วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2551

ผู้ดีตกสวรรค์ โดย "นรา"


ในบรรดาผลงานทั้งหมดของสแตนลีย์ คิวบริค ผมชื่นชอบประทับใจเรื่อง Barry Lyndon มากสุด ด้วยเหตุผลง่าย ๆ คือ เป็นหนังพีเรียดย้อนยุคที่สวยประณีตน่าตื่นตาราวกับภาพเขียนโบราณ รวมทั้งเค้าโครงที่ดูสนุกครบถ้วนทุกรส

Barry Lyndon ดัดแปลงจากนิยายอมตะเรื่อง The Luck of Barry Lyndon (ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 1844) ผลงานของวิลเลียม เมคพีซ แท็คเคอเรย์ นักเขียนคนสำคัญในแวดวงวรรณกรรมอังกฤษช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งถนัดสันทัดในการเสียดสีความเหลวไหล, ฟุ้งเฟ้อ, จอมปลอมของสังคมชนชนชั้นสูงได้อย่างเฉียบแหลมคมคายและครื้นเครง (นิยายชิ้นเอกอีกเรื่องของแท็คเคอเรย์ที่ได้รับการยกย่องมากคือ Vanity Fair ซึ่งก็มีการนำมาสร้างเป็นหนังเหมือนกัน)

Barry Lyndon เป็นตัวอย่างชั้นดีของวรรณกรรมในแบบที่เรียกกันว่า Picaresque Novel ซึ่งหมายถึง นิยายที่เสนอเรื่องราวการผจญภัยในชีวิตของตัวเอกจำพวกขี้ฉ้อ คดโกง กะล่อน ฉลาดในการเอาตัวรอด มีข้อบกพร่องหลายอย่าง (แต่ไม่ใช่คนเลวร้ายถึงรากลึก ยังมีด้านดีงามบางอย่างตลอดจนเสน่ห์ในตัวที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกเอาใจช่วย) และใช้คุณสมบัติด้านลบต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นเครื่องมือในการเลื่อนฐานะตนเองจนมีหน้ามีตาในสังคม (เช่น แต่งงานกับลูกสาวเศรษฐี หรือได้รับมรดกโดยไม่คาดหมาย)

จุดใหญ่ใจความของ Picaresque Novel ก็คือ การพรรณนารายละเอียดที่สมจริงเกี่ยวกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของตัวละคร, เหตุการณ์โลดโผนสารพัดที่หนุนส่งให้ตัวเอก ไต่เต้าจากระดับล่างสู่เบื้องบน และจากจุดสูงสุดเสื่อมถอยสู่ความตกต่ำ, การสอดแทรกทัศนะ สำนวนโวหารในเชิงเปรียบเปรยประชดประชันของผู้เขียน เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ชี้ให้เห็นความผิดเพี้ยนบกพร่องในสังคม รวมทั้งองค์ประกอบสำคัญที่ขาดเสียไม่ได้อย่างอารมณ์ขัน

Picaresque Novel ถือกำเนิดขึ้นในสเปน และได้รับความนิยมแพร่หลายทั่วยุโรปราว ๆ ช่วงศตวรรษที่ 17 และ 18 รวมทั้งมีอิทธิพลสืบเนื่องมาถึงวรรณกรรมร่วมสมัยในปัจจุบันอีกเป็นจำนวนมาก

เรื่องราวโดยรวบรัดของ Barry Lyndon กล่าวถึงชีวิตระหกระเหินของเด็กหนุ่มชาวไอริชฐานะยากจนชื่อเรดมอนด์ แบร์รี ซึ่งต้องหลบหนีจากบ้านเกิด เพราะเหตุทะเลาะวิวาทกับนายทหารชาวอังกฤษ ด้วยสาเหตุหึงหวงชอบผู้หญิงคนเดียวกัน จากนั้นระหว่างเดินทางเด็กหนุ่มก็โดนปล้นจนหมดเนื้อหมดตัว ต้องจำยอมสมัครเป็นทหารเข้าร่วมรบ “สงคราม 7 ปี” ในยุโรป (เกิดขึ้นเมื่อปี 1756-1763 เป็นความขัดแย้งระหว่างปรัสเซีย ซึ่งมีอังกฤษสนับสนุน กับอีกฝ่ายคือ ฝรั่งเศส ออสเตรีย และรัสเซีย เพื่อช่วงชิงความเป็นใหญ่เหนือดินแดนแถบทวีปอเมริกาเหนือและอินเดีย ผลสุดท้ายปรัสเซียและอังกฤษเป็นฝ่ายชนะ)

ระหว่างสงคราม แบร์รีตัดสินใจเป็นทหารหนีทัพ แต่แล้วก็โดนจับตัวได้ และเผชิญกับสภาพยากลำบากยิ่งกว่าเดิมในกองทัพปรัสเซีย เมื่อศึกสงบลง วีรกรรมที่เคยช่วยผู้บังคับบัญชาระหว่างการสู้รบ ทำให้เขาถูกส่งตัวไปเป็นคนรับใช้ของผู้ดีเชื้อสายไอริชชื่อเชวาลิเยร์ เดอ บาลิบารี เพื่อปฏิบัติการสอดแนมล้วงความลับ ทว่าแบร์รีกลับเปิดเผยความจริง จนกลายเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจจากเจ้านายคนใหม่ ทั้งคู่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จนกระทั่งรอดพ้นเงื้อมมือคู่อริ จากนั้นก็รอนแรมผจญภัยไปทั่ว ด้วยการเดินสายเล่นพนันเอาชนะบรรดาขุนนางและชนชั้นสูง

แบร์รีแปรเปลี่ยนตนเองจากเด็กหนุ่มอ่อนโลก กลายเป็นนักพนันผู้เจนจัดเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว และก้าวไปถึงฝั่งฝันเมื่อสามารถเอาชนะใจภรรยาสาวของเซอร์ชาร์ลส์ ลินดอน กระทั่งส่งผลให้ขุนนางชราที่ป่วยอยู่ก่อนด้วยสารพัดโรคเบียดเบียนรุมเร้า คลั่งแค้นจนหัวใจวายเสียชีวิต

ท้ายที่สุดเรดมอนด์ แบร์รีเข้าพิธีแต่งงานกับเลดี ลินดอน และเปลี่ยนคำเรียกขานตนเองมาเป็นแบร์รี ลินดอน

เหตุการณ์ในครึ่งถัดมา แสดงให้เห็นถึงภาพตรงกันข้าม นั่นคือ ความตกต่ำเสื่อมถอยจนต้องหวนกลับไปสู่จุดเดิมที่ยากไร้ หลังการแต่งงาน แบร์รีปฏิบัติตัวอย่างเลวร้ายกับภรรยา ถือเสมือนว่าเธอเป็นเพียงวัตถุทางเพศ ทั้งทำตัวเจ้าชู้เหลวแหลกนอกใจ ใช้จ่ายหรูหราฟุ้งเฟ้อ พยายามวิ่งเต้นติดสินบนเพื่อให้ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นขุนนางชั้นสูง แต่ที่หนักหนาสาหัสสุดได้แก่ การกดขี่ข่มเหงลูกเลี้ยงอย่างโหดร้าย

ในท่ามกลางนิสัยเลวร้ายสารพัด แบร์รี ลินดอนมีคุณงามความดีเพียงประการเดียวคือ เขาทำตัวเป็นพ่อที่ดี นุ่มนวลอ่อนโยน และรักลูกชายชื่อไบรอันที่เกิดกับเลดี ลินดอนอย่างจริงใจ

เรื่องราวสรุปลงเอยลงด้วยการที่แบร์รี ลินดอน เผชิญกับสภาพเวรกรรมตามสนอง ไบรอันลูกชายผู้เป็นเสมือนชีวิตจิตใจ ประสบอุบัติเหตุตกม้า (ซึ่งแบร์รีซื้อให้เป็นของขวัญวันเกิด) กระทั่งจากไปก่อนวัยอันควร, ความโหดร้ายที่เขากระทำต่อลูกเลี้ยง ส่งผลให้แวดวงผู้ดีคนที่เคยคบหา พากันรังเกียจตีตัวออกห่าง, หนี้สินต่าง ๆ ที่ก่อไว้เริ่มย้อนคืนมารุมเร้าเล่นงาน, ลูกเลี้ยงคู่อริเติบโตเป็นหนุ่ม เดินทางกลับมาท้าดวล ผลก็คือ แบร์รีถูกยิงที่ขา จนกลายเป็นคนพิการ

จากเด็กหนุ่มที่ไม่มีอะไร กลายมาเป็นเศรษฐีร่ำรวยเหลือกินเหลือใช้ ในบั้นปลายชีวิตแบร์รี ลินดอนก็ร่วงหล่นตกสวรรค์กลับมาเป็นเรดมอนด์ แบร์รีผู้ไร้ทรัพย์คนเดิม และต้องอพยพโยกย้ายออกจากสังคมชั้นสูงในอังกฤษ คืนสู่ชนบทในหมู่บ้านแบร์รีวิลด้วยสภาพตกอับเหมือนเมื่อคราวแรกเริ่ม

มีข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่างหนังกับนิยาย ในเรื่องเดิมนั้นเหตุการณ์ทั้งหมดเล่าผ่านมุมมองของแบร์รี และมีอารมณ์โดยรวมขบขันหรรษามากกว่า (โดยเฉพาะรายละเอียดในช่วงที่แบร์รี พยายามเรียนรู้ธรรมเนียมปฏิบัติต่าง ๆ ในการเข้าสู่สังคมผู้ดี ด้วยวิธีใช้เงินหว่านโปรยอย่างหน้ามืดตามัว เพื่อยกระดับตนเอง) ขณะที่หนังโดยฝีมือการเขียนบทและกำกับของสแตนลีย์ คิวบริค เล่าผ่านมุมมองของเสียงบรรยาย (ซึ่งผู้ชมไม่รู้ว่าเป็นใคร) น้ำหนักการเสียดสีต่าง ๆ ไม่ได้สะท้านผ่านภาพหรือเหตุการณ์ที่แบร์รีนำพาผู้ชมไปสัมผัสโดยตรง-ดังที่ปรากฎในตัวเรื่องเดิม-แต่บอกเล่าผ่านเสียงบรรยายที่จงใจยั่วล้อและขัดแย้งกับภาพที่เห็น

ประการสำคัญคือ แม้จะยังคงรักษาท่วงทีเสียดสีวิพากษ์วิจารณ์เอาไว้ ทว่าอารมณ์โดยรวมของหนังก็โน้มเอียงไปทางโศกนาฎกรรมที่เศร้าสะเทือนใจมากกว่า

ความสนุกของหนังเรื่อง Barry Lyndon อยู่ที่วิธีการเล่าเรื่องด้วยจังหวะลีลาค่อยเป็นค่อยไป แต่ละฉากแต่ละตอนดำเนินอย่างเนิบช้า ทว่าความคืบหน้าของเหตุการณ์กลับรวดเร็ว (อธิบายง่าย ๆ ก็คือ เมื่อคิวบริคเล่าแต่ละฉาก เขาจำแนกแจกแจงทุกสิ่งโดยถี่ถ้วน ทั้งบรรยากาศและรายละเอียดต่าง ๆ จากนั้นก็ตัดสู่อีกฉากที่เวลาผ่านพ้นไปแล้วนานพอสมควร) บวกรวมกับการเชื่อมร้อยรวบรัดด้วยเสียงบรรยายแทรกมาเป็นระยะ ๆ ซึ่งไม่เพียงแต่จะคอยสรุปเล่าเรื่อง, อธิบายขยายความเพื่อให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจอันกระจ่างเท่านั้น ทว่าเสียงบรรยายยังเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความบันเทิง (โดยเฉพาะการทำหน้าที่ในด้านอารมณ์ขัน)

ผนวกรวมกับเหตุการณ์โลดโผนยอกย้อนพลิกผันไปมาอยู่ตลอดเวลา เรื่องราวของแบร์รี ลินดอนที่เล่าอย่างเนิบนิ่ง ก็กลายเป็นการผจญภัยที่สะกดตรึงผู้ชมได้ชวนติดตามอย่างยิ่ง

องค์ประกอบสำคัญที่ยอดเยี่ยมไม่แพ้เนื้อเรื่องและวิธีบอกเล่าก็คือ ความประณีตพิถีพิถันของงานสร้างทั้งหมด เช่น เสื้อผ้า, ฉากหลัง, การแต่งหน้า-ทำผม, ดนตรีประกอบสำเนียงไอริชจากการบรรเลงของวงเดอะ ชิฟเทนที่ไพเราะหวานเศร้า, โลเคชันที่ใช้ในการถ่ายทำ โดยเฉพาะฝีมือการกำกับภาพของจอห์น วัลคอตต์ที่เข้าขั้น “สวยจับใจ” ทุกฉากทุกตอน

ความวิเศษพิศดารของ Barry Lyndon อยู่ตรงนี้ล่ะครับ คือ มันเป็นหนังพีเรียดย้อนยุคที่ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่ากำลังดูหนัง “อลังการงานสร้าง” แต่สามารถโน้มน้าวให้ผู้ชมเกิดความเชื่อและยอมรับว่า สิ่งต่าง ๆ ที่เห็นนั้น เป็นภาพในอดีตที่เหมือนและเต็มไปด้วยความสมจริง

พูดให้ล้นเกินสักหน่อย อาจกล่าวได้ว่า สแตนลีย์ คิวบริคทำให้หนังมีบรรยากาศย้อนยุค จนแทบสัมผัสได้ถึงกลิ่นต่าง ๆ ความอ่อนนุ่มเรียบลื่นของผืนผ้าอาภรณ์ที่ตัวละครสวมใส่ รวมถึงร่องรอยขรุขระหยาบแข็งของสารพัดวัตถุ รวมถึงความหนาวชื้นของดินฟ้าอากาศ ฯลฯ

เขียนไปแล้วก็เหมือนโม้และเพ้อเจ้อนะครับ แต่ผมรู้สึกเช่นนี้จริง ๆ ในระหว่างดู
(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ Playtime นิตยสาร Filmmax และแก้ไขขัดเกลาเพิ่มเติม 11 กันยายน 2551)

ไม่มีความคิดเห็น: