วันพุธที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2552

อวิชาการว่าด้วยจิตรกรรมฝาผนัง โดย "นรา"


นับจากที่ได้อ่านเจอเรื่องการวาดภาพประชันฝีมือระหว่างครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ กว่าผมจะมีโอกาสได้ดูจิตรกรรมฝาผนังของจริง ที่พระอุโบสถ วัดสุวรรณาราม ก็ต้องใช้เวลาอีกเกือบ ๆ ยี่สิบวัน

อันดับแรกเป็นความเข้าใจผิดส่วนตัว คือ ผมไปที่วัดแล้วพบว่า กำลังมีการซ่อมแซมบูรณะหลังคาพระอุโบสถอยู่ จึงด่วนสรุปเอาเองว่า คงปิดชั่วคราวจนกว่าจะแล้วเสร็จ (หลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน ขณะผมกำลังนั่งเรือเที่ยวคลองบางกอกน้อย ผ่านบริเวณหน้าวัด จึงค่อยทราบว่าพระอุโบสถยังเปิดให้เข้าชมตามปกติ)

ประการถัดมา เชื่อว่าหลายท่าน คงเคยประสบปัญหาคล้ายกับผมอยู่บ้าง นั่นคือ ดูจิตรกรรมฝาผนังแล้วไม่เข้าใจเหตุการณ์ในภาพ, แยกแยะไม่ออกว่างานชิ้นไหนสวย หรือย่อหย่อนอ่อนด้อย (เพราะเห็นทีไรก็รู้สึกว่า เหมือน ๆ กันไปหมด), อ่านตำรับตำราหาข้อมูลความรู้เพิ่มเติมแล้วติดขัดไม่เข้าใจ เนื่องจากมั่งคั่งแพรวพราวไปด้วยศัพท์เฉพาะในแวดวงช่าง

ตลอดทั้งชีวิตก่อนหน้านี้ ผมจึงดูจิตรกรรมฝาผนัง ด้วยอาการ “เดินผ่าน” ใช้เวลารวดเร็วไม่เกินสิบหรือสิบห้านาที พร้อมกับความว่างเปล่ากลวงโบ๋

การดูจิตรกรรมฝาผนังนั้นมี crack อยู่นะครับ และต้องหาวิธีแก้ให้ได้เสียก่อน

ผมก็เลยให้เวลากับตัวเองเพื่อทำการบ้านเตรียมความพร้อม เพราะรู้แน่ว่า ขืนทะเล่อทะล่าเข้าไปดูฝีมือครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ทันที โดยปราศจากความรู้พื้นฐานติดหัวบ้างแล้วล่ะก็ จะเข้าข่าย “เสียของ” และเข้าไม่ถึงฝีมือครูอย่างแน่นอน

ผมผ่านการฝึกวิชาลองผิดลองถูกอยู่ประมาณหนึ่งเดือนกว่า ๆ จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่กล้าพูดว่า “ดูเป็น” ทว่าหากเปรียบความรู้ความเข้าใจแต่เดิม ซึ่งเหมือนสะดุดหยุดชะงักติดอยู่แถว ๆ “คลองตัน” ล่าสุดผมก็ขยับตัวเคลื่อนช้า ๆ เข้าสู่แถว ๆ “พัฒนาการ” แล้วล่ะ

ที่จะเล่าสู่กันฟังต่อไปนี้ ปราศจากหลักเกณฑ์ทางวิชาการอันถูกต้อง เป็นแค่ประสบการณ์แบบครูพักลักจำส่วนตัวของผมเอง (ซึ่งสังกัดอยู่ฝ่าย “อวิชาการ”) เท่าที่ลองทดสอบดู ผมคิดว่าได้ผลอยู่เยอะพอสมควร

แรกสุดก็คือ ควรจะรู้จักและเข้าใจพื้นฐานของจิตรกรรมฝาผนังไทยว่า ไม่ได้มุ่งสร้างขึ้นเพื่อถ่ายทอดความสมจริง หรือคัดลอกธรรมชาติ เหมือนอย่างภาพเขียนของซีกโลกตะวันตก

การดูจิตรกรรมฝาผนัง หากพกพาเอาเกณฑ์ความเหมือนจริงเข้าทาบจับ ดูยังไงก็ไม่มีวันสวยขึ้นมาได้ (ดังเช่น ท่านมุขนายกมิซซังปาเลอกัวร์ ชาวฝรั่งเศสซึ่งเดินทางมาไทยปลายรัชกาลที่ 3 ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนังไว้ในหนังสือ-เล่าเรื่องกรุงสยาม-ว่า “ภาพเขียนของเขาฝีมือหยาบ น่าเกลียดและไม่เลียนแบบธรรมชาติ”)

จิตรกรรมไทยประเพณีนั้น สร้างสรรค์โดยยึดถือความงามในแบบอุดมคติหรือปรัมปราคติ พูดง่าย ๆ คือ มุ่งสะท้อนความงามที่ผ่านการตีความ ประดิดประดอย ดัดแปลงจากธรรมชาติหรือภาพในความจริง เป็นการสร้างอีกโลกหนึ่งขึ้นมาใหม่ทั้งหมด

ความไม่สมจริงแบบจงใจ จึงมีปรากฎอยู่ในภาพเขียนเต็มไปหมด เช่น บางครั้งตัวปราสาทราชวังสามารถมองเห็นได้ถึง 3 ด้าน (คือ ด้านหน้า ซ้าย ขวา) ด้วยการเขียนลวงตาบิดด้านข้างเล็กน้อยเข้าหาสายตาผู้ชม, สัดส่วนระหว่างอาคารสถานที่กับตัวบุคคล มักจะวาดให้มีขนาดพอดีรับกัน (ภาพคนที่นั่งอยู่จึงตัวใหญ่เกินจริง ประมาณว่า ถ้าลุกขึ้นยืนก็อาจสูงทะลุเลยเพดานได้), ปราศจากการแรเงาไล่น้ำหนักบนผิวเนื้อ แต่ใช้ลายเส้นหนักเบา ความผสานกลมกลืนของสีอ่อนแก่ ทำให้เกิดความใกล้ไกลและลึก (ซึ่งมีศัพท์ช่างเรียกกันว่า “ผลักระยะ”), ภาพตัวพระ-ตัวนาง มีรูปลักษณ์ สัดส่วน และท่วงท่าไม่เหมือนจริง แต่ถอดแบบมาจากลีลานาฏศิลป์อันอ่อนช้อย ที่สำคัญคือ ใบหน้านั้นมีแบบแผนแน่ชัดตายตัว ไม่ค่อยแสดงความรู้สึก เหมือนสวมหน้ากาก ทว่าสื่อแสดงอารมณ์ต่าง ๆ ผ่านการเคลื่อนไหวของท่าทาง (เช่น ท่ายกแขนป้องหน้าผาก หมายถึงความโศกเศร้าอาดูรสุดขีด ฯ) ฯลฯ

มีอะไรทำนองนี้แทรกซ่อนอยู่เยอะทีเดียว (ถ้าเจอเพิ่มเติมอีกเมื่อไร ผมจะค่อย ๆ เล่าให้ฟัง) กล่าวโดยสรุปคือ จิตรกรรมฝาผนังของไทยเป็นภาพสองมิติ และเขียนขึ้นโดยไม่คำนึงถึงหลักทางด้าน perspective สิ่งที่อยู่ใกล้และไกล ล้วนมีขนาดเท่ากันหมด รวมทั้งวาดโดยใช้มุมมองจากที่สูงแบบ bird’s eye view

ความน่าทึ่งจึงอยู่ที่ว่า ครูช่างของไทยท่านสามารถคิดค้นวิธีแก้ปัญหาข้อจำกัดต่าง ๆ เหล่านี้ได้อย่างแยบยล จนทำให้ความไม่สมจริงและเกินจริงต่าง ๆ แลดูกลมกลืนไม่ขัดตา กลายเป็นความงามอันมีแบบแผนเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนศิลปะที่อื่นใดในโลก

ในยุคหลัง ๆ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา เริ่มมีความนิยมนำวิธีเขียนเน้นความสมจริงและหลักการ perspective แบบตะวันตก เข้ามาใช้ในภาพเขียนไทยมากขึ้นกว่าเดิม (ในสมัยรัชกาลที่ 3) ผลก็คือ บางภาพ (ไม่ใช่ทั้งหมด) ดูแปร่งขัดตาสูญเสียเอกลักษณ์ เนื่องจากส่วนที่เคยเป็นจุดเด่นและเสน่ห์ดึงดูดสูงสุดหายไป กลายเป็นความไม่มีเอกภาพ

พูดเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่า จิตรกรรมไทยจะต้องแยกตัวโดดเดี่ยว ปิดกั้นไม่ยอมรับอิทธิพลด้านบวกจากแหล่งอื่นนะครับ ตรงกันข้ามผลงานที่เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 อันถือว่าเป็น “ยุคทอง” (รวมถึงผลงานชิ้นเอกของครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ ที่วัดสุวรรณาราม) ก็ได้มีการรับสิ่งใหม่ ๆ จากภายนอกอยู่เยอะ ทั้งภาพเขียนแบบจีน และศิลปะตะวันตก

จุดใหญ่ใจความนั้นอยู่ที่ว่า เมื่อรับอิทธิพลอื่นมาแล้ว สามารถผสมกับของเดิมได้กลมกล่อม และทำได้เนียนแค่ไหนมากกว่า

ภาพไทยที่ออกลีลาไปทางฝรั่ง จึงมีทั้งวาดได้งามและไม่งาม เพียงแต่ส่วนใหญ่ (เท่าที่ผมได้เห็นมาค่อนข้างจำกัด) โน้มเอียงไปอย่างหลังมากกว่า อันนี้ผมสันนิษฐานว่า เนื่องจากพอนำแนวคิดสมจริงแบบฝรั่งมาใช้แล้ว ก็ก่อให้เกิดปัญหาใหม่บางประการ ซึ่งครูช่างบางท่านแก้โจทย์ได้สำเร็จ บางท่านก็ล้มเหลว

เทียบคร่าว ๆ แล้ว จิตรกรรมไทยก็เหมือนหนังที่มุ่งมาทางแฟนตาซีหรือเหนือจริง คือหนักสเปเชียลเอฟเฟคท์ เน้นความอลังการงานสร้าง แสง สี มุมกล้องหวือหวาจัดจ้าน ฉากหลัง เสื้อผ้า งานโปรดักชันดีไซน์วิจิตรพิสดาร และนิยมเล่าเรื่องเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำเล่าในหลาย ๆ แห่ง เหมือนหนังรีเมค แต่ก็มีเหตุผลสำคัญกำกับอยู่ด้วย นั่นคือ เป็นการทำตามขนบ นอกจากจะสร้างขึ้นด้วยจุดมุ่งหมาย เป็นส่วนประกอบตกแต่งของพระอุโบสถหรือวิหาร (ซึ่งทำหน้าที่เบื้องต้นคือ ขับเน้นเสริมความโดดเด่นขององค์พระประธาน) แล้ว วัตถุประสงค์ลำดับถัดมา คือ ใช้เป็นสื่อเผยแพร่เรื่องราวทางศาสนา เช่น พุทธประวัติและชาดกต่าง ๆ ฯ สู่ชาวบ้านในวงกว้าง
อันนี้เป็นผลมาจากสภาพสังคมไทยในอดีตที่ไม่ได้มุ่งถ่ายทอดสิ่งต่าง ๆ ด้วยลายลักษณ์อักษร แต่เรียนรู้เรื่องราวสรรพวิชา ผ่านคำบอกเล่าแบบปากต่อปาก จิตรกรรมฝาผนังตามวัดก็เลยเป็นอีกสื่อหนึ่งที่สะดวกมีประสิทธิภาพในการเผยแพร่วรรณคดีและคำสอนทางศาลนาสู่มหาชน

ที่สำคัญคือ ถึงแม้ว่าเรื่องราวที่หยิบยกมาวาดกันตามผนังโบสถ์ จะวนเวียนซ้ำ ๆ และมีการจัดองค์ประกอบภาพ ซึ่งเต็มไปด้วย “ท่าบังคับ” มากมายที่ยึดถือสืบทอดต่อเนื่องกันมาช้านาน ทว่าฝีมือครูช่างแต่ละท่านก็ได้ตีความ สอดแทรกลายเซ็นเฉพาะตัวเอาไว้ในรายละเอียดปลีกย่อย จนทำให้ “เรื่องเดียวกัน” นั้น เกิดรสชาติแตกต่าง ไม่มีที่ไหนแห่งใดเหมือนกันเลย

จิตรกรรมไทยนั้น มองเผิน ๆ อาจละม้ายคล้ายคลึงกันไปหมด แต่เอาเข้าจริงก็หลากหลายฝีมือสกุลช่าง และสะท้อนถึงความงามอันเหลื่อมล้ำสูงต่ำผิดแผกจากกันเอาไว้เด่นชัด มีทั้งงานชั้นครู งานชั้นรอง ไปจนถึงขั้นดาด ๆ พื้น ๆ

ตรงนี้ก็นำไปสู่การบ้านลำดับต่อมา นั่นคือ ปัญหาเกี่ยวกับการดู “ไม่รู้เรื่อง”

ชาวบ้านสมัยก่อน ท่านสดับรับฟังเรื่องพุทธประวัติและชาดกจนคุ้นชิน เหมือนเรา ๆ ท่าน ๆ รู้พล็อต “คู่กรรม”, “ดอกโศก”, “ดาวพระศุกร์”, “บ้านทรายทอง”, “จำเลยรัก” การดูภาพจิตรกรรมฝาผนังจึงเข้าใจได้ง่ายดาย ไปโบสถ์แต่ละครั้งแต่ละแห่งก็เหมือนได้อ่านนิยายภาพเรื่องเดิมในเวอร์ชั่นใหม่ ๆ เห็นแล้วก็รู้แจ้งแทงตลอดว่า ในภาพนั้น ๆ ควรจะเริ่มตรงไหน สามารถไล่ลำดับต้น กลาง ปลาย ได้ถูกต้อง

จิตรกรรมไทยในหนึ่งภาพ เปรียบง่าย ๆ ก็เหมือนการ์ตูนญี่ปุ่นหนึ่งหน้า ไม่ได้มีแค่เหตุการณ์เดียวเหมือนภาพเขียนของฝรั่ง แต่มีเรื่องราวจำนวนหนึ่งรวมอยู่ในนั้น ซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้ง หลายเหตุการณ์คนละลำดับเวลา (ซึ่งเกิดขึ้นใกล้เคียงกัน) เช่น ภาพพุทธประวัติตอนออกบวช อาจเริ่มด้วยเจ้าชายสิทธัตถะ ร่ำลาพระชายาซึ่งบรรทมอยู่ ก่อนออกจากวัง, ทรงม้าไปท่ามกลางหมู่เทวดาห้อมล้อม, และตอนปลงพระเกศา

ในภาพเดียวกันนี้ อาจเห็นเจ้าชายสิทธัตถะปรากฎอยู่หลายองค์ตามบริเวณตำแหน่งต่าง ๆ

อีกกรณีก็คือ ภาพที่เกิดต่อเนื่องกัน โดยมีตัวละครทั้งหมดปรากฎแค่ครั้งเดียวชุดเดียว แต่เหตุการณ์ดำเนินไปอย่างเลื่อนไหลมีต้น กลาง ปลายครบถ้วนสมบูรณ์ (ภาพของครูคงแป๊ะที่วัดสุวรรณาราม เข้าข่ายนี้)

เท่านั้นยังไม่พอ มีปัญหาจุกจิกซับซ้อนเกี่ยวกับการเรียงลำดับก่อนหลังและการวางตำแหน่งในภาพ ซึ่งสามารถแตกรายละเอียดได้สารพัดรูปแบบ มาเป็นอุปสรรคทำให้ “ดูไม่ค่อยรู้เรื่อง” อีกต่างหาก

จะดูอย่างไรให้ไม่สับสนงุนงง ปัญหาชีวิตในจิตรกรรมฝาผนังของไทยข้อนี้ คงต้องติดค้างไว้ก่อนนะครับ คราวหน้าผมจะแกล้ง ๆ ปลอมตัวเป็น “พี่ศิราณี” มาอธิบายถึงวิธีแก้ไขคลี่คลาย

ป.ล. นิทรรศการ “กรุงเทพฯ 226” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน มีภาพคัดลอกงานของครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ (รวมทั้งงานของพระอาจารย์นาค สมัยรัชกาลที่ 1) ขนาดเท่าจริงแสดงอยู่ด้วย ความเหมือนนั้นใกล้เคียงประมาณแปดสิบเปอร์เซ็นต์ แต่ข้อดีก็คือ เดินทางไปดูได้สะดวก (และชมฟรี) แสงเงาในหอศิลป์ค่อนข้างสว่าง มองเห็นรายละเอียดต่าง ๆ ในภาพชัดเจนขึ้น ผมไปยืนเพ่งพินิจพิจารณาเปรียบเทียบดูแล้ว ก็ยิ่งเชื่อคล้อยตามคำร่ำลือที่ว่า ฝีมือครูทั้งสองวิจิตรพิสดารราวกับเทวดามาวาดเอาไว้

ระหว่างที่ผมยังเดินทางโอ้เอ้เชื่องช้าไปไม่ถึงวัดสุวรรณาราม การแวะดูภาพคัดลอก (ซึ่งก็สวยมาก ถ้าไม่นำไปเทียบกับภาพต้นฉบับ) เพื่ออุ่นเครื่องทำความคุ้นเคยกับฝีมือครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ นับเป็นวิธีแก้ crack อย่างหนึ่งได้เหมือนกัน

ขออวยพรให้ทุกท่านมีความหวังเยอะ ๆ มีคุณภาพชีวิตที่ดี สวัสดีปีใหม่ครับ



(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรก 27 ธันวาคม 2551 คอลัมน์ "เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ")

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆคับ