วันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

หมายเหตุฆาตกรรม โดย "นรา"


เป็นที่ยกย่องและยอมรับกันทั่วไปว่า ผลงานชิ้นเอกของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ได้แก่นิยายเรื่องมหึมาอย่าง “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” (One Hundred Years of Solitude) ซึ่งเป็นงานเขียนที่เต็มไปด้วยรายละเอียดพิลึกพิลั่นมหัศจรรย์มากมาย เช่น ช็อคโกแลตร้อนที่ดื่มแล้วลอยได้ ฝนตกหนักในเมืองแห่งหนึ่งติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี หรือบรรดาชาวบ้านพร้อมเพรียงกันเกิดอาการ “นอนไม่หลับ” คืนแล้วคืนเล่าจนกลายเป็นเหตุการณ์ปกติ ฯลฯ


อาจกล่าวได้ว่า “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” เป็นประสบการณ์การอ่านวรรณกรรมที่โลดโผนตื่นเต้นเร้าใจและน่าทึ่งมาก ๆ อีกเรื่องหนึ่ง เท่าที่ผมเคยเจอะเจอมา แต่ถึงกระนั้นนิยายเรื่องดังกล่าวของมาร์เกซ ก็เข้าข่าย “อ่านสนุก แต่เข้าใจยาก” อยู่มาก เนื่องจากความแตกต่างและไม่คุ้นเคยต่อวัฒนธรรมละตินอเมริกา (อย่างไรก็ตาม ถึงจะไม่ค่อยเข้าใจ แต่ว่ากันเฉพาะ “ความสนุก” และ “ความแปลก” แล้ว นิยายเรื่องนี้ก็ถือได้ว่าน่าลิ้มลองเสาะหามาอ่านมาก ๆ นะครับ) ทำให้โอกาสที่จะรู้สึกร่วมคล้อยตามต่าง ๆ จึงเป็นไปได้ยาก


มีงานเขียนอีกเล่มของมาร์เกซที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยนานแล้ว (ออกตีพิมพ์ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับ “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” ฉบับพิมพ์ครั้งแรก) และมีขนาดความหนากระทัดรัดเพียงร้อยกว่าหน้า เค้าโครงเรื่องเรียบง่ายกว่าเยอะ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเริ่มต้นทำความรู้จัก (โดยไม่โดนความยิ่งใหญ่ในงานเขียนของมาร์เกซข่มขวัญจนรู้สึกฝ่อไปเสียก่อน) นั่นก็คือ “หมายเหตุฆาตกรรม” (Chronicle of a Death Foretold)


“หมายเหตุฆาตกรรม” เป็นนิยายขนาดสั้นของมาร์เกซ ซึ่งผมหยิบมาอ่านซ้ำบ่อยที่สุดในบรรดาผลงานทั้งหมดของเขา นอกเหนือจากขนาดรูปเล่มที่อำนวยความสะดวกแก่คนขี้เกียจอย่างผมแล้ว ความยอดเยี่ยมตลอดจนคุณภาพการเขียนระดับ “เซียนเหยียบเมฆหลายชั้น” ของมาร์เกซก็เป็นเหตุผลใหญ่สุด ที่ทำให้อ่านซ้ำได้ไม่รู้เบื่อ (และยังคงเกิดความรู้สึกทึ่งราวกับเพิ่งอ่านเป็นครั้งแรกได้ทุกเมื่อ)


โดยเค้าโครงแล้ว “หมายเหตุฆาตกรรม” เป็นบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการฆ่าล้างแค้นที่สะเทือนขวัญคนทั้งเมือง รายละเอียดความพิศดารนั้นอยู่ที่ว่า ฝ่ายฆาตกรป่าวประกาศเจตนาของตนเองล่วงหน้าอย่างโจ่งแจ้ง (ด้วยเหตุผลที่แท้จริงคือ “ใจไม่ถึง” จึงอยากจะให้มีคนมายับยั้งขัดขวาง) จนชาวบ้านต่างรู้กันทั่ว กระทั่งนำไปสู่ความไม่เชื่อและคิดว่าเป็น “เรื่องล้อเล่น” ท้ายสุดเหตุการณ์อันน่าเศร้าสลดก็เกิดขึ้น เมื่อมีการฆาตกรรมกันจริง ๆ


เนื้อเรื่องคร่าว ๆ ดังกล่าว จะว่าไปก็ปกติธรรมดา ไม่มีอะไรโลดโผนเป็นพิเศษ แต่ทีเด็ดนั้นอยู่ที่ว่ามาร์เกซไม่ได้บอกเล่าถ่ายทอดเหตุการณ์เรียงลำดับแบบหนึ่ง สอง สาม แต่เริ่มต้นด้วยการบอกกันตรง ๆ ถึงจุดจบลงเอยของเรื่อง จากนั้นก็เล่าย้อนสลับไปมาอย่างแพรวพราว โดยใช้มุมมองของตัวละครเยอะแยะมากมายหลายฝ่าย ในลักษณะของการสอบถามให้ปากคำในฐานะพยานผู้รู้เห็น มาเชื่อมโยงปะติดปะต่อจนได้ภาพทั้งหมดครบถ้วน (และเก่งมากในการเล่าเรื่องไม่เรียงตามลำดับให้คนอ่านไม่งง)


ที่เหนือชั้นกว่านั้นก็คือ การเล่นกับความบังเอิญ เพื่อชี้ให้เห็นว่า ทำไมคำประกาศว่าจะฆ่าล้างแค้นที่ใครต่อใครทั่วทั้งเมืองต่างรู้ล่วงหน้ากันดีอยู่แล้ว แต่ตัวละครที่ตกเป็นเหยื่อการฆาตกรรมกลับไม่ระแคะระคายได้อย่างน่าประหลาด (และสมควรตาย)


โดยทั่วไปแล้ว การผูกเงื่อนปมดำเนินเรื่องให้มีความบังเอิญ ถือเป็นข้อห้ามที่นักเขียน (รวมถึงการเขียนบทหนังด้วยนะครับ) ต่างพากันหลีกเลี่ยง เพราะมีโอกาสสูงยิ่งที่จะทำให้เรื่องราว “ขาดความน่าเชื่อถือ” และดูจะเป็นการหาทางออกที่ “ตื้นเขิน” และ “มักง่าย” แต่มาร์เกซก็พิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่มีอะไรเป็นกฎหรือข้อห้ามที่แท้จริงในการสร้างสรรค์งานศิลปะ ถ้าหากฝีมือถึงขั้นจริง ๆ สิ่งที่เป็นข้อห้ามหรือจุดอ่อนจุดด้อย ก็สามารถหยิบมาพลิกผันให้กลายเป็นจุดแข็งจุดเด่นได้เหมือนกัน


“หมายเหตุฆาตกรรม” เต็มไปด้วยการเล่นกับความบังเอิญอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งกลายเป็นการถักทอเรื่องราวลวดลายที่มหัศจรรย์และน่าทึ่งมาก มิหนำซ้ำยังยิ่งก่อให้เกิดความสะเทือนอารมณ์เหลือเกิน เมื่อผู้อ่านรับทราบความเป็นไปต่าง ๆ พร้อมกับตัวละครอื่น ๆ แต่ท้ายที่สุดอาชญากรรมเหตุร้ายก็ยังคงเกิดขึ้น (ทั้ง ๆ ที่โดยความน่าจะเป็นและโอกาสนั้นมีน้อยนิด แต่มาร์เกซก็ร้ายกาจมากในการนำพาเรื่องราวที่มี “ความน่าจะเป็น” เกือบเท่ากับศูนย์ ให้อุบัติขึ้นได้อย่างเหลือเชื่อ ทว่าก็เต็มไปด้วยความน่าเชื่อถือหนักแน่นสมจริงอย่างยิ่ง)


ตรงนี้ล่ะครับที่ผมว่าน่าอัศจรรย์มาก เพราะปกติแล้วความบังเอิญมักทำให้ดูไม่น่าเชื่อ แต่วิธีการเขียนของมาร์เกซ (ซึ่งหยิบยืมรูปแบบในท่วงทำนองของรายงานข่าวมาใช้อยู่หลายบทหลายตอน) ก็กลับทำให้เรื่องที่เต็มไปด้วยความบังเอิญอย่าง “หมายเหตุฆาตกรรม” มีน้ำหนักสมจริง กระทั่งสมมติว่าถ้ามีใครมาบอกผมว่า นี่คือเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นจริง ผมก็พร้อมจะเชื่ออย่างสนิทใจทันที


ความเหนือชั้นของมาร์เกซใน “หมายเหตุฆาตกรรม” นั้น ผมรู้สึกของผมเองนะครับว่า เขาเนรมิตดลบันดาลสิ่งต่าง ๆ ได้ดั่งใจราวกับเป็นพระเจ้า คอยกำหนดควบคุมความเป็นไปทั้งหมดบนโลก


อ่านแล้วก็ต้องกราบกันงาม ๆ ด้วยความคารวะในฝีมือระดับ “เหนือมนุษย์” กันเลยทีเดียว


(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ “เขียนคาบเส้น” –ยุคแนะนำหนังสือ-ในการเผยแพร่ครั้งนี้ มีการแก้ไขขัดเกลาบ้างเล็กน้อย)

ไม่มีความคิดเห็น: