วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เราพบกันเพราะหนังสือ โดย 'นรา'


อยู่ดีไม่ว่าดี จู่ ๆ ผมก็นึกอุตริ สร้างความยุ่งยากให้แก่ตนเอง ตามประสาคนกินอิ่มแล้วไม่มีอะไรทำ

ผมยื่นโจทย์ตั้งเงื่อนไขว่า จะเขียนแนะนำหนังสือเรื่อง ‘เราพบกันเพราะหนังสือ’ ของบินหลา สันกาลาคีรี

โดยมีข้อแม้ว่า ห้ามเด็ดขาดไม่ให้พูดถึงเนื้อหาภายในว่าเกี่ยวกับอะไร

ไม่ได้พยายามจะพิสูจน์อะไรหรอกนะครับ แค่ยืนยันว่าผมเป็นพวกสติไม่เรียบร้อยเท่านั้นเอง

ระหว่างผมกับบินหลา เราพบกันเพราะหนังสือ- - ที่เขาเป็นคนเขียน ส่วนผมเป็นคนอ่าน เป็นเช่นนี้อยู่นานร่วม ๆ สิบปี

จนเมื่อปีกลายนี้เอง ผมกับเขาก็ได้เจอหน้าค่าตา คุยกัน รู้จักกัน มีโอกาสทำงานชิ้นหนึ่งด้วยกัน และกลายมาเป็นเพื่อนกัน

เขากับผมมีรสนิยมอย่างหนึ่งตรงกัน คือ เราต่างล้วนเป็นเด็กแนว...โบราณทั้งคู่

บินหลาแม่นยำในวรรณคดี หลงใหลประวัติศาสตร์ จดจำเนื้อความในพงศาวดารได้ขึ้นใจชนิดเล่าเนื้อความเหตุการณ์ปากเปล่าได้สบาย ๆ (แต่เรื่องอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน เขาขี้ลืมสุดขีด จนผมคิดว่า สามารถนำมาเขียนเป็นนิยายหนา ๆ ได้หนึ่งเรื่อง) ล่าสุดเขาพัฒนาฝีมือและแรงงานถึงขั้น ศึกษาการอ่านศิลาจารึกด้วยตนเอง

ส่วนผมเพิ่งมาบ้าดูจิตรกรรมฝาผนังได้ปีกว่า ๆ และพลอยทำให้ต้องเริ่มต้นอ่านตำรับตำราและเอกสารย้อนยุค จนท้ายที่สุด ผมก็แทบว่าจะคลานตามกันมาทางด้านการอ่านแนวทางเดียวกับเขาในระยะห่าง ๆ

บินหลาแนะนำให้ผมรู้จักกับหนังสือชุดสำคัญคือ ประชุมพงศาวดาร (มีทั้งหมด 50 เล่ม) ซึ่งเป็นคลังความรู้ขนาดใหญ่มหาศาล และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับการทำงานของผม รวมทั้งยินดีแปลงร่างเป็นพี่ศิราณี ให้ผมแบกปัญหาไปปรึกษาถามไถ่อยู่เนือง ๆ ว่า หนังสือเล่มนี้ดีไหม แล้วเล่มนั้นเป็นยังไงบ้าง

วันดีคืนดีบินหลาก็มีของกำนัล เป็นหนังสือเล่มกะทัดรัด เช่น อักขราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเล และสัพะ พะจะนะ พาสา ไท ของชอง-บาตีสต์ ปาเลอกัว (รวมกันแล้วน้ำหนักน่าจะตกประมาณ 3 กิโลกรัม) มอบให้ผมแบกกลับบ้านไปอ่านเล่น

นาทีนั้น ผมแทบอยากจะลงมือเขียนหนังสือชื่อ ‘หลังแอ่น’ ออกมาวางคู่ขนาบกับ ‘หลังอาน’ ของเขา

ครึ่งปีมานี้ บินหลาชวนผมเดินทางอยู่บ่อยครั้ง เขาเป็นคนขับ ผมเป็นผู้โดยสาร

เขาเป็นยอดนักขับรถสมกับชื่อหนังสือเล่มหนึ่งที่เขียนคือ ‘บินทีละหลา’ ระยะทางที่ใครและใครใช้เวลา 5 ชั่วโมง บินหลาทำเวลาราว ๆ 7 ชั่วโมงเป็นอย่างเร็วสุด นอกจากจะยึดหลักขับรถแบบปลอดภัยไว้ก่อน ควบคู่ไปกับมุ่งสู่จุดหมายปลายทางแล้ว สองข้างทาง...เป็นอีกสิ่งที่เขาใส่ใจคำนึงถึง

ต้นปีที่ผ่านมา บินหลา, พี่เรืองรอง รุ่งรัศมี, เป็นหนึ่ง-วรพจน์ พันธุ์พงศ์, เต้-ธวัชชัย พัฒนาภรณ์ และผม (กับตุ๊กตาสมีพูห์ชื่อเด็กชายพี่หมี)เดินทางจากเชียงใหม่ไปน่าน เขาหยิบแผนที่ออกมา พลางตัดสินใจไตร่ตรองว่า จาก 3 เส้นทางที่มีอยู่ ควรจะเลือกมุ่งไปสายไหน

ครับ บินหลาเลือกเส้นที่อ้อม กินระยะทาง เปลืองเวลามากสุด และให้เหตุผลว่า ถ้าจะไปทางที่สั้นกระชับ รวดเร็ว นั่งรถทัวร์เอาก็ได้ ไม่ต้องขับรถไปเองหรอก

เหลืออีก 2 เส้นทาง คือ ไปทางอำเภอเชียงม่วน กับไปทางอำเภอเชียงคำ เขาบอกกับผมว่า

“ไปทางเชียงม่วน ชื่อก็บอกอยู่ทนโท่ว่าม่วน พวกเราสนุกแน่ ๆ แต่เส้นนี้ผมเคยไปแล้ว เพราะฉะนั้น ผมว่าไปทางเชียงคำดีกว่า เดี๋ยวเราค่อย ๆ คลำ ๆ หาทางให้มันม่วนขึ้นมาทีหลังก็แล้วกัน”

อันที่จริงเส้นทางเชียงใหม่สู่น่าน ผ่านทางอำเภอเชียงคำนั้น ถ้าขับรถทำเวลาจริง ๆ ล้อหมุนออกเดินทางแต่เช้าตรู่ ก็สามารถถึงน่านได้ในตอนค่ำ แต่คุณบินหลาของผมแกไปได้ไกลสุดแค่ครึ่งทาง คือ จอดป้ายแค่อำเภอเชียงคำ

ไม่ใช่เพราะบินหลาบินช้าเป็นเหตุหรอกนะครับ แต่ทั้งแก๊งมีส่วนร่วมรับผิดชอบร่วมกันหมด เราเจอต้นไม้ออกดอกริมถนน ก็จอดแวะ เจอวิวข้างทางสวยหน่อยก็ร้องตะโกน เฮ้ย!! จอด จอด

คราวหนึ่งรถวิ่งผ่านถนนสายยาว สองข้างทางมีต้นเหลืองอินเดีย ออกดอกบานสะพรั่งละลานตา

บินหลาไม่เพียงแค่จอดแวะชื่นชม แต่ยังเกิดไอเดียบรรเจิด ให้ชาวคณะโพสต์ท่าถ่ายรูป เดินเข้าแถวเรียงเดี่ยวข้ามถนนเลียนแบบปกแผ่นเสียงอัลบั้ม Abbey Road ของ The Beatles

พูดง่าย ๆ ว่า เวลาเดินทางกับบินหลา เขาใช้สิทธิและข้อได้เปรียบทุกอย่างที่การเดินทางโดยรถทัวร์ไม่อาจกระทำได้โดยครบถ้วน

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติ ที่นกนักเขียนตัวนี้ จะใช้เวลาบินบนหลังพวงมาลัยรถกระบะคู่ชีพ จากเชียงใหม่ไปขอนแก่น 4 คืน 5 วัน กว่าจะถึงที่หมาย

ในบทสนทนาระหว่างทางบนรถรวมแล้วหลายร้อยชั่วโมง ผมรู้สึกเหมือนเข้าชั้นเรียนหลากวิชากับครูบินหลา ทั้งโบราณคดี, ประวัติศาสตร์, ศิลปะ, การเขียนหนังสือ เรื่อยไปจนถึงการทำตัวมีสาระควบคู่กับไร้สาระ

โดยอายุและความอาวุโส ผมกับบินหลาน่าจะอยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกัน (เราต่างอุบไต๋ไม่ยอมบ่งบอกและไม่เคยมีใครเอ่ยถามวันเดือนปีเกิดของอีกฝ่าย) เชือดเฉือนกันไม่ลงว่าใครควรเป็นพี่ ใครควรเป็นน้อง แต่โดยอายุงานและความจัดเจน ผมยอมรับแบบไม่มีทางปฏิเสธได้เลยว่า เขาแก่วัดเกินผมไปร่วม ๆ สิบพรรษา

ใครที่เคยไปเที่ยวอยุธยา โดยมีบินหลาเป็นมัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ ย่อมเป็นพยานให้ผมได้ในความเหนือชั้นกว่าไกด์ทั่วไปอยู่หลายขุม

