วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2553

อารมณ์ขันของฮิวเมอริสต์ โดย 'นรา'

ผมเรียนรู้เกี่ยวกับการเขียนหนังสือ ด้วยวิธีครูพักลักจำ ผ่านการอ่านอย่างตะกละตะกลาม แล้วจึงค่อยเลือกเฟ้น ‘ครู’ ที่ตรงกับจริตนิสัยและรสนิยม

ที่แปลกกว่า ‘ครู’ ท่านอื่น คือ งานเขียนของ ‘ฮิวเมอริสต์’ มีส่วนสำคัญยิ่ง ในการหล่อหลอมกำหนดสร้างนิสัยบุคลิกให้ผมเป็นอย่างที่เป็นอยู่

นิสัยนั้นจำแนกคร่าว ๆ ได้ว่า หลงใหลอารมณ์ขัน, มีความสุขกับการได้ยียวนกวนประสาทผู้คน, ชอบเล่นโลดโผนพลิกแพลงกับภาษา, และกลายเป็นมนุษย์การ์ตูนในร่างคนที่ค่อนข้างไปทางเหลวไหลไร้สาระ

DNA ในร่างกายของผมคงถูกออกแบบทางพันธุกรรมให้โน้มเอียงมาทางนี้เป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว เมื่อได้รับสารกระตุ้นจากการอ่านงานเขียนของ ‘ฮิวเมอริสต์’ ...นับแต่นั้นมา สติของผมก็ไม่เคยปกติอีกเลย

‘ฮิวเมอริสต์’ เป็นนามปากกาของครูอบ ไชยวสุ ผู้ล้ำเลิศไร้เทียมทานใน 2 แขนง อย่างแรกคือ เป็นตำรวจตรวจภาษา ระดับอภิมหามือปราบ มีข้อเขียนบทความมากมาย ทักท้วงติติงการใช้ภาษาไทยผิดพลาดบกพร่องตามสื่อต่าง ๆ (บางทีก็เถียงแย้งความหละหลวมของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตฯ ด้วยเหตุผลและความรู้ที่ถี่ถ้วนรัดกุมกว่า) ในลีลาหยิกแกมหยอกร่ำรวยอารมณ์ขัน ชนิดที่อ่านแล้วลืมไม่ลง

ผมไม่เคยสับสนในการใช้คำผิดที่ผิดทางต่างความหมาย ระหว่างคำว่า ‘ถ้า’ กับ ‘ท่า’ เลยนะครับ นี้ก็ด้วยเคล็ดวิชาที่ได้รับจากครูอบ

ท่านสอนวิธีใช้ง่าย ๆ ไว้ว่า ให้เติมคำในใจเป็น ‘ถ้าหาก’ กับ ‘ท่าทาง’ วางแนบประโยคที่จะเขียน ก็จะสามารถตรวจสอบได้ทันทีว่าคำใดถูกต้อง

ตัวอย่างเช่น ‘เทวดา...จะบ๊องส์’ หรือ ‘...หิมะตกในกรุงเทพฯ’ ลองใช้ ‘ถ้าหาก’ กับ ‘ท่าทาง’ เติมลงในช่องว่าง อันไหนอ่านแล้วได้ใจความ คำนั้นคือคำที่ถูก

ผมไม่มีความรู้เรื่องหลักภาษาและไวยากรณ์ไทยมาตลอดชีวิตวัยเรียน รวมเลยจนถึงปัจจุบันก็ยังโหลยโท่ยเท่า ๆ เดิม แต่ก็ทำงานเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเลี้ยงตับไตไส้พุง ทั้งเครื่องในและเครื่องนอก ด้วยอาชีพขีดเขียนเกี่ยวเนื่องกับการใช้ภาษาเรื่อยมา

อาศัยหลักยึดแค่ว่า เขียนให้อ่านรู้เรื่อง อ่านเข้าใจ และวางลำดับถ้อยคำต่าง ๆ ก่อน-หลังให้ราบรื่น

รายละเอียดอื่น ๆ ที่เหลือ เป็นวิชาที่ได้จากครูตำรวจตรวจภาษาล้วน ๆ เลย

แจกแจงเป็นข้อ ๆ ไม่ได้หรอกนะครับว่า ประกอบด้วยอะไรบ้าง แต่สรุปหลักสั้น ๆ ได้ว่า ภาษาไทยมีหลุมพรางความยอกย้อนพิสดารซ่อนอยู่มากมาย วิธีรับมือจัดการแบบ ‘เอาอยู่’ ก็คือ คิดเยอะ ๆ และละเอียดรัดกุม

ครูอบเก่งในการเสาะหาหลุมพรางช่องโหว่ต่าง ๆ ในภาษา แล้วนำมายั่วล้อสร้างอารมณ์ขัน

ตัวอย่างเช่น ในเรื่องสั้น ‘ลึกลับนักสืบ’ ท่านเล่นคำกับคำ ‘นักสืบ’ ประเภทต่าง ๆ ไว้ว่า “...นักสืบมีอยู่หลายประเภท คือ นักสืบสวนมักสืบแต่เรื่องผลหมากรากไม้ นักสืบสาวมักสืบแต่เรื่องผู้หญิง นักสืบเสาะมักสืบค้นหาอะไรแปลกแปลก เช่นร้านที่เชื่อแล้วไม่ค่อยทวง นักสืบพันธุ์มักสืบเสร็จแล้วตอนจบเรื่องก็ได้นางเอกเป็นเมีย และนักสืบเท้ามักสืบแต่เรื่องต่ำต่ำเลวเลว แต่มีความเจริญคืบหน้า...”

ความเป็นบรมครู เป็นนายแห่งภาษา บรรลุถึงขั้นเลือกสรรถ้อยคำมาใช้งานชนิดสั่งได้ของครูอบ ส่งผลให้ท่านเป็นที่สุดในอีกตำแหน่ง นั่นคือ ราชาอารมณ์ขัน

ในคำนำหนังสือทุกเล่มของฮิวเมอริสต์ มักจะตกลงกับผู้อ่านไว้ 2 ข้ออยู่เสมอ นั่นคือ “ผู้อ่านเรื่องของผมควรจะผ่านอย่างต่ำมัธยมหก แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่กล้ารับรองว่าจะรู้เรื่องได้ทุกรายไป ที่จริงคิดว่าควรจะให้มีการแสดงประกาศนียบัตรหรือหนังสือสำคัญรับรองพื้นความรู้ก่อนจะยอมให้ซื้อ แต่เห็นว่าจะยุ่งแก่การขายการทอนสตางค์และการคืนสตางค์ ก็เลยระงับเสีย” และ “...เมื่อหนังสือนี้ตกอยู่ในครอบครองของผู้อ่านแล้ว ช่วยอ่านให้ครบทุกตัวทุกคำทุกประโยคทุกบรรทัดและทุกหน้า อย่าอ่านอย่างวิธีคำเว้นคำ หรือบรรทัดเว้นสองบรรทัด หรือหน้าเว้นสามหน้า เพราะไม่มีอะไรฟุ่มเฟือยที่จะควรข้ามไปเลย”

ทั้ง 2 ข้อตกลงนี้ เกี่ยวโยงกับจุดเด่นในงานเขียนของ ‘ฮิวเมอริสต์’ นั่นคือ ความละเอียดถี่ถ้วนในการหารูร่องช่องโพรง สำหรับสอด แทรก ซ้อน ซ่อน ซึม ลูกเล่นอารมณ์ขันอย่างมั่งคั่งแพรวพราว

ผมติดวิธีการอ่านแบบกัดแทะและเล็มทุกถ้อยคำอย่างเชื่องช้ายิ่งกว่าระบบราชการไทย นั้นก็เพราะคุ้นชินกับการอ่านทุกคำ ตามคำชี้แนะของพระเจ้าตา

ไม่มีนักเขียนไทยคนไหนอีกแล้วนะครับ ที่จะเล่นหกคะเมนตีลังกากับภาษาไทยอย่างละเอียดละเมียดวิจิตรบรรจงเทียบเท่า ‘ฮิวเมอริสต์’

พูดกันหลายปากว่า ภาษาไทยนั้นมั่งคั่งอลังการ ผมน้อมรับคล้อยตามความคิดดังกล่าวโดยปราศจากข้อเถียงแย้ง

แต่ที่ผิดแผกคือ ผมเห็นความหลากหลายและคุณค่าวิเศษต่าง ๆ ในภาษาไทยจากงานของฮิวเมอริสต์ ไม่ใช่จากภาษาสวมชฏา (สำนวนของ’รงค์ วงษ์สวรรค์) ที่เต็มไปด้วยศัพท์แสงสูงส่งเข้าใจยากของเหล่าปวงปราชญ์ผู้รู้

งานเขียนของ ‘ฮิวเมอริสต์’ ใช้สำนวนภาษาเรียบง่าย โน้มเอียงไปทางภาษาพูด แต่พิเศษเหนือธรรมดาตรงที่แฝงอารมณ์ขันไว้ แทบว่าทุกย่อหน้า ทุกวรรค ทุกประโยค และทุกคำ เปิดอ่านไปตรงไหนก็เจอทันที

ตลกภาษาของ ‘ฮิวเมอริสต์’ มีหลายระดับ ตั้งแต่เด่นชัดจะแจ้งไปจนถึงซ่อนลึกแนบเนียน กระทั่งว่าต้องขบกันหลายชั้น จึงจะเห็นแง่มุมขำขัน

เช่น “แต่มีผู้คนและเมียคนอื่นมากหน้าหลายตา (ซึ่งเป็นสองเท่าของหน้า)” นี้เป็นการเล่นกับคำว่า –ตัวผู้ตัวเมีย-และเล่นกับจำนวนปริมาณของคำว่า ‘มากหน้าหลายตา’ หรือ “หลักเศรษฐกิจสตางคะการ”, “ชุบมือเปิบล้างช้อนตักเช็ดตะเกียบคีบ”, “สุดเหวี่ยงเต็มแกว่ง”, “ทุ่มทุนสร้าง ขว้างทุนเสี่ยง เหวี่ยงทุนเสนอ”, “พอวิทยุปิดสถานีลั่นกุญแจ”, “สมบัติอหิวาต์เหว”, “ถอดเสื้อคนกางเกงคนออก เหลือแต่กางเกงลิง”, “ต้องซื้อด้วยอัตราตลาดมืด หรืออย่างดีก็ตลาดโพล้เพล้ขมุกขมัว อัตราตลาดสว่างให้แลกเฉพาะสิ่งของจำเป็น”, “ชนใครแล้วไม่มีผิด (คือชนถูก)”, “ข่าวสังคมนาคม”, “กลอนเปล่าซึ่งทำให้กระดาษเปล่าเลอะเทอะไปเปล่าเปล่า”
หรืออีกครั้งเพื่อขึ้นย่อหน้าใหม่เล่น ๆ นะครับ “ข้าพเจ้า-เอกพจน์บุรุษที่หนึ่ง-เป็นอีกข้าพเจ้าหนึ่ง-ไม่ใช่ข้าพเจ้าผู้เขียนเรื่องดังที่ใส่ชื่อผู้เขียนเอาไว้ แต่เป็นข้าพเจ้าในเรื่อง ฉะนั้นเมื่อปรากฏคำว่าข้าพเจ้าในเรื่องนี้ โปรดเข้าใจว่าไม่ใช่ข้าพเจ้าจริงจริง พึงทราบว่าเป็นข้าพเจ้าอีกข้าพเจ้าหนึ่ง...”

เรื่องอารมณ์ขันในการใช้ภาษาของ ‘ฮิวเมอริสต์’ ยังยกตัวอย่างกันได้อีกเยอะแยะมากมาย และสามารถตั้งเป็นหัวข้อทำวิจัยหรือวิทยานิพนธ์เพื่อศึกษาวิเคราะห์ได้สบาย ๆ (และเคยมีคนทำไปแล้ว)

อย่างไรก็ตาม ความเป็นราชาอารมณ์ขันของ ‘ฮิวเมอริสต์’ ไม่ได้สิ้นสุดยุติอยู่เพียงแค่ อัจฉริยะในการใช้ภาษาเท่านั้น แต่ครบเครื่องรอบด้านในทุก ๆ รูปแบบ ตั้งแต่มุมมองความช่างสังเกตแบบนักสร้างสรรค์, ความเชี่ยวชาญชำนาญชำนิในการเสียดสียั่วล้อเหน็บแนมประชัดประชันความเป็นไปต่าง ๆ (ที่ไม่เข้าท่า) ในสังคม

ลักษณะเด่น ๆ เหล่านี้ สามารถหาอ่านได้จากเรื่องสั้น ‘สุนทรพจน์เปิดส้วมสาธารณะ’, ‘เอกพจน์บุรุษที่หนึ่ง’, ‘ออกป่าล่าสัตว์’, ‘นำเที่ยวไทยแลนด์ (สยาม), และ ‘โรสแมรีหน้าบึ้ง’ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นงานระดับมาสเตอร์พีซ

และสิ่งสำคัญที่ไม่ค่อยจะมีใครกล่าวถึงสักเท่าไร นั่นคือ ระบบตรรกะอธิบายเหตุผลต่าง ๆ ของฮิวเมอริสต์ที่ตลกเหลือหลาย

ระบบตรรกะในการอธิบายเหตุผลของฮิวเมอริสต์นั้น พูดง่าย ๆ ก็คือ บางจังหวะบางวาระบางภาวะบางขณะ ท่านคิดเป็นการ์ตูนนะครับ

อธิบายยืดยาวมากความไปกว่านี้ ผมอาจจะพาผู้อ่านเข้ารกเข้าพงลงเหวไกลจากเป้าหมาย ยกตัวอย่างดีกว่า

เช่น “และชอบกล! ผีไทยไม่ยักหลอกเจ๊ก คงเนื่องด้วยกรมม่ะอะไรองค์นั้นไม่ทรงรู้ภาษาเจ๊ก จึงหลอกเจ๊กไม่รู้เรื่องกัน เป็นอย่างเดียวกับผีเจ๊กไม่หลอกแขก ผีแขกไม่หลอกฝรั่ง เพราะไม่รู้ภาษากัน หลอกกันไม่เข้าใจ นอกจากจะหาผีล่ามมาด้วย ซึ่งเป็นการประดักประเดิดและเปลืองค่าใช้จ่าย” และ “ผีคนคือคนที่ตายร่างกายเน่าเปื่อยแล้ว ผีบ้านคือบ้านที่พังทลายไม่มีรูปร่างแล้ว ผีบุหรี่ก็คือบุหรี่ที่คนสูบเข้าไปหมดแล้ว พวกฉันนี่เป็นผีคน ก็กินผีขนม สูบผีบุหรี่ และอยู่ในผีบ้าน”

หรือ “ฉาก-ดาดฟ้าเรือเดินทะเลไประยองจันทบุรี เห็นท้องฟ้าสีฟ้า มีเมฆลอยอย่างสบายสบายสองก้อน มีนกนางแอ่นที่แอ่นพอสมควรสองตัว บินไปทางโน้น แล้วก็มาทางนี้ แล้วก็ไปทางโน้นอีก ตลอดเวลาของเรื่องนี้ ไม่บินไปไหนนอกจากทางโน้นกับทางนี้ เห็นทะเลสีน้ำทะเลลิบลิบไปจดขอบฟ้า ปลาฉลามที่ยังมีหูสองตัว ปลาทูที่ยังไม่ได้นึ่งสองตัว ปลาที่เขาเอามาทำปลาเค็มไม่รู้จักชื่ออีกหลายชนิด ชนิดละสองตัว ว่ายไปว่ายมาคลาคล่ำอยู่ มีคลื่นพอประมาณ ไม่ถึงแก่ทำให้คลื่นไส้...”

และที่เด็ดขาดบาดใจมากก็คือ “อนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าได้รับเชิญมาแล้วในวันนี้ ข้าพเจ้าใคร่จะขอฝากความคิดเห็นไว้แก่คณะกรรมการจัดสร้างและดูแลบำรุงรักษาส้วมสาธารณะด้วยว่า ตู้สำหรับหยอดสตางค์ที่ประตูส้วมนั้น ควรจะจัดให้เป็นที่สบใจผู้เข้าไปถ่ายสักหน่อย โดยทำอย่างทำนองสล็อทแมชชีนในเมืองนอก ซึ่งเด็กผู้ใหญ่ในเมืองไทยเมื่อสมัยสามสิบปีมาแล้วรู้จักดี เรียกกันว่า ‘อีดำอีแดง’ คือเมื่อหยอดสตางค์ลงไปแล้ว ประสบคราวโชคเหมาะเคราะห์ดี ก็จะมีสตางค์ไหลกราวออกมาเป็นกำไร ถ้าโชคไม่ดี ก็หยอดลงไปหายเปล่า ซึ่งเท่ากับเสียค่าผ่านประตูตามธรรมดาอยู่แล้ว ทำเช่นนี้ก็เท่ากับเป็นการแถมพกนั่นเอง แต่แถมเฉพาะผู้เคราะห์ดี เมื่อคนมีหวังจะรวยขึ้นได้ โดยหยอดสตางค์ค่าผ่านประตูเข้าส้วมเช่นนี้ คนก็จะนิยมการถ่ายมากขึ้น อาจจะเวียนมาถ่ายกันคนละหลายหลายหนในวันหนึ่งวันหนึ่ง แล้วการจะถ่ายให้ได้มากมากครั้ง ก็จำต้องกินให้มากขึ้น ทั้งจำนวนครั้งและจำนวนอาหาร เมื่อคนกินมากก็ต้องซื้อมามาก คนขายก็จะขายดี การค้าก็จะเจริญ โภคกิจก็จะฟื้นฟู หรือจะมีไอเดียในการลดค่าผ่านประตูเข้าส้วมปีละเดือน ปีละฤดู อย่างไรก็ได้ จะถ่ายหนึ่งแถมหนึ่ง ก็ดีเหมือนกัน จะจัดปับลิคศิตี้ให้คนนิยมอย่างไรน่ะ เป็นสิ่งควรทำทั้งนั้น”

เหตุผลสำคัญอีกอย่างที่ทำให้ ‘ฮิวเมอริสต์’ ได้รับการยกย่องว่าเป็นราชาอารมณ์ขัน ก็คือ ตลกของท่าน มีรสนิยมดี สุขุมลุ่มลึก เหนือชั้น และไม่ก้าวร้าวหยาบคาย

ในฐานะผู้นิยมและหลงรักอารมณ์ขัน ผมพูดได้ว่า งานเขียนประเภทหัสคดี เป็นศิลปะชั้นสูงและยากสุดขีด

เขียนให้ผู้อ่านสะเทือนใจร้องไห้ยังง่ายกว่าเยอะนะครับ

เรื่องนี้อธิบายได้ว่า มนุษย์มีประสบการณ์ร่วมต่อเรื่องทุกข์โศกในชีวิต ค่อนข้างใกล้เคียงกัน ขณะที่อารมณ์ขัน สามารถจำแนกแยกย่อยได้หลายระดับชั้น ตั้งแต่ขั้นหัวเราะเพราะเห็นคนเหยียบเปลือกกล้วยหกล้ม, ใช้ถาดตีหัว, ตลกใต้สะดือสัปดน, ตลกแบบประจานให้ผู้อื่นได้อาย, ตลกปัญญาชน, ตลกล้อเลียน, ตลกร้าย, ตลกเสียดสี ฯลฯ

จึงเป็นการยากที่อารมณ์ขันแบบใดแบบหนึ่ง จะสามารถตอบสนองรสนิยมทุกคนให้รู้สึกได้พ้องพานตรงกันอย่างครอบคลุมทั่วถึง

ผมมีความจำเลวร้ายในทุกเรื่องปกติของการใช้ชีวิต ขณะเดียวกันก็มีความจำดีเลิศในทุกเรื่องเกี่ยวกับอารมณ์ขัน จะเป็นพรสวรรค์หรือคำสาปนรก...ผมเองก็ยังไม่แน่ใจ

ที่แน่ใจและมั่นใจก็คือ ในบรรดาอารมณ์ขันทั้งหมดที่ผมจำได้ดีแม่นยำนั้น...

ผมประทับใจ, จดจำ และรักอารมณ์ขันของฮิวเมอริสต์มากที่สุด

2 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

ชอบอ่านเหมือนกันค่ะ จำได้ว่าดอกหญ้าเคยนำผลงานท่านมาตีพิมพ์ใหม่ ตอนนั้นยังเป็นนักเรียนอยู่ ต้องเก็บค่าขนมไปซื้อทีละเล่ม ปัจจุบันเวลากลับไปอ่านใหม่อีกรอบก็ยังประทับใจในอารมณ์ขันของท่านเหลือเกิน

Tee กล่าวว่า...

เรียนคุณ นรา
สืบเนื่องจากพวกเราเป็นลูก-หลาน-เหลน ส่วนหนึ่งของ "ฮิวเมอริสต์" ซึ่งเล็งเห็นว่าผลงานของท่านถูกนำไปใช้ในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง บ่อยครั้งที่ผู้เรียนสืบค้นข้อมูลได้ไม่มากนัก พวกเราจึงได้จัดทำ Blog เพื่อเผยประวัติและแพร่งานของท่าน และเราเห็นว่าบทความของท่านเกี่ยวข้องและพาดพิงถึง ฮิวเมอริสต์ จึงขออนุญาตคัดลอกเพื่อนำไปเผยแพร่ใน Blog [http://objayavasu.com] ด้วย