วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2553
ความสุข โดย 'นรา'
ราว ๆ กลางปี 2552 ผมไปเที่ยวน่าน พร้อมพี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง และ-เป็นหนึ่ง-วรพจน์ พันธุ์พงศ์
ก็เลยมีโอกาสได้ติดตามทั้งสองท่าน ขึ้นเวทีพูดคุยบอกเล่าประสบการณ์ทำงาน โดยมีเด็ก ๆ ‘นักอยากเขียน’ จากโรงเรียนสตรีศรีน่านเป็นผู้ฟังที่ดีเยี่ยม
มีคำถามใส่เศษกระดาษชิ้นหนึ่งจากนักอยากเขียนวัยเยาว์ ซึ่งผมประทับใจมาก
ถามมาดังนี้คือ “อยากทราบความเห็นของพวกพี่ว่า ความสุขอยู่ในงานเขียน หรืองานเขียนอยู่ในความสุข”
เฉียบและคมมากนะครับ
ผมจำไม่ได้แล้วว่าตอบไปยังไงบ้าง? แต่กับสถานการณ์ปุบปับเฉพาะหน้าจวนตัว ไม่มีเวลาให้ครุ่นคิดไตร่ตรองเช่นนั้น เชื่อย้อนหลังไปไกลถึงสมัยกรุงศรีอยุธยายังไม่แตกได้เลยว่า ผมคงตอบออกมาเละเทะไม่เป็นโล้เป็นพาย
ผมได้เอ่ยปากขออนุญาตเจ้าของคำถามนี้ เพื่อนำมาพิจารณา และลั่นวาจาประกาศกร้าวเสียงแผ่ว ๆว่า จะนำมาขบคิดไตร่ตรองต่อ เพื่อเขียนเป็นบทความ
นี่คือการตอบคำถามย้อนหลัง...และล่าช้า จนขี้เกียจนับเวลาที่คลาดเคลื่อนผิดนัด
สำหรับผม ‘ความสุขอยู่ในงานเขียน และงานเขียนก็อยู่ในความสุข’
ผมหมายถึงว่า ในการทำงานเขียนแต่ละครั้ง ผมมีความสุข รู้สึกสนุก และได้รับความรื่นรมย์
ขณะเดียวกันในการใช้ชีวิตตั้งแต่เช้ายันค่ำ ผ่านไปวันแล้ววันเล่า การเขียนหนังสือก็เป็นส่วนหนึ่งของหลากหลายสิ่งที่นำมาซึ่งความสุข
อ่านแล้วสับสนวกวนไหมครับ?
ผมจะอธิบายให้ปวดหัวงุนงงยิ่งขึ้นว่า ความสุขอยู่ในงานเขียน และงานเขียนก็อยู่ในความสุข เป็นทั้งสิ่งเดียวกันและแตกต่างกัน
ผมกับเพื่อนนักเขียนหลาย ๆ คน ชอบคุยกันเรื่องนี้นะครับ เราต่างถามไถ่แลกเปลี่ยนความเห็นกันอยู่เสมอว่า มีความสุขกับงานที่ทำหรือเปล่า?
คำตอบนั้นมีรายละเอียดผิดแผกแตกต่างกัน แต่หลักใหญ่ใจความแล้ว ทุกคนมีความสุข
บางคนสุขขณะทำงานเขียนสำเร็จเสร็จลุล่วง, บางคนสุขเพราะผลตอบรับเป็นบวกจากงานเขียนนั้น, บางคนสุขปิติตั้งแต่ความคิดเกี่ยวกับเรื่องที่จะเขียนผุดวาบเข้ามาในหัว ฯลฯ
ทุกคนตอบมาคล้าย ๆ กันอีกว่า ควบคู่กับความสุขที่ได้รับแล้ว ช่วงก่อนและระหว่างลงมือทำงาน ยังมีอีกหลายความรู้สึกติดพ่วงแนบมาด้วยอยู่บ่อยครั้ง
นั้นคือ ความเครียด, ความกดดัน, วิตกกังวล โดยเฉพาะกับการเผชิญหน้าสถานการณ์ภาวะความคิดตีบตัน
พูดง่าย ๆ ว่า ล้วนเจอะเจอทุกข์หนักเวลาเขียนไม่ออก และต้องดิ้นรนผ่านพ้นมันไปให้ได้
ผมแถมให้อีกอย่างที่เกิดขึ้นกับตัวผมเองว่า ทุกครั้งก่อนลงมือทำงาน แค่คิดว่า จะต้องทำงาน ผมก็ร่ำ ๆ ว่า อยากทิ้งตัวลงนอนหลับฝันหวานต่อ ไม่อยากลุกลงจากเตียงซะแล้วนะครับ
อาจเป็นความรู้สึกในทางจิตวิทยาก็ได้ ผมมีใจพร้อมจะต่อต้านขัดขวางการทำงานทุกรูปแบบ และเชื่อสนิทติดแน่นมานานว่า งานเป็นความทุกข์
ต่อให้นับเป็นอาชีพในฝัน ผมก็ถือเอางานนั้นเป็นเสมือนฝันร้ายสยดสยอง
ผมมีทัศนคติติดลบฝังลึกกับการทำงาน รู้สึกเป็นของแสลง หวาดกลัว และแน่นอนว่า ยึดถือการทำงานเป็นที่สุดแห่งความทุกข์อย่างหนึ่ง
นี้ไม่ใช่คำถ่อมตัว อดีตสมัยเริ่มต้นทำงานใหม่ ๆ ผมเคยสร้างชื่อลือลั่นประกอบวีรกรรมด่างพร้อย เรื่องเกียจคร้านในการทำงาน จนโดนตราหน้าสบประมาทมานักต่อนักว่า ชาตินี้คนอย่างนราไม่มีวันเอาดีในการทำงานได้เลย
ผมไม่ทราบชัดว่า เริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองตอนไหน? กระทั่งกลายเป็นคนละคน
เป็นคนละคนที่ยังรู้สึกแหยงและขยาดในการทำงานเหมือนเดิมนะครับ ต่างกันตรงที่จากเดิมพยายามอู้หรือคอยหลบเลี่ยง ผมเปลี่ยนตัวเองกระทั่งสามารถรู้สึกสนุกกับการทำงานได้สำเร็จ
เคล็ดลับของผมมีอยู่นิดเดียว คือ ทุกครั้งที่ลงมือเขียนหนังสือ ผมไม่เคยคิดว่ามันเป็นการทำงาน
ผมคิดแต่เพียงว่า กำลังหาเรื่องเล่นอะไรสนุก ๆ คล้าย ๆ เล่นเกมส์, chat หรือติด facebook
สารพัดอย่างในบรรทัดข้างต้นนั้น ผมข้องแวะแตะต้องแต่เพียงน้อยนิดนะครับ เพราะรู้ว่าเข้าสู่วงการเต็ม ๆ เมื่อไร หายนะย่อมบังเกิดเมื่อนั้น แน่แท้ชัวร์มากชนิดไม่ต้องรอการพิสูจน์
พูดอีกแบบหนึ่ง ผมแค่เปลี่ยนการละเล่น จากเกมส์สารพัดสารพัน จากการ chat หรือใช้ facebook มาเป็นการเขียนหนังสือ
ผมเขียนต้นฉบับทุกชิ้น ด้วยอารมณ์ความรู้สึกนี้ คือ ผ่านเจออะไรต่อมิอะไรมา แล้วมีเรื่องอยากเล่า อยากพูดคุยกับเพื่อนฝูง
แทนที่จะยกโทรศัพท์ไปคุยเล่าให้เพื่อนสักคนฟัง ก็แค่เปลี่ยนมาสนทนาผ่านตัวหนังสือ เท่านั้นเองจริง ๆ
ผมเป็นเด็กเกเร เกียจคร้าน วิธีจัดการแก้ปัญหา จึงต้องคอยล่อหลอกหนักไปทางใช้แท็กติกเข้าสู้
นอกจากจะใช้วิธีสะกดจิตตัวเองว่า การเขียนหนังสือไม่ใช่งานแล้ว ผมยังวางกับดักตัวเองอีกสารพัดประการ ทั้งติดสินบนจูงใจให้อยากเขียน, สร้างเงื่อนไขสนุก ๆ ล่วงหน้าขึ้นมาท้าทายการเขียน (เช่น แนะนำหนังสือบางเล่มโดยกำหนดโจทย์บังคับว่า ห้ามพาดพิงถึงเนื้อหาภายในของผลงานนั้น ๆ) และอีกเยอะแยะมากมายที่ผมนำมาใช้ฝึกตัวเองให้เชื่อง (เขียนไปแล้วก็รู้สึกหมา ๆ ยังไงชอบกล)
เคยแม้กระทั่งว่า ตอนลาออกจากงานประจำที่ ‘ผู้จัดการ’ ผมฉลองศรัทธาให้ตัวเองเต็มคราบ โดยซื้อคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่อง เพื่อตั้งหน้าตั้งตาเล่นเกมล้วน ๆ ไม่มีงานเจือปน
เล่นจนเบื่อและบรรลุโสดาบันไปหลายเกม พลันก็ระลึกนึกได้ว่า คนเราควรต้องทำงานบ้าง...นิด ๆ หน่อย ๆ ก็ยังดี
งานนิด ๆ หน่อย ๆ นี้เหมือนเป็นยาขมของชีวิต แม้จะรู้ทั้งรู้อยู่แก่ใจว่า เป็นสิ่งมีประโยชน์คุณค่า แต่รสขื่นระคายลิ้นก็ชวนให้นึกขยาดล่วงหน้าอยู่ร่ำไป
ผมก็เลยวางแผนดัดหลังล่อหลอกตัวเอง ด้วยการเขียนข้อความลงบนกระดาษแผ่นเล็ก ๆ แปะไว้ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ว่า “ใช้สำหรับเล่นเกมเท่านั้น ห้ามแอบทำงาน”
นับตั้งแต่นั้น ผมก็แอบย่องมาใช้เครื่องคอมดังกล่าว เพื่อลักลอบเขียนหนังสือ ดังเช่นทฤษฏีที่ว่า ‘อะไรก็ตาม ยิ่งห้าม ก็เหมือนยิ่งยุ’
จะเป็นด้วยอุปาทาน ความรู้สึกลวง หรือการหลอกตัวเองก็ตามที ที่แน่ ๆ ผมสนุกหรรษากับการละเมิดข้อห้ามนี้อย่างล้นเหลือ
นานวันเข้าก็สวนทางตรงกันข้าม การเล่นเกมกลายเป็นเรื่องน่าอึดอัดราวกับถูกบังคับให้ต้องฝืนใจทำงาน และการทำงานกลายเป็นเรื่องรื่นรมย์คลับคล้ายกิจกรรมเพื่อความบันเทิง
ผมค่อย ๆ ตะล่อมโน้มน้าวงัดสารพัดเล่ห์เหลี่ยมทำนองนี้ออกมาใช้อีกนับไม่ถ้วนกรรมวิธี เพื่อฝึกตัวเองให้เชื่องกับการทำงาน (เขียน ๆ ไป ผมก็ยังรู้สึกหมา ๆ อยู่เหมือนเดิม แต่เริ่มหัดยืนสองขาได้แล้วนะครับ)
จนกระทั่งถึงวันหนึ่ง การทำงานหรือการเขียนหนังสือก็ไม่ได้เป็นอะไรอื่นอีกต่อไป แต่เป็นการเขียนหนังสือโดยแท้จริง และผมก็รู้สึกสนุกที่จะเขียนโดยธรรมชาติอัตโนมัติ เริ่มปีกกล้าขาแข็ง และไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยตัวช่วยใด ๆ
งานกลายเป็นกิจวัตรส่วนหนึ่งในชีวิตที่ขาดไม่ได้ เหมือนคนเราหิวข้าวแล้วต้องกิน ผมเขียนหนังสือด้วยความรู้สึกเช่นนี้
วันไหนห่างเว้นไม่ได้เขียน ผมรู้สึกเคว้งคว้างว่างโหวง รู้สึกผิดว่าทำตัวเหลวไหลไร้ค่า และเป็นวันที่ชีวิตจืดชืดไม่เป็นรส เหมือนนักผจญภัยที่จับเจ่าอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ไม่ได้ออกไปผาดโผนท่องโลก
ควรเปิดเผยด้วยว่า แม้จะเขียนหนังสือต่อเนื่องสม่ำเสมอ จน ‘อยู่ตัว’ แล้ว แต่ผมยังมีเวลาวาระเละเทะบ่อย ๆ ยิ่งกว่าวันหยุดราชการตลอดทั้งปีรวมกันเสียอีก
เป็นโจทย์การบ้าน ที่ผมจะต้องพยายามเรียนรู้แก้ไขกันต่อไปไม่มีจุดสิ้นสุด (นี่ก็เป็นอีกหนึ่งความสนุกเร้าใจเหมือนกัน)
หากวันไหนเขียนได้ตามเป้า และทำได้ดี ก็ยืดอกเดินกร่างออกจากบ้านอย่างเบิกบาน พร้อมจะตบเด็กเตะหมาที่ผ่านมาขวางทาง (เขียนโดยปากกาพาไปนะครับ ไม่ได้หมายความตามนี้จริง ๆ ผมใจไม่ถึง)
เมื่อพัฒนาฝีมือและแรงงานถึงจุดนี้แล้ว ระหว่างเขียนหนังสือแต่ละครั้ง (หมายถึงโดยรวมส่วนใหญ่) จึงกลายเป็นความสุขขณะลงมือปฏิบัติ
บางทีแค่คิดประโยคนึกถ้อยคำถูกใจออกมาได้ โลกรอบ ๆ ตัวของผมก็เหมือนเต็มไปด้วยเสียงนกร้องเพลง
ยิ่งชิ้นงานไหนคุณภาพเข้าขั้นน่าพึงพอใจ อารมณ์ความรู้สึกนั้นลิ่วโลดไปไกลคล้าย ๆ เด็กหนุ่มสมหวังในความรักยังไงยังงั้นเชียว
ผมเขียนหนังสือด้วยความสุข คล้าย ๆ ได้ออกท่องโลกผจญภัยทุก ๆ เช้านะครับ
แน่นอนว่า การผจญภัยบางวันก็อาจมีติดขัดคับขัน หรือฟอร์มตกขึ้นมาดื้อ ๆ สมองไม่ไหล ไอเดียไม่แล่น และทำได้ไม่ดีพอเหมือนที่ใจอยาก
ในวันที่งานชวนให้ทุกข์มากกว่าสุขเช่นนี้ ความรื่นรมย์ของผม (ซึ่งขนานนามตั้งฉายาให้ตัวเองว่า ‘เฮียเครียด’ หรือ ‘โชเซ่ มูริญโญแห่งวงการนักเขียน’) เปลี่ยนย้ายมาอยู่ที่การวิเคราะห์หาสาเหตุและวางแผนแก้เกมสำหรับวันต่อไป
ด้วยเหตุต่าง ๆ เหล่านี้ ผมจึงเชื่อหมดทั้งใจว่า ‘มีความสุขอยู่ในงานเขียน’ จริง ๆ
ถัดมาคือประเด็นว่า ‘มีงานเขียนอยู่ในความสุข’
จะตอบตรงนี้ได้ แต่ละท่านต้องนิยามความสุขของตนเองออกมาให้ได้เสียก่อน
ผมเชื่อของผมเองนะครับว่า ชีวิตคือความทุกข์ เป็นแก่นหรือแกนหลัก เป็น theme เป็นหัวใจหรือสาระสำคัญของการดำรงอยู่เกิดมาบนโลกใบนี้
ความสุขเป็นแค่เครื่องประดับตกแต่ง เป็นสีสันชั่วขณะ ไม่จีรังยั่งยืน แต่ความทุกข์นั้นเป็นของแท้ของจริงและคงทนติดค้างเนิ่นนาน
พูดให้ฟังดูร้ายและย่ำแย่ยิ่งขึ้น ความทุกข์นั้นไม่เคยลดน้อยถอยลง มีแต่จะเพิ่มพูนตลอดเวลา ตามวัยอายุขัยจำนวนปีที่ล่วงผ่านพ้นเลย
อย่างไรก็ตาม แง่งามประการหนึ่งของชีวิตก็คือ เท่า ๆ กับความทุกข์และอายุที่มากขึ้น ภูมิต้านทานของมนุษย์ในเรื่องทุกข์สุขต่าง ๆ ก็สมทบเพิ่ม เพื่อที่จะสามารถเผชิญหน้ารับมือได้อย่างพอเหมาะพอดีกัน
ดังนี้แล้ว ความสุขตามนิยามของผมในวัยปัจจุบัน ก็คือ การทำตัวให้พร้อมยอมรับ, เข้าใจ และรู้ทันความทุกข์
พูดให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ความสุขของผมอยู่ที่การใช้ชีวิตราบรื่นเป็นปกติในทุก ๆ เรื่อง
เข้าบ้านแล้วพบว่า น้ำประปาไหล ไฟฟ้าสว่าง นั้นก็เป็นความสุขอย่างหนึ่ง
ฟังดูคล้าย ๆ เล่นสำนวนโวหาร แต่เมื่อไม่นานมานี้ ไฟฟ้าที่บ้านผมเกิดช็อตขึ้นมาจนดับสนิท ผมทำได้อย่างเดียวคือ โทรศัพท์ตามช่างมาซ่อมแซมแก้ไข
สองชั่วโมงที่นั่งรอช่างไฟ ผมรู้สึกเหมือนตกนรก ไปไหนไม่ได้ จะทำงานก็ไม่สะดวก นั่งร้อนอบอ้าวเหงื่อแตกอย่างทุกข์ทรมาน
สองชั่วโมงนั้นผ่านไปเชื่องช้าราวกับห้าชั่วโมง ยิ่งนานนาที ผมก็เริ่มจินตนาการเพิ่มเติมว่า หากช่างไม่มา ค่ำคืนนี้ ผมจะผ่านความมืดและร้อนนรกแตกนั้นอย่างไร?
วายป่วงนะครับ แค่ไฟฟ้าดับ ชีวิตก็วายป่วง
ความทุกข์หลาย ๆ เรื่อง สืบเนื่องมาจากอะไรก็ตามที่เคยปกติ แปรเปลี่ยนไปเป็นไม่ปกติ ผมขอฟันธง
อกหัก โดนแฟนทิ้ง ฝนตกหนัก รถติด น้ำท่วม การเมืองตึงเครียด ตังค์มีไม่พอใช้ ทั้งหมดนี้ก็ทำให้ชีวิตที่เคยปกติ เปลี่ยนเป็นไม่ปกติ
ความสุขของผมก็คือ พยายามประคับประคองให้ทุกอย่าง ทั้งสุขภาพร่างกาย, สติปัญญา, การใช้ชีวิตประจำวัน, การงาน, รายได้, ความสัมพันธ์กับผู้คนรอบตัวที่สนิทชิดใกล้ ฯลฯ เป็นไปตามวิถีทางธรรมดาดังเช่นที่ควร อย่าโลดโผนหวือหวาเป็นอื่น
ความฝันเรื่องอยากร่ำรวย, มีบ้าน, ที่ดิน, รถยนต์, เครื่องเสียงแพง ๆ, ชื่อเสียงลาภยศฯลฯ เหล่านี้เป็นแค่ผงชูรสหรือเครื่องปรุงที่ทำให้ชีวิตอร่อยขึ้นบ้างเท่านั้นนะครับ
และในทางปฏิบัติ ยังมีน้ำจิ้มอีกหลายอย่างในการปรุงรสชีวิตให้แซ่บ ซึ่งผมคิดว่าเรียบง่ายกว่า เช่น การอ่านหนังสือ, ดูหนัง, ฟังเพลง ชื่นชมงานศิลปะ, คบหามิตรสหายดี ๆ รวมทั้งความรักแบบเติมเต็มภายในใจให้ครบถ้วน ฯลฯ
อย่างหลังทั้งหลายทั้งปวงนี้ ผมคิดว่าเป็นเครื่องปรุงให้กับชีวิต โดยไม่ทำให้อะไรที่เคยปกติ เบี่ยงเบนเฉไฉมากไปจนเกินควร
หลายหนหลายคราว รสนิยมเหล่านี้ ยังสามารถแปรเปลี่ยนเป็นความสุขได้ด้วยตัวของมันเอง
ผมเรียกความปกติในชีวิตว่าความสุขแบบที่หนึ่ง และเรียกรูปแบบการใช้ชีวิตตามรสนิยมส่วนตัวนี้ว่า ความสุขแบบที่สอง
ผมนับเอาการเขียนหนังสืออยู่ในหมวดหมู่ของความสุขแบบที่สอง
เหตุผลข้อแรก มันเป็นงานอย่างเดียวที่ผมถนัด
ในบรรดาเปลือกนอกสารพัดอย่างของมนุษย์ งานเป็นรากใหญ่ที่ยึดเหนี่ยวเลยนะครับ
ไม่มีงาน ชีวิตก็ว่างโหวง และร้ายกาจขนาดทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า
กระทั่งเปลือกนอกภาพลวงตาอีกอย่างคือ การเป็นที่รู้จักและยอมรับของโลกรอบข้าง นั้นก็ผูกพันขึ้นอยู่กับงานที่แต่ละคนสร้างทำไว้
ผมเป็นมนุษย์พันธุ์ที่ไม่พกนามบัตร ไม่มีนามบัตร หลายครั้งที่กล่าวแนะนำตัวต่อผู้อื่นแล้วก็เคว้งคว้าง งานของผมไม่เป็นที่รู้จักของผู้คนแวดวงนอกเหนือการเขียนการอ่าน
แต่ในทางตรงข้าม หลายครั้งผมได้รับการทักทายชวนคุย เจอะเจอมิตรภาพดีงาม ก็เนื่องมาจากงานของผมเป็นใบเบิกทาง
หากปราศจากงานเสียแล้ว ตัวตนเล็ก ๆ ของผมคงจมหายไปอีกเยอะเลย อาจเหลือโลกแคบ ๆ แค่แวดวงของคนรู้จักคบหาเป็นการส่วนตัว
งานเป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนแสดงให้เห็นว่า ตัวเรายังมีอยู่นะครับ กระทั่งว่างานบางชิ้นอาจคงทนอยู่นานยิ่งกว่าชีวิตของผู้สร้างมันขึ้นมาเสียอีก
เหนือกว่านั้น ผมคิดว่ามนุษย์สามารถใช้ทุก ๆ อาชีพการงาน เป็นเครื่องมือขัดเกลาความคิดจิตใจให้ก้าวไปในทางบวก กลายเป็นคนดียิ่ง ๆ ขึ้น (หรืออย่างแย่ก็คือ ทำให้เป็นคนเลวน้อยลง เช่น ผม เป็นต้น)
งานของผมคือการเขียนหนังสือ จึงอธิบายเรื่องนี้ได้ค่อนข้างชัดว่า เพื่อจะให้เกิดคุณภาพชิ้นงานที่ดี ผมจำเป็นต้องฝึกตัวเองให้เฉียดใกล้ความเข้าใจโลกเข้าใจชีวิต จะโดยวิธีใดก็ตาม ตั้งแต่สังเกตเรียนรู้จากผู้คนที่พบเจอ, อ่านหนังสือ-ดูหนัง, ออกเดินทาง, ขบคิดพิจารณาประเด็นต่าง ๆ, แก้ไขขัดเกลาข้อผิดพลาดบกพร่องของตนเอง ฯลฯ
ผมเรียกขั้นตอนต่าง ๆ เหล่านี้ว่า การเรียนรู้
การเรียนรู้นั้น ด้านหนึ่งส่งผลสะท้อนต่อตัวงาน แต่อีกด้านหนึ่งก็ส่งผลสะท้อนต่อตัวเรา
งานเปลี่ยนแปลงคนได้นะครับ และโดยมากที่เกิดขึ้น งานมักจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในทางดีงามสร้างสรรค์
ผู้เปลี่ยนตัวเองในด้านลบเนื่องเพราะการทำงาน อาจมีอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่โดยรวมเป็นผลจาก ‘ความเชื่อผิด ๆ’
ความเชื่อผิด ๆ นั้น สรุปรวบรัดได้ว่า ไม่ได้เป็นการทำงานเพื่อมุ่งหวังงานที่ดี แต่ทำงานบนพื้นฐานเป้าหมายปลายทางอื่น ทำเพื่อความร่ำรวย เพื่ออำนาจอิทธิพล, ลาภยศ, ชื่อเสียง หรือผลประโยชน์ในทางวัตถุ ฯลฯ
งานที่เป็นงานอันถ่องแท้ คือขั้นตอนวิธีหนึ่ง ทำให้พินิจพิจารณาความทุกข์อย่างเข้าอกเข้าใจ (ขึ้นบ้าง) และเป็นเครื่องมือสำคัญในการปรับตัวแสวงหาความสุข
ความสุขของผม (พ้นจากการดำรงชีวิตโดยปกติ) มีอยู่หลายอย่าง การนั่งเรือด่วนดูแม่น้ำเจ้าพระยาตอนเย็นก็เป็นความสุข, อ่านหนังสือดี ๆ ถูกใจก็เป็นความสุข, เข้าวัดเข้าวาดูงานศิลปะก็เป็นความสุข ฯลฯ
ในรายละเอียดของความสุขปลีกย่อยหลาย ๆ อย่างจำนวนนับไม่ถ้วน แน่นอนว่า ย่อมมีการทำงานเขียนปรากฏรวมอยู่ในนั้น
เป็นความสุขลำดับต้น ๆ ด้วยนะครับ
ผมไม่ค่อยแน่ใจว่า ได้ตอบคำถาม ‘ความสุขอยู่ในงานเขียน หรืองานเขียนอยู่ในความสุข?’ ตรงประเด็นหรือเปล่า?
แต่รู้และแน่ใจว่า ขณะตอบ-โดยวิธีการเขียนเล่าสู่กันฟัง-ผมมีความสุข พร้อมทั้งหวังเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยตามประสาคนละโมบว่า ขณะอ่านคำตอบของผม ญาติโยมทุกท่านคงจะสุขกายสบายใจโดยทั่วหน้า
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
2 ความคิดเห็น:
เคยได้ยินบางคนบอกว่า "การใช้ชีวิตให้มีความสุข"
ต้องประกอบด้วยสามสิ่ง คือ
1. ทำงานที่ใจรัก
2. ช่วยเหลือคนรอบข้าง
3. และเดินทางท่องเที่ยว
อยากจะกลับไปถามคนนั้นจังเลยว่า แล้วต้องทำยังไง
ให้มันสมดุลกันทั้งหมด
.....
อยู่ๆ ก็ surprise ที่เปิดมาเจอบทความนี้
ราวกับเจอของขวัญกล่องใหญ่ ในตอนเช้าวันคริสต์มาส :))
เพราะนอกจากจะถูกใจ ยังเต็มไปด้วยความหมายที่ดี
มันอาจจะเป็นสิ่งเดียว ... ที่เงินแลกไม่ได้นะคะ
......
ชอบบทความชิ้นนี้มากเลย
ราวกับได้คุยกับผู้ใหญ่ใจดี ที่แอบสอน+แนะนำสิ่งดีให้ ขอบพระคุณมากๆ นะคะ
(ยกย่องให้เป็นบทความชิ้นเยี่ยมจากนักอ่านโนเนม)
หมาย:: เขียนงานดีๆ ออกมาอีกนะคะ
จะเป็นกำลังใจอย่างเหนียวแน่นเลย
ขอบคุณค่ะ
แสดงความคิดเห็น