วันอังคารที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เหตุผลที่ควรเดินช้า โดย "นรา"


ช่วงสัปดาห์กว่า ๆ ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ดูหนังเก่าและใหม่อย่างละหนึ่งเรื่อง คือ Tokyo Tower และ Click

Tokyo Tower เป็นหนังประเภทที่ให้ความสำคัญกับรายละเอียดปลีกย่อยมากกว่าพล็อต มีเค้าโครงเบาบาง เน้นการบอกเล่ารายละเอียดกระจัดกระจาย ไม่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน เรื่องคร่าวร่าว ๆ กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกครอบคลุมช่วงเวลาหลายสิบปี

ใจความหลักของหนังก็คือ การแสดงให้เห็นชีวิตช่วงวัยรุ่นของฝ่ายลูก ซึ่งเกิดเหตุก้าวถลำพลาดพลั้งเพราะสิ่งเย้ายวนต่าง ๆ จนเกือบจะล้มเหลวเรียนไม่จบ แต่ก็รอดพ้นมาได้อย่างฉิวเฉียด ด้วยความรักอันไร้ขีดจำกัดของแม่ และมีโอกาสสร้างเนื้อสร้างตัว ประกอบอาชีพการงานมั่นคง จนกระทั่งสามารถกลับมาเป็นฝ่ายดูแลแม่ผู้แก่เฒ่า (และล้มป่วยด้วยโรคร้าย)

จุดเด่นก็คือ มันเป็นหนังชีวิตที่เรียบง่ายเหลือเกิน แม้จะเต็มไปด้วยเหตุการณ์มากมาย ซึ่งสามารถบีบคั้นฟูมฟายเร้าอารมณ์ได้สบาย ๆ ทว่าคนทำหนังกลับหลีกเลี่ยงเสนอแบบผ่าน ๆ ปล่อยให้เรื่องราวค่อย ๆ บดขยี้สร้างความสะเทือนใจทีละน้อยอย่างใจเย็น (ผมประทับใจกับฉากแม่ลูกเดินจูงมือกันข้ามถนนมากเป็นพิเศษ)
ผลลัพธ์สุดท้ายก็คือ อารมณ์เศร้าชนิด “เอาตาย” แบบ feel good

ดูจบแล้ว ผมแทบไม่ได้คิดถึง Tokyo Tower ในแง่มุมของการวิจารณ์เลย และแยกแยะไม่ถูกหรอกว่า หนังดีหรือไม่ดีอย่างไร รู้เพียงอย่างเดียวเท่านั้นเองว่า อยากนั่งรถทัวร์เดินทางไปเยี่ยมแม่ที่ต่างจังหวัดขึ้นมาฉับพลัน

ส่วนเรื่อง Click นั้นมาในทางตรงกันข้าม หน้าตาภายนอกเป็นหนังตลกเต็มตัว ว่าด้วยสถาปนิกหนุ่ม ซึ่งใฝ่ฝันอยากประสบความสำเร็จสูงสุดในอาชีพการงาน จนกระทั่งยินยอมสละเวลาที่ควรจะมีให้แก่ “ครอบครัว”

วันหนึ่ง คุณพระเอกก็พบกับบุรุษลึกลับ และได้รับมอบรีโมทคอนโทรลสารพัดประโยชน์ ไม่เพียงแต่จะสามารถควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ได้แบบเอนกประสงค์เท่านั้น ทว่าอุปกรณ์ดังกล่าวยังสามารถกำหนดความเป็นไปของชีวิตได้อีกด้วย เช่น ย้อนถอยกับไปดูเหตุการณ์ในอดีต, กดปุ่มปิดเสียงของคู่สนทนา, เร่งสปีดสถานการณ์ที่เชื่องช้าให้กระชับฉับไว, หยุดความเคลื่อนไหวรอบข้างชั่วขณะ ฯลฯ

นับจากนั้นสถาปนิกหนุ่มก็ใช้รีโมทคอนโทรลแบบไม่ยั้งมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปุ่มกลไกเกี่ยวกับการเร่งเหตุการณ์เคลื่อนไปสู่ข้างหน้าอย่างฉับไว (เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์น่าอึดอัดรำคาญใจ เช่น ขณะกำลังทะเลาะเบาะแว้งมีปากเสียงกับภรรยา, ช่วงอาบน้ำแต่งตัวยามเช้าก่อนไปทำงาน, ข้ามเหตุการณ์รถติดเสียเวลาบนท้องถนน ฯลฯ) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เร่งรัดเวลาอันเนิ่นนานยืดยาวในการทำงาน เพื่อผ่านเลยไปสู่ความสำเร็จบั้นปลายในชั่วพริบตา

พูดง่าย ๆ ว่า เขาเร่งสปีดเพื่อหลีกเลี่ยงเว้นข้ามห้วงเหตุการณ์ที่มีปัญหา และใช้ความเร็วมาขจัดลบล้างเรื่องที่ต้องใช้เวลารอคอยล่าช้าไม่ทันใจ

ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นคือ ชายหนุ่มทำรายละเอียดต่าง ๆ ในช่วงเร่งรัดให้เวลาคืบหน้ารวดเร็ว ตกหล่นสูญหายไปเกือบหมด กระทั่งเหมือนกับชีวิตที่เคว้งคว้างว่างโหวง เหลือเพียงเหตุปัจจุบันเฉพาะหน้า ทว่าปราศจากเรื่องราวใด ๆ ในอดีตให้จดจำ

ย่ำแย่ร้ายกาจกว่านั้นก็คือ การกดปุ่มเร่งรัดเวลาบ่อยครั้ง ส่งผลให้เครื่องมือวิเศษสารพัดประโยชน์เกิดอาการรวน เร่งรวบเหตุการณ์ไปข้างหน้าอยู่บ่อยครั้ง จากชายหนุ่มกลายเป็นวัยกลางคน ล่วงเลยสู่ช่วงชราภาพโดยรวดเร็ว เกิดเหตุเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ นานาสารพัด และล้วนแต่หนักไปในทางร้ายติดลบ (เช่น ภรรยาขอหย่าร้างชีวิตครอบครัวล้มเหลว ฯลฯ) ความสำเร็จหนึ่งเดียวที่เหลืออยู่ มีเพียงความก้าวหน้าในอาชีพการงานเท่านั้น (เมื่อตัดพ้อต่อว่าบุรุษลึกลับเจ้าของสิ่งประดิษฐ์ ก็ได้รับคำตอบยืนยันว่า ก่อนจะมีรีโมท สถาปนิกหนุ่มก็ใช้ชีวิตเร่งรัดเช่นนี้อยู่ก่อนแล้ว)

ถึงตรงนั้นคุณพระเอกของเราก็พบว่าตนเองโดดเดี่ยวไม่มีใคร และมีแต่อดีตไม่พึงปรารถนา (คือ เหตุชวนหงุดหงิดจนทำให้เขาต้องกดรีโมทเร่งสปีด) เต็มไปหมด
ที่สำคัญคือ เขาใช้ชีวิตแบบเร่งรีบ กระทั่งพล่าผลาญเวลาสูญหายสิ้นเปลือง เป็นชีวิตที่กล่าวได้ว่ามีแต่เค้าโครงเรื่องย่อคร่าว ๆ ปราศจากรายละเอียด เป็นชีวิตที่บรรลุผลตามเป้าหมาย แต่ขาดไร้สิ่งที่เรียกกันว่า ทิวทัศน์ “ระหว่างทาง”

Click ใช้เรื่องราวแบบแฟนตาซีและนิทานสอนใจ มาเปรียบเปรยกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ของคนชั้นกลางในสังคมอเมริกัน ซึ่งบ้างานแบบไม่ลืมหูลืมตา กระทั่งทำลายสายใยผูกพันในครอบครัวล่มสลายพังพินาศ

ที่ผมนึกไม่ถึงก็คือ มันเป็นหนังตลกแค่ครึ่งเดียว เฉพาะช่วงสาธิตแสดงให้เห็นถึงลูกเล่นของรีโมทมหัศจรรย์ พ้นจากนั้นแล้วก็กล่าวได้ว่า เป็นหนังชีวิตสะเทือนอารมณ์ ฉายภาพด้านลบของวิถีความเป็นอยู่แบบทุนนิยม/วัตถุนิยมสุดขั้วได้น่าสะพรึงกลัวมาก

ฉากที่ชวนให้ใจสลายเป็นอย่างยิ่งคือ เมื่อคุณพระเอกเพิ่งทราบข่าวว่าพ่อของตนเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว เขาพยายามกดปุ่มย้อนอดีตก็พบเพียงความว่างเปล่า (เนื่องจากตอนที่พ่อเสียชีวิต เขาไม่ได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ด้วย) สิ่งที่ทำได้มากสุด จึงเป็นแค่ย้อนกลับไปยังการพบปะกันครั้งสุดท้าย ซึ่งเขานั่งหมกมุ่นคร่ำเคร่งอยู่กับงานในออฟฟิศ พ่อผู้ชราภาพเข้ามาชักชวนไปหากิจกรรมผ่อนคลายหลังเลิกงาน แต่ฝ่ายลูกกลับตอบปฏิเสธแบบไร้เยื่อใย (และไม่ยอมแม้แต่จะเสียเวลาชั่วครู่ เงยหน้าขึ้นมามองด้วยซ้ำ) ที่เจ็บปวดสุด เขายังพูดจาไม่ยั้งคิดทำร้ายจิตใจผู้เฒ่าอย่างรุนแรงเกินให้อภัย

เมื่อย้อนหลังกลับไปดูอดีตที่ไม่อาจแก้ไข คุณพระเอกของเรา จึงทำได้มากสุดเพียงแค่ “หยุดความเคลื่อนไหว” ขณะที่พ่อกำลังเดินหันจากมาด้วยอาการใจสลาย ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก่อนจะบอกกล่าวสารภาพความในใจว่า “พ่อครับ ผมรักพ่อ” ในวาระที่ทุกสิ่งทุกอย่าง “สายเกินไป”

แม้จะเป็นหนังที่นำเสนอด้วยอารมณ์และบรรยากาศห้อมล้อม ผิดแผกแตกต่างกันอยู่เยอะ แต่จุดร่วมประการหนึ่งที่ Tokyo Tower และ Click มีอยู่ตรงกันก็คือ ประเด็นว่าด้วยความรักความผูกพันระหว่างพ่อแม่ลูก การชี้ชวนให้ผู้ชมหันมาตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของช่วงหนึ่งในชีวิต-ซึ่งไม่ยาวนานนัก-ที่มีอยู่ร่วมกัน (และควรจะใช้สอยมันอย่างคุ้มค่าเปี่ยมความหมาย)

ขอสารภาพว่า ผมดูแล้วน้ำตาร่วงทั้งสองเรื่อง และเมื่อนึกทบทวนความหลังอย่างตรงไปตรงมา ล้วนเคยก่อความผิดพลาดเช่นเดียวกับตัวละครในหนัง ทั้งการทำตัวเหลวไหลให้เป็นภาระหนักอกของพ่อแม่ และการเลือกวิถีชีวิตเร่งรีบ จนละทิ้งใส่ใจต่อสมาชิกในครอบครัวน้อยเกินไป

สมัยวัยรุ่นนั้น พฤติกรรมแบบไร้เดียงสาไม่เข้าใจโลกของผม ทำให้แม่ต้องกลัดกลุ้มเสียน้ำตาอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็พูดได้อีกเช่นกันว่า น้ำตาของแม่เป็นสิ่งเดียวที่เหนี่ยวรั้งให้ผมสามารถรอดพ้นจากการเสียผู้เสียคน กลับมาเกิดสติใช้ชีวิตอยู่บนหนทางที่ถูกที่ควร

คล้อยหลังจากนั้น ในการสนทนาหลายต่อหลายครั้ง แม่มักจะบอกกับผมอยู่เสมอว่า แค่เพียงไม่ต้องหวาดวิตกกังวลเรื่องลูกจะเดินผิดก้าวพลาด มีอาชีพการงานที่สุจริต และสามารถเลี้ยงดูตนเองได้โดยไม่เดือดร้อน นั่นถือได้ว่าเป็นความสุขสูงสุดของแม่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้แม่จะไม่เคยพูดออกมาตรง ๆ แต่ผมเชื่อว่า กระทั่งทุกวันนี้ แม่ก็ยังไม่เคยเลิกหรือหยุดห่วงใยบรรดาลูก ๆ

เวลาอาจจะเคลื่อนผ่านไม่เคยหยุดนิ่ง ทำให้คนเราเกิดการเปลี่ยนสถานะจากวัยหนึ่งสู่อีกวัยหนึ่งอย่างรวดเร็ว แต่ในสายตาและมุมมองของผู้เป็นแม่ ลูกทุกคนยังคงเป็นเสมือนลูกนกหัดบิน ที่ต้องเฝ้ามองสอดส่องด้วยความระมัดระวังใส่ใจอยู่เสมอ

นอกเหนือจากการดูแลแม่ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว ผมคิดว่าสิ่งสำคัญอีกประการที่ลูกทุกคนพึงกระทำก็คือ การเดินช้า ๆ บินช้า ๆ อย่างรอบคอบรัดกุม เพื่อให้แม่วิตกกังวลห่วงใยน้อยสุด

