มีเรื่องต้องชี้แจงเล็กน้อย ก่อนที่ผมจะเล่าถึงวัดสุวรรณาราม เป็นการสลับฉากเปลี่ยนบรรยากาศ แล้วจึงค่อยวกกลับมาพูดคุยเรื่องภาพวาดของครูทองอยู่และครูคงแป๊ะ (รวมถึงผลงานชิ้นเยี่ยมในวัดอื่น ๆ อีกหลายแห่ง) ในโอกาสต่อไป
ในบทความเรื่อง “อวิชาการว่าด้วยจิตรกรรมฝาผนัง” ท่านผู้อ่านได้ทักท้วงมาว่า คำบรรยายภาพวาดผลงานของครูทองอยู่ ซึ่งผมสะกดเป็น “เนมีราชชาดก” นั้น ไม่มีอยู่ในทศชาติ ที่ถูกต้องควรจะเป็น “เนมิราชชาดก”
สิ่งที่ทำให้ผมร้อนใจไม่เป็นสุขก็คือ ข้อความที่ว่า “น่าจะแก้ไขข้อมูลหน่อยนะครับ...ประเดี๋ยวจะผิดกันไปใหญ่นะ”
ขออธิบายอย่างนี้ครับ จากตำรับตำราหลายเล่มที่ผมอ่านก่อนลงมือเขียน ชื่อชาดกแต่ละชาตินั้น สะกดแตกต่างไม่ตรงกัน เฉพาะเนมิราชชาดกเรื่องเดียว มีทั้ง “เนมิราชชาดก”, “เนมีราชชาดก” และ “เนมียชาดก”
รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ซึ่งสะกดไม่ตรงกับที่ท่านผู้อ่านแย้งมา เช่น เตมีย์ชาดก (เตมิยชาดก-นอกวงเล็บเป็นชื่อที่ท่านผู้อ่านชี้แจง ส่วนในวงเล็บสะกดตามข้อมูลที่ผมมีอยู่), ชนกชาดก (มหาชนกชาดก), ภูริทัตชาดก (ภูริทัตตชาดกและภูริทัตต์ชาดก), จันทชาดก (จันทกุมารชาดก), นารทชาดก (นารถชาดก, มหานารทชาดก) วิทูรชาดก (วิธุรชาดก,วิธูรชาดกและวิธุรบัณฑิตชาดก) ฯ
สรุปก็คือ การสะกดชื่อทศชาดกในเอกสารหลายฉบับ มักไม่ลงรอยกันเสียทั้งหมด ผมเองก็รู้น้อยจำกัดเกินกว่าจะวินิจฉัยด้วยตนเองได้ว่า คำใดควรจะถูกต้องมากสุด เมื่อถึงตอนลงมือเขียน ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า จะเลือกเชื่อตำราใด
ผมใช้ “เนมีราชชาดก” ด้วยสองเหตุผล อันดับแรกคือ ผ่านตาบ่อย ๆ จากบทความของท่านครู น. ณ ปากน้ำ ซึ่งมีคุณูปการเปิดโลกให้ผมหันมาสนใจหลงใหลศิลปะไทย ผมจึงยึดท่านเป็นแหล่งอ้างอิง เพื่อแสดงความคารวะต่อ “อาจารย์นอกชั้นเรียน”
ถัดมาคือ ผมไปเจอข้อมูลการสะกดชื่อใน “มหานิบาตชาดกฉบับชินวร” ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ทรงนิพนธ์ไว้ แล้วเกิดถูกอกถูกใจ
ท่านสะกดชื่อพระโพธิสัตว์ในชาติภพต่าง ๆ ค่อนข้างแปลกตา ผิดจากที่อื่น ๆ แต่ก็ขจัดปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งคือ เห็นรูปตัวอักษรแล้วไม่แน่ใจว่า ควรจะอ่านออกเสียงอย่างไร เช่น นารทชาดก (ซึ่งอ่านได้ทั้ง “นาท” และ “นา-รท”) มหานิบาตชาดกฉบับชินวรสะกดไว้ว่า “นารทะ” เพียงเท่านี้ก็กระจ่างแจ้งสิ้นข้อสงสัย หรือ วิธุรบัณฑิตชาดก ซึ่งมักจะอ่านออกเสียงตามความเคยชินจนคลาดเคลื่อนเป็น “วิ-ทูน” ก็กลับกลายเป็นเข้ารูปเข้ารอยอันถูกต้องเมื่อสะกดว่า “วิธุระ”เพราะความที่จะต้องเขียนถึงและสะกดชื่อเหล่านี้อีกบ่อยครั้ง ผมจึงคิดว่าน่าจะยึดตำราเพียงหนึ่งเดียว เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพไม่ลักลั่น ท้ายสุดผมเลยตัดสินใจอาศัย “มหานิบาตชาดกฉบับชินวร” เป็นหลักในการอ้างอิง
เนมิราชชาดกจึงกลายเป็นเนมีราชชาดก ด้วยเหตุผลตามนี้
อย่างไรก็ตาม ผมขอขอบคุณจากใจจริงสำหรับคำท้วงติง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมต้องการมาก เพื่อความถูกต้องถ่องแท้ และนำไปสู่การแลกเปลี่ยนต่อยอดความรู้เพิ่มขึ้น
หากมีตรงไหนที่ใดพบว่า ผม “ปล่อยไก่” ท่านใดจะช่วยเมตตาชี้แนะก็ถือเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
กลับสู่เนื้อหาของบทความ ซึ่งมีชื่อเรื่องที่ฟังดูกุ๊ก กุ๊ก กรู๋ แฝงกลิ่นอายเรื่องผี ค่อนข้างน่ากลัวอยู่สักหน่อย แต่ก็เกี่ยวข้องกับประวัติความเป็นมาในอดีตของวัดสุวรรณาราม
ชื่อดังกล่าว มาจากนิราศพระประธม ผลงานของท่านกวีเอกสุนทรภู่ เขียนไว้เมื่อพ.ศ. 2385 ขณะเรือแล่นผ่านหน้าวัดสุวรรณาราม ริมคลองบางกอกน้อย เนื้อความเต็มมีอยู่ว่า
“ถึงวัดทองหมองเศร้าให้เหงาเงียบ
เย็นยะเยียบหย่อมหญ้าป่าช้าผี
สงสารฉิมนิ่มน้องสองนารี
มาปลงที่เมรุทองทั้งสองคน”
วัดทองคือชื่อเก่าดั้งเดิม เชื่อกันว่ามีมาแต่ครั้งสมัยอยุธยา ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระอุโบสถสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ทรุดโทรมผุพังเกินจะบูรณะปฏิสังขรณ์ จึงโปรดให้รื้อทิ้ง แล้วสถาปนาใหม่ทั่วทั้งพระอาราม สร้างพระอุโบสถ เก๋งด้านหน้า วิหาร กำแพงแก้ว และอื่น ๆ เมื่อแล้วเสร็จจึงพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสุวรรณาราม
สภาพเดิมก่อนรื้อทิ้งเพื่อสร้างใหม่ น่าจะเป็นวัดร้าง เนื่องจากย้อนหลังไปอีกแค่ไม่กี่ปี ที่นี่เคยมีประวัติถูกใช้เป็นแดนประหาร ในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
เหตุการณ์บันทึกไว้ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่มที่ 2 เล่าว่า คราวพม่ายกกองทัพมาตีเมืองพิษณุโลก พระเจ้าตากสินจะยกกองทัพไปช่วย จึงโปรดให้ถามเชลยศึกพม่าที่จับได้จากค่ายบางนางแก้ว ว่าจะสมัครใจไปช่วยรบพม่าด้วยหรือไม่ แต่ได้รับคำตอบปฏิเสธ
ถึงตรงนี้ พระราชพงศาวดารบันทึกว่า “มันไม่ภักดีแก่เราโดยแท้ ยังนับถือเจ้านายมันอยู่ และเราจะยกไปทำสงครามผู้คนอยู่รักษาบ้านเมืองน้อย พวกมันมาก จะแหกคุกออกไปทำแก่จราจลข้างหลัง จะเอาไว้มิได้ จึงดำรัสให้เอาไปประหารชีวิตเสีย ณ วัดทอง คลองบางกอกน้อย ทั้งสิ้น”
คำว่า “พวกมันมาก” ที่ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดาร แผ่นป้ายบริเวณทางเข้าด้านหน้าของวัด ประมาณจำนวนเอาไว้ว่า ราว ๆ หนึ่งพันกว่าคน
ช่วงเวลาที่มีการประหารชีวิตเชลยพม่า บทความชิ้นหนึ่งของพลตรีถวิล อยู่เย็นในหนังสือ “ธนบุรีถิ่นของเรา” ได้ระบุว่า ปีที่เกิดเหตุการณ์นี้ตรงกับเดือนมกราคม พ.ศ. 2318
ปัจจุบันบริเวณโรงเรียนที่อยู่ใกล้วัดก็ยังปรากฎศาลพระภูมิ ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงดวงวิญญาณชาวพม่าที่เสียชีวิตในอดีต และมีเรื่องเฮี้ยน ๆ ร่ำลือกันเยอะแยะมากมาย (ข้ามตรงนี้ไปดีกว่านะครับ ผมกลัวผี)
เมื่อวัดสุวรรณารามสร้างใหม่จนแล้วเสร็จ “พระอาจารย์นาค” จิตรกรเอกฝีมือระดับบรมครูสมัยรัชกาลที่ 1 ได้ย้ายมาพำนักประจำที่วัดนี้ (เดิมท่านอยู่วัดทองเพลง) และเชื่อว่าท่านน่าจะวาดภาพในผนังพระอุโบสถทั้งหมด
พระอาจารย์นาคเป็นครูช่างมาแต่ครั้งอยุธยาก่อนเสียกรุง และมีส่วนสำคัญยิ่งในการสร้างบ้านแปงเมือง มีผลงานมากมายในขณะนั้น ภาพวาดฝีมือของท่านเป็นที่เลื่องลือเหลือเกินว่า สวยงาม เด็ดขาด ทรงพลัง เปี่ยมด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร ดูแล้วให้ความรู้สึกคึกคักฮึกเหิม สอดคล้องกับยุคสมัยเพิ่งผ่านพ้นศึกสงครามมาได้ไม่นาน
น่าเสียดายที่ปัจจุบัน ผลงานของพระอาจารย์นาค ชำรุดเสียหายไปเกือบหมด หลงเหลือแน่ชัดและได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี อยู่เพียงแห่งเดียว คือที่หอไตรวัดระฆังโฆษิตาราม
แม้กระทั่งที่วัดสุวรรณาราม เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 3 ภาพวาดฝีมือพระอาจารย์นาคในพระอุโบสถก็โดนความชื้นจากใต้พื้นดิน และน้ำฝนจากหลังคารั่ว ทำให้เลือนหายไม่หลงเหลือเค้าเดิม ต้องระดมครูช่างฝีมือดีหลายท่านมาเขียนขึ้นใหม่ จนเกิดเป็นตำนานวาดภาพประชันกันระหว่างครูทองอยู่กับครูคงแป๊ะ (เป็นโชคดีมากนะครับที่สมัยนั้น ยังหลากไปด้วยช่างฝีมือยอดเยี่ยมเทียบเท่ากับครูรุ่นก่อน ๆ)
หลังจากที่วัดสุวรรณารามสร้างใหม่และซ่อมแซมของเก่าบางส่วนจนแล้วเสร็จ สมเด็จพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงมีพระราชศรัทธาสร้างเครื่องป่าช้าขึ้น ประกอบไปด้วยเมรุ สำสร้าง (บางทีก็เขียนว่า “สำซ่าง” หมายถึงโรงขนาดเล็กมียกพื้นข้างใน สำหรับพระสงฆ์นั่งสวดพระอภิธรรม อยู่ 4 มุมเมรุ) หอสวด หอทิ้งทาน โรงโขน โรงหุ่น ระทาและพลับพลา โรงครัว จนครบครัน เพื่อถวายเป็นสมบัติในพระบรมมหาราชวังสำหรับเป็นที่พระราชทานเพลิงศพ
วัดทองหรือวัดสุวรรณาราม จึงกลายเป็นวัดที่ใช้ประกอบพิธีปลงศพ ทั้งพระศพเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ ณ บริเวณนอกกำแพงพระนคร ในสมัยรัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลต่อมาอยู่เนือง ๆ ควบคู่ไปกับวัดอรุณราชวราราม (ต่อเมื่อถึงรัชกาลที่ 3 มีถนนหนทางสะดวกขึ้น จึงโปรดให้สร้างเมรุขึ้นที่วัดสระเกศอีกแห่ง)
จนมีคำบอกเล่าสืบทอดกันมาถึงคนรุ่นหลังว่า “โขนวัดทอง ใบตองไม่แห้ง”
ความหมายก็คือ ในงานศพมักจะมีมหรสพสมโภช เช่น โขน หุ่น หรือการละเล่นต่าง ๆ เพราะความที่วัดทองนั้นมีงานศพบ่อย ส่งผลให้ใบตองที่ใส่ของกินในงานซึ่งทิ้งไปนั้น ยังไม่ทันแห้งเหี่ยวก็มีงานศพอื่นมาอีก ตามพื้นในบริเวณวัด จึงมีใบตองเขียวสดอยู่ตลอดเวลา
หลักฐานสนับสนุนอีกอย่างก็คือ เคยมีสะพานไม้ (ปัจจุบันเป็นคอนกรีต) ตรงศาลาการเปรียญ ทอดเชื่อมไปยังที่ว่าการเขตบางกอกน้อย เรียกว่า “สะพานโรงโขน”
บทบาทสำคัญของวัดสุวรรณรามในเรื่องของพิธีกรรมปลงศพ จึงปรากฎสะท้อนอยู่ในนิราศพระประธม ส่วนหนึ่งเพราะทางวัดขึ้นชื่อทางด้านนี้ อีกส่วนหนึ่งสืบเนื่องจากการระลึกถึงบุคคลที่ท่านสุนทรภู่ผูกพัน คือ ฉิมและนิ่ม ทั้งคู่เป็นน้องสาวต่างบิดา
เนื้อความในนิราศตรงนี้ จึงจับใจและสะเทือนอารมณ์มากเป็นพิเศษ เพราะไม่ได้พรรณาสาธยายความคิดถึงหญิงคนรัก (ซึ่งพลัดพรากห่างไกลกัน) แต่เป็นการรำลึกหวนหาญาติมิตรผู้ล่วงลับตายจาก
อย่างไรก็ตาม บทกวีที่พาดพิงถึงวัดทองหรือวัดสุวรรณาราม ก็ไม่ได้มีเฉพาะด้านหม่นเศร้าเพียงด้านเดียวเท่านั้น ยังปรากฎเนื้อเพลงฉ่อยที่เกี้ยวพาราสีสาวย่านบ้านบุ ซึ่งจดจำเล่าสู่กันฟังแบบปากต่อปากมาดังนี้
“บางกอกน้อยคลองคด พี่พายเรือเหื่อหยดจนน้ำลายเหนียวในย่านนี้วัดทอง พี่รักน้องคนเดียว”
ทุกวันนี้วัดสุวรรณาราม ยังสืบทอดมีประเพณีเฉพาะถิ่นที่น่าสนใจ และต่างจากแหล่งย่านอื่น นั่นคือ งานเวียนกระทง และวิ่งม้าแก้บน (รวมทั้งเรื่องราววิถีชีวิตของชุมชนบ้านบุ)
อย่างแรกนั้นมีเป็นประจำในคืนวันลอยกระทง ชาวบ้านจะนำกระทงของตนมาที่วัดตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ เพื่อทำพิธีสวดมนต์บูชา โดยจะมีพระสงฆ์นำสวดที่พระอุโบสถ เสร็จแล้วจึงเดินถือกระทงเวียนรอบพระอุโบสถ 3 รอบ เพื่อเป็นการบูชาพระจุฬามณี (สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในปรัมปราคติ เป็นพระเจดีย์แก้วอินทนิลสีเขียว อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของนครดาวดึงส์ มีกำแพงทองล้อมรอบ ประดับธงปฎาก ธงชัย กลด ชุมสายประดับแก้ว เงิน ทอง สีต่าง ๆ ภายในบรรจุพระเกศธาตุ พระเวฎฐนพัสตร์ และพระทักขิณาฒฐาตุของพระพุทธเจ้า)
ในขบวนเวียนกระทงนั้นก็จะมีการควงกระบองไฟเดินนำ มีขบวนกลองยาว มีชาวบ้านมาร่ายรำเพื่อสร้างความครึกครื้น เมื่อเวียนครบแล้วจึงนำกระทงไปลอยในคลอง
เนื้อที่หมด แต่ยังจบไม่ลง เรื่องวิ่งม้าแก้บนจึงต้องยกยอดไปกล่าวถึงในคราวหน้านะครับ
(เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2552 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ" หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น