วันพุธที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2551

เที่ยวเมืองนอกโดยไม่ต้องออกจากประเทศ โดย "นรา"


เมื่อเร็ว ๆ นี้ผมเกิดอาการ “ชีพจรลงเท้า” ทั้ง 2 ข้าง เป็นเม็ดตุ่มเล็ก ๆ สีแดงขึ้นเต็มไปหมด และมีอาการคันอย่างยิ่ง จนทำให้ผมตัดสินใจได้ว่า ถึงเวลาจะต้องออกเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศสักที (ข้อพิสูจน์อีกอย่างคือ ผมส่องกระจกดูหน้าตัวเองแล้วก็พบว่า มันซีดเซียวเหี่ยวเฉา ใกล้เคียงกับรูปถ่ายในบัตรประชาชนเข้าไปทุกที)

พรรคพวกเพื่อนฝูงหลายคนเข้ามาด้อม ๆ มอง ๆ ดูบริเวณ “ที่เกิดเหตุ” ของผม แล้วก็สรุปวินิจฉัยว่า ไม่ใช่ “ชีพจรลงเท้า” หรอก แต่เป็นเชื้อรา วิธีบำบัดรักษาก็คือ “มึงไปซื้อยามาทาซะ แล้วก็อย่าฟุ้งซ่านให้มากนัก”

ด้วยความรักเพื่อน ผมก็เลยทำตัวเป็นเด็กอยู่ในโอวาท เชื่อฟังทุกอย่าง ยอมถอยสองก้าวเข้าร้านขายยา และบำบัดรักษาจนกระทั่งอาการคันที่เท้ากับเม็ดตุ่มเล็ก ๆ สีแดงเหล่านั้นหายสนิทเด็ดขาด แต่อาการคันอยากเที่ยวก็ดูเหมือนจะไม่มีวี่แววทุเลาเบาบางลง

ในหัวของผมคล้ายเหมือนมีเสียงฝูงชนมาคอยตะโกนเรียกชื่อ จากนั้นก็สลับด้วยเสียงอื้ออึงหนักแน่นว่า “ออกไป!”

เสียงตะโกนดังกล่าว รบกวนความรู้สึกของผมเป็นอย่างยิ่ง จนไม่อาจทนนิ่งดูดายเพิกเฉย ต้องลงมือเดินเท้าไปท่องเที่ยวให้ได้ แม้ว่า “ชีพจร” หรือ “เชื้อรา” จะไม่ลงเท้าแล้วก็ตาม (ถึงตรงนี้ ผมรู้สึกว่าต่อมจริยธรรมในตัวมีปริมาณเพิ่มขึ้นเล็กน้อย)

ผมนั่งนับเงินทั้งหมดที่มีอยู่ในกระเป๋าตังค์ รวมจำนวนได้ทั้งสิ้น 280 บาท แต่ความอยากที่จะเดินทางท่องเที่ยว กลับสวนทางกันในอัตราแลกเปลี่ยน 1 ต่อ 1000 คือ อยากไปไกล ๆ หรู ๆ ประมาณเที่ยวยุโรป 10 วัน 3 ประเทศ รวมอาหารที่พักและช็อปปิ้งเสร็จสรรพ

ผมจึงวางแผนคิดหาวิธีต่าง ๆ นานา การไปเที่ยวเมืองนอกในสภาพยากจนอย่างง่ายสุด เท่าที่ผมนึกออกก็คือ ไปแบบมีเจ้าภาพเชื้อเชิญเสร็จสรรพรับภาระเลี้ยงดูตลอดรายการ

ว่าแล้วผมก็จัดกระเป๋าเก็บเสื้อผ้าข้าวของ อาบน้ำประแป้งแต่งตัวรอ แต่แผนดังกล่าวก็ล้มเหลว เวลาผ่านไปอีกหลายปี (นับจากเมื่อสักครู่ อันนี้ผมนับเผื่อรวมอนาคตข้างหน้าไว้ด้วย ผมเป็นพวกเชื่อและโน้มเอียงไปทางอ้างเหตุผลในปริมาณตัวเลขเยอะ ๆ นะครับ) โดยไม่มีใครมาเชิญชวนทาบทามหรือแม้แต่ทักทาย (ยกเว้นพนักงานในร้านสะดวกซื้อ) ทำให้ผมได้รับแง่คิดบทเรียนเพิ่มเติมว่า การจะได้รับเชิญไปต่างประเทศนั้น ควรมีเหตุปัจจัยอื่น ๆ ที่ต้องลงทุนลงแรงมากกว่าแค่รอให้ “ส้มหล่น” หรือ “หมูหก” เฉย ๆ

ผมจึงต้องงัดแผนสองมาใช้ คือ ไปสมัครทำงานเป็นสจ๊วร์ตสายการบิน แต่เมื่อทบทวนดูคุณสมบัติต่าง ๆ แล้ว ผมสอบตกตอบผิดหมดทุกข้อไม่ควอลิฟาย (แถมยังรู้สึกว่าตัวเองควาย ๆ ยังไงก็ไม่รู้) ตั้งแต่ส่วนสูง ความรู้ทางด้านภาษาอังกฤษ เรื่อยไปจนถึงทัศนคติทางด้านงานบริการ (ซึ่งผมนั้นยึดคติว่า “ลูกค้าเป็นฝ่ายผิดเสมอ”) และเชื่อว่าความคิดแบบผม “ใคร ๆ เขาก็ทำกัน” แต่คนเราไม่ควรจะท้อแท้สิ้นหวังโดยง่าย และควรจะมีความใฝ่ฝันอันแรงกล้าใช่มั้ยครับ?

ผมเองก็แอบฝันเล็ก ๆ (แต่ละโมบโลภมาก) อยู่ว่า อยากแต่งงานกับแอร์โฮสเตส เพื่อจะได้ขึ้นเครื่องบินฟรีโดยไม่โดนถีบตกลงมา

จนแล้วจนรอดถึงบัดนี้ อย่าว่าแต่จะมีแฟนเป็นแอร์เลยครับ แค่รู้จักสักคนก็ยังควานหาไม่เจอ ที่เคยพบอยู่บ้างก็มีแต่ “กระเป๋ารถแอร์”

ร่ำ ๆ ว่าจะถอดใจยอมแพ้ ล้มเลิกความใฝ่ฝัน ลาออกจากตำแหน่งนายก ฯ โดยไม่ต้องรอให้มีม็อบมาไล่อยู่แล้วเชียว แต่มาติดขัดตรงที่เพิ่งนึกขึ้นได้ว่า “กูยังไม่ได้เป็นนายก ฯ เลยครับ” ที่สำคัญ ผมไม่อยากทำให้เสียงสนับสนุน 19 ล้านเสียงผิดหวัง (ซึ่งก็คือตัวผมเองนั่นแหละ นับซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ ประเดี๋ยวก็ครบเอง) ผมจึงต้องประคับประคองความอยากของตัวเองต่อไป

แผนถัดมาคือ ส่งไปรษณียบัตรลุ้นชิงโชค แต่วิธีนี้ก็เสี่ยงอีก มีโอกาสน้อยมาก (ซึ่งผมชักเริ่มจะไม่แน่ใจว่า จริง ๆ แล้ว มัน “น้อย” หรือ “มาก” กันแน่) เนื่องจากมีคู่แข่งจำนวนมหาศาล มิหนำซ้ำดวงทางด้านนี้ของผมยังเข้าขั้น “อาภัพเพียบ” คือ นอกจากจะแย่จะเฉาเข้าขั้นอุดมสมบูรณ์แล้ว ยังแย่แบบสุภาพเรียบร้อยเปี่ยมด้วยคุณสมบัติผู้ดีมีกิริยามารยาทอันงามอีกต่างหาก แล้วจะไปหือไปเบียดไปแข่งไปแย่งไปยื้อกับใครไหว?

อะไรไม่ร้ายเท่า ไปรษณีย์บัตรทายผลชิงโชคที่ผมเคยลองส่ง ๆ ไปบ้าง มักจะไม่ถึงปลายทาง แต่ดันหลบเลี้ยวเฉไฉสู่ตู้ป.ณ. 888 ทำเนียบรัฐบาล กรณีนี้เสียของทั้งขึ้นทั้งล่อง อดชิงโชคและอดเชียร์นายก ฯ ไปในคราวเดียวกันแบบครึ่งควบลูก (แย่ ครับ แย่)

ผมนั่งกลุ้มกุมหัวด้วยความระทมขมองอยู่นาน ในที่สุดก็บรรลุหลักการสำคัญของการท่องเที่ยวจนได้ กล่าวคือ เมื่อสภาพความพร้อมทั้งหมดไม่เอื้ออำนวยให้เที่ยวเมืองนอกแบบตรงไปตรงมาได้เลย ก็ต้องแก้ลำด้วยการปลอมตัวเป็นชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวเมืองไทยซะเลย

สารรูปของผมนั้นทำได้ไม่ยากครับ ถึงแม้จะร่ำลือกันเยอะเหลือเกิน ว่าหน้าตาของผมเหมือนคุณชูวิทย์ แต่บ่อยครั้งเวลาไปไหนมาไหน มักจะมีคนไทยด้วยกันทักทายพูดคุยกับผมเป็นภาษาอังกฤษ เพราะความเข้าใจผิด เนื่องจากใบหน้าผมถือพาสปอร์ตหลายสัญชาติ เป็นได้ทั้งไทย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และฮ่องกง

ปัญหายุ่งยากน่าหนักใจอยู่ที่ว่า ผมควรจะเลือกปลอมเป็นคนชาติใด บอกตรง ๆ ว่าผมรักพี่เสียดายน้อย รักคนสุดท้อง เสียดายคนกลางและคนโต ทั้งจีน เกาหลี ญี่ปุ่น และฮ่องกง ผมชอบหมดเลย

หมายถึงนางเอกในหนังจากประเทศเหล่านี้นะครับ น่ารักทุกคน ขอยืนยันในระยะเวลาอันยืนยาว

เรื่องนี้จึงต้องตัดสินกันด้วยรูปถ่าย (ของนางเอกทั้งหลาย) ผมเลือกปลอมเป็นคนฮ่องกง เพราะพอจะรู้ศัพท์ภาษากวางตุ้งอยู่บ้าง ไม่เยอะนัก แค่ “สิว ๆ” (แปลว่าเล็กน้อย)

ผมชอบภาษากวางตุ้งนะครับ มีหลาย ๆ คำออกเสียงตรงกับภาษาไทย (แต่ความหมายแตกต่าง) และกลายเป็นตลกปนทะลึ่งไปได้อย่างน่าทึ่ง เช่น “ไต่หอย” แปลว่า มหาสมุทร “สับยัด” แปลว่า สิบเอ็ด “โจ๋วสั่น” แปลว่า อรุณสวัสดิ์ “อึ๋มชัด ๆ” หมายถึงตัวเลขห้าเจ็ดเจ็ด “ติ๋มไก๋” แปลว่า ทำไม “เส็กฝ่าน” แปลว่า กินข้าว “โหวเส็ก” แปลว่าอร่อย (ดังนั้น “เทมาเส็ก” จึงอาจแปลได้ว่า “เทมาแดก”) ฯลฯ

มันตรงกับนิสัย ถูกจริต จนเป็นเหตุปัจจัยให้สามารถเรียนรู้ได้ง่ายและดีกว่าภาษาอื่น รวมความแล้วผมก็พอจะแกล้งปลอมตัวพูดสำเนียงกวางตุ้งแบบมั่ว ๆ ได้แนบเนียนจนตัวผมเองเชื่อสนิท

แผนขั้นถัดไปจากนั้นก็คือ คว้ากระเป๋าก้าวออกจากบ้านตรงไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อให้รู้ว่ายังไม่เปิดใช้บริการ (อันนี้ผมสมมติตัวเป็นชาวต่างชาติที่ไม่ค่อยรู้เรื่องข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเมืองไทย ละเอียดรอบคอบดีมั้ยครับ?) แล้วค่อยย้อนกลับมาดอนเมือง

ถึงดอนเมืองปุ๊บ ผมก็แกล้ง ๆ ไปมั่วนิ่มปนเปกับผู้โดยสารขาเข้าชาวต่างชาติที่เพิ่งเดินมาถึง เดินตีหน้างง ๆ เหรอหราให้สมกับเป็นนักท่องเที่ยวอ่อนหัด ขาดประสบการณ์ และพร้อมจะโดนโขกราคาได้ทุกเมื่อ (หมายเหตุ ควรจะมีแผนที่เป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก ถ้ามีกล้องถ่ายรูปสะพายคล้องคอได้ด้วยยิ่งเจ๋ง)

ผมแกล้งทำเป็นพูดอังกฤษไม่ได้ และคุยกับแท็กซี่ไม่รู้เรื่อง จากนั้นก็คอยชำเลืองมองดูว่าป้ายจอดรถ Air Bus ราคาประหยัดที่จะผ่านแถว ๆ ถนนข้าวสารอยู่ตรงไหน เมื่อเจอแล้วก็รีบโบกไม้โบกมือปฏิเสธ พร้อมกับพูดเป็นสำเนียงกวางตุ้งว่า “โหมวอา” (เทคนิคในการออกเสียงให้ฟังดูคล้ายคนฮ่องกงก็คือ ไม่ว่าคุณจะพูดอะไรก็ตาม พยายามลงท้ายด้วยคำว่า “อาาาาา” ลากเสียงยาว ๆ ไว้ก่อน จะดูดีไปเองงงงง ขอโทษครับ ติดพันไปหน่อย)

จากนั้นผมก็นั่ง Air Bus เข้าเมือง ต้องเลือกที่นั่งให้ติดหน้าต่าง เพื่อดูวิวสองข้างทาง พร้อม ๆ กับทำหน้าตื่นเต้นด้วยความรู้สึกเหมือนเจอประสบการณ์แปลกใหม่ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนไม่เคยพบเห็นมาก่อน อันนี้ทำได้ง่ายมาก ไม่ต้องใช้จินตนาการสมมติอะไรให้ลึกซึ้ง เพราะกรุงเทพฯ เป็นคล้าย ๆ เมืองที่สร้างไม่เสร็จ มีการต่อเติมสร้างตึก ขุดถนน ตัดถนน เปลี่ยนช่องทางการจราจร รื้อโน่น ทุบนี่ อยู่ตลอดเวลา ทุกครั้งเมื่อออกนอกเส้นทางที่ใช้อยู่เป็นประจำ ผมก็มักจะรู้สึกเหมือนเพิ่งเคยมาแถวนี้เป็นครั้งแรก และจดจำสภาพดั้งเดิมก่อนหน้าไม่ได้เลย

ถึงถนนข้าวสาร ผมก็เดินโต๋เต๋นั่งร้านกาแฟ กินก๋วยเตี๋ยวผัดไทยจากรถเข็นข้างทาง เสร็จแล้วก็ไปวัดพระแก้ว ตอนซื้อบัตรผ่านประตู ต้องไม่เผลอตัวจ่ายราคาคนไทยนะครับ ข้อควรระมัดระวังอีกอย่างคือ เนื่องจากนักท่องเที่ยวเยอะ หลากหลายเชื้อชาติ ผมจึงไม่ควรเดินเฉียดเข้าใกล้ชาวฮ่องกง เพราะอาจมีพิรุธโดนจับได้ ต้องพยายามอยู่ใกล้ ๆ ฝรั่งเข้าไว้ ปลอดภัยกว่า เพราะเท่าที่นึกออก นอกจากคุณพี่คริสโตเฟอร์ ดอยล์แล้ว ผมก็ยังไม่เคยเจอฝรั่งคนไหนพูดกวางตุ้งได้คล่องอีกเลย

จริง ๆ แล้วถ้าจะให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น ผมควรจะไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์แห่งชาติมากกว่า เนื่องจากมีคนไทยมาเที่ยวกันน้อย โอกาสที่ผมจะเจอะเจอคนรู้จัก หรือมีคนไทยด้วยกันมาทำให้ผมเผลอตัวหลุดพูดไทย ย่อมจะเป็นไปได้ยาก ชาวต่างชาติก็เหมือนกัน ส่วนใหญ่จะเป็นพวกที่สนใจทางด้านศิลปวัฒนธรรม มากกว่ายกโขยงมาเป็นกรุ๊ปทัวร์หมู่คณะ ความเป็นไปได้ที่ผมจะเจอชาวฮ่องกงจึงมีไม่มาก

อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้แวะไปที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ เนื่องจากครั้งหลังสุดที่เคยไปเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ผมรู้สึกเหงาอ้างว้างเคว้งคว้างเปล่าเปลี่ยวอย่างบอกไม่ถูก มีคนมาเยี่ยมชมกันโหรงเหรง ของสำคัญของมีค่าและงานศิลปะชั้นเยี่ยม จัดแสดงแบบเสียไม่ค่อยสมราคาสมฐานะความสำคัญ ปราศจากความมีชีวิตชีวา ไม่มีข้อมูลที่ทำให้เกิดความซาบซึ้งเข้าอกเข้าใจมากยิ่งขึ้น แต่ละห้องมีเจ้าหน้าที่แต่งชุดข้าราชการ นั่งเฝ้าอย่างสงบนิ่งเนิบเนือย (จนผมรู้สึกว่าบรรดาเจ้าหน้าที่ดูกลมกลืนกับสิ่งที่จัดแสดงเหลือเกิน)

ในฐานะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ผมอยากเจอะเจอความมีชีวิตชีวา ความคึกคัก ความเบิกบานสำราญใจมากกว่า ยังไม่พร้อมนะครับที่จะเผชิญกับสิ่งที่ชวนให้หดหู่ท้อถอยสิ้นหวังวังเวงโหวงเหวงในหัวอก เพราะถ้าต้องการอะไรทำนองนี้ แค่ผมนอนเล่นอยู่บ้านเปิดโทรทัศน์ก็สามารถได้รับความรู้สึกเดียวกันฉับพลันทันที โดยไม่ต้องเหนื่อยยากลำบากกาย และไม่ต้องลงทุนลงแรงอันใดทั้งสิ้น

ยิ่งพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ หอศิลปเจ้าฟ้า ยิ่งไม่ต้องพูดถึง คนที่มาเยี่ยมชมรวม ๆ แล้วอาจน้อยกว่าจำนวนเจ้าหน้าที่เสียด้วยซ้ำ บวกรวมกับบรรยากาศเก่า ๆ วังเวง เงียบเชียบ แสงทึม ๆ สลัว ๆ คนขวัญอ่อนอย่างผมอาจเกิดอาการอกสั่นขวัญหายตกใจกลัวเอาได้ง่าย ๆ ไม่ไหวครับ เป็นการท่องเที่ยวที่ตื่นเต้นเร้าใจผจญภัยเยอะเกินไป

เที่ยววัดพระแก้วเสร็จ ผมก็เลยตัดสินใจไปห้างสรรพสินค้าเปิดใหม่ที่ยิ่งใหญ่สุดในแถบประเทศแถวนี้ (แห่งเดียวกับที่เมื่อหลายเดือนก่อน บ่อน้ำตรงชั้นพักบันไดด้านนอกอันหรูหราอลังการ สาดกระเซ็นใส่เท้าผม จน “ชีพจร” หรือ “เชื้อรา” ลงเท้า) สิ่งที่ทำให้ผมชอบมากและคิดว่าที่นี่เหมาะกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอย่างผมก็คือ อากาศ

เมืองไทยนี่ร้อนไปหน่อย ดังนั้นเมื่อเดินเข้าไปในห้างสรรพสินค้าอันโอ่อ่ากว้างใหญ่ ใหญ่จนเพื่อนบ้านสมมติของผมที่จิมซาจุ่ย ซึ่งเคยเตือนผมไว้แล้วว่า “เวลาเอ็งไปเที่ยวที่นั่น อย่าลืมพกเสบียงอาหารน้ำดื่มติดตัวไปด้วย เผื่อหลงทางและติดอยู่ในนั้นจะได้ไม่อดตาย” (ไอ้เพื่อนคนนั้นที่ผมสมมติขึ้น มันเองก็ไม่เคยมาเที่ยวที่นี่หรอกนะครับ ถึงได้เซ่อจนไม่รู้ว่า มีร้านอาหารเยอะแยะไปหมดจนสามารถเลี้ยงปากท้องประชากรให้อิ่มหนำได้นับหมื่นชีวิต) สิ่งที่สร้างความประทับใจผ่านสัมผัสวูบแรกเลยก็คือ ไอเย็นฉ่ำจากเครื่องปรับอากาศ ในระดับอุณหภูมิที่ปรับไว้อย่างเหมาะสมสำหรับคนเมืองหนาว ยอดเยี่ยมจริง ๆ เลยจอร์จและซาราห์บวกอาก๊ำ (ต้องอุทานเป็นสำเนียงกวางตุ้งว่า “โหวอาาา” ด้วยครับ)

ความใหญ่โตมโหฬารของสถานที่ บวกกับแอร์เย็นระดับเกินหนาวไปหลายองศา ยังไม่เท่าไหร่นะครับ ที่น่าทึ่งกว่านั้นก็คือ มันเป็นการติดตั้งเครื่องปรับอากาศให้แก่พื้นที่ว่างมากมาย (ตรรกะง่าย ๆ ครับ คือ ห้างใหญ่มากจนมีบางบริเวณที่นักท่องเที่ยวและลูกค้ายังสำรวจมาไม่ถึง) ที่ชวนให้ตื่นเต้นเร้าใจเหมือนได้เยี่ยมชมที่ราบกว้างขวางเวิ้งว้างสุดลูกหูลูกตาในทวีปยุโรป (ซึ่งผมไม่เคยไปหรอกครับ เคยเห็นแต่ในหนัง)

สิ่งมหัศจรรย์ต่อมาคือ ผมไม่เคยรู้มาก่อนเลย (เฉพาะตอนที่ปลอมตัวเป็นชาวฮ่องกงเท่านั้น) ว่า คนกรุงเทพฯ นั้น จะมีฐานะชีวิตความเป็นอยู่เลิศหรูอลังการดาวล้านดวงถึงเพียงนี้ ทีแรกผมนึกว่าเป็นแสงวูบวาบจากดิสโกเธค แต่ที่ไหนได้นั่นเป็นประกายแสงระยิบระยับจากเพชรพลอยอัญมณี ซึ่งบรรดาแขกผู้มีเกียรติสวมประดับมาร่วมงานเลี้ยงเปิดตัวร้านค้าแบรนด์เนมหรูหราในห้างนะครับ

ดูอยู่นานจนตาเกือบบอดเชียว และเพลินอยู่นานจนดึกดื่นมืดค่ำ ผมก็ได้เวลาต้องกลับบ้านโดยไม่ต้องออกนอกประเทศ แปลงกายกลับมาเป็นมนุษย์ไร้สาระวีหนึ่งตามปกติ แต่ผมตั้งใจไว้แล้วว่า พรุ่งนี้จะปลอมตัวเป็นนักท่องเที่ยวอีก

บนสถานีรถไฟฟ้า ผมเจอเพื่อนซี้คนหนึ่ง (โชคดีที่ตอนนี้ผมไม่ได้ปลอมตัวแล้ว) มันทักทายถามไถ่ว่า “มึงไปไหนมา กูโทรไปที่บ้านตั้งแต่เช้าก็ไม่เจอตัว”

“กูไปเที่ยวเมืองนอกมา” ผมสารภาพเพราะขี้เกียจปิดบัง จากนั้นก็เล่ารายละเอียดทั้งหมดที่เกิดขึ้น

“มึงนี่เป็นเอามาก” มันพูดพร้อม ๆ กับมองผมด้วยสายตาสมเพทเวทนา “ไม่สบายรึเปล่าว่ะ?”

“เปล่า กูปกติดี” ผมตอบเสียงอ่อย ๆ

“แล้วทำไมถึงได้ฟุ้งซ่านอยากเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ มึงอย่ามาอ้างเรื่องชีพจรหรือเชื้อราลงเท้าเลย กูรู้ว่ามึงโกหก บอกเหตุผลที่แท้จริงมาซะดี ๆ” เพื่อนถามด้วยความสงสัยและสอดรู้สอดเห็นจนออกนอกหน้า พร้อมทั้งส่งสายตาขู่ว่า ห้ามตอบเฉไฉ

“รู้แล้วอย่าไปบอกใครนะ?” ถึงตรงนี้ผมก็น้ำตาไหลพรากโดยไม่อาจสะกดกลั้น

“เออ กูจะไม่บอกใคร” เพื่อนผมมันให้สัญญาอย่างหนักแน่น

“กูฟังนายกทักษิณพูดและให้สัมภาษณ์แล้ว จู่ ๆ ก็เกิดความรู้สึกอยากเว้นวรรคจากการเป็นคนไทยชั่วคราว” พูดจบผมก็ปล่อยโฮดังลั่น

เพื่อนผมทำตาปริบ ๆ ก่อนจะตอบเสียงสั่นเครือ “ไม่เป็นไร ๆ อย่าร้องไห้ ประเดี๋ยวพรุ่งนี้กูปลอมตัวไปเที่ยวกับมึงด้วย”

ว่าแล้วทั้งเพื่อนและผมก็กอดคอประสานเสียงร้องไห้ดังลั่นไปทั่วบริเวณสถานีรถไฟฟ้า

(หมายเหตุ : เขียนถึงตรงนี้ ผมก็พลันนึกได้ว่า อีกวิธีหนึ่งในการได้ไปเที่ยวเมืองนอกก็คือ เริ่มต้นด้วยการเป็นนายก ฯ และบริหารประเทศให้โหลยโท่ยสักหน่อย ประเดี๋ยวก็ได้ไปเที่ยวเมืองนอกเอง มิหนำซ้ำวิธีนี้ยังได้ “ไปนาน ๆ” เสียด้วยสิ)
(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "มนุษย์ไร้สาระวีหนึ่ง" เว็บไซต์โอเพนออนไลน์)

3 ความคิดเห็น:

baipai2001 กล่าวว่า...

ตอนสุดท้ายถูกใจจ๊อดดดดดดมากฮะซาร่าห์
คริคริ

Somboon กล่าวว่า...

5555 งวดหน้าอย่าลืมชวนด้วยน่ะ เผื่อพกเงินไปซื้อทีมฟุตบอล 555

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมากค่ะ สำหรับบทความ