หลายปีมาแล้ว ผมเคยได้รับของขวัญชิ้นหนึ่ง
สำหรับผม นั่นคือของขวัญที่น่าประทับใจมาก ๆ
มันเป็นดินสอไม้ธรรมดา ไม่มีอะไรหรูหราพิศดาร ราคาค่างวดนั้น ถ้าพิจารณาจากรูปร่างหน้าตาภายนอก ก็พอจะคาดเดาได้ทันทีว่า ไม่น่าจะเกินสิบบาท
แต่ดินสอแท่งนั้นก็มีผลสะเทือนใหญ่หลวงต่อความคิด และความเชื่อในการทำงานของผมมาจนกระทั่งทุกวันนี้
หรือจะพูดให้ฟังดูขรึมขลังอลังการไปไกลก็ต้องบอกว่า รวมถึงการใช้ชีวิตของผมด้วย
ผมเองก็เชื่อชนิดปักแน่นฝังลึกเสียด้วยสิ ว่ามันเป็นไปได้ถึงเพียงนั้นจริง ๆ
สิ่งที่ทำให้มันแตกต่างจากดินสอทั่วไป มีอยู่เพียงประการเดียว
สิ่งที่ทำให้มันกลายเป็นของขวัญอันล้ำค่า มีอยู่เพียงประการเดียว
สิ่งที่ทำให้ผมจดจำมันได้ไม่รู้ลืม มีอยู่เพียงประการเดียว
สิ่งนั้นคือ ตัวอักษรข้อความสั้น ๆ แปดพยางค์ ที่พิมพ์ประทับไว้ตรงแนวขวางของด้ามดินสอ
เป็นข้อความที่เขียนไว้ว่า "ดินสอแท่งนี้ไม่มียางลบ"
ผมใช้ดินสอแท่งที่ว่าหมดไปนานแล้ว
แต่ละครั้งที่ใช้มันเป็นเครื่องมือในการเขียน ผมอดไม่ได้ที่จะหยิบยกขึ้นมาอ่านดูข้อความดังกล่าวอยู่บ่อย ๆ
พร้อมทั้งถือวิสาสะคิดในใจว่า น่าจะเพิ่มเติมถ้อยคำเข้าไปอีกสักนิดเป็น "อย่าเขียนอะไรผิด ๆ ดินสอแท่งนี้ไม่มียางลบ"
จากนั้นมันก็โน้มน้าวหว่อนล้อมให้ผมลงมือเขียนทีละตัวอักษรอย่างช้า ๆ ด้วยความระมัดระวัง พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะเขียนให้ "ไม่ผิด"
เพราะดินสอแท่งนี้ไม่มียางลบ
ใช้บ่อย ๆ เข้า ความระมัดระวังของผมก็แตกขยายเพิ่มพูน ไม่ได้กวดขันเข้มงวดกับตนเองเฉพาะแค่การเขียนสะกัดตัวอักษรให้ถูกต้องเท่านั้น แต่ยังรวมความครอบคลุมไปสู่การลำดับเนื้อความก่อนหลังให้ชัดเจนไม่สับสน จนถึงประเด็นความคิดทัศนะต่าง ๆ ที่ปรากฎในงานเขียน
พูดให้ชัดก็คือ ไม่ได้ระมัดระวังแค่ความถูกต้องแม่นยำในข้อเขียนหรือคุณภาพของเนื้องานเท่านั้น แต่ยังต้องระมัดระวังมิให้ผิดพลาดฉกาจฉกรรจ์
ความผิดพลาดในที่นี้ผมหมายถึง อะไรก็ตามที่จะส่งผลลบเป็นโทษต่อผู้อ่าน เป็นการทำลายมากกว่าสร้างสรรค์ และนำพาความเดือดร้อนเสียหายสู่ส่วนรวม
ถึงกระนั้น ในการทำงานเขียนทุกชิ้น ผมก็ยังเขียนผิดสะกดผิด เต็มไปด้วยการขีดฆ่าแก้ไขโยงใยไปมามากมาย จนใครผ่านมาพบเห็นเข้าอาจเวียนหัวตาลายไปกับความยุ่งเหยิงไร้ระเบียบได้ไม่ยาก
ขนาดกำชับตักเตือนตนเองให้เขียนด้วยความระมัดระวังแล้ว ผมก็ยังผิดได้มากได้บ่อย สาเหตุอาจจะเพราะอาการใจลอยขาดสมาธิ บางครั้งก็เนื่องมาจากความรู้ยังไม่แตกฉานเท่าที่ควร บางครั้งก็เลินเล่อเพราะเงื่อนไขกระชั้นชิดทางด้านเวลาบีบบังคับให้ต้องรีบเร่ง จนทำให้รัดกุมไม่เพียงพอ
เหนือสิ่งอื่นใดคือ ข้อผิดพลาดที่พบบ่อยสุดเกิดขึ้นเพราะความคิดอ่านความเห็นต่อบางเรื่องยังเข้าใจได้ไม่ตกผลึกถ่องแท้ อาจจะด้วยข้อจำกัดทางด้านสติปัญญา และอาจจะด้วยอารมณ์ผลีผลามใจเร็วรีบด่วนสรุป กระทั่งเผลอไผลพิพากษาความดีงามอัปลักษณ์ของภูเขาทั้งลูก จากการพิจารณาเศษใบไม้บนพื้นใบเดียว
ทุกวันนี้ผมเปลี่ยนมาใช้ปากกาแทนดินสอ บางคราวก็พิมพ์งานด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์
ผมพบว่า ถึงที่สุดแล้วต่อให้ใช้สอยเครื่องมืออุปกรณ์ใด ๆ ก็ตาม ในการทำงานทุกชิ้น ผมยังโดนควบคุมให้ต้องระมัดระวังด้วยคำว่า "ไม่มียางลบ" เช่นเดิมไม่แปรเปลี่ยน
เรื่องน่าเศร้าก็คือ ในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง บางทีต่อให้ "ระมัดระวัง" เพียงไร ก็ยังคงไม่วายต้องก่อความ "ผิดพลาด" ชนิดนึกไม่ถึงขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่า
ถ้าถือคติ "ผิดเป็นครู" วัดเอาจากความผิดพลาดซ้ำซ้อนจำนวนนับครั้งไม่ถ้วน ป่านนี้ผมก็คงเลื่อนขั้นเป็นอธิการบดีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไปเรียบร้อยแล้วละครับ
อาจเป็นเพราะผม "ระมัดระวัง" ไปพร้อม ๆ กับการทำงานเรียนรู้แบบ "ลองผิดลองถูก" ซึ่งบางครั้งก็มีเส้นแบ่งกั้นกลางที่บางมาก
อย่างไรก็ตาม ด้วยความเชื่อในระบบ "ไม่มียางลบ" ทำให้ผมยิ่งยึดมั่นว่า "ไม่มีคำแก้ตัว" อย่างเหนียวแน่น
ดีก็คือดี แย่ก็คือแย่ พลาดก็คือพลาด เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องยินดีน้อมรับ และนำมาทบทวนพิจารณาอย่างถี่ถ้วน
ในกรณีที่ผิดพลาด คำขอขมาของผมมีเพียงวิธีเดียว คือการสร้างงานชิ้นใหม่ลำดับถัดไปขึ้นมากอบกู้ชดเชยทดแทน
ความเชื่อถัดมาของผมก็คือ "คนเราใช้ชีวิตมาอย่างไร ก็สร้างโลกออกมาได้เช่นนั้น" ใช้ชีวิตเหลวไหลเลื่อนลอยก็คงทำได้แค่สร้างโลกที่กลวงเปล่าไร้สาระ ใช้ชีวิตมีแก่นสารย่อมสามารถสร้างโลกที่มั่งคั่งไปด้วยภูมิปัญญา
ผมจึงพยายามใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวังแบบเดียวกับในเวลาลงมือทำงานเขียน และแน่นอนเช่นกันว่า เป็นการใช้ชีวิตแบบเรียนรู้ลองผิดลองถูกตลอดเวลา
ในการใช้ชีวิต มีหลายครั้งที่ผมผิดแล้วยังหลงลืมจนพลาดซ้ำสอง และมีหลายครั้งที่หากผิดขึ้นมาแล้ว ต่อให้พยายามสลัดทิ้งหนักหน่วงสาหัสอย่างไรก็ยังคง "ลืมไม่ลง"
เพียงแต่ในการใช้ชีวิต "บทต่อไป" ที่ดีมีคุณภาพนั้น เขียนขึ้นมาชดเชยความผิดพลาดในอดีตได้ยากกว่า
แล้วความคิดของผมก็วกกลับย้อนคืนไปหาดินสอแท่งนั้น และข้อความที่ฝังใจเหล่านั้น
(เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2545 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ “เขียนคาบเส้น” เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ เผยแพร่ที่นี่โดยคงทุกอย่างไว้ตามเดิม บทความชิ้นนี้ไม่ได้รวมอยู่ใน “ข้าวมันเป็ด” เนื่องจากทำต้นฉบับหายและเพิ่งหาเจอ เรื่องที่ผมอยากจะเล่าเพิ่มเติมก็คือว่า สาเหตุที่มาของเรื่องนี้ สืบเนื่องมาจากงานชิ้นหนึ่งชื่อ- “ชินจัง” ไม่ใช่ “ชินจัง”- ซึ่งเขียนด้วยน้ำเสียงในเชิง “ทีเล่น” ตั้งใจจะให้อ่านกันสนุก ๆ เพลิน ๆ นะครับ แต่กลับปรากฎว่า โดนผู้อ่านเข้ามาแสดงความเห็นในเว็บ ก่นด่าแบบสาดเสียเทเสียอย่างดุเดือดรุนแรง จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดเป็นบทความชิ้นนี้ และเป็นวิธีเดียวที่ผมนึกออกในการสื่อสารปรับความเข้าใจกัน แบบหลีกเลี่ยงท่าทีตอบโต้ชวนทะเลาะ ซึ่งจะทำให้เรื่อง “บานปลาย” และ “ไม่จบ”)
(เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2545 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ “เขียนคาบเส้น” เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ เผยแพร่ที่นี่โดยคงทุกอย่างไว้ตามเดิม บทความชิ้นนี้ไม่ได้รวมอยู่ใน “ข้าวมันเป็ด” เนื่องจากทำต้นฉบับหายและเพิ่งหาเจอ เรื่องที่ผมอยากจะเล่าเพิ่มเติมก็คือว่า สาเหตุที่มาของเรื่องนี้ สืบเนื่องมาจากงานชิ้นหนึ่งชื่อ- “ชินจัง” ไม่ใช่ “ชินจัง”- ซึ่งเขียนด้วยน้ำเสียงในเชิง “ทีเล่น” ตั้งใจจะให้อ่านกันสนุก ๆ เพลิน ๆ นะครับ แต่กลับปรากฎว่า โดนผู้อ่านเข้ามาแสดงความเห็นในเว็บ ก่นด่าแบบสาดเสียเทเสียอย่างดุเดือดรุนแรง จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดเป็นบทความชิ้นนี้ และเป็นวิธีเดียวที่ผมนึกออกในการสื่อสารปรับความเข้าใจกัน แบบหลีกเลี่ยงท่าทีตอบโต้ชวนทะเลาะ ซึ่งจะทำให้เรื่อง “บานปลาย” และ “ไม่จบ”)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น