วันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

กลิ่นหอมของบ้านเกิด โดย "นรา"


ชายชราผู้หนึ่ง สูญเสียแทบทุกสิ่งในชีวิต ครอบครัวและหมู่บ้านพังพินาศย่อยยับ ผู้คนที่เคยรู้จักชื่อเสียงเรียงนามของเขา ล้วนล้มหายตายจากไปหมดสิ้น เหลือเพียงตัวแกโดยลำพัง

ผู้เฒ่าหมดสิ้นแรงใจและความกระตือรือล้นที่จะมีชีวิตต่อไป แต่เหตุผลประการเดียวที่ทำให้แกยังคงยืนหยัดอยู่ได้โดยไม่ทรุดล้มลงก็คือ หลานสาวซึ่งเป็นเด็กทารกวัยหกสัปดาห์

เขาบอกกล่าวกับตนเองว่า จะต้องมีชีวิตอยู่ เพื่อปกป้องดูแลและทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ดีที่สุดให้แก่ยายหนูจนกว่าแกจะเติบใหญ่

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ชายชราจึงยินยอมอพยพลี้ภัย ละทิ้งแผ่นดินถิ่นเกิด เดินทางรอนแรมไปกับเรือข้ามน้ำข้ามทะเลสู่โลกใหม่ที่เขาไม่รู้จักโดยสิ้นเชิง พร้อมทั้งกระเป๋าหนังใบเล็กๆ และหลานสาวที่กอดกระชับไว้แนบอกภายในกระเป๋าหนัง มีสมบัติล้ำค่าเท่าที่ยังเหลืออยู่ของท่านผู้เฒ่า เสื้อผ้าเก่าๆ ไม่กี่ตัว, ภาพตัวเขาเมื่อครั้งวัยหนุ่มถ่ายคู่กับภรรยาผู้ล่วงลับไปเนิ่นนาน และถุงผ้าใบเล็กบรรจุดินหนึ่งกำมือ-เป็นดินจากบ้านเกิดที่กำลังจะพรากจากกันตลอดกาล

ทั้งหมดนี้คือ จุดเริ่มต้นของนิยายอันยอดเยี่ยมเรื่อง “ซองดิว หลานสาวเมอร์สิเยอร์หลิ่นห์” (La petite fille de Monsieur Linh) เขียนโดยฟิลิปป์ คลอเดล (สำนวนแปลภาษาไทยโดยวิภาดา กิตติโกวิท)

นี่เป็นนิยายที่เพียงได้อ่านหน้าแรก ผ่านตาข้อความแค่ไม่กี่บรรทัด ผมก็ “ตกหลุมรัก” ไปเรียบร้อยแล้ว มันมีความเศร้าหม่นปะปนกับความงามอันละเมียดละไม รวมทั้งลีลาการเขียน สำนวนภาษา ตลอดจนวิธีเปรียบเปรยลึกซึ้งคมคายในแบบที่ผมชื่นชอบประทับใจนะครับ

เป็นรูปแบบลีลาการเขียนที่ผมอยากจะเรียกว่า ซ่อนบทกวีไว้ในนิยาย

ตัวอย่างเช่น “...เขายืนอยู่ที่ท้ายเรือ มองไปยังบ้านเมืองของตัวเอง บ้านเมืองของบรรพบุรุษและญาติมิตร ซึ่งตายจากไปนั้นค่อยๆ ห่างไกล รางเลือน ขณะที่ทารกในอ้อมแขนหลับสนิท ภาพบ้านเกิดถอยห่าง ห่างออกไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นจุดเล็กๆ เมอร์สิเยอร์หลิ่นห์ยืนมองภาพนั้นที่ค่อยๆ เลือนหายจนลับสายตา ณ แนวขอบฟ้า เขายืนอยู่เช่นนั้นนานนับชั่วโมง แม้ลมจะพัดแรงมากจนทำให้เขาซวดเซโงนเงนราวหุ่นกระบอก”

“...ชายชราเดินไปที่หน้าต่าง สายลมไม่ได้ทำให้ต้นไม้ใหญ่เอนไหวอีกแล้ว ราตรีถูกห้อมล้อมอยู่ในเมืองแห่งแสงไฟนับพันๆ ที่สว่างไสว ว่ากันว่าดวงดาวร่วงลงบนปฐพีและหาทางที่จะหนีกลับขึ้นสู่ฟากฟ้าใหม่ แต่ไม่อาจทำได้ เราไม่เคยสามารถหวนกลับไปหาสิ่งที่สูญเสียไปแล้วนั้นได้อีก เมอร์สิเยอร์หลิ่นห์คิดดังนี้”

“ซองดิว หลานสาวเมอร์สิเยอร์หลิ่นห์” ดำเนินไปในบรรยากาศและอารมณ์ห่อหุ้มเช่นนี้ตลอดทั้งเรื่อง โดยให้ความสำคัญกับการพรรณนาสาธยายถึงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร มากกว่ามุ่งเน้นไปที่พล็อตหรือเค้าโครงเหตุการณ์ (ซึ่งเรียบง่ายเหลือเกิน)

เรื่องราวใจความหลักๆ กล่าวถึง การที่คุณปู่พลัดถิ่น ต้องเผชิญความแปลกแยกในสภาพแวดล้อมใหม่ ผู้คนใช้ภาษาที่แตกต่าง จนกลายเป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารทำความเข้าใจ มิหนำซ้ำในหมู่เหล่าคนอพยพด้วยกัน ก็มองชายชราเหมือนตัวประหลาดที่น่าขบขัน

ควบคู่ไปกับการแปลกแยกไม่ลงรอยต่อดินแดนใหม่ ผู้เฒ่าก็มักจะนำเอาสิ่งที่ปรากฎเบื้องหน้าในปัจจุบัน มาเทียบเคียงกับชีวิตความเป็นอยู่เมื่อครั้งอดีต ด้วยอารมณ์โหยหาถวิลถึง

ความรู้สึกแรกสุดของเมอร์สิเยอร์หลิ่นห์ เมื่อเรือเทียบท่าสู่ที่หมายปลายทางในการอพยพก็คือ “เขาสูดกลิ่นอายของประเทศใหม่ แต่ไม่ได้กลิ่นอะไรเลย มันไม่มีกลิ่น นี่คือบ้านเมืองที่ไม่มีกลิ่น”

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมชอบมากในนิยายเรื่องนี้ก็คือ การเล่าด้วยลักษณะบอกกล่าวน้อยนิดแฝงไว้ด้วยความคลุมเครือ ทว่ากินใจความกว้างไพศาล

ตลอดทั้งเรื่องนั้น คุณฟิลิปป์ คลอเดล ไม่ได้ระบุเจาะจงออกมาชัดๆ ตรงๆ สักครั้งเลยนะครับว่า เมอร์สิเยอร์หลิ่นห์มาจากประเทศอะไร และระหกระเหินมาสู่ประเทศอะไร แต่ผู้อ่านก็สามารถทราบได้ไม่ยาก จากรายละเอียดปลีกย่อยเล็กๆ น้อยๆ ว่าเป็นเวียดนามและฝรั่งเศส (ถึงตรงนี้ผมแอบคิดเรื่อยเปื่อยเฉไฉออกนอกเรื่องเล็กน้อยว่า ดินแดนที่คุณปู่แกรู้สึกว่าไม่มีกลิ่น คือประเทศที่เราๆ ท่านๆ นิยมเรียกกันด้วยสมญาว่า “เมืองน้ำหอม” คิดแล้วก็รู้สึกว่ามันมีนัยยะประชดประชันอยู่ลึกๆ โดยที่คนเขียน อาจไม่มีเจตนาให้เป็นเช่นนั้นก็ได้นะครับ)
มีการบอกเล่าอ้อมๆ ทำนองนี้อยู่แพรวพราวเต็มไปหมด และทำได้น่าทึ่งมาก เพราะถ้าบอกน้อยเกินไป ก็อาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ไม่ถี่ถ้วน กระทั่งอาจกลายเป็นสับสนงุนงง และอ่านยากโดยใช่เหตุ ขณะเดียวกันถ้าเปิดเผยเยอะไป ก็อาจแห้งแล้งแข็งทื่อ ขาดชั้นเชิงความแนบเนียน

ความคลุมเครือในนิยายเรื่องนี้ นำเสนอได้อย่างเหมาะเจาะพอดี ให้ความรู้สึกเหมือนถนนหนทาง ตึกรามบ้านเรือน ปกคลุมด้วยหมอกจางๆ เต็มไปด้วยบรรยากาศกึ่งจริงกึ่งฝัน สอดคล้องกับลีลาละเมียดทางด้านภาษา และอารมณ์สวยเศร้าที่มีอยู่ตั้งแต่ต้นจนจบ

เรารู้ว่าเมอร์สิเยอร์หลิ่นห์เป็นคนเวียดนาม ด้วยคำบอกเล่าผ่าน ๆ แค่ไม่กี่ประโยค เกี่ยวกับแผ่นดินถิ่นเกิดของผู้เฒ่าที่ตกอยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด เพราะพิษภัยสงคราม จนผู้คนต้องอพยพหลบหนีลอยเรือเคว้งคว้างไปตายเอาดาบหน้า
เรารู้ว่าเมอร์สิเยอร์หลิ่นห์เดินทางมาสู่ฝรั่งเศส ด้วยรายละเอียดน้อยนิด ในเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่ง

หลังจากถูกจัดแจงให้อยู่ในหอพักสำหรับผู้ลี้ภัย เวลาหลายวันผ่านไป โดยที่ผู้เฒ่าปักหลักเอาแต่กอดหลานสาวอยู่บนเตียงไม่ยอมไปไหน จนกระทั่งหญิงสาวผู้หนึ่งซึ่งทำหน้าที่เป็นล่าม ต้องอธิบายโน้มน้าวให้ชายชราออกไปเดินเล่นสัมผัสอากาศแดดลมภายนอกเสียบ้าง (เมอร์สิเยอร์หลิ่นห์ยินยอมทำตาม ด้วยเหตุผลว่า “การออกไปเดินเล่นจะดีต่อสุขภาพของหลานสาวตัวน้อย”)

เช้าวันหนึ่ง ผู้เฒ่าจึงสวมเสื้อผ้าแทบทุกชุดที่มีอยู่เพื่อให้ร่างกายอบอุ่น โอบอุ้มหลานสาวออกไปเดินเล่น และด้วยความเกรงว่าจะพลัดหลงกลับที่พักไม่ถูก แกจึงเดินอยู่บนทางเท้าเดิม โดยไม่ยอมข้ามถนน กระทั่งวนผ่านที่พักหลายต่อหลายรอบ ก่อนจะหยุดพักเหนื่อยบนม้านั่งฝั่งตรงข้ามกับสวนสาธารณะ

ที่นั่น เมอร์สิเยอร์หลิ่นห์ได้พบกับชายร่างใหญ่ชื่อเมอร์สิเยอร์บาร์ก ทั้งสองพูดคนละภาษา แต่กลับสามารถสื่อสารทำความเข้าใจกันด้วยรอยยิ้ม, สายตา, และการเอื้อมมือสัมผัส

นับจากนั้นมา ทุกๆ วันบนมานั่งฝั่งตรงข้ามสวนสาธารณะ จะปรากฎภาพที่คุ้นตา ผู้ชายสองคนที่รูปลักษณ์แตกต่างตรงข้ามอย่างยิ่งนั่งเคียงข้างกัน โดยมีเด็กหญิงตัวน้อยๆ อยู่ในอ้อมกอดของชายชรา

มิตรภาพที่งอกงามขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้เฒ่าเริ่มรู้สึกว่าดินแดนใหม่ ไม่โหดร้ายเปล่าเปลี่ยวจนเกินไป ยังมีด้านที่อบอุ่น มีสายใยบางอย่างให้รู้สึกผูกพัน

และกลิ่นบุหรี่ที่เมอร์สิเยอร์บาร์กสูบตลอดเวลาแบบมวนต่อมวน ทำให้คุณปู่ผู้ไกลบ้าน สามารถสัมผัสได้เป็นครั้งแรกว่า “ควันบุหรี่ของชายที่อยู่ที่หอพักนั้นน่ากลัว แต่ของเมอร์สิเยอร์บาร์กคนนี้ต่างออกไป กลิ่นของมันหอม เป็นกลิ่นหอมกลิ่นแรกที่บ้านเมืองใหม่นี้ให้แก่เขา และกลิ่นหอมนี้ทำให้เขาคิดถึงกลิ่นกล้องยาสูบที่ผู้ชายในหมู่บ้านสูบกันยามเย็น”

หลังจากนั้น เมอร์สิเยอร์หลิ่นห์ก็ออกปากขอบุหรี่จากเจ้าหน้าที่วันละหนึ่งซอง เพื่อนำมามอบเป็นของขวัญให้แก่เพื่อนใหม่ รวมทั้งสอบถามจากล่ามว่า “สวัสดี” ในภาษาของประเทศนี้พูดอย่างไร ผู้เฒ่าทบทวนซ้ำๆ หลายเที่ยว หลับตาเพื่อตั้งใจจดจำ

“วันหนึ่งล่วงไป ที่ไกลออกไป ดวงตะวันเหมือนจะตกลงไปอย่างรุนแรงบนท้องฟ้า เขาต้องกลับแล้ว ชายร่างใหญ่ไม่มา เมอร์สิเยอร์หลิ่นห์จากไปพร้อมซองบุหรี่ในกระเป๋าเสื้อ และคำว่าบงชูร์ในปากที่ไม่ได้พูดออกมา”

เรารู้ว่าผู้เฒ่าเดินทางมาสู่ฝรั่งเศส ก็จากรายละเอียดตรงนี้นี่เอง

มิตรภาพระหว่างชายต่างสัญชาติทั้งสอง ยังมีแง่มุมอื่นๆ นอกเหนือจากที่ผมหยิบยกมาเล่าสู่กันฟังอีกมาก และเต็มไปด้วยความซาบซึ้งจับอกจับใจอย่างยิ่ง

ผมเข้าใจเป็นการส่วนตัวนะครับว่า แก่นเรื่องของ “ซองดิว หลานสาวเมอร์สิเยอร์หลิ่นห์” มุ่งสะท้อนให้เห็นถึงอารมณ์ทุกข์สุขที่อยู่เบื้องลึกในใจของคนพลัดถิ่น, มิตรภาพอันสวยงามไร้พรมแดนใดๆ มากีดขวางกางกั้น, ความหวังในการดำรงชีวิต ฯลฯ

แต่ในอีกมุมหนึ่งนิยายเรื่องนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงความโหดร้ายของสงครามแบบอ้อมๆ แทนที่จะแสดงผ่านภาพความเสียหายใหญ่โต กลับขมวดรวมมาเล่าผ่านจุดเล็กๆ คือตัวละครอย่างผู้เฒ่าหลิ่นห์

พูดง่ายๆ คือ เฉพาะแค่โศกนาฏกรรมที่กระทบสู่ชีวิตของชายชรา ยังหมองหม่นรันทดเข้าขั้นชวนให้ใจสลายถึงเพียงนี้ ภาพใหญ่โดยรวมทั้งหมดของผู้คนทั้งประเทศ ก็ยิ่งเป็นความสูญเสียย่อยยับ จนแทบไม่กล้าจินตนาการนึกถึงว่าจะหนักหนาสาหัสเพียงไร

นิยายเรื่องนี้จบลงด้วยอารมณ์ทั้งสวยและเศร้า พร้อมๆ กับมีความลับบางอย่างที่เปิดเผยไม่ได้เด็ดขาด (ขอแนะนำว่า เพื่ออรรถรสที่ถึงพร้อม ไม่ควรอ่านข้อความโปรยตรงปกหลังก่อน)

ผมบอกได้เพียงแค่ว่า ผมอ่านนิยายเรื่องนี้จบลงแล้วไม่ได้ร้องไห้เสียน้ำตา แต่เกิดอาการ “ฝนตกหนักในใจ”

จนถึงขณะที่เขียนอยู่นี้ ฝนก็ยังไม่ยอมหยุดตก

(เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 29 กันยายน 2551)