จากริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตรงข้ามบางกะเจ้า พระประแดง หากพายเรือลัดเลาะเข้ามาตามคลองชั่วระยะไม่เกิน 5 นาที จะพบโบสถ์ขนาดเล็กหลังหนึ่ง ตั้งสงบอยู่ท่ามกลางอ้อมโอบร่มครึ้มของถิ่นย่านอันเป็นละแวกสวนผลไม้
สภาพดังกล่าวคลับคล้ายการพรางตัวโดยธรรมชาติ ปกปิดซ่อนเร้นโบสถ์หลังนั้นไว้จากการรับรู้ของโลกภายนอกอย่างมิดชิด เป็นเวลาเนิ่นนานหลายร้อยปี
เพิ่งมาเป็นที่รับรู้ว่ามีโบสถ์หลังนี้ ก็ต่อเมื่อปีพ.ศ. 2518 ขณะกำลังมีการตัดถนนรัชดาภิเษก ช่วงระหว่างเชิงสะพานกรุงเทพฯ มายังท่าเรือคลองเตย แนวถนนที่ตัดพาดผ่านหน้าวัดช่องนนทรี เป็นเหตุให้โบราณสถานนั้น เผยปรากฏออกมา
ครูบาอาจารย์ทางด้านโบราณคดีหลายท่าน พิจารณาจากรูปทรงของโบสถ์ ลักษณะเด่นเฉพาะตรงส่วนโค้งแหลมของช่องประตู-หน้าต่าง อายุของใบสีมา แบบแผนลีลาการวาดของภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในโบสถ์ แล้วสรุปประมวลลงความเห็นว่า น่าจะสร้างขึ้นเมื่อประมาณสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (ราว ๆ พ.ศ. 2200) หรืออาจจะเป็นถัดหลังจากนั้นมาอีกไม่เกิน 50 ปี
บันทึกไว้ว่า นายเสน่ห์ ถนอมทรัพย์ ครูวาดเขียนโรงเรียนวัดทรงธรรม พระประแดง สมุทรปราการ เป็นท่านหนึ่งซึ่งมีโอกาสได้แวะชมโบสถ์นี้ แล้วเขียนจดหมายมาถึงกองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ แจ้งให้ทราบว่า บริเวณภายในโบสถ์ มีภาพเขียนฝีมือเก่าแก่ทรงคุณค่ามาก
ส่งผลให้เกิดการเดินทางไปถ่ายภาพบันทึกไว้ พร้อมทั้งเขียนบทความ ลงพิมพ์เผยแพร่ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 2 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2519
นับตั้งแต่นั้นมา วัดช่องนนทรีก็กลายเป็นโบราณสถานที่สำคัญยิ่ง และส่งผลสะเทือนใหญ่หลวงต่อแวดวงวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะไทย โดยเฉพาะในเรื่องจิตรกรรมฝาผนัง
รวมถึงคุณค่าทางอ้อม คือเป็นหลักฐานเด่นชัดอีกชิ้นหนึ่ง นอกเหนือจากเอกสารของชาวต่างชาติ ยืนยันว่าเมื่อครั้งอดีต บริเวณสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทางแถบนี้ เคยเป็นชุมชนและมีความเจริญ ในฐานะเมืองหน้าด่านของกรุงศรีอยุธยา มาก่อนจะมีการสร้างบ้านแปงเมืองเป็นกรุงธนบุรีและกรุงเทพฯ ร่วมร้อยปี
ผมเริ่มสนใจตระเวนดูจิตรกรรมฝาผนังตอนปลายปีพ.ศ. 2551 และรู้ซึ้งถึงกิตติศัพท์อันเป็นที่เลื่องลือของรูปเขียน ณ วัดช่องนนทรีถัดจากนั้นไม่นาน
