วันอังคารที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ก่อนจะเป็น "กาลครั้งหนึ่งฯ" โดย "นรา"


ผมเคยเขียนถึงซือแป๋หรืออาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุลไปบ้างแล้ว ในบทความชื่อ “ไหว้ครูที่อยู่ในใจ”

ขณะนั่งอ่านทบทวนบทความชื่อ “กาลครั้งหนึ่งเมื่อวานนี้” เพื่อนำลงในบล็อก เจตนาดั้งเดิม ผมก็ตั้งใจจะบอกเล่าเกี่ยวกับที่มาที่ไปของงานชิ้นนี้

นึกไปนึกมา ก็พบว่า มีรายละเอียดเยอะพอสมควร จนน่าจะแยกออกมาเขียนเป็นบทความอีกชิ้น ซึ่งก็เกี่ยวเนื่องโยงใยถึงซือแป๋ของผมด้วยเช่นกัน
ผมเขียนเรื่อง “กาลครั้งหนึ่งเมื่อวานนี้” ขึ้นเมื่อประมาณปี 2538 แรกเริ่มเดิมทีเป็นการบ้านที่ผมเขียนส่งอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในวิชา “การเขียนบทความ”

เล่าย้อนหลังเท้าความอีกเล็กน้อยก็คือ ตอนนั้นผมเพิ่งออกจากหนังสือฟิล์มวิว และไปทำงานที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ โดยไม่ได้สังกัดประจำกองบ.ก. ฉบับใด แต่อยู่ในหน่วยงานที่เรียกว่า “สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมนักข่าว”

งานหลัก ๆ ของที่นี่ได้แก่ การคิดค้นหลักสูตรต่าง ๆ เพื่อให้บรรดานักข่าวมาเรียนรู้เพิ่มเติม

หน้าที่ของผมก็คือ คอยถ่ายวิดีโอหลักสูตรการเรียนการสอนต่าง ๆ, ซื้อหนังคลาสสิคและหนังดี ๆ มารวบรวมในห้องสมุด เพื่อให้นักข่าวมาหยิบยืมไปดู, รวมทั้งชงกาแฟดูแลอำนวยความสะดวกให้แก่คนที่มาใช้บริการ ฯลฯ ส่วนเรื่องเขียนหนังสือก็หยุดพักไปโดยปริยาย เนื่องจากไม่มีสนามให้เขียน

ช่วงนั้นอาจารย์เสกสรรค์ใช้เวลานอกเหนือจากงานสอนหนังสือที่ธรรมศาสตร์ มาช่วยเป็นที่ปรึกษาให้กับทางสถาบันฯ (ซึ่งมีอาจารย์ชัยสิริ สมุทวณิชเป็นผู้อำนวยการ)

จนกระทั่งวันหนึ่งก็เกิดมีหลักสูตร “การเขียนบทความหนังสือพิมพ์” โดยอาจารย์เสกสรรค์ ลงมือเป็นผู้ถ่ายทอดให้ความรู้ด้วยตนเอง

นี่เป็นหลักสูตรที่มีคนสนใจมาสมัครเยอะแยะมากมาย (เรียนฟรีด้วยครับ) แต่ครั้งนี้พิเศษตรงที่ว่า ต้องมีการสอบข้อเขียน เพื่อคัดเลือกให้เหลือเพียงประมาณสิบกว่าคน

เหตุผลก็เพราะผู้เข้าเรียนต้องเขียนการบ้านส่งทุกครั้ง ต้องมีการตรวจงาน วิจารณ์ข้อดีข้อเสียกันอย่างละเอียดถี่ถ้วน จึงต้องรับในจำนวนจำกัดเท่าที่อาจารย์เสกสรรค์จะสามารถดูแลได้ทั่วถึง

ที่พิเศษอีกอย่างก็คือ วิชาของอาจารย์เสกสรรค์ ไม่มีการบันทึกวิดีโอเก็บไว้ เนื่องจากวิธีเรียนและสอนนั้น ไม่ใช่การบรรยายหน้าชั้น แต่เหมือนนั่งล้อมวงพูดคุยกัน

หลังจากสอบคัดเลือกจนได้คนเรียนครบถ้วนแล้ว ชั่วโมงแรกของหลักสูตรก็มาถึง ก่อนเริ่มเพียงไม่กี่นาที ผมเดินไปสารภาพตามตรงกับอาจารย์เสกสรรค์ว่า “ผมขออนุญาตเข้านั่งฟังนั่งเรียนด้วยได้มั้ยครับ ผมอยากเรียน”

“ได้ แต่นายต้องทำการบ้าน เขียนงานส่ง เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ”

ผมเริ่มหัดเขียนหนังสือด้วยวิธี “ครูพักลักจำ” ศึกษาจากงานของนักเขียนผู้มาก่อนจำนวนมาก (และผมถือว่าทุกท่านล้วนเป็นครู)

อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล จึงเป็นครูทางด้านการเขียนหนังสือโดยตรงและเป็นทางการ เพียงหนึ่งเดียวของผม

การบ้านครั้งแรกคือ เขียนบทความสองชิ้น

ชิ้นแรกเป็นบทความในเชิงแสดงความเห็นโต้แย้ง อีกชิ้นหนึ่งเป็นบทความทั่วไป เพื่อเสนอทัศนะมุมมองบางอย่างต่อผู้อ่าน

ผมเลือกเขียนบทความโต้แย้งคำสัมภาษณ์ของศิลปินท่านหนึ่ง ส่วนอีกชิ้นก็คือเรื่อง “กาลครั้งหนึ่งเมื่อวานนี้”

ชั่วโมงเรียนครั้งถัดมา อาจารย์เสกสรรค์อ่านการบ้านของแต่ละคน พร้อมกับชี้แนะข้อด้อยรอยโหว่ต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วน ตั้งแต่พื้นฐานการใช้ภาษา, การลำดับความคิด, ความเป็นเหตุเป็นผล, การสร้างความคมคาย, และประเด็นที่นำเสนอ ฯลฯ(ในกระดาษต้นฉบับของแต่ละคน ยังปรากฎการตรวจแก้ด้วยปากกาสีแดงลายพร้อยไปหมด และการประเมินให้เกรด กล่าวได้ว่า อาจารย์เสกสรรค์ตรวจงานละเอียดพิถีพิถันมาก แม้กระทั่งการใช้คำเกินรกรุงรังเพียงคำเดียวก็ยังโดนแก้)

การบ้านของผม ไม่ได้ถูกอ่านในชั้นเรียน เนื่องจากเป็นลูกศิษย์ประเภทไม่ได้ลงทะเบียนอย่างถูกต้องเป็นทางการ แต่อาจารย์เสกสรรค์ก็เรียกผมมาพูดคุยเป็นการส่วนตัว เพื่อชี้แนะข้อดีข้อเสีย

บทความชิ้นที่ผมเขียนโต้แย้งได้คะแนนปานกลาง ส่วนชิ้น “กาลครั้งหนึ่งเมื่อวานนี้” โดยรวมค่อนข้างดี แต่มีปัญหาตรงที่ยังมีบางจุดคลุมเครือไม่ชัดเจน และขาดรายละเอียดเชื่อมโยง

ส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมโล่งอกก็คือ อาจารย์บอกว่า ผมนั้นผ่านด่านหลุดพ้นไม่ติดขัดเรื่องปัญหาการใช้ภาษา (และการบ้านของผมก็มีร่องรอยตรวจแก้ด้วยปากกาแดงค่อนข้างน้อย) ที่ยังต้องแก้ไขปรับปรุงก็มีเพียงเรื่องการเรียงลำดับความคิดให้เป็นระบบรัดกุมยิ่งขึ้น

ผมเรียนกับอาจารย์อีกหลายครั้ง ทว่าท้ายที่สุดหลักสูตรดังกล่าวก็ต้องเลิกก่อนกำหนดไปโดยปริยาย ด้วยสาเหตุว่า ไม่มีคนส่งการบ้าน (ซึ่งยากขึ้นเรื่อย ๆ) เพราะบรรดานักข่าวส่วนใหญ่ ต่างติดภารกิจงานประจำ ไม่มีเวลาทุ่มเทให้กับการบ้าน รวมทั้งเกิดอาการเกร็งและเกรงความเห็นตรงไปตรงมาของอาจารย์เสกสรรค์

อย่างไรก็ตาม แม้จะเรียนไม่จบครบหลักสูตร แต่ก็ถือว่าผมนั้นได้วิชาความรู้ติดตัวมาเยอะ และส่งผลให้งานเขียนของผมถัดจากนั้น ผิดแผกแตกต่างจากเดิมอยู่มากพอสมควร

มีอีกหนึ่งกระบวนท่า ที่ผมได้รับการชี้แนะสั่งสอนเพิ่มเติมนอกเหนือลูกศิษย์คนอื่น ๆ

กล่าวคือ ระยะนั้น งานเขียนของผมมีร่องรอยอิทธิพลของอาจารย์เสกสรรค์ปรากฏอยู่เต็มไปหมด จนวันหนึ่งผมนำความเรื่องนี้ไปปรับทุกข์กับซือแป๋ ว่าจะทำอย่างไรดี จึงจะสามารถคลี่คลายสู่ความเป็นตัวของตัวเอง

อาจารย์ตอบด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนเปี่ยมเมตตาว่า “ไม่เป็นไรหรอก เรามันศิษย์มีครู ระยะเริ่มแรกทำอะไรอาจเหมือนครูอยู่บ้าง ย่อมเป็นเรื่องธรรมดา ทำงานบ่อย ๆ ทำงานหนัก ๆ ประเดี๋ยวเวลาก็จะค่อย ๆ ช่วยขัดเกลาให้เกิดลีลาเฉพาะขึ้นมาเอง อย่าไปกลัวที่จะรับและศึกษาอิทธิพลดี ๆ จากเขียนของผู้อื่น การศึกษาแบบอย่างที่ดี มันอาจติดอาจเหมือนต้นทางอยู่บ้าง แต่ประสบการณ์ความชำนาญจะช่วยให้มันคลี่คลายกลายเป็นการสร้างขึ้นใหม่ หลุดพ้นจากการลอกเลียนแบบไปในที่สุด”

เคล็ดลับกระบวนท่านี้ ส่งผลทำให้การอ่านหนังสือของผม เกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวง นับจากวันนั้นเป็นต้นมา ผมก็อ่านหนังสือช้าลง อ่านละเอียดทุกตัวอักษร กระทั่งสามารถจับสังเกตวิธีการใช้ถ้อยคำ เทคนิคต่าง ๆ รวมทั้งวิธีนำมาปรับใช้ ดูดกลืน ย่อยสลาย ให้กลายเป็นภาษาถ้อยคำในแบบฉบับลีลาของผมเอง

ผมก็จนด้วยเกล้าที่จะอธิบายรายละเอียดว่า ต้องทำอย่างไรบ้างนะครับ มันค่อย ๆ เกิดขึ้นเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ มารู้ตัวอีกทีก็พบว่า ผมมีวิธีการอ่านหนังสือที่ไม่เหมือนเดิมเสียแล้ว

ทั้งหมดนี้ ผมเขียนไปด้วยอาการหนาว ๆ ร้อน ๆ ครั่นเนื้อครั่นตัวอยู่พอสมควร เกรงจะโดนมองว่า กำลังคุยโม้โอ้อวด

เจตนาแท้จริงมีแค่ว่า ผมรู้สึกว่าผมโชคดี เจอครูดี จึงอยากจะนำมาบอกเล่าเพื่อแบ่งปันสิ่งที่ผมได้เรียนรู้มา

ซือแป๋ของผม เคยมอบอีกคาถาหนึ่งให้ ว่าทำอย่างไรจึงจะเขียนหนังสือดี

ง่าย ๆ สั้น ๆ คือ “พูด คิด และเขียน ออกมาให้เป็นสำนวนภาษาหนึ่งเดียวกัน”

พ้นจากนี้ก็เป็นเรื่องของการตีความถอดรหัสของแต่ละท่าน ว่าจะขยายความคาถาดังกล่าวจนเกิดทัศนะความเข้าใจกันไปอย่างไร

สำหรับผมแล้ว พินิจพิจารณาไปเรื่อย ๆ ก็คลี่คลายสู่อีกคาถาหนึ่ง นั่นคือ “การใช้เวลาเพื่อฝึกคิด ลงมือเขียน และอ่านหนังสืออย่างต่อเนื่อง” ให้เกิดเป็นสัดส่วนเหมาะเจาะสอดคล้องกลมกลืนกัน

เปรียบเทียบง่าย ๆ ก็เหมือนแผนสำหรับฝึกซ้อมของนักกีฬานะครับ เท่าที่ได้ทดลองปฏิบัติมาหลายปี ผมคิดว่า นี่เป็นสูตรที่ได้ผลเด็ดขาดนัก เวลาทำจนเคยชินเป็นปกติ เหมือนไม่มีผลบวกอันใดเลย แต่จะส่งผลกระทบเดือดร้อนขึ้นมาทันที เมื่อองค์ประกอบส่วนหนึ่งส่วนใดย่อหย่อนหละหลวม

ความรู้เท่าที่ผมได้รับจากซือแป๋ เห็นจะมีเพียงเท่านี้ (จริง ๆ แล้วยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอื่น ๆ อีกพอสมควร ถ้าผมนึกออกเมื่อไหร่ก็จะนำมาเล่าสู่กันฟัง)

หลังจากที่อาจารย์เสกสรรค์วิจารณ์การบ้านชิ้น “กาลครั้งหนึ่งเมื่อวานนี้”ไปแล้ว ผมก็หยิบทั้งตัวงานและความเห็น มาทบทวนพิจารณาซ้ำ จนกระทั่งเห็นบาดแผลชัดขึ้น ตลอดจนช่องทางในการแก้ไข ผมจึงลงมือขัดเกลาอีกครั้ง (โดยเฉพาะตรงท่อนที่สามมีการเขียนเพิ่มเติมใจความขึ้นอีกเยอะมาก เพื่ออุดรอยรั่วรูโหว่ต่าง ๆ)

ถ้าจำไม่ผิด ผมน่าจะทดลองส่งงานชิ้นที่แก้ใหม่ ไปลงตีพิมพ์ในนิตยสาร Cinemag จากนั้นจึงแก้อีกครั้ง เพื่อนำไปรวมเล่ม “จอมยุทธจับฉ่าย” (ซึ่งเป็นหนังสือที่ผมเองก็ไม่มีเหลือเก็บไว้ติดตัว และเพิ่งไปได้มาสด ๆ ร้อน ๆ จากงานมหกรรมหนังสือ” ครั้งล่าสุด)

ระหว่างอ่านซ้ำ เพื่อจะเผยแพร่ในบล็อก ผมพยายามหักห้ามใจที่จะไม่แตะต้องแก้ไขงานชิ้นนี้อีก แต่แล้วก็อดรนทนไม่ไหว ต้องมีแอบตัด แอบเติมบ้างนิด ๆ

มันเล็งเห็นแผลนะครับ เห็นแล้วก็เลยต้องเอาซะหน่อย นี่เป็นนิสัยถาวรของผมที่แก้ยังไงก็ไม่หาย

ข้อเขียนทุกชิ้นของผม หยิบมาอ่านซ้ำทีไร ก็มักจะพบรอยตำหนิที่ต้องปรับแก้อยู่เป็นประจำ เนื่องจากมุมมองความเชื่อความเข้าใจต่อการเขียนหนังสือที่ดีของผมนั้น เลื่อนไหลแปรเปลี่ยนไม่คงที่อยู่ตลอดเวลา และสามารถกล่าวได้ว่า ไม่มีวันจะพึงพอใจหรือมีบทสรุปข้อยุติที่สมบูรณ์เด็ดขาด

อย่างไรก็ตาม ผมมีกติกาส่วนตัวอยู่ข้อหนึ่ง ในการแก้ไขขัดเกลาต้นฉบับ นั่นคือ จะระมัดระวังไม่ให้กระทบถึงความคิดที่ปรากฏอยู่ในตัวงาน ไม่เปลี่ยนจนกลายเป็น “คิดคนละเรื่อง” กลับขั้วจากเดิม และกระทำเพียงแค่ตัดทอนส่วนที่เยิ่นเย้อรกรุงรังไม่จำเป็นออกไป แก้ไขถ้อยคำให้กระชับรัดกุมขึ้น เพิ่มเติมเนื้อความเพื่อให้ทัศนะที่มีอยู่แล้วกระจ่างแจ้งชัดเจนขึ้น บางครั้งก็อาจสลับสับเปลี่ยนตำแหน่ง เพื่อให้เนื้อหาเรียงลำดับราบรื่นกว่าเก่า ฯลฯ

ลืมบอกไปอีกอย่างว่า ผมถือเอาการแก้ไขขัดเกลาต้นฉบับ เป็นหนทางหนึ่งในการฝึกเขียนหนังสือด้วยเหมือนกัน



(เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2551 และเผยแพร่ครั้งแรกที่นี่)

กาลครั้งหนึ่งเมื่อวานนี้ โดย "นรา"


1

ผู้หญิงที่ผมแอบเรียกขานในใจว่า “พี่สาว” เป็นเพียงรูปเงาอันพร่าเลือนในความทรงจำ ขนาดนึกทวนย้อนหลังว่า ตลอดยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมาเคยรำลึกถึงเธอบ้างไหม ก็ยังตอบตัวเองได้ไม่แจ่มชัด

อันที่จริงเธอไม่ได้เกี่ยวดองเป็นพี่น้องกับผม แม้จะอ้างเป็นแค่คนรู้จัก ก็ยังพูดได้ไม่เต็มปาก เรื่องของเรื่องคือ แม่ผมสนิทกับพ่อเธอและไปมาหาสู่กันสม่ำเสมอ แต่เราสองเคยพบปะนับครั้งได้ไม่เกินนิ้วมือ คาดคะเนคร่าว ๆ ว่า ตอนนั้นเธอน่าจะอยู่ในวัยแตกเนื้อสาว ส่วนผมคงอายุประมาณหกเจ็ดขวบ

ด้วยความที่ผมเป็นเด็กซึ่งคุ้นกับคนได้ยาก จึงมักนิ่งเงียบทุกคราวที่ตามแม่ไปเยี่ยมเยียนครอบครัวเธอ แต่ลึก ๆ ก็รู้สึกเป็นสุขทุกครั้ง เพราะที่นั่นละลานตาไปด้วยหนังสือการ์ตูนกองโต

แน่ละ ฐานะครอบครัวที่ยากจนทำให้แม่ไม่อาจเจียดเงินซื้อหาสิ่งเหล่านี้มาให้ผมครอบครอง บ้านของ “พี่สาว” จึงมีความหมายยิ่งกว่าสวนสนุก สำหรับวัยเด็กอันขัดสนของผม เวลาแต่ละนาทีดูจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว เมื่อถึงวาระที่ต้องอำลาเจ้าบ้าน ผมมักอิดออดไม่ยอมละสายตาจากการ์ตูนที่กำลังเพลิดเพลินติดพัน และพกพานิสัยดื้อรั้นเข้าถ่วงยื้อโมงยามรื่นรมย์เอาไว้ให้เนิ่นนานเท่าที่จะทำได้

เป็นเช่นนี้อยู่ร่ำไป จนกระทั่งวันหนึ่ง “พี่สาว” คงจะเข้าใจความรู้สึกของเด็กเล็ก ๆ อย่างผม เธอเลยจัดแจงแบ่งปันหนังสือการ์ตูนที่ซื้อหาด้วยเงินออมส่วนตัว และยกให้ผมโดยปราศจากสิ่งตอบแทน

ในยามตื่นเต้นยินดี ผมลืมแม้กระทั่งจะเอ่ยขอบคุณ จนแม่ต้องเอ่ยปากดุ ระหว่างเดินทางกลับบ้าน ใจมันเตลิดลอยล่วงหน้าไปหาหนังสือกองใหญ่ที่กอดกระชับแนบอก ไม่รับรู้เรื่องใด ๆ ทั้งสิ้น แม้แต่ถ้อยคำที่แม่ชวนคุยก็ได้แต่ขานรับไปตามเรื่องตามราวมากกว่าจะสนใจฟังจริงจัง

ผมขลุกอยู่กับสมบัติล้ำค่าที่ได้มาใหม่เป็นเวลาร่วมเดือน วัน ๆ ไม่เป็นอันทำอะไร อาการหลงใหลได้ปลื้มของผมเชื่อว่าแม่คงยินดี กระนั้นก็ไม่วายเป็นห่วง และตักเตือนให้ผมดู “พี่สาว” เป็นเยี่ยงอย่าง พร้อมทั้งชื่นชมต่าง ๆ นานา

คำบอกเล่าของแม่ในตอนนั้นคลับคล้ายว่า “พี่สาว” เป็นคนเรียนเก่ง ขยัน แต่ที่จำได้แม่นคือ แม่ซึ่งมีแต่ลูกชายล้วนชอบเปรยเล่น ๆ ว่าอยากได้ลูกสาวสักคนเหมือนอย่างเธอ ผมพลอยพยักหน้าหงึก ๆ แอบเห็นพ้องอยู่เงียบ ๆ

ใครเล่าจะไม่รักพี่สาวใจดีที่มีการ์ตูนให้อ่านเหลือเฟือ

ไม่กี่เดือนให้หลัง เย็นวันหนึ่งแม่กลับบ้านด้วยน้ำตานองหน้า พร้อมทั้งข่าวร้ายเกี่ยวกับพี่สาว...


2

มีหนังมากมายหลายหลากที่ผมชื่นชอบโปรดปรานด้วยเหตุผลแตกต่างกัน แต่เรื่องหนึ่งที่ชอบเนื่องจากเหตุผลพิเศษออกไปก็คือ It’s a Wonderful Life ของแฟรงค์ คาปรา

หนังเรื่องนี้มีอิทธิพลต่อความคิดอ่านและการใช้ชีวิต เป็นคำตอบที่ผมยึดกุมเสมอ เมื่อไรก็ตามที่มีคนตั้งคำถามว่า เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร?

จอร์จ เบลีย์ ตัวเอกของเรื่องใฝ่ฝันอยากสร้างวีรกรรมยิ่งใหญ่ให้ผู้คนร่ำลือ แต่จังหวะชีวิตและจิตสำนึกดีงามฉุดรั้งให้เขาต้องจมปลักอยู่ในเมืองเล็ก ๆ ทำธุรกิจเงินกู้เพื่อสร้างบ้าน ไม่มีกำไรเป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากจะได้ช่วยชาวเมืองยากจนให้มีหลักแหล่งพำนักในราคาพอเหมาะ ท่ามกลางการเฝ้ามองของนายทุนหน้าเลือดที่พร้อมจะช่วงชิงกิจการอยู่ทุกเมื่อ และคอยฉวยโอกาสลอบกลั่นแกล้งจนจอร์จล้มละลาย ท้อแท้สิ้นหวัง หมดสิ้นศรัทธา ต่อความดีงาม อับจนหนทางถึงขั้นติดสินใจฆ่าตัวตายในคืนวันคริสต์มาส

ชาวบ้านที่รู้ข่าวพากันพร่ำภาวนาต่อเทพยดาบนสรวงสวรรค์ให้คิดอ่านช่วยเหลือ เทวดาไร้ปีกองค์หนึ่งถูกส่งมาแก้ไขปัดเป่าเรื่องราวทั้งหมดในร่างตาแก่อารมณ์ดี ซึ่งชิงโดดน้ำตายตัดหน้าจอร์จ ทำให้ชายหนุ่มต้องเปลี่ยนจากการฆ่าตัวตายมาเป็นการช่วยชีวิตโดยปริยาย

ผู้เฒ่าจำแลงเลียบเคียงถามไถ่กับจอร์จ จนชายหนุ่มระบายความคับข้องใจ ถึงขั้นหลุดคำพูดออกมาว่า หากเปลี่ยนอดีตได้ เขาอยากจะไม่ถือกำเนิดมีชีวิตขึ้นมาบนโลก เพราะเท่าที่ผ่านมาทุกสิ่งที่กระทำล้วนล้มเหลวไร้ค่า

เมื่อกลับเข้าไปในเมือง คำพูดของจอร์จกลายเป็นจริงตามเงื่อนไขที่ว่า หากเขาไม่เคยมีตัวตนมาก่อน เมืองทั้งเมืองจะเป็นเช่นไร

ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไป ชาวบ้านยากจนจำนวนมากไร้ที่อยู่อาศัย กลายเป็นมิจฉาชีพก่อภาระให้แก่สังคม

นายทุนหน้าเลือดกอบโกยทุกวิถีทาง จนเมืองเล็ก ๆ อันสงบสมถะ พลุกพล่านด้วยแหล่งอบายมุข ชาวบ้านที่เคยเป็นมิตรกลับแปลกหน้าต่อกัน

เมียของจอร์จกลายเป็นสาวทึนทึกที่หวาดระแวงเพศตรงข้าม น้องชายที่จอร์จเคยช่วยชีวิตในวัยเด็ก กระทั่งเติบโตเป็นวีรบุรุษของชาติในการสู้รบ นอนสงบนิ่งอยู่ในสุสานเนื่องจากจมน้ำตายตั้งแต่เยาว์วัย หญิงสาวคนหนึ่งที่จอร์จเคยเสียสละนำเอาเงินที่ตั้งใจจะจับจ่ายในช่วงฮันนีมูนให้หยิบยืม ประสบปัญหาเดือดร้อนเรื่องการเงินจนต้องหันมายึดอาชีพโสเภณี ตาเฒ่าเจ้าของร้านขายยา ซึ่งจอร์จเคยช่วยทักท้วงไม่ให้จ่ายยาผิด ติดคุกข้อหาฆ่าคนตายโดยประมาท และติดเหล้าอย่างรุนแรงในเวลาต่อมา

เหตุแปรเปลี่ยนทั้งปวงทำให้จอร์จได้ตระหนักว่า แท้ที่จริงชีวิตเขามิได้สูญเปล่า ตรงข้าม กลับเต็มไปด้วยการกระทำอันควรแก่ความภาคภูมิใจ

It’s a Wonderful Life อธิบายถึงความหมายของการมีชีวิตด้วยคำตอบง่าย ๆ ว่า ทุกชีวิตย่อมเกี่ยวโยงส่งผลต่อผู้คนรอบข้าง อาจแลดูง่าย รวบรัด มองข้ามความจริงบางด้าน และเจือบรรยากาศพาฝันในเชิงอุดมคติ แต่ก็เป็นคำปลอบโยนผู้แพ้ที่ทรงพลัง

ผมรักหนังเรื่องนี้ เพราะมันสอนให้ผมรู้จักศรัทธาต่อการมีชีวิต...

3

ข่าวร้ายเกี่ยวกับ “พี่สาว” ที่นำความโศกสลดมาสู่แม่ก็คือ เธอล้มป่วยลงกะทันหันและเสียชีวิตโดยไม่มีใครระแคะระคายมาก่อน แต่พยายามต่อสู้กับโรคร้ายอย่างเงียบ ๆ ด้วยจิตใจอันเข้มแข็ง ไม่ทำตัวเป็นภาระให้ใคร ๆ ต้องคอยห่วงกังวล จนกระทั่งจากไปอย่างรวดเร็ว ดุจดังดาวตกขีดเส้นสุกไสวให้กับผืนฟ้ามืดดำในคืนแรม

แล้วเวลาที่คืบผ่านก็ทำให้ผมค่อย ๆ ลืมเลือนอดีตส่วนนี้ ก่อนจะหวนคืนสู่ห้วงคิดอีกครั้งหลังจากที่ผมได้ดูหนังเรื่อง Pather Panchali ของสัตยาจิต เรย์

Pather Panchali เป็นเรื่องของเด็กชายชื่ออปู ซึ่งเกิดมาในครอบครัวตระกูลพราหมณ์ฐานะยากจน หนังมุ่งแจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ในสังคมชนบท มากกว่าจะเน้นโครงเรื่องให้จับต้อง ส่วนที่งดงามที่สุดก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างพี่สาวกับน้องชาย ทั้งคู่เย้าแหย่ เที่ยวเล่น ทะเลาะเบาะแว้ง แต่ลึก ๆ ก็ผูกพันรักใคร่กันแน่นแฟ้น

เด็กอย่างอปูอยู่ในสภาพอัตคัดไปเสียทุกทาง ได้แต่เฝ้ามองเพื่อน ๆ ในละแวกใกล้บ้านที่มีฐานะดีกว่าเล่นกันอย่างสนุกสนาน ด้วยของเล่นที่เขาไม่มีปัญญาซื้อหา จะมีก็เพียงพี่สาวที่นำพาเอาความน่าตื่นตาตื่นใจมาสู่วัยเยาว์ของเขา เธอชวนน้อยชายลัดเลาะข้ามทุ่งเพื่อรอดูรถไฟวิ่งผ่านหมู่บ้าน เปิดหูเปิดตาให้อปูรู้จักกับความใหญ่ของโลกภายนอก จุดประกายฝันว่าสักวันคงมีโอกาสได้เที่ยวท่องไปยังแห่งหนแปลกใหม่เหล่านั้น

ความทรงจำในชนบทของอปูจบลงอย่างรวดร้าว เมื่อพี่สาวตากฝนและเสียสละเอาผ้าคลุมไหล่มาห่มให้กับน้องชายเพื่อคลายหนาว จนกระทั่งตัวเองตกเป็นฝ่ายล้มป่วย ความจนทำให้ไม่มีเงินไปหาหมอมารักษาเยียวยา สุดท้ายเธอก็เสียชีวิตอย่างน่าเศร้าสลด

“พี่สาว” ในความทรงจำของผมละม้ายใกล้เคียงกับตัวละครในหนัง ทั้งช่วงวัยและจิตใจอันงดงาม รวมถึงชะตากรรมที่ทั้งสองประสบ

อดีตที่หลบเร้นในหลืบมุมลึกจึงผุดพรายไหลหลากขึ้นมาอีกครั้งเมื่อผมได้ดู Pather Panchali และนึกย้อนไปถึงสิ่งดี ๆ ที่ “พี่สาว” เคยหยิบยื่นมอบให้แก่ผม ซึ่งไม่ต่างไปจากการที่พี่สาวพาน้องชายในหนังไปพบเห็นรถไฟเป็นครั้งแรกในชีวิต

ทุกวันนี้หนังสือการ์ตูนเหล่านั้นสูญหายไปหมดแล้ว แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับว่า มันกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำทำให้ผมติดการอ่านหนังสืออย่างงอมแงม จากการ์ตูนสู่นิยาย ขยับขยายไปยังเรื่องแปล ตำรับตำราวิชาการ โยงใยถึงการดูหนังฟังเพลง สั่งสมเป็นแหล่งความรู้ที่ใช้ในการหัดเขียนหนังสือ กระทั่งกลายเป็นอาชีพดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

ใครจะรู้ หากปราศจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ชีวิตผมจะหักเหไปเป็นเช่นไร?

4

ในชีวิตที่ผ่านมา ผมได้รู้จักพบพาน “จอร์จ เบลีย์” มากมายหลายคน พวกเขาและเธอล้วนกระทำสิ่งเล็กน้อย ซึ่งดูเผิน ๆ เหมือนไม่สลักสำคัญ แต่ก็ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อตัวผม

“พี่สาว” คือหนึ่งในจำนวนนั้น

บางห้วงอารมณ์ ผมเชื่อถึงขั้นที่ว่า “พี่สาว” คือ เทวดาไร้ปีกที่ลงมาสู่โลก เพื่อเปลี่ยนวิถีชีวิตผมให้ดำเนินไปสู่เส้นทางอันเหมาะสม

เช่นนี้แล้ว ผมจึงเชื่อว่าชีวิตเป็นเรื่องงดงาม เราก้าวเดินเตาะแตะ ท่ามกลางน้ำใจที่ได้รับการหยิบยื่นจากผู้คนมากมายที่เวียนผ่านเข้ามาข้องแวะ จนเติบโตมั่นคงเพื่อกระทำสิ่งเดียวกันต่อคนอื่น ๆ สานทอก่อลูกโซ่ของ “การรับและการให้” ที่สัมพันธ์กันไม่รู้จบ

เมื่อยามเด็กผมเคยนึกอยากสร้างวีรกรรมใหญ่โต แต่ทุกวันนี้ความคิดดังกล่าวไม่หลงเหลืออีกต่อไป มีเพียงความใฝ่ฝันอยากเป็นคนธรรมดาเช่น “จอร์จ เบลีย์” และ “พี่สาว”

เพราะมี “พี่สาว” เพราะมีเมื่อวาน ผมจึงมีวันนี้...




(เขียนครั้งแรกเมื่อปี 2538 และแก้ไขปรับปรุงขนานใหญ่ในเวลาต่อมา เพื่อนำมารวมอยู่ในหนังสือ “จอมยุทธจับฉ่าย” ภาพที่ผมเลือกมาประกอบบทความชิ้นนี้ ชื่อ Young Woman on the Beach วาดโดย Philip Wilson Steer)

วันอังคารที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2551

เมื่อคืนนี้...ผมฝันถึงรัสเซียและเสี่ยหมี โดย "นรา"


จิตใต้สำนึกของผมคงจะมีธาตุเหลวไหลฟุ้งซ่านเจือปนประกอบอยู่เยอะนะครับ จึงมักจะเก็บเอาไปแปรรูปเป็นความฝันพิลึกกึกกืออีตอนหลับอยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ


ล่าสุดใหม่เอี่ยมแกะกล่องเมื่อคืนที่ผ่านมา ผมฝันว่าอยู่ดี ๆ ก็จรลีเดินทางไปยังประเทศรัสเซีย ด้วยสาเหตุต้นตอที่ยังคงลึกลับมืดมน ท่ามกลางข่าวลือซุบซิบว่าเป็นการลี้ภัย


ในความฝันนั้น ผมกำลังจะขึ้นรถเมล์เพื่อกลับบ้านตามปกติ แต่แล้วก็เผลองีบหลับสัปหงกระหว่างการจราจรติดหนึบขนาดหนัก มารู้ตัวอีกทีเมื่อรถเมล์เบรคดังเอี๊ยด จนผมหัวทิ่มหน้าคะมำตกใจตื่น (จากการงีบ แต่จริง ๆ แล้วยังหลับและฝันอยู่นะครับ)

ผมเหลือบมองไปทางหน้าต่าง เห็นหิมะตกโปรยปรายเต็มท้องถนน ตึกรามบ้านช่องสองข้างทาง หน้าตารูปทรงแปลก ๆ แบบที่ผมไม่เคยเห็นของจริงมาก่อน แต่คุ้นตาจากในหนังฝรั่งหลาย ๆ เรื่อง


“ที่นี่คือที่ไหนกัน” ผมหันไปถามเจ๊ที่นั่งอยู่ข้าง ๆ (หน้าตาเหมือนอาร์แซน แวนเกอร์ ผู้จัดการทีมอาร์เซนอล แต่ตาตี่แบบคนมีเชื้อสายจีน และเลี่ยมฟันทอง) ด้วยน้ำเสียงสั่นสะท้านตื่นตกใจ


“รัสเซีย” เจ๊ตอบเหมือนไม่ยินดียินร้าย ราวกับเป็นเหตุการณ์ปกติ เหมือนรถเมล์แล่นผ่านแถว ๆ ประตูน้ำ

“แล้วรถไปสุดสายที่ไหนครับ” ผมถามอีกครั้ง ด้วยความวิตกกังวล


“ตลาดพลู” เจ๊ตอบเสียงห้วน ๆ สายตามีแววตำหนิติเตียน ประมาณว่า ไม่รู้แล้วดันทุรังนั่งมาตั้งนานทำไม (วะ)

ผมใช้เวลาเก้าจุดสามเจ็ดสองวินาที ทำลายสถิติโอลิมปิค ประเภทคิดสั้นระยะร้อยเมตร คำนวณหาข้อดีข้อเสีย ว่าควรจะนั่งต่อไปเรื่อย ๆ จนถึงตลาดพลู หรือตัดสินใจลงที่รัสเซียดี

ถ้าลงตลาดพลู ซึ่งเป็นคนละทิศกับบ้านผม (อยู่แถวบางจาก) ต้องเสียเวลานั่งรถย้อนกลับมาอีกไกล

แต่ถ้าลงที่รัสเซีย ยิ่งไกลกว่ามหาศาล และอาจหารถเมล์กลับบ้านไม่ได้ แถมยังหนาวอีกต่างหาก

นกนางนวลต่างกับนกนางนวลทะเลมากทีเดียว นกทั้งสองชนิดนี้ไม่เหมือนกันเลยสักอย่าง ผมคิดราวกับขโมยมาจากงานเขียนของฮารูกิ มูราคามิแบบหน้าด้าน ๆ

คิดได้ดังนั้น ผมก็ถูมือแปลงกายเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจากประเทศไทย และตัดสินใจลงแวะที่รัสเซียทันที

เจ๊คนเดิม ชะโงกศีรษะโผล่ออกมานอกหน้าต่าง ขณะที่รถเมล์กำลังแล่นพ้นเลยป้ายไปอย่างรวดเร็ว แก ตะโกนมาทางผมว่า “เฮ้ย!!! นั่นรัสเซียนะโว้ย มึงขอวีซ่ารึยัง? แล้วพาสสปอร์ตอีกล่ะ มีมั้ย? รู้ที่แลกเปลี่ยนเงินบาทเป็นรูเบิลรึเปล่า? กระเป๋าใส่สัมภาระเอามากี่ใบ? คืนนี้มึงจะนอนพักที่ไหน? อคาเดมี แฟนตาเซีย ซีซั่นหน้า จะโหวตให้ใครดี?”

