วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ทำไมต้อง “ข้าวมันเป็ด” ? โดย "นรา"


“ข้าวมันเป็ด” เป็นชื่อคอลัมน์หนึ่งที่ผมเคยเขียน และสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าแก่ผู้พบเห็นเจอะเจออยู่พอสมควร เพราะฟังดูแล้วก็ไม่รู้ว่ามีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร? บางท่านถึงขั้นเข้าใจว่า คงเป็นคอลัมน์แนะนำอาหารแปลก ๆ

ผมได้ชื่อนี้มาจากการที่วันดีคืนดี นั่งคิดอะไรเล่น ๆ เรื่อยเปื่อยบนรถเมล์ แล้วจู่ ๆ ก็เกิดน้อยเนื้อต่ำใจแทนเป็ดขึ้นมาซะยังงั้น

เทียบฐานะกับสัตว์ปีกชนชั้นใกล้เคียงกันอย่างไก่แล้ว เป็ดค่อนข้างจะอาภัพอยู่สักหน่อย กล่าวคือ บรรดาเมนูอาหารทั้งหลายที่มีเป็ดเป็นองค์ประกอบหลัก เช่น เป็ดย่าง, เป็ดพะโล้, ข้าวหน้าเป็ด, เป็ดตุ๋นมะนาวดอง ฯลฯ ไก่ก็สามารถยืดอกอ้างได้ว่า “มีเหมือนกัน” ครั้นสลับข้ามฟากมาเป็นรายการอาหารบางอย่างเกี่ยวกับไก่ เช่น ข้าวกระเพราไก่ไข่ดาว, ไก่ผัดขิง, ไก่ทอด, ไก่ตะกร้า และข้าวมันไก่ ฯลฯ บรรดาเป็ดกลับเป็นฝ่ายจ๋อยได้แต่มองละห้อยตาปริบ ๆ

นึกถึงตรงนี้ ผมก็เลยเกิดความใฝ่ฝันอยากเห็น “ข้าวมันเป็ด” อุบัติขึ้นมาเป็นอาหารยอดนิยม ว่าแล้วผมก็จัดการฟาดก๋วยเตี๋ยวเป็ดไปหนึ่งชาม เป็นการปลอบประโลมใจ

จนกระทั่งวันหนึ่ง ด้วยอารมณ์เบื่อ ๆ การเขียนวิจารณ์หนัง ซึ่งเป็นงานเลี้ยงชีพที่ทำต่อเนื่องมายาวนานพอสมควร ผมจึงอยากจะลองเขียนเรื่องอื่น ๆ นอกเหนือจากนั้นบ้าง เป็นการสลับฉากเปลี่ยนบรรยากาศ

ผลก็คือ เกิดเป็นคอลัมน์ “ข้าวมันเป็ด” ในนิตยสาร Open

คอลัมน์ดังกล่าว มีอายุสั้นมาก ผมเขียนไปได้แค่ชิ้นเดียว ฉบับเดียว จากนั้นก็ปิดกิจการ เลิกเขียน เพราะความไม่ถนัดสันทัด ขาดการฝึกปรือมาก่อน พอวางกรอบเอาไว้ให้มีอิสระ สามารถแตะต้องเรื่องอะไรก็ได้ กลับกลายเป็นกว้างไป จนจับประเด็นไม่ค่อยถูก

อีกเหตุปัจจัยก็คือ ช่วงนั้นผมทำงานประจำอยู่ที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และมีคอลัมน์ต้องรับผิดชอบค่อนข้างชุกชุม แค่เขียนต้นฉบับต่าง ๆ ให้ทันส่งตามกำหนด ก็เอาตัวรอดมาได้อย่างร่อแร่เต็มทีเสียแล้ว

ท้ายที่สุดผมจึงต้องยอมรับสภาพตัดสินใจเลิกเขียน “ข้าวมันเป็ด”

ถัดจากนั้นไม่นาน ผมก็มีโอกาสได้ติดตามอ่านคอลัมน์ประเภทไดอารีออนไลน์ ในเว็บไซต์ผู้จัดการยุคบุกเบิก โดยนักข่าวรุ่นน้องสามคนคือ ตุ๊ก, ส้ม และพิม

อ่านแล้วก็เกิดความฮึกเหิม อยากลองเขียนอะไรท่วงทำนองนี้ดูบ้าง จึงเกิดเป็นคอลัมน์ชื่อ “เขียนคาบเส้น” (ซึ่งผมตั้งชื่อ โดยการแปลคำว่า ออนไลน์เป็นภาษาไทยแบบมั่ว ๆ)

แรกเริ่ม “เขียนคาบเส้น” ก็มีรูปแบบเนื้อหาคล้าย ๆ ไดอารี บอกเล่าว่าแต่ละวันผมเจอะเจออะไรมาบ้าง เป็นงานเขียนเน้นความเพลิดเพลิน ไม่ได้มีเนื้อหาแง่คิดหรือประเด็นอันใดมากนัก

เขียนไปเขียนมา ก็ค่อย ๆ คลี่คลาย เปลี่ยนจากบันทึกส่วนตัวมาเป็นบทความเต็มรูปแบบไปโดยปริยาย

ต่อมา หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับเสาร์-อาทิตย์ เกิดเซ็กชันใหม่คือ “อาทิตย์ทอดวง” โดยมีพี่บัญชา อ่อนดีดูแลรับผิดชอบ

พี่บัญชาเอ่ยปากถามไถ่ว่า พอจะมีเวลาเขียนอะไรมาลงบ้างได้ไหม ผมจึงเปิดกิจการคอลัมน์ “หนังกับหนังสือ” พร้อมทั้งเลือกบทความจำนวนหนึ่งจาก “เขียนคาบเส้น” มาเผยแพร่อีกครั้งทางหน้าหนังสือพิมพ์ เป็นอีกหนึ่งคอลัมน์

พอเปลี่ยนสนาม ชื่อคอลัมน์ “เขียนคาบเส้น” ก็เลยจำเป็นต้องเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสม ผมจึงนำเอาชื่อ “ข้าวมันเป็ด” กลับมาใช้อีกครั้ง และเป็นการเพิ่มความสับสนมากยิ่งขึ้น ด้วยบทความชิ้นเดียวแต่มีชื่อคอลัมน์สองชื่อ

ท้ายสุด “ข้าวมันเป็ด” โครงการสองก็ปิดกิจการ เนื่องจากผมเขียนไม่ทัน ด้วยเหตุว่าตอนเป็น “เขียนคาบเส้น” นั้น จัดอยู่ในจำพวก Special Features นะครับคือ เขียนเป็นรายสะดวกสุดแท้แต่ผมจะว่างจากภารกิจประจำ ขณะที่วาระตีพิมพ์ใน “อาทิตย์ทอดวง” สัปดาห์ละครั้งนั้นถี่กว่า

เรื่องที่เขียนตุนเก็บไว้ จึงหมดเกลี้ยงสต็อค

กระนั้น “เขียนคาบเส้น” ยังมีต่อไปอีกนานพอสมควร จนกระทั่งผมลาออกจากงานประจำ เพื่อกลับมาเป็นหุ่นไล่กา ทำมาหากินแบบไร้สังกัด ปราศจากเงินเดือน
พ้นจากนั้น ผมก็ลองขยับมาเขียนบทความประเภท “เขตปลอดบทวิจารณ์หนัง” ต่างกรรมต่างวาระในนิตยสารต่าง ๆ แบบประปรายบ่อยขึ้น (ซึ่งผมได้คัดเลือกส่วนหนึ่งมารวมไว้ในเล่มนี้ด้วย)

ที่พอจะเป็นกลุ่มก้อนจับต้องได้สักหน่อยคือ คอลัมน์ “วารีกระด้างเปลือย” ซึ่งผมเขียนลงในนิตยสาร mars รวมทั้งหมดน่าจะประมาณ 8-9 ฉบับ

แรกเริ่มเดิมที ผมก็ตั้งใจให้เป็นคอลัมน์ประเภทบทความ มีเนื้อหาฟรีสไตล์ แต่พอลงมือเขียนครั้งแรก ผมนึกครึ้มอย่างไรก็ไม่ทราบ จึงปรากฎออกมาเป็นกึ่ง ๆ เรื่องสั้นแนวตลกโรแมนติคชื่อ “ฤดูร้อน” และเสียงตอบรับจากงานชิ้นนี้ ก็กลายเป็นตัวกำหนดทำให้เรื่องต่อ ๆ มา ต้องอยู่ในคอนเซ็ปต์เดียวกันไปโดยปริยาย

ตลอดเวลาที่เขียนคอลัมน์ “วารีกระด้างเปลือย” ผมได้รับคำถามยอดนิยมจากมิตรรักแฟนเพลงอยู่เนือง ๆ ว่า เป็นเรื่องจริงหรือเรื่องแต่งสมมติขึ้น

คำตอบก็คือ เป็นเรื่อง “กึ่งจริงกึ่งผ่าน” ผสมรวมกัน รายละเอียดบางอย่างเกิดขึ้นจริง บางส่วนก็นำมาจากเรื่องของเพื่อนฝูงคนรู้จัก บางส่วนก็จินตนาการขึ้นเอง
ผมหยุดเขียน “วารีกระด้างเปลือย” ก็เพราะความเขินนะครับ เขียนไปแล้วหยิบมาอ่านซ้ำทีไร ก็รู้สึกว่ามันกึ๋ยส์ส์ ๆ เลี่ยน ๆ ชอบกล (มีผู้อ่านท่านหนึ่งชื่นชอบประทับใจคอลัมน์นี้มาก ด้วยเหตุผลว่า “ชอบเพราะสำนวนน้ำเน่าสนิท ไม่มีอ็อกซิเจนเจือปน”)

ที่สำคัญกว่านั้นคือ เขียน ๆ ไปแล้ว ผมก็รู้สึกเกรงใจเจ้าของเหตุการณ์ที่ถูกนำหยิบยกมากล่าวถึง รวมทั้งรู้สึกว่า เริ่มจะเปิดเผยความลับทางด้านการอกหักของผมเองมากไปหน่อย จึงตัดสินใจหยุด

ในหนังสือเล่มนี้ งานจากคอลัมน์ “วารีกระด้างเปลือย” ไม่ได้เรียงลำดับต่อเนื่องกัน แต่แทรกตัวปนอยู่ท่ามกลางข้อเขียนอื่น ๆ เพื่อมิให้ผู้อ่านรู้สึกพะอืดพะอมจนเกินไป (เชื่อว่า อ่านแล้วท่านคงจะพอเดาได้ว่าเป็นชิ้นไหนบ้าง)

ความเป็นมาของ “ข้าวมันเป็ด” และเรื่องอื่น ๆ ที่นำมารวม น่าจะมีอยู่ประมาณนี้นะครับ

อย่างไรก็ตาม ผมควรจะอธิบายเพิ่มเติมไว้บ้างเล็กน้อยว่า ชื่อ “ข้าวมันเป็ด” สะท้อนหรือซ่อนความหมายนัยยะอันใด

เป็นนิสัยเสียของผมเอง ที่นิยมตั้งชื่อคอลัมน์ล่วงหน้า แล้วค่อย ๆ คิดเนื้อหาตามหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหาเหตุผลและความหมายให้กับชื่อคอลัมน์ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเป็นลำดับสุดท้าย และเต็มไปด้วยการแถเอาสีข้างเข้าถู

ชื่อ “วารีกระด้างเปลือย” นั้น ความหมายของมันคือ “น้ำแข็งเปล่า” ซึ่งแปลไทยเป็นไทยได้อีกทีว่า “ปั้นน้ำเป็นตัว” คือ เป็นเรื่องแต่ง พร้อม ๆ กันก็ปราศจากเครื่องดื่มใดมาเจือปน (แปลว่ามีความจริงอยู่บ้าง พูดแล้วก็เจ็บสีข้างจังเลย) และเป็นเรื่องรักจืด ๆ ไม่หวือหวาโลดโผน

ส่วนชื่อ “ข้าวมันเป็ด” นั้น ผมอยากจะเปรียบเทียบอย่างนี้ครับ

งานปกติส่วนใหญ่ของผม มักหนีไม่พ้นบทวิจารณ์หนัง หรือแสดงทัศนะความเห็นต่าง ๆ เกี่ยวกับวงการหนัง อุปมาดังหนึ่งเมนูเดิม ๆ อย่าง ข้าวกระเพราไก่ไข่ดาวหรือข้าวมันไก่

ผมจึงเขียน “ข้าวมันเป็ด” เพื่อให้แตกต่างจากความเคยชินเดิม ๆ ที่ผมทำอยู่เป็นประจำ หรือจะเรียกว่า ถอดเครื่องแบบนักวิจารณ์เก็บเข้าตู้เสื้อผ้าชั่วคราว ก็คงไม่เกินเลยความจริงไปมากนัก

พูดง่าย ๆ ว่า กินข้าวมันไก่มาเยอะแล้ว จึงอยากลอง “ข้าวมันเป็ด” บ้าง

ประการถัดมา ในการเขียนงานประเภทที่ตัวผมเองก็ไม่ถนัดจัดเจนเท่าที่ควร โอกาสที่จะขลุกขลักขรุขระไม่ราบรื่น ย่อมมีความเป็นไปได้อยู่เยอะพอสมควร
เข้าใจว่า ในข้อเขียนต่าง ๆ เหล่านี้ ผมคง “ปล่อยไก่” ทางความคิดอ่านอยู่เยอะทีเดียว

เป็นการ “ปล่อยไก่” ทั้งในความหมายว่า หันมาใช้งานเป็ด เพื่อให้ไก่ (ซึ่งในที่นี้หมายถึงงานประเภทวิจารณ์หนัง) ที่ตรากตรำกรำงานมาเยอะแล้ว ได้มีโอกาสพักผ่อนบ้าง

และเป็นการ “ปล่อยไก่” แบบตรงตามตัวอักษร คือ ผมอาจจะพลั้งเผลอเขียนอะไรไม่เข้าท่า หรือมีความคิดอ่านบางอย่างบกพร่องผิดพลาด จึงหวังว่าท่านผู้อ่านคงจะเมตตาเอ็นดู

งานทั้งหมดที่รวมอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ขณะอ่านซ้ำเพื่อตรวจแก้หลายต่อหลายครั้ง ความรู้สึกของผมแปรเปลี่ยนไปมา ข้อเขียนชิ้นเดียวกันบางทีก็ให้ความพึงพอใจ บางทีก็รู้สึกหน่อมแน้ม บางทีก็ประหลาดใจแบบหลงตัวเองว่าเขียนดีจังเลย (และให้เขียนใหม่ก็ทำแบบนี้ไม่ได้แล้ว) บางทีก็พบว่ามีข้อด้อยรอยโหว่เต็มไปหมด สุดแท้แต่ภาวะอารมณ์ในระหว่างอ่าน ซึ่งไม่เคยตรงกัน

นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มันปรากฎเป็นรูปเล่มล่าช้าเนิ่นนานเกินควรไปหลายปี เพราะความเชื่อมั่นสลับกับไม่เชื่อมั่น เกิดขึ้นวนเวียนเปลี่ยนหน้ากันอยู่ตลอดเวลา

ในบรรดางานต่าง ๆ ทั้งหมดที่ผมเคยเขียนมา สามารถพูดได้เต็มปากว่า ผมรักและรู้สึกผูกพันกับ “ข้าวมันเป็ด” มากที่สุด

ระหว่างเขียนงานเหล่านี้ กำลังใจจากผู้อ่านและคำติชมจำนวนมาก คือเหตุผลสำคัญสุดที่ทำให้มันสามารถยืนระยะต่อเนื่องมาได้

เป็นหนึ่งในน้อยครั้งเลยนะครับ ที่ผมรู้สึกว่า การทำงานเขียนหนังสือ ไม่ได้ดำเนินไปโดยโดดเดี่ยว และเต็มไปด้วยความอบอุ่นประทับใจอย่างยิ่ง

ขอบคุณผู้อ่านทุกท่าน ทั้งท่านที่เคยติดตามอ่านงานเหล่านี้ขณะเพิ่งเขียนเสร็จใหม่ ๆ และท่านที่กำลังจะเปิดอ่านหน้าถัดไป

ขอบคุณครับ

(จากบทความแทนคำนำในหนังสือ "ข้าวมันเป็ด" นำมาใช้แทนคำโฆษณาขายของในนี้)





2 ความคิดเห็น:

'Sayhello Saygoodbye' กล่าวว่า...

เพิ่งกิน "ข้าวมันเป็ด" หมดเมื่อวาน ทั้งอิ่มและเพลิดเพลินเป็นอย่างดี
หวังว่าจะได้กินเมนูใหม่ ต่อๆไป เรื่อยๆ (อาจเป็นเมนูสเต็กเป็ด พิซซ่าหน้าเป็ด ซูชิเป็ด ฯลฯ) และคิดว่าเหตุผลข้อที่7 ตอนท้ายเล่ม ยังคงเป็นเหตุผล ในการมีเมนูใหม่ออกมาอีก (รอชิมอยู่)

narabondzai กล่าวว่า...

โอ ในที่สุดก็หาทางเข้ามาจนเจอ (นี่เป็นสาเหตุที่ผมเข้ามาตอบล่าช้าไปหลายวัน) ขอบคุณที่แสดงความเห็น และขอบคุณที่รับประทาน "ข้าวมันเป็ด"
"นรา"