ชื่อบทความชิ้นนี้ ผมตั้งขึ้นขณะนึกหิวอยากกินซาลาเปาพอดี ผลลัพธ์จึงออกมาค่อนข้างตะกละอย่างที่เห็นกันอยู่ แต่ความหมายแท้จริงก็คือ เจตนาจะกล่าวถึงหนังซามูไรเรื่อง Love and Honor ผลงานกำกับของลุงโยจิ ยามาดะ
Love and Honor เป็นงานต่อเนื่องลำดับที่สาม จัดเข้าชุดอยู่ในหมวดหมู่เดียวกันกับ The Twilight Samurai (หนังปี 2002) และ The Hidden Blade (2004) ทั้งหมดมีเนื้อเรื่องเหตุการณ์แยกขาดไม่เกี่ยวข้องกัน แต่จุดร่วมเชื่อมโยงก็คือ ต่างล้วนดัดแปลงจากรวมเรื่องสั้นชื่อชุด The Bamboo Sword and Other Samurai Tales ของชูเฮอิ ฟูจิซาวะ นักเขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่โดดเด่นมากสุดท่านหนึ่งของแวดวงวรรณกรรมญี่ปุ่น
เนื้อเรื่องคร่าว ๆ ของ Love and Honor กล่าวถึงซามูไรหนุ่มชื่อชินโนโจ มิมุระ ซึ่งมีตำแหน่งเป็น “หน่วยกล้าชิม” คือคอยทำหน้าที่ตรวจสอบอาหารว่ามีการลักลอบวางยาพิษหรือไม่ ก่อนจะนำไปให้ขุนนางชั้นสูงรับประทาน
มิมุระเบื่อหน่ายภารกิจดังกล่าว อันเป็นงานระดับล่าง ปราศจากหนทางก้าวหน้า และแทบจะกล่าวได้ว่าไร้เกียรติยศใด ๆ เขาจึงตระเตรียมวางแผนลาออก เพื่อตั้งโรงเรียนสอนวิชาดาบ ทว่าโชคร้ายคราวเคราะห์ก็เกิดขึ้นเสียก่อนที่จะได้ทันทำตามความตั้งใจ
ระหว่างตรวจสอบอาหารมื้อหนึ่ง มิมุระเจอ “อาหารเป็นพิษ” เข้าไปเต็ม ๆ เนื่องจากพ่อครัวปรุงหอยทะเลชนิดหนึ่งอย่างไม่ถูกต้องตามหลักวิธีการ จนกลายเป็นอันตรายต่อคนกิน ซามูไรหนุ่มได้รับการช่วยชีวิตไว้ทันท่วงที แต่ก็ต้องพิการตาบอด
เหตุการณ์ส่วนใหญ่ที่เหลือของหนัง กล่าวถึง สภาพชีวิตความเป็นอยู่อันยากลำบากหลังจากตาบอด ไม่เพียงแต่จะต้องสูญเสียหน้าที่การงาน ปราศจากรายได้เท่านั้น ทว่าเรื่องหนักหนาสาหัสสุดคือ การที่จู่ ๆ ต้องกลายเป็นคนพิการ มีชีวิตอย่างเคว้งคว้างไร้คุณค่า ความรู้สึกดังกล่าวสั่งสมทวีมากขึ้น จนนำไปสู่สภาพท้อแท้ทอดอาลัย และปรารถนาจะฆ่าตัวตาย
ความเป็นหนังรักโรแมนติคของ Love and Honor เริ่มต้นทำงานอย่างมีประสิทธิภาพตรงนี้นี่เอง เมื่อตัวละครสำคัญอีกคนคือ คาโยะภรรยาของซามูไรหนุ่ม ต้องแบกรับภาระดูแลครอบครัว รวมทั้งประคับประคองให้กำลังใจดูแลความรู้สึกของมิมุระ
ฉากที่เธออ้อนวอนสามีให้ล้มเลิกความตั้งใจที่จะฆ่าตัวตาย เป็นหนึ่งในฉากจี๊ดมากของหนัง(และทำให้ผมนึกถึงประโยคเด็ดในละคร’ถาปัดเรื่อง เดชไอ้ด้วน ที่ว่า “ชีวิตเจ้ามีค่า ชีวิตข้ามีเจ้า” ความหมายและอารมณ์ตรงกันเป๊ะเลยครับ)
เรื่องราวมาหักมุมพลิกผันอีกครั้ง เมื่อคาโยะต้องบากหน้าไปขอความช่วยเหลือจากผู้มีอำนาจคนหนึ่ง เพื่อความอยู่รอดทางด้านปากท้องของครอบครัว ทว่าผลลัพธ์กลับลงเอยเลวร้ายถึงขั้นทำให้เธอต้องประพฤตินอกใจสามี (ในแบบกึ่ง ๆ ยินยอมกึ่ง ๆ โดนบังคับขู่เข็ญ)
ประเด็นขัดแย้งต่าง ๆ จึงเกิดขึ้น อันดับแรกคือความร้าวฉานระหว่างคู่สามีภรรยา มิมุระโกรธแค้นคาโยะถึงขั้นตัดขาดความสัมพันธ์ ขับไล่เธอออกจากบ้าน ถัดมาซามูไรหนุ่มตัดสินใจจับดาบอีกครั้ง เพื่อท้าดวลกับศัตรูที่ทำให้ครอบครัวแตกแยก และกอบกู้เกียรติยศศักดิ์ศรีกลับคืนมา
ทั้งหมดนี้คือเนื้อเรื่องเหตุการณ์คร่าว ๆ ของ Love and Honor ซึ่งถือได้ว่าเป็นพล็อตที่ปกติธรรมดามาก แต่ความน่าประทับใจนั้นอยู่ที่การแจกแจงรายละเอียดต่าง ๆ อย่างสมจริง ดำเนินเรื่องเนิบช้าค่อยเป็นค่อยไป และเน้นความหนักแน่นสมจริง ขณะเดียวกันก็มีเสน่ห์เล็ก ๆ น้อย ๆ บางอย่างสอดแทรกไว้ตลอดเวลา จนทำให้เรื่องราวเรียบง่ายนั้น มีชีวิตชีวาชวนติดตามเป็นอย่างยิ่ง
คุณลุงโยจิ ยามาดะเป็นผู้กำกับที่ไม่ได้โดดเด่นในด้านสไตล์การนำเสนอ ไม่ได้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอะไรที่แปลกใหม่ให้เป็นที่ยกย่องจดจำเมื่อเทียบกับคนทำหนังชั้นครูหลายท่านในยุคใกล้เคียงกัน
พูดอีกแบบก็คือ หนังของเขาเต็มไปด้วยลีลาเก่า ๆ โบร่ำโบราณ แต่ในด้านการโน้มน้าวผู้ชมให้รู้สึกร่วมคล้อยตาม ความโดดเด่นในการผสมรวมอารมณ์ต่าง ๆ อันหลากหลาย ตั้งแต่ครื้นเครงเฮฮา โรแมนติค (ขอย้ำว่าหวานมาก) และซาบซึ้งสะเทือนใจเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนและแม่นยำ รวมทั้งแง่คิดมุมมองแบบคนเข้าใจโลกเข้าใจชีวิต กล่าวได้ว่าเหล่านี้ลุงโยจิ ยามาดะยอดเยี่ยมไม่เป็นสองรองใคร
ที่น่าทึ่งก็คือ ฉากต่อสู้ดวลดาบ (ซึ่งมีให้เห็นกันเพียงเล็กน้อย) ในไคลแม็กซ์บทสรุปของหนัง เต็มไปด้วยความตื่นเต้นเร้าใจ สง่างาม และขลังเหลือเกิน
ความน่านับถืออีกประการหนึ่งของลุงโยจิ ยามาดะก็คือ การทำหนังโดยยึดมั่นในรูปแบบที่ตนเองถนัดอย่างเหนียวแน่น ไม่เคยหันเหคล้อยตามเปลี่ยนแปลงแนวทางเพื่อให้เข้ากับกระแสหรือยุคสมัย และประสบการณ์ทำงานอันต่อเนื่องยาวนานก็ส่งผลให้คุณลุงกลายเป็นผู้กำกับที่เก๋าสุด ๆ สามารถทำให้ลีลาล้าสมัยซึ่งควรจะแลดูเชยหลงยุค กลับกลายเป็นงานเท่เฉียบขาดทันสมัยขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมประทับใจมากสุดใน Love and Honor ก็คือ บทสรุปทิ้งท้ายว่าด้วยการที่ตัวเอกซามูไรหนุ่มได้เรียนรู้ว่า แก่นแท้สูงสุดของความรัก ได้แก่การรู้จักให้อภัย และการค้นพบความจริงว่า ผู้หญิงที่ตนรัก เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ขาดไม่ได้ เนื่องจากต่างฝ่ายต่างเป็นเหตุผลแรกตลอดจนเหตุผลหลัก ในการดำรงอยู่เคียงข้างเพื่อกันและกัน (ลุงโยจิ ยามาดะแสดงชั้นเชิงอันแยบยลได้งดงามราวกับบทกวี โดยการเทียบเคียงแง่มุมเหล่านี้ ผ่านรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเช่น นกคู่หนึ่งที่เลี้ยงอยู่ในกรง เมื่อคู่ของมันตายจาก นกตัวที่เหลือก็เหมือนปราศจากจิตวิญญาณในการมีชีวิตต่อไป)
ที่สำคัญ ฉากการปรับความเข้าใจระหว่างพระเอกกับนางเอกในตอนจบของหนังเรื่องนี้ น่ารักและหวานสุด ๆ รวมทั้งทำเอาน้ำตาซึมไปเลย (พูดอีกแบบคือ ถ้าแสดงออกมากไปหน่อย น้อยไปนิด ก็อาจมีสิทธิเลี่ยนหรือกร่อยได้ง่ายมากนะครับ) เป็นฉากที่ไต่เลาะอยู่ระหว่างการขาดพร่องจนเข้าข่าย “ทำไม่ถึง” หรืออาจมากล้นเกินไปกระทั่ง “ฟูมฟาย” แต่ลุงโยจิ ยามาดะก็ควบคุมให้ออกมาตรงจุดกึ่งกลาง ซึ่งแปลไทยเป็นไทยได้ว่า “น่าประทับใจ” เหลือเกิน
Love and Honor บอกกล่าวกับเรา ๆ ท่าน ๆ ว่า ความรักทำให้คนตาบอด...ได้เห็นแสงสว่าง
(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ Romantic Comedy นิตยสาร HAMBURGER
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น