การเดินช้าหรือบินช้าในที่นี้ ผมหมายถึงทัศนคติต่อการทำงานและการใช้ชีวิต

ผมนั้นไม่ใช่คนบ้างาน ปราศจากเป้าหมายไกล ๆ หรือแผนการว่าจะต้องทำโน่นทำนี่ใหญ่โตให้สำเร็จภายในระยะเวลาเท่านั้นเท่านี้

เป้าหมายใกล้ตัวของผมจึงมีอยู่แค่ ทำงานเฉพาะหน้าให้ดีที่สุด และทำอย่างเต็มที่ตามกำลังสติปัญญาจะเอื้ออำนวย แสวงหารายรับพอเหมาะสม ไม่เป็นหนี้ใคร มีเงินพอจับจ่ายใช้สอยเท่าที่จำเป็น เหลือเก็บออมไว้ส่วนหนึ่งสำหรับรับมือกับกรณีฉุกเฉิน

พ้นจากนี้แล้ว สิ่งสำคัญสูงสุดก็คือ การใช้เวลาดูแลทุกข์สุขซึ่งกันและกันกับคนรอบข้างที่รักใคร่ผูกพันเท่านั้นนะครับ

ส่วนความสำเร็จหรือชื่อเสียงลาภยศ ผมคิดว่าไม่จำเป็น ทุกสิ่งทุกอย่างมันจบลงตั้งแต่ผมทำงานเสร็จแล้ว ถ้างานออกมาเป็นที่พึงพอใจ มีประโยชน์ทางหนึ่งทางใดต่อผู้อ่านอยู่บ้าง นั่นนับเป็นความสำเร็จ ในทางตรงข้าม หากออกมาบกพร่อง ผมถือว่าเป็นความล้มเหลวสุดขีดที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงมิให้ผิดพลาดซ้ำสอง

เปรียบการใช้ชีวิตเหมือนการเดินทาง ผมให้น้ำหนักความสำคัญกับ “ระหว่างทาง” มากกว่า “เป้าหมาย” กล่าวคือ ที่สุดแล้วจะไปถึงไหนก็ไม่เป็นไร แต่เส้นทางหรือวิธีการนั้น ควรจะอยู่บนความถูกต้องดีงาม เป็นวิถีที่สามารถก้าวเดินด้วยความสุขสงบ

ผมเชื่อต่อไปอีกนิดว่า เส้นทางมุ่งสู่สรวงสวรรค์ ไม่น่าจะบรรลุถึงด้วยวิธีการเหยียบย่ำผู้อื่น แต่สมควรเป็นการประคับประคองช่วยเหลือหยิบยื่นน้ำใจไมตรีต่อกันและกันมากกว่า

อย่างไรก็ตาม เรื่องความเชื่อส่วนบุคคล แต่ละท่านอาจจะคิดเห็นแตกต่างกันได้ และยิ่งไม่ควรมีการใช้ความเชื่อแบบหนึ่ง ไปตัดสินความเชื่อที่เห็นต่างไม่ตรงกันว่าเป็นสิ่งเลวร้าย

ผมเพียงแต่มั่นใจว่า แม่คงจะมีความสุขขึ้นมาสักเล็กน้อย ถ้ารู้ว่าการเดินช้า, ความเชื่อ และทัศนคติต่าง ๆ ของผมในปัจจุบัน จะทำให้แม่ลดทอนความกังวลห่วงใยต่อผมลงไปได้บ้าง

ผมเคยทำให้แม่เสียใจและร้องไห้มาแล้วบ่อยครั้ง ซึ่งเป็นความผิดพลาดที่ไม่อาจลบล้างไถ่ถอน แต่ข้อดีงามอย่างหนึ่งของชีวิตก็คือ ยังมีโอกาสอีกมากมายในการทำให้แม่เกิดรอยยิ้มอย่างมีความสุข

แม่ผมอ่านหนังสือไม่ออกนะครับ แต่ผมก็อยากจะเขียนถึงเรื่องเหล่านี้ เพื่อแม่และทุก ๆ คนที่เป็นแม่


(เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2551 เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน นำมาลงในบล็อกให้อ่านกันอีกครั้ง เนื่องในวาระวันแม่นะครับ)

คืนนั้นดวงจันทร์ส่องแสงเหมือนหยาดน้ำตา โดย "นรา"







ชื่อบทความชิ้นนี้ อาจชวนให้เข้าใจล่วงหน้าไขว้เขวอยู่สักหน่อยว่า คงจะเกี่ยวข้องกับเรื่องรักหวานขมสะเทือนอารมณ์

