เลียบ ๆ เคียง ๆ เฉียดถากไปมาหลายอาทิตย์ คราวนี้ก็ได้เวลาไปชื่นชมภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือ “ครูทองอยู่” กันแล้วนะครับ
ครูทองอยู่หรือหลวงวิจิตรเจษฎานั้น ประวัติชีวิตของท่านไม่เหลือรายละเอียดอันใดให้ล่วงรู้กันเลย นอกเหนือจากคำบอกเล่าเกี่ยวกับการวาดภาพประชันขันแข่งกับครูคงแป๊ะที่วัดสุวรรณารามแล้ว ก็มีแค่ชื่อที่ปรากฎใน “คำไหว้ครูช่างครั้งกรุงเทพฯ”ความว่า
“นบเจ้าจอมเพชวกรรม์ ขุนเทพคนขยัน
ทั้งรักษ์ภูมินทร์กัลมา
ท่านพญาชำนิรจนา หลวงวิจิตรเจษฎา
วิจิตรราชมนตรี”
ในคำไหว้ครูดังกล่าว เอ่ยนามช่างแขนงต่าง ๆ ผู้มีผลงานโดดเด่นช่วงต้นรัตรนโกสินทร์เอาไว้ 14 ท่าน ข้อความที่มีวงเล็บกำกับนั้นหมายถึงชื่อเดิม ประกอบไปด้วย ขุนเทพ (นาม), หลวงกัลมาพิจิตร (สน), พระยาชำนิรจนา (แก้ว), หลวงวิจิตรเจษฎา (ทองอยู่), วิจิตรราชมนตรี (ปลื้ม-ท่านนี้ไม่ปรากฎบรรดาศักดิ์), พรหมพิจิตร (คุ้ม-ท่านนี้ก็ไม่ปรากฎบรรดาศักดิ์), หมื่นสุนทร (ด้วง), นายทองดี, ปขาวสก, ตามี, ขุนสรรพสัตว์ (เทศ), หฤไทย (ด้วง-ไม่ปรากฎบรรดาศักดิ์), หลวงบรรจงรจนาไมย (สา) และขุนสนิทบรรจง (สน)
(อ้างอิงจากหนังสือ “ผลงาน 6 ศตวรรษของช่างไทย” โดยศาสตราจารย์โชติ กัลยาณมิตร)
ทั้งหมดนี้เป็นอีกหนึ่งหลักฐานยืนยันว่า ครูทองอยู่ท่านมีตัวตนจริง และเป็นครูคนสำคัญที่ช่างเขียนรุ่นหลังให้ความเคารพนับถือ
ว่าแต่ว่า มีใครสงสัยบ้างไหมครับว่า? ทำไมจึงไม่ปรากฎชื่อของครูคงแป๊ะในคำไหว้ครูฯ ทั้งที่ท่านก็เป็นศิลปินคนสำคัญ อยู่ร่วมยุคสมัยเดียวกัน อีกทั้งได้ชื่อว่า เป็นคู่แข่งกับครูทองอยู่ และก่อให้เกิดข้อถกเถียงที่ปราศจากข้อยุติมากระทั่งทุกวันนี้ว่า ใครเก่งกว่ากัน?
ประเด็นนี้ “สมเด็จครู” กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสันนิษฐานไว้ว่า อาจเนื่องเพราะครูคงแป๊ะมักจะก่อเหตุทะเลาะวิวาทบ่อยครั้ง รวมทั้งเคยต้องโทษข้อหาฆ่าคนตาย จึงทำให้ประวัติมัวหมองมีมลทินอยู่บ้าง เลยไม่ได้รับการเคารพนับถือเท่าที่ควร (กระทั่งในปัจจุบัน ข้อมูลหลายแห่งก็กล่าวถึงท่านด้วยการเอ่ยนาม “คงแป๊ะ” ตรง ๆ โดยไม่เรียกขานว่า “ครู”)
ครูช่างในอดีตนั้น นอกเหนือจากความเก่งกาจสามารถทางด้านฝีมือแล้ว ความประพฤติส่วนตัวก็น่าจะต้องเพียบพร้อมเป็นแบบอย่างอันดีงามให้ผู้อื่นเจริญรอยตาม
ผมนั้นชื่นชมครูช่างทั้งสองท่านเท่า ๆ กัน ก็เลยต้องจินตนาการหาเหตุผลทางด้านบวก มาแก้ต่างให้แก่ครูคงแป๊ะสักหน่อย
กล่าวคือ ผมเชื่อว่า ครูคงแป๊ะนั้นท่านก็คงมีน้ำใสใจคอเป็นคนดีนะครับ แต่เพราะความติสท์ สวนกระแส แหวกแนว ฉีกขนบ จึงทำให้สังคมรอบข้างส่วนหนึ่งที่ตามความคิดของท่านไม่ทัน รู้สึกต่อต้าน บวกรวมกับความเป็นคนจีน ก็น่าจะมีผลให้ท่านมีสถานะเป็น “คนนอก” อยู่บ้างพอสมควร
ยึดถือตามเหตุผลคำอธิบายของ “สมเด็จครู” เป็นหลัก ชื่อที่ได้รับการบันทึกไว้ใน “คำไหว้ครูครั้งกรุงเทพฯ” ช่วยให้สันนิษฐานเพิ่มเติมได้ว่า ครูทองอยู่หรือหลวงวิจิตรเจษฎานั้น จะต้องเป็นครูช่างที่โด่งดังมาก และมีความประพฤติดีงามไร้ตำหนิ เปี่ยมด้วยเมตตา มีคุณสมบัติจิตวิญญาณความเป็นครูที่ดีครบถ้วนเพียบพร้อม (ตรงกับการตีความบุคลิกของท่านผ่านทางภาพวาด และสอดคล้องกับการคาดหมายว่า การที่ท่านประชันขันแข่งวาดภาพกับครูคงแป๊ะ น่าจะเป็นเรื่องขัดแย้งในหมู่กองเชียร์ทั้งสองฝ่ายมากกว่า ขณะที่ความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างท่านกับครูคงแป๊ะ ควรจะดำเนินไปในทางเคารพนับถือฝีมือของกันและกัน ตามประสาสุดยอดศิลปินที่สามารถ “อ่าน” ความพิเศษล้ำลึกที่ซ่อนอยู่ในผลงานของอีกฝ่าย ได้แตกฉานทะลุแจ้งแทงตลอดยิ่งกว่าสายตาคนปกติทั่วไป)
กล่าวเฉพาะครูทองอยู่ ผลงานของท่านที่ยังคงตกทอดมาถึงปัจจุบัน ทราบแน่ชัดเพียงว่า ภาพเนมีราชชาดก วัดสุวรรณาราม เป็นฝีมือครูทองอยู่โดยแท้ ขณะที่ภาพเรื่องเดียวกัน ณ วัดบางยี่ขัน ยังปราศจากหลักฐานยืนยันว่าใช่ผลงานของท่านหรือไม่ ทว่าเมื่อพิจารณาจากลีลาการจัดองค์ประกอบภาพ, สีสัน และลายเส้น ผู้เชี่ยวชาญหลายรายเชื่อว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะมาจากฝีมือและความคิดของครูช่างคนเดียวกัน
ในหนังสือ “ผลงาน 6 ศตวรรษของช่างไทย” ระบุว่า ที่วัดสุวรรณารามนั้น ครูทองอยู่ยังได้วาดภาพเทพชุมนุม ภาพมารผจญ ภาพพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ แต่พิจารณาจากลีลารายละเอียดของภาพที่แตกต่างกันอยู่พอสมควร, ความไม่ลงรอยกับแหล่งข้อมูลอื่น ๆ (ซึ่งมีจำนวนมากกว่า) รวมถึงสมมติฐานว่า จำนวนชิ้นงานมากมายเช่นนี้ น่าจะเกินกำลังครูช่างท่านเดียวจะวาดได้หมดตามลำพัง
ผมจึงเชื่อว่า ผลงานของครูทองอยู่น่าจะเป็นห้องที่เขียนเรื่องเนมีราชชาดกเพียงภาพเดียว
ภาพวาดของครูทองอยู่ที่วัดสุวรรณาราม เป็นหนึ่งในงานจิตรกรรมไทยประเพณีที่มีความพิเศษมาก นั่นคือ ใครเห็นวูบแรกก็สามารถตระหนักรับรู้ได้ทันทีว่า สวย ประณีต วิจิตรพิสดาร โดยไม่จำเป็นต้องเข้าใจเรื่องราวเหตุการณ์ในภาพ
อย่างไรก็ตาม ไหน ๆ ก็หนักข้อมูลกันมาตั้งแต่ต้นแล้ว ก่อนจะลงสู่รายละเอียดของตัวภาพ ผมขอเล่าคร่าว ๆ เกี่ยวกับเรื่องเนมีราชชาดก เพื่อช่วยเพิ่มอรรถรสในการดูภาพวาดของครูทองอยู่
เพื่อความสะดวกและง่ายต่อการทำความเข้าใจ ผมจะพยายามเลี่ยงใช้คำราชาศัพท์และบาลีให้น้อยที่สุด เน้นการสื่อสารใจความสู่ผู้อ่านเป็นสำคัญ บางแห่งจึงอาจผิดหลักไม่ตรงกับการใช้ภาษาโดยเคร่งครัดอย่างที่ควรจะเป็น หวังว่าท่านผู้รู้คงให้อภัย
เรื่องเนมีราชชาดกนั้นเริ่มต้นพิศดารพันลึกทีเดียว เหตุการณ์มีอยู่ว่า พระยามฆะเทวราชแห่งกรุงมิถิลา ทรงใช้ชีวิตเที่ยวเล่นเป็นเด็กอยู่ 84,000 ปี เป็นอุปราช 84, 000 ปี แล้วค่อยขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์นาน 84,000 ปี พบว่าเริ่มมีเส้นผมหงอก จึงสละราชสมบัติให้พระโอรส เพื่อออกบวชเป็นฤษีอีก 84,000 ปี กระทั่งสิ้นพระชนม์ กลายเป็นเทวดาไปเกิดบนพรหมโลก
นับจากนั้นมาก็กลายเป็นประเพณีของกษัตริย์เมืองมิถิลา (ทุกองค์มีวงจรชีวิตอายุขัยเท่า ๆ กัน) สืบต่อจนกระทั่งได้จำนวน 83,998 องค์
ถึงตอนนั้น พรหมมฆะซึ่งเป็นเทวดาบนสรวงสวรรค์ เล็งเห็นด้วยทิพยญาณว่า ต่อไปเบื้องหน้า จะไม่มีกษัตริย์สละราชสมบัติออกบวชเหมือนพระองค์อีก เพื่อให้ประเพณีที่ทรงริเริ่มบรรจบครบ จึงยอมสละชีวิตความเป็นอยู่บนพรหมโลกมาเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง (พระบิดาของพระองค์จึงออกบวชเป็นลำดับที่ 83,999 และพระมฆะที่กลับชาติมาเกิดใหม่เป็นองค์สุดท้ายครบตามจำนวนพอดี)
ตัวเลข 84,000 น่าจะมีความหมายนัยยะพิเศษทางศาสนาซ่อนอยู่นะครับ เพราะพระไตรปิฏก ได้กำหนดข้อธรรมไว้ว่ามีทั้งสิ้น 84,000 พระธรรมขันธุ์
ยิ่งไปกว่านั้น หนังสือไตรภูมิพระร่วง ยังสาธยายถึงรูปร่างเขาพระสุเมรุไว้ว่า สูงขึ้นไปบนอากาศได้ 84,000 โยชน์ ลึกลงไปใต้น้ำ 84,000 โยชน์ และกว้าง 84,000 โยชน์
ผมยังอ่านไม่เจอคำอธิบายว่า ทำไมต้องเป็นจำนวนตัวเลข 84,000 และซ่อนรหัสความนัยอะไรเอาไว้บ้าง? ต้องขอติดค้างเอาไว้ก่อน (โดยไม่รับประกันว่าจะพบคำตอบ)
พรหมมฆะที่กลับชาติมาเกิดใหม่ ได้รับการตั้งชื่อว่า “เนมิ” (แปลว่า กงล้อรถ) เนื่องจากท่านเป็นชิ้นส่วนรอยต่อสุดท้ายที่ทำให้วงจรครบรอบโดยสมบูรณ์ (ทั้งยังยืนยันว่า ชื่อที่ถูกต้องของชาดกเรื่องนี้คือ “เนมิราช” แต่ผมเลือกสะกดว่า “เนมี” ดังเหตุผลที่เคยอธิบายไปแล้ว)
เวลาล่วงผ่านพ้นไป พระเนมีก็ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ ทรงบำเพ็ญบารมีด้วยการบริจาคทาน รักษาศีล และแสดงธรรมแก่ราษฏร กระทั่งผู้คนล้วนปฏิบัติตนเป็นคนดีตามอย่างโดยทั่วหน้า
ครั้งนั้น เมื่อผู้คนตายดับล้วนขึ้นสวรรค์กันหมด ส่งผลให้นรกว่างโล่งโหรงเหรง
จุดใหญ่ใจความสำคัญของชาดกตอนนี้ก็คือ พระเนมีท่านเกิดข้อสงสัยตรองไม่ตกขึ้นมาว่า ระหว่างการรักษาศีลกับการทำทานนั้น อย่างไหนจะมีอานิสงส์มากกว่ากัน
เนมีราชชาดกเป็นตอนที่มุ่งเน้นแสดงให้เห็นถึง “อธิษฐานบารมี” ผมควรเล่าไว้ด้วยว่า อธิษฐานไม่ได้แปลว่า “ขอ” ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่หมายถึง ความตั้งใจแน่วแน่มั่นคง ปราศจากอาการสั่นคลอนหวั่นไหว
เรื่องมาเกี่ยวข้องกับ “อธิษฐานบารมี” ตรงนี้นี่เอง คือเมื่อพระเนมีเกิดปุจฉาขึ้นในใจและไม่พบคำตอบ พระอินทร์จึงต้องเสด็จมาวิสัชนาให้ความกระจ่าง
คำอธิบายของพระอินทร์ก็คือ การรักษาศีลนั้นดีกว่าการทำทาน แต่ดีที่สุดควรปฏิบัติทั้งสองด้านไปควบคู่กัน
เมื่อพระอินทร์เสด็จกลับสวรรค์ ข่าวก็ล่วงรู้แพร่กระจายไปถึงเหล่าเทวดา พระเนมีราชคงจะมีกิตติศัพท์โดดเด่นอยู่มากทีเดียว บรรดาเทพบุตรนางฟ้าทั้งหลาย จึงอยากยลโฉมพระองค์ให้เป็นบุญตา และพากันขอร้องต่อพระอินทร์ให้เชิญพระเนมีขึ้นมาแสดงธรรมบนสวรรค์
พระอินทร์จึงส่งพระมาตุลีขับเวชยันตร์ราชรถ (บางแหล่งก็เรียกว่า “เวชยันตทิพยยาน”)ไปรับตัวพระเนมี แต่ไม่ได้มุ่งตรงมายังสวรรค์ทันที มีการแวะทัวร์เยี่ยมชมนรกครบทุกขุมและวิมานสวรรค์ชั้นต่าง ๆ จนกระทั่งพระอินทร์ต้องเร่งรัดให้รีบตรงมายังปลายทาง ณ สุธรรมาเทพสภา บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (ทัวร์สวรรค์จึงยังไม่ครบถ้วน) เพื่อแสดงธรรมแก่เหล่าเทวดานางฟ้าทั้งหลาย
หลังจากแสดงธรรมครบ 7 วัน พระอินทร์ก็ทูลเชิญขอให้พระเนมีเสวยสุขบนสวรรค์
แก่นเรื่องเกี่ยวกับ “อธิษฐานบารมี”อยู่ตรงนี้เองครับ พระเนมีทรงปฏิเสธ ด้วยเหตุผลว่า สิ่งที่ได้มาเพราะผู้อื่นให้ ก็เหมือนหยิบยืมเขามา ทรงปรารถนาจะทำบุญทั้งหลายด้วยตนเอง และมุ่งมั่นแน่วแน่ที่จะบำเพ็ญบารมีต่าง ๆ ให้ครบถ้วน อันนำไปสู่การเกิดเป็นพระโพธิสัตว์ในชาติสุดท้ายเพื่อตรัสรู้
พระเนมีจึงเสด็จกลับโลกมนุษย์ ใช้ชีวิตตามครรลองจนเส้นผมหงอก แล้วออกบวช และทำให้การปฏิบัติตามประเพณีบรรจบครบ 84,000 องค์ (ซึ่งพระเนมีเป็นผู้เริ่มและจบด้วยตนเอง) นับจากนั้น กษัตริย์เมืองมิถิลาองค์ต่อ ๆ มาก็ไม่มีการออกบวชอีกเลย
ภาพวาดของครูทองอยู่ที่วัดสุวรรณาราม แบ่งพื้นที่ออกเป็นสามส่วนคือ ล่าง กลาง บน (เวลาดูไล่เรียงลำดับตามนี้นะครับ)
ตอนล่างสุดคือ ภาพพระมาตุลีขับเวชยันต์ราชรถพาพระเนมีสู่ดินแดนนรก บริเวณตรงกลางซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของภาพนี้ จับความเหตุการณ์ที่ทรงแสดงธรรมต่อเหล่าเทวดา ณ สุธรรมาเทพสภา ตอนบนสุดเป็นภาพเทวดานางฟ้า เหาะเหินเดินอากาศถือเครื่องหอม รอต้อนรับการเสด็จมาถึงของพระเนมี
เรื่องนี้ยังจบไม่ลง หารันเวย์ไม่เจออีกแล้วครับ
(เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2552 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ")
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น