อาการข้างเคียงซึ่งผมเชื่อว่า คนชอบดูจิตรกรรมฝาผนังแบบติดงอมแงม น่าจะเป็นกันทุกคน นั่นคือ โรคคลั่งไคล้ภาพเขียนสมัยอยุธยา ทราบข่าวว่ามีอยู่ที่วัดไหน จังหวัดใด ต้องดั้นด้นดิ้นรนไปดูให้ประจักษ์แก่สายตาตนเองเพื่อความแล้วใจ ไม่งั้นนอน ‘อาย’ ตาไม่หลับ
เสน่ห์ข้อแรกก็คือ จิตรกรรมสมัยอยุธยา หลงเหลือตกทอดถึงปัจจุบันเพียงน้อยนิด เข้าข่ายหายากมากถึงยากที่สุด ความรู้สึกจึงเป็นว่า ยิ่งมีจำนวนจำกัดก็ยิ่งทวีคุณค่า และเร้าใจชวนดูมากกว่าปกติ (เขียนไปแล้วผมก็เริ่มเข้าใจหัวอกของบรรดาเซียนพระเครื่องนะครับ)
ถัดมา จิตรกรรมสมัยอยุธยา สร้างทำขึ้นในช่วงที่งานช่างและศิลปะวิทยาการแขนงต่าง ๆ เจริญรุ่งเรืองสุดขีด จึงมีความงามที่จับอกจับใจอย่างยิ่ง
จิตรกรรมสมัยอยุธยานั้น แค่เห็นผ่านตาเพียงไม่กี่ครั้ง ผู้ชมก็สามารถจดจำลีลาแบบแผนได้ไม่ยาก เนื่องจากมีเอกลักษณ์เฉพาะโดดเด่นมาก
มีวัดหลายแห่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่า ปรากฏร่องรอยของภาพเขียนสมัยอยุธยาตอนปลาย เช่น วัดโบสถ์สามเสน, วัดกลางวรวิหาร ปากน้ำ สมุทรปราการ, วัดชมภูเวก และวัดปราสาท นนทบุรี
ในจำนวนนี้มีเพียงวัดปราสาทเท่านั้น ที่เป็น ‘อยุธยาแท้’ (แต่ก็ชำรุดลบเลือนไปมาก) วัดอื่น ๆ ที่เหลือ ล้วนผ่านการเขียนซ่อมในสมัยรัตนโกสินทร์ ผลงานจึงปนเปกันระหว่างสองสกุลช่าง สังเกตฝีมือเดิมได้ยาก
ภาพเขียนฝาผนัง วัดช่องนนทรี จึงเป็นเพียงแห่งเดียวในกรุงเทพฯ ที่ยังมีจิตรกรรมสมัยอยุธยา คงเหลืออยู่ในสภาพสมบูรณ์มากสุด และเป็นฝีมือดั้งเดิมล้วน ๆ ไม่เคยผ่านการเขียนซ่อมวาดทับใด ๆ มาเจือปนอยู่เลย (การบูรณะซ่อมแซมโดยกรมศิลปากร เกิดขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2524- เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2525 และอนุรักษ์โดยวิธี ผนึกชั้นสีที่ใกล้จะหลุดร่อนให้มั่นคงแข็งแรง แล้วเคลือบน้ำยาลงบนพื้นผิว ปราศจากการวาดเพิ่มหรือเขียนทับ แค่รักษาส่วนที่ยังหลงเหลืออยู่)
คุณค่าต่อมา คือ วัดช่องนนทรี มีอายุเก่าแก่และอยู่ในกลุ่มศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลายระยะต้น งานจิตรกรรมฝาผนังยุคนี้ เหลือตกทอดมาถึงปัจจุบันน้อยสุด รวมทั่วประเทศอาจมีจำนวนไม่ถึง 3 แห่ง
ผมควรเล่าไว้ด้วยว่า โดยปกติทั่วไป ความคงทนของจิตรกรรมฝาผนังตามวัดวาอารามต่าง ๆ ในบ้านเรา มีอายุขัยเฉลี่ยขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 100 ปี เนื่องจากสภาพดินฟ้าอากาศในเขตร้อนชื้น เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ชำรุดลบเลือนได้ง่าย
ภาพวาดทุกแห่ง (ย้ำเลยนะครับว่าทุกแห่ง) ล้วนเสียหายบริเวณผนังตอนล่าง เพราะความชื้นจากพื้นดินแทรกซึม
ความเสียหายขั้นต่อมาคือ ปัญหาหลังคารั่ว น้ำฝนหยดชะผ่านพื้นผิวของภาพวาดจนเลอะเลือน
ประการสุดท้ายคือ ความเก่านานทำให้ผนังปูนแตกกะเทาะหลุดร่อน
ข้างต้นนั้นเป็นความเสียหายจากธรรมชาติ ไม่นับรวมเหตุชำรุดทรุดโทรมจุกจิกปลีกย่อยอีกมากมายเพราะน้ำมือมนุษย์
ความน่าทึ่งของจิตรกรรมฝาผนัง วัดช่องนนทรี คือ พ้นจากช่วงบริเวณตอนล่างประมาณเมตรกว่า ๆ จากพื้น ซึ่งเลือนเกือบหมด (และเห็นร่องรอยว่า เคยมีภาพวาดตลอดทั่วทั้งผนังจนเกือบถึงพื้น) สูงถัดจากนั้นไป มีเสียหายไปบ้างด้วยรอยชะของน้ำฝน แต่โดยรวมที่เหลือ ถือว่าอยู่ในสภาพค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับความเก่านาน
ฟังดูประหลาดสักหน่อยนะครับว่า จิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยา มีความคงทนกว่าภาพเขียนสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งวาดขึ้นทีหลัง แต่พังเร็วเสียหายง่ายกว่า
เหตุผลมีอยู่ 2 ข้อ อย่างแรกเป็นเพราะกรรมวิธีเตรียมพื้นผนังก่อนเขียน ตั้งแต่การฉาบปูน และขั้นตอนลงพื้น ซึ่งพิสดารยุ่งยากซับซ้อน งานช่างสมัยอยุธยามีความประณีตพิถีพิถันมากในขั้นตอนนี้
ภาพเขียนสมัยอยุธยา ส่วนใหญ่ก่ออิฐผนัง แล้วฉาบปูนเคลือบทับเพียงแค่บาง ๆ แต่เนื้อปูนนั้นเหนียวแน่น (เป็นเรื่องเกี่ยวกับเคล็ดลับสูตรเฉพาะของช่าง ซึ่งมีไม่เหมือนกัน และต่างก็ล้วนปกปิดหวงแหนไม่ให้ใครอื่นล่วงรู้) รวมถึงกรรมวิธีแก้ความเค็มของปูน ด้วยการใช้น้ำต้มใบขี้เหล็กชโลมผนัง แล้วล้างซ้ำนับไม่ถ้วนครั้ง จนกว่าปูนจะจืด และทดสอบโดยใช้ขมิ้นขีดลงบนผนัง หากเป็นสีแดงแสดงว่ายังใช้การไม่ได้ ต้องล้างใหม่จนกว่าขมิ้นจะเป็นสีเหลืองตามธรรมชาติ
เหตุผลต่อมาที่ทำให้ภาพเขียนสมัยอยุธยามีความคงทน ก็คือ วิธีการวาด
จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ใช้วิธีระบายสีทับกันหลายชั้น เริ่มจากลงพื้นเข้ม (โดยมากนิยมใช้สีดำ เขียวเข้ม หรือน้ำตาลแก่) แล้วจึงวาดตัวบุคคล ปราสาทราชวัง ภูเขา พุ่มไม้ ลงไปทีละชั้น และมีการปิดทองอย่างอลังการแพรวพราวไปทั่ว เพื่อให้ภาพตัวบุคคลโดดเด่นลอยออกมาจากพื้นหลังสีทึบเข้ม
ส่งผลให้เนื้อสีที่เคลือบลงบนผนัง มีความหนา นานวันเข้าก็แข็งแห้ง โดนลม ฝน ร้อน ชื้น ก็หลุดแตกกะเทาะออกมาได้ง่าย
ยกตัวอย่างเปรียบเทียบ จิตรกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ก็ประดุจดังวาดด้วยสีน้ำมัน ส่วนภาพสมัยอยุธยาก็เหมือนระบายด้วยสีน้ำ
กรรมวิธีการวาดที่แตกต่างกัน ระหว่างจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยากับรัตนโกสินทร์ มีสาเหตุที่มาอยู่นะครับ นั่นคือ สืบเนื่องจากแนวคิดในการสร้างโบสถ์
สมัยรัตนโกสินทร์นิยมสร้างโบสถ์ให้มีขนาดใหญ่ และสร้างช่องประตู-หน้าต่างจำนวนมาก เพื่อให้เกิดแหล่งแสงและความสว่าง เป็นเหตุโยงใยไปถึงการกำหนดโทนสีสำหรับเขียนภาพ ต้องเลือกใช้สีมืดเข้มเป็นการลดทอนความจ้าสว่าง สร้างบรรยากาศขรึมขลังศักดิ์สิทธิ์ภายในโบสถ์
ต่างจากสมัยอยุธยาที่สร้างโบสถ์ขนาดเล็กย่อมกว่า (อาจมีบ้างที่ขนาดค่อนข้างใหญ่) รวมทั้งไม่นิยมเจาะช่องหน้าต่าง หรือปราศจากประตูทางเข้าด้านหลังโบสถ์
บริเวณภายในของโบสถ์สมัยอยุธยาส่วนใหญ่ จึงมีแหล่งแสงจำกัด ค่อนข้างมืด ครูช่างเขียนท่านจึงแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยเลือกใช้สีสว่าง ผสมสีให้ใสและมีเนื้อสีบาง ๆ และไม่ลงสีทับกันหลายชั้น
วิธีนี้ทำให้ภาพเขียนสมัยอยุธยา แลดูโปร่งเบา สบายตา และเนื้อสีบาง ๆ แนบติดกับผิวผนังค่อนข้างสนิท จึงหลุดร่อนแตกกะเทาะยาก
รวมถึงเทคนิควิธีวาดอย่างหนึ่ง คือ ทาฉาบสีขาวทับลงเคลือบผิวปูนทั่วทั้งผนัง และใช้สีนั้นเป็นพื้นหลัง ตรงไหนบริเวณใดต้องการให้เป็นสีขาว เช่น ผิวเนื้อของตัวละคร ลายดอกไม้ร่วงบนพื้นแดง ใช้วิธีปล่อยเว้นพื้นขาวนั้นว่างไว้ แล้วระบายสีตัดเส้นรอบนอกจนเกิดกลายเป็นรูปทรงที่ต้องการ
คล้าย ๆ กับการวาดรูปด้วยสีพาสเทลและกระดาษสีต่าง ๆ แล้วใช้ประโยชน์จากเนื้อกระดาษนั้น ทำหน้าที่เหมือนการระบายสีอีกสีหนึ่ง
เทคนิคนี้ค่อนข้างหลอกตาขณะวาดนะครับ ครูช่างท่านต้องกำหนดรู้เห็นภาพรวมทั้งหมดในใจอย่างชัดเจน ไม่งั้นอาจสับสนจนทำให้ภาพเละเทะเสียหาย ยิ่งไปกว่านั้นยังต้องช่ำชองแม่นยำในการวาดเส้นประคองพู่กัน เนื่องจากผิดแล้วแก้ยากกว่า การวาดแบบลงสีทับกันหลายชั้น
จิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาคล้ายดั่งการเขียนหนังสือด้วยลายมือหวัด มีความเฉียบขาดฉับไว และความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ ขณะที่จิตรกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ เสมือนการเขียนคัดลายมือตัวบรรจง อาจไม่ทรงพลังหรือเร้าใจเทียบเท่า แต่ก็ทดแทนด้วยความวิจิตรประณีต ละเอียดลออ สวยไปคนละแบบ
