วันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

วิ่งม้าแก้บน โดย "นรา"


ยังจำฉากจบของเรื่อง “คู่กรรม” กันได้มั้ยครับ? ตอนที่ฝรั่งขี่เรือบินมาหย่อนระเบิดทิ้งบอมบ์แถว ๆ สถานีรถไฟและคลองบางกอกน้อย จนเป็นเหตุให้โกโบริซังต้องเสียชีวิต

ประเพณีเวียนกระทงที่วัดสุวรรณาราม ก็เริ่มต้นเกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ช่วงเดียวกันนี้ กล่าวคือ บริเวณชุมชนบ้านบุ หรือละแวกใกล้ ๆ ปากคลองบางกอกน้อย เป็นจุดหนึ่งที่ระเบิดลงชุกชุม บ้านเรือนได้รับความเสียหายยับเยิน ผู้คนบาดเจ็บล้มตาย คนที่ยังอยู่ก็เสียขวัญหวาดผวา จนกระทั่งต้องลี้ภัยชั่วคราว ไปพำนักอาศัยตามสวนซึ่งล่วงลึกเข้าสู่ลำคลองตอนใน

ครั้งที่หนักหน่วงสุด มีคนตายในคราวเดียวร่วมสิบกว่าคน บ้านเรือนพังพินาศไปเยอะ โดยเฉพาะบริเวณด้านหลังตลาดที่อยู่ถัดจากวัดไม่ไกลนัก ยังมีร่องรอยปรากฎเป็นหลุมมาจนถึงทุกวันนี้ เรียกกันว่า “บ่อระเบิด” อยู่ติดไปทางรถไฟหรือทางบ้านเนิน (อันนี้ผมอ่านเจอจากวิทยานิพนธ์เรื่อง “คติความเชื่อเรื่องมหาชาติชาดก:การเปลี่ยนแปลงและการสืบเนื่องสะท้อนจากภาพจิตรกรรมฝาผนัง กรณีศึกษาเฉพาะภาพจิตรกรรมฝาผนัง ในพระอุโบสถวัดสุวรรณาราม คลองบางกอกน้อย” โดย แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย ซึ่งในบทความคราวที่แล้ว ผมถือวิสาสะอ้างอิงข้อมูลจากวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้เอาไว้เยอะพอสมควร จึงสมควรกล่าวถึงเพื่อให้เครดิตและแสดงความขอบคุณไว้ด้วย)

ครั้นเมื่อสงครามสิ้นสุด จึงค่อยโยกย้ายกลับมายังถิ่นเดิม และเพื่อเป็นการเยียวยาสร้างขวัญกำลังใจ ชาวบ้านจึงจัดพิธีเวียนเทียนสู่ขวัญต่อหลวงพ่อพระศาสดา (พระประธานในโบสถ์ วัดสุวรรณาราม) ซึ่งทั้งองค์พระและบริเวณวัดไม่เพียงแต่จะรอดพ้นอันตรายจากระเบิดเท่านั้น ทว่าชาวบ้านยังถือว่า บารมีของท่านได้ช่วยปกป้องคุ้มกันผู้คนที่ไปอาศัยหลบในพระอุโบสถยามคับขันจวนตัวให้แคล้วคลาดปลอดภัยด้วย

ครั้งนั้นการเวียนเทียนสู่ขวัญหลวงพ่อ ตรงกับช่วงหน้าน้ำและเทศกาลพอดี พิธีจึงจบลงด้วยการลอยกระทงที่คลองบางกอกน้อยหน้าวัด และกลายเป็นประเพณีสืบทอดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งงานเวียนกระทงและการวิ่งม้าแก้บน ล้วนมีความเกี่ยวข้องผูกพันกับหลวงพ่อพระศาสดา

หลวงพ่อพระศาสดาเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสำริด ปางมารวิชัยขนาดใหญ่ สูง 8 ศอก 1 คืบ 8 นิ้ว หน้าตักกว้าง 6 ศอก 1 คืบ ลักษณะอ่อนช้อยงดงามมาก

มีสองสมมติฐานเกี่ยวกับความเป็นมาของท่าน

อย่างแรกบันทึกไว้ในหนังสือประวัติของทางวัด โดยเชื่อกันว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงโปรดให้หล่อขึ้นเพื่อเป็นพระประธานในอุโบสถ เมื่อครั้งสถาปนาวัดขึ้นมาใหม่

อีกทางหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานไว้ว่า พระพุทธรูปองค์นี้ไม่ปรากฎเรื่องราวความเป็นมา แต่พิจารณาจากลักษณะแล้ว เห็นว่าเป็นฝีมือเดียวกับช่างที่หล่อพระศรีศากยมุนี ซึ่งอัญเชิญมาจากสุโขทัยครั้งแผ่นดินรัชกาลที่ 1 จึงเป็นไปได้ที่น่าจะเชิญพระศาสดามาด้วยในคราวเดียวกัน

เพราะความที่ไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ และรูปลักษณ์ละม้ายใกล้เคียงกับพระศรีศาสดา (ซึ่งอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศพร้อมกับพระพุทธชินสีห์) จึงเรียกขานสืบต่อกันมาว่า “พระศาสดา” โดยเติมคำว่า “หลวงพ่อ” ไว้ข้างหน้าเพื่อความใกล้ชิด

หลวงพ่อพระศาสดาเป็นเสมือนศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านบุ นับถือกันว่าท่านคอยปกป้องให้ทุกคนอยู่เย็นเป็นสุข และช่วยดลบันดาลประทานพรให้แก่ผู้คนที่มาบนบานศาลกล่าว

ถึงตรงนี้ ผมก็ควรจะต้องเล่าเกี่ยวกับชุมชนบ้านบุ ซึ่งเป็นแหล่งย่านหัตถกรรมเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงทางด้านผลิตขันลงหิน อันเป็นงานฝีมือละเอียดประณีต โดดเด่นทั้งในด้านความงามและความทนทาน

บ้านบุนั้นแบ่งออกเป็น “บ้านบน” และ “บ้านล่าง” บ้านบนนั้นนับจากบริเวณวัดสุวรรณาราม ล่วงลึกเข้าคลองบางกอกน้อยไปทางบางขุนนนท์ จนสุดเขตแถว ๆ วัดศรีสุดาราม (วัดชีปะขาว) ส่วนบ้านล่างนับจากวัดสุวรรณารามไปทางสถานีรถไฟบางกอกน้อย จนถึงแถบวัดอัมรินทาราม (วัดบางว้า)

แต่เดิมทั้ง “บ้านบน” และ “บ้านล่าง” ต่างก็ทำขันลงหินเป็นอาชีพหลัก ปัจจุบันบ้านบนเลิกราไปหมด ขณะที่บ้านล่างยังพอหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง แต่ก็มีน้อยเพียงแค่ไม่กี่เจ้า

ว่ากันว่า ชาวบ้านบุรุ่นแรก ๆ เป็นครัวเรือนอยุธยาช่างทำขันลงหิน ซึ่งหนีภัยสงครามเมื่อครั้งกรุงแตก อพยพมาพำนักอาศัยอยู่แถบนี้ และสืบทอดงานฝีมือดั้งเดิมเรื่อยมา กระทั่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแพร่หลาย

โด่งดังถึงขนาด นิราศพระแท่นดงรัง ซึ่งแต่งขึ้นสมัยรัชกาลที่ 3 ได้บันทึกกล่าวถึงเอาไว้

นิราศพระแท่นดงรง ยังมีความเห็นแตกต่างไม่ลงรอยกันอยู่ว่าใครเป็นผู้แต่งที่แท้จริง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและอาจารย์ฉันท์ ขำวิไล เชื่อว่าเป็นผลงานของท่านสุนทรภู่ เขียนไว้ประมาณปี พ.ศ. 2376 ขณะที่อาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์และพ. ณ ประมวญมารค (หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี) คิดว่าไม่ใช่ผลงานของสุนทรภู่ จนปัจจุบันก็ยังปราศจากข้อสรุปที่แน่ชัด

ในนิราศดังกล่าว ได้พรรณาถึงบ้านบุเอาไว้ว่า

“ถึงบ้านบุบุขันสนั่นก้อง
เขาหลอมทองเทถ่ายละลายไหล”

“บุ” เป็นคำไทยโบราณแปลว่า “ตีให้เข้ารูป” นะครับ

เรื่องขันลงหิน รวมถึงวิถีชีวิตชาวบ้านบุที่ยังคงเชื่อมต่อเห็นร่องรอยหลายอย่างจากในอดีต หากสบโอกาสเหมาะ ผมคงจะได้เขียนเล่าอย่างละเอียดอีกที

เป็นที่รู้กันโดยทั่วในหมู่ชาวบ้านบุว่า หลวงพ่อพระศาสดาท่านศักดิ์สิทธิ์นัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการบนบานเกี่ยวกับเรื่องไม่ให้จับโดนใบแดง ถูกเกณฑ์เป็นทหาร

เล่ากันมาปากต่อปาก รุ่นสู่รุ่นในหมู่ชาวบ้านว่า หลวงพ่อท่านไม่โปรดให้มีการแก้บนด้วยดนตรี ละคร หรือการละเล่นอื่นๆ แต่จะชอบวิธีแก้บนแบบแปลก ๆ ซึ่งมีอยู่ 3 อย่างด้วยกัน คือ แก้บนด้วยการเขกหัวตัวเอง แก้บนด้วยการกลิ้งเป็นตุ๊กตาล้มลุก และการวิ่งม้าแก้บน

การแก้บนด้วย 2 วิธีแรก มักจะเกี่ยวข้องกับการขอให้หลวงพ่อช่วยในเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจหรือบนขอให้ฝนไม่ตก

แก้บนเขกหัวตัวเอง กฎ กติกา มารยาทนั้นง่ายมาก คือ บนไว้เป็นจำนวนเท่าไร ก็ใช้มือเราเขกหัวเราให้ครบ ตามสูตร “เล่นจริง เจ็บจริง” และห้ามใช้สแตนด์อิน

ที่ไม่ธรรมดาก็คือ เล่ากันมาว่า (อีกแล้ว) บรรดาผู้แก้บนด้วยวิธีนี้ มักจะให้การตรงกันเป็นเอกฉันท์ว่า ระหว่างเงื้อมือเตรียมจะกระทบกับศีรษะ มักจะรู้สึกเหมือนกับมีใครมาช่วยจับมือ เพิ่มน้ำหนักการเขกให้รุนแรงหนักหน่วงเป็นพิเศษ กระทั่งหัวปูดหัวโนไปตาม ๆ กัน

ส่วนการกลิ้งตุ๊กตาล้มลุก ขั้นตอนปฏิบัติมีอยู่ว่า เริ่มต้นด้วยการนั่งชันเข่าต่อหน้าใบเสมา ด้านทางเข้าพระอุโบสถ เอามือทั้งสองข้างสอดไปกุมใต้ขา จากนั้นก็กลิ้งวนขวาไปหาซ้ายให้เป็นวงกลม บนไว้กี่รอบก็กลิ้งให้ครบตามจำนวน และถ้าจะให้ครึกครื้นเต็มยศชุดใหญ่ยิ่งขึ้น ผู้แก้บนอาจจะแต่งกายในชุดเด็กหัวจุก (ตรงนี้จะทำหรือไม่ก็ได้ สุดแท้แต่จิตศรัทธา แต่ภาคบังคับก็คือ ต้องสมมติตนเองเป็นตุ๊กตา และสามารถจ้างวานคนอื่นมาทำแทนได้)

ปัจจุบัน ดูเหมือนว่า การบนเขกหัวตัวเองและกลิ้งตุ๊กตาล้มลุก จะค่อย ๆ สร่างซาหายไป เนื่องจาก “ดูเหมือนง่าย แต่ยากลำบาก เจ็บเนื้อเจ็บตัวเกินไป” จึงไม่เป็นที่นิยมในหมู่นักบนบานศาลกล่าว หลงเหลือเพียงแค่ “วิ่งม้าแก้บน”

ต้นตอที่มาของการ “วิ่งม้าแก้บน” มีเรื่องเล่าอีกเช่นกันว่า เมื่อวัดสุวรรณารามซ่อมสร้างเสร็จใหม่ ๆ มีผู้มาบนบานเกี่ยวกับเรื่องการงาน การค้าขาย จนกระทั่งสำเร็จลุล่วงตามปรารถนา และได้ฝันว่า มีพราหมณ์มาบอกให้วิ่งม้าแก้บน จึงกลายเป็นธรรมเนียมความเชื่อว่า หลวงพ่อพระศาสดาท่านชอบให้แก้บนด้วยวิธีนี้

มีเคล็ดอยู่อย่างหนึ่งในการบนใด ๆ ก็ตามกับหลวงพ่อพระศาสดา นั่นคือ ห้ามมิให้เอ่ยคำว่า “ขอ” เป็นอันขาด

วิ่งม้าแก้บนแต่เดิม มีม้าก้านกล้วยเป็นอุปกรณ์ประกอบ แต่ระยะหลัง ๆ เปลี่ยนมาใช้ผ้าขาวม้า (ของใหม่ที่ยังไม่เคยใช้สอยมาก่อน)

กรรมวิธีก็คือ นำผ้าขาวม้าที่ขมวดปม (เป็นรูปศีรษะม้า) จนเสร็จสรรพ มาวางที่ใบเสมาแรก หน้าพระอุโบสถ เพื่อกราบไหว้บอกกล่าวต่อหลวงพ่อ จากนั้นก็ควั่นผ้าให้เป็นเกลียวแล้วขี่คร่อม จับปลายผ้าข้างหน้าและข้างหลังไว้ วิ่งไปรอบโบสถ์ (จำนวนขั้นต่ำสุดคือ 3 รอบ แต่จะมากกว่านั้นแค่ไหนก็ได้ไม่จำกัด)

ระหว่างวิ่ง (ด้วยลีลาท่าทางเหมือนม้า) ปากก็ต้องร้อง “ฮี้ ฮี้” ไปด้วย

ฟังดูเหมือนเล่น ๆ ขำ ๆ นะครับ แต่เรื่องนี้มีคนซาบซึ้งในรสพระธรรมมานักต่อนักแล้วเหมือนกัน เรื่องเล่าจากปากคำชาวบ้านที่ผมอ่านเจอมีอยู่หลายกรณี ตั้งแต่แกล้งวิ่งเหยาะ ๆ เหมือนไม่เต็มใจ จนต้องโดน “มือที่มองไม่เห็น” เขกหัวทำโทษ

อีกเรื่องหนึ่งเล่าไว้ว่า มีคนถูกหวย และได้บนไว้ว่าจะวิ่งม้า 15 รอบ แต่พลันที่จะเริ่มวิ่ง ระยะจากหน้าถึงหลังโบสถ์ก็ยืดขยายกว้างไกลสุดตา วิ่งไปได้แค่ท้ายโบสถ์ก็หมดแรงเป็นลมล้มฟุบ ต้องเยียวยากัน และบอกกล่าวกับหลวงพ่อขอยกยอดที่เหลือไปเคลียร์กันต่อในวันอื่น

วันรุ่งขึ้น นักแก้บนฟิตซุ่มเตรียมตัวมาอย่างดี มีทีมงานหน่วยพยาบาลยืนรอ (เตรียมยาลม ยาดมต่าง ๆ ไว้พร้อมสรรพ) ตรงกึ่งกลางครึ่งทางของโบสถ์

ผลก็คือ วิ่งได้แค่ครึ่งรอบ ก็ต้องหิ้วปีกประคับประคองโซเซกลับบ้าน รวมความแล้วต้องใช้เวลาร่วม ๆ หนึ่งเดือน กว่าจะวิ่งม้าแก้บนได้ครบ

ทั้งกรณีการเขกหัวแก้บน กลิ้งตุ๊กตาล้มลุก และวิ่งม้า ซึ่งมีอะไรเฮี้ยน ๆ จนบอบช้ำเจ็บสาหัสหรือเหน็ดเหนื่อยเจียนขาดใจนั้น คนเฒ่าคนแก่ท่านฟันธงตรงกันหมดว่า สืบเนื่องจากบนบานเอาไว้ในเรื่องหวยหรือการพนันทั้งสิ้น

เชื่อกันว่า หลวงพ่อพระศาสดาท่านไม่สนับสนุนอบายมุขนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องหวย (ขอแสดงความเสียใจต่อบรรดานักเสี่ยงโชคทั้งหลายมา ณ ที่นี้ด้วย)
ใครมาขอในเรื่องเหล่านี้หลวงพ่อท่านก็จัดให้ตามประสงค์ แต่ต้องชดเชยตอบแทนกันสมน้ำสมเนื้อสักหน่อย เพื่อให้เกิดจิตสำนึก ขยันพากเพียรทำมาหากินโดยวิถีทางสุจริต และใช้สอยประหยัดรู้จักเก็บออม

ปัจจุบัน ผู้บนบานศาลกล่าวโดยการวิ่งม้าแก้บน สาขาอายเหนียมหรือเรี่ยวแรงน้อย มักจะนิยมจ้างวานเด็ก ๆ ละแวกนั้น ให้ปฏิบัติการเป็นนอมินีแทน

เรื่องเหล่านี้ ถือว่าเล่าสู่กันฟังพอเพลิน ๆ นะครับ
(เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2552 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ "เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ" หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ)





2 ความคิดเห็น:

renton กล่าวว่า...

ขอบคุณค่ะสำหรับเรื่องเล่า เล่าสู่กันฟัง

หากการ วิ่งม้าแก้บน ต้องแก้บนด้วยเจ้าตัวเองก็เหมาะดีนะคะ ถือเป็นการแลกเปลี่ยนข้อตกลงที่แฟร์ดี

จริงๆอยากเห็นผู้ใหญ่วิ่งปุเลงปุเลงน่ะค่ะ ^^

กาแล กล่าวว่า...

ท่าจะเป็นพุทธรุปที่น่าเคารพจิงๆคะ

ไม่ส่งเสริมอบายมุข^^
จะได้เลิกเล่นกันซะที