วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

เมกะโปรเจ็กต์ โดย "นรา"


นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2551 เป็นต้นมา ความสนใจและรสนิยมความชอบของผมก็ข้ามฟาก เปลี่ยนจากเดิม ราวกับเป็นคนละคน กำลังดูหนังฝรั่ง ฟังเพลงร็อคช่วงทศวรรษ 1970 อ่านวรรณกรรมแปลหลากสัญชาติอยู่เพลิน ๆ

จู่ ๆ ทันใดนั้นเอง ความเป็นไทยก็หล่นใส่หัวดังโครม ทำให้ผมหันมาบ้าดูจิตรกรรมฝาผนัง

ต้นสายปลายเหตุ เริ่มจากผมไปอ่านพบบทความชิ้นหนึ่งของท่านครู น. ณ ปากน้ำ กล่าวถึง การวาดภาพประชันฝีมือกันระหว่างครูทองอยู่ (หลวงวิจิตรเจษฏา) และครูคงแป๊ะ (หลวงเสนีย์บริรักษ์) ที่วัดสุวรรณาราม และอีกหลาย ๆ แห่ง

ตอนนั้นผมรู้สึกแค่ว่า เรื่องนี้สนุกดี น่าจะนำมาเขียนเป็นบทความเล่าสู่กันฟังอีกทอด

แต่ปัญหาก็คือ เรื่องราวของครูช่างทั้งสองท่านนี้ มีการบันทึกประวัติชีวิตเป็นลายลักษณ์อักษรเอาไว้เพียงน้อยนิด พ้นจากที่ต่างก็เป็นยอดจิตรกรผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยรัชกาลที่ 3 และเป็นคู่แข่งคู่ปรับกันเองแล้ว เรื่องราวและรายละเอียดอื่น ๆ ที่เหลือก็กล่าวได้ว่า ว่างเปล่า และจุด...จุด...จุด... ไม่มีข้อความใด ๆ เจือปน

ผมจำได้ลาง ๆ ว่า เคยผ่านตาหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ “ครูคงแป๊ะและครูทองอยู่” ของสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ซึ่งน่าจะสร้างความกระจ่างเพิ่มเติมขึ้นมาได้บ้าง จึงออกตระเวนค้นหาตามร้านขายหนังสือเก่าทุกแห่งเท่าที่รู้จัก ไม่ว่าจะเป็นแถวตลาดนัดสวนจตุจักร, แยกลำสาลี, ปากทางลาดพร้าว รวมทั้งร้าน “ริมขอบฟ้า” ละแวกอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นแหล่งที่มีผลงานเกี่ยวกับโบราณคดี, ประวัติศาสตร์ และศิลปะไทยเยอะแยะมากสุดแห่งหนึ่ง

ผลก็คือ หาไม่เจอหรอกนะครับ หนังสือเล่มนั้นพิมพ์จำหน่ายและวายจากตลาดไปนานแล้ว

ผมก็เลยใช้มาตรการขั้นถัดมา คือ หวนคืนสู่วงการ “เข้าห้องสมุด”

ย้อนหลังไปเมื่อครั้งยังไม่มีอินเตอร์เน็ต ผมได้ชื่อว่าเป็นพวกเสพติดการเข้าห้องสมุดอยู่เหมือนกัน มาเลิกร้างห่างหายไป ก็เพราะห้องสมุดตามสถาบันการศึกษาต่างๆ นั้น ถ้าไม่ได้เป็นศิษย์เก่าหรือนักศึกษาในปัจจุบันแล้ว ก็จะได้รับเกียรติเป็น “บุคคลภายนอก” ซึ่งมีสิทธิพิเศษหลายประการ ทั้งเข้ายาก, ไม่มีสิทธิยืม และอาจจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเข้าใช้บริการ ฯลฯ

ประกอบกับงานเขียนในระยะหลัง ๆ ของผม ไม่ค่อยเน้นไปที่ “ข้อมูล” มากนัก กิจธุระอันจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยห้องสมุดจึงค่อย ๆ น้อยลง ติดขัดอะไรก็ใช้วิธีค้นทางอินเตอร์เน็ต ส่วนวรรณกรรม นิยาย เรื่องสั้น ผมก็ซื้อกักตุนเอาไว้เยอะ จนคาดว่าใช้เวลาอีก 20 ปีก็อ่านหนังสือที่มีอยู่ได้ไม่จบครบทุกเล่ม

อย่างไรก็ตาม ตอนที่อยากจะสืบเสาะหารายละเอียดเกี่ยวกับครูทองอยู่และครูทองแป๊ะ ผมก็ตระหนักได้ทันทีว่า ไม่มีวิธีไหนดีไปกว่า การเข้าห้องสมุดอีกแล้ว
ห้องสมุดที่เก็บรวบรวมหนังสืออันเหมาะและตรงกับความอยากรู้อยากเห็นของผมมากสุด ก็คือ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ

เมื่อไปที่ห้องสมุด (ซึ่งตอนนี้ผมกลายเป็นขาประจำของที่นั่นเรียบร้อยแล้ว และขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ ตลอดจนร้านถ่ายเอกสารในนั้น สำหรับการอำนวยความสะดวกมากมาย) ก็ได้เจอหนังสือเล่มที่ค้นหาสมดังตั้งใจ

หนังสือ “ครูคงแป๊ะและครูทองอยู่” ไม่ได้ช่วยคลี่คลายให้ความกระจ่างเกี่ยวกับประวัติชีวิตครูช่างทั้งสองท่านหรอกนะครับ เคยมืดมนสงสัยมาอย่างไร ก็ยังคงไว้ซึ่งปริศนาเดิม ๆ ทุกประการ แต่สิ่งหนึ่งซึ่งน่าตื่นเต้นมากก็คือ แพรวพราวไปด้วยรูปถ่ายงานจิตรกรรมฝาผนัง ฝีมือของสองครูผู้ยิ่งใหญ่ (เท่าที่ยังเหลือปรากฎมาจนถึงปัจจุบัน) พร้อมทั้งคำอธิบายประกอบ

ผมก็เลยซีร็อกซ์สีภาพเด่น ๆ มาดูเล่น รวมทั้งส่วนที่เป็นเนื้อหาคำอธิบาย เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนจะหาโอกาสไปดูของจริงที่วัดสุวรรณาราม

และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเที่ยว ผมก็ถือโอกาสถ่ายสำเนาหนังสืออีกหลายเล่ม ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนัง ทั้งในแง่ประวัติความเป็นมา, การวิเคราะห์ตีความในเชิงสัญลักษณ์, ลำดับสถานจิตรกรรมแหล่งสำคัญ ๆ ทั่วประเทศ ฯลฯ

ระหว่างนั่ง ๆ นอน ๆ อ่านและดูรูปภาพเพื่อ “ทำการบ้าน” นั้นเอง ผมก็เดาเรื่อยเปื่อยจินตนาการไปต่าง ๆ นานา เกี่ยวกับประวัติชีวิตของครูทองอยู่และครูคงแป๊ะ, การขับเคี่ยวประลองฝีมือระหว่างทั้งสองท่าน

มารู้ตัวอีกที สิ่งที่ผมทำลงไป ก็เหมือนกับกำลังคิดพล็อตหนังหรือนิยายนั่นเอง

ตอนนี้นี่แหละครับ ที่ในหัวของผมเริ่มเกิดเชื้อก่อตัว “คิดการใหญ่” ขึ้นมา

ผมอยากเขียนนิยายเกี่ยวกับครูช่างทั้งสองท่านนะครับ

ชั้นต้นก็ยังคงเป็นเพียงความคิดแบ่งรับแบ่งสู้ ไม่จริงจังอะไรมากนัก เพราะผมตระหนักดีอยู่แก่ใจว่า “ยาก” เกินสติกำลังและความสามารถ

นี่ยังไม่นับรวมว่า ผมปราศจากความรู้ห้อมล้อมทุกด้านโดยสิ้นเชิง ลำพังแค่เรื่องเกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนังก็โง่สนิทแล้วล่ะ แง่มุมอื่น ๆ ที่เหลือ อย่างเช่น เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์, รายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น, สำนวนภาษาของยุคสมัยนั้นฯลฯ ล้วนกล่าวได้ว่า เป็นเรื่องไกลตัวสุดกู่
แค่คิดเล่น ๆ ฝันเล่น ๆ นะครับ แต่ยังขยาดหวาดหวั่นอยู่ไม่กล้าลงมือเอาจริง

จนกระทั่งผมมีโอกาสได้เห็นภาพวาดฝีมือครูทองอยู่และครูคงแป๊ะ “ของจริง” นอกจากจะตื่นตะลึงด้วยความสวยงามในระดับน่าอัศจรรย์แล้ว บรรยากาศในพระอุโบสถ ก็มีมนต์ขลังอันพิเศษชนิดหนึ่ง ซึ่งยากจะบรรยาย โดยเฉพาะเมื่อมองผ่านสายตาไปเห็น ผลงานของครูช่างทั้งสอง ตั้งเรียงเคียงข้างติดกัน

เห็นแล้วผมก็ยิ่งอยากเขียนนิยาย แม้จะยังไม่ถึงกับตัดสินใจขั้นเด็ดขาดเป็นมั่นเป็นเหมาะ แต่ผมก็ทดลอง เริ่มต้นดำเนินการ “หาข้อมูล”

ตอนนี้นี่เอง ที่ทำให้ผมหลงใหลการดูจิตรกรรมฝาผนังอย่างจริงจัง จนแตกแขนงกลายเป็นอีกโปรเจ็กต์ นั่นคือ เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ เป็นซีรีส์ยืดยาว (อย่างน้อยที่สุด ก็คงจะได้เป็นพ็อคเก็ตบุคหนึ่งเล่ม)

ผ่านไปสามเดือนกว่า ๆ ความคืบหน้าก็คือ ตอนนี้มีหนังสือและเอกสาร ซึ่งผมซื้อหามาบ้างส่วนหนึ่ง ซีร็อกซ์จากห้องสมุดอีกส่วนหนึ่ง วางกองเรียงรายอยู่เต็มบ้าน ราว ๆ 200 เล่ม หมดเงินไปก้อนใหญ่จนบางครั้งก็รู้สึกใจหาย

ผมยังไม่ได้เริ่มต้นตะลุยอ่านอย่างจริงจังมากนัก ยังอยู่ในระหว่างเล็ม ๆ เลียบ ๆ เคียง ๆ แต่เพียงเท่านี้ก็ทำให้เกิดภาวะ “บานปลาย” คือ หยิบอ่านเล่มหนึ่ง ทำให้เจอะเจอรายชื่อหนังสือที่ควรเสาะหาเพิ่มเติมมาได้อีกนับสิบ

จากหัวข้อแรกเริ่มคือ เนื้อหาจำเพาะเจาะจงอยู่ที่จิตรกรรมฝาผนังเพียงอย่างเดียว ล่าสุดได้แพร่ลามข้ามแดนไปสู่ประเด็นหัวข้ออื่น ๆ จนกล่าวได้ว่า “กู่ไม่กลับ”
กล่าวคือ มีทั้งวิทยานิพนธ์, พระราชพงศาวดาร, งานวิจัย, นิยายอิงประวัติศาสตร์, จดหมายเหตุ, สารานุกรรมวัฒนธรรม, ตำรับตำราซึ่งครอบคลุมเนื้อหาหลาย ๆ แง่มุม (เช่น เรื่องนาฏศิลป์, พระพุทธประวัติ, ชาดก, ละคร, หุ่นไทย, ดนตรีไทย ฯลฯ)

ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากขั้นตอน “ค้นข้อมูล” ทำให้ผมไม่ได้บ้าแค่จิตรกรรมฝาผนังเท่านั้นนะครับ แต่ตอนนี้ยังกินแดนไปสู่ การพกพาเด็กชายพี่หมีไปดูโขน, เริ่มตระเวนเสาะหาซีดีเพลงไทยมาฟัง, หลงใหลสนใจทุกอย่างอันเกี่ยวกับเรื่องไทย ๆ ในอดีต ฯลฯ

เพื่อนหลายคนถึงขั้นทำนายทายทักว่า เหลืออีกสองอย่างเท่านั้นแหละที่ผมยังไม่ได้ทำ นั่นคือ นั่งถือแว่นขยายส่องดูพระเครื่องริมถนนแถว ๆ ท่าพระจันทร์ และเข้าสู่วงการ “เคี้ยวหมาก”

นับจากปฏิบัติการไล่ล่าหาข้อมูลเรื่อยมา โครงการเขียนนิยายของผม ก็ยังอยู่ในภาวะสองจิตสองใจ ไม่ฟันธงลงไปแน่ชัดว่า จะ “ลุย” หรือจะ “ล้ม” ดีหว่า

อารมณ์ทั้งสองอย่างนั้น เกิดขึ้นสลับกันไปมาอยู่ตลอดเวลา บ่อยครั้งเมื่อพบว่า การหาข้อมูลติดขัดชะงักงัน ผมก็นึกงอแงขึ้นมาเหมือนกันว่า ไม่ทงไม่ทำมันแล้ว แต่บางคราวที่เจอะเจอหนังสือหรือข้อมูลบางอย่างน่าสนใจ และ “เข้าทาง” สามารถนำมาใช้งานได้ ผมก็คิดในทางตรงกันข้าม รู้สึกคึกคักฮึกเหิม

เรื่องก็เลยคาราคาซัง ทำท่าร่อแร่สลับกับรุ่งอยู่เรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ระหว่างที่กำลังรู้สึก “เซ็งห่าน”โครงการสวยหรูของผมมีแนวโน้มสูงยิ่งว่าริบหรี่ใกล้มอดดับ หมดงบประมาณไปเยอะ, ข้อมูลที่ได้มากองเบ้อเริ่มเทิ่ม เทียบเท่ากับสิ่งที่จำเป็นต้องศึกษาค้นคว้าและยังขาดแคลนอยู่ ก็เหมือนถมดินจำนวนแค่หยิบมือลงไปในบึงน้ำอันกว้างใหญ่

นี่ยังไม่นับรวมข้อจำกัดเรื่องเวลาของผมเอง ซึ่งยังต้องเจียดแบ่งให้กับการดูหนัง เพื่อเขียนบทความยังชีพ, ทุนรอนงบประมาณอันน้อยนิด (ผมดันเลือกสนใจในหัวข้อประเด็นที่หนังสือหนังหาค่อนข้างมีราคาสูงอยู่สักหน่อย), อุปสรรคหลาย ๆ อย่าง ซึ่งยังไม่เห็นวี่แววหรือช่องทางเป็นไปได้ (เช่น การหาโอกาสไปดูช่างเขียนวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังตามโบสถ์จริง ๆ แบบตัวเป็น ๆ, พูดคุยกับผู้รู้ทางด้านศิลปะไทย, ดนตรีไทยฯลฯ) รวมถึงความกึ่งยากกึ่งสะดวกในการไปรบกวนขอกุญแจไขประตูพระอุโบสถจากพระสงฆ์ตามวัดหลาย ๆ แห่ง ฯลฯ

ในวันที่ผมกำลังคอตกอกหักกับอภิมหาโครงการ ระหว่างเดินเรื่อยเปื่อยแถว ๆ ถนนด้านหลังวัดกัลยาณมิตร ตามรายทางนั้นเอง ข้อมูลต่าง ๆ ก็วิ่งมาชนผมดังโครม ผ่านวัด-ที่เล็งไว้ในแต่แรกว่าจะต้องดั้นด้นค้นหา เพื่อดูงานจิตรกรรม-โดยบังเอิญ, ผ่านบ้านพาทยโกศล ซึ่งมีป้ายของกทม. บอกเล่าประวัติความสำคัญคร่าว ๆ (จนทำให้ผมได้รู้จักชื่อของท่านครูจางวางทั่ว พาทยโกศลเป็นครั้งแรก และที่ฟลุคมากก็คือ เย็นวันนั้นเมื่อกลับถึงบ้าน หยิบสุ่ม ๆ หนังสือเล่มหนึ่งที่วางกองอยู่ ก็พบบทความว่าด้วยประวัติชีวิตของนักดนตรีไทยผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้โดยบังเอิญ)

เรื่องของท่านครูจางวางทั่ว ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับโครงการเขียนนิยายของผมหรอกนะครับ แต่อ่านแล้วผมก็ได้วัตถุดิบสำหรับเขียนบทความเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งชิ้น ได้สดับรับรู้เรื่องราวที่สนุกน่าประทับใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเรื่องของท่านครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ซึ่งกลายเป็นต้นตอแรงบันดาลใจให้เกิดเป็นหนัง “โหมโรง”
ที่สำคัญ นี่เป็นร่องรอยเบาะแสอีกทาง ในการที่จะซอกแซกเลี้ยวเลาะเข้าไปสืบค้นเรื่องเกี่ยวกับดนตรีไทย อันเป็นข้อมูลเบื้องต้นอีกส่วนหนึ่งสำหรับเม็กกะโปรเจ็กต์ของผม

พูดให้ดูเป็นเรื่องโชคลางอภินิหารสักหน่อย ระหว่างออกตระเวนค้นข้อมูล ผมนั่งรถเมล์ผ่านบริเวณ ลานพลับพลาเจษฎามหาบดินทร์ เชิงสะพานผ่านฟ้าอยู่หลายครั้ง ผ่านทีไรก็ต้องยกมือไหว้พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมกะโปรเจ็กต์ของผม เกี่ยวพันกับพระองค์ท่านอยู่มาก ด้วยยุคสมัยช่วงเวลาตามท้องเรื่อง จนอาจกล่าวได้ว่า นอกเหนือจากเรื่องรายละเอียดในการสร้างงานจิตรกรรมฝาผนังและชีวิตของครูช่างแล้ว สภาพสังคมไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 ก็จะเป็นอีกองค์ประกอบหลักที่สำคัญไม่แพ้กัน

อาจเป็นอุปาทานคิดไปเอง แต่ผมก็ยินดีและเต็มใจเชื่อ หลังจากไหว้พระองค์ท่าน แอบขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลแล้ว หลายสิ่งหลายอย่างที่เคยติดขัดก็พลันลื่นไหล ข้อมูลวิ่งเข้าหาอีกหลายระลอก

ถึงขั้นนี้ ผมก็ตัดสินใจเดินหน้าเต็มตัว และตรงดิ่งไปที่วัดราชโอรส ริมคลองด่าน เพื่อไหว้และบอกกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ เพื่อป่าวประกาศเริ่มต้นการเขียนนิยายอย่างเป็นทางการ คล้าย ๆ กับพิธีบวงสรวงก่อนเปิดกล้องของวงการหนังไทย

เมกะโปรเจ็กต์ของผม ยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววันหรอกนะครับ ผมกำหนดไว้แล้วว่า จะใช้เวลาถัดจากนี้อีก 5 ปี สำหรับการค้นคว้าหาข้อมูล

ครบ 5 ปีเมื่อไร หากปรากฎข้อมูลชนิดได้น้ำได้เนื้อเพียงพอ และยังกระตือรือล้นสนใจ โดยไม่เบื่อหน่ายไปเสียก่อน ถึงตอนนั้นก็คงจะได้เริ่มต้นลงมือเขียน
หากครบ 5 ปีแล้ว ข้อมูลยังกระพร่องกระแพร่งแหว่งวิ่น หรือผมหันเหไปสนใจเรื่องอื่น ๆ (อันเป็นนิสัยถาวรของผม ซึ่งเห่อและเบื่ออะไรเป็นพัก ๆ ไม่ค่อยคงทนถาวร) นิยายเรื่องนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ผมสามารถยืนยันได้แน่ ๆ คือ ระหว่างเตรียมตัวในขั้นพรีโพรดักชัน ค้นข้อมูลอะไรต่อมิอะไรต่าง ๆ ผมเจอะเจอวัตถุดิบเรื่องราวที่น่าสนใจเยอะแยะเต็มไปหมด

ชนิดที่ว่า สามารถเขียนบทความให้อ่านกันได้ตลอดทั้งปี โดยไม่อับจนประเด็นเลยทีเดียว

นี่เป็นสาเหตุใหญ่ ซึ่งทำให้ข้อเขียนระยะหลัง ๆ ของผม หนักมาทางประเด็นศิลปวัฒนธรรมย้อนอดีต

เพื่อที่จะเขียนนิยาย ผมก็เลยต้องสืบเสาะค้นหาข้อมูลเรื่องราวเก่า ๆ ทำไปทำมาก็ส่งผลครอบคลุมไปถึงรสนิยมการใช้ชีวิตไปโดยปริยาย

เข้าวัดเข้าวา ดูของเก่า ๆ ฟังเพลงไทยเดิม อ่านเรื่องย้อนยุค จะให้ผมเขียนอะไรอยู่ในกระแสอินเทรนด์ก็เห็นจะลำบาก

จริง ๆ แล้ว การทำงานในลักษณะคิดการใหญ่ใด ๆ ก็ตาม สมควรอุบเงียบ ไม่ต้องป่าวประกาศโพนทะนาให้ใครล่วงรู้ จะได้ไม่ต้องมาอับอายขายหน้าในภายหลัง เมื่อมันล้มเหลวไม่เกิดขึ้นจริง
แต่ผมนำมาเล่าสู่กันฟังก็เพราะเริ่มเหนื่อยนะครับ

คือ ช่วงหลัง ๆ ผมเจอคำถามเยอะ ว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมจึงหมกมุ่นเขียนถึงแต่เรื่องจิตรกรรมฝาผนัง

มีคำถามเกิดขึ้นทีไร ก็ต้องเสียเวลาอธิบายยืดยาว จนเมื่อยปากเจ็บคอร่ำไป ผมก็เลยคิดว่า น่าจะเขียนบอกกล่าวเอาไว้ให้เป็นกิจจะลักษณะ

แม้ว่าญาติโยมใกล้ตัวที่ไต่ถามเรื่องเหล่านี้ จะไม่ค่อยได้เข้ามาอ่านในบล็อกของผมสักเท่าไร

ผมก็เลยเขียนไว้ แล้ว print ออกมาหนึ่งชุด เพื่อพกติดตัว ใครสงสัยหรือไต่ถาม ก็จะได้ยื่นให้อ่านเอาเอง

ลืมบอกนะครับ เหตุผลที่ผมระบุจำเพาะเจาะจงว่า ต้องเอาฤกษ์เอาชัย ณ วัดราชโอรส ก็เป็นอีกเรื่องราวหนึ่ง ซึ่งจะเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อ ๆ ไป






(เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกที่นี่ 24 กุมภาพันธ์ 2552 ภาพประกอบเป็นบริเวณภายในพระอุโบสถ วัดราชโอรส วันที่ผมไปนั้นประตูโบสถ์ปิด แต่หน้าต่างเปิดทิ้งไว้ จึงถือวิสาสะถ่ายจากด้านนอก ผ่านลูกกรงเหล็กดัด จับภาพได้เต็มที่เท่านี้แหละครับ)









2 ความคิดเห็น:

renton กล่าวว่า...

รอติดตามอ่านเรื่องราวของเมกกะโปรเจคต่อไปค่ะ
โดยเฉพาะนิยาย...รออ่านค่ะรออ่าน

เคยทำงานส่งอาจารย์เรื่อง สะพานเก่าในกรุงเทพ
เอาแค่ที่คลองหลอดก็ยากโขเลยค่ะ ข้อมูลหายาก(สมัยนั้น)

^^

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอชื่นชมกับความตั้งใจดี และความวิริยะ
เชื่อว่า ... จะเป็นผลงานอันทรงคุณค่า


หลายวันก่อนเพิ่งอ่านบทความคุณนรา
ว่าอีกไม่นานจะอำลาวงการวิจารณ์เสียแล้ว

ยิ่งทำให้มั่นใจว่า คุณนราคงเดินหน้า
เพื่อ "การณ์ใหญ่" ต่อไป
เป็นกำลังใจให้มาก ๆ


รู้สึกนิด ๆ มั๊ยว่า ยิ่งค้นคว้า ยิ่งรู้มาก
มันยิ่งทำให้เรา "หวงแหน" แผ่นดินนี้