ความงามของจิตรกรรมฝาผนัง ดูกันได้หลายระดับ หลายขั้นตอนนะครับ
เบื้องต้นคือ ดูในแง่ภาพรวมและบรรยากาศ แล้วจึงค่อย ๆ ขยับเคลื่อนเข้าไปในระยะใกล้ เพื่อพินิจพิเคราะห์สังเกตรายละเอียดต่าง ๆ
ทุกครั้งที่ไปดูจิตรกรรมฝาผนัง ช่วงก้าวเท้าข้ามพ้นประตูโบสถ์ เพื่อพบสัมผัสกับภาพแรก เป็นห้วง
ขณะที่น่าตื่นเต้นเร้าใจมากสุด
โบสถ์และภาพเขียนในทุก ๆ วัด มีบรรยากาศเฉพาะที่สร้างความประทับใจเบื้องต้นไม่ซ้ำกันเลย บางแห่งเต็มไปด้วยความโอ่อ่ายิ่งใหญ่ บางแห่งเรียบสงบ บางแห่งน่าเกรงขาม ฯลฯ
สัมผัสแรกที่ผมมีต่อโบสถ์วัดช่องนนทรีก็คือ ความรู้สึกปลอดโปร่งผ่อนคลาย
มีความพิสดารอยู่อย่างหนึ่งซึ่งเกี่ยวเนื่องกัน คือ โบสถ์หลายแห่งเมื่อมองจากภายนอกกับการเข้าไปข้างใน ขนาดของโบสถ์ตามความรู้สึกของผู้ชมจะแตกต่างกัน บริเวณภายในดูกว้างขวางสูงใหญ่มากกว่าการมองจากภายนอก
ผมเคยสงสัยเรื่องนี้มานาน และเคยเข้าใจว่าเป็นอุปาทานรู้สึกนึกคิดเอาเองลอย ๆ โดยปราศจากเหตุผล
จนตอนหลังจึงมาค้นพบคำตอบจากงานวิจัยเรื่อง ‘ความสำคัญของจิตรกรรมฝาผนังวัดช่องนนทรี’ โดยอาจารย์สน สีมาตรัง ท่านอธิบายไว้ว่า “จิตรกรรมฝาผนังวัดช่องนนทรีให้ผลเรื่องมิติห้องอากาศ (space) แบบลวงตา มิติห้องอากาศแบบลวงตาหมายถึง เนื้อที่ภายในอาคารหลังนั้นมีขนาดกว้างยาวจริงเท่าไร แต่ช่างออกแบบสามารถทำให้เกิดอาการลวงตาว่าเนื้อที่ ภายในอาคารนั้นกว้างใหญ่หรือเล็กกว่าขนาดจริง กรณีจิตรกรรมฝาผนังวัดช่องนนทรีนี้ ช่างออกแบบองค์ประกอบตลอดจนการใช้สีที่มีผลเกิดอาการลวงตาคนดูที่เข้าไปชมจิตรกรรมฝาผนังเกิดความรู้สึกลวงตาว่าเนื้อที่ ภายในพระอุโบสถกว้างใหญ่กว่าความเป็นจริง ราวกับว่าจิตรกรรมฝาผนังที่ช่างเขียนลงบนผนังมีอำนาจขยายผนังให้เห็นใหญ่กว่าเป็นจริง”
โบสถ์วัดช่องนนทรีไม่ได้ลวงตาเรื่องขนาดเพียงแค่เล็กน้อยนะครับ เข้าไปแล้วจะพบว่าใหญ่โตเพิ่มขึ้นเกือบ ๆ เท่าตัวเลยทีเดียว
ความรู้สึกต่อมาคือ บรรยากาศนั้นอบอุ่น นี่เป็นผลมาจากโครงสีครอบงำโดยรวมที่ออกแดงเรื่อเจือชมพูอ่อน ๆ ไปทั่วทั้งโบสถ์ตามคตินิยมของจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยา
ลักษณะเด่นอีกอย่างของจิตรกรรมสมัยอยุธยาก็คือ ใช้จำนวนสีค่อนข้างน้อย ประกอบไปด้วย แดง ขาว ดำ เขียว เหลือง มีปิดทองบ้างเล็กน้อย
เป็นเรื่องของยุคสมัยนะครับ ผลงานเหล่านี้เขียนขึ้นในช่วงเวลาที่สีมีจำนวนจำกัด ครูช่างต้องผสมเอาเอง จากวัตถุดิบเท่าที่จะหาได้ตามธรรมชาติ
ความล้ำลึกพิสดารของภาพเขียนยุคนี้ก็คือ หากมองระยะไกลจะเห็นเป็นโทนสีแดงชาดครอบคลุมทั่วทั้งโบสถ์ แต่เมื่อขยับเคลื่อนเข้าดูระยะใกล้ จะเห็นการใช้สีประมาณสี่ห้าสี สอดสลับวางจังหวะยักเยื้องไปมาจนลวงตาว่ามีสีแพรวพราวมากกว่านั้น
สีแดงชาดนั้น มีคุณสมบัติพิเศษ คือ ช่วยขับเน้นสีทองขององค์พระประธานและพระพุทธรูปต่าง ๆ ภายในโบสถ์ให้โดดเด่นแวววาวสะดุดตายิ่งขึ้น นี่เป็นเหตุผลสำคัญซึ่งทำให้จิตรกรรมไทยนิยมใช้สีแดงชาดเป็นตัวชูโรง
หัวใจสำคัญในการดูภาพเขียนไทยก็คือ ต้องเข้าใจเรื่องกฏเกณฑ์แบบไทย ๆ
กล่าวคือ ครูช่างท่านเขียนขึ้นโดยที่ยังไม่รู้เรื่องหลักทัศนียวิทยาหรือ perspective แบบตะวันตก, ไม่รู้หลักทางด้านกายวิภาคหรือ anatomy, รวมทั้งหลักการทางด้านแสง-เงา
บวกรวมกับภาพจิตรกรรมไทย ไม่ได้มุ่งหวังผลในการเลียนแบบความจริงตามที่ตามองเห็น แต่เป็นการนำความจริงมาปรุงแต่งดัดแปลงให้เป็นความงามอีกแบบ เป็นความงามแบบประดิษฐ์
ลายกระหนกหรือลายไทยต่าง ๆ นั้น ต้นตอรากฐานที่มา ล้วนแล้วแต่เกิดจากธรรมชาติทั้งสิ้น เป็นการเขียนขึ้นอิงจากเปลวไฟ ต้นไม้ใบหญ้า แล้วพลิกแพลงจนกระทั่งเกิดเป็นลวดลายที่เหลือเค้าเดิมแต่เพียงน้อย
จิตรกรรมไทยจึงมีภาษาไวยากรณ์ในแบบเฉพาะของตนเอง หากนำเอาทฤษฎีหรือความเข้าใจในศิลปะตะวันตกเข้ายึดจับ ภาพนั้นก็จะผิดหลักวิชาไปเสียแทบทั้งหมด
ความน่าทึ่งของจิตรกรรมไทยอยู่ตรงนี้ครับ ตรงที่ไม่รู้เรื่อง perspective และเขียนแบน ๆ เป็นภาพสองมิติ แต่ก็สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ จนเกิดระยะใกล้-ไกล ทำให้ภาพมีความลึก ไม่รู้เรื่องแสง-เงา มิหนำซ้ำยังเป็นภาพที่ใช้แสงและสีเท่ากันหมด ไม่ระบุว่าเป็นเช้า สาย บ่าย ค่ำ แต่ผู้ชมสามารถเข้าใจว่าเป็นเวลาใดได้จากการแสดงออกของตัวละคร ไม่เข้าใจเรื่องกายวิภาค แต่เขียนคนในลักษณะประดิษฐ์มีท่วงท่าเส้นสายประกอบรวมกันเป็นความงามจากสัดส่วนที่ลงตัวอย่างเหมาะเจาะ
ย่อหน้าข้างต้นมีรายละเอียดกรรมวิธีที่พิสดารมาก ชนิดเขียนเป็นหนังสือเล่มหนา ๆ ได้เลยนะครับ มิหนำซ้ำแต่ละสกุลช่างแต่ละยุคสมัย ยังมีลูกเล่นทีเด็ดกลเม็ดแตกต่างกันไป แทบว่าไม่ซ้ำกัน
จิตรกรรมฝาผนังที่วัดช่องนนทรี มีลักษณะเด่นในการจัดองค์ประกอบภาพที่ยอดเยี่ยมวิเศษมากอยู่ประการหนึ่ง นั่นคือ การใช้เส้นสินเทาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เส้นสินเทาคือ เส้นแถบหยักฟันปลา ทำหน้าที่ได้หลายอย่าง แรกสุดเป็นเขตแนวแบ่งคั่นภาพเนื้อเรื่องเดียวกัน แต่เป็นคนละตอนคนละเวลา เหมือนการกั้นช่องในหนังสือการ์ตูน
หน้าที่ต่อมาของเส้นสินเทา คือเน้นบริเวณบางส่วนเช่นยอดปราสาท พุ่มไม้ให้เกิดผลทางด้านความงาม
ภาพเขียนที่วัดช่องนนทรี ครูช่างท่านใช้เส้นสินเทาเพื่อประโยชน์ข้างต้นครบถ้วน และยังเกิดประโยชน์มากกว่านั้น คือทำให้เส้นสินเทากลายเป็นตัวช่วยสำคัญ ‘ผลักระยะ’ ให้ภาพแบน ๆ เกิดมิติความลึกแลเห็นเป็นใกล้-ไกล
ตลอดจนทำให้ภาพรวมเกิดองค์ประกอบยักเยื้องพลิกแพลง เป็นระเบียบ มีรูปทรง ไม่ลายตาปนเปกันไปหมดจนยุ่งเหยิง
การผูกภาพและใช้เส้นสินเทาในภาพเขียนที่วัดช่องนนทรี สามารถกล่าวได้ว่า เข้าขั้นวิเศษและงามเลิศที่สุดแห่งหนึ่งในบรรดาจิตรกรรมฝาผนังทั่วทั้งสยามประเทศ
การชื่นชมดื่มด่ำจิตรกรรมฝาผนังระยะใกล้เข้าไปอีก ได้แก่ การพิจารณาความงามของเส้น ซึ่งเป็นหัวใจหลักของภาพเขียนไทย จะวัดประเมินว่ารูปไหนเป็นฝีมือชั้นครูหรือไม่ ชี้วัดตัดสินกันที่ตรงนี้
พูดกว้าง ๆ หยาบ ๆ จิตรกรรมไทย เปรียบเสมือนการนำเส้นโค้งอ่อนช้อยจำนวนมากมายมหาศาล มาเชื่อมโยงปะติดปะต่อกันผูกเป็นภาพ
ใครที่เคยลองวาดรูปเล่น ๆ มาบ้าง คงทราบดีนะครับว่า เส้นโค้งนั้นเขียนยาก บิดสะดุ้งผิดพลาดได้ง่าย
ยิ่งเขียนด้วยพู่กัน การควบคุมน้ำหนักของเส้นยิ่งลำบากทบทวีขึ้นไปอีก
ที่น่าทึ่งก็คือ เส้นโค้งในจิตรกรรมไทย เขียนอย่างชนิดแต่ละเส้นสอดคล้องรับ-ส่งกันทุกพื้นที่ ดูเผิน ๆ เหมือนวาดง่าย แต่ผมยืนยันฟันธงได้ว่า ยากสุด ๆ
ดูแล้วก็ปากอ้าตาค้างตกตะลึงว่า ‘วาดได้ยังไง’ ไม่ต้องนับรวมว่าครูช่างท่าน ‘คิดได้ยังไง’ เลยนะครับ เป็นงานที่ศิลปะที่ผมรู้สึกว่ามหัศจรรย์เหลือเกิน
เส้นสายต่าง ๆ ในภาพเขียนที่วัดช่องนนทรี อ่อนช้อยและโค้งกันแบบที่เรียกว่า โค้งหวาน มีชีวิตชีวามาก
หลักอีกอย่างในการดูจิตรกรรมฝาผนังคือ ต้องเพ่งดูที่จุดเดิมนาน ๆ แล้วผู้ชมจะพบว่า สักพักหนึ่ง ความล้ำลึกของเส้น จะส่งผลให้ภาพนิ่งนั้นโลดเต้นเคลื่อนไหวได้
เวลาภาพจิตรกรรมฝาผนังเกิดการขยับเคลื่อนในจินตนาการและสายตาของผู้ชม ผมพูดได้สั้น ๆ แค่ว่า ดูแล้วขนแขนลุกซู่เหมือนโดนผีหลอก
ตลอดสองชั่วโมงกว่า ๆ ขณะดูรูปเขียนที่วัดช่องนนทรี ผมเกิดอาการขนลุกรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ครั้ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น