ไม่ใช่หรอกนะครับ แท้จริงแล้วผมนำมาจากประโยคหนึ่งที่ปรากฎในตอนท้าย ๆ ของนิยายเรื่อง Animal’s People (ฉบับภาษาไทยใช้ชื่อ “เรียกผมว่า ไ...อ้สัตว์” สำนวนแปลโดยวิภาดา กิตติโกวิท) ซึ่งมีรายละเอียดเนื้อใน ห่างไกลจากเรื่องรักโรแมนติคอยู่เยอะทีเดียว

นิยายยอดเยี่ยมเรื่องนี้ เชื่อมโยงอยู่กับเหตุโศกนาฎกรรมที่เคยเกิดขึ้นจริง ในเมืองโภปัล ประเทศอินเดียเมื่อปี 1984

กลางดึกคืนวันที่ 3 ธันวาคม ปีนั้น เกิดเหตุระเบิดในโรงงานผลิตยาฆ่าแมลงของบริษัทยูเนียนคาร์ไบด์ ส่งผลให้สารเคมีและก้าซพิษรั่วไหลแพร่กระจายไปทั่วเมืองโภปัล คร่าชีวิตชาวบ้านประมาณสองพันคนในทันที และล้มตายอีกราว ๆ สองหมื่นในเวลาต่อมา

กรณีดังกล่าว เรียกขานกันว่า “หายนะที่เมืองโภปัล” เป็นอุบัติเหตุเกี่ยวกับสารพิษที่รุนแรงสาหัสมากสุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก ที่น่าสะเทือนใจยิ่งก็คือ หลังจากค่ำคืนแห่งโศกนาฎกรรมผ่านพ้นไปแล้ว พิษร้ายยังแทรกซึมปนเปื้อนอยู่ในพื้นดินและน้ำดื่ม ส่งผลให้ชาวเมืองนับแสนคน ล้มป่วยและพิการ

เหตุดังกล่าวผ่านพ้นล่วงเลยมา 20 กว่าปีแล้ว ทว่าบริษัท ยูเนียนคาร์ไบด์ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญ ได้หนีจากหายไปโดยไม่เหลียวแลรับผิดชอบ กระทั่งกลายเป็นคดีฟ้องร้องที่ยังคงยืดเยื้อคาราคาซังมาจนถึงปัจจุบัน

เป็นการต่อสู้เพื่อทวงถามเรียกร้องความยุติธรรม ระหว่าง 2 ฝ่ายที่แตกต่างเหลื่อมล้ำกันสุดขั้ว ฝ่ายหนึ่งคือชาวบ้านผู้ยากไร้ขัดสน (แถมยังเจ็บป่วย) มีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่เลวร้ายเสมือนดังพำนักอาศัยใน “นรกบนดิน” กับอีกฝ่ายคือ บริษัทยักษ์ใหญ่ทุนข้ามชาติที่มีพร้อมทั้งกำลังเงิน, อำนาจ, อิทธิพล และเครือข่ายกว้างขวางในการประชาสัมพันธ์สร้างภาพ รวมทั้งว่าจ้างทนายความเก่ง ๆ มาเล่นแง่ทางด้านตัวบทกฎหมาย

ยิ่งไปกว่านั้น ทางบริษัทยักษ์ใหญ่ ยังใช้เงื่อนไขทางด้าน “การลงทุน” ในอินเดีย เป็นกลไกสำคัญในการกดบีบข้าราชการและรัฐบาลอินเดีย กระทั่งเกิดอาการ “เอาหูไปนา เอาตาไปไร่” เพิกเฉยมองข้ามความทุกข์ยากลำบากของชาวบ้าน และไม่ดำเนินไปตามครรลองอันถูกต้องถ่องแท้ของกระบวนการยุติธรรม

ผู้เขียนนิยายเรื่อง Animal’s People คือ อินทรา สิงห์เกิดในอินเดีย เติบโตที่บอมเบย์ เรียนจบปริญญาตรีทางด้านวรรณคดีจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และเคยมีอาชีพเป็นก็อปปีไรเตอร์เขียนข้อความโฆษณาให้แก่เอเยนซีชื่อดังในอังกฤษ

ในปี 1994 เขาได้รับการไหว้วานร้องขอให้ช่วยรณรงค์ เพื่อระดมทุนก่อตั้งคลีนิครักษาฟรีให้แก่ชาวเมืองโภปัล จึงเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน กระทั่งได้รับการสนับสนุนท่วมท้นล้นหลามจากผู้อ่าน และกลายเป็นจุดเริ่มต้นนำพาเขาเข้าไปสัมผัสรับรู้ปัญหาความทุก์ยากเดือดร้อนชนิดหยั่งลงสู่รากลึก

ถัดจากนั้นอินทรา สิงห์ก็ได้เขียนบทความเกี่ยวกับ “หายนะที่เมืองโภปัล” อีกหลายต่อหลายครั้ง และมีบันทึกข้อมูลจำนวนหนึ่ง ซึ่งตระเตรียมใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับเขียนบทหนังเรื่อง Bhopal Express ในปี (เดิมหนังเรื่องนี้ใช้ชื่อว่า Green Song)

นั่นคือ จุดเริ่มต้นสำหรับความคิดที่จะนำบันทึกข้อมูลดังกล่าว มาเขียนดัดแปลงเสียใหม่เป็นนิยายเกี่ยวกับโศกนาฎกรรมที่โภปาล

อินทรา สิงห์เริ่มลงมือเขียนนิยายในช่วงฤดูร้อนปี 2001 แต่ผลลัพธ์ที่ออกมากลับไม่น่าพึงพอใจนัก จนกระทั่งได้พบกับสองบุคคลที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ

มีเพื่อนบางคนมาบอกเล่าให้เขาฟังถึง ชายหนุ่มพิการชื่อสุนิล กุมาร ซึ่งมีกระดูกหลังคดงอ จนต้องเดินสี่เท้า ถัดมาลูกสาวของอินทรา สิงห์เล่าให้ฟังว่า เธอไปพบแม่ชีชราชาวฝรั่งเศส ซึ่งหลงลืมภาษาอื่น ๆ หมดสิ้น จดจำได้เพียงแต่ภาษาฝรั่งเศสที่นางเคยพูดเมื่อครั้งวัยเด็ก

ทั้งสองกลายเป็นที่มาแรงบันดาลให้แก่ตัวละครสำคัญในนิยาย คือ ชานวร (อ่านว่า ชาน-นะ-วอน) และแม่ชีฟรองซี

เมื่อค้นพบตัวละครอย่างชานวร ก็เหมือนกับอินทรา สิงห์เล็งเห็นหนทางสว่างในการเขียนนิยายเรื่องนี้นะครับ คือ รู้ว่าจะบอกเล่าเรียงลำดับเหตุการณ์ เชื่อมโยงร้อยเรียงข้อมูลอันกระจัดกระจายให้เป็นเอกภาพกลมกลืนกันได้อย่างไร

อินทรา สิงห์ใช้เวลาเขียนเรื่อง Animal’s People อยู่ประมาณ 5 ปี จึงเสร็จสิ้นสมบูรณ์

ในนิยายเขาได้สร้างเมืองสมมติขึ้นมาชื่อเขาฟ์ปุระ (khaufpur) และไม่ระบุชื่อบริษัทยักษ์ใหญ่เจ้าของโรงงานต้นเหตุสารพิษรั่ว แต่กล่าวถึงเพียงแค่ในนาม “กัมปานี” เหตุผลก็เพราะเขาไม่ต้องการให้ข้อเท็จจริงตลอดจนข้อมูลต่าง ๆ มาเป็นกรอบจำกัดจินตนาการส่วนตัวในการเล่าเรื่อง

ที่สำคัญ เจตนาในการเขียนนิยายเรื่องนี้ของอินทรา สิงห์ (จากคำให้สัมภาษณ์โดยตัวเขาเอง) ต้องการบอกเล่าถึงชีวิตของผู้คน (ซึ่งมีนัยยะเชื่อมโยงพาดพิงไปถึงชาวเมืองโภปัล) สิ่งที่พวกเขารู้สึกนึกคิด ชะตากรรมทุกข์ยากที่พบเผชิญ สภาพความเป็นอยู่ ฯลฯ มากกว่าจะพูดถึงลำดับความเป็นมาเป็นไปต่าง ๆ ของเหตุการณ์ “หายนะที่เมืองโภปัล” โดยตรง (อันเป็นสิ่งที่ชาวโลกรับทราบกันดีอยู่แล้ว)

“เรียกผมว่า ไ...อ้ สัตว์” เป็นนิยายที่สามารถสะกดตรึงผู้อ่านตั้งแต่เริ่มเรื่อง โดยให้ตัวเอกบอกกล่าวทักทายกับผู้อ่านว่า “ครั้งหนึ่งผมเคยเป็นมนุษย์...”

ขอสารภาพว่า เหตุผลเพียงหนึ่งเดียวที่ทำให้ผมเสี่ยงซื้อนิยายเรื่องนี้ โดยไม่ทราบอะไรมาก่อนเลย ก็เพราะวรรคทองนี้เอง กล่าวคือ ผมเชื่อเป็นการส่วนตัวว่า ถ้าลำพังแค่ประโยคเริ่มต้นยังเฉียบคมถึงเพียงนี้ รายละเอียดอื่น ๆ ถัดมาก็น่าจะดีเยี่ยม (ผลปรากฎว่า ผมเดาถูกนะครับ)

เรื่องทั้งหมดเล่าผ่านมุมมองของชานวร โดยกำหนดให้เขาอัดเสียงคำพูดตนเองลงในเครื่องบันทึกเทป ตามคำขอร้องจากนักข่าวชาวตะวันตก (ซึ่งไม่ได้ปรากฎตัวมีบทบาทเลยตลอดทั้งเรื่อง)

ชานวรเกิดมาได้เพียงแค่ไม่กี่วัน ก็ประสบเหตุ “คืนนั้น” จนทำให้พ่อแม่ของเขาเสียชีวิต ส่วนทารกน้อยรอดตาย ได้รับการเลี้ยงดูและเติบโตมาในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าโดยแม่ชีฟรองซี (ซึ่งเคยพูดได้หลายภาษา แต่หลังจากโดนก้าซพิษเข้าไป ก็ลืมเลือนหมด สามารถสื่อสารได้แค่ภาษาฝรั่งเศส และเชื่อเป็นตุเป็นตะว่า ภาษาอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ไม่ใช่ภาษามนุษย์)

จนกระทั่งเมื่ออายุหกขวบ ชานวรก็เกิดอาการไข้ขึ้น ปวดร้าวไปทั้งตัว หลังจากนั้นโครงกระดูกบริเวณกลางหลังก็คดงอบิดเบี้ยว กระทั่งไม่อาจยืนตัวตรงและเดินสองเท้าได้เหมือนผู้คนอื่น ๆ ต้องใช้มือคืบคลานค้ำยันเหมือนสัตว์สี่เท้า

นั่นเป็นที่มาของชื่อชานวร (แปลว่า “สัตว์” ในต้นฉบับภาษาอังกฤษเรียกชื่อตัวละครว่า Animal) ซึ่งเกิดจากการเรียกขานด้วยน้ำเสียงล้อเลียนของคนรอบข้าง

ปมด้อยและความพิกลพิการดังกล่าว รวมทั้งสภาพจิตใจที่มีอาการวิกลจริตอยู่บ้าง ส่งผลให้ชานวร ขมขื่นคับแค้นและรู้สึกว่าตนเองผิดประหลาดไม่เข้าพวกกับผู้อื่น เขาจึงสร้างเกาะคุ้มกัน ด้วยการเลือกข้างยืนกรานที่จะเป็น “สัตว์” และปฏิเสธความเป็น “มนุษย์” (และมักจะหยิบยกมาเป็นเหตุผลข้ออ้างอย่างดื้อรั้นอยู่บ่อยครั้ง ในการไม่ยอมประพฤติตนตามกติกาของสังคมส่วนรวม)

ความไม่ปกติของชานวรนี่แหละครับ คือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คำบอกเล่าต่าง ๆ ที่ปรากฎในนิยายเรื่องนี้ “พิสดาร” และเต็มไปด้วยรสชาติหลากหลายชวนอ่าน ทั้งตลกขบขัน ช่างเหน็บแนม เย้ยหยัน ละเมียดละเอียดอ่อน ก้าวร้าวหยาบคาย มีลีลางดงามเหมือนบทกวี ดิบเถื่อนสากกร้านชวนพะอืดพะอม ความเข้มข้นสมจริง รวมไปถึงบรรยากาศในเชิงอุปมาอุปมัยจนเหนือจริง (เช่น การที่เขาได้ยินเสียงต่าง ๆ มากมายในหัวพูดคุยกันเอง หรือแม้กระทั่งสามารถคุยกับซากทารกสองหัวที่ดองน้ำยาในขวดโหล)

นิยายเรื่องนี้ ไม่ได้มีพล็อตหรือเค้าโครงหวือหวา แต่ในรายละเอียดที่บอกเล่าอย่างลื่นไหลฉวัดเฉวียน มันเป็นเรื่องว่าด้วยมุมมองของสัตว์ (ชานวร) ซึ่งมีต่อผู้คนหลากหลายชีวิตที่ห้อมล้อมอยู่รอบ ๆ ตัวเขา, ว่าด้วยผู้คนจำนวนหนึ่ง ที่มีเปลือกนอกและสภาพความเป็นอยู่อัปลักษณ์ทุเรศนัยน์ตา แต่เปี่ยมด้วยจิตใจสวยงาม, ว่าด้วยมนุษยธรรมอันซาบซึ้งน่าประทับใจบนชะตากรรมรันทดหดหู่, ว่าด้วยตัวละครที่เป็นสัตว์ทางกายภาพ แต่มีจิตใจเป็นมนุษยที่แท้ไม่ด้อยไปกว่าใคร, ว่าด้วยการต่อสู้ระหว่างความดีกับความเลว, ว่าด้วยศรัทธามุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว บนสภาพความเป็นจริงที่แทบไม่เหลืออะไรให้หวังหรือยึดเหนี่ยว, ว่าด้วยสวรรค์บนดินที่กลายเป็นนรกเพียงชั่วข้ามคืน และนรกอันยาวนานที่มีมุมหนึ่งของสรวงสวรรค์แฝงซ่อนอยู่

เหนือสิ่งอื่นใดคือ การที่ชานวรใช้วิธีเยาะเย้ยตอบโต้ทุกข์ยากโศกนาฎกรรมของตนเอง ด้วยอารมณ์ขันอันชาญฉลาดคมคาย

บางรายละเอียดในนิยายเรื่องนี้ โหดร้ายทารุณและเศร้าสลดหดหู่ทำร้ายจิตใจ เกินกว่าที่ผมจะกล้าใช้คำว่า “สนุก” แต่โดยรวมแล้วผมสรุปได้ว่า Animal’s People เป็นนิยายที่เขียนได้อย่างมีชีวิตชีวา ชนิดหยิบอ่านแล้ววางไม่ลง นี่เป็นโศกนาฏกรรมที่บอกเล่าอย่างรื่นรมย์หรรษา และทำให้อ่านจบลงด้วยรอยยิ้มเปื้อนหยดน้ำตา

โดยเฉพาะช่วงสองสามบทท้าย ๆ (ประมาณ 70 หน้ากระดาษ) อินทรา สิงห์ เขียนได้ประณีตวิจิตรทรงพลังอย่างยิ่ง และเล่นงานจู่โจมกระหน่ำโบยตีอารมณ์ของผู้อ่านหนักหน่วง ทั้งตื่นเต้นระทึกใจ, ทั้งโศกสลดจนกลั้นน้ำตาไม่อยู่, ทั้งสยดสยองน่ากลัวราวกับฝันร้าย

ที่สำคัญมันนำเสนอบทสรุปในแบบไม่เป็นสูตรสำเร็จ ไม่ได้จบอย่างสุขสดชื่นสมหวัง หรือจบแบบโศกนาฎกรรมทำร้ายจิตใจ แต่เป็นการลงเอยที่เปี่ยมความหวัง งดงาม ก่อเกิดศรัทธาต่อการมีชีวิตและความเป็นมนุษย์อย่างแรงกล้า เป็นการจบโดยปล่อยให้เหตุการณ์ต่าง ๆ และตัวละคร ยังคงมีชีวิตโลดแล่นอยู่ในใจของผู้อ่าน

นี่คือ นิยายที่น่าประทับใจมากสุดอีกเรื่องหนึ่งในชีวิตการอ่านของผม






(เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2551 ตีพิมพ์และเผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ในการเพยแพร่คราวนี้ คงไว้ตามเดิมทุกอย่าง ไม่ได้แก้ไขขัดเกลาใด ๆ แต่อยากจะยืนยันอีกครั้งว่า เป็นหนังสือที่ยอดเยี่ยมมาก และขอแนะนำอย่างออกนอกหน้า

พร้อม ๆ กันนี้ ก็ต้องขออภัยสำหรับการหายหัวหายตัวหายหน้าหายตาไปหลายเดือน ช่วงที่ผ่านมา ผมออกไปใช้ชีวิตโลดโผนผจญภัย ทำให้เกิดความอัตคัดขาดแคลนเวลาสำหรับดูแลบล็อก ตอนนี้ราชการบ้านเมืองก็คลี่คลายไปเยอะแล้ว คงจะกลับสู่ภาวะปกติ และเจอะเจอกันบ่อยขึ้นในเร็ววันนี้นะครับ)