วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

เมกะโปรเจ็กต์ โดย "นรา"


นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2551 เป็นต้นมา ความสนใจและรสนิยมความชอบของผมก็ข้ามฟาก เปลี่ยนจากเดิม ราวกับเป็นคนละคน กำลังดูหนังฝรั่ง ฟังเพลงร็อคช่วงทศวรรษ 1970 อ่านวรรณกรรมแปลหลากสัญชาติอยู่เพลิน ๆ

จู่ ๆ ทันใดนั้นเอง ความเป็นไทยก็หล่นใส่หัวดังโครม ทำให้ผมหันมาบ้าดูจิตรกรรมฝาผนัง

ต้นสายปลายเหตุ เริ่มจากผมไปอ่านพบบทความชิ้นหนึ่งของท่านครู น. ณ ปากน้ำ กล่าวถึง การวาดภาพประชันฝีมือกันระหว่างครูทองอยู่ (หลวงวิจิตรเจษฏา) และครูคงแป๊ะ (หลวงเสนีย์บริรักษ์) ที่วัดสุวรรณาราม และอีกหลาย ๆ แห่ง

ตอนนั้นผมรู้สึกแค่ว่า เรื่องนี้สนุกดี น่าจะนำมาเขียนเป็นบทความเล่าสู่กันฟังอีกทอด

แต่ปัญหาก็คือ เรื่องราวของครูช่างทั้งสองท่านนี้ มีการบันทึกประวัติชีวิตเป็นลายลักษณ์อักษรเอาไว้เพียงน้อยนิด พ้นจากที่ต่างก็เป็นยอดจิตรกรผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยรัชกาลที่ 3 และเป็นคู่แข่งคู่ปรับกันเองแล้ว เรื่องราวและรายละเอียดอื่น ๆ ที่เหลือก็กล่าวได้ว่า ว่างเปล่า และจุด...จุด...จุด... ไม่มีข้อความใด ๆ เจือปน

ผมจำได้ลาง ๆ ว่า เคยผ่านตาหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ “ครูคงแป๊ะและครูทองอยู่” ของสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ซึ่งน่าจะสร้างความกระจ่างเพิ่มเติมขึ้นมาได้บ้าง จึงออกตระเวนค้นหาตามร้านขายหนังสือเก่าทุกแห่งเท่าที่รู้จัก ไม่ว่าจะเป็นแถวตลาดนัดสวนจตุจักร, แยกลำสาลี, ปากทางลาดพร้าว รวมทั้งร้าน “ริมขอบฟ้า” ละแวกอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นแหล่งที่มีผลงานเกี่ยวกับโบราณคดี, ประวัติศาสตร์ และศิลปะไทยเยอะแยะมากสุดแห่งหนึ่ง

ผลก็คือ หาไม่เจอหรอกนะครับ หนังสือเล่มนั้นพิมพ์จำหน่ายและวายจากตลาดไปนานแล้ว

ผมก็เลยใช้มาตรการขั้นถัดมา คือ หวนคืนสู่วงการ “เข้าห้องสมุด”

ย้อนหลังไปเมื่อครั้งยังไม่มีอินเตอร์เน็ต ผมได้ชื่อว่าเป็นพวกเสพติดการเข้าห้องสมุดอยู่เหมือนกัน มาเลิกร้างห่างหายไป ก็เพราะห้องสมุดตามสถาบันการศึกษาต่างๆ นั้น ถ้าไม่ได้เป็นศิษย์เก่าหรือนักศึกษาในปัจจุบันแล้ว ก็จะได้รับเกียรติเป็น “บุคคลภายนอก” ซึ่งมีสิทธิพิเศษหลายประการ ทั้งเข้ายาก, ไม่มีสิทธิยืม และอาจจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเข้าใช้บริการ ฯลฯ

ประกอบกับงานเขียนในระยะหลัง ๆ ของผม ไม่ค่อยเน้นไปที่ “ข้อมูล” มากนัก กิจธุระอันจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยห้องสมุดจึงค่อย ๆ น้อยลง ติดขัดอะไรก็ใช้วิธีค้นทางอินเตอร์เน็ต ส่วนวรรณกรรม นิยาย เรื่องสั้น ผมก็ซื้อกักตุนเอาไว้เยอะ จนคาดว่าใช้เวลาอีก 20 ปีก็อ่านหนังสือที่มีอยู่ได้ไม่จบครบทุกเล่ม

อย่างไรก็ตาม ตอนที่อยากจะสืบเสาะหารายละเอียดเกี่ยวกับครูทองอยู่และครูทองแป๊ะ ผมก็ตระหนักได้ทันทีว่า ไม่มีวิธีไหนดีไปกว่า การเข้าห้องสมุดอีกแล้ว
ห้องสมุดที่เก็บรวบรวมหนังสืออันเหมาะและตรงกับความอยากรู้อยากเห็นของผมมากสุด ก็คือ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ

เมื่อไปที่ห้องสมุด (ซึ่งตอนนี้ผมกลายเป็นขาประจำของที่นั่นเรียบร้อยแล้ว และขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ ตลอดจนร้านถ่ายเอกสารในนั้น สำหรับการอำนวยความสะดวกมากมาย) ก็ได้เจอหนังสือเล่มที่ค้นหาสมดังตั้งใจ

หนังสือ “ครูคงแป๊ะและครูทองอยู่” ไม่ได้ช่วยคลี่คลายให้ความกระจ่างเกี่ยวกับประวัติชีวิตครูช่างทั้งสองท่านหรอกนะครับ เคยมืดมนสงสัยมาอย่างไร ก็ยังคงไว้ซึ่งปริศนาเดิม ๆ ทุกประการ แต่สิ่งหนึ่งซึ่งน่าตื่นเต้นมากก็คือ แพรวพราวไปด้วยรูปถ่ายงานจิตรกรรมฝาผนัง ฝีมือของสองครูผู้ยิ่งใหญ่ (เท่าที่ยังเหลือปรากฎมาจนถึงปัจจุบัน) พร้อมทั้งคำอธิบายประกอบ

ผมก็เลยซีร็อกซ์สีภาพเด่น ๆ มาดูเล่น รวมทั้งส่วนที่เป็นเนื้อหาคำอธิบาย เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนจะหาโอกาสไปดูของจริงที่วัดสุวรรณาราม

และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเที่ยว ผมก็ถือโอกาสถ่ายสำเนาหนังสืออีกหลายเล่ม ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนัง ทั้งในแง่ประวัติความเป็นมา, การวิเคราะห์ตีความในเชิงสัญลักษณ์, ลำดับสถานจิตรกรรมแหล่งสำคัญ ๆ ทั่วประเทศ ฯลฯ

ระหว่างนั่ง ๆ นอน ๆ อ่านและดูรูปภาพเพื่อ “ทำการบ้าน” นั้นเอง ผมก็เดาเรื่อยเปื่อยจินตนาการไปต่าง ๆ นานา เกี่ยวกับประวัติชีวิตของครูทองอยู่และครูคงแป๊ะ, การขับเคี่ยวประลองฝีมือระหว่างทั้งสองท่าน

มารู้ตัวอีกที สิ่งที่ผมทำลงไป ก็เหมือนกับกำลังคิดพล็อตหนังหรือนิยายนั่นเอง

ตอนนี้นี่แหละครับ ที่ในหัวของผมเริ่มเกิดเชื้อก่อตัว “คิดการใหญ่” ขึ้นมา

ผมอยากเขียนนิยายเกี่ยวกับครูช่างทั้งสองท่านนะครับ

ชั้นต้นก็ยังคงเป็นเพียงความคิดแบ่งรับแบ่งสู้ ไม่จริงจังอะไรมากนัก เพราะผมตระหนักดีอยู่แก่ใจว่า “ยาก” เกินสติกำลังและความสามารถ

นี่ยังไม่นับรวมว่า ผมปราศจากความรู้ห้อมล้อมทุกด้านโดยสิ้นเชิง ลำพังแค่เรื่องเกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนังก็โง่สนิทแล้วล่ะ แง่มุมอื่น ๆ ที่เหลือ อย่างเช่น เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์, รายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น, สำนวนภาษาของยุคสมัยนั้นฯลฯ ล้วนกล่าวได้ว่า เป็นเรื่องไกลตัวสุดกู่
แค่คิดเล่น ๆ ฝันเล่น ๆ นะครับ แต่ยังขยาดหวาดหวั่นอยู่ไม่กล้าลงมือเอาจริง

จนกระทั่งผมมีโอกาสได้เห็นภาพวาดฝีมือครูทองอยู่และครูคงแป๊ะ “ของจริง” นอกจากจะตื่นตะลึงด้วยความสวยงามในระดับน่าอัศจรรย์แล้ว บรรยากาศในพระอุโบสถ ก็มีมนต์ขลังอันพิเศษชนิดหนึ่ง ซึ่งยากจะบรรยาย โดยเฉพาะเมื่อมองผ่านสายตาไปเห็น ผลงานของครูช่างทั้งสอง ตั้งเรียงเคียงข้างติดกัน

เห็นแล้วผมก็ยิ่งอยากเขียนนิยาย แม้จะยังไม่ถึงกับตัดสินใจขั้นเด็ดขาดเป็นมั่นเป็นเหมาะ แต่ผมก็ทดลอง เริ่มต้นดำเนินการ “หาข้อมูล”

ตอนนี้นี่เอง ที่ทำให้ผมหลงใหลการดูจิตรกรรมฝาผนังอย่างจริงจัง จนแตกแขนงกลายเป็นอีกโปรเจ็กต์ นั่นคือ เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ เป็นซีรีส์ยืดยาว (อย่างน้อยที่สุด ก็คงจะได้เป็นพ็อคเก็ตบุคหนึ่งเล่ม)

ผ่านไปสามเดือนกว่า ๆ ความคืบหน้าก็คือ ตอนนี้มีหนังสือและเอกสาร ซึ่งผมซื้อหามาบ้างส่วนหนึ่ง ซีร็อกซ์จากห้องสมุดอีกส่วนหนึ่ง วางกองเรียงรายอยู่เต็มบ้าน ราว ๆ 200 เล่ม หมดเงินไปก้อนใหญ่จนบางครั้งก็รู้สึกใจหาย

ผมยังไม่ได้เริ่มต้นตะลุยอ่านอย่างจริงจังมากนัก ยังอยู่ในระหว่างเล็ม ๆ เลียบ ๆ เคียง ๆ แต่เพียงเท่านี้ก็ทำให้เกิดภาวะ “บานปลาย” คือ หยิบอ่านเล่มหนึ่ง ทำให้เจอะเจอรายชื่อหนังสือที่ควรเสาะหาเพิ่มเติมมาได้อีกนับสิบ

จากหัวข้อแรกเริ่มคือ เนื้อหาจำเพาะเจาะจงอยู่ที่จิตรกรรมฝาผนังเพียงอย่างเดียว ล่าสุดได้แพร่ลามข้ามแดนไปสู่ประเด็นหัวข้ออื่น ๆ จนกล่าวได้ว่า “กู่ไม่กลับ”
กล่าวคือ มีทั้งวิทยานิพนธ์, พระราชพงศาวดาร, งานวิจัย, นิยายอิงประวัติศาสตร์, จดหมายเหตุ, สารานุกรรมวัฒนธรรม, ตำรับตำราซึ่งครอบคลุมเนื้อหาหลาย ๆ แง่มุม (เช่น เรื่องนาฏศิลป์, พระพุทธประวัติ, ชาดก, ละคร, หุ่นไทย, ดนตรีไทย ฯลฯ)

ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากขั้นตอน “ค้นข้อมูล” ทำให้ผมไม่ได้บ้าแค่จิตรกรรมฝาผนังเท่านั้นนะครับ แต่ตอนนี้ยังกินแดนไปสู่ การพกพาเด็กชายพี่หมีไปดูโขน, เริ่มตระเวนเสาะหาซีดีเพลงไทยมาฟัง, หลงใหลสนใจทุกอย่างอันเกี่ยวกับเรื่องไทย ๆ ในอดีต ฯลฯ

เพื่อนหลายคนถึงขั้นทำนายทายทักว่า เหลืออีกสองอย่างเท่านั้นแหละที่ผมยังไม่ได้ทำ นั่นคือ นั่งถือแว่นขยายส่องดูพระเครื่องริมถนนแถว ๆ ท่าพระจันทร์ และเข้าสู่วงการ “เคี้ยวหมาก”

นับจากปฏิบัติการไล่ล่าหาข้อมูลเรื่อยมา โครงการเขียนนิยายของผม ก็ยังอยู่ในภาวะสองจิตสองใจ ไม่ฟันธงลงไปแน่ชัดว่า จะ “ลุย” หรือจะ “ล้ม” ดีหว่า

อารมณ์ทั้งสองอย่างนั้น เกิดขึ้นสลับกันไปมาอยู่ตลอดเวลา บ่อยครั้งเมื่อพบว่า การหาข้อมูลติดขัดชะงักงัน ผมก็นึกงอแงขึ้นมาเหมือนกันว่า ไม่ทงไม่ทำมันแล้ว แต่บางคราวที่เจอะเจอหนังสือหรือข้อมูลบางอย่างน่าสนใจ และ “เข้าทาง” สามารถนำมาใช้งานได้ ผมก็คิดในทางตรงกันข้าม รู้สึกคึกคักฮึกเหิม

เรื่องก็เลยคาราคาซัง ทำท่าร่อแร่สลับกับรุ่งอยู่เรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ระหว่างที่กำลังรู้สึก “เซ็งห่าน”โครงการสวยหรูของผมมีแนวโน้มสูงยิ่งว่าริบหรี่ใกล้มอดดับ หมดงบประมาณไปเยอะ, ข้อมูลที่ได้มากองเบ้อเริ่มเทิ่ม เทียบเท่ากับสิ่งที่จำเป็นต้องศึกษาค้นคว้าและยังขาดแคลนอยู่ ก็เหมือนถมดินจำนวนแค่หยิบมือลงไปในบึงน้ำอันกว้างใหญ่

นี่ยังไม่นับรวมข้อจำกัดเรื่องเวลาของผมเอง ซึ่งยังต้องเจียดแบ่งให้กับการดูหนัง เพื่อเขียนบทความยังชีพ, ทุนรอนงบประมาณอันน้อยนิด (ผมดันเลือกสนใจในหัวข้อประเด็นที่หนังสือหนังหาค่อนข้างมีราคาสูงอยู่สักหน่อย), อุปสรรคหลาย ๆ อย่าง ซึ่งยังไม่เห็นวี่แววหรือช่องทางเป็นไปได้ (เช่น การหาโอกาสไปดูช่างเขียนวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังตามโบสถ์จริง ๆ แบบตัวเป็น ๆ, พูดคุยกับผู้รู้ทางด้านศิลปะไทย, ดนตรีไทยฯลฯ) รวมถึงความกึ่งยากกึ่งสะดวกในการไปรบกวนขอกุญแจไขประตูพระอุโบสถจากพระสงฆ์ตามวัดหลาย ๆ แห่ง ฯลฯ

ในวันที่ผมกำลังคอตกอกหักกับอภิมหาโครงการ ระหว่างเดินเรื่อยเปื่อยแถว ๆ ถนนด้านหลังวัดกัลยาณมิตร ตามรายทางนั้นเอง ข้อมูลต่าง ๆ ก็วิ่งมาชนผมดังโครม ผ่านวัด-ที่เล็งไว้ในแต่แรกว่าจะต้องดั้นด้นค้นหา เพื่อดูงานจิตรกรรม-โดยบังเอิญ, ผ่านบ้านพาทยโกศล ซึ่งมีป้ายของกทม. บอกเล่าประวัติความสำคัญคร่าว ๆ (จนทำให้ผมได้รู้จักชื่อของท่านครูจางวางทั่ว พาทยโกศลเป็นครั้งแรก และที่ฟลุคมากก็คือ เย็นวันนั้นเมื่อกลับถึงบ้าน หยิบสุ่ม ๆ หนังสือเล่มหนึ่งที่วางกองอยู่ ก็พบบทความว่าด้วยประวัติชีวิตของนักดนตรีไทยผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้โดยบังเอิญ)

เรื่องของท่านครูจางวางทั่ว ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับโครงการเขียนนิยายของผมหรอกนะครับ แต่อ่านแล้วผมก็ได้วัตถุดิบสำหรับเขียนบทความเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งชิ้น ได้สดับรับรู้เรื่องราวที่สนุกน่าประทับใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเรื่องของท่านครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ซึ่งกลายเป็นต้นตอแรงบันดาลใจให้เกิดเป็นหนัง “โหมโรง”
ที่สำคัญ นี่เป็นร่องรอยเบาะแสอีกทาง ในการที่จะซอกแซกเลี้ยวเลาะเข้าไปสืบค้นเรื่องเกี่ยวกับดนตรีไทย อันเป็นข้อมูลเบื้องต้นอีกส่วนหนึ่งสำหรับเม็กกะโปรเจ็กต์ของผม

พูดให้ดูเป็นเรื่องโชคลางอภินิหารสักหน่อย ระหว่างออกตระเวนค้นข้อมูล ผมนั่งรถเมล์ผ่านบริเวณ ลานพลับพลาเจษฎามหาบดินทร์ เชิงสะพานผ่านฟ้าอยู่หลายครั้ง ผ่านทีไรก็ต้องยกมือไหว้พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมกะโปรเจ็กต์ของผม เกี่ยวพันกับพระองค์ท่านอยู่มาก ด้วยยุคสมัยช่วงเวลาตามท้องเรื่อง จนอาจกล่าวได้ว่า นอกเหนือจากเรื่องรายละเอียดในการสร้างงานจิตรกรรมฝาผนังและชีวิตของครูช่างแล้ว สภาพสังคมไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 ก็จะเป็นอีกองค์ประกอบหลักที่สำคัญไม่แพ้กัน

อาจเป็นอุปาทานคิดไปเอง แต่ผมก็ยินดีและเต็มใจเชื่อ หลังจากไหว้พระองค์ท่าน แอบขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลแล้ว หลายสิ่งหลายอย่างที่เคยติดขัดก็พลันลื่นไหล ข้อมูลวิ่งเข้าหาอีกหลายระลอก

ถึงขั้นนี้ ผมก็ตัดสินใจเดินหน้าเต็มตัว และตรงดิ่งไปที่วัดราชโอรส ริมคลองด่าน เพื่อไหว้และบอกกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ เพื่อป่าวประกาศเริ่มต้นการเขียนนิยายอย่างเป็นทางการ คล้าย ๆ กับพิธีบวงสรวงก่อนเปิดกล้องของวงการหนังไทย

เมกะโปรเจ็กต์ของผม ยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววันหรอกนะครับ ผมกำหนดไว้แล้วว่า จะใช้เวลาถัดจากนี้อีก 5 ปี สำหรับการค้นคว้าหาข้อมูล

ครบ 5 ปีเมื่อไร หากปรากฎข้อมูลชนิดได้น้ำได้เนื้อเพียงพอ และยังกระตือรือล้นสนใจ โดยไม่เบื่อหน่ายไปเสียก่อน ถึงตอนนั้นก็คงจะได้เริ่มต้นลงมือเขียน
หากครบ 5 ปีแล้ว ข้อมูลยังกระพร่องกระแพร่งแหว่งวิ่น หรือผมหันเหไปสนใจเรื่องอื่น ๆ (อันเป็นนิสัยถาวรของผม ซึ่งเห่อและเบื่ออะไรเป็นพัก ๆ ไม่ค่อยคงทนถาวร) นิยายเรื่องนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ผมสามารถยืนยันได้แน่ ๆ คือ ระหว่างเตรียมตัวในขั้นพรีโพรดักชัน ค้นข้อมูลอะไรต่อมิอะไรต่าง ๆ ผมเจอะเจอวัตถุดิบเรื่องราวที่น่าสนใจเยอะแยะเต็มไปหมด

ชนิดที่ว่า สามารถเขียนบทความให้อ่านกันได้ตลอดทั้งปี โดยไม่อับจนประเด็นเลยทีเดียว

นี่เป็นสาเหตุใหญ่ ซึ่งทำให้ข้อเขียนระยะหลัง ๆ ของผม หนักมาทางประเด็นศิลปวัฒนธรรมย้อนอดีต

เพื่อที่จะเขียนนิยาย ผมก็เลยต้องสืบเสาะค้นหาข้อมูลเรื่องราวเก่า ๆ ทำไปทำมาก็ส่งผลครอบคลุมไปถึงรสนิยมการใช้ชีวิตไปโดยปริยาย

เข้าวัดเข้าวา ดูของเก่า ๆ ฟังเพลงไทยเดิม อ่านเรื่องย้อนยุค จะให้ผมเขียนอะไรอยู่ในกระแสอินเทรนด์ก็เห็นจะลำบาก

จริง ๆ แล้ว การทำงานในลักษณะคิดการใหญ่ใด ๆ ก็ตาม สมควรอุบเงียบ ไม่ต้องป่าวประกาศโพนทะนาให้ใครล่วงรู้ จะได้ไม่ต้องมาอับอายขายหน้าในภายหลัง เมื่อมันล้มเหลวไม่เกิดขึ้นจริง
แต่ผมนำมาเล่าสู่กันฟังก็เพราะเริ่มเหนื่อยนะครับ

คือ ช่วงหลัง ๆ ผมเจอคำถามเยอะ ว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมจึงหมกมุ่นเขียนถึงแต่เรื่องจิตรกรรมฝาผนัง

มีคำถามเกิดขึ้นทีไร ก็ต้องเสียเวลาอธิบายยืดยาว จนเมื่อยปากเจ็บคอร่ำไป ผมก็เลยคิดว่า น่าจะเขียนบอกกล่าวเอาไว้ให้เป็นกิจจะลักษณะ

แม้ว่าญาติโยมใกล้ตัวที่ไต่ถามเรื่องเหล่านี้ จะไม่ค่อยได้เข้ามาอ่านในบล็อกของผมสักเท่าไร

ผมก็เลยเขียนไว้ แล้ว print ออกมาหนึ่งชุด เพื่อพกติดตัว ใครสงสัยหรือไต่ถาม ก็จะได้ยื่นให้อ่านเอาเอง

ลืมบอกนะครับ เหตุผลที่ผมระบุจำเพาะเจาะจงว่า ต้องเอาฤกษ์เอาชัย ณ วัดราชโอรส ก็เป็นอีกเรื่องราวหนึ่ง ซึ่งจะเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อ ๆ ไป






(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกที่นี่ 24 กุมภาพันธ์ 2552 ภาพประกอบเป็นบริเวณภายในพระอุโบสถ วัดราชโอรส วันที่ผมไปนั้นประตูโบสถ์ปิด แต่หน้าต่างเปิดทิ้งไว้ จึงถือวิสาสะถ่ายจากด้านนอก ผ่านลูกกรงเหล็กดัด จับภาพได้เต็มที่เท่านี้แหละครับ)









วันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

วิ่งม้าแก้บน โดย "นรา"


ยังจำฉากจบของเรื่อง “คู่กรรม” กันได้มั้ยครับ? ตอนที่ฝรั่งขี่เรือบินมาหย่อนระเบิดทิ้งบอมบ์แถว ๆ สถานีรถไฟและคลองบางกอกน้อย จนเป็นเหตุให้โกโบริซังต้องเสียชีวิต

ประเพณีเวียนกระทงที่วัดสุวรรณาราม ก็เริ่มต้นเกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ช่วงเดียวกันนี้ กล่าวคือ บริเวณชุมชนบ้านบุ หรือละแวกใกล้ ๆ ปากคลองบางกอกน้อย เป็นจุดหนึ่งที่ระเบิดลงชุกชุม บ้านเรือนได้รับความเสียหายยับเยิน ผู้คนบาดเจ็บล้มตาย คนที่ยังอยู่ก็เสียขวัญหวาดผวา จนกระทั่งต้องลี้ภัยชั่วคราว ไปพำนักอาศัยตามสวนซึ่งล่วงลึกเข้าสู่ลำคลองตอนใน

ครั้งที่หนักหน่วงสุด มีคนตายในคราวเดียวร่วมสิบกว่าคน บ้านเรือนพังพินาศไปเยอะ โดยเฉพาะบริเวณด้านหลังตลาดที่อยู่ถัดจากวัดไม่ไกลนัก ยังมีร่องรอยปรากฎเป็นหลุมมาจนถึงทุกวันนี้ เรียกกันว่า “บ่อระเบิด” อยู่ติดไปทางรถไฟหรือทางบ้านเนิน (อันนี้ผมอ่านเจอจากวิทยานิพนธ์เรื่อง “คติความเชื่อเรื่องมหาชาติชาดก:การเปลี่ยนแปลงและการสืบเนื่องสะท้อนจากภาพจิตรกรรมฝาผนัง กรณีศึกษาเฉพาะภาพจิตรกรรมฝาผนัง ในพระอุโบสถวัดสุวรรณาราม คลองบางกอกน้อย” โดย แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย ซึ่งในบทความคราวที่แล้ว ผมถือวิสาสะอ้างอิงข้อมูลจากวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้เอาไว้เยอะพอสมควร จึงสมควรกล่าวถึงเพื่อให้เครดิตและแสดงความขอบคุณไว้ด้วย)

ครั้นเมื่อสงครามสิ้นสุด จึงค่อยโยกย้ายกลับมายังถิ่นเดิม และเพื่อเป็นการเยียวยาสร้างขวัญกำลังใจ ชาวบ้านจึงจัดพิธีเวียนเทียนสู่ขวัญต่อหลวงพ่อพระศาสดา (พระประธานในโบสถ์ วัดสุวรรณาราม) ซึ่งทั้งองค์พระและบริเวณวัดไม่เพียงแต่จะรอดพ้นอันตรายจากระเบิดเท่านั้น ทว่าชาวบ้านยังถือว่า บารมีของท่านได้ช่วยปกป้องคุ้มกันผู้คนที่ไปอาศัยหลบในพระอุโบสถยามคับขันจวนตัวให้แคล้วคลาดปลอดภัยด้วย

ครั้งนั้นการเวียนเทียนสู่ขวัญหลวงพ่อ ตรงกับช่วงหน้าน้ำและเทศกาลพอดี พิธีจึงจบลงด้วยการลอยกระทงที่คลองบางกอกน้อยหน้าวัด และกลายเป็นประเพณีสืบทอดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งงานเวียนกระทงและการวิ่งม้าแก้บน ล้วนมีความเกี่ยวข้องผูกพันกับหลวงพ่อพระศาสดา

หลวงพ่อพระศาสดาเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสำริด ปางมารวิชัยขนาดใหญ่ สูง 8 ศอก 1 คืบ 8 นิ้ว หน้าตักกว้าง 6 ศอก 1 คืบ ลักษณะอ่อนช้อยงดงามมาก

มีสองสมมติฐานเกี่ยวกับความเป็นมาของท่าน

อย่างแรกบันทึกไว้ในหนังสือประวัติของทางวัด โดยเชื่อกันว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงโปรดให้หล่อขึ้นเพื่อเป็นพระประธานในอุโบสถ เมื่อครั้งสถาปนาวัดขึ้นมาใหม่

อีกทางหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานไว้ว่า พระพุทธรูปองค์นี้ไม่ปรากฎเรื่องราวความเป็นมา แต่พิจารณาจากลักษณะแล้ว เห็นว่าเป็นฝีมือเดียวกับช่างที่หล่อพระศรีศากยมุนี ซึ่งอัญเชิญมาจากสุโขทัยครั้งแผ่นดินรัชกาลที่ 1 จึงเป็นไปได้ที่น่าจะเชิญพระศาสดามาด้วยในคราวเดียวกัน

เพราะความที่ไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ และรูปลักษณ์ละม้ายใกล้เคียงกับพระศรีศาสดา (ซึ่งอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศพร้อมกับพระพุทธชินสีห์) จึงเรียกขานสืบต่อกันมาว่า “พระศาสดา” โดยเติมคำว่า “หลวงพ่อ” ไว้ข้างหน้าเพื่อความใกล้ชิด

หลวงพ่อพระศาสดาเป็นเสมือนศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านบุ นับถือกันว่าท่านคอยปกป้องให้ทุกคนอยู่เย็นเป็นสุข และช่วยดลบันดาลประทานพรให้แก่ผู้คนที่มาบนบานศาลกล่าว

ถึงตรงนี้ ผมก็ควรจะต้องเล่าเกี่ยวกับชุมชนบ้านบุ ซึ่งเป็นแหล่งย่านหัตถกรรมเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงทางด้านผลิตขันลงหิน อันเป็นงานฝีมือละเอียดประณีต โดดเด่นทั้งในด้านความงามและความทนทาน

บ้านบุนั้นแบ่งออกเป็น “บ้านบน” และ “บ้านล่าง” บ้านบนนั้นนับจากบริเวณวัดสุวรรณาราม ล่วงลึกเข้าคลองบางกอกน้อยไปทางบางขุนนนท์ จนสุดเขตแถว ๆ วัดศรีสุดาราม (วัดชีปะขาว) ส่วนบ้านล่างนับจากวัดสุวรรณารามไปทางสถานีรถไฟบางกอกน้อย จนถึงแถบวัดอัมรินทาราม (วัดบางว้า)

แต่เดิมทั้ง “บ้านบน” และ “บ้านล่าง” ต่างก็ทำขันลงหินเป็นอาชีพหลัก ปัจจุบันบ้านบนเลิกราไปหมด ขณะที่บ้านล่างยังพอหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง แต่ก็มีน้อยเพียงแค่ไม่กี่เจ้า

ว่ากันว่า ชาวบ้านบุรุ่นแรก ๆ เป็นครัวเรือนอยุธยาช่างทำขันลงหิน ซึ่งหนีภัยสงครามเมื่อครั้งกรุงแตก อพยพมาพำนักอาศัยอยู่แถบนี้ และสืบทอดงานฝีมือดั้งเดิมเรื่อยมา กระทั่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแพร่หลาย

โด่งดังถึงขนาด นิราศพระแท่นดงรัง ซึ่งแต่งขึ้นสมัยรัชกาลที่ 3 ได้บันทึกกล่าวถึงเอาไว้

นิราศพระแท่นดงรง ยังมีความเห็นแตกต่างไม่ลงรอยกันอยู่ว่าใครเป็นผู้แต่งที่แท้จริง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและอาจารย์ฉันท์ ขำวิไล เชื่อว่าเป็นผลงานของท่านสุนทรภู่ เขียนไว้ประมาณปี พ.ศ. 2376 ขณะที่อาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์และพ. ณ ประมวญมารค (หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี) คิดว่าไม่ใช่ผลงานของสุนทรภู่ จนปัจจุบันก็ยังปราศจากข้อสรุปที่แน่ชัด

ในนิราศดังกล่าว ได้พรรณาถึงบ้านบุเอาไว้ว่า

“ถึงบ้านบุบุขันสนั่นก้อง
เขาหลอมทองเทถ่ายละลายไหล”

“บุ” เป็นคำไทยโบราณแปลว่า “ตีให้เข้ารูป” นะครับ

เรื่องขันลงหิน รวมถึงวิถีชีวิตชาวบ้านบุที่ยังคงเชื่อมต่อเห็นร่องรอยหลายอย่างจากในอดีต หากสบโอกาสเหมาะ ผมคงจะได้เขียนเล่าอย่างละเอียดอีกที

เป็นที่รู้กันโดยทั่วในหมู่ชาวบ้านบุว่า หลวงพ่อพระศาสดาท่านศักดิ์สิทธิ์นัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการบนบานเกี่ยวกับเรื่องไม่ให้จับโดนใบแดง ถูกเกณฑ์เป็นทหาร

เล่ากันมาปากต่อปาก รุ่นสู่รุ่นในหมู่ชาวบ้านว่า หลวงพ่อท่านไม่โปรดให้มีการแก้บนด้วยดนตรี ละคร หรือการละเล่นอื่นๆ แต่จะชอบวิธีแก้บนแบบแปลก ๆ ซึ่งมีอยู่ 3 อย่างด้วยกัน คือ แก้บนด้วยการเขกหัวตัวเอง แก้บนด้วยการกลิ้งเป็นตุ๊กตาล้มลุก และการวิ่งม้าแก้บน

การแก้บนด้วย 2 วิธีแรก มักจะเกี่ยวข้องกับการขอให้หลวงพ่อช่วยในเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจหรือบนขอให้ฝนไม่ตก

แก้บนเขกหัวตัวเอง กฎ กติกา มารยาทนั้นง่ายมาก คือ บนไว้เป็นจำนวนเท่าไร ก็ใช้มือเราเขกหัวเราให้ครบ ตามสูตร “เล่นจริง เจ็บจริง” และห้ามใช้สแตนด์อิน

ที่ไม่ธรรมดาก็คือ เล่ากันมาว่า (อีกแล้ว) บรรดาผู้แก้บนด้วยวิธีนี้ มักจะให้การตรงกันเป็นเอกฉันท์ว่า ระหว่างเงื้อมือเตรียมจะกระทบกับศีรษะ มักจะรู้สึกเหมือนกับมีใครมาช่วยจับมือ เพิ่มน้ำหนักการเขกให้รุนแรงหนักหน่วงเป็นพิเศษ กระทั่งหัวปูดหัวโนไปตาม ๆ กัน

ส่วนการกลิ้งตุ๊กตาล้มลุก ขั้นตอนปฏิบัติมีอยู่ว่า เริ่มต้นด้วยการนั่งชันเข่าต่อหน้าใบเสมา ด้านทางเข้าพระอุโบสถ เอามือทั้งสองข้างสอดไปกุมใต้ขา จากนั้นก็กลิ้งวนขวาไปหาซ้ายให้เป็นวงกลม บนไว้กี่รอบก็กลิ้งให้ครบตามจำนวน และถ้าจะให้ครึกครื้นเต็มยศชุดใหญ่ยิ่งขึ้น ผู้แก้บนอาจจะแต่งกายในชุดเด็กหัวจุก (ตรงนี้จะทำหรือไม่ก็ได้ สุดแท้แต่จิตศรัทธา แต่ภาคบังคับก็คือ ต้องสมมติตนเองเป็นตุ๊กตา และสามารถจ้างวานคนอื่นมาทำแทนได้)

ปัจจุบัน ดูเหมือนว่า การบนเขกหัวตัวเองและกลิ้งตุ๊กตาล้มลุก จะค่อย ๆ สร่างซาหายไป เนื่องจาก “ดูเหมือนง่าย แต่ยากลำบาก เจ็บเนื้อเจ็บตัวเกินไป” จึงไม่เป็นที่นิยมในหมู่นักบนบานศาลกล่าว หลงเหลือเพียงแค่ “วิ่งม้าแก้บน”

ต้นตอที่มาของการ “วิ่งม้าแก้บน” มีเรื่องเล่าอีกเช่นกันว่า เมื่อวัดสุวรรณารามซ่อมสร้างเสร็จใหม่ ๆ มีผู้มาบนบานเกี่ยวกับเรื่องการงาน การค้าขาย จนกระทั่งสำเร็จลุล่วงตามปรารถนา และได้ฝันว่า มีพราหมณ์มาบอกให้วิ่งม้าแก้บน จึงกลายเป็นธรรมเนียมความเชื่อว่า หลวงพ่อพระศาสดาท่านชอบให้แก้บนด้วยวิธีนี้

มีเคล็ดอยู่อย่างหนึ่งในการบนใด ๆ ก็ตามกับหลวงพ่อพระศาสดา นั่นคือ ห้ามมิให้เอ่ยคำว่า “ขอ” เป็นอันขาด

วิ่งม้าแก้บนแต่เดิม มีม้าก้านกล้วยเป็นอุปกรณ์ประกอบ แต่ระยะหลัง ๆ เปลี่ยนมาใช้ผ้าขาวม้า (ของใหม่ที่ยังไม่เคยใช้สอยมาก่อน)

กรรมวิธีก็คือ นำผ้าขาวม้าที่ขมวดปม (เป็นรูปศีรษะม้า) จนเสร็จสรรพ มาวางที่ใบเสมาแรก หน้าพระอุโบสถ เพื่อกราบไหว้บอกกล่าวต่อหลวงพ่อ จากนั้นก็ควั่นผ้าให้เป็นเกลียวแล้วขี่คร่อม จับปลายผ้าข้างหน้าและข้างหลังไว้ วิ่งไปรอบโบสถ์ (จำนวนขั้นต่ำสุดคือ 3 รอบ แต่จะมากกว่านั้นแค่ไหนก็ได้ไม่จำกัด)

ระหว่างวิ่ง (ด้วยลีลาท่าทางเหมือนม้า) ปากก็ต้องร้อง “ฮี้ ฮี้” ไปด้วย

ฟังดูเหมือนเล่น ๆ ขำ ๆ นะครับ แต่เรื่องนี้มีคนซาบซึ้งในรสพระธรรมมานักต่อนักแล้วเหมือนกัน เรื่องเล่าจากปากคำชาวบ้านที่ผมอ่านเจอมีอยู่หลายกรณี ตั้งแต่แกล้งวิ่งเหยาะ ๆ เหมือนไม่เต็มใจ จนต้องโดน “มือที่มองไม่เห็น” เขกหัวทำโทษ

อีกเรื่องหนึ่งเล่าไว้ว่า มีคนถูกหวย และได้บนไว้ว่าจะวิ่งม้า 15 รอบ แต่พลันที่จะเริ่มวิ่ง ระยะจากหน้าถึงหลังโบสถ์ก็ยืดขยายกว้างไกลสุดตา วิ่งไปได้แค่ท้ายโบสถ์ก็หมดแรงเป็นลมล้มฟุบ ต้องเยียวยากัน และบอกกล่าวกับหลวงพ่อขอยกยอดที่เหลือไปเคลียร์กันต่อในวันอื่น

วันรุ่งขึ้น นักแก้บนฟิตซุ่มเตรียมตัวมาอย่างดี มีทีมงานหน่วยพยาบาลยืนรอ (เตรียมยาลม ยาดมต่าง ๆ ไว้พร้อมสรรพ) ตรงกึ่งกลางครึ่งทางของโบสถ์

ผลก็คือ วิ่งได้แค่ครึ่งรอบ ก็ต้องหิ้วปีกประคับประคองโซเซกลับบ้าน รวมความแล้วต้องใช้เวลาร่วม ๆ หนึ่งเดือน กว่าจะวิ่งม้าแก้บนได้ครบ

ทั้งกรณีการเขกหัวแก้บน กลิ้งตุ๊กตาล้มลุก และวิ่งม้า ซึ่งมีอะไรเฮี้ยน ๆ จนบอบช้ำเจ็บสาหัสหรือเหน็ดเหนื่อยเจียนขาดใจนั้น คนเฒ่าคนแก่ท่านฟันธงตรงกันหมดว่า สืบเนื่องจากบนบานเอาไว้ในเรื่องหวยหรือการพนันทั้งสิ้น

เชื่อกันว่า หลวงพ่อพระศาสดาท่านไม่สนับสนุนอบายมุขนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องหวย (ขอแสดงความเสียใจต่อบรรดานักเสี่ยงโชคทั้งหลายมา ณ ที่นี้ด้วย)
ใครมาขอในเรื่องเหล่านี้หลวงพ่อท่านก็จัดให้ตามประสงค์ แต่ต้องชดเชยตอบแทนกันสมน้ำสมเนื้อสักหน่อย เพื่อให้เกิดจิตสำนึก ขยันพากเพียรทำมาหากินโดยวิถีทางสุจริต และใช้สอยประหยัดรู้จักเก็บออม

ปัจจุบัน ผู้บนบานศาลกล่าวโดยการวิ่งม้าแก้บน สาขาอายเหนียมหรือเรี่ยวแรงน้อย มักจะนิยมจ้างวานเด็ก ๆ ละแวกนั้น ให้ปฏิบัติการเป็นนอมินีแทน

เรื่องเหล่านี้ ถือว่าเล่าสู่กันฟังพอเพลิน ๆ นะครับ
(เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2552 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ" หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ)





เย็นยะเยียบหย่อมหญ้าป่าช้าผี โดย "นรา"


มีเรื่องต้องชี้แจงเล็กน้อย ก่อนที่ผมจะเล่าถึงวัดสุวรรณาราม เป็นการสลับฉากเปลี่ยนบรรยากาศ แล้วจึงค่อยวกกลับมาพูดคุยเรื่องภาพวาดของครูทองอยู่และครูคงแป๊ะ (รวมถึงผลงานชิ้นเยี่ยมในวัดอื่น ๆ อีกหลายแห่ง) ในโอกาสต่อไป


ในบทความเรื่อง “อวิชาการว่าด้วยจิตรกรรมฝาผนัง” ท่านผู้อ่านได้ทักท้วงมาว่า คำบรรยายภาพวาดผลงานของครูทองอยู่ ซึ่งผมสะกดเป็น “เนมีราชชาดก” นั้น ไม่มีอยู่ในทศชาติ ที่ถูกต้องควรจะเป็น “เนมิราชชาดก”


สิ่งที่ทำให้ผมร้อนใจไม่เป็นสุขก็คือ ข้อความที่ว่า “น่าจะแก้ไขข้อมูลหน่อยนะครับ...ประเดี๋ยวจะผิดกันไปใหญ่นะ”


ขออธิบายอย่างนี้ครับ จากตำรับตำราหลายเล่มที่ผมอ่านก่อนลงมือเขียน ชื่อชาดกแต่ละชาตินั้น สะกดแตกต่างไม่ตรงกัน เฉพาะเนมิราชชาดกเรื่องเดียว มีทั้ง “เนมิราชชาดก”, “เนมีราชชาดก” และ “เนมียชาดก”


รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ซึ่งสะกดไม่ตรงกับที่ท่านผู้อ่านแย้งมา เช่น เตมีย์ชาดก (เตมิยชาดก-นอกวงเล็บเป็นชื่อที่ท่านผู้อ่านชี้แจง ส่วนในวงเล็บสะกดตามข้อมูลที่ผมมีอยู่), ชนกชาดก (มหาชนกชาดก), ภูริทัตชาดก (ภูริทัตตชาดกและภูริทัตต์ชาดก), จันทชาดก (จันทกุมารชาดก), นารทชาดก (นารถชาดก, มหานารทชาดก) วิทูรชาดก (วิธุรชาดก,วิธูรชาดกและวิธุรบัณฑิตชาดก) ฯ


สรุปก็คือ การสะกดชื่อทศชาดกในเอกสารหลายฉบับ มักไม่ลงรอยกันเสียทั้งหมด ผมเองก็รู้น้อยจำกัดเกินกว่าจะวินิจฉัยด้วยตนเองได้ว่า คำใดควรจะถูกต้องมากสุด เมื่อถึงตอนลงมือเขียน ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า จะเลือกเชื่อตำราใด


ผมใช้ “เนมีราชชาดก” ด้วยสองเหตุผล อันดับแรกคือ ผ่านตาบ่อย ๆ จากบทความของท่านครู น. ณ ปากน้ำ ซึ่งมีคุณูปการเปิดโลกให้ผมหันมาสนใจหลงใหลศิลปะไทย ผมจึงยึดท่านเป็นแหล่งอ้างอิง เพื่อแสดงความคารวะต่อ “อาจารย์นอกชั้นเรียน”


ถัดมาคือ ผมไปเจอข้อมูลการสะกดชื่อใน “มหานิบาตชาดกฉบับชินวร” ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ทรงนิพนธ์ไว้ แล้วเกิดถูกอกถูกใจ


ท่านสะกดชื่อพระโพธิสัตว์ในชาติภพต่าง ๆ ค่อนข้างแปลกตา ผิดจากที่อื่น ๆ แต่ก็ขจัดปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งคือ เห็นรูปตัวอักษรแล้วไม่แน่ใจว่า ควรจะอ่านออกเสียงอย่างไร เช่น นารทชาดก (ซึ่งอ่านได้ทั้ง “นาท” และ “นา-รท”) มหานิบาตชาดกฉบับชินวรสะกดไว้ว่า “นารทะ” เพียงเท่านี้ก็กระจ่างแจ้งสิ้นข้อสงสัย หรือ วิธุรบัณฑิตชาดก ซึ่งมักจะอ่านออกเสียงตามความเคยชินจนคลาดเคลื่อนเป็น “วิ-ทูน” ก็กลับกลายเป็นเข้ารูปเข้ารอยอันถูกต้องเมื่อสะกดว่า “วิธุระ”เพราะความที่จะต้องเขียนถึงและสะกดชื่อเหล่านี้อีกบ่อยครั้ง ผมจึงคิดว่าน่าจะยึดตำราเพียงหนึ่งเดียว เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพไม่ลักลั่น ท้ายสุดผมเลยตัดสินใจอาศัย “มหานิบาตชาดกฉบับชินวร” เป็นหลักในการอ้างอิง


เนมิราชชาดกจึงกลายเป็นเนมีราชชาดก ด้วยเหตุผลตามนี้


อย่างไรก็ตาม ผมขอขอบคุณจากใจจริงสำหรับคำท้วงติง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมต้องการมาก เพื่อความถูกต้องถ่องแท้ และนำไปสู่การแลกเปลี่ยนต่อยอดความรู้เพิ่มขึ้น


หากมีตรงไหนที่ใดพบว่า ผม “ปล่อยไก่” ท่านใดจะช่วยเมตตาชี้แนะก็ถือเป็นพระคุณอย่างยิ่ง


กลับสู่เนื้อหาของบทความ ซึ่งมีชื่อเรื่องที่ฟังดูกุ๊ก กุ๊ก กรู๋ แฝงกลิ่นอายเรื่องผี ค่อนข้างน่ากลัวอยู่สักหน่อย แต่ก็เกี่ยวข้องกับประวัติความเป็นมาในอดีตของวัดสุวรรณาราม


ชื่อดังกล่าว มาจากนิราศพระประธม ผลงานของท่านกวีเอกสุนทรภู่ เขียนไว้เมื่อพ.ศ. 2385 ขณะเรือแล่นผ่านหน้าวัดสุวรรณาราม ริมคลองบางกอกน้อย เนื้อความเต็มมีอยู่ว่า


“ถึงวัดทองหมองเศร้าให้เหงาเงียบ

เย็นยะเยียบหย่อมหญ้าป่าช้าผี

สงสารฉิมนิ่มน้องสองนารี

มาปลงที่เมรุทองทั้งสองคน”


วัดทองคือชื่อเก่าดั้งเดิม เชื่อกันว่ามีมาแต่ครั้งสมัยอยุธยา ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระอุโบสถสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ทรุดโทรมผุพังเกินจะบูรณะปฏิสังขรณ์ จึงโปรดให้รื้อทิ้ง แล้วสถาปนาใหม่ทั่วทั้งพระอาราม สร้างพระอุโบสถ เก๋งด้านหน้า วิหาร กำแพงแก้ว และอื่น ๆ เมื่อแล้วเสร็จจึงพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสุวรรณาราม


สภาพเดิมก่อนรื้อทิ้งเพื่อสร้างใหม่ น่าจะเป็นวัดร้าง เนื่องจากย้อนหลังไปอีกแค่ไม่กี่ปี ที่นี่เคยมีประวัติถูกใช้เป็นแดนประหาร ในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี


เหตุการณ์บันทึกไว้ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่มที่ 2 เล่าว่า คราวพม่ายกกองทัพมาตีเมืองพิษณุโลก พระเจ้าตากสินจะยกกองทัพไปช่วย จึงโปรดให้ถามเชลยศึกพม่าที่จับได้จากค่ายบางนางแก้ว ว่าจะสมัครใจไปช่วยรบพม่าด้วยหรือไม่ แต่ได้รับคำตอบปฏิเสธ


ถึงตรงนี้ พระราชพงศาวดารบันทึกว่า “มันไม่ภักดีแก่เราโดยแท้ ยังนับถือเจ้านายมันอยู่ และเราจะยกไปทำสงครามผู้คนอยู่รักษาบ้านเมืองน้อย พวกมันมาก จะแหกคุกออกไปทำแก่จราจลข้างหลัง จะเอาไว้มิได้ จึงดำรัสให้เอาไปประหารชีวิตเสีย ณ วัดทอง คลองบางกอกน้อย ทั้งสิ้น”


คำว่า “พวกมันมาก” ที่ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดาร แผ่นป้ายบริเวณทางเข้าด้านหน้าของวัด ประมาณจำนวนเอาไว้ว่า ราว ๆ หนึ่งพันกว่าคน


ช่วงเวลาที่มีการประหารชีวิตเชลยพม่า บทความชิ้นหนึ่งของพลตรีถวิล อยู่เย็นในหนังสือ “ธนบุรีถิ่นของเรา” ได้ระบุว่า ปีที่เกิดเหตุการณ์นี้ตรงกับเดือนมกราคม พ.ศ. 2318


ปัจจุบันบริเวณโรงเรียนที่อยู่ใกล้วัดก็ยังปรากฎศาลพระภูมิ ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงดวงวิญญาณชาวพม่าที่เสียชีวิตในอดีต และมีเรื่องเฮี้ยน ๆ ร่ำลือกันเยอะแยะมากมาย (ข้ามตรงนี้ไปดีกว่านะครับ ผมกลัวผี)


เมื่อวัดสุวรรณารามสร้างใหม่จนแล้วเสร็จ “พระอาจารย์นาค” จิตรกรเอกฝีมือระดับบรมครูสมัยรัชกาลที่ 1 ได้ย้ายมาพำนักประจำที่วัดนี้ (เดิมท่านอยู่วัดทองเพลง) และเชื่อว่าท่านน่าจะวาดภาพในผนังพระอุโบสถทั้งหมด


พระอาจารย์นาคเป็นครูช่างมาแต่ครั้งอยุธยาก่อนเสียกรุง และมีส่วนสำคัญยิ่งในการสร้างบ้านแปงเมือง มีผลงานมากมายในขณะนั้น ภาพวาดฝีมือของท่านเป็นที่เลื่องลือเหลือเกินว่า สวยงาม เด็ดขาด ทรงพลัง เปี่ยมด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร ดูแล้วให้ความรู้สึกคึกคักฮึกเหิม สอดคล้องกับยุคสมัยเพิ่งผ่านพ้นศึกสงครามมาได้ไม่นาน


น่าเสียดายที่ปัจจุบัน ผลงานของพระอาจารย์นาค ชำรุดเสียหายไปเกือบหมด หลงเหลือแน่ชัดและได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี อยู่เพียงแห่งเดียว คือที่หอไตรวัดระฆังโฆษิตาราม


แม้กระทั่งที่วัดสุวรรณาราม เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 3 ภาพวาดฝีมือพระอาจารย์นาคในพระอุโบสถก็โดนความชื้นจากใต้พื้นดิน และน้ำฝนจากหลังคารั่ว ทำให้เลือนหายไม่หลงเหลือเค้าเดิม ต้องระดมครูช่างฝีมือดีหลายท่านมาเขียนขึ้นใหม่ จนเกิดเป็นตำนานวาดภาพประชันกันระหว่างครูทองอยู่กับครูคงแป๊ะ (เป็นโชคดีมากนะครับที่สมัยนั้น ยังหลากไปด้วยช่างฝีมือยอดเยี่ยมเทียบเท่ากับครูรุ่นก่อน ๆ)


หลังจากที่วัดสุวรรณารามสร้างใหม่และซ่อมแซมของเก่าบางส่วนจนแล้วเสร็จ สมเด็จพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงมีพระราชศรัทธาสร้างเครื่องป่าช้าขึ้น ประกอบไปด้วยเมรุ สำสร้าง (บางทีก็เขียนว่า “สำซ่าง” หมายถึงโรงขนาดเล็กมียกพื้นข้างใน สำหรับพระสงฆ์นั่งสวดพระอภิธรรม อยู่ 4 มุมเมรุ) หอสวด หอทิ้งทาน โรงโขน โรงหุ่น ระทาและพลับพลา โรงครัว จนครบครัน เพื่อถวายเป็นสมบัติในพระบรมมหาราชวังสำหรับเป็นที่พระราชทานเพลิงศพ


วัดทองหรือวัดสุวรรณาราม จึงกลายเป็นวัดที่ใช้ประกอบพิธีปลงศพ ทั้งพระศพเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ ณ บริเวณนอกกำแพงพระนคร ในสมัยรัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลต่อมาอยู่เนือง ๆ ควบคู่ไปกับวัดอรุณราชวราราม (ต่อเมื่อถึงรัชกาลที่ 3 มีถนนหนทางสะดวกขึ้น จึงโปรดให้สร้างเมรุขึ้นที่วัดสระเกศอีกแห่ง)


จนมีคำบอกเล่าสืบทอดกันมาถึงคนรุ่นหลังว่า “โขนวัดทอง ใบตองไม่แห้ง”


ความหมายก็คือ ในงานศพมักจะมีมหรสพสมโภช เช่น โขน หุ่น หรือการละเล่นต่าง ๆ เพราะความที่วัดทองนั้นมีงานศพบ่อย ส่งผลให้ใบตองที่ใส่ของกินในงานซึ่งทิ้งไปนั้น ยังไม่ทันแห้งเหี่ยวก็มีงานศพอื่นมาอีก ตามพื้นในบริเวณวัด จึงมีใบตองเขียวสดอยู่ตลอดเวลา


หลักฐานสนับสนุนอีกอย่างก็คือ เคยมีสะพานไม้ (ปัจจุบันเป็นคอนกรีต) ตรงศาลาการเปรียญ ทอดเชื่อมไปยังที่ว่าการเขตบางกอกน้อย เรียกว่า “สะพานโรงโขน”


บทบาทสำคัญของวัดสุวรรณรามในเรื่องของพิธีกรรมปลงศพ จึงปรากฎสะท้อนอยู่ในนิราศพระประธม ส่วนหนึ่งเพราะทางวัดขึ้นชื่อทางด้านนี้ อีกส่วนหนึ่งสืบเนื่องจากการระลึกถึงบุคคลที่ท่านสุนทรภู่ผูกพัน คือ ฉิมและนิ่ม ทั้งคู่เป็นน้องสาวต่างบิดา


เนื้อความในนิราศตรงนี้ จึงจับใจและสะเทือนอารมณ์มากเป็นพิเศษ เพราะไม่ได้พรรณาสาธยายความคิดถึงหญิงคนรัก (ซึ่งพลัดพรากห่างไกลกัน) แต่เป็นการรำลึกหวนหาญาติมิตรผู้ล่วงลับตายจาก


อย่างไรก็ตาม บทกวีที่พาดพิงถึงวัดทองหรือวัดสุวรรณาราม ก็ไม่ได้มีเฉพาะด้านหม่นเศร้าเพียงด้านเดียวเท่านั้น ยังปรากฎเนื้อเพลงฉ่อยที่เกี้ยวพาราสีสาวย่านบ้านบุ ซึ่งจดจำเล่าสู่กันฟังแบบปากต่อปากมาดังนี้


“บางกอกน้อยคลองคด พี่พายเรือเหื่อหยดจนน้ำลายเหนียวในย่านนี้วัดทอง พี่รักน้องคนเดียว”


ทุกวันนี้วัดสุวรรณาราม ยังสืบทอดมีประเพณีเฉพาะถิ่นที่น่าสนใจ และต่างจากแหล่งย่านอื่น นั่นคือ งานเวียนกระทง และวิ่งม้าแก้บน (รวมทั้งเรื่องราววิถีชีวิตของชุมชนบ้านบุ)


อย่างแรกนั้นมีเป็นประจำในคืนวันลอยกระทง ชาวบ้านจะนำกระทงของตนมาที่วัดตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ เพื่อทำพิธีสวดมนต์บูชา โดยจะมีพระสงฆ์นำสวดที่พระอุโบสถ เสร็จแล้วจึงเดินถือกระทงเวียนรอบพระอุโบสถ 3 รอบ เพื่อเป็นการบูชาพระจุฬามณี (สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในปรัมปราคติ เป็นพระเจดีย์แก้วอินทนิลสีเขียว อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของนครดาวดึงส์ มีกำแพงทองล้อมรอบ ประดับธงปฎาก ธงชัย กลด ชุมสายประดับแก้ว เงิน ทอง สีต่าง ๆ ภายในบรรจุพระเกศธาตุ พระเวฎฐนพัสตร์ และพระทักขิณาฒฐาตุของพระพุทธเจ้า)


ในขบวนเวียนกระทงนั้นก็จะมีการควงกระบองไฟเดินนำ มีขบวนกลองยาว มีชาวบ้านมาร่ายรำเพื่อสร้างความครึกครื้น เมื่อเวียนครบแล้วจึงนำกระทงไปลอยในคลอง


เนื้อที่หมด แต่ยังจบไม่ลง เรื่องวิ่งม้าแก้บนจึงต้องยกยอดไปกล่าวถึงในคราวหน้านะครับ




(เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2552 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ" หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ)