วันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ลูกสาวกาลิเลโอ โดย "นรา"


พูดแบบย่นย่อรวบรัดที่สุด หนังสือเรื่อง Galileo’s Daughter (ฉบับแปลภาษาไทยใช้ชื่อว่า “ธิดากาลิเลโอ”) มีเนื้อหาว่าด้วยการบอกเล่าชีวประวัติของกาลิเลโอ ได้อย่างละเอียดถี่ถ้วนจนใกล้เคียงกับคำว่าสมบูรณ์แบบ


หนังสือเล่มนี้เขียนโดยเดวา โซเบิล (ผมสะกดตามหนังสือฉบับแปลภาษาไทยนะครับ เพราะถ้าผมเจอะเจอแล้วสะกดเองตามลำพัง ก็คงออกมาเป็น “ดาวา โซเบล” เนื่องจากชื่อภาษาอังกฤษของเธอคือ Dawa Sobel) อาชีพหลักของเธอก็คือ การเขียนบทความทางวิทยาศาสตร์ให้แก่นิตยสารชั้นนำหลาย ๆ ฉบับ และประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับ ด้วยการได้รางวัลต่าง ๆ มากมาย


โซเบิลสนใจหลงใหลเรื่องราวของกาลิเลโอมาตั้งแต่วัยเด็ก และบรรลุเป้าหมายความใฝ่ฝันด้วยงานเขียนชิ้นสำคัญอย่าง Galileo’s Daughter ซึ่งเกิดจากการค้นคว้ารวบรวมข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจดหมายจำนวน 124 ฉบับ ที่แม่ชี มาเรีย เซเลสต์ ลูกสาวคนโตของกาลิเลโอ เขียนถึงพ่อของเธอ


เดวา โซเบิลเรียบเรียงเรื่องราวของกาลิเลโอออกมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ และแสดงให้เห็นถึงความขยันขันแข็งในการค้นคว้า รวมทั้งความเก่งกาจในการ “เล่นกับข้อมูล” ไม่เพียงแต่จะบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของกาลิเลโอเอาไว้ค่อนข้างครอบคลุมทุกแง่ทุกมุมเท่านั้น ทว่ายังสามารถอธิบายให้เห็นถึงขั้นตอนต่าง ๆ เกี่ยวกับแนวความคิดและการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องราวในเชิงวิชาการที่ซับซ้อน ให้กลายเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ผู้อ่านสามารถติดตามได้อย่างเข้าอกเข้าใจ


นี่ยังไม่นับรวมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยข้อมูลหลักฐาน ซึ่งทำให้หลายเรื่องที่เรา ๆ ท่าน ๆ เคยคิดว่า “รู้” กลายเป็นเรื่องแปลกใหม่ราวกับเพิ่งเคยผ่านตาเป็นครั้งแรก รวมทั้งหลายอย่างที่เชื่อฝังใจไขว้เขว ก็ได้รับการปรับแก้เสียใหม่ให้ถูกต้องยิ่งขึ้น ด้วยรายละเอียดของหลักฐานอันน่าเชื่อถือ (ยิ่งกว่า)


ที่น่าทึ่งก็คือ ลีลาการเขียนที่กระชับฉับไวและมีชีวิตชีวา นอกจากจะทำให้ประวัติชีวิตอันดูเหมือนจะเต็มไปด้วยความหนักอึ้งตึงเครียดของกาลิเลโอ กลายเป็นเรื่องชวนอ่านชวนติดตามอย่างยิ่งแล้ว โซเบลยังเก่งกาจในการค่อย ๆ โน้มน้าวดึงอารมณ์ของผู้อ่าน ให้เกิดความรู้สึกร่วมคล้อยตามเรื่องราวเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด จนมีคำวิจารณ์เมืองนอกบางชิ้นยกย่องว่า โซเบิลเขียนได้ดีมากกระทั่งผู้อ่านแทบจะได้ยินน้ำเสียงสำเนียงของกาลิเลโอเลยทีเดียว


ใครที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว คงจะทราบดีว่าไม่ใช่คำสรรเสริญเยินยอที่เกินจริง เพราะโซเบิลเลือกใช้ถ้อยความในจดหมายของมาเรีย เซเลสต์, กาลิเลโอ รวมถึงบุคคลต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องห้อมล้อมได้อย่างชาญฉลาดและเนียนมาก จนหลายบทหลายตอนให้ความรู้สึกใกล้เคียงกับการสนทนาโต้ตอบพูดคุยกันในนิยายหรือเรื่องแต่ง


ความยอดเยี่ยมประการถัดมาก็คือ นอกจากจะแจกแจงเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของกาลิเลโอได้อย่างถึงพร้อมแล้ว งานเขียนชิ้นนี้ยังไปได้กว้าง ไกล และลึกซึ้งกว่านั้น โดยสาธยายให้เห็นถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ทางสังคมทั้งในกรุงโรม ฟลอเรนซ์ ละแวกแถบถิ่นชนบท รวมถึงชีวิตปิดล้อมในสำนักนางชี


นี่ยังไม่นับรวมรายละเอียดเบื้องลึกทางการเมืองในอิตาลีและประเทศใกล้เคียง ความเป็นไปสารพัดเหตุการณ์ในแวดวงศาสนา การเกิดโรคระบาดร้ายแรงที่คร่าชีวิตผู้คนไปหลายสิบล้าน ตลอดจนบรรยากาศทางวิชาการในหมู่เหล่าปัญญาชนสมัยนั้น


พูดง่าย ๆ ก็คือ อ่านแล้วก็สามารถจินตนาการเห็นภาพ บรรยากาศ ตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของ “ยุคกลาง” ในยุโรปได้อย่างแจ่มชัด ราวกับเดินทางย้อนเวลาไปด้วยตนเอง


ที่สำคัญคือ ประเด็นว่าด้วยความเชื่อ ศรัทธา และความรัก ซึ่งนำเสนอออกมาได้อย่างซาบซึ้งตรึงใจและสะเทือนอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ภาพของกาลิเลโอทั้งในฐานะนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ และในฐานะมนุษย์ปุถุชนที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ผ่านร้อนผ่านหนาว เจอะเจอความสำเร็จ พบความล้มเหลว กระทำสิ่งถูกต้องและก่อข้อผิดพลาดเอาไว้ครบถ้วน


เหนือสิ่งอื่นใดคือ ความผูกพันห่วงใยอันล้ำลึกระหว่างกาลิเลโอกับลูกสาว ซึ่งเป็นแง่มุมที่น่าประทับใจมากสุดในงานเขียนชิ้นนี้


ผมได้ยินชื่อเสียงเรื่องราวของกาลิเลโอมาตั้งแต่สมัยเรียนตอนเด็ก ๆ ทว่าหลังจากอ่าน Galileo’s Daughter จบลง ผมคิดว่าเพิ่งเริ่มต้นทำความรู้จักเรื่องราวในชีวิตกาลิเลโออย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก และพบว่าที่ผ่าน ๆ มานั้นเป็นความ “ไม่รู้” ที่ว่างเปล่าเหลือเกิน

หมายเหตุ

หนังสือเรื่อง “ธิดากาลิเลโอ” พิมพ์ออกมาเมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว น่าแปลกอยู่เหมือนกันคือ ผมเจอะเจอในร้านหนังสือแห่งหนึ่งแล้วซื้อมา ถัดจากนั้นก็ไม่เคยพบเห็นวางขายที่ไหนอีกเลย
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขออนุญาตลงที่อยู่ของสำนักพิมพ์ไว้ ณ ที่นี้ สำหรับท่านที่สนใจจะได้สามารถติดตามถามไถ่สั่งซื้อกันนะครับ
สำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์ม 104/5 ถนนเชียงใหม่-ฮอด หมู่ 7 ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 52000 โทรศัพท์ 053-271889 โทรสาร 053-275178 e-mail : silkworm@loxinfo.co.th


(เขียนเมื่อประมาณปี 2547 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ “เขียนคาบเส้น” ยุคหลัง ใน Metro Life ซึ่งเป็นเซ็คชันที่พ่วงมากับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันเสาร์ เดิมผมใช้ชื่อคอลัมน์นี้ เพราะกำหนดเนื้อหาเอาไว้ว่าจะเป็นเช่นเดียวกับ “เขียนคาบเส้น” ยุคแรก แต่ทำไปทำมา ผมเกิดเบื่อขึ้นมาเสียเอง จึงกลายมาเป็นคอลัมน์ประเภทแนะนำหนังสือไปโดยปริยาย ในการเผยแพร่ครั้งนี้ ผมแก้ไขเฉพาะคำที่สะกดผิด ที่เหลือคงไว้ตามเดิม)

ไม่มีความคิดเห็น: