วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2552

อลังการงานรบอภิมหาสงครามสยบปฐพี โดย "นรา"


แกล้งตั้งชื่อเอาไว้ให้มันรุงรังเล่น ๆ ไปอย่างนั้นเอง เลียนแบบชื่อไทยของหนังฝรั่งนะครับ


ครั้งแรกสุดที่ผมเห็นรูปถ่ายจิตรกรรมฝาผนังของครูทองอยู่ ถ้าจะให้ได้บรรยากาศแบบโบราณย้อนยุคสักหน่อย ผมควรจะนั่งถอดเสื้อโชว์พุงอยู่ตรงนอกชาน มีเด็กชายพี่หมีแปลงกายเป็นกุมารทองกลม ๆไว้ผมจุก นั่งทำหน้าบ้องแบ๊วอยู่ข้าง ๆ


เมื่อพิจารณาดูภาพโดยถ้วนถี่ดีแล้ว ผมก็ตบเข่าฉาดเข้าให้ (จนกุมารทองเด็กสมบูรณ์ ซึ่งนั่งสัปหงกอยู่สะดุ้งตกใจตื่น) ก่อนจะรำพึงรำพันพร่ำพรรณนา (ควบคู่กับการเคี้ยวหมาก) ว่า “งามจับใจสมคำร่ำลือ นับเป็นฝีมือชั้นครูโดยแท้”


แต่เหตุการณ์แรกพบภาพวาดของครูคงแป๊ะจากรูปถ่ายในหนังสือ ถ้าจะให้ได้อรรถรสถึงขีดสุด ผมควรจะล้มหงายหลังผลึ่ง หัวทิ่มพื้น เอาตีนชี้ฟ้า เหมือนอย่างในการ์ตูนญี่ปุ่น


แปลได้สั้น ๆ ว่า “อึ้ง”


ภาพวาดของครูคงแป๊ะในขนาดย่อส่วนจนเหลือเล็กเท่าขนาดโปสการ์ด แลดูยุ่งเหยิงชุลมุนวุ่นวาย จับสังเกตรายละเอียดไม่ออกเลยว่าอะไรเป็นอะไร ยั้วเยี้ยลายตาไปหมด


ถ้าจะด่วนสรุปตัดสินกันตั้งแต่ตอนนั้น ผมคิดว่า ครูทองอยู่ชนะขาดอย่างไม่มีปัญหา


ทว่าหลังจากเห็นรูปถ่ายในหนังสืออีกหลาย ๆ เล่ม ได้พินิจพิจารณารายละเอียดต่าง ๆ ในภาพวาดของครูคงแป๊ะ ผมก็เริ่มเปลี่ยนความคิดทีละน้อย


ยิ่งดูก็ยิ่งสวยขึ้นเรื่อย ๆ นะครับ โดยเฉพาะเมื่อได้ไปเห็นของจริง ผมถึงขั้นหัวใจเต้นแรงขึ้นมาทันที


ถึงตรงนี้ ผมก็เปลี่ยนความคิดโดยสิ้นเชิง และรู้สึกว่า ระหว่างครูทองอยู่กับครูทองแป๊ะนั้น ยอดเยี่ยมล้ำเลิศไปคนละทาง กระทั่งกินกันไม่ลง


ภาพของครูทองอยู่นั้น เราสามารถชื่นชมและเห็นความงามต่าง ๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องราวใด ๆ จากเนมีราชชาดกมาก่อน (แต่ยิ่งรู้มาด้วยก็ยิ่งดีนะครับ) ภาพมโหสถชาดกของครูคงแป๊ะกลับตรงข้าม เพราะตัวเหตุการณ์ไม่ได้ “นิ่ง” ทว่าเต็มไปด้วยแอ็คชันและความต่อเนื่อง


ภาพนี้เน้นไปที่ “การเล่าเรื่อง” เป็นหัวใจสำคัญ ฉะนั้นหากปราศจากพื้นฐานเกี่ยวกับเหตุการณ์ในชาดกมาก่อน โอกาสที่จะดู “ไม่รู้เรื่อง” และเข้าไม่ถึงความงามจึงมีสูงยิ่ง


ครูคงแป๊ะได้รับการยกย่องว่าไม่มีใครเทียม ในการวาดเรื่องมโหสถชาดก ผลงานของท่านเท่าที่ปรากฎหลักฐานบันทึกไว้ทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นพระอุโบสถวัดอรุณฯ (ซึ่งโดนไฟไหม้จนเสียหายหมดในสมัยรัชกาลที่ 5 รวมทั้งภาพของครูทองอยู่ที่วาดเรื่องเดียวกัน แต่จับความคนละตอน), วัดสุวรรณาราม, วัดบางยี่ขัน และวัดดาวดึงส์สาราม ล้วนเป็นชาดกเรื่องนี้ทั้งสิ้น


มโหสถชาดกเป็นชาติภพของพระโพธิ์สัตว์ที่มีเนื้อเรื่องยืดยาว รายละเอียดเยอะ เกินกว่าจะถ่ายทอดเป็นงานจิตรกรรมฝาผนังได้หมดในภาพเดียว


กระทั่งแค่จะเล่าเรื่องย่อสรุปใจความหลักให้ครบถ้วน ก็อาจกินเนื้อที่บทความได้อีกหลายตอนจบ


ครูช่างในอดีตจึงนิยมเลือกหยิบเอาช่วงตอนสำคัญ มานำเสนอเป็นตัวแทนของชาดกเรื่องนี้ ซึ่งก็มีอยู่หลายเหตุการณ์ กระจัดกระจายต่างกันไป ผิดจากชาดกชาติอื่น ๆ (ยกเว้นเวสสันดรชาดก) ที่มักจะมี “ฉากบังคับ” แค่ฉากหรือสองฉาก


มโหสถเป็นชาติภพว่าด้วยการบำเพ็ญปัญญาบารมีของพระโพธิสัตว์ รายละเอียดต่าง ๆ จึงอัดแน่นไปด้วยพฤติการณ์แสดงความเฉลียวฉลาดอย่างหลากหลายถี่ถ้วน นับตั้งแต่วัยเด็กที่มโหสถโชว์กึ๋นเป็นซีรีส์ 16 เหตุการณ์ เริ่มจากตัดสินระงับข้อพิพาทต่าง ๆ ในหมู่เหล่าชาวบ้าน ตามด้วยพระอินทร์แปลงกายมา “ลองของ” จากนั้นชื่อเสียงคำร่ำลือก็ล่วงรู้ไปถึงพระเจ้าวิเทหราช จึงทรงส่งการบ้านยาก ๆ มาให้มโหสถแก้โจทย์ครั้งแล้วครั้งเล่า


ชาดกตอนนี้สนุกคล้าย ๆ ศรีธนญชัย ต่างกันตรงที่ความฉลาดของมโหสถ เป็นการใช้สติปัญญาในทางบวก ช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ได้นำมากลั่นแกล้งป่วนชาวบ้านให้ทุกข์ร้อน


เข้าข่ายตรงคอนเซ็ปต์ “พลังอำนาจอันยิ่งใหญ่ มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่” ยังไงยังงั้นเชียว


หลังผ่านบททดสอบสารพัดสารพันแล้ว มโหสถก็เข้ารับราชการเป็นข้าหลวงในราชสำนักของพระเจ้าวิเทหราช เรื่องราวส่วนนี้มีทั้งการใช้ปัญญาเลือกคู่ครอง และเผชิญการอิจฉาริษยาจากสี่บัณฑิต ซึ่งพากันรุม “รับน้องใหม่” แบบไม่ยั้งมือ จนนำไปสู่การขับเคี่ยวชิงไหวชิงพริบหลายต่อหลายครั้ง (ตรงนี้ผมว่าสนุกในแนวเดียวกับ Infernal Affairs)


เรื่องราวช่วงสุดท้าย คือ การที่มโหสถต้องใช้ปัญญาเข้าสู้กับกองกำลังอันมหาศาล เมื่อพระเจ้าจุลนี พรหมทัต ซึ่งบุกตีเมืองต่าง ๆ ในชมพูทวีปได้สำเร็จถึง 101 นคร (ในเวลา 7 ปี 7 เดือน 7 วัน) โดยมีเกวัฎพราหมณ์จอมเจ้าเล่ห์ทำหน้าที่เป็นมันสมอง ได้ระดมไพร่พลจากบรรดาเมืองขึ้นทั้งหมด ยกทัพใหญ่เพื่อหมายจะยึดครองกรุงมิถิลาของพระเจ้าวิเทหราช


ทหารฝ่ายผู้บุกรุกมีจำนวนมากกว่าชนิดเทียบกันไม่ได้เลย ถึงขั้นสามารถล้อมเมืองไว้ได้ถึงสี่ชั้น


ถ้ายังรู้สึกว่าไม่เยอะพอ ผมขอระบุจำนวนให้ชัดเจนขึ้น นั่นคือ กองทัพ 101 นคร ประกอบด้วยเสนา 18 อักโขหิณี


สามารถถอดสมการได้ว่า 1 อักโขหิณี ประกอบด้วยทัพช้าง 21,870 กอง, กองรถ 21,870, ทัพม้า 65,610 กอง, ทหารราบ 109,304 กอง


คูณด้วย 18 ก็จะได้จำนวนรวมทั้งหมด ซึ่งเข้าข่ายอลังการงานรบเอามาก ๆ


มโหสถจึงต้องใช้ปัญญาล้วน ๆ ในการเอาชนะ ผลก็คือ กองทัพพระเจ้าจุลนีแตกพ่ายหมดท่า จนต้องมี “นัดล้างตา” ทว่าท้ายสุดก็แพ้ราบคาบอีก (ตรงนี้สนุกใกล้เคียงกับสามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ)


ภาพวาดของครูคงแป๊ะที่วัดสุวรรณาราม จับความตอนสงครามครั้งแรก ซึ่งเรียกกันว่า “การประลองธรรมยุทธ”


เมื่อกองทัพพระเจ้าจุลนีล้อมเมืองเสร็จสรรพ มโหสถก็แก้ลำด้วยสงครามจิตวิทยาทันที สั่งให้มีการเฉลิมฉลองใหญ่ภายในเมือง มีมหรสพสมโภชกันอย่างสนุกสนาน ปราศจากความทุกข์ร้อนใจ ทำทีเสมือนว่า ไม่เห็นข้าศึกอยู่ในสายตา รวมทั้งยั่วยุให้ข้าศึกหงุดหงิดโมโห ซึ่งก็ได้ผล


ทัพหน้าของพระเจ้าจุลนี ได้รับคำสั่งให้บุกโจมตีหยั่งเชิง แต่แนวรับก็ต้านทานอย่างแข็งขัน จนกระทั่งฝ่ายบุกต้องแตกพ่ายถอยร่น สูญเสียล้มตายเป็นอันมาก


เกวัฎพราหมณ์จึงออกอุบายให้ล้อมเมืองตรึงกำลัง ตัดขาดเส้นทางไม่ให้ชาวบ้านตักน้ำจากแม่น้ำ เพื่อให้อ่อนล้าไปเอง


มโหสถได้รับรายงานจากหน่วยข่าวกรอง จึงแก้เกมด้วยการเอาไม้ไผ่ยาว 60 ศอก ผ่าออกเป็นสองซีกแล้วรัดประกบดังเดิม เอาดินเหนียวยาไม่ให้น้ำรั่ว จากนั้นก็ปลูกบัวลงบนตมริมสระ ปักไม้ไผ่เสียบครอบแล้วเทน้ำลงในไปจนเต็มทุกลำ


ตรงนี้มีอภินิหารเล็กน้อย ด้วยบารมีแห่งพระโพธิสัตว์ เพียงค่ำคืนเดียว ดอกบัวก็เติบโตงอกงามพุ่งพ้นกระบอกไม้ไผ่ มโหสถจึงให้ถอนดอกบัวเหล่านั้น ขดสายเป็นวงกลม โยนออกนอกเชิงเทิน พร้อมตะโกนบอกทหารฝ่ายตรงข้ามว่า เป็นอภินันทนาการให้นำไปทำกับข้าว


พระเจ้าจุลนีทราบความก็ท้อใจ ปรารภว่า ขนาดบัวริมสระยังมีสายยาวกว่า 60 ศอก กลางสระจะลึกสักแค่ไหน ต่อให้ล้อมเมืองเป็นปี น้ำท่าก็คงจะกินดื่มใช้สอยไม่หมด


เกวัฎพราหมณ์จึงเสนอแผนย่ำยีเศรษฐกิจและสังคมแห่งเมืองมิถิลาฉบับที่สอง ด้วยการปิดล้อมให้อดข้าว เนื่องจากนาส่วนใหญ่อยู่นอกเมือง


มโหสถรู้ข่าวก็บัญชาการให้เทโคลนโปะลงบนกำแพงเมือง หว่านข้าวเปลือกลงไป เพียงแค่คืนเดียวต้นข้าวก็งอกเขียวละลานตาไปหมด


พระเจ้าจุลนีทอดพระเนตรแล้วก็ตรัสถาม (สายลับที่มโหสถส่งเข้าไปแทรกซึม) ได้รับคำตอบว่า มโหสถสั่งให้ขนข้าวเปลือกจากนอกเมืองไปเก็บในฉางหลวง แต่พื้นที่ไม่พอ จึงต้องนำส่วนเกินมาเก็บไว้ริมกำแพง นานวันเข้าข้าวเปลือกตรงนั้น เจอแดดจนแห้ง ได้น้ำฝน ก็งอกงามเติบโตเป็นข้าวกล้ามากมายอย่างที่เห็น


ฟังความแล้ว พระเจ้าจุลนีก็ท้ออีก จนเกิดแผนสาม ล้อมเมืองให้ฝ่ายตรงข้ามขาดแคลนฟืน ซึ่งก็โดนตอบโต้ด้วยวิธีคล้าย ๆ เดิม และลงเอยด้วยความล้มเหลวอีกตามเคย


เกวัฎพราหมณ์จึงเสนอให้มีการ “ประลองธรรมยุทธ” ทหารชั้นผู้น้อยไม่ต้องออกรบให้บาดเจ็บล้มตายโดยสูญเปล่า ปล่อยให้เป็นการเผชิญหน้าระหว่างบัณฑิตของทั้งสองฝ่าย กติกามีอยู่ว่า ผู้ใดยกมือไหว้ก่อน ถือเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ


เกวัฎพราหมณ์มั่นใจในแผนดังกล่าวอย่างล้นเหลือ เพราะเชื่อว่า มโหสถนั้นมีอาวุโสน้อยกว่า เมื่อพบปะเจอะเจอย่อมต้องเป็นฝ่ายแสดงความนอบน้อม


เมื่อทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากัน ท่ามกลางบริวารห้อมล้อมมากมาย มโหสถไม่ได้เป็นฝ่ายยกมือไหว้คารวะก่อนหรอกนะครับ แต่หลอกว่านำแก้วมณีอันงดงามมาบรรณาการ ขณะยื่นส่งมอบให้ มโหสถก็แกล้งทำเป็นมือสั่นถือดวงแก้วไม่มั่นคง จนกระทั่งร่วงหล่นลงพื้น ด้วยความละโมบและเสียดาย พราหม์เฒ่าจึงรีบก้มตัวลงเก็บ


มโหสถก็เลยได้ที รีบใช้มือข้างหนึ่งกดคอไว้ อีกมือดึงชายกระเบนด้านหลัง เป็นการตรึงมิให้อีกฝ่ายลุกขึ้น ทว่ามองไกล ๆ เหมือนกำลังช่วยพยุง พลางก็ป่าวประกาศเสียงดังจนได้ยินไปทั่วกันว่า ท่านอาจารย์ลุกขึ้นเถิด อย่ากราบไหว้ข้าพเจ้าเลย


บรรดาทหาร 101 นคร เห็นไกล ๆ และได้ยินดังนั้น ก็พากันแตกตื่นเสียขวัญ ยิ่งได้ยินไส้ศึกของมโหสถร้องตะโกนว่า พระเจ้าจุลนีเสด็จหนีไปแล้ว ก็ยิ่งแตกพ่ายไม่เป็นขบวน ล่าถอยอย่างอลหม่านย่อยยับ


ภาพวาดของครูคงแป๊ะคือเหตุการณ์ช่วงนี้ ลำดับเหตุการณ์นั้น สามารถดูกันได้หลายแบบ อาจเริ่มจากมุมซ้ายตอนบน ซึ่งเห็นทหารบนกำแพงกำลังส่องกล้องทางไกลดูข้าศึก จากนั้นก็เคลื่อนมาทางขวา เป็นวงกลมตามเข็มนาฬิกา โดยมีตัวมโหสถเป็นจุดศูนย์กลาง


ลำดับเรื่องราวอีกวิธีก็คือ เริ่มที่ตัวมโหสถ แล้วสลับฟันปลาจากซ้ายไปขวา จากบนลงล่าง


ไม่ว่าจะดูด้วยวิธีใด ล้วนได้ใจความตรงกัน และเป็นไปได้ว่า อาจมีลำดับก่อนหลังแบบอื่น ๆ ได้อีก แล้วแต่จิตศรัทธามุมมองของผู้ชม


ภาพเนมีราชชาดกของครูทองอยู่ ได้รับการยกย่องว่า เป็นที่สุดแห่งความงามอันเกิดจากการจัดองค์ประกอบภาพสมดุลย์เท่าเทียม เน้นความเป็นระเบียบแบบแผน การประสานทุกส่วนอย่างสอดคล้องลงตัว


ตรงข้ามกับภาพมโหสถชาดกของครูคงแป๊ะ ซึ่งบรรลุถึงขีดขั้นสูงสุด ผ่านองค์ประกอบที่ไม่สมดุลย์ และมีลักษณะรูปทรงกระจัดกระจาย เกือบ ๆ จะเป็นแบบศัพท์ฝรั่งที่เรียกกันว่า free from


ภาพนี้ลองเพ่งสมาธิยืนดูนาน ๆ จะพบความพิศดารอย่างหนึ่ง คือ เหมือนแม่น้ำคดเคี้ยวไหลเชี่ยว คล้ายกับมีชีวิตโลดแล่นเคลื่อนไหวได้ ให้ความรู้สึกตื่นเต้นเร้าใจอย่างล้นเหลือ


ยังมีความล้ำลึกแหวกแนวซุกซ่อนอยู่ในภาพนี้อีกเยอะเลยครับ





(เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธุ์ 2552 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ" หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ)


ไม่มีความคิดเห็น: