วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2553

อารมณ์ขันของฮิวเมอริสต์ โดย 'นรา'

ผมเรียนรู้เกี่ยวกับการเขียนหนังสือ ด้วยวิธีครูพักลักจำ ผ่านการอ่านอย่างตะกละตะกลาม แล้วจึงค่อยเลือกเฟ้น ‘ครู’ ที่ตรงกับจริตนิสัยและรสนิยม

ที่แปลกกว่า ‘ครู’ ท่านอื่น คือ งานเขียนของ ‘ฮิวเมอริสต์’ มีส่วนสำคัญยิ่ง ในการหล่อหลอมกำหนดสร้างนิสัยบุคลิกให้ผมเป็นอย่างที่เป็นอยู่

นิสัยนั้นจำแนกคร่าว ๆ ได้ว่า หลงใหลอารมณ์ขัน, มีความสุขกับการได้ยียวนกวนประสาทผู้คน, ชอบเล่นโลดโผนพลิกแพลงกับภาษา, และกลายเป็นมนุษย์การ์ตูนในร่างคนที่ค่อนข้างไปทางเหลวไหลไร้สาระ

DNA ในร่างกายของผมคงถูกออกแบบทางพันธุกรรมให้โน้มเอียงมาทางนี้เป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว เมื่อได้รับสารกระตุ้นจากการอ่านงานเขียนของ ‘ฮิวเมอริสต์’ ...นับแต่นั้นมา สติของผมก็ไม่เคยปกติอีกเลย

‘ฮิวเมอริสต์’ เป็นนามปากกาของครูอบ ไชยวสุ ผู้ล้ำเลิศไร้เทียมทานใน 2 แขนง อย่างแรกคือ เป็นตำรวจตรวจภาษา ระดับอภิมหามือปราบ มีข้อเขียนบทความมากมาย ทักท้วงติติงการใช้ภาษาไทยผิดพลาดบกพร่องตามสื่อต่าง ๆ (บางทีก็เถียงแย้งความหละหลวมของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตฯ ด้วยเหตุผลและความรู้ที่ถี่ถ้วนรัดกุมกว่า) ในลีลาหยิกแกมหยอกร่ำรวยอารมณ์ขัน ชนิดที่อ่านแล้วลืมไม่ลง

ผมไม่เคยสับสนในการใช้คำผิดที่ผิดทางต่างความหมาย ระหว่างคำว่า ‘ถ้า’ กับ ‘ท่า’ เลยนะครับ นี้ก็ด้วยเคล็ดวิชาที่ได้รับจากครูอบ

ท่านสอนวิธีใช้ง่าย ๆ ไว้ว่า ให้เติมคำในใจเป็น ‘ถ้าหาก’ กับ ‘ท่าทาง’ วางแนบประโยคที่จะเขียน ก็จะสามารถตรวจสอบได้ทันทีว่าคำใดถูกต้อง

ตัวอย่างเช่น ‘เทวดา...จะบ๊องส์’ หรือ ‘...หิมะตกในกรุงเทพฯ’ ลองใช้ ‘ถ้าหาก’ กับ ‘ท่าทาง’ เติมลงในช่องว่าง อันไหนอ่านแล้วได้ใจความ คำนั้นคือคำที่ถูก

ผมไม่มีความรู้เรื่องหลักภาษาและไวยากรณ์ไทยมาตลอดชีวิตวัยเรียน รวมเลยจนถึงปัจจุบันก็ยังโหลยโท่ยเท่า ๆ เดิม แต่ก็ทำงานเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเลี้ยงตับไตไส้พุง ทั้งเครื่องในและเครื่องนอก ด้วยอาชีพขีดเขียนเกี่ยวเนื่องกับการใช้ภาษาเรื่อยมา

อาศัยหลักยึดแค่ว่า เขียนให้อ่านรู้เรื่อง อ่านเข้าใจ และวางลำดับถ้อยคำต่าง ๆ ก่อน-หลังให้ราบรื่น

รายละเอียดอื่น ๆ ที่เหลือ เป็นวิชาที่ได้จากครูตำรวจตรวจภาษาล้วน ๆ เลย

แจกแจงเป็นข้อ ๆ ไม่ได้หรอกนะครับว่า ประกอบด้วยอะไรบ้าง แต่สรุปหลักสั้น ๆ ได้ว่า ภาษาไทยมีหลุมพรางความยอกย้อนพิสดารซ่อนอยู่มากมาย วิธีรับมือจัดการแบบ ‘เอาอยู่’ ก็คือ คิดเยอะ ๆ และละเอียดรัดกุม

ครูอบเก่งในการเสาะหาหลุมพรางช่องโหว่ต่าง ๆ ในภาษา แล้วนำมายั่วล้อสร้างอารมณ์ขัน

ตัวอย่างเช่น ในเรื่องสั้น ‘ลึกลับนักสืบ’ ท่านเล่นคำกับคำ ‘นักสืบ’ ประเภทต่าง ๆ ไว้ว่า “...นักสืบมีอยู่หลายประเภท คือ นักสืบสวนมักสืบแต่เรื่องผลหมากรากไม้ นักสืบสาวมักสืบแต่เรื่องผู้หญิง นักสืบเสาะมักสืบค้นหาอะไรแปลกแปลก เช่นร้านที่เชื่อแล้วไม่ค่อยทวง นักสืบพันธุ์มักสืบเสร็จแล้วตอนจบเรื่องก็ได้นางเอกเป็นเมีย และนักสืบเท้ามักสืบแต่เรื่องต่ำต่ำเลวเลว แต่มีความเจริญคืบหน้า...”

ความเป็นบรมครู เป็นนายแห่งภาษา บรรลุถึงขั้นเลือกสรรถ้อยคำมาใช้งานชนิดสั่งได้ของครูอบ ส่งผลให้ท่านเป็นที่สุดในอีกตำแหน่ง นั่นคือ ราชาอารมณ์ขัน

ในคำนำหนังสือทุกเล่มของฮิวเมอริสต์ มักจะตกลงกับผู้อ่านไว้ 2 ข้ออยู่เสมอ นั่นคือ “ผู้อ่านเรื่องของผมควรจะผ่านอย่างต่ำมัธยมหก แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่กล้ารับรองว่าจะรู้เรื่องได้ทุกรายไป ที่จริงคิดว่าควรจะให้มีการแสดงประกาศนียบัตรหรือหนังสือสำคัญรับรองพื้นความรู้ก่อนจะยอมให้ซื้อ แต่เห็นว่าจะยุ่งแก่การขายการทอนสตางค์และการคืนสตางค์ ก็เลยระงับเสีย” และ “...เมื่อหนังสือนี้ตกอยู่ในครอบครองของผู้อ่านแล้ว ช่วยอ่านให้ครบทุกตัวทุกคำทุกประโยคทุกบรรทัดและทุกหน้า อย่าอ่านอย่างวิธีคำเว้นคำ หรือบรรทัดเว้นสองบรรทัด หรือหน้าเว้นสามหน้า เพราะไม่มีอะไรฟุ่มเฟือยที่จะควรข้ามไปเลย”

ทั้ง 2 ข้อตกลงนี้ เกี่ยวโยงกับจุดเด่นในงานเขียนของ ‘ฮิวเมอริสต์’ นั่นคือ ความละเอียดถี่ถ้วนในการหารูร่องช่องโพรง สำหรับสอด แทรก ซ้อน ซ่อน ซึม ลูกเล่นอารมณ์ขันอย่างมั่งคั่งแพรวพราว

ผมติดวิธีการอ่านแบบกัดแทะและเล็มทุกถ้อยคำอย่างเชื่องช้ายิ่งกว่าระบบราชการไทย นั้นก็เพราะคุ้นชินกับการอ่านทุกคำ ตามคำชี้แนะของพระเจ้าตา

ไม่มีนักเขียนไทยคนไหนอีกแล้วนะครับ ที่จะเล่นหกคะเมนตีลังกากับภาษาไทยอย่างละเอียดละเมียดวิจิตรบรรจงเทียบเท่า ‘ฮิวเมอริสต์’

พูดกันหลายปากว่า ภาษาไทยนั้นมั่งคั่งอลังการ ผมน้อมรับคล้อยตามความคิดดังกล่าวโดยปราศจากข้อเถียงแย้ง

แต่ที่ผิดแผกคือ ผมเห็นความหลากหลายและคุณค่าวิเศษต่าง ๆ ในภาษาไทยจากงานของฮิวเมอริสต์ ไม่ใช่จากภาษาสวมชฏา (สำนวนของ’รงค์ วงษ์สวรรค์) ที่เต็มไปด้วยศัพท์แสงสูงส่งเข้าใจยากของเหล่าปวงปราชญ์ผู้รู้

งานเขียนของ ‘ฮิวเมอริสต์’ ใช้สำนวนภาษาเรียบง่าย โน้มเอียงไปทางภาษาพูด แต่พิเศษเหนือธรรมดาตรงที่แฝงอารมณ์ขันไว้ แทบว่าทุกย่อหน้า ทุกวรรค ทุกประโยค และทุกคำ เปิดอ่านไปตรงไหนก็เจอทันที

ตลกภาษาของ ‘ฮิวเมอริสต์’ มีหลายระดับ ตั้งแต่เด่นชัดจะแจ้งไปจนถึงซ่อนลึกแนบเนียน กระทั่งว่าต้องขบกันหลายชั้น จึงจะเห็นแง่มุมขำขัน

เช่น “แต่มีผู้คนและเมียคนอื่นมากหน้าหลายตา (ซึ่งเป็นสองเท่าของหน้า)” นี้เป็นการเล่นกับคำว่า –ตัวผู้ตัวเมีย-และเล่นกับจำนวนปริมาณของคำว่า ‘มากหน้าหลายตา’ หรือ “หลักเศรษฐกิจสตางคะการ”, “ชุบมือเปิบล้างช้อนตักเช็ดตะเกียบคีบ”, “สุดเหวี่ยงเต็มแกว่ง”, “ทุ่มทุนสร้าง ขว้างทุนเสี่ยง เหวี่ยงทุนเสนอ”, “พอวิทยุปิดสถานีลั่นกุญแจ”, “สมบัติอหิวาต์เหว”, “ถอดเสื้อคนกางเกงคนออก เหลือแต่กางเกงลิง”, “ต้องซื้อด้วยอัตราตลาดมืด หรืออย่างดีก็ตลาดโพล้เพล้ขมุกขมัว อัตราตลาดสว่างให้แลกเฉพาะสิ่งของจำเป็น”, “ชนใครแล้วไม่มีผิด (คือชนถูก)”, “ข่าวสังคมนาคม”, “กลอนเปล่าซึ่งทำให้กระดาษเปล่าเลอะเทอะไปเปล่าเปล่า”
หรืออีกครั้งเพื่อขึ้นย่อหน้าใหม่เล่น ๆ นะครับ “ข้าพเจ้า-เอกพจน์บุรุษที่หนึ่ง-เป็นอีกข้าพเจ้าหนึ่ง-ไม่ใช่ข้าพเจ้าผู้เขียนเรื่องดังที่ใส่ชื่อผู้เขียนเอาไว้ แต่เป็นข้าพเจ้าในเรื่อง ฉะนั้นเมื่อปรากฏคำว่าข้าพเจ้าในเรื่องนี้ โปรดเข้าใจว่าไม่ใช่ข้าพเจ้าจริงจริง พึงทราบว่าเป็นข้าพเจ้าอีกข้าพเจ้าหนึ่ง...”

เรื่องอารมณ์ขันในการใช้ภาษาของ ‘ฮิวเมอริสต์’ ยังยกตัวอย่างกันได้อีกเยอะแยะมากมาย และสามารถตั้งเป็นหัวข้อทำวิจัยหรือวิทยานิพนธ์เพื่อศึกษาวิเคราะห์ได้สบาย ๆ (และเคยมีคนทำไปแล้ว)

อย่างไรก็ตาม ความเป็นราชาอารมณ์ขันของ ‘ฮิวเมอริสต์’ ไม่ได้สิ้นสุดยุติอยู่เพียงแค่ อัจฉริยะในการใช้ภาษาเท่านั้น แต่ครบเครื่องรอบด้านในทุก ๆ รูปแบบ ตั้งแต่มุมมองความช่างสังเกตแบบนักสร้างสรรค์, ความเชี่ยวชาญชำนาญชำนิในการเสียดสียั่วล้อเหน็บแนมประชัดประชันความเป็นไปต่าง ๆ (ที่ไม่เข้าท่า) ในสังคม

ลักษณะเด่น ๆ เหล่านี้ สามารถหาอ่านได้จากเรื่องสั้น ‘สุนทรพจน์เปิดส้วมสาธารณะ’, ‘เอกพจน์บุรุษที่หนึ่ง’, ‘ออกป่าล่าสัตว์’, ‘นำเที่ยวไทยแลนด์ (สยาม), และ ‘โรสแมรีหน้าบึ้ง’ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นงานระดับมาสเตอร์พีซ

และสิ่งสำคัญที่ไม่ค่อยจะมีใครกล่าวถึงสักเท่าไร นั่นคือ ระบบตรรกะอธิบายเหตุผลต่าง ๆ ของฮิวเมอริสต์ที่ตลกเหลือหลาย

