ยามล่วงรู้แน่ชัดว่า ความรักที่มีต่อคุณนายเฉิน (ซูไหล่เจิน) เป็นได้แค่ “ความสัมพันธ์ต้องห้าม” และอาจเผชิญคำครหานินทาจากคนรอบข้าง โจวโม๋หวันจึงตัดสินใจจากฮ่องกงไปสิงคโปร์ ทิ้งทุกสิ่งไว้เป็นความหลัง
กระนั้นเขาก็ยังไม่อาจตัดใจเด็ดขาด ก่อนออกเดินทาง ชายหนุ่มฝากข้อความส่งท้าย
“ผมเอง...ถ้าหากเผอิญมีตั๋วเกินมาหนึ่งใบ คุณจะไปกับผมมั้ย?”
เขาเฝ้ารอคอยเธออยู่ในห้องพักโรงแรมที่นัดหมายประจำ กระทั่งมั่นใจว่าเธอไม่มาแน่แล้ว โจวโม๋หวันปิดไฟทุกดวง ก้าวออกจากห้อง และมุ่งหน้าไปยังสิงคโปร์...
คล้อยหลังจากนั้น ซูไหล่เจินเดินทางมายังห้องพักโรงแรมที่นัดหมายประจำ เธอนั่งสงบนิ่งบนเตียงตามลำพัง น้ำตาค่อย ๆ เอ่อท้นไหลออกมา
“ฉันเอง...ถ้าหากเผอิญมีตั๋วเกินมาหนึ่งใบ คุณจะพาฉันไปด้วยมั้ย?”
เหตุการณ์ข้างต้น เป็นช่วงหนึ่งใน In the Mood for Love หนังปี 2000 จากฝีมือกำกับโดยหว่องก๊าไหว่ เล่าถึงความรัก “ผิดที่ผิดเวลา” จนต้องซ่อนเร้นปกปิดไม่ให้ใครอื่นล่วงรู้ รวมทั้งเผชิญความขัดแย้งในใจต่อสำนึกผิดชอบชั่วดี เนื่องจากตัวเอกทั้งสองต่างมี “คนอื่น” อยู่ก่อนแล้ว ท้ายที่สุดทั้งเขาและเธอก็ไม่อาจครองคู่อยู่ร่วม และแยกพรากจากกันไป
เหลือเพียงความทรงจำถึงอดีตที่เลยลับ “เหมือนปีเดือนเคลื่อนผ่าน ดอกไม้บานแล้วพลันโรยรา” อันเป็นความหมายของชื่อเพลง Hua Yang De Nian Hua ซึ่งใช้ประกอบในหนัง รวมทั้งเป็นชื่อในพากย์ภาษาจีนของหนังเรื่องนี้ด้วย
Hua Yang De Nian Hua เป็นบทเพลงยอดนิยมเมื่อปี 1946 ขับร้องโดยโจวเสวี่ยน นักร้องและดาราสาวชาวเซี่ยงไฮ้ที่โด่งดังสุดขีดในช่วงทศวรรษ 1930-1940
เนื้อหาคำร้องสรุปโดยย่นย่อ กล่าวถึงความทรงจำสวยงามเกี่ยวกับบุคคลและสถานที่ อันเป็นที่รัก ซึ่งผ่านเลยแปรเปลี่ยนผิดจากเดิมไปโดยสิ้นเชิง อารมณ์และความหมายคล้ายกับที่โก้วเล้งเคยเขียนไว้ในนิยายกำลังภายในเรื่องหนึ่งว่า “ขณะที่ดอกไม้เบ่งบานสวยงามสุด มักเป็นเวลาที่มันใกล้โรยรา”
นอกจากจะทำหน้าที่อธิบายอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครแล้ว หว่องก๊าไหว่ยังใช้บทเพลงดังกล่าว เพื่อสะท้อนแง่มุม “ถวิลหาอดีต” ถึงฮ่องกงในช่วงทศวรรษ 1960 ทั้งบรรยากาศความเป็นอยู่ที่อบอุ่นเป็นชุมชนอันชิดใกล้ (กระทั่งส่งผลให้ตัวเอกในหนังของเขา ต้องลักลอบซ่อนเร้นนัดเจอกัน เพื่อให้พ้นจากสายตาของเพื่อนบ้าน) เสน่ห์ของหญิงสาวที่แต่งกายด้วยชุดฉ่งซัม (หรือกี่เพ้าในภาษาจีนกลาง) และที่สำคัญคือ อารมณ์ความรู้สึกแปลกแยกโดดเดี่ยวของคนเซี่ยงไฮ้ที่โยกย้ายมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในฮ่องกง (ใน In the Mood for Love ตัวละครที่เข้าข่ายนี้คือ นางเอกซูไหล่เจิน ส่วนในชีวิตจริงหว่องก๊าไหว่ก็มีประวัติความเป็นมาช่วงวัยเด็กใกล้เคียงกัน)
อย่างไรก็ตาม บรรยากาศของฮ่องกงช่วงทศวรรษ 1960, อารมณ์ถวิลหาอดีตที่มีต่อวันคืนสวยงามเก่าก่อน ตลอดจนภาวะ “แปลกหน้า” ในบ้านแห่งใหม่ของชาวเซี่ยงไฮ้ เหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่ “ฉากหลัง” ห้อมล้อมตัวละคร ขณะที่แก่นเรื่องใจความหลักของ In the Mood for Love ยังคงเป็นแง่มุม “ความสัมพันธ์ที่ติดขัดไม่ลงรอย” ระหว่างตัวละคร เช่นเดียวกับผลงานทั้งหมดของหว่องก๊าไหว่
แง่มุมทางเนื้อหา (รวมถึงเหตุการณ์หลายฉากหลายตอน) ใน In the Mood for Love หว่องก๊าไหว่เปิดเผยไว้ว่า เขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องสั้นชื่อ Duidao ของหลิวอี้ชาง
หลิวอี้ชางเกิดที่เมืองเซี่ยงไฮ้ เมื่อเดือนธันวาคม ปี 1918 สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเซ็นต์จอห์นปี 1941 เริ่มต้นทำงานเป็นนักข่าวในระหว่างสงครามที่เมืองหลวงของมณฑลฉ่งชิง จากนั้นก็อพยพโยกย้ายมายังฮ่องกงในปี 1948 และมุ่งมั่นเอาดีในการทำงานเขียนอย่างจริงจัง
งานเขียนของหลิวอี้ชาง ได้รับการยกย่องมากทางด้านเทคนิควิธีนำเสนออันแปลกใหม่ทันสมัยและสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบรรยายให้เห็นถึง “ความคิด-ความในใจ” ของตัวละครที่เรียกกันว่า “กระแสสำนึก” กล่าวได้ว่าเขาเป็นนักเขียนฮ่องกงที่โดดเด่นสุดในแนวทางนี้
นอกเหนือจากผลงานนิยายและเรื่องสั้นชั้นดีจำนวนมาก หลิวอี้ชางยังมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งและเป็นบรรณาธิการให้แก่นิตยสารวรรณกรรมชื่อ Hong Kong Lietary Monthly
ในปี 1991 หลิวอี้ชางประกาศเกษียณตนเองจากการทำงานเขียน แต่ยังคงคึกคักกระตือรือล้นกับบทบาทบรรณาธิการอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
เรื่องสั้นชื่อ Duidao หรือ Intersection ของหลิวอี้ชาง เขียนขึ้นเมื่อปี 1972 โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากลักษณะพิเศษของแสตมป์ที่เรียกกันว่า Tête-bêche (เป็นภาษาฝรั่งเศส อ่านออกเสียงว่า “เท็ท-เบ็ช”)
ความหมายตรงตัวของ Tête-bêche คือ “จากหัวถึงหาง” คำศัพท์ดังกล่าวใช้สำหรับเรียกขานแสตมป์คู่ 2 ดวงพิมพ์ติดกัน และมีรายละเอียดเหมือนกันทุกประการ ยกเว้นตำแหน่งที่สลับกลับด้านตรงข้ามสวนทางกัน
เรื่องสั้นดังกล่าวเล่าถึง “วันหนึ่งในชีวิต” ของตัวละครสองคน คือ ชายวัยกลางคนชื่อชุนอวี้ไป่ และหญิงสาววัยรุ่นชื่ออาซิง
จุดเด่นสำคัญได้แก่ การเล่า 2 เหตุการณ์ผ่านมุมมองของตัวละครทั้งคู่ ตัดสลับไปมาเทียบเคียงกันตลอดเวลา (เวลาปัจจุบันในเรื่องคือ ต้นทศวรรษ 1970) ฝ่ายชายเป็นชาวเซี่ยงไฮ้ที่ลี้ภัยสงครามมายังฮ่องกงตอนต้นทศวรรษ 1950 ขณะที่ฝ่ายหญิงเป็นชาวฮ่องกงโดยกำเนิด
เหตุการณ์เริ่มจากช่วงกลางวัน ชุนอวี้ไป่ยืนรอคอยรถเมล์ พร้อมกับเหลียวมองรอบ ๆ ตัว ถนนหนทาง อาคารบ้านเรือน และผู้คนที่ผ่านไปมา ทำให้เขาหวนรำลึกถึงฮ่องกงในอดีตเมื่อคราวที่เพิ่งเดินทางมาถึงใหม่ ๆ เปรียบเทียบกันแล้ว มันผิดแปลกเปลี่ยนไปมากจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม
ช่วงเวลาเดียวกันอาซิงลงบันไดมาจากแฟลตที่เธอพำนักอาศัย สภาพของมันทรุดโทรมแออัด กลิ่นเหม็นจากส้วมสาธารณะ โชยมาเข้าจมูก จนทำให้เธอคิดฝันไปว่า เมื่อแต่งงานแล้ว เธอจะหาที่พักใหม่ ทำเลดี
จากนั้น ทั้งชุนอวี้ไป่และอาซิง ต่างก็มุ่งหน้าเคลื่อนย้ายตนเองสู่สถานที่ต่าง ๆ เฉียดสวนแคล้วคลาดกันไปมา เช่น เธอเดินผ่านหน้าร้านขายทองที่เพิ่งโดนปล้น ส่วนเขาก็ได้ยินคนขายล็อตเตอรีเล่าเหตุการณ์เดียวกันอยู่ไม่ไกลจากจุดเกิดเหตุ เธอเห็นหญิงคนหนึ่งโดนรถชน เขามองเห็นภาพนั้นจากอีกฝั่งถนน เธอกลับมาบ้าน เข้าห้องน้ำส่องกระจก เพ่งดูร่างเปลือยเปล่าของตนเอง คิดฝันถึงอนาคต เขายืนหยุดหน้าร้านตัดเย็บเสื้อผ้า มองเห็นภาพสะท้อนตนเองปรากฎบนกระจกเงาในร้าน พลันก็พบว่าสังขารตนเองร่วงโรย จนอดไม่ได้ที่จะนึกย้อนถึงอดีตสมัยวัยหนุ่ม
เงื่อนปมสำคัญในเรื่อง คือ การแจกแจงให้เห็นว่า เหตุการณ์ในปัจจุบันที่เกิดขึ้นกับชุนอวี้ไป่และอาซิง ละม้ายใกล้เคียงกันมาก ไม่ว่าจะเป็นเวลา สถานที่ หรือผู้คนรอบข้างที่ปรากฎผ่านสายตาของทั้งคู่ (เช่น พ่อลูกคู่หนึ่งทะเลาะกันในภัตตาคาร ข้าง ๆ โต๊ะที่ชุนอวี้ไป่กำลังกินมื้อกลางวัน ถัดจากนั้นพ่อลูกคู่เดิมก็ทะเลาะกันในแถวผู้คนที่เข้าคิวซื้อตั๋วหนัง และอยู่ข้างหน้าของอาซิง)
สิ่งที่ผิดแผกก็คือ ความคิดคำนึงของตัวละครทั้งคู่ ชุนอวี้ไป่มักนึกย้อนไปถึงวันคืนในอดีต ทั้งสมัยที่รุ่งเรืองเฟื่องฟูอยู่ในเซี่ยงไฮ้ และช่วงระยะแรกที่เพิ่งเดินทางมาถึงฮ่องกงอันสงบเงียบ ด้วยความหวังว่าจะได้พบกับชีวิตที่ดีกว่า ทว่าเมื่อล่วงเลยถึงปัจจุบัน ทุกอย่างกลับตรงกันข้าม เขากลายเป็นชายวัยกลางคนที่อยู่ตามลำพัง ฐานะยากจนลง อาศัยท่ามกลางสภาพห้อมล้อมแออัดวุ่นวายและวิถีชีวิตเร่งรีบ มิหนำซ้ำยังแปลกแยกเปลี่ยวเหงา
อาซิงกลับตรงกันข้าม วัยอ่อนเยาว์ทำให้เธอมีอดีตและความทรงจำไม่มากนัก และปัจจุบันอันน่าเบื่อหน่าย เต็มไปด้วยความรู้สึกโดดเดี่ยว ก็ทำให้เธอหลีกหนีสู่ความใฝ่ฝันถึงอนาคต อยากมีคนรักรูปร่างหน้าตาหล่อเหลาเหมือนพระเอกหนังชื่อดัง เธอวาดภาพสมมติตนเองเป็นดาราและนักร้องชื่อดัง ได้รับการห้อมล้อมสนใจจากผู้คน และมีชีวิตสวยหรูราวกับเจ้าหญิงในเทพนิยาย
ช่วงเวลาเพียงครั้งเดียวที่ชุนอวี้ไป่กับอาซิงได้พบกัน คือ ทั้งคู่นั่งดูหนังเรื่องเดียวกัน โรงเดียวกัน และที่นั่งติดกัน
เมื่อเหลียวมองสบตากัน ชุนอวี้ไป่รำพึงรำพันในใจว่า ผู้หญิงคนนี้หน้าตาสวยไม่ใช่เล่น คล้ายอดีตคนรักเก่ารายหนึ่ง สมัยเมื่อครั้งที่เขายังหนุ่ม
ส่วนอาซิงกลับรู้สึกผิดหวัง เมื่อเห็นชายวัยกลางคนท่าทางน่าเบื่อหน่าย และอดคิดไม่ได้ว่า หากคนที่นั่งอยู่ด้านข้าง เป็นชายหนุ่มหน้าตาหล่อเหลาเหมือนพระเอกหนัง เธอคงมีความสุขมากกว่านี้
เมื่อหนังเลิก อาซิงเดินตามฝูงชนเนืองแน่นออกจากโรง ถัดจากกลุ่มผู้ชมอันคับคั่ง ชุนอวี้ไป่ก้าวเดินอยู่ข้างหลังอาซิง ครั้นออกมายังเบื้องนอก อาซิงมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ ชุนอวี้ไป่หันเดินสู่ทิศเหนือ
ค่ำคืนนั้น ชุนอวี้ไป่กับอาซิงดูหนังทางโทรทัศน์เรื่องเดียวกัน ก่อนทั้งคู่จะง่วงหลับและฝัน
ในฝันของชุนอวี้ไป่ เขานั่งอยู่ท่ามกลางเงาไม้ร่มรื่นออกดอกผลิบาน เคียงข้างด้วยสาวสวยอย่างอาซิง เช่นเดียวกับเมื่อตอนนั่งชิดติดกันในโรงหนัง ได้กลิ่นหอมโชยมาจากเรือนกายของเธอ
หลังจากหนังที่ฉายทางโทรทัศน์จบลง อาซิงเข้านอน ฝันว่าตนเองอยู่บนเตียง ปราศจากกำแพงห้อมล้อมทั้งสี่ด้าน มีเพียงเครื่องเรือนหรูหราราคาแพง เหมือนอย่างที่เคยคิดวาดหวังปรารถนาอยากได้ เคียงข้างเธอคือ ชายหนุ่มหน้าตาหล่อเหลาเหมือนพระเอกหนังชื่อดัง ทั้งคู่ร่างเปลือยเปล่า และจูบกันอย่างดูดดื่มหวานซึ้ง...
ในฝันของชุนอวี้ไป่ หญิงสาวปลดเปลื้องเสื้อผ้ากระทั่งเหลือเพียงร่างเปลือย ขณะที่ตัวเขาเองกลับกลายเป็นเด็กหนุ่มรูปงามราวกับพระเอกหนังชื่อดัง และเริ่มต้นสัมผัสเรือนกายของเธอ...
เมื่อชุนอวี้ไป่ตื่นนอนในเช้าวันถัดมา เขาเดินไปยืนสูดอากาศที่ริมหน้าต่าง เห็นนกกระจอกตัวหนึ่งบินมาเกาะอยู่เบื้องหน้า เพียงชั่วครู่นกกระจอกอีกตัวก็บินมาเกาะใกล้ ๆ นกทั้งสองต่างเหลียวมองกันและกัน
พลันนกตัวหนึ่งก็โผบินสู่ทิศตะวันออก ขณะที่นกอีกตัวมุ่งไปยังทิศตะวันตก...
(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "เงาของหนัง" หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน แก้ไขเพิ่มเติมอีกสี่ห้าคำในการเผยแพร่ครั้งนี้)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น