วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

กลับมาแล้ว (จริง ๆ?) โดย 'นรา'


ผมไม่เคยผิดนัดกับผู้อ่านเนิ่นนานกระจุยกระจายและเสียสุนัขถึงเพียงนี้มาก่อนเลยนะครับ

หลังจากสัญญาตกปากรับคำไว้หนักแน่นมั่นเหมาะ ผมก็ล่องหนหายเข้ากลีบเมฆไปหลายกลีบ แทบว่าจะหาทางกลับไม่เจอ

แจกแจงสาเหตุความนัยทั้งหมดได้สั้น ๆ แค่ว่า ผม ‘หลงทาง’

คือ เพลิดเพลินเลยเถิดไปกับการเดินสายเที่ยววัดดูโบราณสถานแบบติดพันและบานปลาย


เดิมทีผมสนใจแบบมีกรอบกำหนดแน่ชัดว่า จะเลือกดูเฉพาะจิตรกรรมฝาผนัง

แต่ต่อมาไม่นาน ผมพบว่า เพื่อจะให้เข้าถึงซาบซึ้งจริง ๆ ผมควรจะขยายขอบเขตความสนใจไปสู่ศิลปะไทยแขนงอื่น ๆ ด้วย

เริ่มทดลองตระเวนดูลวดลายปูนปั้น, พระพุทธรูป, โครงสร้างของโบสถ์วิหาร, เจดีย์, สีมา, หน้าบัน, พระปรางค์, ธรรมาสน์เทศน์ ฯลฯ

ระยะแรกผมคิดว่า เหล่านี้คงเป็นแค่ส่วนเสริมเล็ก ๆ น้อย ๆ ทว่ารู้ตัวอีกที เหมือนลงทะเบียนเรียนเพิ่มอีกหลายวิชาไปเรียบร้อยแล้ว

กล่าวคือ พอดูไปได้สักพัก ก็เกิดอาการหมกมุ่นหลงใหล เข้าขั้นติดงอมแงม

ชีวิตยุ่งเหยิงอยู่แล้วของผมจึงปั่นป่วนทวีคูณ ด้วยความสนใจที่เพิ่มขึ้น แต่มีเวลาเท่าเดิม มิหนำซ้ำยังมีจำนวนงานที่ต้องทำมากขึ้นอีกเล็กน้อย แถมท้ายด้วยภาระต้องขัดเกลาต้นฉบับสำหรับเตรียมรวมเล่มอีก 2 โครงการ


นี่ยังไม่นับกิจธุระทั้งเรื่องปลีกย่อยและเรื่องสำคัญเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวในบางขณะ ซึ่งดึงเอาเวลาไปเยอะพอสมควร


อย่าว่าแต่ความฝันอยากจะเขียนเรื่องสั้นหรือนิยาย ที่ต้องมีอันชะงักหยุดนิ่งไม่คืบหน้าไปไหนเลยนะครับ ลำพังแค่คอลัมน์ประจำที่รับผิดชอบอยู่ ผมก็ผ่านมาได้อย่างหวุดหวิดจวนเจียนเต็มที ในสภาพร่อแร่รุ่งริ่ง


พูดได้อีกแบบเหมือนกันว่า ครึ่งปีมานี้ ผมทำตัวขยันสุดเมื่อเทียบกับตลอดชีวิตที่ผ่านมา


แปลกและเหลือเชื่อตรงที่ ยิ่งขยันเท่าไร กลับยิ่งไม่อาจปลีกตัวมาทำตามสัญญา จนบางทีก็รู้สึกว่า เหมือนเวลาในชีวิตขาดหายไปดื้อ ๆ วันละห้า-หกชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ


ผมตื่นช่วงระหว่าง หกโมงถึงเจ็ดโมงเช้า ทุกวัน


ล้างหน้าแปรงฟันเสร็จสรรพ ก็ต้มน้ำชงกาแฟ และเริ่มลงมือเขียนหนังสือ


วันจันทร์ พุธ ศุกร์ ผมใช้เวลาเขียนไม่นาน เต็มที่มากสุดก็แค่ 2 ชั่วโมง จากนั้นก็รีบออกจากบ้าน เดินทางเข้าออฟฟิศ

ออฟฟิศของผมมีอยู่ 3 แห่ง คือ หอสมุดกลาง จุฬา, ธรรมศาสตร์ และศิลปากร

จะเข้าออฟฟิศไหน ขึ้นอยู่กับความจำเป็นเร่งด่วนในการค้นข้อมูลขณะนั้น แต่ละแห่งมีจุดเด่นส่วนดีแตกต่างกันอยู่

ผมประจำการอยู่ที่ออฟฟิศ จนกระทั่งใกล้เวลาปิด เฉลี่ยแล้วก็ราว ๆ ทุ่มครึ่งถึงสองทุ่ม ถึงบ้านก็หมดแรง ล้มพับ หลับสนิท กรนสนั่น ฝันสนุก

ระหว่างอยู่ออฟฟิศ ผมไม่ได้เขียนหนังสือเลยสักตัว แต่ใช้เวลาให้หมดไปกับการถ่ายเอกสาร และสำรวจรื้อค้นหนังสือต่าง ๆ เป็นงานหลัก

อานิสงส์ผลบุญจากการเข้าห้องสมุด ส่งผลให้ผมเลิกเชื่อมั่นศรัทธาในการหาข้อมูลจากเว็บไซต์โดยเด็ดขาด

นี้หมายถึงเฉพาะข้อมูลในพากย์ภาษาไทยนะครับ ส่วนข้อมูลภาษาอังกฤษเป็นอีกกรณี แต่งานของผมในระยะหลังเกี่ยวโยงกับข้อมูลไทยล้วน ๆ

ข้อมูลในเว็บกับหนังสือเป็นเล่ม ๆ มีความละเอียดถี่ถ้วน (และถูกต้องแม่นยำ) แตกต่างกันเป็นคนละโลกเลยทีเดียว

รายได้ทั้งหมดของผม หกสิบเปอร์เซ็นต์หมดไปกับค่าถ่ายเอกสาร บ่อยครั้งที่คำนวณแบบหักลบกำไรขาดทุนแล้ว

งานหลายชิ้น มีต้นทุนสูงกว่าค่าเรื่องที่ได้รับ แบบเทียบกันไม่ได้

แต่ผมคิดเสมอว่า ได้กำไร คือ ได้ทั้งงานที่พึงพอใจ, ได้เรียนรู้เพิ่มเติม และได้หนังสือดี ๆ เป็นโบนัสแถมพก

ส่วนวันอังคาร พฤหัสบดี และเสาร์ เป็นเวลาทำงานเขียนแบบเต็ม ๆ

เต็ม ๆ ในที่นี้ หมายถึงเขียนตั้งแต่เริ่มตื่นนอน ไปสิ้นสุดยุติประมาณเที่ยง

เคยพยายามฝืนทำให้นานกว่านี้ แต่หมดสภาพ มึนตึ้บ ปวดหัว คิดอะไรไม่ออก และอ่อนล้าสุดขีด

ร่างกายอนุญาตให้เขียนได้ไม่เกินวันละหกชั่วโมงเท่านั้นนะครับ

หลังเที่ยงเป็นต้นไป คือ ช่วงขัดเกลาแก้ไขต้นฉบับ

ผมไม่ได้แก้งานโดยนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ แต่ใช้วิธีเดินเล่นหรือนอนเล่น นึกทบทวนถึงข้อเขียนที่เพิ่งเสร็จ ค้นหาจุดอ่อนรอยโหว่ และพยายามขัดเกลาขั้นแรกในความคิด ก่อนจะลงมือจริงในเช้าวันต่อไป (ส่วนใหญ่มักจะเป็นช่วง 1 ชั่วโมง ก่อนไปห้องสมุด)

แดดร่มลมตกในแต่ละวัน เป็นเวลาสำหรับการอ่าน

พูดได้ว่า ปีนี้ชีวิตการเป็นนักอ่านของผม เละแหลกละเอียดยิ่งกว่าที่ผ่าน ๆ มา

ผมอ่านงานจำพวกวรรณกรรมได้น้อยมาก สมองมันไม่ค่อยรับ ที่อ่านได้หนักเอียงไปทางเรื่องประวัติศาสตร์และโบราณคดีเสียมากกว่า

แต่เรื่องที่ผมสนใจ ล้วนมีเนื้อหาจริงจัง อ่านยาก ความคืบหน้าในการอ่านจึงขยับเคลื่อนค่อนข้างล่าช้า

สวนทางกลับจำนวนหนังสือที่ต้องอ่าน ซึ่งงอกเงยทวีเพิ่มอย่างรวดเร็วและมากมาย

ถึงตอนนี้ ตัวเลขจำนวนหนังสือที่ต้องอ่าน น่าตกใจและน่าหนักใจนะครับ ประมาณหนึ่งพันเล่ม

และพร้อมจะพุ่งพรวดพราดเป็นพันห้าร้อยเล่ม ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ผมอ่านจบจริง ๆ เพียงแค่ 20-30 เล่มเท่านั้นเอง ใกล้เคียงกับเป้าหมายเหลือเกิน

ระยะหกเดือนที่ผ่านมาของผม อยู่ในร่องรอยตารางการใช้ชีวิตทำนองนี้ มีเว้นบ้างบางขณะที่เดินทางไปเปิดหูเปิดตา ดูรูปเขียนตามวัด ส่วนใหญ่เป็นต่างจังหวัด

จนถึงขณะนี้ รูปแบบการใช้ชีวิตและทำงานของผมยังคงขรุขระไม่ลงตัว ต้องค่อย ๆ คลายปมยุ่งเหยิง สะสางปัญหาเฉพาะหน้าอยู่ไม่หยุดหย่อน

ปัญหาสำคัญก็คือ นิสัยจอมโปรเจกต์ พร้อมที่จะผุดงอกโครงการอะไรต่อมิอะไรอยู่ตลอด และลงมือปฏิบัติจริงได้ไม่ทัน ถูกความคิดตะกละทิ้งห่างไกลออกไปทุกที

การงานที่คั่งค้าง ทั้งโครงการระยะสั้นระยะยาว ทั้งงานที่เขียนค้าง งานที่เขียนเสร็จแล้ว (ทว่ายังไม่ได้ชำระสังคายนาให้เป็นที่พึงพอใจ) และงานที่กำหนดวางเค้าโครงเสร็จ แต่ยังไม่ได้ลงมือทำ

หยิบทั้งหมดออกมาวางกองรวมกัน อาจเทียบได้กับห้องหับที่มีข้าวของสัมภาระรกรุงรังเลยทีเดียว

พูดอีกแบบ หากเปรียบงานเหล่านี้เป็นหนี้สิ้น สภาพของผมก็ร่ำ ๆ ว่าใกล้จะโดนฟ้องล้มละลาย

แค่เล่าสู่กันฟังคล้าย ๆ จะบ่นนะครับ แต่แท้จริงแล้ว ผมยืนยันได้ว่า เหตุการณ์โกลาหลที่เกิดขึ้น เป็นช่วงหนึ่งในชีวิตที่ผมมีความสุข

เวลามันมักจะสั้นและผ่านไปเร็วเสมอ

สำหรับผมแล้ว เร็วชิบเป๋งเลย เหมือนแค่กระพริบตา หกเดือนก็ผ่านพ้นไป

ผมกลับมาแล้วนะครับ ครั้งนี้กลับมาจริง ๆ กลับมาแบบไม่กล้าสัญญิงสัญญาอะไรกันอีก

สัญญาไว้แต่ทำไม่ได้จริงครั้งที่แล้ว สอนให้ผมรู้ว่า อย่าเที่ยวได้พร่ำพูดคุยโม้แทนการทำงาน แต่ควรให้งานนั้นอธิบายทุก ๆ อย่างแทนตัวเรา

จบแบบมีคติธรรมด้วยแฮะ!

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผมเองก็อยากมีเวลาอ่านแบบพี่บ้างจริง
แต่ติดส่วนของงานประจำ
ทั้งๆหนังสือกองดอง จากงานสัปดาห์หนังสือฯ
ร่วมหลายๆปี ก็หมักบ่มจนได้ที
คิดเสียไว้อย่างเดียว คือ อ่านตอนแก่
ทั้งๆที่ วัยอานามก็ยังอ่อน
กลับคิดเกินตัวเสียแล้ว

จาก chanpanakrit

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ดีใจที่จะได้อ่านงานดี ๆ อย่างสม่ำเสมอ (อีกครั้ง)
วงจรการดำเนินชีวิตของพี่ แม้จะดูเป็นกิจวัตร
แต่ก็เป็นแบบอย่างที่น่าเลียนแบบ
....
และสัมผัสได้อย่างนึงก็คือ
งานเขียนที่ได้อ่านอยู่เบื้องหน้า
ผ่านการเคี่ยวกรำอย่างหนัก
(เปรียบไปก็เหมือนน้ำซุปอร่อยก็ต้องใช้เวลา)

เป็นกำลังใจให้นะคะ อยากบอกว่า
ได้เรียนรู้อะไรดี ๆ ระหว่างบรรทัดด้วยหล่ะ :)