วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

วาดรูป โดย 'นรา'


เข้าสู่วงการเป็นมือใหม่ตระเวนฝึกสายตาดูจิตรกรรมฝาผนังได้ราว ๆ ครึ่งปี ผมก็เกิดความสนใจงอกเงย ‘บานปลาย’ อีกหลายแขนง อาทิเช่น เริ่มประทับใจลวดลายปูนปั้นตามโบราณสถานต่าง ๆ, หัดดูใบสีมา, ฟังดนตรีไทย, อ่านหนังสือจำพวกพงศาวดาร ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ฯลฯ

ล้วนแล้วแต่เป็นรสนิยมตามสมัยไม่ทัน ฝุ่นจับหนาเตอะทั้งสิ้น

แรกเริ่มก็เพื่อจะช่วยให้ดูจิตรกรรมฝาผนังเกิดอรรถรสอร่อยยิ่ง ๆ ขึ้น ต่อมาก็กลายเป็นความชอบความหลงใหลจริงจัง และติดงอมแงม รวมทั้งมีแนวโน้มว่าจะ ‘รั้งไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ กู่ไม่กลับ’ อยากรู้อะไรต่อมิอะไรแบบ ‘เจาะเวลาหาอดีต’ เพิ่มเติมตลอดเวลา

ผมก็เลยค้นพบตัวเองขนานใหญ่ว่า แท้ที่จริงแล้ว ผมมีนิสัยอยากรู้อยากเห็น มีเชื้อไทยมุงผสมพันธุ์ปาปารัซซีอยู่ในสายเลือดอย่างเข้มข้น

เพียงแต่แปรความอยากรู้อยากเห็นนั้น เบนห่างจากเรื่องซุบซิบนินทา ข่าวลืออื้อฉาวคาวสวาท ฯ ไปสู่หัวข้อประเด็นอื่น ๆ ตามความสนใจส่วนตัว

พูดได้ว่า ในความเป็นเด็กเปรต (อ้วน ๆ) ผมมีวาสนาดีอยู่บ้างตรงที่ รักชอบสนใจหลายสิ่งในทางที่ถูกที่ควรดีงาม หรืออย่างน้อยที่สุดก็มีรสนิยมไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อตนเอง

ในบรรดาความสนใจ 353 สาขา 765 แขนงที่บวกเพิ่ม มีการวาดรูปรวมอยู่ด้วย

เริ่มต้นก็เจตนาจะสเก็ตช์ภาพคร่าว ๆ ว่า ผนังโบสถ์แต่ละแห่งที่ไปดูมา ด้านไหนวาดรูปอะไรบ้าง เหมือนเป็นบันทึกไว้กันลืม

ต่อมา ยิ่งผ่านตาภาพจิตรกรรมฝาผนัง ทั้งในสถานที่จริง รูปประกอบตามตำรับตำรา และภาพที่ผมถ่ายแล้วนำมาอัดไว้ดูเล่น

ดูบ่อย ๆ เข้า นอกจากจะยิ่งหลงใหลดื่มด่ำแล้ว ผลข้างเคียงก็คือ อาการคันไม้คันมือยุบยิบ

ผมก็เลยซื้อปากกา ซื้อกระดาษ และลงมือหัดวาดรูปเป็นการเอิกเกริก

เล่าย้อนหลังไปอีกนิดราว ๆ เกือบจะชาติที่แล้ว สมัยผมยังเป็นเด็กนั้น กิจกรรมที่เรียกได้ว่าเข้าข่าย ‘มีใจรัก’ คือ การอ่านการ์ตูน (ซึ่งคลี่คลายเป็นชอบอ่านหนังสือในเวลาต่อมา) และการวาดรูป

ผมยังจำภาพแรกที่วาดได้ ตอนนั้นอายุประมาณ 6 ขวบ เย็นวันหนึ่งผมนั่งอ่านการ์ตูน เจอรูปหมูอ้วนตลก ๆ ตัวหนึ่ง ผมก็หยิบกระดาษมาวางทาบ ใช้ดินสอลอกลาย จนกระทั่งสำเร็จ

จริง ๆ แล้วลอกทั้งดุ้นนะครับ ไม่ได้วาดเอง แต่สำหรับผมในตอนนั้น นั่นคือ การค้นพบครั้งสำคัญและยิ่งใหญ่มากในแวดวงศิลปะ ว่าบนโลกใบนี้มีสิ่งที่เรียกว่า การวาด อยู่ด้วย

ผมหลงใหลได้ปลื้มภาคภูมิใจกับภาพที่ลอกมาอยู่หลายสัปดาห์ พกพาติดตัวเที่ยวอวดใครต่อใคร แลกกับคำชมว่าเป็นศิลปินอัจฉริยะรุ่นเยาว์

จนวันหนึ่ง พี่ชายผมคงจะหมั่นไส้และเหลืออด จึงเฉลยความจริงว่า การใช้กระดาษวางทาบแล้วลอกลายตาม ไม่นับว่าเป็นการวาด ผิดกติกา ขี้โกง และไม่ใช่ฝีมืออันแท้จริง

โลกทั้งใบของผมพังทลายลงในชั่วกระพริบตา เหมือนซูเปอร์ฮีโร่ที่เพิ่งรู้ความจริงว่า ‘เหาะไม่ได้’ การลอยตัวโลดโผนที่ผ่าน ๆ มานั้น แท้จริงแล้วเป็นเพียงแค่เซถลาลื่นหกล้ม

พลันที่พบว่า ผมไม่มี ‘พลังอำนาจที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งมาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่’ และเป็นเพียงหนูน้อยธรรมดาสามัญดาษดื่นพื้นฐานเช่นเดียวกับเด็กอื่น ๆ

ผมก็หัดบินทันที ด้วยการหยิบเอารูปหมูอ้วนตลก ๆ ตัวนั้นมาเป็นนายแบบ แล้วตั้งหน้าตั้งตาวาดมันอย่างคร่ำเคร่ง

ไม่เคยมีภาพไหนดีเท่ากับที่ลอกมาเลย หมูอ้วนตลก ๆ รุ่นต่อมา ล้วนโย้เย้เฉไฉบิดเบี้ยว บางภาพก็เหมือนหมาผอม ๆ บางภาพก็คล้ายแมวป่วยเป็นโรคท้องเดิน

อย่างไรก็ตาม ถึงผมจะไม่อาจเป็นซูเปอร์ฮีโรที่บินได้ แต่ผมก็กลายเป็นเด็กมือบอน ชอบวาดและขีดเขียนไปเรียบร้อยแล้ว

ผมก็วาดอะไรต่อมิอะไรก๊อกแก๊กเรื่อยมา จนเริ่มพัฒนาฝีมือและแรงงานอยู่ในขั้นพอดูได้

มาหายห่างร้างเลิกวางมือตอนสมัยเรียนมัธยม เหตุผลแท้จริงนั้นผมเลือน ๆ ไปแล้ว ถ้าจะให้คาดเดาสันนิษฐาน ทฤษฏีที่มีแนวโน้มความเป็นไปได้มากสุด (เมื่อประเมินจากซาก, หลักฐาน และร่องรอยทางโบราณคดีส่วนตัว) น่าจะสืบเนื่องจากว่า ผมติดหญิง มีความรัก และ...อกหักตามระเบียบ

เรื่องนี้ นักประวัติศาสตร์ นักวิชาการ ยังไม่ปลงใจเชื่อเด็ดขาด และรอการค้นพบปรากฏหลักฐานข้อมูลใหม่ ๆ อยู่เสมอ

ผมมาจับปากกาดินสอเพื่อวาดรูปอีกครั้ง ช่วงแตกเนื้อหนุ่มเปรี้ยงปร้างเป็นวัยรุ่น คราวนี้มีเหตุผลแน่ชัดว่า มุ่งมั่นวาดรูปเพื่ออวดหญิงจีบหญิง จนประสบความสำเร็จเกินคาด

เกินคาด...นี้หมายถึง อกหักผิดหวังกระจุยกระจายเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับสูง

มานึกทบทวนย้อนหลังแล้วก็สมควรอยู่ สาวที่ไหนจะมาชอบล่ะครับ มัวแต่ตะบี้ตะบันวาดรูปการ์ตูนให้อยู่นั่นแหละ แต่ไม่เคยชวนไปดูหนัง ไม่เคยชวนไปกินข้าว ไม่เคยชวนไปออกเดท ไม่เคยพูดจาอะไรที่ใกล้เคียงกับคำว่า ‘จีบ’

ให้ผมในอายุปัจจุบัน ย้อนเวลากลับไปยังอดีตหน่อยไม่ได้ รับรองหวานเลี่ยนเอียนกึ๋ยส์ อ้วกแตกกันระนาวเลยทีเดียว

ผมอกหักจนวาดรูปอยู่ในเกณฑ์ดี ทว่าพ้นจากเป้าหมายวาดให้สาว ๆ แตกตื่นฮือฮาแล้ว ก็ไม่เคยมีเป้าหมายอื่นใด ไม่เคยฝันใฝ่อยากเป็นศิลปิน ไม่อยากรังสรรค์งานศิลป์ไว้จรรโลงโลก

วาดเพราะวาดได้ และชอบเท่านั้นเอง

พ้นจากช่วงระยะวาดเพื่อแสวงหา (แฟน) แล้ว ผมก็ฝึกมือต่อเนื่องเรื่อยมาอีกหลายปี จนรู้ถ่องแท้แก่ใจว่า อยากร่ำเรียนทางด้านนี้ให้เป็นกิจจะลักษณะ

ถึงตอนนั้นก็ช้าเกินไป ผมจวนเจียนจะจบระดับปวส. ใกล้เวลาต้องออกหางานทำเต็มที

ผมมาเลิกหยุดวาดรูปเด็ดขาดจริง ๆ ตอนอายุยี่สิบต้น ๆ เมื่อเพื่อนไม่สนิทผู้หวังดีแบบประสงค์ร้ายคนหนึ่ง ออกความเห็นต่อหน้าธารกำนัลจำนวนมากว่า รูปที่ผมวาด ดูผิวเผินก็สวยดีอยู่หร็อก แต่จริง ๆ แล้ววาดมั่ว และใช้ความมั่วมากลบเกลื่อนพื้นฐานฝีมือที่ไม่แน่น

เป็นความเห็นที่ทำให้ผมทั้งเจ็บทั้งอาย และก็จริงเสียด้วย ตรงที่ว่า ผมวาดมั่ว เนื่องจากเรียนฝึกเองดุ่ย ๆ ตามลำพัง ไม่เคยรู้หลักวิชาใด ๆ

ผมในเวลานั้นไม่รู้เลยว่า หากฝึกมือต่อไปตามวิธีของตนเอง ประสบการณ์, ความคิดอ่าน การลองผิดลองถูก จะค่อย ๆ ขัดเกลาความมั่วให้หมดไป และสามารถบ่มเพาะสร้างฝีมืออันจัดเจนขึ้นมาได้

ผมเป็นมนุษย์พันธุ์ไม่เชื่อมั่นในตนเองเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว เจอะเจอความเห็นเชิงลบของเพื่อนเข้าไป ก็ยิ่งจบเห่

อีกปัจจัยหนึ่ง ซึ่งมีน้ำหนักมากพอ ๆ กัน นั่นคือ ระหว่างที่สนใจหลงใหลการขีดเขียนวาดรูป ผมก็แวะไปดูนิทรรศการศิลปะต่าง ๆ ตามหอศิลป์หลายแห่ง รวมทั้งโฉบไปป้วนเปี้ยนแถว ๆ มหาวิทยาลัยศิลปากร (ด้วยความอยากเรียนที่นั่นเป็นอย่างยิ่ง)

ตรงนี้ทำให้ผมได้เห็นฝีมือของคนหนุ่มอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน และพอนำมาเปรียบกันแล้ว ผมก็นึกท้อถอดใจ เพราะรู้ตัวว่า ฝีมือห่างกันหลายล้านปีแสง

ผมมองตัวเองคนที่เป็นเด็กหนุ่มในอดีตแล้วก็เห็นใจต่อความไร้เดียงสาของเขานะครับ ควบคู่กันนั้นผมก็ขอบคุณที่เขาเป็นอย่างที่เป็นอยู่ จนเกิดกลายเป็นผมในปัจจุบัน

เรื่องหันหลังให้กับการวาดรูป เป็นกรณีอกหักในด้านการใช้ชีวิตครั้งใหญ่สุดของผม เป็นเรื่องเศร้าเสียดายที่ไม่เคยเลือนหาย แต่แง่ดีงามนั้นมีอยู่คือ ส่งผลให้ผมเลือกเดินมาอีกทาง...เป็นคนเขียนหนังสือ

ในละครชีวิต บางทีเราก็ไม่สมหวังกับสิ่งที่รักและอยากเป็นมากสุดหรอกนะครับ นางเอกหรือคู่แท้บุพเพสันนิวาสแต่ชาติปางก่อน อาจเป็นอีกสิ่งหนึ่ง

พูดได้ว่า ท้ายสุดแล้วทั้งโชคชะตาและการเลือกตัดสินใจของผมเอง ได้ประกอบรวมกัน จนนำพาผมมาสู่การเป็นนักเขียนสาขาใฝ่รู้ แต่เกียจคร้าน

เล่ากระโดดจากอดีตกลับมาสู่ปัจจุบัน วาระแรก ๆ ที่หวนคืนเวทีวาดรูปอีกครั้ง ผมพบว่า มือไม้สายตาไม่อยู่ในโอวาท สนิมจับเกาะแน่น เส้นสายแข็งทื่อ สัดส่วนรูปทรงผิดพลาดฉกาจฉกรรจ์

หากเทียบว่าผมในวัยรุ่นวาดรูปมั่ว ๆ แล้วล่ะก็ ผลงานในปัจจุบันก็เข้าข่าย ‘ก่อการร้าย’ ทางด้านวิชาวาดเขียนเลยนะครับ

เละเทะดูไม่จืด และล้าหลังถดถอยจนน่าตกใจ

กระนั้นก็ตาม ‘ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ’ ของผม มีจุดมุ่งหมายที่เติบโตทางความคิดขึ้น ไม่ได้เจตนาจะวาดอวดให้ใครอื่นมาดูมาชื่นชม ไม่ได้หวังผลลัพธ์ว่าฝีมือจะต้องเลอเลิศ

แค่วาดเพื่อตอบสนองความชอบและใจรักตามลำพัง

เล่นโวหารสำนวนสักหน่อยก็ต้องบอกว่า ไม่ได้วาดเพื่อหวังให้รูปออกมาสวย แต่วาดเพื่อจะดูรูปผลงานของศิลปินอื่น ๆ ให้ซาบซึ้งเข้าใจดียิ่งขึ้น

กล่าวคือ ใช้ความอ่อนด้อยบกพร่องของตนเอง เป็นเครื่องมือค้นหาความดีงามคุณค่าวิเศษในผลงานชั้นเยี่ยมของผู้อื่น

ผมกลับมาหัดวาดรูปอีกครั้ง ช่วงเวลาเดียวกับที่เขียนเรื่องอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ นั้นทำให้ผมได้รับเคล็ดวิชาสำคัญ นั่นคือ วาดโดยไม่กลัวว่าจะออกมาเสีย ออกมาแย่ ผิดตรงไหน ก็สามารถวาดใหม่แก้ไขได้ เท่าที่ใจต้องการ

หลักยึดนี้ใช้ได้ครอบคลุมถึงการทำงานเขียนหนังสือ, ทุกวิชาชีพ และการดำเนินชีวิต คล้าย ๆ กับที่’รงค์ วงษ์สวรรค์กล่าวไว้ว่า ‘ฆ่างาน ก่อนที่งานจะฆ่าเรา’

งานที่ต้องฆ่ากำจัด เปรียบแล้วก็เหมือนรูปที่วาดผิด หรือฝีมือยังไม่ดีพอนะครับ

ผ่านมา 7-8 เดือน โดยการหาเวลาเก็บเล็กผสมน้อยซ้อมมือทุกวัน ผมคิดว่ารูปที่วาดระยะหลัง ๆ กระเตื้องขึ้นในทางบวก

ถึงตรงนี้ผมรู้ซึ้งแล้วว่า ตลอดประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา หากผมวาดต่อเนื่องโดยไม่ทิ้งขว้าง ป่านนี้ฝีมือก็คงมีการ ‘ยกระดับ’ อยู่บ้างเหมือนกัน

คล้าย ๆ การเขียนหนังสือ ผมเริ่มจากเตาะแตะแบบเด็กหัดเดิน พลาดพลั้งเกิดแผลใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ อาศัยการค่อย ๆ ทำ ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนเรียนรู้ จนผ่านวันเวลาต่อเนื่องมาระยะหนึ่ง ก็ก่อรูปเกิดร่างเป็นทักษะฝีมือที่พอจะไปวัดไปวาตอนสาย ๆ ได้

เรื่องกลับมาหัดวาดรูป เปรียบแล้วก็คล้ายผมพบเจอความฝันชิ้นหนึ่งซึ่งหล่นอยู่กลางทาง และหยิบมันขึ้นมาปัดฝุ่น

ทำยังไงก็ไม่มีวันใหม่สะอาดแวววาวไปถึงปลายทางที่เคยหวังไว้หรอกนะครับ แต่มันยังคงเป็นความฝันเดิมที่ผมเคยมี และผมดีใจที่ตอนนี้ฝันนั้นอยู่ในมือ

เหลือแต่เรื่องความรักนี่แหละที่ยังต้องเหนื่อยกันต่อไป ผมเพิ่งค้นพบตัวเองว่า นอกจากจะไม่หล่อ จน เกเร และลงพุงแล้ว ผมยังจู้จี้จุกจิกช่างเลือกและใฝ่สูงไม่ค่อยเจียมตัวอย่างแรง

สวยน่ารักระดับน้องแพนเค้ก ยังโดนผมปฏิเสธตัดสัมพันธ์มาแล้วนักต่อนัก ด้วยคำพูดเด็ดขาดเหี้ยมเกรียมว่า “ระหว่างเราสองคน ต่างฝ่ายต่างไปตามทางของตัวเองดีกว่านะครับ”

เป็นการพูดออกไป โดยที่สาวเจ้าแต่ละคนยังไม่เคยมีโอกาสได้รู้จักผม

ผมพูดพึมพำของผมคนเดียว อีตอนเดินเฉียดสวนกันในระยะห่างห้าเมตร

พูดเสร็จแล้ว นักหักอกหญิงอย่างผม ก็น้ำตาซึม สงสารและทุเรศตัวเองชิบเป๋งเลย

วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

Facebook Story โดย 'นรา'


หลายวันมานี้ผมติดเล่น Facebook จนวินิจฉัยฟันธงได้แบบไม่ต้องพึ่งพาจิตแพทย์ว่า น่าจะอาการเพียบหนัก

ยังไม่ถึงกับเสียงานหรอกนะครับ ยังเขียนหนังสือได้ตามปกติ และเขียนอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอมากกว่าเดิมนิดหน่อย

แต่มาเละเทะกระจุยกระจาย ตรงที่มันทำให้ผมไม่ได้เข้าออฟฟิศ (ห้องสมุด) เลย ตลอดทั้งสัปดาห์ และอ่านหนังสือน้อยลง

จึงต้องล้างแค้นให้สะอาดผ่องใส ด้วยการหยิบเรื่องนี้มาเขียนถึง เพื่อเป็นการถอนทุนเอาคืน

เรื่องคงเริ่มต้นขึ้นประมาณหลายเดือนก่อน มีรุ่นน้องรายหนึ่ง ส่งเทียบชวนผมมาทางอีเมล์ให้เข้าสู่วงการ และตอบรับเขาเป็นเพื่อน

ตอนนั้น (รวมถึงตอนนี้) ผมไม่รู้หรอกนะครับว่า Facebook คืออะไร? มีประโยชน์หน้าที่ใช้สอยอย่างไร?

ผมก็เข้าไปลงทะเบียนสมัคร เพื่อตอบรับรุ่นน้องคนนั้นเป็นเพื่อน แล้วก็เกิดอาการเหวอ ๆ ได้แต่มองตาปริบ ๆ ทำอะไรไม่ถูก ไปไม่เป็น

จากนั้นก็ไม่ได้เฉียดใกล้เข้าไปเยือนอีกเลย

ในความถั่วโหลยโท่ยไม่เอาไหนอย่างรุนแรงของผม เรื่องสารพันบรรดามีเกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ นับเป็นของแสลงลำดับต้น ๆ

อาการเดียวกับตอนได้โทรศัพท์มือถือเครื่องแรกในชีวิตมาฟรี ๆ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว

มีกิจกรรมโปรโมทคุณสมบัติของโทรศัพท์รุ่นที่ว่า ซึ่ง ‘ล้ำ’ มากในขณะนั้น คือ สามารถถ่ายวิดีโอ และตัดต่อลำดับภาพได้ ถ่ายภาพนิ่งได้ และอีกหลาย ๆ ประการ (ซึ่งจนถึงบัดนี้ ผมก็ยังโง่สนิท)

กิจกรรมนั้นก็คือ ให้ผู้กำกับหนัง, นักแสดง และนักวิจารณ์ ประมาณสิบกว่าชีวิต ใช้โทรศัพท์รุ่นที่ว่า ผลิตหนังสั้นคนละหนึ่งเรื่อง

ผมก็ได้มากับเขาเครื่องหนึ่ง รับมอบเสร็จสรรพ หยิบคู่มือใช้งานมาอ่าน ก็ร่ำ ๆ ว่าจะนำไปถวายคืนทันที

ไม่รู้เรื่องโดยสิ้นเชิงนะครับ ตกใจถึงขั้นนั่งกลัดกลุ้มนอนไม่หลับ

จนเพื่อนจ๋อง-พงศ์นรินทร์ อุลิศ ต้องปลอบใจว่า “ทำใจดี ๆ ไว้ ค่อย ๆ กดปุ่มโน่นนี่นั่นไปเรื่อย ๆ ประเดี๋ยวก็ใช้เป็น”

ผมก็นำโอวาทคำชี้แนะของกัลยาณมิตร กลับมาทำการทดลองที่บ้าน ลองผิดลองถูก กระทั่งท้ายสุดก็สำเร็จเป็นหนังสั้นเรื่อง ‘องค์เป็ด’ ส่งมอบเอาตัวรอดมาได้ แบบผมหงอกร่วงโรยเกินวัยไปอีกหลายปี

ต่อมา ผมก็ใช้โทรศัพท์มือถือที่ได้มาฟรี แทนกล้องถ่ายรูป และใช้ทำหน้าที่อยู่แค่นั้น ใช้โทรฯ เข้า โทรฯ ออกไม่เป็น

ปราบดา หยุ่นเคยเห็นการใช้โทรศัพท์แบบไม่สมศักดิ์ศรีของผม ถึงกับอำว่า “พี่ไม่ลองเอาโทรศัพท์มาโกนหนวดดูบ้าง อาจจะเวิร์คและคุ้มขึ้นบ้างนะครับ”

ไม่กี่วันต่อมา ผมก็ขายโทรศัพท์ มีคนแย่งกันเสนอราคางาม ๆ หลายราย เกือบจะเป็นการประมูลเลยทีเดียว เนื่องจากรุ่นมันใหม่มาก และยังไม่มีวางขายตามท้องตลาด (ล่าสุดโทรศัพท์รุ่นนี้กลายเป็นโบราณวัตถุในยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ไปเรียบร้อยแล้ว)

ตามประสายอดนักธุรกิจจอมเก็งกำไรนะครับ ผมจึงขายให้เพื่อนจ๋องในราคาครึ่งหนึงของความเป็นจริง ได้ตังค์มาหมื่นบาท

แล้วนำเงินนั้นไปซื้อกล้องถ่ายรูปดิจิตอล ซึ่งแพงกว่าเท่าตัว (รวมทั้งเสียเวลาตกใจกับวิธีการใช้งานไปอีกหลายวัน)

ส่วนโทรศัพท์มือถือ ผมเพิ่งซื้อเพื่อใช้งานในฐานะโทรศัพท์จริง ๆ ประมาณครึ่งปีที่ผ่านมานี้เอง (เหมือนเดิมครับ คือ วุ่นวายโกลาหลขนานใหญ่ กว่าจะรู้วิธีกดปุ่มรับสายตอนที่มีคนโทรฯ มาหา โดนค่อนขอดนินทาว่าหยิ่งไม่ยอมรับโทรศัพท์อยู่ร่วม ๆ หนึ่งเดือน)

ทันทีที่ปรากฎข่าวว่า ผมได้ซื้อโทรศัพท์มือถือเรียบร้อยแล้ว แพร่กระจายสู่แวดวงญาติมิตรที่รู้จัก

อาทิตย์แรกผมแทบไม่ต้องทำอะไรเลย นั่งรับโทรศัพท์อย่างเดียว ทั้งหมดโทรฯ มาเพื่อลองของ เหมือนทำการพิสูจน์เรื่อง ‘แปลกแต่จริง’ ยังไงยังงั้นเชียว

บางรายหนักข้อถึงขั้น นำเบอร์โทรศัพท์ของผมไปแทงหวย

ใบ้หวยแม่นนะครับ เลขท้ายสองตัวงวดนั้นตรงกับเบอร์โทรศัพท์ของผมเป๊ะ ๆ เลย

เทคโนโลยีล่าสุดที่บ้านผม คือ มีเครื่องสแกนรูป

จู่ ๆ บินหลา สันกาลาคีรี ก็ยกให้ผมฟรี ๆ

ข่าวดีคือ ที่ได้มามีแต่ตัวเครื่องล้วน ๆ ไม่มีสายสำหรับต่อเชื่อมใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่มีแม้กระทั่งคู่มือใช้งาน

ตอนนี้ผมใช้เครื่องสแกนรูปคล่องแล้วนะครับ แต่ใช้แทนอุปกรณ์ยกน้ำหนักออกกำลังกาย

ความไม่เอาไหนด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ นานาที่ผ่านมาในชีวิต ทำให้ผมกลัว ๆ แหยง ๆ Facebook ไม่ค่อยกล้าข้องแวะ

แต่แล้ววันหนึ่ง ผู้คนรอบ ๆ ตัวผม ก็เล่น Facebook กันอย่างเอิกเกริก ต่อหน้าต่อตา วันละหลาย ๆ ชั่วโมง

ลูกอีช่างอยากรู้อยากเห็น อยากก้าวให้ทันโลกบ้าง แต่มักจะตกกระแสล้าหลังสม่ำเสมออย่างผม จึงตัดสินใจกระโดดเข้าสู่วงการ Facebook เต็มตัว

แล้วก็พบว่า เนิ่นนานผ่านมาหลายเดือน ผมจำ password ที่ลงทะเบียนไว้ไม่ได้

อะไรก็ตามแต่ที่ต้องใช้ password เป็นใบเบิกทาง ผมนิยมใช้รหัสเดียวเหมือนกันหมด เพื่อกันลืม

พอใส่รหัสที่ตั้งไว้แล้วเข้าไม่ได้ ผมก็ลอง password สำรองอีกสองสามชื่อที่คิดเผื่อ ผลปรากฏว่าเข้าไม่ได้

ผ่านไปอีกหลายเดือน บ่ายวันหนึ่ง ขณะผมกำลังนั่งคิดถึงเรื่องทฤษฏีแรงโน้มถ่วงของเซอร์ไอแซค นิวตัน อยู่ที่ใต้ต้นมะม่วง

พลันลูกมะม่วงก็ตกใส่หัว จนผมระลึกชาติได้ว่า password นั้นถูกต้องแล้ว ที่ผิดคือ ผมใช้อีกอีเมล์หนึ่ง

เข้า Facebook ได้แล้ว ผมก็เป็นบ้านนอกเข้ากรุง ไม่รู้ว่าสนามหลวงอยู่ตรงไหน? จะไปอนุสาวรีย์ชัยฯ ต้องขึ้นรถเมล์สายอะไร? ไม่รู้วิธีหาเพื่อนหาพวกหรือเล่นเกมใด ๆ ในนั้นทั้งสิ้น

ระยะแรกจึงต้องพึ่งใบบุญ ขอ add บรรดาคนคุ้นเคยที่เห็นหน้าค่าตากันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

แต่คนมันพบมันเจอกันอยู่จนชินตา จะไปสนทนาวิสาสะอีกใน Facebook ผมก็รู้สึกแปร่ง ๆ แปลก ๆ ไม่รู้ว่าจะคุยอะไร?

ผมจึงเริ่มไล่ลำดับญาติโยมที่รู้จัก แต่ไม่มีโอกาสพบปะกันมานาน แล้วผมก็นึกถึงอี่น้องคนงามนามว่าสาวจูน

ผมก็เลยโทรศัพท์ไปหา ถามซื่อ ๆ ตรง ๆ ว่าเล่น Facebook หรือเปล่า? ถ้าเล่นใช้ชื่ออะไร? แล้วก็จดใส่สมุด

สาวจูนก็มีทีท่าว่างง ๆ อยู่เหมือนกัน ร้อยวันพันปีไม่เคยโทรศัพท์มาหา จู่ ๆ ก็โทรศัพท์มาขอ add เป็นเพื่อนใน Facebook ซะยังงั้น

“ไม่ค่อยน่าไว้ใจเลยเน้อ พี่คิดแผนชั่วอะไรไว้รึเปล่าเน้อ?” สาวจูนเธอมีเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง ตรงคำลงท้ายว่า เน้อ อยู่แทบทุกประโยคคำพูด

ผมไม่ได้ตอบคำถามนี้ ทว่าพยักหน้ายอมรับแต่โดยดี

จากนั้นผมก็โทรศัพท์ไปหาญาติโยมอีกสองสามราย ด้วยแผนชั่วแบบเดียวกัน

แล้วก็อาศัยรายชื่อเพื่อนของเพื่อน ค่อย ๆ ค้นหาคนรู้จักไปทีละรายสองราย

สะสมจำนวนญาติมิตรได้พอสมควร ผมก็ยังทำอะไรไม่ถูก ใช้งานไม่เป็นเช่นเดิม

ผมมาติด Facebook ตอนนี้นี่เอง ตอนที่เริ่มเจอพรรคพวกเพื่อนฝูงจำนวนมากในนั้น ระยะเวลาที่ไม่ได้เจอทุกคนรวมกัน สามารถย้อนยุคกลับไปถึงสมัยอยุธยายังไม่เสียกรุงครั้งที่ 2 เลยทีเดียว

ติดต่อขอเป็นเพื่อนกับใครต่อใครเขาไปทั่ว เสร็จสรรพแล้ว ผมก็ปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้น ยังไม่ค่อยได้ข้องแวะแตะต้องติดต่อสื่อสารอะไรทั้งสิ้น

มากและบ่อยสุด คือ ตอบรับคำทักทายสั้น ๆ จากบรรดาคุณโยมทั้งหลาย ซึ่งเข้ามากรี๊ดกระจาย แสดงความแปลกใจที่มนุษย์ไฮถึกดึกดำบรรพ์อย่างผม เล่น Facebook

รู้สึกอยู่เหมือนกันว่า สภาพ สถานะของผมประดุจดัง ปลาหมึกพอลว่ายน้ำอยู่ในตู้หลังจบบอลโลก มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมเยียน ชี้ชวนกันดูอย่างขำ ๆ แล้วก็จากไป

เจอบ่อยเข้า ผมก็ร่ำ ๆ ว่า แทบจะลุกขึ้นมาสาธิตวิธีการทำนายผลบอลโลกครั้งต่อไป ให้เป็นที่ประจักษ์ฮือฮาในความแม่นยำบ้าง

ทันใดนั้นเอง ผมก็คิดแผนชั่วขึ้นมาได้ลาง ๆ

แผนนั้นง่าย ๆ ครับ คือ คิดว่า Facebook น่าจะเป็นตัวเชื่อมต่อสื่อสารระหว่างผมกับผู้อ่าน, เพื่อนฝูง และคนที่เคารพนับถือจำนวนมาก

คล้าย ๆ เป็นที่แถลงข่าว แลกเปลี่ยนสอบถามข้อมูล ทักทายสารทุกข์สุกดิบ

รวมทั้งใช้เป็นที่แจ้งเหตุเกี่ยวกับความคืบหน้าต่าง ๆ ในการอัพเดตบล็อก ประกาศสถานการณ์ทั้งฉุกเฉินและเฉื่อยชา ราชการทั้งหลายประดามีของตัวผมเอง

ประโยชน์การใช้สอยคร่าว ๆ กว้าง ๆ ของ Facebook ตามความเข้าใจผม น่าจะและคงจะอยู่ตรงแถว ๆ นี้

ในข้อมูลส่วนตัวของผม มีช่องให้กรอกว่า เข้ามาเพื่อจุดมุ่งหมายความประสงค์ใด? ระหว่างหาเพื่อน และอีกสองสามอย่าง

ผมระบุไปว่า เครือข่าย

จะเป็นเครือข่ายขึ้นมาได้ จำนวนนั้นต้องเยอะ เพราะเหตุนี้เอง หลายวันที่ผ่านมา ผมจึงก้มหน้าก้มตา ค้นหาเพื่อนใน Facebook อย่างคร่ำเคร่ง

ผมเขียนถึงเรื่องนี้ลงในบล็อก ก็เพื่อจะบอกกล่าวเล่าสู่ให้มิตรรักแฟนเพลงที่ติดตามอ่าน (และรอจนลืมว่า เมื่อไหร่มันจะอัพเดตบล็อก) ได้ทราบโดยทั่วกัน เพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารใน Facebook เพิ่มขึ้นอีกช่องทาง ซึ่งน่าจะสะดวกคล่องตัวยิ่งกว่า

ขณะเดียวกัน ผมก็พยายามจะป่าวประกาศใน Facebook เพื่อเชื้อเชิญให้ญาติโยมทางนั้น ได้รับทราบเกี่ยวกับความคืบหน้าของบล็อก

พูดตามตรงก็เหมือน ผมกำลังโฆษณาขายของนะครับ และผมก็เชื่อว่าผมทำอย่างนั้นจริง ๆ แบบไม่มีอะไรต้องแก้ตัว

ชื่อที่ผมใช้ใน Facebook คือ จ้อย นรา

ผมรับ add ด้วยความเต็มใจนะครับ และขอถือโอกาสขอบคุณทุกท่านที่นับผมเป็นเพื่อน (ทั้งในตอนนี้และอนาคตข้างหน้า)

มีเรื่องจะชี้แจงอย่างเดียวคือ ระหว่างนี้ผมยังเงอะงะมะงุมมะงาหรา (เชื่อหรือยังครับว่าผม in trend มาก ขนาดศัพท์ที่ใช้ยังอยู่แถว ๆ วรรณคดีเรื่อง ‘อิเหนา’เลย คำนี้แปลเป็นสำนวนไอทีได้ว่า random) และกำลังอยู่ในขั้นตอนเรียนรู้การใช้งาน จึงเป็นไปได้มากเหลือเกินว่า เมื่อเป็นเพื่อนกันแล้ว ผมอาจจะวางตัวนิ่งเฉย ไม่ได้ทักทายพูดคุยสุงสิงกับใคร

ไม่ได้หยิ่งหรอกนะครับ เป็นเรื่องของมือใหม่ อ่อนหัด ขาดประสบการณ์ ซื่อใส ไร้เดียงสา ล้วน ๆ เลย

วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เราพบกันเพราะหนังสือ โดย 'นรา'


อยู่ดีไม่ว่าดี จู่ ๆ ผมก็นึกอุตริ สร้างความยุ่งยากให้แก่ตนเอง ตามประสาคนกินอิ่มแล้วไม่มีอะไรทำ

ผมยื่นโจทย์ตั้งเงื่อนไขว่า จะเขียนแนะนำหนังสือเรื่อง ‘เราพบกันเพราะหนังสือ’ ของบินหลา สันกาลาคีรี

โดยมีข้อแม้ว่า ห้ามเด็ดขาดไม่ให้พูดถึงเนื้อหาภายในว่าเกี่ยวกับอะไร

ไม่ได้พยายามจะพิสูจน์อะไรหรอกนะครับ แค่ยืนยันว่าผมเป็นพวกสติไม่เรียบร้อยเท่านั้นเอง

ระหว่างผมกับบินหลา เราพบกันเพราะหนังสือ- - ที่เขาเป็นคนเขียน ส่วนผมเป็นคนอ่าน เป็นเช่นนี้อยู่นานร่วม ๆ สิบปี

จนเมื่อปีกลายนี้เอง ผมกับเขาก็ได้เจอหน้าค่าตา คุยกัน รู้จักกัน มีโอกาสทำงานชิ้นหนึ่งด้วยกัน และกลายมาเป็นเพื่อนกัน

เขากับผมมีรสนิยมอย่างหนึ่งตรงกัน คือ เราต่างล้วนเป็นเด็กแนว...โบราณทั้งคู่

บินหลาแม่นยำในวรรณคดี หลงใหลประวัติศาสตร์ จดจำเนื้อความในพงศาวดารได้ขึ้นใจชนิดเล่าเนื้อความเหตุการณ์ปากเปล่าได้สบาย ๆ (แต่เรื่องอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน เขาขี้ลืมสุดขีด จนผมคิดว่า สามารถนำมาเขียนเป็นนิยายหนา ๆ ได้หนึ่งเรื่อง) ล่าสุดเขาพัฒนาฝีมือและแรงงานถึงขั้น ศึกษาการอ่านศิลาจารึกด้วยตนเอง

ส่วนผมเพิ่งมาบ้าดูจิตรกรรมฝาผนังได้ปีกว่า ๆ และพลอยทำให้ต้องเริ่มต้นอ่านตำรับตำราและเอกสารย้อนยุค จนท้ายที่สุด ผมก็แทบว่าจะคลานตามกันมาทางด้านการอ่านแนวทางเดียวกับเขาในระยะห่าง ๆ

บินหลาแนะนำให้ผมรู้จักกับหนังสือชุดสำคัญคือ ประชุมพงศาวดาร (มีทั้งหมด 50 เล่ม) ซึ่งเป็นคลังความรู้ขนาดใหญ่มหาศาล และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับการทำงานของผม รวมทั้งยินดีแปลงร่างเป็นพี่ศิราณี ให้ผมแบกปัญหาไปปรึกษาถามไถ่อยู่เนือง ๆ ว่า หนังสือเล่มนี้ดีไหม แล้วเล่มนั้นเป็นยังไงบ้าง

วันดีคืนดีบินหลาก็มีของกำนัล เป็นหนังสือเล่มกะทัดรัด เช่น อักขราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเล และสัพะ พะจะนะ พาสา ไท ของชอง-บาตีสต์ ปาเลอกัว (รวมกันแล้วน้ำหนักน่าจะตกประมาณ 3 กิโลกรัม) มอบให้ผมแบกกลับบ้านไปอ่านเล่น

นาทีนั้น ผมแทบอยากจะลงมือเขียนหนังสือชื่อ ‘หลังแอ่น’ ออกมาวางคู่ขนาบกับ ‘หลังอาน’ ของเขา

ครึ่งปีมานี้ บินหลาชวนผมเดินทางอยู่บ่อยครั้ง เขาเป็นคนขับ ผมเป็นผู้โดยสาร

เขาเป็นยอดนักขับรถสมกับชื่อหนังสือเล่มหนึ่งที่เขียนคือ ‘บินทีละหลา’ ระยะทางที่ใครและใครใช้เวลา 5 ชั่วโมง บินหลาทำเวลาราว ๆ 7 ชั่วโมงเป็นอย่างเร็วสุด นอกจากจะยึดหลักขับรถแบบปลอดภัยไว้ก่อน ควบคู่ไปกับมุ่งสู่จุดหมายปลายทางแล้ว สองข้างทาง...เป็นอีกสิ่งที่เขาใส่ใจคำนึงถึง

ต้นปีที่ผ่านมา บินหลา, พี่เรืองรอง รุ่งรัศมี, เป็นหนึ่ง-วรพจน์ พันธุ์พงศ์, เต้-ธวัชชัย พัฒนาภรณ์ และผม (กับตุ๊กตาสมีพูห์ชื่อเด็กชายพี่หมี)เดินทางจากเชียงใหม่ไปน่าน เขาหยิบแผนที่ออกมา พลางตัดสินใจไตร่ตรองว่า จาก 3 เส้นทางที่มีอยู่ ควรจะเลือกมุ่งไปสายไหน

ครับ บินหลาเลือกเส้นที่อ้อม กินระยะทาง เปลืองเวลามากสุด และให้เหตุผลว่า ถ้าจะไปทางที่สั้นกระชับ รวดเร็ว นั่งรถทัวร์เอาก็ได้ ไม่ต้องขับรถไปเองหรอก

เหลืออีก 2 เส้นทาง คือ ไปทางอำเภอเชียงม่วน กับไปทางอำเภอเชียงคำ เขาบอกกับผมว่า

“ไปทางเชียงม่วน ชื่อก็บอกอยู่ทนโท่ว่าม่วน พวกเราสนุกแน่ ๆ แต่เส้นนี้ผมเคยไปแล้ว เพราะฉะนั้น ผมว่าไปทางเชียงคำดีกว่า เดี๋ยวเราค่อย ๆ คลำ ๆ หาทางให้มันม่วนขึ้นมาทีหลังก็แล้วกัน”

อันที่จริงเส้นทางเชียงใหม่สู่น่าน ผ่านทางอำเภอเชียงคำนั้น ถ้าขับรถทำเวลาจริง ๆ ล้อหมุนออกเดินทางแต่เช้าตรู่ ก็สามารถถึงน่านได้ในตอนค่ำ แต่คุณบินหลาของผมแกไปได้ไกลสุดแค่ครึ่งทาง คือ จอดป้ายแค่อำเภอเชียงคำ

ไม่ใช่เพราะบินหลาบินช้าเป็นเหตุหรอกนะครับ แต่ทั้งแก๊งมีส่วนร่วมรับผิดชอบร่วมกันหมด เราเจอต้นไม้ออกดอกริมถนน ก็จอดแวะ เจอวิวข้างทางสวยหน่อยก็ร้องตะโกน เฮ้ย!! จอด จอด

คราวหนึ่งรถวิ่งผ่านถนนสายยาว สองข้างทางมีต้นเหลืองอินเดีย ออกดอกบานสะพรั่งละลานตา

บินหลาไม่เพียงแค่จอดแวะชื่นชม แต่ยังเกิดไอเดียบรรเจิด ให้ชาวคณะโพสต์ท่าถ่ายรูป เดินเข้าแถวเรียงเดี่ยวข้ามถนนเลียนแบบปกแผ่นเสียงอัลบั้ม Abbey Road ของ The Beatles

พูดง่าย ๆ ว่า เวลาเดินทางกับบินหลา เขาใช้สิทธิและข้อได้เปรียบทุกอย่างที่การเดินทางโดยรถทัวร์ไม่อาจกระทำได้โดยครบถ้วน

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติ ที่นกนักเขียนตัวนี้ จะใช้เวลาบินบนหลังพวงมาลัยรถกระบะคู่ชีพ จากเชียงใหม่ไปขอนแก่น 4 คืน 5 วัน กว่าจะถึงที่หมาย

ในบทสนทนาระหว่างทางบนรถรวมแล้วหลายร้อยชั่วโมง ผมรู้สึกเหมือนเข้าชั้นเรียนหลากวิชากับครูบินหลา ทั้งโบราณคดี, ประวัติศาสตร์, ศิลปะ, การเขียนหนังสือ เรื่อยไปจนถึงการทำตัวมีสาระควบคู่กับไร้สาระ

โดยอายุและความอาวุโส ผมกับบินหลาน่าจะอยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกัน (เราต่างอุบไต๋ไม่ยอมบ่งบอกและไม่เคยมีใครเอ่ยถามวันเดือนปีเกิดของอีกฝ่าย) เชือดเฉือนกันไม่ลงว่าใครควรเป็นพี่ ใครควรเป็นน้อง แต่โดยอายุงานและความจัดเจน ผมยอมรับแบบไม่มีทางปฏิเสธได้เลยว่า เขาแก่วัดเกินผมไปร่วม ๆ สิบพรรษา

ใครที่เคยไปเที่ยวอยุธยา โดยมีบินหลาเป็นมัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ ย่อมเป็นพยานให้ผมได้ในความเหนือชั้นกว่าไกด์ทั่วไปอยู่หลายขุม

เขาพาลูกทัวร์ดำดิ่งย้อนหลังไปเห็นอดีตโลดเต้นมีชีวิต ด้วยจังหวะลีลาเหนือคาดหมายตลอดทุกระยะ และปิดท้ายด้วยการอธิบายฉากสงครามคราวเสียกรุงครั้งที่ 1 บนเจดีย์ภูเขาทองอันสูงลิบลิ่ว พร้อมกับแจกแจงให้เห็นว่า เหตุเกิดตรงจุดใดบ้างที่อยู่เบื้องล่าง

จนเมื่อเรื่องเล่ามาถึงคำพูดสุดท้าย ผมแอบเห็นว่า ผู้ฟังหลายท่านน้ำตาซึม ทุกคนเงียบอึ้งสะเทือนใจ

ในความเป็นเพื่อน ผมมีโอกาสดีเพิ่มขึ้น จนได้เห็นว่า ก่อนรับงานทำนองนี้แต่ละครั้ง เขาออกสำรวจอยุธยาล่วงหน้าเพื่อสอบทานเตรียมความพร้อมไม่น้อยกว่า 4-5 หน เข้าห้องสมุด, พิพิธภัณฑ์ เพื่อย้ำความแม่นยำถูกต้องของข้อมูล และผุดความคิดใหม่ ๆ เกี่ยวกับลีลาการนำเสนอให้น่าสนใจอยู่ตลอดเวลา

ละเอียด พิถีพิถัน ถึงขนาดคำนวณว่า บริเวณใด เวลาใด ผู้ฟังเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าจากอากาศอบอ้าวสู่ขีดสูงสุด เขาวางแผนจัดเตรียมน้ำมะพร้าวเย็นชื่นใจไว้บริการแบบถูกที่ ถูกเวลา และไม่มีใครคาดคิด

กระทั่งว่า พรุ่งนี้จะถึงวันเดินทาง ความคิดและการเรียกร้องสูงกับงานที่ได้รับมอบหมายก็ยังไม่เคยหยุดนิ่ง

ผมเห็นตัวอย่างการทำงานในลักษณะเอาจริงเอาจังทำนองนี้ของบินหลาอีก 2 ครั้ง

คราวแรกเป็นการขึ้นเวทีพูดคุยเกี่ยวกับการทำหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เขาบ่ายเบี่ยงเรื่อยมาว่า ขอเป็นเพียงแค่ผู้ฟัง แต่เมื่อได้รับคำยืนยันว่าต้องขึ้นเวที

สองชั่วโมงถัดจากนั้น เขานั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ กำหนดวางเค้าโครงว่าจะสนทนาอย่างไร รื้อค้นหนังสือต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว ตระเตรียมอุปกรณ์

นั้นเป็นการอภิปรายที่ดีที่สุดคราวหนึ่งเท่าที่ผมเคยพบ ในแง่ของการโน้มน้าวให้ผู้ฟังรู้สึกซาบซึ้งจับใจ

อีกวาระ เป็นการพูดในกิจกรรมออกค่ายของเด็กนักเรียนจากโรงเรียนสตรีศรีน่าน หัวข้อว่าด้วยการเขียน

ค่ำคืนก่อนหน้า บินหลาระบุขอให้ครูจัดหา กระป๋องนมเจาะรู น้ำผลไม้หลากสี และสารพัดสิ่งของจุกจิก ที่ไม่มีใครคาดเดาได้ว่า จะนำมาใช้ประกอบการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องการเขียนหนังสือได้อย่างไร?

และเหมือนเดิม เขานั่งขมวดคิ้วนิ่วหน้าอย่างเคร่งเครียดอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นานหลายชั่วโมง โดยไม่พูดคุยกับใคร

เมื่อเขายืนอยู่ต่อหน้าผู้ฟังในเช้าวันต่อมา มันเป็นการบรรยายเกี่ยวกับการเขียนหนังสือ ที่เปรียบได้กับโชว์ชั้นดี ราวกับยอดมายากลร่ายเวทมนตร์สะกดผู้ฟัง

ล่าสุด เขาเพิ่งเล่าให้ผมฟังเมื่อวันเสาร์ 27 มีนาคม ที่ผ่านมา ณ ร้านกาแฟในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ

ในค่ายนักเขียนเมื่อไม่นาน บินหลาอธิบายถึงเรื่องความสำคัญของการขัดเกลางานเขียน เสร็จแล้วก็ทิ้งช่วงให้เวลาแต่ละคนลงมือสะสางแก้ไขผลงานของตนเอง

ระหว่างนั้น บินหลาผู้ซึ่งเลี้ยงหนวดไว้เหนือริมฝีปากมาหลายสัปดาห์จนดกเฟิ้ม ก็หลบฉากไปโกนมันทิ้งจนเกลี้ยงหมดจด

กลับมาอีกครั้ง เขากล่าวกับผู้ฟังว่า “การขัดเกลางานเขียนก็คล้าย ๆ การโกนหนวด มันทำให้หน้าตารูปโฉมหรือเรื่องที่เขียน เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง...ในทางที่ดีขึ้น”

หมัดเด็ดดอกนั้น น็อคผู้ฟังจนหงาย และใครต่อใครคงยากที่จะลืมได้ลง

ในวงสนทนาระหว่างมื้ออาหารคราวหนึ่ง ผมเคยเอ่ยด้วยความสงสัยว่า “ถามจริง ๆ เถอะ ตั้งแต่รู้จักกันมา ผมไม่เคยเห็นคุณลงมือเขียนหนังสือเลย คุณเอาเวลาตอนไหนมาทำงานเยอะแยะมากมาย (วะ)”

บินหลายิ้มกริ่มเจ้าเล่ห์ และตอบง่าย ๆ ว่า “ตอนเช้า”

เทียบกับนักเขียนด้วยกันหรือเพื่อนฝูงส่วนใหญ่ที่รู้จักแล้ว ผมจัดได้ว่าเป็นพวกตื่นเช้าพอสมควร (ประมาณ 6 โมงกว่า ๆ) แต่บินหลานั้นเท่าที่ผมทราบ ตื่นสายสุดแถว ๆ ตี 5 และนั่นเป็นเวลาที่เขาออกบินท่องทะยานในโลกของการเขียน

มีภาษิตฝรั่งกล่าวไว้ว่า “นกที่ตื่นเช้าย่อมได้หนอนเป็นอาหาร”

บินหลาคือนกตัวนั้น...ตื่นเช้า ทำงานหนัก และทำให้งานทุกชิ้นมีน้ำหนัก

ขณะที่ผมเป็นนกอีกตัว...ตื่นเช้าเพื่อจะนั่งสะลึมสะลืองัวเงีย ทำงานเบา และทำให้งานทุกชิ้นกลายเป็นเรื่องหนักใจ (ผมถือคติว่า “หนอนที่ตื่นเช้าย่อมกลายเป็นอาหารของนก”)

ตอนที่ยังไม่รู้จักบินหลา ผมอ่านงานของเขาด้วยความรู้สึกว่า เขียนเก่งเหลือเกิน

เมื่อรู้จักคบหาเป็นเพื่อนกันแล้ว ความรู้สึกที่ผมได้รับจากการอ่านหนังสือที่เขาเขียน ไม่ได้เปลี่ยนไปหรอกนะครับ ยังชื่นชมเท่า ๆ เดิม

แค่บวกเพิ่มมาอีกอย่างคือ ผมเข้าใจถึงที่มาที่ไปว่า ทำไมบินหลาจึงทำงานออกมาได้ในคุณภาพอย่างที่ปรากฏ

ตอนไม่รู้จักกัน ผมเห็นอยู่แล้วว่า เขามีเทคนิค ชั้นเชิง ลีลาแพรวพราว แต่ในความเป็นเพื่อน ผมเห็นว่า เขาซ้อมหนัก มุ่งมั่น และอ่านเกมล่วงหน้ามากกว่าปกติทั่วไปถึงสองชั้นสามชั้นอยู่ตลอดเวลา

บินหลาบอกผมถึงหลักการง่าย ๆ เกี่ยวกับการเขียนหนังสืออยู่ 3 ข้อ ซึ่งเขาเรียนรู้จากการอ่านผลงานยิ่งใหญ่ชื่อ ‘ศิลปะคืออะไร?’ ของลีโอ ตอลสตอย

เขาเปิดเผยเคล็ดวิชานี้ให้กับผมโดยไม่ปิดบังอำพรางว่า เมื่อจะลงมือเขียน ให้ตั้งคำถามว่า จะเขียนเรื่องเกี่ยวกับอะไรให้มีคุณค่าน่าสนใจ? จะเขียนมันอย่างไรให้น่าอ่าน? และทั้งสองข้อนั้นบวกรวมกันแล้ว มีอะไรเป็นความใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน?

‘เราพบกันเพราะหนังสือ’ มีหลัก 3 ข้อในการเขียนที่เขาเล่าให้ผมฟัง, มีผลสืบเนื่องจากการใช้ชีวิตในแบบของเขา, และมีทุกสิ่งทั้งหมดที่ผมเล่ามาแฝงอยู่ในนั้นครบถ้วน

มันแตกต่างจากที่ผมพบเจอเขาในชีวิตจริงอยู่นิดเดียว...นิดเดียวจริง ๆ

ตอนเป็นตัวหนังสือเป็นข้อเขียนในเล่ม บินหลาโกนหนวดมาแล้วเรียบร้อย

ชกข้ามรุ่น โดย 'นรา'


ถ้าเปรียบการอ่านหนังสือเหมือนขึ้นเวทีชกมวย ผมมีโอกาสแบกน้ำหนักชกข้ามรุ่น ปะหมัดประลองฝีมือกับนิยายเรื่อง East of Eden ของจอห์น สไตน์เบ็คมาแล้วไม่ต่ำกว่าสิบครั้ง

ผลการชกนั้น ทุกไฟต์ผมไม่เคยยืนต้านได้ครบยก เผชิญหน้ากันไม่ทันไร ผมก็โดนสอยร่วงหลับกลางอากาศ ถูกหามลงจากเวทีในสภาพบอบช้ำเละเทะ

พูดง่าย ๆ คือ ผมไม่เคยอ่านนิยายเรื่องนี้จนจบ และถอดใจยอมแพ้กลางคันอยู่เป็นประจำ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา แต่ที่บ่อยครั้งสุดคือ อ่านไม่ผ่านจุดบริเวณสำคัญ กระทั่งสมาธิแตกซ่าน ไม่เข้าใจ

แต่การอ่านมีเงื่อนไขดีกว่าต่อยมวยอยู่บ้าง ตรงที่เมื่อแพ้แล้ว ใช้เวลาพักฟื้นฝึกซ้อมเรียกความฟิตอีกไม่นาน ก็สามารถหวนย้อนกลับไปแก้มือได้อีก โดยไม่ถือว่า ที่เคยพ่ายแพ้มา เป็นการหมดสภาพหรือเสียมวย

และสามารถอ่านไปโดนน็อคไป โดยไม่เกิดผลร้ายข้างเคียงเหมือนอย่างนักมวยเกิดอาการเมาหมัด

ตลอดสิบปีที่ผ่านมา ว่างหรือสบโอกาสเหมาะคราวใด ผมก็มักจะขึ้นเวทีไปให้ลุงจอห์น สไตน์เบ็ค แกถลุงเล่นแบบมวยคนละชั้น กระดูกคนละเบอร์

ไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมนึกฮึกเหิมอย่างไรก็ไม่ทราบ จึงท้าชกกับ East of Eden อีกแบบไม่เจียมสังขาร ไม่ประมาณฝีมือ

ยกแรก ผมตีวนวงนอกแบบไม่ผลีผลาม ผู้เฒ่านักเขียนปล่อยหมัดแย็บเบา ๆ เป็นการรบกวน ด้วยการพรรณนาถึงทัศนียภาพของหุบเขาสลีนัส แวลลีย์ เนิบช้าใจเย็น

เป็นลีลาง่าย ๆ แต่ถี่ถ้วนรัดกุม เห็นภาพแจ่มชัด ตั้งแต่ต้นไม้ใบหญ้า พืชไร่ ผืนดิน และลมฟ้าอากาศ

ครบยกเซียนพนันออกราคา ให้สไตน์เบ็คเป็นต่อนิด ๆ แต่ผู้สันทัดกรณีเชื่อว่า แชมป์ยังออมฝีมือออมกำลัง เพื่อเลี้ยงคู่ต่อสู้ไว้ดูเล่น รอเชือดในยกถัด ๆ ไป

ยกที่สอง สไตน์เบ็คเริ่มรุกประชิด ออกหมัดขู่เป็นระยะ ๆ เขาสร้างตัวละครไซรัส ทรัสค์ พ่อจอมเฮี้ยบ กับลูกชายสองคนคือ แอดัมกับชาลส์

หมัดนี้ของยักษ์ใหญ่แห่งโลกวรรณกรรมวูบวาบน่ากลัว มันสาธยายถึงพื้นเพหนหลังของบรรดาตัวละครหลัก ๆ ความซับซ้อนในจิตใจ อันเป็นพื้นฐานไปสู่พฤติกรรมหนักหน่วงในบทต่อ ๆ มา

เขาทำให้ผมสับสนอยู่บ้าง เมื่อตัวละครเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องอันใดกับหุบเขาสลีนัส แวลลีย์ในบทแรก ๆ เลยสักนิด

ผมยังพอรับมือกับการจู่โจมต่าง ๆ เหล่านี้ได้ แต่ทันใดนั้นเองก็เจอหมัดตรงแย็บสวนแหวกการ์ดที่ตั้งไว้รัดกุมจนหน้าหงาย สไตน์เบ็คใช้วิธีตัดสลับไปเล่าแนะนำตัวละครอื่นคือ แซมมวล แฮมิลตัน ราวกับกำลังจะเขียนนิยายอีกเรื่องที่ไม่เกี่ยวกันเลย

ระฆังตีหมดยก พี่เลี้ยงผมแนะนำแก้ทางมวยว่า อย่าหลงไปตามกับดักของคู่ชก ถึงตอนนี้ ราคาต่อรองไม่ได้เล่นพนันว่าใครจะแพ้ใครจะชนะแล้ว แต่เดิมพันกันว่า ผู้ท้าชิงอย่างผมจะยืนระยะรอดจากการถูกน็อคได้ถึงยกไหน

ยกที่สาม สไตน์เบ็คเริ่มเครื่องร้อน ปล่อยหมัดสาวหมัดออกมาเป็นชุด ๆ เขาร่ายมนต์สะกด ด้วยการเทียบเคียงเรื่องราวความสัมพันธ์ทั้งรักระคนเกลียดชัง ระหว่างสองพี่น้อง แอดัมกับชาลส์ เทียบเคียงกับนิทานจากคัมภีร์ไบเบิล ว่าด้วยเรื่องเคนกับอเบล (สองพี่น้องมอบของขวัญให้แก่พระผู้เป็นเจ้า ทรงโปรดปรานในสิ่งที่อเบลสรรหามามากกว่า ด้วยอารมณ์ริษยาน้อยใจ เคนจึงฆ่าน้องชายโดยอารมณ์ชั่ววูบ และถูกพระเจ้าสาปให้ต้องร่อนเร่โดดเดี่ยวตามลำพังชั่วชีวิต พร้อมทั้งเครื่องหมายติดตัว ให้เป็นเป้าแห่งการเกลียดชังของผู้พบเห็น นับแต่นั้นมา มนุษย์ก็มีบาปกำเนิดติดตัว)

ผมผ่านยกที่สามมาได้เพราะระฆังช่วย โหนกแก้มเริ่มบวมช้ำ ตาของซ้ายเริ่มปิด มองเห็นทุกอย่างพร่าเลือน

ผมเชื่อว่า สไตน์เบ็คตั้งใจพิชิตศึกให้เด็ดขาดในยกที่สี่ เขารัวหมัดถี่ยิบ สร้างอีกตัวละครหนึ่งคือ แคธีหญิงสาวผู้มีเปลือกนอกสวยบริสุทธิ์ไร้เดียงสา แต่จิตใจชั่วร้ายน่าสะพรึงกลัวอย่างไม่มีใดเปรียบ

ผมเคยเผชิญหน้ากับ ‘นังตัวร้าย’ ผ่านหนังและวรรณกรรมมาแล้วนับไม่ถ้วน แต่เปรียบเทียบเคียงกัน ไม่เคยมีใครเลือดเย็นอำมหิตและเจ็บป่วยทางจิตเท่ากับแคธี

ยิ่งไปกว่านั้น สไตน์เบ็คยังทำให้สัตว์ประหลาดอย่างแคธี แลดูจริงและไม่แบน เต็มไปด้วยความซับซ้อนในใจ หนักแน่นน่าเชื่อถือ
และต่อยผมจนกระทั่ง ลงไปนอนกองให้กรรมการนับแปด เมื่อผู้อ่านรู้จักแง่มุมต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวละครนี้อย่างถี่ถ้วน แต่คงเป็นการบังอาจเหิมเกริมมากทีเดียว หากใครจะกล้าพูดว่า เข้าใจหรืออ่านออกว่า เนื้อแท้แล้วแคธีเป็นคนอย่างไร

พักยก พี่เลี้ยงเกลี้ยกล่อมให้ยอมแพ้ ผมหนื่อยและเจ็บเกินกว่าจะหลุดคำพูดใด ๆ ออกมา จึงได้แต่สั่นหน้าปฏิเสธ

ยกที่ห้า สถานการณ์ของผมนั้นยิ่งเลวร้ายและน่าสยดสยอง สไตน์เบ็คกระหน่ำผมไม่ยั้ง เหี้ยมเกรียม ดุดัน และปราศจากความปราณี เขาเล่าเรื่องการฆาตกรรม, การทรยศหักหลัง, พฤติกรรมต่ำช้าของแคธี, การแก้แค้นจากชายโฉดที่เล่นงานสาวสวยใจโหดตกอยู่ในอาการปางตาย แล้วผูกสถานการณ์ให้แคธีพบกับแอดัม หลอกให้เราเชื่อว่า สิ่งดีงามกำลังจะเกิด แต่แล้วกลับทิ้งท้ายชนิดช็อคความรู้สึกอย่างรุนแรง

แคธีเล่นบทตีสองหน้า ด้านหนึ่งเป็นหญิงสาวซื่อใสไร้เดียงสา อีกด้านหนึ่งเป็นบทนางมาร เธอหลับนอนกับชาลส์ผู้เป็นน้องชายของแอดัม (และเป็นไปได้ว่าทั้งคู่อาจมีลูกด้วยกัน) จากนั้นเมื่อตั้งท้องก็พยายามทำแท้งตัวเอง แต่ไม่สำเร็จ และคลอดลูกเป็นฝาแฝด โดยไร้สัญชาติญาณความรักของเพศแม่

สไตน์เบ็ค ทิ้งหมัดเด็ด แล้วเดินหันหลังเข้ามุม โดยไม่จำเป็นต้องดูสภาพของคู่ชกอย่างผม แคธีใช้ปืนยิงแอดัม และทิ้งลูกทิ้งครอบครัวไว้เบื้องหลัง มุ่งหน้าจากไปเป็นโสเภณีโดยเจตนา

ถึงตอนนี้ผมหูอื้อตาพร่า แทบไม่รู้ตัวว่ารอดพ้นมรสุมหมัดในยกที่แล้วมาได้ยังไง ผู้ชมจำนวนหนึ่งเริ่มตะโกนและบอกกล่าวต่อกันว่า นี่ไม่ใช่กีฬาชกมวยเสียแล้ว แต่เป็นการฆาตกรรมบนเวทีโดยแท้

แพทย์สนามขึ้นมาตรวจดูอาการของผม แล้วทำหน้าเคร่งเครียดกังวล ก่อนจะอนุญาตให้ชกต่อได้

ผมคิดว่า นาทีนั้น สายตาแข็งขันยืนยันว่าพร้อมสู้ คือ สิ่งเดียวที่ทำให้หมอใจอ่อน ยอมให้โอกาสสุดท้ายแก่ผม

ยกที่หก ท่าทีของสไตน์เบ็คเปลี่ยนเป็นตรงกันข้าม แทนที่จะบดขยี้ปิดเกม กลับทำตรงกันข้าม หลายครั้งหลายหน ผมคิดว่า ไม่ต้องโดนหมัดเต็ม ๆ หรอก แค่ลมที่เกิดจากการเงื้อเหวี่ยงออกหมัดวืดวาดเฉียดใกล้ ก็สามารถโค่นผมล้มลงได้ง่ายดาย

แต่แชมป์กลับใช้หมัดทั้งซ้ายทั้งขวา ทำทีเป็นต่อย ทว่าแท้จริงแล้วอุ้มประคองให้ผมทรงกายอยู่ได้ ลุงสไตน์เบ็ค เล่าถึงภาวะหดหู่หมดอาลัยตายอยากในการใช้ชีวิตของแอดัมส์ และการเกิดใหม่ทางจิตวิญญาณอีกครั้ง โดยวิธีกระตุ้นเร้าแปลก ๆ จากเทวดาในร่างของชาวไร่อารมณ์ดีชื่อแซมมวล (ซึ่งเบื้องต้นดูเหมือนจะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลย)

ช่วงหนึ่งที่ผมโผเข้าคลุกวงใน ใช้สองแขนโอบรัดคู่ต่อสู้ไว้แน่น และถือโอกาสทิ้งน้ำหนักพิงร่าง ผ่อนเรี่ยวแรงอ่อนล้าที่ปลายเท้า ลุงสไตน์เบ็คแกกระซิบเบา ๆ ที่ข้างหูว่า “ใจเย็นไว้ ไอ้ลูกชาย เอ็งอย่าเพิ่งล้ม”

คำกระซิบนั้น เล่าผ่านเหตุการณ์ถกสนทนาระหว่างสามตัวละครสำคัญ ย้อนกลับไปยังนิทานเรื่องเคนกับอเบล ในคำสาปของพระเจ้า

คัมภีร์หลายฉบับแปลความคำพูดหนึ่งไว้ไม่ตรงกัน

ตำราหนึ่งระบุว่า “เจ้าจงเอาชนะบาป” อีกตำราแย้งว่า “เจ้าต้องเอาชนะบาป”

อย่างแรกนั้นเหมือนคำมั่นสัญญา คลับคล้ายว่า ไปเผชิญหน้ากับมันแล้วมนุษย์จะเป็นฝ่ายชนะ ความหมายหลังนั้นเหมือนการออกคำสั่ง ว่ามนุษย์นั้นมีภารกิจหน้าที่ต้องต่อสู้กับความชั่วร้าย

ลุงสไตน์เบ็คแกให้ตัวละครทุ่มเถียงว่า แท้จริงแล้วที่ถูกต้อง พระเจ้าตรัสไว้อย่างไร จนกระทั่งค้นพบอีกความหมายหนึ่งแปลไว้ว่า “เจ้าน่าจะเอาชนะบาป”

มันไม่ใช่ทั้งคำมั่นสัญญา และไม่ใช่ทั้งคำสั่ง แต่เป็น ‘ทางเลือก’

ตรงนี้แหละครับที่เป็นหัวใจของเรื่องราวทั้งหมดในอภิมหานิยาย East of Eden ซึ่งสะท้อนถึงความดีและความเลวที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน และมนุษย์นั้นยังสามารถยืนหยัดอยู่ได้ ผ่านยุคสมัยความผันผวนครั้งแล้วครั้งเล่า โดยไม่ถูกทำลายย่อยยับไปเสียก่อน ก็เพราะว่ามนุษย์นั้นมีทางเลือกว่า จะทำความดี (หรือไม่ทำ) เพื่อต่อสู้เอาชนะบาป แม้ว่าจะหนักหนาสาหัสยากเย็น แต่มนุษย์ก็มีสิทธิและทางเลือกนั้นอย่างเต็มเปี่ยม

ช่วงพักยก ร่างกายผมเหมือนได้รับการฟื้นฟู ถึงตรงนี้ผมมั่นใจแล้วว่าสามารถยืนได้ครบยก ลุงสไตน์เบ็คแกใจดีเกินกว่าจะน็อคผม
ยกที่เจ็ด แปด เก้า สิบ ลุงสไตน์เบ็คต่อยแบบชกโชว์ ด้วยท่าทีผ่อนคลาย บางขณะก็อวดลวดลายเย้าหยอก บางทีก็โชว์ฟุตเวิร์คพลิ้วไหวแบบมวยเหนือชั้น บางจังหวะก็บุกประชิดเข้ามาเพื่อเทศนาสั่งสอน พอเห็นผู้ชมเริ่มเบื่อเพราะเกมการชกคลายความดุดัน ก็สลับฉากด้วยการออกหมัดงาม ๆ อย่างจัง ๆ เรียกเสียงฮือฮา

เรื่องราวถัดจากนั้น มีทั้งความเศร้าที่งดงาม การตอกย้ำแนวคิดแก่นเรื่องอย่างหนักแน่น การผูกวางเค้าโครง คล้าย ๆ จะย่ำซ้ำรอยเดิม แต่แล้วก็คลี่คลายหาทางออกเบนไปอีกทางอย่างน่าทึ่ง

มีสำนวนภาษาเฉียบแหลมคมคาย มีอารมณ์ขันแบบช่างเหน็บแนมเสียดสี มีเรื่องหักเหลี่ยมหักหลังชิงไหวชิงพริบ มีเรื่องรักจับจิตจับใจแพรวพราวอยู่แทบทุกหน้ากระดาษ รวมทั้งตัวละครรุ่นลูกเปี่ยมเสน่ห์อย่างคู่ฝาแฝด แคลกับเอร็อน

รายแรกนั้นมีเสน่ห์ขโมยหัวใจผู้อ่านไปจนหมด ส่วนคนหลังมีเสน่ห์ดึงดูดตัวละครอื่น ๆ ในเรื่อง

ในยกที่สิบนั้นเอง ลุงสไตน์เบ็คก็แสดงความเป็นมืออาชีพ ซัดผมจนน่วมอย่างไม่ปราณี ด้วยหมัดชุดที่กระหน่ำมาอย่างไม่ยั้งและไม่นับจำนวน มันนำไปสู่บทสรุปที่เข้มข้น สะเทือนอารมณ์ และน่าตระหนกตกใจ

ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นบทส่งท้ายที่โดยเหตุการณ์แล้ว มืดหม่นหดหู่สิ้นหวัง

แต่แชมป์ก็ยังคงเป็นแชมป์ผู้ยิ่งใหญ่ไร้เทียมทาน พร้อม ๆ กับที่บดขยี้ทำร้ายความรู้สึกของผู้อ่านแบบเหี้ยมเกรียม นิยายเรื่องนี้ก็ลงเอยด้วยแสงสว่างแห่งความหวัง

และพร้อม ๆ กับที่ผู้อ่านอาจต้องเสียน้ำตาสะเทือนใจ บรรทัดท้าย ๆ ก็หยิบยื่นถ้อยคำสั้น ๆ ที่ผันเปลี่ยนเป็นอารมณ์ปิติสุข เกิดรอยยิ้ม และสั่นคลอนความรู้สึกผิดชอบชั่วดีอย่างรุนแรง

การชกสิ้นสุดลง ผมยืนครบยก และแพ้คะแนนขาดลอยหลุดลุ่ย บอบช้ำเจ็บหนักไปอีกนาน

แต่ผมก็คิดว่า ในการชกทั้งสิบยก ผ่านการโดนอัดด้วยหมัดแย็ป หมัดฮุค หมัออัปเปอร์คัท เข้าสู่ตำแหน่งต่าง ๆ ในร่างกาย ตลอดทั้ง 900 กว่าหน้ากระดาษนั้น ลุงสไตน์เบ็คไม่ได้ทำให้คู่ชกเจ็บตัวฟรี ๆ หรอกนะครับ

มีบทเรียนอันล้ำค่าและยิ่งใหญ่ ทั้งทัศนคติในการมองโลก แง่คิดคติธรรม และความงาม มากพอที่จะทำให้ผู้อ่านแข็งแรงและเติบโตผิดแผกจากเดิม

ผมไม่บังอาจกล้าใช้คำว่า เป็นนิยายที่อ่านแล้วเปลี่ยนชีวิตหรอกนะครับ

แต่ผมมั่นใจอย่างหนึ่งว่า ขึ้นเวทีชกครั้งต่อไป บทเรียนที่ได้รับจาก East of Eden จะช่วยให้ผมต่อยดีขึ้น และแพ้ยากกว่าที่ผ่าน ๆ มา

นี่เป็นหนึ่งในน้อยครั้งของชีวิต ที่ผมขึ้นเวทีชกผ่านการอ่าน แล้วแพ้ยับเยินแต่รู้สึกบรมสุขเหลือเกิน

กลับมาแล้ว (จริง ๆ?) โดย 'นรา'


ผมไม่เคยผิดนัดกับผู้อ่านเนิ่นนานกระจุยกระจายและเสียสุนัขถึงเพียงนี้มาก่อนเลยนะครับ

หลังจากสัญญาตกปากรับคำไว้หนักแน่นมั่นเหมาะ ผมก็ล่องหนหายเข้ากลีบเมฆไปหลายกลีบ แทบว่าจะหาทางกลับไม่เจอ

แจกแจงสาเหตุความนัยทั้งหมดได้สั้น ๆ แค่ว่า ผม ‘หลงทาง’

คือ เพลิดเพลินเลยเถิดไปกับการเดินสายเที่ยววัดดูโบราณสถานแบบติดพันและบานปลาย


เดิมทีผมสนใจแบบมีกรอบกำหนดแน่ชัดว่า จะเลือกดูเฉพาะจิตรกรรมฝาผนัง

แต่ต่อมาไม่นาน ผมพบว่า เพื่อจะให้เข้าถึงซาบซึ้งจริง ๆ ผมควรจะขยายขอบเขตความสนใจไปสู่ศิลปะไทยแขนงอื่น ๆ ด้วย

เริ่มทดลองตระเวนดูลวดลายปูนปั้น, พระพุทธรูป, โครงสร้างของโบสถ์วิหาร, เจดีย์, สีมา, หน้าบัน, พระปรางค์, ธรรมาสน์เทศน์ ฯลฯ

ระยะแรกผมคิดว่า เหล่านี้คงเป็นแค่ส่วนเสริมเล็ก ๆ น้อย ๆ ทว่ารู้ตัวอีกที เหมือนลงทะเบียนเรียนเพิ่มอีกหลายวิชาไปเรียบร้อยแล้ว

กล่าวคือ พอดูไปได้สักพัก ก็เกิดอาการหมกมุ่นหลงใหล เข้าขั้นติดงอมแงม

ชีวิตยุ่งเหยิงอยู่แล้วของผมจึงปั่นป่วนทวีคูณ ด้วยความสนใจที่เพิ่มขึ้น แต่มีเวลาเท่าเดิม มิหนำซ้ำยังมีจำนวนงานที่ต้องทำมากขึ้นอีกเล็กน้อย แถมท้ายด้วยภาระต้องขัดเกลาต้นฉบับสำหรับเตรียมรวมเล่มอีก 2 โครงการ


นี่ยังไม่นับกิจธุระทั้งเรื่องปลีกย่อยและเรื่องสำคัญเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวในบางขณะ ซึ่งดึงเอาเวลาไปเยอะพอสมควร


อย่าว่าแต่ความฝันอยากจะเขียนเรื่องสั้นหรือนิยาย ที่ต้องมีอันชะงักหยุดนิ่งไม่คืบหน้าไปไหนเลยนะครับ ลำพังแค่คอลัมน์ประจำที่รับผิดชอบอยู่ ผมก็ผ่านมาได้อย่างหวุดหวิดจวนเจียนเต็มที ในสภาพร่อแร่รุ่งริ่ง


พูดได้อีกแบบเหมือนกันว่า ครึ่งปีมานี้ ผมทำตัวขยันสุดเมื่อเทียบกับตลอดชีวิตที่ผ่านมา


แปลกและเหลือเชื่อตรงที่ ยิ่งขยันเท่าไร กลับยิ่งไม่อาจปลีกตัวมาทำตามสัญญา จนบางทีก็รู้สึกว่า เหมือนเวลาในชีวิตขาดหายไปดื้อ ๆ วันละห้า-หกชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ


ผมตื่นช่วงระหว่าง หกโมงถึงเจ็ดโมงเช้า ทุกวัน


ล้างหน้าแปรงฟันเสร็จสรรพ ก็ต้มน้ำชงกาแฟ และเริ่มลงมือเขียนหนังสือ


วันจันทร์ พุธ ศุกร์ ผมใช้เวลาเขียนไม่นาน เต็มที่มากสุดก็แค่ 2 ชั่วโมง จากนั้นก็รีบออกจากบ้าน เดินทางเข้าออฟฟิศ

ออฟฟิศของผมมีอยู่ 3 แห่ง คือ หอสมุดกลาง จุฬา, ธรรมศาสตร์ และศิลปากร

จะเข้าออฟฟิศไหน ขึ้นอยู่กับความจำเป็นเร่งด่วนในการค้นข้อมูลขณะนั้น แต่ละแห่งมีจุดเด่นส่วนดีแตกต่างกันอยู่

ผมประจำการอยู่ที่ออฟฟิศ จนกระทั่งใกล้เวลาปิด เฉลี่ยแล้วก็ราว ๆ ทุ่มครึ่งถึงสองทุ่ม ถึงบ้านก็หมดแรง ล้มพับ หลับสนิท กรนสนั่น ฝันสนุก

ระหว่างอยู่ออฟฟิศ ผมไม่ได้เขียนหนังสือเลยสักตัว แต่ใช้เวลาให้หมดไปกับการถ่ายเอกสาร และสำรวจรื้อค้นหนังสือต่าง ๆ เป็นงานหลัก

อานิสงส์ผลบุญจากการเข้าห้องสมุด ส่งผลให้ผมเลิกเชื่อมั่นศรัทธาในการหาข้อมูลจากเว็บไซต์โดยเด็ดขาด

นี้หมายถึงเฉพาะข้อมูลในพากย์ภาษาไทยนะครับ ส่วนข้อมูลภาษาอังกฤษเป็นอีกกรณี แต่งานของผมในระยะหลังเกี่ยวโยงกับข้อมูลไทยล้วน ๆ

ข้อมูลในเว็บกับหนังสือเป็นเล่ม ๆ มีความละเอียดถี่ถ้วน (และถูกต้องแม่นยำ) แตกต่างกันเป็นคนละโลกเลยทีเดียว

รายได้ทั้งหมดของผม หกสิบเปอร์เซ็นต์หมดไปกับค่าถ่ายเอกสาร บ่อยครั้งที่คำนวณแบบหักลบกำไรขาดทุนแล้ว

งานหลายชิ้น มีต้นทุนสูงกว่าค่าเรื่องที่ได้รับ แบบเทียบกันไม่ได้

แต่ผมคิดเสมอว่า ได้กำไร คือ ได้ทั้งงานที่พึงพอใจ, ได้เรียนรู้เพิ่มเติม และได้หนังสือดี ๆ เป็นโบนัสแถมพก

ส่วนวันอังคาร พฤหัสบดี และเสาร์ เป็นเวลาทำงานเขียนแบบเต็ม ๆ

เต็ม ๆ ในที่นี้ หมายถึงเขียนตั้งแต่เริ่มตื่นนอน ไปสิ้นสุดยุติประมาณเที่ยง

เคยพยายามฝืนทำให้นานกว่านี้ แต่หมดสภาพ มึนตึ้บ ปวดหัว คิดอะไรไม่ออก และอ่อนล้าสุดขีด

ร่างกายอนุญาตให้เขียนได้ไม่เกินวันละหกชั่วโมงเท่านั้นนะครับ

หลังเที่ยงเป็นต้นไป คือ ช่วงขัดเกลาแก้ไขต้นฉบับ

ผมไม่ได้แก้งานโดยนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ แต่ใช้วิธีเดินเล่นหรือนอนเล่น นึกทบทวนถึงข้อเขียนที่เพิ่งเสร็จ ค้นหาจุดอ่อนรอยโหว่ และพยายามขัดเกลาขั้นแรกในความคิด ก่อนจะลงมือจริงในเช้าวันต่อไป (ส่วนใหญ่มักจะเป็นช่วง 1 ชั่วโมง ก่อนไปห้องสมุด)

แดดร่มลมตกในแต่ละวัน เป็นเวลาสำหรับการอ่าน

พูดได้ว่า ปีนี้ชีวิตการเป็นนักอ่านของผม เละแหลกละเอียดยิ่งกว่าที่ผ่าน ๆ มา

ผมอ่านงานจำพวกวรรณกรรมได้น้อยมาก สมองมันไม่ค่อยรับ ที่อ่านได้หนักเอียงไปทางเรื่องประวัติศาสตร์และโบราณคดีเสียมากกว่า

แต่เรื่องที่ผมสนใจ ล้วนมีเนื้อหาจริงจัง อ่านยาก ความคืบหน้าในการอ่านจึงขยับเคลื่อนค่อนข้างล่าช้า

สวนทางกลับจำนวนหนังสือที่ต้องอ่าน ซึ่งงอกเงยทวีเพิ่มอย่างรวดเร็วและมากมาย

ถึงตอนนี้ ตัวเลขจำนวนหนังสือที่ต้องอ่าน น่าตกใจและน่าหนักใจนะครับ ประมาณหนึ่งพันเล่ม

และพร้อมจะพุ่งพรวดพราดเป็นพันห้าร้อยเล่ม ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ผมอ่านจบจริง ๆ เพียงแค่ 20-30 เล่มเท่านั้นเอง ใกล้เคียงกับเป้าหมายเหลือเกิน

ระยะหกเดือนที่ผ่านมาของผม อยู่ในร่องรอยตารางการใช้ชีวิตทำนองนี้ มีเว้นบ้างบางขณะที่เดินทางไปเปิดหูเปิดตา ดูรูปเขียนตามวัด ส่วนใหญ่เป็นต่างจังหวัด

จนถึงขณะนี้ รูปแบบการใช้ชีวิตและทำงานของผมยังคงขรุขระไม่ลงตัว ต้องค่อย ๆ คลายปมยุ่งเหยิง สะสางปัญหาเฉพาะหน้าอยู่ไม่หยุดหย่อน

ปัญหาสำคัญก็คือ นิสัยจอมโปรเจกต์ พร้อมที่จะผุดงอกโครงการอะไรต่อมิอะไรอยู่ตลอด และลงมือปฏิบัติจริงได้ไม่ทัน ถูกความคิดตะกละทิ้งห่างไกลออกไปทุกที

การงานที่คั่งค้าง ทั้งโครงการระยะสั้นระยะยาว ทั้งงานที่เขียนค้าง งานที่เขียนเสร็จแล้ว (ทว่ายังไม่ได้ชำระสังคายนาให้เป็นที่พึงพอใจ) และงานที่กำหนดวางเค้าโครงเสร็จ แต่ยังไม่ได้ลงมือทำ

หยิบทั้งหมดออกมาวางกองรวมกัน อาจเทียบได้กับห้องหับที่มีข้าวของสัมภาระรกรุงรังเลยทีเดียว

พูดอีกแบบ หากเปรียบงานเหล่านี้เป็นหนี้สิ้น สภาพของผมก็ร่ำ ๆ ว่าใกล้จะโดนฟ้องล้มละลาย

แค่เล่าสู่กันฟังคล้าย ๆ จะบ่นนะครับ แต่แท้จริงแล้ว ผมยืนยันได้ว่า เหตุการณ์โกลาหลที่เกิดขึ้น เป็นช่วงหนึ่งในชีวิตที่ผมมีความสุข

เวลามันมักจะสั้นและผ่านไปเร็วเสมอ

สำหรับผมแล้ว เร็วชิบเป๋งเลย เหมือนแค่กระพริบตา หกเดือนก็ผ่านพ้นไป

ผมกลับมาแล้วนะครับ ครั้งนี้กลับมาจริง ๆ กลับมาแบบไม่กล้าสัญญิงสัญญาอะไรกันอีก

สัญญาไว้แต่ทำไม่ได้จริงครั้งที่แล้ว สอนให้ผมรู้ว่า อย่าเที่ยวได้พร่ำพูดคุยโม้แทนการทำงาน แต่ควรให้งานนั้นอธิบายทุก ๆ อย่างแทนตัวเรา

จบแบบมีคติธรรมด้วยแฮะ!