วันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2555

คิดถึงทุกคืน

          ‘คิดถึงพี่ไหม’ เป็นเพลงสุดท้ายในชีวิตที่ศรคีรี ศรีประจวบ ร้องบันทึกเสียงในห้องอัด แต่เป็นเพลงแรกของศรคีรีที่ผมรู้จักและจำได้

          เพลงนี้แว่วลอยผ่านมาทางวิทยุเครื่องแรกประจำบ้าน เมื่อปีพ.ศ. 2513

          ช่วงเวลานั้น ถือได้ว่าเป็นระยะเฮี้ยน แรง เศร้า สำหรับวงการบันเทิงไทย สุรพล สมบัติเจริญถูกยิงเสียชีวิตเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2512

          ถัดสู่เดือนตุลาคมปีต่อมา ทุกถิ่นย่านก็ตกตะลึงกับอุบัติเหตุสะเทือนขวัญของมิตร ชัยบัญชา ระหว่างถ่ายทำฉากสุดท้ายของหนังเรื่อง อินทรีทอง แล้วเพียงไม่นาน ปลายเดือนมกราคม 2514 ก็ต้องโศกอาลัยกับการสูญเสียศรคีรี ศรีประจวบด้วยเหตุรถชนไปอีกราย

          แรกรู้จักเพลง ‘คิดถึงพี่ไหม’ ของศรคีรี ผมยังเด็กมาก ความเข้าอกเข้าใจต่อเนื้อร้องนั้นแทบไม่มีอยู่เลย กระทั่งคำว่า ‘คิดถึง’ ซึ่งย้ำเน้นไว้ทุกท่อนทุกตอน ผมก็ไม่ทราบนัยยะว่าหมายถึงอะไร

          ตรงข้ามต่างจากตอนนี้ ผมป่วยเป็น ‘โรคคิดถึงที่ไม่มีวันรักษาให้หายขาด’ กับใครต่อใครและอะไรต่อมิอะไรอยู่มากมายเต็มไปหมด (แหวะ!)

          อย่างไรก็ตาม ในวัย 6-7 ขวบ ผมชอบเพลงคิดถึงพี่ไหมทันทีที่แว่วผ่านหู ชอบท่วงทำนองอันไพเราะมาก ชอบเสียงร้องสูงหวานเยือกเศร้าของศรคีรี

          ในความรู้สึกของผม ภาพรวมของเพลงนี้ เหมือนมีบรรยากาศพร่าเลือนด้วยม่านหมอกชวนให้เคลิ้มฝัน ไม่ใช่ภาพที่สดใสแจ่มชัดนัก

          ความรู้สึกนี้ อธิบายให้เป็นนามธรรมแต่เข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น เรียกกันว่า อารมณ์โรแมนติค

          ผมมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเพลงนี้อยู่หลายประการ

          แรกสุดเข้าใจผิดเรื่อยมาว่า ชื่อเพลงนี้คือ ‘คิดถึงพี่หน่อย’ ต่อมาเข้าใจผิดว่าแต่งโดยครูไพบูลย์ บุตรขัน และสุดท้ายเข้าใจผิดว่าศรคีรีเป็นคนแรกที่ร้องเพลงนี้

          กาเครื่องหมายวงกลมข้อ ง. งู ได้เลยนะครับว่า ผิดทุกข้อ

          ข้อแรกนั้นมีผู้เข้าใจผิดกันเยอะ เนื่องจากเนื้อร้องเกือบทุกท่อนมักขึ้นต้นว่า “คิดถึงพี่หน่อย...” ฟังแล้วก็เลยไขว้เขวนึกว่าเป็นชื่อเพลง ผมมาได้รับความกระจ่างถูกต้อง ตอนที่ซื้อ CD รวมฮิตของศรคีรี จึงค่อยเกิดความรู้แจ้งพบสัจธรรม

          ส่วนที่ตีขลุมเหมารวมไปว่า เป็นผลงานเพลงของครูไพบูลย์นั้นไม่มีอะไรมาก ผมเป็นลูกอ๊อดในกะลา รู้น้อยจำกัดจำแทะและผิวเผิน เจอเพลงลูกทุ่งเนื้อร้องทำนองดีทีไร มักอนุมานล่วงหน้าไว้ก่อนว่านี่คือฝีมือครูไพบูลย์

         เผอิญว่า เนื้อร้องทุกวรรคทุกคำในเพลงคิดถึงพี่ไหม เข้าขั้นอภิมหากวีเลยทีเดียว ด้วยต้นทุนความรู้ระดับหางอึ่งตัวสุดท้องขาดสารอาหารที่มีอยู่ จึงทำให้ปักใจเชื่อสนิทว่าเป็นงานของครูไพบูลย์ แต่โลกกว้างกว่านั้นของแวดวงเพลงลูกทุ่ง คับคั่งเนืองแน่นไปด้วยครูเพลงระดับจอมยุทธ์ชั้นปรมาจารย์

         ท่านหนึ่งที่มีฝีมือโดดเด่นล้ำเลิศก็คือ ครูพยงค์ มุกดา ขณะหูข้างหนึ่งในวัยเด็กของผมฟังเพลงลูกทุ่ง หูอีกข้างของผมก็หลงใหลเพลงของดิ อิมพอสซิเบิล

         ผมรู้จักคุ้นเคยกับครูพยงค์ มุกดา ในฟากของดิ อิมพอสซิเบิล จนนึกตรึกไม่ออกว่า ครูพยงค์ได้เขียนเพลงลูกทุ่งและลูกกรุงไว้มากมาย ครบถ้วนทุกแนวทางเท่าที่เพลงไทยทั้งหมดจะพึงมีในขณะนั้น

         ‘คิดถึงพี่ไหม’ เป็นผลงานประพันธ์ของครูพยงค์ มุกดา เขียนแต่งขึ้นเป็นการจำเพาะเจาะจงให้ ทิว สุโขทัย นำไปร้องอัดแผ่นเสียง แต่ฉบับดั้งเดิมของเพลงนี้ ไม่ประสบความสำเร็จในวงกว้าง มิหนำซ้ำหลังจากออกเผยแพร่ได้ไม่นาน ทิว สุโขทัยก็เสียชีวิตก่อนวัยอันควร เกือบจะกลายเป็นเพลงที่เลือนหายและถูกลืม

          จนกระทั่งครูพยงค์ มุกดายกเพลงนี้ให้ศรคีรีนำไปร้องใหม่

          มีเกร็ดเรื่องเล่าอยู่ว่า ขณะบันทึกเพลงนี้ในห้องอัด ศรคีรี ศรีประจวบขอให้ทีมงานปิดไฟหมดทุกดวง แล้วร้องท่ามกลางความมืด

          ถ้าจะให้เดา คงเป็นเรื่องของการสร้างบรรยากาศห้อมล้อมกลมกลืนสอดคล้องกับเนื้อเพลง เพื่อจะได้ใช้จินตนาการอย่างเต็มที่

         แต่ที่ไม่ต้องเดา และเด่นชัดมากจนทุกคนสามารถรู้สึกได้ คือ ศรคีรีร้องเพลงนี้อย่างพริ้งพรายแพรวพราว ทั้งลูกเอื้อนลูกคอซับซ้อนหลายชั้น ผ่านน้ำเสียงสูงกังวานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ เป็นการร้องแบบพูดได้เต็มปากว่า ถอดหัวใจทั้งดวงฝากฝังไว้ในบทเพลง

        ผมชอบเพลงนี้นับจากวันแรกที่ได้ยิน ยิ่งโตและฟังบ่อย เริ่มเข้าใจความหมายของเนื้อร้องดีขึ้น ก็ยิ่งซาบซึ้งตรึงใจ

        มีเพลงจีนเพลงหนึ่ง นำเอาบทกวีเก่าแก่อายุร่วม ๆ พันปีของซูตงปอ (กวีเอกสมัยราชวงศ์ถัง) มาใส่ท่วงทำนอง กระทั่งกลายเป็นเพลงป๊อปอมตะ นักร้องมากมายนำมาขับขานซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนปัจจุบันก็ยังเป็นที่นิยมไม่เสื่อมคลาย

         เพลงจีนนั้น กล่าวถึงเหตุการณ์ที่ท่านกวี พลัดพรากห่างไกลจากคนรัก ในคืนไหว้พระจันทร์ที่ฟ้าแจ่มสุกสกาว จึงยกจอกสุราร่ำดื่มเดียวดาย ระบายความในใจ ตัดพ้อดวงจันทร์ และฝากความคิดถึงล่องลอยไปสู่ถิ่นแดนแสนไกล รวมทั้งสบตากับคนรักห่างไกล ผ่านการมองจันทร์ดวงเดียวกันบนฟากฟ้า

         ‘คิดถึงพี่ไหม’ ของครูพยงค์ โรแมนติคเทียบเคียงได้กับเพลงจีนอมตะข้างต้น ขณะเดียวกันก็มีเสน่ห์พิเศษ ท่ามกลางสำนวนโวหารคมคายเป็นบทกวี เช่น “ฝากใจกับจันทร์ ฝากฝันกับดาว” ก็มีความซื่อใสจริงใจแบบจิตวิญญาณลูกทุ่งปรากฏเด่นชัด

         ที่สำคัญคือ เพลงนี้คิดถึงกันทุกคืน ไม่ว่าจะเป็นข้าง ขึ้นหรือข้างแรม

         ผมแทบจะขาดใจตามเลยนะครับ เมื่อถึงเนื้อร้องว่า “คิดถึงพี่ก่อนน้องนอนก็ได้ เมื่อยามหลับไหล น้องเจ้าจะได้นอนฝัน...”
 
         น่ารักจนต้องขออนุญาตจำและลอกเลียนแบบล่วงหน้าตลอดชีวิต

         มีอีกความพิเศษอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดกับการฟังเพลงนี้ ฟังทีไรผมรู้สึกว่าอากาศรอบข้างเย็นลง ในใจนั้นยะเยือก ยิ่งฟังในช่วงฤดูหนาว (จริง) ยิ่งเกิดความไพเราะล้ำลึกอีกหลายเท่าตัว

         แต่ครั้งที่ฟังแล้วเหงาเศร้าจับจิต มักเกิดขึ้นในค่ำคืนฝนพรำ เมฆครึ้มทึมหม่น ไร้แสงจันทร์แสงดาว
        
         ผมรู้สึกไปว่า คืนนี้ไอ้หนุ่มอีสาวในบทเพลง มองหากันไม่เห็น เหลือแต่ความคิดถึงกำเริบรุนแรง

         เท่านั้นเอง ผมก็สะเทือนใจจนเกินห้ามและสุดจะกลั้นน้ำตา



เพลง คิดถึงพี่ไหม คำร้อง-ทำนอง พยงค์ มุกดา คิดถึงพี่หน่อยนะกลอยใจพี่ ห่างกันอย่างนี้ น้องคิดถึงพี่บ้างไหม อย่าลืม อย่าลืม อย่าลืมสัจจา สัญญาที่ให้ ว่าตัวห่างไกล หัวใจชิดกัน คิดถึงพี่ก่อนน้องนอนก็ได้ เมื่อยามหลับใหล น้องเจ้าจะได้นอนฝัน ข้างขึ้นเมื่อใด แก้วใจโปรดมอง แสงของนวลจันทร์ เราสบตากันในแสงเรื่อเรือง คืนไหนข้างแรม ฟ้าแซมดารา น้องจงมองหาดาวประจำเมือง ทุกคืนเราจ้องดูเดือนดาว ทุกคราวเราฝันเห็นกันเนือง ๆ ถึงสุดมุมเมือง ไม่ไกล คิดถึงพี่หน่อยนะกลอยใจเจ้า พี่ตรม พี่เหงา เพราะคิดถึงเจ้าเชื่อไหม ฝากใจกับจันทร์ ฝากฝันกับดาว ทุกคราวก็ได้ เราต่างสุขใจเมื่อคิดถึงกัน

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

คิดถึงบล็อกคุณนราทุกบ่อยค่ะ

อย่าหายไปนานเป็นปีๆ อีกนะคะ