วันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ตามฝนและตามฝัน โดย "นรา"


ช่วงนี้ฝนตกเกือบทุกวัน ราวกับมีนัดหมายพบกันเป็นประจำ


ความรู้สึกของผู้คนที่มีต่อฟ้าฝน ย่อมผิดแผกแตกต่างกันไป สำหรับผมแล้ว ฝนตกระยะนี้ มักจะทำให้ "คิดถึง" ใครบางคนขึ้นมาจับใจ


เปล่าหรอกครับ ผมไม่ได้คิดถึง "นางเอก" ในชีวิตจริงหนึ่งเดียวคนนั้น มิหนำซ้ำเรื่องที่จะเล่าสู่กันฟังต่อไปนี้ ยังปราศจากแง่มุมรักเหงาเศร้าหม่นใด ๆ ทั้งสิ้น


คนที่ผมคิดถึงในยามฝนตกก็คือมาร์โควัลโด หมอนี่เป็นตัวละครจากหนังสือเรื่อง Marcovaldo (ชื่อเดียวกับตัวเขาเองนั่นแหละ) แต่งโดยอิตาโล คาลวิโน นักเขียน นักแปล นักวิจารณ์และบรรณาธิการชาวอิตาเลียน


ผมซื้อหนังสือเล่มนี้ (ฉบับแปลภาษาไทย) มานานหลายปี แล้วก็ลืมสนิทวางทิ้งไว้ตรงไหนก็ไม่รู้


จนกระทั่งวันหนึ่ง ในยามบ่ายแก่ ๆ ที่ร้อนระอุอบอ้าวเอามาก ๆ ร้อนขนาดทำให้ผมรู้สึกแห้งผากอ่อนเพลียราวกับอูฐขาดน้ำที่รอนแรมกลางทะเลทราย ซ้ำยังเป็นอูฐฟุ้งซ่านเสียสมาธิ อ่านหนังสือเล่มไหนก็ไม่รู้เรื่อง ใจมันคอยวนเวียนจะคิดถึงแต่อะไรเย็น ๆ เช่น น้ำแข็ง พัดลม หิมะ แป้งตรางู และแอร์โฮสเตสอยู่ร่ำไป


ในที่สุดผมก็เลิกอ่านหนังสือ หันมาจัดระเบียบสังคมในห้องนอนให้หายจากความรก ตอนนั้นเองที่ผมเจอ "มาร์โควัลโด" นอนเปื้อนฝุ่นมอมแมมอยู่บนพื้น จึงหยิบมาพลิกเปิดดูด้วยความแปลกใจ (และไม่คุ้นเคย) เผลอไผลไม่นานก็นั่งอ่านรวดเดียวจบอย่างชื่นชอบหลงใหล


ผมไม่ได้เกิดสมาธิดีขึ้นมาโดยฉับพลันหรอกนะครับ ถ้าจะมีอะไรเฉียดใกล้อภินิหารหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลอยู่บ้าง สิ่งนั้นก็คือ ขณะที่ผมเริ่มลงมือ (แต่จริง ๆ แล้วใช้สายตามากกว่า) อ่านมาร์โควัลโดไปได้สักเล็กน้อย ฝนก็ตกลงมาเปลี่ยนอากาศร้อนอิ๊บอ๋าย (น่าจะแปลว่าร้อนจนลิ้นพองคับปากพูดไม่ชัด) ให้กลับเป็นเย็นสบายฉ่ำชื่นทั้งใจและกาย (กลม ๆ บริเวณส่วนพุง)


สิ่งมหัศจรรย์ยิ่งกว่านั้นก็คือ "ของเขาดีจริง" ครับ


"มาร์โควัลโด" เป็นงานเขียนรวม 20 เรื่องสั้น จบในตอนโดยสมบูรณ์ แต่ใช้ตัวละครชุดเดิมโลดแล่นแสดงบทบาทพฤติกรรมต่าง ๆ จนเหตุการณ์ง่าย ๆ ที่ไม่เชื่อมต่อติดกัน เกิดความเป็นเอกภาพขึ้นมาอย่างน่าทึ่ง ทุกบทเรียงลำดับตามฤดูกาล จากใบไม้ผลิ ร้อน ใบไม้ร่วง มาลงเอยที่หนาว วนเวียนเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ


ทุกเรื่องใน "มาร์โควัลโด" ใช้ความแปรเปลี่ยนของฤดูกาลและสภาพดินฟ้าอากาศเป็นฉากหลัง เพื่อถ่ายทอดพฤติกรรมง่าย ๆ ของนายมาร์โควัลโด ออกมาได้อย่างขบขันครื้นเครง


มาร์โควัลโดเป็นกรรมกรในโรงงานบรรจุหีบห่อ ซึ่งไม่เคยมีความสุขกับงานที่ตนเองทำ (และได้ชื่อว่าเป็น "แรงงานไร้ฝีมือ") มีลูกมาก เมียขี้บ่น ฐานะยากจน ปราศจากความรู้ พื้นเพดั้งเดิมเคยเป็นชาวชนบท แต่แล้วก็ต้องเดินทางมาแสวงหาโชคลาภและชีวิตความเป็นอยู่ (ที่น่าจะเลวลง) ในเมืองใหญ่


นิสัยที่ทำให้นายมาร์โควัลโด เป็นทั้งไอ้ทึ่มที่น่าหัวเราะเยาะ (ในสายตาชาวบ้าน) เท่า ๆ กับเป็นศิลปินผู้มีจิตใจละเอียดอ่อน (ในสายตาของผู้อ่าน) ก็คือ ความสนใจและความไม่สนใจของเขาที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ


หน้าแรกของหนังสือบรรยายไว้ว่า "มาร์โควัลโดผู้นี้ไม่มีสายตาสำหรับวิถีชีวิตแห่งเมือง ไฟจราจร หน้าร้าน โปสเตอร์ แผ่นป้าย...แต่ตรงกันข้าม เขาไม่เคยคลาดสายตาจากใบไม้เหลืองบนกิ่งต้น ขนนกที่ติดอยู่บนหลังคากระเบื้อง เหลือบบนหลังม้า รูหนอนที่แผ่นกระดาน หรือเปลือกฟิกที่ถูกเหยียบแบนบนฟุตบาธ..."


นี่คือมาร์โควัลโด ตัวเอกผู้มีพฤติกรรมที่หากมองกันโดยเปลือกนอก-ทั้งเหลวไหลไร้สาระและผิดเพี้ยนน่าขบขัน-ต่างจากผู้คนทั่วไป แต่ลึก ๆ แล้ว "คนไม่เอาไหน" อย่างมาร์โควัลโดนี่เอง ที่รู้จักแสวงหามองโลกในด้านรื่นรมย์ เปี่ยมชีวิตชีวา และไม่ยินยอมให้ตนเองกลายสภาพเป็นกลไกแข็งทื่อปราศจากจิตวิญญาณ ในท่ามกลางความเจริญพรวดพราดทางวัตถุและเทคโนโลยี


มาร์โควัลโดไม่ได้หลงใหลชื่นชมธรรมชาติในแบบเพ้อฝัน หรือปกป้องรักษาจนสุดขั้ว เขาชื่นชมพร้อม ๆ กับที่ทำลายมันบ้าง (อย่างเบาบางไม่รุนแรง) เขาเฝ้ามองดูเห็ดงอกขึ้นมาบนพื้นดินตามท้องถนนที่ไม่มีใครสังเกต เพราะต้องการนำมาเป็นอาหาร


มาร์โควัลโดเฝ้าติดตามการบินอพยพของฝูงนก (ที่มีเส้นทางหลบอ้อมออกจากเมือง) ด้วยเจตนาง่าย ๆ คือ อยากกินนกสักตัว


มาร์โควัลโดแอบหลบไปนอนที่จตุรัสใต้ร่มไม้ยามค่ำคืน ท่ามกลางแสงจันทร์อ่อนโยน สายลมแผ่วเบา น้ำค้างพร่างพรม และอวลฟุ้งด้วยกลิ่นดินกลิ่นไม้ เพราะคิดว่าน่าจะทำให้หลับง่าย สบายกว่าห้องพักแคบ ๆ แออัดรุ่มร้อน ห้อมล้อมด้วยแสงไฟนีออนจากป้ายโฆษณา เสียงรถยนตร์แล่นผ่านไปมา (แต่เอาเข้าจริงมาร์โควัลโดก็เผชิญกับคืนทุลักทุเลที่มีทั้งไฟจราจรกระพริบรบกวน คู่รักหนุ่มสาวทะเลาะเบาะแว้งกันไม่เลิกรา เสียงอึกทึกโครมครามของช่างที่กำลังขุดเจาะซ่อมถนน และกลิ่นเหม็นตลบจากรถขนขยะ)


จะว่าไปแล้ว มาร์โควัลโดก็เป็นเสมือนวิญญาณชนบทที่พลัดหลงเข้ามาในเมืองใหญ่ ยังคงโหยหาและไม่เคยหลงลืมวิถีความเป็นอยู่ดั้งเดิมของตนเอง


พฤติกรรม วีรกรรม (บางตอนอาจจะเรียกได้ว่าเวรกรรม) ของมาร์โควัลโด มักจะลงเอยด้วยความล้มเหลวเรียกเสียงหัวเราะเสียเป็นส่วนใหญ่ (เช่น เห็ดที่เขาเฝ้าติดตามการเติบโตอย่างลุ้นระทึก เมื่อกินเข้าไปแล้วกลับกลายเป็นมีพิษ) แต่ก็มีอยู่คราวหนึ่ง ซึ่งเขาประสบความสำเร็จเป็นผู้ชนะ


ในที่ทำงานของมาร์โควัลโด มีต้นไม้กระถางหนึ่ง ไร้คนเหลียวแลเอาใจใส่ ภาระรับผิดชอบตกเป็นของมาร์โควัลโด (นี่เป็นงานอย่างเดียวที่เขาให้ความกระตือรือล้นใส่ใจมากสุด)


ต้นไม้กระถางนั้นมีสารรูปอนาถาน่าเวทนา บอบบาง ใบร่วงผล็อยเกือบหมดต้น มาร์โควัลโดรู้สึกสงสารมัน และคิดว่าชะตากรรมของมันไม่แตกต่างจากบรรดากรรมในโรงงานที่โดนกักล้อมด้วยกำแพงสูง


เพราะเหตุนี้เอง เขาจึงฟูมฟักทะนุถนอมต้นไม้ในกระถ่าง เฝ้ารดน้ำอย่างเอาใจใส่ และเมื่อถึงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ มาร์โควัลโดก็เป็นห่วงเกรงว่า มันจะขาดน้ำไร้การเหลียวแล จึงหอบหิ้วกลับบ้านไปด้วย


ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นั้นเอง ภาพที่สร้างความแปลกใจให้แก่ชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง ก็คือชายคนหนึ่งสวมเสื้อกันฝนปกคลุมมิดชิด เหลือเพียงจมูกยื่นโผล่ออกมา ขับรถจักรยานยนต์มีกระถางต้นไม้วางอยู่ตรงตะแกรงซ้อนท้าย โลดแล่นไปมาไม่รู้จักหยุดหย่อน


ชายคนนั้นคือมาร์โควัลโด เขานำพาต้นไม้ในกระถางออกเดินทาง มองไปบนท้องฟ้าเพื่อค้นหาเมฆหนาที่ส่อเค้าว่าน่าจะมีฝนตก จากนั้นก็ติดตามดั้นด้นไปยังบริเวณดังกล่าว แห่งแล้วแห่งเล่า เพื่อจะให้ต้นไม้ของเขาได้อาบเล่นน้ำฝน

เวลายิ่งผ่านพ้นไป ต้นไม้ที่ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ก็เริ่มผลิใบหนาเติบโตสูงใหญ่ยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งเกือบจะเป็นต้นไม้ยักษ์ที่อุดมสมบูรณ์...






(เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2544 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "เขียนคาบเส้น" เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ แก้ไขปรับปรุงในการเผยแพร่ที่นี่ ด้วยการตัดข้อความย่อหน้าสุดท้ายตอนจบ-ซึ่งชวนให้งุนงงสับสน-ออกไป เรื่องนี้ไม่ได้รวมไว้ใน "ข้าวมันเป็ด" เพราะผมตั้งใจจะนำไปรวมในหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ซึ่งยังเป็นโครงการในอนาคตค่อนข้างไกล)

ไม่มีความคิดเห็น: