วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2552

หนวดหนูและเปลือกกระดังงา โดย "นรา"


ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงของฝีมือครูช่างในจิตรกรรมไทยนั้น นอกจากชี้วัดตัดสินกันที่ความประณีตในการวาดลาย ระบายสี ตัดเส้น ปิดทองแล้ว ยังพิจารณาได้อีกทาง โดยดูจากความคิดและจัดองค์ประกอบภาพ ว่าจะออกแบบให้เป็นเช่นไร ตรงไหนควรใช้สีอะไร รวมทั้งจะเขียนอย่างไรให้อยู่ในขนบโบราณ ควบคู่กับการตีความใหม่ แสดงเอกลักษณ์เฉพาะตนเข้าไป

ทั้งภาพของครูทองอยู่และครูคงแป๊ะ ล้วนเป็นการจัดองค์ประกอบภาพและการใช้สี ในแบบที่ดูแล้วก็ต้องนิยามกันง่าย ๆ ว่า “คิดได้ยังไง?”

ครูทองอยู่วาดตามแบบแผนดั้งเดิมอย่างเคร่งครัด แต่ภาพของท่านก็มีผลลัพธ์โดยรวมแหวกแนวก้าวหน้าซ่อนไว้อยู่ไม่น้อย ขณะที่ภาพของครูคงแป๊ะนั้น เต็มไปด้วยการทดลองสิ่งแปลกใหม่สารพัดสารพันอย่างกล้าหาญและสร้างสรรค์

พูดง่าย ๆ ว่า ล้ำยุคตั้งแต่เมื่อครั้งเพิ่งวาดเสร็จสด ๆ ร้อน ๆ และยังทันสมัยชนิดเด็กแนวในปัจจุบันไล่กวดไม่ทัน

ตอนผมเห็นภาพวาดของครูคงแป๊ะครั้งแรก เมื่อผ่านพ้นช่วงเซอร์ไพรส์ที่มีต่อความยุ่งเหยิงอลเวงแล้ว ความรู้สึกที่เกิดขึ้นถัดมาก็คือ สีสันสวยจับใจ

ครูคงแป๊ะใช้สีพื้นค่อนข้างมืดทึบ ประกอบไปด้วยสีดำ เขียวเข้ม สีดินแดง ตรงบริเวณฉากหลัง ภูเขา ต้นไม้

สีพื้นอันมืดทึบเข้มข้นเหล่านี้ นอกจากจะขับเน้นตัวบุคคลในภาพทั้งหมดจนโดดเด่นยิ่งขึ้น โดยไม่รบกวนกันแล้ว ยังช่วยให้เกิดระยะใกล้ไกลมีความลึก

พร้อม ๆ กันนั้น ในภาพก็มีทั้งบริเวณที่ใช้สีสด สีตรงข้าม สีอ่อนหวาน การปิดทองอันมลังเมลือง ปนเปกันอย่างลงตัว ผ่านการครุ่นคิดล่วงหน้ามาถี่ถ้วน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นภาพที่ใช้สีเขียวหลากหลายระดับ ตั้งแต่เข้มข้นจนถึงอ่อนจาง ได้สวยน่าตื่นตาตื่นใจเหลือเกิน

ครูคงแป๊ะได้รับการยกย่องว่า เก่งกาจไม่มีใครเทียบ ในการเขียนใบหน้าคน ซึ่งสามารถนำเอาวิธีวาดแบบจีน มาผสมผสานในภาพแบบไทย ได้อย่างเหมาะเจาะ

ภาพใบหน้าคนของครูคงแป๊ะ อาจจำแนกได้คร่าว ๆ เป็นสองกลุ่ม คือ บรรดาตัวละครสำคัญ ซึ่งยังคงเขียนด้วยวิธีดั้งเดิมตามขนบไทยแท้ ใบหน้าแสดงอารมณ์ความรู้สึกแต่น้อย ตัดเส้นประณีตอ่อนช้อยงดงาม

คงเคยผ่านตากันมาบ้างนะครับว่า เสน่ห์ดึงดูดอย่างหนึ่งของจิตรกรรมไทยก็คือ อารมณ์สนุกซุกซนของศิลปิน ซึ่งวาดภาพแสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน แฝงซ่อนอารมณ์ขัน การวิพากษ์วิจารณ์สังคม บางครั้งก็อาจครึกครื้นสัปดนทะลึ่งตึงตัง กระทั่งว่าโป๊อีโรติคเกือบจะโจ๋งครึ่ม

มีศัพท์ช่างเรียกภาพเหล่านี้ว่า “ภาพกาก” ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่สำคัญกับเหตุการณ์ในท้องเรื่อง แต่นิยมเขียนขึ้นเพื่อประกอบฉาก และสะท้อนถึงโลกปกติของสามัญชน
ประการถัดมา มันเป็นพื้นที่ช่องทางเล็ก ๆ ให้ศิลปิน มีโอกาสสะท้อนมุมมองทัศนะส่วนตัวได้บ้าง เนื่องจากเหตุการณ์หลัก ๆ ในภาพ ต้องเขียนขึ้นโดยมีขนบแบบแผนเป็นกรอบบังคับ

ประโยชน์ทางอ้อมอีกอย่างของภาพกากก็คือ ลดทอนความขรึมขลังสูงส่งในจิตรกรรมไทย ทำให้เกิดแง่มุมเกี่ยวสะท้อนถึงความเป็นปุถุชนทั่วไป เป็นเรื่องราวใกล้ตัวติดดินที่จับต้องได้

ภาพกากที่ไม่ค่อยเกี่ยวโยงต่อการเล่าเรื่อง จึงเป็นพื้นที่สำคัญ และมักจะดึงดูดความสนใจของผู้ชม กระทั่งกลายเป็นอีกเอกลักษณ์หนึ่งในภาพเขียนของไทย หากขาดหายไปเมื่อไร ก็เหมือนอาหารชั้นเลิศที่ปรุงมาอย่างดี แต่ไม่มีน้ำจิ้มรสเด็ด

ภาพกากในเรื่องมโหสถชาดกของครูคงแป๊ะ ค่อนข้างแปลกประหลาดพ้นจากกฎเกณฑ์ทั่วไปอยู่สักหน่อย คือ ยังปะปนเกี่ยวข้องกับตัวเรื่องราว คล้าย ๆ กับภาพกากที่ปรากฎในรูป “มารผจญ” (ซึ่งผมจะเล่าถึงในโอกาสต่อ ๆ ไป)

ตรงภาพกากนี้เองที่ครูคงแป๊ะฝากฝีมือล้ำเลิศเอาไว้น่าประทับใจมาก ด้วยการเขียนใบหน้าคนอย่างหลากหลายล้ำลึก มีทั้งภาพที่แสดงสีหน้าอารมณ์ได้อย่างมีชีวิตชีวา (ตัวอย่างเช่น ทางซ้ายมือของมโหสถ มีทหารคนหนึ่งยกมือปิดปากหัวเราะ เมื่อเห็นเกวัฎพราหมณ์พลาดท่าเสียที) มีทั้งใบหน้าชาวต่างชาติที่เขียนขึ้นอย่างประณีต ใบหน้าที่เจตนาจะให้ดูอัปลักษณ์ (ตรงนี้ยิ่งยากเข้าไปใหญ่เลยนะครับ คือต้องวาดให้ขี้เหร่ด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องสวยในแบบฟอร์มของภาพเขียนด้วย)

จำนวนบุคคลในภาพนี้ มีเยอะถึงประมาณร้อยกว่าตัวเ ที่ครูคงแป๊ะเก่งมากก็คือ ท่านวาดใบหน้าทุกคนด้วยลีลาอารมณ์ที่แทบจะไม่ซ้ำกันเลย

ผมเคยเล่าเอาไว้ว่า สามารถยืนดูภาพของครูทองอยู่และครูคงแป๊ะได้ทั้งวัน ไม่ได้โอเวอร์ดัดจริตนะครับ ลำพังแค่พิจารณาใบหน้าทีละคนให้ครบถ้วน ก็ซัดเข้าไปเป็นชั่วโมงแล้วล่ะ นี่ยังไม่นับรวมกิริยาท่าทาง ลายผ้า เครื่องประดับ สีสัน รอยฝีแปรง ความสวยของเส้น ฯลฯ

มีรายละเอียดปลีกย่อย 3 จุดใหญ่ ๆ ในภาพนี้ ซึ่งกลายเป็นจุดเด่น ที่มักจะไปปรากฎบ่อย ๆ ในหนังสือเกี่ยวกับภาพจิตรกรรม ได้รับการนำมาใช้เป็นภาพประกอบ หรือหน้าปกหนังสือ

จุดแรกได้แก่ แอ็คชั่นเหตุการณ์ที่มโหสถเอามือกดเกวัฎพราหมณ์ที่กำลังก้มอยู่กับพื้น ภาพส่วนนี้เขียนตามขนบดั้งเดิม และพิสูจน์ให้เห็นว่า แม้ครูคงแป๊ะจะมีเชื้อจีน และเริ่มต้นจากการเขียนภาพแบบจีนมาก่อน แต่เมื่อต้องมาเขียนลวดลายไทย ปิดทอง ท่านก็ทำได้ถึงพร้อมไม่ด้อยไปกว่าใคร

อีกสองแห่งนั้นคล้าย ๆ กัน เป็นรูปทหารหลากสัญชาติ คือ ตรงประตูเมืองกำแพงตอนบนซ้ายของภาพ และตรงกึ่งกลางภาพใต้ต้นไม้สีเขียวอ่อน

ปกติภาพใบหน้าคนในจิตรกรรมไทย มักจะระบายสีผิวเนื้อ จากนั้นก็ตัดเส้น คิ้ว จมูก ปาก ดวงตา จนเด่นชัด (ตรงภาพใบหน้ามโหสถ และเหล่าบริวารที่อยู่ใกล้ ๆ ครูคงแป๊ะก็ยังใช้วิธีนี้)

ทว่าบริเวณที่วาดทหารนานาชาติทั้งสองพื้นที่ดังกล่าว ครูคงแป๊ะเลี่ยงการตัดเส้น หันมาใช้สีดำอ่อน ๆ แรเงาอย่างละเอียดด้วยปลายเส้นพู่กันที่บางเฉียบ (บางถึงขั้นต้องชะโงกหน้าเข้าไปดูใกล้ ๆ หรือนำภาพถ่ายมาขยายใหญ่ จึงจะพอมองเห็น) จนมีมิติล้ำลึก กระเดียดไปทางภาพที่เน้นความสมจริง โดยยังคงความเป็นภาพในลีลาประดิษฐ์เอาไว้ได้ (นี่ยังไม่นับรวมการเขียนรอยจีบย่นของผ้าในบางแห่ง ซึ่งถือว่าใหม่มากสำหรับจิตรกรรมไทยในขณะนั้น)

เส้นเล็กบางเฉียบละเอียดเช่นนี้ วาดโดยใช้ “พู่กันหนวดหนู”

“พู่กันหนวดหนู” เป็นพู่กันขนาดเล็กสุด ข้อมูลหลายแหล่งที่ผมอ่าน อธิบายไว้ไม่ตรงกัน บางแห่งกล่าวว่า ทำขึ้นจากขนหนวดหนูอ่อน บางแห่งสันนิษฐานว่า อาจใช้วัสดุอื่นที่ไม่ใช่หนวดหนูจริง ๆ

แต่ที่ตรงกันก็คือ เส้นพู่กันจะต้องมีปลายเรียวอ่อนไหว และผ่านการเลือกสรรอย่างถี่ถ้วน จะใช้ขนที่ปลายเสียหรือแตกกุดไม่ได้เป็นอันขาด

ครูคงแป๊ะใช้อุปกรณ์ชนิดนี้ได้ล้ำเลิศเก่งกาจ จนร่ำลือยกย่องกันว่า เป็นเจ้าตำรับพู่กันหนวดหนู

เรื่องอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือนั้น เล่ากันมาว่า ครูช่างแต่ละท่านต่างทำขึ้นเอง โดยมีสูตรเด็ดเคล็ดลับเฉพาะตัวที่ปกปิดหวงแหนไม่ให้ผู้อื่นล่วงรู้ เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบ

พู่กันหนวดหนูของครูคงแป๊ะจะมีกรรมวิธีผลิตที่ล้ำลึกพิเศษอย่างไรบ้างนั้น เป็นเรื่องที่ปราศจากหลักฐานบันทึกไว้ แต่ฝีมือการใช้พู่กันหนวดหนูของท่านที่ปรากฎอยู่ในภาพเขียน เข้าขั้น “ยอดเซียน” จริง ๆ เพราะนอกจากจะต้องฝึกฝนการตัดเส้น จนสามารถเลี้ยงพู่กันได้เชื่องมือแล้ว น้ำหนักขณะวาดยังต้องแผ่วเบา แม่นยำ สายตาดีเป็นพิเศษอีกต่างหาก จึงจะวาดได้บางเฉียบละเอียดมากอย่างที่เห็น

ในบทความของครู น. ณ ปากน้ำ ยังระบุเพิ่มเติมอีกด้วยว่า ครูคงแป๊ะเป็นต้นตำรับวิธีการเขียนใบไม้ โดยใช้เปลือกกระดังงา

กรรมวิธีก็คือ ลอกเปลือกกระดังงา ตัดให้มีความกว้างเป็นรูปโค้งตามต้องการ ทุบปลายข้างหนึ่งให้แตกเป็นฝอย ใช้ชุบสีแตะบนภาพที่ร่างเป็นต้นไม้ ให้มีลักษณะเป็นพุ่มโค้ง และเกิดร่องรอยฝีแปรงแบบฉับไว (คล้าย ๆ ในภาพเขียนแบบอิมเพรสชันนิสม์)

มีศัพท์ช่างเรียกการวาดพุ่มไม้ใบไม้โดยใช้เปลือกกระดังงานี้ว่า “กระทุ้ง”

เรื่องครูคงแป๊ะเป็นครูช่างรายแรก ๆ ที่ใช้เทคนิคนำเปลือกกระดังงามากระทุ้งเป็นพุ่มไม้ใบไม้นั้น นอกจากข้อเขียนของครู น. ณ ปากน้ำแล้ว ผมไม่พบคำยืนยันสนับสนุนจากแหล่งอื่นอีกเลย ท่านเองก็ไม่ได้ระบุว่าทราบมาจากไหน แต่ในตำราหลายเล่มอธิบายว่า วิธีวาดภาพต้นไม้เน้นร่องรอยฝีแปรงแทนการเขียนตัดเส้นทีละใบแบบภาพเนมีราชชาดกของครูทองอยู่ เริ่มได้รับความนิยมแพร่หลายสมัยรัชกาลที่ 3

โดยช่วงเวลาที่ครูคงแป๊ะวาดภาพนี้ รวมทั้งเมื่อเทียบความประณีตในการกระทุ้งเปลือกกระดังงากับผลงานอื่นในระยะใกล้เคียงกัน ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้สูงว่า ครูคงแป๊ะน่าจะเป็นผู้บุกเบิกเทคนิคการเขียนดังกล่าวอย่างที่ครู น. ณ ปากน้ำเล่าไว้

อาจจะใช่หรือไม่ใช่คนแรกสุด แต่ก็สมควรอยู่ในลำดับต้น ๆ และเป็นคนที่ใช้กลวิธีดังกล่าวได้มีประสิทธิภาพมากกว่าใคร (ดังเช่นภาพต้นไม้ข้างประตูกำแพงเมืองที่วาดซ้อนกันหลายชั้นละเอียดยิบ)

อย่างไรก็ตาม ต้นไม้ในภาพเขียนของครูคงแป๊ะ ก็ไม่ได้ใช้เทคนิคกระทุ้งเปลือกกระดังงาเพียงอย่างเดียว ทว่ายังครอบคลุมอีกสารพัดวิธี มีทั้งเขียนตัดเส้นทีละใบแบบโบราณ มีทั้งระบายสีทึบเห็นเฉพาะเค้าโครงรูปทรงคร่าว ๆ และมีทั้งวาดเกลี่ยระบายจนกลืนไปกับพื้นหลัง และอีกเยอะแยะมากมายเกินกว่าผมจะสังเกตทำความใจได้หมด

ภาพวาดของครูทองอยู่กับครูคงแป๊ะนั้น ตัดสินชี้ขาดไม่ได้หรอกนะครับว่า ภาพใดสวยเด่นดีเลิศกว่ากัน ขึ้นอยู่กับรสนิยมและสายตาของผู้ชมแต่ละท่าน

ผมนั้นชื่นชอบคารวะในฝีมือครูทั้งสองเท่า ๆ กัน และเห็นว่า ขณะสร้างงาน ครูทองอยู่และครูคงแป๊ะอาจเป็นคู่แข่งที่ขับเคี่ยวกันสุดขีด แต่เมื่อสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว ระหว่างสองภาพนี้กลับเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ความแตกต่างชนิดสุดขั้ว ช่วยหนุนส่งให้อีกภาพหนึ่งโดดเด่นงามขึ้นกว่าเดิม

ขาดภาพใดภาพหนึ่งไป อีกภาพที่เหลือจะเหงาทันที

ร่องรอยดังกล่าวไม่ได้ปรากฎให้เห็นในภาพหรอกนะครับ แต่ผมดู “งานครู” ทั้งสองอยู่เรียงเคียงข้างกันทีไร ก็มักจะเกิดจินตนาการเป็นภาพเนมีราชชาดกและภาพมโหสถชาดก ตั้งตระหง่านผ่านแดด ฝน ฝุ่น ลมร่วมกันมาร้อยกว่าปี ท่ามกลางความมืดความสงบในพระอุโบสถ

เห็นแล้วผมก็รู้สึกและเชื่อไปเองว่า ทั้งสองภาพนี้ ซ่อนมิตรภาพ ความผูกพัน ความเคารพนับถือ ซึ่งครูทองอยู่และครูคงแป๊ะ มีต่อกันเอาไว้อย่างแน่นแฟ้น ลึกซึ้ง กระทั่งกลายเป็นอมตะอยู่เหนือกาลเวลา
(เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ" หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ)

อลังการงานรบอภิมหาสงครามสยบปฐพี โดย "นรา"


แกล้งตั้งชื่อเอาไว้ให้มันรุงรังเล่น ๆ ไปอย่างนั้นเอง เลียนแบบชื่อไทยของหนังฝรั่งนะครับ


ครั้งแรกสุดที่ผมเห็นรูปถ่ายจิตรกรรมฝาผนังของครูทองอยู่ ถ้าจะให้ได้บรรยากาศแบบโบราณย้อนยุคสักหน่อย ผมควรจะนั่งถอดเสื้อโชว์พุงอยู่ตรงนอกชาน มีเด็กชายพี่หมีแปลงกายเป็นกุมารทองกลม ๆไว้ผมจุก นั่งทำหน้าบ้องแบ๊วอยู่ข้าง ๆ


เมื่อพิจารณาดูภาพโดยถ้วนถี่ดีแล้ว ผมก็ตบเข่าฉาดเข้าให้ (จนกุมารทองเด็กสมบูรณ์ ซึ่งนั่งสัปหงกอยู่สะดุ้งตกใจตื่น) ก่อนจะรำพึงรำพันพร่ำพรรณนา (ควบคู่กับการเคี้ยวหมาก) ว่า “งามจับใจสมคำร่ำลือ นับเป็นฝีมือชั้นครูโดยแท้”


แต่เหตุการณ์แรกพบภาพวาดของครูคงแป๊ะจากรูปถ่ายในหนังสือ ถ้าจะให้ได้อรรถรสถึงขีดสุด ผมควรจะล้มหงายหลังผลึ่ง หัวทิ่มพื้น เอาตีนชี้ฟ้า เหมือนอย่างในการ์ตูนญี่ปุ่น


แปลได้สั้น ๆ ว่า “อึ้ง”


ภาพวาดของครูคงแป๊ะในขนาดย่อส่วนจนเหลือเล็กเท่าขนาดโปสการ์ด แลดูยุ่งเหยิงชุลมุนวุ่นวาย จับสังเกตรายละเอียดไม่ออกเลยว่าอะไรเป็นอะไร ยั้วเยี้ยลายตาไปหมด


ถ้าจะด่วนสรุปตัดสินกันตั้งแต่ตอนนั้น ผมคิดว่า ครูทองอยู่ชนะขาดอย่างไม่มีปัญหา


ทว่าหลังจากเห็นรูปถ่ายในหนังสืออีกหลาย ๆ เล่ม ได้พินิจพิจารณารายละเอียดต่าง ๆ ในภาพวาดของครูคงแป๊ะ ผมก็เริ่มเปลี่ยนความคิดทีละน้อย


ยิ่งดูก็ยิ่งสวยขึ้นเรื่อย ๆ นะครับ โดยเฉพาะเมื่อได้ไปเห็นของจริง ผมถึงขั้นหัวใจเต้นแรงขึ้นมาทันที


ถึงตรงนี้ ผมก็เปลี่ยนความคิดโดยสิ้นเชิง และรู้สึกว่า ระหว่างครูทองอยู่กับครูทองแป๊ะนั้น ยอดเยี่ยมล้ำเลิศไปคนละทาง กระทั่งกินกันไม่ลง


ภาพของครูทองอยู่นั้น เราสามารถชื่นชมและเห็นความงามต่าง ๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องราวใด ๆ จากเนมีราชชาดกมาก่อน (แต่ยิ่งรู้มาด้วยก็ยิ่งดีนะครับ) ภาพมโหสถชาดกของครูคงแป๊ะกลับตรงข้าม เพราะตัวเหตุการณ์ไม่ได้ “นิ่ง” ทว่าเต็มไปด้วยแอ็คชันและความต่อเนื่อง


ภาพนี้เน้นไปที่ “การเล่าเรื่อง” เป็นหัวใจสำคัญ ฉะนั้นหากปราศจากพื้นฐานเกี่ยวกับเหตุการณ์ในชาดกมาก่อน โอกาสที่จะดู “ไม่รู้เรื่อง” และเข้าไม่ถึงความงามจึงมีสูงยิ่ง


ครูคงแป๊ะได้รับการยกย่องว่าไม่มีใครเทียม ในการวาดเรื่องมโหสถชาดก ผลงานของท่านเท่าที่ปรากฎหลักฐานบันทึกไว้ทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นพระอุโบสถวัดอรุณฯ (ซึ่งโดนไฟไหม้จนเสียหายหมดในสมัยรัชกาลที่ 5 รวมทั้งภาพของครูทองอยู่ที่วาดเรื่องเดียวกัน แต่จับความคนละตอน), วัดสุวรรณาราม, วัดบางยี่ขัน และวัดดาวดึงส์สาราม ล้วนเป็นชาดกเรื่องนี้ทั้งสิ้น


มโหสถชาดกเป็นชาติภพของพระโพธิ์สัตว์ที่มีเนื้อเรื่องยืดยาว รายละเอียดเยอะ เกินกว่าจะถ่ายทอดเป็นงานจิตรกรรมฝาผนังได้หมดในภาพเดียว


กระทั่งแค่จะเล่าเรื่องย่อสรุปใจความหลักให้ครบถ้วน ก็อาจกินเนื้อที่บทความได้อีกหลายตอนจบ


ครูช่างในอดีตจึงนิยมเลือกหยิบเอาช่วงตอนสำคัญ มานำเสนอเป็นตัวแทนของชาดกเรื่องนี้ ซึ่งก็มีอยู่หลายเหตุการณ์ กระจัดกระจายต่างกันไป ผิดจากชาดกชาติอื่น ๆ (ยกเว้นเวสสันดรชาดก) ที่มักจะมี “ฉากบังคับ” แค่ฉากหรือสองฉาก


มโหสถเป็นชาติภพว่าด้วยการบำเพ็ญปัญญาบารมีของพระโพธิสัตว์ รายละเอียดต่าง ๆ จึงอัดแน่นไปด้วยพฤติการณ์แสดงความเฉลียวฉลาดอย่างหลากหลายถี่ถ้วน นับตั้งแต่วัยเด็กที่มโหสถโชว์กึ๋นเป็นซีรีส์ 16 เหตุการณ์ เริ่มจากตัดสินระงับข้อพิพาทต่าง ๆ ในหมู่เหล่าชาวบ้าน ตามด้วยพระอินทร์แปลงกายมา “ลองของ” จากนั้นชื่อเสียงคำร่ำลือก็ล่วงรู้ไปถึงพระเจ้าวิเทหราช จึงทรงส่งการบ้านยาก ๆ มาให้มโหสถแก้โจทย์ครั้งแล้วครั้งเล่า


ชาดกตอนนี้สนุกคล้าย ๆ ศรีธนญชัย ต่างกันตรงที่ความฉลาดของมโหสถ เป็นการใช้สติปัญญาในทางบวก ช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ได้นำมากลั่นแกล้งป่วนชาวบ้านให้ทุกข์ร้อน


เข้าข่ายตรงคอนเซ็ปต์ “พลังอำนาจอันยิ่งใหญ่ มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่” ยังไงยังงั้นเชียว


หลังผ่านบททดสอบสารพัดสารพันแล้ว มโหสถก็เข้ารับราชการเป็นข้าหลวงในราชสำนักของพระเจ้าวิเทหราช เรื่องราวส่วนนี้มีทั้งการใช้ปัญญาเลือกคู่ครอง และเผชิญการอิจฉาริษยาจากสี่บัณฑิต ซึ่งพากันรุม “รับน้องใหม่” แบบไม่ยั้งมือ จนนำไปสู่การขับเคี่ยวชิงไหวชิงพริบหลายต่อหลายครั้ง (ตรงนี้ผมว่าสนุกในแนวเดียวกับ Infernal Affairs)


เรื่องราวช่วงสุดท้าย คือ การที่มโหสถต้องใช้ปัญญาเข้าสู้กับกองกำลังอันมหาศาล เมื่อพระเจ้าจุลนี พรหมทัต ซึ่งบุกตีเมืองต่าง ๆ ในชมพูทวีปได้สำเร็จถึง 101 นคร (ในเวลา 7 ปี 7 เดือน 7 วัน) โดยมีเกวัฎพราหมณ์จอมเจ้าเล่ห์ทำหน้าที่เป็นมันสมอง ได้ระดมไพร่พลจากบรรดาเมืองขึ้นทั้งหมด ยกทัพใหญ่เพื่อหมายจะยึดครองกรุงมิถิลาของพระเจ้าวิเทหราช


ทหารฝ่ายผู้บุกรุกมีจำนวนมากกว่าชนิดเทียบกันไม่ได้เลย ถึงขั้นสามารถล้อมเมืองไว้ได้ถึงสี่ชั้น


ถ้ายังรู้สึกว่าไม่เยอะพอ ผมขอระบุจำนวนให้ชัดเจนขึ้น นั่นคือ กองทัพ 101 นคร ประกอบด้วยเสนา 18 อักโขหิณี


สามารถถอดสมการได้ว่า 1 อักโขหิณี ประกอบด้วยทัพช้าง 21,870 กอง, กองรถ 21,870, ทัพม้า 65,610 กอง, ทหารราบ 109,304 กอง


คูณด้วย 18 ก็จะได้จำนวนรวมทั้งหมด ซึ่งเข้าข่ายอลังการงานรบเอามาก ๆ


มโหสถจึงต้องใช้ปัญญาล้วน ๆ ในการเอาชนะ ผลก็คือ กองทัพพระเจ้าจุลนีแตกพ่ายหมดท่า จนต้องมี “นัดล้างตา” ทว่าท้ายสุดก็แพ้ราบคาบอีก (ตรงนี้สนุกใกล้เคียงกับสามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ)


ภาพวาดของครูคงแป๊ะที่วัดสุวรรณาราม จับความตอนสงครามครั้งแรก ซึ่งเรียกกันว่า “การประลองธรรมยุทธ”


เมื่อกองทัพพระเจ้าจุลนีล้อมเมืองเสร็จสรรพ มโหสถก็แก้ลำด้วยสงครามจิตวิทยาทันที สั่งให้มีการเฉลิมฉลองใหญ่ภายในเมือง มีมหรสพสมโภชกันอย่างสนุกสนาน ปราศจากความทุกข์ร้อนใจ ทำทีเสมือนว่า ไม่เห็นข้าศึกอยู่ในสายตา รวมทั้งยั่วยุให้ข้าศึกหงุดหงิดโมโห ซึ่งก็ได้ผล


ทัพหน้าของพระเจ้าจุลนี ได้รับคำสั่งให้บุกโจมตีหยั่งเชิง แต่แนวรับก็ต้านทานอย่างแข็งขัน จนกระทั่งฝ่ายบุกต้องแตกพ่ายถอยร่น สูญเสียล้มตายเป็นอันมาก


เกวัฎพราหมณ์จึงออกอุบายให้ล้อมเมืองตรึงกำลัง ตัดขาดเส้นทางไม่ให้ชาวบ้านตักน้ำจากแม่น้ำ เพื่อให้อ่อนล้าไปเอง


มโหสถได้รับรายงานจากหน่วยข่าวกรอง จึงแก้เกมด้วยการเอาไม้ไผ่ยาว 60 ศอก ผ่าออกเป็นสองซีกแล้วรัดประกบดังเดิม เอาดินเหนียวยาไม่ให้น้ำรั่ว จากนั้นก็ปลูกบัวลงบนตมริมสระ ปักไม้ไผ่เสียบครอบแล้วเทน้ำลงในไปจนเต็มทุกลำ


ตรงนี้มีอภินิหารเล็กน้อย ด้วยบารมีแห่งพระโพธิสัตว์ เพียงค่ำคืนเดียว ดอกบัวก็เติบโตงอกงามพุ่งพ้นกระบอกไม้ไผ่ มโหสถจึงให้ถอนดอกบัวเหล่านั้น ขดสายเป็นวงกลม โยนออกนอกเชิงเทิน พร้อมตะโกนบอกทหารฝ่ายตรงข้ามว่า เป็นอภินันทนาการให้นำไปทำกับข้าว


พระเจ้าจุลนีทราบความก็ท้อใจ ปรารภว่า ขนาดบัวริมสระยังมีสายยาวกว่า 60 ศอก กลางสระจะลึกสักแค่ไหน ต่อให้ล้อมเมืองเป็นปี น้ำท่าก็คงจะกินดื่มใช้สอยไม่หมด


เกวัฎพราหมณ์จึงเสนอแผนย่ำยีเศรษฐกิจและสังคมแห่งเมืองมิถิลาฉบับที่สอง ด้วยการปิดล้อมให้อดข้าว เนื่องจากนาส่วนใหญ่อยู่นอกเมือง


มโหสถรู้ข่าวก็บัญชาการให้เทโคลนโปะลงบนกำแพงเมือง หว่านข้าวเปลือกลงไป เพียงแค่คืนเดียวต้นข้าวก็งอกเขียวละลานตาไปหมด


พระเจ้าจุลนีทอดพระเนตรแล้วก็ตรัสถาม (สายลับที่มโหสถส่งเข้าไปแทรกซึม) ได้รับคำตอบว่า มโหสถสั่งให้ขนข้าวเปลือกจากนอกเมืองไปเก็บในฉางหลวง แต่พื้นที่ไม่พอ จึงต้องนำส่วนเกินมาเก็บไว้ริมกำแพง นานวันเข้าข้าวเปลือกตรงนั้น เจอแดดจนแห้ง ได้น้ำฝน ก็งอกงามเติบโตเป็นข้าวกล้ามากมายอย่างที่เห็น


ฟังความแล้ว พระเจ้าจุลนีก็ท้ออีก จนเกิดแผนสาม ล้อมเมืองให้ฝ่ายตรงข้ามขาดแคลนฟืน ซึ่งก็โดนตอบโต้ด้วยวิธีคล้าย ๆ เดิม และลงเอยด้วยความล้มเหลวอีกตามเคย


เกวัฎพราหมณ์จึงเสนอให้มีการ “ประลองธรรมยุทธ” ทหารชั้นผู้น้อยไม่ต้องออกรบให้บาดเจ็บล้มตายโดยสูญเปล่า ปล่อยให้เป็นการเผชิญหน้าระหว่างบัณฑิตของทั้งสองฝ่าย กติกามีอยู่ว่า ผู้ใดยกมือไหว้ก่อน ถือเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ


เกวัฎพราหมณ์มั่นใจในแผนดังกล่าวอย่างล้นเหลือ เพราะเชื่อว่า มโหสถนั้นมีอาวุโสน้อยกว่า เมื่อพบปะเจอะเจอย่อมต้องเป็นฝ่ายแสดงความนอบน้อม


เมื่อทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากัน ท่ามกลางบริวารห้อมล้อมมากมาย มโหสถไม่ได้เป็นฝ่ายยกมือไหว้คารวะก่อนหรอกนะครับ แต่หลอกว่านำแก้วมณีอันงดงามมาบรรณาการ ขณะยื่นส่งมอบให้ มโหสถก็แกล้งทำเป็นมือสั่นถือดวงแก้วไม่มั่นคง จนกระทั่งร่วงหล่นลงพื้น ด้วยความละโมบและเสียดาย พราหม์เฒ่าจึงรีบก้มตัวลงเก็บ


มโหสถก็เลยได้ที รีบใช้มือข้างหนึ่งกดคอไว้ อีกมือดึงชายกระเบนด้านหลัง เป็นการตรึงมิให้อีกฝ่ายลุกขึ้น ทว่ามองไกล ๆ เหมือนกำลังช่วยพยุง พลางก็ป่าวประกาศเสียงดังจนได้ยินไปทั่วกันว่า ท่านอาจารย์ลุกขึ้นเถิด อย่ากราบไหว้ข้าพเจ้าเลย


บรรดาทหาร 101 นคร เห็นไกล ๆ และได้ยินดังนั้น ก็พากันแตกตื่นเสียขวัญ ยิ่งได้ยินไส้ศึกของมโหสถร้องตะโกนว่า พระเจ้าจุลนีเสด็จหนีไปแล้ว ก็ยิ่งแตกพ่ายไม่เป็นขบวน ล่าถอยอย่างอลหม่านย่อยยับ


ภาพวาดของครูคงแป๊ะคือเหตุการณ์ช่วงนี้ ลำดับเหตุการณ์นั้น สามารถดูกันได้หลายแบบ อาจเริ่มจากมุมซ้ายตอนบน ซึ่งเห็นทหารบนกำแพงกำลังส่องกล้องทางไกลดูข้าศึก จากนั้นก็เคลื่อนมาทางขวา เป็นวงกลมตามเข็มนาฬิกา โดยมีตัวมโหสถเป็นจุดศูนย์กลาง


ลำดับเรื่องราวอีกวิธีก็คือ เริ่มที่ตัวมโหสถ แล้วสลับฟันปลาจากซ้ายไปขวา จากบนลงล่าง


ไม่ว่าจะดูด้วยวิธีใด ล้วนได้ใจความตรงกัน และเป็นไปได้ว่า อาจมีลำดับก่อนหลังแบบอื่น ๆ ได้อีก แล้วแต่จิตศรัทธามุมมองของผู้ชม


ภาพเนมีราชชาดกของครูทองอยู่ ได้รับการยกย่องว่า เป็นที่สุดแห่งความงามอันเกิดจากการจัดองค์ประกอบภาพสมดุลย์เท่าเทียม เน้นความเป็นระเบียบแบบแผน การประสานทุกส่วนอย่างสอดคล้องลงตัว


ตรงข้ามกับภาพมโหสถชาดกของครูคงแป๊ะ ซึ่งบรรลุถึงขีดขั้นสูงสุด ผ่านองค์ประกอบที่ไม่สมดุลย์ และมีลักษณะรูปทรงกระจัดกระจาย เกือบ ๆ จะเป็นแบบศัพท์ฝรั่งที่เรียกกันว่า free from


ภาพนี้ลองเพ่งสมาธิยืนดูนาน ๆ จะพบความพิศดารอย่างหนึ่ง คือ เหมือนแม่น้ำคดเคี้ยวไหลเชี่ยว คล้ายกับมีชีวิตโลดแล่นเคลื่อนไหวได้ ให้ความรู้สึกตื่นเต้นเร้าใจอย่างล้นเหลือ


ยังมีความล้ำลึกแหวกแนวซุกซ่อนอยู่ในภาพนี้อีกเยอะเลยครับ





(เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธุ์ 2552 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ" หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ)


วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2552

ที่สุดแห่งสยามประเทศ? โดย "นรา"


การดูจิตรกรรมฝาผนังตามวัดหลาย ๆ แห่ง ซึ่งไม่ใช่สถานที่ฮิตในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ มีอุปสรรคอยู่พอสมควร นั่นคือ ปกติแล้วพระอุโบสถมักจะปิด ต้อง “เข้าหาพระ” ตามกุฏิสงฆ์ เพื่อขออนุญาต

ระหว่างช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ผมไปวัดสุวรรณารามแล้ว 3 ครั้ง ล้มเหลวสอง ประสบความสำเร็จเพียงแค่คราวเดียว

หนแรก “วืด” เพราะผมเห็นว่ากำลังมีการซ่อมแซมหลังคา จึง “ตีตนไปก่อนไข้ ไม่สบายไปก่อนป่วย แทงหวยผิด ตั้งแต่ยังไม่ทันได้ซื้อ” คิดเอง ช้ำเอง เข้าใจไปเองว่า คงจะปิดเทอมยาว จนกว่าจะบูรณะพระอุโบสถแล้วเสร็จ

ไม่กี่วันต่อมา ขณะที่ผมกับเด็กชายพี่หมีล่องเรือไปเที่ยวเกาะเกร็ด (ทางคลองบางกอกน้อย คลองอ้อมนนท์ ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงก่อนจะถึงสะพานสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เล็กน้อย) ขณะผ่านวัดสุวรรณาราม ผมเห็นประตูพระอุโบสถเปิดให้เข้าชมตามปกติ

สัปดาห์ถัดมา ผมจึงรีบตรงดิ่งไปที่วัดตั้งแต่เช้า และพบว่าประตูโบสถ์ปิด ขณะกำลังเดินคอตกอกหักออกจากวัด ผมก็เกิดอาการ “คาใจ” ต้องวกกลับไปถามเจ้าหน้าที่ตรงศาลาสำหรับเช่าบูชาพระเครื่องของทางวัด เพื่อสอบถามให้แน่ชัด และได้คำตอบว่า พระอุโบสถเปิดทุกวัน แต่ต้องไปติดต่อขออนุญาตก่อน

ผมจึงไปยืนรอกระทั่งพบหลวงน้า ซึ่งดูแลเก็บรักษากุญแจ และบอกกล่าวขอเข้าชมบริเวณภายในพระอุโบสถกับท่าน

ท่านตอบสั้น ๆ สีหน้านิ่งเฉยเพียงแค่ “รอเดี๋ยว” จากนั้นก็เดินหายลับขึ้นกุฏิ จัดแจงสั่งกิจธุระต่าง ๆ กับคนงานของวัดร่วม ๆ 15 นาที ทิ้งให้ผมยืนรอคอยด้วยความลุ้นระทึกเร้าใจอยู่ด้านนอก

จากนั้นหลวงน้าก็เดินลงมา และผ่านหน้าผมไปสั่งงานตรวจตราความเรียบร้อยภายในวิหาร โดยปราศจากวี่แววว่าท่านจะอนุญาตหรือปฏิเสธ อีก 15 นาที
ท้ายสุด ท่านก็ให้คนมาตามผม และไขกุญแจประตูพระอุโบสถทางด้านหลัง เปิดไฟเพดาน ยังไม่ทันที่ผมจะได้ไหว้หรือกล่าวขอบคุณ หลวงน้าก็เดินจีวรปลิวหายลับไปอย่างรวดเร็ว ปล่อยให้ผมดูภาพจิตรกรรม ท่ามกลางแสงสลัวภายใน เพียงลำพัง

วันนั้นผมเดินดูภาพต่าง ๆ ในระบบสแกนผ่านเพียงผิวเผินหนึ่งรอบ จากนั้นก็ปักหลักดูภาพของครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ สลับไปมา เป็นเวลาร่วม ๆ 3 ชั่วโมง
จริง ๆ แล้วผมอยู่ดูได้ทั้งวันนะครับ แต่ที่ต้องรีบกลับ เป็นเพราะตกบ่าย มีอาจารย์พานักศึกษากลุ่มใหญ่ มาทัศนศึกษานอกสถานที่ ผมก็เลยเกรงว่า จะทำตัวเกะกะกีดขวาง จึงตัดใจด้วยความอาลัยอาวรณ์ และยังไม่รู้สึกเต็มอิ่ม

แกล้ง ๆ คิดว่า ได้เสียสละอุทิศตน เพื่อการศึกษาของชาติ (ตรงไหนก็ไม่รู้ล่ะ แต่ผมเชื่อไปแล้ว)

ด้วยเหตุนี้ผมเลยต้องย้อนกลับไปที่วัดสุวรรณารามเป็นวาระสาม

คราวนี้ผมนั่งรอหลวงน้า พร้อม ๆ กับตั้งใจเด็ดเดี่ยวว่า จะไม่ยอมลุกไปไหนจนกว่าจะพบท่าน และได้รับอนุญาตให้เข้าชมพระอุโบสถ

ปณิธานอันมุ่งมั่นของผม ล้มเหลวแหลกเละเทะ หลังจากผ่านไปชั่วโมงกว่า ๆ บรรดาน้องหมาในวัด ซึ่งเคยไล่งับผมจนต้องวิ่งหนีทุลักทุเลเมื่อครั้งที่มาหนแรก เกิดยกโขยงผ่านตรงที่ผมกำลังนั่งเจี๋ยมเจี้ยม ชะรอยพวกมันคงจำได้ และเห็นว่า โหงวเฮ้งของผมเหมือนโจร จึงพากันรุมเห่าเตือนด้วยท่าทีดุดัน ลงท้ายก็พุ่งพรวดปรี่เข้ามาทำท่าจะกัด

เจอสัญญาณ “เอาจริง” เช่นนี้ ผมก็ต้องเผ่นแน่บเพื่อสวัสดิภาพ หมดโอกาสได้พิสูจน์ถึงศรัทธาอันแรงกล้ามั่นคงให้โลกได้ประจักษ์

เล่าให้เพื่อนฟัง แทนที่จะได้รับคำปลอบโยน กลับมีแต่เสียงหัวเราะชอบใจ บางคนบอกว่า “อย่างมึงเนี่ยไม่ต้องโดนหมากัดหรอก แค่นี้ก็บ้าไปไกลเกินเยียวยาแล้ว”

อุปสรรครวมถึงความไม่แน่ไม่นอน ในการไปถึงที่หมายแล้ว ก็ยังปราศจากหลักประกันว่า จะได้เข้าชมงานจิตรกรรมหรือไม่ เป็นผงชูรสอย่างหนึ่ง ทำให้การได้ดูแต่ละครั้ง ทวีคุณค่าความหมายมากยิ่งขึ้น (กระนั้นก็ไม่ควรมีน้องหมา มาสร้างความตื่นเต้นเร้าใจหรอกนะครับ)

ที่ผม “นอกเรื่อง” จากภาพเนมีราชชาดกของครูทองอยู่มาค่อนข้างไกล ก็เพื่อจะบอกกล่าวว่า เวลาไปดูจิตรกรรมตามวัดต่าง ๆ นั้น เพื่อความแน่นอนและปลอดภัย ควรรวมกลุ่มผู้ที่รักชอบทางด้านนี้กันหลาย ๆ คน และถ้าเป็นไปได้ ควรโทรศัพท์ขออนุญาตล่วงหน้ากับทางวัดเสียก่อน (เบอร์โทรศัพท์ของวัดสุวรรณารามคือ 02-434-7790 ถึง 1)

ย้อนกลับมาที่ภาพวาดฝีมือครูทองอยู่ ผมเคยกล่าวไปแล้วว่า รูปนี้พิเศษตรงเห็นปุ๊บก็รู้สึกได้ทันทีว่าสวย

ความงามนั้นเกิดจากการจัดองค์ประกอบภาพอันโดดเด่น แปลกตา ต่างจากภาพในยุคสมัยเดียวกัน (หรือยุคอื่น ๆ) เน้นความสมดุลย์เท่าเทียมระหว่างด้านซ้ายขวา รายละเอียดต่าง ๆ เขียนอย่างถี่ถ้วนวิจิตรบรรจง มีระเบียบ ดูโปร่งโล่งสะอาดตา

จิตรกรรมฝาผนังของไทย ส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะในสมัยรัตนโกสินทร์) มักจะเน้นการจัดภาพที่แน่นไปด้วยรายละเอียด ใช้เนื้อที่ทุกตารางนิ้วอย่างคุ้มค่า จนแทบจะปราศจากบริเวณว่าง กระทั่งบ่อยครั้งเมื่อชำเลืองดูเผิน ๆ ก็เกิดอาการตาลาย ดูเท่าเทียมกันหมด แยกแยะลำบากว่า ตรงไหนเป็นจุดเด่นใจ ตรงไหนเป็นส่วนเสริมที่สำคัญรองลงมา

ภาพเนมีราชชาดกของครูทองอยู่ หลุดพ้นจากปัญหาเหล่านี้ ด้วยวิธีแบ่งเป็นสามส่วนคือ ล่าง กลาง บน

บริเวณกึ่งกลาง ซึ่งจับความตอนพระเนมีกำลังแสดงธรรมต่อเหล่าเทวดา คือ ส่วนที่สำคัญสุดในภาพขณะที่ตอนล่าง วาดเรื่องราวช่วงเสด็จเยือนนรกเด่นรองลงมา (น่าเสียดายที่บริเวณนี้ชำรุดเสียหาย จนจับเค้าค่อนข้างลำบาก กระนั้นส่วนที่ยังเหลือ ก็เห็นชัดว่าวาดราชรถได้ประณีตอลังการมาก รวมทั้งม้าคู่เทียมรถ ซึ่งท่านครู น. ณ ปากน้ำ เขียนยกย่องชมเชยเอาไว้ว่ายอดเยี่ยมเหลือเกิน) ตอนบนที่เหล่าเทวดานางฟ้า เหาะมาเข้าเฝ้าพระเนมี เล่าเรื่องแต่น้อย ทว่าก็เป็นส่วนเสริมเติมความเด่นให้แก่บริเวณหลักในภาพได้อย่างลงตัว

สิ่งที่ผมประทับใจแรกสุดเมื่อเห็นภาพนี้ก็คือ การใช้ “ลายฮ่อ” (แถบโค้งเป็นริ้ว ๆ คล้ายริบบิ้น) ทำหน้าที่แบ่งกั้นเรื่องราวแต่ละส่วน

ลายฮ่อเป็นวิธีการเขียนอย่างหนึ่ง ซึ่งหยิบยืมมาจากภาพแบบจีน ทำหน้าที่เทียบเคียงได้กับแถบเส้น “สินเทา” หรือ “เส้นแผลง”(ลักษณะเป็นแถบหยักฟันปลา) ใช้สำหรับแบ่งฉากตอนในเรื่องเดียวให้แยกจากกันเป็นสัดส่วน แต่ก็ไม่ตัดขาดจากกันโดยสิ้นเชิง

ภาพเนมีราชชาดกของครูทองอยู่ เป็นการใช้ “ลายฮ่อ” ได้อ่อนช้อยสวยงามสุด เท่าที่ผม (ในฐานะตาใหม่หัดดู) เคยเห็นมาในจิตรกรรมไทยนะครับ

ถัดมาคือ การใช้สีได้อย่างกลมกลืน ตอนล่างสุดนั้นใช้สีดินแดงเป็นพื้น ขณะที่ตอนบนเป็นสีแดงชาด ส่วนตรงกลาง ภาพบริเวณปราสาทเน้นสีแดงชาด ตัดด้วยพื้นหลังเป็นสีขาบ (น้ำเงินเข้ม) ข้างซ้ายข้างขวาวาดต้นไม้แบบปิดทอง ใช้ทองคำเปลวเป็นแผ่น ๆ ปิดลงไปบนรูป แล้วค่อยเขียนตัดเส้น

ทั้งหมดนี้ผมว่าตามลำดับในการดู คือ เริ่มพิจารณาในแง่ของเนื้อเรื่อง ตามด้วยการจัดองค์ประกอบภาพ ต่อด้วยการใช้สี และทิ้งท้ายที่ลายเส้น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการเขียนภาพของไทย

ครูทองอยู่เขียนลายกระหนกต่าง ๆ ได้ล้ำเลิศมาก (“สมเด็จครู” เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงยกย่องชมเชยเอาไว้มาก) ทั้งละเอียดและประณีต (ใครดูภาพจิตรกรรมไทยบ่อย ๆ หลายที่หลายแห่ง ก็จะแยกแยะออกว่า ภาพไหนวาดเนี้ยบ ภาพไหนเขียนหยาบ)

ดูจากภาพถ่ายอาจจะสังเกตได้ไม่ถนัด แต่ตอนที่ผมยืนจด ๆ จ้อง ๆ มองของจริง บริเวณลายฮ่อนั้น ครูทองอยู่ยังใช้สีขาวประดับตกแต่งลวดลายเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยพู่กันเส้นบางเฉียบเอาไว้อย่างล้ำลึกพิสดาร

อีกจุดหนึ่ง ซึ่งทำให้ภาพเนมีราชชาดกของครูทองอยู่ “เหนือชั้น” กว่าจิตรกรรมไทยโดยรวมก็คือ ฝีมือเขียนใบหน้าตัวพระตัวนาง หรือเทวดานางฟ้า

ตรงนี้ถ้าไม่เก่งจริง เขียนออกมาแล้วจะดูแบน แข็ง เหมือนสวมหน้ากาก แต่ภาพของครูทองอยู่นั้น เหล่าเทวดานางฟ้า เข้าขั้น “หล่อ” และ “สวย” มีชีวิตชีวา โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่วงท่ามือไม้และนิ้วมือที่อ่อนช้อยหวานมาก

การวาดภาพตัวพระตัวนางในจิตรกรรมไทยนั้น เส้นทุกเส้นจะต้องอ่อนโค้งสอดคล้องขานรับกันตลอด จนดูเหมือนเคลื่อนไหวร่ายรำได้ หากเขียนวาดคลาดหลุดไปนิดเดียว ก็จะทำให้ภาพรวมทั้งหมดเละและรวน ไม่สวยได้ง่ายดาย

จากภาพที่เห็น มือไม้สายตาของครูทองอยู่นั้นแม่นยำเข้าขั้นวิเศษ

เหตุการณ์ (พระเนมีแสดงธรรม) ค่อนข้างจะเคร่งขรึมสำรวมอยู่สักหน่อย บรรยากาศจึงออกมาทางโอ่อ่าสง่างาม และสงบนิ่ง แต่ท่านครูก็เพิ่มมิติความมีชีวิตชีวา ไม่ให้ภาพแห้งแล้งขาดแคลนอารมณ์ ด้วยการวาดเทวดานางฟ้า 4 คู่ หยอกล้อโรแมนติคกันอยู่บริเวณต้นไม้ นอกกำแพงแก้ว

ภาพเทวดานางฟ้าเหล่านี้ โดยพฤติกรรมการแสดงออกแล้ว ควรจะขัดแย้งกับองค์รวมของทั้งหมด แต่ฝีมือวาดที่ถ่ายทอดลีลาแบบนาฏศิลป์อย่างประณีต ก็ทำให้เกิดความกลมกลืนได้อย่างน่าอัศจรรย์

อีกจุดหนึ่งที่เยี่ยมมากคือ ภาพนี้จัดองค์ประกอบเอาไว้ค่อนข้างโปร่งตา พื้นที่ว่างจึงมีเยอะพอสมควร เช่น บริเวณตอนบนพื้นแดง ท่านครูแก้ปัญหาไม่ให้โล่งเกินไป ด้วยการเขียนลายดอกไม้ถมพื้น (ซึ่งมีศัพท์ช่างเรียกว่า “ล้วงลาย”) นี่เป็นวิธีที่พบเห็นได้บ่อย ๆ ในจิตรกรรมฝาผนังทั่วไป (จึงต้องวัดฝีมือกันอีกชั้นที่ลายดอกไม้ว่า ใครจะวาดอ่อนช้อย ผูกลายได้ประณีตวิจิตรกว่ากัน)

ยังมีโจทย์ที่แก้ยากกว่านั้น นั่นคือ รอบ ๆ กำแพงแก้วอันขาวโพลน ซึ่งจะวาดลวดลายอะไรลงไปไม่ได้ ครูทองอยู่หาทางออกด้วยการใส่กระถางใบบัว และไม้ดัดแบบจีน ให้กิ่งก้านแผ่เหยียดสู่ที่ว่างของบริเวณกำแพงได้อย่างเหมาะเจาะสวยงาม กลายเป็นอีกจุดเด่นหนึ่งในภาพ

ว่ากันว่า ครูทองอยู่เป็นช่างเขียนที่เคร่งครัดตามขนบโบราณ (โดยพิจารณาจากการเขียนใบไม้ ซึ่งตัดเส้นทีละพุ่มทีละใบอย่างละเอียด) แต่ภาพใบบัว ไม้ดัด ก็สะท้อนให้เห็นว่า ครูทองอยู่ไม่ได้ยึดติดกับอดีตจนสุดขั้ว ถึงขั้นไม่ยอมรับลีลาใหม่ ๆ โดยสิ้นเชิง ตรงกันข้าม ท่านสามารถเลือกนำเอาวิธีการวาดแบบจีน เข้ามาผสมกลับภาพไทยได้อย่างกลมกลืน และไม่สูญเสียบุคลิกดั้งเดิม

อาจโอเวอร์ไปบ้าง แต่ก็ไม่เกินเลยความจริงสักเท่าไร หากจะระบุว่า ภาพเนมีราชชาดกฝีมือครูทองอยู่ เป็นหนึ่งในจิตรกรรมฝาผนังที่สวยสุดของสยามประเทศ

คำยืนยันข้างต้น คงเป็นเอกฉันท์กว่านี้ ถ้าหากว่าตรงห้องที่ครูทองอยู่แสดงฝีมืออันล้ำเลิศไว้ จะไม่ปรากฎผลงานของครูคงแป๊ะอยู่ข้าง ๆ คอยเทียบเคียงให้เกิดคำถามว่า ภาพใดเหนือกว่ากัน?




(เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2552 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ")



มาสเตอร์พีซของหลวงวิจิตรเจษฎา โดย "นรา"


เลียบ ๆ เคียง ๆ เฉียดถากไปมาหลายอาทิตย์ คราวนี้ก็ได้เวลาไปชื่นชมภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือ “ครูทองอยู่” กันแล้วนะครับ

ครูทองอยู่หรือหลวงวิจิตรเจษฎานั้น ประวัติชีวิตของท่านไม่เหลือรายละเอียดอันใดให้ล่วงรู้กันเลย นอกเหนือจากคำบอกเล่าเกี่ยวกับการวาดภาพประชันขันแข่งกับครูคงแป๊ะที่วัดสุวรรณารามแล้ว ก็มีแค่ชื่อที่ปรากฎใน “คำไหว้ครูช่างครั้งกรุงเทพฯ”ความว่า

“นบเจ้าจอมเพชวกรรม์ ขุนเทพคนขยัน
ทั้งรักษ์ภูมินทร์กัลมา
ท่านพญาชำนิรจนา หลวงวิจิตรเจษฎา
วิจิตรราชมนตรี”

ในคำไหว้ครูดังกล่าว เอ่ยนามช่างแขนงต่าง ๆ ผู้มีผลงานโดดเด่นช่วงต้นรัตรนโกสินทร์เอาไว้ 14 ท่าน ข้อความที่มีวงเล็บกำกับนั้นหมายถึงชื่อเดิม ประกอบไปด้วย ขุนเทพ (นาม), หลวงกัลมาพิจิตร (สน), พระยาชำนิรจนา (แก้ว), หลวงวิจิตรเจษฎา (ทองอยู่), วิจิตรราชมนตรี (ปลื้ม-ท่านนี้ไม่ปรากฎบรรดาศักดิ์), พรหมพิจิตร (คุ้ม-ท่านนี้ก็ไม่ปรากฎบรรดาศักดิ์), หมื่นสุนทร (ด้วง), นายทองดี, ปขาวสก, ตามี, ขุนสรรพสัตว์ (เทศ), หฤไทย (ด้วง-ไม่ปรากฎบรรดาศักดิ์), หลวงบรรจงรจนาไมย (สา) และขุนสนิทบรรจง (สน)

(อ้างอิงจากหนังสือ “ผลงาน 6 ศตวรรษของช่างไทย” โดยศาสตราจารย์โชติ กัลยาณมิตร)

ทั้งหมดนี้เป็นอีกหนึ่งหลักฐานยืนยันว่า ครูทองอยู่ท่านมีตัวตนจริง และเป็นครูคนสำคัญที่ช่างเขียนรุ่นหลังให้ความเคารพนับถือ

ว่าแต่ว่า มีใครสงสัยบ้างไหมครับว่า? ทำไมจึงไม่ปรากฎชื่อของครูคงแป๊ะในคำไหว้ครูฯ ทั้งที่ท่านก็เป็นศิลปินคนสำคัญ อยู่ร่วมยุคสมัยเดียวกัน อีกทั้งได้ชื่อว่า เป็นคู่แข่งกับครูทองอยู่ และก่อให้เกิดข้อถกเถียงที่ปราศจากข้อยุติมากระทั่งทุกวันนี้ว่า ใครเก่งกว่ากัน?

ประเด็นนี้ “สมเด็จครู” กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสันนิษฐานไว้ว่า อาจเนื่องเพราะครูคงแป๊ะมักจะก่อเหตุทะเลาะวิวาทบ่อยครั้ง รวมทั้งเคยต้องโทษข้อหาฆ่าคนตาย จึงทำให้ประวัติมัวหมองมีมลทินอยู่บ้าง เลยไม่ได้รับการเคารพนับถือเท่าที่ควร (กระทั่งในปัจจุบัน ข้อมูลหลายแห่งก็กล่าวถึงท่านด้วยการเอ่ยนาม “คงแป๊ะ” ตรง ๆ โดยไม่เรียกขานว่า “ครู”)

ครูช่างในอดีตนั้น นอกเหนือจากความเก่งกาจสามารถทางด้านฝีมือแล้ว ความประพฤติส่วนตัวก็น่าจะต้องเพียบพร้อมเป็นแบบอย่างอันดีงามให้ผู้อื่นเจริญรอยตาม

ผมนั้นชื่นชมครูช่างทั้งสองท่านเท่า ๆ กัน ก็เลยต้องจินตนาการหาเหตุผลทางด้านบวก มาแก้ต่างให้แก่ครูคงแป๊ะสักหน่อย

กล่าวคือ ผมเชื่อว่า ครูคงแป๊ะนั้นท่านก็คงมีน้ำใสใจคอเป็นคนดีนะครับ แต่เพราะความติสท์ สวนกระแส แหวกแนว ฉีกขนบ จึงทำให้สังคมรอบข้างส่วนหนึ่งที่ตามความคิดของท่านไม่ทัน รู้สึกต่อต้าน บวกรวมกับความเป็นคนจีน ก็น่าจะมีผลให้ท่านมีสถานะเป็น “คนนอก” อยู่บ้างพอสมควร

ยึดถือตามเหตุผลคำอธิบายของ “สมเด็จครู” เป็นหลัก ชื่อที่ได้รับการบันทึกไว้ใน “คำไหว้ครูครั้งกรุงเทพฯ” ช่วยให้สันนิษฐานเพิ่มเติมได้ว่า ครูทองอยู่หรือหลวงวิจิตรเจษฎานั้น จะต้องเป็นครูช่างที่โด่งดังมาก และมีความประพฤติดีงามไร้ตำหนิ เปี่ยมด้วยเมตตา มีคุณสมบัติจิตวิญญาณความเป็นครูที่ดีครบถ้วนเพียบพร้อม (ตรงกับการตีความบุคลิกของท่านผ่านทางภาพวาด และสอดคล้องกับการคาดหมายว่า การที่ท่านประชันขันแข่งวาดภาพกับครูคงแป๊ะ น่าจะเป็นเรื่องขัดแย้งในหมู่กองเชียร์ทั้งสองฝ่ายมากกว่า ขณะที่ความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างท่านกับครูคงแป๊ะ ควรจะดำเนินไปในทางเคารพนับถือฝีมือของกันและกัน ตามประสาสุดยอดศิลปินที่สามารถ “อ่าน” ความพิเศษล้ำลึกที่ซ่อนอยู่ในผลงานของอีกฝ่าย ได้แตกฉานทะลุแจ้งแทงตลอดยิ่งกว่าสายตาคนปกติทั่วไป)

กล่าวเฉพาะครูทองอยู่ ผลงานของท่านที่ยังคงตกทอดมาถึงปัจจุบัน ทราบแน่ชัดเพียงว่า ภาพเนมีราชชาดก วัดสุวรรณาราม เป็นฝีมือครูทองอยู่โดยแท้ ขณะที่ภาพเรื่องเดียวกัน ณ วัดบางยี่ขัน ยังปราศจากหลักฐานยืนยันว่าใช่ผลงานของท่านหรือไม่ ทว่าเมื่อพิจารณาจากลีลาการจัดองค์ประกอบภาพ, สีสัน และลายเส้น ผู้เชี่ยวชาญหลายรายเชื่อว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะมาจากฝีมือและความคิดของครูช่างคนเดียวกัน

ในหนังสือ “ผลงาน 6 ศตวรรษของช่างไทย” ระบุว่า ที่วัดสุวรรณารามนั้น ครูทองอยู่ยังได้วาดภาพเทพชุมนุม ภาพมารผจญ ภาพพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ แต่พิจารณาจากลีลารายละเอียดของภาพที่แตกต่างกันอยู่พอสมควร, ความไม่ลงรอยกับแหล่งข้อมูลอื่น ๆ (ซึ่งมีจำนวนมากกว่า) รวมถึงสมมติฐานว่า จำนวนชิ้นงานมากมายเช่นนี้ น่าจะเกินกำลังครูช่างท่านเดียวจะวาดได้หมดตามลำพัง

ผมจึงเชื่อว่า ผลงานของครูทองอยู่น่าจะเป็นห้องที่เขียนเรื่องเนมีราชชาดกเพียงภาพเดียว

ภาพวาดของครูทองอยู่ที่วัดสุวรรณาราม เป็นหนึ่งในงานจิตรกรรมไทยประเพณีที่มีความพิเศษมาก นั่นคือ ใครเห็นวูบแรกก็สามารถตระหนักรับรู้ได้ทันทีว่า สวย ประณีต วิจิตรพิสดาร โดยไม่จำเป็นต้องเข้าใจเรื่องราวเหตุการณ์ในภาพ

อย่างไรก็ตาม ไหน ๆ ก็หนักข้อมูลกันมาตั้งแต่ต้นแล้ว ก่อนจะลงสู่รายละเอียดของตัวภาพ ผมขอเล่าคร่าว ๆ เกี่ยวกับเรื่องเนมีราชชาดก เพื่อช่วยเพิ่มอรรถรสในการดูภาพวาดของครูทองอยู่

เพื่อความสะดวกและง่ายต่อการทำความเข้าใจ ผมจะพยายามเลี่ยงใช้คำราชาศัพท์และบาลีให้น้อยที่สุด เน้นการสื่อสารใจความสู่ผู้อ่านเป็นสำคัญ บางแห่งจึงอาจผิดหลักไม่ตรงกับการใช้ภาษาโดยเคร่งครัดอย่างที่ควรจะเป็น หวังว่าท่านผู้รู้คงให้อภัย

เรื่องเนมีราชชาดกนั้นเริ่มต้นพิศดารพันลึกทีเดียว เหตุการณ์มีอยู่ว่า พระยามฆะเทวราชแห่งกรุงมิถิลา ทรงใช้ชีวิตเที่ยวเล่นเป็นเด็กอยู่ 84,000 ปี เป็นอุปราช 84, 000 ปี แล้วค่อยขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์นาน 84,000 ปี พบว่าเริ่มมีเส้นผมหงอก จึงสละราชสมบัติให้พระโอรส เพื่อออกบวชเป็นฤษีอีก 84,000 ปี กระทั่งสิ้นพระชนม์ กลายเป็นเทวดาไปเกิดบนพรหมโลก

นับจากนั้นมาก็กลายเป็นประเพณีของกษัตริย์เมืองมิถิลา (ทุกองค์มีวงจรชีวิตอายุขัยเท่า ๆ กัน) สืบต่อจนกระทั่งได้จำนวน 83,998 องค์

ถึงตอนนั้น พรหมมฆะซึ่งเป็นเทวดาบนสรวงสวรรค์ เล็งเห็นด้วยทิพยญาณว่า ต่อไปเบื้องหน้า จะไม่มีกษัตริย์สละราชสมบัติออกบวชเหมือนพระองค์อีก เพื่อให้ประเพณีที่ทรงริเริ่มบรรจบครบ จึงยอมสละชีวิตความเป็นอยู่บนพรหมโลกมาเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง (พระบิดาของพระองค์จึงออกบวชเป็นลำดับที่ 83,999 และพระมฆะที่กลับชาติมาเกิดใหม่เป็นองค์สุดท้ายครบตามจำนวนพอดี)

ตัวเลข 84,000 น่าจะมีความหมายนัยยะพิเศษทางศาสนาซ่อนอยู่นะครับ เพราะพระไตรปิฏก ได้กำหนดข้อธรรมไว้ว่ามีทั้งสิ้น 84,000 พระธรรมขันธุ์
ยิ่งไปกว่านั้น หนังสือไตรภูมิพระร่วง ยังสาธยายถึงรูปร่างเขาพระสุเมรุไว้ว่า สูงขึ้นไปบนอากาศได้ 84,000 โยชน์ ลึกลงไปใต้น้ำ 84,000 โยชน์ และกว้าง 84,000 โยชน์

ผมยังอ่านไม่เจอคำอธิบายว่า ทำไมต้องเป็นจำนวนตัวเลข 84,000 และซ่อนรหัสความนัยอะไรเอาไว้บ้าง? ต้องขอติดค้างเอาไว้ก่อน (โดยไม่รับประกันว่าจะพบคำตอบ)

พรหมมฆะที่กลับชาติมาเกิดใหม่ ได้รับการตั้งชื่อว่า “เนมิ” (แปลว่า กงล้อรถ) เนื่องจากท่านเป็นชิ้นส่วนรอยต่อสุดท้ายที่ทำให้วงจรครบรอบโดยสมบูรณ์ (ทั้งยังยืนยันว่า ชื่อที่ถูกต้องของชาดกเรื่องนี้คือ “เนมิราช” แต่ผมเลือกสะกดว่า “เนมี” ดังเหตุผลที่เคยอธิบายไปแล้ว)

เวลาล่วงผ่านพ้นไป พระเนมีก็ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ ทรงบำเพ็ญบารมีด้วยการบริจาคทาน รักษาศีล และแสดงธรรมแก่ราษฏร กระทั่งผู้คนล้วนปฏิบัติตนเป็นคนดีตามอย่างโดยทั่วหน้า

ครั้งนั้น เมื่อผู้คนตายดับล้วนขึ้นสวรรค์กันหมด ส่งผลให้นรกว่างโล่งโหรงเหรง

จุดใหญ่ใจความสำคัญของชาดกตอนนี้ก็คือ พระเนมีท่านเกิดข้อสงสัยตรองไม่ตกขึ้นมาว่า ระหว่างการรักษาศีลกับการทำทานนั้น อย่างไหนจะมีอานิสงส์มากกว่ากัน
เนมีราชชาดกเป็นตอนที่มุ่งเน้นแสดงให้เห็นถึง “อธิษฐานบารมี” ผมควรเล่าไว้ด้วยว่า อธิษฐานไม่ได้แปลว่า “ขอ” ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่หมายถึง ความตั้งใจแน่วแน่มั่นคง ปราศจากอาการสั่นคลอนหวั่นไหว

เรื่องมาเกี่ยวข้องกับ “อธิษฐานบารมี” ตรงนี้นี่เอง คือเมื่อพระเนมีเกิดปุจฉาขึ้นในใจและไม่พบคำตอบ พระอินทร์จึงต้องเสด็จมาวิสัชนาให้ความกระจ่าง

คำอธิบายของพระอินทร์ก็คือ การรักษาศีลนั้นดีกว่าการทำทาน แต่ดีที่สุดควรปฏิบัติทั้งสองด้านไปควบคู่กัน

เมื่อพระอินทร์เสด็จกลับสวรรค์ ข่าวก็ล่วงรู้แพร่กระจายไปถึงเหล่าเทวดา พระเนมีราชคงจะมีกิตติศัพท์โดดเด่นอยู่มากทีเดียว บรรดาเทพบุตรนางฟ้าทั้งหลาย จึงอยากยลโฉมพระองค์ให้เป็นบุญตา และพากันขอร้องต่อพระอินทร์ให้เชิญพระเนมีขึ้นมาแสดงธรรมบนสวรรค์

พระอินทร์จึงส่งพระมาตุลีขับเวชยันตร์ราชรถ (บางแหล่งก็เรียกว่า “เวชยันตทิพยยาน”)ไปรับตัวพระเนมี แต่ไม่ได้มุ่งตรงมายังสวรรค์ทันที มีการแวะทัวร์เยี่ยมชมนรกครบทุกขุมและวิมานสวรรค์ชั้นต่าง ๆ จนกระทั่งพระอินทร์ต้องเร่งรัดให้รีบตรงมายังปลายทาง ณ สุธรรมาเทพสภา บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (ทัวร์สวรรค์จึงยังไม่ครบถ้วน) เพื่อแสดงธรรมแก่เหล่าเทวดานางฟ้าทั้งหลาย

หลังจากแสดงธรรมครบ 7 วัน พระอินทร์ก็ทูลเชิญขอให้พระเนมีเสวยสุขบนสวรรค์

แก่นเรื่องเกี่ยวกับ “อธิษฐานบารมี”อยู่ตรงนี้เองครับ พระเนมีทรงปฏิเสธ ด้วยเหตุผลว่า สิ่งที่ได้มาเพราะผู้อื่นให้ ก็เหมือนหยิบยืมเขามา ทรงปรารถนาจะทำบุญทั้งหลายด้วยตนเอง และมุ่งมั่นแน่วแน่ที่จะบำเพ็ญบารมีต่าง ๆ ให้ครบถ้วน อันนำไปสู่การเกิดเป็นพระโพธิสัตว์ในชาติสุดท้ายเพื่อตรัสรู้

พระเนมีจึงเสด็จกลับโลกมนุษย์ ใช้ชีวิตตามครรลองจนเส้นผมหงอก แล้วออกบวช และทำให้การปฏิบัติตามประเพณีบรรจบครบ 84,000 องค์ (ซึ่งพระเนมีเป็นผู้เริ่มและจบด้วยตนเอง) นับจากนั้น กษัตริย์เมืองมิถิลาองค์ต่อ ๆ มาก็ไม่มีการออกบวชอีกเลย

ภาพวาดของครูทองอยู่ที่วัดสุวรรณาราม แบ่งพื้นที่ออกเป็นสามส่วนคือ ล่าง กลาง บน (เวลาดูไล่เรียงลำดับตามนี้นะครับ)

ตอนล่างสุดคือ ภาพพระมาตุลีขับเวชยันต์ราชรถพาพระเนมีสู่ดินแดนนรก บริเวณตรงกลางซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของภาพนี้ จับความเหตุการณ์ที่ทรงแสดงธรรมต่อเหล่าเทวดา ณ สุธรรมาเทพสภา ตอนบนสุดเป็นภาพเทวดานางฟ้า เหาะเหินเดินอากาศถือเครื่องหอม รอต้อนรับการเสด็จมาถึงของพระเนมี

เรื่องนี้ยังจบไม่ลง หารันเวย์ไม่เจออีกแล้วครับ




(เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2552 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ")