ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงของฝีมือครูช่างในจิตรกรรมไทยนั้น นอกจากชี้วัดตัดสินกันที่ความประณีตในการวาดลาย ระบายสี ตัดเส้น ปิดทองแล้ว ยังพิจารณาได้อีกทาง โดยดูจากความคิดและจัดองค์ประกอบภาพ ว่าจะออกแบบให้เป็นเช่นไร ตรงไหนควรใช้สีอะไร รวมทั้งจะเขียนอย่างไรให้อยู่ในขนบโบราณ ควบคู่กับการตีความใหม่ แสดงเอกลักษณ์เฉพาะตนเข้าไป
ทั้งภาพของครูทองอยู่และครูคงแป๊ะ ล้วนเป็นการจัดองค์ประกอบภาพและการใช้สี ในแบบที่ดูแล้วก็ต้องนิยามกันง่าย ๆ ว่า “คิดได้ยังไง?”
ครูทองอยู่วาดตามแบบแผนดั้งเดิมอย่างเคร่งครัด แต่ภาพของท่านก็มีผลลัพธ์โดยรวมแหวกแนวก้าวหน้าซ่อนไว้อยู่ไม่น้อย ขณะที่ภาพของครูคงแป๊ะนั้น เต็มไปด้วยการทดลองสิ่งแปลกใหม่สารพัดสารพันอย่างกล้าหาญและสร้างสรรค์
พูดง่าย ๆ ว่า ล้ำยุคตั้งแต่เมื่อครั้งเพิ่งวาดเสร็จสด ๆ ร้อน ๆ และยังทันสมัยชนิดเด็กแนวในปัจจุบันไล่กวดไม่ทัน
ตอนผมเห็นภาพวาดของครูคงแป๊ะครั้งแรก เมื่อผ่านพ้นช่วงเซอร์ไพรส์ที่มีต่อความยุ่งเหยิงอลเวงแล้ว ความรู้สึกที่เกิดขึ้นถัดมาก็คือ สีสันสวยจับใจ
ครูคงแป๊ะใช้สีพื้นค่อนข้างมืดทึบ ประกอบไปด้วยสีดำ เขียวเข้ม สีดินแดง ตรงบริเวณฉากหลัง ภูเขา ต้นไม้
สีพื้นอันมืดทึบเข้มข้นเหล่านี้ นอกจากจะขับเน้นตัวบุคคลในภาพทั้งหมดจนโดดเด่นยิ่งขึ้น โดยไม่รบกวนกันแล้ว ยังช่วยให้เกิดระยะใกล้ไกลมีความลึก
พร้อม ๆ กันนั้น ในภาพก็มีทั้งบริเวณที่ใช้สีสด สีตรงข้าม สีอ่อนหวาน การปิดทองอันมลังเมลือง ปนเปกันอย่างลงตัว ผ่านการครุ่นคิดล่วงหน้ามาถี่ถ้วน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นภาพที่ใช้สีเขียวหลากหลายระดับ ตั้งแต่เข้มข้นจนถึงอ่อนจาง ได้สวยน่าตื่นตาตื่นใจเหลือเกิน
ครูคงแป๊ะได้รับการยกย่องว่า เก่งกาจไม่มีใครเทียบ ในการเขียนใบหน้าคน ซึ่งสามารถนำเอาวิธีวาดแบบจีน มาผสมผสานในภาพแบบไทย ได้อย่างเหมาะเจาะ
ภาพใบหน้าคนของครูคงแป๊ะ อาจจำแนกได้คร่าว ๆ เป็นสองกลุ่ม คือ บรรดาตัวละครสำคัญ ซึ่งยังคงเขียนด้วยวิธีดั้งเดิมตามขนบไทยแท้ ใบหน้าแสดงอารมณ์ความรู้สึกแต่น้อย ตัดเส้นประณีตอ่อนช้อยงดงาม
คงเคยผ่านตากันมาบ้างนะครับว่า เสน่ห์ดึงดูดอย่างหนึ่งของจิตรกรรมไทยก็คือ อารมณ์สนุกซุกซนของศิลปิน ซึ่งวาดภาพแสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน แฝงซ่อนอารมณ์ขัน การวิพากษ์วิจารณ์สังคม บางครั้งก็อาจครึกครื้นสัปดนทะลึ่งตึงตัง กระทั่งว่าโป๊อีโรติคเกือบจะโจ๋งครึ่ม
มีศัพท์ช่างเรียกภาพเหล่านี้ว่า “ภาพกาก” ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่สำคัญกับเหตุการณ์ในท้องเรื่อง แต่นิยมเขียนขึ้นเพื่อประกอบฉาก และสะท้อนถึงโลกปกติของสามัญชน
ประการถัดมา มันเป็นพื้นที่ช่องทางเล็ก ๆ ให้ศิลปิน มีโอกาสสะท้อนมุมมองทัศนะส่วนตัวได้บ้าง เนื่องจากเหตุการณ์หลัก ๆ ในภาพ ต้องเขียนขึ้นโดยมีขนบแบบแผนเป็นกรอบบังคับ
ประโยชน์ทางอ้อมอีกอย่างของภาพกากก็คือ ลดทอนความขรึมขลังสูงส่งในจิตรกรรมไทย ทำให้เกิดแง่มุมเกี่ยวสะท้อนถึงความเป็นปุถุชนทั่วไป เป็นเรื่องราวใกล้ตัวติดดินที่จับต้องได้
ภาพกากที่ไม่ค่อยเกี่ยวโยงต่อการเล่าเรื่อง จึงเป็นพื้นที่สำคัญ และมักจะดึงดูดความสนใจของผู้ชม กระทั่งกลายเป็นอีกเอกลักษณ์หนึ่งในภาพเขียนของไทย หากขาดหายไปเมื่อไร ก็เหมือนอาหารชั้นเลิศที่ปรุงมาอย่างดี แต่ไม่มีน้ำจิ้มรสเด็ด
ภาพกากในเรื่องมโหสถชาดกของครูคงแป๊ะ ค่อนข้างแปลกประหลาดพ้นจากกฎเกณฑ์ทั่วไปอยู่สักหน่อย คือ ยังปะปนเกี่ยวข้องกับตัวเรื่องราว คล้าย ๆ กับภาพกากที่ปรากฎในรูป “มารผจญ” (ซึ่งผมจะเล่าถึงในโอกาสต่อ ๆ ไป)
ตรงภาพกากนี้เองที่ครูคงแป๊ะฝากฝีมือล้ำเลิศเอาไว้น่าประทับใจมาก ด้วยการเขียนใบหน้าคนอย่างหลากหลายล้ำลึก มีทั้งภาพที่แสดงสีหน้าอารมณ์ได้อย่างมีชีวิตชีวา (ตัวอย่างเช่น ทางซ้ายมือของมโหสถ มีทหารคนหนึ่งยกมือปิดปากหัวเราะ เมื่อเห็นเกวัฎพราหมณ์พลาดท่าเสียที) มีทั้งใบหน้าชาวต่างชาติที่เขียนขึ้นอย่างประณีต ใบหน้าที่เจตนาจะให้ดูอัปลักษณ์ (ตรงนี้ยิ่งยากเข้าไปใหญ่เลยนะครับ คือต้องวาดให้ขี้เหร่ด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องสวยในแบบฟอร์มของภาพเขียนด้วย)
จำนวนบุคคลในภาพนี้ มีเยอะถึงประมาณร้อยกว่าตัวเ ที่ครูคงแป๊ะเก่งมากก็คือ ท่านวาดใบหน้าทุกคนด้วยลีลาอารมณ์ที่แทบจะไม่ซ้ำกันเลย
ผมเคยเล่าเอาไว้ว่า สามารถยืนดูภาพของครูทองอยู่และครูคงแป๊ะได้ทั้งวัน ไม่ได้โอเวอร์ดัดจริตนะครับ ลำพังแค่พิจารณาใบหน้าทีละคนให้ครบถ้วน ก็ซัดเข้าไปเป็นชั่วโมงแล้วล่ะ นี่ยังไม่นับรวมกิริยาท่าทาง ลายผ้า เครื่องประดับ สีสัน รอยฝีแปรง ความสวยของเส้น ฯลฯ
มีรายละเอียดปลีกย่อย 3 จุดใหญ่ ๆ ในภาพนี้ ซึ่งกลายเป็นจุดเด่น ที่มักจะไปปรากฎบ่อย ๆ ในหนังสือเกี่ยวกับภาพจิตรกรรม ได้รับการนำมาใช้เป็นภาพประกอบ หรือหน้าปกหนังสือ
จุดแรกได้แก่ แอ็คชั่นเหตุการณ์ที่มโหสถเอามือกดเกวัฎพราหมณ์ที่กำลังก้มอยู่กับพื้น ภาพส่วนนี้เขียนตามขนบดั้งเดิม และพิสูจน์ให้เห็นว่า แม้ครูคงแป๊ะจะมีเชื้อจีน และเริ่มต้นจากการเขียนภาพแบบจีนมาก่อน แต่เมื่อต้องมาเขียนลวดลายไทย ปิดทอง ท่านก็ทำได้ถึงพร้อมไม่ด้อยไปกว่าใคร
อีกสองแห่งนั้นคล้าย ๆ กัน เป็นรูปทหารหลากสัญชาติ คือ ตรงประตูเมืองกำแพงตอนบนซ้ายของภาพ และตรงกึ่งกลางภาพใต้ต้นไม้สีเขียวอ่อน
ปกติภาพใบหน้าคนในจิตรกรรมไทย มักจะระบายสีผิวเนื้อ จากนั้นก็ตัดเส้น คิ้ว จมูก ปาก ดวงตา จนเด่นชัด (ตรงภาพใบหน้ามโหสถ และเหล่าบริวารที่อยู่ใกล้ ๆ ครูคงแป๊ะก็ยังใช้วิธีนี้)
ทว่าบริเวณที่วาดทหารนานาชาติทั้งสองพื้นที่ดังกล่าว ครูคงแป๊ะเลี่ยงการตัดเส้น หันมาใช้สีดำอ่อน ๆ แรเงาอย่างละเอียดด้วยปลายเส้นพู่กันที่บางเฉียบ (บางถึงขั้นต้องชะโงกหน้าเข้าไปดูใกล้ ๆ หรือนำภาพถ่ายมาขยายใหญ่ จึงจะพอมองเห็น) จนมีมิติล้ำลึก กระเดียดไปทางภาพที่เน้นความสมจริง โดยยังคงความเป็นภาพในลีลาประดิษฐ์เอาไว้ได้ (นี่ยังไม่นับรวมการเขียนรอยจีบย่นของผ้าในบางแห่ง ซึ่งถือว่าใหม่มากสำหรับจิตรกรรมไทยในขณะนั้น)
เส้นเล็กบางเฉียบละเอียดเช่นนี้ วาดโดยใช้ “พู่กันหนวดหนู”
“พู่กันหนวดหนู” เป็นพู่กันขนาดเล็กสุด ข้อมูลหลายแหล่งที่ผมอ่าน อธิบายไว้ไม่ตรงกัน บางแห่งกล่าวว่า ทำขึ้นจากขนหนวดหนูอ่อน บางแห่งสันนิษฐานว่า อาจใช้วัสดุอื่นที่ไม่ใช่หนวดหนูจริง ๆ
แต่ที่ตรงกันก็คือ เส้นพู่กันจะต้องมีปลายเรียวอ่อนไหว และผ่านการเลือกสรรอย่างถี่ถ้วน จะใช้ขนที่ปลายเสียหรือแตกกุดไม่ได้เป็นอันขาด
ครูคงแป๊ะใช้อุปกรณ์ชนิดนี้ได้ล้ำเลิศเก่งกาจ จนร่ำลือยกย่องกันว่า เป็นเจ้าตำรับพู่กันหนวดหนู
เรื่องอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือนั้น เล่ากันมาว่า ครูช่างแต่ละท่านต่างทำขึ้นเอง โดยมีสูตรเด็ดเคล็ดลับเฉพาะตัวที่ปกปิดหวงแหนไม่ให้ผู้อื่นล่วงรู้ เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบ
พู่กันหนวดหนูของครูคงแป๊ะจะมีกรรมวิธีผลิตที่ล้ำลึกพิเศษอย่างไรบ้างนั้น เป็นเรื่องที่ปราศจากหลักฐานบันทึกไว้ แต่ฝีมือการใช้พู่กันหนวดหนูของท่านที่ปรากฎอยู่ในภาพเขียน เข้าขั้น “ยอดเซียน” จริง ๆ เพราะนอกจากจะต้องฝึกฝนการตัดเส้น จนสามารถเลี้ยงพู่กันได้เชื่องมือแล้ว น้ำหนักขณะวาดยังต้องแผ่วเบา แม่นยำ สายตาดีเป็นพิเศษอีกต่างหาก จึงจะวาดได้บางเฉียบละเอียดมากอย่างที่เห็น
ในบทความของครู น. ณ ปากน้ำ ยังระบุเพิ่มเติมอีกด้วยว่า ครูคงแป๊ะเป็นต้นตำรับวิธีการเขียนใบไม้ โดยใช้เปลือกกระดังงา
กรรมวิธีก็คือ ลอกเปลือกกระดังงา ตัดให้มีความกว้างเป็นรูปโค้งตามต้องการ ทุบปลายข้างหนึ่งให้แตกเป็นฝอย ใช้ชุบสีแตะบนภาพที่ร่างเป็นต้นไม้ ให้มีลักษณะเป็นพุ่มโค้ง และเกิดร่องรอยฝีแปรงแบบฉับไว (คล้าย ๆ ในภาพเขียนแบบอิมเพรสชันนิสม์)
มีศัพท์ช่างเรียกการวาดพุ่มไม้ใบไม้โดยใช้เปลือกกระดังงานี้ว่า “กระทุ้ง”
เรื่องครูคงแป๊ะเป็นครูช่างรายแรก ๆ ที่ใช้เทคนิคนำเปลือกกระดังงามากระทุ้งเป็นพุ่มไม้ใบไม้นั้น นอกจากข้อเขียนของครู น. ณ ปากน้ำแล้ว ผมไม่พบคำยืนยันสนับสนุนจากแหล่งอื่นอีกเลย ท่านเองก็ไม่ได้ระบุว่าทราบมาจากไหน แต่ในตำราหลายเล่มอธิบายว่า วิธีวาดภาพต้นไม้เน้นร่องรอยฝีแปรงแทนการเขียนตัดเส้นทีละใบแบบภาพเนมีราชชาดกของครูทองอยู่ เริ่มได้รับความนิยมแพร่หลายสมัยรัชกาลที่ 3
โดยช่วงเวลาที่ครูคงแป๊ะวาดภาพนี้ รวมทั้งเมื่อเทียบความประณีตในการกระทุ้งเปลือกกระดังงากับผลงานอื่นในระยะใกล้เคียงกัน ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้สูงว่า ครูคงแป๊ะน่าจะเป็นผู้บุกเบิกเทคนิคการเขียนดังกล่าวอย่างที่ครู น. ณ ปากน้ำเล่าไว้
อาจจะใช่หรือไม่ใช่คนแรกสุด แต่ก็สมควรอยู่ในลำดับต้น ๆ และเป็นคนที่ใช้กลวิธีดังกล่าวได้มีประสิทธิภาพมากกว่าใคร (ดังเช่นภาพต้นไม้ข้างประตูกำแพงเมืองที่วาดซ้อนกันหลายชั้นละเอียดยิบ)
อย่างไรก็ตาม ต้นไม้ในภาพเขียนของครูคงแป๊ะ ก็ไม่ได้ใช้เทคนิคกระทุ้งเปลือกกระดังงาเพียงอย่างเดียว ทว่ายังครอบคลุมอีกสารพัดวิธี มีทั้งเขียนตัดเส้นทีละใบแบบโบราณ มีทั้งระบายสีทึบเห็นเฉพาะเค้าโครงรูปทรงคร่าว ๆ และมีทั้งวาดเกลี่ยระบายจนกลืนไปกับพื้นหลัง และอีกเยอะแยะมากมายเกินกว่าผมจะสังเกตทำความใจได้หมด
ภาพวาดของครูทองอยู่กับครูคงแป๊ะนั้น ตัดสินชี้ขาดไม่ได้หรอกนะครับว่า ภาพใดสวยเด่นดีเลิศกว่ากัน ขึ้นอยู่กับรสนิยมและสายตาของผู้ชมแต่ละท่าน
ผมนั้นชื่นชอบคารวะในฝีมือครูทั้งสองเท่า ๆ กัน และเห็นว่า ขณะสร้างงาน ครูทองอยู่และครูคงแป๊ะอาจเป็นคู่แข่งที่ขับเคี่ยวกันสุดขีด แต่เมื่อสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว ระหว่างสองภาพนี้กลับเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ความแตกต่างชนิดสุดขั้ว ช่วยหนุนส่งให้อีกภาพหนึ่งโดดเด่นงามขึ้นกว่าเดิม
ขาดภาพใดภาพหนึ่งไป อีกภาพที่เหลือจะเหงาทันที
ร่องรอยดังกล่าวไม่ได้ปรากฎให้เห็นในภาพหรอกนะครับ แต่ผมดู “งานครู” ทั้งสองอยู่เรียงเคียงข้างกันทีไร ก็มักจะเกิดจินตนาการเป็นภาพเนมีราชชาดกและภาพมโหสถชาดก ตั้งตระหง่านผ่านแดด ฝน ฝุ่น ลมร่วมกันมาร้อยกว่าปี ท่ามกลางความมืดความสงบในพระอุโบสถ
เห็นแล้วผมก็รู้สึกและเชื่อไปเองว่า ทั้งสองภาพนี้ ซ่อนมิตรภาพ ความผูกพัน ความเคารพนับถือ ซึ่งครูทองอยู่และครูคงแป๊ะ มีต่อกันเอาไว้อย่างแน่นแฟ้น ลึกซึ้ง กระทั่งกลายเป็นอมตะอยู่เหนือกาลเวลา
(เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ" หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ)
2 ความคิดเห็น:
ขอทำความรู้จักนะครับ พอดีกับช่วงนี้ผมก็กำลังสนใจภาพเขียนไทย พวกงานจิตรกรรมฝาผนังอยู่เหมือนกัน ก็เลยได้มาพบเจอบทความของคุณนราเข้า เลยรู้สึกดีใจที่มีคนสนใจงานเหล่านี้นำข้อมูลมาแบ่งปัน ไม่ทราบว่าคุณนราเคยไปชมภาพเขียนที่วัดชมภูเวก วัดช่องนนทรีมาบ้างหรือเปล่า ผมเคยนำภาพไปลงใว้ในกระทู้เรือนไทยของวิชาการแต่ไม่มีข้อมูลอะไรมาก เลยอยากให้นำข้อมูลมาแบ่งปันบ้างเพราะคุณนราเขียนบทความได้น่าสนใจมากครับ ไม่ทราบว่าคุณนราเคยไปวัดใหม่เทพนิมิตรไหมครับ?? amonrain@yahoo.com
ชื่นชอบผลงานของพี่จ้อยที่อ่านเจอในเว็ปไซด์ของนิตยสาร Mars อาทิเช่นเรื่อง คิดถึง สดุดดาว ความทรงจำ และเรื่องอื่นๆที่ออกแนว อกหัก แอบรัก เศร้า เหงา และขำๆ ค่ะ อ่านแล้วรู้สึกอยากเป็นผู้หญิงที่พี่จ้อยเขียนถึงค่ะ
แสดงความคิดเห็น