เขาพาลูกทัวร์ดำดิ่งย้อนหลังไปเห็นอดีตโลดเต้นมีชีวิต ด้วยจังหวะลีลาเหนือคาดหมายตลอดทุกระยะ และปิดท้ายด้วยการอธิบายฉากสงครามคราวเสียกรุงครั้งที่ 1 บนเจดีย์ภูเขาทองอันสูงลิบลิ่ว พร้อมกับแจกแจงให้เห็นว่า เหตุเกิดตรงจุดใดบ้างที่อยู่เบื้องล่าง

จนเมื่อเรื่องเล่ามาถึงคำพูดสุดท้าย ผมแอบเห็นว่า ผู้ฟังหลายท่านน้ำตาซึม ทุกคนเงียบอึ้งสะเทือนใจ

ในความเป็นเพื่อน ผมมีโอกาสดีเพิ่มขึ้น จนได้เห็นว่า ก่อนรับงานทำนองนี้แต่ละครั้ง เขาออกสำรวจอยุธยาล่วงหน้าเพื่อสอบทานเตรียมความพร้อมไม่น้อยกว่า 4-5 หน เข้าห้องสมุด, พิพิธภัณฑ์ เพื่อย้ำความแม่นยำถูกต้องของข้อมูล และผุดความคิดใหม่ ๆ เกี่ยวกับลีลาการนำเสนอให้น่าสนใจอยู่ตลอดเวลา

ละเอียด พิถีพิถัน ถึงขนาดคำนวณว่า บริเวณใด เวลาใด ผู้ฟังเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าจากอากาศอบอ้าวสู่ขีดสูงสุด เขาวางแผนจัดเตรียมน้ำมะพร้าวเย็นชื่นใจไว้บริการแบบถูกที่ ถูกเวลา และไม่มีใครคาดคิด

กระทั่งว่า พรุ่งนี้จะถึงวันเดินทาง ความคิดและการเรียกร้องสูงกับงานที่ได้รับมอบหมายก็ยังไม่เคยหยุดนิ่ง

ผมเห็นตัวอย่างการทำงานในลักษณะเอาจริงเอาจังทำนองนี้ของบินหลาอีก 2 ครั้ง

คราวแรกเป็นการขึ้นเวทีพูดคุยเกี่ยวกับการทำหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เขาบ่ายเบี่ยงเรื่อยมาว่า ขอเป็นเพียงแค่ผู้ฟัง แต่เมื่อได้รับคำยืนยันว่าต้องขึ้นเวที

สองชั่วโมงถัดจากนั้น เขานั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ กำหนดวางเค้าโครงว่าจะสนทนาอย่างไร รื้อค้นหนังสือต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว ตระเตรียมอุปกรณ์

นั้นเป็นการอภิปรายที่ดีที่สุดคราวหนึ่งเท่าที่ผมเคยพบ ในแง่ของการโน้มน้าวให้ผู้ฟังรู้สึกซาบซึ้งจับใจ

อีกวาระ เป็นการพูดในกิจกรรมออกค่ายของเด็กนักเรียนจากโรงเรียนสตรีศรีน่าน หัวข้อว่าด้วยการเขียน

ค่ำคืนก่อนหน้า บินหลาระบุขอให้ครูจัดหา กระป๋องนมเจาะรู น้ำผลไม้หลากสี และสารพัดสิ่งของจุกจิก ที่ไม่มีใครคาดเดาได้ว่า จะนำมาใช้ประกอบการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องการเขียนหนังสือได้อย่างไร?

และเหมือนเดิม เขานั่งขมวดคิ้วนิ่วหน้าอย่างเคร่งเครียดอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นานหลายชั่วโมง โดยไม่พูดคุยกับใคร

เมื่อเขายืนอยู่ต่อหน้าผู้ฟังในเช้าวันต่อมา มันเป็นการบรรยายเกี่ยวกับการเขียนหนังสือ ที่เปรียบได้กับโชว์ชั้นดี ราวกับยอดมายากลร่ายเวทมนตร์สะกดผู้ฟัง

ล่าสุด เขาเพิ่งเล่าให้ผมฟังเมื่อวันเสาร์ 27 มีนาคม ที่ผ่านมา ณ ร้านกาแฟในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ

ในค่ายนักเขียนเมื่อไม่นาน บินหลาอธิบายถึงเรื่องความสำคัญของการขัดเกลางานเขียน เสร็จแล้วก็ทิ้งช่วงให้เวลาแต่ละคนลงมือสะสางแก้ไขผลงานของตนเอง

ระหว่างนั้น บินหลาผู้ซึ่งเลี้ยงหนวดไว้เหนือริมฝีปากมาหลายสัปดาห์จนดกเฟิ้ม ก็หลบฉากไปโกนมันทิ้งจนเกลี้ยงหมดจด

กลับมาอีกครั้ง เขากล่าวกับผู้ฟังว่า “การขัดเกลางานเขียนก็คล้าย ๆ การโกนหนวด มันทำให้หน้าตารูปโฉมหรือเรื่องที่เขียน เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง...ในทางที่ดีขึ้น”

หมัดเด็ดดอกนั้น น็อคผู้ฟังจนหงาย และใครต่อใครคงยากที่จะลืมได้ลง

ในวงสนทนาระหว่างมื้ออาหารคราวหนึ่ง ผมเคยเอ่ยด้วยความสงสัยว่า “ถามจริง ๆ เถอะ ตั้งแต่รู้จักกันมา ผมไม่เคยเห็นคุณลงมือเขียนหนังสือเลย คุณเอาเวลาตอนไหนมาทำงานเยอะแยะมากมาย (วะ)”

บินหลายิ้มกริ่มเจ้าเล่ห์ และตอบง่าย ๆ ว่า “ตอนเช้า”

เทียบกับนักเขียนด้วยกันหรือเพื่อนฝูงส่วนใหญ่ที่รู้จักแล้ว ผมจัดได้ว่าเป็นพวกตื่นเช้าพอสมควร (ประมาณ 6 โมงกว่า ๆ) แต่บินหลานั้นเท่าที่ผมทราบ ตื่นสายสุดแถว ๆ ตี 5 และนั่นเป็นเวลาที่เขาออกบินท่องทะยานในโลกของการเขียน

มีภาษิตฝรั่งกล่าวไว้ว่า “นกที่ตื่นเช้าย่อมได้หนอนเป็นอาหาร”

บินหลาคือนกตัวนั้น...ตื่นเช้า ทำงานหนัก และทำให้งานทุกชิ้นมีน้ำหนัก

ขณะที่ผมเป็นนกอีกตัว...ตื่นเช้าเพื่อจะนั่งสะลึมสะลืองัวเงีย ทำงานเบา และทำให้งานทุกชิ้นกลายเป็นเรื่องหนักใจ (ผมถือคติว่า “หนอนที่ตื่นเช้าย่อมกลายเป็นอาหารของนก”)

ตอนที่ยังไม่รู้จักบินหลา ผมอ่านงานของเขาด้วยความรู้สึกว่า เขียนเก่งเหลือเกิน

เมื่อรู้จักคบหาเป็นเพื่อนกันแล้ว ความรู้สึกที่ผมได้รับจากการอ่านหนังสือที่เขาเขียน ไม่ได้เปลี่ยนไปหรอกนะครับ ยังชื่นชมเท่า ๆ เดิม

แค่บวกเพิ่มมาอีกอย่างคือ ผมเข้าใจถึงที่มาที่ไปว่า ทำไมบินหลาจึงทำงานออกมาได้ในคุณภาพอย่างที่ปรากฏ

ตอนไม่รู้จักกัน ผมเห็นอยู่แล้วว่า เขามีเทคนิค ชั้นเชิง ลีลาแพรวพราว แต่ในความเป็นเพื่อน ผมเห็นว่า เขาซ้อมหนัก มุ่งมั่น และอ่านเกมล่วงหน้ามากกว่าปกติทั่วไปถึงสองชั้นสามชั้นอยู่ตลอดเวลา

บินหลาบอกผมถึงหลักการง่าย ๆ เกี่ยวกับการเขียนหนังสืออยู่ 3 ข้อ ซึ่งเขาเรียนรู้จากการอ่านผลงานยิ่งใหญ่ชื่อ ‘ศิลปะคืออะไร?’ ของลีโอ ตอลสตอย

เขาเปิดเผยเคล็ดวิชานี้ให้กับผมโดยไม่ปิดบังอำพรางว่า เมื่อจะลงมือเขียน ให้ตั้งคำถามว่า จะเขียนเรื่องเกี่ยวกับอะไรให้มีคุณค่าน่าสนใจ? จะเขียนมันอย่างไรให้น่าอ่าน? และทั้งสองข้อนั้นบวกรวมกันแล้ว มีอะไรเป็นความใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน?

‘เราพบกันเพราะหนังสือ’ มีหลัก 3 ข้อในการเขียนที่เขาเล่าให้ผมฟัง, มีผลสืบเนื่องจากการใช้ชีวิตในแบบของเขา, และมีทุกสิ่งทั้งหมดที่ผมเล่ามาแฝงอยู่ในนั้นครบถ้วน

มันแตกต่างจากที่ผมพบเจอเขาในชีวิตจริงอยู่นิดเดียว...นิดเดียวจริง ๆ

ตอนเป็นตัวหนังสือเป็นข้อเขียนในเล่ม บินหลาโกนหนวดมาแล้วเรียบร้อย

ไม่มีความคิดเห็น: