วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

เมโลดี ที่รัก โดย "นรา"


ตอนที่หนังเรื่อง Melody หรือ “เมโลดี ที่รัก” เข้าฉายบ้านเรานั้น “ผมยังละอ่อนและซนแก่น” (ตรงนี้จะอ่านโดยร้องเป็นเพลงไปด้วยก็ได้นะครับ) เกินกว่าจะสนใจ จนต่อมาเมื่อโตขึ้นอีกนิด จึงค่อยรู้ซึ้งถึงอิทธิฤทธิ์ความโด่งดังของหนังเรื่องนี้

Melody เป็นหนังอังกฤษ สร้างเมื่อปี 1971 กำกับโดยวอร์ริส ฮัสไซน์ แต่คนที่มีชื่อเสียงประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงในเวลาต่อมาคือ อลัน พาร์คเกอร์ ผู้เขียนบท

Melody เจ๊งกระจายไม่เป็นท่าทั้งในอังกฤษและอเมริกา ทว่าหลังจากนั้นก็ค่อย ๆ ขึ้นหิ้งงานคลาสสิค เป็นขวัญใจของผู้ชมแบบหนังเฉพาะกลุ่ม (ซึ่งมีศัพท์เรียกขานกันว่า หนัง Cult) ที่น่าทึ่งก็คือ หนังประสบความสำเร็จท่วมท้นถล่มทลายในญี่ปุ่น (รวมถึงบ้านเรา) และบางประเทศทางแถบอเมริกาใต้

เฉพาะบ้านเรานั้น ผลสะเทือนจากหนังเรื่องนี้ ทำให้โปสเตอร์ติดฝาผนังภาพมาร์ค เลสเตอร์และเทรซี ไฮด์ คู่พระคู่นางในหนัง ขายดิบขายดีต่อเนื่องไปอีกนานหลายปี จนกระทั่งผมโตพอจะรู้ความหัดดูหนังฝรั่งแล้ว ความฮิตของเรื่องเมโลดีก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเลิกราหรือซาสร่างจางลง

ผมมามีโอกาสได้ดูเมโลดีครั้งแรก เมื่อเป็นวัยรุ่นเต็มตัว (ปัจจุบันอายุผมเทียบเท่ากับวัยรุ่นเต็มตัวจำนวนสองตัวรวมกัน) ตอนยุคที่แรกเริ่มมีวิดีโอเผยแพร่ในบ้านเราเรียบร้อยแล้ว ผลก็คือ ซาบซึ้งประทับใจและตกหลุมรักหนังเรื่องนี้เข้าอย่างจัง

จนกาลเวลาคล้อยเคลื่อนเข้าสู่ยุคดีวีดี เรื่องเมโลดีถือเป็นหนึ่งในหนังที่ผมเล็งไว้ว่าจะต้องซื้อหามาครอบครอง แต่ที่น่าแปลกก็คือ มันกลับกลายเป็นหนังหายาก และแทบไม่เคยปรากฎเป็นดีวีดีให้เห็นกันเลย

ล่าสุดผมก็เจอดีวีดีเรื่อง ซึ่งเป็นแผ่นที่ผลิตและออกจำหน่ายในญี่ปุ่น ปราศจากคำบรรยายภาษาอื่น ๆ ขณะที่ในหนังนั้นตัวละครพูดด้วยสำเนียงค็อกนีย์ซึ่งฟังยากเกินกว่าจะเข้าใจ แต่ต่อให้พูดจาชัดเจนกว่านี้ คนเก่งภาษาอังกฤษในทางติดลบอย่างผมก็ฟังไม่ออกหรอกนะครับ

ผมจึงจำเป็นต้องหันไปพึ่งพาใช้บริการของแผ่นแม่สาย (ผิดกฎหมายนะครับ ควรเลือกซื้อเฉพาะในกรณีจำเป็นเท่านั้น) ซึ่งนอกจากจะมีคำบรรยายไทยแล้ว ยังมีให้เลือกฟังเสียงพากย์ไทย โดยทีมพันธมิตรอีกต่างหาก

ก็เป็นไปตามปกติวิสัยของการหยิบเอาหนังเก่าที่เคยชื่นชอบประทับใจในอดีตมาดูซ้ำ ความรู้สึกไม่มั่นใจเกรงว่า จะไม่ดีเท่าเดิม หรือพบเห็นร่องรอยความเชยย่อมมีอยู่เยอะ

ข่าวดีก็คือ เมโลดีเป็นผลงานที่มีบรรยากาศและกลิ่นอายของหนังเก่าอยู่จริง (เช่น เสื้อผ้า ทรงผมของตัวละคร บ้านเรือน ข้าวของเครื่องใช้ รถยนต์ที่ปรากฎอยู่ในฉากหลัง ทั้งหมดนี้ดูห่างไกลจากสภาพปัจจุบันอยู่หลายสิบปี) แต่พ้นจากนี้แล้วก็ไม่มีอะไรเชย ทั้งประเด็นทางเนื้อหาและลีลาการเล่าเรื่อง เคยสร้างความประทับใจในกาลเก่าก่อนได้เพียงไร มาดูกันทุกวันนี้ก็ยังสามารถซาบซึ้งประทับใจได้เท่าเดิม

เปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพง่ายขึ้น เนื้อเรื่องและบรรยากาศหลายฉากหลายตอนในเมโลดี ชวนให้นึกไปถึงหนังไทยอย่าง “แฟนฉัน” อยู่บ้างเหมือนกัน คือ เป็นเรื่องราวความรักในวัยเยาว์ หรือที่เรียกกันว่า puppy love (ความรักของลูกหมา)

ที่แตกต่างกันอยู่บ้างก็คือ “แฟนฉัน” นั้นสะท้อนภาพความผูกพันระหว่างตัวเอก ในด้านบริสุทธิ์สวยงาม มีน้ำหนักของความเป็นเพื่อนผู้รู้ใจมากกว่ารักกันลั่นเปรี้ยงแบบชายหนุ่มหญิงสาว รวมทั้งแง่มุมปลีกย่อยเกี่ยวกับเด็กชายที่มีเพื่อนเล่นเป็นหญิง และอยากจะทำตัวให้เป็นที่ยอมรับเพื่อเข้ากลุ่มกับเด็กซน ๆ เพศเดียวกัน ขณะที่ในเมโลดีนั้น เจ้าหนูตัวเอก เป็นลูกคนรวยฐานะดี เปลี่ยวเหงา ไม่เข้าพวกกับใคร ซ้ำร้ายความผูกพันกับพ่อแม่ ก็ดูเหมือนมีช่องว่างเหินห่าง เหมือนอยู่คนละโลก เป็นเหตุให้เมื่อพบกับสาวน้อย (ที่เปลี่ยวเหงาพอ ๆ กัน) ชื่อเมโลดี ทั้งสองจึงตกหลุมรักแบบไร้เดียงสากันอย่างรวดเร็ว ถึงขั้นตัดสินใจว่าจะแต่งงาน โดยไม่รู้ไม่เข้าใจเสียด้วยซ้ำว่า การใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันแบบผู้ใหญ่นั้นเป็นเช่นไร? (ทั้งเขาและเธอ คิดแค่ว่า แต่งงานแล้ว จะได้มีเวลาอยู่ด้วยกันเยอะ ๆ)

นอกจากเมโลดีจะเสนอแง่มุมว่าด้วยความรักแก่แดดแก่ลมเกินวัยแล้ว ประเด็นรองลงมาของหนังกลับแรงมาก คือ สะท้อนเนื้อหาว่าด้วยความขัดแย้งในโลกของเด็กกับผู้ใหญ่ ซึ่งเต็มไปด้วยการไม่ลงรอย จนนำไปสู่พฤติกรรมต่อต้าน ดื้อด้าน และถึงขั้นลุกขึ้นมาทำบางสิ่งบางอย่าง ในลักษณะที่เป็น “ขบถ” ต่อกฎระเบียบคำสั่งของพวกผู้ใหญ่

อย่างไรก็ตาม คุณพี่อลัน พาร์คเกอร์แกก็เก่งจริง ๆ ในการทำให้เรื่องราวที่ล่อแหลมคาบลูกคาบดอก ออกมาในลีลานุ่มนวล อ่อนโยน และควบคุมระดับความก้าวร้าวต่าง ๆ ให้อยู่ในขอบเขตของความน่ารักน่าเอ็นดู

หนังเต็มไปด้วยอารมณ์สุข เศร้า เหงา และรักครบถ้วนตามธรรมเนียม และยิ่งโดดเด่นมากเมื่อใช้เพลงประกอบของวงบีจีส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะฉากที่เด็กหญิงเมโลดีเล่นหยอกเย้ากับปลาทองในบ่อน้ำตื้น ๆ ตามลำพัง รวมถึง “ภาพจำ” ที่คู่พระเอกนางเอกวัยเยาว์ นั่งกอดคอกันตากฝน โดยมีเพียงกระเป๋าหนังใบเล็ก ๆ แทนร่ม เป็นภาพสั้น ๆ ที่ไม่มีอะไรเร่งเร้าหรือพิเศษพิศดาร แต่เห็นแล้วก็ขนลุกและรู้สึกได้ทันทีว่า “จี๊ด” มาก

เช่นเดียวกับตอนที่ดู “แฟนฉัน” จบลง เรื่องเมโลดีก็ทำให้ผมต้องหวนระลึกนึกย้อนไปถึงหญิงสาวคนหนึ่งชื่อน้องกุ๊กไก่ ที่เคยเรียนชั้นป. 2 ด้วยกัน ซึ่งเป็นการแอบรักอยู่ฝ่ายเดียวครั้งแรกในชีวิตของผม

ถ้าเธอเผอิญได้มีโอกาสอ่านข้อเขียนชิ้นนี้ ผมก็อยากจะบอกว่า ยังคิดถึงอยู่เสมอ และขอโทษด้วยที่เคยทำตัวโรแมนติคแซ่บซึ้ง ด้วยการแย่งขนมของกุ๊กไก่มากิน

ยังรู้สึกผิดไม่หาย ที่ครั้งหนึ่งในอดีต ผมเคยทำให้กุ๊กไก่ต้องเสียน้ำตา (กุ๊กไก่คงไม่รู้หรอกว่า ลึก ๆ ในใจผมเจ็บปวดยิ่งกว่าเธอมากมายหลายเท่า โฮ! เขียนไปแล้วก็รู้สึกเศร้าและน้ำเน่าจังเลย)

(เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ Romantic Comedy นิตยสาร Hamburger)

ซามูไรตกดิน โดย "นรา"

วันนี้ขออนุญาตมาขายของกันซึ่ง ๆ หน้า เนื่องจากผมเพิ่งมีพ็อคเก็ตบุคชื่อ “ซามูไรตกดิน” เป็นการรวมข้อเขียนเกี่ยวกับหนังญี่ปุ่นล้วน ๆ ออกมาวางแผง

ยอมรับครับ ว่าเขียนเอง ขายของเองเช่นนี้ โดยอาศัยหน้ากระดาษและช่องทางที่มีอยู่ในมือ เป็นเรื่องที่แลดูน่าเกลียด แต่ผมก็มีวิธีบอกกล่าวสื่อสารกับท่านผู้อ่านแค่หนทางนี้เท่านั้น
อีกอย่างหนึ่ง ผมไม่เคยเขียนคำนำให้กับหนังสือของตัวเองมาก่อนเลย (ด้วยเหตุผลว่า รู้สึกเขินนะครับ) จึงอาจมีรายละเอียดบางประการตกหล่นไม่ได้รับการชี้แจง จนต้องมาอาศัยเบียดเบียนเนื้อที่ตรงนี้

อันดับแรกคือ ข้อเขียนที่ปรากฎในหนังสือ “ซามูไรตกดิน” ไม่ค่อยเฉียดใกล้มีคุณสมบัติของ “บทวิจารณ์ที่ดี” สักเท่าไรหรอกนะครับ โน้มเอียงไปทางบทความแนะนำหนังเสียมากกว่า

แม้จะมีอาชีพเป็นสิ่งมีชีวิตสติไม่เรียบร้อยที่เรียกว่า “นักวิจารณ์หนัง” แต่โดยส่วนตัวผมเองในระยะหลัง ไม่ค่อยสนใจที่จะเขียนงานวิจารณ์อย่างเอาจริงเอาจัง และตั้งเป้าเบนเข็มมุ่งไปทางเล่าสู่กันฟังแบบสบาย ๆ เป็น “คู่มือนักบริโภค” เต็มตัว

เรียกได้ว่าเป็นขั้วตรงข้ามกับงานเขียนยุคแรกเริ่มใน “หนังและวิดีโอ” หรือ “ฟิล์มวิว” ซึ่งเน้นการหาข้อมูลอย่างละเอียด รวมทั้งเน้นการตีความสัญลักษณ์ต่าง ๆ ตามประสาเด็กหนุ่มไฟแรง

ผมมีความเห็น, มีเหตุผลเยอะแยะมากมาย ที่จะเลือกคลี่คลายเปลี่ยนแปลงตนเอง เดินมาสู่เส้นทาง “คู่มือนักบริโภค” ด้วยเจตนาและความตั้งใจ ซึ่งถ้าหากจะสาธยายแจกแจงโดยถี่ถ้วนแล้ว ก็คงกินเนื้อที่ยืดยาว แต่สรุปโดยรวบรัด นี่คือ การเลือกเป็นในสิ่งที่สอดคล้องเหมาะกับนิสัยใจคอของตัวผม

เดิมทีเมื่อคิดจะรวมเล่ม ผมตั้งใจจะนำข้อเขียนทั้งหมดที่มีเนื้อหาว่าด้วยหนังญี่ปุ่น ซึ่งประมาณจำนวนคร่าว ๆ หยาบ ๆ ได้ราว ๆ 150 ชิ้น (และมีงานเขียนยุคแรก ๆ อยู่เยอะพอสมควร) มาบรรจุเป็นที่เป็นทางในคราวเดียวกันให้ครบถ้วน

ปัญหาก็คือ ผมเป็นนักเขียนที่มีวินัยเฉพาะแค่ตอนทำงาน พ้นจากนั้นแล้วก็เละเทะไร้ระเบียบ โดยเฉพาะในด้านการเก็บรักษาต้นฉบับ เมื่อถึงคราวจำเป็นต้องนำกลับใช้งานอีก ผลปรากฎว่า ต้นฉบับส่วนใหญ่ได้สูญหายกระจัดกระจายไปเกือบหมด รวบรวมค้นเจอเพียงแค่ 120 ชิ้น (ในจำนวนนี้ เป็นผลมาจากน้ำใจและความเอื้อเฟื้อของคุณสนธยา ทรัพย์เย็นแห่งฟิล์มไวรัส ซึ่งช่วยรวบรวม ค้นหา และถ่ายสำเนามาให้หลายต่อหลายชิ้น ต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับ)

ถัดมาคือ เมื่อนำต้นฉบับที่เหลือและสามารถค้นพบ มาขัดเกลาแก้ไขใหม่ ปัญหาใหญ่ก็เกิดขึ้นทันที ขั้นต้นการเขียนต่างกรรมต่างวาระในพื้นที่หลาย ๆ สนาม (ซึ่งมีส่วนบังคับทางอ้อมให้ต้องเขียนในลีลาแตกต่างกัน) ส่งผลให้ข้อเขียนของผมแลดูลักลั่นไม่เป็นเอกภาพ มีทั้งงานเบาโหวงปนกับหนักอึ้งตึงเครียด อีกทั้งยังปรากฎความคิดและข้อมูลซ้ำกันอยู่หลายที่หลายแห่ง บางชิ้นงานก็พาดพิงถึงเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นในสังคมรอบข้างขณะเขียน เมื่อเวลาพ้นผ่านจึงกลายเป็นส่วนรกรุงรังนอกเรื่องเกินจำเป็น

นี่ยังไม่นับรวมงานจำนวนหนึ่ง ซึ่งสะท้อนชัดถึงความอ่อนด้อยไร้ประสบการณ์ทางความคิดของผม ในขณะลงมือเขียนนั้นไม่รู้และไม่เห็นรอยแผลหรอกนะครับ ล้วนมาประสบพบเจอขณะแก้ไขทั้งสิ้น

งานส่วนใหญ่ที่เขียนใน “หนังและวิดีโอ” และ “ฟิล์มวิว” โดนคัดทิ้งออกไปเกือบหมด เนื่องจากแก้ไม่ไหว ไปไม่รอด ปัญหาสำคัญคือ มันจงใจแสดงข้อมูลเยอะเกินจำเป็น เขียนด้วยลีลาเยิ่นเย้อ (เพื่อให้ได้ความยาวมาก ๆ) จริง ๆ แล้วสิ่งเหล่านี้ยังอยู่ในวิสัยที่แก้ได้ครับ แต่เหนือสิ่งอื่นใด มันเต็มไปด้วยความพยายามที่จะตีความ โดยตัวผมเองยังคิดอ่านไม่ชัดเจนเพียงพอ กระทั่งกลายเป็นการ “ลากเข้ารกเข้าพง” จนสามารถสรุปได้ว่า “มั่ว” และผมเองก็จนปัญญาในการขัดเกลาให้มันดีมีความสมเหตุสมผลมากกว่าที่เป็นอยู่

การแก้ไขขัดเกลาแล้วเกิดความรู้สึก “ไม่พอใจ” และ “ไม่มั่นใจ” งานเขียนของตนเอง เป็นสิ่งที่ผมเจอะเจออยู่เป็นประจำ และน่าจะเป็นสาเหตุใหญ่สาเหตุหลัก ที่ทำให้ผมมีหนังสือรวมเล่มออกมาน้อยมาก คือ แค่ 3 เล่มในรอบ 10 ปี เฉลี่ยแล้วทุก ๆ 5 ปี จึงจะมีหนังสือออกมาสักเล่ม

กล่าวคือ ตอนเพิ่งเขียนเสร็จนั้น ส่วนใหญ่ผมมักจะรู้สึกพอใจและเห็นว่าใช้การได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เติบโตขึ้น หวนกลับมาอ่านทบทวนย้อนหลัง มักปรากฎร่องรอยข้อตำหนิอยู่เสมอ อันนี้เป็นธรรมชาติของคนทำงานเขียนหนังสือเกือบทุกคนนะครับ

ผมมักจะ “ยึดติด” ปล่อยวางไม่ลงเสมอเมื่อต้องรวมเล่ม ตอนเขียนลงตามนิตยสารและสื่อต่าง ๆ อาจมีข้อจำกัดด้านเวลาทำงาน, การเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่พ่วงรวมกับข้อเขียนอื่น ๆ จำนวนมาก หากสิ่งที่ผมเขียนจะย่อหย่อนจืดชืดอ่อนด้อยไปบ้าง ผมคิดว่าผู้อ่านยังพอเข้าใจและยินยอมให้อภัยได้บ้าง แต่การรวมเล่มเป็นผลงานของตนเองตามลำพัง ผมเกรงใจท่านผู้อ่านที่จ่ายเงินอุดหนุนนะครับ และเชื่อเหนียวแน่นฝังลึกว่า ต้องนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุด

งานเก่า ๆ ของผมมันไม่ค่อยจะมีสิ่งที่ดีที่สุด ในปริมาณเพียงพอจะรวมเล่มนำเสนอด้วยความภาคภูมิใจ นั่นเป็นสิ่งที่ผมรู้สึกอยู่บ่อย ๆ เวลาหยิบกลับมาอ่านใหม่ และลงมือแก้ไข

มีบางครั้งเหมือนกันที่ผมเขียนงานเสร็จ ส่งไปลงตีพิมพ์ โดยไม่กล้าเปิดอ่าน เพราะรู้ตั้งแต่ขณะลงมือทำว่า มันไม่ดี (ด้วยสาเหตุปลีกย่อยสารพัดสารพัน) และจำเป็นต้องปล่อยออกสู่สายตาผู้คน เพราะถึงกำหนดต้องส่งต้นฉบับ

เกิดสภาพเช่นนี้ทีไร ได้แต่รู้สึกอับอายอยู่ลึก ๆ แม้จะไม่มีใครล่วงรู้หรือกล่าวตำหนิให้ได้ยิน แต่ผมก็ต้องหวนกลับมาทะเลาะและลงโทษตนเองเสมอ

หากมีงานประเภท “เขียนแล้วอยากลืม” ปรากฎในการรวมเล่ม สำหรับผมแล้วนี่เป็นความทุกข์และความผิดบาปมหันต์ ที่ปล่อยให้เกิดความผิดพลาดซ้ำสอง

นี่คือ เหตุผลที่ทำให้ข้อเขียนหลายชิ้น ซึ่งบรรดาแฟนเก่าเจ้าประจำหลายท่านอยากเห็นรวมอยู่ในเล่ม ตลอดจนผลงานเรื่องสำคัญ ๆ หรือหนังดังซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีอย่าง Spirited Away, Princess Mononoke, Always หรือ Memories of Matsuko ฯ ไม่มีปรากฎอยู่ใน “ซามูไรตกดิน”
ท้ายที่สุด ข้อเขียนซึ่งปรากฎในหนังสือ จึงเหลือแค่เพียง 76 ชิ้น เป็นบทความกล่าวถึงยาสึจิโร โอสุผู้กำกับคนโปรดของผม และบทความเกี่ยวกับหนังญี่ปุ่นอีก 75 เรื่อง

“ซามูไรตกดิน” เป็นหนังสือที่ผมแก้ไข ตัดทอน เพิ่มเติม เปลี่ยนแปลง เยอะพอสมควรนะครับ และถ้าหากไม่โดนบีบรัดโดยเงื่อนไขทางด้านเวลากำหนดส่งงานครั้งสุดท้าย ผมก็คงจะใจเย็นขัดเกลาได้อีกเรื่อย ๆ ไม่รู้จักจบ (และไม่เห็นแววเลยว่าจะสิ้นสุดยุติเมื่อไหร่)

อันนี้ไม่ใช่เป็นเพราะความประณีตพิถีพิถันหรอก แต่เป็นด้วยข้อจำกัดทางด้านความสามารถ รวมถึงนิสัยในการทำงานเขียนของผมเอง ซึ่งยัง “ดีไม่พอ” จนทำให้ต้องมาตกระกำลำบากเวลาจะรวมเล่ม

ระหว่างขัดเกลาแก้ไขต้นฉบับต่าง ๆ ใน “ซามูไรตกดิน” ผมได้ไปอ่านเจอบทสัมภาษณ์คุณเขาทราย แกแลคซีในนิตยสาร Way อ่านแล้วผมก็อึ้งและได้รับบทเรียนครั้งสำคัญในการทำงาน

คุณเขาทรายนั้น สมัยที่ยังต่อยมวยได้ชื่อว่าเป็น “มืออาชีพ” ขนานแท้ มีวินัยดีเยี่ยม ซ้อมหนัก ขยัน และดูแลตารางกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ อย่างเข้มงวดแม่นยำ ทั้งหมดนี้คุณเขาทรายบอกว่า “ทุกข์ทรมาน” สุดขีด แต่ก็ยินดีกระทำสม่ำเสมอโดยไม่บิดพลิ้วงอแง ด้วยเหตุผลสั้น ๆ คือ “เวลาต่อยจริง ซ้อมเยอะ เจ็บน้อย ซ้อมน้อย เจ็บเยอะ”

ข้อเขียนส่วนใหญ่ใน “ซามูไรตกดิน” เกิดขึ้นด้วยกรรมวิธี “ซ้อมน้อย” ใช้เวลาเขียนไม่มากนัก เมื่อมาต่อยจริงตอนรวมเล่ม ผมจึง “เจ็บเยอะ” ต้องขัดเกลาแก้ไขนานเป็นพิเศษ (เพื่อจะพบว่า หลายชิ้นก็อาการหนักจนไม่อาจกอบกู้เยียวยาได้เลย)

กล่าวแบบจริงใจ ผมคิดว่าข้อเขียนต่าง ๆ ใน “ซามูไรตกดิน” แม้จะผ่านการแก้ไขมาค่อนข้างมากแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ดีถึงขนาดห้ามพลาด ประเมินแบบตรงไปตรงมา ผมคิดว่าแค่อยู่ในระดับพออ่านได้และสนุกเพลิดเพลินพอประมาณเท่านั้น

โดยส่วนตัว เมื่อหนังสือสำเร็จเสร็จออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ข้อเขียนทั้งหมด-แม้จะไม่ดีถึงขั้นชอบมากประทับใจเป็นพิเศษ-ทว่าสามารถกล่าวได้เต็มปากว่า “ผมพึงพอใจ” ดังนั้นหากจะมีท่านใดอ่านแล้ว รู้สึกผิดหวัง ไม่สบอารมณ์ หรือเห็นว่าอ่อนด้อยตื้นเขิน ขอให้นับเป็นความบกพร่องของผมโดยตรงแต่เพียงผู้เดียว ไม่มีอะไรต้องแก้ตัวหรือหยิบยกมาเป็นข้ออ้างอีกแล้วล่ะครับ

อย่างไรก็ตาม ขณะลงมือแก้ไขต้นฉบับ และอ่านซ้ำเมื่อถึงขั้นตอนตรวจปรูฟ ถือเป็นช่วงเวลาที่ผมมีความสุขอย่างยิ่ง และหวังว่าความชอบพอส่วนตัวเหล่านี้ คงจะไม่ตกหล่นพลัดหาย สามารถหลงเหลือมาแบ่งปันสู่ท่านผู้อ่านบ้างตามสมควร

หากนับ “ซามูไรตกดิน” เป็นแค่ของซื้อของขาย ผมคิดว่านี่เป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นอย่างซื่อสัตย์ จริงใจ และไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อ่าน ข้อบกพร่องผิดพลาดต่าง ๆ คงจะมีอยู่และมีเยอะด้วย แต่ก็สืบเนื่องมาจากความอ่อนด้อยและศักยภาพอันจำกัดของตัวผมเอง ไม่ใช่เพราะความมักง่ายฉาบฉวยเลินเล่อ

ตรงนี้ผมสามารถกล่าวยืนยันด้วยความมั่นใจ

ถ้าเปรียบหนังสือที่ผมเขียนแต่ละเล่มเป็นเสมือนลูก ผมรัก “จอมยุทธจับฉ่าย” ในฐานะลูกคนแรก รัก “จับแป๊ะชนแกะและพูห์ทองแท้” ในฐานะเด็กติงต๊องนิสัยซุกซนและไม่ยอมโต

ส่วนคนล่าสุด “ซามูไรตกดิน” ผมรักในฐานะลูกคู่ทุกข์คู่ยาก (และคลอดยาก) นะครับ

(เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ Play Time นิตยสาร Filmmax)

วันอังคารที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ขนมเปียกอ่อน โดย "นรา"

เมื่อตอนผมอายุสิบขวบ ครอบครัวได้ย้ายมาอยู่ที่ห้วยขวาง ในซอยสวัสดี ถนนประชาสงเคราะห์ ซึ่งมีโรงหนังเพชรสยาม และตลาดยอดขวัญเป็นสถานที่สำคัญ


ปัจจุบันโรงหนังโดนทุบทิ้งไปหลายปีดีดัก ไม่หลงเหลือเค้ารูปเดิมใด ๆ ให้เห็นอีกเลย แต่ปรากฎอพาร์ทเมนท์ขนาดใหญ่ขึ้นมาแทนที่ ส่วนตัวตลาดยังคงอยู่ แม้ว่าจะโดนตัดเฉือนหายไปครึ่งหนึ่งของเนื้อที่ดั้งเดิม

บริเวณป้ายรถเมล์ใกล้ปากซอยเข้าบ้าน มีคุณยายท่านหนึ่งหาบขนมมาปักหลักขาย บนทางเท้าริมถนนแถว ๆ นั้นทุกค่ำคืน ตั้งแต่ราว ๆ ทุ่มนึงถึงสามทุ่มโดยเฉลี่ย

ตอนนั้นผมยังเด็กและเลินเล่อเกินกว่าจะใส่ใจสังเกตรายละเอียดใด ๆ ให้ถี่ถ้วน จึงได้แต่คาดคะเนเอาจากความรู้สึกของผมในปัจจุบันนะครับว่า ยายน่าจะมีอายุประมาณเจ็ดสิบต้น ๆ

ยายใส่เสื้อขาวแขนยาว นุ่งผ้าถุง สวมงอบ หาบกระจาด ครบถ้วนตามเอกลักษณ์ของแม่ค้าไทยขนานแท้ทุกประการ เป็นภาพคุ้นตาที่คนละแวกนั้น สามารถพบเห็นได้ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่เคยเปลี่ยนรูปลักษณ์เป็นอื่น


รายละเอียดที่ผมยังพอจดจำได้ก็คือ ใบหน้าของยายเต็มไปด้วยริ้วรอยยับย่น ผมหงอกขาวเกือบทั้งศีรษะ ค้าขายอย่างเงียบ ๆ ไม่ค่อยพูด แต่ยิ้มเก่ง และเป็นรอยยิ้มที่ใครเห็นเข้าก็สามารถรู้ได้ทันทีว่า ยายเป็นคนใจเย็นและใจดี
ผมไม่แน่ใจและไม่เคยรู้เลยว่า ก่อนจะปักหลักนั่งขายขนมแถวป้ายรถเมล์ ตลอดทั้งวันยายแกจะหาบขนมเร่ขายที่ไหนมาบ้างหรือเปล่า พบเห็นทีไร ยายก็มานั่งประจำที่เดิมเรียบร้อยแล้ว

ยิ่งเป็นรายละเอียดชีวิตส่วนตัว อายุอานามเท่าไร บ้านช่องห้องหับอยู่ที่ไหน มีลูกหลานหรือไม่อย่างไร ข้อมูลจำพวกนี้เกี่ยวกับยาย ยิ่งเป็นเรื่องยากเกินกว่าผมในวัยเด็กจะสืบเสาะล่วงรู้


อย่างหนึ่งที่รู้แน่และได้รับการยืนยันผ่านปากคำของผู้ใหญ่ละแวกใกล้บ้านหลาย ๆ คนก็คือ ขนมทั้งหมดนั้น ไม่ได้รับมาขายจากที่ไหน ยายปรนปรุงด้วยฝีมือของยายเอง โดยมีลูกหลานคอยช่วยเหลือเป็นลูกมือ


ขนมหลัก ๆ ที่ยายขายยืนพื้น ได้แก่ ขนมถั่วแปบ ขนมเหนียว ขนมเปียกปูน ขนมชั้น ตะโก้ และมีรายการอื่น ๆ สลับเปลี่ยนหมุนเวียนบ้างเล็กน้อย
วันดีคืนดี นาน ๆ ครั้งก็จะมี “ขนมเปียกอ่อน” เป็นเมนูพิเศษ


ผมรู้จักขนมเปียกอ่อนเป็นครั้งแรกในชีวิต ก็จากหาบขนมของยาย และอาจกล่าวได้ว่า ตลอดวัยเด็กจนกระทั่งโตเป็นหนุ่ม ผมไม่เคยพบเห็นหรือมีโอกาสได้ลิ้มรสขนมชนิดนี้จากแหล่งร้านอื่นใดอีกเลยนะครับ (พ้นจากนั้นแล้ว กว่าผมจะมาเจอและได้กินขนมเปียกอ่อนอีก ก็ผ่านการทำงานใช้ชีวิตติงต๊อง จนล่วงเลยวัยหนุ่มมาหลายปี)

ผมนับตัวเองเป็นลูกค้าขาประจำของยาย อาจไม่ถึงขั้นแวะเวียนอุดหนุนทุกค่ำคืน แต่เฉลี่ยแล้วก็ตกราว ๆ สามสี่ครั้งต่อหนึ่งอาทิตย์ เป็นอัตราปกติ


ส่วนเรื่องไม่ปกติก็มีอยู่บ้าง คือ บางวันผมเล่นกับเพื่อนเพลินจนลืม บางวันก็มัวตื่นตาตื่นใจกับหนังกลางแปลงแถวตลาด บางวันก็เตร็ดเตร่เถลไถลไปไกลบ้าน จนกลับมาไม่ทัน ขณะที่ทางฝ่ายยายนั้น เนิ่นนานเต็มทีจึงจะ “ไม่มาตามนัด” สักครั้ง โดยไม่มีใครทราบสาเหตุ

ผมซื้อขนมของยาย จนต่างฝ่ายต่างคุ้นเคยผูกพัน โดยเฉพาะวันไหนที่มีขนมเปียกอ่อน แค่เห็นหน้าตะกละ ๆ ของผมโผล่มา ยายก็จัดแจงตักห่อใส่ใบตองให้ทันที ตั้งแต่ผมยังไม่ทันออกปากถามถึง


ยายจดจำได้แม่น ว่าผมชื่นชอบโปรดปรานขนมเปียกอ่อน ครั้งหนึ่งผมเคยเอ่ยถามด้วยความสงสัยว่าทำไมยายไม่ทำมาขายทุกวัน จะได้มีกินทุกวัน แกตอบยิ้ม ๆ ว่า “ขนมเปียกอ่อนขายไม่ค่อยดีนะลูก นาน ๆ ถึงจะทำซักกะที จะไม่ทำขายเลยก็ไม่ได้ กลัวว่าวันนึงมันจะหายสูญไป”

ครั้งนั้นเป็นหนึ่งในจำนวนอันน้อยนิด ที่ยายพูดกับผมยืดยาวเกินกว่ายิ้มใจดีตามปกติ และทำให้ผมเผลอคิดเป็นตุเป็นตะอยู่นานหลายปี ว่าผมคือลูกค้าคนเดียวที่ซื้อขนมเปียกอ่อนจากยาย


จะด้วยความที่เป็นของหากินยากสำหรับผมหรือเปล่า ก็เหลือที่จะเดาได้ถูก แต่มันคงมีส่วนหนุนเสริมอยู่บ้างนะครับ จึงทำให้ผมรู้สึกว่า ขนมเปียกอ่อน ยิ่งอร่อยเพิ่มพูนมากขึ้นอีก และติดแน่นตราตรึงอยู่ในความทรงจำของผมเสมอมา ในฐานะขนมพิเศษ ที่มีเฉพาะเพียงวาระพิเศษเท่านั้น

ผมอุดหนุนยายอยู่หลายปี จนช่วงเริ่มโตเป็นหนุ่มแล้วนั่นแหละ จึงค่อย ๆ เว้นห่างไปทีละน้อย เนื่องจากเลิกเรียนตอนค่ำ กว่าจะกลับถึงบ้านก็มักจะดึกดื่นเกินไป จนไม่พบยายที่ป้ายรถเมล์แห่งนั้น

วันหนึ่ง ครอบครัวของผมก็ย้ายบ้านอีกครั้ง ไปพำนักอยู่ไกลคนละทิศกับละแวกห้วยขวาง แล้วผมก็ใช้ชีวิตของผมเรื่อยมา โดยไม่มีโอกาสหวนกลับไปกินขนมเปียกอ่อนของยายอีกเลย

อย่างไรก็ตาม ช่วงท้าย ๆ ที่อยู่ห้วยขวาง ผมยังคงมีโอกาสได้กินขนมของยายบ้างเหมือนกัน ในค่ำคืนที่ผมกลับบ้านแล้วยังเจอยายนั่งเฝ้าหาบขนมอยู่ นั่นหมายความว่า วันนั้นกิจการของยายค่อนข้างฝืดเคือง ขนมเหลือเยอะ จนต้องยืดระยะเวลาขายให้ดึกกว่าปกติ

เจอะเจอสถานการณ์เช่นนี้ทีไร ผมก็มักจะซื้อขนมจากยายเยอะเกินความต้องการแท้จริง ส่วนหนึ่งก็อยากจะกินให้สมอยากกับที่ต้องห่างหายไปนาน แต่ลึก ๆ แล้วผมก็ซื้อเป็นจำนวนมากมายก่ายกอง เท่าที่ตังค์ในกระเป๋าจะเอื้ออำนวย เพราะภาพที่ยายนั่งเฝ้าหาบขนมดึก ๆ ดื่น ๆ รบกวนความรู้สึกและทำให้ผมสะเทือนใจอย่างรุนแรง

แม่ผมก็เป็นแม่ค้าเหมือนกัน เคยขายข้าวเกรียบกุ้ง, ทอดมัน และหมูปิ้ง ผมจึงมีประสบการณ์คุ้นเคยกับภาวะขายไม่หมด ต้องกินของที่ขายเหลือเป็นกับข้าวหลัก บางวันเหลือเยอะบานเบอะ ทอดมัน หมูปิ้งกลายเป็นอาหารหลักไปอีกหลายมื้อ และแลดูเยอะแยะมากมายไม่ยอมหมดสิ้นเสียที

ตรงนี้ทำให้ผมเกิดอารมณ์ร่วมมากเป็นพิเศษ เมื่อครั้งที่ได้ดูหนังการ์ตูนฮ่องกงเรื่อง My Life as McDull ซึ่งมีเหตุการณ์ที่เจ้าลูกหมูชื่อหมักเต๊า ใฝ่ฝันอยากกินไก่งวงในวันคริสต์มาส และเฝ้ารบเร้าอ้อนวอนคุณนายหมักไถผู้เป็นแม่จนกระทั่งใจอ่อน ยินยอมเก็บออมเงินเพื่อซื้อมันมาจริง ๆ

ไก่งวงมื้อแรกได้กลายเป็นอาหารโอชะในค่ำคืนอันแสนสุขสมดังปรารถนา แต่แล้ววันถัด ๆ มามันก็แปรสภาพเป็นอาหารเหลือ ที่ต้องกล้ำกลืนฝืนทนรับประทานไปอีกนานนับเดือน กว่าจะหมดสิ้นลงอย่างทุกข์ทรมาน

ฝันอันเพริศแพร้วของลูกหมู จบลงในสภาพฝันร้าย ความตื่นเต้นเร้าใจอยากกินทอดมันและหมูปิ้งของผมก็ไม่ผิดแผกไปจากนี้มากนัก เริ่มต้นดี แต่จบไม่ค่อยสวย
กระนั้น ตอนที่แม่ผมขายของเหลือในบางวัน ผมคงยังเด็กเกินกว่าจะรู้สึกทุกข์ร้อน มาซึมทราบว่าเป็นวิกฤติสาหัสหนักหน่วงก็ต่อเมื่อโตแล้ว และรำลึกย้อนหลังไปถึง


ก็คงจะเป็นช่วงที่เห็นยายขายขนมเหลือจนดึกดื่นนั่นแหละ ที่ผมเพิ่งเข้าใจรู้ซึ้งถึงความทุกข์ยากลำบากของแม่เป็นครั้งแรก กระทั่งกลายเป็นปมฝังลึกในใจเรื่อยมาจนทุกวันนี้

คราใดก็ตาม ที่พบเห็นคนแก่ขายขนมขายอาหารตอนค่ำคืนดึกดื่น ไม่ว่าจะเหลือเยอะหรือน้อย ขายไม่ดีจริง ๆ หรือขายได้ตามปกติ ผมมักจะเกิดจินตนาการส่วนตัว จนนำไปสู่อารมณ์สะเทือนใจบาดลึกขึ้นมาโดยฉับพลัน และต้องรีบอุดหนุน ทั้งที่ไม่ได้อยากกินขนมหรืออาหารชนิดนั้นเลย

ซื้อหาอุดหนุนไปแล้ว ก็ไม่ได้ช่วยให้ผมหายเศร้าทุเลาลงได้ ยังคงหม่นซึมต่อเนื่องอีกพักใหญ่ ๆ ทีเดียว

ผมไม่ได้เศร้ากับแม่ค้าวัยคุณป้าคุณยายในปัจจุบันไปหมดทุกรายหรอกนะครับ แต่ภาพต่าง ๆ เหล่านี้ ส่งผลต่อความรู้สึกในทางอ้อม ในฐานะสื่อนำเชื่อมโยงให้ผมนึกย้อนไปถึงเหตุการณ์เกี่ยวกับยายในค่ำคืนหนึ่ง

วันนั้นผมกลับมาถึงบ้านเกือบ ๆ ห้าทุ่ม เห็นยายยังคงนั่งอยู่ที่เดิมตรงป้ายรถเมล์ ร้านรวงตึกแถวละแวกนั้นพากันปิดประตูเข้านอนกันหมดแล้ว รายรอบมืดสนิท ถนนว่างโล่ง นาน ๆ จึงจะปรากฎรถยนต์ผ่านไปมาสักคัน ทางเท้าแทบจะไร้ผู้คน มีเพียงแสงจากไฟนีออนตรงชายคาบ้านหลังหนึ่งส่องฝ่าความมืดรายล้อม มีเพียงฝนเทกระหน่ำหนาหนัก มีเพียงฟ้าแลบแปลบปลาบสลับกับเสียงครืนครางของฟ้าร้องฝนคำรามเท่านั้น ที่เป็นเพื่อนร่วมราตรีอันเปลี่ยวเหงาร้าวรานของยาย

คืนนั้นยายขายขนมได้น้อยกว่าทุกครั้งที่ผมเคยเห็น ผมซื้อขนมของยาย วิ่งฝ่าฝนตัวเปียกโชกกลับบ้าน

คืนนั้น ผมกินขนมของยาย ด้วยอารมณ์ความรู้สึกฝาดเฝื่อนอย่างยิ่งในลำคอ และโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว จู่ ๆ ผมก็หลั่งน้ำตา

ภาพยายในคืนนั้น กลายเป็น “ภาพจำ” ที่ทั้งติดตาและติดตรึงอยู่ในใจผมตลอดมา เป็นภาพแรก ๆ ที่ผมระลึกได้ทุกครั้งที่นึกถึงเหตุการณ์แง่มุมใด ๆ ก็ตามที่ก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ เป็นภาพที่ผมอยากย้อนกลับไปสู่อดีตอีกสักครั้ง เพื่อทำอะไรให้กับยายได้มากกว่าที่เคย

เพื่อไม่ให้เรื่องนี้ระทมขมขื่นจนเกินไป ผมมีอะไรจะเล่าเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย

ทุกวันนี้ผมก็ยังเที่ยวด้อม ๆ มองหาขนมเปียกอ่อนเสมอนะครับ เจอะเจอทีไรก็มักจะซื้อติดไม้ติดมือไปกินด้วยความยินดี

สำหรับผมแล้ว ขนมเปียกอ่อนมีความหมายคุณค่ามากกว่าแค่ขนม กินทีไรผมก็รู้สึกเสมือนหนึ่งว่าได้เจอะเจอยาย-ซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ทางใจของผม-อีกครั้ง
น่าแปลกอยู่บ้างตรงที่ ทุกคราวเมื่อได้กินขนมเปียกอ่อน ผมไม่เคยนึกถึงภาพรันทดหดหู่ชวนเศร้าเกี่ยวกับยายเลย แต่กลับไปจดจำคำพูดผ่านรอยยิ้มใจดีของยายที่ว่า “ขนมเปียกอ่อนขายไม่ค่อยดีนะลูก นาน ๆ ถึงจะทำซักกะที จะไม่ทำขายเลยก็ไม่ได้ กลัวว่าวันนึงมันจะหายสูญไป”

อีกอย่างหนึ่งที่ผมนึกออก และสามารถกล่าวเต็มปากด้วยความมั่นใจก็คือ ผมไม่เคยกินขนมเปียกอ่อนเจ้าไหน ที่มีรสชาติอร่อยเทียบเท่ากับฝีมือของยายเลย

(จากคอลัมน์ "เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ" เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันและเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์)

ทำไมการอ่านหนังสือจึงดีกว่ามีเซ็กส์ โดย "นรา"

ทันทีที่ผมประกาศว่าจะลงมือเขียนถึงเรื่องนี้ ก็มีเสียงเปรยจากพรรคพวกเพื่อนฝูงตอบกลับมาทันทีว่า ถ้างั้นต่อแต่นี้ไป คุณเอ็ง (หมายถึงผมนะครับ) จงก้มหน้าก้มตาอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียว ห้ามยุ่งเกี่ยวกับการมีเซ็กส์

ผมนั้นไม่มีความสามารถทางพยากรณ์ทำนายทายอนาคต กะเก็งผลสลากกินแบ่งคราวใดก็ไม่เคยถูก แต่สำหรับผลลัพธ์ซึ่งอาจจะเกิดจากเรื่องที่กำลังเขียนถึงต่อไปนี้ ผมทายแม่นราวกับตาเห็นสามครั้งซ้อน

เรื่องนี้คาดเดาไม่ยากครับ เมื่อไรก็ตามที่หัวข้อถกสนทนามีคำว่า “เซ็กส์” เข้ามาเกี่ยวข้องแล้วล่ะก็ ค่อนข้างจะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่นำไปสู่การโต้แย้งถกเถียงได้ไม่ยาก ต่างจากการพูดว่า “ทำไมการอ่านหนังสือจึงดีกว่าการคุยโทรศัพท์มือถือในโรงหนัง” หรือ “ทำไมการอ่านหนังสือจึงดีกว่าดูโรงหนังในโทรศัพท์มือถือ” ซึ่งไม่ค่อยมีอะไรให้กังขาถกเถียงมากนัก

พูดเช่นนี้แปลได้ว่า “การอ่านหนังสือ” เป็นหัวข้อที่ปลอดภัยสะดวกปากแก่การพูดคุยมากกว่าเรื่อง “เซ็กส์” เยอะเลยนะครับ

ประการต่อมา การที่ระบุว่า “อ่านหนังสือดีกว่ามีเซ็กส์” ไม่ได้แปลว่า ผมต่อต้านรังเกียจเซ็กส์แต่อย่างไรนี่ครับ เหมือนผมบอกว่าชอบกินข้าวหน้าเป็ด มากกว่าข้าวมันไก่ ก็ไม่ได้แปลว่าผมจะต้องเลิกกินไก่ไปตลอดชีวิต

ดูเหมือนว่า เราสามารถระบุบอก ว่าอะไรดีกว่าอะไรได้ทุกเรื่องโดยปราศจากปัญหา ยกเว้นเรื่อง “เซ็กส์” ในทางตรงกันข้าม ถ้าผมบอกว่า “มีเซ็กส์ดีกว่าอ่านหนังสือ” เสียงตอบโต้ก็จะกลายเป็นว่า ผมหื่น บ้ากาม ขึ้นมาทันที

เห็นมั้ยครับว่า “เซ็กส์” เป็นเรื่องล่อแหลมอันตรายในการพูดคุยอยู่พอสมควร คุยเรื่องการอ่านหนังสือปลอดภัยและดีกว่าเป็นไหน ๆ

พ้นจากนี้แล้ว ผมก็ลองไล่เรียงหาเหตุผลดูว่า “ทำไมการอ่านหนังสือจึงดีกว่ามีเซ็กส์” ผลปรากฎออกมาดังนี้ครับ

การอ่านหนังสือบนรถเมล์ รถไฟฟ้า ในร้านอาหาร ริมทะเล สามารถกระทำได้เต็มที่ โดยไม่ต้องวิตกกังวลเกรงจะโดนติเตียนว่า ไม่รู้จักกาละเทศะ ประเจิดประเจ้อ บัดสีบัดเถลิง ลามกอนาจาร (อาจมีข้อยกเว้นอยู่บ้าง ในกรณีที่อ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่องเซ็กส์ หรือหนังสือโป๊)

การแลกเปลี่ยนหนังสือกันอ่าน ไม่เป็นเรื่องเสื่อมเสียศีลธรรม

การพกหนังสือติดตัวคราวเดียวหลาย ๆ เล่ม ไม่เข้าข่าย “เจ้าชู้” หรือ “หลายใจ”

เด็กชอบอ่านหนังสือ ไม่โดนผู้ใหญ่ตักเตือนว่า “ชิงสุกก่อนห่าม” หรือ “ริอ่านในวัยเรียน”

การมีเซ็กส์ทั้งวันทั้งคืน อาจโดนมองว่าหมกมุ่นฝักใฝ่ในเพศรส แต่ถ้าอ่านหนังสือหามรุ่งหามค่ำ เขาเรียกกันว่า “ขยัน” และ “ใฝ่รู้”

โรคเอดส์หรือกามโรคไม่สามารถติดต่อแพร่เชื้อผ่านทางการอ่านหนังสือ

กรุงศรีอยุธยาไม่ได้เสียกรุงครั้งที่ 2 เพราะสาเหตุผู้ปกครองแผ่นดินหลงใหลการอ่านหนังสือ

เด็กอายุต่ำกว่า 18 สามารถเข้าร้านขายหนังสือโดยไม่ต้องมีการตรวจบัตรประชาชน และการอ่านหนังสือไม่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดการจัดระเบียบสังคม

การอ่านหนังสือมีอิสระทางด้านรสนิยมอย่างเต็มที่ ไม่เคยมีใครประสบปัญหาพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางการอ่าน

การมีหนังสือในครอบครองจำนวนมาก ไม่เคยประสบปัญหาหนังสือทะเลาะเบาะแว้งตบตีกันเอง

ไม่เคยมีใครได้รับความเจ็บปวด จากการเปิดหน้าหนังสือรุนแรงหนักมือเกินไปในขณะอ่าน

ถ้าคุณประกาศว่าไม่ชอบอ่านหนังสือ ไม่เคยอ่านหนังสือ คุณก็ยังคงดูเป็นปกติธรรมดาในสายตาคนทั่วไป และไม่โดนค่อนแคะนินทาว่า เสื่อมสมรรถภาพทางการอ่าน

ท่านชายสามารถลงมืออ่านหนังสือได้ทันที โดยไม่ต้องพึ่งพายาไวอะกร้า

คนรักชอบการอ่านหนังสือมาพบปะเสวนากัน ไม่ถือว่าเป็นปาร์ตี้มั่วสุม ไม่ต้องโดนตรวจปัสสาวะ

การอ่านหนังสือครั้งละแค่ 2-3 นาที ไม่ต้องกลัวโดนใครมาเย้ยหยันว่า “นกกระจอกไม่ทันกินน้ำ”

นักกีฬาสามารถอ่านหนังสือในวันก่อนทำการแข่งขันได้ตามใจชอบ แต่ไม่ควรมีเซ็กส์ก่อนลงสนาม

เพื่อน ๆ สามารถต่อคิวยืมอ่านหนังสือของคุณได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการข่มขืน

เราสามารถอ่านวรรณกรรมเยาวชน โดยไม่โดนยัดเยียดข้อหาพรากผู้เยาว์

การอ่านหนังสือไม่ทำให้เกิดเสียงดังรบกวนผู้อื่น ส่วนการมีเซ็กส์นั้นไม่แน่

มีงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติสำหรับคนรักชอบการอ่าน แต่ไม่เคยมีสัปดาห์เซ็กส์แห่งชาติ

การอ่านหนังสือสามารถทำได้ทุกวัน แม้กระทั่งวันนั้นของเดือน

การอ่านเป็นกิจกรรมที่ง่าย นิตยสารส่วนใหญ่ ไม่มีคอลัมน์ “ตอบปัญหาทางการอ่าน” แต่คอลัมน์ “ตอบปัญหาทางเพศ” นั้นมีเยอะ

การซื้อหนังสือมีราคาค่าใช้จ่ายถูกกว่าซื้อบริการทางเพศ

ดาราหรือคนดังอ่านหนังสือ ไม่ตกเป็นข่าวซุบซิบนินทาว่าประพฤติตนเสื่อมเสีย

การอ่านหนังสือไม่ก่อให้เกิดปัญหาประชากรล้นโลก

การอ่านหนังสือตามลำพัง ไม่ถูกเรียกว่าเป็นการ “สำเร็จความรู้ด้วยตนเอง”

คุณสามารถอ่านหนังสืออย่างเพลิดเพลินสนุกสนาน โดยไม่เกรงว่าจะโดนมือดีแอบถ่ายบันทึกภาพไว้ และนำออกเผยแพร่เป็นวีซีดีฉาวให้ต้องอับอายในภายหลัง

คุณสามารถคุยให้ใครต่อใครฟังได้อย่างไม่ต้องรู้สึกขัดเขินหรืออับอายว่า อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วสนุกสนาน ประทับใจมาก

เมื่อข้อเขียนชิ้นนี้ของผมปรากฎแต่สายตาของคุณ แปลว่าคุณกำลังอ่านหนังสืออยู่

ประการสุดท้าย ข้อเขียนชิ้นนี้เกิดขึ้นเพราะได้รับแรงบันดาลใจจากการอ่านหนังสือ ไม่ได้มีต้นตอที่มาจากการมีเซ็กส์

(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "มนุษย์ไร้สาระวีหนึ่ง" เว็บไซต์โอเพนออนไลน์)