วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ทางผ่าน


ไป
            มองจากตลิ่งสูงชันริมฝั่งแม่น้ำอาร์เร่ ภาพกว้างเบื้องหน้า ณ ฝั่งตรงข้ามที่ปรากฏเต็มสองตา คือ สายน้ำไหลโค้งโลดโผนเป็นรูปเกือกม้าหรืออักษรตัว U ทำหน้าที่แทนแนวกำแพงสามด้านโอบล้อมเขตย่านเมืองเก่าของเบิร์นที่ตั้งอยู่บนเนินสูง แน่นเต็มไปด้วยบ้านเรือนอาคารรูปทรงย้อนยุค ราวกับเข็มนาฬิกาเดินถอยหลังนานไกลไปหลายศตวรรษ
                นี้คือภาพแรกของเบิร์นที่ผมเห็นและจำได้
            โดยเป้าหมายแล้ว เบิร์นเป็นเพียงแค่ทางผ่าน ระหว่างมุ่งจากซูริคสู่โลซานน์ และมีเวลาจำกัดประมาณสองชั่วโมงครึ่งให้หยุดแวะ แบบลงไปเดินเล่นพอให้เมื่อยขานิด ๆ แล้วก็โบกมือร่ำลาจากกัน
                ผมมีตุ๊กตาหมีพูห์สภาพมอมแมม (เข้าขั้น สกปรกติ) ตัวหนึ่ง ขนาดประมาณโทรศัพท์มือถืออ้วน ๆ เป็นเพื่อนคู่หูคู่ฮา และพกติดตัวไปไหนมาไหน ออกท่องโลกผจญภัยด้วยกันตลอดเวลา
                คล้าย ๆ มิตรภาพระหว่างชายหนุ่มติดเกาะร้างกับลูกวอลเลย์บอลชื่อวิลสันในหนังเรื่อง Castaway ตุ๊กตาหมีของผม (นามว่า เด็กชายพี่หมี) พูดได้ มีชีวิต และมีบุคลิกนิสัยใจคอบ๊อง ๆ เป็นตัวของมันเอง
                ปรากฏหลักฐานบันทึกในรูปของจดหมายเขียนโดยฮอเรซ วัลโพลเมื่อปี ค.ศ. 1766 จดจารไว้ว่า หลังจากก่อร่างสร้างเมืองแล้วเสร็จในปี 1191 เบิร์ชโทลด์ที่ 5 หรือดยุคแห่งซาริงเงน ได้ออกป่าล่าสัตว์พร้อมกับเสี่ยงทายว่า เหยื่อสังหารแรกสุดของเขาจะเป็นสัตว์ชนิดใดก็ตาม นามของมันจะนำมาใช้เป็นชื่อและสัญลักษณ์ของเมือง
                และหมีคือสัตว์โชคร้ายที่ถูกล่าและถูกฆ่า  ควบคู่กับโชคดี? ได้รับเกียรติซึ่งมันอาจไม่เคยนึกปรารถนาเรียกร้องต้องการเลย
            แรกเริ่มเด็กชายพี่หมีลิงโลดร่าเริง เมื่อพบเห็นว่าทั่วทั้งเมือง มีรูปหมีปรากฏไปทั่ว ทั้งภาพเขียนบนกำแพงบ้านเรือน, รูปปั้นตามน้ำพุ, ตุ๊กตาหมี เสื้อยืด โปสการ์ด สารพัดสินค้าในร้านขายของที่ระลึก, ชื่อร้านค้า โรงแรม ภัตตาคารจำนวนนับไม่ถ้วน ล้วนแล้วแต่มีนามและเครื่องหมายการค้ารูปหมี, รวมถึงหมีตัวเป็น ๆ บริเวณบ่อหมีหรือสวนหมีที่เรียกกันว่า Barren Park ริมฝั่งแม่น้ำก่อนข้ามสู่เขตเมืองเก่า อันเป็นจุดท่องเที่ยวยอดนิยม
            พ้นจากนมตราหมีแล้ว ก็มีเบิร์นอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นเมืองตราหมี
            นี่คือเมืองของเรา เพื่อนตุ๊กตายัดนุ่นของผม ยืดอกพุงป่องป่าวประกาศ พลางกางแขนคำรามแฮ่ แฮ่ แต่มาดเข้มนั้นดูน่าขบขันมากกว่าน่าเกรงขาม
                ไม่นานนาที หลังจากรู้เหตุผลที่มาของชื่อเมืองและชะตากรรมของบรรพบุรุษต่างถิ่นแล้ว ท่าทีของเด็กชายพี่หมีก็เปลี่ยนเป็นเจื่อนจ๋อยหงอยจืด ป้องปากกระซิบเบา ๆ ที่ข้างหูผมว่า อย่าบอกใครนะว่า เราเป็นลูกหมี พร้อมกับขยับแขนเหมือนกระพือปีก พยายามปลอมเป็นผึ้งตัวใหญ่ที่สุดในโลก
            จะเป็นเพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย (และหนาวเหน็บจับจิตจับใจ) หรือด้วยเหตุผลอื่น ๆ ที่ไม่อาจหยั่งรู้ ที่แน่ ๆ บ่ายวันนั้นบรรดาหมีในบ่อ ต่างพร้อมใจกันเก็บเนื้อเก็บตัวมิดชิด ไม่ยอมโผล่ร่างเผยโฉมออกมาให้เห็นกันเลย
                นักท่องเที่ยวจากทั่วโลก จึงได้พบเห็นเพียงแค่ ตุ๊กตาหมีตัวเล็ก ๆ สติไม่เรียบร้อยจากเมืองไทย นั่งทำหน้าบ๊องแบ๊วให้ผมถ่ายรูป
                ไม่ใช่เฉพาะปวงหมีในบ่อเท่านั้นที่หลบไปจำศีล ทำตัวเสมือนเป็นวันหยุดราชการ ทว่าทุกสิ่งในเบิร์น ตั้งแต่อาคารร้านรวง, พิพิธภัณฑ์, หอศิลป์ ล้วนปิดตัวลงชั่วคราว
เนื่องด้วยวาระนั้นเพิ่งผ่านพ้นคืนวันคริสมาสต์ มาสด ๆ หนาว ๆ
ภาพของเบิร์นทุกซอกทุกมุมที่ผมผ่านเยือน จึงไม่ใช่ภาพคุ้นตาของชีวิตปกติทั่วไป เหมือนดังที่เมืองนี้เคยเป็นมาตลอดทั้งปี
เขตใจกลางเมืองเก่าของเบิร์น ประกอบด้วยถนน 3 สายหลักทอดเหยียดเป็นแนวยาวแนบขนานเคียงกัน ตึกรามโบราณสองฟากข้างทาง มีลักษณะเฉพาะตัว คือ ด้านหน้าของบ้านบางหลัง ยังคงรักษาสภาพของทางลงไปสู่ห้องใต้ดินสำหรับเก็บกักเสบียงอาหาร  เป็นประตูไม้เอียงทำมุมจากพื้นประมาณ 60 องศา
และที่โดดเด่นสะดุดตามากสุด คือ อาร์เคด (arcade) หรือทางเดินเป็นรูปซุ้มโค้งหน้าชายคาตึกแถว เรียงรายต่อเนื่องกัน รวมระยะทางทั้งหมด 6 กิโลเมตร (ผมเข้าใจผ่านการประเมินด้วยสายตาว่า ถนนแต่ละสายมีเส้นทางประมาณ 1 กิโลเมตร และคำนวณโดยนับเอาสองฟากข้างทางไว้ด้วย)
นั้นถือกันว่า เป็นถนนสายช็อปปิ้งที่ยาวเหยียดมีระยะทางมากสุดติดอันดับต้น ๆ ของโลก และถ้ารวมถึงความงามในเชิงสถาปัตยกรรมด้วยแล้ว อาจนับเนื่องได้ว่า เป็นถนนสายช็อปปิ้งที่ขรึมขลังอลังการสวยงามสุดแห่งหนึ่งบนโลกใบนี้
เสน่ห์ดึงดูดใจก็คือ ความขัดแย้งที่ผสานกันอย่างกลมกลืน ระหว่างเบื้องนอกที่แลดูเก่าย้อนยุค กับด้านในที่เต็มไปด้วยสินค้าทันสมัยดีไซน์ล้ำโฉบเฉี่ยว
แต่ในวันที่เมืองทั้งเมืองพร้อมใจกันหยุดนิ่ง ถิ่นย่านการค้านั้น เงียบเหงาว่างโล่ง และหากใช้ยางลบขัดถูนักท่องเที่ยวจำนวนประปรายที่เดินกระจัดกระจายอยู่บนท้องถนนออกไปจนหมด เบิร์นก็แทบว่าจะกลายเป็นเมืองร้างสนิท
ภาพเงียบงันและเปลี่ยวของเบิร์นในบ่ายวันนั้น  บวกกับการกรีดเฉือนอย่างไร้ความปรานีของลมหนาว อาจทำให้ใครบางคนที่กำลังโศกเหงาเป็นทุนอยู่ก่อนแล้ว  ยิ่งมีอาการสาหัสหนักทรุดกว่าเดิมได้โดยง่าย
แต่สำหรับผม...มันเป็นภาพสวยเศร้าที่ติดตราตรึงใจลืมไม่ลง
การพลาดโอกาสได้ช็อปปิ้ง (ข้อนี้ผมตัดกิเลศได้แล้ว), ผ่านบ้านเลขที่ 49 ถนน Kramgasse ซึ่งอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์เคยมาพำนักอาศัยระหว่างปี 1903 ถึง 1905 แล้วพบว่าปิดยาวต่อเนื่องเกินสัปดาห์, การแวะเยือนมหาวิหาร Munster สถาปัตยกรรมแบบโกธิคตอนปลาย ยามบ่ายคล้อยใกล้ปิด และไม่มีเวลาเพียงพอที่จะขึ้นไปบนยอดเพื่อชมทิวทัศน์ของตัวเมือง, การผ่านเยือนมาจนใกล้พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Kunstmuseum ชนิดไม่ไกลเกินจะย่ำเท้าไปถึง แต่เส้นทางนั้นทอดห่างออกจากใจกลางเมืองไปเล็กน้อย ผมจึงต้องหันหลังให้แก่ผลงานคอลเลคชันใหญ่ของยอดศิลปินพอล คลี (ผู้ถือกำเนิดที่เบิร์นและเป็นความภาคภูมิใจของเมืองนี้) มุ่งไปอีกทิศตรงกันข้าม (ผมรู้และรับสภาพอยู่ก่อนแล้วว่า ต่อให้ไปถึงจริง ที่แห่งนั้นก็ปิด)
รวมทั้งธนาคารปิดทำการในวันหยุด ส่งผลให้แผนเปิดบัญชีเงินฝากในสวิตเซอร์แลนด์ของผม ล้มคว่ำไม่เป็นท่า
ผมไม่นับเหตุการณ์เหล่านี้ว่า เป็นเรื่องผิดหวังน่าเสียดาย
ยกเว้นเรื่องเดียว คือ ใครก็ตามที่ได้มาเยือนเบิร์น มักจะไม่พลาดแวะชม นาฬิกาดาราศาสตร์ Zeitglockenturm อันโด่งดัง
นอกเหนือจากระบบกลไกอันซับซ้อนพิสดาร การระบุบอกเวลาชั่วโมง นาที และราศีต่าง ๆ แล้ว เสน่ห์ร้ายเหลือของหอนาฬิกาแห่งนี้คือ มันจะโลดแล่นมีชีวิตทุก ๆ ชั่วโมง
พลันเมื่อเข็มนาฬิกาเวียนหมุนครบรอบชั่วโมง ตรงมุมหนึ่งจะปรากฏทิวแถวตุ๊กตุ่นตุ๊กตา หมี ไก่ สิงโต อัศวิน และตัวตลก เคลื่อนขบวนเริงระบำชั่วระยะเวลาสั้น ๆ
ภาพนักท่องเที่ยวมากกว่ามาก ยืนจับกลุ่มรอคอยแหงนมองทุกปลายชั่วโมง เป็นลมหายใจปรกติของหอนาฬิกาลือนามแห่งนี้
แต่บ่ายวันนั้น ชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่าผ่านไปบนความนิ่งสนิท ไม่มีขบวนครึกครื้นของเหล่าหมีและสหาย ออกมาเรียกรอยยิ้มของผู้มาเยือน
ผมกับเด็กชายพี่หมีเดินคอตก เหมือนเด็กไม่รู้จักโตหนึ่งคนกับอีกหนึ่งตัวที่อกหักหนักหน่วง จูงมือกันเดินฝ่าลมหนาวกรรโชกแรงและบรรยากาศมืดสลัวใกล้ค่ำตอนสี่โมงเย็น...กลับไปขึ้นรถ และทิ้งเบิร์นไว้เป็นความหลังหวานขม
หลายเดือนต่อมา ในยามหลับ ผมยังฝันว่าได้พาตุ๊กตาหมีคู่ชีพ กลับไปยังที่นั่นอยู่เนือง ๆ
ทุกครั้งกลุ่มแก๊งตุ๊กตาที่หอนาฬิกาแห่งนั้น ยังคงนิ่งสนิทเหมือนกับวันที่ผมได้เคยไปเยือนในความเป็นจริง

                                                กลับ
ตามโปรแกรมแล้ว บาเดน-บาเดน ก็เป็นแค่อีกหนึ่งจุดผ่าน สำหรับพักนอนแรมทาง ระหว่างผละจากเป้าหมายหลักโลซานน์ขึ้นเหนือไปยังแฟรงค์เฟิร์ต เพื่อนั่งเครื่องบินกลับกรุงเทพฯ
มาถึงยามมืดค่ำ และจากไปเช้าวันรุ่งขึ้น
ถึงที่พัก จัดการกับอาหารมื้อค่ำเสร็จสรรพ เวลาท้องถิ่นคือสี่ทุ่ม
ผมเดินไปหยิบแผ่นพับข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่วางไว้ตรงเคาน์เตอร์โรงแรม แล้วก็อ่านเจอสิ่งที่ทำให้ผมเปลี่ยนใจไม่ยอมเข้านอน
กระดาษแผ่นนั้น บอกให้รู้ว่า ลึกเข้าไปในเมืองบาเดน-บาเดนอีกเล็กน้อย มีบ้านเลขที่ 85 ถนน Maximilianstrabe
มันเป็นบ้านเก่าอายุราว ๆ 150  ปี วางตัวอยู่บนเนินเขาย่อม ๆ สิ่งที่ทำให้เกิดความหมายสำคัญทางใจขึ้นมาก็คือ ระหว่างปี 1865 ถึงปี 1874 โยฮานเนส บราห์มส์ คีตกวีผู้ยิ่งใหญ่ เคยพำนักอยู่ที่นี่
ผมรู้จักผลงานของบราหมส์อยู่แค่ 2 เพลง คือ Lullaby อันโด่งดัง และ Waltz in A flat, OP. 39 no 15 แต่ก็ชอบมากทั้งคู่
โดยเฉพาะผลงานชิ้นหลัง เข้าขั้นหลงรักชนิดลงลึก ผมรู้จักและได้ยินครั้งแรก จากหนังอนิเมชั่นฮ่องกงเรื่อง McDull, Prince de la Bun
เป็นเพลงสั้น ๆ ความยาวไม่ถึงสองนาที บรรเลงแบบเดี่ยวเปียโน ทำนองไพเราะอ่อนหวานจำง่ายติดหู...และเอาตาย
เป็นเพลงที่บ่อยครั้ง ผมฟังแล้วน้ำตาซึม แบบปราศจากเหตุผลแน่ชัด และไร้เรื่องเศร้าใด ๆ ในชีวิตเป็นเครื่องปรุงรสประกอบการฟัง
ข้อมูลในแผ่นพับ พูดไว้เสียงดังฟังชัดว่า ช่วงเวลาที่ผมอยู่บาเดน-บาเดนนั้น บ้านของบราห์มส์ปิดยาวตั้งแต่ 24 ธันวาคมถึง 6 มกราคม (เป็นประจำทุกปี)
ผม- -โดยไม่ต้องใช้เวลาไตร่ตรองนานนัก- - ตัดสินใจไปเยือน และหวังแค่ว่า ขอแค่ให้หาจนพบและถ่ายรูปหน้าบ้านเป็นที่ระลึก นั้นคือความพึงพอใจและปิติสุขอย่างล้นเหลือ
ตรวจสอบจากแผนที่แล้ว พบว่าระยะทางห่างจากที่พักราว ๆ 5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินไป-เดินกลับ รวมทั้งหยุดแวะถ่ายรูป ชื่นชมทิวทัศน์ข้างทาง ผมควรมีต้นทุนขั้นต่ำประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง
บาเดน-บาเดนเป็นเมืองเล็ก ๆ ทางทิศใต้ของประเทศเยอรมนี มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะดินแดนแห่งสปาชั้นเลิศ, โรงอาบบำบัดฟื้นฟูสุขภาพด้วยน้ำแร่
สรรพคุณเหล่านี้เป็นเหตุผลหนึ่ง ทำให้เมื่อครั้งอดีต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประทับที่นี่ (ณ โรงแรมสเตฟานี หรือโรงแรม Brenner’s ในปัจจุบัน) คราวประพาสยุโรปครั้งที่ 2 และทรงบันทึกหลายแง่มุมเกี่ยวกับบาเดน-บาเดนไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่อง ไกลบ้าน
เท่าที่ออกเดินเล่นในยามดึกและยามเช้าไม่มากชั่วโมง ผมสรุปคร่าว ๆ ได้ว่า ย่านใจกลางเมืองบาเดน-บาเดน มีรูปทรงแคบเรียวยาว ประกอบไปด้วยพิพิธภัณฑ์, หอศิลป์, โรงละคร, ถนนสายช็อปปิ้งและโรงแรมระดับห้าดาวจำนวนมาก ตั้งประชันเรียงรายเป็นทิวแถว
ผมเดินชมร้านค้าที่ปิดสนิททั้งหมด แต่ประดับประดาไฟริมถนนแพรวพราวตระการตา และดึงดูดให้นักท่องเที่ยวหลายร้อยคน ยังคงสามารถเพลิดเพลินตื่นใจกับการเดินเล่นบนความว่างเปล่าและเงียบสงบนั้น
นิยามสั้น ๆ เกี่ยวกับเมืองนี้ก็คือ เล็กแต่หรูหรา
ผมเดินและเดิน กระทั่งห่างออกจากแสงไฟและความคึกคักยามราตรี มาสู่บรรยากาศมืดและเปลี่ยวบนถนนเลียบลำคลองเล็ก ๆ พบแผ่นป้ายขนาดใหญ่ริมถนน ลักษณะกึ่ง ๆ แผนที่กึ่งหุ่นจำลอง แสดงจุดเที่ยวสำคัญต่าง ๆ ในตัวเมือง
บนแผ่นป้ายนั้น ระบุแสดงเส้นทางไปยังบ้านของบราห์มส์ไว้ว่า อยู่ถัดลึกเข้าด้านในอีกค่อนข้างไกล และผมมาถูกทิศ เจอถนนที่ค้นหาแล้ว แต่ขยับเคลื่อนจากจุดตั้งต้นมาได้เพียงแค่ระยะประมาณ 1 ใน 3
นั้นเป็นเวลาห้าทุ่มครึ่ง ดึกเกินกว่าผมจะฝืนไปต่อ บนความไม่คุ้นถิ่นไม่ชินสถานที่ เพื่อให้ถึงจุดหมาย
เช้าวันรุ่งขึ้น หลังจากอาหารมื้อเช้าและนัดแนะจนทราบแน่ชัดว่า รถพร้อมจะเดินทางออกจากบาเดน-บาเดนเวลาใด
ผมมีเวลาสองชั่วโมง สำหรับการเดินเท้าไปที่บ้านของบราห์มส์ เฉียดฉิวจวนเจียน สุ่มเสี่ยง และมีแนวโน้มว่าไม่น่าจะพอ
บวกรวมกับฝนเริ่มโปรยลงมาพรำ ๆ  เป็นละอองฝอย ฟ้าครึ้มสลัวอับแดด ทึบและทึมไปด้วยม่านเมฆหนาเข้ม
ผมเดินสลับวิ่งเหยาะ ๆ ไปด้วยอารมณ์ลังเล และน้ำหนักของความไม่มั่นใจเริ่มกดทับมากขึ้นเรื่อย ๆ
เส้นทางนั้นเฉลี่ยราว ๆ สิบนาที จึงจะมีเห็นเศรษฐีจูงหมาเดินเล่นผ่านมาให้เห็นสักราย สงบสันโดษ จนทำให้ไขว้เขวเข้าใจผิดว่ากำลังหลงทางได้ไม่ยาก
ประกอบกับฝนเริ่มลงเม็ดหนาหนักขึ้น จากเปียกชื้นเปลี่ยนเป็นเปียกชุ่ม
ผมเกือบจะล้มเลิกความตั้งใจอยู่หลายครั้ง
แต่ผมก็ยังเดินแข่งกับเวลาต่อไปอีก ไม่ใช่เพราะใจเด็ดเดี่ยวมั่นคง หรือประกอบด้วยธาตุสู้ไม่ถอยเพื่อให้ถึงฝันหรอกนะครับ
มีเหตุผลแค่อย่างเดียวคือ ทิวทัศน์รอบ ๆ สวยเกินกว่าผมจะใจร้ายกับตัวเองเดินหันหลังกลับ
มันเป็นทางเดินเท้าพื้นเทปูน บางช่วงกว้างพอให้รถยนต์วิ่งเรียงเดี่ยว บางช่วงแคบแค่ให้คนเดินสวนกันได้ ทางนั้นพาดยาวเหยียดแผ่ตรงสลับกับคดโค้งไปไกลสุดตา เลียบเลาะไปตามโค้งเว้าของลำคลองสายเล็ก ๆ น้ำไหลเชี่ยวแรงทางด้านซ้ายมือ เลยถัดไปในทิศเดียวกันคือ โรงแรมและบ้านพักส่วนตัวรสนิยมหรูระยับ หลังแล้วหลังเล่าเรียงต่อกันไม่เห็นเขตสิ้นสุด ราวกับเมืองนี้เกลื่อนกล่นไปด้วยเศรษฐี
 ขวามือเป็นสนามหญ้า มีไม้ใหญ่ยืนต้นทิ้งใบร่วงเหลือแต่ก้านกิ่งเปลือยเปล่า เหมือนสวนสาธารณะสวย ๆ ที่ไม่ล้อมรั้ว และขนาบกั้นทางด้านขวามือห่างออกไปราว ๆ 100-200 เมตร คือเนินเขาเตี้ย ๆ เป็นเส้นยาวเคียงกัน
มันเป็นเส้นทางโรแมนติคเหลือเกิน ถ้าหากเดินเคียงคู่ทอดน่องช้า ๆ มากับคนรัก
แต่ผมกับลูกหมีที่โผล่หัวกลม ๆ ออกมาเหนือกระเป๋าสะพาย รู้สึกเหมือนกับกำลังผจญภัยเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่ที่ป่าร้อยเอเคอร์เลียนแบบวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง Winnie-the-Pooh
เวลาครึ่งหนึ่งที่มีอยู่หมดไป ผมมาถึงเพียงแค่ละแวกบ้านเลขที่ลำดับ 70 กว่า ๆ เนินเขาทางขวามือเบนห่างออกไป แล้วไปวกอ้อมโค้งกลับ จนด้านไกลของมันตั้งขวางอยู่เบื้องหน้าผมพอดี
ผมคะเนว่า บ้านเลขที่ 85 ของบราห์มส์ น่าจะอยู่แถว ๆ นั้น
บวกลบคูณหารคำนวณในใจดูแล้ว ผลลัพธ์ก็คือ ผมมีเวลาไม่พอที่จะเดินทางไปถึงบ้านของบราห์มส์
ผมกับเด็กชายพี่หมี ถ่ายรูปคู่ตัวเองกับจุดที่เราเดินมาได้ไกลสุดเก็บไว้เป็นหลักฐาน
จากนั้นผมกับมันก็ยืนตัวตรง สูดหายใจลึก ๆ โค้งคารวะงาม ๆ หนึ่งทีให้แก่เนินเขาข้างหน้า พร้อมทั้งบอกกล่าวในใจว่า ท่านบราห์มส์ครับ ต้องขออภัยอย่างยิ่ง พวกผมมาได้แค่นี้จริง ๆ
ระหว่างทางเดินกลับ เด็กชายพี่หมีบอกผมว่า มีเพลงนั้นของบราห์มส์วิ่งเล่นไปมาอยู่ในหัวเราตลอดเช้านี้เลยล่ะ

วันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2555

คิดถึงทุกคืน

          ‘คิดถึงพี่ไหม’ เป็นเพลงสุดท้ายในชีวิตที่ศรคีรี ศรีประจวบ ร้องบันทึกเสียงในห้องอัด แต่เป็นเพลงแรกของศรคีรีที่ผมรู้จักและจำได้

          เพลงนี้แว่วลอยผ่านมาทางวิทยุเครื่องแรกประจำบ้าน เมื่อปีพ.ศ. 2513

          ช่วงเวลานั้น ถือได้ว่าเป็นระยะเฮี้ยน แรง เศร้า สำหรับวงการบันเทิงไทย สุรพล สมบัติเจริญถูกยิงเสียชีวิตเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2512

          ถัดสู่เดือนตุลาคมปีต่อมา ทุกถิ่นย่านก็ตกตะลึงกับอุบัติเหตุสะเทือนขวัญของมิตร ชัยบัญชา ระหว่างถ่ายทำฉากสุดท้ายของหนังเรื่อง อินทรีทอง แล้วเพียงไม่นาน ปลายเดือนมกราคม 2514 ก็ต้องโศกอาลัยกับการสูญเสียศรคีรี ศรีประจวบด้วยเหตุรถชนไปอีกราย

          แรกรู้จักเพลง ‘คิดถึงพี่ไหม’ ของศรคีรี ผมยังเด็กมาก ความเข้าอกเข้าใจต่อเนื้อร้องนั้นแทบไม่มีอยู่เลย กระทั่งคำว่า ‘คิดถึง’ ซึ่งย้ำเน้นไว้ทุกท่อนทุกตอน ผมก็ไม่ทราบนัยยะว่าหมายถึงอะไร

          ตรงข้ามต่างจากตอนนี้ ผมป่วยเป็น ‘โรคคิดถึงที่ไม่มีวันรักษาให้หายขาด’ กับใครต่อใครและอะไรต่อมิอะไรอยู่มากมายเต็มไปหมด (แหวะ!)

          อย่างไรก็ตาม ในวัย 6-7 ขวบ ผมชอบเพลงคิดถึงพี่ไหมทันทีที่แว่วผ่านหู ชอบท่วงทำนองอันไพเราะมาก ชอบเสียงร้องสูงหวานเยือกเศร้าของศรคีรี

          ในความรู้สึกของผม ภาพรวมของเพลงนี้ เหมือนมีบรรยากาศพร่าเลือนด้วยม่านหมอกชวนให้เคลิ้มฝัน ไม่ใช่ภาพที่สดใสแจ่มชัดนัก

          ความรู้สึกนี้ อธิบายให้เป็นนามธรรมแต่เข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น เรียกกันว่า อารมณ์โรแมนติค

          ผมมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเพลงนี้อยู่หลายประการ

          แรกสุดเข้าใจผิดเรื่อยมาว่า ชื่อเพลงนี้คือ ‘คิดถึงพี่หน่อย’ ต่อมาเข้าใจผิดว่าแต่งโดยครูไพบูลย์ บุตรขัน และสุดท้ายเข้าใจผิดว่าศรคีรีเป็นคนแรกที่ร้องเพลงนี้

          กาเครื่องหมายวงกลมข้อ ง. งู ได้เลยนะครับว่า ผิดทุกข้อ

          ข้อแรกนั้นมีผู้เข้าใจผิดกันเยอะ เนื่องจากเนื้อร้องเกือบทุกท่อนมักขึ้นต้นว่า “คิดถึงพี่หน่อย...” ฟังแล้วก็เลยไขว้เขวนึกว่าเป็นชื่อเพลง ผมมาได้รับความกระจ่างถูกต้อง ตอนที่ซื้อ CD รวมฮิตของศรคีรี จึงค่อยเกิดความรู้แจ้งพบสัจธรรม

          ส่วนที่ตีขลุมเหมารวมไปว่า เป็นผลงานเพลงของครูไพบูลย์นั้นไม่มีอะไรมาก ผมเป็นลูกอ๊อดในกะลา รู้น้อยจำกัดจำแทะและผิวเผิน เจอเพลงลูกทุ่งเนื้อร้องทำนองดีทีไร มักอนุมานล่วงหน้าไว้ก่อนว่านี่คือฝีมือครูไพบูลย์

         เผอิญว่า เนื้อร้องทุกวรรคทุกคำในเพลงคิดถึงพี่ไหม เข้าขั้นอภิมหากวีเลยทีเดียว ด้วยต้นทุนความรู้ระดับหางอึ่งตัวสุดท้องขาดสารอาหารที่มีอยู่ จึงทำให้ปักใจเชื่อสนิทว่าเป็นงานของครูไพบูลย์ แต่โลกกว้างกว่านั้นของแวดวงเพลงลูกทุ่ง คับคั่งเนืองแน่นไปด้วยครูเพลงระดับจอมยุทธ์ชั้นปรมาจารย์

         ท่านหนึ่งที่มีฝีมือโดดเด่นล้ำเลิศก็คือ ครูพยงค์ มุกดา ขณะหูข้างหนึ่งในวัยเด็กของผมฟังเพลงลูกทุ่ง หูอีกข้างของผมก็หลงใหลเพลงของดิ อิมพอสซิเบิล

         ผมรู้จักคุ้นเคยกับครูพยงค์ มุกดา ในฟากของดิ อิมพอสซิเบิล จนนึกตรึกไม่ออกว่า ครูพยงค์ได้เขียนเพลงลูกทุ่งและลูกกรุงไว้มากมาย ครบถ้วนทุกแนวทางเท่าที่เพลงไทยทั้งหมดจะพึงมีในขณะนั้น

         ‘คิดถึงพี่ไหม’ เป็นผลงานประพันธ์ของครูพยงค์ มุกดา เขียนแต่งขึ้นเป็นการจำเพาะเจาะจงให้ ทิว สุโขทัย นำไปร้องอัดแผ่นเสียง แต่ฉบับดั้งเดิมของเพลงนี้ ไม่ประสบความสำเร็จในวงกว้าง มิหนำซ้ำหลังจากออกเผยแพร่ได้ไม่นาน ทิว สุโขทัยก็เสียชีวิตก่อนวัยอันควร เกือบจะกลายเป็นเพลงที่เลือนหายและถูกลืม

          จนกระทั่งครูพยงค์ มุกดายกเพลงนี้ให้ศรคีรีนำไปร้องใหม่

          มีเกร็ดเรื่องเล่าอยู่ว่า ขณะบันทึกเพลงนี้ในห้องอัด ศรคีรี ศรีประจวบขอให้ทีมงานปิดไฟหมดทุกดวง แล้วร้องท่ามกลางความมืด

          ถ้าจะให้เดา คงเป็นเรื่องของการสร้างบรรยากาศห้อมล้อมกลมกลืนสอดคล้องกับเนื้อเพลง เพื่อจะได้ใช้จินตนาการอย่างเต็มที่

         แต่ที่ไม่ต้องเดา และเด่นชัดมากจนทุกคนสามารถรู้สึกได้ คือ ศรคีรีร้องเพลงนี้อย่างพริ้งพรายแพรวพราว ทั้งลูกเอื้อนลูกคอซับซ้อนหลายชั้น ผ่านน้ำเสียงสูงกังวานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ เป็นการร้องแบบพูดได้เต็มปากว่า ถอดหัวใจทั้งดวงฝากฝังไว้ในบทเพลง

        ผมชอบเพลงนี้นับจากวันแรกที่ได้ยิน ยิ่งโตและฟังบ่อย เริ่มเข้าใจความหมายของเนื้อร้องดีขึ้น ก็ยิ่งซาบซึ้งตรึงใจ

        มีเพลงจีนเพลงหนึ่ง นำเอาบทกวีเก่าแก่อายุร่วม ๆ พันปีของซูตงปอ (กวีเอกสมัยราชวงศ์ถัง) มาใส่ท่วงทำนอง กระทั่งกลายเป็นเพลงป๊อปอมตะ นักร้องมากมายนำมาขับขานซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนปัจจุบันก็ยังเป็นที่นิยมไม่เสื่อมคลาย

         เพลงจีนนั้น กล่าวถึงเหตุการณ์ที่ท่านกวี พลัดพรากห่างไกลจากคนรัก ในคืนไหว้พระจันทร์ที่ฟ้าแจ่มสุกสกาว จึงยกจอกสุราร่ำดื่มเดียวดาย ระบายความในใจ ตัดพ้อดวงจันทร์ และฝากความคิดถึงล่องลอยไปสู่ถิ่นแดนแสนไกล รวมทั้งสบตากับคนรักห่างไกล ผ่านการมองจันทร์ดวงเดียวกันบนฟากฟ้า

         ‘คิดถึงพี่ไหม’ ของครูพยงค์ โรแมนติคเทียบเคียงได้กับเพลงจีนอมตะข้างต้น ขณะเดียวกันก็มีเสน่ห์พิเศษ ท่ามกลางสำนวนโวหารคมคายเป็นบทกวี เช่น “ฝากใจกับจันทร์ ฝากฝันกับดาว” ก็มีความซื่อใสจริงใจแบบจิตวิญญาณลูกทุ่งปรากฏเด่นชัด

         ที่สำคัญคือ เพลงนี้คิดถึงกันทุกคืน ไม่ว่าจะเป็นข้าง ขึ้นหรือข้างแรม

         ผมแทบจะขาดใจตามเลยนะครับ เมื่อถึงเนื้อร้องว่า “คิดถึงพี่ก่อนน้องนอนก็ได้ เมื่อยามหลับไหล น้องเจ้าจะได้นอนฝัน...”
 
         น่ารักจนต้องขออนุญาตจำและลอกเลียนแบบล่วงหน้าตลอดชีวิต

         มีอีกความพิเศษอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดกับการฟังเพลงนี้ ฟังทีไรผมรู้สึกว่าอากาศรอบข้างเย็นลง ในใจนั้นยะเยือก ยิ่งฟังในช่วงฤดูหนาว (จริง) ยิ่งเกิดความไพเราะล้ำลึกอีกหลายเท่าตัว

         แต่ครั้งที่ฟังแล้วเหงาเศร้าจับจิต มักเกิดขึ้นในค่ำคืนฝนพรำ เมฆครึ้มทึมหม่น ไร้แสงจันทร์แสงดาว
        
         ผมรู้สึกไปว่า คืนนี้ไอ้หนุ่มอีสาวในบทเพลง มองหากันไม่เห็น เหลือแต่ความคิดถึงกำเริบรุนแรง

         เท่านั้นเอง ผมก็สะเทือนใจจนเกินห้ามและสุดจะกลั้นน้ำตา



เพลง คิดถึงพี่ไหม คำร้อง-ทำนอง พยงค์ มุกดา คิดถึงพี่หน่อยนะกลอยใจพี่ ห่างกันอย่างนี้ น้องคิดถึงพี่บ้างไหม อย่าลืม อย่าลืม อย่าลืมสัจจา สัญญาที่ให้ ว่าตัวห่างไกล หัวใจชิดกัน คิดถึงพี่ก่อนน้องนอนก็ได้ เมื่อยามหลับใหล น้องเจ้าจะได้นอนฝัน ข้างขึ้นเมื่อใด แก้วใจโปรดมอง แสงของนวลจันทร์ เราสบตากันในแสงเรื่อเรือง คืนไหนข้างแรม ฟ้าแซมดารา น้องจงมองหาดาวประจำเมือง ทุกคืนเราจ้องดูเดือนดาว ทุกคราวเราฝันเห็นกันเนือง ๆ ถึงสุดมุมเมือง ไม่ไกล คิดถึงพี่หน่อยนะกลอยใจเจ้า พี่ตรม พี่เหงา เพราะคิดถึงเจ้าเชื่อไหม ฝากใจกับจันทร์ ฝากฝันกับดาว ทุกคราวก็ได้ เราต่างสุขใจเมื่อคิดถึงกัน