วันเสาร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2551

โลกที่สิ้นไร้ความหวัง โดย "นรา"


Children of Men เป็นผลงานกำกับของอัลฟองโซ กัวร็อง สร้างจากนิยายชื่อ The Children of Men ของพี.ดี. เจมส์ (ตามข้อมูลระบุว่า เป็นการดัดแปลงที่มีรายละเอียดแตกต่างจากตัวเรื่องเดิมอยู่ค่อนข้างมาก)

หนังกล่าวถึงเหตุการณ์โลกอนาคตอันใกล้ ในปี 2027 เผ่าพันธุ์มนุษย์ว่างเว้นจากการถือกำเนิด เมื่อผู้หญิงทั้งหมดบนพื้นพิภพ พร้อมใจกันเป็นหมันโดยไม่ทราบสาเหตุ (ในนิยายฝ่ายที่เป็นหมันคือเพศชาย) ต่อเนื่องมาหลายปี

เรื่องเริ่มต้นด้วยข่าวทางโทรทัศน์เกี่ยวกับเด็กหนุ่มชาวอาร์เจนตินาวัยสิบแปดปีเศษ โดนทำร้ายเสียชีวิต ข่าวดังกล่าวสร้างความสะเทือนใจไปทั่ว เนื่องจากผู้ตายได้ชื่อว่าเป็น “คนที่มีอายุน้อยที่สุดในโลก”

ผลกระทบสืบเนื่องติดตามมาจากการไม่มีเด็กเกิดใหม่มาหลายปี ก็คือ สังคมเต็มไปด้วยความเสื่อมโทรม หนังไม่ได้แจกแจงสาเหตุแน่ชัด แต่ก็มีแนวโน้มที่เป็นไปได้มากว่า บรรดาผู้ใหญ่ทั้งหลายต่างรู้สึกว่า สภาพดังกล่าว เหมือนจุดจบของมวลหมู่มนุษย์กำลังใกล้คืบจะมาถึงในเร็ววัน เกิดเหตุจราจลความวุ่นวายเข้าขั้นกลียุคในหลายเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลก

หลงเหลือเพียงอังกฤษเท่านั้นที่ยังพอประคับประคองตนเองฝ่าวิกฤติมาได้ และกลายเป็นฐานที่มั่นอันปลอดภัยแห่งสุดท้าย แต่อังกฤษก็มิได้ปลอดจากปัญหาไปเสียทีเดียว ตรงกันข้าม มีการก่อวินาศกรรมอยู่เนือง ๆ ทั้งโดยฝีมือของกลุ่มผู้ก่อการร้าย และการวางแผนโดยบงการของรัฐบาลเอง เพื่อกำหนดสร้างสถานการณ์บางอย่าง
สภาพเช่นนี้ ส่งผลให้บรรดาผู้อพยพหลากสัญชาติจากทั่วทุกมุมโลก พยายามลักลอบหลบหนีเข้ามาลี้ภัยในอังกฤษ แต่ก็โดนรัฐบาลเจ้าถิ่นไล่ล่าอย่างเข้มงวด ผู้ที่โดนจับได้จะถูกส่งตัวไปอยู่ในเขตกักกัน (ซึ่งมีการปฏิบัติอย่างโหดเหี้ยมรุนแรงไร้มนุษยธรรม จนชวนให้นึกถึงค่ายกักกันชาวยิวในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2)

ความรุนแรงที่ฝ่ายรัฐกระทำต่อเหล่าผู้ลี้ภัย ส่งผลให้เกิดขบวนการใต้ดินชื่อ Fishes ซึ่งต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้อพยพ

หนังเล่าเรื่องทั้งหมด ผ่านตัวเอกชื่อธีโอ ฟารอน อดีตนักเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งพลิกผันบทบาทฐานะตนเอง กลายมาเป็นข้าราชการในกระทรวงพลังงาน

วันหนึ่งธีโอโดนขบวนการ Fishes จับตัว เรื่องที่คาดไม่ถึงคือ หัวหน้ากลุ่มก่อการต่อต้านรัฐบาลคือ จูเลียน อดีตภรรยาเก่าของเขาที่ไม่ได้เจอะเจอมานานเกือบ ๆ 20 ปี (หลังจากเกิดโรคไข้หวัดระบาดไปทั่วโลกในปี 2008 จนทำให้ลูกชายของทั้งคู่เสียชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างสองสามีภรรยาก็ถึงจุดแตกหักเลิกรากัน)

จูเลียนยื่นข้อเสนอมอบเงินให้ธีโอเป็นจำนวนห้าพันปอนด์ โดยชายหนุ่มจะต้องใช้เส้นสายการเป็นญาติกับผู้มีอำนาจในรัฐบาล ขอหนังสือเดินทางสำหรับผู้อพยพหญิงสาวชาวอัฟริกันชื่อคี เพื่อให้เธอหลบหนีออกนอกประเทศ ไปร่วมสมทบกับ Human Project ซึ่งร่ำลือกันว่าเป็นองค์กร-ช่วยเหลือกอบกู้มนุษยชาติ-ที่ปราศจากคำยืนยันแน่ชัดว่ามีอยู่จริงหรือไม่

หากธีโอตอบปฏิเสธ นั่นหมายถึงการเป็นศัตรูฝ่ายตรงข้ามของขบวนการ Fishes

ธีโอต้องจำยอมปฏิบัติตามอย่างไม่เต็มใจ เพื่อให้หมดสิ้นภาระ แต่แล้วภารกิจกลับไม่ง่ายดาย หนังสือเดินทางที่ขอมาได้ กำหนดให้เดินทางเป็นหมู่คณะ ซึ่งชายหนุ่มจะต้องร่วมปรากฎตัวอยู่ด้วย ซ้ำร้ายก่อนถึงด่านตรวจจุดแรก ขบวนคุ้มกันผู้ลี้ภัยหลบหนี ถูกฝูงชนบ้าคลั่งซุ่มโจมตี จูเลียนโดนยิงเสียชีวิต ส่งผลให้ต้องมีการเลือกผู้นำคนใหม่ของ Fishes (ซึ่งธีโอแอบได้ยินแผนการกลางดึก ว่าการโจมตีที่ผ่านมา เป็นการคบคิดหักหลังกันภายในกลุ่มต่อต้าน ยิ่งไปกว่านั้นธีโอคือ หนึ่งในเป้าหมายที่จะต้องกำจัด)

ความลับถัดมา ซึ่งโยกคลอนสั่นสะเทือนจิตใจธีโอยิ่งกว่าสิ่งใดทั้งหมด ได้แก่การล่วงรู้ความจริงว่า คีกำลังตั้งท้อง ครั้งนี้เขาจึงพาเธอหลบหนีด้วยความเต็มใจ

เรื่องราวถัดจากนั้น คือ การรอนแรมเสี่ยงภัยของตัวเอกทั้งสอง ควบคู่ไปกับการนำพาผู้ชมสัมผัสโลกที่เปรียบเสมือน “ฝันร้าย” ซึ่งแทบจะไม่มีแง่มุมดีงามใด ๆ หลงเหลือ ก่อนจะสรุปลงเอยอย่างน่าประทับใจ

ความโดดเด่นอันดับแรกของ Children of Men คือ ความสนุกชวนติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ มีครบครันเพียบพร้อมทั้งอารมณ์สะเทือนใจ ตื่นเต้น ซาบซึ้ง และน่าสะพรึงกลัว

ถัดมาคือ ในหนังจินตนาการว่าด้วยโลกอนาคตส่วนใหญ่ มักจะสะท้อนให้เห็นถึงความเจริญทางด้านเทคโนโลยีล้ำยุค ความน่าตื่นตาอันเกิดจากงานออกแบบฉาก (ผ่านกรรมวิธีทางด้านเทคนิคพิเศษ) Children of Men กลับมาในทิศทางตรงกันข้าม นอกเหนือจากจอภาพเคลื่อนไหวข้างรถเมล์ในลอนดอนแล้ว รายละเอียดอื่น ๆ ที่เหลือ มุ่งมาทางเน้นความสมจริง และเป็นภาพโลกอนาคตที่ไม่ได้แตกต่างจากปัจจุบันมากนัก

ยิ่งไปกว่านั้น หนังยังหยิบยืมวิธีการแบบหนังข่าวหรือสารคดีมาใช้ในหลายฉากหลายตอน โดยเฉพาะเหตุการณ์ปะทะสู้รบช่วงท้ายสุดของเรื่อง ซึ่งถ่ายทำต่อเนื่องด้วยวิธีแบกกล้องใส่บ่า กินความยาวร่วม ๆ 7 นาที ปราศจากการตัดภาพ (เป็นฉากที่ทำได้จริงจังมาก จนเหมือนผู้ชมหลุดพลัดเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ และเต็มไปด้วยอารมณ์หลายหลาก ตั้งแต่ความวุ่นวายโกลาหล ความโหดเหี้ยมรุนแรง ความเข้มข้นเร้าใจ และความน่าหวาดหวั่นพรั่นพรึง)

อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจสูงสุดในงานชิ้นนี้ คือ ประเด็นทางด้านเนื้อหา Children of Men สะท้อนให้เห็นภาพตรงข้ามกับสังคมในอุดมคติที่เรียกกันว่า distopia (คือ โลกที่เต็มไปด้วยด้านลบและความเลวร้ายต่าง ๆ นานา) ออกมาได้หนักแน่นเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นอำนาจรัฐที่ครอบงำบงการทุกขั้นตอนในชีวิตของผู้คน จนไม่หลงเหลือที่ว่างให้สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล, การกีดกันแบ่งแยกระหว่างพลเมืองทั่วไปกับบรรดาผู้อพยพ, เหตุการณ์ก่อการร้าย ฯลฯ

เหนือสิ่งอื่นใดคือ การตีแผ่ให้เห็นถึงสภาพชีวิตมนุษย์ที่ดำรงอยู่อย่างสิ้นหวัง มองไม่เห็นทางสว่างในอนาคต (อาจกล่าวได้ว่า การที่ผู้หญิงทุกคนบนโลกใบนี้ พร้อมใจกันเป็นหมันอย่างไร้สาเหตุ มีความหมายในเชิงเปรียบเปรยให้เห็นถึง “การสูญเสียความหวังในชีวิต” ก็ได้เหมือนกัน)

ในแง่นี้ การผจญภัยของธีโอ ก็เหมือนกับการฝ่าด่านทดสอบ เผชิญบทเรียนสารพัดอย่าง เพื่อกอบกู้ฟื้นฟูความหวังและศรัทธาต่อการมีชีวิตกลับคืนมาอีกครั้ง (หลังจากที่ความตายของลูกชายเขา ทำให้มันหมดสิ้นสูญหายไป)

นอกจากแง่คิดหลัก ๆ ดังกล่าวแล้ว Children of Men ยังแฝงด้วยประเด็นทางศาสนาอยู่ค่อนข้างเด่นชัด การผจญภัยของธีโอกับคี มีนัยยะและรายละเอียดค่อนข้างใกล้เคียงเรื่องราวของโจเซฟกับแมรีในเหตุการณ์ “กำเนิดพระเยซู” จนอาจกล่าวได้ว่า เป็นการนำมาเล่าใหม่โดยเปลี่ยนฉากหลังให้สอดคล้องกับยุคสมัย (นี่ยังไม่นับรวมรายละเอียดปลีกย่อยอย่างเช่นชื่อ ธีโอ-theo-มีความหมายนัยยะเกี่ยวโยงไปถึง “พระเจ้า”)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากไคลแม็กซ์โกลาหลตอนท้ายเรื่อง ซึ่งทรงพลังถึงขั้นทำให้ผู้ชมรู้สึกว่า หาก “นรก” มีจริง สภาพของมันคงไม่ผิดแผกไปจากที่เราได้เห็นมากนัก
ความน่าทึ่งอย่างยิ่งก็คือ เมื่อเหตุการณ์อันเปรียบเสมือนกลียุค คลี่คลายยุติลงด้วยสิ่งที่ใกล้เคียงกับคำว่าปาฏิหาริย์

ความรู้สึกของตัวละคร (รวมทั้งผู้ชม) ในห้วงขณะนั้น ก็คือ ตระหนักถึงความศักดิ์สิทธิ์สูงส่ง เกิดศรัทธาเชื่อมั่นต่อการมีอยู่จริงของพระเจ้า (หรือความดีงาม) และกอบกู้ฟื้นฟูความหวังที่มืดมอดพังทลายหวนคืนสู่แสงสว่างขึ้นอีกครั้ง

นี่คือ หนังที่ยอดเยี่ยมครบครัน ทั้งความบันเทิง ความตื่นตาตื่นใจ ลีลาทางศิลปะ และเนื้อหาสาระ





(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร Flicks แก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติมอีกหลายย่อหน้ารวมทั้งเปลี่ยนชื่อเรื่องในการเผยแพร่ที่นี่)

2 ความคิดเห็น:

'Sayhello Saygoodbye' กล่าวว่า...

ขอนอกเรื่องนิดหน่อย
เมื่อวาน(วันอาทิตย์ที่28)เกิดอะไรขึ้นกับรายการ"หนังหน้าไมค์"
เปลี่ยนเป็นรายการ"เพลงหน้าไมค์" หรือ "หนังหลังไมค์" รึเปล่า
หายไปไหนกันหมดเนี่ย...

narabondzai กล่าวว่า...

เมื่อคืนวันอาทิตย์ ฝนตกหนัก แถว ๆ อาร์ซีเอ ตั้งแต่ร้านโอลด์เล้งเป็นต้นไปไฟดับหมด รวมถึงบริเวณที่ห้องส่งจัดรายการตั้งอยู่ เนื่องจากหม้อแปลงระเบิด
ผมกับคุณจ๋องไปถึงตอนสี่ทุ่ม ก็ไม่มีวี่แววว่าไฟจะมา จึงต้องกลับไปตั้งหลักรอที่โรงหนัง house ถึงเกือบ ๆ ห้าทุ่ม จึงแยกย้ายกลับบ้าน (หลังจากนั้นก็ดูเหมือนว่าไฟจะมา แต่พวกผมกลับถึงบ้านกันเรียบร้อยแล้ว)
สงสัยธรรมชาติจะลงโทษนะครับ