การดูจิตรกรรมฝาผนังตามวัดหลาย ๆ แห่ง ซึ่งไม่ใช่สถานที่ฮิตในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ มีอุปสรรคอยู่พอสมควร นั่นคือ ปกติแล้วพระอุโบสถมักจะปิด ต้อง “เข้าหาพระ” ตามกุฏิสงฆ์ เพื่อขออนุญาต
ระหว่างช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ผมไปวัดสุวรรณารามแล้ว 3 ครั้ง ล้มเหลวสอง ประสบความสำเร็จเพียงแค่คราวเดียว
หนแรก “วืด” เพราะผมเห็นว่ากำลังมีการซ่อมแซมหลังคา จึง “ตีตนไปก่อนไข้ ไม่สบายไปก่อนป่วย แทงหวยผิด ตั้งแต่ยังไม่ทันได้ซื้อ” คิดเอง ช้ำเอง เข้าใจไปเองว่า คงจะปิดเทอมยาว จนกว่าจะบูรณะพระอุโบสถแล้วเสร็จ
ไม่กี่วันต่อมา ขณะที่ผมกับเด็กชายพี่หมีล่องเรือไปเที่ยวเกาะเกร็ด (ทางคลองบางกอกน้อย คลองอ้อมนนท์ ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงก่อนจะถึงสะพานสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เล็กน้อย) ขณะผ่านวัดสุวรรณาราม ผมเห็นประตูพระอุโบสถเปิดให้เข้าชมตามปกติ
สัปดาห์ถัดมา ผมจึงรีบตรงดิ่งไปที่วัดตั้งแต่เช้า และพบว่าประตูโบสถ์ปิด ขณะกำลังเดินคอตกอกหักออกจากวัด ผมก็เกิดอาการ “คาใจ” ต้องวกกลับไปถามเจ้าหน้าที่ตรงศาลาสำหรับเช่าบูชาพระเครื่องของทางวัด เพื่อสอบถามให้แน่ชัด และได้คำตอบว่า พระอุโบสถเปิดทุกวัน แต่ต้องไปติดต่อขออนุญาตก่อน
ผมจึงไปยืนรอกระทั่งพบหลวงน้า ซึ่งดูแลเก็บรักษากุญแจ และบอกกล่าวขอเข้าชมบริเวณภายในพระอุโบสถกับท่าน
ท่านตอบสั้น ๆ สีหน้านิ่งเฉยเพียงแค่ “รอเดี๋ยว” จากนั้นก็เดินหายลับขึ้นกุฏิ จัดแจงสั่งกิจธุระต่าง ๆ กับคนงานของวัดร่วม ๆ 15 นาที ทิ้งให้ผมยืนรอคอยด้วยความลุ้นระทึกเร้าใจอยู่ด้านนอก
จากนั้นหลวงน้าก็เดินลงมา และผ่านหน้าผมไปสั่งงานตรวจตราความเรียบร้อยภายในวิหาร โดยปราศจากวี่แววว่าท่านจะอนุญาตหรือปฏิเสธ อีก 15 นาที
ท้ายสุด ท่านก็ให้คนมาตามผม และไขกุญแจประตูพระอุโบสถทางด้านหลัง เปิดไฟเพดาน ยังไม่ทันที่ผมจะได้ไหว้หรือกล่าวขอบคุณ หลวงน้าก็เดินจีวรปลิวหายลับไปอย่างรวดเร็ว ปล่อยให้ผมดูภาพจิตรกรรม ท่ามกลางแสงสลัวภายใน เพียงลำพัง
วันนั้นผมเดินดูภาพต่าง ๆ ในระบบสแกนผ่านเพียงผิวเผินหนึ่งรอบ จากนั้นก็ปักหลักดูภาพของครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ สลับไปมา เป็นเวลาร่วม ๆ 3 ชั่วโมง
จริง ๆ แล้วผมอยู่ดูได้ทั้งวันนะครับ แต่ที่ต้องรีบกลับ เป็นเพราะตกบ่าย มีอาจารย์พานักศึกษากลุ่มใหญ่ มาทัศนศึกษานอกสถานที่ ผมก็เลยเกรงว่า จะทำตัวเกะกะกีดขวาง จึงตัดใจด้วยความอาลัยอาวรณ์ และยังไม่รู้สึกเต็มอิ่ม
แกล้ง ๆ คิดว่า ได้เสียสละอุทิศตน เพื่อการศึกษาของชาติ (ตรงไหนก็ไม่รู้ล่ะ แต่ผมเชื่อไปแล้ว)
ด้วยเหตุนี้ผมเลยต้องย้อนกลับไปที่วัดสุวรรณารามเป็นวาระสาม
คราวนี้ผมนั่งรอหลวงน้า พร้อม ๆ กับตั้งใจเด็ดเดี่ยวว่า จะไม่ยอมลุกไปไหนจนกว่าจะพบท่าน และได้รับอนุญาตให้เข้าชมพระอุโบสถ
ปณิธานอันมุ่งมั่นของผม ล้มเหลวแหลกเละเทะ หลังจากผ่านไปชั่วโมงกว่า ๆ บรรดาน้องหมาในวัด ซึ่งเคยไล่งับผมจนต้องวิ่งหนีทุลักทุเลเมื่อครั้งที่มาหนแรก เกิดยกโขยงผ่านตรงที่ผมกำลังนั่งเจี๋ยมเจี้ยม ชะรอยพวกมันคงจำได้ และเห็นว่า โหงวเฮ้งของผมเหมือนโจร จึงพากันรุมเห่าเตือนด้วยท่าทีดุดัน ลงท้ายก็พุ่งพรวดปรี่เข้ามาทำท่าจะกัด
เจอสัญญาณ “เอาจริง” เช่นนี้ ผมก็ต้องเผ่นแน่บเพื่อสวัสดิภาพ หมดโอกาสได้พิสูจน์ถึงศรัทธาอันแรงกล้ามั่นคงให้โลกได้ประจักษ์
เล่าให้เพื่อนฟัง แทนที่จะได้รับคำปลอบโยน กลับมีแต่เสียงหัวเราะชอบใจ บางคนบอกว่า “อย่างมึงเนี่ยไม่ต้องโดนหมากัดหรอก แค่นี้ก็บ้าไปไกลเกินเยียวยาแล้ว”
อุปสรรครวมถึงความไม่แน่ไม่นอน ในการไปถึงที่หมายแล้ว ก็ยังปราศจากหลักประกันว่า จะได้เข้าชมงานจิตรกรรมหรือไม่ เป็นผงชูรสอย่างหนึ่ง ทำให้การได้ดูแต่ละครั้ง ทวีคุณค่าความหมายมากยิ่งขึ้น (กระนั้นก็ไม่ควรมีน้องหมา มาสร้างความตื่นเต้นเร้าใจหรอกนะครับ)
ที่ผม “นอกเรื่อง” จากภาพเนมีราชชาดกของครูทองอยู่มาค่อนข้างไกล ก็เพื่อจะบอกกล่าวว่า เวลาไปดูจิตรกรรมตามวัดต่าง ๆ นั้น เพื่อความแน่นอนและปลอดภัย ควรรวมกลุ่มผู้ที่รักชอบทางด้านนี้กันหลาย ๆ คน และถ้าเป็นไปได้ ควรโทรศัพท์ขออนุญาตล่วงหน้ากับทางวัดเสียก่อน (เบอร์โทรศัพท์ของวัดสุวรรณารามคือ 02-434-7790 ถึง 1)
ย้อนกลับมาที่ภาพวาดฝีมือครูทองอยู่ ผมเคยกล่าวไปแล้วว่า รูปนี้พิเศษตรงเห็นปุ๊บก็รู้สึกได้ทันทีว่าสวย
ความงามนั้นเกิดจากการจัดองค์ประกอบภาพอันโดดเด่น แปลกตา ต่างจากภาพในยุคสมัยเดียวกัน (หรือยุคอื่น ๆ) เน้นความสมดุลย์เท่าเทียมระหว่างด้านซ้ายขวา รายละเอียดต่าง ๆ เขียนอย่างถี่ถ้วนวิจิตรบรรจง มีระเบียบ ดูโปร่งโล่งสะอาดตา
จิตรกรรมฝาผนังของไทย ส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะในสมัยรัตนโกสินทร์) มักจะเน้นการจัดภาพที่แน่นไปด้วยรายละเอียด ใช้เนื้อที่ทุกตารางนิ้วอย่างคุ้มค่า จนแทบจะปราศจากบริเวณว่าง กระทั่งบ่อยครั้งเมื่อชำเลืองดูเผิน ๆ ก็เกิดอาการตาลาย ดูเท่าเทียมกันหมด แยกแยะลำบากว่า ตรงไหนเป็นจุดเด่นใจ ตรงไหนเป็นส่วนเสริมที่สำคัญรองลงมา
ภาพเนมีราชชาดกของครูทองอยู่ หลุดพ้นจากปัญหาเหล่านี้ ด้วยวิธีแบ่งเป็นสามส่วนคือ ล่าง กลาง บน
บริเวณกึ่งกลาง ซึ่งจับความตอนพระเนมีกำลังแสดงธรรมต่อเหล่าเทวดา คือ ส่วนที่สำคัญสุดในภาพขณะที่ตอนล่าง วาดเรื่องราวช่วงเสด็จเยือนนรกเด่นรองลงมา (น่าเสียดายที่บริเวณนี้ชำรุดเสียหาย จนจับเค้าค่อนข้างลำบาก กระนั้นส่วนที่ยังเหลือ ก็เห็นชัดว่าวาดราชรถได้ประณีตอลังการมาก รวมทั้งม้าคู่เทียมรถ ซึ่งท่านครู น. ณ ปากน้ำ เขียนยกย่องชมเชยเอาไว้ว่ายอดเยี่ยมเหลือเกิน) ตอนบนที่เหล่าเทวดานางฟ้า เหาะมาเข้าเฝ้าพระเนมี เล่าเรื่องแต่น้อย ทว่าก็เป็นส่วนเสริมเติมความเด่นให้แก่บริเวณหลักในภาพได้อย่างลงตัว
สิ่งที่ผมประทับใจแรกสุดเมื่อเห็นภาพนี้ก็คือ การใช้ “ลายฮ่อ” (แถบโค้งเป็นริ้ว ๆ คล้ายริบบิ้น) ทำหน้าที่แบ่งกั้นเรื่องราวแต่ละส่วน
ลายฮ่อเป็นวิธีการเขียนอย่างหนึ่ง ซึ่งหยิบยืมมาจากภาพแบบจีน ทำหน้าที่เทียบเคียงได้กับแถบเส้น “สินเทา” หรือ “เส้นแผลง”(ลักษณะเป็นแถบหยักฟันปลา) ใช้สำหรับแบ่งฉากตอนในเรื่องเดียวให้แยกจากกันเป็นสัดส่วน แต่ก็ไม่ตัดขาดจากกันโดยสิ้นเชิง
ภาพเนมีราชชาดกของครูทองอยู่ เป็นการใช้ “ลายฮ่อ” ได้อ่อนช้อยสวยงามสุด เท่าที่ผม (ในฐานะตาใหม่หัดดู) เคยเห็นมาในจิตรกรรมไทยนะครับ
ถัดมาคือ การใช้สีได้อย่างกลมกลืน ตอนล่างสุดนั้นใช้สีดินแดงเป็นพื้น ขณะที่ตอนบนเป็นสีแดงชาด ส่วนตรงกลาง ภาพบริเวณปราสาทเน้นสีแดงชาด ตัดด้วยพื้นหลังเป็นสีขาบ (น้ำเงินเข้ม) ข้างซ้ายข้างขวาวาดต้นไม้แบบปิดทอง ใช้ทองคำเปลวเป็นแผ่น ๆ ปิดลงไปบนรูป แล้วค่อยเขียนตัดเส้น
ทั้งหมดนี้ผมว่าตามลำดับในการดู คือ เริ่มพิจารณาในแง่ของเนื้อเรื่อง ตามด้วยการจัดองค์ประกอบภาพ ต่อด้วยการใช้สี และทิ้งท้ายที่ลายเส้น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการเขียนภาพของไทย
ครูทองอยู่เขียนลายกระหนกต่าง ๆ ได้ล้ำเลิศมาก (“สมเด็จครู” เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงยกย่องชมเชยเอาไว้มาก) ทั้งละเอียดและประณีต (ใครดูภาพจิตรกรรมไทยบ่อย ๆ หลายที่หลายแห่ง ก็จะแยกแยะออกว่า ภาพไหนวาดเนี้ยบ ภาพไหนเขียนหยาบ)
ดูจากภาพถ่ายอาจจะสังเกตได้ไม่ถนัด แต่ตอนที่ผมยืนจด ๆ จ้อง ๆ มองของจริง บริเวณลายฮ่อนั้น ครูทองอยู่ยังใช้สีขาวประดับตกแต่งลวดลายเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยพู่กันเส้นบางเฉียบเอาไว้อย่างล้ำลึกพิสดาร
อีกจุดหนึ่ง ซึ่งทำให้ภาพเนมีราชชาดกของครูทองอยู่ “เหนือชั้น” กว่าจิตรกรรมไทยโดยรวมก็คือ ฝีมือเขียนใบหน้าตัวพระตัวนาง หรือเทวดานางฟ้า
ตรงนี้ถ้าไม่เก่งจริง เขียนออกมาแล้วจะดูแบน แข็ง เหมือนสวมหน้ากาก แต่ภาพของครูทองอยู่นั้น เหล่าเทวดานางฟ้า เข้าขั้น “หล่อ” และ “สวย” มีชีวิตชีวา โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่วงท่ามือไม้และนิ้วมือที่อ่อนช้อยหวานมาก
การวาดภาพตัวพระตัวนางในจิตรกรรมไทยนั้น เส้นทุกเส้นจะต้องอ่อนโค้งสอดคล้องขานรับกันตลอด จนดูเหมือนเคลื่อนไหวร่ายรำได้ หากเขียนวาดคลาดหลุดไปนิดเดียว ก็จะทำให้ภาพรวมทั้งหมดเละและรวน ไม่สวยได้ง่ายดาย
จากภาพที่เห็น มือไม้สายตาของครูทองอยู่นั้นแม่นยำเข้าขั้นวิเศษ
เหตุการณ์ (พระเนมีแสดงธรรม) ค่อนข้างจะเคร่งขรึมสำรวมอยู่สักหน่อย บรรยากาศจึงออกมาทางโอ่อ่าสง่างาม และสงบนิ่ง แต่ท่านครูก็เพิ่มมิติความมีชีวิตชีวา ไม่ให้ภาพแห้งแล้งขาดแคลนอารมณ์ ด้วยการวาดเทวดานางฟ้า 4 คู่ หยอกล้อโรแมนติคกันอยู่บริเวณต้นไม้ นอกกำแพงแก้ว
ภาพเทวดานางฟ้าเหล่านี้ โดยพฤติกรรมการแสดงออกแล้ว ควรจะขัดแย้งกับองค์รวมของทั้งหมด แต่ฝีมือวาดที่ถ่ายทอดลีลาแบบนาฏศิลป์อย่างประณีต ก็ทำให้เกิดความกลมกลืนได้อย่างน่าอัศจรรย์
อีกจุดหนึ่งที่เยี่ยมมากคือ ภาพนี้จัดองค์ประกอบเอาไว้ค่อนข้างโปร่งตา พื้นที่ว่างจึงมีเยอะพอสมควร เช่น บริเวณตอนบนพื้นแดง ท่านครูแก้ปัญหาไม่ให้โล่งเกินไป ด้วยการเขียนลายดอกไม้ถมพื้น (ซึ่งมีศัพท์ช่างเรียกว่า “ล้วงลาย”) นี่เป็นวิธีที่พบเห็นได้บ่อย ๆ ในจิตรกรรมฝาผนังทั่วไป (จึงต้องวัดฝีมือกันอีกชั้นที่ลายดอกไม้ว่า ใครจะวาดอ่อนช้อย ผูกลายได้ประณีตวิจิตรกว่ากัน)
ยังมีโจทย์ที่แก้ยากกว่านั้น นั่นคือ รอบ ๆ กำแพงแก้วอันขาวโพลน ซึ่งจะวาดลวดลายอะไรลงไปไม่ได้ ครูทองอยู่หาทางออกด้วยการใส่กระถางใบบัว และไม้ดัดแบบจีน ให้กิ่งก้านแผ่เหยียดสู่ที่ว่างของบริเวณกำแพงได้อย่างเหมาะเจาะสวยงาม กลายเป็นอีกจุดเด่นหนึ่งในภาพ
ว่ากันว่า ครูทองอยู่เป็นช่างเขียนที่เคร่งครัดตามขนบโบราณ (โดยพิจารณาจากการเขียนใบไม้ ซึ่งตัดเส้นทีละพุ่มทีละใบอย่างละเอียด) แต่ภาพใบบัว ไม้ดัด ก็สะท้อนให้เห็นว่า ครูทองอยู่ไม่ได้ยึดติดกับอดีตจนสุดขั้ว ถึงขั้นไม่ยอมรับลีลาใหม่ ๆ โดยสิ้นเชิง ตรงกันข้าม ท่านสามารถเลือกนำเอาวิธีการวาดแบบจีน เข้ามาผสมกลับภาพไทยได้อย่างกลมกลืน และไม่สูญเสียบุคลิกดั้งเดิม
อาจโอเวอร์ไปบ้าง แต่ก็ไม่เกินเลยความจริงสักเท่าไร หากจะระบุว่า ภาพเนมีราชชาดกฝีมือครูทองอยู่ เป็นหนึ่งในจิตรกรรมฝาผนังที่สวยสุดของสยามประเทศ
คำยืนยันข้างต้น คงเป็นเอกฉันท์กว่านี้ ถ้าหากว่าตรงห้องที่ครูทองอยู่แสดงฝีมืออันล้ำเลิศไว้ จะไม่ปรากฎผลงานของครูคงแป๊ะอยู่ข้าง ๆ คอยเทียบเคียงให้เกิดคำถามว่า ภาพใดเหนือกว่ากัน?
(เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2552 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ")
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น