วันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

หน้าต่างอันล้ำเลิศ

ผมเพิ่งไปดูจิตรกรรมฝาผนัง ณ วัดปราสาท นนทบุรี เมื่อสามวันที่ผ่านมา


ผมสดับรับรู้ถึงชื่อเสียงและความโดดเด่นของจิตรกรรมฝาผนัง วัดปราสาท มาตั้งแต่ครั้งที่เริ่มต้นสนใจได้ไม่นาน จากหนังสือสำคัญ 2 เล่ม คือ ‘จิตรกรรมฝาผนังสกุลช่างนนทบุรี’ ซึ่งเป็นรายงานการสำรวจโดยท่านอาจารย์ศิลป์ พีระศรีและคณะเมื่อปีพ.ศ. 2504

ส่วนอีกเล่มชื่อยาวหน่อย คือ ‘จิตรกรรมสมัยอยุธยาตอนกลางและตอนปลายระยะแรก สกุลช่างนนทบุรี ณ วัดชมภูเวกและวัดปราสาท’ เขียนโดยอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ

ทั้งสองเล่มนี้ ผมถ่ายเอกสารมาจากห้องสมุดอีกที ตัวเล่มจริงยังเสาะหาอยู่และยังหาไม่เจอ

ได้อ่านและดูภาพถ่ายเอกสารเลือน ๆ ที่ปรากฏในหนังสือแล้ว ผมก็อยากตรงดิ่งไปวัดปราสาททันที รีบตรวจตราดูแผนที่เพื่อค้นหาทำเลที่ตั้งของวัด แล้วก็ต้องถอดใจยอมแพ้ เพราะไกลจากบ้านผมและมีเส้นทางสัญจรเดินทางที่ไม่คุ้นไม่สะดวก

มีอุปาทานมาลวงความรู้สึกของผมอย่างน่าประหลาด เหมือนเส้นผมบังภูเขา กล่าวคือ ตลอดเวลาผมคิดแต่ว่า หนทางไปวัดปราสาทนั้น จะต้องนั่งเรือข้ามฟากที่ท่าน้ำนนท์ แล้วก็เดินเท้าไปจนถึงวัด

ผมถอดใจตรงนี้นี่เอง คือ คำนวณคร่าว ๆ จากแผนที่แล้ว เส้นทางระหว่างท่าน้ำนนท์ฟากบางศรีเมืองมุ่งสู่วัดปราสาท น่าจะตกอยู่ราว ๆ 5-7 กิโลเมตร

ระยะ 5-7 กิโลเมตร ถ้าเป็นย่านใจกลางเมืองที่ผมคุ้นเคย ใช้เวลาสักชั่วโมงถึงชั่วโมงครึ่งก็น่าจะ ‘เอาอยู่’ แต่เส้นทางเท่า ๆ กันในแถบถิ่นแปลกตาไม่คุ้นเคย ความรู้สึกนั้นเหมือนไกลคูณเข้าไปสองสามเท่าตัวเลยทีเดียว นี่ยังไม่นับรวมว่าจะหลงทิศผิดทางหาวัดไม่เจอ และสิ่งจุกจิกปลีกย่อยอีกสารพัดประการ

บวกรวมกับภาพจำเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ผมเคยข้ามฟากไปเที่ยวบ้านเพื่อนที่บางศรีเมือง พ้นเลยท่าเรือข้ามฟากแล้ว เป็นถนนฝุ่นดินแดง เรียงรายไปด้วยสวนผัก เปลี่ยวและปลอดจากอาคารบ้านเรือนชุมชนใด ๆ สภาพเหมือนต่างจังหวัดยิ่งกว่าต่างจังหวัดหลาย ๆ แห่งรวมกันเสียอีก

ในรายงานการสำรวจของอาจารย์ศิลป์ พีระศรีและข้อเขียนของอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ ล้วนเล่าไว้ถึงการเดินทางที่ยากวิบากพอสมควร ต้องนั่งเรือลัดเลาะไปตามลำคลอง และเดินตัดฝ่าสวนอีกร่วม ๆ สิบนาทีกว่าจะไปถึงวัด

ต่าง ๆ นานาเหล่านี้ทำให้ผม คิดเอง เชื่อเอง ตีตนไปก่อนไข้ ไม่สบายไปก่อนป่วย จนกำหนดนึกในใจไว้ว่า วัดปราสาทน่าจะเป็นแหล่งลำดับท้าย ๆ ในการตระเวนดูจิตรกรรมฝาผนังของผม

จนเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้เอง จู่ ๆ ผมก็ฉลาดขึ้นหรือไม่ก็โง่น้อยลง พลันฉุกคิดได้ว่า เมื่อนั่งเรือข้ามฟากแล้ว สภาพปัจจุบันบริเวณละแวกนั้น น่าจะเจริญขึ้นและเปลี่ยนไปตามยุคสมัย มีรถประจำทาง หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือระบบขนส่งมวลชนชนิดใดชนิดหนึ่งให้พึ่งพาอาศัย

คิดได้ดังนั้น ผมก็จัดกระเป๋าตระเตรียมอุปกรณ์ อันประกอบไปด้วย กล้องถ่ายรูป กล้องส่องทางไกล สมุดสเก็ตช์ภาพ ดินสอ ปากกา กบเหลาดินสอ และหนังสือตำรับตำรา 2-3 เล่มที่กล่าวถึงจิตรกรรมฝาผนัง วัดปราสาท

อย่างหลังเตรียมไว้สำหรับอ่านในโบสถ์ กรณีที่เกิดข้อสงสัยฉับพลันขึ้นมาขณะดูภาพเขียน รวมทั้งใช้เเทียบเคียงกับของจริง เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาค้างคาใจ

ผมเคยมีประสบการณ์มาแล้ว คือ ไปวัดเพื่อดูภาพเขียนและถ่ายรูปเก็บไว้ พอกลับมาเทียบเคียงกับในหนังสือ ก็มักจะพบเห็นบางภาพ บางมุม ที่ซ่อนเร้นหลงหูหลงตาหาไม่เจอระหว่างดู กลายเป็นเรื่อง ‘ไม่แล้วใจ’

การพกตำรับตำราเข้าวัด ป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ได้สนิท เหมือนมีครูบาอาจารย์คอยชี้แนะให้เลือกสังเกตว่า มีภาพหลบซ่อนตรงไหนบ้างที่ควรดูพิจารณาอย่างใส่ใจ

ส่วนอุปกรณ์พกพาอื่น ๆ ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องตลกหรือพฤติกรรมของเด็กเนิร์ดนะครับ แต่ผมยืนยันได้ว่า ทุกอย่างได้ใช้สอยสมประโยชน์ทั้งสิ้น

จะว่าไปแล้ว อุปกรณ์ประกอบฉากของผมยังไม่เต็มยศครบถ้วน ยังขาดไฟฉายและบันไดแบบพกพา

ต้องยอมให้ไม่ครบนะครับ มิฉะนั้นสภาพทุลักทุเลของผม จะเหมือนโจรบุกเข้าโจรกรรมขโมยสมบัติในโบสถ์ มากกว่าจะมีสารรูปอย่างคนมาดูจิตรกรรมฝาผนัง

ผมไปวัดปราสาท โดยนั่งเรือด่วนไปลงท่าน้ำนนท์ ต่อเรือข้ามฟาก และเรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้างมุ่งตรงสู่วัด (ค่าโดยสาร 30 บาท ถูกมากเมื่อเทียบกับระยะทาง) อีกวิธีคือ เมื่อนั่งเรือข้ามฟากแล้ว จะมีรถเมล์สายท่าน้ำนนท์-บางบัวทอง และท่าน้ำนนท์-บางใหญ่ วิ่งผ่านหน้าวัด ญาติโยมสามารถเลือกได้ตามอัธยาศัย

สภาพรวม ๆ ตลอดเส้นทาง เปลี่ยนไปจากอดีตไม่เหลือเค้าเดิม เหมือนผมกลับชาติมาเกิดใหม่นู่นเชียว

ผมกะเวลาให้ไปถึงวัดปราสาทราว ๆ ช่วงบ่ายโมง ด้วยเหตุผลสองสามข้อ

แรกสุดคือ เพื่อจะได้มีเวลานานเพียงพอดูภาพเขียนอย่างละเอียดถี่ถ้วน และเผื่อเว้นสำหรับการเดินทางกลับได้พอเหมาะพอดี

ประการต่อมา ผมเพิ่งอ่านเจอข้อมูลว่า โบสถ์วัดปราสาท (ซึ่งงามมากทุกส่วนทั่วทั้งโบสถ์ ตั้งแต่ทรวดทรงโครงสร้างรวม ๆ และสิ่งประดับตกแต่งทั้งหมด) มีความพิสดารเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างหนึ่ง

ตัวโบสถ์นั้นเป็นโบสถ์แบบมหาอุด ซึ่งหมายถึงโบสถ์ที่ผนังด้านข้างปิดทึบ ปราศจากหน้าต่าง สันนิษฐานในเชิงช่างว่า เจตนาในการสร้างก็เพื่อกำหนดควบคุมแสงเงา มิให้สว่างจ้าเกินควร

หัวใจสำคัญอย่างหนึ่งในการสร้างความงามของศิลปะไทยเมื่อครั้งอดีตนั้น ได้แก่ การคำนวณสัดส่วนของแสงเงา ความมืด ความสว่าง ภายในอาคารสิ่งก่อสร้างให้เหมาะเจาะลงตัว

แสงที่ค่อนข้างมืดทึมในโบสถ์นั้น ช่วยขับเน้นสีทองสุกปลั่งขององค์พระพุทธรูปให้งามเด่นยิ่ง ๆ ขึ้น

โบสถ์วัดปราสาท มีความแปลกพิเศษอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนที่ไหนแห่งใด

กล่าวคือ ผนังด้านข้างไม่มีหน้าต่าง เข้าลักษณะโบสถ์แบบมหาอุด ซึ่งมีความเชื่อสืบต่อกันมาอีกอย่างว่า เมื่อทำพิธีกรรมปลุกเสก จะยิ่งทวีความขลังศักดิ์สิทธ์ แต่ที่บริเวณผนังด้านหลังโบสถ์นั้น ครูช่างผู้ออกแบบได้เจาะช่องหน้าต่างเล็ก ๆ ไว้ ด้วยเหตุผลอันแยบยลชาญฉลาด

หน้าต่างผนังโบสถ์ด้านหลังนี้ซ่อนอย่างมิดชิด ชนิดไม่สังเกตก็หาไม่พบ

ผมเล่าอย่างนี้ดีกว่า เมื่อเข้าไปในโบสถ์นั้น จะเห็นองค์พระประธานและพระพุทธรูปเกาะกลุ่มเรียงราย

ฐานชุกชีหรือฐานที่ตั้งองค์พระประธาน ตั้งวางอยู่เกือบแนบชิดติดผนังหลังโบสถ์ หน้าต่างดังกล่าวจึงโดนบดบังพ้นจากสายตาการพบเห็น

ถ้าไม่ได้อ่านเจอมาก่อน ผมก็ไม่มีทางรู้หรอกนะครับว่า มีหน้าต่างอยู่หลังองค์พระประธาน

ความพิเศษของหน้าต่างบานนั้น ไม่ได้อยู่ที่ซ่อนเร้นหลบสายตาคนอย่างเนียนสนิท แต่อยู่ที่ศักยภาพเมื่อเปิดออกมา

และเวลาอันเหมาะนั้นก็คือ ช่วงบ่าย

ด้านหน้าหรือทางเข้าของโบสถ์วัดปราสาท หันสู่ทิศตะวันออก แดดเช้าซึ่งร้อนหรือไม่ร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ จะส่องให้ความสว่างบริเวณภายใน ขณะที่แดดบ่ายจะส่องตรงจากหลังโบสถ์ผ่านบานหน้าต่าง

ความล้ำลึกพิสดารอยู่ตรงนี้นี่เอง คือ ยามบ่ายเมื่อเปิดหน้าต่างดังกล่าวแล้ว หากลองนั่งเพ่งมองดูองค์พระประธาน จะปรากฏเป็นภาพในลักษณะย้อนแสงเล็กน้อย

กล่าวคือ พระพุทธรูปพระประธาน ยังคงเห็นเค้าโครงรายละเอียดต่าง ๆ ครบถ้วน แต่ลักษณะย้อนแสงก็ส่งผลให้เส้นรอบนอก ตั้งแต่ช่วงแขน ลำตัว พระเศียร ปรากฏแสงสว่างเรือง ๆ โดยรอบ คล้ายมีรัศมีเปล่งประกาย จนกลายเป็นภาพที่งามจับตาจับใจ และให้ความรู้สึกขลังศักดิ์สิทธิ์เพิ่มขึ้นอย่างน่าทึ่ง

ตอนที่ผมเข้าไปในโบสถ์วัดปราสาท หน้าต่างบานนั้นปิดสนิทอยู่นะครับ ผมจึงทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ศิลปะ ด้วยการไปเปิดหน้าต่าง แล้วก็ได้เห็นประจักษ์แก่สายตาว่า คำร่ำลือที่เคยล่วงรู้มา เป็นความจริงแท้แน่นอนทุกประการ

สวย อัศจรรย์ ด้วยหลักการสร้างแหล่งแสงผ่านกรรมวิธีเรียบง่าย แต่อาศัยความคิดและการออกแบบด้วยสติปัญญาอันลึกซึ้ง

เห็นแล้วก็ต้องกราบคารวะงาม ๆ ทั้งองค์พระพุทธรูปและครูช่างผู้ออกแบบก่อสร้าง

ผมมีข่าวดีและข่าวร้ายมาเล่าสู่กันฟัง

ข่าวดีคือ โบสถ์วัดปราสาทนั้นเปิดทุกวัน การเข้าชมเป็นไปโดยง่ายสะดวก ไม่ต้องขออนุญาตจากพระ

ข่าวร้ายก็คือ ด้วยสภาพเก่าแก่ชำรุดของภาพจิตรกรรมฝาผนัง จึงมีป้ายประกาศติดไว้ว่า ห้ามถ่ายรูป

ผมปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด และเห็นพ้องว่าเป็นข้อห้ามอันเหมาะควรอย่างยิ่ง นี่จึงเป็นการดูจิตรกรรมฝาผนังครั้งแรก ที่ผมไม่มีโอกาสได้ถ่ายรูปเก็บไว้ดูย้อนหลัง และทำได้แต่เพียงแค่ถ่ายภาพบริเวณภายนอกของโบสถ์

ภาพแสงเงาจากหน้าต่างหลังโบสถ์ที่นำมาประกอบข้อเขียนชิ้นนี้ (ซึ่งแตกต่างกับการมองของจริงด้วยตาเปล่าอยู่พอสมควร) ผมค้นเจอจากในเว็บไซต์แห่งหนึ่ง แต่พลั้งเผลอลืมจดชื่อไว้ ต้องขออภัยท่านเจ้าของภาพ สำหรับการถือวิสาสะหยิบยืมนำมาใช้โดยมิได้ขออนุญาตและระบุเครดิต

ผมจินตนาการเพิ่มเติมได้อีกอย่างว่า เมื่ออดีตครั้งที่ภาพเขียนบนผนังยังสมบูรณ์ครบถ้วน โทนสีแดงชาดครอบงำทั่วผืนหนังทุกด้าน ตลอดจนสีอื่น ๆ ที่แทรกปนในรายละเอียดของงานจิตรกรรม บวกรวมกับแสงอันเกิดจากหน้าต่างด้านหลัง

ภาพรวมที่ปรากฏในโบสถ์วัดปราสาท จะต้องเป็นอีกภาพในศิลปกรรมไทยที่งามสุดยอดมาก ๆ จนน่าตกตะลึง





















ไม่มีความคิดเห็น: