วันจันทร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2551

The Big Sleep:สืบลากไส้ โดย "นรา"


เป็นที่ร่ำลือกันว่า หนังเรื่อง The Big Sleep กำกับโดยฮาวเวิร์ด ฮอว์คส์ (ดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกันของเรย์มอนด์ แชนด์เลอร์) เต็มไปด้วยเค้าโครงยอกย้อนซ่อนเงื่อน สถานการณ์พลิกผันหักมุมไปมาตลอดเวลา จนยากจะสรุปแบบถ่องแท้แน่ชัดว่า แท้จริงแล้วเกิดอะไรขึ้น?

ตำนานเรื่องเล่าที่ได้รับการกล่าวขานถึงมากสุด ก็คือ ระหว่างการถ่ายทำ ทั้งผู้กำกับและคนเขียนบท อันประกอบไปด้วยวิลเลียม ฟอล์คเนอร์, ลีห์ แบร็คเก็ทท์ และจูลส์ เฟิร์ทแมน พบว่ามีความคลุมเครือเกี่ยวกับตัวละครคนขับรถชื่อโอเวน เทย์เลอร์ ซึ่งไม่ชัดเจนนักว่าถูกลอบสังหาร (โดยฝีมือของใคร) หรือฆ่าตัวตาย? จึงส่งโทรเลขไปสอบถามแชนด์เลอร์เจ้าของเรื่อง คำตอบที่ได้รับก็คือ “ชิบหายแล้ว...ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่ะ ว่าใครเป็นฆาตกร”

เพราะสดับรับรู้มาเช่นนี้นะครับ ผมจึงมีหนัง The Big Sleep ไว้ในครอบครอง เสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงส่งประจำครัวเรือน โดยไม่กล้าแตะต้องหยิบมาดู เนื่องจากกลัวจะค้นพบว่า “โง่กว่าปกติอีกหลายระดับไอคิว”

อย่างไรก็ตาม เมื่ออยู่ในสภาพ “ไม่มีอะไรต้องสูญเสีย” หรืออีกนัยหนึ่ง หลังจากหลงคารมอยู่ในโอวาทเชื่อฟังรัฐบาลมาหลายต่อหลายชุด จนกระทั่ง “ไม่อาจโง่มากยิ่งกว่านี้ไปอีกแล้ว” บวกรวมกับความอยากรู้อยากเห็นอันแรงกล้า ผมจึงหยิบวิดีโอเทปหนังเรื่องนี้ลงมาจากหิ้ง เพื่อลงมือกระทำการพิสูจน์ให้หายสงสัย (ว่าตัวหนังเป็นอย่างไร? ส่วนเรื่องโง่นั้น ไม่มีอะไรต้องสงสัยครับ แน่นอนและชัวร์เหลือเกิน)

ร่ำลือกันอีกว่าหนังเรื่อง The Big Sleep นั้น ใครดูแล้วสามารถเล่าเรื่องย่อได้นับว่าเก่ง

ประเด็นนี้ หลังจากการพิสูจน์เสร็จสิ้นลง ผมยืนยันได้ว่าเป็นความจริง ทว่าไม่ใช่เพราะเรื่องอุดมไปด้วยความสับสนจนยากจะบอกเล่าหรอกนะครับ ปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่า เหตุการณ์รายละเอียดในหนังมีเยอะ บอกเล่าอย่างรวดเร็วกระชับฉับไว ที่สำคัญคือ แต่ละฉากแต่ละตอนเชื่อมต่อกันเนียนสนิท จนรวบรัดละเว้นข้ามไปไม่ได้เลย ครั้นจะเล่าโดยถี่ถ้วน ก็อาจเปิดเผยเฉลยในสิ่งที่ไม่ควร เนื่องจากทุกฉากทุกตอนเป็นความลับทางภาพยนตร์ทั้งสิ้น

ผมคิดว่า ผมสามารถเล่าเรื่องคร่าว ๆ ของ The Big Sleep ได้นะครับ แต่ควรจะต้องมีพื้นที่อย่างต่ำ ราว ๆ สัก 20 หน้ากระดาษ

ดังนั้นเรื่องย่นของเรื่องย่ออีกที จึงสรุปหยาบ ๆ กว้าง ๆ ได้ว่า กล่าวถึงนักสืบเอกชนชื่อฟิลิป มาร์โลว์ ซึ่งได้รับมอบหมายว่าจ้างจากนายพลผู้เฒ่าคนหนึ่ง ให้สืบคดีเกี่ยวกับการขู่กรรโชกตบทรัพย์ที่มีลูกสาวท่านนายพลเข้ามาพัวพัน ทันทีที่ออกปฏิบัติงาน เงื่อนปมความซับซ้อนต่าง ๆ ก็ทวีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เกิดการตายครั้งแล้วครั้งเล่า มิหนำซ้ำบรรดาผู้คนที่ห้อมล้อมเกี่ยวข้อง ล้วนข้ามฟากสลับสถานะไปมา จากน่าไว้วางใจแต่แรกเริ่มกลายเป็นชวนหวาดระแวง จากที่ดูน่าสงสัยเคลือบแคลง กลับกลายแปรเปลี่ยนเป็นตรงกันข้าม รวมทั้งมีปริศนาข้อสงสัยใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา

จริง ๆ แล้วทุกสิ่งล้วนดำเนินตามมาตรฐานท่าบังคับของเรื่องสืบสวนสอบสวนทั่วไปนะครับ แต่ข้อแตกต่างของ The Big Sleep นั้นอยู่ที่ว่า ดำเนินเรื่องรวดเร็วมาก เหตุการณ์คืบหน้าเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา อาศัยบทพูดบทสนทนาเป็นหลัก (มิหนำซ้ำตัวละครและผู้แสดงยังพูดกันเร็วปรื๋ออีกต่างหาก)

ประเด็นสำคัญสุดคือ ในหนังหรือนิยายนักสืบส่วนใหญ่ เมื่อเรื่องราวคืบเคลื่อนไปถึงจุดหนึ่ง คุณนักสืบจะเป็นผู้สรุปสถานการณ์ให้คำอธิบายแก่ผู้ชมหรือผู้อ่านอย่างถี่ถ้วน จนเกิดความกระจ่าง แต่ฟิลิป มาร์โลว์กลับทำหน้าที่เพียงครึ่งเดียว คือ เปิดเผยเฉลยให้ทราบว่าความจริงคืออะไร? โดยไม่มีคำอธิบายเพิ่มเติมว่า เขารู้ได้อย่างไร? ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

ประการถัดมา หนังหยิบยื่นข้อมูลรายละเอียดให้แก่ผู้ชมแบบไม่เปิดโอกาสให้เว้นวรรคพักหายใจ หรือมีเวลานึกทบทวนเรื่องที่ผ่านพ้นไป และมีเหตุการณ์ใหม่ ๆ ระดมเข้ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นจนจบ

อย่างไรก็ตาม ผมควรจะระบุไว้ด้วยเหมือนกันว่า ถึงแม้เรื่องราวจะซับซ้อนย้อนยอก แต่ The Big Sleep ก็ไม่ใช่หนังดูยากหรือดูไม่รู้เรื่อง ตรงกันข้ามมันกลับเป็นงานที่ดูสนุก เร้าใจ ชวนติดตาม บทพูดเฉียบคมแทบทุกประโยค และเข้าข่ายหนังที่ฉลาดเจ้าเล่ห์อย่างร้ายเหลือ

อัตราความเร็วในการเดินเรื่อง และฝีมือในการดึงดูดให้ผู้ชมจดจ่อสนใจกับเหตุการณ์เฉพาะหน้า ทำให้เรา ๆ ท่าน ๆ แทบไม่มีเวลามาสังเกตหารอยโหว่รูรั่วในหนัง (ซึ่งมีอยู่พอสมควร) เพราะจะทำให้สมาธิหลุดจากเนื้อหาถัดไปทันที (จะว่าไปแล้ว การเล่าอย่างรวดเร็ว ก็สามารถนับเข้าข่ายว่า เป็นฝีมือในการกลบเกลื่อนอำพรางปิดซ่อน “รูโหว่” ได้เหมือนกัน ที่เหนือชั้นกว่านั้นก็คือ ทำไปทำมา ความคลุมเครือบางจุดที่ไม่ได้รับการคลี่คลาย กลับกลายเป็นเสน่ห์ชวนจดจำเลยทีเดียว บรรดาหนังคลาสสิคมักจะมีแต้มต่อเช่นนี้ล่ะครับ อะไร ๆ ก็สามารถเปลี่ยนจากร้ายกลายเป็นดีได้เสมอ)

ข้อสงสัยคลางแคลงใจนั้น มาเกิดขึ้นหลังจากดูจบแล้วทั้งสิ้น แต่จะเป็นไรไปล่ะครับ ในเมื่อหนังได้นำพาผู้ชมผ่านประสบการณ์ผจญภัยอันสนุกโลดโผนเร้าใจ และสุดแสนจะคลาสสิคไปเรียบร้อย

น่าทึ่งนะครับ สำหรับหนังที่มีพล็อตพิศดารราวกับเขาวงกต เล่าเรื่องเร็วเหมือนรถด่วน ทิ้งรอยโหว่ข้อสงสัยเยอะแยะไปหมด แต่ยังคงเป็นงานที่มีเสน่ห์ดึงดูดและความบันเทิงอยู่เต็มเปี่ยม (นี่ยังไม่นับรวม บรรยากาศแบบหนังฟิล์มนัวร์, บุคลิกที่เฉียบคมแพรวพราวของฟิลิป มาร์โลว์ โดยฝีมือการแสดงและพลังดาราอย่างฮัมฟรีย์ โบการ์ท รวมถึงมนต์ขลังเฉพาะตัวของนิยายนักสืบฝ่ายบู๊ราคาถูกในแบบที่เรียกกันว่า Hard Boiled)

มีจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งซึ่งผมชอบมาก นั่นคือ จังหวะฆ่าปิดปากและฉากแอ็คชันต่าง ๆ ที่ปรากฎอยู่ในหนัง ทั้งหมดนี้มีปริมาณไม่มาก ทว่าทุกครั้งที่เกิดขึ้น ล้วนเข้าเป้าเปี่ยมประสิทธิภาพเต็มที่ อย่างแรก (คือจังหวะฆ่าปิดปาก) นั้นทำให้ผมถึงขั้นสะดุ้งตกใจและช็อคนิค ๆ ทุกครั้ง ส่วนฉากแอ็คชันทั้งหมด ดูเหมือนง่าย แต่ก็เท่ เหนือชั้น และโชว์กึ๋นของฟิลิป มาร์โลว์ได้อย่างสง่างาม

เหนือสิ่งอื่นใด หนังอย่าง The Big Sleep นั้น สามารถดูซ้ำได้ไม่รู้เบื่อ ไม่ใช่เฉพาะแค่เพื่อจับรายละเอียดสร้างความเข้าใจให้ถ่องแท้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังสามารถดูซ้ำเพื่อละเลียดรสชาติของบทสนทนาอันคมคาย (และเต็มไปด้วยความหมายนัยยะแอบแฝงแง่มุมต่าง ๆ มากมาย เช่น บทพูดระหว่างฟิลิป มาร์โลว์กับบรรดาสาว ๆ หลายต่อหลายครั้ง ถ้าถอดรหัสออกมาแล้ว มันคือ ฉากรักอีโรติคชั้นดีเชียวล่ะครับ ฯลฯ)

เป็นหนังที่ซับซ้อนก็จริงอยู่นะครับ แต่สนุกและดีชิบเป๋งเลย
(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร Flicks เดือนตุลาคม 2550)

ไม่มีความคิดเห็น: