วันเสาร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ซีรีส์ฝรั่ง โดย "นรา"


ช่วงนี้ผมกำลังติดซีรีส์หนังฝรั่งงอมแงมเหนียวหนึบ

จริง ๆ แล้วก็เคยรับรู้และได้ยินกิตติศัพท์คำร่ำลือว่าสนุกเจ๋งเป้งมาเนิ่นนาน แต่ผมนั้นเป็นเด็ก “เรียนเลว ฐานะยากจน” ไม่มีปัญญาสมัครเป็นสมาชิกเคเบิลทีวี จึงเชยแหลกล่าช้าอดดูมาร่วมสิบปี เวลาพรรคพวกเพื่อนฝูงคุยกันถึงซีรีส์ใหม่ ๆ ผมก็รู้จักอยู่แค่เรื่องเดียวคือ Friends ( มิหนำซ้ำยังรู้จักเฉพาะ seasons แรกอีกต่างหาก)

นี่เป็นปมด้อยรอยด่างทางด้านรสนิยมในการเสพงานบันเทิง ถึงขั้นทำให้ผมโตขึ้นมาเป็น “เด็กมีปัญหา” เป็นภาระแก่สังคมและประเทศชาติ
ปัญหาที่ว่านี่คือ ปัญหาเป็นเด็กหน้าแก่ แต่รสนิยมไม่อัพเดตนะครับ

พอได้ดูพวกซีรีส์ของฝรั่งเข้าจริง ๆ ผมก็มีคำแนะนำ 2-3 อย่าง สำหรับท่านที่ยังไม่เคยดู ถือเป็นข้อพึงระมัดระวัง หรือคำเตือน (ประเทศเรานี่มีคำเตือนเยอะนะครับ ตั้งแต่สลากยา เครื่องดื่มบำรุงกำลัง บุหรี่ สุรา ดีวีดี วีซีดี และรายการทีวี ฯลฯ)

คำเตือนอันดับแรกก็คือ ซีรีส์ของฝรั่งนั้น สนุกจริง ดีจริง แต่ก็อาจส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียง คล้าย ๆ เชื้อโรคดื้อยา คือ ทำให้ดูละครโทรทัศน์ของไทยไม่สนุก ทำให้ดูหนังฮอลลีวูดที่ฉายตามโรงไม่สนุก

เหตุผลนั้นง่าย ๆ ครับ คือ ตามกฎของป๋าดัน (ซึ่งสามารถมั่วนิ่มเรียกได้อีกอย่างว่า “ความกดดัน”) อะไรก็ตามที่มีรสชาติคล้ายใกล้เคียงกัน อันที่เข้มข้นจัดจ้านกว่า จะส่งผลให้อีกอันจืดกว่าไปโดยปริยาย เช่น กินทองหยอดฝอยทองก่อนซดกาแฟ จะส่งผลให้กาแฟ (ซึ่งเติมน้ำตาลประมาณสองช้อน) ปราศจากรสหวานไปทันที

แม้จะเป็นงานที่สร้างออกฉายทางทีวี (และล่าสุดขยายกิจการทำเป็นแผ่นดีวีดีด้วย) แต่ซีรีส์ฝรั่งก็มีมาตรฐานสูง ทั้งงานด้านการเขียนบท (ซึ่งรวบรวมมือเขียนบทชั้นดีจำนวนมาก) และงานสร้าง (ล่าสุดผมดูเบื้องหลังของซีรีส์เรื่อง Lost กล้องที่เขาใช้ถ่ายคือ กล้อง Panavision ซึ่งกระทั่งหนังไทยเรายังไม่มีปัญญาเช่ามาใช้เลยนะครับ)

คำเตือนถัดมาคือ การดูซีรีส์นั้นอาจส่งผลให้เกิดอาการเสพติด แย่งชิงเวลาในชีวิตไปเยอะ จะทยอยดูแบบเก็บเล็กผสมน้อยวันละนิดก็ทำได้ยาก เนื่องจากเริ่มต้นดูไปสักตอนสองตอน ก็หลุดเข้าสู่ภาวะ “หยุดไม่ได้” ต่อมอยากรู้อยากเห็นแผ่ซ่าน ต้องตะลุยดูรวดเดียวไปจนจบ กลายเป็น “หมีแพนด้ามีปัญหา” (หน้าแก่ แถมยังขอบตาดำคล้ำ)

ผมเจออาการติดงอมแงม รั้งไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ กู่ไม่กลับ และหลับไม่ลง จากการดูซีรีส์อย่าง Desperate House Wife, Lost และ Grey’s Anatomy พรรคพวกผมหลายคนดูแล้วเกิดอาการสนุกเร้าใจมาก ถึงขนาด “มือสั่น” ขณะเปลี่ยนแผ่นเพื่อติดตามตอนต่อไป (อีกเรื่องที่ร่ำลือกันว่าสนุกสาหัส จนเพื่อนแนะนำว่า ก่อนดูให้ซื้อผ้าอ้อมมาใส่ เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลาแวะเข้าห้องน้ำก็คือ 24)

ผลข้างเคียงประการสุดท้ายก็คือ บรรดาซีรีส์ทั้งหลายเมื่อติดเข้าให้แล้ว จะก่อให้เกิด
อาการทุรนทุรายกระวนกระวายใจ ระหว่างจบซีซั่น (ด้วยอารมณ์ค้างคา) และยังไม่มีซีซั่นใหม่ ๆ ออกมาให้ดู หรือไม่มีซีรีส์ดี ๆ ชุดอื่นให้ติดตาม

อีตอนนี้แหละครับ ชีวิตจะเคว้งคว้างว่างโหวงไร้จุดหมายถึงขีดสุด ยิ่งกว่าเลิกกับแฟนสามคนรวมกันเสียอีก (โวหารพาไปนะครับ ในชีวิตจริงผมน่าจะใช้เวลาเกิดใหม่สามชาติ เพื่อจะเลิกกับแฟนรวมแล้วให้ได้หนึ่งคน) จะเดินหน้าลุยต่อก็ไม่มีอะไรให้ดู (ยกเว้นว่า หันไปติดตามซีรีส์หนังเกาหลี ซึ่งผมยังไม่ได้ลงมือทำการทดลองว่าจะได้ผลอย่างไร) จะถอยหลังหันมาดูละครโทรทัศน์หลังข่าว ก็หันกลับไม่ค่อยถูกและไม่สนุกเหมือนที่เคยเป็น

ผมนั้นมีปัญหาส่วนตัวเพิ่มเติมในการดูซีรีส์อีกอย่างหนึ่ง (นอกเหนือจากปัญหาหน้าแก่) นั่นคือ ความจำสั้น จะให้ดูแบบคนอเมริกันที่ติดตามทีละตอนทีละสัปดาห์ก็ไม่ได้ เพราะจะลืมหมด จนต่อไม่ติด ต้องดูกันทีละซีซั่นเป็นอย่างต่ำ กระนั้นก็ยังเอาไม่อยู่ พอเว้นช่วงกลับมาดูซีซั่นถัดมา ผมก็ต้องหยิบเอาที่เคยดูมารื้อฟื้นใหม่จนหมด

ยกตัวอย่างเช่น (คำเตือน:ย่อหน้าต่อไปนี้อาจจะอ่านแล้วงง ผู้ปกครองโปรดพิจารณาและให้คำแนะนำแก่บุตรหลานด้วย) ผมดู Friends ปี 1 จบ พอจะเริ่มปี 2 ผมก็ต้องกลับไปดูปี 1 อีกครั้ง (งงหรือยังครับ) พอจะเริ่มปี 3 ผมก็ต้องย้อนดูปี 1 และปี 2 ทำอย่างนี้เรื่อยไปจนกระทั่งถึงปีที่ 10 ซึ่งทำให้ผมต้องวกกลับไปดูปีที่ 1 ถึง 10 เที่ยว (เอาล่ะ อ่านถึงตรงนี้ก็ควรจะงงได้แล้วนะครับ)

ที่แย่กว่านั้นก็คือ ผมเริ่มติดซีรีส์ (เพิ่งนึกได้ว่าลืมแปล “ซีรีส์” นี่เรียกกันง่าย ๆ ว่า “หนังชุด” นะครับ) พร้อม ๆ กันทีเดียวประมาณ 4-5 เรื่อง เมื่อดูจบแล้ว ก็เกิดอาการค็อกเทล คือนำเอาอันโน้นมาผสมกับอันนี้มั่วไปหมด

เวรกรรมมีจริงครับ ทุกอย่างเป็นไปตามที่แม่ค้าส้มตำผู้มีจิตใจธัมมะธัมโมแถวบ้านผมว่าไว้ (ส้มตำเจ้านี้มีสโลแกนประจำร้านว่า “ตำดีได้ดี ตำซั่วได้ซั่ว”) ผมดูซีรีส์แบบมั่ว ๆ เหตุการณ์จึงปนเปกันอีรุงตุงนัง กลายเป็นจับฉ่ายอีกเรื่องหนึ่ง ว่าด้วยกลุ่มแม่บ้านหมอฝึกหัดเครื่องบินตกไปติดอยู่บนเกาะร้างพิลึกพิลั่นที่อะไรก็สามารถเกิดขึ้นและเป็นไปได้หมด

อย่างไรก็ตาม ข้อดีของการดูซีรีส์ฝรั่งก็มีอยู่ ผมคิดว่างานกลุ่มนี้ เป็นแบบอย่างตำราชั้นดีในการฝึกฝนเกี่ยวกับ “วิธีการเล่าเรื่อง” ชนิด “ซัดคนดูอยู่หมัด” (ใครที่ใฝ่ฝันอยากทำงานเป็นคนเขียนบท ผมขอแนะนำให้ดูซีรีส์พวกนี้เยอะ ๆ)

จริง ๆ แล้วซีรีส์ฝรั่งนี่ก็น้ำเน่านะครับ เต็มไปด้วยฉากคุ้นเคยที่เห็นกันมานักต่อนักนับครั้งไม่ถ้วน พูดตรง ๆ ก็คือ ไม่ใช่งานสร้างสรรค์แปลกใหม่บริสุทธิ์ แต่ทีเด็ดทีขาดก็คือ การเล่นกับเรื่องเก่า ๆ ได้อย่างแม่นยำ รวมทั้งมีวิธีบิดวิธีพลิกผันฉีกออกไปจนเหนือความคาดหมาย (ตรงตามหลักการของหลวงพ่อวิลเลียมส์ โกลด์แมน มือเขียนบทชั้นครู ซึ่งกล่าวถึงเคล็ดลับในการสร้างตอนจบชั้นดีเอาไว้ว่า “ควรจบในแบบที่ผู้ชมอยากเห็น แต่ด้วยวิธีการที่พวกเขานึกไม่ถึง”) ซีรีส์ดัง ๆ ของฝรั่ง ล้วนเต็มไปด้วยอะไรทำนองนี้อยู่ตลอดเวลา

จะเป็นข้อดีหรือข้อเสียก็ไม่รู้นะครับ ระหว่างดูซีรีส์เหล่านี้ นอกเหนือจากดูเพื่อความบันเทิงและทรมานสังขารตนเองแล้ว ถ้ามีโอกาสสิ่งหนึ่งซึ่งผมพยายามทำอยู่เสมอก็คือ ทำใจเป็นคนเขียนบท สมมติล่วงหน้าว่าตรงนี้ควรจะคลี่คลายอย่างไรต่อไป พูดง่าย ๆ คือ เล่มเกมทายใจคนเขียนบท

เกมนี้ ผมเดาถูกเป๊ะ ๆ ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ คาดเดาได้คร่าว ๆ ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ว่าประเดี๋ยวเรื่องจะต้องมาถึงแนว ๆ นี้ ส่วนอีก 50 เปอร์เซ็นต์ผิดกระจุยกระจาย

พูดแบบให้ตัวเองดูดี ผมคิดว่านี่เป็นการดูเพื่อให้รู้เท่าทัน แต่พูดแบบให้ฟังดูเลว จะเรียกว่ามันเป็นอาการฟุ้งซ่านของคนที่กินอิ่มแล้วไม่มีอะไรทำก็ได้เช่นกัน

รายงานเชิง “อวิชาการ” เรื่องเอาซีรีส์มาขายสวน สอนจระเข้ให้ไปเที่ยวฟาร์มจระเข้ (เพื่อหาเงินค่าเรื่องสำหรับดูซีรีส์อื่น ๆ) ก็จบลงเพียงเท่านี้ ผมได้ยินมาแว่ว ๆ ว่าซีรีส์เรื่อง nip/tuck และ Veronica Mars ก็น่าดูไม่หยอก ต้องรีบไปหามาดูซะหน่อย





(เขียนเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2550 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ Romantic Comedy นิตยสาร Hamburger)

ไม่มีความคิดเห็น: