อาจเนื่องด้วยผมเป็นคนติงต๊อง (ถ้าเปรียบเป็นเสียงจากเครื่องตอบรับอัตโนมัติทางโทรศัพท์ ข้อความก็น่าจะออกมาทำนองว่า “สันดานต่อไปนี้ ไม่มีสัญญาณประเทืองปัญญาตอบรับ”) รสนิยมความชอบพื้นฐาน จึงโน้มเอียงไปทางสาขาตลกขบขัน จนส่งผลกระทบกับตัวงาน ซึ่งสรุปได้ว่า แลดูเป็นเล่น ไม่น่าเชื่อถือ ไม่ก่อให้เกิดจิตศรัทธาในหมู่สาธุชน
ผมก็เลยชวดอดหมดสิทธิเป็นนักวิชาการดี 1 ประเภท 1 เหมือนอย่างที่เคยใฝ่ฝันมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก (ผู้อยากมีคำนำหน้าว่าดอกเตอร์แทนเด็กชาย) ซ้ำร้ายยังได้รับยศตำแหน่งเป็น “มนุษย์ไร้สาระวีหนึ่ง” อีกต่างหาก
นอกจากตัดพ้อกล่าวโทษต่อโชคลาภวาสนา ชะตาลิขิต และ limit อันจำกัดของสติปัญญา (สำหรับชีวิตไม่เกินร้อย และต่ำกว่านั้นเยอะ) พร้อม ๆ กับแอบฉวยโอกาสด่ารัฐบาล (ชุดไหนก็ได้) ฟรี ๆ ทีนึงแล้ว ผมยังถือว่า นิตยสาร Mad ต้องร่วมด้วยช่วยรับผิดชอบ โทษฐานเป็นต้นเหตุให้ผมย่างเท้าก้าวถลำหัวคะมำหกคะเมนเข้าสู่ “ด้านมืด” ในแวดวง “อวิชาการ”
รักแรกพบประสบการณ์หวิว ระหว่างผมกับ Mad เกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน จู่ ๆ ผมดันนึกฮึกเหิมคิดการใหญ่ แอบไปสมัครเรียนภาษาอังกฤษตอนย่างเข้าสู่วัยรุ่นอาวุโส (เพราะอยากสร้างภาพว่าเป็น “คนคงแก่เรียน” แต่ดูเหมือนคำว่า “คง” จะหล่นหายไปไหนตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่รู้)
เพื่อทดสอบวัดผลวิทยายุทธที่เพิ่งผ่านการร่ำเรียนติวเข้มสด ๆ ร้อน ๆ ผมจึงลองซื้อแม็กกาซีนฝรั่งมาลองอ่านดู ว่าจะรู้เรื่องหรือไม่
ผมตัดสินใจเลือก Mad ด้วยเหตุผลขี้โกงนิด ๆ คือ รูปเยอะทั้งภาพถ่ายและการ์ตูน ตัวหนังสือน้อย ปะเหมาะเคราะห์ร้ายอ่านไม่ออก แปลไม่ถูก ก็ยังพออาศัยดูรูปเล่น ๆ แก้เซ็งเป็นการถอนทุน
เหตุการณ์ถัดจากนั้นก็คือ ติดหนึบงอมแงม หมดเงินค่าหนังสือ Mad ฉบับปกติ Mad Classicฉบับพิเศษราย 2 เดือน (ซึ่งเป็นการรวบรวมเรื่องเก่า ๆ ที่เคยตีพิมพ์นานแล้วจากหลายฉบับมารวมใหม่ในลักษณะยำใหญ่) ฉบับพิมพ์สี่สี (ซึ่งเป็นการหากินกับของเก่าเหมือน Mad Classic เพียงแต่บางกว่า แพงกว่า และสีสวยกว่า) และฉบับพิเศษในรูปแบบของพ็อคเก็ตบุค อีกสารพัดสารพัน
รวมจำนวนเงินที่หมดเปลืองไปกับ Mad (หนังสือที่ตั้งราคาขายโคตรแพง แต่พิมพ์ข้อความประมาณ “ราคาถูกเหลือเกิน” เอาไว้บนปกทุกฉบับ) คาดว่าด้วยเงินเหล่านี้ ผมสามารถกลับไปเรียนภาษาอังกฤษได้อีกหลายคอร์ส อาจถึงขั้นเก่งพอจะสอบโทเฟล หรือส่งเสียตัวเองไปเรียนเมืองนอกได้สบาย ๆ เลยทีเดียว
Mad มีอะไรดีเหรอครับ? จึงทำให้ผมหลงใหลคลั่งไคล้ ถึงขนาดแวะเวียนไปตามร้านหนังสือหรู ๆ ตามห้างใหญ่ ๆ แทบทุกสัปดาห์ (เพื่อรอว่าเมื่อไหร่เล่มใหม่จะวางแผงเสียที) ควบคู่ไปกับการเดินตามล่าฉบับย้อนหลัง ตามร้านขายหนังสือเก่าแถว ๆ ตลาดนัดสวนจตุจักรและเซ็นทรัลลาดพร้าว
ผมไปบ่อยถึงขนาดที่ว่า คุณลุงอาแปะเจ้าของร้าน (คนเดียวนะครับ แต่แกล้ง ๆ เขียนให้ซ้ำซ้อน เพื่อจะได้อาวุโสมาก ๆ) เห็นหน้าผมก็ไม่พูดจาอะไร เดินดุ่มไปรื้อ ๆ ค้น ๆ กองหนังสือ หยิบ Mad ตั้งเบ้อเริ่มมาให้ผมเลือกทันที)
ประโยชน์อันดับแรกที่ได้รับจาก Mad ก็คือ ผมกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญสันทัดกรณี ในการคลุกฝุ่นตามร้านขายหนังสือเก่าทั่วราชอาณาจักร (ยกเว้นจังหวัดต่าง ๆ ที่อยู่นอกเหนือจากกรุงเทพฯ) ดังเช่นในย่อหน้าที่แล้ว
ถัดมาคือ Mad เป็นหนังสือที่ตลกและสนุกมาก มีอารมณ์ขันปรากฏอยู่ทั่วไปหมด ตั้งแต่ปกหน้า เนื้อใน และปกหลัง ขนาดคอลัมน์ตอบจดหมายของผู้อ่าน ยังฮากระจายเลยครับ
ตลกของ Mad โดยลักษณะคร่าว ๆ เป็นอารมณ์ขันในเชิงล้อเลียน หัวข้อที่เขานำมาอำ มีตั้งแต่เพลง วรรณกรรม บทกวี ตัวบุคคลผู้มีชื่อเสียง การเมือง โฆษณาสินค้า ตำรา How-to สารพัดหัวข้อ เหตุการณ์ทั่วไปในชีวิตประจำวัน หนังดังระดับบ็อกซ์ออฟฟิศ (จีน ซิสเคล และ โรเจอร์ อีเบิร์ต 2 นักวิจารณ์หนังชื่อดัง เคยเปิดเผยว่า การ์ตูนล้อเลียนหนังใน Mad ซึ่งเก่งในการจับผิดหรือมองเห็นข้อบกพร่องจากหนังได้อย่างเฉียบคม คือ แบบฝึกหัดบทแรก ๆ ในการเป็นนักวิจารณ์หนังของพวกเขา) ฯลฯ
กล่าวได้ว่า เป็นการล้อเลียนตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ ที่ร้ายกาจคือ Mad ล้อเลียนจิกกัดไม่เว้นแม้กระทั่งการอำย่ำยีตัวเอง
ว่ากันว่า อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในสังคมสหรัฐอเมริกา ถ้าหากยังไม่โดน Mad นำมาล้อ สิ่งนั้นถือได้ว่า “ยังไม่ดังจริง” (ในแง่นี้ การล้อเลียนตัวเองของ Mad ก็คือ บทพิสูจน์ให้เห็นว่าหนังสือเล่มนี้ดังจริงได้เหมือนกัน)
ลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง สิ่งต่าง ๆ ที่ Mad นำมาล้อเลียนตลอด 50 กว่าปี (ฉบับแรกสุดวางแผงเมื่อปี 1952) แท้จริงแล้วก็คือ การสะท้อนภาพวัฒนธรรมร่วมสมัยในด้านต่าง ๆ ของชาวอเมริกันอย่างละเอียดลออ เป็นบันทึกประวัติศาสตร์และสังคมอันทรงคุณค่า เพียงแต่นำมาปรุงแต่งบิดให้เฉไฉออกมาเป็นอารมณ์ขัน
บางครั้งการล้อเลียนเหล่านั้น ก็แฝงนัยยะในเชิงวิพากษ์วิจารณ์อันเจ็บแสบ เช่น เมื่อครั้งที่เกิดกรณีเพศสัมพันธ์อันอื้อฉาวระหว่างประธานาธิบดีบิล คลินตันกับโมนิกา ลูวินสกี Mad จัดแจงเปลี่ยนวาทะอมตะของจอห์น เอฟ เคนเนดีที่ว่า “อย่าถามว่าประเทศชาติจะทำอะไรให้กับท่าน แต่จงถามตัวท่านเองว่าจะทำอะไรให้กับประเทศชาติ” กลายมาเป็น “อย่าถามว่าประธานาธิบดีจะทำอะไรให้กับท่าน แต่จงถามตัวท่านเองว่าจะทำอะไรให้กับประธานาธิบดี”
พร้อม ๆ กับที่มุ่งเน้นตลกโปกฮา Mad ก็ทำหน้าที่สำคัญนำเสนอสาระหลายอย่างต่อสังคมโดยทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการปกป้องคุ้มครองผู้บริโภค จากการโดนเอารัดเอาเปรียบของกระแสหว่านล้อมโฆษณาชวนเชื่อของสินค้าต่าง ๆ ทักท้วงเตือนสติกับค่านิยมบางอย่างที่เป็นอันตราย (เช่น ต่อต้านกฎหมายอนุญาตให้พกอาวุธปืนโดยเสรี)
ท่ามกลางความเหลวไหลไร้สาระที่เคลือบคลุมเปลือกนอก Mad ซ่อนความฉลาดเป็นกรดเอาไว้ข้างในได้อย่างแนบเนียน แม้จะไม่เคยโดนนับจัดอันดับให้เข้าข่าย “ตลกปัญญาชน” แต่ตลกแบบ “ปัญญาซน” ยี่ห้อนี้ก็เป็นกระบี่มือหนึ่ง ซึ่งหาหนังสือเล่มไหนในโลกมาเทียบได้ยาก (มีผู้ยกย่องว่า Mad เป็นประดุจมาร์ค ทเวนส์ของยุคปัจจุบัน)
นอกจากจะเป็นแหล่งอารมณ์ขันชั้นดี เป็นหนังสือที่รายงานความเคลื่อนไหวและกระแสสังคมอย่างฉับไวเฉียบคมแล้ว Mad ยังเป็นอภิมหาคัมภีร์ว่าด้วย “ความคิดสร้างสรรค์” ซึ่งผู้อ่านสามารถเรียนรู้ตักตวงและนำไปปรับใช้ “คิดใหม่ ทำใหม่” ได้ไม่รู้จักจบสิ้น
ตัวอย่างเช่น Mad เสนอความคิดแผลง ๆ เกี่ยวกับบทวิจารณ์หนังในแม็กกาซีนเฉพาะทางหลายยี่ห้อ (โดยหยิบเอาการ์ตูนอมตะเรื่อง “สโนไวท์กับคนแคระทั้ง 7” ของวอลท์ ดิสนีย์ มาเป็นกรณีศึกษา มีการเขียนวิจารณ์จนกลายเป็นหนังเลวร้ายย่ำแย่ในนิตยสารแนว “ปลุกใจเสือป่า” เช่น “เป็นหนังที่จืดชืดน่าเบื่อไม่ดึงดูด ทั้ง ๆ ที่มีสาวสวยใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังกับชายหื่นเจ็ดคน ในกระท่อมน้อยกลางป่าเปลี่ยว ฉากเลิฟซีนอีโรติคแทบไม่มีให้เห็นกันเลย ห่วยแตกจริง ๆ”), เปลี่ยนบทกวีของเชคสเปียร์ให้เป็นลีลาแบบเพลงแร็พร่วมสมัย, นำเอาตัวละครจากเกมฮิต ๆ มาเขียนถึงในคอลัมน์ “ข่าวมรณกรรม” (เช่น นายแพ็คแมน บุรุษร่างกลมตัวเหลือง ได้ถึงแก่ความตายอย่างกระทันหัน ด้วยสาเหตุกินจุไม่บันยะบันยัง และติดประมาทคิดว่าตนเองตายได้สามครั้ง) ฯลฯ
มีตลกฉลาด ๆ ทำนองนี้อีกเยอะใน Mad ซึ่งแจกแจงกันได้ไม่หมดหรอกครับ ลำพังแค่ผลงานการคิดและวาดภาพของอัล เจฟฟี 1 ในชุมนุมมังกรซ่อนพยัคฆ์ของ Mad (ซึ่งมีชื่อเรียกรวม ๆ ว่า The Usual Gang of Idiots) ก็เหลือรับประทานแล้วครับ หมอนี่ขี้เล่น มองโลกในแง่ดี ร่ำรวยไอเดียซน ๆ ระดับอัจฉริยะเรียกพี่เลยทีเดียว)
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมได้อ่านข่าวแวดวงหนังสือจากเว็บไซต์ faylicity.com มีการจัดอันดับ 51 นิตยสารภาษาอังกฤษที่ดีที่สุดตลอดกาล Mad ติดอันดับกับเขาด้วย มิหนำซ้ำยังหล่อมากตรงที่อยู่สูงถึงอันดับ 6 (อันดับหนึ่ง Esquire ช่วงปี 1961-1973, อันดับสอง The New Yorker, อันดับสาม Life ช่วงปี 1936-1972, อันดับสี่ Playboy, อันดับห้า The New York Time Magazine ส่วน Mad ติดอันดับหก ในช่วงปี 1955-1992)
ผมอาจจะหมดเปลืองเงินทองกับการซื้อ Mad มาอ่าน จนอดไปเที่ยวหรือไปเรียนต่อเมืองนอก ปราศจากโอกาสในการเรียนภาษาอังกฤษให้รู้ซึ้งแตกฉาน และพลาดอะไรต่อมิอะไรดี ๆ ไปอีกเยอะในชีวิต
แต่ถ้าย้อนเวลากลับไปเริ่มต้นใหม่ได้ สิ่งเดียวที่ผมจะเปลี่ยนแปลงมันก็คือ ผมจะซื้อ Mad มาอ่านให้เร็วกว่านี้
(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร happening)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น