ระบบตรรกะในการอธิบายเหตุผลของฮิวเมอริสต์นั้น พูดง่าย ๆ ก็คือ บางจังหวะบางวาระบางภาวะบางขณะ ท่านคิดเป็นการ์ตูนนะครับ

อธิบายยืดยาวมากความไปกว่านี้ ผมอาจจะพาผู้อ่านเข้ารกเข้าพงลงเหวไกลจากเป้าหมาย ยกตัวอย่างดีกว่า

เช่น “และชอบกล! ผีไทยไม่ยักหลอกเจ๊ก คงเนื่องด้วยกรมม่ะอะไรองค์นั้นไม่ทรงรู้ภาษาเจ๊ก จึงหลอกเจ๊กไม่รู้เรื่องกัน เป็นอย่างเดียวกับผีเจ๊กไม่หลอกแขก ผีแขกไม่หลอกฝรั่ง เพราะไม่รู้ภาษากัน หลอกกันไม่เข้าใจ นอกจากจะหาผีล่ามมาด้วย ซึ่งเป็นการประดักประเดิดและเปลืองค่าใช้จ่าย” และ “ผีคนคือคนที่ตายร่างกายเน่าเปื่อยแล้ว ผีบ้านคือบ้านที่พังทลายไม่มีรูปร่างแล้ว ผีบุหรี่ก็คือบุหรี่ที่คนสูบเข้าไปหมดแล้ว พวกฉันนี่เป็นผีคน ก็กินผีขนม สูบผีบุหรี่ และอยู่ในผีบ้าน”

หรือ “ฉาก-ดาดฟ้าเรือเดินทะเลไประยองจันทบุรี เห็นท้องฟ้าสีฟ้า มีเมฆลอยอย่างสบายสบายสองก้อน มีนกนางแอ่นที่แอ่นพอสมควรสองตัว บินไปทางโน้น แล้วก็มาทางนี้ แล้วก็ไปทางโน้นอีก ตลอดเวลาของเรื่องนี้ ไม่บินไปไหนนอกจากทางโน้นกับทางนี้ เห็นทะเลสีน้ำทะเลลิบลิบไปจดขอบฟ้า ปลาฉลามที่ยังมีหูสองตัว ปลาทูที่ยังไม่ได้นึ่งสองตัว ปลาที่เขาเอามาทำปลาเค็มไม่รู้จักชื่ออีกหลายชนิด ชนิดละสองตัว ว่ายไปว่ายมาคลาคล่ำอยู่ มีคลื่นพอประมาณ ไม่ถึงแก่ทำให้คลื่นไส้...”

และที่เด็ดขาดบาดใจมากก็คือ “อนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าได้รับเชิญมาแล้วในวันนี้ ข้าพเจ้าใคร่จะขอฝากความคิดเห็นไว้แก่คณะกรรมการจัดสร้างและดูแลบำรุงรักษาส้วมสาธารณะด้วยว่า ตู้สำหรับหยอดสตางค์ที่ประตูส้วมนั้น ควรจะจัดให้เป็นที่สบใจผู้เข้าไปถ่ายสักหน่อย โดยทำอย่างทำนองสล็อทแมชชีนในเมืองนอก ซึ่งเด็กผู้ใหญ่ในเมืองไทยเมื่อสมัยสามสิบปีมาแล้วรู้จักดี เรียกกันว่า ‘อีดำอีแดง’ คือเมื่อหยอดสตางค์ลงไปแล้ว ประสบคราวโชคเหมาะเคราะห์ดี ก็จะมีสตางค์ไหลกราวออกมาเป็นกำไร ถ้าโชคไม่ดี ก็หยอดลงไปหายเปล่า ซึ่งเท่ากับเสียค่าผ่านประตูตามธรรมดาอยู่แล้ว ทำเช่นนี้ก็เท่ากับเป็นการแถมพกนั่นเอง แต่แถมเฉพาะผู้เคราะห์ดี เมื่อคนมีหวังจะรวยขึ้นได้ โดยหยอดสตางค์ค่าผ่านประตูเข้าส้วมเช่นนี้ คนก็จะนิยมการถ่ายมากขึ้น อาจจะเวียนมาถ่ายกันคนละหลายหลายหนในวันหนึ่งวันหนึ่ง แล้วการจะถ่ายให้ได้มากมากครั้ง ก็จำต้องกินให้มากขึ้น ทั้งจำนวนครั้งและจำนวนอาหาร เมื่อคนกินมากก็ต้องซื้อมามาก คนขายก็จะขายดี การค้าก็จะเจริญ โภคกิจก็จะฟื้นฟู หรือจะมีไอเดียในการลดค่าผ่านประตูเข้าส้วมปีละเดือน ปีละฤดู อย่างไรก็ได้ จะถ่ายหนึ่งแถมหนึ่ง ก็ดีเหมือนกัน จะจัดปับลิคศิตี้ให้คนนิยมอย่างไรน่ะ เป็นสิ่งควรทำทั้งนั้น”

เหตุผลสำคัญอีกอย่างที่ทำให้ ‘ฮิวเมอริสต์’ ได้รับการยกย่องว่าเป็นราชาอารมณ์ขัน ก็คือ ตลกของท่าน มีรสนิยมดี สุขุมลุ่มลึก เหนือชั้น และไม่ก้าวร้าวหยาบคาย

ในฐานะผู้นิยมและหลงรักอารมณ์ขัน ผมพูดได้ว่า งานเขียนประเภทหัสคดี เป็นศิลปะชั้นสูงและยากสุดขีด

เขียนให้ผู้อ่านสะเทือนใจร้องไห้ยังง่ายกว่าเยอะนะครับ

เรื่องนี้อธิบายได้ว่า มนุษย์มีประสบการณ์ร่วมต่อเรื่องทุกข์โศกในชีวิต ค่อนข้างใกล้เคียงกัน ขณะที่อารมณ์ขัน สามารถจำแนกแยกย่อยได้หลายระดับชั้น ตั้งแต่ขั้นหัวเราะเพราะเห็นคนเหยียบเปลือกกล้วยหกล้ม, ใช้ถาดตีหัว, ตลกใต้สะดือสัปดน, ตลกแบบประจานให้ผู้อื่นได้อาย, ตลกปัญญาชน, ตลกล้อเลียน, ตลกร้าย, ตลกเสียดสี ฯลฯ

จึงเป็นการยากที่อารมณ์ขันแบบใดแบบหนึ่ง จะสามารถตอบสนองรสนิยมทุกคนให้รู้สึกได้พ้องพานตรงกันอย่างครอบคลุมทั่วถึง

ผมมีความจำเลวร้ายในทุกเรื่องปกติของการใช้ชีวิต ขณะเดียวกันก็มีความจำดีเลิศในทุกเรื่องเกี่ยวกับอารมณ์ขัน จะเป็นพรสวรรค์หรือคำสาปนรก...ผมเองก็ยังไม่แน่ใจ

ที่แน่ใจและมั่นใจก็คือ ในบรรดาอารมณ์ขันทั้งหมดที่ผมจำได้ดีแม่นยำนั้น...

ผมประทับใจ, จดจำ และรักอารมณ์ขันของฮิวเมอริสต์มากที่สุด

วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

Wanich 60 และ 60.5 โดย 'นรา'

ผมเพิ่งมาระลึกชาติได้สด ๆ ร้อน ๆ ก่อนลงมือเขียนต้นฉบับชิ้นนี้ว่า คนดังที่ผมเดินใจเต้นระทึกตึ้กตั้กเข้าไปขอลายเซ็นเป็นรายแรกในชีวิต คือเจ้าของผลงานหนังสือรวมบทความ 2 เล่มชุด ชื่อปก Wanich 60 และ Wanich 60.5

ชื่อภาษาอังกฤษนั้นหมายถึงวาณิช จรุงกิจอนันต์ในฐานะผู้เขียน ส่วนตัวเลขกำกับแนบท้ายเป็นจำนวนผ่านร้อนผ่านหนาวในชีวิต หรือบางทีอาจเป็นการใบ้หวยระยะยาว (ตามซื้อเลขนี้ทุกงวดต่อเนื่อง สักวันอาจจะถูก)

ตอนนั้นผมไปฟังพี่วาณิชเสวนาอภิปรายเรื่องอะไรสักอย่าง ที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบรายการแล้ว ผมก็เดินเข้าไปยื่นหนังสือให้พี่วาณิชเซ็น พร้อมทั้งไถ่ถามถึงผลงานรวมบทกวีชื่อ ‘บันทึกแห่งการเดินทาง’ ที่พี่เขาเขียน ว่าสามารถหาซื้อได้ที่ไหนบ้าง

ว่าแล้วผมก็ขอใบ้หวยเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย เหตุการณ์เกิดขึ้นราว ๆ 26 ปีเห็นจะได้ พี่เขาคงราว ๆ Wanich 34 ส่วนผมก็อยู่แถว ๆ Nara 19 ยังสดใสอ่อนเยาว์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

เจอกันหนถัดมา พี่เขากลายเป็น Wanich 47 ผมกลายเป็น Nara 32 ครั้งนี้พี่วาณิชขึ้นเวทีพูดคุยเรื่อง ‘หนังกับหนังสือ’ (อีก 2 ท่านที่ร่วมสนทนาคือ พี่หง่าว-ยุทธนา มุกดาสนิท และพี่เตี้ย-สนานจิตต์ บางสพาน) โดยมีผมผู้เป็นน้องเล็ก ทำหน้าที่ดำเนินรายการ

เป็นการเสวนาที่ได้ทั้งเนื้อหาสาระและเกือบจะเกิดการปะทะคารมบนเวที แต่ผมใช้สิทธิ์คนดำเนินรายการ ชิงตัดบทเป่านกหวีดหมดเวลาเสียก่อน

พวกพี่ ๆ เขาก็เลยต้องลงมาอภิปรายต่อรอบสองในวงเหล้า (วงใหญ่) จนกระทั่งดึกดื่นและกรึ่ม ๆ ครึ้ม ๆ อย่างทั่วถึง ก่อนจะแยกย้ายกลับบ้านใครบ้านมัน

หลังจากนั้น ผมได้เจอพี่วาณิชอีกสองสามครั้ง ทุกคราวเว้นช่วงห่างเนิ่นนาน จนพี่เขาจำผมไม่ได้ ต้องแนะนำตัวกันใหม่อยู่ร่ำไป

ครั้งหลังสุดคือ ประมาณปลายปี 2548 ตอนเกือบ ๆ เที่ยงคืน ที่ซูเปอร์มาเก็ตแบบเปิดตลอด 24 ชั่วโมงแห่งหนึ่ง (ผมเลิกใบ้หวยแล้วนะครับ และไม่รับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้นในความแม่นยำของตัวเลขที่มีปรากฏในย่อหน้านี้)

คืนนั้นผมไปพร้อมเพื่อน ซึ่งเคยทำงานที่เดียวกับพี่วาณิช คุ้นเคยกันดีพอสมควร

พี่กับเพื่อนต่างไม่ได้เจอะเจอกันมานาน จึงทักทายไต่ถามสารทุกข์สุกดิบกันและกันหลายประโยค

“ดีใจว่ะที่ได้เจอ” พี่วาณิชบอกกับเพื่อนผม แล้วก็หันมาจ้องหน้าผมอยู่หลายวินาที ก่อนจะกล่าวว่า “เอ๊ะ ไอ้นี่หน้าตาคุ้น ๆ โว้ย ต้องเคยเจอกันที่ไหนสักแห่งมาก่อนแน่ ๆ”

ผมก็เลยแปลงกายเป็นเหตุการณ์ Déjà vu พูดแนะนำตัวสั้น ๆ กับพี่เขาเหมือนหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา

ผมเป็นแฟนพันธุ์แท้นอกรายการโทรทัศน์ของพี่วาณิช

ส่วนพี่วาณิชก็เป็น Idol ของผม เป็นฮีโร่ของผม และเป็นอีกหนึ่งครูคนสำคัญในการเขียนหนังสือ ที่ผมพยายามเรียนผ่านการอ่านผลงานจำนวนมาก

ครูนักเขียนของผมมีเยอะนับไม่ถ้วน หากจะเปรียบว่า ’รงค์ วงษ์สวรรค์ คือ ‘ครูใหญ่’ พี่วาณิชก็คงจะเป็นเสมือน ‘ครูประจำชั้น’

ครูใหญ่ให้อิทธิพลแรงบันดาลใจในการทำงานมากมายมหาศาล มอบเคล็ดวิชาล้ำค่าคือ ความรื่นรมย์กับการอ่านและเขียนหนังสือให้อร่อยทุกถ้อยคำ รวมทั้งกระบวนท่าไม้ตายในการเขียนบรรยายพรรณนาสิ่งต่าง ๆ

ส่วนครูประจำชั้น สอนผมเรื่องกลเม็ดเด็ดพรายสารพัด, จังหวะลีลาในการใช้คำให้ลื่นไหล, การโน้มน้าวเร้าอารมณ์อันหลากหลายให้ผู้อ่านคล้อยตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีจบข้อเขียนแบบ ‘ทิ้งหมัด เข้ามุม’

ครูที่ผมเรียกโดยใช้สรรพนามว่าพี่ เป็นเซียนในทุก ๆ ประการที่กล่าวมา และมีทีเด็ดอีกเยอะวิชาที่ผมยังไม่ได้เอ่ยถึง อีกทั้งยังเรียนไม่จบหลักสูตร

พี่วาณิชเป็นนักเขียนที่ครบเครื่อง เขียนมาแล้วทั้งนิยาย, เรื่องสั้น, บทหนังบทละคร, บทกลอน, สารคดี, ตอบปัญหาชีวิต, บทความ ฯลฯ จนผมนึกไม่ออกว่า เหลืองานเขียนแขนงใดบ้างในโลกนี้ ที่พี่เขายังไม่ได้เขียน

ว่ากันเฉพาะการเขียนบทความ สไตล์ของพี่วาณิช ถือได้ว่าเป็น ‘สกุลช่าง’ ที่เด่นชัดแข็งแรงมากสกุลหนึ่ง

ข้อเขียนของผม ก็จัดอยู่ใน ‘สกุลช่าง’ ที่พี่วาณิชเป็นเจ้ายุทธจักรอยู่นะครับ

สกุลช่างนี้ ผมไม่ทราบถ่องแท้ว่า ใครคือต้นตำรับหรือผู้ริเริ่มบุกเบิก เท่าที่จำความได้และรู้เดียงสาในการอ่าน ผมพบว่ามีอาจารย์ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช โดดเด่นเป็นสง่าอยู่ก่อนแล้ว และผ่านวันเวลานั้นมาถึงปัจจุบัน แบบแผนดังกล่าวได้รับการปรุงโฉม กระทั่งกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของพี่วาณิช

นิยามสั้น ๆ ง่าย ๆ ที่ผู้คนส่วนใหญ่ นิยมเรียกขานสกุลช่างนี้ก็คือ ‘เขียนเล่าเรื่องตัวเอง’

บทความของพี่วาณิช มีประเด็นแง่คิดบางอย่างเป็นโจทย์หรือตัวตั้ง แล้วเล่าเรื่องผูกเหตุการณ์ผ่านประสบการณ์ตัวเอง ใช้มุมมองความคิดความเข้าใจของตัวเอง เพื่อนำพาเนื้อหาเรื่องราวไปสู่แง่มุมนั้น ๆ

ผมเรียกสกุลช่างนี้อีกชื่อหนึ่งว่า เป็นการเขียนในลักษณะเหมือน ‘เพื่อนคุย’ เล่าสู่กันฟังในสิ่งละอันพันละน้อยกับผู้อ่าน

ความโดดเด่นอีกอย่าง ได้แก่ การเขียนให้อ่านง่ายและสนุกสุดขีด

พิจารณาอย่างผิวเผินหยาบ ๆ บทความของพี่วาณิช คล้าย ๆ กับนึกอะไรได้ขณะเขียน ก็ว่าแบบไหลไปเรื่อย ไม่ต้องปั้นแต่งประดิดประดอยอันใด

พิจารณาแบบใช้กระดาษทรายเบอร์ละเอียด บทความของพี่วาณิช ก็เต็มไปด้วยทักษะฝีมือชั้นสูง มีสัมผัสคล้องจองลื่นไหลชวนอ่าน, อารมณ์ขันเฉียบคม, ลีลาเลื้อยลากกระชากหลบและสับขาหลอก, จังหวะผ่อนหนักผ่อนเบา และอีกสารพัดเทคนิคความสามารถเฉพาะตัว...ซึ่งสรุปง่าย ๆ ว่า ร่ำรวยมั่งคั่งในเชิงวรรณศิลป์

ผมคิดว่า ผมเรียนรู้เทคนิคเหล่านี้จากพี่วาณิชค่อนข้างเยอะ แต่สิ่งที่ไม่มีวันเทียบเปรียบติดได้เลยก็คือ พี่เขาเขียนและใช้ลีลาอันแพรวพราวทั้งหลายประดามี ได้อย่างผ่อนคลายเป็นธรรมชาติ จนมองไม่เห็นร่องรอยการปั้นแต่งประดิดประดอย

ได้แค่เทคนิควิธีเท่านั้นนะครับ ขณะที่พี่วาณิชยังมีต้นทุนส่วนตัวอีกหลายอย่าง เช่น ประสบการณ์ชีวิต, ทัศนคติ และความรอบรู้แบบครอบจักรวาล อันเป็นสมบัติส่วนบุคคล ซึ่งต่อให้นับถือเลื่อมใสในฐานะครูกับศิษย์มากเพียงไร ก็ขอหยิบขอยืมหรือนำมาใช้ไม่ได้เด็ดขาด...มิฉะนั้นจะกลายเป็นการลอกเลียนแบบทำเทียมทันที

จุดเด่นอีกข้อเท่าที่ผมนึกออกคือ บทความของพี่วาณิช เปรียบเป็นมวยก็ตั้งการ์ดแน่นรัดกุม หากจะเถียงสู้บู๊ทางความคิดกับใครแล้ว พี่วาณิชเป็นมวยประเภทแพ้ยาก (และดูเหมือนว่าไม่เคยเพลี่ยงพล้ำให้ใคร) ตรรกะเหตุผลและวิธีแจกแจงสาธยาย ผ่านการคิดไตร่ตรองอย่างเป็นระบบ

มีอยู่บ่อยครั้ง ที่ผมอ่านงานของพี่วาณิชแล้ว ไม่เห็นด้วยและคิดต่างกับคุณครู แต่นั่นก็แค่ไม่เห็นพ้องคล้อยตามนะครับ...เพราะถึงคราวจะคัดง้างหักล้างพยายามเถียงในใจทีไร ผมเป็นต้องยอมแพ้จำนนต่อเหตุและผลอยู่ร่ำไป
พูดง่าย ๆ คือ อ่านแล้วไม่เห็นด้วย แต่นึกหาเหตุผลที่ดีกว่ามาเอาชนะเหตุผลที่พี่วาณิชวางไว้ในข้อเขียนไม่สำเร็จ พี่เขาเป็นกองหลังระดับทีมชาติอิตาลีชุดแชมป์โลกทุกสมัยรวมกันเลยทีเดียว เหนียวแน่น เก๋าเกม และอ่านขาดดักทางกองหน้าได้หมด

นี่ยังไม่นับรวมจังหวะเข้าปะทะแบบถึงลูกถึงคน หนักหน่วงรุนแรง แต่ไม่ฟาวล์ไม่ผิดกติกาและไม่โดนใบเหลืองด้วยนะครับ

ความยอดเยี่ยมสุดท้ายที่ผมเห็นจากบทความแบบ ‘เล่าเรื่องตัวเอง’ ของครู ได้แก่ ความพอเหมาะพอดี ไม่มากไม่น้อยเกินไป ระหว่างการอวดตัวกับการถ่อมตัว สำหรับผมแล้วนี่เป็นศิลปะ และเป็นศิลปะชั้นสูง มีเพียงนักเขียน ‘มือถึง’ เท่านั้น จึงจะ ‘เอาอยู่’

พี่วาณิชไม่ใช่แค่ ‘เอาอยู่’ หรือ ‘คุมได้’ นะครับ พี่เขาพัฒนาฝีมือแรงงานถึงขนาดทำได้คล่องแคล่วชนิดเป็นนายเหนือ ควบคุมบงการออกคำสั่งได้ตามใจชอบ ราวกับสั่งก๋วยเตี๋ยวร้านเจ้าประจำกันเลยทีเดียว

สำหรับนักเขียนระดับซือแป๋อย่างพี่วาณิช ผมคิดว่าไม่มีความจำเป็นใด ๆ ทั้งสิ้น ที่จะต้องมาแนะนำว่า เนื้อหาภายในของหนังสือ Wanich 60 และ Wanich 60.5 ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง และน่าสนใจควรค่าแก่การเสาะหามาอ่านอย่างไรบ้าง?

แค่ตีฆ้องร้องป่าวว่า หนังสือวางแผงแล้ว เท่านี้ก็เหลือเฟือเกินพอ

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ข้อเขียนชิ้นนี้ ดูเหมือน ‘ขายของ’ แบบฮาร์ดเซลส์ขึ้นมาบ้าง

หนังสือ Wanich 60 และ Wanich 60.5 มีคำสรรเสริญเยินยอต่าง ๆ ที่ผมกล่าวอ้างถึง ‘ครูของผม’อยู่ครบถ้วน

เว้นแต่ว่า...ดีกว่า สนุกกว่า และแพรวพราวกว่าที่ผมเขียนไว้เยอะเลย

บรรทัดข้างบนนี่ ผมพูดแบบอวดตัวและมั่นใจสุดชีวิตแล้วนะครับ