วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ซามูไรตกดิน โดย "นรา"

วันนี้ขออนุญาตมาขายของกันซึ่ง ๆ หน้า เนื่องจากผมเพิ่งมีพ็อคเก็ตบุคชื่อ “ซามูไรตกดิน” เป็นการรวมข้อเขียนเกี่ยวกับหนังญี่ปุ่นล้วน ๆ ออกมาวางแผง

ยอมรับครับ ว่าเขียนเอง ขายของเองเช่นนี้ โดยอาศัยหน้ากระดาษและช่องทางที่มีอยู่ในมือ เป็นเรื่องที่แลดูน่าเกลียด แต่ผมก็มีวิธีบอกกล่าวสื่อสารกับท่านผู้อ่านแค่หนทางนี้เท่านั้น
อีกอย่างหนึ่ง ผมไม่เคยเขียนคำนำให้กับหนังสือของตัวเองมาก่อนเลย (ด้วยเหตุผลว่า รู้สึกเขินนะครับ) จึงอาจมีรายละเอียดบางประการตกหล่นไม่ได้รับการชี้แจง จนต้องมาอาศัยเบียดเบียนเนื้อที่ตรงนี้

อันดับแรกคือ ข้อเขียนที่ปรากฎในหนังสือ “ซามูไรตกดิน” ไม่ค่อยเฉียดใกล้มีคุณสมบัติของ “บทวิจารณ์ที่ดี” สักเท่าไรหรอกนะครับ โน้มเอียงไปทางบทความแนะนำหนังเสียมากกว่า

แม้จะมีอาชีพเป็นสิ่งมีชีวิตสติไม่เรียบร้อยที่เรียกว่า “นักวิจารณ์หนัง” แต่โดยส่วนตัวผมเองในระยะหลัง ไม่ค่อยสนใจที่จะเขียนงานวิจารณ์อย่างเอาจริงเอาจัง และตั้งเป้าเบนเข็มมุ่งไปทางเล่าสู่กันฟังแบบสบาย ๆ เป็น “คู่มือนักบริโภค” เต็มตัว

เรียกได้ว่าเป็นขั้วตรงข้ามกับงานเขียนยุคแรกเริ่มใน “หนังและวิดีโอ” หรือ “ฟิล์มวิว” ซึ่งเน้นการหาข้อมูลอย่างละเอียด รวมทั้งเน้นการตีความสัญลักษณ์ต่าง ๆ ตามประสาเด็กหนุ่มไฟแรง

ผมมีความเห็น, มีเหตุผลเยอะแยะมากมาย ที่จะเลือกคลี่คลายเปลี่ยนแปลงตนเอง เดินมาสู่เส้นทาง “คู่มือนักบริโภค” ด้วยเจตนาและความตั้งใจ ซึ่งถ้าหากจะสาธยายแจกแจงโดยถี่ถ้วนแล้ว ก็คงกินเนื้อที่ยืดยาว แต่สรุปโดยรวบรัด นี่คือ การเลือกเป็นในสิ่งที่สอดคล้องเหมาะกับนิสัยใจคอของตัวผม

เดิมทีเมื่อคิดจะรวมเล่ม ผมตั้งใจจะนำข้อเขียนทั้งหมดที่มีเนื้อหาว่าด้วยหนังญี่ปุ่น ซึ่งประมาณจำนวนคร่าว ๆ หยาบ ๆ ได้ราว ๆ 150 ชิ้น (และมีงานเขียนยุคแรก ๆ อยู่เยอะพอสมควร) มาบรรจุเป็นที่เป็นทางในคราวเดียวกันให้ครบถ้วน

ปัญหาก็คือ ผมเป็นนักเขียนที่มีวินัยเฉพาะแค่ตอนทำงาน พ้นจากนั้นแล้วก็เละเทะไร้ระเบียบ โดยเฉพาะในด้านการเก็บรักษาต้นฉบับ เมื่อถึงคราวจำเป็นต้องนำกลับใช้งานอีก ผลปรากฎว่า ต้นฉบับส่วนใหญ่ได้สูญหายกระจัดกระจายไปเกือบหมด รวบรวมค้นเจอเพียงแค่ 120 ชิ้น (ในจำนวนนี้ เป็นผลมาจากน้ำใจและความเอื้อเฟื้อของคุณสนธยา ทรัพย์เย็นแห่งฟิล์มไวรัส ซึ่งช่วยรวบรวม ค้นหา และถ่ายสำเนามาให้หลายต่อหลายชิ้น ต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับ)

ถัดมาคือ เมื่อนำต้นฉบับที่เหลือและสามารถค้นพบ มาขัดเกลาแก้ไขใหม่ ปัญหาใหญ่ก็เกิดขึ้นทันที ขั้นต้นการเขียนต่างกรรมต่างวาระในพื้นที่หลาย ๆ สนาม (ซึ่งมีส่วนบังคับทางอ้อมให้ต้องเขียนในลีลาแตกต่างกัน) ส่งผลให้ข้อเขียนของผมแลดูลักลั่นไม่เป็นเอกภาพ มีทั้งงานเบาโหวงปนกับหนักอึ้งตึงเครียด อีกทั้งยังปรากฎความคิดและข้อมูลซ้ำกันอยู่หลายที่หลายแห่ง บางชิ้นงานก็พาดพิงถึงเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นในสังคมรอบข้างขณะเขียน เมื่อเวลาพ้นผ่านจึงกลายเป็นส่วนรกรุงรังนอกเรื่องเกินจำเป็น

นี่ยังไม่นับรวมงานจำนวนหนึ่ง ซึ่งสะท้อนชัดถึงความอ่อนด้อยไร้ประสบการณ์ทางความคิดของผม ในขณะลงมือเขียนนั้นไม่รู้และไม่เห็นรอยแผลหรอกนะครับ ล้วนมาประสบพบเจอขณะแก้ไขทั้งสิ้น

งานส่วนใหญ่ที่เขียนใน “หนังและวิดีโอ” และ “ฟิล์มวิว” โดนคัดทิ้งออกไปเกือบหมด เนื่องจากแก้ไม่ไหว ไปไม่รอด ปัญหาสำคัญคือ มันจงใจแสดงข้อมูลเยอะเกินจำเป็น เขียนด้วยลีลาเยิ่นเย้อ (เพื่อให้ได้ความยาวมาก ๆ) จริง ๆ แล้วสิ่งเหล่านี้ยังอยู่ในวิสัยที่แก้ได้ครับ แต่เหนือสิ่งอื่นใด มันเต็มไปด้วยความพยายามที่จะตีความ โดยตัวผมเองยังคิดอ่านไม่ชัดเจนเพียงพอ กระทั่งกลายเป็นการ “ลากเข้ารกเข้าพง” จนสามารถสรุปได้ว่า “มั่ว” และผมเองก็จนปัญญาในการขัดเกลาให้มันดีมีความสมเหตุสมผลมากกว่าที่เป็นอยู่

การแก้ไขขัดเกลาแล้วเกิดความรู้สึก “ไม่พอใจ” และ “ไม่มั่นใจ” งานเขียนของตนเอง เป็นสิ่งที่ผมเจอะเจออยู่เป็นประจำ และน่าจะเป็นสาเหตุใหญ่สาเหตุหลัก ที่ทำให้ผมมีหนังสือรวมเล่มออกมาน้อยมาก คือ แค่ 3 เล่มในรอบ 10 ปี เฉลี่ยแล้วทุก ๆ 5 ปี จึงจะมีหนังสือออกมาสักเล่ม

กล่าวคือ ตอนเพิ่งเขียนเสร็จนั้น ส่วนใหญ่ผมมักจะรู้สึกพอใจและเห็นว่าใช้การได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เติบโตขึ้น หวนกลับมาอ่านทบทวนย้อนหลัง มักปรากฎร่องรอยข้อตำหนิอยู่เสมอ อันนี้เป็นธรรมชาติของคนทำงานเขียนหนังสือเกือบทุกคนนะครับ

ผมมักจะ “ยึดติด” ปล่อยวางไม่ลงเสมอเมื่อต้องรวมเล่ม ตอนเขียนลงตามนิตยสารและสื่อต่าง ๆ อาจมีข้อจำกัดด้านเวลาทำงาน, การเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่พ่วงรวมกับข้อเขียนอื่น ๆ จำนวนมาก หากสิ่งที่ผมเขียนจะย่อหย่อนจืดชืดอ่อนด้อยไปบ้าง ผมคิดว่าผู้อ่านยังพอเข้าใจและยินยอมให้อภัยได้บ้าง แต่การรวมเล่มเป็นผลงานของตนเองตามลำพัง ผมเกรงใจท่านผู้อ่านที่จ่ายเงินอุดหนุนนะครับ และเชื่อเหนียวแน่นฝังลึกว่า ต้องนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุด

งานเก่า ๆ ของผมมันไม่ค่อยจะมีสิ่งที่ดีที่สุด ในปริมาณเพียงพอจะรวมเล่มนำเสนอด้วยความภาคภูมิใจ นั่นเป็นสิ่งที่ผมรู้สึกอยู่บ่อย ๆ เวลาหยิบกลับมาอ่านใหม่ และลงมือแก้ไข

มีบางครั้งเหมือนกันที่ผมเขียนงานเสร็จ ส่งไปลงตีพิมพ์ โดยไม่กล้าเปิดอ่าน เพราะรู้ตั้งแต่ขณะลงมือทำว่า มันไม่ดี (ด้วยสาเหตุปลีกย่อยสารพัดสารพัน) และจำเป็นต้องปล่อยออกสู่สายตาผู้คน เพราะถึงกำหนดต้องส่งต้นฉบับ

เกิดสภาพเช่นนี้ทีไร ได้แต่รู้สึกอับอายอยู่ลึก ๆ แม้จะไม่มีใครล่วงรู้หรือกล่าวตำหนิให้ได้ยิน แต่ผมก็ต้องหวนกลับมาทะเลาะและลงโทษตนเองเสมอ

หากมีงานประเภท “เขียนแล้วอยากลืม” ปรากฎในการรวมเล่ม สำหรับผมแล้วนี่เป็นความทุกข์และความผิดบาปมหันต์ ที่ปล่อยให้เกิดความผิดพลาดซ้ำสอง

นี่คือ เหตุผลที่ทำให้ข้อเขียนหลายชิ้น ซึ่งบรรดาแฟนเก่าเจ้าประจำหลายท่านอยากเห็นรวมอยู่ในเล่ม ตลอดจนผลงานเรื่องสำคัญ ๆ หรือหนังดังซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีอย่าง Spirited Away, Princess Mononoke, Always หรือ Memories of Matsuko ฯ ไม่มีปรากฎอยู่ใน “ซามูไรตกดิน”
ท้ายที่สุด ข้อเขียนซึ่งปรากฎในหนังสือ จึงเหลือแค่เพียง 76 ชิ้น เป็นบทความกล่าวถึงยาสึจิโร โอสุผู้กำกับคนโปรดของผม และบทความเกี่ยวกับหนังญี่ปุ่นอีก 75 เรื่อง

“ซามูไรตกดิน” เป็นหนังสือที่ผมแก้ไข ตัดทอน เพิ่มเติม เปลี่ยนแปลง เยอะพอสมควรนะครับ และถ้าหากไม่โดนบีบรัดโดยเงื่อนไขทางด้านเวลากำหนดส่งงานครั้งสุดท้าย ผมก็คงจะใจเย็นขัดเกลาได้อีกเรื่อย ๆ ไม่รู้จักจบ (และไม่เห็นแววเลยว่าจะสิ้นสุดยุติเมื่อไหร่)

อันนี้ไม่ใช่เป็นเพราะความประณีตพิถีพิถันหรอก แต่เป็นด้วยข้อจำกัดทางด้านความสามารถ รวมถึงนิสัยในการทำงานเขียนของผมเอง ซึ่งยัง “ดีไม่พอ” จนทำให้ต้องมาตกระกำลำบากเวลาจะรวมเล่ม

ระหว่างขัดเกลาแก้ไขต้นฉบับต่าง ๆ ใน “ซามูไรตกดิน” ผมได้ไปอ่านเจอบทสัมภาษณ์คุณเขาทราย แกแลคซีในนิตยสาร Way อ่านแล้วผมก็อึ้งและได้รับบทเรียนครั้งสำคัญในการทำงาน

คุณเขาทรายนั้น สมัยที่ยังต่อยมวยได้ชื่อว่าเป็น “มืออาชีพ” ขนานแท้ มีวินัยดีเยี่ยม ซ้อมหนัก ขยัน และดูแลตารางกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ อย่างเข้มงวดแม่นยำ ทั้งหมดนี้คุณเขาทรายบอกว่า “ทุกข์ทรมาน” สุดขีด แต่ก็ยินดีกระทำสม่ำเสมอโดยไม่บิดพลิ้วงอแง ด้วยเหตุผลสั้น ๆ คือ “เวลาต่อยจริง ซ้อมเยอะ เจ็บน้อย ซ้อมน้อย เจ็บเยอะ”

ข้อเขียนส่วนใหญ่ใน “ซามูไรตกดิน” เกิดขึ้นด้วยกรรมวิธี “ซ้อมน้อย” ใช้เวลาเขียนไม่มากนัก เมื่อมาต่อยจริงตอนรวมเล่ม ผมจึง “เจ็บเยอะ” ต้องขัดเกลาแก้ไขนานเป็นพิเศษ (เพื่อจะพบว่า หลายชิ้นก็อาการหนักจนไม่อาจกอบกู้เยียวยาได้เลย)

กล่าวแบบจริงใจ ผมคิดว่าข้อเขียนต่าง ๆ ใน “ซามูไรตกดิน” แม้จะผ่านการแก้ไขมาค่อนข้างมากแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ดีถึงขนาดห้ามพลาด ประเมินแบบตรงไปตรงมา ผมคิดว่าแค่อยู่ในระดับพออ่านได้และสนุกเพลิดเพลินพอประมาณเท่านั้น

โดยส่วนตัว เมื่อหนังสือสำเร็จเสร็จออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ข้อเขียนทั้งหมด-แม้จะไม่ดีถึงขั้นชอบมากประทับใจเป็นพิเศษ-ทว่าสามารถกล่าวได้เต็มปากว่า “ผมพึงพอใจ” ดังนั้นหากจะมีท่านใดอ่านแล้ว รู้สึกผิดหวัง ไม่สบอารมณ์ หรือเห็นว่าอ่อนด้อยตื้นเขิน ขอให้นับเป็นความบกพร่องของผมโดยตรงแต่เพียงผู้เดียว ไม่มีอะไรต้องแก้ตัวหรือหยิบยกมาเป็นข้ออ้างอีกแล้วล่ะครับ

อย่างไรก็ตาม ขณะลงมือแก้ไขต้นฉบับ และอ่านซ้ำเมื่อถึงขั้นตอนตรวจปรูฟ ถือเป็นช่วงเวลาที่ผมมีความสุขอย่างยิ่ง และหวังว่าความชอบพอส่วนตัวเหล่านี้ คงจะไม่ตกหล่นพลัดหาย สามารถหลงเหลือมาแบ่งปันสู่ท่านผู้อ่านบ้างตามสมควร

หากนับ “ซามูไรตกดิน” เป็นแค่ของซื้อของขาย ผมคิดว่านี่เป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นอย่างซื่อสัตย์ จริงใจ และไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อ่าน ข้อบกพร่องผิดพลาดต่าง ๆ คงจะมีอยู่และมีเยอะด้วย แต่ก็สืบเนื่องมาจากความอ่อนด้อยและศักยภาพอันจำกัดของตัวผมเอง ไม่ใช่เพราะความมักง่ายฉาบฉวยเลินเล่อ

ตรงนี้ผมสามารถกล่าวยืนยันด้วยความมั่นใจ

ถ้าเปรียบหนังสือที่ผมเขียนแต่ละเล่มเป็นเสมือนลูก ผมรัก “จอมยุทธจับฉ่าย” ในฐานะลูกคนแรก รัก “จับแป๊ะชนแกะและพูห์ทองแท้” ในฐานะเด็กติงต๊องนิสัยซุกซนและไม่ยอมโต

ส่วนคนล่าสุด “ซามูไรตกดิน” ผมรักในฐานะลูกคู่ทุกข์คู่ยาก (และคลอดยาก) นะครับ

(เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ Play Time นิตยสาร Filmmax)

3 ความคิดเห็น:

baipai2001 กล่าวว่า...

อยากให้มีการรวมหนังสือที่พี่นราเขียนด้วยอะคะ จะได้ไปตามเก็บรวบรวมทีเดียวเลย

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

สอยมาแล้วครับ ณ คิโนะสถานกลางเมืองกรุง
เหลืองอบอวลบนสันขอบ
เป็นความคลาสสิกนอกงานกราฟฟิค
ที่ธรรมชาติจงใจทำ
ยืน ดม และเลยผ่าน มาหลายเที่ยวกาล
สุดท้ายก็ถือเป็นพยานรักระหว่างเราสอง
ของการครอบครอง

...........chanpanakrit

chan กล่าวว่า...

สอยมาแล้วครับ ณ คิโนะสถานกลางเมืองกรุง
เหลืองอบอวลบนสันขอบ
เป็นความคลาสสิกนอกงานกราฟฟิค
ที่ธรรมชาติจงใจทำ
ยืน ดม และเลยผ่าน มาหลายเที่ยวกาล
สุดท้ายก็ถือเป็นพยานรักระหว่างเราสอง
ของการครอบครอง

...........chanpanakrit