วันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

อยุธยาในกรุงเทพฯ

จากริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตรงข้ามบางกะเจ้า พระประแดง หากพายเรือลัดเลาะเข้ามาตามคลองชั่วระยะไม่เกิน 5 นาที จะพบโบสถ์ขนาดเล็กหลังหนึ่ง ตั้งสงบอยู่ท่ามกลางอ้อมโอบร่มครึ้มของถิ่นย่านอันเป็นละแวกสวนผลไม้
                สภาพดังกล่าวคลับคล้ายการพรางตัวโดยธรรมชาติ ปกปิดซ่อนเร้นโบสถ์หลังนั้นไว้จากการรับรู้ของโลกภายนอกอย่างมิดชิด เป็นเวลาเนิ่นนานหลายร้อยปี
เพิ่งมาเป็นที่รับรู้ว่ามีโบสถ์หลังนี้ ก็ต่อเมื่อปีพ.ศ. 2518 ขณะกำลังมีการตัดถนนรัชดาภิเษก ช่วงระหว่างเชิงสะพานกรุงเทพฯ มายังท่าเรือคลองเตย แนวถนนที่ตัดพาดผ่านหน้าวัดช่องนนทรี เป็นเหตุให้โบราณสถานนั้น เผยปรากฏออกมา
ครูบาอาจารย์ทางด้านโบราณคดีหลายท่าน พิจารณาจากรูปทรงของโบสถ์ ลักษณะเด่นเฉพาะตรงส่วนโค้งแหลมของช่องประตู-หน้าต่าง อายุของใบสีมา แบบแผนลีลาการวาดของภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในโบสถ์ แล้วสรุปประมวลลงความเห็นว่า น่าจะสร้างขึ้นเมื่อประมาณสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (ราว ๆ พ.ศ. 2200) หรืออาจจะเป็นถัดหลังจากนั้นมาอีกไม่เกิน 50 ปี
                บันทึกไว้ว่า นายเสน่ห์ ถนอมทรัพย์ ครูวาดเขียนโรงเรียนวัดทรงธรรม พระประแดง สมุทรปราการ เป็นท่านหนึ่งซึ่งมีโอกาสได้แวะชมโบสถ์นี้ แล้วเขียนจดหมายมาถึงกองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ แจ้งให้ทราบว่า บริเวณภายในโบสถ์ มีภาพเขียนฝีมือเก่าแก่ทรงคุณค่ามาก
                ส่งผลให้เกิดการเดินทางไปถ่ายภาพบันทึกไว้ พร้อมทั้งเขียนบทความ ลงพิมพ์เผยแพร่ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 2 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2519
            นับตั้งแต่นั้นมา วัดช่องนนทรีก็กลายเป็นโบราณสถานที่สำคัญยิ่ง และส่งผลสะเทือนใหญ่หลวงต่อแวดวงวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะไทย โดยเฉพาะในเรื่องจิตรกรรมฝาผนัง
                รวมถึงคุณค่าทางอ้อม คือเป็นหลักฐานเด่นชัดอีกชิ้นหนึ่ง นอกเหนือจากเอกสารของชาวต่างชาติ ยืนยันว่าเมื่อครั้งอดีต บริเวณสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทางแถบนี้ เคยเป็นชุมชนและมีความเจริญ ในฐานะเมืองหน้าด่านของกรุงศรีอยุธยา มาก่อนจะมีการสร้างบ้านแปงเมืองเป็นกรุงธนบุรีและกรุงเทพฯ ร่วมร้อยปี
            ผมเริ่มสนใจตระเวนดูจิตรกรรมฝาผนังตอนปลายปีพ.ศ. 2551 และรู้ซึ้งถึงกิตติศัพท์อันเป็นที่เลื่องลือของรูปเขียน ณ วัดช่องนนทรีถัดจากนั้นไม่นาน
            อาการข้างเคียงซึ่งผมเชื่อว่า คนชอบดูจิตรกรรมฝาผนังแบบติดงอมแงม น่าจะเป็นกันทุกคน นั่นคือ โรคคลั่งไคล้ภาพเขียนสมัยอยุธยา ทราบข่าวว่ามีอยู่ที่วัดไหน จังหวัดใด ต้องดั้นด้นดิ้นรนไปดูให้ประจักษ์แก่สายตาตนเองเพื่อความแล้วใจ ไม่งั้นนอน อายตาไม่หลับ
                เสน่ห์ข้อแรกก็คือ จิตรกรรมสมัยอยุธยา หลงเหลือตกทอดถึงปัจจุบันเพียงน้อยนิด เข้าข่ายหายากมากถึงยากที่สุด ความรู้สึกจึงเป็นว่า ยิ่งมีจำนวนจำกัดก็ยิ่งทวีคุณค่า และเร้าใจชวนดูมากกว่าปกติ (เขียนไปแล้วผมก็เริ่มเข้าใจหัวอกของบรรดาเซียนพระเครื่องนะครับ)
                ถัดมา จิตรกรรมสมัยอยุธยา สร้างทำขึ้นในช่วงที่งานช่างและศิลปะวิทยาการแขนงต่าง ๆ เจริญรุ่งเรืองสุดขีด จึงมีความงามที่จับอกจับใจอย่างยิ่ง
                จิตรกรรมสมัยอยุธยานั้น แค่เห็นผ่านตาเพียงไม่กี่ครั้ง ผู้ชมก็สามารถจดจำลีลาแบบแผนได้ไม่ยาก เนื่องจากมีเอกลักษณ์เฉพาะโดดเด่นมาก
                มีวัดหลายแห่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่า ปรากฏร่องรอยของภาพเขียนสมัยอยุธยาตอนปลาย เช่น วัดโบสถ์สามเสน, วัดกลางวรวิหาร ปากน้ำ สมุทรปราการ, วัดชมภูเวก และวัดปราสาท นนทบุรี
                ในจำนวนนี้มีเพียงวัดปราสาทเท่านั้น ที่เป็น อยุธยาแท้(แต่ก็ชำรุดลบเลือนไปมาก) วัดอื่น ๆ ที่เหลือ ล้วนผ่านการเขียนซ่อมในสมัยรัตนโกสินทร์  ผลงานจึงปนเปกันระหว่างสองสกุลช่าง สังเกตฝีมือเดิมได้ยาก
                ภาพเขียนฝาผนัง วัดช่องนนทรี จึงเป็นเพียงแห่งเดียวในกรุงเทพฯ ที่ยังมีจิตรกรรมสมัยอยุธยา  คงเหลืออยู่ในสภาพสมบูรณ์มากสุด และเป็นฝีมือดั้งเดิมล้วน ๆ ไม่เคยผ่านการเขียนซ่อมวาดทับใด ๆ มาเจือปนอยู่เลย (การบูรณะซ่อมแซมโดยกรมศิลปากร เกิดขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2524- เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2525 และอนุรักษ์โดยวิธี ผนึกชั้นสีที่ใกล้จะหลุดร่อนให้มั่นคงแข็งแรง แล้วเคลือบน้ำยาลงบนพื้นผิว ปราศจากการวาดเพิ่มหรือเขียนทับ แค่รักษาส่วนที่ยังหลงเหลืออยู่)
            คุณค่าต่อมา คือ วัดช่องนนทรี มีอายุเก่าแก่และอยู่ในกลุ่มศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลายระยะต้น งานจิตรกรรมฝาผนังยุคนี้ เหลือตกทอดมาถึงปัจจุบันน้อยสุด รวมทั่วประเทศอาจมีจำนวนไม่ถึง 3 แห่ง
                ผมควรเล่าไว้ด้วยว่า โดยปกติทั่วไป ความคงทนของจิตรกรรมฝาผนังตามวัดวาอารามต่าง ๆ ในบ้านเรา มีอายุขัยเฉลี่ยขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 100 ปี เนื่องจากสภาพดินฟ้าอากาศในเขตร้อนชื้น เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ชำรุดลบเลือนได้ง่าย
                ภาพวาดทุกแห่ง (ย้ำเลยนะครับว่าทุกแห่ง) ล้วนเสียหายบริเวณผนังตอนล่าง เพราะความชื้นจากพื้นดินแทรกซึม
                ความเสียหายขั้นต่อมาคือ ปัญหาหลังคารั่ว น้ำฝนหยดชะผ่านพื้นผิวของภาพวาดจนเลอะเลือน
                ประการสุดท้ายคือ ความเก่านานทำให้ผนังปูนแตกกะเทาะหลุดร่อน
                ข้างต้นนั้นเป็นความเสียหายจากธรรมชาติ ไม่นับรวมเหตุชำรุดทรุดโทรมจุกจิกปลีกย่อยอีกมากมายเพราะน้ำมือมนุษย์
            ความน่าทึ่งของจิตรกรรมฝาผนัง วัดช่องนนทรี  คือ พ้นจากช่วงบริเวณตอนล่างประมาณเมตรกว่า ๆ จากพื้น ซึ่งเลือนเกือบหมด (และเห็นร่องรอยว่า เคยมีภาพวาดตลอดทั่วทั้งผนังจนเกือบถึงพื้น) สูงถัดจากนั้นไป มีเสียหายไปบ้างด้วยรอยชะของน้ำฝน แต่โดยรวมที่เหลือ ถือว่าอยู่ในสภาพค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับความเก่านาน
                ฟังดูประหลาดสักหน่อยนะครับว่า จิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยา มีความคงทนกว่าภาพเขียนสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งวาดขึ้นทีหลัง แต่พังเร็วเสียหายง่ายกว่า
                เหตุผลมีอยู่ 2 ข้อ อย่างแรกเป็นเพราะกรรมวิธีเตรียมพื้นผนังก่อนเขียน ตั้งแต่การฉาบปูน และขั้นตอนลงพื้น ซึ่งพิสดารยุ่งยากซับซ้อน งานช่างสมัยอยุธยามีความประณีตพิถีพิถันมากในขั้นตอนนี้
            ภาพเขียนสมัยอยุธยา ส่วนใหญ่ก่ออิฐผนัง แล้วฉาบปูนเคลือบทับเพียงแค่บาง ๆ แต่เนื้อปูนนั้นเหนียวแน่น (เป็นเรื่องเกี่ยวกับเคล็ดลับสูตรเฉพาะของช่าง ซึ่งมีไม่เหมือนกัน และต่างก็ล้วนปกปิดหวงแหนไม่ให้ใครอื่นล่วงรู้) รวมถึงกรรมวิธีแก้ความเค็มของปูน ด้วยการใช้น้ำต้มใบขี้เหล็กชโลมผนัง แล้วล้างซ้ำนับไม่ถ้วนครั้ง จนกว่าปูนจะจืด และทดสอบโดยใช้ขมิ้นขีดลงบนผนัง หากเป็นสีแดงแสดงว่ายังใช้การไม่ได้ ต้องล้างใหม่จนกว่าขมิ้นจะเป็นสีเหลืองตามธรรมชาติ
                เหตุผลต่อมาที่ทำให้ภาพเขียนสมัยอยุธยามีความคงทน ก็คือ วิธีการวาด
                จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ใช้วิธีระบายสีทับกันหลายชั้น เริ่มจากลงพื้นเข้ม (โดยมากนิยมใช้สีดำ เขียวเข้ม หรือน้ำตาลแก่) แล้วจึงวาดตัวบุคคล ปราสาทราชวัง ภูเขา พุ่มไม้ ลงไปทีละชั้น และมีการปิดทองอย่างอลังการแพรวพราวไปทั่ว เพื่อให้ภาพตัวบุคคลโดดเด่นลอยออกมาจากพื้นหลังสีทึบเข้ม
                ส่งผลให้เนื้อสีที่เคลือบลงบนผนัง มีความหนา นานวันเข้าก็แข็งแห้ง โดนลม ฝน ร้อน ชื้น ก็หลุดแตกกะเทาะออกมาได้ง่าย
            ยกตัวอย่างเปรียบเทียบ จิตรกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ก็ประดุจดังวาดด้วยสีน้ำมัน ส่วนภาพสมัยอยุธยาก็เหมือนระบายด้วยสีน้ำ
กรรมวิธีการวาดที่แตกต่างกัน ระหว่างจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยากับรัตนโกสินทร์ มีสาเหตุที่มาอยู่นะครับ นั่นคือ สืบเนื่องจากแนวคิดในการสร้างโบสถ์
                สมัยรัตนโกสินทร์นิยมสร้างโบสถ์ให้มีขนาดใหญ่ และสร้างช่องประตู-หน้าต่างจำนวนมาก เพื่อให้เกิดแหล่งแสงและความสว่าง เป็นเหตุโยงใยไปถึงการกำหนดโทนสีสำหรับเขียนภาพ ต้องเลือกใช้สีมืดเข้มเป็นการลดทอนความจ้าสว่าง สร้างบรรยากาศขรึมขลังศักดิ์สิทธิ์ภายในโบสถ์
                ต่างจากสมัยอยุธยาที่สร้างโบสถ์ขนาดเล็กย่อมกว่า (อาจมีบ้างที่ขนาดค่อนข้างใหญ่) รวมทั้งไม่นิยมเจาะช่องหน้าต่าง หรือปราศจากประตูทางเข้าด้านหลังโบสถ์
                บริเวณภายในของโบสถ์สมัยอยุธยาส่วนใหญ่ จึงมีแหล่งแสงจำกัด ค่อนข้างมืด ครูช่างเขียนท่านจึงแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยเลือกใช้สีสว่าง ผสมสีให้ใสและมีเนื้อสีบาง ๆ และไม่ลงสีทับกันหลายชั้น
                วิธีนี้ทำให้ภาพเขียนสมัยอยุธยา แลดูโปร่งเบา สบายตา และเนื้อสีบาง ๆ แนบติดกับผิวผนังค่อนข้างสนิท จึงหลุดร่อนแตกกะเทาะยาก
            รวมถึงเทคนิควิธีวาดอย่างหนึ่ง คือ ทาฉาบสีขาวทับลงเคลือบผิวปูนทั่วทั้งผนัง และใช้สีนั้นเป็นพื้นหลัง ตรงไหนบริเวณใดต้องการให้เป็นสีขาว เช่น ผิวเนื้อของตัวละคร ลายดอกไม้ร่วงบนพื้นแดง ใช้วิธีปล่อยเว้นพื้นขาวนั้นว่างไว้ แล้วระบายสีตัดเส้นรอบนอกจนเกิดกลายเป็นรูปทรงที่ต้องการ
                คล้าย ๆ กับการวาดรูปด้วยสีพาสเทลและกระดาษสีต่าง ๆ แล้วใช้ประโยชน์จากเนื้อกระดาษนั้น ทำหน้าที่เหมือนการระบายสีอีกสีหนึ่ง
                เทคนิคนี้ค่อนข้างหลอกตาขณะวาดนะครับ ครูช่างท่านต้องกำหนดรู้เห็นภาพรวมทั้งหมดในใจอย่างชัดเจน ไม่งั้นอาจสับสนจนทำให้ภาพเละเทะเสียหาย ยิ่งไปกว่านั้นยังต้องช่ำชองแม่นยำในการวาดเส้นประคองพู่กัน เนื่องจากผิดแล้วแก้ยากกว่า การวาดแบบลงสีทับกันหลายชั้น
            จิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาคล้ายดั่งการเขียนหนังสือด้วยลายมือหวัด มีความเฉียบขาดฉับไว และความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ ขณะที่จิตรกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ เสมือนการเขียนคัดลายมือตัวบรรจง อาจไม่ทรงพลังหรือเร้าใจเทียบเท่า แต่ก็ทดแทนด้วยความวิจิตรประณีต ละเอียดลออ สวยไปคนละแบบ
ความงามของจิตรกรรมฝาผนัง ดูกันได้หลายระดับ หลายขั้นตอนนะครับ
เบื้องต้นคือ ดูในแง่ภาพรวมและบรรยากาศ แล้วจึงค่อย ๆ ขยับเคลื่อนเข้าไปในระยะใกล้ เพื่อพินิจพิเคราะห์สังเกตรายละเอียดต่าง ๆ
ทุกครั้งที่ไปดูจิตรกรรมฝาผนัง ช่วงก้าวเท้าข้ามพ้นประตูโบสถ์ เพื่อพบสัมผัสกับภาพแรก เป็นห้วง
ขณะที่น่าตื่นเต้นเร้าใจมากสุด
โบสถ์และภาพเขียนในทุก ๆ วัด มีบรรยากาศเฉพาะที่สร้างความประทับใจเบื้องต้นไม่ซ้ำกันเลย บางแห่งเต็มไปด้วยความโอ่อ่ายิ่งใหญ่ บางแห่งเรียบสงบ บางแห่งน่าเกรงขาม ฯลฯ
สัมผัสแรกที่ผมมีต่อโบสถ์วัดช่องนนทรีก็คือ ความรู้สึกปลอดโปร่งผ่อนคลาย
มีความพิสดารอยู่อย่างหนึ่งซึ่งเกี่ยวเนื่องกัน คือ โบสถ์หลายแห่งเมื่อมองจากภายนอกกับการเข้าไปข้างใน ขนาดของโบสถ์ตามความรู้สึกของผู้ชมจะแตกต่างกัน บริเวณภายในดูกว้างขวางสูงใหญ่มากกว่าการมองจากภายนอก
ผมเคยสงสัยเรื่องนี้มานาน และเคยเข้าใจว่าเป็นอุปาทานรู้สึกนึกคิดเอาเองลอย ๆ โดยปราศจากเหตุผล
จนตอนหลังจึงมาค้นพบคำตอบจากงานวิจัยเรื่อง ความสำคัญของจิตรกรรมฝาผนังวัดช่องนนทรีโดยอาจารย์สน สีมาตรัง ท่านอธิบายไว้ว่า จิตรกรรมฝาผนังวัดช่องนนทรีให้ผลเรื่องมิติห้องอากาศ (space) แบบลวงตา มิติห้องอากาศแบบลวงตาหมายถึง เนื้อที่ภายในอาคารหลังนั้นมีขนาดกว้างยาวจริงเท่าไร แต่ช่างออกแบบสามารถทำให้เกิดอาการลวงตาว่าเนื้อที่ ภายในอาคารนั้นกว้างใหญ่หรือเล็กกว่าขนาดจริง กรณีจิตรกรรมฝาผนังวัดช่องนนทรีนี้ ช่างออกแบบองค์ประกอบตลอดจนการใช้สีที่มีผลเกิดอาการลวงตาคนดูที่เข้าไปชมจิตรกรรมฝาผนังเกิดความรู้สึกลวงตาว่าเนื้อที่ ภายในพระอุโบสถกว้างใหญ่กว่าความเป็นจริง ราวกับว่าจิตรกรรมฝาผนังที่ช่างเขียนลงบนผนังมีอำนาจขยายผนังให้เห็นใหญ่กว่าเป็นจริง
โบสถ์วัดช่องนนทรีไม่ได้ลวงตาเรื่องขนาดเพียงแค่เล็กน้อยนะครับ เข้าไปแล้วจะพบว่าใหญ่โตเพิ่มขึ้นเกือบ ๆ เท่าตัวเลยทีเดียว
ความรู้สึกต่อมาคือ บรรยากาศนั้นอบอุ่น นี่เป็นผลมาจากโครงสีครอบงำโดยรวมที่ออกแดงเรื่อเจือชมพูอ่อน ๆ ไปทั่วทั้งโบสถ์ตามคตินิยมของจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยา
ลักษณะเด่นอีกอย่างของจิตรกรรมสมัยอยุธยาก็คือ ใช้จำนวนสีค่อนข้างน้อย ประกอบไปด้วย แดง ขาว ดำ เขียว เหลือง มีปิดทองบ้างเล็กน้อย
เป็นเรื่องของยุคสมัยนะครับ ผลงานเหล่านี้เขียนขึ้นในช่วงเวลาที่สีมีจำนวนจำกัด ครูช่างต้องผสมเอาเอง จากวัตถุดิบเท่าที่จะหาได้ตามธรรมชาติ
ความล้ำลึกพิสดารของภาพเขียนยุคนี้ก็คือ หากมองระยะไกลจะเห็นเป็นโทนสีแดงชาดครอบคลุมทั่วทั้งโบสถ์ แต่เมื่อขยับเคลื่อนเข้าดูระยะใกล้ จะเห็นการใช้สีประมาณสี่ห้าสี สอดสลับวางจังหวะยักเยื้องไปมาจนลวงตาว่ามีสีแพรวพราวมากกว่านั้น
สีแดงชาดนั้น มีคุณสมบัติพิเศษ คือ ช่วยขับเน้นสีทองขององค์พระประธานและพระพุทธรูปต่าง ๆ  ภายในโบสถ์ให้โดดเด่นแวววาวสะดุดตายิ่งขึ้น นี่เป็นเหตุผลสำคัญซึ่งทำให้จิตรกรรมไทยนิยมใช้สีแดงชาดเป็นตัวชูโรง
หัวใจสำคัญในการดูภาพเขียนไทยก็คือ ต้องเข้าใจเรื่องกฏเกณฑ์แบบไทย ๆ
กล่าวคือ ครูช่างท่านเขียนขึ้นโดยที่ยังไม่รู้เรื่องหลักทัศนียวิทยาหรือ perspective แบบตะวันตก, ไม่รู้หลักทางด้านกายวิภาคหรือ anatomy, รวมทั้งหลักการทางด้านแสง-เงา
บวกรวมกับภาพจิตรกรรมไทย ไม่ได้มุ่งหวังผลในการเลียนแบบความจริงตามที่ตามองเห็น แต่เป็นการนำความจริงมาปรุงแต่งดัดแปลงให้เป็นความงามอีกแบบ เป็นความงามแบบประดิษฐ์
ลายกระหนกหรือลายไทยต่าง ๆ นั้น ต้นตอรากฐานที่มา ล้วนแล้วแต่เกิดจากธรรมชาติทั้งสิ้น เป็นการเขียนขึ้นอิงจากเปลวไฟ ต้นไม้ใบหญ้า แล้วพลิกแพลงจนกระทั่งเกิดเป็นลวดลายที่เหลือเค้าเดิมแต่เพียงน้อย
จิตรกรรมไทยจึงมีภาษาไวยากรณ์ในแบบเฉพาะของตนเอง หากนำเอาทฤษฎีหรือความเข้าใจในศิลปะตะวันตกเข้ายึดจับ ภาพนั้นก็จะผิดหลักวิชาไปเสียแทบทั้งหมด
ความน่าทึ่งของจิตรกรรมไทยอยู่ตรงนี้ครับ ตรงที่ไม่รู้เรื่อง perspective และเขียนแบน ๆ เป็นภาพสองมิติ แต่ก็สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ จนเกิดระยะใกล้-ไกล ทำให้ภาพมีความลึก ไม่รู้เรื่องแสง-เงา มิหนำซ้ำยังเป็นภาพที่ใช้แสงและสีเท่ากันหมด ไม่ระบุว่าเป็นเช้า สาย บ่าย ค่ำ แต่ผู้ชมสามารถเข้าใจว่าเป็นเวลาใดได้จากการแสดงออกของตัวละคร ไม่เข้าใจเรื่องกายวิภาค แต่เขียนคนในลักษณะประดิษฐ์มีท่วงท่าเส้นสายประกอบรวมกันเป็นความงามจากสัดส่วนที่ลงตัวอย่างเหมาะเจาะ
ย่อหน้าข้างต้นมีรายละเอียดกรรมวิธีที่พิสดารมาก ชนิดเขียนเป็นหนังสือเล่มหนา ๆ ได้เลยนะครับ มิหนำซ้ำแต่ละสกุลช่างแต่ละยุคสมัย ยังมีลูกเล่นทีเด็ดกลเม็ดแตกต่างกันไป แทบว่าไม่ซ้ำกัน
จิตรกรรมฝาผนังที่วัดช่องนนทรี มีลักษณะเด่นในการจัดองค์ประกอบภาพที่ยอดเยี่ยมวิเศษมากอยู่ประการหนึ่ง นั่นคือ การใช้เส้นสินเทาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เส้นสินเทาคือ เส้นแถบหยักฟันปลา ทำหน้าที่ได้หลายอย่าง แรกสุดเป็นเขตแนวแบ่งคั่นภาพเนื้อเรื่องเดียวกัน แต่เป็นคนละตอนคนละเวลา เหมือนการกั้นช่องในหนังสือการ์ตูน
หน้าที่ต่อมาของเส้นสินเทา คือเน้นบริเวณบางส่วนเช่นยอดปราสาท พุ่มไม้ให้เกิดผลทางด้านความงาม
ภาพเขียนที่วัดช่องนนทรี ครูช่างท่านใช้เส้นสินเทาเพื่อประโยชน์ข้างต้นครบถ้วน และยังเกิดประโยชน์มากกว่านั้น คือทำให้เส้นสินเทากลายเป็นตัวช่วยสำคัญ ผลักระยะให้ภาพแบน ๆ เกิดมิติความลึกแลเห็นเป็นใกล้-ไกล
ตลอดจนทำให้ภาพรวมเกิดองค์ประกอบยักเยื้องพลิกแพลง เป็นระเบียบ มีรูปทรง ไม่ลายตาปนเปกันไปหมดจนยุ่งเหยิง
การผูกภาพและใช้เส้นสินเทาในภาพเขียนที่วัดช่องนนทรี สามารถกล่าวได้ว่า เข้าขั้นวิเศษและงามเลิศที่สุดแห่งหนึ่งในบรรดาจิตรกรรมฝาผนังทั่วทั้งสยามประเทศ
 การชื่นชมดื่มด่ำจิตรกรรมฝาผนังระยะใกล้เข้าไปอีก ได้แก่ การพิจารณาความงามของเส้น ซึ่งเป็นหัวใจหลักของภาพเขียนไทย จะวัดประเมินว่ารูปไหนเป็นฝีมือชั้นครูหรือไม่ ชี้วัดตัดสินกันที่ตรงนี้
พูดกว้าง ๆ หยาบ ๆ จิตรกรรมไทย เปรียบเสมือนการนำเส้นโค้งอ่อนช้อยจำนวนมากมายมหาศาล มาเชื่อมโยงปะติดปะต่อกันผูกเป็นภาพ
ใครที่เคยลองวาดรูปเล่น ๆ มาบ้าง คงทราบดีนะครับว่า เส้นโค้งนั้นเขียนยาก บิดสะดุ้งผิดพลาดได้ง่าย
ยิ่งเขียนด้วยพู่กัน การควบคุมน้ำหนักของเส้นยิ่งลำบากทบทวีขึ้นไปอีก
                ที่น่าทึ่งก็คือ เส้นโค้งในจิตรกรรมไทย เขียนอย่างชนิดแต่ละเส้นสอดคล้องรับ-ส่งกันทุกพื้นที่ ดูเผิน ๆ เหมือนวาดง่าย แต่ผมยืนยันฟันธงได้ว่า ยากสุด ๆ
                ดูแล้วก็ปากอ้าตาค้างตกตะลึงว่า วาดได้ยังไงไม่ต้องนับรวมว่าครูช่างท่าน คิดได้ยังไงเลยนะครับ เป็นงานที่ศิลปะที่ผมรู้สึกว่ามหัศจรรย์เหลือเกิน
                เส้นสายต่าง ๆ ในภาพเขียนที่วัดช่องนนทรี อ่อนช้อยและโค้งกันแบบที่เรียกว่า โค้งหวาน มีชีวิตชีวามาก
                หลักอีกอย่างในการดูจิตรกรรมฝาผนังคือ ต้องเพ่งดูที่จุดเดิมนาน ๆ แล้วผู้ชมจะพบว่า สักพักหนึ่ง ความล้ำลึกของเส้น จะส่งผลให้ภาพนิ่งนั้นโลดเต้นเคลื่อนไหวได้
                เวลาภาพจิตรกรรมฝาผนังเกิดการขยับเคลื่อนในจินตนาการและสายตาของผู้ชม ผมพูดได้สั้น ๆ แค่ว่า ดูแล้วขนแขนลุกซู่เหมือนโดนผีหลอก
                ตลอดสองชั่วโมงกว่า ๆ ขณะดูรูปเขียนที่วัดช่องนนทรี ผมเกิดอาการขนลุกรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ครั้ง  

วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

หนีน้ำไปฝึกวิชา

  
 
 ปลายเดือนตุลาคม บินหลา สันกาลาคีรี ผู้พำนักอาศัยอยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่ออุทกภัย ตัดสินใจหนีน้ำท่วมเดินทางขึ้นเหนือไปตั้งหลัก ณ รังนอนที่เชียงใหม่

บินหลาขับรถกระบะคู่ใจออกจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่ช่วงบ่าย อีก 2 ชั่วโมงต่อมา เขาโทรศัพท์หาผม บอกเล่าสภาพทุลักทุเลที่พบเจอระหว่างเส้นทางแถบชานเมือง และสรุปหนักแน่นว่า เพื่อความไม่ประมาทและความราบรื่นในการใช้ชีวิต ผมควรจะย้ายบ้านระยะสั้น ๆ ตามไปสมทบกับเขาในวันรุ่งขึ้นที่กาญจนบุรี

ที่บ้านผมน้ำยังไม่ท่วม แต่เพื่อเยียวยาสุขภาพจิตอันย่ำแย่ เครียดกังวล ระทึกขวัญหวั่นผวา สะสมต่อเนื่องมาแรมเดือน ผมตอบตกลง

น้ำท่วมครั้งนี้เป็นประสบการณ์เลวร้ายหนักหน่วงมากคราวหนึ่งในชีวิตผมนะครับ แต่ระหว่างการอพยพออกจากกรุงเทพฯ ชั่วคราว ก็เกิดผลพลอยได้ทางบวกเรื่องหนึ่งแนบพ่วงมาด้วย

ก่อนหน้านั้น ผมเคยคุยกันเล่น ๆ ขำ ๆ กับบินหลาและวรพจน์ว่า ถ้าเหตุการณ์คราวเคราะห์มาเยือนถึงตัว ผมจะหนีน้ำท่วมขึ้นเหนือ ถือโอกาสไปเข้าคอร์สเรียนวาดรูปกับอาจารย์เทพศิริ สุขโสภา ทำพิธี
ครอบครู ให้เป็นจริงเป็นจังซะที

ผมพูดแบบพูดไปเรื่อยเปื่อย ไม่รับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้นนะครับ

จากต้นปี 2554 เรื่อยมา ผมมีของเล่นกิจกรรมใหม่ในชีวิต นั่นคือ การหัดวาดรูป ด้วยกรรมวิธีเดาสุ่มลองผิดลองถูก

เริ่มจากซื้อสีพาสเทลหนึ่งกล่องใหญ่ราคาราว ๆ หกพันบาท ความแพงนี่ช่วยให้วาดรูปเป็นนะครับ คือ อารมณ์เสียดายตังค์จะทำให้ไม่ยอมเลิกราถอดใจง่าย ๆ ต้องตื๊อและยื้อจนกว่าจะวาดได้หายขี้เหร่

เชื่อและมั่นใจได้เลยว่า ถ้าสีกล่องนั้นราคาร้อยกว่าบาท บุรุษผู้มีความเพียรและอดทนต่ำอย่างผม คงหยุดมือเลิกวาดเด็ดขาดตั้งแต่วันแรก ทันทีที่วาดรูปแรกออกมาเละเทะไม่เป็นท่า

ขอบคุณในความแพงของสี ที่ทำให้ผมเอาตัวรอดมาได้อย่างหวุดหวิดฉิวเฉียด

วิธีวาดรูปของผม มีหลักง่าย ๆ คือ พยายามลอกเลียนแบบภาพวาดฝีมืออาจารย์เทพศิริ ในสมุดบันทึกชื่อ
ทาง
สไตล์ภาพวาดทิวทัศน์ของอาจารย์เทพศิรินั้น เป็นพิมพ์นิยมของผม ทั้งลายเส้นพิสดารและสีสันสวยหวาน

พี่วาณิช จรุงกิจอนันต์เคยเขียนนิยามสั้น ๆ ถึงลีลาการวาดของอาจารย์เทพศิริว่า เขียนรูปแบบ
กระชาก ซึ่งผมแปลความอีกทีได้ว่า ฉับไว เด็ดขาด แม่นยำ โลดโผน คึกคัก
ลีลากระชากกระชั้นเช่นนี้ ยากมากและไม่มีทางเลียนแบบได้เหมือน เป็นเรื่องของการสั่งสมฝึกปรือวิทยายุทธ์มาชั่วชีวิต

แต่ความพิเศษประการหนึ่งในภาพวาดของอาจารย์เทพศิริก็คือ แค่เลียนแบบได้คร่าว ๆ หยาบ ๆ ประมาณ 30 % ก็สวยเกินพอที่จะอวดใครต่อใครได้สบาย ๆ

ประเมินตนเองแบบลำเอียงเต็มเหนี่ยวแล้ว ฝีมือผมน่าจะอยู่ราว ๆ 10% กว่า ๆ แต่ก็มากพอที่จะเป็นกำลังใจให้ซ้อมมือมาเรื่อย ๆ โดยไม่นึกเบื่อหรือท้อ

คงเพราะเหตุนี้นะครับ การมีโอกาสได้เรียนรู้หัดวาดรูปโดยตรงกับอาจารย์เทพศิริ จึงเป็นความใฝ่ฝันอย่างหนึ่งของผม

ทว่าเอาเข้าจริง หลังออกจากกรุงเทพฯ ไปเจอบินหลาแล้ว และค่อย ๆ รอนแรมผ่านเส้นทางอ้อมโลกแวะพักรายทางมาเรื่อย ๆ จนถึงเชียงใหม่ ข่าวคราวความเป็นไปสารพัดสารพันเกี่ยวกับน้ำท่วม ทำให้ผมหดหู่ ประสาทเสีย ไม่มีกะจิตกะใจ หมดความกระตือรือร้น ไม่นึกอยากเรียนวาดรูปเหมือนที่หมายมั่นปั้นมือไว้แต่แรก

อยู่เชียงใหม่ได้สามสี่วัน สาย ๆ วันหนึ่งบินหลาก็ชวนผมไปเยี่ยมคารวะอาจารย์เทพศิริ เป็นการพบปะเพื่อถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกันตามระเบียบ

ขณะหนึ่งบินหลาปลีกตัวออกไปรับโทรศัพท์ อาจารย์เทพศิริก็หันมาถามผมว่า “เป็นไงล่ะเรา ตอนนี้กำลังสนใจอยากทำอะไร?”

ผมตอบไปว่า ช่วงนี้กำลังสนใจและอยากวาดรูป อาจารย์ก็ยิ้มนิด ๆ พยักหน้าพึมพำเบา ๆ ว่า เออ เออ ดีแล้ว

วันนั้นอาจารย์เทพศิริมีงานคั่งค้างต้องรีบสะสางให้เสร็จ ด้วยความเกรงใจบินหลากับผมจึงรบกวนเวลาไม่นานนัก ก่อนกลับผมขออนุญาตถ่ายภาพรูปวาดชุดล่าสุด จำนวนประมาณ 20 รูป หมายใจว่ากลับกรุงเทพฯ น้ำลดเมื่อไร จะยึดงานชุดนี้เป็นแม่แบบสำหรับลอกเลียนแบบทำตาม

ย่ำค่ำของอีกหลายวันต่อมา มีเลขหมายไม่คุ้นปรากฏบนโทรศัพท์มือถือ ผมกดปุ่มรับ เสียงจากอีกฝ่ายแว่วมาแบบไม่ยอมเสียเวลาทักทายแนะนำตัว

“พวกคุณสองคนจะกลับไปว่ายน้ำที่กรุงเทพฯ เมื่อไหร่?” เสียงมีเอกลักษณ์นั้น ได้ยินปุ๊บก็ระลึกชาติได้ทันทีว่าเป็นอาจารย์เทพศิริ

ผมบอกอาจารย์ไปว่า ยังไม่แน่ใจเรื่องกำหนดกลับ

“ก่อนกลับแวะมาหาหน่อย จะวาดรูปแนะวิธีให้ดู”

แล้วผมก็ได้เรียนวาดรูปกับอาจารย์เทพศิริ เป็นหลักสูตรระยะสั้นจุ๊ดจู๋ เริ่มต้นและจบลงในเวลาครึ่งชั่วโมง! วิธีการสอนนั้นเด็ดขาด ฉับไว เช่นเดียวกับสไตล์การวาด

เริ่มจากการเปิดหนังสือรวมผลงานของศิลปินระดับโลก ฌ็อง บัพติสท์ คามิลล์ โกโรต์ เป็นภาพพิมพ์ทิวทัศน์ลายเส้นขาวดำ

ขณะเปิดหนังสือไปพลาง อาจารย์ก็กล่าวปฐมนิเทศต้อนรับนักเรียนใหม่อย่างผมว่า “เจอคนอยากวาดรูป แล้วไม่ได้แสดงให้ดูซักหน่อย มันไม่แล้วใจ”

อาจารย์เทพศิริใช้รูปในหนังสือเป็นต้นแบบ ลงมือวาดตามอย่างรวดเร็ว พร้อม ๆ กับอธิบายชี้แนะเคล็ดลับใจความสำคัญ ขณะวาดก็มีวลีหนึ่งดังให้ได้ยินอยู่เป็นระยะ ๆ ว่า “ชำนาญจริง ๆ แฮะ!”

เร็วไฟแล่บเลยนะครับ ทั้งการขยับมือขีดร่างเส้นดินสอ การละเลงสีแบบยี ๆ ขีด ๆ แล้วขยี้ ตามด้วยการใช้นิ้วเกลี่ยระบาย รวมถึงคำอธิบายประกอบ

เป็นการเล็คเชอร์ที่รวดเร็ว จนยากจะจดและจำตามได้หมดครบถ้วน

เทคนิคแรกที่อาจารย์สอนผม คือ ให้หัดหรี่ตาดูวัตถุที่จะวาด

“มีอากาศอยู่ในภาพ” อาจารย์อธิบายว่า ระหว่างสายตาของเรากับวัตถุ ทุกอย่างไม่ได้แบนราบ ตรงทื่อ เป็นเส้นหรือสีระนาบเดียว มีแสงแดด เงา ฝุ่นละออง และอากาศ แทรกปนอยู่ด้วยเสมอ

เหล่านี้คือตัวแปรที่แต่งเติมจนเกิดเป็นรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ มีความชัด ความสลัว ความเลือน มีสีอื่นซ่อนเร้นแฝงอยู่

กรรมวิธีหรี่ตาดู เป็นหนึ่งตัวช่วยทำให้มองเห็นอากาศและเค้าโครงโดยรวมในภาพง่ายขึ้น แต่หัวใจหลัก ๆ คือ การหมั่นสังเกตอย่างพินิจพิเคราะห์ ฝึกฝนสายตาตลอดเวลา

บทเรียนต่อมา อาจารย์สอนให้เริ่มจากการหัดวาดโครงสร้างคร่าว ๆ เน้นพุ่มไม้ เงาไม้ แทนที่จะตั้งหน้าตั้งตาเก็บรายละเอียดเหมือนจริงเป๊ะ ๆ เขียนป่าเขียนภูเขาแบบนับใบไม้ทุกใบ

“เริ่มต้นยังไม่ชิน ทำแบบนั้น ตายเลย ยาก จะท้อใจไปซะก่อน” ว่าแล้วอาจารย์เทพศิริ ก็ใช้ดินสอ ขีดยึก ๆ เป็นลำต้น กิ่งก้าน ตวัดเส้นเป็นวงกลม เป็นทรงพุ่มไม้ ระบายหนัก ๆ ตรงที่ควรจะมืดครึ้ม ปล่อยโล่งบริเวณที่รับแสง

“ไม่ต้องกลัวว่าไม่เหมือน อันนี้คล้าย ๆ เขียนหนังสือลายมือหวัด ไม่ใช่การคัดตัวบรรจง จับเค้ากว้าง ๆ ให้ได้ก่อน แล้วค่อยลงรายละเอียด”

รายละเอียดดังว่า ได้แก่ การเน้นย้ำให้เกิดระยะใกล้-ไกล แต้มเติมสีสันให้กับภาพ หลักใหญ่ ๆ คือ เขียนเน้นใส่รายละเอียดในบางส่วน ทิ้งบางจุดให้แลดูคร่าว ๆ เลือน ๆ

ผมพบระหว่างซ้อมวาดในเวลาต่อมาว่า การสร้างระยะใกล้-ไกลยังสามารถเกิดขึ้นได้จากลูกเล่นจุกจิกสารพัดสารพัน บางทีแค่ขีดสีขาวลงไปปื้ดเดียว ก็ผลักระยะให้พุ่มไม้ที่ติดกัน แลดูเหลื่อมซ้อนห่างจากกันขึ้นมาได้อย่างน่าประหลาด

บทเรียนสุดท้าย คือ สีซ้อน โดยเฉพาะบริเวณที่ค่อนข้างเข้ม เป็นเงามืดครึ้ม

ว่ากันตามปรกติที่ตามองเห็น ส่วนใหญ่จะวาดสิ่งเหล่านี้ด้วยการระบายสีดำลงไปตรง ๆ แต่อาจารย์เทพศิริสอนถึง การเจือสีม่วง สีแดง แต้มลงไปบนพื้นดำ

ผลก็คือ เกิดเป็นรอยหยักร่องหลืบ มีระยะ มีพื้นผิว ไม่แบนราบ

“จำไว้นะ สำคัญมาก เวลาวาดรูป อย่าซื่อเป็นอันขาด”

ผมเข้าใจเอาเองนะครับว่า สิ่งที่อาจารย์เทพศิริเน้นย้ำ หมายถึงอย่ามองอะไรแบน ๆ ทื่อ ๆ แล้วพยายามวาดตามนั้นเป๊ะ แต่ต้องมองด้วยสายตาพลิกแพลง กล้าตัดทอน ดัดแปลง ปรับเปลี่ยน และใช้ไหวพริบคิดหาวิธีแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

อาจารย์เทพศิริจบบรรยาย พร้อมกับรูปวาดสาธิตชุดหนึ่ง จำนวนสามสี่ภาพ จากนั้นก็กวักมือเรียกผมเดินไปดู ผลงานของอาจารย์ที่วางเรียงรายอยู่เต็มบ้าน บ้างใส่กรอบแขนประดับผนัง บ้างเพิ่งเสร็จวางบนพื้น

ดูรูปนี้” อาจารย์ชี้ไปที่ภาพขาวดำ วาดโดยใช้พู่กันจุ่มหมึก เป็นภาพดงไม้ที่รกครึ้ม แน่นขนัด เน้นการเก็บรายละเอียดทุกอย่างค่อนข้างเหมือนจริง “เห็นใบไม้ชัดหมดทุกใบ แบบนี้ไม่ต้องใช้ฝีมืออะไร โง่แล้วขยันก็ทำได้”
พูดแล้วก็ก้าวฉับ ๆ มาหยุดที่อีกรูป “นี่สิ ถึงจะดี ใช้หมึก ใช้พู่กันเหมือนเดิม แต่มีหนักมีเบา ตวัดวงกลมหลาย ๆ วง กลายเป็นกลุ่มคน นั่งใกล้ นั่งไกล นั่นพุ่มไม้ นู่นบ้าน โน่นป่า ในทั้งหมดที่คุณเห็น รูปนี้แหละดีสุด แล้วทำไมผมไม่วาดหยั่งงี้อีก นั่นนะสิ มัวทำอะไรอยู่หนอเรา”

ระหว่างชี้ชวนให้ดูรูป พร้อมทั้งวิจารณ์ผลงานของตนเอง ผมคิดว่า นั่นคือ อีกบทเรียนสำคัญที่อาจารย์เทพศิริสอนผม นั่นคือ สอนให้รู้จักดูว่ารูปไหนดีรูปไหนด้อย และงานที่ดีนั้นดีตรงไหน? ที่ด้อยนั้นเพราะอะไร?

ทักษะในการแยกแยะดูรูปให้เป็น หมายถึงดูในแง่พิจารณาฝีมือด้านลายเส้น ฝีแปรง และการใช้สีเป็นขั้นเบื้องต้นก่อนนะครับ ยังไม่ต้องพูดถึงการดูในแง่อื่น ผมคิดว่านี่คือทางลัดอันวิเศษซึ่งจะช่วยให้วาดรูปได้ดีขึ้น เร็วขึ้น

สอนจากตัวอย่างผลงานของตัวเองแล้ว ยังไม่หนำใจ อาจารย์เทพศิริเปิดหนังสือชี้ให้ดูรูปของศิลปินระดับโลกอีกมากมายหลายคน ชี้แนะให้เห็นว่า แต่ละรูปนั้นสวย ดี งามเช่นไร?

“ทั้งหมดก็เป็นหยั่งงี้แหละโยม” อาจารย์เทพศิริกล่าวปัจฉิมนิเทศ จบหลักสูตร เดินกลับไปนั่งที่โต๊ะประจำ ลงมือทำงานที่คั่งค้างต่อ

ขณะหนึ่งอาจารย์ก็นึกอะไรขึ้นมาได้อีก เหตุการณ์คล้าย ๆ ตอนจันทรโครพเรียนจบไปกราบลาพระเจ้าตา

ผมไม่ได้รับผอบที่มีนางโมราอยู่ข้างในหรอกนะครับ แต่อาจารย์หยิบของวิเศษเป็นดินสอ EE หนึ่งกำมือยื่นส่งมอบให้ พร้อมกับคาถาสำคัญ “เอาไว้วาดเล่น จำไว้ให้แม่น ฝึกดรอว์อิ้งบ่อย ๆ ดรอว์อิ้งเยอะ ๆ แล้วทุกอย่างจะดี”

ก่อนแยกย้ายจากกัน อาจารย์เทพศิริเดินมาส่งบินหลากับผมที่รถ และพูดฝากฝังทิ้งท้าย ซึ่งผมฟังแล้วน้ำตาซึม

รูปวาดจะมีชีวิต ไม่ได้อยู่ที่ปลายดินสอหรือปลายพู่กัน แต่อยู่ที่ปลายมือปลายนิ้วเราเองนี่แหละ”
น้ำตาซึมด้วย 2 เหตุผล ประการแรกคำพูดของอาจารย์เทพศิริ ชี้ช่องให้ผมเห็นทางสว่างในเรื่องวาดรูปไปอีกกว้างไกลไพศาล

ประการต่อมา ผมหัดวาดรูปด้วยความรู้สึกเคว้งคว้างว่างเปล่ามาตลอด ทว่านับตั้งแต่นาทีนั้น ผมเป็นศิษย์มีครู
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
   
 

วันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

หน้าต่างอันล้ำเลิศ

ผมเพิ่งไปดูจิตรกรรมฝาผนัง ณ วัดปราสาท นนทบุรี เมื่อสามวันที่ผ่านมา


ผมสดับรับรู้ถึงชื่อเสียงและความโดดเด่นของจิตรกรรมฝาผนัง วัดปราสาท มาตั้งแต่ครั้งที่เริ่มต้นสนใจได้ไม่นาน จากหนังสือสำคัญ 2 เล่ม คือ ‘จิตรกรรมฝาผนังสกุลช่างนนทบุรี’ ซึ่งเป็นรายงานการสำรวจโดยท่านอาจารย์ศิลป์ พีระศรีและคณะเมื่อปีพ.ศ. 2504

ส่วนอีกเล่มชื่อยาวหน่อย คือ ‘จิตรกรรมสมัยอยุธยาตอนกลางและตอนปลายระยะแรก สกุลช่างนนทบุรี ณ วัดชมภูเวกและวัดปราสาท’ เขียนโดยอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ

ทั้งสองเล่มนี้ ผมถ่ายเอกสารมาจากห้องสมุดอีกที ตัวเล่มจริงยังเสาะหาอยู่และยังหาไม่เจอ

ได้อ่านและดูภาพถ่ายเอกสารเลือน ๆ ที่ปรากฏในหนังสือแล้ว ผมก็อยากตรงดิ่งไปวัดปราสาททันที รีบตรวจตราดูแผนที่เพื่อค้นหาทำเลที่ตั้งของวัด แล้วก็ต้องถอดใจยอมแพ้ เพราะไกลจากบ้านผมและมีเส้นทางสัญจรเดินทางที่ไม่คุ้นไม่สะดวก

มีอุปาทานมาลวงความรู้สึกของผมอย่างน่าประหลาด เหมือนเส้นผมบังภูเขา กล่าวคือ ตลอดเวลาผมคิดแต่ว่า หนทางไปวัดปราสาทนั้น จะต้องนั่งเรือข้ามฟากที่ท่าน้ำนนท์ แล้วก็เดินเท้าไปจนถึงวัด

ผมถอดใจตรงนี้นี่เอง คือ คำนวณคร่าว ๆ จากแผนที่แล้ว เส้นทางระหว่างท่าน้ำนนท์ฟากบางศรีเมืองมุ่งสู่วัดปราสาท น่าจะตกอยู่ราว ๆ 5-7 กิโลเมตร

ระยะ 5-7 กิโลเมตร ถ้าเป็นย่านใจกลางเมืองที่ผมคุ้นเคย ใช้เวลาสักชั่วโมงถึงชั่วโมงครึ่งก็น่าจะ ‘เอาอยู่’ แต่เส้นทางเท่า ๆ กันในแถบถิ่นแปลกตาไม่คุ้นเคย ความรู้สึกนั้นเหมือนไกลคูณเข้าไปสองสามเท่าตัวเลยทีเดียว นี่ยังไม่นับรวมว่าจะหลงทิศผิดทางหาวัดไม่เจอ และสิ่งจุกจิกปลีกย่อยอีกสารพัดประการ

บวกรวมกับภาพจำเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ผมเคยข้ามฟากไปเที่ยวบ้านเพื่อนที่บางศรีเมือง พ้นเลยท่าเรือข้ามฟากแล้ว เป็นถนนฝุ่นดินแดง เรียงรายไปด้วยสวนผัก เปลี่ยวและปลอดจากอาคารบ้านเรือนชุมชนใด ๆ สภาพเหมือนต่างจังหวัดยิ่งกว่าต่างจังหวัดหลาย ๆ แห่งรวมกันเสียอีก

ในรายงานการสำรวจของอาจารย์ศิลป์ พีระศรีและข้อเขียนของอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ ล้วนเล่าไว้ถึงการเดินทางที่ยากวิบากพอสมควร ต้องนั่งเรือลัดเลาะไปตามลำคลอง และเดินตัดฝ่าสวนอีกร่วม ๆ สิบนาทีกว่าจะไปถึงวัด

ต่าง ๆ นานาเหล่านี้ทำให้ผม คิดเอง เชื่อเอง ตีตนไปก่อนไข้ ไม่สบายไปก่อนป่วย จนกำหนดนึกในใจไว้ว่า วัดปราสาทน่าจะเป็นแหล่งลำดับท้าย ๆ ในการตระเวนดูจิตรกรรมฝาผนังของผม

จนเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้เอง จู่ ๆ ผมก็ฉลาดขึ้นหรือไม่ก็โง่น้อยลง พลันฉุกคิดได้ว่า เมื่อนั่งเรือข้ามฟากแล้ว สภาพปัจจุบันบริเวณละแวกนั้น น่าจะเจริญขึ้นและเปลี่ยนไปตามยุคสมัย มีรถประจำทาง หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือระบบขนส่งมวลชนชนิดใดชนิดหนึ่งให้พึ่งพาอาศัย

คิดได้ดังนั้น ผมก็จัดกระเป๋าตระเตรียมอุปกรณ์ อันประกอบไปด้วย กล้องถ่ายรูป กล้องส่องทางไกล สมุดสเก็ตช์ภาพ ดินสอ ปากกา กบเหลาดินสอ และหนังสือตำรับตำรา 2-3 เล่มที่กล่าวถึงจิตรกรรมฝาผนัง วัดปราสาท

อย่างหลังเตรียมไว้สำหรับอ่านในโบสถ์ กรณีที่เกิดข้อสงสัยฉับพลันขึ้นมาขณะดูภาพเขียน รวมทั้งใช้เเทียบเคียงกับของจริง เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาค้างคาใจ

ผมเคยมีประสบการณ์มาแล้ว คือ ไปวัดเพื่อดูภาพเขียนและถ่ายรูปเก็บไว้ พอกลับมาเทียบเคียงกับในหนังสือ ก็มักจะพบเห็นบางภาพ บางมุม ที่ซ่อนเร้นหลงหูหลงตาหาไม่เจอระหว่างดู กลายเป็นเรื่อง ‘ไม่แล้วใจ’

การพกตำรับตำราเข้าวัด ป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ได้สนิท เหมือนมีครูบาอาจารย์คอยชี้แนะให้เลือกสังเกตว่า มีภาพหลบซ่อนตรงไหนบ้างที่ควรดูพิจารณาอย่างใส่ใจ

ส่วนอุปกรณ์พกพาอื่น ๆ ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องตลกหรือพฤติกรรมของเด็กเนิร์ดนะครับ แต่ผมยืนยันได้ว่า ทุกอย่างได้ใช้สอยสมประโยชน์ทั้งสิ้น

จะว่าไปแล้ว อุปกรณ์ประกอบฉากของผมยังไม่เต็มยศครบถ้วน ยังขาดไฟฉายและบันไดแบบพกพา

ต้องยอมให้ไม่ครบนะครับ มิฉะนั้นสภาพทุลักทุเลของผม จะเหมือนโจรบุกเข้าโจรกรรมขโมยสมบัติในโบสถ์ มากกว่าจะมีสารรูปอย่างคนมาดูจิตรกรรมฝาผนัง

ผมไปวัดปราสาท โดยนั่งเรือด่วนไปลงท่าน้ำนนท์ ต่อเรือข้ามฟาก และเรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้างมุ่งตรงสู่วัด (ค่าโดยสาร 30 บาท ถูกมากเมื่อเทียบกับระยะทาง) อีกวิธีคือ เมื่อนั่งเรือข้ามฟากแล้ว จะมีรถเมล์สายท่าน้ำนนท์-บางบัวทอง และท่าน้ำนนท์-บางใหญ่ วิ่งผ่านหน้าวัด ญาติโยมสามารถเลือกได้ตามอัธยาศัย

สภาพรวม ๆ ตลอดเส้นทาง เปลี่ยนไปจากอดีตไม่เหลือเค้าเดิม เหมือนผมกลับชาติมาเกิดใหม่นู่นเชียว

ผมกะเวลาให้ไปถึงวัดปราสาทราว ๆ ช่วงบ่ายโมง ด้วยเหตุผลสองสามข้อ

แรกสุดคือ เพื่อจะได้มีเวลานานเพียงพอดูภาพเขียนอย่างละเอียดถี่ถ้วน และเผื่อเว้นสำหรับการเดินทางกลับได้พอเหมาะพอดี

ประการต่อมา ผมเพิ่งอ่านเจอข้อมูลว่า โบสถ์วัดปราสาท (ซึ่งงามมากทุกส่วนทั่วทั้งโบสถ์ ตั้งแต่ทรวดทรงโครงสร้างรวม ๆ และสิ่งประดับตกแต่งทั้งหมด) มีความพิสดารเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างหนึ่ง

ตัวโบสถ์นั้นเป็นโบสถ์แบบมหาอุด ซึ่งหมายถึงโบสถ์ที่ผนังด้านข้างปิดทึบ ปราศจากหน้าต่าง สันนิษฐานในเชิงช่างว่า เจตนาในการสร้างก็เพื่อกำหนดควบคุมแสงเงา มิให้สว่างจ้าเกินควร

หัวใจสำคัญอย่างหนึ่งในการสร้างความงามของศิลปะไทยเมื่อครั้งอดีตนั้น ได้แก่ การคำนวณสัดส่วนของแสงเงา ความมืด ความสว่าง ภายในอาคารสิ่งก่อสร้างให้เหมาะเจาะลงตัว

แสงที่ค่อนข้างมืดทึมในโบสถ์นั้น ช่วยขับเน้นสีทองสุกปลั่งขององค์พระพุทธรูปให้งามเด่นยิ่ง ๆ ขึ้น

โบสถ์วัดปราสาท มีความแปลกพิเศษอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนที่ไหนแห่งใด

กล่าวคือ ผนังด้านข้างไม่มีหน้าต่าง เข้าลักษณะโบสถ์แบบมหาอุด ซึ่งมีความเชื่อสืบต่อกันมาอีกอย่างว่า เมื่อทำพิธีกรรมปลุกเสก จะยิ่งทวีความขลังศักดิ์สิทธ์ แต่ที่บริเวณผนังด้านหลังโบสถ์นั้น ครูช่างผู้ออกแบบได้เจาะช่องหน้าต่างเล็ก ๆ ไว้ ด้วยเหตุผลอันแยบยลชาญฉลาด

หน้าต่างผนังโบสถ์ด้านหลังนี้ซ่อนอย่างมิดชิด ชนิดไม่สังเกตก็หาไม่พบ

ผมเล่าอย่างนี้ดีกว่า เมื่อเข้าไปในโบสถ์นั้น จะเห็นองค์พระประธานและพระพุทธรูปเกาะกลุ่มเรียงราย

ฐานชุกชีหรือฐานที่ตั้งองค์พระประธาน ตั้งวางอยู่เกือบแนบชิดติดผนังหลังโบสถ์ หน้าต่างดังกล่าวจึงโดนบดบังพ้นจากสายตาการพบเห็น

ถ้าไม่ได้อ่านเจอมาก่อน ผมก็ไม่มีทางรู้หรอกนะครับว่า มีหน้าต่างอยู่หลังองค์พระประธาน

ความพิเศษของหน้าต่างบานนั้น ไม่ได้อยู่ที่ซ่อนเร้นหลบสายตาคนอย่างเนียนสนิท แต่อยู่ที่ศักยภาพเมื่อเปิดออกมา

และเวลาอันเหมาะนั้นก็คือ ช่วงบ่าย

ด้านหน้าหรือทางเข้าของโบสถ์วัดปราสาท หันสู่ทิศตะวันออก แดดเช้าซึ่งร้อนหรือไม่ร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ จะส่องให้ความสว่างบริเวณภายใน ขณะที่แดดบ่ายจะส่องตรงจากหลังโบสถ์ผ่านบานหน้าต่าง

ความล้ำลึกพิสดารอยู่ตรงนี้นี่เอง คือ ยามบ่ายเมื่อเปิดหน้าต่างดังกล่าวแล้ว หากลองนั่งเพ่งมองดูองค์พระประธาน จะปรากฏเป็นภาพในลักษณะย้อนแสงเล็กน้อย

กล่าวคือ พระพุทธรูปพระประธาน ยังคงเห็นเค้าโครงรายละเอียดต่าง ๆ ครบถ้วน แต่ลักษณะย้อนแสงก็ส่งผลให้เส้นรอบนอก ตั้งแต่ช่วงแขน ลำตัว พระเศียร ปรากฏแสงสว่างเรือง ๆ โดยรอบ คล้ายมีรัศมีเปล่งประกาย จนกลายเป็นภาพที่งามจับตาจับใจ และให้ความรู้สึกขลังศักดิ์สิทธิ์เพิ่มขึ้นอย่างน่าทึ่ง

ตอนที่ผมเข้าไปในโบสถ์วัดปราสาท หน้าต่างบานนั้นปิดสนิทอยู่นะครับ ผมจึงทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ศิลปะ ด้วยการไปเปิดหน้าต่าง แล้วก็ได้เห็นประจักษ์แก่สายตาว่า คำร่ำลือที่เคยล่วงรู้มา เป็นความจริงแท้แน่นอนทุกประการ

สวย อัศจรรย์ ด้วยหลักการสร้างแหล่งแสงผ่านกรรมวิธีเรียบง่าย แต่อาศัยความคิดและการออกแบบด้วยสติปัญญาอันลึกซึ้ง

เห็นแล้วก็ต้องกราบคารวะงาม ๆ ทั้งองค์พระพุทธรูปและครูช่างผู้ออกแบบก่อสร้าง

ผมมีข่าวดีและข่าวร้ายมาเล่าสู่กันฟัง

ข่าวดีคือ โบสถ์วัดปราสาทนั้นเปิดทุกวัน การเข้าชมเป็นไปโดยง่ายสะดวก ไม่ต้องขออนุญาตจากพระ

ข่าวร้ายก็คือ ด้วยสภาพเก่าแก่ชำรุดของภาพจิตรกรรมฝาผนัง จึงมีป้ายประกาศติดไว้ว่า ห้ามถ่ายรูป

ผมปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด และเห็นพ้องว่าเป็นข้อห้ามอันเหมาะควรอย่างยิ่ง นี่จึงเป็นการดูจิตรกรรมฝาผนังครั้งแรก ที่ผมไม่มีโอกาสได้ถ่ายรูปเก็บไว้ดูย้อนหลัง และทำได้แต่เพียงแค่ถ่ายภาพบริเวณภายนอกของโบสถ์

ภาพแสงเงาจากหน้าต่างหลังโบสถ์ที่นำมาประกอบข้อเขียนชิ้นนี้ (ซึ่งแตกต่างกับการมองของจริงด้วยตาเปล่าอยู่พอสมควร) ผมค้นเจอจากในเว็บไซต์แห่งหนึ่ง แต่พลั้งเผลอลืมจดชื่อไว้ ต้องขออภัยท่านเจ้าของภาพ สำหรับการถือวิสาสะหยิบยืมนำมาใช้โดยมิได้ขออนุญาตและระบุเครดิต

ผมจินตนาการเพิ่มเติมได้อีกอย่างว่า เมื่ออดีตครั้งที่ภาพเขียนบนผนังยังสมบูรณ์ครบถ้วน โทนสีแดงชาดครอบงำทั่วผืนหนังทุกด้าน ตลอดจนสีอื่น ๆ ที่แทรกปนในรายละเอียดของงานจิตรกรรม บวกรวมกับแสงอันเกิดจากหน้าต่างด้านหลัง

ภาพรวมที่ปรากฏในโบสถ์วัดปราสาท จะต้องเป็นอีกภาพในศิลปกรรมไทยที่งามสุดยอดมาก ๆ จนน่าตกตะลึง