วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2553
ปัญหาหัวใจ โดย 'นรา'
เละเทะไม่เป็นท่าเลยนะครับ สำหรับการเขียนหนังสือของผมในระยะหนึ่งเดือนกว่า ๆ ที่ผ่านมา เข้าสู่ภาวะฟอร์มตกและต่ำอย่างฉกาจฉกรรจ์ ยิ่งกว่าสภาพเศรษฐกิจดิ่งเหวของหลาย ๆ ประเทศรวมกันเสียอีก
ฟอร์มตกในที่นี้ สาธยายขยายความได้ว่า ผมยังเขียนหนังสือทุกวัน ใช้เวลาการทำงานเท่าเดิม แต่ผลลัพธ์กลับออกมาไม่เป็นโล้ไม่เป็นพาย มีงานค้างคาเขียนไม่จบอยู่เยอะแยะมากมาย และงานที่เขียนเสร็จอีกหลายชิ้นมีคุณภาพไม่ดีอย่างเด่นชัด กระทั่งต้องปล่อยทิ้งไว้ รอการชำระสังคายนาทางวิชาการกันอีกยกใหญ่ในอนาคตข้างหน้า
หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ไปอีกเรื่อย ๆ แล้วล่ะก็ มีแนวโน้มความเป็นไปได้สูงลิ่วว่า ความเป็นนักเขียนของผมคงไม่แคล้ว จบเห่เอวังในสภาพน่าอนาถดูไม่จืด
ผมจึงแก้ปัญหา ด้วยการนอนหงายเหยียดยาวบนโซฟา เล่าปรับทุกข์ระบายความในใจ โดยมีเด็กชายพี่หมี ตุ๊กตาหมีติงต๊องพุงป่องสมองเล็ก ปลอมตัวเป็นจิตแพทย์นั่งฟังตาปริบ ๆ อยู่ข้าง ๆ เหมือนเดิม
จิตแพทย์ลูกหมีไม่ได้วินิจฉัยอาการของผมแต่อย่างไร มันนั่งหลับสัปหงกไปก่อนที่ผมจะเล่าจบ
พอผมเล่าจบ เด็กชายพี่หมีก็สะดุ้งตกใจตื่น เพื่อให้แลดูแนบเนียนเหมือนใส่ใจรับฟังอยู่ตลอดเวลา มันจึงผงกศีรษะกลม ๆ เหมือนมันบดในน้ำเกรวี่ พลางพูดว่า “อืมม์ สำคัญ นี่เป็นปัญหาสำคัญ”
ครั้นผมถามไปว่า “ปัญหาอะไรเหรอพี่หมี?”
ลูกหมีพุงป่องทำหน้าอิหลักอิเหลื่อเหมือนกินน้ำผึ้งรสบอระเพ็ด อึกอักอยู่พักหนึ่ง แล้วก็รีบตอบส่งเดชเพื่อเอาตัวรอดว่า “ปัญหาหัวใจ”
พลางปีนอุ้ยอ้ายขึ้นมาบนบ่า ตบหลังตบไหล่ผม พร้อมกับเอ่ยปลอบโยนเป็นปริศนาธรรมว่า “ไม่เป็นไรหรอก นายผิดพลาดมาถูกทางแล้ว ประเดี๋ยวทุกอย่างก็ดีขึ้นเอง”
ปลอบเสร็จ เด็กชายพี่หมีก็ปีนทุลักทุเลลงไปนั่งทำหน้าเคร่งขรึม...เตรียมหลับต่อ ทิ้งให้ผมฉงนสงสัยเพิ่มขึ้นอีกข้อว่า “ปัญหาหัวใจอะไรวะ?”
อย่างไรก็ตาม ขณะเล่าอะไรต่อมิอะไรให้พ่อหมอจิตแพทย์ลูกหมีฟัง ตอนหนึ่งผมหลุดปากออกไปว่า “คุณหมอครับ ระยะหลัง ๆ ผมรู้สึกเหมือนสมาธิไม่ดีเวลาเขียนหนังสือ ความคิดไม่ไหล ไอเดียไม่แล่น วางแผนไม่รัดกุม ทุกอย่างติดขัดไปหมดนะครับ”
ทบทวนดูแล้ว ผมก็พบว่านั่นคือ ต้นตอสาเหตุที่ทำให้ผมฟอร์มตก จนกระทั่งเขียนหนังสือได้เละเทะอิเหละเขละขละ
มีผลต่อเนื่องทางความรู้สึกอยู่อย่างหนึ่ง พอเขียนหนังสือไม่ได้ดังใจสักสองสามวันติดกัน สิ่งที่ติดตามมาคือ กลายเป็นความกดดันและสูญเสียความเชื่อมั่น
จากนั้นก็วนเวียนเป็นงูกลินหาง หรือเข้าข่ายทฤษฏีฝนตกเพราะกบมันร้อง กบมันร้องเพราะท้องมันปวด เนื่องจากกินข้าวดิบ เพราะฝนตก...
ปราศจากความมั่นใจเสียแล้ว การลงมือเขียนหนังสือแต่ละครั้ง ก็ไร้ซึ่งความคึกคักฮึกเหิม เขียนด้วยอาการลังเล กลัว ๆ และไม่ค่อยกล้า
ความกลัวที่เข้าครอบงำ ก็เลยยิ่งทำให้เนื้องานนั้นออกทะเลกู่ไม่กลับ ย้อนมาทบต้นเหมือนดอกเบี้ยเงินกู้ กลายเป็นความไม่เชื่อมั่นที่หนักหนารุนแรงกว่าเดิมเพิ่มขึ้นตลอดเวลา
พูดได้ว่า แต่ละวัน ทุก ๆ เช้า ผมยังมีใจอยากจะเขียนหนังสือ อยากเขียนโน่นเขียนนี่ มีเรื่องอยากเล่าสู่กับผู้อ่านมากมายเต็มไปหมด แต่ที่ขาดหายไปคือ ความรู้สึกตื่นเต้นเร้าใจที่จะลงมือเขียน
เป็นความอยากเขียนกับแรงกระตือลือล้นที่จะเขียนไม่ค่อยไปด้วยกันนะครับ ผมอยากเขียนเช่นเดียวกับอารมณ์ปรารถนาลม ๆ แล้ง ๆ ทั่วไป ค่อนข้างเพ้อฝันเลื่อนลอย และขาดแรงจูงใจที่จะนำไปสู่ภาวะจดจ่อคร่ำเคร่งเอาจริงเอาจัง
พูดอีกแบบหนึ่ง ตลอดเดือนกว่า ๆ ที่ผ่านมา ขณะเขียนหนังสือผมไม่ค่อยรู้สึกสนุก และเมื่ออ่านทวนแต่ละเรื่องที่เขียนจบลง ผมก็พบว่าจืดชืดไม่เป็นรสซังกะตายพอ ๆ กัน
ถึงบรรทัดนี้ เด็กชายพี่หมีที่นอนหลับอุตุเป็นก้อนกลม ๆ อยู่ข้างจอคอมพิวเตอร์ ก็ละเมอพึมพำออกมาเบา ๆ ว่า “พี่หมีก็ไม่สนุกเหมือนกัน”
ถ้าจะถามตัวเองต่อไปในลักษณะสอบปากคำผู้ต้องหา คำถามนั้นคือ ทำไมผมจึงรู้สึกไม่สนุกระหว่างเขียน?
คำตอบก็น่าจะตรงตามที่จิตแพทย์กำมะลอเด็กชายพี่หมีวินิจฉัยเอาไว้ มันเป็นปัญหาหัวใจนะครับ
ผมเป็นคนเขียนหนังสือจำพวก เอนอิงพิงเหยียดอยู่แนบเนื่องกับการใช้ชีวิต
กล่าวคือ ในแต่ละวันใช้ชีวิตผ่านพบทำอะไรมาบ้าง สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น ส่งผลใหญ่หลวงต่อการทำงานในเช้าวันถัดมา
ปี 2552 เป็นช่วงท็อปฟอร์มในการเขียนหนังสือของผม นั่นก็เพราะว่า แต่ละวันผมแทบจะไม่เคยทำอะไรวอกแวกเป็นอื่น ตื่นเช้า เขียนหนังสือ ออกจากบ้านเข้าห้องสมุด ค้นข้อมูลทำการบ้าน ตกเย็นก็เดินเล่น ดูพระอาทิตย์ตก, นั่งเรือด่วนดูวิวสองฝั่งแม่น้ำ หรือนั่งรถเมล์กลับบ้าน พร้อม ๆ กับทำในสิ่งที่เรียกว่า “เขียนหนังสือในหัว”
พ้นจากกิจวัตรปกติเหล่านี้ ผมก็เดินทางไปดูจิตรกรรมฝาผนังตามวัด หรือไม่ก็เที่ยวชมโบราณสถานต่าง ๆ
ทั้งหมดนี้วนเวียนเกี่ยวโยงกับการเขียนหนังสือ และเป็นไปอย่างหมกมุ่นหลงใหล ขนาดยามหลับ ผมก็ยังฝันว่าเขียนหนังสือหรือไปดูจิตรกรรมฝาผนัง
เหมือนนักกีฬาที่ฟิตซ้อมมาดี สภาพร่างกายสมบูรณ์ พอลงสนาม จะทำอะไรก็ได้ดังใจถูกต้องคล่องแคล่วไปหมด
การเขียนหนังสือนี่ก็เช่นกัน เขียนโดยมีประเด็นต่าง ๆ ร้อยเรียง มีเค้าโครงต้น กลาง ปลาย ชัดเจนอยู่ก่อนแล้วในหัว เวลาลงมือทำงานจริง ย่อมไหลแล่นราบรื่น
อันที่จริง ช่วงเดือนกว่า ๆ ที่ฟอร์มตกฮวบฮาบ ผมก็ยัง “เขียนหนังสือในหัว” ล่วงหน้า ก่อนลงมือจริงทุกครั้ง แตกต่างแค่ว่า เป็นสเก็ตช์หยาบ ๆ คร่าว ๆ ไม่ละเอียดถี่ถ้วน และยังไม่ชัดเจนเพียงพอเหมือนที่เคยเป็นมา
เป็นเค้าโครงกว้าง ๆ เลือนรางอยู่สักหน่อย มีเรื่อง มีประเด็นที่จะเขียน แต่ขาดรายละเอียดระหว่างทาง
สภาพฟิตซ้อมมาไม่เต็มที่เช่นนี้ ส่งผลให้ผมเจอปัญหาสำคัญ คือ ในทุกครั้งการเขียน มักมีความคิดเฉพาะหน้า ผุดปรากฏขึ้นอยู่เป็นระยะ ๆ
ถ้าคิดล่วงหน้ามาดีและรัดกุม จะช่วยได้มากในการรับมือกับสิ่งที่งอกเพิ่มกะทันหันขณะเขียน รู้ว่าแวบหนึ่งของบางสิ่งบางอย่างที่โผล่พรวดแทรกเข้ามา ดีพอที่จะเติมเพิ่มเข้าไปหรือควรตัดทิ้งข้ามผ่าน
แต่ในสภาพไม่ฟิต คิดมาไม่กระจ่าง เจอะเจอไอเดียปุบปับฉับพลัน ผมมักจะเอาไม่อยู่รับมือไม่ไหว ลงท้ายกลายเป็นเฉไฉ โดนความคิดใหม่นั้น ลากจูงไปเข้ารกเข้าพง และต่อไม่ติดกับประเด็นที่กำหนดตั้งวางไว้ในใจก่อนหน้า
บางทีประเด็นเดิมกับรายละเอียดเฉพาะหน้า ก็ขัดแย้งกันจนกลายเป็นทางแยกที่เลือกไม่ถูก ว่าจะมุ่งต่อไปในทิศไหน
งานเขียนตลอดหนึ่งเดือนกว่า ๆ ของผม ส่วนใหญ่เป็นไปในลักษณะนี้ ขึ้นต้นไว้อย่างหนึ่ง ลงเอยกลายเป็นอีกอย่าง และบ่อยครั้ง ‘ออกทะเล’ จนหารันเวย์ลงจอดไม่เจอ
ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการ ‘เขียนหนังสือในหัว’ ไม่เพียงพอ และเกี่ยวโยงกับ ‘ปัญหาหัวใจ’ อย่างเต็ม ๆ จัง ๆ
‘ปัญหาหัวใจ’ นั้น หมายความว่า ระยะหลัง ผมทุ่มเทใส่ใจให้กับการเขียนหนังสือน้อยไปหน่อย
แรกเริ่มมันเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวหรอกนะครับ แต่นานวันเข้า ‘ความใส่ใจ’ อันย่อหย่อนบกพร่อง ก็พัฒนาแพร่ลามบานปลายขึ้นเรื่อย ๆ
รู้ตัวอีกทีก็กลายเป็น ‘ไม่ใส่ใจ’ เกือบจะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเรียบร้อยแล้ว
ตอนที่เพิ่งเริ่มเล่น facebook ใหม่ ๆ และติดงอมแงมชนิดลืมกินลืมนอน ตอนนั้นผมรู้ตัวตลอด รู้ว่าแต่ละวันจะต้องโดนแย่งชิงเวลาการทำงาน เพื่อไปเพลิดเพลินกับการเข้าสังคมในโลกเสมือนจริงวันละหลาย ๆ ชั่วโมง
การระวังป้องกัน สำหรับทำงานเขียน จึงยังมีอยู่และการ์ดไม่ตก กระทั่งผ่านวาระนั้นมาได้ โดยไม่บอบช้ำบุบสลาย ไม่ก่อเกิดกลายเป็น ‘ปัญหาหัวใจ’
ผมมาพลาดพลั้งเสียที เมื่อเข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ เริ่มหวนกลับมาหมกมุ่นหลงใหลการวาดรูปอีกครั้ง หลังจากทิ้งห่างวางมือไปร่วม ๆ ยี่สิบปี
นี้เป็นผลโยงใยต่อเนื่องมาจากการดูจิตรกรรมฝาผนังนะครับ
ดูบ่อย ๆ ผ่านตามาก ๆ ก็นึกครึ้มอยากขีดเขียนเล่น ๆ บ้าง แต่ที่ผมนึกไม่ถึงก็คือ การวาดอะไรก๊อก ๆ แก๊ก ๆ จะส่งผลให้ผมย้อนมาดูจิตรกรรมฝาผนังที่เคยผ่านตา สวยและเข้าถึงดื่มด่ำได้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
ผมก็เริ่มวาดเล่นเป็นการใหญ่ แล้วก็ได้รับบทเรียนต่อมาคือ การดูจิตรกรรมฝาผนังควบคู่กับฝึกมือไปด้วย ช่วยให้ย้อนกลับมาดูศิลปะตะวันตก ด้วยความตื่นตาตื่นใจมากขึ้นไม่แพ้กัน
ไวรัสโรค Art Addict เล่นงานผมงอมแงมตอนนี้นี่เอง
ถึงตรงนี้ไม่ใช่แค่หลงใหลจิตรกรรมฝาผนังและศิลปะไทยเพียงแขนงเดียว แต่ชอบไปหมดแทบครบทุกสกุลช่าง (ยกเว้นศิลปะร่วมสมัยมาก ๆ จำพวก Installation หรือ Modern Art รสจัด ๆ ซึ่งยังเกินปัญญาความเข้าใจของผม)
กิ่งก้านสาขาหนึ่งของศิลปะตะวันตกที่ผมหลงใหลมากคือ งานในสกุลอิมเพรสชั่นนิสม์ อันที่จริงก็ชอบและหลงรักมานานแล้ว แต่ข้อจำกัดเรื่อง ขาดทุนทรัพย์จะเดินทางไปชื่นชมดูของจริง (รวมทั้งหน้าตาโหดติดลบขอวีซ่ายากลำบาก) ช่วยระงับดับความฟุ้งซ่านไว้ได้เยอะ
จนกระทั่งอาการของโรคกำเริบ คราวนี้รั้งไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ นอกจากผมจะกัดฟันทุบกระปุก ซื้อหนังสือเล่มหนา ๆ มาชื่นชมดูรูปภาพให้หนำใจแล้ว ผมยังเข้าเว็บไซต์หอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อ save รูปที่ชอบ มาดูให้ดับกระหายคลายอยาก
อิทธิฤทธิ์ของงานศิลปะนั้นมีพิษสงแรงกล้านะครับ ผ่านการดูเฉย ๆ ไประยะหนึ่ง ผลงานอมตะเหล่านี้ก็จุดไฟให้ผมอยากวาดแบบนี้ได้บ้างจังเลย
นอกจากเสาะแสวงหาภาพงานศิลปะชั้นครูของไทยและเทศมาดู ผมก็เริ่มลงมือวาดเลียนแบบทำตาม
ยิ่งวาดก็ยิ่งพบความห่างชั้น ฝีมือห่างไกลกับต้นแบบ ชนิดกลับชาติมาเกิดใหม่อีกหลายชาติ ก็ไม่มีทางเฉียดเข้าใกล้
ขณะเดียวกัน ผมก็พบว่า ยิ่งวาดถี่บ่อยต่อเนื่อง ฝีมือของผมดีขึ้นตามลำดับ บางภาพที่ไม่เคยมีปัญญาหรือกล้าวาดมาก่อน ก็เริ่มทำได้เพิ่มขึ้นทีละนิด
ความคึกคักฮึกเหิม ความมั่นอกมั่นใจที่เคยเกิดในการเขียนหนังสือ เปลี่ยนย้ายถ่ายโอนมาลงที่การวาดรูปเล่น ๆ เกือบหมด
ที่สำคัญ ผมดันมีความคิดอย่างหนึ่ง ซึ่งจะเป็นคุณหรือเป็นโทษก็ไม่รู้ นั่นคือ ปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะวาดรูปให้ดีขึ้นคล่องขึ้น
เป็นความคิดที่รู้ซึ้งแก่ใจว่า อยู่ในวิสัยที่ทำได้และเป็นไปได้แน่นอน บนเงื่อนไขเดียวคือ ผมต้องฝึกปรืออย่างต่อเนื่องเอาจริงเอาจัง
เหตุประมาทเลินเล่อชะล่าใจน่าจะอยู่บริเวณแถว ๆ นี้ ผมเชื่อว่า ผมเขียนหนังสือมาเกินกว่า 20 ปี จนเกิดความคุ้นชินชำนาญและ ‘อยู่ตัว’พอสมควร สามารถทอดระยะห่างว่างเว้นไปได้หลาย ๆ วัน แล้วกลับมาเร่งฟอร์มเรียกความฟิตได้ในเวลาไม่นานนัก
ตรงข้ามกับการวาดรูป ซึ่งจำเป็นต้องวาดต่อเนื่องติด ๆ กันหลายวัน จึงจะกระเตื้อง และเพียงแค่เว้นวรรคไปวันเดียว ทุกอย่างก็กลับไปเหลือศูนย์ ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่
อัตราส่วนในการใช้เวลาแต่ละวัน สำหรับเขียนหนังสือ,วาดรูป และการอ่าน ยังเท่า ๆ กันอยู่ แต่น้ำหนักความทุ่มเทใส่ใจนั้นเปลี่ยนไปอย่างเด่นชัด
ความคิด, ความรื่นรมย์ และเชื้อไฟขยันของผม (อย่างหลังนี่มีน้อยเหลือเกิน) ล้วนรุมสุมอยู่ที่การวาดรูป ส่วนการเขียนและอ่าน กลายเป็นงานอดิเรกอันดับรอง ๆ ลงมา
โรค Art Addict จึงนำไปสู่โรค Arthoholic ด้วยประการฉะนี้
หนึ่งเดือนกว่า ๆ ที่ผ่านมา ผมวาดรูปดีขึ้น แต่เขียนหนังสือแย่ลง ค่อย ๆ สวนทางกันทีละนิด จนกระทั่งโจ่งแจ้งชัดเจน
ผมเริ่มรู้ตัวตอนที่ฟอร์มตกในการเขียนหนังสือเกิดขึ้นได้สักพัก แต่ยังติดประมาท คิดว่า ‘รับมือและจัดการได้’ ทว่าเมื่อเวลาเคลื่อนผ่านจากปฏิทินไป ทุก ๆ วันกลับกลายเป็นว่า สถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิม
ท้ายที่สุดก็เข้าขั้นวิกฤติ
กระนั้น การวาดรูปก็ช่วยผมได้อย่างหนึ่ง คือ ภาวะฉุกเฉินในการเขียนหนังสือ ไม่ใช่เรื่องน่าตระหนกอกสั่นขวัญเสีย และเป็น ‘ปัญหาหัวใจ’ ที่แก้ไขเยียวยาได้
ใด ๆ ก็ตามในชีวิต ซึ่งขึ้นอยู่กับการประพฤติปฏิบัติของผมเองเพียงลำพัง เช่น ทำตัวขยัน, ลดความอ้วน, ศึกษาหาความรู้ประดับสติปัญญา, สร้างงานเขียนที่มีคุณภาพแล้วใจ ฯลฯ ผมคิดว่าสามารถสะสางคลี่คลายได้หมด...ถ้าผมมีใจใฝ่ดีคิดจะทำจริง ๆ
เรื่องที่จำต้องเกี่ยวพันกับผู้อื่นต่างหากนะครับ ที่แก้ยากซับซ้อนกว่า และบางทีอาจกระทำได้ไม่สำเร็จ
ผมเชื่ออย่างนี้ครับว่า ยกตัวอย่างจากการวาดรูปเป็นตัวตั้ง ซึ่งผมไม่เคยร่ำเรียนติวเข้มตัวเองทางด้านนี้มาก่อน การวาดเล่นแบบเอาจริงในช่วงเดือนกว่า ๆ ที่ผ่านมา ยังเห็นผลเป็นรูปธรรมได้ว่า ‘ดีขึ้น’ ผิดหูผิดตา (ผมควรรีบบอกไว้ด้วยว่า เป็นการ ‘ดีขึ้น’ จากจุดต่ำสุดขึ้นมาเล็กน้อยเท่านั้น ทางข้างหน้ายังต้องฝึกและวาดกันอีกมหาศาล)
ถ้าการวาดรูปยังเป็นไปในรูปนี้ การเขียนหนังสือซึ่งเป็นเรื่องคุ้นมือ และผ่านการฝึกมือฝึกคิดมาต่อเนื่องเกินกว่าครึ่งค่อนชีวิต หากผม ‘เอาจริง’ และกลับมา ‘ใส่ใจ’ อย่างเข้มข้น ผมก็น่าจะบูรณปฏิสังขรณ์ฝีมือแรงงานของตัวเองกลับคืนมา กระทั่งสามารถยกระดับพัฒนาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นกว่าเดิม
‘ปัญหาหัวใจ’ ของผม ในรักสามเส้าระหว่างการเขียนและการวาด สามารถแก้ได้และไม่จำเป็นต้องตัดสินใจเลือก ทุกอย่างทั้งหมดยังสามารถดำเนินไปเคียงคู่กันอย่างสงบสุข แค่เพียงผมจัดสรรแบ่งเวลาให้เหมาะเจาะลงตัว และเกียจคร้านน้อยกว่าที่เป็นอยู่อีกสักนิด
เขียน ๆ ไปแล้ว ก็เหมือนวางกับดักตัวเอง เป็นท่าบังคับให้ต้องลงเอยทิ้งท้ายว่า ปัญหาหัวใจเรื่องความรักแก้ยากกว่าเยอะเลยครับ
สาบานสด ๆ ร้อน ๆ ก็ได้ว่า ข้อเขียนชิ้นนี้ไม่มีนัยยะแอบแฝงพาดพิงไปถึงเรื่องความรักกับหญิงสาวคนไหนทั้งสิ้น
ถ้าหากผมโกหกแล้วล่ะก็ ขอให้เด็กชายพี่หมีตกน้ำป๋อมแป๋มเหมือนในภาพที่เห็น
กลอนมันพาไปเท่านั้นเอง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
3 ความคิดเห็น:
ขอให้การเขียนกลับมาท็อปฟอร์ม...ดังเดิม
รออ่านๆ นะ :))
รวมถึงต้องแบ่งเวลาไปเล่น Bejeweled ด้วยป่าวเอ่ย
I have recently started a blog, the information you offer on this website has helped me greatly. Thanks for all of your time & work. Packers And Movers Jaipur
Packers And Movers Jaipur to ahmedabad
Packers And Movers Jaipur to Gurgaon
Packers And Movers Jaipur to Kolkata
Packers And Movers Jaipur to Chennai
Packers And Movers Jaipur to Pune
แสดงความคิดเห็น