วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2553
รายงานตัว ‘ว่าหายหัวไปไหนมา’ โดย "นรา"
ปี 2552 ที่ผ่านมา ผมหายหัวหายตัวไปเกือบทั้งปี ด้วยสารพัดเหตุผล
แรกสุดเป็นเพราะผมตระเวนดูจิตรกรรมฝาผนัง ใช้ชีวิตแบบ ‘หันหน้าเข้าหาวัด’ เป็นชายสามสิบสามโบสถ์ เพลิดเพลินไปหน่อย
ถัดมา เครื่องคอมพิวเตอร์คู่ทุกข์คู่ยากของผม ชื่อคุณ “พิมพ์ดีด” ได้ล้มป่วยลงด้วยโรคชรา ออกอาการรวน ทำท่าไม่ค่อยจะดี และอาการของมันก็หนักหนาสาหัสมากขึ้นตามลำดับ
จนวันหนึ่ง ผมก็ตัดสินใจซื้อเครื่องใหม่เป็นโน้ตบุ๊ค ไว้ใช้ราชการสำรอง
เท่านั้นเอง คุณพิมพ์ดีด มันก็ร้องลั่นว่า “ใช่ซี้”ประชดชีวิต ตัดพ้อ น้อยใจ แล้วก็ดับสนิท ตายจากกันเป็นการถาวร
ทิ้งผมกับคุณ “ปุยนุ่น” (คอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ ซึ่งหนักชิบเป๋งเลย) เผชิญชีวิตกันตามยถากรรม
ปุยนุ่นนั้นยังอ่อนต่อโลก จึงมีปัญหาเชื่อมต่อินเตอร์เน็ตไม่ได้ เวลาจะส่งงานส่งต้นฉบับแต่ละครั้ง ผมจึงมีสภาพเหมือนลงจากดอยแวะเข้าเมือง ไปทำกิจธุระ
นั่นเป็นอีกเงื่อนไขหนึ่ง ซึ่งทำให้ผมฉกฉวยมาใช้เป็นข้ออ้างบังหน้าแทนคำว่า ‘ขี้เกียจ’ จนกระทั่งไม่สามารถอัพเดตบล็อกได้ถี่บ่อย
หรือพูดให้ตรงกว่านั้น คือ ปล่อยบล็อกทิ้งไว้ฝุ่นจับเหมือนบ้านร้าง
อย่างไรก็ตาม เหตุผลใหญ่สุดคือ ชีวิตผมเกิดเหตุยุ่งเหยิงอีรุงตุงนุง จนหลายครั้งตกอยู่ในสภาพ ‘โงหัวไม่ขึ้น’
มีทั้งเรื่องรับนิมนต์ออกไปพบผู้คนและงานอื่น ๆ นอกเหนือจากราชการประจำ, การย้ายออฟฟิศใหม่ จากเดิมที่เคยปักหลักเขียนหนังสืออยู่บ้าน ผมเปลี่ยนมาเป็นเขียนหนังสือในห้องสมุด
รวมทั้งเหตุการณ์ ‘งานเข้า’ ใหญ่ ๆ 2 จ๊อบ
งานแรกคือ การทำหนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ อาว์ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ร่วมกับบินหลา สันกาลาคีรี, วรพจน์ พันธุ์พงศ์ และธวัชชัย พัฒนาภรณ์
งานถัดมาคือ เย็นวันหนึ่ง คุณวรพจน์แกคุยกับผมในร้านกาแฟ ตรงหน้าวัดธาตุทอง
ตามประสาคนขรึม ไม่ช่างพูดช่างเจรจา เขากับผมคุยกันตั้งแต่ราว ๆ ห้าโมงเย็นจนถึงสามทุ่มครึ่ง
คุยกันจนร้านกาแฟปิด พนักงานเก็บของ ปิดร้าน ดับไฟ กลับบ้านไปแล้ว ผมสองคนก็ยังคุยกันต่อตรงที่เดิม ท่ามกลางความมืดตึ้ดตื๋ออีกนาน
หัวข้อประเด็นนั้นมีสารพัด ตั้งแต่แง่มุมหยุมหยิมปลีกย่อยอย่างสภาพดินฟ้าอากาศ ไปจนถึงเรื่องการใช้ชีวิต
ท่ามกลางประเด็นอันหลากหลาย เรื่องหลักประจำเย็นวันนั้นก็คือ เรื่องของอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์
มันเริ่มตรงที่ผมเกริ่นไม่จริงจังนักว่า อยากเขียนบทความเกี่ยวกับอาจารย์เฟื้อ
อาจารย์เฟื้อเป็นไอดอล เป็นฮีโร่ของผมนะครับ ยิ่งเมื่อมาหลงใหลดูจิตรกรรมฝาผนังด้วยแล้ว ผมก็ยิ่งเกิดศรัทธาชื่นชมในชีวิตและงานของบรมครูท่านนี้เพิ่มพูนกว่าเดิม
ผลก็คือ วรพจน์ค่อย ๆ ตะล่อมโน้มน้าวเกลี้ยกล่อมผมอย่างแนบเนียน
มารู้ตัวอีกที วันรุ่งขึ้น ผมก็เริ่มลงมือเขียนถึงอาจารย์เฟื้อ
จากแผนเดิมที่กำหนดไว้ว่า จะขึ้นโครงด้วยวัดระฆังเป็นหลัก แล้วสอดแทรกเกร็ดชีวิตอาจารย์เฟื้อลงไปในเรื่องราวเหล่านั้น
กลับกลายเป็นว่า ผมเขียนถึงอาจารย์เฟื้อเป็นหลัก โดยมีเรื่องราวเกี่ยวกับวัดระฆังเป็นส่วนเสริมบทแทรก
บานปลายนะครับ จากเดิมที่คิดว่าจะเขียนเรื่องอาจารย์เฟื้อประมาณ 2-3 ตอนจบ เป้าหมายค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นซีรีส์ยาวเหยียดราว ๆ 20 ตอนจบ
ล่าสุดผ่าน 20 ตอนไปเรียบร้อยแล้ว และต้องขยายขอบเขตเป็น 30 ตอน (โดยหวังว่าจะจบ)
งานเขียนเกี่ยวกับอาจารย์เฟื้อ กลายเป็นอีกปัจจัยหลัก ทำให้ผม ‘โงหัวไม่ขึ้น’ อย่างแท้จริง
เริ่มต้นผมคิดว่าไม่น่าจะยาก แค่ตะลุยเข้าห้องสมุดค้นข้อมูล นั่งอ่าน แล้วลงมือเรียบเรียงเขียนขึ้นใหม่
ผมมาเจอปัญหา หลังจากลงมือเขียนบทแรก ๆ ไปแล้ว
ปัญหาแรกคือ ข้อมูลนั้นมีอยู่ และพบเจอเป็นจำนวนพอสมควร แต่ที่คุณภาพเข้าขั้นใช้อ้างอิงได้ มีไม่เยอะนัก (ส่วนใหญ่จะให้ข้อมูลและเรื่องราวซ้ำ ๆ กัน)
ปัญหาต่อมา บุคคลที่เกี่ยวข้องกับอาจารย์เฟื้อ ส่วนหนึ่งล่วงลับดับจากไปแล้ว หลายท่านที่ยังอยู่ก็มีอายุอานามสูงวัย
การไปขอพบพูดคุยสัมภาษณ์ เพื่อสืบเสาะข้อมูลนั้นอยู่ในวิสัยที่ทำได้
แต่หมายความว่า ผมต้องมีเวลาปลอดโปร่งโล่ง ๆ อีกหลายเดือน สำหรับเตรียมความพร้อม
ข้อยุ่งยากก็คือ ผมเริ่มต้นเขียนไปแล้ว จากนั้นข้อมูลต่าง ๆ จึงค่อยทยอยตามมาทีหลัง
เหมือนละครโทรทัศน์ที่ถ่ายทำไป ออกอากาศไปนะครับ
สถานการณ์จึงเป็นไปในรูปของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า (บางวาระก็ค่อนข้างฉุกละหุกจวนเจียน) แบบสัปดาห์ต่อสัปดาห์
การสัมภาษณ์เพิ่มเติม จึงไม่สามารถที่จะทำได้ เนื่องจากเวลาเป็นเงื่อนไขเร่งรัด
พ้นจากนี้แล้ว ผมยังสร้างความยุ่งยากให้แก่ตนเอง ด้วยการกำหนดให้บทความแต่ละชิ้น มีลักษณะจบในตอน ผู้อ่านสามารถเริ่มอ่านตรงไหนก็ได้ ไม่ต้องไล่เรียงหรือติดตามตั้งแต่ต้น ก็อ่านรู้เรื่อง
ขณะเดียวกัน เนื้อหาของแต่ละบทแต่ละตอน จำเป็นต้องเกาะเกี่ยวเชื่อมโยงกัน
เท่านั้นยังไม่พอ ผมเขียนงานชุดนี้ โดยรู้จุดอ่อนข้อจำกัดว่า ข้อมูลส่วนใหญ่ที่ใช้ เป็นข้อมูลชั้นสองชั้นสาม คือ บอกเล่ากันมาหลายทอด และขาดแคลนข้อมูลชั้นต้น
การบ้านใหญ่ก็คือ จะทำอย่างไรให้ข้อเขียนเกิดความแตกต่างจากส่วนใหญ่ที่เคยมีมา และน่าสนใจ
ทางแก้ได้แก่ การเดินทางในลักษณะ ‘ตามรอยอาจารย์เฟื้อ’ ไปยังโบราณสถานหลายแห่ง ซึ่งอาจารย์เคยออกสำรวจ และทำงานสำคัญ ทั้งการคัดลอกภาพและอนุรักษ์
นั่นส่งผลโยงใย ทำให้ผมต้องออกเดินทางไปหลายจังหวัด (จริง ๆ แล้วก็อยากตามรอยอาจารย์เฟื้อไปอินเดียและอิตาลีด้วยเหมือนกัน แต่ไม่มีปัญญาและขาดทุนทรัพย์)
ผมก็เลยใช้ชีวิตแบบชีพจรลงเท้า เดินทางถี่บ่อยเฉลี่ยประมาณ 10 วันต่อ 1 ทริป
นึกทบทวนย้อนหลังดูแล้ว ผมก็ต้องรำพึงรำพันว่า เดชะบุญ คุณพระช่วย ที่เอาตัวรอดมาได้ยังไงก็ไม่รู้ สำหรับการเขียนต้นฉบับส่งตามที่ต่าง ๆ ได้เกือบครบถ้วนไม่ตกหล่น (ยกเว้นการอัพเดตบล็อก และหายหน้าจากนิตยสารสีสันไปหลายเดือนต่อเนื่องกัน)
นอกจากเดินทางภายในประเทศแล้ว จู่ ๆ ผมก็เจอส้มหล่นตกใส่หัวลงมาทั้งเข่ง ได้เที่ยวเมืองนอกฟรี ๆ
อาจฟังดูน่าหมั่นไส้และเหมือนอวดโม้สักหน่อยนะครับ ผมไปเที่ยวสวิตเซอร์แลนด์มา
แต่ก็พูดได้อีกเหมือนกันว่า เป็นการเที่ยวแบบเข้าข่ายทุกขลาภ และต้องจ่ายราคาชดใช้อยู่พอสมควร คือ เต็มไปด้วยความวิตกกังวลก่อนออกเดินทาง, หืดจับกับการเตรียมงานเขียนล่วงหน้าให้ทันเวลา รวมถึงเบียดเบียนรายได้อันจำกัด สำหรับค่าใช้จ่ายงอกเงยในการไปเที่ยว (โดยเฉพาะอุปกรณ์กันหนาวสารพัดชนิด)
พูดง่าย ๆ ผมได้ไปเที่ยว ในช่วงเวลาที่นอกจากจะจำเป็นต้องปักหลักสะสางงานคั่งค้างจำนวนมาก และก็เคลียร์ได้แค่บางส่วน ไม่ลุล่วงทั้งหมดแล้ว รายจ่ายยุบยับทั้งการซื้อ ‘ปุยนุ่น’ คอมพิวเตอร์ใหม่, ค่าซีร็อกซ์ถ่ายเอกสารข้อมูลสำหรับเมกะโปรเจคท์อีก 5 ปีข้างหน้า, ค่าครองชีพที่สูงขึ้น, ภาระจับจ่ายใช้สอยภายในครอบครัว ฯลฯ ก็ทำให้ผมไปเที่ยวแบบสวนทางกับสภาพเศรษฐกิจ
ได้ไปเที่ยวประเทศแพง ๆ ตอนที่ยากจนสุดขีด นับได้ว่าเป็นความทุกข์แอบแฝงที่มาพร้อม ๆ กับบุญหล่นทับเหมือนกันนะขอรับ
กลับมาแล้ว ผมก็เจองานคั่งค้างเป็นกองพะเนิน ซึ่งยิ่งยากลำบากกว่าเดิม เพราะอารมณ์ความรู้สึก ยังตื่นเต้นฝังใจกับประสบการณ์ใหม่ที่เพิ่งเจอะเจอมาสด ๆ หนาว ๆ
นี่ยังไม่นับรวม ‘งานเข้า’ เพิ่มอีกหนึ่งโปรเจกต์ คือ การลงมือเขียนถึงเรื่องที่ไปเที่ยวเมืองนอกมา
อย่างหลังนี่เกิดขึ้นเพราะความแค้น และต้องการขจัดปมด้อย
ตลอดการเที่ยวสวิส ผมเหมือนแค่ได้ไปเห็นเท่านั้น แต่ไม่รู้อะไรเลย
ไม่รู้กระทั่งว่า ตรงบริเวณที่ไปยืนถ่ายรูปเป็นวรรคเป็นเวรนั้น บางแห่งคือที่ไหน? สำคัญอย่างไร? มีความเป็นมาอย่างไรบ้าง?
สำหรับลูกอีช่างสงสัยอย่างผม การไปดูไปเยือนแบบไม่รู้อะไรเลย เป็นเรื่องค้างคาใจและ ‘เสียเที่ยว’มาก
ผมก็เลยตั้งใจว่า จะเขียนหนังสือสักเล่มเกี่ยวกับสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อแก้โง่ให้กับตัวเอง
เป็นโครงการระยะยาวนะครับ ต้องใช้เวลาทำการบ้านเพิ่มเติม ไล่เรียงลำดับความคิด และลงมือเขียนอีกนาน
จะออกมาดีหรือไม่ดี ผมเองก็ไม่รู้ แต่มั่นใจว่า จะเป็นหนังสือเล่มหนาหลายร้อยหน้า ทั้ง ๆ ที่ไปเที่ยวมาแค่ 4 คืน 5 วัน (ไม่นับตอนนั่งเครื่องบินไป-กลับ)
เรื่องเที่ยวมาหนึ่ง แล้วเล่าได้ถึงสิบ โปรดเชื่อเถิดครับว่า ผมเก่งและถนัดจังเลย
กระนั้นก็อย่าเพิ่งเชื่อผมเป็นอันขาดเชียว ว่าจะมีปัญญาเขียนได้สำเร็จจนจบ เรื่องเงื้อง่าตั้งท่าว่าจะทำอะไรต่อมิอะไร ลงท้ายแล้วได้แต่ตั้งท่าวางเฉย ปราศจากรูปธรรมใด ๆ เกิดขึ้น นับเป็นทักษะอีกด้านหนึ่ง ซึ่งผมสันทัดจัดเจนเช่นกัน
พ้นจากคำบอกเล่ารวบรัดว่า ผมหายหัวไปทำอะไรมาแล้ว สิ่งที่อยากบอกกล่าวก็คือ ผมจะทำอะไรต่อไป
ผมไม่ใช่คนจำพวกที่เชื่อในเรื่องโชคชะตาโหราศาสตร์นะครับ ทว่าช่วงเริ่มต้นปีใหม่ของแต่ละปี ผมจะมีความรู้สึกลางสังหรณ์ พอคาดคะเนได้คร่าว ๆ ว่า ปีนี้สถานการณ์ชีวิตส่วนตัวโดยรวมจะเป็นไปในทิศทางใด (เหตุผลง่าย ๆ ก็คือ ความสืบเนื่องเกี่ยวโยงกับสิ่งที่ทำมาในปีก่อน)
ผมทำนายทายทักตัวเองว่า ปี 2553 จะเป็นปี ‘ทำงานหนัก’ สำหรับผม
ส่วนหนึ่งคือ ผมน่าจะมีงานรวมเล่มออกมามากกว่าปีอื่น ๆ นี่คือความต่อเนื่องจากสิ่งที่ลงพุงลงแรงทำมาตั้งแต่ปีกลาย
อีกส่วนหนึ่ง ผมกำลังวางแผนเปลี่ยนวิธีทำงาน
กล่าวคือ เท่าที่ผ่านมา งานส่วนใหญ่ของผม เป็นการเขียนคอลัมน์ ถึงกำหนดต้องส่ง จึงลงมือเขียน
ถัดจากนี้ไป ผมจะพยายามปรับเปลี่ยนวิธีมาเป็น การลงมือทำงาน โดยกำหนดวางเค้าโครงล่วงหน้า แล้วเขียนให้เสร็จสมบูรณ์ก่อน จึงค่อยส่งลงตีพิมพ์ทีหลัง
วิธีนี้ ผมเชื่อว่า จะช่วยให้ทำงานได้ต่อเนื่อง มีคุณภาพดียิ่งขึ้น (และขี้เกียจน้อยลง)
คำสัญญาอีกข้อก็คือ ผมจะมีเรื่องเล่าสู่กันฟังในบล็อก เป็นประจำสม่ำเสมอกว่าเดิม อย่างน้อยก็อาทิตย์ละหนึ่งครั้ง
ข้อแตกต่างนั้นมีอยู่ว่า ที่ผ่าน ๆ มา ผมพึ่งพาอาศัยการนำงานเก่าตามที่ต่าง ๆ มาเผยแพร่ใหม่
ต่อแต่นี้ไป เนื้อหาหลัก ๆ ในบล็อกจะเป็นการเขียนแนะนำหนังสือที่ผมได้อ่านมาแล้วถูกใจนะครับ และบางครั้งอาจแทรกด้วยเรื่องโม้ ๆ ส่วนตัวบ้างเป็นการสลับฉาก
การป่าวประกาศ ณ ที่นี้ เป็นวิธีที่ผมใช้ ‘วางยา’ สร้างกับดักให้ตัวเอง เพื่อจะทำให้ปรากฏเป็นจริงได้ตามที่สัญญาไว้
เพราะถ้าหากประกาศแล้วทำไม่ได้ ผมจะเป็นฝ่าย ‘เสียสุนัข’ ไปโดยพลัน
ผมมีนิสัยด็อก ๆ บ๊อก ๆ ทำนองนี้ เป็นสันดานประจำตัวอยู่หลายข้อ ซึ่งยังพึงพอใจหวงแหนอยู่ และไม่อยากสูญเสียมันไป จำเป็นต้องถนอมรักษาไว้นาน ๆ
สวัสดีปีใหม่ย้อนหลัง ตอนปลายเดือนมกราคมครับ ขอให้ญาติโยมมีความหวังเยอะ ๆ มีกำลังใจท่วมท้น และมีพลังในการทำงานอย่างเบิกบานโดยทั่วกัน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
7 ความคิดเห็น:
หวัดดีปีใหม่ครับพี่
เข้ามารับพรย่อหน้าสุดท้าย
อีกไม่นานคงได้ไปรายงานตัวกับพี่ "ว่าหายหัวไปไหนมา" เหมือนกัน
หวังว่าพี่จ้อยคงสบายดี
เห็นแต่ละโปรเจคต์ของพี่แล้วละอายใจ
ผมมีอยู่อันเดียวปล้ำมา 4 ปี ไม่เสร็จซะที
เฮ้อ... :)
คุณนรากลับมาแล้วววว จะติดตามต่อไปเช่นเคยค่ะ
ไม่มีอะไรบอกนอกจาก ดีใจที่ได้อ่านงานพี่ครับ
มาอัพblogบ้างนะครับพี่
สวัสดีปีใหม่ครับ ยังติดตาม blog อยู่สม่ำเสมอครับ ^^
Animal People เยี่ยมมากเลยครับ รอหนังสือที่พี่จะแนะนำเล่มต่อๆไปด้วยครับ :D
สวัสดีครับพี่ ผมกิ๊ฟซี่เองครับ
สิ้นเดือนนี้ผมกลับบ้านครับพี่
กะว่าจะไปหาที่เงียบคุยกับตัวเอง
สักสามเดือนครับเลยมาแจ้งข่าวครับ
ดูแลสุขภาพด้วยนะครับพี่
สวัสดีครับพี่นรา...กราบขอบพระคุณพี่ที่เมตตาเมื่อต้นปีเมืองเชียงใหม่ในงานเลี้ยงส่ง รงค์ วงษ์สวรรค์ และทำให้การเดินทางบรรลุวัตถุประสงค์ (หากแต่ยังไม่สมบูรณ์ในเงื่อนไขของส่วนตัวบางสิ่งมีค่าสำหรับเราแต่คนอื่นกลับไม่เห็นค่าอย่างที่เราเห็น..เสียดาย) ครับผมพบเว็บไซด์โดยบังเอิญและใช้เวลาเรียนรู้พอสมควรกว่าจะมาถึงบรรทัดนี้ ขออนุญาตตามพี่เข้าวัดด้วยคนนะครับ
ได้อ่านบทความนี้ เมื่ออากาศเริ่มเย็นอีกครั้ง
ขอสมัครเป็นแฟนบล็อกเลยละกัน
อ่านสนุกเพลิดเพลินดีทีเดียว
ดูแล้ว คนเขียนไว้ลายแต่ไม่ไว้ตัว
แสดงความคิดเห็น