วันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2553

งามเลิศในปฐพี โดย 'นรา'


ภาพนั้นในหน้าหนังสือหลายเล่ม คงเคยผ่านตาผมมาบ้างแล้วหลายวาระโอกาส แต่ผมไม่ได้ใส่ใจสังเกต และปล่อยปละละเลยข้ามไป

จนเมื่อรสนิยมขยับเคลื่อนเข้าหาการดูจิตรกรรมฝาผนัง ผมก็ได้เห็นภาพนี้อีกครั้ง จากหนังสือในห้องสมุด

บวกปนกับการมีโอกาสได้ผ่านตาภาพเรื่องเดียวกันในวัดหลายแห่ง เป็นการเทียบเคียง

ความรู้สึกล่าสุดเมื่อได้เห็นภาพนี้ในเวลาต่อ ๆ มา จึงค่อย ๆ ผิดแผกแตกต่างกว่าก่อน ๆ ทีละน้อย ค่อย ๆ เห็นว่า เปี่ยมเสน่ห์ สวยจับจิตจับใจ และมีแรงดึงดูดตราตรึงล้นเหลือ ทำให้ผมตระหนักว่า ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงในตัว แทบว่าจะกลายเป็นการมองโลกด้วยสายตาคู่ใหม่

ติดซึ้งตรึงใจถึงขั้นเก็บนำไปฝันยามหลับ ผมฝันว่า ได้มีโอกาสเดินทางไปดูภาพนั้น-ภาพที่เป็นของจริง

ความปรารถนาจะดูภาพดังกล่าวให้เป็นที่แล้วใจ ก่อตัวหนาแน่นขึ้นตามลำดับ จนผมเริ่มกระวนกระวายไม่สงบ

เช้าวันหนึ่ง แรงเร้าเรียกร้องของภาพนี้ก็ทวีขึ้นสู่ขีดสุด เกินกว่าจะทนนิ่งเพิกเฉยอีกต่อไป ผมตัดสินใจเดินทางมุ่งสู่วัดชมภูเวก

วัดชมภูเวกอยู่ใกล้ ๆ สนามบินน้ำ เดิมทีด้านหน้าอุโบสถกับวิหารอยู่ติดคลองท่าทราย ซึ่งเป็นคลองใหญ่แยกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันตื้นเขินกลายเป็นลำคูเล็ก ๆ

สันนิษฐานว่า วัดนี้น่าจะสร้างขึ้นเมื่อประมาณปีพ.ศ. 2300 ครั้งนั้นชาวมอญถูกพม่ารุกราน ได้อพยพหลบหนีเข้ามายังแถบจังหวัดนนทบุรี บริเวณที่เป็นตัววัดในปัจจุบัน

จนถึงช่วงฤดูฝน เมื่อฝนตกลงมา วัวควายได้เหยียบย่ำเนินดิน ทำให้เห็นเนินอิฐโผล่ขึ้นมา ท่านหัวหน้าชาวมอญผู้อพยพเชื่อว่า ฐานเนินอิฐแห่งนี้ คงจะต้องเคยเป็นซากโบราณสถานมาก่อน และถือว่าเป็นพื้นที่อันนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคล จึงได้ร่วมกันสร้างเจดีย์ทรงมอญ หรือที่เรียกกันว่าพระมุเตา ขึ้น ณ เนินแห่งนี้ (ต่อมาในปีพ.ศ. 2460 มีพระสงฆ์จากมอญเดินทางมาบูรณะ เพิ่มความสูงใหญ่ขึ้นกว่าเดิม และทำมงกุฏสวมที่ยอดพระมุเตา พร้อมกับสร้างเจดีย์ขึ้นที่มุมฐานทั้ง 4 ทิศ) รวมทั้งใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นำมาจากเมืองมอญ เพื่อให้เป็นสถานที่สักการะบูชา และค่อย ๆ มีสิ่งก่อสร้างเพิ่มเติม จนกลายเป็นวัดชื่อ ‘ชมภูวิเวก’ มีความหมายว่า ขอสรรเสริญบริเวณที่เป็นเนินสูง และมีความสงบวิเวก

ภายหลังคำเรียกชื่อวัดจึงค่อย ๆ กร่อนหายกลายเป็น ‘ชมภูเวก’ แต่บรรยากาศอันเงียบสงบและวิเวก ก็ยังคงมีอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

คำแปลชื่อวัดนั้นตรงตามตัวอักษร ‘ชม’ ก็คือ ชื่นชมสรรเสริญ ‘ภู’ นั้นเป็นภูเดียวกับภูเขาหรือเนินที่สูง ‘เวก’ รวบรัดมาจากสงบวิเวก

โบสถ์เก่าวัดชมภูเวกซึ่งภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังนั้น ตำราหลายแห่งระบุว่า เป็นโบสถ์แบบมหาอุด คือมีประตูทางเข้าแค่เพียงหนึ่งเดียว ด้านหลังเป็นผนังทึบตัน

อันนี้ค่อนข้างต่างจากที่ผมเคยรู้มา (จากข้อมูลคนละแหล่ง) ว่า โบสถ์มหาอุด มีประตูทางเข้าด้านเดียว (จะกี่บานก็ได้) ส่วนผนังด้านข้างทึบตันไม่มีหน้าต่าง และด้านหลังทึบตันไม่มีประตู

อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อมูลบอกว่าเป็นมหาอุด ผมก็เชื่อตามประสาคนว่าง่ายนะครับ

ผนังแบบมหาอุด (ซึ่งเป็นรูปแบบทางสถาปัตยกรรมตามวัดวาอารามที่หาดูได้ยาก) ถือและเชื่อกันว่า เป็นสถานที่สำหรับประกอบพิธีปลุกเสกเครื่องรางของขลัง แล้วจะมีความศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่ง

นอกจากลักษณะแบบมหาอุดแล้ว โบสถ์วัดชมภูเวก ยังมีความโดดเด่นอีกประการ เป็นรูปทรงที่เรียกกันว่า แบบวิลันดา (คือรับอิทธิพลจากฮอลแลนด์) คือ ตัวอาคารจะไม่ตรงตั้งฉากกับพื้นดินเสียทีเดียว แต่จะเอียงสอบเข้าหากันเล็กน้อย

ที่น่าสนใจและควรแวะไปดูชมอย่างยิ่งอีกประการก็คือ บริเวณหน้าบัน ซึ่งประดับด้วยเครื่องถ้วยลายครามและเบญจรงค์ เป็นลวดลายซึ่งรับอิทธิพลแบบศิลปะโรโคโคของยุโรป มาปรับประยุกต์เป็นลายไทย

จิตรกรรมฝาผนังวัดชมภูเวก จัดอยู่ในสกุลช่างนนทบุรี ซึ่งโดดเด่นเคียงคู่กับภาพเขียนที่วัดปราสาทและวัดโพธิ์บางโอ

เรื่องสกุลช่างนนทบุรีนี้ ยังเกินปัญญาและความเข้าใจของผม ในการแยกแยะหาจุดเด่นลักษณะร่วมหรือเอกลักษณ์เฉพาะในทางศิลปะ ส่วนหนึ่งเพราะตัวอย่างเหลือให้เปรียบเทียบค่อนข้างน้อย และเท่าที่มีอยู่ก็ต่างลีลาต่างแบบแผนกันเยอะพอสมควร

ผมเดาเล่น ๆ ว่า การนับเป็นสกุลช่างเดียวกัน อาจพิจารณาจากถิ่นทำเลที่ตั้ง ซึ่งอยู่ในจังหวัดนนทบุรี ถัดมาคือ ยุคสมัยระยะเวลาที่วาดน่าจะใกล้เคียงไม่ห่างกันมากนัก (ทว่าอายุแท้จริงของภาพจิตรกรรมแต่ละแห่งก็ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัด) ประการสุดท้าย (ซึ่งผมเดาเอาเอง) คือ อาจวาดโดยครูช่างซึ่งเป็นคนพื้นถิ่นละแวกนั้น ไม่ใช่ฝีมือช่างหลวงดังเช่นวัดหลายแห่งในกรุงเทพฯ

โดยรวมแล้ว จิตรกรรมฝาผนังวัดชมภูเวก ประเมินและมองผ่านสายตายังไม่แตกฉานรู้จริงอย่างผม มีเกณฑ์ความงามอยู่ในระดับดี อาจจะไม่สวยประณีตวิจิตรพิสดารเทียบเท่ากับฝีมือช่างหลวง แต่เทียบกับภาพเขียนฝีมือครูช่างท้องถิ่นพื้นบ้านด้วยกันแล้ว ถือว่าเป็นอีกแห่งที่โดดเด่นอยู่ในลำดับต้น ๆ

แต่มีภาพหนึ่งที่พิเศษล้ำลอยออกมา คือ ภาพแม่พระธรณี ซึ่งได้รับการยกย่องและลงความเห็นพ้องกันหลายปากหลายความคิดว่า เป็นแม่พระธรณีที่สวยสุดในประเทศไทย บางความเห็นถึงกับกล่าวครอบคลุมไปถึงขั้นชื่นชมว่า สวยที่สุดในโลก

ครูบาอาจารย์หลายท่าน นิยมกล่าวถึงแม่พระธรณีว่า ‘นางธรณี’ ซึ่งน่าจะเป็นคำเรียกขานที่ถูกต้องกว่า

อธิบายง่าย ๆ คือ ‘แม่พระธรณี’ ไม่ใช่เจ้า ไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่ยักษ์ ไม่ใช่สัตว์ ปราศจากสถานะแน่ชัด ทราบแต่เพียงว่า ท่านทำหน้าที่รักษาแผ่นดิน และเป็นเสมือนประจักษ์พยาน เวลามีผู้ทำบุญกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล น้ำที่เทลงบนดิน ก็จะซึมเข้าไปอยู่ในมวยผมของท่าน

พูดง่าย ๆ ว่า แม่พระธรณีเปรียบเสมือนธนาคารแห่งการทำบุญกุศล

ในวรรณคดีต่าง ๆ เมื่อกล่าวถึงแม่พระธรณี ไม่ว่าจะเป็นงานของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) หรือพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณะเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส ล้วนมิได้ใช้ราชาศัพท์ และเรียกขานแต่เพียงว่า ‘นางธรณี’ เหมือนสามัญชน

กระทั่งเพลงไทยเดิมที่เราท่านคุ้นชื่ออย่าง ‘ธรณีกันแสง’ (ที่ถูกจะต้องสะกดอย่างนี้นะครับ เพราะ ‘กันแสง’ แปลว่าผ้าเช็ดหน้า ต่อมาจึงแผลงความหมายกลายเป็น ‘ร้องไห้’ ส่วน ‘กรรแสง’ นั้นไม่มีความหมาย) เดิมก็มีชื่อเพียงว่า ‘ธรณีร้องไห้’ แล้วจึงค่อยคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนมาเป็น ‘ธรณีกันแสง’ ในภายหลัง

เหตุผลสนับสนุนอีกอย่างคือ ประโยคคุ้นหูที่ว่า ‘แม่พระธรณีบีบมวยผม’ ซึ่งก็ไม่ใช้ราชาศัพท์เหมือนกัน

โดยส่วนตัวแล้ว ผมนิยมเรียกว่า ‘แม่พระธรณี’ มากกว่า ‘นางธรณี’ ซึ่งฟังดูห้วน ๆ และดูจะเป็นการลดเกียรติของท่านมากไปหน่อย

ผมจึงใช้ ‘แม่พระธรณี’ ตามความคุ้นเคยและสะดวกใจของผมเอง ขณะเดียวกันก็จะเขียนถึงท่านโดยไม่ใช้ราชาศัพท์ ด้วยความเชื่อตามผู้หลักผู้ใหญ่ครูบาอาจารย์แต่เก่าก่อนบอกมา

ส่วนใหญ่ภาพ ‘แม่พระธรณี’ มักปรากฎอยู่ในพุทธประวัติตอน ‘มารผจญ’ ตรงกันหมด

เรื่องมารผจญเป็น ‘ท่าบังคับ’ อยู่เคียงคู่กับจิตรกรรมฝาผนังของไทย ผมได้เคยกล่าวอ้างพาดพิงไปบ้างแล้ว และคงจะมีโอกาสได้เขียนถึงอย่างถี่ถ้วนอีกหลายครั้งในอนาคตและเคี้ยวและโค้งอ้อมโลกภายภาคหน้า

ภาพมารผจญส่วนใหญ่ ออกไปทางดุดันน่ากลัว มีลีลาโลดโผนโจนทะยาน องค์ประกอบภาพเนืองแน่นวุ่นวายโกลาหล เพราะเล่าถึงเหตุการณ์ที่กองทัพมารรวมพลกันเพื่อมุ่งทำร้ายขัดขวาง มิให้พระพุทธเจ้าครั้งยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ประสบความสำเร็จในการตรัสรู้

พร้อม ๆ กันนั้น ก็เล่าถึงแม่พระธรณีปรากฎตัวขึ้นสู่ผิวพื้นดิน เพื่อบีบมวยผม จนจำนวนน้ำที่พระพุทธเจ้าหลั่งลงดินในการบำเพ็ญบารมีต่าง ๆ หลายชาติภพ (และสะสมไว้ในมวยผมของแม่พระธรณี)กลายเป็นคลื่นยักษ์โถมท่วมเข้าใส่ จนทัพมารแตกพ่ายกระเจิดกระเจิงไม่เป็นขบวน

ภาพมารผจญที่วาดไว้ตามวัดต่าง ๆ จึงสวยแบบดุ ๆ น่าสะพรึงกลัว ใกล้เคียงหนังแอ็คชันปนสยองขวัญ

ทว่าภาพมารผจญที่วัดชมภูเวก กลับให้ความรู้สึกแตกต่างจากขนบดังกล่าวอยู่เยอะทีเดียว

กล่าวคือ ไม่สู้จะดุร้ายน่ากลัวนัก จุดเด่นของภาพก็ผิดแผกจากมารผจญส่วนใหญ่ที่พบเห็นกัน

