วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

Wanich 60 และ 60.5 โดย 'นรา'

ผมเพิ่งมาระลึกชาติได้สด ๆ ร้อน ๆ ก่อนลงมือเขียนต้นฉบับชิ้นนี้ว่า คนดังที่ผมเดินใจเต้นระทึกตึ้กตั้กเข้าไปขอลายเซ็นเป็นรายแรกในชีวิต คือเจ้าของผลงานหนังสือรวมบทความ 2 เล่มชุด ชื่อปก Wanich 60 และ Wanich 60.5

ชื่อภาษาอังกฤษนั้นหมายถึงวาณิช จรุงกิจอนันต์ในฐานะผู้เขียน ส่วนตัวเลขกำกับแนบท้ายเป็นจำนวนผ่านร้อนผ่านหนาวในชีวิต หรือบางทีอาจเป็นการใบ้หวยระยะยาว (ตามซื้อเลขนี้ทุกงวดต่อเนื่อง สักวันอาจจะถูก)

ตอนนั้นผมไปฟังพี่วาณิชเสวนาอภิปรายเรื่องอะไรสักอย่าง ที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบรายการแล้ว ผมก็เดินเข้าไปยื่นหนังสือให้พี่วาณิชเซ็น พร้อมทั้งไถ่ถามถึงผลงานรวมบทกวีชื่อ ‘บันทึกแห่งการเดินทาง’ ที่พี่เขาเขียน ว่าสามารถหาซื้อได้ที่ไหนบ้าง

ว่าแล้วผมก็ขอใบ้หวยเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย เหตุการณ์เกิดขึ้นราว ๆ 26 ปีเห็นจะได้ พี่เขาคงราว ๆ Wanich 34 ส่วนผมก็อยู่แถว ๆ Nara 19 ยังสดใสอ่อนเยาว์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

เจอกันหนถัดมา พี่เขากลายเป็น Wanich 47 ผมกลายเป็น Nara 32 ครั้งนี้พี่วาณิชขึ้นเวทีพูดคุยเรื่อง ‘หนังกับหนังสือ’ (อีก 2 ท่านที่ร่วมสนทนาคือ พี่หง่าว-ยุทธนา มุกดาสนิท และพี่เตี้ย-สนานจิตต์ บางสพาน) โดยมีผมผู้เป็นน้องเล็ก ทำหน้าที่ดำเนินรายการ

เป็นการเสวนาที่ได้ทั้งเนื้อหาสาระและเกือบจะเกิดการปะทะคารมบนเวที แต่ผมใช้สิทธิ์คนดำเนินรายการ ชิงตัดบทเป่านกหวีดหมดเวลาเสียก่อน

พวกพี่ ๆ เขาก็เลยต้องลงมาอภิปรายต่อรอบสองในวงเหล้า (วงใหญ่) จนกระทั่งดึกดื่นและกรึ่ม ๆ ครึ้ม ๆ อย่างทั่วถึง ก่อนจะแยกย้ายกลับบ้านใครบ้านมัน

หลังจากนั้น ผมได้เจอพี่วาณิชอีกสองสามครั้ง ทุกคราวเว้นช่วงห่างเนิ่นนาน จนพี่เขาจำผมไม่ได้ ต้องแนะนำตัวกันใหม่อยู่ร่ำไป

ครั้งหลังสุดคือ ประมาณปลายปี 2548 ตอนเกือบ ๆ เที่ยงคืน ที่ซูเปอร์มาเก็ตแบบเปิดตลอด 24 ชั่วโมงแห่งหนึ่ง (ผมเลิกใบ้หวยแล้วนะครับ และไม่รับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้นในความแม่นยำของตัวเลขที่มีปรากฏในย่อหน้านี้)

คืนนั้นผมไปพร้อมเพื่อน ซึ่งเคยทำงานที่เดียวกับพี่วาณิช คุ้นเคยกันดีพอสมควร

พี่กับเพื่อนต่างไม่ได้เจอะเจอกันมานาน จึงทักทายไต่ถามสารทุกข์สุกดิบกันและกันหลายประโยค

“ดีใจว่ะที่ได้เจอ” พี่วาณิชบอกกับเพื่อนผม แล้วก็หันมาจ้องหน้าผมอยู่หลายวินาที ก่อนจะกล่าวว่า “เอ๊ะ ไอ้นี่หน้าตาคุ้น ๆ โว้ย ต้องเคยเจอกันที่ไหนสักแห่งมาก่อนแน่ ๆ”

ผมก็เลยแปลงกายเป็นเหตุการณ์ Déjà vu พูดแนะนำตัวสั้น ๆ กับพี่เขาเหมือนหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา

ผมเป็นแฟนพันธุ์แท้นอกรายการโทรทัศน์ของพี่วาณิช

ส่วนพี่วาณิชก็เป็น Idol ของผม เป็นฮีโร่ของผม และเป็นอีกหนึ่งครูคนสำคัญในการเขียนหนังสือ ที่ผมพยายามเรียนผ่านการอ่านผลงานจำนวนมาก

ครูนักเขียนของผมมีเยอะนับไม่ถ้วน หากจะเปรียบว่า ’รงค์ วงษ์สวรรค์ คือ ‘ครูใหญ่’ พี่วาณิชก็คงจะเป็นเสมือน ‘ครูประจำชั้น’

ครูใหญ่ให้อิทธิพลแรงบันดาลใจในการทำงานมากมายมหาศาล มอบเคล็ดวิชาล้ำค่าคือ ความรื่นรมย์กับการอ่านและเขียนหนังสือให้อร่อยทุกถ้อยคำ รวมทั้งกระบวนท่าไม้ตายในการเขียนบรรยายพรรณนาสิ่งต่าง ๆ

ส่วนครูประจำชั้น สอนผมเรื่องกลเม็ดเด็ดพรายสารพัด, จังหวะลีลาในการใช้คำให้ลื่นไหล, การโน้มน้าวเร้าอารมณ์อันหลากหลายให้ผู้อ่านคล้อยตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีจบข้อเขียนแบบ ‘ทิ้งหมัด เข้ามุม’

ครูที่ผมเรียกโดยใช้สรรพนามว่าพี่ เป็นเซียนในทุก ๆ ประการที่กล่าวมา และมีทีเด็ดอีกเยอะวิชาที่ผมยังไม่ได้เอ่ยถึง อีกทั้งยังเรียนไม่จบหลักสูตร

พี่วาณิชเป็นนักเขียนที่ครบเครื่อง เขียนมาแล้วทั้งนิยาย, เรื่องสั้น, บทหนังบทละคร, บทกลอน, สารคดี, ตอบปัญหาชีวิต, บทความ ฯลฯ จนผมนึกไม่ออกว่า เหลืองานเขียนแขนงใดบ้างในโลกนี้ ที่พี่เขายังไม่ได้เขียน

ว่ากันเฉพาะการเขียนบทความ สไตล์ของพี่วาณิช ถือได้ว่าเป็น ‘สกุลช่าง’ ที่เด่นชัดแข็งแรงมากสกุลหนึ่ง

ข้อเขียนของผม ก็จัดอยู่ใน ‘สกุลช่าง’ ที่พี่วาณิชเป็นเจ้ายุทธจักรอยู่นะครับ

สกุลช่างนี้ ผมไม่ทราบถ่องแท้ว่า ใครคือต้นตำรับหรือผู้ริเริ่มบุกเบิก เท่าที่จำความได้และรู้เดียงสาในการอ่าน ผมพบว่ามีอาจารย์ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช โดดเด่นเป็นสง่าอยู่ก่อนแล้ว และผ่านวันเวลานั้นมาถึงปัจจุบัน แบบแผนดังกล่าวได้รับการปรุงโฉม กระทั่งกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของพี่วาณิช

นิยามสั้น ๆ ง่าย ๆ ที่ผู้คนส่วนใหญ่ นิยมเรียกขานสกุลช่างนี้ก็คือ ‘เขียนเล่าเรื่องตัวเอง’

บทความของพี่วาณิช มีประเด็นแง่คิดบางอย่างเป็นโจทย์หรือตัวตั้ง แล้วเล่าเรื่องผูกเหตุการณ์ผ่านประสบการณ์ตัวเอง ใช้มุมมองความคิดความเข้าใจของตัวเอง เพื่อนำพาเนื้อหาเรื่องราวไปสู่แง่มุมนั้น ๆ

ผมเรียกสกุลช่างนี้อีกชื่อหนึ่งว่า เป็นการเขียนในลักษณะเหมือน ‘เพื่อนคุย’ เล่าสู่กันฟังในสิ่งละอันพันละน้อยกับผู้อ่าน

ความโดดเด่นอีกอย่าง ได้แก่ การเขียนให้อ่านง่ายและสนุกสุดขีด

พิจารณาอย่างผิวเผินหยาบ ๆ บทความของพี่วาณิช คล้าย ๆ กับนึกอะไรได้ขณะเขียน ก็ว่าแบบไหลไปเรื่อย ไม่ต้องปั้นแต่งประดิดประดอยอันใด

พิจารณาแบบใช้กระดาษทรายเบอร์ละเอียด บทความของพี่วาณิช ก็เต็มไปด้วยทักษะฝีมือชั้นสูง มีสัมผัสคล้องจองลื่นไหลชวนอ่าน, อารมณ์ขันเฉียบคม, ลีลาเลื้อยลากกระชากหลบและสับขาหลอก, จังหวะผ่อนหนักผ่อนเบา และอีกสารพัดเทคนิคความสามารถเฉพาะตัว...ซึ่งสรุปง่าย ๆ ว่า ร่ำรวยมั่งคั่งในเชิงวรรณศิลป์

ผมคิดว่า ผมเรียนรู้เทคนิคเหล่านี้จากพี่วาณิชค่อนข้างเยอะ แต่สิ่งที่ไม่มีวันเทียบเปรียบติดได้เลยก็คือ พี่เขาเขียนและใช้ลีลาอันแพรวพราวทั้งหลายประดามี ได้อย่างผ่อนคลายเป็นธรรมชาติ จนมองไม่เห็นร่องรอยการปั้นแต่งประดิดประดอย

