วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

หนีน้ำไปฝึกวิชา

  
 
 ปลายเดือนตุลาคม บินหลา สันกาลาคีรี ผู้พำนักอาศัยอยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่ออุทกภัย ตัดสินใจหนีน้ำท่วมเดินทางขึ้นเหนือไปตั้งหลัก ณ รังนอนที่เชียงใหม่

บินหลาขับรถกระบะคู่ใจออกจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่ช่วงบ่าย อีก 2 ชั่วโมงต่อมา เขาโทรศัพท์หาผม บอกเล่าสภาพทุลักทุเลที่พบเจอระหว่างเส้นทางแถบชานเมือง และสรุปหนักแน่นว่า เพื่อความไม่ประมาทและความราบรื่นในการใช้ชีวิต ผมควรจะย้ายบ้านระยะสั้น ๆ ตามไปสมทบกับเขาในวันรุ่งขึ้นที่กาญจนบุรี

ที่บ้านผมน้ำยังไม่ท่วม แต่เพื่อเยียวยาสุขภาพจิตอันย่ำแย่ เครียดกังวล ระทึกขวัญหวั่นผวา สะสมต่อเนื่องมาแรมเดือน ผมตอบตกลง

น้ำท่วมครั้งนี้เป็นประสบการณ์เลวร้ายหนักหน่วงมากคราวหนึ่งในชีวิตผมนะครับ แต่ระหว่างการอพยพออกจากกรุงเทพฯ ชั่วคราว ก็เกิดผลพลอยได้ทางบวกเรื่องหนึ่งแนบพ่วงมาด้วย

ก่อนหน้านั้น ผมเคยคุยกันเล่น ๆ ขำ ๆ กับบินหลาและวรพจน์ว่า ถ้าเหตุการณ์คราวเคราะห์มาเยือนถึงตัว ผมจะหนีน้ำท่วมขึ้นเหนือ ถือโอกาสไปเข้าคอร์สเรียนวาดรูปกับอาจารย์เทพศิริ สุขโสภา ทำพิธี
ครอบครู ให้เป็นจริงเป็นจังซะที

ผมพูดแบบพูดไปเรื่อยเปื่อย ไม่รับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้นนะครับ

จากต้นปี 2554 เรื่อยมา ผมมีของเล่นกิจกรรมใหม่ในชีวิต นั่นคือ การหัดวาดรูป ด้วยกรรมวิธีเดาสุ่มลองผิดลองถูก

เริ่มจากซื้อสีพาสเทลหนึ่งกล่องใหญ่ราคาราว ๆ หกพันบาท ความแพงนี่ช่วยให้วาดรูปเป็นนะครับ คือ อารมณ์เสียดายตังค์จะทำให้ไม่ยอมเลิกราถอดใจง่าย ๆ ต้องตื๊อและยื้อจนกว่าจะวาดได้หายขี้เหร่

เชื่อและมั่นใจได้เลยว่า ถ้าสีกล่องนั้นราคาร้อยกว่าบาท บุรุษผู้มีความเพียรและอดทนต่ำอย่างผม คงหยุดมือเลิกวาดเด็ดขาดตั้งแต่วันแรก ทันทีที่วาดรูปแรกออกมาเละเทะไม่เป็นท่า

ขอบคุณในความแพงของสี ที่ทำให้ผมเอาตัวรอดมาได้อย่างหวุดหวิดฉิวเฉียด

วิธีวาดรูปของผม มีหลักง่าย ๆ คือ พยายามลอกเลียนแบบภาพวาดฝีมืออาจารย์เทพศิริ ในสมุดบันทึกชื่อ
ทาง
สไตล์ภาพวาดทิวทัศน์ของอาจารย์เทพศิรินั้น เป็นพิมพ์นิยมของผม ทั้งลายเส้นพิสดารและสีสันสวยหวาน

พี่วาณิช จรุงกิจอนันต์เคยเขียนนิยามสั้น ๆ ถึงลีลาการวาดของอาจารย์เทพศิริว่า เขียนรูปแบบ
กระชาก ซึ่งผมแปลความอีกทีได้ว่า ฉับไว เด็ดขาด แม่นยำ โลดโผน คึกคัก
ลีลากระชากกระชั้นเช่นนี้ ยากมากและไม่มีทางเลียนแบบได้เหมือน เป็นเรื่องของการสั่งสมฝึกปรือวิทยายุทธ์มาชั่วชีวิต

แต่ความพิเศษประการหนึ่งในภาพวาดของอาจารย์เทพศิริก็คือ แค่เลียนแบบได้คร่าว ๆ หยาบ ๆ ประมาณ 30 % ก็สวยเกินพอที่จะอวดใครต่อใครได้สบาย ๆ

ประเมินตนเองแบบลำเอียงเต็มเหนี่ยวแล้ว ฝีมือผมน่าจะอยู่ราว ๆ 10% กว่า ๆ แต่ก็มากพอที่จะเป็นกำลังใจให้ซ้อมมือมาเรื่อย ๆ โดยไม่นึกเบื่อหรือท้อ

คงเพราะเหตุนี้นะครับ การมีโอกาสได้เรียนรู้หัดวาดรูปโดยตรงกับอาจารย์เทพศิริ จึงเป็นความใฝ่ฝันอย่างหนึ่งของผม

ทว่าเอาเข้าจริง หลังออกจากกรุงเทพฯ ไปเจอบินหลาแล้ว และค่อย ๆ รอนแรมผ่านเส้นทางอ้อมโลกแวะพักรายทางมาเรื่อย ๆ จนถึงเชียงใหม่ ข่าวคราวความเป็นไปสารพัดสารพันเกี่ยวกับน้ำท่วม ทำให้ผมหดหู่ ประสาทเสีย ไม่มีกะจิตกะใจ หมดความกระตือรือร้น ไม่นึกอยากเรียนวาดรูปเหมือนที่หมายมั่นปั้นมือไว้แต่แรก

อยู่เชียงใหม่ได้สามสี่วัน สาย ๆ วันหนึ่งบินหลาก็ชวนผมไปเยี่ยมคารวะอาจารย์เทพศิริ เป็นการพบปะเพื่อถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกันตามระเบียบ

ขณะหนึ่งบินหลาปลีกตัวออกไปรับโทรศัพท์ อาจารย์เทพศิริก็หันมาถามผมว่า “เป็นไงล่ะเรา ตอนนี้กำลังสนใจอยากทำอะไร?”

ผมตอบไปว่า ช่วงนี้กำลังสนใจและอยากวาดรูป อาจารย์ก็ยิ้มนิด ๆ พยักหน้าพึมพำเบา ๆ ว่า เออ เออ ดีแล้ว

วันนั้นอาจารย์เทพศิริมีงานคั่งค้างต้องรีบสะสางให้เสร็จ ด้วยความเกรงใจบินหลากับผมจึงรบกวนเวลาไม่นานนัก ก่อนกลับผมขออนุญาตถ่ายภาพรูปวาดชุดล่าสุด จำนวนประมาณ 20 รูป หมายใจว่ากลับกรุงเทพฯ น้ำลดเมื่อไร จะยึดงานชุดนี้เป็นแม่แบบสำหรับลอกเลียนแบบทำตาม

ย่ำค่ำของอีกหลายวันต่อมา มีเลขหมายไม่คุ้นปรากฏบนโทรศัพท์มือถือ ผมกดปุ่มรับ เสียงจากอีกฝ่ายแว่วมาแบบไม่ยอมเสียเวลาทักทายแนะนำตัว

“พวกคุณสองคนจะกลับไปว่ายน้ำที่กรุงเทพฯ เมื่อไหร่?” เสียงมีเอกลักษณ์นั้น ได้ยินปุ๊บก็ระลึกชาติได้ทันทีว่าเป็นอาจารย์เทพศิริ

ผมบอกอาจารย์ไปว่า ยังไม่แน่ใจเรื่องกำหนดกลับ

“ก่อนกลับแวะมาหาหน่อย จะวาดรูปแนะวิธีให้ดู”

แล้วผมก็ได้เรียนวาดรูปกับอาจารย์เทพศิริ เป็นหลักสูตรระยะสั้นจุ๊ดจู๋ เริ่มต้นและจบลงในเวลาครึ่งชั่วโมง! วิธีการสอนนั้นเด็ดขาด ฉับไว เช่นเดียวกับสไตล์การวาด

เริ่มจากการเปิดหนังสือรวมผลงานของศิลปินระดับโลก ฌ็อง บัพติสท์ คามิลล์ โกโรต์ เป็นภาพพิมพ์ทิวทัศน์ลายเส้นขาวดำ

ขณะเปิดหนังสือไปพลาง อาจารย์ก็กล่าวปฐมนิเทศต้อนรับนักเรียนใหม่อย่างผมว่า “เจอคนอยากวาดรูป แล้วไม่ได้แสดงให้ดูซักหน่อย มันไม่แล้วใจ”

อาจารย์เทพศิริใช้รูปในหนังสือเป็นต้นแบบ ลงมือวาดตามอย่างรวดเร็ว พร้อม ๆ กับอธิบายชี้แนะเคล็ดลับใจความสำคัญ ขณะวาดก็มีวลีหนึ่งดังให้ได้ยินอยู่เป็นระยะ ๆ ว่า “ชำนาญจริง ๆ แฮะ!”

เร็วไฟแล่บเลยนะครับ ทั้งการขยับมือขีดร่างเส้นดินสอ การละเลงสีแบบยี ๆ ขีด ๆ แล้วขยี้ ตามด้วยการใช้นิ้วเกลี่ยระบาย รวมถึงคำอธิบายประกอบ

เป็นการเล็คเชอร์ที่รวดเร็ว จนยากจะจดและจำตามได้หมดครบถ้วน

เทคนิคแรกที่อาจารย์สอนผม คือ ให้หัดหรี่ตาดูวัตถุที่จะวาด

“มีอากาศอยู่ในภาพ” อาจารย์อธิบายว่า ระหว่างสายตาของเรากับวัตถุ ทุกอย่างไม่ได้แบนราบ ตรงทื่อ เป็นเส้นหรือสีระนาบเดียว มีแสงแดด เงา ฝุ่นละออง และอากาศ แทรกปนอยู่ด้วยเสมอ

เหล่านี้คือตัวแปรที่แต่งเติมจนเกิดเป็นรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ มีความชัด ความสลัว ความเลือน มีสีอื่นซ่อนเร้นแฝงอยู่

กรรมวิธีหรี่ตาดู เป็นหนึ่งตัวช่วยทำให้มองเห็นอากาศและเค้าโครงโดยรวมในภาพง่ายขึ้น แต่หัวใจหลัก ๆ คือ การหมั่นสังเกตอย่างพินิจพิเคราะห์ ฝึกฝนสายตาตลอดเวลา

บทเรียนต่อมา อาจารย์สอนให้เริ่มจากการหัดวาดโครงสร้างคร่าว ๆ เน้นพุ่มไม้ เงาไม้ แทนที่จะตั้งหน้าตั้งตาเก็บรายละเอียดเหมือนจริงเป๊ะ ๆ เขียนป่าเขียนภูเขาแบบนับใบไม้ทุกใบ

“เริ่มต้นยังไม่ชิน ทำแบบนั้น ตายเลย ยาก จะท้อใจไปซะก่อน” ว่าแล้วอาจารย์เทพศิริ ก็ใช้ดินสอ ขีดยึก ๆ เป็นลำต้น กิ่งก้าน ตวัดเส้นเป็นวงกลม เป็นทรงพุ่มไม้ ระบายหนัก ๆ ตรงที่ควรจะมืดครึ้ม ปล่อยโล่งบริเวณที่รับแสง

“ไม่ต้องกลัวว่าไม่เหมือน อันนี้คล้าย ๆ เขียนหนังสือลายมือหวัด ไม่ใช่การคัดตัวบรรจง จับเค้ากว้าง ๆ ให้ได้ก่อน แล้วค่อยลงรายละเอียด”

รายละเอียดดังว่า ได้แก่ การเน้นย้ำให้เกิดระยะใกล้-ไกล แต้มเติมสีสันให้กับภาพ หลักใหญ่ ๆ คือ เขียนเน้นใส่รายละเอียดในบางส่วน ทิ้งบางจุดให้แลดูคร่าว ๆ เลือน ๆ

ผมพบระหว่างซ้อมวาดในเวลาต่อมาว่า การสร้างระยะใกล้-ไกลยังสามารถเกิดขึ้นได้จากลูกเล่นจุกจิกสารพัดสารพัน บางทีแค่ขีดสีขาวลงไปปื้ดเดียว ก็ผลักระยะให้พุ่มไม้ที่ติดกัน แลดูเหลื่อมซ้อนห่างจากกันขึ้นมาได้อย่างน่าประหลาด

บทเรียนสุดท้าย คือ สีซ้อน โดยเฉพาะบริเวณที่ค่อนข้างเข้ม เป็นเงามืดครึ้ม

ว่ากันตามปรกติที่ตามองเห็น ส่วนใหญ่จะวาดสิ่งเหล่านี้ด้วยการระบายสีดำลงไปตรง ๆ แต่อาจารย์เทพศิริสอนถึง การเจือสีม่วง สีแดง แต้มลงไปบนพื้นดำ

ผลก็คือ เกิดเป็นรอยหยักร่องหลืบ มีระยะ มีพื้นผิว ไม่แบนราบ

“จำไว้นะ สำคัญมาก เวลาวาดรูป อย่าซื่อเป็นอันขาด”

ผมเข้าใจเอาเองนะครับว่า สิ่งที่อาจารย์เทพศิริเน้นย้ำ หมายถึงอย่ามองอะไรแบน ๆ ทื่อ ๆ แล้วพยายามวาดตามนั้นเป๊ะ แต่ต้องมองด้วยสายตาพลิกแพลง กล้าตัดทอน ดัดแปลง ปรับเปลี่ยน และใช้ไหวพริบคิดหาวิธีแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

อาจารย์เทพศิริจบบรรยาย พร้อมกับรูปวาดสาธิตชุดหนึ่ง จำนวนสามสี่ภาพ จากนั้นก็กวักมือเรียกผมเดินไปดู ผลงานของอาจารย์ที่วางเรียงรายอยู่เต็มบ้าน บ้างใส่กรอบแขนประดับผนัง บ้างเพิ่งเสร็จวางบนพื้น

ดูรูปนี้” อาจารย์ชี้ไปที่ภาพขาวดำ วาดโดยใช้พู่กันจุ่มหมึก เป็นภาพดงไม้ที่รกครึ้ม แน่นขนัด เน้นการเก็บรายละเอียดทุกอย่างค่อนข้างเหมือนจริง “เห็นใบไม้ชัดหมดทุกใบ แบบนี้ไม่ต้องใช้ฝีมืออะไร โง่แล้วขยันก็ทำได้”
พูดแล้วก็ก้าวฉับ ๆ มาหยุดที่อีกรูป “นี่สิ ถึงจะดี ใช้หมึก ใช้พู่กันเหมือนเดิม แต่มีหนักมีเบา ตวัดวงกลมหลาย ๆ วง กลายเป็นกลุ่มคน นั่งใกล้ นั่งไกล นั่นพุ่มไม้ นู่นบ้าน โน่นป่า ในทั้งหมดที่คุณเห็น รูปนี้แหละดีสุด แล้วทำไมผมไม่วาดหยั่งงี้อีก นั่นนะสิ มัวทำอะไรอยู่หนอเรา”

ระหว่างชี้ชวนให้ดูรูป พร้อมทั้งวิจารณ์ผลงานของตนเอง ผมคิดว่า นั่นคือ อีกบทเรียนสำคัญที่อาจารย์เทพศิริสอนผม นั่นคือ สอนให้รู้จักดูว่ารูปไหนดีรูปไหนด้อย และงานที่ดีนั้นดีตรงไหน? ที่ด้อยนั้นเพราะอะไร?

ทักษะในการแยกแยะดูรูปให้เป็น หมายถึงดูในแง่พิจารณาฝีมือด้านลายเส้น ฝีแปรง และการใช้สีเป็นขั้นเบื้องต้นก่อนนะครับ ยังไม่ต้องพูดถึงการดูในแง่อื่น ผมคิดว่านี่คือทางลัดอันวิเศษซึ่งจะช่วยให้วาดรูปได้ดีขึ้น เร็วขึ้น

สอนจากตัวอย่างผลงานของตัวเองแล้ว ยังไม่หนำใจ อาจารย์เทพศิริเปิดหนังสือชี้ให้ดูรูปของศิลปินระดับโลกอีกมากมายหลายคน ชี้แนะให้เห็นว่า แต่ละรูปนั้นสวย ดี งามเช่นไร?

“ทั้งหมดก็เป็นหยั่งงี้แหละโยม” อาจารย์เทพศิริกล่าวปัจฉิมนิเทศ จบหลักสูตร เดินกลับไปนั่งที่โต๊ะประจำ ลงมือทำงานที่คั่งค้างต่อ

ขณะหนึ่งอาจารย์ก็นึกอะไรขึ้นมาได้อีก เหตุการณ์คล้าย ๆ ตอนจันทรโครพเรียนจบไปกราบลาพระเจ้าตา

ผมไม่ได้รับผอบที่มีนางโมราอยู่ข้างในหรอกนะครับ แต่อาจารย์หยิบของวิเศษเป็นดินสอ EE หนึ่งกำมือยื่นส่งมอบให้ พร้อมกับคาถาสำคัญ “เอาไว้วาดเล่น จำไว้ให้แม่น ฝึกดรอว์อิ้งบ่อย ๆ ดรอว์อิ้งเยอะ ๆ แล้วทุกอย่างจะดี”

ก่อนแยกย้ายจากกัน อาจารย์เทพศิริเดินมาส่งบินหลากับผมที่รถ และพูดฝากฝังทิ้งท้าย ซึ่งผมฟังแล้วน้ำตาซึม

รูปวาดจะมีชีวิต ไม่ได้อยู่ที่ปลายดินสอหรือปลายพู่กัน แต่อยู่ที่ปลายมือปลายนิ้วเราเองนี่แหละ”
น้ำตาซึมด้วย 2 เหตุผล ประการแรกคำพูดของอาจารย์เทพศิริ ชี้ช่องให้ผมเห็นทางสว่างในเรื่องวาดรูปไปอีกกว้างไกลไพศาล

ประการต่อมา ผมหัดวาดรูปด้วยความรู้สึกเคว้งคว้างว่างเปล่ามาตลอด ทว่านับตั้งแต่นาทีนั้น ผมเป็นศิษย์มีครู
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
   
 

ไม่มีความคิดเห็น: