วันพุธที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2551

เด็กใจแตกวัยกลางคน


ผมไม่ได้อัพเดตบล็อกมานานพอสมควร ด้วยเหตุผลง่าย ๆ สั้น ๆ ครับ คือ มัวสนุกเพลิดเพลินอยู่กับการเที่ยว


จุดเริ่มต้น น่าจะเกิดจากวันที่เพื่อนรุ่นน้องของผมคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนลาว เดินทางจากเวียงจันทน์จะไปทำงานที่หาดใหญ่ ระหว่างมีเวลารอเปลี่ยนขบวนรถไฟประมาณห้าหกชั่วโมงที่กรุงเทพฯ เขาโทรศัพท์มาหาผม เราจึงนัดหมายเจอะเจอกัน

เรื่องราวถัดมา ผมได้เขียนเล่ารายละเอียดไว้ในบทความชื่อ “พบเพื่อพราก จากเพื่อเจอ” ลงในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

เหตุการณ์วันนั้น ทำให้ผมมีโอกาสได้ไปเที่ยววัดอรุณ ฯ เป็นครั้งแรกในชีวิต ซึ่งผมชื่นชอบประทับใจมาก

พร้อม ๆ กัน ผมก็นึกเจ็บใจตัวเอง ที่ผ่านละแวกนั้นมาหลายปี แต่ก็ไม่เคยคิดจะแวะไปอย่างจริงจัง ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่า อยู่ใกล้ ไปมาสะดวก อยากจะไปเมื่อไหร่ก็ย่อมได้

ท้ายสุดก็เลยไม่ได้ไปเสียที ต้องรอให้มีเพื่อนจากแดนไกลมาเยี่ยมเยียน จึงค่อยหาเหตุผลแรงจูงใจจนลุล่วงเป็นรูปธรรม

นับจากวันนั้น ผมเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองไปเยอะพอสมควร เวลาผ่านเข้าใกล้แหล่งย่านสถานท่องเที่ยวสำคัญตรงไหนที่น่าสนใจ ถ้าไม่ติดกิจธุระเร่งด่วน ผมก็จะหาโอกาสแวะเข้าเยี่ยมชมทันที

ผลก็คือ ขณะย่ำต๊อกหาข้าวมื้อเย็นแถวเยาวราช เมื่อกินจนอิ่มหนำสำราญ พลันก็เกิดนึกขึ้นได้ว่า มีงานวัดภูเขาทอง ผมก็ตรงดิ่งไปเดินเที่ยวที่นั่นทันที ได้รื้อฟื้นความหลังระลึกชาติย้อนอดีตอีกหลายสิบปี

เหมือนเครื่องยนต์สตาร์ทติดนะครับ หลังจากนั้น ผมก็รั้งไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ ไปเดินเล่นหอศิลป์ตรงข้ามมาบุญครอง ไปเที่ยวพิษณุโลกแบบสองวันหนึ่งคืน ขาขึ้นนั่งรถทัวร์ เที่ยวล่องนั่งรถไฟ

เมื่อตอนวัยรุ่น ผมเที่ยวกระจุยกระจาย ทั้งแบบเป็นหมู่คณะ และเดินทางสาขาชายเดี่ยว แต่พอหยุดเว้นวรรคจมปลักอยู่ในกรุงเทพฯ ต่อเนื่องกันหลายปี ผมก็กลายเป็นโรคกลัวการเดินทางท่องเที่ยวคนเดียว ไม่ค่อยกล้าไปไหน ทั้งกลัวเหงา และเกรงว่าจะไม่เหงา

พอได้ไปพิษณุโลกตามลำพัง กลับมาถึงกรุงเทพฯ ผมจึงเกิดภูมิต้านทาน อยู่ในสภาพคึกคักฮึกเหิมสุดขีด กระทั่งใช้เวลาเกือบ ๆ หนึ่งเดือนถัดจากนั้น เที่ยวเยอะกว่าสามปีที่ผ่านมารวมกันเสียอีก

ช่วงเวลาไล่เรี่ยใกล้เคียงกันนั้นเอง เพื่อนคนหนึ่งก็ชักชวนผมเข้าร่วมทีมฟุตบอล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ผมว่างเว้นมานาน เนื่องจากสภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวย

แต่พอได้รับคำชวน ผมก็ประพฤติตนตามสำนวนพ้นยุคที่ว่า “ไม่เจียมบอดี้” ตอบรับทันที

ผ่านพ้นเกมแรกในการหวนกลับมาคืนสนาม ร่างกายของผมก็บอบช้ำปวดเมื่อยไปทั่วทั้งตัว นี่ยังไม่นับรวมคุณภาพฟอร์มการเล่นอันเละเทะตกต่ำสุดขีด และอาการบาดเจ็บแถมพกที่ข้อเท้า

มันเป็นผลมาจากสภาพร่างกายไม่ฟิตนะครับ บวกรวมกับหลายปีมานี้ ผมใช้ชีวิตนั่ง ๆ นอน ๆ และตะกละเห็นแก่กิน น้ำหนักตัวจึงพุ่งพรวดพราดเกินพิกัดอันควรไปร่วม ๆ สิบห้ากิโลกรัม

กล่าวได้ว่า ผมอ่อนซ้อมและร่างกายย่ำแย่ จนแม้แต่นั่งเล่นหมากฮอร์สใต้ต้นไม้ร่มรื่นเย็นสบาย ก็ยังมีเหนื่อยล่ะครับ

เพื่อที่จะสามารถกลับมาเล่นกีฬาที่ผมชื่นชอบโปรดปรานได้อีก ผมจึงเริ่มกิจกรรมเดินออกกำลังกาย (ในระหว่างที่ยังเจ็บข้อเท้า)

เรื่องออกกำลังกายนั้น ก็เข้าข่ายคล้าย ๆ กัน คือ ทำใจลำบากในระยะแรกเริ่ม (สำหรับผม แค่นึกถึงก็เหนื่อยและท้อเรียบร้อยแล้ว) แต่พอฝืนบังคับตัวเองสักสองสามวัน อะไรต่อมิอะไรก็เริ่มเข้าที่เข้าทาง กลายเป็นกิจกรรมเสพติดแบบปราศจากโทษภัยได้อย่างง่ายดาย

ผมก็เลยติดลมทั้งการเที่ยว และการออกกำลังกายตามสวนสาธารณะ (ซึ่งผมมีวิธีแก้เบื่อ ด้วยการย้ายทำเล เปลี่ยนสถานที่ไปเรื่อย ๆ ไม่ซ้ำกัน พูดง่าย ๆ ผมเป็นคนที่ใช้สวนสาธารณะสิ้นเปลืองฟุ่มเฟือยมาก)

เท่านั้นยังไม่พอ ระหว่างลงมือหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่เที่ยว (โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ) ผมก็เกิดไปสนใจ ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดละแวกฝั่งธนสองสามแห่ง

ความสนใจในจิตรกรรมฝาผนัง แรกเริ่มผมก็คิดว่าสบาย ๆ เพลิน ๆ แค่ไปเดิน ๆ ดู ๆ เท่านั้นก็น่าจะเพียงพอ

แต่แล้วผมก็พบว่า ถ้าจะให้ได้อรรถรสเข้าถึงอย่างลึกซึ้ง ผมควรจะต้องทำการบ้าน ค้นคว้าตระเตรียมข้อมูลให้พร้อมก่อนดู

ทีแรกผมคิดว่า แค่หาหนังสือมาอ่านสองสามเล่มก็น่าจะพอ แต่พอลงมืออ่านเข้าจริง ก็ยิ่งเกิดความอยากรู้อยากเห็น กระทั่งบานปลายไร้ขอบเขตสิ้นสุด

ขนาดอยู่ในระยะเริ่มต้น กิจกรรมนี้ก็ได้ช่วงชิงขโมยเวลาส่วนใหญ่ของผมไปเกือบหมด พูดได้ว่าผมลุ่มหลงถึงขั้นงมงายเป็นเอามากเลยทีเดียว

ทำไปทำมา ผมก็เลยได้ประเด็นและข้อมูลเป็นกระตั้กสำหรับเขียนถึงเรื่องเหล่านี้ เป็นซีรีส์หลายตอนจบ เพื่อลงใน “ผู้จัดการรายวัน” (จนถึงขณะนี้ ผมลงมือเขียนไปได้สามตอนแล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งไปตีพิมพ์ เพราะเหตุการณ์ยังไม่คืบหน้าไปถึงไหนเลยครับ)

เหนือสิ่งอื่นใด มันยังกลายเป็นแรงบันดาลใจ ให้ผมอยากเขียนนิยายขึ้นมาอีกหนึ่งเรื่อง ซึ่งเป็นเม็กกะโปรเจ็กท์ที่ต้องหาข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วนกันอีกหลายปี (ตอนนี้อาการมันระบาดถึงขั้นทำให้ผมเริ่มลงมืออ่านงานเขียนจำพวก “พระราชพงศาวดาร” แล้วล่ะ)

ผมไม่ยืนยันความเป็นไปได้ เรื่องนิยายที่อยากจะเขียนนี้หรอกนะครับ มีความยากและอุปสรรคอยู่เยอะทีเดียว รวมทั้งปัจจัยภายในคือ อารมณ์กระตือรือล้นของผมเอง ซึ่งอาจจะมอดดับหมดไฟไปก่อนเริ่มลงมือก็ย่อมได้

ทั้งหมดนี้ ผมเขียนอย่างรีบและลวก ภายใต้เวลาอันจำกัด หากอ่านแล้วขรุขระไม่ราบรื่นก็ต้องขออภัยไว้ด้วย เจตนาของผมมีเพียงแค่ อยากจะบอกกล่าวเล่าสู่ต่อมิตรรักแฟนเพลง หมายใจจะให้เป็นการรายงานคร่าว ๆ เท่านั้นเองว่า เหตุใดบล็อกจึงนิ่ง ๆ ไม่ค่อยมีความเคลื่อนไหว และระหว่างนั้นผม “หายหัวหายตัวไปไหน”

ไม่ได้ไปติดค้างลี้ภัยอยู่ต่างประเทศแดนไกลที่ไหนหรอก ยังอยู่ดีมีสุขสำราญและแอบขโมยเวลานอกราชการงานเขียนปกติ ไปเดินสายท่องเที่ยวแทบทุกวัน

มีเรื่องที่ผมอยากเล่าสู่กันฟังเยอะแยะเลยเชียว แต่ยังจัดสรรตารางเวลาไม่ค่อยลงตัวนัก

ช่วงนี้ผมจึงขออนุญาตลาพักร้อนตอนหน้าหนาวอีกสักระยะหนึ่ง หายใจแตกเสียเด็กเมื่อไหร่ จะกลับมาพบปะทุกท่านตามปกติ

ด้วยความคิดถึงอย่างล้นเหลือ และเต็มใจจะเที่ยวเผื่อนะครับ





(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกที่นี่ 9 ธันวาคม 2551)

วันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ควบอาชาโดดเดี่ยวพันลี้ โดย "นรา"


1
ในเรื่อง “สามก๊ก” ช่วงที่สะท้อนบทบาทของท่านกวนอูได้จับใจมากสุด เริ่มต้นจากสามพี่น้องร่วมสาบาน เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย ประสบเหตุพรากจากกัน
กวนอูถูกเงื่อนไขเกี่ยวกับความปลอดภัยของพี่สะใภ้ (ซึ่งเล่าปี่ฝากฝังให้ดูแล) บีบบังคับให้ต้องสวามิภักดิ์ต่อโจโฉ

อย่างไรก็ตาม กวนอูขอคำมั่นสัญญา 3 ข้อให้โจโฉรับปากเสียก่อน จึงจะยินยอมตกลงปลงใจ

ประการแรก กวนอูถือตนเองเป็นข้ารับใช้พระเจ้าเหี้ยนเต้ ไม่ใช่บริวารในสังกัดของโจโฉ

ข้อถัดมา เป็นการยืนยันขอคำมั่นในด้านความปลอดภัยของพี่สะใภ้

สุดท้าย วันใดที่รู้ข่าวว่าเล่าปี่อยู่แห่งหนใด กวนอูสามารถเป็นฝ่ายไปได้ทันที โดยไม่ต้องล่ำลาหรือขอคำอนุญาตจากโจโฉ

ระหว่างนั้น โจโฉก็ทำทุกวิถีทางเพื่อ “ซื้อใจ” ของกวนอู ทั้งการเลี้ยงดูอย่างดี ปูนบำเหน็จลาภยศต่าง ๆ มากมาย ไปจนถึงขั้นวางอุบายให้กวนอูมีโอกาสใกล้ชิดพี่สะใภ้ หวังให้สองฝ่ายประพฤติผิดทางชู้สาว เพื่อเป็นเหตุแตกหักผิดใจกับเล่าปี่

ทั้งหมดนี้กลับไม่ประสบผล เพราะกวนอูแสดงความซื่อสัตย์ภักดีมั่นคง จนไม่มีสิ่งใดสามารถสั่นคลอนให้เปลี่ยนแปลง

ต่อมา กวนอูทราบข่าวเกี่ยวกับเล่าปี่ จึงเข้าพบเพื่ออำลาโจโฉถึง 2 ครั้ง 2 ครา แต่อีกฝ่ายกลับหลบเลี่ยง เพื่อหน่วงเหนี่ยวรั้งตัวไว้

ท้ายที่สุดกวนอูจึงเขียนหนังสือชี้แจงเหตุผล ส่งมอบทรัพย์สินที่โจโฉเคยมอบให้คืนแก่เจ้าของเดิม และพาครอบครัวของเล่าปี่ออกเดินทาง พร้อมทหารอีกเพียง 12 คน เผชิญอุปสรรคอันตรายมากมาย ฝ่าด่าน-ที่มีไพร่พลเยอะกว่าชนิดเทียบกันไม่ได้-อยู่หลายครั้งหลายคราว รวมทั้งเจอการโน้มน้าวชักจูงจิตใจส่งท้ายจากโจโฉ

ยิ่งกว่านั้น เมื่อหลุดพ้นเงื้อมมือฝ่ายตรงข้ามได้แล้ว ยังต้องรอนแรมระหกระเหินบนเส้นทางกันดารยาวไกล รวมถึงโดนเตียวหุยโกรธแค้นเข้าใจผิดอีกต่างหาก

ท่านกวนอูผ่านบททดสอบอันหนักหน่วง ด้วยฝีมือเชิงรบล้ำเลิศและคุณธรรมอันยิ่งใหญ่ จนแม้แต่โจโฉเองยังต้องเอ่ยตัดพ้อว่า “เราเป็นคนบุญน้อย จึงมิได้ท่านไว้สมปรารถนา”

วีรกรรมดังกล่าวของท่านกวนอู ได้รับการเรียกขานสั้น ๆ ว่า “ควบอาชาโดดเดี่ยวพันลี้”

2
ท่ามกลางเรื่องราวสู้รบช่วงชิงอำนาจ เต็มไปด้วยเล่ห์อุบายหักโค่นกันเกือบตลอดเวลา วีรกรรมของท่านกวนอู เป็นหนึ่งใน “แสงสว่าง” ที่สะท้อนถึงคุณธรรมดีงาม ความซื่อสัตย์ภักดี และการเสียสละตนเองอย่างถึงที่สุด

“ควบอาชาโดดเดี่ยวพันลี้” จึงเป็นเรื่องราวตอนหนึ่งใน “สามก๊ก” ที่ได้รับความนิยม และจับใจผู้คน

รวมทั้งเปลี่ยนสถานะท่านกวนอู จาก “นักรบ” มาเป็น “เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์” ที่ชนรุ่นหลังเคารพยกย่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

“ควบอาชาโดดเดี่ยวพันลี้” เป็นเรื่องหนึ่งที่ได้รับความนิยมอันดับต้น ๆ ของศิลปะการแสดงที่เรียกกันว่า นัวซี (Nuo Xi หรือ Nuo Opera) หรือ “งิ้วสวมหน้ากาก” ซึ่งเป็นงิ้วพื้นบ้านที่แพร่หลายในมณฑลยูนนาน ทางแถบตะวันตกเฉียงใต้ของจีน

ความเป็นมาอันเก่าแก่ยาวนานร่วมสามพันปี และยังดำรงคงอยู่มาจนถึงปัจจุบันของงิ้วสวมหน้ากาก ทำให้เกิดฉายาเรียกขานว่า นัวซีเป็น “ซากดึกดำบรรพ์ที่ยังมีชีวิต”

แรกเริ่มนัวซีเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่ง เพื่อขับไล่ภูตผีปีศาจและโรคระบาดให้ไปไกลจากหมู่บ้าน ทว่าโดยการเปลี่ยนผ่านขัดเกลาของกาลเวลา ต่อมาจึงค่อย ๆ คลี่คลายมาเป็นศิลปะการแสดง

หัวใจสำคัญของนัวซีก็คือ การขับร้องด้วยน้ำเสียงท่วงทำนองคาบเกี่ยวก้ำกึ่งกัน ระหว่างบทสวดกับบทเพลง ที่ให้ความรู้สึกลี้ลับ และด้วยเหตุที่ผู้แสดงต้องสวมหน้ากาก การขับร้องจึงเน้นหนักไปยังการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกโศกสุขเศร้าสะเทือนใจ จากความจริงเบื้องลึกภายในของผู้แสดง

กล่าวอีกแบบคือ นัวซี เป็นการแสดงที่เน้น “ความจริงภายใน” มากกว่าความสมจริงของรูปลักษณ์ภายนอก

3

Riding Alone for Thousands of Miles เป็นหนังปี 2005 กำกับโดยจางอี้โหมว

เนื้อเรื่องกล่าวถึง ชายชราชาวญี่ปุ่นชื่อทาคาตะ ซึ่งมีความสัมพันธ์ไม่ลงรอยกับลูกชายชื่อเคนอิจิ ทั้งคู่ทำตัวห่างเหินเย็นชาต่อกันยิ่งกว่าคนแปลกหน้า

จนกระทั่งเคนอิจิป่วยเข้าโรงพยาบาล ริเอะภรรยาของเขา จึงอ้อนวอนพ่อสามีให้เดินทางมาเยี่ยมเยียน แต่เคนอิจิก็ขับไล่ไสส่งไม่ยอมให้พ่อเข้าพบ

ก่อนเดินทางกลับ ริเอะได้ขอร้องให้ทาคาตะช่วยดูวิดีโอม้วนหนึ่ง ด้วยเหตุผลว่า มันอาจช่วยให้ผู้เฒ่าได้รู้จักบุตรชายดีขึ้นกว่าเดิม

วิดีโอที่เคนอิจิถ่ายไว้ บันทึกเหตุการณ์เมื่อครั้งที่เขาเดินทางไปยูนนาน เก็บภาพการแสดงงิ้วสวมหน้ากาก ช่วงท้ายของม้วนเทป นักแสดงชาวจีนชื่อหลี่เจียหมินกล่าวว่า เขาถนัดสันทัดเป็นพิเศษกับการแสดงเรื่อง “ควบอาชาโดดเดี่ยวพันลี้” แต่วันนี้เสียงแหบแพร่ ไม่อาจน้อมสนองได้ หากเคนอิจิเดินทางมาจีนในคราวต่อไป เขารับปากว่าจะขับร้องให้ชมสุดฝีมือ

เคนอิจิไม่สามารถเดินทางไปจีนได้อีก ซ้ำร้ายจากผลการตรวจวินิจฉัย ชายหนุ่มเป็นมะเร็งตับขั้นสุดท้าย

ทาคาตะจึงเกิดความคิดฉับพลันที่จะเดินทางไปจีน เพื่อถ่ายภาพหลี่เจียหมินแสดงงิ้ว “ควบอาชาโดดเดี่ยวพันลี้” สานต่อภารกิจที่ยังค้างคาของบุตรชาย เพราะนั่นอาจเป็นหนทางหนึ่ง ซึ่งเขาสามารถแสดงความรักต่อลูกที่กำลังจะตาย

การเดินทางที่ดูเหมือนจะง่าย กลับพลิกผันบานปลายกลายเป็นยุ่งยาก เมื่อหลี่เจียหมินก่อคดีทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกาย ต้องโทษติดคุก 3 ปี

ทาคาตะต้องขยายเวลาอยู่ที่จีนอย่างไม่มีกำหนด ปราศจากไกด์นำทาง มีเพียงหนุ่มท้องถิ่นชื่อชิวหลิน ซึ่งพูดญี่ปุ่นได้น้อยนิด คอยให้ความช่วยเหลือ

ชายต่างวัยต่างเชื้อชาติทั้งสอง เดินเรื่องติดต่อขอเข้าเยี่ยมนักโทษ เพื่อถ่ายวิดีโอหลี่เจียหมินแสดงงิ้ว เผชิญกับความซับซ้อนวุ่นวายของระบบราชการหลายขั้นตอน กว่าจะสามารถโน้มน้าวอธิบายเหตุผล (ท่ามกลางอุปสรรคสำคัญคือ ภาษา) จนได้รับอนุญาตในท้ายที่สุด

ทว่าสถานการณ์ก็หักมุมอีก หลี่เจียหมินคิดถึงลูกชายนอกสมรสของตนเอง กระทั่งทุกข์ตรมเศร้าหมอง ไม่อยู่ในอารมณ์ที่สามารถขับร้องแสดงงิ้ว

ทาคาตะจึงต้องออกเดินทางไปยังหมู่บ้านอันกันดารห่างไกล เพื่อค้นหาและนำตัวลูกชายของหลี่เจียหมินมาพบหน้าพ่อในเรือนจำ

4

มีความเกี่ยวโยงหลายชั้น ระหว่างวีรกรรมท่านกวนอู, การแสดงงิ้วสวมหน้ากาก, และการเดินทางมาจีนของทาคาตะ

เหตุการณ์ในสามก๊กและเรื่องของชายชราชาวญี่ปุ่น ล้วนเป็นการเดินทางไกล ท่ามกลางอุปสรรคปัญหาสารพัด

เหตุต่าง ๆ ที่ผ่านพบตามรายทาง มีส่วนโน้มนำเบื้องลึกภายในให้ปรากฎฉายชัดออกมา ท่านกวนอูต้องตีแผ่เปิดเผยให้เห็นถึงความซื่อสัตย์ภักดี ขณะที่ทาคาตะค่อย ๆ สะท้อนถึงความรักอันลึกซึ้งที่มีต่อบุตรชาย

ที่สำคัญ มันเป็นการเดินทางไกลอย่างโดดเดี่ยวแปลกแยก โดยมีเป้าหมายใกล้เคียงกัน นั่นคือ การกระทำและเสียสละ เพื่อกลับไปหาคนที่ตนเองรัก

ชั้นเชิงถัดมาของหนังเรื่อง Riding Alone for Thousands of Miles ก็คือ ใช้การเดินทางในสภาพแวดล้อมแปลกถิ่นต่างภาษา เพื่อเปรียบเปรยความสัมพันธ์ระหว่างสองพ่อลูก

เมื่อทาคาตะต้องตกอยู่ในสภาพโดดเดี่ยวแปลกแยก ไม่สามารถพูดจาสื่อสารกับคนรอบข้าง สภาพเช่นนี้ทำให้เขาคืบหน้าใกล้ชิดลูกชายยิ่งกว่าเดิม ได้สัมผัสอารมณ์ความรู้สึก ได้รู้จัก และเข้าใจถึงสภาพที่เกิดขึ้นกับเคนอิจิ เมื่อครั้งต้องใช้ชีวิตเปล่าเปลี่ยวตามลำพังในจีน

พร้อม ๆ กันนั้น ตัวนักแสดงงิ้วอย่างหลี่เจียหมิน, ไกด์ท้องถิ่นชื่อชิวหลิน, รวมถึงเด็กชายหยางหยางที่เป็นเป้าหมายของการเดินทางไกล ล้วนเป็นตัวละครที่ส่งผลสะเทือนต่อความเปลี่ยนแปลงของผู้เฒ่าทาคาตะ

หลี่เจียหมินนั้นเป็นด้านตรงกันข้ามของทาคาตะ เขาแสดงอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ที่มีต่อบุตรชายอย่างเด่นชัดไม่ปิดบัง สามารถร่ำไห้โอดครวญ ตีอกชกหัวโดยไม่อับอายใคร ขณะที่ชายชราชาวญี่ปุ่น ซ่อนความรักความปรารถนาดีเอาไว้ในท่าทีสงบนิ่ง จนกลายเป็นความคุ้นชินเย็นชา (นี่ยังไม่นับรวมแง่มุมเปรียบเปรยที่ว่า ทั้งคู่ต่างมีลูกชายและต้องพลัดพรากจากกัน)

หนุ่มท้องถิ่นชื่อชิวหลิน เป็นภาพเปรียบอีกประการ ในแง่การสื่อสารทำความเข้าใจที่ล้มเหลว เนื่องจากอุปสรรคทางด้านภาษา ความจริงข้อนี้ยิ่งน่าเจ็บปวด เมื่อย้อนนึกไปถึงทาคาตะกับลูกชาย ซึ่งพูดภาษาเดียวกัน แต่กลับเพิกเฉยให้แก่การสื่อสารทำความเข้าใจ

ทาคาตะกับชิวหลินนั้น แม้จะพูดคุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาก็คือ ทั้งสองฝ่ายพยายามใช้วิธีต่าง ๆ สื่อสารกัน ทั้งโดยภาษาญี่ปุ่นซึ่งหนุ่มจีนรอบรู้จำกัด การออกท่าทางใช้ภาษาใบ้ การจดบันทึกถ้อยคำสำคัญ เพื่อหาผู้รู้จริงมาแปลให้ภายหลัง ฯลฯ

ส่วนเด็กชายหยางหยาง ช่วงเวลาหนึ่งคืนที่เจ้าหนูกับชายชรา หลงทางด้วยกันในหุบเขาโตรกผา เด็กชายมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟู “ความเป็นพ่อ” ที่ว่างเว้นขาดหายไปนานของทาคาตะ ให้กลับมาเต็มพร้อมสมบูรณ์อีกครั้ง

ด้านความเชื่อมโยงกับงิ้วหน้ากาก ขั้นต้นมันปรากฎผ่านคำสารภาพในจดหมายของเคนอิจิว่า เขาไม่ได้ชื่นชอบเพราะแง่มุมทางศิลปะ แต่ด้วยเหตุผลส่วนตัวคือ เขารู้สึกว่าตนเองก็สวมหน้ากากใบหนึ่งเอาไว้อยู่ตลอดเวลา เพื่อปกปิดอำพรางความรู้สึกแท้จริงบางอย่าง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสวมหน้ากาก ขึ้นมาขวางกั้นความสัมพันธ์กับพ่อ

ลำดับถัดมา ในการมาเยือนจีนของทาคาตะ ชายชราได้รับบทเรียนสำคัญผ่านงิ้ว “ควบอาชาโดดเดี่ยวพันลี้” นั่นคือ แม้ผู้แสดงจะสวมหน้ากาก แต่โดยการขับร้องนั้น ต้องสะท้อนความรู้สึกแท้จริงในใจออกมา

ทาคาตะผ่านวิบากกรรมต่าง ๆ เพื่อบันทึกภาพการแสดงงิ้วหน้ากาก แต่ลึก ๆ แล้วผลพวงสืบเนื่อง กลับเป็นการปลดเปลื้องหน้ากากของตน ทลายกำแพงที่กั้นขวาง กระทั่งสามารถหวนกลับมาเข้าถึงลูกชายได้อีกครั้ง

ในแง่นี้ ทาคาตะได้ “ควบอาชาโดดเดี่ยวพันลี้” พลัดพรากจากบ้านเป็นระยะทางไกลลิบ เพียงเพื่อท้ายที่สุดแล้ว เขาจะได้ “กลับบ้าน” คืนสู่ความเป็นครอบครัวอีกครั้ง


(เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2550 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ “เงาของหนัง” หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน)

หมายเหตุฆาตกรรม โดย "นรา"


เป็นที่ยกย่องและยอมรับกันทั่วไปว่า ผลงานชิ้นเอกของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ได้แก่นิยายเรื่องมหึมาอย่าง “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” (One Hundred Years of Solitude) ซึ่งเป็นงานเขียนที่เต็มไปด้วยรายละเอียดพิลึกพิลั่นมหัศจรรย์มากมาย เช่น ช็อคโกแลตร้อนที่ดื่มแล้วลอยได้ ฝนตกหนักในเมืองแห่งหนึ่งติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี หรือบรรดาชาวบ้านพร้อมเพรียงกันเกิดอาการ “นอนไม่หลับ” คืนแล้วคืนเล่าจนกลายเป็นเหตุการณ์ปกติ ฯลฯ


อาจกล่าวได้ว่า “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” เป็นประสบการณ์การอ่านวรรณกรรมที่โลดโผนตื่นเต้นเร้าใจและน่าทึ่งมาก ๆ อีกเรื่องหนึ่ง เท่าที่ผมเคยเจอะเจอมา แต่ถึงกระนั้นนิยายเรื่องดังกล่าวของมาร์เกซ ก็เข้าข่าย “อ่านสนุก แต่เข้าใจยาก” อยู่มาก เนื่องจากความแตกต่างและไม่คุ้นเคยต่อวัฒนธรรมละตินอเมริกา (อย่างไรก็ตาม ถึงจะไม่ค่อยเข้าใจ แต่ว่ากันเฉพาะ “ความสนุก” และ “ความแปลก” แล้ว นิยายเรื่องนี้ก็ถือได้ว่าน่าลิ้มลองเสาะหามาอ่านมาก ๆ นะครับ) ทำให้โอกาสที่จะรู้สึกร่วมคล้อยตามต่าง ๆ จึงเป็นไปได้ยาก


มีงานเขียนอีกเล่มของมาร์เกซที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยนานแล้ว (ออกตีพิมพ์ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับ “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” ฉบับพิมพ์ครั้งแรก) และมีขนาดความหนากระทัดรัดเพียงร้อยกว่าหน้า เค้าโครงเรื่องเรียบง่ายกว่าเยอะ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเริ่มต้นทำความรู้จัก (โดยไม่โดนความยิ่งใหญ่ในงานเขียนของมาร์เกซข่มขวัญจนรู้สึกฝ่อไปเสียก่อน) นั่นก็คือ “หมายเหตุฆาตกรรม” (Chronicle of a Death Foretold)


“หมายเหตุฆาตกรรม” เป็นนิยายขนาดสั้นของมาร์เกซ ซึ่งผมหยิบมาอ่านซ้ำบ่อยที่สุดในบรรดาผลงานทั้งหมดของเขา นอกเหนือจากขนาดรูปเล่มที่อำนวยความสะดวกแก่คนขี้เกียจอย่างผมแล้ว ความยอดเยี่ยมตลอดจนคุณภาพการเขียนระดับ “เซียนเหยียบเมฆหลายชั้น” ของมาร์เกซก็เป็นเหตุผลใหญ่สุด ที่ทำให้อ่านซ้ำได้ไม่รู้เบื่อ (และยังคงเกิดความรู้สึกทึ่งราวกับเพิ่งอ่านเป็นครั้งแรกได้ทุกเมื่อ)


โดยเค้าโครงแล้ว “หมายเหตุฆาตกรรม” เป็นบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการฆ่าล้างแค้นที่สะเทือนขวัญคนทั้งเมือง รายละเอียดความพิศดารนั้นอยู่ที่ว่า ฝ่ายฆาตกรป่าวประกาศเจตนาของตนเองล่วงหน้าอย่างโจ่งแจ้ง (ด้วยเหตุผลที่แท้จริงคือ “ใจไม่ถึง” จึงอยากจะให้มีคนมายับยั้งขัดขวาง) จนชาวบ้านต่างรู้กันทั่ว กระทั่งนำไปสู่ความไม่เชื่อและคิดว่าเป็น “เรื่องล้อเล่น” ท้ายสุดเหตุการณ์อันน่าเศร้าสลดก็เกิดขึ้น เมื่อมีการฆาตกรรมกันจริง ๆ


เนื้อเรื่องคร่าว ๆ ดังกล่าว จะว่าไปก็ปกติธรรมดา ไม่มีอะไรโลดโผนเป็นพิเศษ แต่ทีเด็ดนั้นอยู่ที่ว่ามาร์เกซไม่ได้บอกเล่าถ่ายทอดเหตุการณ์เรียงลำดับแบบหนึ่ง สอง สาม แต่เริ่มต้นด้วยการบอกกันตรง ๆ ถึงจุดจบลงเอยของเรื่อง จากนั้นก็เล่าย้อนสลับไปมาอย่างแพรวพราว โดยใช้มุมมองของตัวละครเยอะแยะมากมายหลายฝ่าย ในลักษณะของการสอบถามให้ปากคำในฐานะพยานผู้รู้เห็น มาเชื่อมโยงปะติดปะต่อจนได้ภาพทั้งหมดครบถ้วน (และเก่งมากในการเล่าเรื่องไม่เรียงตามลำดับให้คนอ่านไม่งง)


ที่เหนือชั้นกว่านั้นก็คือ การเล่นกับความบังเอิญ เพื่อชี้ให้เห็นว่า ทำไมคำประกาศว่าจะฆ่าล้างแค้นที่ใครต่อใครทั่วทั้งเมืองต่างรู้ล่วงหน้ากันดีอยู่แล้ว แต่ตัวละครที่ตกเป็นเหยื่อการฆาตกรรมกลับไม่ระแคะระคายได้อย่างน่าประหลาด (และสมควรตาย)


โดยทั่วไปแล้ว การผูกเงื่อนปมดำเนินเรื่องให้มีความบังเอิญ ถือเป็นข้อห้ามที่นักเขียน (รวมถึงการเขียนบทหนังด้วยนะครับ) ต่างพากันหลีกเลี่ยง เพราะมีโอกาสสูงยิ่งที่จะทำให้เรื่องราว “ขาดความน่าเชื่อถือ” และดูจะเป็นการหาทางออกที่ “ตื้นเขิน” และ “มักง่าย” แต่มาร์เกซก็พิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่มีอะไรเป็นกฎหรือข้อห้ามที่แท้จริงในการสร้างสรรค์งานศิลปะ ถ้าหากฝีมือถึงขั้นจริง ๆ สิ่งที่เป็นข้อห้ามหรือจุดอ่อนจุดด้อย ก็สามารถหยิบมาพลิกผันให้กลายเป็นจุดแข็งจุดเด่นได้เหมือนกัน


“หมายเหตุฆาตกรรม” เต็มไปด้วยการเล่นกับความบังเอิญอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งกลายเป็นการถักทอเรื่องราวลวดลายที่มหัศจรรย์และน่าทึ่งมาก มิหนำซ้ำยังยิ่งก่อให้เกิดความสะเทือนอารมณ์เหลือเกิน เมื่อผู้อ่านรับทราบความเป็นไปต่าง ๆ พร้อมกับตัวละครอื่น ๆ แต่ท้ายที่สุดอาชญากรรมเหตุร้ายก็ยังคงเกิดขึ้น (ทั้ง ๆ ที่โดยความน่าจะเป็นและโอกาสนั้นมีน้อยนิด แต่มาร์เกซก็ร้ายกาจมากในการนำพาเรื่องราวที่มี “ความน่าจะเป็น” เกือบเท่ากับศูนย์ ให้อุบัติขึ้นได้อย่างเหลือเชื่อ ทว่าก็เต็มไปด้วยความน่าเชื่อถือหนักแน่นสมจริงอย่างยิ่ง)


ตรงนี้ล่ะครับที่ผมว่าน่าอัศจรรย์มาก เพราะปกติแล้วความบังเอิญมักทำให้ดูไม่น่าเชื่อ แต่วิธีการเขียนของมาร์เกซ (ซึ่งหยิบยืมรูปแบบในท่วงทำนองของรายงานข่าวมาใช้อยู่หลายบทหลายตอน) ก็กลับทำให้เรื่องที่เต็มไปด้วยความบังเอิญอย่าง “หมายเหตุฆาตกรรม” มีน้ำหนักสมจริง กระทั่งสมมติว่าถ้ามีใครมาบอกผมว่า นี่คือเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นจริง ผมก็พร้อมจะเชื่ออย่างสนิทใจทันที


ความเหนือชั้นของมาร์เกซใน “หมายเหตุฆาตกรรม” นั้น ผมรู้สึกของผมเองนะครับว่า เขาเนรมิตดลบันดาลสิ่งต่าง ๆ ได้ดั่งใจราวกับเป็นพระเจ้า คอยกำหนดควบคุมความเป็นไปทั้งหมดบนโลก


อ่านแล้วก็ต้องกราบกันงาม ๆ ด้วยความคารวะในฝีมือระดับ “เหนือมนุษย์” กันเลยทีเดียว


(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ “เขียนคาบเส้น” –ยุคแนะนำหนังสือ-ในการเผยแพร่ครั้งนี้ มีการแก้ไขขัดเกลาบ้างเล็กน้อย)

ลูกสาวกาลิเลโอ โดย "นรา"


พูดแบบย่นย่อรวบรัดที่สุด หนังสือเรื่อง Galileo’s Daughter (ฉบับแปลภาษาไทยใช้ชื่อว่า “ธิดากาลิเลโอ”) มีเนื้อหาว่าด้วยการบอกเล่าชีวประวัติของกาลิเลโอ ได้อย่างละเอียดถี่ถ้วนจนใกล้เคียงกับคำว่าสมบูรณ์แบบ


หนังสือเล่มนี้เขียนโดยเดวา โซเบิล (ผมสะกดตามหนังสือฉบับแปลภาษาไทยนะครับ เพราะถ้าผมเจอะเจอแล้วสะกดเองตามลำพัง ก็คงออกมาเป็น “ดาวา โซเบล” เนื่องจากชื่อภาษาอังกฤษของเธอคือ Dawa Sobel) อาชีพหลักของเธอก็คือ การเขียนบทความทางวิทยาศาสตร์ให้แก่นิตยสารชั้นนำหลาย ๆ ฉบับ และประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับ ด้วยการได้รางวัลต่าง ๆ มากมาย


โซเบิลสนใจหลงใหลเรื่องราวของกาลิเลโอมาตั้งแต่วัยเด็ก และบรรลุเป้าหมายความใฝ่ฝันด้วยงานเขียนชิ้นสำคัญอย่าง Galileo’s Daughter ซึ่งเกิดจากการค้นคว้ารวบรวมข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจดหมายจำนวน 124 ฉบับ ที่แม่ชี มาเรีย เซเลสต์ ลูกสาวคนโตของกาลิเลโอ เขียนถึงพ่อของเธอ


เดวา โซเบิลเรียบเรียงเรื่องราวของกาลิเลโอออกมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ และแสดงให้เห็นถึงความขยันขันแข็งในการค้นคว้า รวมทั้งความเก่งกาจในการ “เล่นกับข้อมูล” ไม่เพียงแต่จะบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของกาลิเลโอเอาไว้ค่อนข้างครอบคลุมทุกแง่ทุกมุมเท่านั้น ทว่ายังสามารถอธิบายให้เห็นถึงขั้นตอนต่าง ๆ เกี่ยวกับแนวความคิดและการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องราวในเชิงวิชาการที่ซับซ้อน ให้กลายเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ผู้อ่านสามารถติดตามได้อย่างเข้าอกเข้าใจ


นี่ยังไม่นับรวมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยข้อมูลหลักฐาน ซึ่งทำให้หลายเรื่องที่เรา ๆ ท่าน ๆ เคยคิดว่า “รู้” กลายเป็นเรื่องแปลกใหม่ราวกับเพิ่งเคยผ่านตาเป็นครั้งแรก รวมทั้งหลายอย่างที่เชื่อฝังใจไขว้เขว ก็ได้รับการปรับแก้เสียใหม่ให้ถูกต้องยิ่งขึ้น ด้วยรายละเอียดของหลักฐานอันน่าเชื่อถือ (ยิ่งกว่า)


ที่น่าทึ่งก็คือ ลีลาการเขียนที่กระชับฉับไวและมีชีวิตชีวา นอกจากจะทำให้ประวัติชีวิตอันดูเหมือนจะเต็มไปด้วยความหนักอึ้งตึงเครียดของกาลิเลโอ กลายเป็นเรื่องชวนอ่านชวนติดตามอย่างยิ่งแล้ว โซเบลยังเก่งกาจในการค่อย ๆ โน้มน้าวดึงอารมณ์ของผู้อ่าน ให้เกิดความรู้สึกร่วมคล้อยตามเรื่องราวเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด จนมีคำวิจารณ์เมืองนอกบางชิ้นยกย่องว่า โซเบิลเขียนได้ดีมากกระทั่งผู้อ่านแทบจะได้ยินน้ำเสียงสำเนียงของกาลิเลโอเลยทีเดียว


ใครที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว คงจะทราบดีว่าไม่ใช่คำสรรเสริญเยินยอที่เกินจริง เพราะโซเบิลเลือกใช้ถ้อยความในจดหมายของมาเรีย เซเลสต์, กาลิเลโอ รวมถึงบุคคลต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องห้อมล้อมได้อย่างชาญฉลาดและเนียนมาก จนหลายบทหลายตอนให้ความรู้สึกใกล้เคียงกับการสนทนาโต้ตอบพูดคุยกันในนิยายหรือเรื่องแต่ง


ความยอดเยี่ยมประการถัดมาก็คือ นอกจากจะแจกแจงเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของกาลิเลโอได้อย่างถึงพร้อมแล้ว งานเขียนชิ้นนี้ยังไปได้กว้าง ไกล และลึกซึ้งกว่านั้น โดยสาธยายให้เห็นถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ทางสังคมทั้งในกรุงโรม ฟลอเรนซ์ ละแวกแถบถิ่นชนบท รวมถึงชีวิตปิดล้อมในสำนักนางชี


นี่ยังไม่นับรวมรายละเอียดเบื้องลึกทางการเมืองในอิตาลีและประเทศใกล้เคียง ความเป็นไปสารพัดเหตุการณ์ในแวดวงศาสนา การเกิดโรคระบาดร้ายแรงที่คร่าชีวิตผู้คนไปหลายสิบล้าน ตลอดจนบรรยากาศทางวิชาการในหมู่เหล่าปัญญาชนสมัยนั้น


พูดง่าย ๆ ก็คือ อ่านแล้วก็สามารถจินตนาการเห็นภาพ บรรยากาศ ตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของ “ยุคกลาง” ในยุโรปได้อย่างแจ่มชัด ราวกับเดินทางย้อนเวลาไปด้วยตนเอง


ที่สำคัญคือ ประเด็นว่าด้วยความเชื่อ ศรัทธา และความรัก ซึ่งนำเสนอออกมาได้อย่างซาบซึ้งตรึงใจและสะเทือนอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ภาพของกาลิเลโอทั้งในฐานะนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ และในฐานะมนุษย์ปุถุชนที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ผ่านร้อนผ่านหนาว เจอะเจอความสำเร็จ พบความล้มเหลว กระทำสิ่งถูกต้องและก่อข้อผิดพลาดเอาไว้ครบถ้วน


เหนือสิ่งอื่นใดคือ ความผูกพันห่วงใยอันล้ำลึกระหว่างกาลิเลโอกับลูกสาว ซึ่งเป็นแง่มุมที่น่าประทับใจมากสุดในงานเขียนชิ้นนี้


ผมได้ยินชื่อเสียงเรื่องราวของกาลิเลโอมาตั้งแต่สมัยเรียนตอนเด็ก ๆ ทว่าหลังจากอ่าน Galileo’s Daughter จบลง ผมคิดว่าเพิ่งเริ่มต้นทำความรู้จักเรื่องราวในชีวิตกาลิเลโออย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก และพบว่าที่ผ่าน ๆ มานั้นเป็นความ “ไม่รู้” ที่ว่างเปล่าเหลือเกิน

หมายเหตุ

หนังสือเรื่อง “ธิดากาลิเลโอ” พิมพ์ออกมาเมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว น่าแปลกอยู่เหมือนกันคือ ผมเจอะเจอในร้านหนังสือแห่งหนึ่งแล้วซื้อมา ถัดจากนั้นก็ไม่เคยพบเห็นวางขายที่ไหนอีกเลย
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขออนุญาตลงที่อยู่ของสำนักพิมพ์ไว้ ณ ที่นี้ สำหรับท่านที่สนใจจะได้สามารถติดตามถามไถ่สั่งซื้อกันนะครับ
สำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์ม 104/5 ถนนเชียงใหม่-ฮอด หมู่ 7 ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 52000 โทรศัพท์ 053-271889 โทรสาร 053-275178 e-mail : silkworm@loxinfo.co.th


(เขียนเมื่อประมาณปี 2547 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ “เขียนคาบเส้น” ยุคหลัง ใน Metro Life ซึ่งเป็นเซ็คชันที่พ่วงมากับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันเสาร์ เดิมผมใช้ชื่อคอลัมน์นี้ เพราะกำหนดเนื้อหาเอาไว้ว่าจะเป็นเช่นเดียวกับ “เขียนคาบเส้น” ยุคแรก แต่ทำไปทำมา ผมเกิดเบื่อขึ้นมาเสียเอง จึงกลายมาเป็นคอลัมน์ประเภทแนะนำหนังสือไปโดยปริยาย ในการเผยแพร่ครั้งนี้ ผมแก้ไขเฉพาะคำที่สะกดผิด ที่เหลือคงไว้ตามเดิม)

วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

พจนานุกลมฉบับเหลี่ยม โดย "นรา"


จู่ ๆ ผมเกิดนึกเบื่อ ๆ การทำตัวไร้สาระเป็นพวก “อวิชาการ” ขึ้นมาฉับพลัน ก็เลยอยากทำอะไรให้ประเทืองปัญญา (โดยไม่เกี่ยวข้องกับคนชื่อ “ประเทือง” และคนชื่อ “ปัญญา”) ดูบ้าง


คิดอยู่หลายอย่าง เริ่มตั้งแต่เดินสายต่างจังหวัดสาธิตนโยบาย “จะใช้เงิน 73, 000 ล้านบาทให้หมดเกลี้ยงอย่างไรภายใน 7 วัน” แต่เนื่องจากไม่มีโทรทัศน์ช่องไหนมาถ่ายทอดสดให้เป็น “เรียลลิตี้โชว์” ตี๋ตัวจริงหรือ “เรียลลิตี๋” อย่างผมจึงเกิดอาการจ๋อยไปแบบไม่ประสงค์จะออกเงิน (จ่ายภาษี แหม พูดแล้วเขินครับ) แต่อยากออกนามและอยากได้หน้า


กิ๊กกะโปรเจคท์ถัดมาคือ เขียนบทความขนาดยืดและยาวและย้วยผสมยื้อเรื่อง “119 หนังที่แนะนำให้นายกรัฐมนตรีดู” แต่อ่านข่าวหนังสือพิมพ์พบว่า หมู่นี้ท่านไม่ค่อยว่าง ต้องเดินทางไปต่างจังหวัดในจังหวัดต่าง ๆ เกรงว่าเขียนไปแล้ว ท่านไม่มีเวลาดู ก็จะเสียเที่ยว เข้าข่าย “ตำแม่น้ำละลายน้ำพริก” ไปเสียเปล่า ๆ


คิดไปคิดมา กระทั่งขี้นกตกหล่นใส่หัว ผมก็เกิดอาการโป๊ะเชะ มีแรงจูงใจที่จะจูงมือตัวเองเขียน “พจนานุกลมฉบับเหลี่ยม” ขึ้นมาอ่านเล่น ๆ ประมาณว่าดีกว่าอยู่เปล่า ๆ สมดังภาษิตจีน “เจียะป้าบ่อสื่อ” (แปลว่า “กินอิ่มแล้วไม่มีอะไรทำ”)


ถ้อยคำทั้งหมดและความหมายที่ให้ไว้ ไม่มีนัยยะแอบแฝง ไม่เกี่ยวกับการเมือง ไม่ได้เจาะจงจะระบุพาดพิงถึงใครคนหนึ่งคนใดทั้งสิ้น ผมมั่วผมถั่วผมแถไถลไปเรื่อยเปื่อย ไม่ได้เรียงลำดับตามตัวอักษร รวมทั้งยังปราศจากหลักเกณฑ์ทางด้านไวยากรณ์ แกรมม่า และแกรมมี่มารองรับ

เรื่องทั้งหมดก็เป็นหยั่งงี้แหละครับท่านสารวัตร

พจนานุกลมฉบับเหลี่ยม


กุ๊ย – พวกที่ชอบมาบอกให้เราไม่สบายใจ รำคาญใจว่า “กิ๊ว ๆ หน้าไม่อาย”

ลูกโอ๊ค - เกิดจากต้นโอ๊ค เป็นที่มาของสำนวน “ลูกโอ๊คหล่นไม่ไกลต้น”

จิ๊บจ๊อย - จำนวนค่าปรับอันน้อยนิด ถ้าท่านเป็น “ลูกโอ๊คหล่นไม่ไกลต้น”

ยุบสภา - คำแปลภาษาไทยของชื่อเพลง I Started a Joke (ร้องโดยวงบีจีส์)

บริติช เวอร์จิ้น - เกาะที่ร่ำลือกันว่าเป็นแหล่งฟอกเงิน

การเลือกตั้ง – กระบวนการที่ร่ำลือกันว่าเป็นวิธีฟอกตัว (ไม่เกี่ยวกับการเมืองนะครับ เป็นเรื่องของสุขอนามัยล้วน ๆ เลย)

ถอยสองก้าว - ความเคลื่อนไหวก่อนเตะลูกจุดโทษ ซึ่งฝ่ายตรงข้ามเสียเปรียบทุกวิถีทาง มิหนำซ้ำลูกจุดโทษที่ได้ กรรมการยังเป่าเข้าข้างจนน่าเกลียด

ระบบผูกขาดอำนาจ - กับดักที่คนวางกลายเป็นฝ่ายติดกับเสียเอง

เด็กนาย - ผู้ใหญ่ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ไม่เป็นตัวของตัวเอง ต้องอิงแอบพึ่งพาผู้อุปถัมภ์ค้ำจุน จึงต้องมีคำว่า “เด็ก” นำหน้า “นาย” อีกที สามารถใช้ได้กับบุคคลทั้ง 2 เพศ


Get Out!!! - คำที่คนชอบพูดไทยปนอังกฤษบางคนฟังแล้วไม่ get

ขาประจำ - ขาข้างที่อาภัพ มักจะโชคร้ายดวงซวยเหยียบขี้หมาอยู่เป็นประจำ

ทำเนียบรัฐบาล - สถานที่ต้องห้ามสำหรับคนใจไม่ถึง

19 ล้านเสียง - จำนวนตัวเลขที่ในทางคณิตศาสตร์ สามารถคำนวณไปคำนวณมาแล้วได้ผลลัพธ์เท่ากับ “หนึ่งเสียงที่ก้าวร้าว”

ไอทีวี (ITV) - โทรทัศน์ที่ป่วยเป็นหวัด มีอาการไอและเจ็บคอเรื้อรัง จนกระทั่งพูดความจริงได้ไม่ค่อยเต็มปากเต็มคำ

เฮียเครียด - เดิมทีเป็นฉายาของโชเซ่ มูริญโญ่ ผู้จัดการทีมฟุตบอลเชลซี บุคลิกก้าวร้าว ปากร้าย ยะโสโอหัง ไม่ค่อยมีน้ำใจนักกีฬา ถนัดในการพูดจาทิ่มแทงสร้างศัตรูไปทั่วทุกสารทิศ ปัจจุบันเป็นฉายาของเฮียเครียดอีกคน (ซึ่งเป็น “คนที่คุณก็รู้ว่าใคร”)

คนที่คุณก็รู้ว่าใคร - ฉายาของตัวละครในนิยายเรื่อง Harry Potter (ซึ่ง “ใครก็รู้ว่าคุณ” เป็นคนเขียนคำนิยม) เป็นจอมมารชั่วร้าย น่าสะพรึงกลัว น่ารังเกียจ ส่วนในชีวิตจริงจะหมายถึงใครนั้น กรุณาเดากันเอาเอง

ทรท. - แปลว่า “เท่งรักเท่ง” (หรือ “ทื่อรักทื่อ” ก็ได้) นะครับ อันนี้เป็นชื่อไทยที่ผมคิดเล่น ๆ ให้กับหนังเรื่อง Brokeback Moutain ไม่เกี่ยวกับการเมืองเลยจริง ๆ

ลาออก - ลาเป็นสัตว์สี่เท้าชนิดหนึ่ง รูปร่างคล้ายม้าแต่ตัวเล็กกว่า ในนิทานอีสป มันซื่อบื้อถึงขนาดกินแต่น้ำค้าง จนอดตาย เพราะอยากมีเสียงไพเราะเหมือนจิ้งหรีด ส่วนในนิทานอีแสบ (ผมยืมชื่อนี้มาใช้จากคุณวินทร์ เลียววาริณ โดยไม่ได้รับอนุญาตและละเมิดลิขสิทธิ์เต็ม ๆ เลย) หมายถึงคนฉลาดที่ไม่กินน้ำค้าง แต่กินทุกอย่างที่ขวางหน้าแบบมูมมาม โดยผ่านวิธีการยอกย้อนซับซ้อนมาก จนท้ายที่สุดก็ดูไม่ค่อยฉลาด ส่งผลให้โหงวเฮ้งของ “ลา” ค่อย ๆ ปรากฏ “ออก” สู่สายตาประชาชน ต่อมาความหมายเพี้ยนเป็น “ลายออก” หรือ “ออกลาย” เรียกแบบลูกทุ่ง ๆ เป็นไทย ๆ ได้อีกอย่างว่า “ควายเข้าฉาก”

ปากพล่อย – อาการ ”หลุด” หรือ “ลาออก” หรือ “ออกลาย” ทางวาจา หลุดทีไรเสียฟอร์มและเสียสุนัขทุกที

ชาติหน้าตอนสาย ๆ - ศัพท์ใหม่ในวงการธรรมะ และวงการไอที แปลว่า “เวรกรรมตามทันแบบออนไลน์ไฮสปีด”

ง่าว - แปลแบบเอาสีข้างเข้าถูคือ กุ๊ยที่ไม่ยอมปฏิบัติตนเป็นกองเชียร์ แต่แปลแบบจริง ๆ หมายถึง คนที่ยิ่งกว่าโง่ และมีคุณสมบัติเหมาะจะเป็นพระเอกมิวสิควิดีโอเพลง “ช่างไม่รู้อะไรบ้างเลย” เวอร์ชั่นใหม่ได้อย่างสบาย ๆ

เสียสละ - แปลตรงตัวตามถ้อยคำทุกประการ ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่คนบางคน (โปรดดูคำแปลความหมายที่ 2 ของคำว่า “ง่าว”) ดันไม่ค่อยเข้าใจ และคิดไปว่าเป็นคำย่อของใจความเต็ม ๆ ที่ว่า “ต้องเสียต้องจ่ายเท่าไหร่ล่ะ ถึงจะได้อยู่ในตำแหน่งต่อไปนาน ๆ”

สภาโจ๊ก - 1. ชื่ออย่างเป็นทางการของวงการตลก 2. ศูนย์อาหารที่ขายเฉพาะโจ๊ก 3. เละตุ้มเป๊ะ

ภาษีเงินได้ - สิ่งของที่ไม่เสีย ไม่ต้องระบุวันหมดอายุ และไม่ต้องจ่ายถ้าซื้อขายกันในตลาด (อะไรผมเองก็ไม่ทราบ) แต่ที่น่าแปลกคือ ถ้าซื้อขายกันในตลาดสด กลับกลายเป็นว่า “เสีย” แฮะ

กลต. - คำย่อของเนื้อเพลงฮิตในอดีตท่อนหนึ่งที่ว่า “เก้าล้านความระกำ ช้ำชอกใจที่เธอทำไว้นั่น ฉันเค้นมันกลั่นออกเป็นน้ำตา”

ยึดทรัพย์ - ผลข้างเคียงของการ “ยัด” แบบไม่บันยะบันยัง ซึ่งภาษาวัยรุ่นเรียกว่า “ซึบ” (เพี้ยนเสียงมาจากคำว่า “ซุก” อีกที เพื่อให้สามารถผวนได้)

อัครดีล - แปลว่า “อัคร-ยำ” และมีนัยยะพาดพิงไปถึง “ไอ้คนระยำ” แต่เนื่องจากเป็นภาษาที่ไม่ค่อยสุภาพ จึงนิยมใช้ “อัคร-ยำ” มากกว่า

ผลประโยชน์ทับซ้อน -“ทับ” นี่น่าจะหมายถึงกด “ซ้อน” นี่เดาว่าน่าจะกดหลายที (หรืออาจจะกดโดยหลายคนเป็นหมู่คณะ) จึงสันนิษฐานว่าอาจเป็นที่มาของคำว่า “กฎหมู่” ส่วนผลประโยชน์นี่น่าจะหมายถึง สิ่งที่ทำแล้วมีความสุข รวม ๆ กันแล้ว เอ๊ะ นี่มันแปลว่า “ข่มขืน” นี่หว่า

กฎหมู่ - ดูคำว่า “ผลประโยชน์ทับซ้อน”

กติกา - แปลว่า กติกู

กติกู - กฎ กติกา มารยาทที่พวกกุ๊ย “กะติกู” ตั้งแง่หาเรื่องจับผิดไปหมด คนเราจะไม่มีอะไรดีบ้างเลยหรือไง หือ?

เนวิน - นามสกุลของกัปตันทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งแฟน ๆ ลิเวอร์พูลในเมืองไทยเรียกว่า “ยี้ห้อย” บ้าง “ลูกกะเป๋ง” บ้าง โอ๊ะ ขอโทษอีกทีครับ คำสะกดที่ถูกต้องควรจะเป็น “เนวิลล์” แต่ไหน ๆ ก็ผิดไปแล้ว เลยตามเลยก็แล้วกัน ส่วนชื่อหน้าของเขาคือ แกร์รี (ซึ่งแฟนหงส์นินทาว่า มาจาก “scary” ที่แปลว่า “น่าเกลียด น่ากลัว”) ได้ชื่อว่าเป็นนักฟุตบอลที่ขี้เหร่ที่สุดในอังกฤษและที่บุรีแรม (อันนี้อยู่ตรงไหนผมก็ไม่รู้เหมือนกัน)

กุนซือ - เดิมทีแปลว่า “ที่ปรึกษา” ล่าสุดมี 2 ความหมายเพิ่มเติมคือ “ตุ๊กตาเสียกะบาล” และ “ผีหัวขาด”

จริยธรรม - คำที่กุ๊ยถามถึง แต่คนง่าว (ในความหมายที่ 2) ดันไม่รู้จัก และไม่เคยมีอยู่ในตัว

กร่อย - รสชาติของโจ๊กสำเร็จรูปยี่ห้อใหม่ ซึ่งจะวางจำหน่ายทั่วประเทศในวันที่ 2 เมษายน

ปากกล้า ขาสั่น - อาการปกติของคนที่กินแบบไม่สำรวม (คือ กินไป กระดิกเท้าเขย่าขาไปเรื่อย)

บันได - สิ่งที่คนง่าว (ในความหมายที่ 2) ใช้ไม่เป็น

ม็อบ - ถ้าเชียร์เราเรียกว่าผู้สนับสนุน ถ้าไล่เราเรียกว่าผู้ก่อความวุ่นวาย

ประชานิยม - ของแท้ได้แก่ละครเกาหลีเรื่อง “แดจังกึม” ส่วนของปลอมนั้นหาดูได้ทั่วราชอาณาจักร

เว้นวรรค - การเว้นที่ว่างหรือช่องไฟระหว่างประโยคเวลาเขียนหนังสือ แต่สำหรับบางคนอาจมีค่าเท่ากับเครื่องหมายในภาษาอังกฤษที่เรียกว่า จุดฟุลสต๊อป

เหลี่ยมจัด - รูปทรงเรขาคณิตแบบหนึ่ง ที่ได้รับการออกแบบมาเป็นอย่างดี ใครที่คาดเดาเข้าใจว่าจะหมายถึง เทคนิคในการซื้อขายหุ้นให้ได้กำไร ไม่ต้องจ่ายภาษี หรือทำนายว่าจะพาดพิงถึงรูปลักษณ์หน้าตาของคนโน้นคนนี้ เสียใจด้วยครับ เดาผิดทั้งเพ การให้ความหมายไม่อยู่กับร่องกับรอยเช่นนี้ วงการฟุตบอลเรียกว่า “สับขาหลอก” ซึ่งแปลว่า “เหลี่ยมจัด” ได้อีกเหมือนกัน

นายหญิง - หลังบ้าน

หลังบ้าน - นายหญิง

นายหญิง - บ๊ะ! ก็แปลไปแล้ว ยังสงสัยกันอยู่ได้ รู้ ๆ กันอยู่คนเราก็ต้องกลัวเมียกันบ้าง ใครจะไปกล้าแปล ปัดธ่อ!

ซุกหุ้น - กิจกรรมที่ทำแล้วเกิดผลปนเป “ทั้งซุกทั้งถุก” ว้า!!! เขียนผิด “ทั้งทุกข์ทั้งสุข” วงการมะพร้าว วงการมวย วงการหมวย วงการตี๋ วงการเข้าคิวซื้อโรตีบอย และวงการพระเครื่องให้นิยามไว้ว่า “กรรมอันเป็นบ่อเกิดแห่งทุกขลาภ”

ท้ากกกกกก...ษิณ- คำยอดฮิตมาแรงทั้งแซงทั้งซิ่งวิ่งฉิวไปทั่วทุกหัวระแหง แปลง่าย ๆ ว่า “ออก…ไป”

ท้ากกกกกก...ษิณ - คำที่วงการนักเลงโวแข็บ (vocab) ทั่วโลก คาดว่าจะได้รับความนิยมตามคอนเสิร์ตแทนคำว่า “Encore” นั่นคือ ลึก ๆ แล้วมันกระตุ้นเร้าให้ผู้ได้ยินนึกโดยพร้อมเพรียงว่า “เอาอีก” ว่าแล้วก็ “ท้ากกก…ษิณ….ออก…ไป”

ท้ากกกกก...ษิณ - สภาวะซ้ำ ๆ ที่เกิดขึ้นได้ไม่รู้จบ เช่น “ท้ากกกก…ษิณ…ออก…ไป…ท้าก…ษิณ…ออก…ไป…ท้าก…ษิณ…ออก…ไป” ฯลฯ




(เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2549 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "มนุษย์ไร้สาระวีหนึ่ง" เว็บไซต์โอเพนออนไลน์ ในการเผยแพร่คราวนี้ ผมปล่อยทุกอย่างคงไว้ตามเดิม โดยไม่ได้แก้ไข หลาย ๆ คำจึงอาจจะพ้นยุคไปบ้าง)






วันเสาร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ซีรีส์ฝรั่ง โดย "นรา"


ช่วงนี้ผมกำลังติดซีรีส์หนังฝรั่งงอมแงมเหนียวหนึบ

จริง ๆ แล้วก็เคยรับรู้และได้ยินกิตติศัพท์คำร่ำลือว่าสนุกเจ๋งเป้งมาเนิ่นนาน แต่ผมนั้นเป็นเด็ก “เรียนเลว ฐานะยากจน” ไม่มีปัญญาสมัครเป็นสมาชิกเคเบิลทีวี จึงเชยแหลกล่าช้าอดดูมาร่วมสิบปี เวลาพรรคพวกเพื่อนฝูงคุยกันถึงซีรีส์ใหม่ ๆ ผมก็รู้จักอยู่แค่เรื่องเดียวคือ Friends ( มิหนำซ้ำยังรู้จักเฉพาะ seasons แรกอีกต่างหาก)

นี่เป็นปมด้อยรอยด่างทางด้านรสนิยมในการเสพงานบันเทิง ถึงขั้นทำให้ผมโตขึ้นมาเป็น “เด็กมีปัญหา” เป็นภาระแก่สังคมและประเทศชาติ
ปัญหาที่ว่านี่คือ ปัญหาเป็นเด็กหน้าแก่ แต่รสนิยมไม่อัพเดตนะครับ

พอได้ดูพวกซีรีส์ของฝรั่งเข้าจริง ๆ ผมก็มีคำแนะนำ 2-3 อย่าง สำหรับท่านที่ยังไม่เคยดู ถือเป็นข้อพึงระมัดระวัง หรือคำเตือน (ประเทศเรานี่มีคำเตือนเยอะนะครับ ตั้งแต่สลากยา เครื่องดื่มบำรุงกำลัง บุหรี่ สุรา ดีวีดี วีซีดี และรายการทีวี ฯลฯ)

คำเตือนอันดับแรกก็คือ ซีรีส์ของฝรั่งนั้น สนุกจริง ดีจริง แต่ก็อาจส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียง คล้าย ๆ เชื้อโรคดื้อยา คือ ทำให้ดูละครโทรทัศน์ของไทยไม่สนุก ทำให้ดูหนังฮอลลีวูดที่ฉายตามโรงไม่สนุก

เหตุผลนั้นง่าย ๆ ครับ คือ ตามกฎของป๋าดัน (ซึ่งสามารถมั่วนิ่มเรียกได้อีกอย่างว่า “ความกดดัน”) อะไรก็ตามที่มีรสชาติคล้ายใกล้เคียงกัน อันที่เข้มข้นจัดจ้านกว่า จะส่งผลให้อีกอันจืดกว่าไปโดยปริยาย เช่น กินทองหยอดฝอยทองก่อนซดกาแฟ จะส่งผลให้กาแฟ (ซึ่งเติมน้ำตาลประมาณสองช้อน) ปราศจากรสหวานไปทันที

แม้จะเป็นงานที่สร้างออกฉายทางทีวี (และล่าสุดขยายกิจการทำเป็นแผ่นดีวีดีด้วย) แต่ซีรีส์ฝรั่งก็มีมาตรฐานสูง ทั้งงานด้านการเขียนบท (ซึ่งรวบรวมมือเขียนบทชั้นดีจำนวนมาก) และงานสร้าง (ล่าสุดผมดูเบื้องหลังของซีรีส์เรื่อง Lost กล้องที่เขาใช้ถ่ายคือ กล้อง Panavision ซึ่งกระทั่งหนังไทยเรายังไม่มีปัญญาเช่ามาใช้เลยนะครับ)

คำเตือนถัดมาคือ การดูซีรีส์นั้นอาจส่งผลให้เกิดอาการเสพติด แย่งชิงเวลาในชีวิตไปเยอะ จะทยอยดูแบบเก็บเล็กผสมน้อยวันละนิดก็ทำได้ยาก เนื่องจากเริ่มต้นดูไปสักตอนสองตอน ก็หลุดเข้าสู่ภาวะ “หยุดไม่ได้” ต่อมอยากรู้อยากเห็นแผ่ซ่าน ต้องตะลุยดูรวดเดียวไปจนจบ กลายเป็น “หมีแพนด้ามีปัญหา” (หน้าแก่ แถมยังขอบตาดำคล้ำ)

ผมเจออาการติดงอมแงม รั้งไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ กู่ไม่กลับ และหลับไม่ลง จากการดูซีรีส์อย่าง Desperate House Wife, Lost และ Grey’s Anatomy พรรคพวกผมหลายคนดูแล้วเกิดอาการสนุกเร้าใจมาก ถึงขนาด “มือสั่น” ขณะเปลี่ยนแผ่นเพื่อติดตามตอนต่อไป (อีกเรื่องที่ร่ำลือกันว่าสนุกสาหัส จนเพื่อนแนะนำว่า ก่อนดูให้ซื้อผ้าอ้อมมาใส่ เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลาแวะเข้าห้องน้ำก็คือ 24)

ผลข้างเคียงประการสุดท้ายก็คือ บรรดาซีรีส์ทั้งหลายเมื่อติดเข้าให้แล้ว จะก่อให้เกิด
อาการทุรนทุรายกระวนกระวายใจ ระหว่างจบซีซั่น (ด้วยอารมณ์ค้างคา) และยังไม่มีซีซั่นใหม่ ๆ ออกมาให้ดู หรือไม่มีซีรีส์ดี ๆ ชุดอื่นให้ติดตาม

อีตอนนี้แหละครับ ชีวิตจะเคว้งคว้างว่างโหวงไร้จุดหมายถึงขีดสุด ยิ่งกว่าเลิกกับแฟนสามคนรวมกันเสียอีก (โวหารพาไปนะครับ ในชีวิตจริงผมน่าจะใช้เวลาเกิดใหม่สามชาติ เพื่อจะเลิกกับแฟนรวมแล้วให้ได้หนึ่งคน) จะเดินหน้าลุยต่อก็ไม่มีอะไรให้ดู (ยกเว้นว่า หันไปติดตามซีรีส์หนังเกาหลี ซึ่งผมยังไม่ได้ลงมือทำการทดลองว่าจะได้ผลอย่างไร) จะถอยหลังหันมาดูละครโทรทัศน์หลังข่าว ก็หันกลับไม่ค่อยถูกและไม่สนุกเหมือนที่เคยเป็น

ผมนั้นมีปัญหาส่วนตัวเพิ่มเติมในการดูซีรีส์อีกอย่างหนึ่ง (นอกเหนือจากปัญหาหน้าแก่) นั่นคือ ความจำสั้น จะให้ดูแบบคนอเมริกันที่ติดตามทีละตอนทีละสัปดาห์ก็ไม่ได้ เพราะจะลืมหมด จนต่อไม่ติด ต้องดูกันทีละซีซั่นเป็นอย่างต่ำ กระนั้นก็ยังเอาไม่อยู่ พอเว้นช่วงกลับมาดูซีซั่นถัดมา ผมก็ต้องหยิบเอาที่เคยดูมารื้อฟื้นใหม่จนหมด

ยกตัวอย่างเช่น (คำเตือน:ย่อหน้าต่อไปนี้อาจจะอ่านแล้วงง ผู้ปกครองโปรดพิจารณาและให้คำแนะนำแก่บุตรหลานด้วย) ผมดู Friends ปี 1 จบ พอจะเริ่มปี 2 ผมก็ต้องกลับไปดูปี 1 อีกครั้ง (งงหรือยังครับ) พอจะเริ่มปี 3 ผมก็ต้องย้อนดูปี 1 และปี 2 ทำอย่างนี้เรื่อยไปจนกระทั่งถึงปีที่ 10 ซึ่งทำให้ผมต้องวกกลับไปดูปีที่ 1 ถึง 10 เที่ยว (เอาล่ะ อ่านถึงตรงนี้ก็ควรจะงงได้แล้วนะครับ)

ที่แย่กว่านั้นก็คือ ผมเริ่มติดซีรีส์ (เพิ่งนึกได้ว่าลืมแปล “ซีรีส์” นี่เรียกกันง่าย ๆ ว่า “หนังชุด” นะครับ) พร้อม ๆ กันทีเดียวประมาณ 4-5 เรื่อง เมื่อดูจบแล้ว ก็เกิดอาการค็อกเทล คือนำเอาอันโน้นมาผสมกับอันนี้มั่วไปหมด

เวรกรรมมีจริงครับ ทุกอย่างเป็นไปตามที่แม่ค้าส้มตำผู้มีจิตใจธัมมะธัมโมแถวบ้านผมว่าไว้ (ส้มตำเจ้านี้มีสโลแกนประจำร้านว่า “ตำดีได้ดี ตำซั่วได้ซั่ว”) ผมดูซีรีส์แบบมั่ว ๆ เหตุการณ์จึงปนเปกันอีรุงตุงนัง กลายเป็นจับฉ่ายอีกเรื่องหนึ่ง ว่าด้วยกลุ่มแม่บ้านหมอฝึกหัดเครื่องบินตกไปติดอยู่บนเกาะร้างพิลึกพิลั่นที่อะไรก็สามารถเกิดขึ้นและเป็นไปได้หมด

อย่างไรก็ตาม ข้อดีของการดูซีรีส์ฝรั่งก็มีอยู่ ผมคิดว่างานกลุ่มนี้ เป็นแบบอย่างตำราชั้นดีในการฝึกฝนเกี่ยวกับ “วิธีการเล่าเรื่อง” ชนิด “ซัดคนดูอยู่หมัด” (ใครที่ใฝ่ฝันอยากทำงานเป็นคนเขียนบท ผมขอแนะนำให้ดูซีรีส์พวกนี้เยอะ ๆ)

จริง ๆ แล้วซีรีส์ฝรั่งนี่ก็น้ำเน่านะครับ เต็มไปด้วยฉากคุ้นเคยที่เห็นกันมานักต่อนักนับครั้งไม่ถ้วน พูดตรง ๆ ก็คือ ไม่ใช่งานสร้างสรรค์แปลกใหม่บริสุทธิ์ แต่ทีเด็ดทีขาดก็คือ การเล่นกับเรื่องเก่า ๆ ได้อย่างแม่นยำ รวมทั้งมีวิธีบิดวิธีพลิกผันฉีกออกไปจนเหนือความคาดหมาย (ตรงตามหลักการของหลวงพ่อวิลเลียมส์ โกลด์แมน มือเขียนบทชั้นครู ซึ่งกล่าวถึงเคล็ดลับในการสร้างตอนจบชั้นดีเอาไว้ว่า “ควรจบในแบบที่ผู้ชมอยากเห็น แต่ด้วยวิธีการที่พวกเขานึกไม่ถึง”) ซีรีส์ดัง ๆ ของฝรั่ง ล้วนเต็มไปด้วยอะไรทำนองนี้อยู่ตลอดเวลา

จะเป็นข้อดีหรือข้อเสียก็ไม่รู้นะครับ ระหว่างดูซีรีส์เหล่านี้ นอกเหนือจากดูเพื่อความบันเทิงและทรมานสังขารตนเองแล้ว ถ้ามีโอกาสสิ่งหนึ่งซึ่งผมพยายามทำอยู่เสมอก็คือ ทำใจเป็นคนเขียนบท สมมติล่วงหน้าว่าตรงนี้ควรจะคลี่คลายอย่างไรต่อไป พูดง่าย ๆ คือ เล่มเกมทายใจคนเขียนบท

เกมนี้ ผมเดาถูกเป๊ะ ๆ ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ คาดเดาได้คร่าว ๆ ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ว่าประเดี๋ยวเรื่องจะต้องมาถึงแนว ๆ นี้ ส่วนอีก 50 เปอร์เซ็นต์ผิดกระจุยกระจาย

พูดแบบให้ตัวเองดูดี ผมคิดว่านี่เป็นการดูเพื่อให้รู้เท่าทัน แต่พูดแบบให้ฟังดูเลว จะเรียกว่ามันเป็นอาการฟุ้งซ่านของคนที่กินอิ่มแล้วไม่มีอะไรทำก็ได้เช่นกัน

รายงานเชิง “อวิชาการ” เรื่องเอาซีรีส์มาขายสวน สอนจระเข้ให้ไปเที่ยวฟาร์มจระเข้ (เพื่อหาเงินค่าเรื่องสำหรับดูซีรีส์อื่น ๆ) ก็จบลงเพียงเท่านี้ ผมได้ยินมาแว่ว ๆ ว่าซีรีส์เรื่อง nip/tuck และ Veronica Mars ก็น่าดูไม่หยอก ต้องรีบไปหามาดูซะหน่อย





(เขียนเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2550 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ Romantic Comedy นิตยสาร Hamburger)

วันพุธที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

เรียงความในใจเรื่อง "ดินสอแท่งนั้น" โดย "นรา"



หลายปีมาแล้ว ผมเคยได้รับของขวัญชิ้นหนึ่ง


สำหรับผม นั่นคือของขวัญที่น่าประทับใจมาก ๆ


มันเป็นดินสอไม้ธรรมดา ไม่มีอะไรหรูหราพิศดาร ราคาค่างวดนั้น ถ้าพิจารณาจากรูปร่างหน้าตาภายนอก ก็พอจะคาดเดาได้ทันทีว่า ไม่น่าจะเกินสิบบาท


แต่ดินสอแท่งนั้นก็มีผลสะเทือนใหญ่หลวงต่อความคิด และความเชื่อในการทำงานของผมมาจนกระทั่งทุกวันนี้


หรือจะพูดให้ฟังดูขรึมขลังอลังการไปไกลก็ต้องบอกว่า รวมถึงการใช้ชีวิตของผมด้วย


ผมเองก็เชื่อชนิดปักแน่นฝังลึกเสียด้วยสิ ว่ามันเป็นไปได้ถึงเพียงนั้นจริง ๆ


สิ่งที่ทำให้มันแตกต่างจากดินสอทั่วไป มีอยู่เพียงประการเดียว


สิ่งที่ทำให้มันกลายเป็นของขวัญอันล้ำค่า มีอยู่เพียงประการเดียว


สิ่งที่ทำให้ผมจดจำมันได้ไม่รู้ลืม มีอยู่เพียงประการเดียว


สิ่งนั้นคือ ตัวอักษรข้อความสั้น ๆ แปดพยางค์ ที่พิมพ์ประทับไว้ตรงแนวขวางของด้ามดินสอ


เป็นข้อความที่เขียนไว้ว่า "ดินสอแท่งนี้ไม่มียางลบ"


ผมใช้ดินสอแท่งที่ว่าหมดไปนานแล้ว


แต่ละครั้งที่ใช้มันเป็นเครื่องมือในการเขียน ผมอดไม่ได้ที่จะหยิบยกขึ้นมาอ่านดูข้อความดังกล่าวอยู่บ่อย ๆ


พร้อมทั้งถือวิสาสะคิดในใจว่า น่าจะเพิ่มเติมถ้อยคำเข้าไปอีกสักนิดเป็น "อย่าเขียนอะไรผิด ๆ ดินสอแท่งนี้ไม่มียางลบ"


จากนั้นมันก็โน้มน้าวหว่อนล้อมให้ผมลงมือเขียนทีละตัวอักษรอย่างช้า ๆ ด้วยความระมัดระวัง พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะเขียนให้ "ไม่ผิด"


เพราะดินสอแท่งนี้ไม่มียางลบ


ใช้บ่อย ๆ เข้า ความระมัดระวังของผมก็แตกขยายเพิ่มพูน ไม่ได้กวดขันเข้มงวดกับตนเองเฉพาะแค่การเขียนสะกัดตัวอักษรให้ถูกต้องเท่านั้น แต่ยังรวมความครอบคลุมไปสู่การลำดับเนื้อความก่อนหลังให้ชัดเจนไม่สับสน จนถึงประเด็นความคิดทัศนะต่าง ๆ ที่ปรากฎในงานเขียน


พูดให้ชัดก็คือ ไม่ได้ระมัดระวังแค่ความถูกต้องแม่นยำในข้อเขียนหรือคุณภาพของเนื้องานเท่านั้น แต่ยังต้องระมัดระวังมิให้ผิดพลาดฉกาจฉกรรจ์


ความผิดพลาดในที่นี้ผมหมายถึง อะไรก็ตามที่จะส่งผลลบเป็นโทษต่อผู้อ่าน เป็นการทำลายมากกว่าสร้างสรรค์ และนำพาความเดือดร้อนเสียหายสู่ส่วนรวม


ถึงกระนั้น ในการทำงานเขียนทุกชิ้น ผมก็ยังเขียนผิดสะกดผิด เต็มไปด้วยการขีดฆ่าแก้ไขโยงใยไปมามากมาย จนใครผ่านมาพบเห็นเข้าอาจเวียนหัวตาลายไปกับความยุ่งเหยิงไร้ระเบียบได้ไม่ยาก


ขนาดกำชับตักเตือนตนเองให้เขียนด้วยความระมัดระวังแล้ว ผมก็ยังผิดได้มากได้บ่อย สาเหตุอาจจะเพราะอาการใจลอยขาดสมาธิ บางครั้งก็เนื่องมาจากความรู้ยังไม่แตกฉานเท่าที่ควร บางครั้งก็เลินเล่อเพราะเงื่อนไขกระชั้นชิดทางด้านเวลาบีบบังคับให้ต้องรีบเร่ง จนทำให้รัดกุมไม่เพียงพอ


เหนือสิ่งอื่นใดคือ ข้อผิดพลาดที่พบบ่อยสุดเกิดขึ้นเพราะความคิดอ่านความเห็นต่อบางเรื่องยังเข้าใจได้ไม่ตกผลึกถ่องแท้ อาจจะด้วยข้อจำกัดทางด้านสติปัญญา และอาจจะด้วยอารมณ์ผลีผลามใจเร็วรีบด่วนสรุป กระทั่งเผลอไผลพิพากษาความดีงามอัปลักษณ์ของภูเขาทั้งลูก จากการพิจารณาเศษใบไม้บนพื้นใบเดียว


ทุกวันนี้ผมเปลี่ยนมาใช้ปากกาแทนดินสอ บางคราวก็พิมพ์งานด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์


ผมพบว่า ถึงที่สุดแล้วต่อให้ใช้สอยเครื่องมืออุปกรณ์ใด ๆ ก็ตาม ในการทำงานทุกชิ้น ผมยังโดนควบคุมให้ต้องระมัดระวังด้วยคำว่า "ไม่มียางลบ" เช่นเดิมไม่แปรเปลี่ยน


เรื่องน่าเศร้าก็คือ ในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง บางทีต่อให้ "ระมัดระวัง" เพียงไร ก็ยังคงไม่วายต้องก่อความ "ผิดพลาด" ชนิดนึกไม่ถึงขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่า


ถ้าถือคติ "ผิดเป็นครู" วัดเอาจากความผิดพลาดซ้ำซ้อนจำนวนนับครั้งไม่ถ้วน ป่านนี้ผมก็คงเลื่อนขั้นเป็นอธิการบดีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไปเรียบร้อยแล้วละครับ


อาจเป็นเพราะผม "ระมัดระวัง" ไปพร้อม ๆ กับการทำงานเรียนรู้แบบ "ลองผิดลองถูก" ซึ่งบางครั้งก็มีเส้นแบ่งกั้นกลางที่บางมาก


อย่างไรก็ตาม ด้วยความเชื่อในระบบ "ไม่มียางลบ" ทำให้ผมยิ่งยึดมั่นว่า "ไม่มีคำแก้ตัว" อย่างเหนียวแน่น


ดีก็คือดี แย่ก็คือแย่ พลาดก็คือพลาด เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องยินดีน้อมรับ และนำมาทบทวนพิจารณาอย่างถี่ถ้วน


ในกรณีที่ผิดพลาด คำขอขมาของผมมีเพียงวิธีเดียว คือการสร้างงานชิ้นใหม่ลำดับถัดไปขึ้นมากอบกู้ชดเชยทดแทน


ความเชื่อถัดมาของผมก็คือ "คนเราใช้ชีวิตมาอย่างไร ก็สร้างโลกออกมาได้เช่นนั้น" ใช้ชีวิตเหลวไหลเลื่อนลอยก็คงทำได้แค่สร้างโลกที่กลวงเปล่าไร้สาระ ใช้ชีวิตมีแก่นสารย่อมสามารถสร้างโลกที่มั่งคั่งไปด้วยภูมิปัญญา


ผมจึงพยายามใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวังแบบเดียวกับในเวลาลงมือทำงานเขียน และแน่นอนเช่นกันว่า เป็นการใช้ชีวิตแบบเรียนรู้ลองผิดลองถูกตลอดเวลา


ในการใช้ชีวิต มีหลายครั้งที่ผมผิดแล้วยังหลงลืมจนพลาดซ้ำสอง และมีหลายครั้งที่หากผิดขึ้นมาแล้ว ต่อให้พยายามสลัดทิ้งหนักหน่วงสาหัสอย่างไรก็ยังคง "ลืมไม่ลง"


เพียงแต่ในการใช้ชีวิต "บทต่อไป" ที่ดีมีคุณภาพนั้น เขียนขึ้นมาชดเชยความผิดพลาดในอดีตได้ยากกว่า


แล้วความคิดของผมก็วกกลับย้อนคืนไปหาดินสอแท่งนั้น และข้อความที่ฝังใจเหล่านั้น




(เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2545 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ “เขียนคาบเส้น” เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ เผยแพร่ที่นี่โดยคงทุกอย่างไว้ตามเดิม บทความชิ้นนี้ไม่ได้รวมอยู่ใน “ข้าวมันเป็ด” เนื่องจากทำต้นฉบับหายและเพิ่งหาเจอ เรื่องที่ผมอยากจะเล่าเพิ่มเติมก็คือว่า สาเหตุที่มาของเรื่องนี้ สืบเนื่องมาจากงานชิ้นหนึ่งชื่อ- “ชินจัง” ไม่ใช่ “ชินจัง”- ซึ่งเขียนด้วยน้ำเสียงในเชิง “ทีเล่น” ตั้งใจจะให้อ่านกันสนุก ๆ เพลิน ๆ นะครับ แต่กลับปรากฎว่า โดนผู้อ่านเข้ามาแสดงความเห็นในเว็บ ก่นด่าแบบสาดเสียเทเสียอย่างดุเดือดรุนแรง จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดเป็นบทความชิ้นนี้ และเป็นวิธีเดียวที่ผมนึกออกในการสื่อสารปรับความเข้าใจกัน แบบหลีกเลี่ยงท่าทีตอบโต้ชวนทะเลาะ ซึ่งจะทำให้เรื่อง “บานปลาย” และ “ไม่จบ”)

วันอังคารที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ก่อนจะเป็น "กาลครั้งหนึ่งฯ" โดย "นรา"


ผมเคยเขียนถึงซือแป๋หรืออาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุลไปบ้างแล้ว ในบทความชื่อ “ไหว้ครูที่อยู่ในใจ”

ขณะนั่งอ่านทบทวนบทความชื่อ “กาลครั้งหนึ่งเมื่อวานนี้” เพื่อนำลงในบล็อก เจตนาดั้งเดิม ผมก็ตั้งใจจะบอกเล่าเกี่ยวกับที่มาที่ไปของงานชิ้นนี้

นึกไปนึกมา ก็พบว่า มีรายละเอียดเยอะพอสมควร จนน่าจะแยกออกมาเขียนเป็นบทความอีกชิ้น ซึ่งก็เกี่ยวเนื่องโยงใยถึงซือแป๋ของผมด้วยเช่นกัน
ผมเขียนเรื่อง “กาลครั้งหนึ่งเมื่อวานนี้” ขึ้นเมื่อประมาณปี 2538 แรกเริ่มเดิมทีเป็นการบ้านที่ผมเขียนส่งอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในวิชา “การเขียนบทความ”

เล่าย้อนหลังเท้าความอีกเล็กน้อยก็คือ ตอนนั้นผมเพิ่งออกจากหนังสือฟิล์มวิว และไปทำงานที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ โดยไม่ได้สังกัดประจำกองบ.ก. ฉบับใด แต่อยู่ในหน่วยงานที่เรียกว่า “สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมนักข่าว”

งานหลัก ๆ ของที่นี่ได้แก่ การคิดค้นหลักสูตรต่าง ๆ เพื่อให้บรรดานักข่าวมาเรียนรู้เพิ่มเติม

หน้าที่ของผมก็คือ คอยถ่ายวิดีโอหลักสูตรการเรียนการสอนต่าง ๆ, ซื้อหนังคลาสสิคและหนังดี ๆ มารวบรวมในห้องสมุด เพื่อให้นักข่าวมาหยิบยืมไปดู, รวมทั้งชงกาแฟดูแลอำนวยความสะดวกให้แก่คนที่มาใช้บริการ ฯลฯ ส่วนเรื่องเขียนหนังสือก็หยุดพักไปโดยปริยาย เนื่องจากไม่มีสนามให้เขียน

ช่วงนั้นอาจารย์เสกสรรค์ใช้เวลานอกเหนือจากงานสอนหนังสือที่ธรรมศาสตร์ มาช่วยเป็นที่ปรึกษาให้กับทางสถาบันฯ (ซึ่งมีอาจารย์ชัยสิริ สมุทวณิชเป็นผู้อำนวยการ)

จนกระทั่งวันหนึ่งก็เกิดมีหลักสูตร “การเขียนบทความหนังสือพิมพ์” โดยอาจารย์เสกสรรค์ ลงมือเป็นผู้ถ่ายทอดให้ความรู้ด้วยตนเอง

นี่เป็นหลักสูตรที่มีคนสนใจมาสมัครเยอะแยะมากมาย (เรียนฟรีด้วยครับ) แต่ครั้งนี้พิเศษตรงที่ว่า ต้องมีการสอบข้อเขียน เพื่อคัดเลือกให้เหลือเพียงประมาณสิบกว่าคน

เหตุผลก็เพราะผู้เข้าเรียนต้องเขียนการบ้านส่งทุกครั้ง ต้องมีการตรวจงาน วิจารณ์ข้อดีข้อเสียกันอย่างละเอียดถี่ถ้วน จึงต้องรับในจำนวนจำกัดเท่าที่อาจารย์เสกสรรค์จะสามารถดูแลได้ทั่วถึง

ที่พิเศษอีกอย่างก็คือ วิชาของอาจารย์เสกสรรค์ ไม่มีการบันทึกวิดีโอเก็บไว้ เนื่องจากวิธีเรียนและสอนนั้น ไม่ใช่การบรรยายหน้าชั้น แต่เหมือนนั่งล้อมวงพูดคุยกัน

หลังจากสอบคัดเลือกจนได้คนเรียนครบถ้วนแล้ว ชั่วโมงแรกของหลักสูตรก็มาถึง ก่อนเริ่มเพียงไม่กี่นาที ผมเดินไปสารภาพตามตรงกับอาจารย์เสกสรรค์ว่า “ผมขออนุญาตเข้านั่งฟังนั่งเรียนด้วยได้มั้ยครับ ผมอยากเรียน”

“ได้ แต่นายต้องทำการบ้าน เขียนงานส่ง เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ”

ผมเริ่มหัดเขียนหนังสือด้วยวิธี “ครูพักลักจำ” ศึกษาจากงานของนักเขียนผู้มาก่อนจำนวนมาก (และผมถือว่าทุกท่านล้วนเป็นครู)

อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล จึงเป็นครูทางด้านการเขียนหนังสือโดยตรงและเป็นทางการ เพียงหนึ่งเดียวของผม

การบ้านครั้งแรกคือ เขียนบทความสองชิ้น

ชิ้นแรกเป็นบทความในเชิงแสดงความเห็นโต้แย้ง อีกชิ้นหนึ่งเป็นบทความทั่วไป เพื่อเสนอทัศนะมุมมองบางอย่างต่อผู้อ่าน

ผมเลือกเขียนบทความโต้แย้งคำสัมภาษณ์ของศิลปินท่านหนึ่ง ส่วนอีกชิ้นก็คือเรื่อง “กาลครั้งหนึ่งเมื่อวานนี้”

ชั่วโมงเรียนครั้งถัดมา อาจารย์เสกสรรค์อ่านการบ้านของแต่ละคน พร้อมกับชี้แนะข้อด้อยรอยโหว่ต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วน ตั้งแต่พื้นฐานการใช้ภาษา, การลำดับความคิด, ความเป็นเหตุเป็นผล, การสร้างความคมคาย, และประเด็นที่นำเสนอ ฯลฯ(ในกระดาษต้นฉบับของแต่ละคน ยังปรากฎการตรวจแก้ด้วยปากกาสีแดงลายพร้อยไปหมด และการประเมินให้เกรด กล่าวได้ว่า อาจารย์เสกสรรค์ตรวจงานละเอียดพิถีพิถันมาก แม้กระทั่งการใช้คำเกินรกรุงรังเพียงคำเดียวก็ยังโดนแก้)

การบ้านของผม ไม่ได้ถูกอ่านในชั้นเรียน เนื่องจากเป็นลูกศิษย์ประเภทไม่ได้ลงทะเบียนอย่างถูกต้องเป็นทางการ แต่อาจารย์เสกสรรค์ก็เรียกผมมาพูดคุยเป็นการส่วนตัว เพื่อชี้แนะข้อดีข้อเสีย

บทความชิ้นที่ผมเขียนโต้แย้งได้คะแนนปานกลาง ส่วนชิ้น “กาลครั้งหนึ่งเมื่อวานนี้” โดยรวมค่อนข้างดี แต่มีปัญหาตรงที่ยังมีบางจุดคลุมเครือไม่ชัดเจน และขาดรายละเอียดเชื่อมโยง

ส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมโล่งอกก็คือ อาจารย์บอกว่า ผมนั้นผ่านด่านหลุดพ้นไม่ติดขัดเรื่องปัญหาการใช้ภาษา (และการบ้านของผมก็มีร่องรอยตรวจแก้ด้วยปากกาแดงค่อนข้างน้อย) ที่ยังต้องแก้ไขปรับปรุงก็มีเพียงเรื่องการเรียงลำดับความคิดให้เป็นระบบรัดกุมยิ่งขึ้น

ผมเรียนกับอาจารย์อีกหลายครั้ง ทว่าท้ายที่สุดหลักสูตรดังกล่าวก็ต้องเลิกก่อนกำหนดไปโดยปริยาย ด้วยสาเหตุว่า ไม่มีคนส่งการบ้าน (ซึ่งยากขึ้นเรื่อย ๆ) เพราะบรรดานักข่าวส่วนใหญ่ ต่างติดภารกิจงานประจำ ไม่มีเวลาทุ่มเทให้กับการบ้าน รวมทั้งเกิดอาการเกร็งและเกรงความเห็นตรงไปตรงมาของอาจารย์เสกสรรค์

อย่างไรก็ตาม แม้จะเรียนไม่จบครบหลักสูตร แต่ก็ถือว่าผมนั้นได้วิชาความรู้ติดตัวมาเยอะ และส่งผลให้งานเขียนของผมถัดจากนั้น ผิดแผกแตกต่างจากเดิมอยู่มากพอสมควร

มีอีกหนึ่งกระบวนท่า ที่ผมได้รับการชี้แนะสั่งสอนเพิ่มเติมนอกเหนือลูกศิษย์คนอื่น ๆ

กล่าวคือ ระยะนั้น งานเขียนของผมมีร่องรอยอิทธิพลของอาจารย์เสกสรรค์ปรากฏอยู่เต็มไปหมด จนวันหนึ่งผมนำความเรื่องนี้ไปปรับทุกข์กับซือแป๋ ว่าจะทำอย่างไรดี จึงจะสามารถคลี่คลายสู่ความเป็นตัวของตัวเอง

อาจารย์ตอบด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนเปี่ยมเมตตาว่า “ไม่เป็นไรหรอก เรามันศิษย์มีครู ระยะเริ่มแรกทำอะไรอาจเหมือนครูอยู่บ้าง ย่อมเป็นเรื่องธรรมดา ทำงานบ่อย ๆ ทำงานหนัก ๆ ประเดี๋ยวเวลาก็จะค่อย ๆ ช่วยขัดเกลาให้เกิดลีลาเฉพาะขึ้นมาเอง อย่าไปกลัวที่จะรับและศึกษาอิทธิพลดี ๆ จากเขียนของผู้อื่น การศึกษาแบบอย่างที่ดี มันอาจติดอาจเหมือนต้นทางอยู่บ้าง แต่ประสบการณ์ความชำนาญจะช่วยให้มันคลี่คลายกลายเป็นการสร้างขึ้นใหม่ หลุดพ้นจากการลอกเลียนแบบไปในที่สุด”

เคล็ดลับกระบวนท่านี้ ส่งผลทำให้การอ่านหนังสือของผม เกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวง นับจากวันนั้นเป็นต้นมา ผมก็อ่านหนังสือช้าลง อ่านละเอียดทุกตัวอักษร กระทั่งสามารถจับสังเกตวิธีการใช้ถ้อยคำ เทคนิคต่าง ๆ รวมทั้งวิธีนำมาปรับใช้ ดูดกลืน ย่อยสลาย ให้กลายเป็นภาษาถ้อยคำในแบบฉบับลีลาของผมเอง

ผมก็จนด้วยเกล้าที่จะอธิบายรายละเอียดว่า ต้องทำอย่างไรบ้างนะครับ มันค่อย ๆ เกิดขึ้นเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ มารู้ตัวอีกทีก็พบว่า ผมมีวิธีการอ่านหนังสือที่ไม่เหมือนเดิมเสียแล้ว

ทั้งหมดนี้ ผมเขียนไปด้วยอาการหนาว ๆ ร้อน ๆ ครั่นเนื้อครั่นตัวอยู่พอสมควร เกรงจะโดนมองว่า กำลังคุยโม้โอ้อวด

เจตนาแท้จริงมีแค่ว่า ผมรู้สึกว่าผมโชคดี เจอครูดี จึงอยากจะนำมาบอกเล่าเพื่อแบ่งปันสิ่งที่ผมได้เรียนรู้มา

ซือแป๋ของผม เคยมอบอีกคาถาหนึ่งให้ ว่าทำอย่างไรจึงจะเขียนหนังสือดี

ง่าย ๆ สั้น ๆ คือ “พูด คิด และเขียน ออกมาให้เป็นสำนวนภาษาหนึ่งเดียวกัน”

พ้นจากนี้ก็เป็นเรื่องของการตีความถอดรหัสของแต่ละท่าน ว่าจะขยายความคาถาดังกล่าวจนเกิดทัศนะความเข้าใจกันไปอย่างไร

สำหรับผมแล้ว พินิจพิจารณาไปเรื่อย ๆ ก็คลี่คลายสู่อีกคาถาหนึ่ง นั่นคือ “การใช้เวลาเพื่อฝึกคิด ลงมือเขียน และอ่านหนังสืออย่างต่อเนื่อง” ให้เกิดเป็นสัดส่วนเหมาะเจาะสอดคล้องกลมกลืนกัน

เปรียบเทียบง่าย ๆ ก็เหมือนแผนสำหรับฝึกซ้อมของนักกีฬานะครับ เท่าที่ได้ทดลองปฏิบัติมาหลายปี ผมคิดว่า นี่เป็นสูตรที่ได้ผลเด็ดขาดนัก เวลาทำจนเคยชินเป็นปกติ เหมือนไม่มีผลบวกอันใดเลย แต่จะส่งผลกระทบเดือดร้อนขึ้นมาทันที เมื่อองค์ประกอบส่วนหนึ่งส่วนใดย่อหย่อนหละหลวม

ความรู้เท่าที่ผมได้รับจากซือแป๋ เห็นจะมีเพียงเท่านี้ (จริง ๆ แล้วยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอื่น ๆ อีกพอสมควร ถ้าผมนึกออกเมื่อไหร่ก็จะนำมาเล่าสู่กันฟัง)

หลังจากที่อาจารย์เสกสรรค์วิจารณ์การบ้านชิ้น “กาลครั้งหนึ่งเมื่อวานนี้”ไปแล้ว ผมก็หยิบทั้งตัวงานและความเห็น มาทบทวนพิจารณาซ้ำ จนกระทั่งเห็นบาดแผลชัดขึ้น ตลอดจนช่องทางในการแก้ไข ผมจึงลงมือขัดเกลาอีกครั้ง (โดยเฉพาะตรงท่อนที่สามมีการเขียนเพิ่มเติมใจความขึ้นอีกเยอะมาก เพื่ออุดรอยรั่วรูโหว่ต่าง ๆ)

ถ้าจำไม่ผิด ผมน่าจะทดลองส่งงานชิ้นที่แก้ใหม่ ไปลงตีพิมพ์ในนิตยสาร Cinemag จากนั้นจึงแก้อีกครั้ง เพื่อนำไปรวมเล่ม “จอมยุทธจับฉ่าย” (ซึ่งเป็นหนังสือที่ผมเองก็ไม่มีเหลือเก็บไว้ติดตัว และเพิ่งไปได้มาสด ๆ ร้อน ๆ จากงานมหกรรมหนังสือ” ครั้งล่าสุด)

ระหว่างอ่านซ้ำ เพื่อจะเผยแพร่ในบล็อก ผมพยายามหักห้ามใจที่จะไม่แตะต้องแก้ไขงานชิ้นนี้อีก แต่แล้วก็อดรนทนไม่ไหว ต้องมีแอบตัด แอบเติมบ้างนิด ๆ

มันเล็งเห็นแผลนะครับ เห็นแล้วก็เลยต้องเอาซะหน่อย นี่เป็นนิสัยถาวรของผมที่แก้ยังไงก็ไม่หาย

ข้อเขียนทุกชิ้นของผม หยิบมาอ่านซ้ำทีไร ก็มักจะพบรอยตำหนิที่ต้องปรับแก้อยู่เป็นประจำ เนื่องจากมุมมองความเชื่อความเข้าใจต่อการเขียนหนังสือที่ดีของผมนั้น เลื่อนไหลแปรเปลี่ยนไม่คงที่อยู่ตลอดเวลา และสามารถกล่าวได้ว่า ไม่มีวันจะพึงพอใจหรือมีบทสรุปข้อยุติที่สมบูรณ์เด็ดขาด

อย่างไรก็ตาม ผมมีกติกาส่วนตัวอยู่ข้อหนึ่ง ในการแก้ไขขัดเกลาต้นฉบับ นั่นคือ จะระมัดระวังไม่ให้กระทบถึงความคิดที่ปรากฏอยู่ในตัวงาน ไม่เปลี่ยนจนกลายเป็น “คิดคนละเรื่อง” กลับขั้วจากเดิม และกระทำเพียงแค่ตัดทอนส่วนที่เยิ่นเย้อรกรุงรังไม่จำเป็นออกไป แก้ไขถ้อยคำให้กระชับรัดกุมขึ้น เพิ่มเติมเนื้อความเพื่อให้ทัศนะที่มีอยู่แล้วกระจ่างแจ้งชัดเจนขึ้น บางครั้งก็อาจสลับสับเปลี่ยนตำแหน่ง เพื่อให้เนื้อหาเรียงลำดับราบรื่นกว่าเก่า ฯลฯ

ลืมบอกไปอีกอย่างว่า ผมถือเอาการแก้ไขขัดเกลาต้นฉบับ เป็นหนทางหนึ่งในการฝึกเขียนหนังสือด้วยเหมือนกัน



(เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2551 และเผยแพร่ครั้งแรกที่นี่)

กาลครั้งหนึ่งเมื่อวานนี้ โดย "นรา"


1

ผู้หญิงที่ผมแอบเรียกขานในใจว่า “พี่สาว” เป็นเพียงรูปเงาอันพร่าเลือนในความทรงจำ ขนาดนึกทวนย้อนหลังว่า ตลอดยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมาเคยรำลึกถึงเธอบ้างไหม ก็ยังตอบตัวเองได้ไม่แจ่มชัด

อันที่จริงเธอไม่ได้เกี่ยวดองเป็นพี่น้องกับผม แม้จะอ้างเป็นแค่คนรู้จัก ก็ยังพูดได้ไม่เต็มปาก เรื่องของเรื่องคือ แม่ผมสนิทกับพ่อเธอและไปมาหาสู่กันสม่ำเสมอ แต่เราสองเคยพบปะนับครั้งได้ไม่เกินนิ้วมือ คาดคะเนคร่าว ๆ ว่า ตอนนั้นเธอน่าจะอยู่ในวัยแตกเนื้อสาว ส่วนผมคงอายุประมาณหกเจ็ดขวบ

ด้วยความที่ผมเป็นเด็กซึ่งคุ้นกับคนได้ยาก จึงมักนิ่งเงียบทุกคราวที่ตามแม่ไปเยี่ยมเยียนครอบครัวเธอ แต่ลึก ๆ ก็รู้สึกเป็นสุขทุกครั้ง เพราะที่นั่นละลานตาไปด้วยหนังสือการ์ตูนกองโต

แน่ละ ฐานะครอบครัวที่ยากจนทำให้แม่ไม่อาจเจียดเงินซื้อหาสิ่งเหล่านี้มาให้ผมครอบครอง บ้านของ “พี่สาว” จึงมีความหมายยิ่งกว่าสวนสนุก สำหรับวัยเด็กอันขัดสนของผม เวลาแต่ละนาทีดูจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว เมื่อถึงวาระที่ต้องอำลาเจ้าบ้าน ผมมักอิดออดไม่ยอมละสายตาจากการ์ตูนที่กำลังเพลิดเพลินติดพัน และพกพานิสัยดื้อรั้นเข้าถ่วงยื้อโมงยามรื่นรมย์เอาไว้ให้เนิ่นนานเท่าที่จะทำได้

เป็นเช่นนี้อยู่ร่ำไป จนกระทั่งวันหนึ่ง “พี่สาว” คงจะเข้าใจความรู้สึกของเด็กเล็ก ๆ อย่างผม เธอเลยจัดแจงแบ่งปันหนังสือการ์ตูนที่ซื้อหาด้วยเงินออมส่วนตัว และยกให้ผมโดยปราศจากสิ่งตอบแทน

ในยามตื่นเต้นยินดี ผมลืมแม้กระทั่งจะเอ่ยขอบคุณ จนแม่ต้องเอ่ยปากดุ ระหว่างเดินทางกลับบ้าน ใจมันเตลิดลอยล่วงหน้าไปหาหนังสือกองใหญ่ที่กอดกระชับแนบอก ไม่รับรู้เรื่องใด ๆ ทั้งสิ้น แม้แต่ถ้อยคำที่แม่ชวนคุยก็ได้แต่ขานรับไปตามเรื่องตามราวมากกว่าจะสนใจฟังจริงจัง

ผมขลุกอยู่กับสมบัติล้ำค่าที่ได้มาใหม่เป็นเวลาร่วมเดือน วัน ๆ ไม่เป็นอันทำอะไร อาการหลงใหลได้ปลื้มของผมเชื่อว่าแม่คงยินดี กระนั้นก็ไม่วายเป็นห่วง และตักเตือนให้ผมดู “พี่สาว” เป็นเยี่ยงอย่าง พร้อมทั้งชื่นชมต่าง ๆ นานา

คำบอกเล่าของแม่ในตอนนั้นคลับคล้ายว่า “พี่สาว” เป็นคนเรียนเก่ง ขยัน แต่ที่จำได้แม่นคือ แม่ซึ่งมีแต่ลูกชายล้วนชอบเปรยเล่น ๆ ว่าอยากได้ลูกสาวสักคนเหมือนอย่างเธอ ผมพลอยพยักหน้าหงึก ๆ แอบเห็นพ้องอยู่เงียบ ๆ

ใครเล่าจะไม่รักพี่สาวใจดีที่มีการ์ตูนให้อ่านเหลือเฟือ

ไม่กี่เดือนให้หลัง เย็นวันหนึ่งแม่กลับบ้านด้วยน้ำตานองหน้า พร้อมทั้งข่าวร้ายเกี่ยวกับพี่สาว...


2

มีหนังมากมายหลายหลากที่ผมชื่นชอบโปรดปรานด้วยเหตุผลแตกต่างกัน แต่เรื่องหนึ่งที่ชอบเนื่องจากเหตุผลพิเศษออกไปก็คือ It’s a Wonderful Life ของแฟรงค์ คาปรา

หนังเรื่องนี้มีอิทธิพลต่อความคิดอ่านและการใช้ชีวิต เป็นคำตอบที่ผมยึดกุมเสมอ เมื่อไรก็ตามที่มีคนตั้งคำถามว่า เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร?

จอร์จ เบลีย์ ตัวเอกของเรื่องใฝ่ฝันอยากสร้างวีรกรรมยิ่งใหญ่ให้ผู้คนร่ำลือ แต่จังหวะชีวิตและจิตสำนึกดีงามฉุดรั้งให้เขาต้องจมปลักอยู่ในเมืองเล็ก ๆ ทำธุรกิจเงินกู้เพื่อสร้างบ้าน ไม่มีกำไรเป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากจะได้ช่วยชาวเมืองยากจนให้มีหลักแหล่งพำนักในราคาพอเหมาะ ท่ามกลางการเฝ้ามองของนายทุนหน้าเลือดที่พร้อมจะช่วงชิงกิจการอยู่ทุกเมื่อ และคอยฉวยโอกาสลอบกลั่นแกล้งจนจอร์จล้มละลาย ท้อแท้สิ้นหวัง หมดสิ้นศรัทธา ต่อความดีงาม อับจนหนทางถึงขั้นติดสินใจฆ่าตัวตายในคืนวันคริสต์มาส

ชาวบ้านที่รู้ข่าวพากันพร่ำภาวนาต่อเทพยดาบนสรวงสวรรค์ให้คิดอ่านช่วยเหลือ เทวดาไร้ปีกองค์หนึ่งถูกส่งมาแก้ไขปัดเป่าเรื่องราวทั้งหมดในร่างตาแก่อารมณ์ดี ซึ่งชิงโดดน้ำตายตัดหน้าจอร์จ ทำให้ชายหนุ่มต้องเปลี่ยนจากการฆ่าตัวตายมาเป็นการช่วยชีวิตโดยปริยาย

ผู้เฒ่าจำแลงเลียบเคียงถามไถ่กับจอร์จ จนชายหนุ่มระบายความคับข้องใจ ถึงขั้นหลุดคำพูดออกมาว่า หากเปลี่ยนอดีตได้ เขาอยากจะไม่ถือกำเนิดมีชีวิตขึ้นมาบนโลก เพราะเท่าที่ผ่านมาทุกสิ่งที่กระทำล้วนล้มเหลวไร้ค่า

เมื่อกลับเข้าไปในเมือง คำพูดของจอร์จกลายเป็นจริงตามเงื่อนไขที่ว่า หากเขาไม่เคยมีตัวตนมาก่อน เมืองทั้งเมืองจะเป็นเช่นไร

ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไป ชาวบ้านยากจนจำนวนมากไร้ที่อยู่อาศัย กลายเป็นมิจฉาชีพก่อภาระให้แก่สังคม

นายทุนหน้าเลือดกอบโกยทุกวิถีทาง จนเมืองเล็ก ๆ อันสงบสมถะ พลุกพล่านด้วยแหล่งอบายมุข ชาวบ้านที่เคยเป็นมิตรกลับแปลกหน้าต่อกัน

เมียของจอร์จกลายเป็นสาวทึนทึกที่หวาดระแวงเพศตรงข้าม น้องชายที่จอร์จเคยช่วยชีวิตในวัยเด็ก กระทั่งเติบโตเป็นวีรบุรุษของชาติในการสู้รบ นอนสงบนิ่งอยู่ในสุสานเนื่องจากจมน้ำตายตั้งแต่เยาว์วัย หญิงสาวคนหนึ่งที่จอร์จเคยเสียสละนำเอาเงินที่ตั้งใจจะจับจ่ายในช่วงฮันนีมูนให้หยิบยืม ประสบปัญหาเดือดร้อนเรื่องการเงินจนต้องหันมายึดอาชีพโสเภณี ตาเฒ่าเจ้าของร้านขายยา ซึ่งจอร์จเคยช่วยทักท้วงไม่ให้จ่ายยาผิด ติดคุกข้อหาฆ่าคนตายโดยประมาท และติดเหล้าอย่างรุนแรงในเวลาต่อมา

เหตุแปรเปลี่ยนทั้งปวงทำให้จอร์จได้ตระหนักว่า แท้ที่จริงชีวิตเขามิได้สูญเปล่า ตรงข้าม กลับเต็มไปด้วยการกระทำอันควรแก่ความภาคภูมิใจ

It’s a Wonderful Life อธิบายถึงความหมายของการมีชีวิตด้วยคำตอบง่าย ๆ ว่า ทุกชีวิตย่อมเกี่ยวโยงส่งผลต่อผู้คนรอบข้าง อาจแลดูง่าย รวบรัด มองข้ามความจริงบางด้าน และเจือบรรยากาศพาฝันในเชิงอุดมคติ แต่ก็เป็นคำปลอบโยนผู้แพ้ที่ทรงพลัง

ผมรักหนังเรื่องนี้ เพราะมันสอนให้ผมรู้จักศรัทธาต่อการมีชีวิต...

3

ข่าวร้ายเกี่ยวกับ “พี่สาว” ที่นำความโศกสลดมาสู่แม่ก็คือ เธอล้มป่วยลงกะทันหันและเสียชีวิตโดยไม่มีใครระแคะระคายมาก่อน แต่พยายามต่อสู้กับโรคร้ายอย่างเงียบ ๆ ด้วยจิตใจอันเข้มแข็ง ไม่ทำตัวเป็นภาระให้ใคร ๆ ต้องคอยห่วงกังวล จนกระทั่งจากไปอย่างรวดเร็ว ดุจดังดาวตกขีดเส้นสุกไสวให้กับผืนฟ้ามืดดำในคืนแรม

แล้วเวลาที่คืบผ่านก็ทำให้ผมค่อย ๆ ลืมเลือนอดีตส่วนนี้ ก่อนจะหวนคืนสู่ห้วงคิดอีกครั้งหลังจากที่ผมได้ดูหนังเรื่อง Pather Panchali ของสัตยาจิต เรย์

Pather Panchali เป็นเรื่องของเด็กชายชื่ออปู ซึ่งเกิดมาในครอบครัวตระกูลพราหมณ์ฐานะยากจน หนังมุ่งแจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ในสังคมชนบท มากกว่าจะเน้นโครงเรื่องให้จับต้อง ส่วนที่งดงามที่สุดก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างพี่สาวกับน้องชาย ทั้งคู่เย้าแหย่ เที่ยวเล่น ทะเลาะเบาะแว้ง แต่ลึก ๆ ก็ผูกพันรักใคร่กันแน่นแฟ้น

เด็กอย่างอปูอยู่ในสภาพอัตคัดไปเสียทุกทาง ได้แต่เฝ้ามองเพื่อน ๆ ในละแวกใกล้บ้านที่มีฐานะดีกว่าเล่นกันอย่างสนุกสนาน ด้วยของเล่นที่เขาไม่มีปัญญาซื้อหา จะมีก็เพียงพี่สาวที่นำพาเอาความน่าตื่นตาตื่นใจมาสู่วัยเยาว์ของเขา เธอชวนน้อยชายลัดเลาะข้ามทุ่งเพื่อรอดูรถไฟวิ่งผ่านหมู่บ้าน เปิดหูเปิดตาให้อปูรู้จักกับความใหญ่ของโลกภายนอก จุดประกายฝันว่าสักวันคงมีโอกาสได้เที่ยวท่องไปยังแห่งหนแปลกใหม่เหล่านั้น

ความทรงจำในชนบทของอปูจบลงอย่างรวดร้าว เมื่อพี่สาวตากฝนและเสียสละเอาผ้าคลุมไหล่มาห่มให้กับน้องชายเพื่อคลายหนาว จนกระทั่งตัวเองตกเป็นฝ่ายล้มป่วย ความจนทำให้ไม่มีเงินไปหาหมอมารักษาเยียวยา สุดท้ายเธอก็เสียชีวิตอย่างน่าเศร้าสลด

“พี่สาว” ในความทรงจำของผมละม้ายใกล้เคียงกับตัวละครในหนัง ทั้งช่วงวัยและจิตใจอันงดงาม รวมถึงชะตากรรมที่ทั้งสองประสบ

อดีตที่หลบเร้นในหลืบมุมลึกจึงผุดพรายไหลหลากขึ้นมาอีกครั้งเมื่อผมได้ดู Pather Panchali และนึกย้อนไปถึงสิ่งดี ๆ ที่ “พี่สาว” เคยหยิบยื่นมอบให้แก่ผม ซึ่งไม่ต่างไปจากการที่พี่สาวพาน้องชายในหนังไปพบเห็นรถไฟเป็นครั้งแรกในชีวิต

ทุกวันนี้หนังสือการ์ตูนเหล่านั้นสูญหายไปหมดแล้ว แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับว่า มันกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำทำให้ผมติดการอ่านหนังสืออย่างงอมแงม จากการ์ตูนสู่นิยาย ขยับขยายไปยังเรื่องแปล ตำรับตำราวิชาการ โยงใยถึงการดูหนังฟังเพลง สั่งสมเป็นแหล่งความรู้ที่ใช้ในการหัดเขียนหนังสือ กระทั่งกลายเป็นอาชีพดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

ใครจะรู้ หากปราศจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ชีวิตผมจะหักเหไปเป็นเช่นไร?

4

ในชีวิตที่ผ่านมา ผมได้รู้จักพบพาน “จอร์จ เบลีย์” มากมายหลายคน พวกเขาและเธอล้วนกระทำสิ่งเล็กน้อย ซึ่งดูเผิน ๆ เหมือนไม่สลักสำคัญ แต่ก็ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อตัวผม

“พี่สาว” คือหนึ่งในจำนวนนั้น

บางห้วงอารมณ์ ผมเชื่อถึงขั้นที่ว่า “พี่สาว” คือ เทวดาไร้ปีกที่ลงมาสู่โลก เพื่อเปลี่ยนวิถีชีวิตผมให้ดำเนินไปสู่เส้นทางอันเหมาะสม

เช่นนี้แล้ว ผมจึงเชื่อว่าชีวิตเป็นเรื่องงดงาม เราก้าวเดินเตาะแตะ ท่ามกลางน้ำใจที่ได้รับการหยิบยื่นจากผู้คนมากมายที่เวียนผ่านเข้ามาข้องแวะ จนเติบโตมั่นคงเพื่อกระทำสิ่งเดียวกันต่อคนอื่น ๆ สานทอก่อลูกโซ่ของ “การรับและการให้” ที่สัมพันธ์กันไม่รู้จบ

เมื่อยามเด็กผมเคยนึกอยากสร้างวีรกรรมใหญ่โต แต่ทุกวันนี้ความคิดดังกล่าวไม่หลงเหลืออีกต่อไป มีเพียงความใฝ่ฝันอยากเป็นคนธรรมดาเช่น “จอร์จ เบลีย์” และ “พี่สาว”

เพราะมี “พี่สาว” เพราะมีเมื่อวาน ผมจึงมีวันนี้...




(เขียนครั้งแรกเมื่อปี 2538 และแก้ไขปรับปรุงขนานใหญ่ในเวลาต่อมา เพื่อนำมารวมอยู่ในหนังสือ “จอมยุทธจับฉ่าย” ภาพที่ผมเลือกมาประกอบบทความชิ้นนี้ ชื่อ Young Woman on the Beach วาดโดย Philip Wilson Steer)

วันอังคารที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2551

เมื่อคืนนี้...ผมฝันถึงรัสเซียและเสี่ยหมี โดย "นรา"


จิตใต้สำนึกของผมคงจะมีธาตุเหลวไหลฟุ้งซ่านเจือปนประกอบอยู่เยอะนะครับ จึงมักจะเก็บเอาไปแปรรูปเป็นความฝันพิลึกกึกกืออีตอนหลับอยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ


ล่าสุดใหม่เอี่ยมแกะกล่องเมื่อคืนที่ผ่านมา ผมฝันว่าอยู่ดี ๆ ก็จรลีเดินทางไปยังประเทศรัสเซีย ด้วยสาเหตุต้นตอที่ยังคงลึกลับมืดมน ท่ามกลางข่าวลือซุบซิบว่าเป็นการลี้ภัย


ในความฝันนั้น ผมกำลังจะขึ้นรถเมล์เพื่อกลับบ้านตามปกติ แต่แล้วก็เผลองีบหลับสัปหงกระหว่างการจราจรติดหนึบขนาดหนัก มารู้ตัวอีกทีเมื่อรถเมล์เบรคดังเอี๊ยด จนผมหัวทิ่มหน้าคะมำตกใจตื่น (จากการงีบ แต่จริง ๆ แล้วยังหลับและฝันอยู่นะครับ)

ผมเหลือบมองไปทางหน้าต่าง เห็นหิมะตกโปรยปรายเต็มท้องถนน ตึกรามบ้านช่องสองข้างทาง หน้าตารูปทรงแปลก ๆ แบบที่ผมไม่เคยเห็นของจริงมาก่อน แต่คุ้นตาจากในหนังฝรั่งหลาย ๆ เรื่อง


“ที่นี่คือที่ไหนกัน” ผมหันไปถามเจ๊ที่นั่งอยู่ข้าง ๆ (หน้าตาเหมือนอาร์แซน แวนเกอร์ ผู้จัดการทีมอาร์เซนอล แต่ตาตี่แบบคนมีเชื้อสายจีน และเลี่ยมฟันทอง) ด้วยน้ำเสียงสั่นสะท้านตื่นตกใจ


“รัสเซีย” เจ๊ตอบเหมือนไม่ยินดียินร้าย ราวกับเป็นเหตุการณ์ปกติ เหมือนรถเมล์แล่นผ่านแถว ๆ ประตูน้ำ

“แล้วรถไปสุดสายที่ไหนครับ” ผมถามอีกครั้ง ด้วยความวิตกกังวล


“ตลาดพลู” เจ๊ตอบเสียงห้วน ๆ สายตามีแววตำหนิติเตียน ประมาณว่า ไม่รู้แล้วดันทุรังนั่งมาตั้งนานทำไม (วะ)

ผมใช้เวลาเก้าจุดสามเจ็ดสองวินาที ทำลายสถิติโอลิมปิค ประเภทคิดสั้นระยะร้อยเมตร คำนวณหาข้อดีข้อเสีย ว่าควรจะนั่งต่อไปเรื่อย ๆ จนถึงตลาดพลู หรือตัดสินใจลงที่รัสเซียดี

ถ้าลงตลาดพลู ซึ่งเป็นคนละทิศกับบ้านผม (อยู่แถวบางจาก) ต้องเสียเวลานั่งรถย้อนกลับมาอีกไกล

แต่ถ้าลงที่รัสเซีย ยิ่งไกลกว่ามหาศาล และอาจหารถเมล์กลับบ้านไม่ได้ แถมยังหนาวอีกต่างหาก

นกนางนวลต่างกับนกนางนวลทะเลมากทีเดียว นกทั้งสองชนิดนี้ไม่เหมือนกันเลยสักอย่าง ผมคิดราวกับขโมยมาจากงานเขียนของฮารูกิ มูราคามิแบบหน้าด้าน ๆ

คิดได้ดังนั้น ผมก็ถูมือแปลงกายเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจากประเทศไทย และตัดสินใจลงแวะที่รัสเซียทันที

เจ๊คนเดิม ชะโงกศีรษะโผล่ออกมานอกหน้าต่าง ขณะที่รถเมล์กำลังแล่นพ้นเลยป้ายไปอย่างรวดเร็ว แก ตะโกนมาทางผมว่า “เฮ้ย!!! นั่นรัสเซียนะโว้ย มึงขอวีซ่ารึยัง? แล้วพาสสปอร์ตอีกล่ะ มีมั้ย? รู้ที่แลกเปลี่ยนเงินบาทเป็นรูเบิลรึเปล่า? กระเป๋าใส่สัมภาระเอามากี่ใบ? คืนนี้มึงจะนอนพักที่ไหน? อคาเดมี แฟนตาเซีย ซีซั่นหน้า จะโหวตให้ใครดี?”

ท่าทางเจ๊แกคงจะเป็นคนขี้สงสัยนะครับ แต่ที่ผมสงสัยกว่านั้นก็คือ รถเมล์หรือก็วิ่งออกจะเร็ว เจ๊สามารถตะโกนถามอะไรต่อมิอะไรเยอะแยะครบถ้วนได้ยังไง

ท่านผู้อ่านก็ไม่ต้องส่ง SMS มาตอบหรอกนะครับ ข้อความจำพวก “คืนนี้หงส์ชนะแน่” หรือ “เมื่อเช้าลำพูนหนาวจัง” ผมเคยผ่านตาและเห็นมาเยอะแล้ว

ผมลงมายืนกลางถนน สูดลมหายใจเฮือกใหญ่ดูดเอาอากาศรัสเซียเข้าไปจนชุ่มปอด กางแขนสองข้างเหยียดตรงออกไปยื่นมือรับหิมะ ใจหนึ่งก็อยากจะก้มลงกราบแผ่นดินรัสเซียแบบ “พี่บางคน” เคยทำที่สนามบินสุวรรณภูมิดูบ้าง แต่มานึกภาพ ตูดโด่งโก้งโค้งกลมๆ ที่ลอยมาติดตาหลอกหลอนความรู้สึกของผู้พบเห็นแล้ว ก็เลยล้มเลิกความคิด เพราะใจไม่ถึง


ที่สำคัญ แถว ๆ นั้นไม่มีช่างภาพสื่อมวลชนมาคอยทำข่าวด้วย


ก่อนจะเล่าเรื่องการผจญภัยในรัสเซียต่อไป ผมควรแนะนำตัวเด็กชายพี่หมีสักเล็กน้อยนะครับ

ผมมีตุ๊กตาหมีพูห์ตัวหนึ่ง ส่วนสูงนั้นเตี้ยราว ๆ หกนิ้ว หลังจากติดตามผมออกผจญภัยมานานสิบกว่าปี มันก็กลายสภาพเป็นเด็กชายพี่หมี สภาพมอมแมมร่วงโรย มีชีวิต พูดได้ และนิสัยติงต๊อง (พอ ๆ กับผม)


เวลาผมไปไหนมาไหน พี่หมีมักติดสอยห้อยตามผมตลอด ไม่ว่าจะเที่ยวทะเล เข้าป่า เดินเขา หรือซัดเซพเนจรแถว ๆ ถนนข้าวสาร

ตอนฝันว่าไปรัสเซีย พี่หมีก็ร่วมซีนอยู่ด้วย มันค่อย ๆ ปีนออกจากระเป๋าผ้าสะพายไหล่ของผม

ผมปรึกษาหารือกับพี่หมีว่าจะเอายังไงต่อไปดี


“ก่อนอื่น ตอนนี้อั๊วไม่ใช่เด็กชายพี่หมีแล้ว แต่เป็นเสี่ยหมี วินนี-เดอะ-พูห์อับราโมวิช โปรดเข้าใจให้ถูกต้อง” ตุ๊กตาหมีของผม พูดด้วยท่าทีกร่าง ๆ อวดพุงกลม ๆ

“ครับ เสี่ย” ผมตอบด้วยทีท่าอาการสำรวม


“ดีมาก” เสี่ยหมีผงกศีรษะเล็กน้อย “มาเที่ยวรัสเซียทั้งที จะให้เร้าใจ มันต้องหาส้มบางมดหรือทุเรียนเมืองนนท์มากินแก้หนาวกันหน่อย”


“ทำไมล่ะครับ?” ผมถามและฉงนสงสัย


“เรามันเด็กแนวว่ะ จะให้ดื่มว้อดก้าแกล้มคาเวียร์ได้งัย โหล ๆ ดาด ๆ เชยตายห่า ส้มบางมดกับทุเรียนเมืองนนท์นี่แหละ หายาก แพงดี กินแล้วค่อยสมศักดิ์ศรีคนมีกะตังค์ แหล่ม รู้จักมั้ย แหล่ม”


เด็กชายพี่หมีในฐานะเจ้าถิ่น จึงนำพาผมออกดั้นด้นค้นหาแหล่งซื้อขายส้มบางมดกับทุเรียนเมืองนนท์

เราเดินผ่านจตุรัสแดงแบบรีบ ๆ ลวก ๆ เนื่องจากไม่เคยเห็นของจริงมาก่อน บรรยายไม่ค่อยถูก เลี้ยวเข้าตามตรอกซอกซอยคดเคี้ยวหลายแห่ง จนกระทั่งมาหยุดลงตรงตึกเก่า ๆ รูปทรงสี่เหลี่ยมแข็งทื่อ ซึ่งเป็นการออกแบบชนิดเอาแบบออก ไม่เหลือสิ่งใด ๆ ที่พอจะเรียกได้ว่าเข้าข่ายการดีไซน์

ภายในตัวอาคาร มีเคาน์เตอร์สำหรับลงทะเบียนเหมือนโรงแรมทั่วไป ชายชาวรัสเซียวัยกลางคน รูปร่างผอม แก้มตอบ จมูกงองุ้ม ยืนนิ่งกวาดสายตาคมกริบมาที่ผมกับพี่หมี เมื่อเราหยุดยืนตรงเบื้องหน้า


“มีอะไรให้ผมรับใช้ได้บ้าง สหาย” ชายวัยกลางคนเอ่ยถามแทนคำทักทาย


“บอนด์ ผมชื่อบอนด์...บอนด์ไทร มาจากประเทศไทย” ผมพยายามเก๊กหน้าเหมือนฌอน คอนเนอรีตอนหนุ่ม ๆ แต่ดันไม่ค่อยเหมือน ยกเว้นแลดูแก่ใกล้เคียงกับอายุของเขาในปัจจุบัน


“ผมชื่ออีวาน สหายโปรดแจ้งวัตถุประสงค์” อีวานพูดเป็นประโยคบอกเล่าและประโยคคำถามในคราวเดียวกัน


“ส้มบางมดและทุเรียนเมืองนนท์” ผมเปรย ๆ เป็นประโยคไม่ถาม ไม่ตอบ และค่อนข้างผิดหลักไวยากรณ์ แถมยังปราศจากความรู้เรื่องแกรมม่า จนสอบตกวิชาภาษาอังกฤษมาตลอดชีวิต


ชายดังกล่าว พยายามเก็บอาการให้ดูสงบนิ่ง แต่ก็ไม่อาจปกปิด แววตาสะดุ้งตกใจชั่ววูบ ก่อนจะรีบคุมสติทำทีเป็นปกติ และกระแอมหนึ่งครั้ง

“อะแฮ่ม สหายต้องบอกรหัสให้เราทราบ ด้วยการกล่าวอะไรสักนิด”


ผมนิ่งอึกอักอยู่ครู่ใหญ่ตรงหน้าไมโครโฟน กวาดสายตาเหลือบมองดูอีวานตรงเคาน์เตอร์ และบรรดาพนักงานที่นั่งเรียงรายบนเก้าอี้ ทุกคนล้วนจับจ้องมาที่ผม

สิบห้าวินาทีผ่านพ้นไปแบบไร้สุ้มเสียง ก่อนที่ผมจะเอ่ยทำลายความเงียบ ด้วยประโยคที่จำมาจากหนังโฆษณาปตท.

“ผม...ผมขอฝากที่นี่...ให้...น้อง ๆ ช่วยดูแลด้วยครับ ขอบคุณครับ”

ทั้งหมดปรบมือเกรียวกราว อีวานเข้ามาสวมกอดผม พร้อมกับกล่าวว่า “รหัสถูกต้อง ยินดีต้อนรับสหาย”

เด็กชายพี่หมียิ้มกริ่ม เดินเข้ามาผสมโรงสวมกอด แต่โดนอีวานหยิบปืนขึ้นมาจ่อหน้าผาก

“เดี๋ยว บอกรหัสมาก่อน”

ผมเหงื่อหยดซึมซ่านจากปลายคางมากระทบต้นแขนจนแตกดังโพละ ทั้ง ๆ ที่ข้างนอกหิมะตกหนาวเย็นเหมือนทาแป้งตรางูขณะกำลังอาบน้ำ ส่วนเสี่ยหมีหน้าซีดเผือด ทั้ง ๆ ที่เนื้อตัวสกปรกมอมแมม

มันพยายามใช้ความคิดจนสุดชีวิต ก่อนโดนปลายปืนกระแทกหน้าผากเข้าอย่างจังอีกครั้งเป็นการเร่งรัด

“บ้านนี้เมืองนี้มันเป็นอะไรกันหมด จะเอากันให้ตายเลยหรือไง...ปัดโธ่!... ” เด็กชายพี่หมีตะโกนขึ้นเสียงอย่างหงุดหงิด

“รหัสไม่ถูกต้อง แกเป็นใคร”

“อั๊วชื่อเสี่ยหมี”

อีวานพยักพเยิดส่งสัญญาณกับบรรดาลูกน้อง “เอาตัวมันไปสอบปากคำ”

ชายร่างใหญ่สองคน ก้าวพรวดเข้ามาหิ้วปีกเด็กชายพี่หมีที่พยายามดิ้นรนขัดขืน ผมพยายามแทรกตัวเข้าไปขัดขวาง แต่ดันซุ่มซ่ามสะดุดขาตัวเอง ด้วยความประหม่าตื่นเต้นแบบที่ “ยู้ ๆ หรู่” (เชื่อรึยังครับว่า ประหม่าจริง ๆ ขนาดจะเขียนว่า “รู้ ๆ อยู่” ลิ้นยังพันกันมาถึงปลายนิ้วจนพิมพ์ผิด)

เจ้ายักษ์คนหนึ่งจึงปล่อยหมัดอัปเปอร์คัทเข้าไปเต็มพุงของเสี่ยหมี (ผมควรบอกด้วยว่า ในความฝันครั้งนี้ ไม่มีเด็กหรือสัตว์ใด ๆ ได้รับบาดเจ็บ หรือเป็นอันตราย ยกเว้นก็แต่เสี่ยหมีนี่แหละ)

ก่อนหมดสติ (เนื่องจากเกิดอาการจุกจนอ็อกซิเจนเลี้ยงสมองไม่ทัน) เด็กชายพี่หมีครวญครางเบา ๆ ว่า “บอกแล้วให้ไปลอนดอนดีกว่า มีสโมสรฟุตบอลอังกฤษให้ซื้อเยอะแยะเลย”

ผมค่อย ๆ ลุกขึ้นยืน ทั้งเจ็บ ทั้งอาย (ไม่ได้อายที่หกล้ม แต่อายที่พิมพ์ผิด) และโกรธ ยกมือชี้นิ้วด่าอีวาน “แก ไอ้คนใจโหด ทำร้ายแม้กระทั่งลูกหมีที่ไม่มีทางสู้, ลูกหมีสกปรก, ลูกหมีขี้ตะกละ, ลูกหมีนิสัยบ้า ๆ บอ ๆ, ลูกหมีหัวรุนแรงกลิ่นตัวเหม็น...ลูกหมี...”

เด็กชายพี่หมีพึมพำเหมือนละเมอทะลุกลางป้องขึ้นมา ทั้ง ๆ ที่ยังหลับตาหมดสติ “ไม่ต้องบรรยายสรรพคุณละเอียดก็ได้”

“หึ หึ หึ” อีวานหัวเราะชั่วร้ายเจ้าเล่ห์ฆ่าเวลา เลียนแบบหนังแอ็คชั่นหลากสัญชาตินับล้านเรื่อง ระหว่างที่ผมยังนึกไม่ออกว่าจะฝันยังไงต่อไป

“ความผิดของสหายก็คือ ลักลอบเข้าเมือง, ปลอมตัวเป็นสายลับอังกฤษ, มีพฤติกรรมเป็นจารชนสอดแนม และเป็นเพื่อนกับไอ้ลูกหมีเน่า ๆ ตัวนั้น เราคือดินแดนเจ้าของสมญาหมีขาว สหายกับสหายของสหาย (หมายถึง ผมกับเด็กชายพี่หมีซึ่งเป็นเพื่อนของผมที่ถูกอีวานเรียกว่าสหาย โอย! ตอนฝันก็ว่าปวดหัวแล้ว ตอนเขียนก็ยิ่งปวดหัวหนักขึ้นอีก) ลบหลู่เหยียดหยามพวกเราเป็นอย่างยิ่ง ถึงขั้นอภัยให้ไม่ได้ ผมเสียใจที่เราต้องใช้วิธีลงโทษขั้นเด็ดขาด”

สมุนของอีวานจับตัวผมไปเข้าห้องทรมาน ถูกตรึงแขนขาล่ามไว้ด้วยโซ่เหล็กกล้าบนเตียง ทั้งเนื้อทั้งตัวผมเหลือเพียงกางเกงบอลที่ใส่ตอนเข้านอน ส่วนท่อนบนโป๊และเปลือยจนต้องทำภาพเบลอ ๆ กันอุจาด

เจ้ายักษ์คนเดียวกับเมื่อหกเจ็ดย่อหน้าที่แล้ว หยิบน้ำแข็งก้อนมาลูบไล้บริเวณอก หลัง และคอของผม เหมือนทาวิคส์วาโปรับแก้หวัด ทำเอาผมสะท้านเยือกหนาวสั่นสุดขีด (โปรดอย่าลืมว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา ข้างนอกนั้นยังมีหิมะตกโปรยปรายอยู่เรื่อย ๆ)

นั่นเป็นแค่ความทรมานขั้นต้น เจ้ายักษ์หยิบน้ำแข็งอีกก้อน เทแป้งตรางูโรยน้ำแข็งจนขาวไปทั้งก้อน จากนั้นก็ลูบไล้ไปยังที่เดิม พร้อมทั้งปาลูกอมรสมินท์เข้าไปในปาก ขณะที่ผมร้องตะโกนสุดเสียง

“ช่วยด้วยยยยยยยยยย!!!!!!!!!!!”

ผมตกใจตื่นในชั่วเสี้ยววินาทีนั้นเอง ความรู้สึกแรกก็คือ หนาวชิบเป๋งเลยครับ เมื่อพยายามลืมตาอันสะลึมสะลือ นั่งงัวเงีย ถอนหายใจแรง ๆ อีกพักใหญ่ จึงค่อยค้นพบว่า ฝันร้ายเนื่องจากเมื่อคืนเผลอนอนใกล้พัดลมไปหน่อย ครั้นเหลียวซ้ายแลขวามองหาเด็กชายพี่หมี ก็ไม่มีวี่แววไร้ร่องรอย

จนเมื่อทิ้งตัวลงนอนอีกครั้ง เพื่อเตรียมจะฝันล้างแค้นช่วงชิงตัวเด็กชายพี่หมีกลับมา ผมถึงได้รู้ว่า มันแบนแต๊ดแต๋ติดอยู่กลางหลังของผมเอง

เหตุการณ์ในฝันครั้งที่สอง ไม่ได้เกิดขึ้นที่รัสเซียหรอกนะครับ อีวานและสมุนจึงโชคดี รอดพ้นจากการโดนเวรกรรมตามสนอง กลายเป็นผู้ร้ายลอยนวล

ส่วนผมและเด็กชายพี่หมี กลายเป็นนกเพนกวิน เดินเตาะแตะต้วมเตี้ยมอยู่แถว ๆ ขั้วโลกเหนือ

หลังจากตื่นนอนอย่างแท้จริงในอีกสองชั่วโมงต่อมา ผมกับเด็กชายพี่หมีก็หยิบเพลง “จากไปลอนดอน” ของวงชาตรีมาฟัง ประมาณว่าเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ

เราตกลงกันแล้วว่า คืนนี้อยากจะฝันถึงลอนดอนและบางคน-ที่คุณก็รู้ว่าใคร

ป.ล. สาบานได้ว่า เรื่องนี้เขียนเพื่อถ่ายทอดบอกเล่าความฝันบ้า ๆ บอ ๆ ของผมเอง ไม่มีแก่นสาร, ไม่ได้ซ่อนนัยยะ,ไม่มีความหมายแอบแฝง, ปราศจากแง่คิด, ไม่ได้แทรกสัญลักษณ์ใด ๆ ให้ตีความ หรือมีเจตนาจะกระทบชิ่งพาดพิงถึงคนเหลี่ยมคนไกลที่ไหนเลย แต่หากผู้อ่านท่านใดอยากจะคิดเช่นนั้น...ผมก็ขออนุโมทนา และหากนึกอะไรได้ก็อย่าลืมนำมาเล่าให้ผมฟังด้วย ชักอยากรู้อยากเห็นขึ้นมาบ้างเหมือนกัน




(เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "มนุษย์ไร้สาระวีหนึ่ง" โอเพนออนไลน์)

วันพุธที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ผู้หญิงแปลกหน้า โดย "นรา"


แม้ว่าผมจะยังคงลงมือเขียนต้นฉบับชิ้นนี้ที่ "เซฟเฮาส์" เหมือนเดิม แต่ฉากหลังของเรื่องที่จะนำมาเล่าสู่กันฟัง กลับเกิดขึ้นในดินแดนห่างไกล ต้องรอนแรมข้ามน้ำข้ามทะเล (และหลังคาบ้านอีกจำนวนนับไม่ถ้วน) ไปถึงลอนดอนนู่นเชียว

ผมนั้นใฝ่ฝันอยากเป็นนักเขียนเรื่องประเภทเดินทางท่องเที่ยว (ทั้งในและนอกราชอาณาจักร) มาตลอดสิบกว่าปี แต่เอาเข้าจริงก็ดูเหมือนจะเป็นไปได้ยาก เพราะความขาดแคลนทางด้านทุนทรัพย์ ครั้นจะแบกเป้เร่ร่อนตะลอนเที่ยวแบบถูก ๆ ก็ติดขัดตรงกลัวลำบาก (เช่น เกรงว่าจะโดนยุงกัด คิดถึงบ้าน และอดกินข้าวเหนียวทุเรียนกวน เป็นต้น)

นี่ยังไม่นับรวมความรู้ด้านภาษาอังกฤษที่มีน้อยร่อยหรอพอ ๆ กับหางอึ่งตัวสุดท้องที่ขาดสารอาหาร

ยิ่งถ้าหากพิจารณาไปถึงหน้าตาซึ่งไม่เป็นมิตรต่อเพื่อนร่วมโลก มิหนำซ้ำยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขอวีซ่าด้วยแล้ว ก็มีเหตุผลเหลือเฟือที่ผมสมควรจะปักหลักกบดานกักบริเวณอย่างมิดชิดด้วยความเจียมตัวประมาณตนอยู่ที่ "เซฟเฮาส์" เท่านั้น

หนทางเดียวที่พอจะเป็นไปได้คือ นั่งเฉย ๆ รอคอยจนกว่าจะมีใครมาเป็นเจ้าภาพเชิญไปเที่ยวเมืองนอก ชนิดดูแลอำนวยความสะดวกเสร็จสรรพเพียบพร้อมครบครัน ทั้งที่พัก อาหาร และตั๋วเครื่องบิน แต่ก็อีกนั่นแหละอยู่ดี ๆ คงไม่มีใครมาควักกระเป๋าทุกกระปุกพาคนสติไม่เรียบร้อยอย่างผมไปเที่ยวให้สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ

อีกวิธีที่ดูดีขึ้นมาบ้างเล็กน้อยก็คือ ลงมือเขียนเรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์ท่องเที่ยวต่างแดนให้เป็นกิจลักษณะ เพื่อพิสูจน์ให้เจ้าภาพในอนาคตทั้งหลายได้เห็นว่า ผมนั้นเข้าข่ายน่าพิจารณาพาไปเป็นลูกทัวร์ วิธีนี้ก็มีอุปสรรอย่างฉกรรจ์ตรงที่ว่า เมื่อไม่เคยไปเที่ยวมาก่อน ก็ไม่รู้จะสรรหาอะไรมาเขียนให้ทุกคนได้ประจักษ์ (ในความเป็นนักท่องเที่ยวดีเด่นสาขารักนวลสงวนฟอร์ม)

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผ่านมาเคยมีคนชวนผมไปเที่ยวเมืองนอกแลกกับข้อเขียนหนึ่งชิ้น เมื่อกลับมาทำงานชดใช้ตามกติกาเรียบร้อยแล้ว ผมก็แทบจะไม่ได้ลงมือทำอะไรเกี่ยวกับการเดินทางครั้งนั้นอีกเลย ทั้ง ๆ ที่แรกเริ่มเดิมทีได้ตั้งเป้าวางแผนร่างนโยบายเป็นโครงการมหึมายิ่งใหญ่อลังการเอาไว้ว่า จะเขียนเป็นหนังสือเล่มหนาขนาด The Lord of the Rings แช่น้ำจนบวมอืด

ความขี้เกียจนั้นเป็นเหตุผลอันดับแรก (เรื่องนี้น่าจะเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้ว) ถัดมาคือ ผมคิดว่าจำเป็นต้องค้นข้อมูลหาความรู้เพิ่มเติม (เงื่อนไขนี้สำหรับผมแล้ว ถ้าคิดจะทำจริง ๆ ง่ายดายหมูตู้ เพียงแต่โดยปกติ "ไม่ค่อยคิด" นะครับ) แต่อุปสรรคที่หนักหนาสาหัสกว่าได้แก่ การหาเวลาปลอดโปร่งโล่งจากงานอื่น ๆ ประมาณหนึ่งเดือนสำหรับลงมือเขียน ซึ่งโดยภาระความรับผิดชอบตามปกติของผม ไม่เอื้ออำนวยให้ทำเช่นนั้นได้อย่างราบรื่นเรียบร้อย

เหนือสิ่งอื่นใดคือ ผมไม่อยากเขียนบอกเล่าแค่ว่า วันไหนเมื่อไรไปเที่ยวไหนทำสิ่งใด (และสรุปสิ่งต่าง ๆ ที่พบเห็นว่า "สวยจัง") ผมปรารถนาจะเขียนถึงเรื่องราว สถานที่ และเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วยมุมมองสายตาความเข้าใจที่ลึกซึ้งกว่านั้น อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อจะได้ไม่แสดงอะไร "อวดโง่" และ "อวดฉลาด" ออกมาประจานตนเองจนเกินไป

นั่นย่อมหมายถึงการใช้เวลา ซึ่งไม่ได้จำเพาะเจาะจงแค่ห้วงขณะลงมือเขียน แต่ยังรวมระยะบ่มฟักความคิดและการทำความเข้าใจสารพัดสิ่งที่เจอะเจอในการเป็น "คนผ่านทาง" เพราะเหตุนี้เอง การไปเที่ยวหลากถิ่นหลายครั้งของผม (รวมถึงเมื่อคราวพา "พี่หมี" ขึ้น "พูห์กระดึง") จึงแทบไม่เคยคืบหน้าขยับเคลื่อนลงสู่บนหน้ากระดาษเลย ด้วยข้ออ้างง่าย ๆ คือ เรื่องราวในหัวของผมยังไม่เติบโตงอกงามจนได้ที่พอเหมาะ

เรื่องที่จะเล่าสู่กันฟังต่อไปนี้ก็เป็นกรณีหนึ่ง ซึ่งใช้เวลาเดินทางจากความทรงจำของผมสู่หน้ากระดาษเชื่องช้าเนิ่นนานถึงหกปี เหตุการณ์เกิดขึ้นตอนสาย ๆ วันหนึ่ง ขณะที่ผมกำลังเดินโต๋เต๋ตามตรอกซอกซอยต่าง ๆ ในลอนดอน จู่ ๆ ก็มีหญิงสาววัยยี่สิบต้น ๆ แต่งตัวสะอาดเรียบร้อย เดินจูงรถเข็นที่มีเด็กทารกอยู่ในนั้นตรงเข้ามาหา พร้อมทั้งเอ่ยปากขอเงินเป็นค่าอาหารลูกของเธอ ผมจึงหยิบเหรียญทั้งหมดที่มีอยู่ให้เธอ รวมแล้วตกประมาณ 3 ปอนด์กว่า ๆ (ตอนนั้นเทียบค่าเงินหนึ่งปอนด์เท่ากับห้าสิบบาท)

เธอรับเงินแล้วพูดกับผมหนึ่งประโยค ก่อนจะเดินลากรถเข็นจากไป

เรื่องนี้ติดค้างอยู่ในใจผมเสมอมา เมื่อนึกทบทวนย้อนหลัง ผมเกิดคำถามติดตามมาหลายข้อ เช่น เธอเป็นขอทานหรือเปล่า? ทำไมผมจึงให้เงินเธอโดยไม่กลัวว่าจะโดนโกหกหลอกลวง? และที่สำคัญ ทำไมผมจึงมีความสุขและรู้สึกดีเหลือเกินทุกครั้งที่นึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว?

ข้อแรกนั้นตอบง่ายครับ ผมคิดและเชื่อโดยสัญชาติญาณความรู้สึกว่า เธอไม่ใช่ขอทาน เป็นเพียงคนปกติธรรมดาที่บังเอิญกำลังตกอยู่ในช่วงเดือดร้อนเรื่องเงินทอง ผิดหรือถูกผมเองก็ไม่ทราบ แต่ปราศจากประโยชน์อันใดนะครับ ที่จะไปเที่ยวประเมินผู้อื่นให้อยู่ในฐานะต่ำต้อยด้อยกว่า ผมจึงเลือกเชื่อเช่นนี้ โดยไม่ใส่ใจต่อการพิสูจน์ข้อเท็จจริงใด ๆ ทั้งสิ้น

เรื่องโดนโกหกหลอกลวงยิ่งตอบง่ายกว่าเดิมเสียอีก ระหว่างการเชื่อผู้อื่นกับความหวาดระแวง ความรู้สึกปลอดโปร่งโล่งใจย่อมเทน้ำหนักไปที่อย่างแรกมากกว่า

นอกเหนือจากนี้ ผมเชื่อตัวผมเองครับ เมื่อสมองสั่งการว่า โปรดหยิบเงินให้แก่หญิงสาวคนนั้น ก็ป่วยการที่จะหาเหตุคัดค้านขัดแย้งกับตนเองให้วุ่นวายใจ อย่างไรก็ตาม ผมหาคำตอบไม่ได้ว่า ทำไมถึงให้เงินหญิงสาวคนนั้น (นี่เป็นเงินให้ "คนแปลกหน้า" ที่แพงมากสุดในชีวิตของผมเลยทีเดียว)

ตรงนี้โยงใยมาสู่ความอับจนปัญญาในการหาเหตุผลว่า ทำไมผมจึงเอนเอียงไปทางประทับใจเมื่อนึกถึงเรื่องราวเหล่านี้?

มีคำอธิบายที่ดูดี (แต่ผมคิดว่าไม่เป็นความจริง) อยู่มาก เช่น ผมสุขใจจากการได้ช่วยเหลือผู้อื่นที่อยู่ในฐานะลำบากกว่า

ผมสุขใจเพราะในห้วงเวลาดังกล่าว หญิงสาวคนนั้นกับผมสามารถสื่อสารถึงกัน โดยไม่มีพรมแดนทางภาษาหรือเชื้อชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เป็นความเข้าใจเบื้องลึกระหว่างเพื่อนมนุษย์ ซึ่งทำให้ผมรู้สึกหลุดพ้นจากภาวะแปลกปลอมผิดที่พลัดถิ่น

ผมสุขใจเพราะเรื่องนี้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจที่มีให้แก่กัน (แม้ว่าในความเป็นจริง ผมจะเชื่อทุกสิ่งที่เกี่ยวกับหญิงสาวคนนั้น แต่มันก็ไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้ผมเป็นสุขในการนึกถึงเรื่องนี้หรอก)

ผมมั่นใจนะครับว่า เหตุผลต่าง ๆ ที่หยิบยกมาข้างต้น ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง เพราะเมื่อไรก็ตามที่ผมพยายามจะเชื่อหรือยอมรับคำอธิบายเหล่านี้ ผมรู้สึกเกลียดความตอแหลของตัวเองขึ้นมาทันที

อะไรที่มันไม่จริง ต่อให้พยายามหว่านล้อมโน้มน้าวอย่างไรก็ย่อมเป็นสิ่งปลอม ๆ อยู่นั่นเอง

ผมตัดสินใจเขียนถึงเรื่องนี้ เนื่องจากเพิ่งจะได้ความกระจ่างว่า มีอยู่ 2 เหตุผลที่ทำให้ผมฝังใจกับเหตุการณ์ครั้งนั้น

แรกสุดคือ ตลอดเวลาที่หญิงสาวคนนั้นเอ่ยปากขอเงินจนกระทั่งเธอจากไป เมื่อย้อนรำลึกดูอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว พบว่าผมไม่ได้คิดคำนวณไตร่ตรองอะไรเลย ทุกสิ่งเกิดขึ้นอัตโนมัติโดยแทบไม่รู้ตัว

ตลอดชีวิตผมเคยทำสิ่งเดียวกันนี้บ่อยครั้งพอสมควร แต่นี่อาจเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ผมไม่ได้คิดอะไรเลย (โดยเฉพาะในแง่ของการหาเหตุผลประเมินผู้อื่น คำนวณบวกลบในเชิงกำไรขาดทุน หรือคาดหวังถึงผลตอบแทนที่จะได้รับ)

พูดให้ชัดกว่านั้น ผมไม่รู้สึกว่าได้ทำบุญทำกุศลอันใด และไม่ได้อิ่มเอิบสบายใจเพราะเหตุผลนี้

ผมเพิ่งมาพบว่า ความประทับใจในเรื่องนี้เกิดจากอีกเหตุผลหนึ่ง นั่นคือ หญิงสาวคนนั้นทำให้ผมสัมผัสได้ถึงความปรารถนาดีที่มนุษย์พึงมีต่อกัน

แน่นอนครับว่า ในกรณีนี้เธอต่างหากที่เป็นฝ่ายให้ ไม่ใช่ผม ก่อนจะอำลาจากกันเธอพูดข้อความประโยคหนึ่งกับผม

เป็นประโยคซึ่งผมคิดว่าสวยงาม และเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่เธอจะพึงให้ผมได้ในขณะนั้น
ขอสารภาพว่า ผมพบความยุ่งยากลำบากใจพอสมควรในการเขียนถึงเรื่องนี้ เพราะต้องระมัดระวังอย่างถึงที่สุด ไม่ให้โน้มเอียงไปทาง "ยกย่องเยินยอ" ตัวเอง (ถ้าใครอ่านแล้วยังรู้สึกเช่นนั้นอยู่ ก็น่าจะเป็นด้วยสาเหตุเดียวคือ ผมไร้ความสามารถในเชิงขีดเขียน)

ปกติแล้วผมไม่นิยมบอกกับผู้อ่านชัด ๆ โจ่งแจ้งหรอกนะครับว่า ประเด็นเป้าหมายที่ต้องการนำเสนอในงานเขียนคืออะไร? เพราะนอกจากจะขาดชั้นเชิง ไร้ความเป็นศิลปะแล้ว การ "บอกตรง ๆ" มักจะก่อให้เกิดความรู้สึกว่า "ยัดเยียด"

แต่ในข้อเขียนชิ้นนี้ ผมขอละเมิดข้อห้าม ด้วยการพูดอะไรตรงไปตรงมา ว่าสิ่งที่อยากจะถ่ายทอดส่งมอบสู่ผู้อ่านในเรื่องนี้ คือประโยคที่หญิงสาวคนนั้นเคยพูดกับผมเมื่อ 6 ปีที่แล้ว

ถ้อยคำนั้นก็คือ God Bless You
(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ “เขียนคาบเส้น” เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ ปี 2546 เดิมตั้งใจจะรวมไว้ใน “ข้าวมันเป็ด” ถัดจากบทความชื่อ “เซฟเฮาส์” แต่ก็เหมือนเดิมคือ ผมทำต้นฉบับหาย และเพิ่งหาเจอ เรื่องนี้เป็นบทความชิ้นสุดท้ายในคอลัมน์ "เขียนคาบเส้น" ด้วย ผมเขียนขึ้นโดยมีเจตนาตั้งใจจะให้มันแทนคำร่ำลากับผู้อ่าน-อย่างไม่เป็นทางการ-เนื่องจากขณะนั้นได้เตรียมตัวลาออกจากงานประจำแล้ว ในการเผยแพร่ครั้งนี้ จึงไม่ได้ปรับปรุงขัดเกลาอะไร นอกจากตรวจตราแก้ไขคำที่สะกดผิดให้ถูกต้องเท่านั้นเอง)

ป.ล. พูดถึงหนังสือ "ข้าวมันเป็ด" ขออนุญาตโฆษณาขายของอีกนิดว่า สามารถหาซื้อได้ในงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ ดูเหมือนจะมีขายเคียงข้างกับงานของเพื่อนร่วมสำนักพิมพ์อีก 2 เล่มคือ "อากาศอยู่ตรงนี้...หวังว่าคุณคงหายใจ" เขียนโดยญามิลา และ "สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามเกม" เขียนโดยจักรพันธุ์ ขวัญมงคลทั้งสามเล่มมีวางขายเฉพาะที่บู้ธบลูสเกล โซนซี ชั้นล่าง บู้ธหมายเลข M16 และที่บู้ธของ Open Book ในแพลนนารี ฮอลล์ บู้ธหมายเลข i01
ทุกเล่มลดราคาถูกกว่าหน้าปกประมาณ 20 บาท และไม่มีโปรโมชั่นแถมอะไรเป็นพิเศษ

วันพฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2551

เจค็อบจอมโกหก โดย "นรา"


ต้องนับเป็นความโชคร้ายอย่างยิ่งของหนังเรื่อง Jakob the Liar ซึ่งประสบความล้มเหลวด้วยสาเหตุหลักคือ ออกฉายทีหลัง Life is Beautiful รวมทั้งมีจุดสำคัญละม้ายคล้ายคลึงมาก จนใคร ๆ ก็อดไม่ได้ที่จะนำไปเทียบเคียงกัน และก็เป็นไปตามธรรมเนียม งานที่ออกฉายช้ากว่าย่อมเสียเปรียบทุกประตู

กรณีเช่นนี้คล้ายกับเมื่อครั้งที่ EDtv ของรอน เฮาเวิร์ดออกฉายหลัง The Truman Show ซึ่งถ้าว่ากันตามเนื้อผ้าแล้ว EDtv อาจไม่สนุกเท่า แต่ความเฉียบคมของประเด็นทางด้านเนื้อหาสาระ กล่าวได้ว่าไม่เป็นรอง หรืออาจจะลุ่มลึกกว่าเสียด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม คุณภาพโดยรวมของ EDtv และ Jakob the Liar จัดว่าน่าพึงพอใจและดีเกินกว่าที่จะล้มคว่ำไม่เป็นท่า

ผมนั้นปรับตัวเตรียมใจก่อนดู Jakob the Liar แล้วว่า จะพยายามไม่นึกถึง Life is Beautiful รวมทั้งหักห้ามใจไม่นำไปเปรียบซึ่งกันและกัน เอาเข้าจริง ๆ ก็แทบไม่ต้องใช้ความพยายามเลย เพราะรายละเอียดต่าง ๆ ผิดแผกกันอยู่มาก จนเป็นคนละเรื่องอย่างเห็นได้ชัด

แรกสุดก็คือ บรรยากาศหรืออารมณ์หลัก ๆ Life is Beautiful นั้น มีลีลาพาฝันแบบเทพนิยาย แม้เรื่องจะขมวดทิ้งท้ายเศร้าหมอง แต่ตลอดทั้งเรื่องก็ดูอบอุ่น สดใส และเต็มไปด้วยอารมณ์ขัน Jakob the Liar เริ่มต้นเหมือนจะเป็นเรื่องเล่าในแบบเดียวกัน ทว่าเมื่อเหตุการณ์ดำเนินไปเป็นลำดับ เห็นได้ชัดว่าเกาะเกี่ยวกับความสมจริงมากกว่า บรรยากาศหม่นทึมกว่า และไม่เน้นอารมณ์ขันเป็นด้านหลัก

Jakob the Liar ดัดแปลงจากนิยายของยูเรค เบคเคอร์ ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อปี 1969 ฉะนั้นข้อสงสัยที่ว่าจะลอกเลียน Life is Beautiful จึงเป็นอันตกไป

หนังจับความเหตุการณ์ในปี 1944 ฉากหลังเป็นเมืองหนึ่งในโปแลนด์ (ไม่มีการระบุสถานที่แน่ชัด) ชาวยิวโดนพวกนาซีกักล้อมจำกัดบริเวณอยู่ในย่านเสื่อมโทรม โดนใช้แรงงานเยี่ยงทาสแลกกับการปันส่วนอาหารพอประทังชีวิต

เรื่องเริ่มต้นด้วยเสียงบรรยายของเจค็อบ เล่ามุขตลกเกี่ยวกับวันตายของฮิตเลอร์ พร้อมทั้งอธิบายว่า ในยามยากแค้นลำเค็ญเช่นนี้ อารมณ์ขันเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ชาวยิวดำรงชีวิตอยู่รอด

เจค็อบเป็นอดีตพ่อค้าขายแพนเค้ก เมื่อนาซีรุกรานเข้ายึดครองโปแลนด์ เขาก็ใช้ชีวิตเพื่อให้ผ่านพ้นไปวัน ๆ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนไป จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่ขยายลามกลายเป็นเรื่องใหญ่

เจค็อบวิ่งไล่คว้ากระดาษหนังสือพิมพ์แผ่นหนึ่ง ซึ่งลอยไปตกหน้าประตูรั้วลวดหนาม ทหารยามระบุว่าเขามีความผิดในข้อหา ออกมาเพ่นพ่านเกินเวลาเคอร์ฟิว เจค็อบโดนสั่งให้ข้ามฟากไปรายงานตัวรับโทษต่อนายทหารนาซี ในตึกกองบัญชาการนอกค่าย

ที่นั่นชายหนุ่มชาวยิว ได้ฟังข่าวสารจากวิทยุโดยไม่ตั้งใจ รายงานข่าวกล่าวว่า กองทัพรัสเซียกำลังรุกคืบเข้ามาใกล้เพียงแค่ไม่กี่ร้อยไมล์

เจค็อบได้รับการยกโทษไม่เอาผิด แต่ปัญหาก็คือ เขากลับเข้าบริเวณปิดล้อมไม่ทันกำหนดเวลา ขณะกำลังหาลู่ทาง ก็พบกับเด็กหญิงชาวยิวที่หลบหนีจากรถไฟซึ่งมุ่งหน้าไปสู่ค่ายกักกัน ด้วยความที่ยายหนูตัวเล็ก ๆ ช่วยชีวิตเขาไว้ จนสามารถกลับมายังบริเวณบ้านอย่างปลอดภัย เจค็อบจึงตอบแทนด้วยการเลี้ยงดู และซ่อนตัวเธอไว้ในห้องเล็ก ๆ ใต้หลังคา
ชีวิตของชาวยิวในชุมชนแห่งนั้น น่าจะดำเนินไปตามปกติ คนที่ทนการทารุณกรรมไม่ไหว มีทางเลือกอยู่ 2 อย่าง ถ้าไม่หลบหนี (ซึ่งมีโอกาสรอดเพียงน้อยนิด) ก็รีบชิงฆ่าตัวตายด้วยความสิ้นหวัง

เพื่อนสนิทของเจค็อบ 2 คน ตัดสินใจทำเช่นที่ว่า แต่ก็ได้รับการยับยั้ง พร้อมทั้งบอกเล่าข่าวเกี่ยวกับกองทัพรัสเซีย ซึ่งกลายเป็นความหวัง สร้างขวัญและกำลังใจอย่างวิเศษ เมื่อโดนซักไซ้ไล่เรียงว่ารู้ข่าวจากไหน เจค็อบตอบสั้น ๆ โดยไม่มีโอกาสอธิบายเพิ่มเติมว่า รู้จากข่าวในวิทยุ

และแล้วข่าวร่ำลือเกี่ยวกับการที่เจค็อบซุกซ่อนวิทยุไว้ฟังข่าวในบ้าน ก็แพร่ลามลุกกระจายไปทั่ว เขากลายเป็นที่นับหน้าถือตาในหมู่ชาวยิว ยิ่งพยายามแก้ตัว ผู้คนก็ยิ่งเชื่อมั่นหนักขึ้นอีกว่า เจค็อบมีวิทยุอยู่จริง ท้ายสุดเขาก็ตัดสินใจแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ในสภาพตกกระไดพลอยโจน ต้องสวมรอยเป็นคนโกหก คอยกุข่าวหลอก ๆ ขึ้นมาปลอบประโลมใจพรรคพวกชาวยิว

เรื่องราวถัดจากนั้น ดำเนินไปในลักษณะเหมือนคนเดินไต่เส้นลวด เจค็อบต้องผ่านภาวะคับขันครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งจากความครุ่นคำนึงกังขาของชาวยิว การเอาตัวรอดจากฝ่ายนาซี ตลอดจนการต่อสู้ระหว่างคุณธรรมในใจกับการโกหก

บทสรุปทิ้งท้ายของหนังจบลงอย่างซาบซึ้ง ข่าวสารปลอม ๆ ของเจค็อบ กลายเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ช่วยให้ชาวยิวหลายคนหยัดยืนมีชีวิตอยู่รอด จนกระทั่งสงครามยุติลง ทำให้ชาวยิวบางคนที่เคยดำรงอยู่แบบตัวใครตัวมัน มีโอกาสได้เสียสละเพื่อผู้อื่น ช่วยเหลือประคับประคองกันฟันฝ่าวิกฤติ และคนเล็ก ๆ ที่ดูไม่มีความหมายอย่างเจค็อบ ก็ได้ประกอบวีรกรรมยิ่งใหญ่ โดยที่ตัวเขาเองก็ไม่ตั้งใจและไม่คาดคิดมาก่อน

สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนใคร ๆ จะเข้าใจผิดกันมากก็คือ หน้าตาภายนอกของ Jakob the Liar ชวนให้คาดเดาไปว่า เป็นงานสะท้อนภาพชีวิตชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในลักษณะเคลือบอารมณ์ขันเช่นเดียวกับ Life is Beautiful ทว่าแท้จริงแล้วงานชิ้นนี้จัดเป็นหนังชีวิตเข้มข้นมากกว่า

แต่ที่ตรงกันไม่ผิดเพี้ยน ได้แก่ สาระสำคัญว่าด้วยการมองโลกในแง่ดี ใช้การโกหกด้วยเจตนาดี เพื่อสร้างความหวัง หยิบยื่นกำลังใจให้แก่ผู้อื่น และยึดมั่นเกาะกุมเพื่อความอยู่รอด

แง่มุมปลีกย่อยอย่างหนึ่งที่คมคายมาก คือ การเทียบเคียงเจค็อบกับบรรดาประกาศก (Prophet) ในประวัติศาสตร์ของชนชาติยิว ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระเจ้า ทำหน้าที่ถ่ายทอดในสิ่งที่พระเจ้าต้องการ

ในความหมายที่ครอบคลุม "ประกาศก" หมายถึง ผู้ถ่ายทอดสาสน์จากพระเจ้าทั้งที่เกี่ยวกับอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

บทบาทลวงโลกของเจค็อบในด้านหนึ่ง ก็เป็นไปในลักษณะนี้

ที่ผมชอบมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในฉากเริ่มต้น เจค็อบวิ่งไล่คว้ากระดาษหนังสือพิมพ์อย่างเอาเป็นเอาตาย และมีกลิ่นอายพาฝันเป็นแฟนตาซีเหนือจริงอยู่นิด ๆ หนังใส่ภาพดังกล่าวเข้ามาโดยปราศจากคำอธิบาย แต่เมื่อเรื่องดำเนินไปเรื่อย ๆ คนดูก็เข้าใจได้ทันทีว่า กระดาษหนังสือพิมพ์แผ่นนั้นกับข่าวในวิทยุเป็นสิ่งเดียวกัน มันบอกเล่าข่าวสารซึ่งอาจจะเป็นหนทางสว่างให้แก่ชีวิตที่มืดมิดอับจนของชาวยิว (ทำให้ภาพกระดาษหนังสือพิมพ์พัดปลิวไปตามลมนั้น แลดูเหมือนสิ่งมหัศจรรย์หรือปาฏิหาริย์จากฟากฟ้า)

Jakob the Liar เป็นงานที่โรบิน วิลเลียมส์ตั้งใจและทุ่มเทอย่างมาก นอกจากจะรับบทนำแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างอีกด้วย การแสดงของเขาอยู่ในเกณฑ์ดีเมื่อเทียบกับงานช่วงหลัง ๆ ไม่เค้นอารมณ์ฟูมฟายจนเกินเลย ดูนิ่ง สงบ และเป็นปุถุชน แต่ก็มีจุดด้อยตรงที่อุตส่าห์แทรกใส่ฉากเจค็อบแกล้งอ่านข่าวจากวิทยุ ซึ่งเปิดโอกาสให้โรบิน วิลเลียมส์โชว์ความสามารถในเชิงตลก และการเลียนเสียงคนดังตามที่เขาถนัด แม้จะไม่บกพร่องร้ายแรง แต่ก็ทำให้บุคลิกของตัวละครซึ่งเป็นคนธรรมดาสามัญอย่างเจค็อบดูแกว่งไกวกลายเป็นดาราดังชื่อโรบิน วิลเลียมส์ไปชั่วขณะ

กระนั้นข้อบกพร่องดังกล่าวรวมทั้งช่วงที่เด็กหญิงหลบหนีจากรถไฟ ซึ่งดูง่ายดายอย่างเหลือเชื่อ ก็ไม่ได้ทำให้คุณภาพโดยรวมของหนังเสียหายมากนัก

แม้จะมี Life is Beautiful โดดเด่นยึดครองพื้นที่ในใจของผมส่วนหนึ่ง แต่ผมก็ชอบ Jakob the Liar มาก ๆ เช่นกัน




(บทความชิ้นนี้ เขียนไว้นานแล้วประมาณ 7-8 ปี ถ้าจำไม่ผิดน่าจะตีพิมพ์ในนิตยสาร Cinemag ในการเผยแพร่คราวนี้ ผมแก้ไขเพิ่มเติมบางส่วนเล็กน้อย และตัดทอนเนื้อความที่รกรุงรังออกไป รวมทั้งเปลี่ยนชื่อเรื่องเสียใหม่)

วันพุธที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2551

หายใจลึก ๆ หายใจฮึด ๆ โดย "นรา"


ช่วงเทศกาลกินเจที่ผ่านมา เป็นเวลาเดียวกันกับที่ผมเริ่มต้น “ถือศีลอด” โดยไม่มีอะไรเกี่ยวข้องพาดพิงถึงแง่มุมทางศาสนาใด ๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นเหตุผลทางด้านเศรษฐศาสตร์ส่วนตัวล้วน ๆ เลย

กล่าวคือ ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน ผมไปมีภาระรายจ่าย เป็นเงินก้อนใหญ่พอสมควร เพื่อป้องกันระบบการเงินไม่ให้สั่นสะเทือนได้รับผลกระทบจนเกินไป ผมจึงต้องใช้มาตรการรัดเข็มขัดเข้มงวดกับตนเองเล็กน้อยประมาณสัก 2-3 เดือน

อันนี้เป็นสูตรเฉพาะตัวที่ผมยึดมั่นเสมอมาในช่วงหลัง ๆ

ผู้ที่ชี้ทางสว่างให้แก่ผมในเรื่องนี้ ไม่ใช่นักวิชาการที่ไหนหรอกนะครับ แต่เป็นผู้กำกับหนังชื่อคุณเป็นเอก รัตนเรือง

ตอนช่วงใกล้ส่งท้ายปีเก่าขึ้นปีใหม่ที่ผ่านมา (2550-2551) ผมบังเอิญเจอคุณเป็นเอกแถว ๆ สะพานลอย หน้าห้างสรรพสินค้าหรูหราแถว ๆ ถนนสุขุมวิท

ผมกับคุณเป็นเอก มักจะเดินโต๋เต๋มาเจอกันตรงบริเวณสะพานลอยแห่งนี้อยู่บ่อยครั้ง จนท้ายที่สุดต่างฝ่ายต่างเลิกนับว่าเป็นความบังเอิญไปแล้ว และถือเป็น “พื้นที่ทับซ้อน” ร่วมกัน

เย็นวันนั้น ผมเพิ่งเดินออกมาจากร้านขายหนังสือ มุ่งตรงมายังสะพานลอยดังกล่าว ด้วยอาการลังเลใจอย่างรุนแรง

กล่าวคือ ผมไปเจอหนังสือขนาดมหึมา ปกแข็ง 2 เล่มจบ หนาเกือบ ๆ 5 นิ้ว สูงประมาณฟุตกว่า ๆ บรรจุกล่องอลังการ น้ำหนักประมาณเกือบ ๆ สิบกิโลกรัม เป็นผลงานการ์ตูนของท่านอาจารย์ดอน มาร์ติน (ชื่อเต็ม ๆ ของหนังสือชุดนี้ก็คือ The Completely Mad Don Martin)

อาจารย์ดอนนั้นเป็นหนึ่งในการ์ตูนนิสต์ระดับเสาหลักของนิตยสาร MAD และได้ชื่อว่าเป็นคนที่บ้าเพี้ยนสุดเหวี่ยง รวมทั้งตลกอย่างร้ายกาจ

อารมณ์ขันของอาจารย์ดอน จัดอยู่ในประเภทตลกโฉ่งฉ่าง เหมือนใช้ถาดตีหัวเรียกเสียงฮา แต่ที่เหนือไปกว่านั้นก็คือ มันหลุดพ้นจากเหตุผลความสมจริงโดยสิ้นเชิง จนไม่น่าเชื่อว่าจะมีใครคิดอะไรบ๊อง ๆ ได้ขนาดนี้

เอกลักษณ์ที่โดดเด่นอย่างยิ่งในการ์ตูนของอาจารย์ดอน ก็คือ ลายเส้นอันเฉียบขาด สวยงาม และเต็มไปด้วยซาวด์เอ็ฟเฟ็คแปลก ๆ ไม่เป็นภาษามนุษย์ แต่อ่านแล้วได้อารมณ์บ้าบอคอแตกดีแท้ และสอดคล้องกับลูกบ้าในภาพที่วาดเป็นอย่างยิ่ง (เช่น sazzikk, skruncha, kloonk, shtoink, thwop!, bzzownt!, yaauch, ga-shklurtz ฯลฯ)

ตามประสาลูกศิษย์ที่มีความติงต๊องอยู่ในสายเลือด เมื่อพบเห็นผลงานของอาจารย์ที่เคารพ วางปรากฎอยู่ต่อหน้าเป็นอภิมหาคัมภีร์ ผมจึงเกิดอาการอยากได้ คว้าหมับเข้าให้ทันที

จนกระทั่ง เหลือบดูป้ายบอกราคา ผมก็ต้องเกิดอาการอึ้งและใบ้รับประทาน

หนังสือชุดนี้ราคาหกพันกว่าบาทเท่านั้นเอง

ผมยืนเลียบ ๆ เคียง ๆ อยู่นาน หยิบขึ้นแล้ววางลงอยู่หลายครั้ง คิดคำนวณผลดีผลเสียประมาณ 700 กว่าข้อ ทำแบบนี้ซ้ำไปซ้ำมาประมาณครึ่งชั่วโมง จนรปภ. เริ่มด้อม ๆ มอง ๆ ผมด้วยอาการไม่ไว้วางใจ

ผมไม่ได้มีทีท่าเหมือนขโมยหรอกนะครับ แต่ดูคล้าย ๆ พวกโรคจิตที่ยกหนังสือขึ้น ๆ ลง ๆ แทนการบริหารร่างกายในสถานฟิตเนสมากกว่า

ท้ายสุดผมก็เดินเอามือจิกหัวตัวเองกระชากลากถูออกจากร้าน เพื่อจะได้มีเวลาไตร่ตรองให้รอบคอบกว่านี้ว่า จะซื้อหรือไม่ซื้อ

เดินมาจนพบกับคุณเป็นเอกตรงสะพานลอย หลังจากคุยทักทายไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบกันพอสมควร ผมจึงเล่าให้คุณเป็นเอกฟัง ว่าเพิ่งเจอะเจออะไรมา

ฟังรายงานแล้ว คุณเป็นเอกก็สรุปให้ผมฟังด้วยเหตุผลประมาณว่า “ถ้าไม่ซื้อ ก็อดได้นะ อาจมีคนมาคว้าตัดหน้าไปก่อน หรือถ้าจะไปเมืองนอก ก็คงซื้อได้ราคาถูกกว่านี้ แต่ลำบากอีตอนที่ต้องแบกขึ้นเครื่องบิน แถมค่าตั๋วเครื่องบินก็แพงด้วย จะฝากเพื่อนที่อยู่ต่างแดนซื้อ ก็บาปกรรมเปล่า ๆ เอางี้สิ ลองกลับไปนอนเล่นที่บ้านซักสามวัน ถ้าผ่านไปแล้ว ไม่รู้สึกอะไร ก็แปลว่าไม่ได้อยากได้จริง แต่ถ้าสามวันไปแล้ว ยังกินไม่ได้ นอนไม่หลับ หากชีวิตนี้ไม่ได้เป็นเจ้าของมัน ถึงตรงนั้นก็ซื้อเถอะ ยอมกินอยู่ยากจนทนลำบากซักเดือน ก็น่าจะพอไหว”

แสดงความเห็นเสร็จสรรพ คุณเป็นเอกก็ร่ำลาเดินจากไป พอคล้อยหลังห่างกันในระยะประมาณ 5 เมตร คุณเป็นเอกก็หันกลับมาเรียกผม พร้อมทั้งตะโกนบอกความเห็นส่งท้าย ที่เปี่ยมด้วยความเป็นกลางอย่างยิ่งว่า “ซื้อเถอะ!!!”

ผมก็กลับมานั่งคิด นอนคิดที่บ้าน หลับฝันเห็นหนังสือดังกล่าว ลอยตุ๊บป่องเรียกร้องความสนใจอยู่เบื้องหน้าถึงสามคืนเต็ม ๆ

ครบกำหนดวัดใจ ผมก็รีบไปเบิกเงิน ซื้อหนังสือของอาจารย์ดอนทันที

และแล้วผมก็เริ่มรู้จักกับฤดู “ถือศีลอด” เป็นครั้งแรก

ว่ากันตามตรง ผมก็ยังกินอยู่ไม่ต่างจากเดิมสักเท่าไร แค่ลดระดับความหรูหราจากมื้อละร้อยสองร้อยบาท มาใช้บริการข้าวแกงและก๋วยเตี๋ยวแถว ๆ ปากซอยใกล้บ้าน ซึ่งราคาย่อมเยาว์กว่า เปลี่ยนจากสัญจรเดินทางด้วยรถไฟฟ้ามาเป็นรถเมล์ และปักหลักอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ออกไปไหนโดยปราศจากกิจธุระอันจำเป็น

ผมรัดเข็มขัด ใช้ชีวิตมัธยัสถ์เช่นนี้อยู่หนึ่งเดือน รายจ่ายเกินงบไปหกพันกว่าบาท จากการซื้อหนังสือของอาจารย์ดอน จึงค่อยกลับมาเข้าที่เข้าทางตามเดิม

ถามว่าคุ้มไหม ก็ต้องตอบว่าคุ้มนะครับ เพราะหนังสือของอาจารย์ดอนนั้นสุดยอดจริง ๆ แม้ว่าลักษณะของอารมณ์ขัน จะเป็นอีกแนวทาง ที่นำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางรูปธรรมอันใดได้ยาก แต่ก็ก่อให้เกิดความสุขทางใจแก่ผมอย่างใหญ่หลวง

พ้นจากนั้นแล้ว ผมก็ผ่านเผชิญฤดู “ถือศีลอด” อีกหลายต่อหลายครั้ง ไม่ใช่เพราะว่า ฮึกเหิมรู้วิธีรับมือหรอกนะครับ โดยมากมักจะมีรายจ่ายพิเศษอันจำเป็น อยู่นอกเหนือชีวิตประจำวัน ย่างกรายมาเยี่ยมเยือนเป็นระยะ ๆ เช่น เครื่องเล่นดีวีดีหรือโทรทัศน์เจ๊ง ต้องซื้อใหม่, มีเหตุให้เดินทางไปต่างจังหวัด และอื่น ๆ อีกจิปาถะ ฯ

ทุกครั้งผมก็ใช้วิธีเดียวกันนี้ ผ่านพ้นเอาตัวรอดด้วยดีเสมอมา

นี่เป็นพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผม ที่เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด

ย้อนหลังกลับไปหลายปีก่อนหน้านั้น ผมไม่ได้เคร่งครัดทางด้านการใช้เงินเลยนะครับ ประมาณว่า เจอหนังสือของอาจารย์ดอน ผมก็ซื้อเลยทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาไตร่ตรอง

หลักการของผม มีอยู่แค่อย่างเดียวคือ ใช้เงินยังไงก็ได้ ขอเพียงให้ไม่เกินรายรับ มีเหลือเก็บออมบ้างเล็กน้อย และไม่เป็นหนี้

ผมใช้ชีวิตของผมแบบนี้มาหลายปี มีเงินฝากธนาคารก้อนหนึ่ง ปราศจากทรัพย์สินอื่นใดเพิ่มเติม นอกจากหนังสือ, ซีดี และดีวีดีกองพะเนินเทินทึก

จนกระทั่งปลายปี 2549 ผมก็เจอวิกฤติแบบนึกไม่ถึงมาก่อน มีรายจ่ายหนัก ๆ หลายครั้งติดกันในช่วงไม่กี่เดือน เงินเก็บเงินออมที่เคยมีหมดไปอย่างรวดเร็ว ได้หนี้ก้อนใหญ่จำนวนเท่าเงินฝากมาแทน (ผมเคยเขียนถึงเรื่องนี้ไปแล้วในบทความชื่อ “บทเรียนจากไร่อ้อย”)

ตอนนั้นเองที่ผมเกิดอาการใจทรุดขวัญเสีย พยายามนึกทบทวนสาเหตุว่า ผิดพลาดตรงไหน

เหตุการณ์หนักหน่วงสาหัสที่เกิดขึ้นกับผม มาจากปัจจัยง่าย ๆ สองอย่างเท่านั้นเอง คือ จู่ ๆ ก็เกิดรายจ่ายฉุกเฉินจำนวนมาก พร้อม ๆ กันก็เกิดจังหวะบวกสวนทางแบบส้มหล่น งานที่มีรายได้อันแน่นอนบางเจ้า เลิกกิจการปิดตัวไป รายรับที่เคยได้ตรงเวลา สะดุดหยุดชะงักล่าช้าขึ้นมาดื้อ ๆ (กล่าวคือ ค่าเรื่องหลายต่อหลายแห่งที่ผมควรจะได้รับ เกิดอาการล่าช้ามาก ๆ ขึ้นมาโดยพร้อมเพรียง)

ช่วงนั้น เงินค่าเรื่องที่ผมได้รับต่อเดือน (จากที่ควรจะได้ราว ๆ สองหมื่นถึงสามหมื่น) เหลือเพียง 1,500 บาท ขณะที่รายจ่ายฉุกเฉินนั้นซัดกระหน่ำเข้าไปหลายแสนบาท

ผมก็เลยได้ข้อสรุปใหม่ ที่เคยคิดว่าไม่ประมาทนั้น แท้จริงแล้วประมาทนะครับ คือ เชื่อมั่นในความแน่นอนของรายรับอันพึงได้มากไปหน่อย ทั้งที่สัจธรรมอย่างหนึ่งของการเป็นคนเขียนหนังสืออิสระนั้นมีอยู่ว่า รายได้มักมาช้ากว่าที่ควรจะเป็นเสมอ

ที่ผ่านๆ มา ผมไม่ค่อยมีแผนสอง แผนสาม เตรียมเผื่อเอาไว้ พอเข้ายามคับขัน จึงแกว่งไกวเสียศูนย์ไปพักใหญ่ ๆ

อย่างไรก็ตาม หลังจากท้อแท้ เซ็งห่าน (หนักกว่าเซ็งเป็ดเยอะเลย) หมดอาลัยตายอยาก (และมีอารมณ์ “อยากตาย” แก้เซ็งเล็กน้อย) ไปพักใหญ่ ๆ ผมก็ต้องรีบจิกหัวตัวเองลุกขึ้นมาแก้ไขเยียวยา

การคิดหาแผนสอง แผนสาม รองรับกันเหนียว ช่วยผมได้ตอนนี้นี่เอง นั่นคือ การหาที่เขียนเพิ่มเติม โดยอาศัยความผูกพันคุ้นเคยกันในอดีต และไม่เป็นการเข้าข่ายอ้อนวอนร้องขอให้ดูน่าเวทนา แต่เป็นแหล่งที่ซึ่งเขาต้องการและยินดีอยากจะให้ผมเขียน บวกกับการหาทางมีหนังสือรวมเล่มเพื่อให้ได้เงินก้อน (ซึ่งในที่สุดก็กลายเป็นหนังสือ “ซามูไรตกดิน”)

ถ้าจะกล่าวในเชิงโชคลางไสยศาสตร์ คำนึงถึงว่า จู่ ๆ ผมก็เกิดดวงซวยถึงคราวเคราะห์ เรื่องนี้ก็อาจบอกกล่าวเพื่อความอุ่นใจได้เหมือนกันว่า มันอาจจะจริงนะครับ แต่โชคร้าย (รวมถึงโชคดี) ไม่เคยเกิดขึ้นอยู่กับเราตลอดเวลา มันอาจมาแบบจู่โจมเป็นระลอก แต่แล้วก็จะผ่านพ้นไป และสลับเปลี่ยนข้ามฟากเป็นตรงข้ามสลับเวียนเปลี่ยนแปลงอยู่เนือง ๆ

ปลายปี 2549 คาบเกี่ยวถึงครึ่งแรกของปี 2550 อะไรต่อมิอะไรรุมเร้าสุมประดังในทางติดลบไปหมด แต่พ้นผ่านล่วงเลยช่วงนั้นไปแล้ว ก็มีโชคดีเข้ามาเยือนบ้างเหมือนกัน นั่นคือ มีคนติดต่อให้ผมทำงานชิ้นหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่งานเขียนในลักษณะปกติที่ผมคุ้นเคย (แต่จังหวะหน้ามืดมีอะไรผ่านหน้า ผมก็ต้องคว้าไว้หมดนะครับ)

ผมรับงานดังกล่าว ทั้งที่ไม่มีความมั่นใจเลยสักนิดว่าจะทำได้ ทว่าความยากลำบากที่ผ่าน ๆ มา ก็ช่วยให้กัดฟันกลั้นใจทำจนสำเร็จเสร็จสิ้น

ที่ผมนึกไม่ถึงก็คือ สุดท้ายแล้วมันกลายเป็นชิ้นงานที่ผมได้รับค่าตอบแทนเป็นจำนวนเงินก้อนหนึ่ง ซึ่งสูงกว่าที่คาดไว้เยอะทีเดียว และเยอะเพียงพอที่จะนำไปสมทบรวมกับรายได้จากงานอื่น ๆ ทำให้สถานการณ์เลวร้ายคลี่คลายกระเตื้องขึ้น จนสามารถคืนกลับสู่ด้านบวก

หลังผ่านพ้นวิกฤติมา ผมก็ได้รับบทเรียนเรื่องห้ามประมาท และใช้ชีวิตระมัดระวังรัดกุมยิ่งขึ้นกว่าเดิม

เชื่อเถอะครับว่า ความไม่แน่นอนและจังหวะดวงชำรุดติดลบนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยสงวนสิทธิไม่ต้องแจ้งเตือนให้ทราบล่วงหน้า

ช่วงปีที่ผ่านมา การเงินทั่วไปของผม ค่อนข้างปกติ จะซื้อหาอะไรแพง ๆ บ้าง ก็อยู่ในวิสัยทำได้พอสมควร แต่คนเราลองผ่านเหตุการณ์ย่ำแย่หนักหน่วงมาแล้ว พิษสงสาหัสของมันทำให้วางใจไม่ลงนะครับ ผมจึงต้อง “ถือศีลอด” ทุกครั้งเป็นการกันเหนียว

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเศร้า ที่นำมาเล่าสู่กันฟัง ผมเพียงอยากจะบอกว่า ใครที่กำลังตกทุกข์ได้ยากจากเหตุอันใดก็ตาม อย่าเพิ่งจิตตกเสียขวัญ อย่าเพิ่งสิ้นหวัง

ในตอนที่เดือดร้อนรากเลือดแทบอาเจียนเป็นน้ำตานั้น ทุกอย่างมันไม่ได้แย่ไปหมด มีเรื่องดี ๆ หลายอย่างแทรกปนอยู่ด้วยเหมือนกัน

ที่สำคัญในความทุกข์ยาก มันมีแรงขับอันยิ่งใหญ่เร้นลับบางอย่างแฝงอยู่ ซึ่งถ้าหากเป็นภาวะปกติสุข จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย

ข้อเขียน (ของผมเอง) หลายชิ้น ที่ผมชื่นชอบพึงพอใจเป็นการส่วนตัว รวมถึงงานจำนวนมากในช่วงเวลานั้น สามารถปรากฎเป็นรูปเป็นร่างขึ้นได้ (มีอยู่เดือนหนึ่ง ซึ่งผมขยันเป็นพิเศษ ทำงานวันละเกือบ ๆ ยี่สิบชั่วโมง) เป็นเพราะภาวะขมขื่นลำเค็ญล้วน ๆ เลยครับ

แค่หายใจลึก ๆ ตั้งสติดี ๆ และค่อย ๆ คิด (อาจจะตะโกนว่า “สู้โว้ย!!!” ประกอบเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจด้วยก็ได้) ชั่วประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นแหละ เหตุร้ายเรื่องท้อแท้ก็จะผ่านพ้นไป




(เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2551 เผยแพร่ครั้งแรกที่นี่)