ปกติแล้วบริเวณที่ถือกันว่าเป็นไฮไลท์ไคลแม็กซ์หรือลูกชิ้นในภาพมารผจญ ก็คือ จินตนาการอันหวือหวาของครูช่าง ที่จะเขียนภาพมวลหมู่กองทัพมารให้พิสดารพันลึกสุดจะพรรณนา ทว่าจุดเด่นสุดของภาพมารผจญที่วัดชมภูเวก กลับอยู่ตรงภาพแม่พระธรณี

เรื่องนี้มีเบื้องหลังความอร่อยอยู่สองสาเหตุนะครับ

ประการแรกก็คือ โบสถ์วัดชมภูเวกนั้น มีขนาดพื้นที่เล็กมาก ราว ๆ 12.80x5.35 เมตร มิหนำซ้ำตอนบนยังมีเพดานไม้ ลักษณะโดยรวมจึงค่อนข้างต่ำ

ครูช่างที่วาดภาพนี้ (ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านสันนิษฐานกันว่า น่าจะเขียนขึ้นสมัยอยุธยาตอนปลาย) เลือกที่จะวาดตัวยักษ์และไพร่พลมาร ด้วยขนาดใหญ่ตามปกติเช่นเดียวกับวัดอื่น ๆ

เหตุที่ต้องวาดตัวใหญ่ ๆ ก็เพราะ ตำแหน่งปกติที่นิยมเขียนภาพมารผจญ คือบริเวณตอนบนเหนือประตูทางเข้าโบสถ์ ไปจนจรดเพดาน อยู่สูงและไกล จำเป็นต้องขยายขนาดเพื่อให้ผู้ชมมองเห็นได้เด่นชัด

ผลก็คือ ด้วยเนื้อที่อันจำกัด กองทัพมารในโบสถ์วัดชมภูเวก จึงออกจะว่างโล่งโหรงเหรง มีเพียงฝั่งละ ประมาณสิบกว่าตัวเท่านั้น ขณะที่มารผจญส่วนใหญ่หรือบางที่บางแห่ง อาจวาดตัวละครแออัดคับคั่งราว ๆ ร้อยตัว

แม้ว่าจะไม่ดุเดือดเลือดพล่าน ไม่โกลาหลอลหม่าน และขาดคุณสมบัติ ‘อลังการงานสร้าง’ ทว่าภาพมารผจญวัดชมภูเวกนั้น ฝีมือเขียนหน้ายักษ์และตัวละครต่าง ๆ อยู่ในขั้นสวยมาก โดยเฉพาะฝั่งที่วาดน้ำท่วม ครูช่างท่านเขียนรูปปลาและสารพัดสัตว์ในจินตนาการ โผล่ขึ้นมาเหนือคลื่นน้ำได้น่าเกรงขามอย่างยิ่ง

ความจำกัดเรื่องพื้นที่ ทำให้เชื่อกันต่อไปอีกว่า เป็นเหตุให้ภาพแม่พระธรณี ต้องเขียนในท่านั่งชันเข่าบีบมวยผมแทนท่ายืน

เท็จจริงอย่างไรผมไม่ยืนยัน เท่าที่เคยผ่านตา ผมพบภาพแม่พระธรณีในฉากมารผจญ ทั้งท่านั่งและท่ายืนในอัตราส่วนค่อนข้างใกล้เคียงกัน โดยท่ายืนอาจมีจำนวนเหลื่อมมากกว่านิด ๆ

เหตุผลต่อมาที่ทำให้ภาพแม่พระธรณีของวัดชมภูเวก กลายเป็นจุดเด่นสุดแทนบริเวณอื่น ๆ จนผิดจากขนบส่วนใหญ่ เป็นเพราะว่า เคยมีการวาดซ่อมในสมัยรัตนโกสินทร์ (เชื่อกันว่า น่าจะราว ๆ สมัยรัชกาลที่ 3)

จิตรกรรมฝาผนังของไทย หายากมากนะครับ ที่จะวาดในยุคไหน แล้วเหลือตกทอดถึงปัจจุบันเป็นฝีมือของยุคนั้นล้วน ๆ โดยมากมักจะชำรุดเสียหาย จนต้องเขียนซ่อมขึ้นใหม่ ฝีมือจึงปนกันหลายสกุลช่าง

บางที่บางแห่งหากเสียหายมาก อาจต้อง Restart วาดทับใหม่หมด จนกระทั่งไม่เห็นเค้าในภาพดั้งเดิมเลย

ภาพเขียนในโบสถ์วัดชมภูเวก คงจะกระเทาะหลุดร่อนทรุดโทรมเพียงแค่บางส่วน และเขียนต่อเติมเฉพาะบริเวณที่ขาดหาย ผลที่ปรากฎจึงสะท้อนให้เห็นทั้งลีลาแบบอยุธยาตอนปลายผสมกับศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์

ผู้เชี่ยวชาญเขาพิจารณาความแตกต่างนี้ จากลักษณะของลายเส้นง่าย ๆ และการใช้สีในโทนสว่าง ซึ่งยังเป็นสไตล์แบบอยุธยาอยู่นะครับ

ร่องรอยของการวาดซ่อมใหม่ มีวิธีสังเกตอยู่เหมือนกัน คือ สีพื้นจะค่อนข้างมืดทึบ นิยมการปิดทอง รวมทั้งเส้นและลวดลายที่วาดอย่างประณีตพิถีพิถัน ตามสไตล์สมัยรัตนโกสินทร์ ต่างจากสมัยอยุธยาที่วาดด้วยลีลาเชื่อมั่นฉับไว

เทียบง่าย ๆ ก็เหมือนเขียนด้วยลายมือบรรจงกับลายมือหวัด ซึ่งสวยกันไปคนละอย่าง แบบหนึ่งนั้นสวยวิจิตร ขณะที่อีกแบบสะท้อนถึงความเฉียบขาดเชื่อมั่นและได้ความสด

ลักษณะผสมผสานระหว่างสองสกุลช่าง มีปรากฎให้เห็นในภาพวาดทั่วทั้งโบสถ์เลยนะครับ

ภาพมารผจญวัดชมภูเวก ส่วนที่ยังคงเค้าเดิมเอาไว้ คือ ภาพพระพุทธเจ้าตอนบนสุด และบรรดากองทัพมาร ส่วนบริเวณที่ต่อเติมซ่อมแซมขึ้นใหม่ ได้แก่บริเวณพุ่มไม้ และลูกคลื่น

พุ่มไม้นั้นเขียนด้วยวิธีใช้เปลือกไม้แทนพู่กัน กระทุ้งเป็นพุ่ม อันเป็นแบบอย่างที่เริ่มมีปรากฏให้เห็นในสมัยรัตนโกสินทร์ แทนลักษณะการเขียนตัดเส้นทีละใบแบบของเก่า

อย่างไรก็ตาม ผมมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์ หรือกล่าวให้ชัดคือ

ภาพที่เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 มีเยอะเลยนะครับ ที่ครูช่างได้วาดพุ่มไม้ ด้วยการตัดเส้นทีละใบอย่างละเอียดประณีต และใช้เปลือกไม้กระทุ้งเป็นพุ่มให้เหมือนรอยฝีแปรงฉับไว ปนรวมสองเทคนิคกรรมวิธีอยู่ในภาพเดียวกัน

ส่วนภาพคลื่นในจิตรกรรมไทย หากเป็นสมัยอยุธยา นิยมเขียนด้วยการตัดเส้นโค้งซ้อนกันหลายชั้น เป็นคลื่นแบบลวดลายประดิษฐ์ ขณะที่สมัยรัตนโกสินทร์ เปลี่ยนมานิยมวาดให้สมจริง เห็นน้ำเป็นน้ำ

คลื่นในโบสถ์วัดชมภูเวก เห็นร่องรอยเดิมว่าวาดเป็นคลื่นประดิษฐ์นะครับ แต่ขณะเดียวกันก็เห็นการวาดเติมในทางสมจริงอยู่ด้วยเหมือนกัน

อันนี้ก็สามารถเป็นไปได้อีกว่า ในภาพเดียวกันอาจวาดทั้งประดิษฐ์และคลื่นแบบสมจริงปนกัน

ดังนั้นการพิจารณาจากลีลาวาดพุ่มไม้หรือคลื่น ยังต้องมีเงื่อนไขปัจจัยอื่นมาดูประกอบ ส่วนที่ช่วยให้แยกแยะความต่างระหว่าง ศิลปะแบบอยุธยาและรัตนโกสินทร์ได้เด่นชัดขึ้นก็คือ การใช้สี

ภาพเขียนสมัยอยุธยาใช้สีค่อนข้างจำกัด ประมาณ 4-5 สี คือ แดง ขาว เหลืองอ่อน ดำ แล้วพลิกแพลงยักเยื้องผสมสีเท่าที่มีอยู่ลวงตาให้เกิดความหลากหลาย

ขณะที่ภาพเขียนสมัยรัตนโกสินทร์ เริ่มมีการใช้สีอย่างแพรวพราว เน้นการปิดทองแวววาว และระบายพื้นฉากหลังมืดทึบ

นั้นสืบเนื่องมาจาก 2 สาเหตุใหญ่ อย่างแรกคือ โดยวันเวลาเคลื่อนผ่าน เริ่มมีการนำเข้าสีจากจีน

ถัดมาคือ ลักษณะและขนาดของโบสถ์

โบสถ์สมัยอยุธยา (อาศัยตัวอย่างจากโบสถ์วัดใหญ่สุวรรณาราม และวัดเกาะแก้วสุทธาราม ที่จังหวัดอยุธยา ซึ่งสอบทานมีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา) ไม่นิยมเจาะช่องหน้าต่าง

การเขียนภาพจึงต้องคำนึงถึงเรื่องแสงเงาอันจำกัด และบริเวณโบสถ์ค่อนข้างมืดครึ้ม การระบายสีพื้นจึงเน้นสีโปร่งเบาสว่างไสว เพื่อความเหมาะพอดีกับสายตาของผู้ชม

โบสถ์สมัยรัตนโกสินทร์ มีขนาดใหญ่โตขึ้น และนิยมทำช่องหน้าต่าง แหล่งแสงส่องกระทบจากภายนอกสู่ภายในโบสถ์สว่างขึ้น การระบายสีพื้นโปร่งเบาแบบสมัยอยุธยา อาจส่งผลให้ภาพจืดซีดขาวโพลนจนเกินควร ครูช่างจึงหันมานิยมการระบายสีพื้นมืดทึบ

ครั้นสีพื้นค่อนข้างไปทางหนักเข้ม ภาพตัวละครอาจจมไปกับฉากหลัง จึงแก้ปัญหากันอีกชั้น ด้วยกรรมวิธีปิดทอง เพื่อให้ภาพบุคคลลอยเด่นเห็นชัดไม่ถูกกลืนหาย

นี้เป็นหลักกว้าง ๆ ในการพิจารณาแยกแยะความแตกต่างด้านยุคสมัยของจิตรกรรมฝาผนัง ระดับลึกซึ้งมากกว่านั้น อาจต้องพิจารณาถึงลายเส้นพู่กัน ลักษณะของลวดลายประดิษฐ์ และการกำหนดแบบแผนว่าผนังใดควรจะวาดเรื่องราวหัวข้อใด

อย่างไรก็ตาม จิตรกรรมฝาผนังวัดชมภูเวก บริเวณที่วาดขึ้นใหม่แบบปราศจากข้อกังขาใด ๆ ทั้งสิ้น คือ ภาพแม่พระธรณี

สังเกตได้ง่าย ๆ คือ ภาพนี้วาดแบบคัดลายมือตัวบรรจง เนี้ยบเฉียบประณีตไปหมดทุกส่วน

พูดอีกแบบคือ เห็นชัดแจ๋วเลยว่า เป็นคนละฝีมือ คนละสำนัก คนละกระบวนท่า ต่างจากบริเวณอื่น ๆ ในภาพมารผจญผนังเดียวกัน ทั้งผิดจากภาพเดิมสมัยอยุธยา และมีลายเซ็นเฉพาะตัวไม่เหมือนภาพอื่น ๆ ที่วาดซ่อมในคราวเดียวกัน

ที่น่าทึ่งคือ ครูช่างนิรนามผู้วาดภาพนี้ ฝีมือยอดเยี่ยมแหวกแนวจากท่านอื่น ๆ ที่ทำการวาดซ่อมแซมในตัวโบสถ์ทั้งหมด และเหนือชั้นมากตรงที่ ท่านวาดด้วยลีลาแบบฉบับของตนเอง แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงความกลมกลืน ไม่ ‘โดด’ และหลุดแปลกแยกจากส่วนอื่น ๆ ที่เป็นของเดิม

สวยตั้งแต่กรอบรูปซุ้มโค้งปลายแหลม รวมทั้งการลดความแข็งกระด้าง ด้วยการวาดโขดหินยื่นล้ำเข้ามาตรงด้านล่าง ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษอีกอย่างที่ผมไม่เคยเห็นในรูปแม่พระธรณีที่ไหนเลย

ถัดมาคือ การคุมโทนสีดินแดงของฉากหลังให้เข้ากับเส้นสายของตัวภาพแม่พระธรณี และลวดลายในกรอบทั้งหมดอย่างสอดคล้องกลมกลืนเป็นเอกภาพ

ที่โดดเด่นสุดก็คือ ใบหน้าอันสวยประณีต สัดส่วนเรือนร่างของแม่พระธรณีที่งามมาก รวมทั้งความอ่อนช้อยไหวพลิ้วของเส้นสายต่าง ๆ ซึ่งรับส่งต่อเนื่องกันไปหมด จนเกิดลีลาลวงตาเป็นภาพเคลื่อนไหว

จุดหนึ่งซึ่งใครต่อใครยกย่องว่า งามไม่มีแห่งใดเทียม ได้แก่ บริเวณแขนขวาที่ทอดเหยียดจับมวยผม รวมทั้งปลายนิ้วมือทั้งห้า

ว่าตามหลักกายวิภาคแล้ว นี่เป็นการวาดที่ผิดสัดส่วนไม่สมจริงอย่างรุนแรง แต่จิตรกรรมไทยก็ไม่ได้ชี้วัดตัดสินกันตรงนี้ และถือเอาความงามในเชิงอุดมคติ ด้วยท่วงท่าแบบนาฎลักษณ์เป็นเกณฑ์มากกว่า

ในแง่นี้ พูดได้เต็มปากนะครับว่า ภาพแม่พระธรณีที่วัดชมภูเวก บรรลุถึงขีดขั้นความงามสูงสุด เข้าขั้นน่าอัศจรรย์

ไม่ใช่ความอัศจรรย์ในเชิงของฝีมือเพียงอย่างเดียวหรอกนะครับ แต่ยังอัศจรรย์ยิ่งไปกว่านั้น ในการประดิษฐ์คิดค้นให้ได้ท่วงท่าสวยงามลงตัวดังเช่นที่เห็น

ใช้สำนวนร่วมสมัยก็ต้องรำพึงรำพันว่า “คิดได้ยังไง?”

ภาพแม่พระธรณีวัดชมภูเวก ไม่ใช่แห่งแรกที่วาดในท่วงทีลีลานี้ แต่เป็นการสืบทอดจากแบบแผนโบราณ และพัฒนาจนกระทั่งสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ

กระทั่งงานยุคหลังต่อมาอีกหลายภาพหลายแห่ง ก็ต้องยึดถือภาพนี้เป็น ‘ภาพครู’ และยังไม่มีภาพไหนวาดออกมาได้งามเทียบเท่า

แม่พระธรณีวัดชมภูเวก มีขนาดไม่ใหญ่นัก ประมาณคร่าว ๆ แล้ว น่าจะมีด้านยาวส่วนสูงไม่เกินห้าสิบเซนติเมตร สอดคล้องกับขนาดพื้นที่ค่อนข้างเล็กของตัวโบสถ์

นั้นกลายเป็นข้อดี เพราะผู้ชมไม่ต้องแหงนเงยมากนัก รวมทั้งมีระยะห่างกำลังเหมาะ ใกล้พอที่จะสังเกตดูรายละเอียดและชื่นชมความงามได้ถนัดด้วยตาเปล่า (หลายที่หลายแห่ง ภาพเดียวกันนี้ ผมต้องใช้กล้องส่องทางไกลเป็นอุปกรณ์ช่วย)

ผมมาซึ้งในรสพระธรรม ถึงความพิเศษพิสดารของภาพนี้เพิ่มขึ้น เมื่อพยายามจะวาดลอกเลียนแบบ ผลปรากฏว่าล้มเหลวเละเทะ เนื่องจากยากสุด ๆ

ความยากอยู่ที่ว่า เส้นสายเขียนขึ้นอย่างบางเฉียบ มือและสายตาต้องแม่นยำมาก แค่เลียนแบบวาดเส้นใดเส้นหนึ่งให้โค้งหวานราบรื่น ไม่สะดุดสะดุ้งกระตุก ได้ความคมกริบตรงตามต้นแบบ ก็นับว่ายากสาหัสแล้วนะครับ

แต่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ทุกเส้นสายในภาพนี้ ตั้งแต่เส้นโครงร่างรอบนอก รวมไปถึงลายกระหนก ลายผ้าต่าง ๆ ทั้งหมดล้วนเกี่ยวโยงสัมพันธ์รับส่งเชื่อมกันตลอด

พูดง่าย ๆ คือ วาดเส้นใดเส้นหนึ่งผิดพลาดคลาดเคลื่อนเพียงเล็กน้อย ภาพนี้ก็เสียทันที

โดยไม่ต้องถามกระจกวิเศษให้ยุ่งยากเสียเวลา ผมเชื่อสนิทใจตั้งแต่วินาทีแรกที่เห็นของจริง ว่านี่คือภาพแม่พระธรณีที่งามเลิศในปฐพี สมดังคำร่ำลือที่ได้สดับรับรู้มาทุกประการ

สำหรับคนบ้าดูจิตรกรรมฝาผนังอย่างผม นี่คืองานศิลปะฝีมือชั้นครูอันเลอเลิศ แบบที่พูดกันไม่เกินเลยความจริงว่า ในชีวิตควรจะต้องหาโอกาสแวะเยือนไปยลดูให้ได้สักครั้งเป็นอย่างน้อย

ไม่งั้น ‘นอนอายตาไม่หลับ’ นะครับ

วันอังคารที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ลงโลหิตไปจนเท่าวันตาย โดย 'นรา'


ในบรรดาแหล่งจิตรกรรมสถานทั่วสยามประเทศ ภาพเขียนในโบสถ์ วัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี ได้รับการยกย่องว่าเป็นอีกแห่งหนึ่งที่งามสุดยอด

สุดยอดตรงที่ หากดูอย่างผิวเผินลวก ๆ ก็สามารถใช้เวลาแค่ไม่กี่นาทีผ่านเลยไปได้ทันที ไม่มีอะไรโดดเด่นสะดุดตา

ขณะเดียวกัน สำหรับนักดูจิตรกรรมฝาผนังประเภทฮาร์ดคอร์ ภาพเขียนที่นี่ก็มหัศจรรย์อย่างยิ่ง เพราะสามารถดูแบบละเลียดดื่มด่ำพินิจพิเคราะห์ ชนิดใช้เวลาทั้งวันก็ยังซึมซับความงามได้ไม่ทั่วถึงหมดสิ้น

ยิ่งไปกว่านั้น วัดใหญ่สุวรรณาราม ยังมี “ของดี” อันเป็นงานศิลปะชั้นเลิศในด้านต่าง ๆ อีกเยอะแยะมากมาย

หากจะระบุว่า ตัววัดทั้งวัดนั่นแหละ คือ พิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์ขนาดใหญ่ ก็ไม่ผิดจากความจริงแต่อย่างไร

ประวัติความเป็นมาของวัดใหญ่สุวรรณาราม มีบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร มาตั้งแต่ครั้งสมัยอยุธยาตอนปลาย และเป็นไปได้มากว่า ระยะเวลาที่สร้างขึ้น อาจเก่าแก่ย้อนไกลกว่านั้นอีก

มีคำบอกเล่าจากพระสูงอายุในวัด ระบุว่า เดิมชื่อ “วัดน้อย” หรือ “วัดนอกปากใต้” คล้องจองกับ “วัดในไก่เตี้ย” ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังห่างกันไม่ไกล

ปัจจุบันวัดในไก่เตี้ย ร้างไปนานแล้ว ยังมีเจดีย์และฐานอุโบสถหลงเหลือร่องรอยอยู่บ้าง พื้นที่แถบนี้เคยมีคนนำมาทำสนามวัวเกวียน (เป็นการละเล่นอย่างหนึ่ง ใช้วัวเทียมเกวียน 2 เล่ม วิ่งแข่งกัน) บางครั้งจึงเรียกสถานที่นี้ว่า “วัดหัวสนาม”

จนเมื่อประมาณ พ.ศ. 2475 ทางราชการได้ใช้พื้นที่แถบวัดหัวสนาม และวัดไผ่ล้อม (วัดนี้ก็เป็นวัดร้าง และมีลวดลายปูนปั้นที่ยกย่องกันว่างามมาก หลงเหลือให้เห็น) สร้างเป็นเรือนจำประจำจังหวัด

เหตุที่ในอดีต วัดใหญ่สุวรรณารามเคยได้ชื่อว่า “วัดนอกปากใต้” ก็เพราะเดิมเคยตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของแม่น้ำเพชร ก่อนที่แนวพาดผ่านของลำน้ำจะค่อย ๆ เปลี่ยนเส้นทางในเวลาต่อมา

มีบุคคลสำคัญหลายท่าน ซึ่งเกี่ยวโยงผูกพันกับวัดใหญ่สุวรรณาราม ท่านแรกคือ สมเด็จพระสังฆราช (แตงโม) หรือสมเด็จฯ แตงโม

ตำนานเล่ากันมาว่า สมเด็จ ฯ แตงโม มีนามเดิมว่า “ทอง” เกิดที่บ้านหนองหว้า ตำบลหนองขนาน อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี กำพร้าบิดา มารดา อาศัยอยู่กับพี่สาว และช่วยงานจิปาถะจำพวกตักน้ำหาฟืนตำข้าว

วันหนึ่งเด็กชายทอง ทำข้าวหกในระหว่างตำ จึงโดนพี่สาวคว้าไม้ไล่ตี

ด้วยความกลัว เด็กชายทองจึงวิ่งหนีเอาตัวรอด ไม่ยอมกลับเข้าบ้านอีกเลย เที่ยวระหกระเหินเร่ร่อนไปเรื่อย จนในที่สุดก็มาถึงบริเวณวัดนอกปากใต้ พบเจอเด็กวัดนั้นจนคุ้นเคยนับเป็นเพื่อน และชวนกันไปเล่นน้ำที่ท่าวัด

ขณะกำลังเล่นน้ำนั้นเอง ก็มีเปลือกแตงโมลอยมา ความหิวโหยทำให้เด็กชายทอง คว้าเปลือกแตงโมแล้วดำลงไปในเคี้ยวกินในน้ำ

พฤติกรรมดังกล่าว มิได้รอดพ้นสายตาเด็กอื่น ๆ จึงพากันล้อเลียนเย้ยหยันต่าง ๆ นานา หาว่าตะกละเห็นแก่กิน แล้วก็เลยพลอยเรียกขานเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามเสียใหม่กลายเป็นเด็กชายแตงโม

ค่ำคืนนั้นเด็กชายแตงโม อาศัยนอนที่วัดนอกปากใต้

ในวันเดียวกัน ท่านสมภารรับนิมนต์ไปสวดมนต์เย็นที่จวนท่านเจ้าเมือง กลับมาถึงวัดตอนกลางคืน ไม่ทราบความใด ๆ และจำวัดหลับไป ช่วงใกล้รุ่งท่านนิมิตฝันว่า มีช้างเผือกเชือกหนึ่งเข้ามาในวัด แทงตู้พระไตรปิฏกและหอไตรพังหมด

ครั้นรุ่งเช้า ท่านสมภารตื่นมาทบทวนความฝัน เห็นว่าเข้าลักษณะตรงตามสุบินนิมิต ก่อนไปฉันเช้าท่านจึงสั่งพระลูกวัดไว้ว่า หากมีใครแวะมาหาแล้ว ขอให้ผู้นั้นรอ อย่าเพิ่งรีบกลับไปเสียก่อน

เมื่อกลับจากฉันเช้า ท่านเที่ยวสอบถามก็ไม่ปรากฎว่ามีใครมาหา คอยกระทั่งเย็นย่ำก็ยังไร้วี่แวว จึงสอบถามพระ เณร ศิษย์วัดอีกครั้งโดยถี่ถ้วน

เด็กวัดผู้หนึ่งนึกถึงเด็กชายทอง แจ้งเรียนท่านสมภารว่า มีเด็กแปลกหน้ามาขออาศัยอยู่ด้วย ท่านจึงให้ไปตามตัวมาดู

พลันเมื่อพบปะเข้า ท่านสมภารก็รู้ได้ทันทีว่า เด็กคนนี้มีหน่วยก้านดี สอดคล้องกับเรื่องราวในฝัน ไล่เรียงสอบถามความเป็นมาต่าง ๆ แล้ว จึงชักชวนให้อยู่ที่วัด โดยจะรับอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษา

เด็กชายทอง เริ่มหัดอ่านหัดเขียน ก. ข. ก. กา จนอ่านออกเขียนได้ในเวลาอันรวดเร็ว เรียนรู้ล้ำหน้าเด็กวัดอื่น ๆ ด้วยมีเชาวน์ไวไหวพริบดีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ท่านสมภารจึงจัดแจงให้บวชเณร หัดเทศน์และแปลอรรถกถาบาลี

จนมาวันหนึ่ง เจ้าเมืองนิมนต์ท่านสมภารไปเทศน์ตามวาระประจำ เผอิญท่านอาพาธ จึงให้สามเณรแตงโมไปปฏิบัติกิจแทน

แรกเริ่มท่านเจ้าเมืองไม่สู้จะศรัทธาในสามเณรนัก ถึงขั้นหลบไปอยู่ในห้อง แต่เมื่อได้ยินเสียงเสนาะโสตลอยมา ท้ายสุดก็อดรนทนไม่ไหว ต้องออกมานั่งฟังข้างนอกเหมือนดังเคย

เทศน์จบแล้ว ญาติโยมต่างก็ซาบซึ้งจับใจไปตาม ๆ กัน

นับจากนั้นสืบมา ท่านเจ้าเมืองก็อาราธนาสามเณรมาเทศน์แทนเป็นการถาวร ไม่รบกวนสร้างความยากลำบากให้แก่ท่านสมภารที่อยู่ในวัยชราอีกต่อไป

สามเณรแตงโมเล่าเรียนพระปริยัติ ข้อวัตรปฏิวับัติต่าง ๆ จนสิ้นภูมิรู้ของท่านสมภาร ทว่าเจ้าอาวาสก็เห็นว่า ด้วยคุณสมบัติอันดีเลิศเพียบพร้อม สามเณรสมควรต้องเล่าเรียนให้สูงขึ้นไปอีก

ท่านสมภารจึงพาสามเณรไปยังอยุธยา ฝากให้เล่าเรียนในสำนักวัดหลวงแห่งหนึ่ง กระทั่งแตกฉานรู้พระไตรปิฏกเข้าขั้นเจนจบ จนถึงวัยอุปสมบทเป็นพระภิกษุ

พระแตงโมเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังทางเทศนา เป็นที่ยกย่องนับถือของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ได้เป็นอาจารย์สั่งสอนราชบุตรราชนัดดาหลายพระองค์ ซ้ำยังเชี่ยวชาญวิชาในเชิงช่างอีกแขนง

ต่อมาภายหลัง เมื่อพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์หนึ่งได้สืบราชสมบัติ จึงถวายสมณศักดิ์พัดยศเป็นพระราชาคณะ ที่พระสุวรรณมุนี

เมื่อบริบูรณ์ด้วยสมศักดิ์ฐานันดรแล้ว พระสุวรรณมุนีก็หวนระลึกถึงบ้านเกิด คิดจะมาบูรณะปฏิสังขรณ์พระอารามที่เคยศึกษาเล่าเรียน จึงถวายพระพรลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ตำนานเล่าต่อไปว่า ในครั้งนั้นได้ถวายท้องพระโรงหลังหนึ่ง ช่วยเหลือเจ้าคุณพระอาจารย์นำมาประดิษฐานเป็นศาลาการเปรียญ

ศาลาการเปรียญดังกล่าว ยังปรากฎมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นหนึ่งในสิ่งล้ำค่า ซึ่งนักท่องเที่ยวต้องแวะชมชนิดห้ามพลาดเด็ดขาด

พูดแบบห้วน ๆ แห้งแล้ง ความเกี่ยวโยงผูกพันระหว่างสมเด็จฯ แตงโมกับวัดใหญ่สุวรรณาราม มีอยู่เพียงว่า ท่านเคยพำนักบวชเณรร่ำเรียนครั้งวัยเด็ก และเมื่อได้ดิบได้ดีเป็นพระราชาคณะแล้ว ก็หวนกลับมาเป็นแม่กองควบคุมการบูรณะปฏิสังขรณ์ทั่วทั้งวัด

ครั้นเมื่อแล้วเสร็จลุล่วง สมเด็จฯ แตงโมก็เดินทางกลับกรุงศรีอยุธยา เพื่อปฏิบัติหน้าที่ภารกิจอื่น ๆ มิได้อยู่ครองวัดเป็นเจ้าอาวาส

มองดูผิวเผินเหมือนเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย ไม่สลักสำคัญ

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ สันนิษฐานไว้ว่า จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ วัดใหญ่สุวรรณาราม น่าจะวาดขึ้นราว ๆ พ.ศ. 2172-2199 (สมัยพระเจ้าปราสาททอง) ส่วนอีกทฤษฎีหนึ่งสันนิษฐานว่า น่าจะเขียนขึ้นประมาณพ.ศ. 2255-2251 (สมัยพระเจ้าเสือ)

ทั้งสองสมมติฐานนี้ ต่างมีเหตุผลห้อมล้อมรองรับ ซึ่งยังไม่อาจสรุปชี้ชัด

เพื่อความบันเทิงในการผูกแต่งนิทานขึ้นมาเป็นการส่วนตัว แบบไม่คำนึงถึงความถูกต้องทางด้านข้อเท็จจริง ผมก็เลยมีใจเอนเอียงมาทางความเชื่อว่า วาดขึ้นในสมัยพระเจ้าเสือมากกว่านะครับ

กล่าวคือ ศาลาการเปรียญที่อยู่ติดกับพระอุโบสถนั้น เชื่อและเล่าสืบต่อกันมาว่า เดิมเคยเป็นตำหนักหรือท้องพระโรงหลังหนึ่งของพระเจ้าเสือ ซึ่งได้พระราชทาน เมื่อทรงทราบข่าวว่า สมเด็จฯแตงโม จะทำการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดเดิมที่เคยบวชเณร ณ จังหวัดเพชรบุรี
เวลานั้น ยังคงใช้ชื่อวัดน้อยปากใต้ และน่าจะมีอาณาบริเวณไม่กว้างขวางใหญ่โตเหมือนเช่นปัจจุบัน

คราวสมเด็จฯ แตงโมเป็นแม่กองซ่อมแซมบูรณะนี้เอง ที่เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นชนิดอลังการงานสร้าง

สิ่งใดชำรุดทรุดโทรมอยู่ก่อน ก็แก้ไขจนกระทั่งมั่นคงแข็งแรง สิ่งใดผุพังเสื่อมสลายเกินเยียวยาก็รื้อถอนสร้างใหม่ สิ่งใดยังขาดพร่องไม่ครบถ้วน ก็ต่อเติมกระทั่งเพียบพร้อมสมบูรณ์

เชื่อกันอีกว่า พระอุโบสถนั้นคงมีอยู่ก่อนแล้ว แต่น่าจะมีการ “ยกเครื่อง” ปรับจูนเสียใหม่ จนงามหมดจดก็ในช่วงเวลานี้เอง

ผมก็เลยเดาเล่น ๆ เพื่อให้เข้าล็อคกันว่า ภาพจิตรกรรมฝาผนังก็ควรจะเพิ่งเขียนขึ้น จะได้สมกับความเป็น “เมกะโปรเจกต์”

อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้เดาแบบเลื่อนลอยเสียทีเดียว ในหนังสือ “พระดีศรีเมืองเพชร” ของอาจารย์บุญมี พิบูลย์สมบัติ ได้เล่าไว้ว่า
“การซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ วัดใหญ่สุวรรณารามนี้นับว่าเป็นงานใหญ่มาก สมเด็จฯ จะต้องระดมช่างมิใช่น้อย มีทั้งช่างไม้ ช่างแกะสลัก ช่างปูน ช่างปั้น และช่างเขียน และจะต้องมีคนงานนับสิบ ๆ ถ้าใครได้มาเห็นเครื่องตกแต่ง และลวดลายอันละเอียดลออของศาลาการเปรียญ และพระอุโบสถแล้วก็ต้องยอมรับว่าเหมือนกับสมเด็จพระสังฆราชท่านมาเนรมิตขึ้นฉันนั้น...”

ความตอนนี้รวมทั้งถ้อยคำระบุว่า “และช่างเขียน” น่าจะเป็นเหตุผลรองรับที่มีน้ำหนักอยู่พอสมควรว่า คงมีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังขึ้นในคราวซ่อมแซมโดยมีท่านสมเด็จฯ แตงโมดูแลกำกับ

การซ่อมและสร้างวัดเมื่อครั้งโบราณ น่าจะเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน ด้วยเทคโนโลยีและเครื่องไม้เครื่องมือที่แตกต่างจากปัจจุบัน

ยิ่งไปกว่านั้น ท่านไม่ได้กระทำการในเชิง “ก่อสร้าง” เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเป้าหมายมุ่งสร้างสรรค์งานศิลปะชั้นเยี่ยมหลากหลายแขนงด้วย ระดับความยากจึงน่าจะโหดหินสาหัสมากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว

จึงไม่น่าจะใช้เวลาแค่ปีสองปี แต่คงเนิ่นนานทีเดียวกว่าจะแล้วเสร็จครบถ้วน

ตลอดช่วงเวลายาวนานในระหว่างนั้น ความรู้และคุณสมบัติอันล้ำเลิศอีกด้านหนึ่งของสมเด็จฯ แตงโม นอกเหนือจากศักยภาพทางด้านงานช่าง อย่างเช่น ความแตกฉานในพระธรรม, ลีลาการเทศน์อันเป็นที่จับอกจับใจ รวมถึงจริตยวัตรในฐานะพระสงฆ์ (ซึ่งตามประวัติได้เล่าไว้ว่า ท่านเป็นที่ยกย่องมาแล้ว เมื่อครั้งอยู่กรุงศรีอยุธยา) ก็น่าจะปรากฎเป็นที่ประจักษ์แก่ญาติโยมสาธุชน

นี่ยังไม่นับรวมว่า เมื่อบูรณะวัดใหญ่สุวรรณารามจนเสร็จสรรพ สมเด็จฯ แตงโมยังถือโอกาสปฏิสังขรณ์วัดหนองหว้า อันเป็นละแวกบ้านเกิดของท่าน เพื่อแสดงความกตัญญูอีกแห่งหนึ่ง

คนเมืองเพชรจึงเคารพสมเด็จฯ ท่านอย่างลึกซึ้งสืบทอดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ตอนที่สมเด็จฯ แตงโมมาซ่อมแซมวัดใหญ่ ท่านยังเป็นเพียงแค่พระราชาคณะ (โดยมีสมณศักดิ์เป็น “พระสุวรรณมุนี”) ไม่ได้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช

เมื่อการบูรณะสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้คนก็เปลี่ยนคำเรียกขานชื่อ จาก “วัดน้อย” มาเป็น “วัดใหญ่” ตามสภาพความโอ่โถงกว้างขวางที่ผิดแผกไปจากเดิม และด้วยเหตุที่ท่านสมเด็จฯ แตงโม มีนามเดิมเมื่อครั้งเป็นฆราวาสว่า “ทอง” รวมทั้งเป็นพระราชาคณะในนาม “พระสุวรรณมุนี”

ชื่อ “วัดน้อยปากใต้” จึงคลี่คลายเปลี่ยนแปลงมาเป็น “วัดใหญ่สุวรรณาราม” และไม่ปรากฎหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่า ได้เรียกขานกันในตอนที่ท่านสมเด็จฯ แตงโมมรณภาพไปแล้ว หรือก่อนหน้านั้น

ปัจจุบัน ในพระอุโบสถวัดใหญ่ ด้านหน้าบริเวณขวามือขององค์พระประธาน (หรือซ้ายมือของผู้ชมเมื่อเดินเข้าไปในโบสถ์มองตรงไปยังองค์พระประธาน) ยังมีรูปหล่อของสมเด็จฯ แตงโม

ความเห็นจากครูบาอาจารย์นักวิชาการส่วนใหญ่ เชื่อกันว่า รูปหล่อนี้น่าจะเป็นงานประติมากรรมตัวบุคคลแบบเหมือนจริงชิ้นแรกในประเทศไทย

ธรรมเนียมโบราณนั้น เว้นจากพระพุทธรูปแล้ว ไม่นิยมหล่อรูปเหมือนของบุคคลนะครับ ด้วยเกรงกันว่า จะเกิดอาถรรพ์ในทางร้าย เนื่องจากในกระบวนการหล่อนั้น ต้องเผาโลหะหรือทอง ท่ามกลางไฟอันร้อนแรง

รูปหล่อของสมเด็จฯ แตงโม ไม่มีหลักฐานยืนยันว่า สร้างขึ้นด้วยเหตุใด แต่ก็น่าจะเป็นเพราะความเคารพศรัทธาของชาวบ้าน

มีตำนานเล่าขานเพิ่มเติมอีกว่า รูปหล่อดังกล่าว เผชิญอุปสรรคต่าง ๆ นานา ทำขึ้นกี่ครั้งก็ผิดเพี้ยนเฉไฉไม่เหมือนจริง แม้จะแก้หุ่นต้นแบบกันอยู่หลายครั้งหลายคราว ลงท้ายก็ยังล้มเหลว กระทั่งท้ายสุดก็มีตาแป๊ะแก่ ๆ นิรนามท่านหนึ่ง ปรากฎตัวขึ้นมาดำเนินการ จึงค่อยสำเร็จลุล่วงด้วยดี

จากนั้นตาแป๊ะก็หายไปอย่างลี้ลับไร้ร่องรอย ตำนานที่เล่าสืบตากันจึงเพิ่มเกร็ดเติมความเชื่อว่า ท่านเป็นเทวดาปลอมตัวมา

พร้อม ๆ กับที่หล่อรูปท่านสมเด็จฯ แตงโมแล้วเสร็จ ตาแป๊ะก็ได้หล่อรูปเหมือนของท่านเองไว้ด้วย เดิมเคยอยู่ในพระอุโบสถ ปัจจุบันข้อมูลระบุว่า เก็บไว้ในกุฏิของท่านเจ้าอาวาส

รูปหล่อตาแป๊ะได้รับความเคารพนับถือ และเรียกกันว่าเทวรูป ซึ่งร่ำลือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก

มีเรื่องเล่าซึ่งระบุไว้คร่าว ๆ ว่า เกิดขึ้นเมื่อไม่นาน (แต่ก็น่าจะหลายปีอยู่นะครับ) ครั้งหนึ่งชาวบ้านตำบลไสกระดาน ชื่อนายอ่วม เห็นเทวรูปดังกล่าวในโบสถ์ แลดูเหมือนตุ๊กตาจีน จึงเอามือลูบคลำเล่นด้วยความคะนอง แล้วก็เห็นผลทันที คือ หลังจากกลับถึงบ้านก็เกิดอาการไม่สบาย ต้องย้อนไปขอขมาจึงหาย

เหตุการณ์ก็ควรจะจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งเพียงเท่านี้ ทว่าคุณอ่วมนั้นยังไม่ยอมจบ เกิดความเจ็บใจเจ้าคิดเจ้าแค้น ซัดโทษว่าเทวรูปตาแป๊ะเป็นต้นเหตุให้ตนเองป่วยไข้ จึงกลับเข้าไปในพระอุโบสถ หยิบเอา “ต้นเหตุ” มาเตะให้หายแค้น

ผลก็คือ อ่วมสมชื่อนะครับ เกิดอาการเท้าเหยียดไม่ออก ลุกลามเป็นแผลจนมีหนอง ถึงตอนนี้ก็เข้าขั้น “สายเกินไป” จะบนบานศาลกล่าวขอขมาลาโทษอย่างไรก็ไม่สำเร็จ ดีที่สุดก็เพียงแค่แผลหาย แต่ต้องขาเสียพิการไปตลอดชีวิต

รายนี้ก็เป็นอย่างงั้นไป

รายต่อมา (กรุณาอ่านด้วยสำเนียงลีลาแบบรายการอ่านข่าวทางวิทยุสถานีเอเอ็มตอนเช้า ๆ นะครับ จะได้อรรถรสแซ่บซึ้งยิ่งขึ้น) ชื่อนายอิ่ม บ้านอยู่ที่หน้าวัดธ่อ เมื่อครั้งยังบวชเคยเอามือไปแตะที่ปากเทวรูป แล้วเอามาลูบปากตนเอง เพื่อขอให้มีวาจาศักดิ์สิทธิ์เหมือนดังคำร่ำลือ

ผลก็คือ อิ่มสมชื่อนะครับ ปากบวมเจ่อเอิบอิ่มเป็นปากครุฑ ต้องนำดอกไม้ธูปเทียนไปขอขมา อาการจึงค่อยทุเลาลงและหายเป็นปรกติ

รูปหล่อของสมเด็จฯ แตงโมนั้น นับถือกันว่าท่านอำนวยความร่มเย็นเป็นสุขแก่ผู้เลื่อมใส ขจัดปัดเป่าโพยภัยอันตราย และประสาทพรในสิ่งที่พึงปรารถนา หากปีใดฝนแล้ง ผู้คนก็จะนำท่านออกแห่แหนรอบตลาดเมืองเพชร เพื่อขอฝน ร่วมกับพระพุทธรูปอีกองค์ ซึ่งเรียกกันว่าพระคันธารราษฏร์

รวมทั้งมีการอัญเชิญไปประดิษฐานในปะรำพิธีที่หน้าเขาวัง ช่วงเทศกาลตรุษสงกรานต์ เพื่อให้ประชาชนสรงน้ำ ปิดทอง

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2491รูปหล่อสมเด็จฯ แตงโม ได้รับความกระทบกระเทือน เกิดชำรุดที่ก้านศอ เมื่อซ่อมแซมแล้วเสร็จ นับแต่นั้นจึงมิได้อัญเชิญไปในที่ใดอีกเลย

เรื่องของสมเด็จฯ แตงโมกับเมืองเพชรบุรี มีเพียงเท่านี้ แต่ประวัติของท่านนั้นยังไม่จบ

ท่านกลับไปอยุธยา กระทั่งได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชในเวลาต่อมา และมีงานสำคัญในช่วงบั้นปลายชีวิต คือ การซ่อมแซมมณฑป พระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

ใกล้ ๆ มณฑปพระพุทธบาท มีไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง ขนาดประมาณ 3 หรือ 4 คนโอบ มีดอกโตเท่าฝาบาตร แผ่กิ่งก้านสาขาร่มครึ้ม

เรื่องมาเกิดอารมณ์ในเชิงดราม่า ตรงที่สมเด็จฯ ท่านต้องตัดสินใจเลือก ระหว่างการโค่นต้นไม้นั้น ซึ่งหากปล่อยไว้ กิ่งก้านของมัน ไม่เพียงแต่จะเป็นอุปสรรคต่อการก่อสร้างเท่านั้น ทว่ายังมีแนวโน้มก็เบียดเบียนทำให้หลังคาพระมณฑปเสียหายในกาลข้างหน้า

จินตนาการเล่น ๆ เลียนแบบหนังหรือนิยาย ผมก็นึกภาพได้ว่า สมเด็จฯ แตงโมท่านใช้เวลาชั่งน้ำหนักไตร่ตรองโดยถี่ถ้วนแล้ว ท่านก็ตัดสินใจเด็ดเดี่ยวมั่นคงเลือกรักษาพระมณฑปไว้

แล้วท่านจึงมีคำสั่งให้โค่นต้นไม้ แต่ก็ไม่มีผู้ใดกล้าลงมือ มิหนำซ้ำใครต่อใครก็ยังพากันทักท้วงขอร้องสมเด็จฯ ให้งดเว้นเสีย ด้วยเกรงเทวดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตอยู่ จะลงโทษให้ได้รับเคราะห์

โดยยึดเอาการซ่อมมณฑป เพื่อเป้าหมายเป็นพุทธบูชา สมเด็จฯ แตงโมจึงคว้ามีด ฟันโค่นต้นไม้ดังกล่าวด้วยมือของท่านเอง

พลันที่คมมีดแรกกระทบเปลือกลำต้น สมเด็จฯ แตงโมก็หยั่งรู้ทันทีว่า ผลสืบเนื่องติดตามมาอันจะเกิดแก่ตัวท่านเป็นอย่างไร แต่เพื่อให้สามารถซ่อมแซมเปลี่ยนหลังคามณฑปสำเร็จลุล่วง เป็นปูชนียสถานอันงดงามล้ำค่าถาวรสืบไป

มีดแล้วมีดเล่าจึงโหมฟันไม่หยุดหย่อน ท่ามกลางผู้คนและนายช่างทั้งปวงที่นั่งนิ่งอึ้งตะลึงงัน บางคนน้ำตาไหลพรากด้วยสะเทือนใจจนสุดกลั้น กระทั่งไม้ใหญ่ต้นนั้นล้มลง

ประชุมพงศาวดารภาคที่ 7 “คำให้การขุนโขลน เรื่องพระพุทธบาท” เล่าไว้ว่า “...แต่วันนั้นไป ท่านสมเด็จพระเจ้าแตงโมก็ตั้งแต่ลงโลหิตไปจนเท่าวันตาย”

วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ความสุข โดย 'นรา'


ราว ๆ กลางปี 2552 ผมไปเที่ยวน่าน พร้อมพี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง และ-เป็นหนึ่ง-วรพจน์ พันธุ์พงศ์

ก็เลยมีโอกาสได้ติดตามทั้งสองท่าน ขึ้นเวทีพูดคุยบอกเล่าประสบการณ์ทำงาน โดยมีเด็ก ๆ ‘นักอยากเขียน’ จากโรงเรียนสตรีศรีน่านเป็นผู้ฟังที่ดีเยี่ยม

มีคำถามใส่เศษกระดาษชิ้นหนึ่งจากนักอยากเขียนวัยเยาว์ ซึ่งผมประทับใจมาก

ถามมาดังนี้คือ “อยากทราบความเห็นของพวกพี่ว่า ความสุขอยู่ในงานเขียน หรืองานเขียนอยู่ในความสุข”

เฉียบและคมมากนะครับ

ผมจำไม่ได้แล้วว่าตอบไปยังไงบ้าง? แต่กับสถานการณ์ปุบปับเฉพาะหน้าจวนตัว ไม่มีเวลาให้ครุ่นคิดไตร่ตรองเช่นนั้น เชื่อย้อนหลังไปไกลถึงสมัยกรุงศรีอยุธยายังไม่แตกได้เลยว่า ผมคงตอบออกมาเละเทะไม่เป็นโล้เป็นพาย

ผมได้เอ่ยปากขออนุญาตเจ้าของคำถามนี้ เพื่อนำมาพิจารณา และลั่นวาจาประกาศกร้าวเสียงแผ่ว ๆว่า จะนำมาขบคิดไตร่ตรองต่อ เพื่อเขียนเป็นบทความ

นี่คือการตอบคำถามย้อนหลัง...และล่าช้า จนขี้เกียจนับเวลาที่คลาดเคลื่อนผิดนัด

สำหรับผม ‘ความสุขอยู่ในงานเขียน และงานเขียนก็อยู่ในความสุข’

ผมหมายถึงว่า ในการทำงานเขียนแต่ละครั้ง ผมมีความสุข รู้สึกสนุก และได้รับความรื่นรมย์

ขณะเดียวกันในการใช้ชีวิตตั้งแต่เช้ายันค่ำ ผ่านไปวันแล้ววันเล่า การเขียนหนังสือก็เป็นส่วนหนึ่งของหลากหลายสิ่งที่นำมาซึ่งความสุข

อ่านแล้วสับสนวกวนไหมครับ?

ผมจะอธิบายให้ปวดหัวงุนงงยิ่งขึ้นว่า ความสุขอยู่ในงานเขียน และงานเขียนก็อยู่ในความสุข เป็นทั้งสิ่งเดียวกันและแตกต่างกัน

ผมกับเพื่อนนักเขียนหลาย ๆ คน ชอบคุยกันเรื่องนี้นะครับ เราต่างถามไถ่แลกเปลี่ยนความเห็นกันอยู่เสมอว่า มีความสุขกับงานที่ทำหรือเปล่า?

คำตอบนั้นมีรายละเอียดผิดแผกแตกต่างกัน แต่หลักใหญ่ใจความแล้ว ทุกคนมีความสุข

บางคนสุขขณะทำงานเขียนสำเร็จเสร็จลุล่วง, บางคนสุขเพราะผลตอบรับเป็นบวกจากงานเขียนนั้น, บางคนสุขปิติตั้งแต่ความคิดเกี่ยวกับเรื่องที่จะเขียนผุดวาบเข้ามาในหัว ฯลฯ

ทุกคนตอบมาคล้าย ๆ กันอีกว่า ควบคู่กับความสุขที่ได้รับแล้ว ช่วงก่อนและระหว่างลงมือทำงาน ยังมีอีกหลายความรู้สึกติดพ่วงแนบมาด้วยอยู่บ่อยครั้ง

นั้นคือ ความเครียด, ความกดดัน, วิตกกังวล โดยเฉพาะกับการเผชิญหน้าสถานการณ์ภาวะความคิดตีบตัน

พูดง่าย ๆ ว่า ล้วนเจอะเจอทุกข์หนักเวลาเขียนไม่ออก และต้องดิ้นรนผ่านพ้นมันไปให้ได้

ผมแถมให้อีกอย่างที่เกิดขึ้นกับตัวผมเองว่า ทุกครั้งก่อนลงมือทำงาน แค่คิดว่า จะต้องทำงาน ผมก็ร่ำ ๆ ว่า อยากทิ้งตัวลงนอนหลับฝันหวานต่อ ไม่อยากลุกลงจากเตียงซะแล้วนะครับ

อาจเป็นความรู้สึกในทางจิตวิทยาก็ได้ ผมมีใจพร้อมจะต่อต้านขัดขวางการทำงานทุกรูปแบบ และเชื่อสนิทติดแน่นมานานว่า งานเป็นความทุกข์

ต่อให้นับเป็นอาชีพในฝัน ผมก็ถือเอางานนั้นเป็นเสมือนฝันร้ายสยดสยอง

ผมมีทัศนคติติดลบฝังลึกกับการทำงาน รู้สึกเป็นของแสลง หวาดกลัว และแน่นอนว่า ยึดถือการทำงานเป็นที่สุดแห่งความทุกข์อย่างหนึ่ง

นี้ไม่ใช่คำถ่อมตัว อดีตสมัยเริ่มต้นทำงานใหม่ ๆ ผมเคยสร้างชื่อลือลั่นประกอบวีรกรรมด่างพร้อย เรื่องเกียจคร้านในการทำงาน จนโดนตราหน้าสบประมาทมานักต่อนักว่า ชาตินี้คนอย่างนราไม่มีวันเอาดีในการทำงานได้เลย

ผมไม่ทราบชัดว่า เริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองตอนไหน? กระทั่งกลายเป็นคนละคน

เป็นคนละคนที่ยังรู้สึกแหยงและขยาดในการทำงานเหมือนเดิมนะครับ ต่างกันตรงที่จากเดิมพยายามอู้หรือคอยหลบเลี่ยง ผมเปลี่ยนตัวเองกระทั่งสามารถรู้สึกสนุกกับการทำงานได้สำเร็จ

เคล็ดลับของผมมีอยู่นิดเดียว คือ ทุกครั้งที่ลงมือเขียนหนังสือ ผมไม่เคยคิดว่ามันเป็นการทำงาน

ผมคิดแต่เพียงว่า กำลังหาเรื่องเล่นอะไรสนุก ๆ คล้าย ๆ เล่นเกมส์, chat หรือติด facebook

สารพัดอย่างในบรรทัดข้างต้นนั้น ผมข้องแวะแตะต้องแต่เพียงน้อยนิดนะครับ เพราะรู้ว่าเข้าสู่วงการเต็ม ๆ เมื่อไร หายนะย่อมบังเกิดเมื่อนั้น แน่แท้ชัวร์มากชนิดไม่ต้องรอการพิสูจน์

พูดอีกแบบหนึ่ง ผมแค่เปลี่ยนการละเล่น จากเกมส์สารพัดสารพัน จากการ chat หรือใช้ facebook มาเป็นการเขียนหนังสือ

ผมเขียนต้นฉบับทุกชิ้น ด้วยอารมณ์ความรู้สึกนี้ คือ ผ่านเจออะไรต่อมิอะไรมา แล้วมีเรื่องอยากเล่า อยากพูดคุยกับเพื่อนฝูง

แทนที่จะยกโทรศัพท์ไปคุยเล่าให้เพื่อนสักคนฟัง ก็แค่เปลี่ยนมาสนทนาผ่านตัวหนังสือ เท่านั้นเองจริง ๆ

ผมเป็นเด็กเกเร เกียจคร้าน วิธีจัดการแก้ปัญหา จึงต้องคอยล่อหลอกหนักไปทางใช้แท็กติกเข้าสู้

นอกจากจะใช้วิธีสะกดจิตตัวเองว่า การเขียนหนังสือไม่ใช่งานแล้ว ผมยังวางกับดักตัวเองอีกสารพัดประการ ทั้งติดสินบนจูงใจให้อยากเขียน, สร้างเงื่อนไขสนุก ๆ ล่วงหน้าขึ้นมาท้าทายการเขียน (เช่น แนะนำหนังสือบางเล่มโดยกำหนดโจทย์บังคับว่า ห้ามพาดพิงถึงเนื้อหาภายในของผลงานนั้น ๆ) และอีกเยอะแยะมากมายที่ผมนำมาใช้ฝึกตัวเองให้เชื่อง (เขียนไปแล้วก็รู้สึกหมา ๆ ยังไงชอบกล)

เคยแม้กระทั่งว่า ตอนลาออกจากงานประจำที่ ‘ผู้จัดการ’ ผมฉลองศรัทธาให้ตัวเองเต็มคราบ โดยซื้อคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่อง เพื่อตั้งหน้าตั้งตาเล่นเกมล้วน ๆ ไม่มีงานเจือปน

เล่นจนเบื่อและบรรลุโสดาบันไปหลายเกม พลันก็ระลึกนึกได้ว่า คนเราควรต้องทำงานบ้าง...นิด ๆ หน่อย ๆ ก็ยังดี

งานนิด ๆ หน่อย ๆ นี้เหมือนเป็นยาขมของชีวิต แม้จะรู้ทั้งรู้อยู่แก่ใจว่า เป็นสิ่งมีประโยชน์คุณค่า แต่รสขื่นระคายลิ้นก็ชวนให้นึกขยาดล่วงหน้าอยู่ร่ำไป

ผมก็เลยวางแผนดัดหลังล่อหลอกตัวเอง ด้วยการเขียนข้อความลงบนกระดาษแผ่นเล็ก ๆ แปะไว้ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ว่า “ใช้สำหรับเล่นเกมเท่านั้น ห้ามแอบทำงาน”

นับตั้งแต่นั้น ผมก็แอบย่องมาใช้เครื่องคอมดังกล่าว เพื่อลักลอบเขียนหนังสือ ดังเช่นทฤษฏีที่ว่า ‘อะไรก็ตาม ยิ่งห้าม ก็เหมือนยิ่งยุ’

จะเป็นด้วยอุปาทาน ความรู้สึกลวง หรือการหลอกตัวเองก็ตามที ที่แน่ ๆ ผมสนุกหรรษากับการละเมิดข้อห้ามนี้อย่างล้นเหลือ
นานวันเข้าก็สวนทางตรงกันข้าม การเล่นเกมกลายเป็นเรื่องน่าอึดอัดราวกับถูกบังคับให้ต้องฝืนใจทำงาน และการทำงานกลายเป็นเรื่องรื่นรมย์คลับคล้ายกิจกรรมเพื่อความบันเทิง

ผมค่อย ๆ ตะล่อมโน้มน้าวงัดสารพัดเล่ห์เหลี่ยมทำนองนี้ออกมาใช้อีกนับไม่ถ้วนกรรมวิธี เพื่อฝึกตัวเองให้เชื่องกับการทำงาน (เขียน ๆ ไป ผมก็ยังรู้สึกหมา ๆ อยู่เหมือนเดิม แต่เริ่มหัดยืนสองขาได้แล้วนะครับ)

จนกระทั่งถึงวันหนึ่ง การทำงานหรือการเขียนหนังสือก็ไม่ได้เป็นอะไรอื่นอีกต่อไป แต่เป็นการเขียนหนังสือโดยแท้จริง และผมก็รู้สึกสนุกที่จะเขียนโดยธรรมชาติอัตโนมัติ เริ่มปีกกล้าขาแข็ง และไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยตัวช่วยใด ๆ

งานกลายเป็นกิจวัตรส่วนหนึ่งในชีวิตที่ขาดไม่ได้ เหมือนคนเราหิวข้าวแล้วต้องกิน ผมเขียนหนังสือด้วยความรู้สึกเช่นนี้

วันไหนห่างเว้นไม่ได้เขียน ผมรู้สึกเคว้งคว้างว่างโหวง รู้สึกผิดว่าทำตัวเหลวไหลไร้ค่า และเป็นวันที่ชีวิตจืดชืดไม่เป็นรส เหมือนนักผจญภัยที่จับเจ่าอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ไม่ได้ออกไปผาดโผนท่องโลก

ควรเปิดเผยด้วยว่า แม้จะเขียนหนังสือต่อเนื่องสม่ำเสมอ จน ‘อยู่ตัว’ แล้ว แต่ผมยังมีเวลาวาระเละเทะบ่อย ๆ ยิ่งกว่าวันหยุดราชการตลอดทั้งปีรวมกันเสียอีก

เป็นโจทย์การบ้าน ที่ผมจะต้องพยายามเรียนรู้แก้ไขกันต่อไปไม่มีจุดสิ้นสุด (นี่ก็เป็นอีกหนึ่งความสนุกเร้าใจเหมือนกัน)

หากวันไหนเขียนได้ตามเป้า และทำได้ดี ก็ยืดอกเดินกร่างออกจากบ้านอย่างเบิกบาน พร้อมจะตบเด็กเตะหมาที่ผ่านมาขวางทาง (เขียนโดยปากกาพาไปนะครับ ไม่ได้หมายความตามนี้จริง ๆ ผมใจไม่ถึง)

เมื่อพัฒนาฝีมือและแรงงานถึงจุดนี้แล้ว ระหว่างเขียนหนังสือแต่ละครั้ง (หมายถึงโดยรวมส่วนใหญ่) จึงกลายเป็นความสุขขณะลงมือปฏิบัติ

บางทีแค่คิดประโยคนึกถ้อยคำถูกใจออกมาได้ โลกรอบ ๆ ตัวของผมก็เหมือนเต็มไปด้วยเสียงนกร้องเพลง

ยิ่งชิ้นงานไหนคุณภาพเข้าขั้นน่าพึงพอใจ อารมณ์ความรู้สึกนั้นลิ่วโลดไปไกลคล้าย ๆ เด็กหนุ่มสมหวังในความรักยังไงยังงั้นเชียว

ผมเขียนหนังสือด้วยความสุข คล้าย ๆ ได้ออกท่องโลกผจญภัยทุก ๆ เช้านะครับ

แน่นอนว่า การผจญภัยบางวันก็อาจมีติดขัดคับขัน หรือฟอร์มตกขึ้นมาดื้อ ๆ สมองไม่ไหล ไอเดียไม่แล่น และทำได้ไม่ดีพอเหมือนที่ใจอยาก

ในวันที่งานชวนให้ทุกข์มากกว่าสุขเช่นนี้ ความรื่นรมย์ของผม (ซึ่งขนานนามตั้งฉายาให้ตัวเองว่า ‘เฮียเครียด’ หรือ ‘โชเซ่ มูริญโญแห่งวงการนักเขียน’) เปลี่ยนย้ายมาอยู่ที่การวิเคราะห์หาสาเหตุและวางแผนแก้เกมสำหรับวันต่อไป
ด้วยเหตุต่าง ๆ เหล่านี้ ผมจึงเชื่อหมดทั้งใจว่า ‘มีความสุขอยู่ในงานเขียน’ จริง ๆ

ถัดมาคือประเด็นว่า ‘มีงานเขียนอยู่ในความสุข’

จะตอบตรงนี้ได้ แต่ละท่านต้องนิยามความสุขของตนเองออกมาให้ได้เสียก่อน

ผมเชื่อของผมเองนะครับว่า ชีวิตคือความทุกข์ เป็นแก่นหรือแกนหลัก เป็น theme เป็นหัวใจหรือสาระสำคัญของการดำรงอยู่เกิดมาบนโลกใบนี้

ความสุขเป็นแค่เครื่องประดับตกแต่ง เป็นสีสันชั่วขณะ ไม่จีรังยั่งยืน แต่ความทุกข์นั้นเป็นของแท้ของจริงและคงทนติดค้างเนิ่นนาน

พูดให้ฟังดูร้ายและย่ำแย่ยิ่งขึ้น ความทุกข์นั้นไม่เคยลดน้อยถอยลง มีแต่จะเพิ่มพูนตลอดเวลา ตามวัยอายุขัยจำนวนปีที่ล่วงผ่านพ้นเลย

อย่างไรก็ตาม แง่งามประการหนึ่งของชีวิตก็คือ เท่า ๆ กับความทุกข์และอายุที่มากขึ้น ภูมิต้านทานของมนุษย์ในเรื่องทุกข์สุขต่าง ๆ ก็สมทบเพิ่ม เพื่อที่จะสามารถเผชิญหน้ารับมือได้อย่างพอเหมาะพอดีกัน

ดังนี้แล้ว ความสุขตามนิยามของผมในวัยปัจจุบัน ก็คือ การทำตัวให้พร้อมยอมรับ, เข้าใจ และรู้ทันความทุกข์

พูดให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ความสุขของผมอยู่ที่การใช้ชีวิตราบรื่นเป็นปกติในทุก ๆ เรื่อง

เข้าบ้านแล้วพบว่า น้ำประปาไหล ไฟฟ้าสว่าง นั้นก็เป็นความสุขอย่างหนึ่ง

ฟังดูคล้าย ๆ เล่นสำนวนโวหาร แต่เมื่อไม่นานมานี้ ไฟฟ้าที่บ้านผมเกิดช็อตขึ้นมาจนดับสนิท ผมทำได้อย่างเดียวคือ โทรศัพท์ตามช่างมาซ่อมแซมแก้ไข

สองชั่วโมงที่นั่งรอช่างไฟ ผมรู้สึกเหมือนตกนรก ไปไหนไม่ได้ จะทำงานก็ไม่สะดวก นั่งร้อนอบอ้าวเหงื่อแตกอย่างทุกข์ทรมาน

สองชั่วโมงนั้นผ่านไปเชื่องช้าราวกับห้าชั่วโมง ยิ่งนานนาที ผมก็เริ่มจินตนาการเพิ่มเติมว่า หากช่างไม่มา ค่ำคืนนี้ ผมจะผ่านความมืดและร้อนนรกแตกนั้นอย่างไร?

วายป่วงนะครับ แค่ไฟฟ้าดับ ชีวิตก็วายป่วง

ความทุกข์หลาย ๆ เรื่อง สืบเนื่องมาจากอะไรก็ตามที่เคยปกติ แปรเปลี่ยนไปเป็นไม่ปกติ ผมขอฟันธง

อกหัก โดนแฟนทิ้ง ฝนตกหนัก รถติด น้ำท่วม การเมืองตึงเครียด ตังค์มีไม่พอใช้ ทั้งหมดนี้ก็ทำให้ชีวิตที่เคยปกติ เปลี่ยนเป็นไม่ปกติ

ความสุขของผมก็คือ พยายามประคับประคองให้ทุกอย่าง ทั้งสุขภาพร่างกาย, สติปัญญา, การใช้ชีวิตประจำวัน, การงาน, รายได้, ความสัมพันธ์กับผู้คนรอบตัวที่สนิทชิดใกล้ ฯลฯ เป็นไปตามวิถีทางธรรมดาดังเช่นที่ควร อย่าโลดโผนหวือหวาเป็นอื่น

ความฝันเรื่องอยากร่ำรวย, มีบ้าน, ที่ดิน, รถยนต์, เครื่องเสียงแพง ๆ, ชื่อเสียงลาภยศฯลฯ เหล่านี้เป็นแค่ผงชูรสหรือเครื่องปรุงที่ทำให้ชีวิตอร่อยขึ้นบ้างเท่านั้นนะครับ

และในทางปฏิบัติ ยังมีน้ำจิ้มอีกหลายอย่างในการปรุงรสชีวิตให้แซ่บ ซึ่งผมคิดว่าเรียบง่ายกว่า เช่น การอ่านหนังสือ, ดูหนัง, ฟังเพลง ชื่นชมงานศิลปะ, คบหามิตรสหายดี ๆ รวมทั้งความรักแบบเติมเต็มภายในใจให้ครบถ้วน ฯลฯ

อย่างหลังทั้งหลายทั้งปวงนี้ ผมคิดว่าเป็นเครื่องปรุงให้กับชีวิต โดยไม่ทำให้อะไรที่เคยปกติ เบี่ยงเบนเฉไฉมากไปจนเกินควร

หลายหนหลายคราว รสนิยมเหล่านี้ ยังสามารถแปรเปลี่ยนเป็นความสุขได้ด้วยตัวของมันเอง

ผมเรียกความปกติในชีวิตว่าความสุขแบบที่หนึ่ง และเรียกรูปแบบการใช้ชีวิตตามรสนิยมส่วนตัวนี้ว่า ความสุขแบบที่สอง

ผมนับเอาการเขียนหนังสืออยู่ในหมวดหมู่ของความสุขแบบที่สอง

เหตุผลข้อแรก มันเป็นงานอย่างเดียวที่ผมถนัด

ในบรรดาเปลือกนอกสารพัดอย่างของมนุษย์ งานเป็นรากใหญ่ที่ยึดเหนี่ยวเลยนะครับ

ไม่มีงาน ชีวิตก็ว่างโหวง และร้ายกาจขนาดทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า

กระทั่งเปลือกนอกภาพลวงตาอีกอย่างคือ การเป็นที่รู้จักและยอมรับของโลกรอบข้าง นั้นก็ผูกพันขึ้นอยู่กับงานที่แต่ละคนสร้างทำไว้

ผมเป็นมนุษย์พันธุ์ที่ไม่พกนามบัตร ไม่มีนามบัตร หลายครั้งที่กล่าวแนะนำตัวต่อผู้อื่นแล้วก็เคว้งคว้าง งานของผมไม่เป็นที่รู้จักของผู้คนแวดวงนอกเหนือการเขียนการอ่าน

แต่ในทางตรงข้าม หลายครั้งผมได้รับการทักทายชวนคุย เจอะเจอมิตรภาพดีงาม ก็เนื่องมาจากงานของผมเป็นใบเบิกทาง

หากปราศจากงานเสียแล้ว ตัวตนเล็ก ๆ ของผมคงจมหายไปอีกเยอะเลย อาจเหลือโลกแคบ ๆ แค่แวดวงของคนรู้จักคบหาเป็นการส่วนตัว

งานเป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนแสดงให้เห็นว่า ตัวเรายังมีอยู่นะครับ กระทั่งว่างานบางชิ้นอาจคงทนอยู่นานยิ่งกว่าชีวิตของผู้สร้างมันขึ้นมาเสียอีก

เหนือกว่านั้น ผมคิดว่ามนุษย์สามารถใช้ทุก ๆ อาชีพการงาน เป็นเครื่องมือขัดเกลาความคิดจิตใจให้ก้าวไปในทางบวก กลายเป็นคนดียิ่ง ๆ ขึ้น (หรืออย่างแย่ก็คือ ทำให้เป็นคนเลวน้อยลง เช่น ผม เป็นต้น)

งานของผมคือการเขียนหนังสือ จึงอธิบายเรื่องนี้ได้ค่อนข้างชัดว่า เพื่อจะให้เกิดคุณภาพชิ้นงานที่ดี ผมจำเป็นต้องฝึกตัวเองให้เฉียดใกล้ความเข้าใจโลกเข้าใจชีวิต จะโดยวิธีใดก็ตาม ตั้งแต่สังเกตเรียนรู้จากผู้คนที่พบเจอ, อ่านหนังสือ-ดูหนัง, ออกเดินทาง, ขบคิดพิจารณาประเด็นต่าง ๆ, แก้ไขขัดเกลาข้อผิดพลาดบกพร่องของตนเอง ฯลฯ

ผมเรียกขั้นตอนต่าง ๆ เหล่านี้ว่า การเรียนรู้

การเรียนรู้นั้น ด้านหนึ่งส่งผลสะท้อนต่อตัวงาน แต่อีกด้านหนึ่งก็ส่งผลสะท้อนต่อตัวเรา

งานเปลี่ยนแปลงคนได้นะครับ และโดยมากที่เกิดขึ้น งานมักจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในทางดีงามสร้างสรรค์

ผู้เปลี่ยนตัวเองในด้านลบเนื่องเพราะการทำงาน อาจมีอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่โดยรวมเป็นผลจาก ‘ความเชื่อผิด ๆ’

ความเชื่อผิด ๆ นั้น สรุปรวบรัดได้ว่า ไม่ได้เป็นการทำงานเพื่อมุ่งหวังงานที่ดี แต่ทำงานบนพื้นฐานเป้าหมายปลายทางอื่น ทำเพื่อความร่ำรวย เพื่ออำนาจอิทธิพล, ลาภยศ, ชื่อเสียง หรือผลประโยชน์ในทางวัตถุ ฯลฯ

งานที่เป็นงานอันถ่องแท้ คือขั้นตอนวิธีหนึ่ง ทำให้พินิจพิจารณาความทุกข์อย่างเข้าอกเข้าใจ (ขึ้นบ้าง) และเป็นเครื่องมือสำคัญในการปรับตัวแสวงหาความสุข

ความสุขของผม (พ้นจากการดำรงชีวิตโดยปกติ) มีอยู่หลายอย่าง การนั่งเรือด่วนดูแม่น้ำเจ้าพระยาตอนเย็นก็เป็นความสุข, อ่านหนังสือดี ๆ ถูกใจก็เป็นความสุข, เข้าวัดเข้าวาดูงานศิลปะก็เป็นความสุข ฯลฯ

ในรายละเอียดของความสุขปลีกย่อยหลาย ๆ อย่างจำนวนนับไม่ถ้วน แน่นอนว่า ย่อมมีการทำงานเขียนปรากฏรวมอยู่ในนั้น

เป็นความสุขลำดับต้น ๆ ด้วยนะครับ

ผมไม่ค่อยแน่ใจว่า ได้ตอบคำถาม ‘ความสุขอยู่ในงานเขียน หรืองานเขียนอยู่ในความสุข?’ ตรงประเด็นหรือเปล่า?

แต่รู้และแน่ใจว่า ขณะตอบ-โดยวิธีการเขียนเล่าสู่กันฟัง-ผมมีความสุข พร้อมทั้งหวังเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยตามประสาคนละโมบว่า ขณะอ่านคำตอบของผม ญาติโยมทุกท่านคงจะสุขกายสบายใจโดยทั่วหน้า

วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ปัญหาหัวใจ โดย 'นรา'


เละเทะไม่เป็นท่าเลยนะครับ สำหรับการเขียนหนังสือของผมในระยะหนึ่งเดือนกว่า ๆ ที่ผ่านมา เข้าสู่ภาวะฟอร์มตกและต่ำอย่างฉกาจฉกรรจ์ ยิ่งกว่าสภาพเศรษฐกิจดิ่งเหวของหลาย ๆ ประเทศรวมกันเสียอีก

ฟอร์มตกในที่นี้ สาธยายขยายความได้ว่า ผมยังเขียนหนังสือทุกวัน ใช้เวลาการทำงานเท่าเดิม แต่ผลลัพธ์กลับออกมาไม่เป็นโล้ไม่เป็นพาย มีงานค้างคาเขียนไม่จบอยู่เยอะแยะมากมาย และงานที่เขียนเสร็จอีกหลายชิ้นมีคุณภาพไม่ดีอย่างเด่นชัด กระทั่งต้องปล่อยทิ้งไว้ รอการชำระสังคายนาทางวิชาการกันอีกยกใหญ่ในอนาคตข้างหน้า

หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ไปอีกเรื่อย ๆ แล้วล่ะก็ มีแนวโน้มความเป็นไปได้สูงลิ่วว่า ความเป็นนักเขียนของผมคงไม่แคล้ว จบเห่เอวังในสภาพน่าอนาถดูไม่จืด

ผมจึงแก้ปัญหา ด้วยการนอนหงายเหยียดยาวบนโซฟา เล่าปรับทุกข์ระบายความในใจ โดยมีเด็กชายพี่หมี ตุ๊กตาหมีติงต๊องพุงป่องสมองเล็ก ปลอมตัวเป็นจิตแพทย์นั่งฟังตาปริบ ๆ อยู่ข้าง ๆ เหมือนเดิม

จิตแพทย์ลูกหมีไม่ได้วินิจฉัยอาการของผมแต่อย่างไร มันนั่งหลับสัปหงกไปก่อนที่ผมจะเล่าจบ

พอผมเล่าจบ เด็กชายพี่หมีก็สะดุ้งตกใจตื่น เพื่อให้แลดูแนบเนียนเหมือนใส่ใจรับฟังอยู่ตลอดเวลา มันจึงผงกศีรษะกลม ๆ เหมือนมันบดในน้ำเกรวี่ พลางพูดว่า “อืมม์ สำคัญ นี่เป็นปัญหาสำคัญ”

ครั้นผมถามไปว่า “ปัญหาอะไรเหรอพี่หมี?”

ลูกหมีพุงป่องทำหน้าอิหลักอิเหลื่อเหมือนกินน้ำผึ้งรสบอระเพ็ด อึกอักอยู่พักหนึ่ง แล้วก็รีบตอบส่งเดชเพื่อเอาตัวรอดว่า “ปัญหาหัวใจ”

พลางปีนอุ้ยอ้ายขึ้นมาบนบ่า ตบหลังตบไหล่ผม พร้อมกับเอ่ยปลอบโยนเป็นปริศนาธรรมว่า “ไม่เป็นไรหรอก นายผิดพลาดมาถูกทางแล้ว ประเดี๋ยวทุกอย่างก็ดีขึ้นเอง”

ปลอบเสร็จ เด็กชายพี่หมีก็ปีนทุลักทุเลลงไปนั่งทำหน้าเคร่งขรึม...เตรียมหลับต่อ ทิ้งให้ผมฉงนสงสัยเพิ่มขึ้นอีกข้อว่า “ปัญหาหัวใจอะไรวะ?”

อย่างไรก็ตาม ขณะเล่าอะไรต่อมิอะไรให้พ่อหมอจิตแพทย์ลูกหมีฟัง ตอนหนึ่งผมหลุดปากออกไปว่า “คุณหมอครับ ระยะหลัง ๆ ผมรู้สึกเหมือนสมาธิไม่ดีเวลาเขียนหนังสือ ความคิดไม่ไหล ไอเดียไม่แล่น วางแผนไม่รัดกุม ทุกอย่างติดขัดไปหมดนะครับ”

ทบทวนดูแล้ว ผมก็พบว่านั่นคือ ต้นตอสาเหตุที่ทำให้ผมฟอร์มตก จนกระทั่งเขียนหนังสือได้เละเทะอิเหละเขละขละ

มีผลต่อเนื่องทางความรู้สึกอยู่อย่างหนึ่ง พอเขียนหนังสือไม่ได้ดังใจสักสองสามวันติดกัน สิ่งที่ติดตามมาคือ กลายเป็นความกดดันและสูญเสียความเชื่อมั่น

จากนั้นก็วนเวียนเป็นงูกลินหาง หรือเข้าข่ายทฤษฏีฝนตกเพราะกบมันร้อง กบมันร้องเพราะท้องมันปวด เนื่องจากกินข้าวดิบ เพราะฝนตก...

ปราศจากความมั่นใจเสียแล้ว การลงมือเขียนหนังสือแต่ละครั้ง ก็ไร้ซึ่งความคึกคักฮึกเหิม เขียนด้วยอาการลังเล กลัว ๆ และไม่ค่อยกล้า

ความกลัวที่เข้าครอบงำ ก็เลยยิ่งทำให้เนื้องานนั้นออกทะเลกู่ไม่กลับ ย้อนมาทบต้นเหมือนดอกเบี้ยเงินกู้ กลายเป็นความไม่เชื่อมั่นที่หนักหนารุนแรงกว่าเดิมเพิ่มขึ้นตลอดเวลา

พูดได้ว่า แต่ละวัน ทุก ๆ เช้า ผมยังมีใจอยากจะเขียนหนังสือ อยากเขียนโน่นเขียนนี่ มีเรื่องอยากเล่าสู่กับผู้อ่านมากมายเต็มไปหมด แต่ที่ขาดหายไปคือ ความรู้สึกตื่นเต้นเร้าใจที่จะลงมือเขียน

เป็นความอยากเขียนกับแรงกระตือลือล้นที่จะเขียนไม่ค่อยไปด้วยกันนะครับ ผมอยากเขียนเช่นเดียวกับอารมณ์ปรารถนาลม ๆ แล้ง ๆ ทั่วไป ค่อนข้างเพ้อฝันเลื่อนลอย และขาดแรงจูงใจที่จะนำไปสู่ภาวะจดจ่อคร่ำเคร่งเอาจริงเอาจัง

พูดอีกแบบหนึ่ง ตลอดเดือนกว่า ๆ ที่ผ่านมา ขณะเขียนหนังสือผมไม่ค่อยรู้สึกสนุก และเมื่ออ่านทวนแต่ละเรื่องที่เขียนจบลง ผมก็พบว่าจืดชืดไม่เป็นรสซังกะตายพอ ๆ กัน

ถึงบรรทัดนี้ เด็กชายพี่หมีที่นอนหลับอุตุเป็นก้อนกลม ๆ อยู่ข้างจอคอมพิวเตอร์ ก็ละเมอพึมพำออกมาเบา ๆ ว่า “พี่หมีก็ไม่สนุกเหมือนกัน”

ถ้าจะถามตัวเองต่อไปในลักษณะสอบปากคำผู้ต้องหา คำถามนั้นคือ ทำไมผมจึงรู้สึกไม่สนุกระหว่างเขียน?

คำตอบก็น่าจะตรงตามที่จิตแพทย์กำมะลอเด็กชายพี่หมีวินิจฉัยเอาไว้ มันเป็นปัญหาหัวใจนะครับ

ผมเป็นคนเขียนหนังสือจำพวก เอนอิงพิงเหยียดอยู่แนบเนื่องกับการใช้ชีวิต

กล่าวคือ ในแต่ละวันใช้ชีวิตผ่านพบทำอะไรมาบ้าง สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น ส่งผลใหญ่หลวงต่อการทำงานในเช้าวันถัดมา

ปี 2552 เป็นช่วงท็อปฟอร์มในการเขียนหนังสือของผม นั่นก็เพราะว่า แต่ละวันผมแทบจะไม่เคยทำอะไรวอกแวกเป็นอื่น ตื่นเช้า เขียนหนังสือ ออกจากบ้านเข้าห้องสมุด ค้นข้อมูลทำการบ้าน ตกเย็นก็เดินเล่น ดูพระอาทิตย์ตก, นั่งเรือด่วนดูวิวสองฝั่งแม่น้ำ หรือนั่งรถเมล์กลับบ้าน พร้อม ๆ กับทำในสิ่งที่เรียกว่า “เขียนหนังสือในหัว”

พ้นจากกิจวัตรปกติเหล่านี้ ผมก็เดินทางไปดูจิตรกรรมฝาผนังตามวัด หรือไม่ก็เที่ยวชมโบราณสถานต่าง ๆ

ทั้งหมดนี้วนเวียนเกี่ยวโยงกับการเขียนหนังสือ และเป็นไปอย่างหมกมุ่นหลงใหล ขนาดยามหลับ ผมก็ยังฝันว่าเขียนหนังสือหรือไปดูจิตรกรรมฝาผนัง

เหมือนนักกีฬาที่ฟิตซ้อมมาดี สภาพร่างกายสมบูรณ์ พอลงสนาม จะทำอะไรก็ได้ดังใจถูกต้องคล่องแคล่วไปหมด

การเขียนหนังสือนี่ก็เช่นกัน เขียนโดยมีประเด็นต่าง ๆ ร้อยเรียง มีเค้าโครงต้น กลาง ปลาย ชัดเจนอยู่ก่อนแล้วในหัว เวลาลงมือทำงานจริง ย่อมไหลแล่นราบรื่น

อันที่จริง ช่วงเดือนกว่า ๆ ที่ฟอร์มตกฮวบฮาบ ผมก็ยัง “เขียนหนังสือในหัว” ล่วงหน้า ก่อนลงมือจริงทุกครั้ง แตกต่างแค่ว่า เป็นสเก็ตช์หยาบ ๆ คร่าว ๆ ไม่ละเอียดถี่ถ้วน และยังไม่ชัดเจนเพียงพอเหมือนที่เคยเป็นมา

เป็นเค้าโครงกว้าง ๆ เลือนรางอยู่สักหน่อย มีเรื่อง มีประเด็นที่จะเขียน แต่ขาดรายละเอียดระหว่างทาง

สภาพฟิตซ้อมมาไม่เต็มที่เช่นนี้ ส่งผลให้ผมเจอปัญหาสำคัญ คือ ในทุกครั้งการเขียน มักมีความคิดเฉพาะหน้า ผุดปรากฏขึ้นอยู่เป็นระยะ ๆ

ถ้าคิดล่วงหน้ามาดีและรัดกุม จะช่วยได้มากในการรับมือกับสิ่งที่งอกเพิ่มกะทันหันขณะเขียน รู้ว่าแวบหนึ่งของบางสิ่งบางอย่างที่โผล่พรวดแทรกเข้ามา ดีพอที่จะเติมเพิ่มเข้าไปหรือควรตัดทิ้งข้ามผ่าน

แต่ในสภาพไม่ฟิต คิดมาไม่กระจ่าง เจอะเจอไอเดียปุบปับฉับพลัน ผมมักจะเอาไม่อยู่รับมือไม่ไหว ลงท้ายกลายเป็นเฉไฉ โดนความคิดใหม่นั้น ลากจูงไปเข้ารกเข้าพง และต่อไม่ติดกับประเด็นที่กำหนดตั้งวางไว้ในใจก่อนหน้า

บางทีประเด็นเดิมกับรายละเอียดเฉพาะหน้า ก็ขัดแย้งกันจนกลายเป็นทางแยกที่เลือกไม่ถูก ว่าจะมุ่งต่อไปในทิศไหน

งานเขียนตลอดหนึ่งเดือนกว่า ๆ ของผม ส่วนใหญ่เป็นไปในลักษณะนี้ ขึ้นต้นไว้อย่างหนึ่ง ลงเอยกลายเป็นอีกอย่าง และบ่อยครั้ง ‘ออกทะเล’ จนหารันเวย์ลงจอดไม่เจอ

ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการ ‘เขียนหนังสือในหัว’ ไม่เพียงพอ และเกี่ยวโยงกับ ‘ปัญหาหัวใจ’ อย่างเต็ม ๆ จัง ๆ

‘ปัญหาหัวใจ’ นั้น หมายความว่า ระยะหลัง ผมทุ่มเทใส่ใจให้กับการเขียนหนังสือน้อยไปหน่อย

แรกเริ่มมันเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวหรอกนะครับ แต่นานวันเข้า ‘ความใส่ใจ’ อันย่อหย่อนบกพร่อง ก็พัฒนาแพร่ลามบานปลายขึ้นเรื่อย ๆ

รู้ตัวอีกทีก็กลายเป็น ‘ไม่ใส่ใจ’ เกือบจะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเรียบร้อยแล้ว

ตอนที่เพิ่งเริ่มเล่น facebook ใหม่ ๆ และติดงอมแงมชนิดลืมกินลืมนอน ตอนนั้นผมรู้ตัวตลอด รู้ว่าแต่ละวันจะต้องโดนแย่งชิงเวลาการทำงาน เพื่อไปเพลิดเพลินกับการเข้าสังคมในโลกเสมือนจริงวันละหลาย ๆ ชั่วโมง

การระวังป้องกัน สำหรับทำงานเขียน จึงยังมีอยู่และการ์ดไม่ตก กระทั่งผ่านวาระนั้นมาได้ โดยไม่บอบช้ำบุบสลาย ไม่ก่อเกิดกลายเป็น ‘ปัญหาหัวใจ’

ผมมาพลาดพลั้งเสียที เมื่อเข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ เริ่มหวนกลับมาหมกมุ่นหลงใหลการวาดรูปอีกครั้ง หลังจากทิ้งห่างวางมือไปร่วม ๆ ยี่สิบปี

นี้เป็นผลโยงใยต่อเนื่องมาจากการดูจิตรกรรมฝาผนังนะครับ

ดูบ่อย ๆ ผ่านตามาก ๆ ก็นึกครึ้มอยากขีดเขียนเล่น ๆ บ้าง แต่ที่ผมนึกไม่ถึงก็คือ การวาดอะไรก๊อก ๆ แก๊ก ๆ จะส่งผลให้ผมย้อนมาดูจิตรกรรมฝาผนังที่เคยผ่านตา สวยและเข้าถึงดื่มด่ำได้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ผมก็เริ่มวาดเล่นเป็นการใหญ่ แล้วก็ได้รับบทเรียนต่อมาคือ การดูจิตรกรรมฝาผนังควบคู่กับฝึกมือไปด้วย ช่วยให้ย้อนกลับมาดูศิลปะตะวันตก ด้วยความตื่นตาตื่นใจมากขึ้นไม่แพ้กัน

ไวรัสโรค Art Addict เล่นงานผมงอมแงมตอนนี้นี่เอง

ถึงตรงนี้ไม่ใช่แค่หลงใหลจิตรกรรมฝาผนังและศิลปะไทยเพียงแขนงเดียว แต่ชอบไปหมดแทบครบทุกสกุลช่าง (ยกเว้นศิลปะร่วมสมัยมาก ๆ จำพวก Installation หรือ Modern Art รสจัด ๆ ซึ่งยังเกินปัญญาความเข้าใจของผม)

กิ่งก้านสาขาหนึ่งของศิลปะตะวันตกที่ผมหลงใหลมากคือ งานในสกุลอิมเพรสชั่นนิสม์ อันที่จริงก็ชอบและหลงรักมานานแล้ว แต่ข้อจำกัดเรื่อง ขาดทุนทรัพย์จะเดินทางไปชื่นชมดูของจริง (รวมทั้งหน้าตาโหดติดลบขอวีซ่ายากลำบาก) ช่วยระงับดับความฟุ้งซ่านไว้ได้เยอะ

จนกระทั่งอาการของโรคกำเริบ คราวนี้รั้งไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ นอกจากผมจะกัดฟันทุบกระปุก ซื้อหนังสือเล่มหนา ๆ มาชื่นชมดูรูปภาพให้หนำใจแล้ว ผมยังเข้าเว็บไซต์หอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อ save รูปที่ชอบ มาดูให้ดับกระหายคลายอยาก

อิทธิฤทธิ์ของงานศิลปะนั้นมีพิษสงแรงกล้านะครับ ผ่านการดูเฉย ๆ ไประยะหนึ่ง ผลงานอมตะเหล่านี้ก็จุดไฟให้ผมอยากวาดแบบนี้ได้บ้างจังเลย

นอกจากเสาะแสวงหาภาพงานศิลปะชั้นครูของไทยและเทศมาดู ผมก็เริ่มลงมือวาดเลียนแบบทำตาม

ยิ่งวาดก็ยิ่งพบความห่างชั้น ฝีมือห่างไกลกับต้นแบบ ชนิดกลับชาติมาเกิดใหม่อีกหลายชาติ ก็ไม่มีทางเฉียดเข้าใกล้

ขณะเดียวกัน ผมก็พบว่า ยิ่งวาดถี่บ่อยต่อเนื่อง ฝีมือของผมดีขึ้นตามลำดับ บางภาพที่ไม่เคยมีปัญญาหรือกล้าวาดมาก่อน ก็เริ่มทำได้เพิ่มขึ้นทีละนิด

ความคึกคักฮึกเหิม ความมั่นอกมั่นใจที่เคยเกิดในการเขียนหนังสือ เปลี่ยนย้ายถ่ายโอนมาลงที่การวาดรูปเล่น ๆ เกือบหมด

ที่สำคัญ ผมดันมีความคิดอย่างหนึ่ง ซึ่งจะเป็นคุณหรือเป็นโทษก็ไม่รู้ นั่นคือ ปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะวาดรูปให้ดีขึ้นคล่องขึ้น

เป็นความคิดที่รู้ซึ้งแก่ใจว่า อยู่ในวิสัยที่ทำได้และเป็นไปได้แน่นอน บนเงื่อนไขเดียวคือ ผมต้องฝึกปรืออย่างต่อเนื่องเอาจริงเอาจัง

เหตุประมาทเลินเล่อชะล่าใจน่าจะอยู่บริเวณแถว ๆ นี้ ผมเชื่อว่า ผมเขียนหนังสือมาเกินกว่า 20 ปี จนเกิดความคุ้นชินชำนาญและ ‘อยู่ตัว’พอสมควร สามารถทอดระยะห่างว่างเว้นไปได้หลาย ๆ วัน แล้วกลับมาเร่งฟอร์มเรียกความฟิตได้ในเวลาไม่นานนัก

ตรงข้ามกับการวาดรูป ซึ่งจำเป็นต้องวาดต่อเนื่องติด ๆ กันหลายวัน จึงจะกระเตื้อง และเพียงแค่เว้นวรรคไปวันเดียว ทุกอย่างก็กลับไปเหลือศูนย์ ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่

อัตราส่วนในการใช้เวลาแต่ละวัน สำหรับเขียนหนังสือ,วาดรูป และการอ่าน ยังเท่า ๆ กันอยู่ แต่น้ำหนักความทุ่มเทใส่ใจนั้นเปลี่ยนไปอย่างเด่นชัด

ความคิด, ความรื่นรมย์ และเชื้อไฟขยันของผม (อย่างหลังนี่มีน้อยเหลือเกิน) ล้วนรุมสุมอยู่ที่การวาดรูป ส่วนการเขียนและอ่าน กลายเป็นงานอดิเรกอันดับรอง ๆ ลงมา

โรค Art Addict จึงนำไปสู่โรค Arthoholic ด้วยประการฉะนี้

หนึ่งเดือนกว่า ๆ ที่ผ่านมา ผมวาดรูปดีขึ้น แต่เขียนหนังสือแย่ลง ค่อย ๆ สวนทางกันทีละนิด จนกระทั่งโจ่งแจ้งชัดเจน

ผมเริ่มรู้ตัวตอนที่ฟอร์มตกในการเขียนหนังสือเกิดขึ้นได้สักพัก แต่ยังติดประมาท คิดว่า ‘รับมือและจัดการได้’ ทว่าเมื่อเวลาเคลื่อนผ่านจากปฏิทินไป ทุก ๆ วันกลับกลายเป็นว่า สถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิม

ท้ายที่สุดก็เข้าขั้นวิกฤติ

กระนั้น การวาดรูปก็ช่วยผมได้อย่างหนึ่ง คือ ภาวะฉุกเฉินในการเขียนหนังสือ ไม่ใช่เรื่องน่าตระหนกอกสั่นขวัญเสีย และเป็น ‘ปัญหาหัวใจ’ ที่แก้ไขเยียวยาได้

ใด ๆ ก็ตามในชีวิต ซึ่งขึ้นอยู่กับการประพฤติปฏิบัติของผมเองเพียงลำพัง เช่น ทำตัวขยัน, ลดความอ้วน, ศึกษาหาความรู้ประดับสติปัญญา, สร้างงานเขียนที่มีคุณภาพแล้วใจ ฯลฯ ผมคิดว่าสามารถสะสางคลี่คลายได้หมด...ถ้าผมมีใจใฝ่ดีคิดจะทำจริง ๆ

เรื่องที่จำต้องเกี่ยวพันกับผู้อื่นต่างหากนะครับ ที่แก้ยากซับซ้อนกว่า และบางทีอาจกระทำได้ไม่สำเร็จ

ผมเชื่ออย่างนี้ครับว่า ยกตัวอย่างจากการวาดรูปเป็นตัวตั้ง ซึ่งผมไม่เคยร่ำเรียนติวเข้มตัวเองทางด้านนี้มาก่อน การวาดเล่นแบบเอาจริงในช่วงเดือนกว่า ๆ ที่ผ่านมา ยังเห็นผลเป็นรูปธรรมได้ว่า ‘ดีขึ้น’ ผิดหูผิดตา (ผมควรรีบบอกไว้ด้วยว่า เป็นการ ‘ดีขึ้น’ จากจุดต่ำสุดขึ้นมาเล็กน้อยเท่านั้น ทางข้างหน้ายังต้องฝึกและวาดกันอีกมหาศาล)

ถ้าการวาดรูปยังเป็นไปในรูปนี้ การเขียนหนังสือซึ่งเป็นเรื่องคุ้นมือ และผ่านการฝึกมือฝึกคิดมาต่อเนื่องเกินกว่าครึ่งค่อนชีวิต หากผม ‘เอาจริง’ และกลับมา ‘ใส่ใจ’ อย่างเข้มข้น ผมก็น่าจะบูรณปฏิสังขรณ์ฝีมือแรงงานของตัวเองกลับคืนมา กระทั่งสามารถยกระดับพัฒนาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นกว่าเดิม

‘ปัญหาหัวใจ’ ของผม ในรักสามเส้าระหว่างการเขียนและการวาด สามารถแก้ได้และไม่จำเป็นต้องตัดสินใจเลือก ทุกอย่างทั้งหมดยังสามารถดำเนินไปเคียงคู่กันอย่างสงบสุข แค่เพียงผมจัดสรรแบ่งเวลาให้เหมาะเจาะลงตัว และเกียจคร้านน้อยกว่าที่เป็นอยู่อีกสักนิด

เขียน ๆ ไปแล้ว ก็เหมือนวางกับดักตัวเอง เป็นท่าบังคับให้ต้องลงเอยทิ้งท้ายว่า ปัญหาหัวใจเรื่องความรักแก้ยากกว่าเยอะเลยครับ

สาบานสด ๆ ร้อน ๆ ก็ได้ว่า ข้อเขียนชิ้นนี้ไม่มีนัยยะแอบแฝงพาดพิงไปถึงเรื่องความรักกับหญิงสาวคนไหนทั้งสิ้น

ถ้าหากผมโกหกแล้วล่ะก็ ขอให้เด็กชายพี่หมีตกน้ำป๋อมแป๋มเหมือนในภาพที่เห็น

กลอนมันพาไปเท่านั้นเอง