ท่าทางเจ๊แกคงจะเป็นคนขี้สงสัยนะครับ แต่ที่ผมสงสัยกว่านั้นก็คือ รถเมล์หรือก็วิ่งออกจะเร็ว เจ๊สามารถตะโกนถามอะไรต่อมิอะไรเยอะแยะครบถ้วนได้ยังไง

ท่านผู้อ่านก็ไม่ต้องส่ง SMS มาตอบหรอกนะครับ ข้อความจำพวก “คืนนี้หงส์ชนะแน่” หรือ “เมื่อเช้าลำพูนหนาวจัง” ผมเคยผ่านตาและเห็นมาเยอะแล้ว

ผมลงมายืนกลางถนน สูดลมหายใจเฮือกใหญ่ดูดเอาอากาศรัสเซียเข้าไปจนชุ่มปอด กางแขนสองข้างเหยียดตรงออกไปยื่นมือรับหิมะ ใจหนึ่งก็อยากจะก้มลงกราบแผ่นดินรัสเซียแบบ “พี่บางคน” เคยทำที่สนามบินสุวรรณภูมิดูบ้าง แต่มานึกภาพ ตูดโด่งโก้งโค้งกลมๆ ที่ลอยมาติดตาหลอกหลอนความรู้สึกของผู้พบเห็นแล้ว ก็เลยล้มเลิกความคิด เพราะใจไม่ถึง


ที่สำคัญ แถว ๆ นั้นไม่มีช่างภาพสื่อมวลชนมาคอยทำข่าวด้วย


ก่อนจะเล่าเรื่องการผจญภัยในรัสเซียต่อไป ผมควรแนะนำตัวเด็กชายพี่หมีสักเล็กน้อยนะครับ

ผมมีตุ๊กตาหมีพูห์ตัวหนึ่ง ส่วนสูงนั้นเตี้ยราว ๆ หกนิ้ว หลังจากติดตามผมออกผจญภัยมานานสิบกว่าปี มันก็กลายสภาพเป็นเด็กชายพี่หมี สภาพมอมแมมร่วงโรย มีชีวิต พูดได้ และนิสัยติงต๊อง (พอ ๆ กับผม)


เวลาผมไปไหนมาไหน พี่หมีมักติดสอยห้อยตามผมตลอด ไม่ว่าจะเที่ยวทะเล เข้าป่า เดินเขา หรือซัดเซพเนจรแถว ๆ ถนนข้าวสาร

ตอนฝันว่าไปรัสเซีย พี่หมีก็ร่วมซีนอยู่ด้วย มันค่อย ๆ ปีนออกจากระเป๋าผ้าสะพายไหล่ของผม

ผมปรึกษาหารือกับพี่หมีว่าจะเอายังไงต่อไปดี


“ก่อนอื่น ตอนนี้อั๊วไม่ใช่เด็กชายพี่หมีแล้ว แต่เป็นเสี่ยหมี วินนี-เดอะ-พูห์อับราโมวิช โปรดเข้าใจให้ถูกต้อง” ตุ๊กตาหมีของผม พูดด้วยท่าทีกร่าง ๆ อวดพุงกลม ๆ

“ครับ เสี่ย” ผมตอบด้วยทีท่าอาการสำรวม


“ดีมาก” เสี่ยหมีผงกศีรษะเล็กน้อย “มาเที่ยวรัสเซียทั้งที จะให้เร้าใจ มันต้องหาส้มบางมดหรือทุเรียนเมืองนนท์มากินแก้หนาวกันหน่อย”


“ทำไมล่ะครับ?” ผมถามและฉงนสงสัย


“เรามันเด็กแนวว่ะ จะให้ดื่มว้อดก้าแกล้มคาเวียร์ได้งัย โหล ๆ ดาด ๆ เชยตายห่า ส้มบางมดกับทุเรียนเมืองนนท์นี่แหละ หายาก แพงดี กินแล้วค่อยสมศักดิ์ศรีคนมีกะตังค์ แหล่ม รู้จักมั้ย แหล่ม”


เด็กชายพี่หมีในฐานะเจ้าถิ่น จึงนำพาผมออกดั้นด้นค้นหาแหล่งซื้อขายส้มบางมดกับทุเรียนเมืองนนท์

เราเดินผ่านจตุรัสแดงแบบรีบ ๆ ลวก ๆ เนื่องจากไม่เคยเห็นของจริงมาก่อน บรรยายไม่ค่อยถูก เลี้ยวเข้าตามตรอกซอกซอยคดเคี้ยวหลายแห่ง จนกระทั่งมาหยุดลงตรงตึกเก่า ๆ รูปทรงสี่เหลี่ยมแข็งทื่อ ซึ่งเป็นการออกแบบชนิดเอาแบบออก ไม่เหลือสิ่งใด ๆ ที่พอจะเรียกได้ว่าเข้าข่ายการดีไซน์

ภายในตัวอาคาร มีเคาน์เตอร์สำหรับลงทะเบียนเหมือนโรงแรมทั่วไป ชายชาวรัสเซียวัยกลางคน รูปร่างผอม แก้มตอบ จมูกงองุ้ม ยืนนิ่งกวาดสายตาคมกริบมาที่ผมกับพี่หมี เมื่อเราหยุดยืนตรงเบื้องหน้า


“มีอะไรให้ผมรับใช้ได้บ้าง สหาย” ชายวัยกลางคนเอ่ยถามแทนคำทักทาย


“บอนด์ ผมชื่อบอนด์...บอนด์ไทร มาจากประเทศไทย” ผมพยายามเก๊กหน้าเหมือนฌอน คอนเนอรีตอนหนุ่ม ๆ แต่ดันไม่ค่อยเหมือน ยกเว้นแลดูแก่ใกล้เคียงกับอายุของเขาในปัจจุบัน


“ผมชื่ออีวาน สหายโปรดแจ้งวัตถุประสงค์” อีวานพูดเป็นประโยคบอกเล่าและประโยคคำถามในคราวเดียวกัน


“ส้มบางมดและทุเรียนเมืองนนท์” ผมเปรย ๆ เป็นประโยคไม่ถาม ไม่ตอบ และค่อนข้างผิดหลักไวยากรณ์ แถมยังปราศจากความรู้เรื่องแกรมม่า จนสอบตกวิชาภาษาอังกฤษมาตลอดชีวิต


ชายดังกล่าว พยายามเก็บอาการให้ดูสงบนิ่ง แต่ก็ไม่อาจปกปิด แววตาสะดุ้งตกใจชั่ววูบ ก่อนจะรีบคุมสติทำทีเป็นปกติ และกระแอมหนึ่งครั้ง

“อะแฮ่ม สหายต้องบอกรหัสให้เราทราบ ด้วยการกล่าวอะไรสักนิด”


ผมนิ่งอึกอักอยู่ครู่ใหญ่ตรงหน้าไมโครโฟน กวาดสายตาเหลือบมองดูอีวานตรงเคาน์เตอร์ และบรรดาพนักงานที่นั่งเรียงรายบนเก้าอี้ ทุกคนล้วนจับจ้องมาที่ผม

สิบห้าวินาทีผ่านพ้นไปแบบไร้สุ้มเสียง ก่อนที่ผมจะเอ่ยทำลายความเงียบ ด้วยประโยคที่จำมาจากหนังโฆษณาปตท.

“ผม...ผมขอฝากที่นี่...ให้...น้อง ๆ ช่วยดูแลด้วยครับ ขอบคุณครับ”

ทั้งหมดปรบมือเกรียวกราว อีวานเข้ามาสวมกอดผม พร้อมกับกล่าวว่า “รหัสถูกต้อง ยินดีต้อนรับสหาย”

เด็กชายพี่หมียิ้มกริ่ม เดินเข้ามาผสมโรงสวมกอด แต่โดนอีวานหยิบปืนขึ้นมาจ่อหน้าผาก

“เดี๋ยว บอกรหัสมาก่อน”

ผมเหงื่อหยดซึมซ่านจากปลายคางมากระทบต้นแขนจนแตกดังโพละ ทั้ง ๆ ที่ข้างนอกหิมะตกหนาวเย็นเหมือนทาแป้งตรางูขณะกำลังอาบน้ำ ส่วนเสี่ยหมีหน้าซีดเผือด ทั้ง ๆ ที่เนื้อตัวสกปรกมอมแมม

มันพยายามใช้ความคิดจนสุดชีวิต ก่อนโดนปลายปืนกระแทกหน้าผากเข้าอย่างจังอีกครั้งเป็นการเร่งรัด

“บ้านนี้เมืองนี้มันเป็นอะไรกันหมด จะเอากันให้ตายเลยหรือไง...ปัดโธ่!... ” เด็กชายพี่หมีตะโกนขึ้นเสียงอย่างหงุดหงิด

“รหัสไม่ถูกต้อง แกเป็นใคร”

“อั๊วชื่อเสี่ยหมี”

อีวานพยักพเยิดส่งสัญญาณกับบรรดาลูกน้อง “เอาตัวมันไปสอบปากคำ”

ชายร่างใหญ่สองคน ก้าวพรวดเข้ามาหิ้วปีกเด็กชายพี่หมีที่พยายามดิ้นรนขัดขืน ผมพยายามแทรกตัวเข้าไปขัดขวาง แต่ดันซุ่มซ่ามสะดุดขาตัวเอง ด้วยความประหม่าตื่นเต้นแบบที่ “ยู้ ๆ หรู่” (เชื่อรึยังครับว่า ประหม่าจริง ๆ ขนาดจะเขียนว่า “รู้ ๆ อยู่” ลิ้นยังพันกันมาถึงปลายนิ้วจนพิมพ์ผิด)

เจ้ายักษ์คนหนึ่งจึงปล่อยหมัดอัปเปอร์คัทเข้าไปเต็มพุงของเสี่ยหมี (ผมควรบอกด้วยว่า ในความฝันครั้งนี้ ไม่มีเด็กหรือสัตว์ใด ๆ ได้รับบาดเจ็บ หรือเป็นอันตราย ยกเว้นก็แต่เสี่ยหมีนี่แหละ)

ก่อนหมดสติ (เนื่องจากเกิดอาการจุกจนอ็อกซิเจนเลี้ยงสมองไม่ทัน) เด็กชายพี่หมีครวญครางเบา ๆ ว่า “บอกแล้วให้ไปลอนดอนดีกว่า มีสโมสรฟุตบอลอังกฤษให้ซื้อเยอะแยะเลย”

ผมค่อย ๆ ลุกขึ้นยืน ทั้งเจ็บ ทั้งอาย (ไม่ได้อายที่หกล้ม แต่อายที่พิมพ์ผิด) และโกรธ ยกมือชี้นิ้วด่าอีวาน “แก ไอ้คนใจโหด ทำร้ายแม้กระทั่งลูกหมีที่ไม่มีทางสู้, ลูกหมีสกปรก, ลูกหมีขี้ตะกละ, ลูกหมีนิสัยบ้า ๆ บอ ๆ, ลูกหมีหัวรุนแรงกลิ่นตัวเหม็น...ลูกหมี...”

เด็กชายพี่หมีพึมพำเหมือนละเมอทะลุกลางป้องขึ้นมา ทั้ง ๆ ที่ยังหลับตาหมดสติ “ไม่ต้องบรรยายสรรพคุณละเอียดก็ได้”

“หึ หึ หึ” อีวานหัวเราะชั่วร้ายเจ้าเล่ห์ฆ่าเวลา เลียนแบบหนังแอ็คชั่นหลากสัญชาตินับล้านเรื่อง ระหว่างที่ผมยังนึกไม่ออกว่าจะฝันยังไงต่อไป

“ความผิดของสหายก็คือ ลักลอบเข้าเมือง, ปลอมตัวเป็นสายลับอังกฤษ, มีพฤติกรรมเป็นจารชนสอดแนม และเป็นเพื่อนกับไอ้ลูกหมีเน่า ๆ ตัวนั้น เราคือดินแดนเจ้าของสมญาหมีขาว สหายกับสหายของสหาย (หมายถึง ผมกับเด็กชายพี่หมีซึ่งเป็นเพื่อนของผมที่ถูกอีวานเรียกว่าสหาย โอย! ตอนฝันก็ว่าปวดหัวแล้ว ตอนเขียนก็ยิ่งปวดหัวหนักขึ้นอีก) ลบหลู่เหยียดหยามพวกเราเป็นอย่างยิ่ง ถึงขั้นอภัยให้ไม่ได้ ผมเสียใจที่เราต้องใช้วิธีลงโทษขั้นเด็ดขาด”

สมุนของอีวานจับตัวผมไปเข้าห้องทรมาน ถูกตรึงแขนขาล่ามไว้ด้วยโซ่เหล็กกล้าบนเตียง ทั้งเนื้อทั้งตัวผมเหลือเพียงกางเกงบอลที่ใส่ตอนเข้านอน ส่วนท่อนบนโป๊และเปลือยจนต้องทำภาพเบลอ ๆ กันอุจาด

เจ้ายักษ์คนเดียวกับเมื่อหกเจ็ดย่อหน้าที่แล้ว หยิบน้ำแข็งก้อนมาลูบไล้บริเวณอก หลัง และคอของผม เหมือนทาวิคส์วาโปรับแก้หวัด ทำเอาผมสะท้านเยือกหนาวสั่นสุดขีด (โปรดอย่าลืมว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา ข้างนอกนั้นยังมีหิมะตกโปรยปรายอยู่เรื่อย ๆ)

นั่นเป็นแค่ความทรมานขั้นต้น เจ้ายักษ์หยิบน้ำแข็งอีกก้อน เทแป้งตรางูโรยน้ำแข็งจนขาวไปทั้งก้อน จากนั้นก็ลูบไล้ไปยังที่เดิม พร้อมทั้งปาลูกอมรสมินท์เข้าไปในปาก ขณะที่ผมร้องตะโกนสุดเสียง

“ช่วยด้วยยยยยยยยยย!!!!!!!!!!!”

ผมตกใจตื่นในชั่วเสี้ยววินาทีนั้นเอง ความรู้สึกแรกก็คือ หนาวชิบเป๋งเลยครับ เมื่อพยายามลืมตาอันสะลึมสะลือ นั่งงัวเงีย ถอนหายใจแรง ๆ อีกพักใหญ่ จึงค่อยค้นพบว่า ฝันร้ายเนื่องจากเมื่อคืนเผลอนอนใกล้พัดลมไปหน่อย ครั้นเหลียวซ้ายแลขวามองหาเด็กชายพี่หมี ก็ไม่มีวี่แววไร้ร่องรอย

จนเมื่อทิ้งตัวลงนอนอีกครั้ง เพื่อเตรียมจะฝันล้างแค้นช่วงชิงตัวเด็กชายพี่หมีกลับมา ผมถึงได้รู้ว่า มันแบนแต๊ดแต๋ติดอยู่กลางหลังของผมเอง

เหตุการณ์ในฝันครั้งที่สอง ไม่ได้เกิดขึ้นที่รัสเซียหรอกนะครับ อีวานและสมุนจึงโชคดี รอดพ้นจากการโดนเวรกรรมตามสนอง กลายเป็นผู้ร้ายลอยนวล

ส่วนผมและเด็กชายพี่หมี กลายเป็นนกเพนกวิน เดินเตาะแตะต้วมเตี้ยมอยู่แถว ๆ ขั้วโลกเหนือ

หลังจากตื่นนอนอย่างแท้จริงในอีกสองชั่วโมงต่อมา ผมกับเด็กชายพี่หมีก็หยิบเพลง “จากไปลอนดอน” ของวงชาตรีมาฟัง ประมาณว่าเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ

เราตกลงกันแล้วว่า คืนนี้อยากจะฝันถึงลอนดอนและบางคน-ที่คุณก็รู้ว่าใคร

ป.ล. สาบานได้ว่า เรื่องนี้เขียนเพื่อถ่ายทอดบอกเล่าความฝันบ้า ๆ บอ ๆ ของผมเอง ไม่มีแก่นสาร, ไม่ได้ซ่อนนัยยะ,ไม่มีความหมายแอบแฝง, ปราศจากแง่คิด, ไม่ได้แทรกสัญลักษณ์ใด ๆ ให้ตีความ หรือมีเจตนาจะกระทบชิ่งพาดพิงถึงคนเหลี่ยมคนไกลที่ไหนเลย แต่หากผู้อ่านท่านใดอยากจะคิดเช่นนั้น...ผมก็ขออนุโมทนา และหากนึกอะไรได้ก็อย่าลืมนำมาเล่าให้ผมฟังด้วย ชักอยากรู้อยากเห็นขึ้นมาบ้างเหมือนกัน




(เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "มนุษย์ไร้สาระวีหนึ่ง" โอเพนออนไลน์)

วันพุธที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ผู้หญิงแปลกหน้า โดย "นรา"


แม้ว่าผมจะยังคงลงมือเขียนต้นฉบับชิ้นนี้ที่ "เซฟเฮาส์" เหมือนเดิม แต่ฉากหลังของเรื่องที่จะนำมาเล่าสู่กันฟัง กลับเกิดขึ้นในดินแดนห่างไกล ต้องรอนแรมข้ามน้ำข้ามทะเล (และหลังคาบ้านอีกจำนวนนับไม่ถ้วน) ไปถึงลอนดอนนู่นเชียว

ผมนั้นใฝ่ฝันอยากเป็นนักเขียนเรื่องประเภทเดินทางท่องเที่ยว (ทั้งในและนอกราชอาณาจักร) มาตลอดสิบกว่าปี แต่เอาเข้าจริงก็ดูเหมือนจะเป็นไปได้ยาก เพราะความขาดแคลนทางด้านทุนทรัพย์ ครั้นจะแบกเป้เร่ร่อนตะลอนเที่ยวแบบถูก ๆ ก็ติดขัดตรงกลัวลำบาก (เช่น เกรงว่าจะโดนยุงกัด คิดถึงบ้าน และอดกินข้าวเหนียวทุเรียนกวน เป็นต้น)

นี่ยังไม่นับรวมความรู้ด้านภาษาอังกฤษที่มีน้อยร่อยหรอพอ ๆ กับหางอึ่งตัวสุดท้องที่ขาดสารอาหาร

ยิ่งถ้าหากพิจารณาไปถึงหน้าตาซึ่งไม่เป็นมิตรต่อเพื่อนร่วมโลก มิหนำซ้ำยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขอวีซ่าด้วยแล้ว ก็มีเหตุผลเหลือเฟือที่ผมสมควรจะปักหลักกบดานกักบริเวณอย่างมิดชิดด้วยความเจียมตัวประมาณตนอยู่ที่ "เซฟเฮาส์" เท่านั้น

หนทางเดียวที่พอจะเป็นไปได้คือ นั่งเฉย ๆ รอคอยจนกว่าจะมีใครมาเป็นเจ้าภาพเชิญไปเที่ยวเมืองนอก ชนิดดูแลอำนวยความสะดวกเสร็จสรรพเพียบพร้อมครบครัน ทั้งที่พัก อาหาร และตั๋วเครื่องบิน แต่ก็อีกนั่นแหละอยู่ดี ๆ คงไม่มีใครมาควักกระเป๋าทุกกระปุกพาคนสติไม่เรียบร้อยอย่างผมไปเที่ยวให้สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ

อีกวิธีที่ดูดีขึ้นมาบ้างเล็กน้อยก็คือ ลงมือเขียนเรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์ท่องเที่ยวต่างแดนให้เป็นกิจลักษณะ เพื่อพิสูจน์ให้เจ้าภาพในอนาคตทั้งหลายได้เห็นว่า ผมนั้นเข้าข่ายน่าพิจารณาพาไปเป็นลูกทัวร์ วิธีนี้ก็มีอุปสรรอย่างฉกรรจ์ตรงที่ว่า เมื่อไม่เคยไปเที่ยวมาก่อน ก็ไม่รู้จะสรรหาอะไรมาเขียนให้ทุกคนได้ประจักษ์ (ในความเป็นนักท่องเที่ยวดีเด่นสาขารักนวลสงวนฟอร์ม)

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผ่านมาเคยมีคนชวนผมไปเที่ยวเมืองนอกแลกกับข้อเขียนหนึ่งชิ้น เมื่อกลับมาทำงานชดใช้ตามกติกาเรียบร้อยแล้ว ผมก็แทบจะไม่ได้ลงมือทำอะไรเกี่ยวกับการเดินทางครั้งนั้นอีกเลย ทั้ง ๆ ที่แรกเริ่มเดิมทีได้ตั้งเป้าวางแผนร่างนโยบายเป็นโครงการมหึมายิ่งใหญ่อลังการเอาไว้ว่า จะเขียนเป็นหนังสือเล่มหนาขนาด The Lord of the Rings แช่น้ำจนบวมอืด

ความขี้เกียจนั้นเป็นเหตุผลอันดับแรก (เรื่องนี้น่าจะเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้ว) ถัดมาคือ ผมคิดว่าจำเป็นต้องค้นข้อมูลหาความรู้เพิ่มเติม (เงื่อนไขนี้สำหรับผมแล้ว ถ้าคิดจะทำจริง ๆ ง่ายดายหมูตู้ เพียงแต่โดยปกติ "ไม่ค่อยคิด" นะครับ) แต่อุปสรรคที่หนักหนาสาหัสกว่าได้แก่ การหาเวลาปลอดโปร่งโล่งจากงานอื่น ๆ ประมาณหนึ่งเดือนสำหรับลงมือเขียน ซึ่งโดยภาระความรับผิดชอบตามปกติของผม ไม่เอื้ออำนวยให้ทำเช่นนั้นได้อย่างราบรื่นเรียบร้อย

เหนือสิ่งอื่นใดคือ ผมไม่อยากเขียนบอกเล่าแค่ว่า วันไหนเมื่อไรไปเที่ยวไหนทำสิ่งใด (และสรุปสิ่งต่าง ๆ ที่พบเห็นว่า "สวยจัง") ผมปรารถนาจะเขียนถึงเรื่องราว สถานที่ และเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วยมุมมองสายตาความเข้าใจที่ลึกซึ้งกว่านั้น อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อจะได้ไม่แสดงอะไร "อวดโง่" และ "อวดฉลาด" ออกมาประจานตนเองจนเกินไป

นั่นย่อมหมายถึงการใช้เวลา ซึ่งไม่ได้จำเพาะเจาะจงแค่ห้วงขณะลงมือเขียน แต่ยังรวมระยะบ่มฟักความคิดและการทำความเข้าใจสารพัดสิ่งที่เจอะเจอในการเป็น "คนผ่านทาง" เพราะเหตุนี้เอง การไปเที่ยวหลากถิ่นหลายครั้งของผม (รวมถึงเมื่อคราวพา "พี่หมี" ขึ้น "พูห์กระดึง") จึงแทบไม่เคยคืบหน้าขยับเคลื่อนลงสู่บนหน้ากระดาษเลย ด้วยข้ออ้างง่าย ๆ คือ เรื่องราวในหัวของผมยังไม่เติบโตงอกงามจนได้ที่พอเหมาะ

เรื่องที่จะเล่าสู่กันฟังต่อไปนี้ก็เป็นกรณีหนึ่ง ซึ่งใช้เวลาเดินทางจากความทรงจำของผมสู่หน้ากระดาษเชื่องช้าเนิ่นนานถึงหกปี เหตุการณ์เกิดขึ้นตอนสาย ๆ วันหนึ่ง ขณะที่ผมกำลังเดินโต๋เต๋ตามตรอกซอกซอยต่าง ๆ ในลอนดอน จู่ ๆ ก็มีหญิงสาววัยยี่สิบต้น ๆ แต่งตัวสะอาดเรียบร้อย เดินจูงรถเข็นที่มีเด็กทารกอยู่ในนั้นตรงเข้ามาหา พร้อมทั้งเอ่ยปากขอเงินเป็นค่าอาหารลูกของเธอ ผมจึงหยิบเหรียญทั้งหมดที่มีอยู่ให้เธอ รวมแล้วตกประมาณ 3 ปอนด์กว่า ๆ (ตอนนั้นเทียบค่าเงินหนึ่งปอนด์เท่ากับห้าสิบบาท)

เธอรับเงินแล้วพูดกับผมหนึ่งประโยค ก่อนจะเดินลากรถเข็นจากไป

เรื่องนี้ติดค้างอยู่ในใจผมเสมอมา เมื่อนึกทบทวนย้อนหลัง ผมเกิดคำถามติดตามมาหลายข้อ เช่น เธอเป็นขอทานหรือเปล่า? ทำไมผมจึงให้เงินเธอโดยไม่กลัวว่าจะโดนโกหกหลอกลวง? และที่สำคัญ ทำไมผมจึงมีความสุขและรู้สึกดีเหลือเกินทุกครั้งที่นึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว?

ข้อแรกนั้นตอบง่ายครับ ผมคิดและเชื่อโดยสัญชาติญาณความรู้สึกว่า เธอไม่ใช่ขอทาน เป็นเพียงคนปกติธรรมดาที่บังเอิญกำลังตกอยู่ในช่วงเดือดร้อนเรื่องเงินทอง ผิดหรือถูกผมเองก็ไม่ทราบ แต่ปราศจากประโยชน์อันใดนะครับ ที่จะไปเที่ยวประเมินผู้อื่นให้อยู่ในฐานะต่ำต้อยด้อยกว่า ผมจึงเลือกเชื่อเช่นนี้ โดยไม่ใส่ใจต่อการพิสูจน์ข้อเท็จจริงใด ๆ ทั้งสิ้น

เรื่องโดนโกหกหลอกลวงยิ่งตอบง่ายกว่าเดิมเสียอีก ระหว่างการเชื่อผู้อื่นกับความหวาดระแวง ความรู้สึกปลอดโปร่งโล่งใจย่อมเทน้ำหนักไปที่อย่างแรกมากกว่า

นอกเหนือจากนี้ ผมเชื่อตัวผมเองครับ เมื่อสมองสั่งการว่า โปรดหยิบเงินให้แก่หญิงสาวคนนั้น ก็ป่วยการที่จะหาเหตุคัดค้านขัดแย้งกับตนเองให้วุ่นวายใจ อย่างไรก็ตาม ผมหาคำตอบไม่ได้ว่า ทำไมถึงให้เงินหญิงสาวคนนั้น (นี่เป็นเงินให้ "คนแปลกหน้า" ที่แพงมากสุดในชีวิตของผมเลยทีเดียว)

ตรงนี้โยงใยมาสู่ความอับจนปัญญาในการหาเหตุผลว่า ทำไมผมจึงเอนเอียงไปทางประทับใจเมื่อนึกถึงเรื่องราวเหล่านี้?

มีคำอธิบายที่ดูดี (แต่ผมคิดว่าไม่เป็นความจริง) อยู่มาก เช่น ผมสุขใจจากการได้ช่วยเหลือผู้อื่นที่อยู่ในฐานะลำบากกว่า

ผมสุขใจเพราะในห้วงเวลาดังกล่าว หญิงสาวคนนั้นกับผมสามารถสื่อสารถึงกัน โดยไม่มีพรมแดนทางภาษาหรือเชื้อชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เป็นความเข้าใจเบื้องลึกระหว่างเพื่อนมนุษย์ ซึ่งทำให้ผมรู้สึกหลุดพ้นจากภาวะแปลกปลอมผิดที่พลัดถิ่น

ผมสุขใจเพราะเรื่องนี้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจที่มีให้แก่กัน (แม้ว่าในความเป็นจริง ผมจะเชื่อทุกสิ่งที่เกี่ยวกับหญิงสาวคนนั้น แต่มันก็ไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้ผมเป็นสุขในการนึกถึงเรื่องนี้หรอก)

ผมมั่นใจนะครับว่า เหตุผลต่าง ๆ ที่หยิบยกมาข้างต้น ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง เพราะเมื่อไรก็ตามที่ผมพยายามจะเชื่อหรือยอมรับคำอธิบายเหล่านี้ ผมรู้สึกเกลียดความตอแหลของตัวเองขึ้นมาทันที

อะไรที่มันไม่จริง ต่อให้พยายามหว่านล้อมโน้มน้าวอย่างไรก็ย่อมเป็นสิ่งปลอม ๆ อยู่นั่นเอง

ผมตัดสินใจเขียนถึงเรื่องนี้ เนื่องจากเพิ่งจะได้ความกระจ่างว่า มีอยู่ 2 เหตุผลที่ทำให้ผมฝังใจกับเหตุการณ์ครั้งนั้น

แรกสุดคือ ตลอดเวลาที่หญิงสาวคนนั้นเอ่ยปากขอเงินจนกระทั่งเธอจากไป เมื่อย้อนรำลึกดูอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว พบว่าผมไม่ได้คิดคำนวณไตร่ตรองอะไรเลย ทุกสิ่งเกิดขึ้นอัตโนมัติโดยแทบไม่รู้ตัว

ตลอดชีวิตผมเคยทำสิ่งเดียวกันนี้บ่อยครั้งพอสมควร แต่นี่อาจเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ผมไม่ได้คิดอะไรเลย (โดยเฉพาะในแง่ของการหาเหตุผลประเมินผู้อื่น คำนวณบวกลบในเชิงกำไรขาดทุน หรือคาดหวังถึงผลตอบแทนที่จะได้รับ)

พูดให้ชัดกว่านั้น ผมไม่รู้สึกว่าได้ทำบุญทำกุศลอันใด และไม่ได้อิ่มเอิบสบายใจเพราะเหตุผลนี้

ผมเพิ่งมาพบว่า ความประทับใจในเรื่องนี้เกิดจากอีกเหตุผลหนึ่ง นั่นคือ หญิงสาวคนนั้นทำให้ผมสัมผัสได้ถึงความปรารถนาดีที่มนุษย์พึงมีต่อกัน

แน่นอนครับว่า ในกรณีนี้เธอต่างหากที่เป็นฝ่ายให้ ไม่ใช่ผม ก่อนจะอำลาจากกันเธอพูดข้อความประโยคหนึ่งกับผม

เป็นประโยคซึ่งผมคิดว่าสวยงาม และเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่เธอจะพึงให้ผมได้ในขณะนั้น
ขอสารภาพว่า ผมพบความยุ่งยากลำบากใจพอสมควรในการเขียนถึงเรื่องนี้ เพราะต้องระมัดระวังอย่างถึงที่สุด ไม่ให้โน้มเอียงไปทาง "ยกย่องเยินยอ" ตัวเอง (ถ้าใครอ่านแล้วยังรู้สึกเช่นนั้นอยู่ ก็น่าจะเป็นด้วยสาเหตุเดียวคือ ผมไร้ความสามารถในเชิงขีดเขียน)

ปกติแล้วผมไม่นิยมบอกกับผู้อ่านชัด ๆ โจ่งแจ้งหรอกนะครับว่า ประเด็นเป้าหมายที่ต้องการนำเสนอในงานเขียนคืออะไร? เพราะนอกจากจะขาดชั้นเชิง ไร้ความเป็นศิลปะแล้ว การ "บอกตรง ๆ" มักจะก่อให้เกิดความรู้สึกว่า "ยัดเยียด"

แต่ในข้อเขียนชิ้นนี้ ผมขอละเมิดข้อห้าม ด้วยการพูดอะไรตรงไปตรงมา ว่าสิ่งที่อยากจะถ่ายทอดส่งมอบสู่ผู้อ่านในเรื่องนี้ คือประโยคที่หญิงสาวคนนั้นเคยพูดกับผมเมื่อ 6 ปีที่แล้ว

ถ้อยคำนั้นก็คือ God Bless You
(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ “เขียนคาบเส้น” เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ ปี 2546 เดิมตั้งใจจะรวมไว้ใน “ข้าวมันเป็ด” ถัดจากบทความชื่อ “เซฟเฮาส์” แต่ก็เหมือนเดิมคือ ผมทำต้นฉบับหาย และเพิ่งหาเจอ เรื่องนี้เป็นบทความชิ้นสุดท้ายในคอลัมน์ "เขียนคาบเส้น" ด้วย ผมเขียนขึ้นโดยมีเจตนาตั้งใจจะให้มันแทนคำร่ำลากับผู้อ่าน-อย่างไม่เป็นทางการ-เนื่องจากขณะนั้นได้เตรียมตัวลาออกจากงานประจำแล้ว ในการเผยแพร่ครั้งนี้ จึงไม่ได้ปรับปรุงขัดเกลาอะไร นอกจากตรวจตราแก้ไขคำที่สะกดผิดให้ถูกต้องเท่านั้นเอง)

ป.ล. พูดถึงหนังสือ "ข้าวมันเป็ด" ขออนุญาตโฆษณาขายของอีกนิดว่า สามารถหาซื้อได้ในงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ ดูเหมือนจะมีขายเคียงข้างกับงานของเพื่อนร่วมสำนักพิมพ์อีก 2 เล่มคือ "อากาศอยู่ตรงนี้...หวังว่าคุณคงหายใจ" เขียนโดยญามิลา และ "สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามเกม" เขียนโดยจักรพันธุ์ ขวัญมงคลทั้งสามเล่มมีวางขายเฉพาะที่บู้ธบลูสเกล โซนซี ชั้นล่าง บู้ธหมายเลข M16 และที่บู้ธของ Open Book ในแพลนนารี ฮอลล์ บู้ธหมายเลข i01
ทุกเล่มลดราคาถูกกว่าหน้าปกประมาณ 20 บาท และไม่มีโปรโมชั่นแถมอะไรเป็นพิเศษ

วันพฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2551

เจค็อบจอมโกหก โดย "นรา"


ต้องนับเป็นความโชคร้ายอย่างยิ่งของหนังเรื่อง Jakob the Liar ซึ่งประสบความล้มเหลวด้วยสาเหตุหลักคือ ออกฉายทีหลัง Life is Beautiful รวมทั้งมีจุดสำคัญละม้ายคล้ายคลึงมาก จนใคร ๆ ก็อดไม่ได้ที่จะนำไปเทียบเคียงกัน และก็เป็นไปตามธรรมเนียม งานที่ออกฉายช้ากว่าย่อมเสียเปรียบทุกประตู

กรณีเช่นนี้คล้ายกับเมื่อครั้งที่ EDtv ของรอน เฮาเวิร์ดออกฉายหลัง The Truman Show ซึ่งถ้าว่ากันตามเนื้อผ้าแล้ว EDtv อาจไม่สนุกเท่า แต่ความเฉียบคมของประเด็นทางด้านเนื้อหาสาระ กล่าวได้ว่าไม่เป็นรอง หรืออาจจะลุ่มลึกกว่าเสียด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม คุณภาพโดยรวมของ EDtv และ Jakob the Liar จัดว่าน่าพึงพอใจและดีเกินกว่าที่จะล้มคว่ำไม่เป็นท่า

ผมนั้นปรับตัวเตรียมใจก่อนดู Jakob the Liar แล้วว่า จะพยายามไม่นึกถึง Life is Beautiful รวมทั้งหักห้ามใจไม่นำไปเปรียบซึ่งกันและกัน เอาเข้าจริง ๆ ก็แทบไม่ต้องใช้ความพยายามเลย เพราะรายละเอียดต่าง ๆ ผิดแผกกันอยู่มาก จนเป็นคนละเรื่องอย่างเห็นได้ชัด

แรกสุดก็คือ บรรยากาศหรืออารมณ์หลัก ๆ Life is Beautiful นั้น มีลีลาพาฝันแบบเทพนิยาย แม้เรื่องจะขมวดทิ้งท้ายเศร้าหมอง แต่ตลอดทั้งเรื่องก็ดูอบอุ่น สดใส และเต็มไปด้วยอารมณ์ขัน Jakob the Liar เริ่มต้นเหมือนจะเป็นเรื่องเล่าในแบบเดียวกัน ทว่าเมื่อเหตุการณ์ดำเนินไปเป็นลำดับ เห็นได้ชัดว่าเกาะเกี่ยวกับความสมจริงมากกว่า บรรยากาศหม่นทึมกว่า และไม่เน้นอารมณ์ขันเป็นด้านหลัก

Jakob the Liar ดัดแปลงจากนิยายของยูเรค เบคเคอร์ ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อปี 1969 ฉะนั้นข้อสงสัยที่ว่าจะลอกเลียน Life is Beautiful จึงเป็นอันตกไป

หนังจับความเหตุการณ์ในปี 1944 ฉากหลังเป็นเมืองหนึ่งในโปแลนด์ (ไม่มีการระบุสถานที่แน่ชัด) ชาวยิวโดนพวกนาซีกักล้อมจำกัดบริเวณอยู่ในย่านเสื่อมโทรม โดนใช้แรงงานเยี่ยงทาสแลกกับการปันส่วนอาหารพอประทังชีวิต

เรื่องเริ่มต้นด้วยเสียงบรรยายของเจค็อบ เล่ามุขตลกเกี่ยวกับวันตายของฮิตเลอร์ พร้อมทั้งอธิบายว่า ในยามยากแค้นลำเค็ญเช่นนี้ อารมณ์ขันเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ชาวยิวดำรงชีวิตอยู่รอด

เจค็อบเป็นอดีตพ่อค้าขายแพนเค้ก เมื่อนาซีรุกรานเข้ายึดครองโปแลนด์ เขาก็ใช้ชีวิตเพื่อให้ผ่านพ้นไปวัน ๆ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนไป จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่ขยายลามกลายเป็นเรื่องใหญ่

เจค็อบวิ่งไล่คว้ากระดาษหนังสือพิมพ์แผ่นหนึ่ง ซึ่งลอยไปตกหน้าประตูรั้วลวดหนาม ทหารยามระบุว่าเขามีความผิดในข้อหา ออกมาเพ่นพ่านเกินเวลาเคอร์ฟิว เจค็อบโดนสั่งให้ข้ามฟากไปรายงานตัวรับโทษต่อนายทหารนาซี ในตึกกองบัญชาการนอกค่าย

ที่นั่นชายหนุ่มชาวยิว ได้ฟังข่าวสารจากวิทยุโดยไม่ตั้งใจ รายงานข่าวกล่าวว่า กองทัพรัสเซียกำลังรุกคืบเข้ามาใกล้เพียงแค่ไม่กี่ร้อยไมล์

เจค็อบได้รับการยกโทษไม่เอาผิด แต่ปัญหาก็คือ เขากลับเข้าบริเวณปิดล้อมไม่ทันกำหนดเวลา ขณะกำลังหาลู่ทาง ก็พบกับเด็กหญิงชาวยิวที่หลบหนีจากรถไฟซึ่งมุ่งหน้าไปสู่ค่ายกักกัน ด้วยความที่ยายหนูตัวเล็ก ๆ ช่วยชีวิตเขาไว้ จนสามารถกลับมายังบริเวณบ้านอย่างปลอดภัย เจค็อบจึงตอบแทนด้วยการเลี้ยงดู และซ่อนตัวเธอไว้ในห้องเล็ก ๆ ใต้หลังคา
ชีวิตของชาวยิวในชุมชนแห่งนั้น น่าจะดำเนินไปตามปกติ คนที่ทนการทารุณกรรมไม่ไหว มีทางเลือกอยู่ 2 อย่าง ถ้าไม่หลบหนี (ซึ่งมีโอกาสรอดเพียงน้อยนิด) ก็รีบชิงฆ่าตัวตายด้วยความสิ้นหวัง

เพื่อนสนิทของเจค็อบ 2 คน ตัดสินใจทำเช่นที่ว่า แต่ก็ได้รับการยับยั้ง พร้อมทั้งบอกเล่าข่าวเกี่ยวกับกองทัพรัสเซีย ซึ่งกลายเป็นความหวัง สร้างขวัญและกำลังใจอย่างวิเศษ เมื่อโดนซักไซ้ไล่เรียงว่ารู้ข่าวจากไหน เจค็อบตอบสั้น ๆ โดยไม่มีโอกาสอธิบายเพิ่มเติมว่า รู้จากข่าวในวิทยุ

และแล้วข่าวร่ำลือเกี่ยวกับการที่เจค็อบซุกซ่อนวิทยุไว้ฟังข่าวในบ้าน ก็แพร่ลามลุกกระจายไปทั่ว เขากลายเป็นที่นับหน้าถือตาในหมู่ชาวยิว ยิ่งพยายามแก้ตัว ผู้คนก็ยิ่งเชื่อมั่นหนักขึ้นอีกว่า เจค็อบมีวิทยุอยู่จริง ท้ายสุดเขาก็ตัดสินใจแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ในสภาพตกกระไดพลอยโจน ต้องสวมรอยเป็นคนโกหก คอยกุข่าวหลอก ๆ ขึ้นมาปลอบประโลมใจพรรคพวกชาวยิว

เรื่องราวถัดจากนั้น ดำเนินไปในลักษณะเหมือนคนเดินไต่เส้นลวด เจค็อบต้องผ่านภาวะคับขันครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งจากความครุ่นคำนึงกังขาของชาวยิว การเอาตัวรอดจากฝ่ายนาซี ตลอดจนการต่อสู้ระหว่างคุณธรรมในใจกับการโกหก

บทสรุปทิ้งท้ายของหนังจบลงอย่างซาบซึ้ง ข่าวสารปลอม ๆ ของเจค็อบ กลายเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ช่วยให้ชาวยิวหลายคนหยัดยืนมีชีวิตอยู่รอด จนกระทั่งสงครามยุติลง ทำให้ชาวยิวบางคนที่เคยดำรงอยู่แบบตัวใครตัวมัน มีโอกาสได้เสียสละเพื่อผู้อื่น ช่วยเหลือประคับประคองกันฟันฝ่าวิกฤติ และคนเล็ก ๆ ที่ดูไม่มีความหมายอย่างเจค็อบ ก็ได้ประกอบวีรกรรมยิ่งใหญ่ โดยที่ตัวเขาเองก็ไม่ตั้งใจและไม่คาดคิดมาก่อน

สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนใคร ๆ จะเข้าใจผิดกันมากก็คือ หน้าตาภายนอกของ Jakob the Liar ชวนให้คาดเดาไปว่า เป็นงานสะท้อนภาพชีวิตชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในลักษณะเคลือบอารมณ์ขันเช่นเดียวกับ Life is Beautiful ทว่าแท้จริงแล้วงานชิ้นนี้จัดเป็นหนังชีวิตเข้มข้นมากกว่า

แต่ที่ตรงกันไม่ผิดเพี้ยน ได้แก่ สาระสำคัญว่าด้วยการมองโลกในแง่ดี ใช้การโกหกด้วยเจตนาดี เพื่อสร้างความหวัง หยิบยื่นกำลังใจให้แก่ผู้อื่น และยึดมั่นเกาะกุมเพื่อความอยู่รอด

แง่มุมปลีกย่อยอย่างหนึ่งที่คมคายมาก คือ การเทียบเคียงเจค็อบกับบรรดาประกาศก (Prophet) ในประวัติศาสตร์ของชนชาติยิว ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระเจ้า ทำหน้าที่ถ่ายทอดในสิ่งที่พระเจ้าต้องการ

ในความหมายที่ครอบคลุม "ประกาศก" หมายถึง ผู้ถ่ายทอดสาสน์จากพระเจ้าทั้งที่เกี่ยวกับอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

บทบาทลวงโลกของเจค็อบในด้านหนึ่ง ก็เป็นไปในลักษณะนี้

ที่ผมชอบมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในฉากเริ่มต้น เจค็อบวิ่งไล่คว้ากระดาษหนังสือพิมพ์อย่างเอาเป็นเอาตาย และมีกลิ่นอายพาฝันเป็นแฟนตาซีเหนือจริงอยู่นิด ๆ หนังใส่ภาพดังกล่าวเข้ามาโดยปราศจากคำอธิบาย แต่เมื่อเรื่องดำเนินไปเรื่อย ๆ คนดูก็เข้าใจได้ทันทีว่า กระดาษหนังสือพิมพ์แผ่นนั้นกับข่าวในวิทยุเป็นสิ่งเดียวกัน มันบอกเล่าข่าวสารซึ่งอาจจะเป็นหนทางสว่างให้แก่ชีวิตที่มืดมิดอับจนของชาวยิว (ทำให้ภาพกระดาษหนังสือพิมพ์พัดปลิวไปตามลมนั้น แลดูเหมือนสิ่งมหัศจรรย์หรือปาฏิหาริย์จากฟากฟ้า)

Jakob the Liar เป็นงานที่โรบิน วิลเลียมส์ตั้งใจและทุ่มเทอย่างมาก นอกจากจะรับบทนำแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างอีกด้วย การแสดงของเขาอยู่ในเกณฑ์ดีเมื่อเทียบกับงานช่วงหลัง ๆ ไม่เค้นอารมณ์ฟูมฟายจนเกินเลย ดูนิ่ง สงบ และเป็นปุถุชน แต่ก็มีจุดด้อยตรงที่อุตส่าห์แทรกใส่ฉากเจค็อบแกล้งอ่านข่าวจากวิทยุ ซึ่งเปิดโอกาสให้โรบิน วิลเลียมส์โชว์ความสามารถในเชิงตลก และการเลียนเสียงคนดังตามที่เขาถนัด แม้จะไม่บกพร่องร้ายแรง แต่ก็ทำให้บุคลิกของตัวละครซึ่งเป็นคนธรรมดาสามัญอย่างเจค็อบดูแกว่งไกวกลายเป็นดาราดังชื่อโรบิน วิลเลียมส์ไปชั่วขณะ

กระนั้นข้อบกพร่องดังกล่าวรวมทั้งช่วงที่เด็กหญิงหลบหนีจากรถไฟ ซึ่งดูง่ายดายอย่างเหลือเชื่อ ก็ไม่ได้ทำให้คุณภาพโดยรวมของหนังเสียหายมากนัก

แม้จะมี Life is Beautiful โดดเด่นยึดครองพื้นที่ในใจของผมส่วนหนึ่ง แต่ผมก็ชอบ Jakob the Liar มาก ๆ เช่นกัน




(บทความชิ้นนี้ เขียนไว้นานแล้วประมาณ 7-8 ปี ถ้าจำไม่ผิดน่าจะตีพิมพ์ในนิตยสาร Cinemag ในการเผยแพร่คราวนี้ ผมแก้ไขเพิ่มเติมบางส่วนเล็กน้อย และตัดทอนเนื้อความที่รกรุงรังออกไป รวมทั้งเปลี่ยนชื่อเรื่องเสียใหม่)

วันพุธที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2551

หายใจลึก ๆ หายใจฮึด ๆ โดย "นรา"


ช่วงเทศกาลกินเจที่ผ่านมา เป็นเวลาเดียวกันกับที่ผมเริ่มต้น “ถือศีลอด” โดยไม่มีอะไรเกี่ยวข้องพาดพิงถึงแง่มุมทางศาสนาใด ๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นเหตุผลทางด้านเศรษฐศาสตร์ส่วนตัวล้วน ๆ เลย

กล่าวคือ ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน ผมไปมีภาระรายจ่าย เป็นเงินก้อนใหญ่พอสมควร เพื่อป้องกันระบบการเงินไม่ให้สั่นสะเทือนได้รับผลกระทบจนเกินไป ผมจึงต้องใช้มาตรการรัดเข็มขัดเข้มงวดกับตนเองเล็กน้อยประมาณสัก 2-3 เดือน

อันนี้เป็นสูตรเฉพาะตัวที่ผมยึดมั่นเสมอมาในช่วงหลัง ๆ

ผู้ที่ชี้ทางสว่างให้แก่ผมในเรื่องนี้ ไม่ใช่นักวิชาการที่ไหนหรอกนะครับ แต่เป็นผู้กำกับหนังชื่อคุณเป็นเอก รัตนเรือง

ตอนช่วงใกล้ส่งท้ายปีเก่าขึ้นปีใหม่ที่ผ่านมา (2550-2551) ผมบังเอิญเจอคุณเป็นเอกแถว ๆ สะพานลอย หน้าห้างสรรพสินค้าหรูหราแถว ๆ ถนนสุขุมวิท

ผมกับคุณเป็นเอก มักจะเดินโต๋เต๋มาเจอกันตรงบริเวณสะพานลอยแห่งนี้อยู่บ่อยครั้ง จนท้ายที่สุดต่างฝ่ายต่างเลิกนับว่าเป็นความบังเอิญไปแล้ว และถือเป็น “พื้นที่ทับซ้อน” ร่วมกัน

เย็นวันนั้น ผมเพิ่งเดินออกมาจากร้านขายหนังสือ มุ่งตรงมายังสะพานลอยดังกล่าว ด้วยอาการลังเลใจอย่างรุนแรง

กล่าวคือ ผมไปเจอหนังสือขนาดมหึมา ปกแข็ง 2 เล่มจบ หนาเกือบ ๆ 5 นิ้ว สูงประมาณฟุตกว่า ๆ บรรจุกล่องอลังการ น้ำหนักประมาณเกือบ ๆ สิบกิโลกรัม เป็นผลงานการ์ตูนของท่านอาจารย์ดอน มาร์ติน (ชื่อเต็ม ๆ ของหนังสือชุดนี้ก็คือ The Completely Mad Don Martin)

อาจารย์ดอนนั้นเป็นหนึ่งในการ์ตูนนิสต์ระดับเสาหลักของนิตยสาร MAD และได้ชื่อว่าเป็นคนที่บ้าเพี้ยนสุดเหวี่ยง รวมทั้งตลกอย่างร้ายกาจ

อารมณ์ขันของอาจารย์ดอน จัดอยู่ในประเภทตลกโฉ่งฉ่าง เหมือนใช้ถาดตีหัวเรียกเสียงฮา แต่ที่เหนือไปกว่านั้นก็คือ มันหลุดพ้นจากเหตุผลความสมจริงโดยสิ้นเชิง จนไม่น่าเชื่อว่าจะมีใครคิดอะไรบ๊อง ๆ ได้ขนาดนี้

เอกลักษณ์ที่โดดเด่นอย่างยิ่งในการ์ตูนของอาจารย์ดอน ก็คือ ลายเส้นอันเฉียบขาด สวยงาม และเต็มไปด้วยซาวด์เอ็ฟเฟ็คแปลก ๆ ไม่เป็นภาษามนุษย์ แต่อ่านแล้วได้อารมณ์บ้าบอคอแตกดีแท้ และสอดคล้องกับลูกบ้าในภาพที่วาดเป็นอย่างยิ่ง (เช่น sazzikk, skruncha, kloonk, shtoink, thwop!, bzzownt!, yaauch, ga-shklurtz ฯลฯ)

ตามประสาลูกศิษย์ที่มีความติงต๊องอยู่ในสายเลือด เมื่อพบเห็นผลงานของอาจารย์ที่เคารพ วางปรากฎอยู่ต่อหน้าเป็นอภิมหาคัมภีร์ ผมจึงเกิดอาการอยากได้ คว้าหมับเข้าให้ทันที

จนกระทั่ง เหลือบดูป้ายบอกราคา ผมก็ต้องเกิดอาการอึ้งและใบ้รับประทาน

หนังสือชุดนี้ราคาหกพันกว่าบาทเท่านั้นเอง

ผมยืนเลียบ ๆ เคียง ๆ อยู่นาน หยิบขึ้นแล้ววางลงอยู่หลายครั้ง คิดคำนวณผลดีผลเสียประมาณ 700 กว่าข้อ ทำแบบนี้ซ้ำไปซ้ำมาประมาณครึ่งชั่วโมง จนรปภ. เริ่มด้อม ๆ มอง ๆ ผมด้วยอาการไม่ไว้วางใจ

ผมไม่ได้มีทีท่าเหมือนขโมยหรอกนะครับ แต่ดูคล้าย ๆ พวกโรคจิตที่ยกหนังสือขึ้น ๆ ลง ๆ แทนการบริหารร่างกายในสถานฟิตเนสมากกว่า

ท้ายสุดผมก็เดินเอามือจิกหัวตัวเองกระชากลากถูออกจากร้าน เพื่อจะได้มีเวลาไตร่ตรองให้รอบคอบกว่านี้ว่า จะซื้อหรือไม่ซื้อ

เดินมาจนพบกับคุณเป็นเอกตรงสะพานลอย หลังจากคุยทักทายไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบกันพอสมควร ผมจึงเล่าให้คุณเป็นเอกฟัง ว่าเพิ่งเจอะเจออะไรมา

ฟังรายงานแล้ว คุณเป็นเอกก็สรุปให้ผมฟังด้วยเหตุผลประมาณว่า “ถ้าไม่ซื้อ ก็อดได้นะ อาจมีคนมาคว้าตัดหน้าไปก่อน หรือถ้าจะไปเมืองนอก ก็คงซื้อได้ราคาถูกกว่านี้ แต่ลำบากอีตอนที่ต้องแบกขึ้นเครื่องบิน แถมค่าตั๋วเครื่องบินก็แพงด้วย จะฝากเพื่อนที่อยู่ต่างแดนซื้อ ก็บาปกรรมเปล่า ๆ เอางี้สิ ลองกลับไปนอนเล่นที่บ้านซักสามวัน ถ้าผ่านไปแล้ว ไม่รู้สึกอะไร ก็แปลว่าไม่ได้อยากได้จริง แต่ถ้าสามวันไปแล้ว ยังกินไม่ได้ นอนไม่หลับ หากชีวิตนี้ไม่ได้เป็นเจ้าของมัน ถึงตรงนั้นก็ซื้อเถอะ ยอมกินอยู่ยากจนทนลำบากซักเดือน ก็น่าจะพอไหว”

แสดงความเห็นเสร็จสรรพ คุณเป็นเอกก็ร่ำลาเดินจากไป พอคล้อยหลังห่างกันในระยะประมาณ 5 เมตร คุณเป็นเอกก็หันกลับมาเรียกผม พร้อมทั้งตะโกนบอกความเห็นส่งท้าย ที่เปี่ยมด้วยความเป็นกลางอย่างยิ่งว่า “ซื้อเถอะ!!!”

ผมก็กลับมานั่งคิด นอนคิดที่บ้าน หลับฝันเห็นหนังสือดังกล่าว ลอยตุ๊บป่องเรียกร้องความสนใจอยู่เบื้องหน้าถึงสามคืนเต็ม ๆ

ครบกำหนดวัดใจ ผมก็รีบไปเบิกเงิน ซื้อหนังสือของอาจารย์ดอนทันที

และแล้วผมก็เริ่มรู้จักกับฤดู “ถือศีลอด” เป็นครั้งแรก

ว่ากันตามตรง ผมก็ยังกินอยู่ไม่ต่างจากเดิมสักเท่าไร แค่ลดระดับความหรูหราจากมื้อละร้อยสองร้อยบาท มาใช้บริการข้าวแกงและก๋วยเตี๋ยวแถว ๆ ปากซอยใกล้บ้าน ซึ่งราคาย่อมเยาว์กว่า เปลี่ยนจากสัญจรเดินทางด้วยรถไฟฟ้ามาเป็นรถเมล์ และปักหลักอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ออกไปไหนโดยปราศจากกิจธุระอันจำเป็น

ผมรัดเข็มขัด ใช้ชีวิตมัธยัสถ์เช่นนี้อยู่หนึ่งเดือน รายจ่ายเกินงบไปหกพันกว่าบาท จากการซื้อหนังสือของอาจารย์ดอน จึงค่อยกลับมาเข้าที่เข้าทางตามเดิม

ถามว่าคุ้มไหม ก็ต้องตอบว่าคุ้มนะครับ เพราะหนังสือของอาจารย์ดอนนั้นสุดยอดจริง ๆ แม้ว่าลักษณะของอารมณ์ขัน จะเป็นอีกแนวทาง ที่นำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางรูปธรรมอันใดได้ยาก แต่ก็ก่อให้เกิดความสุขทางใจแก่ผมอย่างใหญ่หลวง

พ้นจากนั้นแล้ว ผมก็ผ่านเผชิญฤดู “ถือศีลอด” อีกหลายต่อหลายครั้ง ไม่ใช่เพราะว่า ฮึกเหิมรู้วิธีรับมือหรอกนะครับ โดยมากมักจะมีรายจ่ายพิเศษอันจำเป็น อยู่นอกเหนือชีวิตประจำวัน ย่างกรายมาเยี่ยมเยือนเป็นระยะ ๆ เช่น เครื่องเล่นดีวีดีหรือโทรทัศน์เจ๊ง ต้องซื้อใหม่, มีเหตุให้เดินทางไปต่างจังหวัด และอื่น ๆ อีกจิปาถะ ฯ

ทุกครั้งผมก็ใช้วิธีเดียวกันนี้ ผ่านพ้นเอาตัวรอดด้วยดีเสมอมา

นี่เป็นพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผม ที่เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด

ย้อนหลังกลับไปหลายปีก่อนหน้านั้น ผมไม่ได้เคร่งครัดทางด้านการใช้เงินเลยนะครับ ประมาณว่า เจอหนังสือของอาจารย์ดอน ผมก็ซื้อเลยทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาไตร่ตรอง

หลักการของผม มีอยู่แค่อย่างเดียวคือ ใช้เงินยังไงก็ได้ ขอเพียงให้ไม่เกินรายรับ มีเหลือเก็บออมบ้างเล็กน้อย และไม่เป็นหนี้

ผมใช้ชีวิตของผมแบบนี้มาหลายปี มีเงินฝากธนาคารก้อนหนึ่ง ปราศจากทรัพย์สินอื่นใดเพิ่มเติม นอกจากหนังสือ, ซีดี และดีวีดีกองพะเนินเทินทึก

จนกระทั่งปลายปี 2549 ผมก็เจอวิกฤติแบบนึกไม่ถึงมาก่อน มีรายจ่ายหนัก ๆ หลายครั้งติดกันในช่วงไม่กี่เดือน เงินเก็บเงินออมที่เคยมีหมดไปอย่างรวดเร็ว ได้หนี้ก้อนใหญ่จำนวนเท่าเงินฝากมาแทน (ผมเคยเขียนถึงเรื่องนี้ไปแล้วในบทความชื่อ “บทเรียนจากไร่อ้อย”)

ตอนนั้นเองที่ผมเกิดอาการใจทรุดขวัญเสีย พยายามนึกทบทวนสาเหตุว่า ผิดพลาดตรงไหน

เหตุการณ์หนักหน่วงสาหัสที่เกิดขึ้นกับผม มาจากปัจจัยง่าย ๆ สองอย่างเท่านั้นเอง คือ จู่ ๆ ก็เกิดรายจ่ายฉุกเฉินจำนวนมาก พร้อม ๆ กันก็เกิดจังหวะบวกสวนทางแบบส้มหล่น งานที่มีรายได้อันแน่นอนบางเจ้า เลิกกิจการปิดตัวไป รายรับที่เคยได้ตรงเวลา สะดุดหยุดชะงักล่าช้าขึ้นมาดื้อ ๆ (กล่าวคือ ค่าเรื่องหลายต่อหลายแห่งที่ผมควรจะได้รับ เกิดอาการล่าช้ามาก ๆ ขึ้นมาโดยพร้อมเพรียง)

ช่วงนั้น เงินค่าเรื่องที่ผมได้รับต่อเดือน (จากที่ควรจะได้ราว ๆ สองหมื่นถึงสามหมื่น) เหลือเพียง 1,500 บาท ขณะที่รายจ่ายฉุกเฉินนั้นซัดกระหน่ำเข้าไปหลายแสนบาท

ผมก็เลยได้ข้อสรุปใหม่ ที่เคยคิดว่าไม่ประมาทนั้น แท้จริงแล้วประมาทนะครับ คือ เชื่อมั่นในความแน่นอนของรายรับอันพึงได้มากไปหน่อย ทั้งที่สัจธรรมอย่างหนึ่งของการเป็นคนเขียนหนังสืออิสระนั้นมีอยู่ว่า รายได้มักมาช้ากว่าที่ควรจะเป็นเสมอ

ที่ผ่านๆ มา ผมไม่ค่อยมีแผนสอง แผนสาม เตรียมเผื่อเอาไว้ พอเข้ายามคับขัน จึงแกว่งไกวเสียศูนย์ไปพักใหญ่ ๆ

อย่างไรก็ตาม หลังจากท้อแท้ เซ็งห่าน (หนักกว่าเซ็งเป็ดเยอะเลย) หมดอาลัยตายอยาก (และมีอารมณ์ “อยากตาย” แก้เซ็งเล็กน้อย) ไปพักใหญ่ ๆ ผมก็ต้องรีบจิกหัวตัวเองลุกขึ้นมาแก้ไขเยียวยา

การคิดหาแผนสอง แผนสาม รองรับกันเหนียว ช่วยผมได้ตอนนี้นี่เอง นั่นคือ การหาที่เขียนเพิ่มเติม โดยอาศัยความผูกพันคุ้นเคยกันในอดีต และไม่เป็นการเข้าข่ายอ้อนวอนร้องขอให้ดูน่าเวทนา แต่เป็นแหล่งที่ซึ่งเขาต้องการและยินดีอยากจะให้ผมเขียน บวกกับการหาทางมีหนังสือรวมเล่มเพื่อให้ได้เงินก้อน (ซึ่งในที่สุดก็กลายเป็นหนังสือ “ซามูไรตกดิน”)

ถ้าจะกล่าวในเชิงโชคลางไสยศาสตร์ คำนึงถึงว่า จู่ ๆ ผมก็เกิดดวงซวยถึงคราวเคราะห์ เรื่องนี้ก็อาจบอกกล่าวเพื่อความอุ่นใจได้เหมือนกันว่า มันอาจจะจริงนะครับ แต่โชคร้าย (รวมถึงโชคดี) ไม่เคยเกิดขึ้นอยู่กับเราตลอดเวลา มันอาจมาแบบจู่โจมเป็นระลอก แต่แล้วก็จะผ่านพ้นไป และสลับเปลี่ยนข้ามฟากเป็นตรงข้ามสลับเวียนเปลี่ยนแปลงอยู่เนือง ๆ

ปลายปี 2549 คาบเกี่ยวถึงครึ่งแรกของปี 2550 อะไรต่อมิอะไรรุมเร้าสุมประดังในทางติดลบไปหมด แต่พ้นผ่านล่วงเลยช่วงนั้นไปแล้ว ก็มีโชคดีเข้ามาเยือนบ้างเหมือนกัน นั่นคือ มีคนติดต่อให้ผมทำงานชิ้นหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่งานเขียนในลักษณะปกติที่ผมคุ้นเคย (แต่จังหวะหน้ามืดมีอะไรผ่านหน้า ผมก็ต้องคว้าไว้หมดนะครับ)

ผมรับงานดังกล่าว ทั้งที่ไม่มีความมั่นใจเลยสักนิดว่าจะทำได้ ทว่าความยากลำบากที่ผ่าน ๆ มา ก็ช่วยให้กัดฟันกลั้นใจทำจนสำเร็จเสร็จสิ้น

ที่ผมนึกไม่ถึงก็คือ สุดท้ายแล้วมันกลายเป็นชิ้นงานที่ผมได้รับค่าตอบแทนเป็นจำนวนเงินก้อนหนึ่ง ซึ่งสูงกว่าที่คาดไว้เยอะทีเดียว และเยอะเพียงพอที่จะนำไปสมทบรวมกับรายได้จากงานอื่น ๆ ทำให้สถานการณ์เลวร้ายคลี่คลายกระเตื้องขึ้น จนสามารถคืนกลับสู่ด้านบวก

หลังผ่านพ้นวิกฤติมา ผมก็ได้รับบทเรียนเรื่องห้ามประมาท และใช้ชีวิตระมัดระวังรัดกุมยิ่งขึ้นกว่าเดิม

เชื่อเถอะครับว่า ความไม่แน่นอนและจังหวะดวงชำรุดติดลบนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยสงวนสิทธิไม่ต้องแจ้งเตือนให้ทราบล่วงหน้า

ช่วงปีที่ผ่านมา การเงินทั่วไปของผม ค่อนข้างปกติ จะซื้อหาอะไรแพง ๆ บ้าง ก็อยู่ในวิสัยทำได้พอสมควร แต่คนเราลองผ่านเหตุการณ์ย่ำแย่หนักหน่วงมาแล้ว พิษสงสาหัสของมันทำให้วางใจไม่ลงนะครับ ผมจึงต้อง “ถือศีลอด” ทุกครั้งเป็นการกันเหนียว

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเศร้า ที่นำมาเล่าสู่กันฟัง ผมเพียงอยากจะบอกว่า ใครที่กำลังตกทุกข์ได้ยากจากเหตุอันใดก็ตาม อย่าเพิ่งจิตตกเสียขวัญ อย่าเพิ่งสิ้นหวัง

ในตอนที่เดือดร้อนรากเลือดแทบอาเจียนเป็นน้ำตานั้น ทุกอย่างมันไม่ได้แย่ไปหมด มีเรื่องดี ๆ หลายอย่างแทรกปนอยู่ด้วยเหมือนกัน

ที่สำคัญในความทุกข์ยาก มันมีแรงขับอันยิ่งใหญ่เร้นลับบางอย่างแฝงอยู่ ซึ่งถ้าหากเป็นภาวะปกติสุข จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย

ข้อเขียน (ของผมเอง) หลายชิ้น ที่ผมชื่นชอบพึงพอใจเป็นการส่วนตัว รวมถึงงานจำนวนมากในช่วงเวลานั้น สามารถปรากฎเป็นรูปเป็นร่างขึ้นได้ (มีอยู่เดือนหนึ่ง ซึ่งผมขยันเป็นพิเศษ ทำงานวันละเกือบ ๆ ยี่สิบชั่วโมง) เป็นเพราะภาวะขมขื่นลำเค็ญล้วน ๆ เลยครับ

แค่หายใจลึก ๆ ตั้งสติดี ๆ และค่อย ๆ คิด (อาจจะตะโกนว่า “สู้โว้ย!!!” ประกอบเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจด้วยก็ได้) ชั่วประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นแหละ เหตุร้ายเรื่องท้อแท้ก็จะผ่านพ้นไป




(เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2551 เผยแพร่ครั้งแรกที่นี่)












วันอังคารที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551

หลงแต่เหลียวเดียวดาย เพราะเธอนั้นกลายรักสลายโรยรา โดย "นรา"


รสนิยมการฟังเพลงของผมนั้น กระเดียดไปทาง “โก๋แก่” คือ หยุดนิ่งแช่แข็งอยู่แถว ๆ เพลงของวิลลี เนลสัน, บ็อบ ดีแลน, แวน มอร์ริสัน, รอย ออร์ไบสัน, นิค เดรค, เลียวนาร์ด โคเฮน, พอล ไซมอน, โพโค, ซี.ซี.อาร์., บ็อบ ซีเกอร์ ฯลฯ และใครต่อใครอีกหลายคน ซึ่งล้วนแต่เป็นวัยรุ่น (เมื่อชาติที่แล้ว) ทั้งสิ้น


แย่กว่านั้นคือ ช่วงสิบห้าปีที่ผ่านมา ผมแทบไม่ได้ฟังเพลงไทยใหม่ ๆ (อย่างตั้งอกตั้งใจ) เลยนะครับ หลุดขาดจากกันตกกระแสแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และไม่มีทางกลับมาต่อติดได้อีกเลย

อย่างไรก็ตาม ผมมีศิลปินไทยที่เข้าขั้นเป็นคนโปรดในดวงใจ อยู่บ้างเหมือนกัน นั่นคือ มัณฑนา โมรากุล

แม้จะเป็นนักร้องไทยเพียงหนึ่งเดียวที่ผมชื่นชอบ แต่ก็เป็นหนึ่งเดียวที่ยิ่งใหญ่และน่าอัศจรรย์เหลือเกิน จนผมยกย่องเชิดชูไว้เหนือศิลปินเมืองนอกทั้งหมด

ผมพบและเห็นชื่อของป้ามัณฑนาเป็นครั้งแรกเมื่ออายุ 17 ปี จากประวัติผู้แต่งที่ปรากฎในหนังสือรวมเรื่องสั้นของ “นน รัตนคุปต์” (คุณนนระบุไว้ว่าชอบมัณฑนา โมรากุล) ตอนนั้นผมก็ไม่ทราบหรอกนะครับว่า ท่านเป็นใคร? และทำอะไร? แต่จำได้ขึ้นใจ เนื่องจากเป็นชื่อ-นามสกุลที่ไพเราะ

จนกระทั่งอีก 6-7 ปีต่อมา ผมเรียนจบ ทำงาน ตกงาน สลับกันไป ผ่านการใช้ชีวิตร่อนเร่พเนจรทั้งอยู่ต่างจังหวัด และอยู่กรุงเทพฯ (ที่บ้านเพื่อน) มาพอสมควร

ช่วงนั้นผมไปพำนักอาศัยอยู่ที่บ้านเพื่อนแถว ๆ พัฒนาการ ซึ่งยังถือได้ว่ากันดารห่างไกลจากตัวเมืองพอสมควร ระบบคมนาคม ขนส่งมวลชนต่าง ๆ รถเมล์ที่วิ่งผ่านยังมีกะปริบกะปรอย เวลาเดินทางเข้าเมือง ผมจึงพึ่งพาบริการรถไฟเป็นหลัก

ตรงบริเวณสถานีรถไฟหัวหมาก ซึ่งผมใช้เป็นต้นทางในการเข้าเมือง มีร้านขายข้าวแกงเจ้าหนึ่ง

ผมชอบไปนั่งดื่มกาแฟรอรถไฟที่นั่นเป็นประจำ นอกจากบรรยากาศจะรื่นรมย์และเก่าคลาสสิคแล้ว เสน่ห์สำคัญอีกอย่างได้แก่ คุณน้าผู้หญิงเจ้าของร้านแกชอบเปิดวิทยุฟังเพลงไทยเก่า ๆ ทุกเช้า

เช้าวันหนึ่ง เพลงในวิทยุก็สะกดตรึงให้ผมต้องตั้งใจฟังอย่างจรดจ่อ ทั้งเสียงร้องและท่วงทำนองนั้นไพเราะจับใจเหลือเกิน ผมจึงเดินไปถามคุณน้าว่านี่เป็นเพลงของใคร และได้รับคำตอบว่า มัณฑนา โมรากุล

นับตั้งแต่นั้นมา เวลาเดินร้านขายเทปและซีดี ผมก็ด้อม ๆ มอง ๆ หาผลงานของมัณฑนา โมรากุล และต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควรกว่าจะพบเจอแผ่นซีดี

ถ้าจำไม่ผิด ผมมีโอกาสได้ฟังเพลงของมัณฑนา โมรากุลอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกประมาณปี 2537 และชื่นชอบประทับใจเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

เป็นการฟังและทำความรู้จัก โดยไม่ทราบประวัติความเป็นมาเบื้องหน้าเบื้องหลังใด ๆ ทั้งสิ้น

ทุกวันนี้ ผมมีซีดีเพลงของมัณฑนา โมรากุลอยู่ 4 แผ่น (เท่าที่จะหาซื้อได้) จำนวนราว ๆ 60 เพลง ซึ่งนับว่าเป็นเพียงส่วนน้อยนิด เมื่อเทียบกับผลงานทั้งหมดที่นักร้องผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้ได้ฝากไว้ให้แก่วงการเพลงบ้านเรา

เพลงของมัณฑนานั้น ผมชอบหมดทุกเพลง และสรุปได้ว่าเป็นเพลงดีเยี่ยมทุกเพลง แต่ที่หลงรักมากเป็นพิเศษมีอยู่ร่วม ๆ 20 เพลง เช่น วังน้ำวน, วังบัวบาน, ภูกระดึง, สายลมว่าว, ความรักเหมือนเมฆฝน, เย็น เย็น, ราตรี, อารมณ์รัก, ยามห่างกัน, ผีเสื้อยามเช้า, วิญญาณรัก, เมื่อไหร่จะให้พบ, สิ้นรักสิ้นสุข, หากภาพเธอมีวิญญาณ, ธรรมชาติยามเย็น, หนามยอกอก ฯ (ความฝันไกลตัวที่ยากจะเป็นจริงอย่างหนึ่งของผมก็คือ อยากจะเขียนนิยายที่ใช้เพลงเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญในเรื่อง)

ความโดดเด่นในเพลงของมัณฑนา โมรากุลนั้นมีอยู่หลายประการ ตั้งแต่กลิ่นอายบรรยากาศของเพลงเก่าที่ย้อนยุคไปไกลมาก (เทียบง่าย ๆ ก็คือ ปีนี้ป้ามัณฑนาอายุ 85 ปีแล้วครับ เพลงส่วนใหญ่ร้องไว้ตั้งแต่สมัยยังสาว),ท่วงทำนองอันไพเราะหลากหลายลีลา, การเรียบเรียงดนตรีที่กลมกล่อมลงตัว, เนื้อร้องสละสลวยแพรวพราวเป็นภาษากวี ฯลฯ ทั้งหมดนี้ เป็นผลงานอมตะของครูเพลงระดับศิลปินเอกหลาย ๆ ท่าน ยิ่งเมื่อผ่านการถ่ายทอดตีความด้วยน้ำเสียงอันเป็นหนึ่งไม่มีสองของป้ามัณฑนาด้วยแล้ว ผมสรุปได้ว่าเป็นเพลงสวรรค์ดี ๆ นี่เองครับ

ผมนั้นไม่มีความรู้แตกฉานลึกซึ้งในเรื่องเพลงและดนตรีแต่อย่างไร ที่จะพูดต่อไปนี้ เป็นเรื่องของความรู้สึกส่วนตัวล้วน ๆ ผมคิดว่าเสียงร้องของป้ามัณฑนานั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เด่นมาก ระดับเสียงกว้าง และสามารถร้องเสียงสูงถึงสูงมากได้อย่างมั่นคงมีพลัง ฟังแล้วก็จดจำได้ไม่ยาก ได้ยินที่ไหนคราวใดเป็นต้องระลึกนึกออกทันที

แต่ที่น่าประทับใจยิ่งกว่าก็คือ วิธีขับร้องที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง มีทั้งการผสมผสานระหว่างลีลาการร้องแบบเพลงไทยเดิมกับสากลได้อย่างเหมาะเจาะ, มีการตีความอารมณ์เนื้อหาของบทเพลงได้อย่างลึกซึ้ง, มีลูกเอื้อนลูกคออันเปี่ยมเสน่ห์, วิธีร้องแบบชัดถ้อยชัดคำ หรือการร้องหลบด้วยเสียงและลีลาฝืนไม่เป็นธรรมชาติได้อย่างระรื่นหู, รวมทั้งมีพลังโน้มน้าวให้ผู้ฟังสุขโศกคล้อยตามได้ตลอด ฯลฯ

ยิ่งฟังบ่อย ๆ ผมก็พบรายละเอียดว่า แต่ละเพลงนั้นป้ามัณฑนา ไม่เคยร้องด้วยวิธีลีลาที่ซ้ำกันเลย และร้องดีทุกรูปแบบ

เป็นการร้องที่หากใครจะนำมาถ่ายทอดตามให้เหมือนเทียบเท่าทุกรายละเอียด จะพบว่าล้วนแล้วแต่เป็นเพลงที่ร้องให้ดี ให้ไพเราะได้ยากมาก

ความมหัศจรรย์ลำดับต่อมาคือ เพลงของมัณฑนา โมรากุล ยิ่งฟัง ก็ยิ่งดื่มด่ำซาบซึ้ง และไพเราะเพิ่มพูนมากขึ้นเรื่อย ๆ (โดยเฉพาะเพลงเศร้าผิดหวังนั้น ยอดเยี่ยมไร้เทียมทานจริง ๆ ฟังแล้วร่ำ ๆ ว่าใจจะขาดตาม)

นับตั้งแต่ผมเริ่มได้ฟังเพลงของมัณฑนา โมรากุล ตั้งแต่ช่วงเป็นวัยรุ่นตอนท้าย ๆ มาจนถึงบัดนี้ ผมไม่เคยรู้สึกถึงคำว่า เก่า เชย ล้าสมัยเลยนะครับ ตรงข้ามกลับพบว่า เป็นเพลงเท่ ๆ ที่อยู่เหนือกาลเวลา

เมื่อสองปีที่แล้ว คุณวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง เคยนำเพลง “สิ้นรักสิ้นสุข” มาใส่ประกอบในหนัง “เปนชู้กับผี” รวมทั้งนำทำนองมาดัดแปลงเป็น Love Theme ของเรื่องได้อย่างน่าประทับใจมาก (ผมเสียดายนิด ๆ ตรงที่ในหนังนั้น เราได้ยินเสียงเพลงต้นฉบับดั้งเดิม เพียงแค่ช่วงบรรเลงอินโทร และได้ฟังเสียงร้องอันวิเศษของป้ามัณฑนา เฉพาะประโยคร้องขึ้นต้นเท่านั้น ส่วนเพลงเต็ม ๆ ตอนท้ายเรื่อง เป็นการเรียบเรียงและร้องใหม่ ซึ่งได้อรรถรสแตกต่างเป็นอีกแบบหนึ่ง)

มีภาพชื่อ Landscape with Stars ผลงานของ Henri-Edmond Cross ศิลปินในกลุ่มนีโอ-อิมเพรสชั่นนิสม์ ซึ่งผมนำมาเป็นรูปประกอบบทความชิ้นนี้

มันเป็นภาพวาดเกี่ยวกับดวงดาวยามค่ำคืนที่ผมชอบมาก ทั้งสวยแปลกตา เปี่ยมด้วยจินตนาการหลุดพ้นเกินจริงไปไกล ดูแล้วก็ให้ความรู้สึกเคลิบเคลิ้มชวนฝันล้ำลึก

เห็นภาพนี้ทีไร ผมมักจะนึกถึงเพลง “เด่นดวงดาว” ของมัณฑนา โมรากุล ซึ่งเป็นอีกบทเพลงที่ผมรักจับจิตจับใจควบคู่กันไปเสมอ ลองอ่านเนื้อร้องดูเล่น ๆ นะครับ

ผ่องเพริศแพรวแวววาว เด่นดวงดาวพราวตา
เหมือนจะเย้ยจันทรา วิไลนภาบนฟากฟ้าราตรี
จ้องมองดาวเรียงราย โศกก็คลายทันที
แสงอันไร้ราคี สวยดังดวงมณีเด่นด้วยสีเงินยวง
ดูดาราผ่องพรรณ แจ่มเจิดเฉิดฉันร้อยพันหมื่นแสนดวง
บางดวงลอยจากฟ้าเลยล่วง เกิดประกายเย็นทรวงเห็นดวงนั้นร่วงไป
หมู่ดวงดาวเตือนตา ส่องลงมารำไร
สวยงามล้ำอำไพ แสงดาวเร้าใจเพลินสดใสอารมณ์
เหมือนดังแสงโคมเกลื่อนนภาชวนชมรื่นรมย์เร้าตา
โอ้ว่าดาราเอย ไม่เคยเลยลับฟ้า
แม้คืนไหนจันทรา มิอายฉายมาดาวก็พากันเลือน
อยากจะฝากวาจา ให้ดาราคอยเตือน
ชู้ที่รักแรมเลือน ร้างไกลแรมเดือนไม่เคยเยือนนานวัน
ใจเรายังซื่อตรง ถ้อยคำจำนงรักคงเช่นดาวนั่น
ดาวจงรักต่อฟ้าคงมั่น เช่นเดียวกันเรานั้นรักมั่นไม่เคยหน่าย
เฝ้าแต่มองรำพึง จ้องตะลึงลืมกาย
หลงแต่เหลียวเดียวดาย เพราะเธอนั้นกลายรักสลายโรยรา
ฉันตรมน้ำตา ได้แต่มองดาราไม่พาทุกข์คลาย

“เด่นดวงดาว” เป็นเพลงเร็ว จังหวะร่าเริงสดใสคึกคัก ท่วงทำนองตลอดจนภาคดนตรีนั้นสวยและล้ำยุค จนเพลงในปัจจุบันจำนวนมากต้องอายกันเลยทีเดียว

แรกเริ่มนั้นผมชอบเพราะทำนองไพเราะติดหู ถัดมาก็ค่อย ๆ ประทับใจเนื้อร้องที่ร้อยเรียงถ้อยคำได้อย่างสละสลวยวิจิตรบรรจง ท้ายสุดก็มาฝังจิตฝังใจกับน้ำเสียงและวิธีการร้องของป้ามัณฑนา

ความพิศดารนั้นอยู่ที่ว่า ตลอดทั้งเพลงป้ามัณฑนา ร้องด้วยอารมณ์เบิกบานรื่นรมย์ ตั้งแต่ช่วงที่เนื้อเพลงกล่าวพรรณนาถึงความงามของหมู่ดาวบนฟากฟ้า ซึ่งดูแล้วช่วยให้คลายโศกหายเศร้าจากการห่างไกลคนรัก ถัดมาเป็นความคมคายในการเทียบเคียงเปรียบเปรยรักที่ซื่อสัตย์มั่นคงต่อกันไม่แปรเปลี่ยน เหมือนดาวคู่ฟ้าทุกค่ำคืน แม้กระทั่งยามจันทร์ส่องเจิดจ้า ดวงดาวก็ไม่เคยห่างหาย เพียงแค่โดนแสงที่ส่องสว่างกว่าข่มให้เลือนสลัวเห็นไม่ชัดเท่านั้น

พูดง่ายๆ คือ อารมณ์ของบทเพลงนั้นมาทางสุขสมเกือบจะตลอด จนกระทั่งถึงช่วงท้าย “เฝ้าแต่มองรำพึง จ้องตะลึงลืมกาย หลงแต่เหลียวเดียวดาย เพราะเธอนั้นกลายรักสลายโรยรา ฉันตรมน้ำตา ได้แต่มองดาราไม่พาทุกข์คลาย”

ด้วยลูกเอื้อนลูกคอรวมทั้งการขึ้นเสียงสูงกว่าเดิมอีกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ป้ามัณฑนาก็เปลี่ยนอารมณ์และการตีความเพลง จากสุขสดใสมาเป็นเจ็บเศร้าบาดใจได้อย่างน่าอัศจรรย์ (ผมฟังถึงตรงนี้ทีไรก็ขนลุกซู่ด้วยความอิ่มเอิบตื้นตันใจทุกที)

เพลงของมัณฑนา โมรากุลนั้น ยอดเยี่ยมเหมือนวรรณกรรมชั้นดี ที่ยิ่งละเลียดอ่าน จับสังเกตรายละเอียดมากเท่าไร ก็ยิ่งพบเห็นความงามล้ำเลิศเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ

ผมเป็นคนมีรสนิยมจับฉ่าย กึ่งดิบกึ่งสุก การชอบเพลงของมัณฑนา โมรากุล เป็นหนึ่งในไม่กี่อย่างที่ทำให้ผมกล้าพูดว่า มีรสนิยมดีอยู่บ้างเหมือนกัน

ขอแนะนำเพลงของมัณฑนา โมรากุลต่อท่านผู้อ่าน ด้วยความภาคภูมิใจและเป็นสิริมงคลแก่ข้อเขียนของผมเองนะครับ




(เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2551 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ" หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน)

วันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2551

เพื่อนผู้มีชีวิต โดย "นรา"


1

บ่ายวันหนึ่งระหว่างช่วงกลางสัปดาห์ ขณะที่ผมกำลังลงมือทำงานตามปกติในออฟฟิศ โทรทัศน์เครื่องที่อยู่ใกล้ ๆ ก็กำลังออกอากาศหนังทางเคเบิลเรื่อง Castaway ผมก็เลยต้องก้ม ๆ เงย ๆ ระหว่างปั่นต้นฉบับสลับกับติดตามเหตุการณ์บนจอสี่เหลี่ยม


จนกระทั่งถึงฉากนั้น ผมก็ไม่เป็นอันทำงาน ต้องเปลี่ยนมานั่งดู Castaway ด้วยความตั้งใจ


มันเป็นฉากเดียวกับที่เคยทำให้ผมเสียน้ำตา เมื่อครั้งนั่งดูในโรงหนัง


ฉากดังกล่าว เป็นตอนที่พระเอกลอยแพฝ่าคลื่นลมแดดฝนอยู่กลางท้องทะเลจนเหนื่อยล้าหลับไป ก่อนจะตื่นขึ้นมาพบว่า เจ้าวิลสันเพื่อนรัก หลุดออกจากแพลอยหายต่อหน้าต่อตา


วิลสันเป็นเพียงแค่ลูกวอลเลย์บอล แต่ตลอดช่วงเวลาที่ชายหนุ่มติดอยู่บนเกาะร้างตามลำพังเป็นเวลาหลายปี มันคือเพื่อนคลายเหงาเพียงหนึ่งเดียวที่เขาสามารถพูดคุยด้วย


นานวันเข้า วิลสันก็มีบุคลิกของตนเอง และมีชีวิตเลือดเนื้อขึ้นมาในความรู้สึกของชายหนุ่ม ทั้งคู่เป็นเพื่อนสนิทร่วมทุกข์สุข ผ่านการทะเลาะเบาะแว้งและหวนกลับมาปรองดองคืนดีกันนับครั้งไม่ถ้วน


ฉากที่พระเอกของเรื่องพลัดพรากกับวิลสัน ทำให้ผมเศร้าสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่ง ส่วนหนึ่งก็เนื่องจากพลังการโน้มน้าวอันเก่งกาจของหนัง แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะผมนำเอาความรู้สึกนึกคิดของตนเองเข้าไปจับต้องเหตุการณ์ดังกล่าว


ตรงนี้ล่ะครับที่ทำให้ผมนึกถึงการจากไปของวิลสันขึ้นมาทีไร ก็เจ็บร้าวบาดลึกทุกครั้ง



2


เมื่อหลายปีก่อน ผมไปรับงาน "ฝิ่น" นอกเหนือจากเขียนที่ทำอยู่เป็นประจำ งานเฉพาะกิจดังกล่าวมีกำหนดต้องชำระสะสางให้เสร็จเรียบร้อยในเวลาอันจำกัด ขณะที่สภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัวในกรุงเทพฯ พลุกพล่านอึกทึกชุลมุนวุ่นวาย จนไม่เอื้ออำนวยให้เกิดความเป็นไปได้หรือคืบหน้าเลยสักนิด


ผมจึงตัดสินใจเดินทางไปเชียงใหม่ เพื่อหามุมสงบสำหรับการทำงานเป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์ (ค่าตอบแทนงานชิ้นนั้นค่อนข้างสูง เพียงพอต่อค่ารถ ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ)

งานของผมคืบหน้าด้วยดี แต่พอสี่ห้าวันผ่านไป ผมก็เริ่มอึดอึดเมื่อพบว่า นอกเหนือจากการสั่งอาหารและซื้อของตามร้านค้าแล้ว


หลายวันที่ผ่านมา ผมไม่ได้พูดจาคุยกับใครเลย!!!


นั่นเป็นความทุกข์ทรมานที่ยากจะบรรยาย เหมือนโลกนี้มีผมอยู่เพียงลำพัง ในใจเต็มไปด้วยเรื่องราวหลากหลายที่อยากถ่ายทอดสู่ผู้อื่น แต่ก็ไม่รู้จะระบายให้ใครฟัง


นาทีนั้นผมรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว เคว้งคว้าง หวาดกลัวขึ้นมาจับใจ จนไม่สามารถอดทนต่อไปได้อีก


บ่ายวันหนึ่ง ผมจึงหยุดพักการทำงาน นั่งรถไฟเล่นจากเชียงใหม่ไปลำปาง มุ่งหวังเพียงแค่การได้เปลี่ยนบรรยากาศและทิวทัศน์สองข้างทาง อาจช่วยเยียวยาความรู้สึกของผมให้ดีขึ้น


บนขบวนรถชั้น 3 เต็มไปด้วยผู้คนแออัดคับคั่ง เบื้องหน้าผมเป็นป้าแก่ ๆ พร้อมทั้งลูกหลานและสัมภาระพะรุงพะรัง


การเดินทางโดยรถไฟเที่ยวนั้น เริ่มต้นขึ้นด้วยการที่คุณป้าเอ่ยปากถามผมว่า "ไปกรุงเทพฯ เหรอ?"

จากนั้น เมื่อรถไฟเคลื่อนขบวนออกจากสถานี จนกระทั่งถึงลำปาง ผมกับคุณป้าท่านนั้นก็พูดคุยด้วยเรื่องสัพเพเหระทั่วไป โดยแทบจะไม่มีเวลาเหลือบแลดูวิวสองข้างทางเลยแม้แต่น้อย


อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นการพูดคุยที่ผมรู้สึกอบอุ่นใจ มีความสุข และจดจำได้มากสุดอีกครั้งในชีวิต



3


หลายคนที่ใกล้ชิดคุ้นเคยกับผม ต่างลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันหลังจากดูหนังเรื่อง Castaway จบลง ว่าวิลสันนั้นเหมือนกับเด็กชาย "พี่หมี"


"พี่หมี" เป็นตุ๊กตาหมีตัวเล็ก ๆ หน้าตาบ้องแบ๊ว ซึ่งร่วมผจญภัยใช้ชีวิตบ้า ๆ บอ ๆ อยู่ร่วมกับผมมาเป็นเวลา 5 ปีกว่า โดยไม่เคยพรากจากกันเลย (ยกเว้นสมัยที่มันยังเด็กแบเบาะอายุประมาณ 6 เดือน พี่หมีมันแกล้งทำตัวบ้องแบ๊วไร้เดียงสาน่ารัก จนเพื่อนผมคนหนึ่งซึ่งทำงานเป็นแอร์โฮสเตส เห็นเข้าก็อดใจไม่ไหว ต้องลักพาตัวพี่หมีไปเที่ยวสวิทซ์เซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และอังกฤษเป็นเวลาหนึ่งเดือน)


เพื่อนผมหลายคนก็เลยพลอยสนิทสนมและให้ความเคารพนับถือปนหมั่นไส้ "พี่หมี" ตามผมไปด้วย


ท้ายที่สุด "พี่หมี" ก็ซึมซับเอานิสัยติงต๊องบ๊อง ๆ บวม ๆ ของใครต่อใครมาผสมผสานปนเปไปหมด จนกระทั่ง "เป็นตัวของตัวเอง" และ "มีชีวิต" โลดแล่นเป็นตุ๊กตาหมีประเภทตลกขบขัน คอยกลั่นแกล้งกวนประสาทชาวบ้านให้ปวดหัวเล่น ๆ


เรื่องน่าตื่นเต้นหวาดเสียว ระหว่างผมกับ "พี่หมี" เกิดขึ้นเมื่อตอนลาพักร้อนไปเที่ยวภูกระดึงปลายปีที่แล้ว ("พี่หมี" รบเร้าขอตามไปด้วย เพราะเข้าใจผิดคิดว่าเป็น "พูห์กระดึง" ซึ่งน่าจะเป็นสถานที่เหมาะสำหรับให้ลูกหมีผจญภัย)


เช้าวันออกเดินทาง ขณะที่ผมและเพื่อนรุ่นน้องอีกสองคนกำลังจะขึ้นรถ ผมก็นึกได้ว่าลืม "พี่หมี" ทิ้งไว้ที่หน้าร้านฟาสต์ฟูดซึ่งเป็นจุดนัดพบ โชคดีที่บริเวณนั้นอยู่ไม่ไกล และยังคงอยู่ในช่วงเช้าตรู่ที่ปลอดจากผู้คนผ่านไปผ่านมา เมื่อวิ่งกลับไปจึงพบ "พี่หมี" ทำหน้าออดอ้อนเรียกคะแนนสงสารอยู่บนโต๊ะ


ผมไม่รู้หรอกนะครับว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าเช้าวันนั้นผมลืม "พี่หมี" ทิ้งไว้และหายสาบสูญไป แต่ที่แน่ ๆ คงเป็นเรื่องเศร้ามาก เมื่อนึกถึงความผูกพันที่มีต่อกันตลอด 5 ปีที่ผ่านมา


และความผูกพันนั้นก็คงจะสร้างความทุกข์ใจอย่างใหญ่หลวงให้แก่ผม ถ้าต้องคิดต่อไปอีกว่า "พี่หมี" จะตกระกำลำบากตามลำพังอย่างไรบ้าง?


นี่ยังไม่นับรวมว่า ผมคงหมดกะจิตกะใจไปกับการเที่ยวภูกระดึงแน่นอน


สำหรับผมแล้ว "พี่หมี" เดินทางมาไกลจนไม่ได้เป็นแค่ตุ๊กตาตัวเล็ก ๆ อีกต่อไป แต่เป็น "เพื่อนผู้มีชีวิต"


4


ความรู้สึกนึกคิดที่ผมนำไปทาบจับกับเหตุการณ์ที่วิลสันพลัดพรากจากชายหนุ่มใน Castaway ก็คือ มันเป็นเรื่องน่าเจ็บปวดเศร้าหมองเอามาก ๆ ถ้าหากคนเราต้องตกอยู่ในสภาพโดดเดี่ยวเปลี่ยวเปล่าสุดขีด ไร้คนจะคุยด้วย กระทั่งต้องสร้างบางสิ่งบางอย่างขึ้นมาเป็นสิ่งสมมติ แต่แล้ววันหนึ่งสิ่งนั้นก็พลันพรากจากสูญหายพังทลายไปต่อหน้าต่อตา


อารมณ์ร้าวรันทดที่เกิดคงเทียบได้กับ "ความตายของเพื่อนสนิท"


เพียงแค่ไม่ได้พูดคุยกับผู้คนประมาณสี่ห้าวัน ผมยังทุกข์ทรมานแสนสาหัส ก่อนจะปลดปล่อยคลี่คลายความรู้สึกด้วยการคุยกับป้าคนหนึ่งบนรถไฟ ซึ่งถึงแม้จะเป็นคนแปลกหน้า แต่นาทีนั้นผมรู้สึกเหมือนคุณป้าเป็นญาติสนิทที่คุ้นเคยเพียงคนเดียวบนโลก


ชายหนุ่มกับวิลสันคงต้องผูกพันกันอย่างล้ำลึกยิ่งกว่ามากมายหลายเท่า


เพียงแค่ลืม "พี่หมี" ทิ้งไว้ ผมยังคิดเลยเถิดกลัดกลุ้มไปได้มากมายถึงความทุกข์ในการพลัดพรากที่เกือบจะเกิดขึ้น


เมื่อเทียบกับชายหนุ่มที่ต้องสูญเสียวิลสันไปต่อหน้า และเป็นการพรากจากถาวรตลอดกาล น้ำหนักความสะเทือนใจก็ยิ่งทบทวี


ผมจินตนาการเพิ่มเติมไปว่า เขาคงต้องเจ็บร้าวถึงส่วนลึกของวิญญาณ ทุกครั้งที่หวนนึกถึงชะตากรรมอันเกิดขึ้นกับวิลสัน ด้วยความรัก ความผูกพัน ความห่วงใย ความวิตกกังวล ฯ


แม้ว่าการจากไปของเจ้าวิลสัน จะเป็นแค่เรื่องแต่งขึ้นมาในหนัง แต่ก็มีเหตุผลเยอะแยะมากมายเกินพอที่จะทำให้ผมต้องสะเทือนใจทุกครั้งที่รำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว


การคบหาระหว่างผมกับ "พี่หมี" ทำให้ผมเข้าใจเรื่อง "เพื่อนผู้มีชีวิต" ดีพอสมควรทีเดียว





(เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2545 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "เขียนคาบเส้น" เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ แก้ไขขัดเกลาเพิ่มเติมเนื้อความอีกเยอะพอสมควรในการเผยแพร่ครั้งนี้ นี่เป็นบทความอีกชิ้นที่ไม่ได้รวมอยู่ใน "ข้าวมันเป็ด" ด้วยเหตุผลที่แย่อยู่สักหน่อยคือ ผมทำต้นฉบับหาย และเพิ่งมาค้นเจอ พี่หมีมันบ่นอุบอิบเลยครับ ว่าผมกลั่นแกล้งสกัดดาวรุ่ง)

ตามฝนและตามฝัน โดย "นรา"


ช่วงนี้ฝนตกเกือบทุกวัน ราวกับมีนัดหมายพบกันเป็นประจำ


ความรู้สึกของผู้คนที่มีต่อฟ้าฝน ย่อมผิดแผกแตกต่างกันไป สำหรับผมแล้ว ฝนตกระยะนี้ มักจะทำให้ "คิดถึง" ใครบางคนขึ้นมาจับใจ


เปล่าหรอกครับ ผมไม่ได้คิดถึง "นางเอก" ในชีวิตจริงหนึ่งเดียวคนนั้น มิหนำซ้ำเรื่องที่จะเล่าสู่กันฟังต่อไปนี้ ยังปราศจากแง่มุมรักเหงาเศร้าหม่นใด ๆ ทั้งสิ้น


คนที่ผมคิดถึงในยามฝนตกก็คือมาร์โควัลโด หมอนี่เป็นตัวละครจากหนังสือเรื่อง Marcovaldo (ชื่อเดียวกับตัวเขาเองนั่นแหละ) แต่งโดยอิตาโล คาลวิโน นักเขียน นักแปล นักวิจารณ์และบรรณาธิการชาวอิตาเลียน


ผมซื้อหนังสือเล่มนี้ (ฉบับแปลภาษาไทย) มานานหลายปี แล้วก็ลืมสนิทวางทิ้งไว้ตรงไหนก็ไม่รู้


จนกระทั่งวันหนึ่ง ในยามบ่ายแก่ ๆ ที่ร้อนระอุอบอ้าวเอามาก ๆ ร้อนขนาดทำให้ผมรู้สึกแห้งผากอ่อนเพลียราวกับอูฐขาดน้ำที่รอนแรมกลางทะเลทราย ซ้ำยังเป็นอูฐฟุ้งซ่านเสียสมาธิ อ่านหนังสือเล่มไหนก็ไม่รู้เรื่อง ใจมันคอยวนเวียนจะคิดถึงแต่อะไรเย็น ๆ เช่น น้ำแข็ง พัดลม หิมะ แป้งตรางู และแอร์โฮสเตสอยู่ร่ำไป


ในที่สุดผมก็เลิกอ่านหนังสือ หันมาจัดระเบียบสังคมในห้องนอนให้หายจากความรก ตอนนั้นเองที่ผมเจอ "มาร์โควัลโด" นอนเปื้อนฝุ่นมอมแมมอยู่บนพื้น จึงหยิบมาพลิกเปิดดูด้วยความแปลกใจ (และไม่คุ้นเคย) เผลอไผลไม่นานก็นั่งอ่านรวดเดียวจบอย่างชื่นชอบหลงใหล


ผมไม่ได้เกิดสมาธิดีขึ้นมาโดยฉับพลันหรอกนะครับ ถ้าจะมีอะไรเฉียดใกล้อภินิหารหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลอยู่บ้าง สิ่งนั้นก็คือ ขณะที่ผมเริ่มลงมือ (แต่จริง ๆ แล้วใช้สายตามากกว่า) อ่านมาร์โควัลโดไปได้สักเล็กน้อย ฝนก็ตกลงมาเปลี่ยนอากาศร้อนอิ๊บอ๋าย (น่าจะแปลว่าร้อนจนลิ้นพองคับปากพูดไม่ชัด) ให้กลับเป็นเย็นสบายฉ่ำชื่นทั้งใจและกาย (กลม ๆ บริเวณส่วนพุง)


สิ่งมหัศจรรย์ยิ่งกว่านั้นก็คือ "ของเขาดีจริง" ครับ


"มาร์โควัลโด" เป็นงานเขียนรวม 20 เรื่องสั้น จบในตอนโดยสมบูรณ์ แต่ใช้ตัวละครชุดเดิมโลดแล่นแสดงบทบาทพฤติกรรมต่าง ๆ จนเหตุการณ์ง่าย ๆ ที่ไม่เชื่อมต่อติดกัน เกิดความเป็นเอกภาพขึ้นมาอย่างน่าทึ่ง ทุกบทเรียงลำดับตามฤดูกาล จากใบไม้ผลิ ร้อน ใบไม้ร่วง มาลงเอยที่หนาว วนเวียนเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ


ทุกเรื่องใน "มาร์โควัลโด" ใช้ความแปรเปลี่ยนของฤดูกาลและสภาพดินฟ้าอากาศเป็นฉากหลัง เพื่อถ่ายทอดพฤติกรรมง่าย ๆ ของนายมาร์โควัลโด ออกมาได้อย่างขบขันครื้นเครง


มาร์โควัลโดเป็นกรรมกรในโรงงานบรรจุหีบห่อ ซึ่งไม่เคยมีความสุขกับงานที่ตนเองทำ (และได้ชื่อว่าเป็น "แรงงานไร้ฝีมือ") มีลูกมาก เมียขี้บ่น ฐานะยากจน ปราศจากความรู้ พื้นเพดั้งเดิมเคยเป็นชาวชนบท แต่แล้วก็ต้องเดินทางมาแสวงหาโชคลาภและชีวิตความเป็นอยู่ (ที่น่าจะเลวลง) ในเมืองใหญ่


นิสัยที่ทำให้นายมาร์โควัลโด เป็นทั้งไอ้ทึ่มที่น่าหัวเราะเยาะ (ในสายตาชาวบ้าน) เท่า ๆ กับเป็นศิลปินผู้มีจิตใจละเอียดอ่อน (ในสายตาของผู้อ่าน) ก็คือ ความสนใจและความไม่สนใจของเขาที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ


หน้าแรกของหนังสือบรรยายไว้ว่า "มาร์โควัลโดผู้นี้ไม่มีสายตาสำหรับวิถีชีวิตแห่งเมือง ไฟจราจร หน้าร้าน โปสเตอร์ แผ่นป้าย...แต่ตรงกันข้าม เขาไม่เคยคลาดสายตาจากใบไม้เหลืองบนกิ่งต้น ขนนกที่ติดอยู่บนหลังคากระเบื้อง เหลือบบนหลังม้า รูหนอนที่แผ่นกระดาน หรือเปลือกฟิกที่ถูกเหยียบแบนบนฟุตบาธ..."


นี่คือมาร์โควัลโด ตัวเอกผู้มีพฤติกรรมที่หากมองกันโดยเปลือกนอก-ทั้งเหลวไหลไร้สาระและผิดเพี้ยนน่าขบขัน-ต่างจากผู้คนทั่วไป แต่ลึก ๆ แล้ว "คนไม่เอาไหน" อย่างมาร์โควัลโดนี่เอง ที่รู้จักแสวงหามองโลกในด้านรื่นรมย์ เปี่ยมชีวิตชีวา และไม่ยินยอมให้ตนเองกลายสภาพเป็นกลไกแข็งทื่อปราศจากจิตวิญญาณ ในท่ามกลางความเจริญพรวดพราดทางวัตถุและเทคโนโลยี


มาร์โควัลโดไม่ได้หลงใหลชื่นชมธรรมชาติในแบบเพ้อฝัน หรือปกป้องรักษาจนสุดขั้ว เขาชื่นชมพร้อม ๆ กับที่ทำลายมันบ้าง (อย่างเบาบางไม่รุนแรง) เขาเฝ้ามองดูเห็ดงอกขึ้นมาบนพื้นดินตามท้องถนนที่ไม่มีใครสังเกต เพราะต้องการนำมาเป็นอาหาร


มาร์โควัลโดเฝ้าติดตามการบินอพยพของฝูงนก (ที่มีเส้นทางหลบอ้อมออกจากเมือง) ด้วยเจตนาง่าย ๆ คือ อยากกินนกสักตัว


มาร์โควัลโดแอบหลบไปนอนที่จตุรัสใต้ร่มไม้ยามค่ำคืน ท่ามกลางแสงจันทร์อ่อนโยน สายลมแผ่วเบา น้ำค้างพร่างพรม และอวลฟุ้งด้วยกลิ่นดินกลิ่นไม้ เพราะคิดว่าน่าจะทำให้หลับง่าย สบายกว่าห้องพักแคบ ๆ แออัดรุ่มร้อน ห้อมล้อมด้วยแสงไฟนีออนจากป้ายโฆษณา เสียงรถยนตร์แล่นผ่านไปมา (แต่เอาเข้าจริงมาร์โควัลโดก็เผชิญกับคืนทุลักทุเลที่มีทั้งไฟจราจรกระพริบรบกวน คู่รักหนุ่มสาวทะเลาะเบาะแว้งกันไม่เลิกรา เสียงอึกทึกโครมครามของช่างที่กำลังขุดเจาะซ่อมถนน และกลิ่นเหม็นตลบจากรถขนขยะ)


จะว่าไปแล้ว มาร์โควัลโดก็เป็นเสมือนวิญญาณชนบทที่พลัดหลงเข้ามาในเมืองใหญ่ ยังคงโหยหาและไม่เคยหลงลืมวิถีความเป็นอยู่ดั้งเดิมของตนเอง


พฤติกรรม วีรกรรม (บางตอนอาจจะเรียกได้ว่าเวรกรรม) ของมาร์โควัลโด มักจะลงเอยด้วยความล้มเหลวเรียกเสียงหัวเราะเสียเป็นส่วนใหญ่ (เช่น เห็ดที่เขาเฝ้าติดตามการเติบโตอย่างลุ้นระทึก เมื่อกินเข้าไปแล้วกลับกลายเป็นมีพิษ) แต่ก็มีอยู่คราวหนึ่ง ซึ่งเขาประสบความสำเร็จเป็นผู้ชนะ


ในที่ทำงานของมาร์โควัลโด มีต้นไม้กระถางหนึ่ง ไร้คนเหลียวแลเอาใจใส่ ภาระรับผิดชอบตกเป็นของมาร์โควัลโด (นี่เป็นงานอย่างเดียวที่เขาให้ความกระตือรือล้นใส่ใจมากสุด)


ต้นไม้กระถางนั้นมีสารรูปอนาถาน่าเวทนา บอบบาง ใบร่วงผล็อยเกือบหมดต้น มาร์โควัลโดรู้สึกสงสารมัน และคิดว่าชะตากรรมของมันไม่แตกต่างจากบรรดากรรมในโรงงานที่โดนกักล้อมด้วยกำแพงสูง


เพราะเหตุนี้เอง เขาจึงฟูมฟักทะนุถนอมต้นไม้ในกระถ่าง เฝ้ารดน้ำอย่างเอาใจใส่ และเมื่อถึงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ มาร์โควัลโดก็เป็นห่วงเกรงว่า มันจะขาดน้ำไร้การเหลียวแล จึงหอบหิ้วกลับบ้านไปด้วย


ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นั้นเอง ภาพที่สร้างความแปลกใจให้แก่ชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง ก็คือชายคนหนึ่งสวมเสื้อกันฝนปกคลุมมิดชิด เหลือเพียงจมูกยื่นโผล่ออกมา ขับรถจักรยานยนต์มีกระถางต้นไม้วางอยู่ตรงตะแกรงซ้อนท้าย โลดแล่นไปมาไม่รู้จักหยุดหย่อน


ชายคนนั้นคือมาร์โควัลโด เขานำพาต้นไม้ในกระถางออกเดินทาง มองไปบนท้องฟ้าเพื่อค้นหาเมฆหนาที่ส่อเค้าว่าน่าจะมีฝนตก จากนั้นก็ติดตามดั้นด้นไปยังบริเวณดังกล่าว แห่งแล้วแห่งเล่า เพื่อจะให้ต้นไม้ของเขาได้อาบเล่นน้ำฝน

เวลายิ่งผ่านพ้นไป ต้นไม้ที่ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ก็เริ่มผลิใบหนาเติบโตสูงใหญ่ยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งเกือบจะเป็นต้นไม้ยักษ์ที่อุดมสมบูรณ์...






(เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2544 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "เขียนคาบเส้น" เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ แก้ไขปรับปรุงในการเผยแพร่ที่นี่ ด้วยการตัดข้อความย่อหน้าสุดท้ายตอนจบ-ซึ่งชวนให้งุนงงสับสน-ออกไป เรื่องนี้ไม่ได้รวมไว้ใน "ข้าวมันเป็ด" เพราะผมตั้งใจจะนำไปรวมในหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ซึ่งยังเป็นโครงการในอนาคตค่อนข้างไกล)

หญิงสาวกับคำสาป โดย "นรา"


ไม่มีใครล่วงรู้ชื่อจริงรวมถึงประวัติความเป็นมาเบื้องต้นของหญิงสาวคนนั้น เธอผู้ได้รับการเรียกขานว่า The Lady of Shalott


และนี่คือเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเธอ...


เท่าที่ทุกคนทราบ หญิงสาวพำนักอาศัยอยู่ในห้องเล็ก ๆ บนหอคอยที่ตั้งอยู่บนเกาะชื่อชาร์ล็อตต ์ ห้อมล้อมรายรอบด้วยสายน้ำ ใช้ชีวิตจำเจตามลำพังในบริเวณคับแคบ ไม่เคยและปราศจากโอกาสพบปะผู้คนใครอื่น ซ้ำร้ายยังต้องคำสาป ห้ามเหลือบแลโลกกว้างภายนอกผ่านบานหน้าต่างด้วยสายตาของเธอเอง


เมื่อใดก็ตามที่ฝ่าฝืน เธอจะต้องพบกับจุดจบบทลงเอยที่กำหนดไว้แล้วมั่นคงแน่ชัด นั่นคือ "ความตาย"


หนทางเดียวที่หญิงสาวจะมีโอกาสสดับรับรู้ถึงความเป็นไปต่าง ๆ ของโลกภายนอก เธอต้องเฝ้ามองจับจ้องทุกสิ่งผ่านเงาฉายสะท้อนลงสู่กระจกบานใหญ่บนผนัง อีกทั้งคำสาปยังระบุบังคับให้เธอต้องถักทอถ่ายทอดทุกรายละเอียดที่พบเห็นลงบนผืนผ้า


คืนวันล่วงผ่านพ้นไปเช่นนี้ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นเวลาเนิ่นนาน


จวบจนวันหนึ่ง เงาสะท้อนบนกระจกก็ฉายภาพที่ชวนให้อกใจไหวหวั่น อัศวินหน่มรูปงามบนหลังม้าเหยาะย่างผ่านมา ด้วยท่วงท่าบุคลิกสูงสง่าและน่าหลงใหล


ชั่วขณะนั้นหญิงสาวทอผ้าเป็นรูปอัศวิน ยิ่งจับจ้องเงาในกระจกก็ยิ่งลุ่มหลงเหม่อลอย กระทั่งเผลอไผลลืมตัวมุ่งไปที่หน้าต่าง หมายจะสัมผัสกับภาพประทับใจดังกล่าวด้วยสายตาแท้ ๆ ของตนเอง แต่แล้วภาพที่เห็นเบื้องหน้าก็พลับวูบลับดับมลายหายไปหมดสิ้น พร้อม ๆ กับกระจกเงาแตกกระจาย


แล้วคำสาปก็กลายเป็นจริง...


หญิงสาวตระหนักและยินยอมน้อมรับต่อชะตากรรมของตนเอง เธอร่ำไห้ขณะป่ายปีนลงมาจากหอคอย มุ่งหน้าตรงไปยังริมแม่น้ำ พบเรือลำหนึ่ง จารึกชื่อ The Lady of Shalott ไว้ที่หัวเรือ ก้าวขึ้นไปนั่ง จากนั้นก็ปล่อยให้กระแสน้ำพัดพาล่องลอย


หลังจากร้องเพลงสั่งลาจบลงเธอก็สิ้นใจ ในเรือน้อยกลางสายน้ำ โอบล้อมด้วยแมกไม้หนาทึบ ขุนเขาไกลลิบ และแสงสุดท้ายอันอ่อนล้าโรยแรงขณะตะวันกำลังจะลับฟ้า...


โศกนาฎกรรมเกี่ยวกับ The Lady of Shalott เป็นส่วนเสี้ยวหนึ่งจากบทกวีของเทนนีสัน ซึ่งตีพิมพ์ออกมาเมื่อปี 1832


ไม่เพียงแต่จะเป็นที่นิยมชมชอบในหมู่นักอ่านเท่านั้น ทว่าความไพเราะในเชิงภาษา การเปรียบเปรยอันคมคาย บทพรรณโดดเด่นจนเห็นภาพพจน์เด่นชัด และเนื้อหาสวยเศร้าสะเทือนอารมณ์ ยังหนุนส่งให้บทกวีของเทนนีสัน (โดยเฉพาะส่วนที่ว่าด้วยเรื่องราวของ The Lady of Shalott) กลายเป็นต้นธารแรงบันดาลใจแก่ศิลปินอังกฤษหลายท่านในยุควิคตอเรียน ให้ถ่ายทอดจินตนาการเกี่ยวกับหญิงสาวผู้ต้องคำสาปออกมาเป็นภาพวาดบนผืนผ้าใบ


รูปเขียนเกี่ยวกับ The Lady of Shalott มีหลายภาพหลายคนวาด โดยต่างก็จับความถ่ายทอดช่วงตอนเหตุการณ์ต่างกันไป แต่ที่โด่งดังและได้รับการยกย่องสูงสุดคือ ผลงานของจอห์น วิลเลียม วอเตอร์เฮาส์ (1849-1917)


The Lady of Shalott ของวอเตอร์เฮาส์ เลือกหยิบจับเอาวาระสุดท้ายในชีวิตของหญิงสาว ขณะกำลังลอยเรือม่งหน้าไปพบเผชิญกับความตาย ภาพดังกล่าวโดดเด่นมากในการโน้มน้าวอารมณ์สะเทือนใจ ไม่ว่าจะโดยบรรยากาศสลัวเลือนยามเย็น สีหน้าแววตารวดร้าวเหม่อลอยตกอยู่ในภวังค์ของหญิงสาว ผมยาวสยายและชุดขาวที่เธอสวมใส่ตัดกับสีเขียวขรึมทึมของแมกไม้หนาทึบที่รายล้อม และประดับแต้มแซมแทรกด้วยแสงแดดอ่อนล้าขณะตะวันใกล้จะลับเหลี่ยมเขา ระบายสีหม่นจนชวนให้ผู้พบเห็นแทบหัวใจสลาย


ความประณีตพิถันพิถันในการถ่ายทอดรายละเอียดต่าง ๆ ออกมาอย่างสมจริงของวอเตอร์เฮาส์ ทำให้มีบางคนเปรียบเปรยภาพวาดนี้ไว้ว่า ดูแล้วแทบจะได้กลิ่นใบไม้โชยเข้าจมูก ได้ยินเสียงนกร้องระลอกน้ำกระเพื่อมและลมพัด รวมทั้งสัมผัสได้ถึงความหนาวเย็นยะเยือก


ยิ่งไปกว่านั้น รูป The Lady of Shalott ยังได้รับการยกย่องในแง่ของกลวิธีสื่อความหมายผ่านสัญลักษณ์อย่างแพรวพราว ทุกรายละเอียดในภาพ ไม่มีส่วนใดเกินเลยโดยปราศจากหน้าที่ความจำเป็น ทุกส่วนล้วนแล้วแต่สำคัญและบอกเล่าเรื่องราวเปี่ยมความหมาย


มีคนตีความไว้ว่า ภาพหญิงสาวนั่งอยู่กลางลำเรือ มือข้างหนึ่งถือโซ่ที่กำลังคลี่คลาย สะท้อนถึงการปลีกหนีจากสภาพถูกจองจำกักขังในปราสาท และปลดปล่อยตัวเองให้หลุดพ้นเป็นอิสระจากคำสาป เทียนสามเล่มบริเวณหัวเรือซึ่งโดนลมพัดดับจนเหลือแค่หนึ่ง ได้ทั้งบรรยากาศหนาวเยือกสะท้านของยามเย็น และยังบ่งชี้ให้เห็นถึงวาระสุดท้ายของชีวิตที่กำลังใกล้จะล่วงลับดับสูญ เหมือนกับเปลวเทียนทอแสงริบหรี่กลางลมแรง รวมนกสองตัวทางมุมซ้าย เป็นภาพเปรียบอุปมาอุปไมยเหมือนการหลุดพ้นสู่โลกกว้างเป็นอิสระจากคำสาป ชุดสีขาวของหญิงสาวแฝงนัยยะเกี่ยวกับความเป็นสาวพรหมจรรย์ที่ครองความบริสุทธิ์มาตลอดชีวิต กอหญ้ารกเรื้อบริเวณมุมซ้ายด้านล่าง ตอกย้ำขับเน้นอารมณ์สับสนว้าวุ่นในใจของหญิงสาว ชื่อ The Lady of Shalott ที่บริเวณหัวเรือ จงใจสะกดเป็น Ladie ซึ่งชวนให้นึกโยงไปถึงความตาย


ความแยบยลชาญฉลาดอีกอย่างหนึ่งก็คือ วอเตอร์เฮาส์ถ่ายทอดเหตุการณ์ความเป็นมาในช่วงก่อนหน้านั้นทั้งหมด เอาไว้ในผืนผ้าที่หญิงสาวรองนั่ง ซึ่งเป็นงานถักทอดตลอดช่วงเวลาอันยาวนาน บันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ที่เธอได้พบเห็น


ปัจจุบันรูป The Lady of Shalott ของจอห์น วิลเลียม วอเตอร์เฮาส์ จัดแสดงอยู่ที่ Tate Gallery ลอนดอน


บั้นปลายท้ายสุดของหญิงสาวผู้ต้องคำสาปคือความตาย แต่สำหรับภาพเขียน The Lady of Shalott ของวอเตอร์เฮาส์แล้ว บทสรุปของมันคือ "ความเป็นอมตะ"
(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 19 ธันวาคม 2545 ในคอลัมน์ "เขียนคาบเส้น" เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ เป็นบทความที่จำใจต้องตัดออกในการรวมเล่ม "ข้าวมันเป็ด" ด้วยความเสียดายมาก เนื่องจากเหตุผลเรื่องภาพประกอบ กล่าวคือ ผมกับคุณจักรพันธุ์ ขวัญมงคล ผู้เป็นบ.ก. ตัดสินใจว่า จะไม่มีภาพประกอบ เพื่อให้หนังสือตั้งราคาขายให้ถูกที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ บทความชิ้นนี้ก็เลยถูกยกออก เพราะหากปราศจากภาพประกอบ-ซึ่งควรจะเป็นหน้าสี-เสียแล้ว บทความชิ้นนี้จะจืดและไม่เป็นรสอย่างยิ่ง
ป.ล. เพิ่มเติม ภาพประกอบบทความชิ้นนี้ สามารถคลิกที่รูป เพื่อดูรายละเอียดจากขนาดภาพใหญ่ ได้นะครับ)