ได้แค่เทคนิควิธีเท่านั้นนะครับ ขณะที่พี่วาณิชยังมีต้นทุนส่วนตัวอีกหลายอย่าง เช่น ประสบการณ์ชีวิต, ทัศนคติ และความรอบรู้แบบครอบจักรวาล อันเป็นสมบัติส่วนบุคคล ซึ่งต่อให้นับถือเลื่อมใสในฐานะครูกับศิษย์มากเพียงไร ก็ขอหยิบขอยืมหรือนำมาใช้ไม่ได้เด็ดขาด...มิฉะนั้นจะกลายเป็นการลอกเลียนแบบทำเทียมทันที

จุดเด่นอีกข้อเท่าที่ผมนึกออกคือ บทความของพี่วาณิช เปรียบเป็นมวยก็ตั้งการ์ดแน่นรัดกุม หากจะเถียงสู้บู๊ทางความคิดกับใครแล้ว พี่วาณิชเป็นมวยประเภทแพ้ยาก (และดูเหมือนว่าไม่เคยเพลี่ยงพล้ำให้ใคร) ตรรกะเหตุผลและวิธีแจกแจงสาธยาย ผ่านการคิดไตร่ตรองอย่างเป็นระบบ

มีอยู่บ่อยครั้ง ที่ผมอ่านงานของพี่วาณิชแล้ว ไม่เห็นด้วยและคิดต่างกับคุณครู แต่นั่นก็แค่ไม่เห็นพ้องคล้อยตามนะครับ...เพราะถึงคราวจะคัดง้างหักล้างพยายามเถียงในใจทีไร ผมเป็นต้องยอมแพ้จำนนต่อเหตุและผลอยู่ร่ำไป
พูดง่าย ๆ คือ อ่านแล้วไม่เห็นด้วย แต่นึกหาเหตุผลที่ดีกว่ามาเอาชนะเหตุผลที่พี่วาณิชวางไว้ในข้อเขียนไม่สำเร็จ พี่เขาเป็นกองหลังระดับทีมชาติอิตาลีชุดแชมป์โลกทุกสมัยรวมกันเลยทีเดียว เหนียวแน่น เก๋าเกม และอ่านขาดดักทางกองหน้าได้หมด

นี่ยังไม่นับรวมจังหวะเข้าปะทะแบบถึงลูกถึงคน หนักหน่วงรุนแรง แต่ไม่ฟาวล์ไม่ผิดกติกาและไม่โดนใบเหลืองด้วยนะครับ

ความยอดเยี่ยมสุดท้ายที่ผมเห็นจากบทความแบบ ‘เล่าเรื่องตัวเอง’ ของครู ได้แก่ ความพอเหมาะพอดี ไม่มากไม่น้อยเกินไป ระหว่างการอวดตัวกับการถ่อมตัว สำหรับผมแล้วนี่เป็นศิลปะ และเป็นศิลปะชั้นสูง มีเพียงนักเขียน ‘มือถึง’ เท่านั้น จึงจะ ‘เอาอยู่’

พี่วาณิชไม่ใช่แค่ ‘เอาอยู่’ หรือ ‘คุมได้’ นะครับ พี่เขาพัฒนาฝีมือแรงงานถึงขนาดทำได้คล่องแคล่วชนิดเป็นนายเหนือ ควบคุมบงการออกคำสั่งได้ตามใจชอบ ราวกับสั่งก๋วยเตี๋ยวร้านเจ้าประจำกันเลยทีเดียว

สำหรับนักเขียนระดับซือแป๋อย่างพี่วาณิช ผมคิดว่าไม่มีความจำเป็นใด ๆ ทั้งสิ้น ที่จะต้องมาแนะนำว่า เนื้อหาภายในของหนังสือ Wanich 60 และ Wanich 60.5 ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง และน่าสนใจควรค่าแก่การเสาะหามาอ่านอย่างไรบ้าง?

แค่ตีฆ้องร้องป่าวว่า หนังสือวางแผงแล้ว เท่านี้ก็เหลือเฟือเกินพอ

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ข้อเขียนชิ้นนี้ ดูเหมือน ‘ขายของ’ แบบฮาร์ดเซลส์ขึ้นมาบ้าง

หนังสือ Wanich 60 และ Wanich 60.5 มีคำสรรเสริญเยินยอต่าง ๆ ที่ผมกล่าวอ้างถึง ‘ครูของผม’อยู่ครบถ้วน

เว้นแต่ว่า...ดีกว่า สนุกกว่า และแพรวพราวกว่าที่ผมเขียนไว้เยอะเลย

บรรทัดข้างบนนี่ ผมพูดแบบอวดตัวและมั่นใจสุดชีวิตแล้วนะครับ

1 ความคิดเห็น:

Soundsyndrome กล่าวว่า...

เดี๋ยวงานหนังสืองวดนี้มาถึง จะแวะไปอุดหนุนทั้งสองเล่มเลยครับ ^^