรากฎว่าได้ผลดีเกินคาด นั่นคือ การดูจิตรกรรมฝาผนัง ควรจะมีกล้องส่องทางไกลเป็นอุปกรณ์ประกอบด้วย เพื่อส่องดูตรงบริเวณสูง ๆ ไกล ๆ

เจ็บใจอยู่นิดเดียวคือ ตอนไปซื้อกล้องที่คลองถม คนขายผู้หวังดีบอกกับผมว่า “อันที่เฮียจะซื้อ ใช้ดูม้าแข่งไม่เวิร์คหรอก”

ทันใดนั้นภาพของนักดูจิตรกรรมฝาผนังผู้มีอารมณ์อันละเอียดอ่อนสุนทรีย์ ที่สู้อุตส่าห์จินตนาการไว้เสียดิบดี ก็หายวับไปกับตา เหลือแต่อาแปะแก่ ๆ เดินง่อกแง่กซื้อหญ้าให้ม้ากินอยู่แถว ๆ สนามม้านางเลิ้ง



(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรก 3 มกราคม 2551 คอลัมน์ "เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ)

อวิชาการว่าด้วยจิตรกรรมฝาผนัง โดย "นรา"


นับจากที่ได้อ่านเจอเรื่องการวาดภาพประชันฝีมือระหว่างครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ กว่าผมจะมีโอกาสได้ดูจิตรกรรมฝาผนังของจริง ที่พระอุโบสถ วัดสุวรรณาราม ก็ต้องใช้เวลาอีกเกือบ ๆ ยี่สิบวัน

อันดับแรกเป็นความเข้าใจผิดส่วนตัว คือ ผมไปที่วัดแล้วพบว่า กำลังมีการซ่อมแซมบูรณะหลังคาพระอุโบสถอยู่ จึงด่วนสรุปเอาเองว่า คงปิดชั่วคราวจนกว่าจะแล้วเสร็จ (หลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน ขณะผมกำลังนั่งเรือเที่ยวคลองบางกอกน้อย ผ่านบริเวณหน้าวัด จึงค่อยทราบว่าพระอุโบสถยังเปิดให้เข้าชมตามปกติ)

ประการถัดมา เชื่อว่าหลายท่าน คงเคยประสบปัญหาคล้ายกับผมอยู่บ้าง นั่นคือ ดูจิตรกรรมฝาผนังแล้วไม่เข้าใจเหตุการณ์ในภาพ, แยกแยะไม่ออกว่างานชิ้นไหนสวย หรือย่อหย่อนอ่อนด้อย (เพราะเห็นทีไรก็รู้สึกว่า เหมือน ๆ กันไปหมด), อ่านตำรับตำราหาข้อมูลความรู้เพิ่มเติมแล้วติดขัดไม่เข้าใจ เนื่องจากมั่งคั่งแพรวพราวไปด้วยศัพท์เฉพาะในแวดวงช่าง

ตลอดทั้งชีวิตก่อนหน้านี้ ผมจึงดูจิตรกรรมฝาผนัง ด้วยอาการ “เดินผ่าน” ใช้เวลารวดเร็วไม่เกินสิบหรือสิบห้านาที พร้อมกับความว่างเปล่ากลวงโบ๋

การดูจิตรกรรมฝาผนังนั้นมี crack อยู่นะครับ และต้องหาวิธีแก้ให้ได้เสียก่อน

ผมก็เลยให้เวลากับตัวเองเพื่อทำการบ้านเตรียมความพร้อม เพราะรู้แน่ว่า ขืนทะเล่อทะล่าเข้าไปดูฝีมือครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ทันที โดยปราศจากความรู้พื้นฐานติดหัวบ้างแล้วล่ะก็ จะเข้าข่าย “เสียของ” และเข้าไม่ถึงฝีมือครูอย่างแน่นอน

ผมผ่านการฝึกวิชาลองผิดลองถูกอยู่ประมาณหนึ่งเดือนกว่า ๆ จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่กล้าพูดว่า “ดูเป็น” ทว่าหากเปรียบความรู้ความเข้าใจแต่เดิม ซึ่งเหมือนสะดุดหยุดชะงักติดอยู่แถว ๆ “คลองตัน” ล่าสุดผมก็ขยับตัวเคลื่อนช้า ๆ เข้าสู่แถว ๆ “พัฒนาการ” แล้วล่ะ

ที่จะเล่าสู่กันฟังต่อไปนี้ ปราศจากหลักเกณฑ์ทางวิชาการอันถูกต้อง เป็นแค่ประสบการณ์แบบครูพักลักจำส่วนตัวของผมเอง (ซึ่งสังกัดอยู่ฝ่าย “อวิชาการ”) เท่าที่ลองทดสอบดู ผมคิดว่าได้ผลอยู่เยอะพอสมควร

แรกสุดก็คือ ควรจะรู้จักและเข้าใจพื้นฐานของจิตรกรรมฝาผนังไทยว่า ไม่ได้มุ่งสร้างขึ้นเพื่อถ่ายทอดความสมจริง หรือคัดลอกธรรมชาติ เหมือนอย่างภาพเขียนของซีกโลกตะวันตก

การดูจิตรกรรมฝาผนัง หากพกพาเอาเกณฑ์ความเหมือนจริงเข้าทาบจับ ดูยังไงก็ไม่มีวันสวยขึ้นมาได้ (ดังเช่น ท่านมุขนายกมิซซังปาเลอกัวร์ ชาวฝรั่งเศสซึ่งเดินทางมาไทยปลายรัชกาลที่ 3 ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนังไว้ในหนังสือ-เล่าเรื่องกรุงสยาม-ว่า “ภาพเขียนของเขาฝีมือหยาบ น่าเกลียดและไม่เลียนแบบธรรมชาติ”)

จิตรกรรมไทยประเพณีนั้น สร้างสรรค์โดยยึดถือความงามในแบบอุดมคติหรือปรัมปราคติ พูดง่าย ๆ คือ มุ่งสะท้อนความงามที่ผ่านการตีความ ประดิดประดอย ดัดแปลงจากธรรมชาติหรือภาพในความจริง เป็นการสร้างอีกโลกหนึ่งขึ้นมาใหม่ทั้งหมด

ความไม่สมจริงแบบจงใจ จึงมีปรากฎอยู่ในภาพเขียนเต็มไปหมด เช่น บางครั้งตัวปราสาทราชวังสามารถมองเห็นได้ถึง 3 ด้าน (คือ ด้านหน้า ซ้าย ขวา) ด้วยการเขียนลวงตาบิดด้านข้างเล็กน้อยเข้าหาสายตาผู้ชม, สัดส่วนระหว่างอาคารสถานที่กับตัวบุคคล มักจะวาดให้มีขนาดพอดีรับกัน (ภาพคนที่นั่งอยู่จึงตัวใหญ่เกินจริง ประมาณว่า ถ้าลุกขึ้นยืนก็อาจสูงทะลุเลยเพดานได้), ปราศจากการแรเงาไล่น้ำหนักบนผิวเนื้อ แต่ใช้ลายเส้นหนักเบา ความผสานกลมกลืนของสีอ่อนแก่ ทำให้เกิดความใกล้ไกลและลึก (ซึ่งมีศัพท์ช่างเรียกกันว่า “ผลักระยะ”), ภาพตัวพระ-ตัวนาง มีรูปลักษณ์ สัดส่วน และท่วงท่าไม่เหมือนจริง แต่ถอดแบบมาจากลีลานาฏศิลป์อันอ่อนช้อย ที่สำคัญคือ ใบหน้านั้นมีแบบแผนแน่ชัดตายตัว ไม่ค่อยแสดงความรู้สึก เหมือนสวมหน้ากาก ทว่าสื่อแสดงอารมณ์ต่าง ๆ ผ่านการเคลื่อนไหวของท่าทาง (เช่น ท่ายกแขนป้องหน้าผาก หมายถึงความโศกเศร้าอาดูรสุดขีด ฯ) ฯลฯ

มีอะไรทำนองนี้แทรกซ่อนอยู่เยอะทีเดียว (ถ้าเจอเพิ่มเติมอีกเมื่อไร ผมจะค่อย ๆ เล่าให้ฟัง) กล่าวโดยสรุปคือ จิตรกรรมฝาผนังของไทยเป็นภาพสองมิติ และเขียนขึ้นโดยไม่คำนึงถึงหลักทางด้าน perspective สิ่งที่อยู่ใกล้และไกล ล้วนมีขนาดเท่ากันหมด รวมทั้งวาดโดยใช้มุมมองจากที่สูงแบบ bird’s eye view

ความน่าทึ่งจึงอยู่ที่ว่า ครูช่างของไทยท่านสามารถคิดค้นวิธีแก้ปัญหาข้อจำกัดต่าง ๆ เหล่านี้ได้อย่างแยบยล จนทำให้ความไม่สมจริงและเกินจริงต่าง ๆ แลดูกลมกลืนไม่ขัดตา กลายเป็นความงามอันมีแบบแผนเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนศิลปะที่อื่นใดในโลก

ในยุคหลัง ๆ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา เริ่มมีความนิยมนำวิธีเขียนเน้นความสมจริงและหลักการ perspective แบบตะวันตก เข้ามาใช้ในภาพเขียนไทยมากขึ้นกว่าเดิม (ในสมัยรัชกาลที่ 3) ผลก็คือ บางภาพ (ไม่ใช่ทั้งหมด) ดูแปร่งขัดตาสูญเสียเอกลักษณ์ เนื่องจากส่วนที่เคยเป็นจุดเด่นและเสน่ห์ดึงดูดสูงสุดหายไป กลายเป็นความไม่มีเอกภาพ

พูดเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่า จิตรกรรมไทยจะต้องแยกตัวโดดเดี่ยว ปิดกั้นไม่ยอมรับอิทธิพลด้านบวกจากแหล่งอื่นนะครับ ตรงกันข้ามผลงานที่เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 อันถือว่าเป็น “ยุคทอง” (รวมถึงผลงานชิ้นเอกของครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ ที่วัดสุวรรณาราม) ก็ได้มีการรับสิ่งใหม่ ๆ จากภายนอกอยู่เยอะ ทั้งภาพเขียนแบบจีน และศิลปะตะวันตก

จุดใหญ่ใจความนั้นอยู่ที่ว่า เมื่อรับอิทธิพลอื่นมาแล้ว สามารถผสมกับของเดิมได้กลมกล่อม และทำได้เนียนแค่ไหนมากกว่า

ภาพไทยที่ออกลีลาไปทางฝรั่ง จึงมีทั้งวาดได้งามและไม่งาม เพียงแต่ส่วนใหญ่ (เท่าที่ผมได้เห็นมาค่อนข้างจำกัด) โน้มเอียงไปอย่างหลังมากกว่า อันนี้ผมสันนิษฐานว่า เนื่องจากพอนำแนวคิดสมจริงแบบฝรั่งมาใช้แล้ว ก็ก่อให้เกิดปัญหาใหม่บางประการ ซึ่งครูช่างบางท่านแก้โจทย์ได้สำเร็จ บางท่านก็ล้มเหลว

เทียบคร่าว ๆ แล้ว จิตรกรรมไทยก็เหมือนหนังที่มุ่งมาทางแฟนตาซีหรือเหนือจริง คือหนักสเปเชียลเอฟเฟคท์ เน้นความอลังการงานสร้าง แสง สี มุมกล้องหวือหวาจัดจ้าน ฉากหลัง เสื้อผ้า งานโปรดักชันดีไซน์วิจิตรพิสดาร และนิยมเล่าเรื่องเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำเล่าในหลาย ๆ แห่ง เหมือนหนังรีเมค แต่ก็มีเหตุผลสำคัญกำกับอยู่ด้วย นั่นคือ เป็นการทำตามขนบ นอกจากจะสร้างขึ้นด้วยจุดมุ่งหมาย เป็นส่วนประกอบตกแต่งของพระอุโบสถหรือวิหาร (ซึ่งทำหน้าที่เบื้องต้นคือ ขับเน้นเสริมความโดดเด่นขององค์พระประธาน) แล้ว วัตถุประสงค์ลำดับถัดมา คือ ใช้เป็นสื่อเผยแพร่เรื่องราวทางศาสนา เช่น พุทธประวัติและชาดกต่าง ๆ ฯ สู่ชาวบ้านในวงกว้าง
อันนี้เป็นผลมาจากสภาพสังคมไทยในอดีตที่ไม่ได้มุ่งถ่ายทอดสิ่งต่าง ๆ ด้วยลายลักษณ์อักษร แต่เรียนรู้เรื่องราวสรรพวิชา ผ่านคำบอกเล่าแบบปากต่อปาก จิตรกรรมฝาผนังตามวัดก็เลยเป็นอีกสื่อหนึ่งที่สะดวกมีประสิทธิภาพในการเผยแพร่วรรณคดีและคำสอนทางศาลนาสู่มหาชน

ที่สำคัญคือ ถึงแม้ว่าเรื่องราวที่หยิบยกมาวาดกันตามผนังโบสถ์ จะวนเวียนซ้ำ ๆ และมีการจัดองค์ประกอบภาพ ซึ่งเต็มไปด้วย “ท่าบังคับ” มากมายที่ยึดถือสืบทอดต่อเนื่องกันมาช้านาน ทว่าฝีมือครูช่างแต่ละท่านก็ได้ตีความ สอดแทรกลายเซ็นเฉพาะตัวเอาไว้ในรายละเอียดปลีกย่อย จนทำให้ “เรื่องเดียวกัน” นั้น เกิดรสชาติแตกต่าง ไม่มีที่ไหนแห่งใดเหมือนกันเลย

จิตรกรรมไทยนั้น มองเผิน ๆ อาจละม้ายคล้ายคลึงกันไปหมด แต่เอาเข้าจริงก็หลากหลายฝีมือสกุลช่าง และสะท้อนถึงความงามอันเหลื่อมล้ำสูงต่ำผิดแผกจากกันเอาไว้เด่นชัด มีทั้งงานชั้นครู งานชั้นรอง ไปจนถึงขั้นดาด ๆ พื้น ๆ

ตรงนี้ก็นำไปสู่การบ้านลำดับต่อมา นั่นคือ ปัญหาเกี่ยวกับการดู “ไม่รู้เรื่อง”

ชาวบ้านสมัยก่อน ท่านสดับรับฟังเรื่องพุทธประวัติและชาดกจนคุ้นชิน เหมือนเรา ๆ ท่าน ๆ รู้พล็อต “คู่กรรม”, “ดอกโศก”, “ดาวพระศุกร์”, “บ้านทรายทอง”, “จำเลยรัก” การดูภาพจิตรกรรมฝาผนังจึงเข้าใจได้ง่ายดาย ไปโบสถ์แต่ละครั้งแต่ละแห่งก็เหมือนได้อ่านนิยายภาพเรื่องเดิมในเวอร์ชั่นใหม่ ๆ เห็นแล้วก็รู้แจ้งแทงตลอดว่า ในภาพนั้น ๆ ควรจะเริ่มตรงไหน สามารถไล่ลำดับต้น กลาง ปลาย ได้ถูกต้อง

จิตรกรรมไทยในหนึ่งภาพ เปรียบง่าย ๆ ก็เหมือนการ์ตูนญี่ปุ่นหนึ่งหน้า ไม่ได้มีแค่เหตุการณ์เดียวเหมือนภาพเขียนของฝรั่ง แต่มีเรื่องราวจำนวนหนึ่งรวมอยู่ในนั้น ซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้ง หลายเหตุการณ์คนละลำดับเวลา (ซึ่งเกิดขึ้นใกล้เคียงกัน) เช่น ภาพพุทธประวัติตอนออกบวช อาจเริ่มด้วยเจ้าชายสิทธัตถะ ร่ำลาพระชายาซึ่งบรรทมอยู่ ก่อนออกจากวัง, ทรงม้าไปท่ามกลางหมู่เทวดาห้อมล้อม, และตอนปลงพระเกศา

ในภาพเดียวกันนี้ อาจเห็นเจ้าชายสิทธัตถะปรากฎอยู่หลายองค์ตามบริเวณตำแหน่งต่าง ๆ

อีกกรณีก็คือ ภาพที่เกิดต่อเนื่องกัน โดยมีตัวละครทั้งหมดปรากฎแค่ครั้งเดียวชุดเดียว แต่เหตุการณ์ดำเนินไปอย่างเลื่อนไหลมีต้น กลาง ปลายครบถ้วนสมบูรณ์ (ภาพของครูคงแป๊ะที่วัดสุวรรณาราม เข้าข่ายนี้)

เท่านั้นยังไม่พอ มีปัญหาจุกจิกซับซ้อนเกี่ยวกับการเรียงลำดับก่อนหลังและการวางตำแหน่งในภาพ ซึ่งสามารถแตกรายละเอียดได้สารพัดรูปแบบ มาเป็นอุปสรรคทำให้ “ดูไม่ค่อยรู้เรื่อง” อีกต่างหาก

จะดูอย่างไรให้ไม่สับสนงุนงง ปัญหาชีวิตในจิตรกรรมฝาผนังของไทยข้อนี้ คงต้องติดค้างไว้ก่อนนะครับ คราวหน้าผมจะแกล้ง ๆ ปลอมตัวเป็น “พี่ศิราณี” มาอธิบายถึงวิธีแก้ไขคลี่คลาย

ป.ล. นิทรรศการ “กรุงเทพฯ 226” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน มีภาพคัดลอกงานของครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ (รวมทั้งงานของพระอาจารย์นาค สมัยรัชกาลที่ 1) ขนาดเท่าจริงแสดงอยู่ด้วย ความเหมือนนั้นใกล้เคียงประมาณแปดสิบเปอร์เซ็นต์ แต่ข้อดีก็คือ เดินทางไปดูได้สะดวก (และชมฟรี) แสงเงาในหอศิลป์ค่อนข้างสว่าง มองเห็นรายละเอียดต่าง ๆ ในภาพชัดเจนขึ้น ผมไปยืนเพ่งพินิจพิจารณาเปรียบเทียบดูแล้ว ก็ยิ่งเชื่อคล้อยตามคำร่ำลือที่ว่า ฝีมือครูทั้งสองวิจิตรพิสดารราวกับเทวดามาวาดเอาไว้

ระหว่างที่ผมยังเดินทางโอ้เอ้เชื่องช้าไปไม่ถึงวัดสุวรรณาราม การแวะดูภาพคัดลอก (ซึ่งก็สวยมาก ถ้าไม่นำไปเทียบกับภาพต้นฉบับ) เพื่ออุ่นเครื่องทำความคุ้นเคยกับฝีมือครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ นับเป็นวิธีแก้ crack อย่างหนึ่งได้เหมือนกัน

ขออวยพรให้ทุกท่านมีความหวังเยอะ ๆ มีคุณภาพชีวิตที่ดี สวัสดีปีใหม่ครับ



(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรก 27 ธันวาคม 2551 คอลัมน์ "เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ")

สองครูสองคม โดย "นรา"


ผมกำลังหลงใหลคลั่งไคล้จิตรกรรมฝาผนังของไทย ถึงขั้นประพฤติตน “แก่วัด” เริ่มแวะเวียนไปตามวัดวาอารามต่าง ๆ และเข้าหาพระหาเจ้า ผิดจากเดิมที่เจอหน้าหลวงพ่อหลวงพี่ทีไร ผมก็มักจะเกิดอาการกลัวผ้าเหลือง (ตามประสาคนบาปหนากิเลสแน่น) จนต้องรีบ “โกยเถอะโยม” ไว้ก่อน

เหมือนผมเดินสะเปะสะปะอยู่ดี ๆ พลันก็ได้พบและหลุดเข้าสู่อีกโลกหนึ่งอันน่าอัศจรรย์

ข้อเขียนของผมถัดจากนี้ไป จึงน่าจะแวะจอดป้ายอยู่ที่เรื่องจิตรกรรมฝาผนังไปอีกยืดยาวหลายตอน

ต้นสายปลายเหตุทั้งหมด เกิดขึ้นจากการที่ผมไปอ่านเจอบทความของท่านครู น. ณ ปากน้ำ กล่าวถึงเรื่องราวผลงานของสุดยอดจิตรกรไทยสองท่าน คือ ครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ ซึ่งได้วาดภาพแข่งกันจนเป็นที่เลื่องลือ

ศิลปินไทยแต่โบราณนั้น มุ่งสร้างสรรค์งานศิลปะเพื่อเป็นพุทธบูชา มากกว่าจะแสวงหาชื่อเสียงความสำเร็จเพื่อตนเอง จึงไม่มีธรรมเนียมเซ็นชื่อกำกับไว้ในผลงาน เพื่อป่าวประกาศแสดงตัวตนของศิลปิน

ในเบื้องต้นก็คงพอจะมีคนทราบอยู่บ้าง ว่าผลงานชิ้นไหนเป็นฝีมือของใคร เพราะบางท่านเป็นครูช่างที่มีชื่อเสียง จึงน่าจะได้รับการยกย่องกล่าวขวัญถึงกันแบบปากต่อปาก จนกาลเวลาผ่านพ้นข้ามรุ่นชั่วอายุคน เรื่องราวต่าง ๆ ก็ค่อย ๆ เลือนหาย เนื่องจากไม่ได้รับการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ท่านเหล่านี้จึงกลายเป็นศิลปินนิรนาม

อย่างไรก็ตาม ครูช่างฝีมือเยี่ยมหลายท่าน ยังคงเป็นที่โจษจันมาจนถึงปัจจุบัน เช่น พระอาจารย์นาคในสมัยรัชกาลที่ 1 ท่านขรัวอินโข่งในสมัยรัชกาลที่ 4 รวมทั้งครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ ซึ่งตำนานการวาดภาพประชันกันหลายครั้งหลายคราว บวกรวมกับฝีมืออันล้ำเลิศ มีส่วนทำให้ชื่อเสียงเรียงนามของท่านทั้งสอง ยังเป็นที่รู้จักตราบกระทั่งทุกวันนี้

ครูคงแป๊ะและครูทองอยู่เป็นจิตรกรเอกในสมัยรัชกาลที่ 3 ว่ากันว่าต่างเข้าขั้นสุดยอดช่างเขียนฝีมือดีระดับเจ้าสำนัก จนสามารถแตกแขนงแยกออกมาเป็นอีกต้นตำรับ “สกุลช่าง” ซึ่งมีลีลาแบบฉบับเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเด่นชัด มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย กระทั่งเกิดการเกทับ ขัดแย้ง เขม่นกันระหว่างทั้งสองฝ่าย จนศิษย์สำนักหนึ่ง ต่างไม่ยอมแสดงอาการไหว้เคารพครูอีกสำนัก และทำให้ครูทั้งสองต้องกลายมาเป็น “คู่แข่ง” กัน

ครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ ได้วาดภาพขับเคี่ยวดวลกันหลายต่อหลายวัดในละแวกฝั่งธน ฯ จนลือลั่นสะท้านไปทั่วทั้งวงการศิลปะยุคนั้น

คล้าย ๆ กับในหนัง “โหมโรง” นั่นแหละครับ เพียงแต่เปลี่ยนจากดนตรีไทยมาเป็นจิตรกรรมฝาผนัง โดยครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ ต่างเป็นพระเอกด้วยกันทั้งคู่

จริง ๆ แล้วในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกก็มีการประชันขันแข่งเช่นนี้เหมือนกัน และมีหลายครั้งหลายยุคสมัย แต่ที่เล่าสืบต่อกันมา กระทั่งฟังดูราวกับเทพนิยายก็คือ ในยุคกรีกโบราณ จิตรกรสองคนเขียนภาพแข่งกัน คนแรกวาดรูปเด็กถือพวงองุ่นชูเหนือหัว ขณะที่กรรมการและฝูงชนกำลังพินิจพิจารณาดูผลงาน นกตัวหนึ่งก็บินเข้ามาจิกพวงองุ่น เพราะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นของจริง ผู้ชมจึงต่างฮือฮาชื่นชมกันยกใหญ่ว่า วาดได้เหมือนจริง

กรรมการ ฝูงชนและกองเชียร์ จึงหันมาขอร้องให้ศิลปินอีกรายเปิดม่านที่คลุมภาพเขียนของตน แต่แล้วก็ได้รับคำตอบว่า ผ้าม่านที่คลุมภาพเขียนอยู่นั่นแหละ คือภาพวาดของเขา (ซึ่งวาดได้เหมือนจริงมากจนสามารถลวงตาผู้ชมให้เข้าใจผิด)

จิตรกรที่วาดภาพเด็กถือพวงองุ่นชื่อ ซีอูซีส ส่วนคนที่เขียนรูปม่านคลุมภาพวาดชื่อ พาร์ราซีอุส

ในแวดวงศิลปะไทย คงมีการประชันขันแข่งเช่นนี้เกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ แต่การขับเคี่ยวระหว่างครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ น่าจะเป็นกรณีที่โด่งดังเกรียวกราวมากสุด

อันที่จริงนั้น การปะทะฝีมือกันระหว่างครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ มีรายละเอียดค่อนข้างพร่าเลือน และทิ้งคำถามต่าง ๆ เอาไว้มากมายเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นประวัติชีวิตของท่านทั้งสอง, ช่วงเวลาอันแน่ชัดที่วาดภาพประชันกัน, รวมถึงบุคลิกนิสัยใจคอ ฯลฯ

เพราะความที่ร่องรอยหลักฐานเหลือปรากฎอยู่เพียงน้อยนิด ผมก็เลยรู้สึกว่า เรื่องของครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ ยิ่งมีเสน่ห์เย้ายวนใจอย่างน่าประหลาด เปิดโอกาสให้ใช้จินตนาการคาดเดาความน่าจะเป็นไปได้ต่าง ๆ นานา โดยเฉพาะการตีความบุคลิกนิสัยใจคอของสองท่านครู ผ่านทางภาพเขียนที่ยังพอมีให้เห็น

แรกเริ่มที่รู้เพียงเรื่องราวคร่าว ๆ ผมก็ถือวิสาสะต่อเติมแต่งนิยายเอาเองในหัว ว่าเหตุการณ์น่าจะเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ ยิ่งคิด ก็ยิ่งกระหายใคร่อยากจะเห็นภาพวาดฝีมือครูทั้งสอง

ทำไปทำมา ผมก็เกิดอาการหลงใหลผลงานของครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ ตั้งแต่ยังไม่ทันได้เห็นทั้งภาพถ่ายหรือของจริง (และถึงขั้นเก็บเอาไปฝันเป็นตุเป็นตะ)

ถัดจากนั้น ผมก็เริ่มเสาะหาหนังสือเกี่ยวกับจิตรกรรมไทยมาอ่าน และได้มีโอกาสผ่านตาภาพถ่ายผลงานของครูคงแป๊ะกับครูทองอยู่ กระทั่งจดจำได้ขึ้นใจ (ถึงตรงนี้ ผมก็นั่งดูรูปในหนังสือ จนเก็บไปฝันอีกระลอก)

เรื่องราวการวาดภาพประชันกันระหว่างยอดครูทั้งสองท่านนั้น เท่าที่ผมอ่านพบต่อ ๆ มา ครูทองอยู่เป็นฝ่ายมีอายุมากกว่า แต่ประวัติชีวิตทั้งหมดของท่านนั้น ปราศจากรายละเอียดใด ๆ ให้ล่วงรู้

ครูทองอยู่ (หรือ “หลวงวิจิตรเจษฏา”) เป็นจิตรกรที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคนั้น (สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นช่วงต้นรัชกาลที่ 3)

จากราชทินนาม รวมทั้งลีลาที่สะท้อนไว้ในภาพวาด อาจตีความได้คร่าว ๆ ว่า ครูทองอยู่นั้นเป็นคนสุขุมลุ่มลึก อารมณ์เยือกเย็น รสนิยมประณีต และเป็นช่างเขียนที่เคร่งครัดต่อจารีตแบบแผนสืบทอดตามรุ่นครูแต่ครั้งสมัยอยุธยา

ส่วนเรื่องราวของครูคงแป๊ะหรือหลวงเสนีย์บริรักษ์ มีเกร็ดตำนานหลงเหลือให้รับทราบมากกว่า ครูคงแป๊ะมีเชื้อสายจีน เป็นคนมีนิสัยมุทะลุ โมโหร้าย อ่อนไหว (พูดง่าย ๆ คือ เต็มไปด้วยอารมณ์ศิลปิน) และเป็นช่างเขียนที่เห็นได้เด่นชัดว่า ไฟแรง ร่ำรวยความคิดสร้างสรรค์

งานของครูทองอยู่จึงเป็นหนึ่งไม่มีสองในทางสวยประณีตวิจิตร ส่วนครูคงแป๊ะเป็นเลิศในลีลาโลดโผน แตกต่างตรงข้ามกันเหมือนหนังชีวิตกับหนังแอ็คชัน

ตามประวัตินั้น ครูคงแป๊ะเคยก่อเหตุทะเลาะวิวาทบ่อยครั้ง คราวหนึ่งถึงขั้นพลั้งมือทำร้ายคู่อริจนเสียชีวิต และได้รับการไตร่สวนโดยทางการ ตัดสินลงโทษสถานหนัก (เท่าที่ผมอ่านเจอ ข้อมูลยังไม่ลงรอยกัน บางแห่งกล่าวว่าติดคุกคลอดชีวิต บางแห่งระบุว่ามีคำสั่งให้ประหาร)

ครูคงแป๊ะรอดพ้นจากวิบากกรรมดังกล่าว ด้วยพระบารมีของสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ยกโทษพระราชทานให้ ตรัสว่าช่างฝีมือยอดเยี่ยมอย่างคงแป๊ะนี้หายาก และกรณีที่กระทำผิดไปนั้นก็คงไม่เจตนา หรือเป็นด้วยสันดานอำมหิตโดยตรง คงจะลืมตัวไปชั่วขณะหนึ่งเสียมากกว่า

ครูคงแป๊ะมีอายุยืนยาวมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 และทราบว่าต่อมา (ซึ่งไม่ระบุแน่ชัดว่าเมื่อไร) ท่านได้บวชเป็นพระ ซึ่งมีข้อสันนิษฐานคร่าว ๆ ว่า อาจบวชหลังจากได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว

ตรงนี้ผมก็จินตนาการฟุ้งซ่านเล่น ๆ ว่า ถ้าจะให้เกิดผลในเชิงสะเทือนอารมณ์ซาบซึ้งจับใจยิ่งขึ้น ช่วงเวลาที่ครูคงแป๊ะควรจะบวช น่าจะเป็นตอนที่สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต หรือเมื่อครูทองอยู่ซึ่งเป็นคู่แข่งฝีมือทัดเทียมกันถึงแก่กรรม (ผมคิดเล่น ๆ แบบหนังหรือนิยาย ไม่ได้คำนึงถึงหลักฐานความถูกต้องใด ๆ ทั้งสิ้น)

ประการหลังนี่มีความเป็นไปได้นะครับ เนื่องจากเชื่อกันว่า ในความเป็นคู่แข่งเชือดเฉือนขับเคี่ยวมายาวนาน และภายนอกดูเสมือนว่าทั้งคู่จะ “ไม่กินเส้น” ลึก ๆ แล้วท่านครูทั้งสอง น่าจะเคารพนับถือชื่นชมในผลงานของอีกฝ่าย และรู้สึกผูกพันต่อกันในด้านบวก

ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดบางยี่ขัน มีผลงานที่ผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ลงความเห็นว่า น่าจะใช่ฝีมือของครูทองอยู่ เป็นภาพวาดชาดกเรื่องเนมีราช ท่ามกลางหมู่เทวดาเหาะเหิน มีเทวดาจีนไว้ผมเปียแปลกปลอมไม่เข้าพวกปะปนอยู่ด้วย

ท่านครู น. ณ ปากน้ำ สันนิษฐานว่า ภาพเทวดาจีนดังกล่าว อาจเป็นไปได้ว่า ครูทองอยู่ตั้งใจวาดขึ้นเพื่อล้อเลียนครูคงแป๊ะ

ถ้าหากเป็นจริงตามที่ท่านครู น. ณ ปากน้ำ ลงความเห็นเอาไว้ ภาพดังกล่าวก็เป็นการล้อเลียนที่ไม่ได้ “อำ” กันให้อีกฝ่ายเสียหาย แต่เหมือนกึ่งหยอกกึ่งยกย่อง ผมคิดว่าฝ่ายครูคงแป๊ะเองมาเห็นเข้าก็น่าจะยิ้มและรู้สึกพึงพอใจ

ครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ วาดภาพจิตรกรรมฝาผนังประชันกันไว้หลายแห่ง และมักจะเขียนภาพในตำแหน่งผนังอยู่ติดเคียงข้างกัน เช่น ที่พระอุโบสถวัดอรุณ ซึ่งทั้งคู่เขียนเรื่องพระมโหสถเรื่องเดียวกัน (แต่เป็นเหตุการณ์คนละตอน) ครูทองอยู่เขียนตอนชักรอกเตี้ยค่อม ส่วนครูคงแป๊ะเขียนตอนห้องอันวิจิตรสวยงามในอุโมงค์ที่พระมโหสถสร้างไว้ลวงข้าศึก น่าเสียดายว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เกิดไฟไหม้พระอุโบสถ จนทำให้ภาพทั้งสองเสียหายหมด

พ้นจากนี้แล้ว ครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ยังได้ประชันฝีมือกันอีกที่วัดบางยี่ขัน และวัดสุวรรณาราม ซึ่งผลงานภาพวาดยังคงมีปรากฎให้เห็นถึงปัจจุบัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่วัดสุวรรณาราม นอกจากครูทั้งสองจะ “ปล่อยของ” อวดความสามารถกันแบบทุ่มกายถวายชีวิตวาดขึ้นแล้ว ภาพอื่น ๆ ที่เหลือในพระอุโบสถ ก็ล้วนเป็นงานฝีมือชั้นเทพระดับ “ชุมนุมมังกรซ่อนพยัคฆ์” ทั้งสิ้น

จิตรกรรมฝาผนังในสมัยรัตนโกสินทร์นั้น รุ่งเรืองบรรลุสู่ขั้นสุดยอดในรัชกาลที่ 3 และในบรรดาผลงานทั้งหมดที่สร้างขึ้นยุคนี้ ภาพวาดในพระอุโบสถ วัดสุวรรณาราม ริมคลองบางกอกน้อย ได้รับการยกย่องให้เป็นที่สุด หลงเหลือเป็นมรดกตกทอดอันล้ำค่ามาถึงปัจจุบัน ในสภาพที่ถือกันว่า ค่อนข้างสมบูรณ์กว่าที่อื่นใด

พูดภาษาฝรั่งสักหน่อยก็คือ เป็นทั้งมาสเตอร์พีซและไฮไลท์ทางด้านจิตรกรรมฝาผนังของไทย

ยิ่งมาทราบรายละเอียดเกี่ยวกับกรรมวิธีการวาด ซึ่งเต็มไปด้วยขั้นตอนซับซ้อนยุ่งยากพิสดาร และได้เห็นตัวผลงานของจริงกับตาตัวเอง ผมก็ยิ่งรู้สึกเหมือนได้อ่านนิยายจีนกำลังภายใน ว่าด้วยสองสุดยอดเซียนกระบี่ท้าประลองฝีมือพิสูจน์วิทยายุทธ์

วินาทีแรกสุดที่ได้เห็นภาพวาดของจริงจากปลายพู่กันของครูทั้งสอง ผมถึงขั้นขนแขนสแตนด์อัพลุกซู่ด้วยความปลาบปลื้มดีใจ และรู้สึกเป็นบุญตามหาศาล

เราจะชื่นชมดื่มด่ำกับภาพเหล่านี้กันอย่างละเอียด ในครั้งต่อ ๆ ไปนะครับ





(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรก 20 ธันวาคม 2551 ในคอลัมน์ "เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ")